เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 377 หัวเรื่อง
รัฐกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ชำนาญ จันทร์เรือง
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่งมาทางจดหมายอีเล็คทรอนิค
(บทความขนาดสั้น)


เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
220447
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


นิติศาสตร์ - รัฐศาสตร์
นิติรัฐ กับ อำนาจรัฐเถื่อน
ชำนาญ จันทร์เรือง
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ 3 หน้ากระดาษ A4)

จากบทความเดิมเรื่อง
ฤานิติรัฐจักล่มสลาย

ข่าวการคุกคามเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยเกิดขึ้นอยู่ทุกวี่วันในปัจจุบันนี้ ทำให้เกิดคำถามกันอย่างอื้ออึงในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ทั้งหลายว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยที่เราเชื่อกันว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และใช้หลักนิติรัฐในการบริหารบ้านเมือง ที่ถึงแม้ว่ารัฐจะมีอำนาจอธิปไตยแต่ก็ต้องเคารพกฎหมาย

เกี่ยวกับเรื่องของนิติรัฐนี้ ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้ให้คำอธิบายแนวความคิดและสาระสำคัญของนิติรัฐไว้ในหนังสือ ข้อความคิดและหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชน ว่า

แนวความคิด
รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจจำแนกสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้เป็น ๓ ประเภท คือ

(๑) สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยแท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ และสิทธิเสรีภาพในครอบครัว

(๒) สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีและใช้ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา

(๓) สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี รัฐจะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในบางกรณีรัฐจำต้องบังคับให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการบางอย่าง โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ แต่รัฐให้คำมั่นต่อราษฎรว่า องค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้ง และเป็นการทั่วไปว่าให้องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร

สาระสำคัญ
สาระสำคัญของหลักนิติรัฐมีอยู่ ๓ ประการดังนี้

(๑) บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะมีอำนาจสั่งการให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้งและจะต้องใช้อำนาจนั้นภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้

(๒) บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรนั้น จะต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนพอสมควรว่า ให้องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารองค์กรใดมีอำนาจล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใด และภายในขอบเขตอย่างใด และกฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎร เกินขอบเขตแห่งความจำเป็นเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์สาธารณะ

(๓) การควบคุมไม่ให้การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ โดยองค์กรรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หรือองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร อาจจะเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการอีกองค์กรหนึ่ง แยกต่างหากจากองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง และคดีอาญาก็ได้

ฉะนั้น เมื่อหันมาดูสภาพการณ์ในปัจจุบันของไทยที่ดูเผินๆ เหมือนกับว่าจะเป็นไปตามแนวความคิดและสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ แต่เมื่อวิเคราะห์ไปลึกๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า

๑. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

๑.๑ สิทธิเสรีภาพในร่างกาย - การถูกอุ้มของทนายความสมชายและประชาชนจำนวนเป็นร้อย ๆ คนในภาคใต้ / การฆ่าตัดตอนกว่า 2 พันคนในช่วงเวลาไม่กี่เดือนในสงครามยาบ้า / การตกเป็นแพะในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นคดีเชอรีแอน หรือคดีนายจอบิชาวกะเหรี่ยง / นักโทษแขวนคอตายในท่านั่ง / การทุบทรมานหรือเหยียบหน้าหริอปัสสาวะรดผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ฯลฯ

๑.๒ สิทธิเสรีภาพในการเคหสถาน - การบุกเข้าค้นบ้านโดยไม่มีหมายจับหรือหมาย ค้น / การใช้สุนัขบุกเข้าค้นบ้านชาวมุสลิมพร้อมกับการมัดมือมัดปากเจ้าของบ้าน ฯลฯ

๑.๓ สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน - การถูกดักฟังทางโทรศัพท์ / การถูกครอบงำของสื่อโดยกลุ่มที่หนุนหลังพรรคการเมือง / การใช้สื่อของรัฐโฆษณาชวนเชื่อในทุกเช้าวันเสาร์ ฯลฯ

๑.๔ สิทธิเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ - การถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อน / การที่เป็นคนไทยอยู่ดีๆ ก็ถูกถอนสัญชาติหมู่ทีละเป็นพันคนโดยไม่ถูกเรียกไปสอบสวนสักคำ ฯลฯ

๑.๕ สิทธิเสรีภาพในครอบครัว - การที่สามีข่มขืนภรรยาได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย / การที่ตำรวจไม่รับแจ้งความเมื่อภรรยาถูกสามีทำร้ายโดยอ้างว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ฯลฯ

๒. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ

๒.๑ สิทธิในการประกอบอาชีพ - หาบเร่ถูกจับแต่แผงลอยหน้าร้านไม่เป็นไร / ผู้พิการทางกายไม่อาจเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมหรืออัยการ แต่เป็นตุลาการศาลปกครองหรือทนายความได้ / เสรีภาพในการเอาที่วัดไปเป็นสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรร ฯลฯ

๒.๒ สิทธิเสรีภาพในการมีและการใช้ทรัพย์สิน - มีที่ดินแต่ก็ถูกเวนคืนไปปักเสาไฟฟ้า แต่เมื่อเวนคืนไปแล้วก็เอาไปแปรรูปให้เอกชนเสียนี่ / เสรีภาพในการมีบัตรเครดิตคนละหลายๆ ใบ ทั้งๆ ที่มีรายได้อันน้อยนิด / เสรีภาพในการเป็นหนี้กองทุนหรือสินค้าเอื้ออาทรทั้งหลายแล้วก็ไม่มีปัญญาใช้คืน ฯลฯ

๒.๓ สิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา - เสรีภาพมากขนาดตั้งอนุญาโตฯที่หลายฝ่ายเห็นว่าตัดสินเกินอำนาจหน้าที่ให้ฝ่ายรัฐเสียเปรียบ แล้วก็ยังไม่ยอมฟ้องศาลให้ยกเลิก / ในทางกลับกันกลับมาหาทางล้อมคอกแก้ปัญหาค่าโง่ตนเองโดยตั้งกฏระเบียบว่า หากรัฐจะทำสัญญากับเอกชนไม่ให้ใช้อนุญาโตฯ ถ้าจะใช้ต้องขออนุมัติ ครม.ทั้งๆที่ระบบอนุญาโตฯเป็นระบบมาตรฐานทางกฏหมายที่ใช้กันทั่วโลก ฯลฯ

๓. สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

๓.๑ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง - "เป็นคนไทยหรือเปล่า"/" รักชาติหรือเปล่า"/ "ที่พูดๆ มานั้นไม่รู้อะไร ไม่รู้เรื่อง รู้ไม่จริง" / "กินเงินเดือนหลวงแล้วมาด่ารัฐบาลทำไม" (เพิ่งรู้ว่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้มาจากภาษีราษฎร แต่มาจากรัฐบาลควักเงินส่วนตัวมาจ่ายเอง) ฯลฯ

๓.๒ สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง - จะจดทะเบียนสมาคม ต้องมีวัตถุประสงค์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่งั้นไม่อนุญาต (ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายห้าม) ฯลฯ

๓.๓ สิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง - เงินไม่มา กาไม่เป็น / เป็นผู้แทนต้องสังกัดพรรคสมัครอิสระไม่ได้ ฯลฯ

เมื่อหันมาดูในส่วนของสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ จะเห็นได้ว่ามีการพยายามทำในหลายเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์หรือเป็นเจ้ามือหวยบนดิน เพื่อเพิ่มการมอมเมาประชาชนโดยปัญหาหวยใต้ดินไม่ได้หมดแต่อย่างใด ฯลฯ หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม แต่อย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงเครื่องมืออย่างอื่น

หรือมีการเพิ่มบทบาทให้ตำรวจจนทำให้เป็นที่สงสัยว่าตกลงจะเป็นนิติรัฐหรือรัฐตำรวจกันแน่ มีการส่งตำรวจไปเป็นหัวหน้าหน่วยต่างๆ ที่จะต้องคานอำนาจกับตำรวจ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปส. ปปง. ปปช. กกต. กองสลากฯ แม้กระทั่งสำนักพระพุทธศาสนาเองก็ไม่เว้น ฯลฯ

และในส่วนของการออกกฎหมาย เมื่อใดที่เห็นว่าการออกพระราชกำหนดเอื้อประโยชน์ได้ก็จะออกทันที เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น พรก.โทรคมนาคม พรก.ที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย ฯลฯ เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะต้องกลับมาให้สภารับรองก็ตาม แต่สิ่งที่ทำไปแล้วก็มีผลไปแล้วหรือแม้แต่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็จะดูว่าเป็นประโยชน์หรือเร่งด่วน แต่ไม่ได้ดูเรื่องความเหมาะสมซึ่งอย่างนี้แล้วไม่ว่ากี่พระราชกำหนดก็ต้องผ่านหมด เพราะลองหาเงินเข้ารัฐได้หรือไม่อยู่ในสมัยประชุมก็ใช้ได้แล้ว

ในส่วนของกระบวนการร่างกฎหมายก็มีการผิดพลาดอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับข้าราชการครูและเหรียญเฉลิมพระเกียรติฯ จนต้องพระราชทานกลับคืนมา หรือร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่าถึงแม้ผ่านสภาไปแล้วก็ยังเอากลับมาแก้ไขได้ แล้วก็ยังไม่ยอมดำเนินการต่อ มัวแต่โทษกันไปโทษกันมา

เมื่อพิจารณาจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงประเทศไทยเสียเป็นอย่างยิ่งว่า "ฤานิติรัฐจักล่มสลาย" ไปเสียแล้ว

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
สิทธิเสรีภาพในร่างกาย - การถูกอุ้มของทนายความสมชายและประชาชนจำนวนเป็นร้อย ๆ คนในภาคใต้ / การฆ่าตัดตอนกว่า 2 พันคนในช่วงเวลาไม่กี่เดือนในสงครามยาบ้า / การตกเป็นแพะในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นคดีเชอรีแอน หรือคดีนายจอบิชาวกะเหรี่ยง / นักโทษแขวนคอตายในท่านั่ง / การทุบทรมานหรือเหยียบหน้าหริอปัสสาวะรดผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ฯลฯ
บทความเกี่ยวกับนิติรัฐ กับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐประชาธิปไตยไทย - เหตุการณ์ร่วมสมัย
H