มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๐๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 398 หัวเรื่อง
เศรษฐศาสตร์กับสังคมไทย
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

R
relate topic
050647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย
H
บทความวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวเนื่องกับสังคมไทย โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


เศรษฐศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเศรษฐกิจไทย
เดอ โซโต และ สปาเกตตีโบลเอฟเฟคท
ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ :
เว็ปเพจนี้บรรจุบทความสั้นๆเอาไว้ ๒ เรื่องคือ
๑.
เฮอร์นันโด เดอ โซโต (Hernando de Soto) และ
๒. Spaghetti Regionalism
สำหรับเรื่องแรกเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจน
ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดความยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต
ทั้งสองเรื่องล้วนเกี่ยวเนื่องกับสังคมไทยอยู่ในเวลานี้
บทความทั้ง ๒ เรื่อง เคยตีพิมพ์แล้วในสิ่งพิมพ์"ผู้จัดการ"
นำมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นประโยชน์ทางวิทยาการแก่สังคมไทย
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

 

๑. เฮอร์นันโด เดอ โซโต (Hernando de Soto)
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (21 เมษายน 2547).

เฮอร์นันโด เดอ โซโต (Hernando de Soto) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู ผู้เป็นขวัญใจไทยรักไทย ได้รับรางวัล The Milton Friedman Prize for Advancing Liberty ประจำปี 2547 ทั้งนี้ตามประกาศของ Cato Institute พิธีแจกรางวัลกำหนดวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 ณ Ritz-Carlton Hotel นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

Cato Institute เป็นองค์กรผลิตความคิด (Think Tank) สำคัญของฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา ยึดกุมจุดยืนเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและอนุรักษนิยมทางการเมือง Cato Institute สถาปนา The Milton Friedman Prize เพื่อเป็นเกียรติแก่มิลตัน ฟรีดแมน เสาหลักทางเศรษฐศาสตร์ของฝ่ายขวา ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งถึงกับทุ่มสุดตัวในการเกื้อหนุนนายพลปิโนเชต์แห่งชิลี เพียงเพราะนายพลปิโนเชต์ ยอมรับนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม โดยมองข้ามอาชญากรรมที่นายพลปิโนเชต์ ก่อในการเข่นฆ่าประชาชนจำนวนนับพัน

The Milton Friedman Prize for Advancing Liberty มอบให้แก่บุคคลผู้มีผลงานในการอำนวยการให้มวลมนุษย์มีเสรีภาพเพิ่มขึ้น ผู้รับรางวัลจะได้เงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์อเมริกัน รางวัลกำหนดให้ทุกสองปี เดอ โซโตมิใช่คนแรกที่รับรางวัลนี้ The Milton Friedman Prize เริ่มให้ในปี 2545 ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คนแรกคือ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ที. เบาเออร์ (Peter T. Bauer, 1915-2002) แห่ง London School of Economics and Politics เดอ โซโตนับเป็นผู้รับรางวัลคนที่สอง ทั้งคู่เป็นนักเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน

เหตุใดเฮอร์นันโด เดอ โซโต จึงได้รับรางวัล The Milton Friedman Prize?

คำตอบน่าจะเป็นว่า เดอ โซโตมีคำตอบในการแก้ปัญหาความยากจน และอุทิศชีวิตในการแก้ปัญหาความยากจน ในขณะที่สำนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวามิได้สนใจประเด็นปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้เท่าที่ควร

เฮอร์นันโด เดอ โซโต ถือกำเนิดในครอบครัวผู้มีอันจะกิน บิดาทำงานในองค์การระหว่างประเทศ จึงต้องตามบิดามารดาไปอาศัยอยู่ในยุโรปตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เดอ โซโตรับการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ และประกอบธุรกิจหลังสำเร็จการศึกษา ในปี 2522 เดอ โซโตตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตในเปรู ขณะนั้นมีอายุ 38 ปี เดอ โซโตพานพบประชาชนชาวเปรูระดับรากหญ้า ทุกแห่งหนมีแต่ความยากจน เดอ โซโตเริ่มครุ่นคิดหาทางแก้ปัญหาความยากจน คำถามพื้นฐานที่พยายามหาคำตอบก็คือ เหตุใดบางประเทศจึงร่ำรวย แต่บางประเทศกลับยากจน

ข้อเท็จจริงที่เดอ โซโตพานพบก็คือ ประชาชนที่ยากจนมิได้ขาดพลังในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมิได้ขาดแคลนสินทรัพย์ ในที่สุด เดอ โซโตก็ได้คำตอบว่า การขาดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอย่างเป็นทางการ (Formal Property Rights) เป็นต้นตอของปัญหาความยากจน

ประชาชนในชนบทมีทั้งกลุ่มที่มีที่ทำกินและกลุ่มที่ไม่มีที่ทำกิน เกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นเจ้าของที่ดินตามข้อเท็จจริง (de facto owners) แต่ขาดเอกสารสิทธิ การขาดเอกสารสิทธิทำให้ขาดหลักทรัพย์สำหรับค้ำประกันเงินกู้ ข้อจำกัดทางด้านการเงินจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาการผลิต

ประชาชนในเขตนาครจำนวนมาก แม้จะมีบ้านอยู่อาศัย แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ด้วยเหตุดังนั้น จึงถูกกันออกไปจากระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการที่ยึดโยงอยู่กับระบบกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย

เดอ โซโตนำเสนอแนวความคิดว่าด้วยทุนที่ตายแล้ว (Dead Capital) ด้วยเหตุที่ประชาชนที่ยากจน ตามข้อเท็จจริงเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนวนมาก แต่มิได้มีกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทรัพย์สินเหล่านี้จึงเป็น "ทุนที่ตายแล้ว" เพราะมิอาจใช้ไปในการก่อดอกออกผลในกระบวนการผลิตอย่างเต็มที่ได้ หัวใจของการแก้ปัญหาความยากจนจึงอยู่ที่การฟื้นคืน "ทุนที่ตายแล้ว" ให้มีชีวิตชีวาในกระบวนการผลิต ยุทธวิธีสำคัญในการนี้ก็คือ การดึงทรัพย์สินนอกกฎหมาย (Extralegal Property) เข้าสู่ระบบกฎหมาย

ในปี 2523 เดอ โซโตก่อตั้งองค์กรผลิตความคิดชื่อ Institute for Liberty and Democracy เพื่อศึกษาวิจัยปัญหาความยากจน และแสวงหามรรควิถีในการแก้ปัญหาดังกล่าว เดอ โซโตพบว่า ความพยายามที่จะยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของชาวบ้านเป็นเรื่องยากลำบากยิ่ง

ความพยายามในการแก้ปัญหาความยากจนผลักดันเดอ โซโตให้เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิมอริ (Alberto Fujimori) แห่งเปรู โดยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ประธานาธิบดีฟูจิมอริเป็นจอมเผด็จการ ผู้ประกอบอาชญากรรมเข่นฆ่าประชาชน ในแง่นี้ เดอ โซโตมิได้แตกต่างจากมิลตัน ฟรีดแมน เพราะฟรีดแมนเกื้อหนุนจอมเผด็จการปิโนเชต์แห่งชิลี และอาจยินดีปราโมทย์ที่ซัลวาตอเร อัลยันเด ถูกเข่นฆ่า เพียงเพราะอัลยันเดประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งเลือกเส้นทางสังคมนิยม

แนวความคิดว่าด้วยการแก้ปัญหาความยากจนของเดอ โซโตฟังดูเข้าท่า ในด้านหนึ่ง เดอ โซโตต้องการขายความคิดของตน ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำชาติต่างๆ ต้องการได้เดอ โซโตเป็นที่ปรึกษา เพราะหากสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จ ย่อมช่วยยืดอายุทางการเมืองต่อไปได้ ผู้นำทางการเมืองที่เดอ โซโตให้คำปรึกษามีตั้งแต่ประธานาธิบดีวิเซนเต ฟ็อกซ์ (Vicente Fox) แห่งเม็กซิโกไปจนถึงโจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) และกลอเรีย อาร์โรโย (Gloria Arroya) แห่งฟิลิปปินส์

มิพักต้องกล่าวถึงวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) แห่งรัสเซีย เนอร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) แห่งคาซัคสถาน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แห่งประเทศไทย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีรากฐานทางความคิดมาจากเดอ โซโต

เฮอร์นันโด เดอ โซโต มีงานเขียนไม่มาก หนังสือที่เขียนมีอยู่เพียง 2 เล่ม อันได้แก่ The Other Path (1986) และ The Mystery of Capital (2000) หนังสือเล่มแรกเสนออรรถาธิบายว่า การขาดระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอย่างเป็นทางการเป็นต้นตอของปัญหาความยากจนอย่างไร ส่วนหนังสือเล่มที่สองมีชื่อรองว่า Why Capitalism Triumphs in the West and Fails Everywhere Else

ตามอรรถาธิบายของเดอ โซโต ระบบทุนนิยมงอกงามในสหรัฐอเมริกา และประชาชนชาวอเมริกันสามารถสร้างสินทรัพย์ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขยันขันแข็ง แต่ส่วนสำคัญยิ่งกว่าเกิดจากการจัดระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เริ่มต้นด้วย Homestead Act of 1862 ตามมาด้วยกฎหมายอื่น รวมเบ็ดเสร็จ 32 ฉบับ ทั้งหมดนี้จบสิ้นภายในคริสต์ศตวรรษที่ 19

สหราชอาณาจักรใช้เวลา 300-400 ปี ในการจัดระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ญี่ปุ่นใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วคนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ระบบทุนนิยมมิอาจงอกงามในภูมิภาคอื่น เนื่องจากขาดระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ซึ่งทำให้กระบวนการสร้างทรัพย์สิน (Wealth Creation) มิอาจก่อเกิด หรือถ้าก่อเกิด ก็มิอาจเติบโต ในประเทศที่กระบวนการสร้างทรัพย์สินมิอาจก่อเกิดและเติบโต ปัญหาความยากจนจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป

อรรถาธิบายของเดอ โซโตมิเพียงแต่โดนใจสำนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาเท่านั้น หากยังโดนใจองค์กรโลกบาลดังเช่นธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย ในปี 2540 ธนาคารโลกให้เงินกู้จำนวน 37 ล้านดอลลาร์อเมริกันแก่ Institute for Liberty and Democracy เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนชาวเปรู 4 ล้านคน ในการเข้าสู่ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามกฎหมาย ท้ายที่สุด มีผู้เห็นว่า เดอ โซโต สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ หากคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลไม่งี่เง่ามากจนเกินไป

คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า เดอ โซโตประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดในการนำบทวิเคราะห์ไปสู่การดำเนินนโยบาย www.ild.org.pe อันเป็น website ของ Institute for Liberty and Democracy ให้ข้อมูลด้านบวก

นโยบายการจัดระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินสำหรับคนจนและคนชายขอบในเปรู อันเป็นปิตุภูมิมาตุคามของเดอ โซโต มิอาจกล่าวอ้างได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อรรถาธิบายของ เดอ โซโต ก็คือ ในระหว่างปี 2523-2538 Institute for Liberty and Democracy เผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย The Shining Path

ชื่อหนังสือ The Other Path (1986) ของเดอ โซโต ต้องการเสนอทางเลือกที่ต่างไปจาก The Shining Path อบีมาเอล กุสแมน (Abimael Guzman) ผู้นำขบวนการ The Shining Path เป็นผู้นำการวิพากษ์ The Other Path (1986) เมื่อขบวนการ The Shining Path ถูกรัฐบาลเปรูปราบปรามจนสิ้นซาก เดอ โซโตต้องเผชิญอุปสรรคใหม่คือ ประธานาธิบดีฟูจิมอริ เพราะเดอ โซโตได้รับคะแนนนิยมจากขบวนการแก้ปัญหาความยากจนในเปรู จนฟูจิมอริเกรงว่า เดอ โซโตจะถีบตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางการเมือง การดำเนินนโยบายตามแนวทางของเดอ โซโต จึงเป็นไปอย่างครึ่งๆ กลางๆ

เฮอร์นันโด เดอ โซโต คงต้องใช้เวลาอีกนานในการพิสูจน์ความสำเร็จของการดำเนินนโยบายตามแนวความคิดของตนเอง

หมายเหตุ
1. รายงานข่าว เดอ โซโต ได้รับรางวัล The Milton Friedman Prize for Advancing Liberty โปรดอ่าน Amity Shlaes, "Peruvian Economist Wins $500,000 Award", The Financial Times (April 1, 2004)

2. ข้อมูลเกี่ยวกับ The Milton Friedman Prize for Advancing Liberty ดู www.cato.org
3. ข้อมูลเกี่ยวกับ Institute for Liberty and Democracy ดู www.ild.org.pe
4. บทความของเดอ โซโตรวบรวมอย่างเป็นระบบใน www.cato.org/special/friedman/desoto/

5. ความเห็นที่ว่า เดอ โซโตสมควรได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ โปรดอ่าน J. Bishop Grewell, "Nobel Heart in Peru", National Review Online (October 9, 2003)

6 บทวิเคราะห์ความคิดของเดอ โซโต ดูอาทิเช่น สมบูรณ์ ศิริประชัย "การสร้างความมั่งคั่งให้กับคนจน : ทางลัดของรัฐบาลปัจจุบัน" วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2546) หน้า 174-180


2. Spaghetti Regionalism
จาก - นิตยสารผู้จัดการ (พฤษภาคม 2547)
http://www.gotomanager.com/app/details.asp?id=11101&menu=columnist,rangsan

เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว คนไทยที่รู้จัก Spaghetti มีแต่ชนชั้นสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจและกระบวนการโลกานุวัตร ช่วยให้ชนชั้นล่างในสังคมไทยในบัดนี้รู้จัก Spaghetti กระบวนการโลกานุวัตรมิได้มีเฉพาะแต่เรื่องของการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังมีมิติด้านวัฒนธรรมด้วย ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาหารนานาชาติถูกขับเคลื่อน โดยกระแสโลกานุวัตร ผู้คนในสังคมเปิดล้วนรู้จักและมีโอกาสลิ้มรสอาหารของชาติอื่นๆ

สปาเกตตีเป็นบะหมี่อิตาเลียน วงวิชาการประวัติศาสตร์ถกเถียงกันว่า ชาติใดเป็นชาติแรกที่ผลิตบะหมี่ ชาติที่คนอาเซียรู้จักมักคุ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนอิตาลีเป็นตัวเลือกของชาวยุโรป กระนั้นก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอิตาลีอาจรู้จักบะหมี่เพราะมาร์โคโปโล (Marco Polo) ไปเรียนรู้จากประเทศจีน

เหตุใด Spaghetti จึงข้องเกี่ยวกับ Regionalism?
Regionalism แปลว่าภูมิภาคนิยม อันเป็นแนวความคิดว่าด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาค ทั้งในรูปเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หรือสหภาพศุลกากร (Custom Union) เขตเศรษฐกิจภูมิภาคมีสมาชิกมากกว่า 2 ประเทศ หากข้อตกลงการค้าเสรีทำกันระหว่างประเทศคู่สัญญาเพียง 2 ประเทศ ข้อตกลงนั้นเป็นข้อตกลงทวิภาคี (Bilateral Agreement)

การตกลงในการทำสัญญาการค้าทวิภาคี เป็นการตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศคู่สัญญา ส่วนข้อตกลงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาค เป็นการตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในหมู่ภาคีสมาชิกมากกว่า 2 ประเทศ

พหุภาคีนิยม (Multilateralism) แตกต่างจากภูมิภาคนิยม (Regionalism) และทวิภาคีนิยม (Bilateralism) เพราะพหุภาคีนิยมเป็นการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ครอบคลุมสังคมเศรษฐกิจโลกทั้งหมด GATT 1947 และ GATT 1994 ภายใต้การกำกับและดูแลขององค์การการค้าโลกในปัจจุบันเป็นระเบียบการค้าพหุภาคีดังกล่าวนี้ องค์การการค้าโลกมีสมาชิกมากถึง 148 ประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศจะให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลก ก็ต่อเมื่อเป็นการเปิดเสรีภายใต้ระบบการค้าพหุภาคี เพราะภาคีองค์การการค้าโลกทุกประเทศ สามารถเข้าถึงตลาดของกันและกัน ในขณะที่การเปิดตลาดภายใต้ระบบภูมิภาคนิยมก็ดี และระบบทวิภาคีนิยมก็ดีแม้จะให้ประโยชน์แก่ภาคีคู่สัญญา แต่ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เพราะประเทศที่มิได้เป็นภาคีมิอาจได้ประโยชน์เสมอด้วยประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก บางครั้งอาจต้องพานพบ 'ลูกหลง' หรือ 'หางเครื่อง' ชนิดมิอาจหลีกหนีได้
การค้าระหว่างประเทศภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมมีพื้นฐานจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) และการใช้ความชำนัญพิเศษ (Specialization) แต่ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศต่างๆ มิได้อยู่คงที่ หากแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงราคาสัมพัทธ์ของปัจจัยการผลิต นานาประเทศพยายามเปลี่ยนแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แรงผลักดันในการจัดระเบียบใหม่ยิ่งมีมากขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นเรื่องยากยิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องได้รับฉันทมติ (Consensus) จากภาคีทุกประเทศ เนื่องจากองค์การการค้าโลกยึดกฎคะแนนเสียงเอกฉันท์ อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเมืองภายในองค์การการค้าโลก ซึ่งประกอบด้วยขั้วอำนาจ 3 ขั้ว อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และโลกที่สาม ซึ่งรวมพลังเสริมอำนาจต่อรอง เพื่อกันมิให้ประเทศมหาอำนาจเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าระหว่างประเทศตามอำเภอใจ

เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจัดระเบียบการค้าพหุภาคีใหม่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่สหรัฐอเมริกามากขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงหันไปทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ ครอบคลุมทุกภาคภูมิศาสตร์ และครอบคลุมทั้งข้อตกลงเศรษฐกิจภูมิภาคและข้อตกลงการค้าทวิภาคี

ในด้านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาค สหรัฐอเมริกาผนึกตัวเข้ากับแคนาดาและเม็กซิโก เป็นเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) มาตั้งแต่ปี 2536 และขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาคกับ Central America Free Trade Area (CAFTA) ตั้งแต่ ปี 2546 โดยมีแผน การจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (Free Trade Area of the Americas : FTAA) ให้แล้วเสร็จในปี 2548 ทั้งนี้ FTAA จะเป็นเขต เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ (Super Bloc) แห่งทวีปอเมริกา เพราะครอบคลุมตั้งแต่จุดเหนือสุดของทวีปอเมริกาเหนือจนจรดจุดใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในเขตความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียแปซิฟิก (APEC) ตั้งแต่ยุคสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน หลังจากที่สหรัฐอเมริกา ยึดครองอิรักได้ในปี 2545 สหรัฐอเมริกามีแผนที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีตะวันออก กลาง (Middle East Free Trade Area : MEFTA)

ในแอฟริกา สหรัฐอเมริกากำลังเดินเครื่องในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเสรี กับกลุ่มประเทศสหภาพศุลกากรแอฟริกาใต้ (South Africa Custom Union : SACU) ตั้งแต่ปี 2547

สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่สยายปีกจัดตั้งเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเท่านั้น หากยังขับเคลื่อนในการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีอีกด้วย
ในอาเซีย สหรัฐอเมริกาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2528 จอร์แดน ปี 2544 สิงคโปร์ ปี 2546 ออสเตรเลีย ปี 2547 โดยมีแผนที่จะสรุปข้อตกลงกับบาห์เรน ปี 2548

ในละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับชิลีตั้งแต่ปี 2546
ในแอฟริกา สหรัฐอเมริกาเจรจา กับโมร็อกโค ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี อียิปต์เป็นเป้าหมายต่อไป ซึ่งกำหนดที่จะสรุปข้อตกลงในปี 2548

ดังนี้จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกา กำลังสร้างเครือข่ายการค้าเสรีในขอบข่ายทั่วโลก และเครือข่ายนี้นับวันมีแต่จะขยายต่อไป
คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตการค้าเสรี?

สหรัฐอเมริกาต้องการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในประเด็นใหม่ๆ ที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์ ดังเช่นประเด็นเรื่องการค้าบริการ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา การค้าสินค้า GMOs การเปิดเสรีด้านการลงทุน นโยบายการแข่งขัน การจัดจ้างจัดซื้อของรัฐบาล เป็นต้น เมื่อไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกได้ สหรัฐอเมริกาจึงหันมาใช้ยุทธวิธีการทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี ซึ่งสหรัฐอเมริกามีอำนาจต่อรองเหนือกว่าและสามารถจัดระเบียบการค้าใหม่ได้โดยง่าย

เมื่อสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบการค้าใหม่ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี สหรัฐอเมริกาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปลี่ยน แปลงระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกจะทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจำนวนประเทศที่ยอมรับระเบียบใหม่มีมากขึ้น อันเป็นผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกานั่นเอง

หากแม้นสหรัฐอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าพหุภาคีดังปรารถนา สหรัฐอเมริกายังสามารถเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคีต่อไป ในท้ายที่สุด ระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง อาจเข้าไปมีบทบาทคู่ขนานกับระเบียบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกได้

สหรัฐอเมริกามิได้หวังประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีเท่านั้น หากยังหวังประโยชน์ด้านการเมืองด้วย โดยที่ประโยชน์ด้านการเมืองอาจเหนือกว่าประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ บรรดาประเทศที่สหรัฐอเมริกาเลือกทำข้อตกลงการค้าเสรีจักต้องมีจุดยืนทางการเมืองนี้ชัดเจนว่า ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา และสังกัดค่ายอเมริกัน สหรัฐอเมริกาใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือในการโดดเดี่ยวประเทศ ที่มิได้เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุที่สังคมเศรษฐกิจอเมริกันเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีอำนาจซื้อสูงและมีขนาดใหญ่ ประเทศโลกที่สามจำนวนมากจึงพากันวิ่งแข่งกันทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา เพราะเกรงว่า การตกรถไฟขบวนที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ขับเคลื่อน จะทำให้สูญเสียประโยชน์และก่อต้นทุนที่เรียกว่า Cost of Non-Participation เนื่องจากมิได้อยู่ในฐานะเสมอด้วยประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาแล้ว

แต่การทำข้อตกลงการค้าเสรีใช่ว่าจะให้ประโยชน์สุทธิเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อตกลง มิหนำซ้ำยังมีต้นทุนการบริหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากจำนวนสัญญายิ่งมีมากเพียงใด ต้นทุนและความสับสนในการบริหารจะยิ่งเพิ่มพูนมากเพียงนั้น ทั้งนี้เนื่องจากรายละเอียดของสัญญาแต่ละสัญญาแตกต่างกัน อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรแตกต่างกัน กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) แตกต่างกัน ฯลฯ ประเทศที่เป็นภาคีข้อตกลงการค้าเสรีมากกว่าหนึ่งข้อตกลง ย่อมมีปัญหายุ่งยากในการบริหาร และก่อผลกระทบที่ศาสตราจารย์จักดิช ภควตี (Jagdish Bhaywati) เรียกว่า Spagetti-Bowl Effect เพราะความซับซ้อนและยุ่งเหยิงของข้อตกลง มีสภาพไม่แตกต่างจากสปาเกตตีที่พันกันในชามสปาเกตตี

การเติบโตของ Spaghetti Regionalism เป็นปรากฏการณ์ของทศวรรษ 2540

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




บทความชิ้นนี้ เคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสารผู้จัดการ เดือนเมษายน และพฤษภาคม ๒๕๔๗ เขียนโดย ศาสตราจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ข้อเท็จจริงที่เดอ โซโตพานพบก็คือ ประชาชนที่ยากจนมิได้ขาดพลังในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมิได้ขาดแคลนสินทรัพย์ ในที่สุด เดอ โซโตก็ได้คำตอบว่า การขาดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอย่างเป็นทางการ (Formal Property Rights) เป็นต้นตอของปัญหาความยากจน ประชาชนในชนบทมีทั้งกลุ่มที่มีที่ทำกินและกลุ่มที่ไม่มีที่ทำกิน เกษตรกรที่มีที่ทำกินเป็นเจ้าของที่ดินตามข้อเท็จจริง (de facto owners) แต่ขาดเอกสารสิทธิ การขาดเอกสารสิทธิทำให้ขาดหลักทรัพย์สำหรับค้ำประกันเงินกู้
เดอ โซโตนำเสนอแนวความคิดว่าด้วยทุนที่ตายแล้ว (Dead Capital) ด้วยเหตุที่ประชาชนที่ยากจน ตามข้อเท็จจริงเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนวนมาก แต่มิได้มีกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทรัพย์สินเหล่านี้จึงเป็น "ทุนที่ตายแล้ว" เพราะมิอาจใช้ไปในการก่อดอกออกผลในกระบวนการผลิตอย่างเต็มที่ได้ หัวใจของการแก้ปัญหาความยากจนจึงอยู่ที่การฟื้นคืน "ทุนที่ตายแล้ว" ให้มีชีวิตชีวาในกระบวนการผลิต ยุทธวิธีสำคัญในการนี้ก็คือ การดึงทรัพย์สินนอกกฎหมาย (Extralegal Property) เข้าสู่ระบบกฎหมาย
อรรถาธิบายของเดอ โซโตมิเพียงแต่โดนใจสำนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาเท่านั้น หากยังโดนใจองค์กรโลกบาลดังเช่นธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย ในปี 2540 ธนาคารโลกให้เงินกู้จำนวน 37 ล้านดอลลาร์อเมริกันแก่ Institute for Liberty and Democracy เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนชาวเปรู 4 ล้านคน ในการเข้าสู่ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามกฎหมาย ท้ายที่สุด มีผู้เห็นว่า เดอ โซโต สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
หากคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลไม่งี่เง่ามากจนเกินไป
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com