อาจารย์ สุลักษณ์ .ศิวรักษ์ ได้ให้เกียรติร่วมแสดงปาฐกถา ณ ที่ทำการแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่ วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ เวลา ๐๙.๓๐ น.
ภาพประกอบดัดแปลง
1.ภาพถ่ายพระพุทธรูป
สัมฤิทธิ์ ผลงานการปั้น
ของ อ.อุทิศ อติมานะ 2.
ผลงานภาพถ่ายของ Cindy Sherman, ไม่มี ีชื่อภาพ, 1992. Metro Pictures, New York.
290745
ว่าเฉพาะมหาวิทยาลัยนโรปะซึ่งไปตั้งอยู่ ณ สหรัฐอเมริกาก็เป็นเวลา ๒๕ ปีเข้านี่แล้ว ย่อมช่วยสะกิดใจคนอเมริกันรุ่นใหม่ ให้เห็นโทษของความสุดโต่งในทางกามสุขัลลิกานุโยค หรือลัทธิบริโภคนิยมซึ่งประเทศนั้นเป็นต้นแบบ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆก็ช่วยให้เกิดการถ่วงดุลย์ขึ้น ให้คนที่ตามีแววอาจแลเห็นได้ถึงเนื้อหาสาระของอุดมศึกษา ซึ่งมุ่งที่ความเป็นไท โดยท่านเจ้าคุณได้เขียนเตือนไว้ด้วยว่าประเทศในเอเชียเอง ก็น่าจะชำเลืองดูระบบอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยนโรปะมาเป็นบรรทัดฐานด้วย (ส.ศิวรักษ์ - ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท)

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 201

เนื่องในการเปิดที่ทำการใหม่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้จัดให้มีการแสดงปาฐกถานำโดย
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ท่านพระไพศาล วิสาโล ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2545 ตั้งแต่เวลา 09.30 น.-16.30 น. ในหัวข้อ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความไท"

R
relate
H
home
หากประสบปัญหาภาพ และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงจะแก้ปัญหาได้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่ออุดมศึกษาไท : บทความลำดับที่ 201 เกี่ยวกับทางเลือกอุดมศึกษา ปาฐกถานำโดย ส. ศิวรักษ์ (ความยาวประมาณ 31 หน้ากระดาษ A4)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท
ในพระพุทธศาสนา

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท
เมื่อนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปีพ.ศ.๒๕๑๔ แล้วเกิดการปฏิวัติตัวเองด้วยการยุบรัฐสภาและเลิกล้มรัฐธรรมนูญในปลายปีนั้น จนเกิดจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง ในต้นปีถัดมาแล้วนั้น ท่านได้แวะมาเยี่ยมเมืองไทยครั้งหนึ่งในปี ๒๕๑๕ ด้วยธุรกิจทางสถาบันเอไอที ที่ท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยฯ แม้ท่านจะลาออกจากราชการแล้วก็ตาม

คราวนั้นท่านมีแก่ใจเอาหนังสือมาฝากข้าพเจ้าด้วยเล่มหนึ่งชื่อ Education for Liberation by Adam Curle ดังข้าพเจ้าได้ขอให้นายวิศิษฐ์ วังวิญญู แปลออกเป็นภาษาไทยแล้ว ชื่อว่า "การศึกษาเพื่อความเป็นไท" และผู้เขียนคนนี้ก็มีแก่ใจมาแสดงปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบกึ่งศตวรรษของการประกาศสันติภาพขึ้น โดยผู้นำขบวนการเสรีไทย คือนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ เป็นเหตุให้เราปลอดไปจากการเป็นมืองขึ้นของสัมพันธมิตร เฉกเช่น ญี่ปุ่นและเยอรมัน ทั้งๆที่รัฐบาลทหารได้ประกาศสงครามกับสหประชาชาติโดยเข้าอยู่เคียงข้างกับประเทศอักษะทั้งสองดังได้กล่าวนามมาแล้วนั้น โอกาสกึ่งศตวรรษดังกล่าวมีขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปเป็นองค์ประธาน ณ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘ จากนั้นอาดัม เคริ์ลก็ได้ขึ้นมาแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

การศึกษาเพื่อความเป็นไท และความล้มเหลวของการศึกษา
ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด เนื้อหาสาระของ "การศึกษาเพื่อความเป็นไท" โดยอาดัม เคิร์ลนั้น มีใจความว่า การศึกษาเป็นขบวนการเรียนรู้ให้แต่ละคนรู้จักศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตน เพื่อตนจะได้รู้จักตนเองและพึ่งตนเองได้ด้วยการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต โดยไม่ต้องอยู่ในกำกับของใคร นี้แลคือความเป็นไทของตนเอง พร้อมๆกันนั้น ผู้ที่แสวงหาศักยภาพของตนได้แล้ว นอกจากจะใช้ศักยภาพนั้นๆเพื่อความอยู่รอดของตนแล้ว ยังควรประกอบกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ให้เกิดสันติสุขในสังคมอีกด้วย

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงไม่มีใครปฏิเสธคำนิยามดังกล่าวของอดัม เคิร์ล หากเขากล่าวต่อไปว่า การจัดการศึกษาที่เป็นไปในปัจจุบันนั้น นักการศึกษามุ่งไปที่ระบบและโครงสร้างทางการศึกษามากเกินไป จนยากที่จะจัดการศึกษาให้เกิดความเป็นไทได้ กล่าวคือนักการศึกษามัวแต่ใช้เวลาให้หมดไปกับหลักสูตรและการวัดผลการเรียนการสอน ตลอดจนงบประมาณในการจัดการศึกษา ซึ่งมักหมดไปกับค่าอาคาร ครุภัณฑ์ ลหุภัณฑ์ และเงินเดือน ฯลฯ โดยที่นักบริหารการศึกษาก็มีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง หาไม่ก็สยบยอมกับนักการเมืองมากเกินไป โดยที่อาดัม เคิร์ลเองเคยได้รับคำขอร้องให้ไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในอังกฤษ หากเขาไปบริหารสถาบันนั้นได้ไม่นาน ก็ขอลาออก เขาบอกว่าครูอาจารย์ปราศจากสันติภาวะ มัวแก่งแย่งแข่งดีกัน จะไปสอนสันติวิธีได้อย่างไร โดยเขาได้บอกข้าพเจ้าด้วยว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหมดของอังกฤษล้วนล้มเหลวด้วยกันทั้งนั้น เพราะสอนได้แต่วิชาความรู้ หากถ่ายทอดไม่ได้ทางคุณงามความดี

ความข้อนี้ จอห์น คอป นักการศึกษาชั้นนำจากสหรัฐก็เห็นด้วย ดังเขาเพิ่งได้มาแสดงปาฐกถาซินแคล ทอมป์สัน ณ มหาวิทยาลัยพายัพไปเมื่อเร็วๆนี้ คือระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มิถุนายน โดยเขาแสดงวันละตอน เชื่อว่าถ้อยคำของเขามีปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วในภาคภาษาอังกฤษ และอาจมีแปลเป็นไทยด้วยแล้วก็ได้

การจัดการศึกษาอย่างฝรั่ง
ไทยเราเองเพิ่งเริ่มจัดการศึกษาอย่างฝรั่งอย่างเป็นทางการ แต่รัชกาลที่ ๕ มานี่เอง และจำเริญรอยตามความล้มเหลวของฝรั่งตลอดมา โดยหาได้สำนึกถึงโทษสมบัติดังกล่าวไม่ และนักการศึกษาทั้งหลายต่างเป็นส่วนร่วมแห่งการก่อ หรือเพิ่มขยายความล้มเหลวทางด้านการศึกษาดังกล่าว แล้วคนพวกนี้พยายามหาทางปฏิรูปการศึกษา จะสำเร็จได้อย่างไร

เราต้องตราไว้ว่า การศึกษาที่จัดโดยรัฐนั้น ก็ย่อมมุ่งประสงค์ให้ราษฎรได้รับการศึกษาเพื่อสยบยอมอยู่กับรัฐ หรือหาไม่ก็เพื่อรับใช้อำนาจของรัฐ ที่จะให้รัฐจัดการศึกษาเพื่อความเป็นไทของผู้มารับการศึกษา ย่อมเป็นไปไม่ได้ และแม้จะมีเป้าหมายดังกล่าว องคาพยพของรัฐและโครงสร้างทางสถาบันการศึกษาก็กีดขวาง ไม่ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยอาจมีบางคนเท่านั้นที่หลุดออกไปได้จากระบบดังกล่าว จนเกิดความเป็นไทขึ้นได้ อย่างเป็นคนนอกคอก ดังจะเห็นได้ว่าเรามีนายปรีดี พนมยงค์ และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นแบบอย่างของบุคคลที่หลุดพ้นไปได้ จนมีความเป็นไท หรืออย่างน้อยก็คิดได้อย่างอิสระเสรี โดยที่นายปรีดีพยายามจัดการศึกษาเพื่อความเป็นไท ด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น แม้การเป็นไทในกรณีนี้ รวมถึงการรับใช้รัฐ แต่ก็มีอิสระเสรีพอที่จะไม่เป็นทาสรัฐ หาก มธก. ก็ต้องมีอันเป็นไป แม้นายป๋วยจะพยายามเข้ามาสืบสานต่อที่สถาบันการศึกษาเก่าของท่าน ให้กลับมามีคุณธรรมควบคู่ไปกับความรู้ แต่ท่านก็ต้องปลาสนาการไปจากมหาวิทยาลัยและบ้านเกิดเมืองนอนของท่านแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นต้นมา โดยที่ความเป็นไทของท่านทั้งสองนี้ หมายถึงการอยู่ในเมืองไทยไม่ได้ จนต้องไปตายทางต่างประเทศด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งถ้าท่านทั้งสองนี้รู้ได้โดยญาณวิถีใด ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะถอนรากถอนโคนไปจากท่าพระจันทร์เสียเกือบจะหมดสิ้น ท่านจะมีความรู้สึกเป็นไฉน โดยที่นักบริหารมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งไม่อาจมีจิตสำนึกในทางนี้ได้เลย

ยิ่งในช่วงหลังมานี้ ระบบทุนมีอำนาจเหนือรัฐ การศึกษาก็ต้องเป็นไปเพื่อให้ผู้ที่รับการศึกษารับใช้นายทุน ตลอดจนบรรษัทข้ามชาติ ยิ่งกว่าอะไรอื่น ดังนักการศึกษาญี่ปุ่นเองก็ปรารภว่า เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักการศึกษาอเมริกันมาร่วมกันกับนักการศึกษาญี่ปุ่น ปรับระบบการศึกษาให้เป็นไท ซึ่งในที่นี้หมายถึงสาระของ liberal education ตามแบบฝรั่ง เพื่อให้ไปพ้นการศึกษาที่กำหนดให้นักเรียนนักศึกษาสยบอยู่กับอำนาจรัฐอย่างใช้สติปัญญาในทางความคิดที่เป็นอิสระไม่ได้เลย และแล้วนักการศึกษาญี่ปุ่นก็ยอมรับว่า การศึกษาของญี่ปุ่นนั้นไม่อาจต้านกระแสของระบบทุนได้

กล่าวคือต้องผลิตให้คนไปมีงานทำยิ่งกว่าจะให้คนมีมโนธรรมสำนึก ที่เศร้ายิ่งไปกว่านี้ก็ตรงที่ต่อแต่นี้ไป คนที่สำเร็จอุดมศึกษา ไม่ว่าจะได้ปริญญาในระดับใดๆมา ก็จะว่างงานยิ่งๆขึ้นทุกที เพราะเทคนิควิทยาสมัยใหม่ต้องการใช้คนน้อยลงไปเรื่อยๆ และต้องการแรงงานที่ถูกลงไปเรื่อยๆอีกด้วย และแล้วนักการศึกษาในทางกระแสหลัก ก็ยังหารู้วิธีที่จะตีประเด็นนี้ให้แตกไปได้ไม่ ก็ได้แต่ทำการไปวันๆ อย่างปราศจากความคิดวิจารณญานเอาเลย หาไม่ก็หาทางวิจัยกันให้โก้หรูไปเรื่อยๆ อย่างหลอกตัวเองยิ่งกว่าอะไรอื่น

เราต้องไม่ลืมว่าการศึกษาของเราที่เดินตามอย่างฝรั่งนั้น เพิ่งเริ่มระดับอุดมศึกษาในรัชกาลที่ ๖ นี่เอง และเพิ่งมีการประสาทปริญญากันก็ต่อเมื่อถึงรัชกาลที่ ๗ แล้ว

การเดินนอกกรอบของฝรั่ง เข้าหาสาระพุทธศาสนา
สำหรับปาฐกถาของข้าพเจ้าวันนี้ ขออนุญาตเดินนอกกรอบที่เราเอาอย่างฝรั่งมา ถึงห้ารัชกาลเข้านี่แล้ว โดยขอให้เรากลับมาพิจารณารากเง่าของเราเอง ซึ่งมีเนื้อหาสาระอยู่ที่พุทธศาสนา แม้เพื่อนศาสนิกเหล่าอื่น จักไม่จำต้องเชื่อถือตามกระแสของฝ่ายพุทธ หากรับรู้ไว้ ก็อาจเป็นประโยชน์ โดยพุทธศาสนิกเองก็ควรเรียนรู้จากเพื่อนชาวคริสต์ และมุสลิม ฯลฯ ตลอดไปจนคนที่ประกาศตนว่าอยู่นอกศาสนาด้วย

ความจริง ท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เขียนเรื่อง Buddhist Education ให้มหาวิทยาลัยสหประชาชาติแล้ว แต่ พ.ศ.๒๕๒๘ ดังได้มีการนำไปรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ Radical Conservatism : Buddhism in The Contemporary World ซึ่งตีพิมพ์ออกเนื่องในโอกาสชาตกาลครบ ๗ รอบนักษัตรของท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปญฺโญ แต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ นั้นแล้ว

ยังเรื่อง พุทธธรรม ของพระคุณเจ้ารูปนี้ รวมถึง ธรรมนูญชีวิต ของท่าน ก็อาจใช้เป็นคู่มือเพื่อการศึกษาในทางความเป็นไทได้เป็นอย่างดี โดยที่ ธรรมนูญชีวิต นั้น ถือได้ว่าเป็นการปูฐานทางด้านประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไว้ให้เป็นอย่างดี หากขาดขั้นอุดมศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย หาก พุทธธรรม ให้ความลุ่มลึกทางด้านขบวนการศึกษาทั้งหมดเพื่อความเป็นไท โดยเริ่มตอบคำถามในเรื่องชีวิตคืออะไร (ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖) และหาคำตอบต่อไปถึงความหมายที่ว่าชีวิตเป็นอย่างไร (ไตรลักษณ์ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เรื่อยไปจนถึงคำถามที่ว่าชีวิตเป็นไปอย่างไร (ปฏิจจสมุปบาท และกรรมในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท)

ที่กล่าวมานี้นับเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาจนถึงขั้นอุดม หลังจากนั้นจึงจักตอบคำถามได้ว่าชีวิตควรเป็นไปอย่างไร ให้เข้าถึงความเป็นไท อันได้แก่ วิชชา วิมุติ วิสุทธิ สันติ และนิพพาน คือการเข้าถึงประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้จากชีวิตนี้

ที่ว่ามานี้เป็นภาคแรกของ พุทธธรรม ว่าด้วยมัชเฌนธรรมเทศนา หลังจากนั้นพระคุณท่านได้ขยายความในทางมัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่เป็นกลางทางธรรมชาติ เพื่อให้เห็นว่าชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร โดยย่นย่อลงได้เป็นไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา อันรวมอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดนั้นแล

ถ้าพวกเราสนใจ จะนำเนื้อหาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในขั้นอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยนำเอาข้อเท็จจริงจากทุกขสัจทางสังคม (ความยากจนค่นแค้น และการสิ้นหวังของผู้คน ตลอดจนการทำลายล้างทรัพยากรทางธรรมชาติ) มาหาเหตุแห่งทุกข์ ที่โยงไปถึงระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ที่ถือว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ตลอดจนทรัพย์สมบัติเป็นคำตอบ ว่านี้แลคือสมุทัย ที่นำมาทำเป็นโครงสร้างทางสังคมและระบบเศรษฐกิจการเมืองให้เกิดความทุกข์ยาก โดยการดับทุกข์ ก็คือการนำเอาอริยมรรคทั้ง ๘ มาปรับเป็นไตรสิกขาให้สมสมัย นี่น่าจะเป็นคำตอบอย่างดีสำหรับอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท

อุดมศึกษาแบบพุทธ
สำหรับปาฐกถานี้ ข้าพเจ้าจักไม่ขอแบ่งขั้นตอนของการศึกษาออกเป็นประถม มัธยม และอุดม ตามอย่างที่ทางราชการไทยไปเอาอย่างฝรั่งมา เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของคนที่ถือตัวว่าเป็นชนชั้นนำของสังคมไทย คือการสยบยอมกับสิ่งซึ่งเรียกว่าอารยธรรมตะวันตกอย่างยอมตัวเป็นทาส ที่ไม่อาจเป็นไทได้ โดยหาได้สำนึกกันไม่ว่ากระแสหลักของตะวันตกนั้น มาถึงที่สิ้นสุดเสียแล้ว

ความข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับ จอน คอป ซึ่งกล่าวถึงอิทธิพลของอัลเฟรด นอร์ท ไวท์เฮด ที่เขียนเรื่อง Principia Mathematica ร่วมกับเบอทรัน รัสเซล แต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ว่าความคิดแบบตะวันตกที่เริ่มแต่สมัยที่ถือว่าเป็นการตื่นตัวของยุโรปใน The Age of Enlightenment ที่เน้นในเรื่องการใช้หัวสมองเป็นตัวกำหนดการศึกษานั้น ได้มาถึงที่สุดเสียแล้ว ไวท์เฮดเสนอให้ไปพ้นความคิดในระบบตรรกะ หากให้หาทางออกนอกระบบ โดยจอน คอปกล่าวต่อไปด้วยว่า ในฐานะชาวคริสต์ เขาได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามามิใช่น้อย แม้เขาจะเป็นนักเทววิทยาที่สำคัญของตะวันตก แต่เขาก็เห็นว่าคำสอนทางศาสนาพุทธนั้น ลึกซึ้งและแม่นยำกว่าคริสตศาสนาที่ชาวตะวันตกนำมากำหนดกดชาขึ้นจนเป็นเทววิทยาแห่งการกดขี่ไป

สิ่งซึ่งสำคัญยิ่งกว่านี้ก็ตรงที่บุคคลซึ่งจอน คอปไม่ได้เอ่ยถึงไว้ในปาฐกถาซินแคล ทอมสันของเขา บุคคลคนนี้คือ ลุดวิก วิตเกนสไตน์ ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของเบอทรัน รัสเซลที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์วิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยนั้น สืบต่อจาก ยี อี มัวร์ ซึ่งก็เคยเป็นอาจารย์ของวิตเกนสไตน์ โดยมัวร์ได้เขียนเรื่อง Principia Ethica ขึ้น แล้วสรุปว่าแนวคิดแบบตะวันตกนั้น อย่าว่าแต่จะสอนจริยศึกษาได้เลย แม้คำว่า จริยธรรม หรือคุณความดี ก็ไม่อาจนิยามได้ ในขณะที่วิตเกนสไตน์ไปไกลกว่านั้น โดยเขาบอกว่า

ชัดเจนแล้วที่จริยธรรมแสดงออกไม่ได้
จริยธรรมเป็นเรื่องที่อยู่เหนือเหตุผล
(จริยธรรมกับสุนทรียะ หรือ ความดีกับความงาม เป็นอันเดียวกัน)
It is clear that ethics cannot be expressed.
Ethics is transcendental.
(Ethics and aesthetics are one.)

ข้าพเจ้าแปลคำว่า Transcendental ว่าเหนือเหตุผลหรือเหนือโลก หากจะแปลว่า โลกุตตระ ก็อาจจะเกินเลยไป แต่มอริซ แอช ซึ่งเป็นคนที่เริ่มกิจการด้านอุดมศึกษาแบบพุทธขึ้นเป็นคนแรกในประเทศอังกฤษ (Sharpham College) ประกาศว่าที่เขาศึกษาปรัชญาของวิตเกนสไตน์ เป็นเหตุให้เขากลายเป็นพุทธศาสนิก

ได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว ว่าท่านพระธรรมปิฎกได้เขียนบทความเรื่อง Buddhist Education โดยท่านเอ่ยถึงสถาบันอุดมศึกษาแนวพุทธของสหรัฐด้วย คือมหาวิทยาลัยนโรปะ (เมื่อท่านเขียนถึงยังเป็นสถาบันอยู่) และเมื่อท่านเขียนนั้น ยังไม่มีระดับอุดมศึกษาแนวพุทธที่อังกฤษ โดยที่บัดนี้ อังกฤษมีการจัดโรงเรียนแบบพุทธในขั้นประถมศึกษาขึ้นด้วยแล้ว ที่เมืองไบรตัน โดย ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ เป็นอุปถัมภิกาที่สำคัญ และคนที่อำนวยการศึกษาคือ ปีเตอร์ แครี่ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกและเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

การศึกษาคือหัวใจของพุทธศาสนา
จะอย่างไรก็ตาม นี่ก็คือการจัดการศึกษาตามขั้นตอนของฝรั่งทางเรื่องประถม มัธยม และอุดมอยู่นั่นเอง คือให้เยาวชนมาเรียนโดยได้อิทธิพลแบบพุทธ แล้วไปเรียนต่อในโรงเรียนหรือวิทยาลัยกระแสหลักได้ด้วย แต่สำหรับพุทธศาสนิกนั้น การศึกษาคือหัวใจของพุทธศาสนา ดังภาษาบาลีใช้คำว่า สิกขา ซึ่งแปลว่าทำให้งอกงามขึ้นในการปฏิบัติธรรม ดังท่านใช้คำว่า เสขะ สำหรับผู้ที่ยังต้องเรียนรู้ต่อๆไปอย่างที่ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด คือยังไม่จบอุดมศึกษานั้นเอง สำหรับผู้ที่จบอุดมศึกษาแล้ว ท่านใช้คำว่า อเสขะ คือไม่จำต้องได้รับการศึกษาอีกต่อไป คือได้มรรคผล จนถึงพระนิพพาน นับเป็นพระอรหันตขีณาสพ โดยที่การศึกษาดังกล่าว มี ทมะ การฝึกหัดขัดเกลาเป็นข้อต้น ตามมาด้วย ภาวนา การพัฒนาเป็นขั้นๆไป โดยยึดวินัย หรือระเบียบแบบแผนที่ตรงตามธรรมชาติเป็นตัวกำหนด

ในทางพุทธศาสนาถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ฝึกปรือได้หรือให้การศึกษาได้เป็นขั้นๆไป โดยที่มนุษย์อยู่เหนือสรรพสัตว์ ตรงที่มีศักยภาพดังกล่าวนี้ ดังมีพระพุทธพจน์ยืนยันว่า "ผู้ที่ฝึกตนได้ ถือว่าเป็นยอดในหมู่มนุษย์" ผู้ที่ฝึกตนได้จนถึงที่สุดนั้น ท่านใช้คำว่า ภาวิตัตตะ หรือ อัตตทันตะ คือผู้ที่ฝึกตนเอง จนได้เป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธะ หรืออนุพุทธะ ซึ่งได้แก่พระอรหันต์

อุดมศึกษา หรือการศึกษาขั้นสูงสุด คือเพื่อความเป็นไทจากอวิชชาหรือความมืดบอด ที่ครอบงำมนุษษย์ เมื่อปลอดพ้นไปจากอวิชชา ก็ย่อมเข้าถึงปัญญา หรือปรัชญา คือเข้าใจสภาวะธรรมทั้งหมด อย่างปราศจากการติดยึดใดๆสิ้น เมื่อเข้าถึงจุดสุดท้ายของชีวิตที่ความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ปรัชญาหรือปัญญาย่อมควบคู่กันไปกับกรุณา คือความคิดและจิตใจเต็มไปในทางที่จะเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลและรับใช้ผู้อื่นสัตว์อื่นอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้

ถ้าจะแบ่งขั้นตอนแห่งการศึกษาหรือการปฏิบัติธรรม ในทางพุทธศาสนาออกเป็นชั้นประถม มัธยม และอุดมแล้วไซร้ ท่านจำแนกไว้ว่าในทางด้านการบำเพ็ญบารมี ในระดับประถมหรือสามัญ ท่านใช้คำว่า บารมี เฉยๆ เช่น ทานบารมี ได้แก่การให้ทรัพย์สินเงินทอง หรือสมบัตินอกกาย เริ่มจากให้ของที่เกินใช้ หรือของที่ไม่ต้องการ ไปจนให้ของที่หวงแหนยิ่ง จากนั้นจึงเป็นขั้นมัธยม ซึ่งเรียกว่า อุปบารมี คือระดับที่เขยิบขึ้นไป แต่ยังไม่สูงที่สุด เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่การเสียสละอวัยวะเป็นทาน จนถึงขั้นอุดม คือปรมัตถบารมี นับเป็นระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมีได้แก่การเสียสละชีวิตเพื่อธรรมะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น สัตว์อื่น

ในทางพุทธศาสนาถือว่า ถ้าบำเพ็ญบารมีได้ครบทั้ง ๓ ขั้นตอนนั้นแลคือการอยู่จบพรหมจรรย์ หรือสำเร็จการศึกษาในขั้นสูงสุด

ในทางมหายานบารมีมี ๖ แล้วภายหลังขยายออกมาเป็น ๑๐ ทางเถรวาท บารมีมี ๑๐ ถือว่าเป็นปฏิปทา หรือการปฏิบัติอันยอดยิ่ง หรือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูงสุด อันได้แก่อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทนั้นเอง

บารมี ๑๐ ของเถรวาทมี

๑) ทาน การให้ การเสียสละ
๒) ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย เพื่อความเป็นปกติของตนเองและสังคม
๓) เนกขัมมะ ความปลีกตัวออกจากกาม
๔) ปัญญา ความรอบรู้ หรือเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
๕) วิริยะ ความเพียรอย่างแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค
๖)ขันติ ความอดทน สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตน เพื่อดำเนินตามแนวทางที่ตั้งไว้ ให้ เข้าได้ถึงจุดหมายปลายทาง อย่างไม่ลุแก่อำนาจของกิเลส
๗) สัจจะ ความจริง พูดจริง ทำจริง จริงใจ อย่างไม่กลัวเกรงกับอำนาจหรือเห็นแก่อามิสสินจ้าง แม้จนไม่เห็นแก่หน้าใครๆ
๘) อธิษฐาน ตั้งใจมั่นหรือตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว แล้วดำเนินตนตามนั้นอย่างแน่วแน่
๙) เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี ไมตรีจิต คิดเกื้อกูลผู้อื่น สัตว์อื่น
๑๐) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางอย่างเที่ยงธรรม สม่ำเสมอ โดยไม่ยินดียินร้าย ในทางชอบหรือชัง

น่าเสียดายที่ทศบารมีนี้ สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยก็ในวงการของอารมิกบุคคล แต่บัดนี้ดูจะปลาสนาการไปเสียแล้วโดยมากจากวัฒนธรรมไทย แม้ทศชาติชาดก ที่แสดงออกซึ่งทศบารมีในทางบุคคลาธิษฐานก็หมดความสำคัญลงในทางวัฒนธรรมไทย เป็นแต่มีไว้สำหรับประดับวัฒนธรรมเจ้าเท่านั้นเองดอกกระมัง

ในทางมหายานนั้น บารมีหกและสิบมีอะไรบ้าง ข้าพเจ้าเอ่ยไว้ในที่อื่นๆแล้ว จึงจักไม่ขอฉายซ้ำในที่นี้ แต่นี่คือองค์คุณของการศึกษาเพื่อความเป็นไททั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมโดยแท้

ทาน ศีล ภาวนา ในฐานะต้นตอของการศึกษา
ขอกลับมากล่าวเรื่อง ทาน อีกครั้ง เพราะนี่เป็นต้นตอทางการศึกษาของทุกศาสนาเอาเลยก็ว่าได้ และนี่คืออุบายวิธีของการลดความเห็นแก่ตัว ซึ่งนอกจากจะพิจารณาในแง่ของทานบารมี อุปทานบารมี และปรมัตถทานบารมีดังที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจแบ่งได้อีกว่า ในขั้นประถมศึกษานั้น ทานคือการให้วัสดุสิ่งของ เพื่อต้องการของตอบแทน อย่างน้อยก็ให้ได้น้ำใจของผู้รับ หรืออยากได้สวรรค์ หรืออยากได้สายสะพาย เรื่อยไปจนให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แต่นั่นก็ยังเป็นทานขั้นประถมอยู่นั่นเอง

ต่อขั้นมัธยมจึงเป็นธรรมทาน คือการให้ความรู้ ให้สัจจะ ในสังคมที่เต็มไปด้วยอาสัตย์ การกล้าบอกความจริงกับผู้มีอำนาจ ที่มัวเมาอยู่ในกรอบของอวิชชาหรือของอุปาทาน ตลอดจนอคติต่างๆ

ส่วนในขั้นอุดมนั้นท่านเรียกว่าอภัยทาน คือเราได้รับการศึกษาจนถึงขั้นที่ปราศจากความกลัวใดๆสิ้น แม้ศัตรูภายในตัวเราอันได้แก่ความโลภ โกรธ หลง เรายังไม่กลัวเสียแล้ว เราจะไปกลัวศัตรูภายนอกอย่างไรได้ เพราะ อภัย แปลว่าไม่กลัว คนที่ไม่กลัวย่อมเป็นผู้ให้อภัย วิถีชีวิตของคนที่ไม่กลัว แม้ความตาย หรือความเสื่อมเสียใดๆ ย่อมเป็นทานอันประเสริฐยิ่ง หรือเป็นแบบอย่างอันสำคัญยิ่ง

เรื่องของทานนี้ ถ้านำมาประยุกต์กับโลกปัจจุบัน จนสามารถสร้างจิตสำนึกขึ้นได้ว่าการให้ ดีกว่าการรับ โดยมีการศึกษาและปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเอง หรือพึ่งแผ่นดินแผ่นน้ำ ยิ่งกว่าพึ่งนายจ้างหรือเงินเดือน นี่จักเป็นการศึกษาที่เป็นไทแท้ทีเดียว และถ้าคนที่มีทานมัยเป็นเจ้าเรือน ประกอบไปกับสันตุษฐีธรรม คือความพอใจในวิถีชีวิตอันเรียบง่าย อย่างไม่ตะเกียกตะกาย หรือแข่งขันแย่งชิงกัน หากสมัครสมานกันอย่างมีไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน นั่นคือต้นตอแห่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น ยิ่งกว่าจะถูกวัฒนธรรมแบบบริโภคครอบงำ เราย่อมไปพ้นลัทธิทุนนิยมได้ โดยที่ถ้าเราเจริญอัปมาทธรรมอย่างมีสติอยู่เนืองนิตย์ ย่อมถือได้ว่านี่คือความมั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่แท้ทีเดียว

เรื่องของศีลก็เช่นกัน ในขั้นประถมเป็นการสำรวมตนให้เกิดความสังวรระวัง ที่จะไม่ทำอะไรให้เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ในขั้นมัธยม เราอาจใช้ศีลมาคอยกำกับให้เราลดน้อยถอยความสำคัญของกามคุณลงในเรื่องการติดยึดในของปลอมต่างๆ แม้อาหารก็ลดให้น้อยลง ที่หลับที่นอนก็เรียบง่ายขึ้น เฉกเช่นการกินอยู่และการแต่งตัว รวมถึงเคหะสถาน แม้จนยารักษาโรค ครั้นถึงขั้นอุดมศึกษาของศีล หมายถึง เราอาจกล้าท้าทายระบบเงินตราทั้งหมด โดยหันไปใช้เงินตราท้องถิ่น แทนเงินตราของรัฐ หรือของธนาคารโลก หาไม่ก็ใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของกันแทนการซื้อขาย ยิ่งเน้นไปในทางให้ปันกัน ยิ่งกว่าแลกเปลี่ยนกัน ศีลกับทานก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่การกินอยู่ของเรา จะเอาอย่างสมณะก็ได้ ที่ลดการติดยึดในรสของอาหาร ไปจนเอาชนะการติดยึดได้ โดยเข้าใจถึงเนื้อหาสาระของอาหารว่าเป็นไปเพื่อบำบัดความหิว เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเพียงพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆได้ในการรับใช้ผู้อื่นและสัตว์อื่น

ใช่แต่เท่านั้น การบริโภคอาหาร ควรถือตามแบบสมณะที่เนื้อหา ไม่ใช่ที่รูปแบบ ดังการที่พระฉันเนื้อสัตว์ที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน หรือไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตนนั้น พึงรู้ได้เถิดว่าข้อแนะนำที่ว่านี้ ใช้ไม่ได้แล้วกับระบบตลาดในปัจจุบัน ยิ่งอาหารแดกด่วน ที่พวกแมกโดนัลนำมาขายนั้น ใช้วิธีโฆษณาสินค้าอย่างหลอกลวง และใช้การทำลายป่าดงดิบ เพื่อทำเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ นับว่าทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเลวร้าย โดยทุ่งหญ้านั้นๆก็ฉีดยาฆ่าแมลงและใส่ปุ๋ยเคมี อย่างมีผลร้ายกับแผ่นดินแผ่นน้ำ และกับสัตว์นั้นๆเอง ยังการฆ่าสัตว์ ก็ทำอย่างปราศจากความปรานี ฆ่าทีละร้อยๆตัว สัตว์ที่กลัวตายไม่ปล่อยพิษร้ายออกมาหรือ แล้วเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วนั้นแช่ช่องแข็งไว้เป็นเดือนๆก่อนจะส่งไปขายยังทั่วโลก นั่นไม่ใช่ซากศพดอกหรือ หากใช้วิธีโฆษณาสินค้าให้เห็นว่าน่ารับประทาน โดยการพิจารณาเช่นนี้ เสริมจากบทสวดในเรื่องอาหาเรปฏิกูล ก็จะช่วยนักศึกษารุ่นใหม่ได้มาก ดังน้ำขวดต่างๆก็ทำลายน้ำมะนาว น้ำตาลสด ฯลฯ ที่ทำกันได้เองตามท้องถิ่นอีกด้วย เฉกเช่นศูนย์การค้า และบริษัทเซเวนแอนอีเลเวนทำลายร้านเล็กร้านน้อยนั้นแล ทั้งนี้มิใยต้องเอ่ยถึงโฟมและถุงพลาสติกที่ใส่อาหารว่าให้โทษในทางระบบนิเวศอย่างไรบ้าง แล้วอาหารประเภท GMO เล่า นั่นคือผีดิบหรือมิใช่

ถ้าประยุกต์ทานและศีลได้ดังที่ว่ามา จนถึงเข้าใจในเรื่องโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง เพื่อช่วยกันทำลายโครงสร้างนั้น ด้วยสันติวิธีและอหิงสธรรม นับเป็นการประยุกต์ศีลในทางที่สมสมัย โดยที่ทานมัยย่อมเป็นไปในทางเริ่มต้นด้วยการสังคมสงเคราะห์ จนถึงกับท้าทายลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมได้ฉันใด ศีลก็คือความเป็นปกติของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องการความยุติธรรมในสังคมอย่างสันติด้วยเช่นกัน

ทานและศีล นอกจากจะเป็นสองข้อต้นแห่งการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ หรือ ๓๐ ทัศแล้ว ยังรวมอยู่ในบุญกิริยาวัตถุอีกด้วย ซึ่งมีภาวนามัยเป็นตัวเพิ่มที่สำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่าภาวนาคือหัวใจของการศึกษาในทางพุทธศาสนาเอาเลยทีเดียว

พุทธศาสนาอธิบายว่า ภาวนาคือการทำให้สำเร็จ ให้เป็นให้มีขึ้นโดยการฝึกอบรม ให้มีความเจริญงอกงาม ท่านแบ่งออกเป็น ๔ คือ

๑. กายภาวนา (การเจริญกาย พัฒนากาย ฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

๒. สีลภาวนา (การเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน นี่นับว่าเป็นส่วนสำคัญทางสังคม)

๓. จิตตภาวนา (การเจริญจิต พัฒนาจิต การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิและสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น)

๔. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันอย่างเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา) นี้แลคือความเป็นไท

ในพระบาลี ท่านแสดงภาวนา ๔ นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตสีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิตและปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์ คือความเป็นไทที่แท้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการศึกษาทางพุทธศาสนานั้นเน้นให้กายสัมพันธ์กับจิต และการประพฤติปฏิบัติส่วนตนสัมพันธ์กับสังคม จนเข้าถึงความเข้าใจโลกและชีวิตตามสภาพที่แท้จริง อย่างไม่ติดยึดในความเห็นแก่ตัว นับเป็นการเข้าถึงการศึกษาเพื่อความเป็นไทอย่างแท้จริง

ที่ข้าพเจ้านำมากล่าวทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เก็บความมาจากการศึกษาตามแบบวัฒนธรรมเดิมของเรา ที่รู้กันเป็นอย่างดี ในทุกชุมชน ที่มีวัดกับบ้านสัมพันธ์กัน เรียนรู้จากกันและกัน โดยท่านเน้นที่บารมีและบุญกิริยาวัตถุดังได้กล่าวมาแล้ว เป็นแต่ข้าพเจ้านำมาประยุกต์ให้สมสมัย ตามหัวข้อแห่งปาฐกถาที่ว่าด้วยอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทเท่านั้นเอง

หากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังไม่ตีไปที่เป้าหมายของการศึกษาเพื่อความเป็นไทตามเนื้อหาสาระหรือแก่นของพุทธศาสนาเอาเลยด้วยซ้ำ จึงจำต้องแสดงในเรื่องนี้ต่อไป

ศีลสิกขา
ก่อนที่จะพูดเรื่องไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าทานเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญ ถ้าคนไม่รู้จักเสียสละ อย่างลดความเห็นแก่ตัวลงบ้างเสียแล้ว ย่อมจะเข้าถึงศีลสิกขาไม่ได้

ที่ใช้คำว่าศีลสิกขาก็เพื่อรับเอาศีล หรือข้อเสนอแนะในทางงดเว้นความเลวร้ายต่างๆมาศึกษา เพื่อนำเอาไปประพฤติปฏิบัตินั้นเอง กล่าวคือศีลไม่ใช่คำสั่ง ที่ใครๆต้องกระทำตาม หากศึกษาจนเข้าใจความหมายแล้ว นำเอาไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดความสำรวมระวัง ดังที่ท่านใช้คำว่าศีลสังวร จนเกิดความเคยชินกับวัตรปฏิบัตินั้นๆ ก็จะเกิดเป็นคำพูดหรือการกระทำที่เป็นปกติ ที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยที่นี้แลคือพื้นฐานการศึกษาที่สำคัญสำหรับปัจเจกบุคคลและสังคม ดังขอให้พิจารณาศีลห้าเป็นข้อๆไปก็ได้ว่า เป็นเรื่องของการศึกษาให้รู้เท่าทันอกุศลมูลทั้งสาม คือรากเง่าต้นตอของความชั่ว กล่าวคือ

ศีลข้อที่ ๑ เป็นการงดเว้นในทางความรุนแรงทุกๆทาง(โทสะ) เพราะการทำร้ายผู้อื่นหรือสัตว์อื่นนั้น ตัวผู้กระทำเองก็เดือดร้อน เพราะความโกรธ ความแค้น หรือความพยาบาท เป็นหตุให้ร่างกายและจิตใจผิดปกติ โดยที่เมื่อทำฆาตกรรมหรือทัณฑกรรมลงไป ผู้อื่นก็ย่อมได้รับความเดือดร้อนด้วย จึงควรที่จะศึกษา ทำความเข้าใจในเรื่องโทสจริต เพื่อระงับดับเสียให้ได้

ศีลข้อที่ ๒ เป็นเรื่องของการงด หรือลดความโลภ เพราะถ้ามีโลภจริตเป็นเจ้าเรือนยิ่งขึ้นเท่าไร เจ้าตัวก็กระวนกระวายอยากได้อยู่ร่ำไป ครั้นซื้อหามาไม่ได้ ก็ต้องแย่งชิงหรือขโมยของผู้อื่น ซึ่งตนเองก็เดือดร้อนและผู้ที่ถูกลักทรัพย์ไป ก็เดือดร้อน จึงควรที่จะศึกษา ทำความเข้าใจในเรื่องโลภจริต เพื่อระงับหรือลดละเสียให้ได้

ศีลข้อที่ ๓ เป็นเรื่องของราคะ ซึ่งรุนแรงยิ่งกว่าโลภะ เพราะเป็นเรื่องในทางเพศ

ศีลข้อที่ ๔ เป็นเรื่องของโมหะ คือความหลง ถ้าไม่ยึดมั่นในสัจจะเสียแล้ว เจ้าตัวก็จะหลงตามความเท็จไปเป็นความจริงได้ไม่ยาก และคนที่เชื่อคำเท็จที่เรากล่าวออกไป ก็เดือดร้อนพอๆกับผู้ที่พูดเท็จหรืออาจจะยิ่งกว่าก็ได้ ดังจะเห็นได้ว่านักการเมืองมักนึกอยู่เสมอว่าตนพูดจริง ทั้งๆที่พูดเท็จในเรื่องรักชาติ ในเรื่องรับใช้ประชาชน จนเคยชิน ยังการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆในทางการขายสินค้า ก็เป็นคำเท็จที่หลอกลวงผู้คนทั้งสิ้น

สำหรับศีลข้อที่ ๕ นั้น เป็นเรื่องนอกเหนืออกุศลมูลภายใน หากเสพเข้าไปแล้ว เกิดความมัวเมาจนประมาท หรือขาดสติ เป็นเหตุให้ล่วงสิกขาบททั้งสี่ที่กล่าวมาแล้วได้ง่ายๆ ท่านจึงเสนอให้ศึกษาอย่างรู้เท่าทันแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่าสิ่งซึ่งมอมเมาเราได้นั้น ไม่ใช่แต่น้ำดองของเมาเท่านั้น โดยที่การโฆษณาชวนเชื่อ หรืออุดมการณ์ที่ยัดเยียดให้ แม้จนการศึกษาในกระแสหลัก ที่เอาข้อเท็จมาเสนอให้เป็นจริง หรือเสนอข้อความที่มีเท็จปนจริงว่าเป็นจริง อย่างขาดการพิเคราะห์ให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ก็ถือได้ว่าเข้าข่ายในการล่วงศีลข้อที่ ๕ ด้วยเช่นกัน

ขอให้สังเกตว่าเวลาเรารับศีลนั้น พระท่านจะบอกเป็นข้อๆไปว่า สิกขาปทัง สมาทิยามิ แปลว่า "ขอรับเอามาศึกษาเพื่องดเว้น" โดยควรเจริญเบญจธรรมคู่กันไปกับเบญจศีล เพื่อให้กุศลมูลหรือรากเง่าแห่งคุณความดี อันได้แก่ความไม่โกรธ ความไม่โลภ และความไม่หลงเข้ามาแทนที่ กล่าวคือ

(๑) เมื่องดจากความรุนแรงแล้วก็ควรเจริญความรักความเมตตาเข้าไปแทนที่
(๒)เมื่องดจากการลักขโมยได้แล้ว ก็พึงเจริญสัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพโดยสุจริต
(๓) เมื่องดการประพฤติผิดทางเพศได้แล้ว ก็พึงเจริญกามสังวร ไม่หลงไหลไปในกามคุณต่างๆ
(๔) เมื่องดการกล่าวคำเท็จได้แล้ว ก็พึงยึดสัจจะไว้เป็นบรรทัดฐาน
(๕) เมื่องดการเสพสิ่งซึ่งทำให้มึนเมาได้แล้ว ก็ควรเจริญอัปมาทธรรม เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม

ขอให้สังเกตว่ายุคสมัยของทุนนิยมและบริโภคนิยมนั้น ตัวกำหนดค่านิยมในสังคมจะเป็นไปในทางยั่วยุให้ทุศีลในทุกๆข้อ ตั้งแต่ให้นิยมยินดีในการรบราฆ่าฟัน แม้จนทำอาวุธเป็นของเล่นให้เด็ก ไปจนการโฆษณสินค้าให้ใครๆพากันถูกมอมเมาให้อยากได้อยากมี โดยใช้ราคจริตเป็นเครื่องล่อ แม้กระทั่งการขายรถยนตร์หรือยาสระผม ก็ต้องมีผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยมาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งเครื่องดองของเมาด้วยแล้ว มีวิธีโฆษณาให้น่าพิสมัยไปในทุกๆทาง ให้ใครๆอยากใช้ความรุนแรง อยากเสพ อยากได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ดังที่เดวิด ลอยกล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ มีวิธีที่สร้างค่านิยมให้ใครๆรู้สึกว่า ขาดอะไรไป (sense of lack) โดยต้องหามาเติมให้เต็ม โดยสิ่งซึ่งหามานี้ ก็ล้วนเป็นวัสดุทั้งสิ้น สมดังคำของเดวิด อานอต ที่ว่า

"การซื้อนั้นเท่ากับเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมกับความศักดิ์สิทธิ์ โดยเรายินดีสละทรัพย์ เพื่อเราจะสามารถซื้ออะไรมาสักอย่าง โดยที่นั่นไม่ได้เป็นเพียงวัตถุเท่านั้น หากเป็นจุดชี้บ่งถึงภาพลักษณ์ต่างๆที่ก่อให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบของภาพลักษณ์นั้นๆที่เราเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตอนแรกๆที่เราซื้อรถยนตร์มาคันหนึ่งนั้น นั่นก็เท่ากับว่าเราซื้ออำนาจ ศักดิ์ศรี ความเด่นในทางเพศ และความสำเร็จมาด้วยพร้อมๆกันไป ทั้งนี้ก็เพราะการโฆษณาขายสินค้าได้ผลสำเร็จ ในการชี้ให้เห็นว่ารถยนตร์หรืออะไรก็ตามที่เราซื้อมา มีคุณค่าทางภาพลักษณ์ดังกล่าว"

ลัทธิบริโภคนิยมทำการอย่างได้ผล ที่สามารถสะกดให้เรารู้สึกว่าอะไรขาดหายไป (นี้แลคือตัวความทุกข์) แล้วเราก็เอาสำนึกที่ว่าอะไรขาดหายไปนี้ มาสะกดไว้ในส่วนลึกของจิตใจเรา แล้วก็สามารถแสวงหาวัตถุที่เราต้องประสงค์มาได้ โดยนึกว่านั่นคือการแก้ความทุกข์ได้แล้ว แล้วเราก็จะได้รับความสุข กล่าวคือการแสวงหาทำนองนี้ ทำให้เรากลายไปเป็นโสเภณีโดยไม่รู้ตัว เพราะสิ่งซึ่งเรานึกว่าเราหามาให้ได้เกิดความสมใจนั้น มิทันไรมันก็หมดความหมายไป แล้วอ้ายเจ้าตัวความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาใหม่อีก แล้วเราก็ถูกสะกดให้ซื้ออะไรใหม่ๆไปเรื่อยๆ

ถ้าเข้าใจประยุกต์ศีลมาโดยตีไปที่ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมได้แตก นี้แลคือรากฐานการศึกษาที่สำคัญ ดังท่านบอกอานิสงส์ของการรักษาศีลไว้ว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํวิโส ทเย กล่าวคือศีลทำให้เราเข้าถึงสุคติ ศีลก่อให้เกิดโภคทรัพย์ และศีลนำมาให้ได้ถึงความดับ หรือพระนิพพาน ด้วยเหตุฉะนี้ จึงควรรักษาศีลไว้ด้วยดี

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือศีลหรือความเป็นปกติของแต่ละปัจเจกบุคคลและของสังคมนั้น ส่งผลให้ทั้งในชีวิตปัจจุบัน คือโภคทรัพย์ ซึ่งหมายถึงความร่ำรวยในทางจิตใจด้วย โดยที่ถือได้ว่ามีคุณค่าเหนือกว่าความร่ำรวยในทางวัตถุ แล้วยังส่งผลต่อไปถึงอนาคตอีกด้วย คือเมื่อหมดชีวิตนี้ไปแล้ว ก็ยังได้ไปมีความสุขบนสวรรค์ และในขั้นสูงสุด ศีลเป็นตัวเอื้ออำนวยให้ผู้มีศีลอย่างปกติได้เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นจุดสุดยอดของการศึกษาเพื่อความเป็นไท

คนไทยสมัยใหม่เป็นจำนวนไม่น้อย พยายามทำให้ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของชาตินี้เท่านั้น เพราะเราถูกแนวคิดที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์กำหนดให้ปฏิเสธในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือวัฏสงสาร ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของคำสอนในทางพุทธศาสนา โดยเราต้องไม่ลืมว่าพุทธศาสนาจะสอนในสามระดับตลอดเวลา คือสอน

() ในเรื่องปัจจุบันหรือชาตินี้ ชีวิตนี้ (ทิฎฐธรรม)
() ในเรื่องชาติหน้า คือเมื่อละชาตินี้ชีวิตนี้ไปแล้ว (สัมปรายิกัตถธรรม)
() ในเรื่องอันสูงสุด ซึ่งสามัญมนุษย์หรือเทวดาไม่อาจเข้าถึงได้ (ปรมัตถธรรม)

สำหรับคนทั่วๆไปที่ยังเข้าไม่ถึงความลึกซึ้งในทางคำสอนอันลุ่มลึก พระพุทธเจ้าจะตรัสสอนจำเพาะในเรื่องแรก คือว่าด้วยประโยชน์สุขในปัจจุบัน โดยจะถือว่านั่นเป็นขั้นของประถมศึกษาก็ได้ เช่นในเรื่องของทิฎฐธรรมมิกัตถประโยชน์ ทรงแนะให้เจริญ

๑. อุฎฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนิการให้ได้ผลดี)
๒. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย)
๓. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือรู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเอาเยี่ยงอย่างจากท่านผู้ทรงคุณธรรม)
๔. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้)

ธรรมหมวดนี้ เหมาะสำหรับทุกศาสนา แม้คนที่ไม่นับถือศาสนาเอาเลย ก็นำไปใช้ศึกษาเพื่อการปฏิบัติได้

เมื่อผ่านขั้นของประถมศึกษาไปแล้ว พุทธศาสนาจึงสอนในทางมัธยมศึกษา ซึ่งว่าด้วยสัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ

๑. สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพระรัตนัตยาธิคุณ)
๒. สีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีล)
๓.จาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ)
๔. ปัญญาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัญญา)

ธรรมหมวดนี้ ใช้ได้เฉพาะกับพุทธศาสนิก ที่เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารแล้ว ดังขอให้สังเกตว่า เวลาพระพุทธองค์ตรัสสอนชาวกาลามชนในเรื่องกาลามสูตรก็ดี ตรัสสอนสิงคาโลวาทแก่สิงคาลมานพก็ดี ถือได้ว่าตรัสสอนในเรื่องขั้นประถมเท่านั้น ต่อบุคคลที่มีศรัทธา เชื่อมั่นในพระรัตนตรัยแล้ว จึงตรัสสอนในเรื่องโลกหน้า ดังที่พระเจ้าปเสนทิโกศลถูกเปรตเรียกร้องขอแบ่งส่วนบุญนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงวิธีแบ่งส่วนบุญ ดังปรากฎในข้อ ๖ แห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้ผู้อื่น สัตว์อื่น รวมถึงที่ตายจากไปสู่โลกหน้าแล้วด้วย

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนคนนอกศาสนา ในทางอนุปุพพิกถาก่อน โดยเน้นที่ (๑) ทาน (๒) ศีล แล้วจึงถึง (๓) สัคคะ ซึ่งเป็นเรื่องของความสุขความเจริญที่จะเข้าถึงได้ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า โดยที่นี่คือผลอันเกิดมาจากการบำเพ็ญทานและศีลมาก่อนนั้นเอง และคนเป็นอันมากก็ติดอยู่เพียงแค่ระดับนี้ หรือจะว่าคนส่วนใหญ่ไปพ้นประถม และมัธยมศึกษาไม่ได้ ต่อเมื่อไรใครที่เห็นโทษของกามคือ กามทีนพ อันเป็นข้อ ๔ ในอนุปุพพิกถา คือเกิดเบื่อหน่ายในกามคุณแล้ว จึงทรงแสดงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม อันเป็นอนุปุพพิกถาข้อที่ ๕ ซึ่งเรียกว่าเนกขัมมะ

อริยสัจ ๔ อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท
จากจุดนี้ จึงจักตรัสสอนในเรื่องของอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นเรื่องของอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทอย่างแท้จริง ดังที่ทางฝ่ายเถรวาทถือว่าอุดมศึกษาดังกล่าว ทรงเจาะจงสอนเฉพาะสมณะ ผู้เข้ามาบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น เพื่อให้เข้าถึงปรมัตถประโยชน์ ซึ่งก็คือความเป็นไทจากกิเลสหรือความทุกข์นั้นเอง

มีเรื่องเล่าไว้ในมัชฌิมนิกายของฝ่ายเถรวาท ซึ่งตรงกับมัธยมอัคมะของฝ่ายมหายานว่า ท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐีนั้น ได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างยิ่งยวด และรักษาศีลอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ได้ฝึกปรือเอาเลยในทางจิตสิกขา หรือสมาธิภาวนา ดังเมื่อท่านป่วยหนักลงนั้น ท่านพระสารีบุตรชวนท่านพระอานนท์ไปเยี่ยม แล้วสอนให้ท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐีภาวนาถึงคุณของพระรัตนตรัย คือพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ แล้วจึงสอนให้พิจารณาในเรื่องของอายตนะทั้งหก ภายในและภายนอก จนถึงวิญญาณขันธ์ อย่างละบท เรื่อยไปจนให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเรื่องของขันธ์ ๕

ปรากฎว่าท่านอนาถปิณฑิกะคลายความติดยึดในเรื่องความป่วยไข้ และถึงกาลกิริยาอย่างสงบ จนได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์ ก่อนตาย ท่านขอให้ท่านพระอานนท์ไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่าอุบาสกอย่างตัวท่าน ก็ยินดีรับฟังพระธรรมเทศนาในเรื่องการเจริญจิตสิกขาและปัญญาสิกขา เพื่อเข้าถึงอุดมศึกษาแห่งความเป็นไท

ในเมืองไทยเอง เมื่อท่านอาจารย์พุทธทาสศึกษาพระไตรปิฎกแตกฉานถึงขั้นปรมัตถ์แล้วนั้น ท่านเล่าว่าเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) แห่งวัดเทพศิรินทร์ ได้เตือนท่านว่า ปรมัตถธรรมนั้นสูงส่งเกินไปสำหรับสามัญชน ไม่ควรนำไปสอน เพราะจะทำให้เกิดความสับสนได้ กล่าวคือ ถ้าผ่านขั้นตอนของประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จนเกิดความเบื่อหน่ายในทางกาม เพื่อเข้าถึงความสงบระงับเสียแล้ว จึงควรเรียนรู้และปฏิบัติตนตามแนวทางของปรมัตถธรรม หรืออุดมศึกษเพื่อความเป็นไท หากท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าท่านเป็นเด็กดื้อ จึงนำเอาปรมัตถธรรมมาสอนแก่พุทธบริษัททั่วๆไป ซึ่งก็ก่อให้เกิดผลดีและผลร้ายติดตามมาด้วยกันทั้งสองอย่าง จนบางคนเชื่อว่าท่านอาจารย์พุทธทาสปฏิเสธเรื่องวัฏสงสารเอาเลยก็มี พร้อมกันนี้ ก็ต้องเข้าใจว่า ทางมหายานนั้น แม้พระธรรมที่ลุ่มลึกที่สุดอย่างหฤทัยสูตร พุทธศาสนิกก็ท่องบ่นกันเป็นภาษาพื้นเมืองของทุกประเทศ ทุกๆวัน ทั้งที่วัดและที่บ้าน ถ้าอ่านข้อความในพระสูตรนี้แล้ว หากขาดความเข้าใจในทางปรมัตถธรรมอย่างลึกซึ้งเสียแล้ว ย่อมจะจับความไม่ได้เอาเลย ข้อความในพระสูตรมีดังนี้คือ

-พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
ขณะแนบสนิทอยู่อย่างลึกซึ้งกับความรอบรู้อันประเสริฐสุด
คือทรงพระปัญญาบารมีอันยิ่ง
ได้ทรงแสดงให้ประจักษ์ว่า ขันธ์ทั้งห้านั้นคือความเป็นศูนย์
เมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมข้ามพ้นสภาวะทุกข์ทั้งปวง

-พระสารีบุตร พึงสดับดังนี้ว่า
ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ก่อให้เกิดขึ้น และย่อมไม่ถูกทำลายลง
ย่อมไม่โสโครกและไม่บริสุทธิ์
ย่อมไม่เพิ่มและไม่ลด
ด้วยเหตุฉะนี้ ภายในความเป็นศูนย์ ย่อมไม่มีรูป (ร่าง)
ไม่มีเวทนา (ความรู้สึก) ไม่มีสัญญา (ความจำได้หมายรู้)
ไม่มีสังขาร (การรวมตัวกันของความคิด)
ไม่มีวิญญาณ (ตัวกำหนดรู้)
ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ
ไม่มีรูป ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีสัมผัส
และไม่มีธรรมารมณ์ (คือการรับรู้ได้ด้วยใจ)
ไม่มีอายตนะภายในภายนอกต่างๆ (การรับรู้จากตาจนถึงตัว และกำหนดรู้ทางใจ)
ไม่มีการเกิดขึ้นอย่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน
และไม่มีการดับไปโดยวิธีการดังกล่าว
ไม่มีทุกข์ ไม่มีเหตุแห่งทุกข์
ไม่มีการดับทุกข์ และไม่มีมรรค
ไม่มีการรับรู้ และไม่มีการตรัสรู้

-เหตุเพราะปราศจากการเข้าถึงการตรัสรู้
บรรดาพระโพธิสัตว์ ซึ่งแนบแน่นอยู่ในปัญญาบารมีอันยิ่ง
ย่อมไม่พบอุปสรรคที่ขัดขวางจิต
เมื่อปราศจากอุปสรรค ย่อมเอาชนะภยาคติได้
ย่อมปลดตนให้พ้นจากมายากล
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระนฤพานอันอุดมฯ

-เพราะเข้าถึงปัญญาบารมีอันยิ่งเช่นนี้
พระพุทธเจ้าในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต
ย่อมเข้าถึงพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ

-ด้วยเหตุฉะนี้ จึงควรรู้ถึงปัญญาบารมีอันยิ่ง
ซึ่งเป็นอนุตรมนตร์ ไม่มีมนตร์อื่นใดจะเทียบเท่าได้
เป็นมนตร์อันทำลายความทุกข์ เป็นสัจจะอันไม่อาจทำให้แปดเปื้อนได้ ฯ
มนตร์แห่งปัญญาบารมี จึงควรแก่การประกาศ
พึงประกาศมนตร์นั้นว่า
คเต คเต ปรคเต
ปรสํ คเต
โพธิ สวาหะ

ถ้าต้องการทราบคำอธิบายของฝ่ายมหายาน ควรอ่านงานของท่านนัทฮันห์ในเรื่อง ความเข้าใจในเรื่องวิญญาณวาท โดยที่องค์ทะไลลามะก็ทรงอธิบายขยายความไว้ในทางวัชรยานด้วยแล้วเป็นต่างหากออกไป ดังหาอ่านได้จากเรื่อง มรรควิธีแห่งการฝึกตน : หนทางที่เข้าถึงชีวิตที่เปี่ยมความหมาย

ชีวิตคือการศึกษา
พุทธศาสนาถือว่าชีวิตนั้นอันเดียวกันกับการศึกษา เพราะชีวิตคือการเป็นอยู่ และการที่ชีวิตเป็นอยู่ดำเนินไป ก็คือต้องเคลื่อนไหว พบประสบการณ์ใหม่ๆ และเจอสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะต้องรู้จัก ต้องเข้าใจ ต้องคิด ต้องปฏิบัติ หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหาทางแก้ไขปัญหาลุล่วงไป ทำให้ต้องมีการเรียนรู้ มีการพิจารณา แก้ปัญหาตลอดเวลา ทั้งหมดนี้แลคือ สิกขา หรือการศึกษานั่นเอง

สิกขา คือการพัฒนาตนเอง ให้ดำเนินชีวิตได้ดีงาม ถูกต้อง ทำให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมรรค ซึ่งก็คือทางดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ เพื่อฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งก็คือ สิกขา อีกเช่นกัน

มรรค กับ สิกขา จึงประสานเป็นอันเดียวกัน โดยที่ มรรค คำนี้ บางทีท่านใช้คำว่า ปฏิปทา หมายความว่าเป็นแนวปฏิบัติ หรือการปฏิบัติแบบที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมาย อันได้แก่ ความเป็นไท คือหลุดพ้นจากกิเลส หรือความสิ้นอาสวะ บางทีก็ใช้คำว่า จริยะ เป็นไวพจน์กับ มรรค ก็คือการดำเนินชีวิตอีกเช่นกัน ฉะนั้นคำว่า จริยธรรม ก็คือธรรมที่เหมาะกับการดำเนินชีวิต ให้ก้าวไปตามขั้นตอนแห่งการศึกษา ที่เริ่มจากการไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น อันได้แก่ ศีล หรือ ศีลธรรม นั้นเอง แต่เมื่อมีความรู้ความเข้าใจกับชีวิตจนผ่านขั้นตอนแรกๆในทางการศึกษาไปแล้ว เมื่อขึ้นถึงขั้นอุดมศึกษา จริยะ หรือ จรรยา ย่อมมุ่งตรงไปที่ พรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยา คือการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ และ มรรค ย่อมเป็นอริยมรรค คือมรคาอันประเสริฐ หรือทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ

ไตรสิกขา
สิกขาที่จะให้เกิดอริยมรรค คือไตรสิกขา ซึ่งเป็นการฝึกฝนพัฒนาตนครบทั้งสามด้านของชีวิต อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

ได้พูดถึงศีลมามากแล้ว หากสรุปลงได้ว่านี่คือการศึกษาที่ฝึกตนในด้านการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุ ทางสังคม และธรรมชาติ ทั้งด้วยอินทรีย์ต่างๆ และด้วยพฤติกรรมทางกายวาจา พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ศีลสิกขา คือการมีวิถีชีวิตที่ปลอดไปจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นสัตว์อื่น หากเป็นการดำเนินชีวิตที่เกื้อกูลแก่สังคมและแก่โลก

แต่ถ้าศีลสิกขา ขาดจิตสิกขา หรือสมาธิภาวนาแล้วไซร้ การถือศีลกลับทำให้ใจคอคับแคบ เพราะไปยึดตามหลักเกณฑ์จนนึกว่าที่ตนมีศีล หรือมีพรต ทำให้ตนเองเหนือคนไร้ศีลหรือคนทุศีล ถ้าตนมีศีลมากกว่า เช่นถือศีล ๘ ถือว่าสูงส่งกว่าคนที่ถือเพียงศีล ๕ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ยิ่งต้องวิเศษไปกว่าฆราวาสด้วยประการทั้งปวง นี้นับว่าเป็นอันตราย ดังท่านใช้ศัพท์ว่า สีลัพพตปรามาส คือการถือมั่นในศีลพรต โดยสักแต่ว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีล และพรต หรือวัตรปฏิบัติ นี่ยิ่งจะเป็นการเพิ่มกิเลส ผูกใจเอาไว้กับความทุกข์ นับเป็นการเพิ่มความเห็นแก่ตัว

จิตสิกขา หรือ สมาธิภาวนา ย่อมช่วยให้

(๑) เกิดสติและสัมปชัญญะ คือเกิดความรู้ระลึกได้ หรือการคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง (สติ) ประกอบไปกับความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือความรู้ชัดเข้าใจชัด (สัมปชัญญะ) ทั้งนี้ก็เพื่อคลายความติดยึดในตน
(๒) ย่อมเป็นไปเพื่อการอยู่สุขในปัจจุบัน โดยที่ไม่จำต้องใช้ความคิดเป็นตัวนำ หากช่วยให้หัวใจกับหัวสมองเนื่องกัน อย่างเป็นการพักผ่อนได้ และหาความสุขได้ในปัจจุบันขณะ ดังท่านใช้ศัพท์ ทิฎฐธรรมสุขวิหารี
(๓) ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ญาณทัศนะ คือเข้าถึงการหยั่งรู้ที่เป็นไปตามสภาพของสัจภาวะ โดยเข้าใจทั้งอดีต ทั้งปัจจุบันและอนาคต
(๔) ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ หรือวิมุติหลุดพ้นอันได้แก่ความเป็นไทนั้นเอง องค์คุณข้อนี้นับว่าขาดไปจากระบบการศึกษาของไทยอย่างน่าเสียดาย ไม่ว่าจะการศึกษาของพระหรือของฆราวาส โดยที่สมาธิคือตัวเพิ่มความสามารถของจิต ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มีความกล้าหาญ ขยัน อดทน ประกอบไปด้วยความรับผิดชอบ

พร้อมกันนี้ สมาธิก็ช่วยเพิ่มคุณธรรมให้เกิดความเมตตา (รักเพื่อนมนุษย์ที่ใกล้ตน ซึ่งรักได้ยากกว่ามนุษยชาติทั้งหมด) ความกรุณา (พร้อมที่จะร่วมทุกข์กับคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง ในทางตรงหรือในทางโครงสร้างของสังคม) มุทิตา (ไม่เกลียดโกรธแม้คนที่กดขี่ข่มเหงเรา หรือคนที่เอาหน้าและได้ดีโดยการเหยีบไหล่เรา หรือเลื่อยขาเก้าอี้เรา) และอุเบกขา (รู้จักวางเฉย อย่างเข้าใจสภาวธรรมที่แท้)

นอกไปจากนี้แล้ว สมาธิยังช่วยเพิ่มความสุข ในทางปิติ (อิ่มใจ) ปราโมทย์ (เบิกบาน) และสดชื่นผ่องใส แม้จะถูกเบียดเบียนบีฑาก็ตาม

กล่าวได้ว่าจิตสิกขา หรือสมาธิภาวนานี้คือการพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต ซึ่งเป็นที่ต้องการยิ่งของสังคมปัจจุบัน โดยปฏิบัติได้ไม่ยากเย็นจนเกินไป

อนึ่ง สมาธิย่อมอบรมให้ศีลเป็นไปเพื่อความปกติ อย่างไม่ติดยึดในตน และช่วยอบรมให้เกิดปัญญา คือการฝึกปรือให้รู้ความจริง คือรู้ตรงตามความเป็นจริง หรือรู้เท่าทันโลกและชีวิต ทำให้ชีวิตจิตใจเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ เข้าถึงอิสรภาพหรือความเป็นไทอย่างสมบูรณ์

ในขั้นต้นปัญญาเป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆไป โดยเฉพาะก็ความเชื่อที่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ต่างอิงอาศัยกันและกัน เป็น อิทัปปัจจยตา โดยที่ความจริงแท้นั้น คือตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง นี้แลคือต้นตอที่มาแห่งสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นองค์ต้นของอริยมรรคมีองค์แปด

ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีมิจฉาทิฐิเสียแล้ว ความคิดเห็นเชื่อถือต่างๆก็ย่อมผิดไปหมด ดังค่านิยมของคนกระแสหลักในโลกทุกวันนี้ ที่เน้นในทางตัวกู ของกู และหลงอยู่ในกิน กาม เกียรติ โดยมองไม่เห็นสังสารวัฏ และทางออกจากการเวียนว่ายตายเกิดดังกล่าวไปสู่ความเป็นไทจากกิเลสอาสวะทั้งปวง

การที่จะมีสัมมาทิฐิขึ้นได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิว่ามี ๒ ประการคือ

๑) ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆษะ คือเสียงจากผู้อื่น และถ้าผู้อื่นที่ว่านี้เป็นกัลยาณมิตร ย่อมกล้าตักเตือนเพื่อนด้วยความหวังดี
๒) ปัจจัยภายใน อันได้แก่โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณาตนเอง โดยไม่ติดยึดในตัวตนอันเป็นผลมาจากจิตสิกขาและสมาธิภาวนานั้นเอง

มีพระพุทธพจน์ยืนยันความข้อนี้อย่างจังๆเลยทีเดียวดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น"

"ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค"

"อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส"

"เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น"

"ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม"

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น"

"เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น"

"เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย"

"เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย"

"โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม"

อริยมรรคทั้งแปด หนทางแห่งอุดมศึกษา
ข้าพเจ้าเห็นว่าเป้าหมายของอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท ต้องเริ่มจากสัมมาทิฐิ ต่อจากนั้น จึงฝึกปรือไปในทางอริยมรรคทั้งแปดได้ครบตามองค์คุณแห่งไตรสิกขาคือ

๑) สัมมาทิฐิ เห็นชอบ ได้แก่การรู้อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ ๓ หรือรู้กุศลมูลกับอกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง
๒) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ดำริในทางสงบระงับ ในทางละพยาบาท และในทางอหิงสธรรม
๓) สัมมาวาจา เจรจาชอบ หรือวจีสุจริต
๔) สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ได้แก่กายสุจริต
๕) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ เว้นมิจฉาชีพทุกชนิด
๖) สัมมาวายามะ เพียรชอบ
๗) สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นไว้ชอบ

ท่านจัดเอาข้อ ๓-๔-๕ เป็นหมวดศีล ข้อ ๖-๗-๘ เป็นหมวดสมาธิ และข้อ ๑-๒ เป็นปัญญา

มรรคมีองค์ ๘ นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้น เป็นอิสระ เป็นไท ปลอดโปร่งในทางปัญญา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสองคือ กามสุขัลลิกานุโยค (มัวเมาในกามคุณ) และ อัตตกิลมถานุโยค (ทรมานตน) หากเราควรเอาที่สุดทั้งสองนี้มาประยุกต์ขึ้นใหม่ ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมนั้นเกิดขึ้น เพราะมีการใช้ความรุนแรงในการบีบบังคับ แต่โครงสร้างดังกล่าวย่อมดำรงคงอยู่ไม่ได้ หากเราไม่ร่วมมือด้วยโดยความเห็นแก่ตัวของเราเอง ความทุกข์ทางสังคมและส่วนตัวของเรามีอยู่ทั้งภายในและภายนอก

การที่จะแก้ปัญหาดังว่านี้ ต้องใช้พุทธศาสนาเพื่อสังคม แม้พุทธศาสนาจะเริ่มจากมรคาส่วนตนเพื่อแปรเปลี่ยนความโลภโกรธหลง ให้กลายไปเป็นเมตตากรุณาและปัญญา แต่การที่จะเอาชนะความทุกข์ในทางส่วนตน เราต้องรู้ถึงความทุกข์ที่กิดขึ้นจากโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมด้วย และที่จะเอาชนะความทุกข์ทางสังคม เราต้องร่วมมือกัน คือเราต้องเลี่ยงทางสุดโต่งทั้งสองอันได้แก่

(๑) การมุ่งมั่นแต่ที่จะแสวงหาความเป็นไทเพื่อการหลุดพ้นในส่วนตนเท่านั้น และ
(๒) การมุ่งมั่นที่จะแก้ไขโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม จนละเลยการแปรเปลี่ยนส่วนตนจากอกุศลมูลทั้งสามไปสู่เมตตากรุณาและปัญญา

หวังว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นองค์คุณหลัก ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการจัดการศึกษา หรือการพัฒนาชีวิตในปัจจุบันให้เข้าถึงความเป็นไทได้โดยแท้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจิตสิกขากับศีลสิกขา ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจได้ถึงความรู้อย่างควบคู่ไปกับคุณความดี และสมกับที่วิตเกนสไตน์กล่าวไว้ว่า ความดีกับความงามเป็นอันเดียวกัน โดยที่ข้าพเจ้าแปลคำของเขา Ethics is transcendental ว่า จริยธรรมเป็นเรื่องเหนือเหตุผลนั้น น่าจะบ่งไปได้ด้วยว่าจริยธรรมโยงไปยังโลกุตรธรรม และเมื่อเข้าถึงปัญญาสิกขา นักศึกษาจะเข้าใจอะไรๆได้ต่างไปจากที่เคยถูกสะกดมาจากสถาบันหลักทางการศึกษาที่แล้วๆมา

ประวัติศาสตร์โลกตะวันตกจากแง่มุมของชาวพุทธ
ดัง เดวิด ลอย สามารถมองประวัติศาสตร์โลกตะวันตกได้จากแง่มุมของชาวพุทธ กล่าวคือสิ่งซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นความสำเร็จ เป็นวิวัฒนาการนั้น ถ้าเอาตัวทุกขสัจมาจับแล้ว เราจะมองเห็นเป็นมุมกลับได้ในทุกกรณี เช่น เดวิด ลอย ซึ่งเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ตะวันตกในแง่มุมของฝ่ายพุทธนั้น พิจารณาได้ว่าสิ่งซึ่งถือกันว่าเป็นวิวัฒนาการนั้น ล้วนเป็นเรื่องของความทุกข์ในทุกกรณี แม้ในเรื่องของอิสรภาพก็ขาดหายเนื้อหาสาระที่แท้ไป ยังเรื่องของความก้าวหน้า ความทันสมัยฯลฯ

ทั้งนี้ก็เพราะประวัติศาสตร์ฝรั่งนั้น ก็คล้ายประวัติศาสตร์อื่นๆที่เต็มไปด้วยผลอันเกิดจากเหตุ ที่มีต้นตอมาแต่ความโลภ ความโกรธและความหลง การที่คนอย่างเดวิด ลอย ตีประเด็นเช่นนี้ได้ชัด ก็เพราะเขามีเวลาปฏิบัติธรรม จนสามารถแปรเปลี่ยนความโลภ ความโกรธ และความหลง ไปได้ในหลายขั้นตอน อย่างน้อยเขาก็มีความสุข มีความใจกว้าง และมีความกรุณาควบคู่ไปกับปัญญา สามารถวิเคราะห์ได้ถึงเหตุการณ์ต่างๆและบุคคลต่างๆในอดีต จนหาความจริงจากบุคคลนั้นๆและเหตุการณ์นั้นๆได้ อย่างไปพ้นมายาภาพที่สร้างกันขึ้นไว้ ในนามว่าความสำเร็จ ความก้าวหน้า ความทันสมัย ฯลฯ

ยิ่งมองจากแง่มุมของทุกขสัจทางสังคมด้วยแล้ว หลักฐานของประวัติศาสตร์ย่อมแปรเปลี่ยนสภาพไป ยังคนที่เขียนประวัติศาสตร์ก็ดี คนที่เขียนวรรณคดีก็ดี แม้จนคนที่เขียนปรัชญาอันลึกซึ้งต่างๆนั้น ส่วนมากมักเป็นคนผิดปกติด้วยกันแทบทั้งนั้น โดยมิใยต้องเอ่ยถึงพระราชามหากษัตริย์ ตลอดจนแม่ทัพนายกอง นักการเมือง และนักธุรกิจ พานิชนิกรต่างๆ

เบอทรัน รัสเซลก็เคยคิดจะฆ่าตัวตาย เฉกเช่น ลุตวิก วิตเกนสไตน์ด้วยเช่นกัน ยิ่งคนหลังนี้ด้วยแล้ว มีปัญหาที่เจ้าตัวรู้สึกบาปอยู่เสมอที่เกิดมาเป็นยิวแล้วปิดบังความจริงไว้ รวมถึงการที่เขาชอบเสพกามกับเด็กหนุ่มอย่างปิดๆบังๆ ก็เป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนจิตใจเขามาก หากออเดนไม่เห็นเสียหายในการประกอบกามกรีฑากับคนเพศเดียวกัน ทั้งๆที่กฎหมายอังกฤษเคยเอาคนเข้าคุกในเรื่องนี้มาแล้ว เช่นกับ ออสการ์ ไวลด์ เป็นต้น ยังเวอยิเนียร์ วูลฟ ที่ชอบเสพสังวาสกับสตรีเพศด้วยกันก็ถึงกับต้องฆ่าตัวตาย ดังตอลสตอยก็มีปัญหาทางเพศและทางสังคมการเมือง ดังออกจะมีอาการบ้าคลั่งเป็นครั้งคราวอีกด้วย พร้อมๆกันนั้นคนพวกนี้ก็มีอัจฉริยภาพ

ถ้าเราไม่รู้จักแยกแยะอะไรๆพวกนี้ เราย่อมถูกสะกดได้ไม่ยาก

แกรี่ สไนเดอร์ ซึ่งเป็นกวีชาวพุทธคนสำคัญยิ่งของสหรัฐ ได้พูดถึงหนังสือเล่มล่าสุดของเดวิด ลอย (A Buddhist History of the West : Studies in Lack by David R.Loy ) ว่า"เป็นเล่มที่ขยายการสนทนาวิสาสะ เพิ่มพูนคำศัพท์ โดยรับการเรียนรู้จากประเพณีทางวัฒนธรรมกระแสอื่นๆ แล้วช่วยให้แสงสว่างกับปัญหาทางตะวันตกของเรา ข้าพเจ้าชอบความชัดเจนในบริเวณที่ต้องวิพากษ์อย่างสำคัญ และเป็นเรื่องที่ยากเย็นในตัวของมันเองด้วย นับว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เข้าถึงหนทางที่จะเข้าใจอารยธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และปัญหาทางจิตวิทยาของคนเรา เพื่อให้แลเห็นว่าทำไมบางปัญหาจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเรื่องสงครามและการเอารัดเอาเปรียบ นับได้ว่าเดวิด ลอย เปิดให้เราเข้าถึงดินแดนใหม่ที่มีคุณค่ายิ่ง"

แกรี่ สไนเดอร์ คนนี้แหละที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกรณีวอเตอร์เกต จนสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีนิกสันลงได้ เพียงจากการสนทนาในโรงเหล้าญี่ปุ่นคืนหนึ่งเต็มๆ

ที่แกรี่ สไนเดอร์และเดวิด ลอย สามารถไปพ้นสิ่งซึ่งนักวิชาการฝรั่งอ้างว่าเป็นเรื่องในทาง ภววิสัย (objective) นั้น ก็เพราะเขาถามถึงประเด็นที่อ้างถึงนั้นด้วย และเขาทั้งสองเป็นคนปฏิบัติธรรมทางจิตสิกขา จึงสามารถโยงหัวใจให้มาสมานกับหัวสมอง จนไปได้พ้นบริบทในทางตรรกะ

อนึ่ง ที่แกรี่ สไนเดอร์ ใช้คำว่า เพิ่มพูนคำศัพท์ เพื่อเปิดให้ เข้าถึงดินแดนใหม่ที่มีคุณค่ายิ่งนี้ นับว่าน่าสำเหนียก เพราะคำฝรั่งที่เรารับมาอย่างเซื่องๆ จะโดยการบัญญัติศัพท์ของพระองค์วรรณฯ หรือราชบัณฑิตยสถานก็ตาม ล้วนสะกดให้เราเป็นทาสปัญญาของฝรั่งแทบทั้งนั้น ความข้อนี้ ข้าพจ้าได้เอ่ยถึงไว้บ้างแล้วในเรื่อง อำนาจของภาษาและสถาบันทางวิชาการเพื่อใคร ถ้าเราจะแสวงหาการศึกษาทางเลือกเพื่อความเป็นไท ต้องท้าทายคำศัพท์ต่างๆที่สะกดเราไว้และไปให้ถึง ดินแดนใหม่ที่มีคุณค่ายิ่ง

อาศัยจิตสิกขาจนเข้าถึงปัญญาสิกขาได้ นั้นแล เราจึงไปพ้นการถูกครอบงำโดยวิธีวิทยาของตะวันตก ที่ทำให้เราเป็นทาสทางวิชาการของฝรั่งมาแต่รัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ จนรัชกาลที่ ๙

การที่จะมองเห็นอะไรๆได้ชัด ก็ต่อเมื่อละหรือลดอคติทั้ง ๔ ได้ในเรื่อง รัก โกรธ กลัว และหลง และเอาชนะปปัญจธรรมทั้ง ๓ ได้ หรืออย่างน้อยก็รู้เท่าทันมัน คือ

(๑) ตัณหา (ความทะยานอยาก ที่จะปรนเปรอตน)
(๒) ทิฐิ (ติดยึดในทฤษฎี ลัทธิ หรือ อุดมการณ์)
(๓) มานะ (ถือตัว สำคัญตัวว่ายิ่งหรือหย่อน หรือเท่าเทียมกับคนอื่น หาไม่ก็ต้องการความเด่นดังเป็นพิเศษ)

อุดมศึกษากับอุดมคติ
บางท่านอาจสงสัยว่าที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ มิเป็นเรื่องในทางอุดมคติมากไปหรือ จึงอยากย้อนถามว่า อุดมศึกษากับอุดมคตินั้นห่างไกลกันนักหรือ และสังคมเราถึงความอับจนทุกวันนี้ เพราะเราทิ้งอุดมคติหรืออุดมธรรม ที่ควบคู่มากับวัฒนธรรมของเราแต่อดีตหรือมิใช่ เราไปหวังเพียงผลได้ในทางที่เป็นรูปธรรม หรือในทางการเรียนการสอนที่เหินห่างไปจากวิถีชีวิตอันประเสริฐ โดยที่นักการศึกษาก็มีความเห็นแก่ตัวเป็นเจ้าเรือน หรือไม่รู้จักสภาพที่แท้ของตน หรือของโครงสร้างทางสังคม มิใยต้องเอ่ยถึงว่าเข้าใจสภาพทางธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยทราบได้ทั้งทางหัวสมองและหัวใจอย่างบรรสานสอดคล้องกัน

อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทจักมีขึ้นได้ คนที่สนใจในประเด็นนี้ ต้องไม่เรียนรู้แต่ทางทฤษฎี เรื่องมรรคมีองค์แปด หากต้องปฏิบัติให้ได้ทางไตรสิกขา โดยเข้าใจด้วยว่าวิถีชีวิตกับการศึกษาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกออกจากกันเป็นเสี่ยงๆไม่ได้ ความรู้กับคุณธรรมต้องไปด้วยกัน ดังความดี ความงาม กับความจริงย่อมต้องไปด้วยกันนั้นเอง

ประถมศึกษาเริ่มที่ตัวเรา
หากเราจะจัดการด้านอุดมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ต้องเริ่มจากประถมศึกษาที่ตัวเราก่อน คือ

(๑) เราต้องฝึกใจไว้โดยอาศัยไตรสิกขาเป็นหลัก ให้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวน้อย เพื่อให้เราเป็นคนปกติ หรือเป็นคนที่มีสันติสุขภายในพอสมควร อย่างปราศจากการเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก แล้ววิถีชีวิตของเรานั้นแลจักมีอิทธิพลกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งควรเป็นกัลยาณมิตรกับเรา โดยที่เราถ่ายทอดวิชาความรู้ใดให้ศิษย์ เขาก็จะได้อิทธิพลจากวิถีชีวิตของเราไปด้วยในตัว จนในที่สุดศิษย์บางคนก็จะเป็นกัลยาณมิตรกับเราด้วย

(๒) ถ้าเราฝึกปรือขั้นต่อไปได้ จนวิถีชีวิตของเราทั้งหมดเป็นการอุทิศเพื่อเกื้อกูลหรือรับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ชีวิตเราเองก็จะมีค่ายิ่งขึ้น โดยเราไม่ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต ไม่ว่านั่นจะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นสุข หรือสรรเสริญ พร้อมๆกันนั้นเราก็รับความอับลาภ อับยศ ทุกข์และนินทาได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยที่ถ้าคนเช่นนี้มีบทบาทในการสอน ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเป็นคนสุภาพ หรืออ่อนนอกแข็งในในทางคุณธรรม ย่อมเป็นปัจจัยหลักสำหรับเพื่อนร่วมงานและศิษยานุศิษย์

ครูกับศิษย์
ที่ออเดนกล่าวไว้ถึงการสอนเด็กนั้น แม้จะเป็นวาทะของฝรั่ง ซึ่งหยั่งไม่ถึงพุทธธรรม แต่ก็มีความหมายอย่างสำคัญ ดังคำของเขาแปลออกไปเป็นไทยได้ดังนี้คือ

"สำหรับครูที่จะมีคุณค่าที่แท้สำหรับลูกศิษย์นั้น เขาต้องเป็นคนที่เติบโตเต็มที่ และเหนือไปจากนี้ก็ตรงที่เขาต้องเป็นคนมีความสุข ให้เยาวชนได้รับความรู้สึกว่า ชีวิตของผู้ใหญ่นั้นน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าชีวิตของเขายิ่งนัก ครูต้องพร้อมที่จะให้อำนาจทั้งหมดในทางความรัก และความเข้าใจในทางจินตนาแก่ศิษย์ เมื่อเขาต้องการสิ่งนั้น พร้อมกันนั้นครูก็ควรลืมศิษย์เสียให้หมดเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาจากครูไป โดยไม่ติดยึดกับศิษย์ในทางส่วนตัว และท้ายที่สุด ครูต้องไม่วุ่นในเรื่องสั่งสอนศีลธรรม ไม่ตั้งระเบียบวินัยว่าเด็กดีต้องเป็นเช่นนั้นๆ ครูต้องไม่ตกใจในอะไรๆที่ก่อเกิดจากศิษย์ หากครูควรมีความอดทน ที่จะเข้าใจในสาระของพฤติกรรมแต่ละอย่างที่เกิดจากทัศนคติของศิษย์ โดยไม่ยึดทัศนคติของตนเป็นที่ตั้ง เพื่อจะได้เห็นว่าเจ้าวานรตัวน้อยนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสังเกต และพยายามเฝ้ามองเพื่อขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตให้ศิษย์ หากต้องใช้อุบายอย่างแยบคายที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการไปก้าวก่ายวิถีชีวิตของศิษย์"

นี่ว่าถึงสถานะของครูกับผู้เยาว์ ส่วนครูกับศิษย์ที่มีอายุมากแล้วนั้นเล่า น่าจะวางตัวอย่างเป็นกัลยาณมิตรกัน หรืออย่างอุปัชฌาย์อาจารย์กับสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ดังตอนขอบวช บรรพชาเปกขะกล่าวว่าอะไรเป็นภาระของพระเถระ นั่นย่อมเป็นภาระของข้าพเจ้า และอะไรเป็นภาระของข้าพเจ้า นั่นย่อมเป็นภาระของพระเถระ หรืออะไรในทำนองนี้ กล่าวคือครูกับศิษย์ต้องเตือนกันและกันได้ ให้ไม่ติดยึดในความเห็นแก่ตัว

โรงเรียนธรรมะที่อังกฤษ
สำหรับโรงเรียนธรรมะที่อังกฤษนั้น จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ แม้จะเป็นขั้นประถม แต่ก็ชัดเจนที่ไม่ใช้คำสอนในทางคัมภีร์ที่ตายตัวไปยัดเยียดให้เด็ก โดยช่วยให้เด็กเข้าใจประเพณีและพิธีกรรมอย่างไม่ติดยึดในพิธีกรรมนั้นๆ สำหรับครูผู้สอน เขาก็เลือกเอามาแต่คนที่ซื่อสัตย์สุจริต ที่คิดเกื้อกูลผู้อื่นอย่างร่วมมือร่วมใจกันได้อย่างไม่แก่งแย่งแข่งดีกัน โดยเน้นที่การภาวนา ให้หัวสมองกับหัวใจประสานถึงกัน เพื่อไม่ให้ความคิดเป็นตัวตัดสินเสมอไป หากให้รู้จักใช้อารมณ์อันอ่อนไหว อย่างมีสติ และอย่างรับรู้ความงามได้ด้วย โดยที่ต่างก็มีระเบียบวินัยในการควบคุมตนเอง ยิ่งกว่าจะอาศัยกฎระเบียบต่างๆจากภายนอก

นอกไปจากนี้แล้ว โรงเรียนดังกล่าวยังเน้นที่การเรียนรู้จากแบบอย่างจากครูอาจารย์และเพื่อนนักเรียน ให้เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตภายในโรงเรียน โดยเข้าใจในเรื่องความยุติธรรม ในเรื่องสันติ ในเรื่องความเรียบง่ายอย่างสบายๆ อย่างไม่หนักหน่วง โดยอาศัยพรหมวิหารธรรมเป็นหลัก

พร้อมๆกันนั้น ครูก็ช่วยให้ศิษย์เข้าใจได้ถึงกรรมหรือการกระทำของเขา โดยให้รับรู้ถึงผลของกรรมด้วย โดยช่วยชี้ให้เห็นถึงความเป็นอิทัปปัจจยตาที่โยงใยถึงกัน

ทางโรงเรียนสามารถช่วยสร้างให้แต่ละคนได้เข้มแข็งทางด้านจิตวิญญาณ พร้อมกับความสมดุลย์ทางจิตใจกับร่างกาย โดยที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เผชิญกับความทุกข์ในชีวิต หรือความทุกข์ทางสังคม โดยเฉพาะก็ในเรื่องของความไม่มั่นคงในชีวิต ความที่ต้องพลัดพรากจากของรัก และที่ต้องเผชิญกับสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนา แม้ความคลางแคลงสงสัย ก็เป็นปัจจัยช่วยให้เกิดปัญญา ในการแก้ปัญหาต่างๆอย่างมีสติ

นอกไปจากนี้แล้ว ทางโรงเรียนยังเน้นในเรื่องปัญหาปัจจุบัน แม้จะวางหลักสูตรไว้ให้เรียนในเรื่องของอดีต หากเหตุการณ์อันสั่นสะเทือนใดๆเกิดขึ้น ครูกับนักเรียนก็หันมาจับปัญหา และหาทางออกด้วยปัญญา แม้จนพ่อแม่ของนักเรียนได้ลูกคนใหม่ก็นำเอาประเด็นนี้มาอภิปรายกัน ให้เข้าใจในเรื่องการเกิด การตาย การเติบโตและการเสื่อมสลาย

ที่สำคัญคือบรรยากาศของการเรียนการสอน บรรสานไปกับการดำเนินชีวิตของทุกๆคน และใช้ความเงียบหรือความสงบเป็นปัจจัยหลัก ให้มีเวลาได้เจริญจิตสิกขา ในอันที่จะนำมาใช้อบรมศีลสิกขา ให้ปัญญาสิกขาเกิดขึ้น

ครูกับผู้ปกครองพบกันเสมอๆ รวมทั้งกับนักเรียนด้วย มีเวลาภาวนาด้วยกัน มีเวลาปรึกษาหารือกัน ในบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตร

ที่ยกตัวอย่างการจัดการศึกษาในขั้นประถมมาให้เห็นเป็นตัวอย่างนั้น ต้องเข้าใจว่าครูอาจารย์ผ่านการศึกษาในขั้นอุดม (อย่างนอกระบบ) มาแล้ว จึงมีฉันทะกับการงาน และเห็นใครต่อใครเป็นกัลยาณมิตรได้ อย่างไม่มีอาการเกร็งหรือเครียด ปัจจุบันขณะเป็นขณะอันประเสริฐสุด

มหาวิทยาลัยในพุทธศาสนา
ในส่วนมหาวิทยาลัยนโรปะอันเป็นการจัดอุดมศึกษาแบบพุทธที่สหรัฐอเมริกานั้น ครูอาจารย์และนักศึกษาไม่จำต้องเป็นพุทธศาสนิก หากจัดระบบให้วิถีชีวิตกับการศึกษาดำเนินควบคู่กันไป ให้มีเวลาได้สำรวจความประพฤติปฏิบัติในทางศีลสิกขา ให้มีเวลาภาวนาในทางจิตสิกขา เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นทั้งในทาง

(๑) จินตมัย คือในทางความงาม ความไพเราะ
(๒) สุตมัย ซึ่งเกิดจากการเล่าเรียน
(๓) ภาวนามัย ซึ่งเกิดจากการฝึกปฏิบัติกับตนเอง โดยเฉพาะก็ในทางจิตสิกขา

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกได้เขียนถึงมหาวิทยาลัยนโรปะ แต่เมื่อยังเป็นสถาบันนโรปะ ในบทความภาษาอังกฤษของท่านเรื่อง Buddhist Education ซึ่งตีพิมพ์มาแต่พ.ศ. ๒๕๓๓ นั้นแล้ว พระคุณท่านตั้งข้อสังเกตว่านโรปะ ยึดแบบอย่างมาจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งมีอิทธิพลทางด้านอุดมศึกษาในภารตประเทศจากคริสตวรรษที่ ๕ จนคริสตศตวรรษที่ ๑๒ การศึกษาดังกล่าวมุ่งที่การภาวนา เพื่อให้เกิดความงอกงามทางสติและปัญญาไปพร้อมๆกัน ซึ่งถือว่าเป็นการขบวนการเรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตประจำวัน และการบริหารมหาวิทยาลัย ก็ใช้วิธีของสงฆ์ คือเป็นไปในทางประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ อย่างไม่ติดยึดในตำแหน่งหน้าที่ และมีการตักเตือนกัน ดังปวารณากรรมเป็นแบบอย่างอยู่ แต่เมื่อเป็นสถาบันขึ้นมาแล้ว จะไม่ให้บกพร่องย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังท่านนโรปะเอง ก็เคยเป็นอธิการบดีอยู่ที่นั่น แล้วยอมรับว่าจิตสิกขาของท่านย่อหย่อน จึงออกไปแสวงหาอุดมศึกษานอกระบบ จนค้นพบศักยภาพภายในที่ซ่อนเร้นอยู่ จนถือได้ว่าท่านเป็นสิทธาคนสำคัญ ดังเกิดมหาวิทยาลัยที่ตั้งตามชื่อท่านอยู่ในบัดนี้ (*เล่ากันว่าท่านถูกทากขิณีแปลงร่างมาถาม และคำถามที่สำคัญคือ ""ท่านอาจารย์ ดูท่านจะรู้พระคัมภีร์ ปรัชญาปรมิตา ทั้งหลายเป็นอย่างดี แต่ท่านรู้ความหมายในพระคัมภีร์นั้นๆหรือไม่ เมื่อตอบว่ารู้ ก็ย่อมถามต่อไปให้อธิบาย ครั้นอธิบายโพธิสัตวมรรคเป็นขั้นๆ ก็ได้รับคำตอบว่า เข้าใจอธิบายความหมายได้ดีมาก แต่ตัวอาจารย์เองรู้ซึ้งถึงความหมายนั้นๆ จนความหมายนั้นๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความคิดและจิตใจของตัวอาจารย์เองหรือเปล่า ประเด็นแห่งการปฏิบัติตนตามปรัชญาปารมิตานั้น คือปล่อยวางจากการติดยึดทั้งหมด เปิดใจกว้างไว้อย่างไม่ให้มีความคิดนึกตรึกตรองเอาเลย ต่อเมื่อเข้าถึงอทวิภาค(คือไม่มีการแบ่งเราแบ่งเขา) นั้นแล จึงจักเป็นมหาอัคคี ซึ่งทำลายความมืดของอวิชชาที่ก่อให้เกิดการติดยึดในตัวตน )

ที่พึงสังเกตก็คือ ก่อนมหาวิทยาลัยพุทธในชมภูทวีปจะปลาสนาการไปโดยการทำลายล้างของพวกมุสลิมนั้น ชาวธิเบตได้เอาแบบอย่างของมหาวิทยาลัยนาลันทาไปตั้งขึ้นที่ในประเทศธิเบตถึง ๓ แห่งคือ เตรปุง การ์เดน และเสระ แต่ละแห่งมีนิสิตนักศึกษาเป็นพันๆรูป ทั้งยังแบ่งย่อยออกเป็นวิทยาลัย หรือคณะต่างๆในมหาอารามอีกด้วย เน้นที่พุทธปรัชญา ตันตรวิธี ตลอดจนพระอภิธรรม พระสูตร พระวินัย และวิชาอื่นๆอันเกี่ยวเนื่อง เช่น โหราศาสตร์ อายุรศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และวาทศาสตร์ รวมถึงศิลปศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ นาฏดุริยางค์อีกด้วย

ครั้นจีนบุกเข้ามายึดครองธิเบตเมื่อ ๔๐ ปีมานี้ ก็ได้ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธทั้งสามนี้ลงอย่างย่อยยับ แม้วัดเล็กวัดน้อยยังพอมีเหลืออยู่ได้บ้าง และแล้วชาวธิเบตที่อพยพหลบภัยไปยังชมภูทวีป ก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยทั้งสามขึ้นได้อีกแล้วที่ทางภาคใต้ของประเทศนั้น แม้จำนวนนิสิตนักศึกษาจะลดน้อยลง แต่ละแห่งก็มีคนบวชเรียนถึงขั้นอุดมศึกษาเป็นจำนวนร้อยๆ แต่การเรียนการสอนยังเป็นไปในแบบเดิม อย่างไม่เปลี่ยนแปลง หากองค์ทะไลลามะโปรดให้เรียนรู้ถึงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เพิ่มเข้าไปอีกด้วย และข้าพเจ้าได้กราบทูลว่าน่าจะสังคายนาการศึกษาแบบพุทธดังกล่าวให้สมสมัยได้แล้วละกระมัง ก็ทรงสนพระทัยอยู่

น่าเสียดายที่นักการศึกษาไทยดูจะไม่สนใจในเรื่องมหาวิทยาลัยทางฝ่ายพุทธของเราเอาเลย ที่เราอ้างว่าเรามีมหาวิทยาลัยพุทธถึง ๒ แห่งนั้น นั่นคือสถาบันการศึกษาทางโลก ที่ตั้งขึ้นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ต่างหาก โดยที่บัดนี้ทบวงมหาวิทยาลัยบังคับให้รับสอนฆราวาสด้วย เพราะสองสถาบันนั้นไปรับเงินของรัฐมา เช่นมหาวิทยาลัยอื่นๆของรัฐ จึงต้องอยู่ในอาณัติของรัฐบาลยิ่งๆขึ้นทุกที

พระไทยที่ไปเรียนอินเดีย ก็ไม่มีเลย ที่จะไปศึกษายังมหาวิทยาลัยพุทธของธิเบต ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีวิริยะอุตสาหะพอที่จะเรียนภาษาธิเบตนั้นเอง แม้พระที่รู้ภาษาแขกดี ก็มีน้อยเต็มทีเสียด้วย ส่วนมากรู้ภาษาอังกฤษอย่างงูๆปลาๆ และรู้วิชาอย่างฝรั่งกลับมาอย่างกึ่งดิบกึ่งดี มีน้อยรูปนักที่จักเข้าถึงความเป็นเลิศในทางวิชาการ ยิ่งจะให้เข้าถึงคุณธรรมแห่งความเป็นสมณะด้วยแล้ว เกือบนับตัวได้เอาเลยทีเดียว

ว่าไปทำไมมี พวกฆราวาสที่ไปเรียนเมืองฝรั่ง ก็แทบไม่แตกต่างไปจากเจ้ากูที่ไปเรียนเมืองแขกเท่าไรนักดอก

มหาวิทยาลัยทางเลือกในตะวันตก
ว่าเฉพาะมหาวิทยาลัยนโรปะซึ่งไปตั้งอยู่ ณ สหรัฐอเมริกาก็เป็นเวลา ๒๕ ปีเข้านี่แล้ว ย่อมช่วยสะกิดใจคนอเมริกันรุ่นใหม่ ให้เห็นโทษของความสุดโต่งในทางกามสุขัลลิกานุโยค หรือลัทธิบริโภคนิยมซึ่งประเทศนั้นเป็นต้นแบบ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆก็ช่วยให้เกิดการถ่วงดุลย์ขึ้น ให้คนที่ตามีแววอาจแลเห็นได้ถึงเนื้อหาสาระของอุดมศึกษา ซึ่งมุ่งที่ความเป็นไท โดยท่านเจ้าคุณได้เขียนเตือนไว้ด้วยว่าประเทศในเอเชียเอง ก็น่าจะชำเลืองดูระบบอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยนโรปะมาเป็นบรรทัดฐานด้วย

ส่วนวิทยาลัยชาปั้มที่อังกฤษนั้นเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เน้นทางด้านจิตสิกขาเป็นประเด็นหลัก และมีการเรียนการสอนในช่วงปลายสัปดาห์เท่านั้น โดยนำเอาครูอาจารย์ที่สำคัญๆในทางพุทธมาอยู่กิน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิถีชีวิต ในเรื่องต่างๆในทางวิชาการ ซึ่งเป็นตัวรอง เน้นที่ประสบการณ์ของการดำเนินชีวิตร่วมกัน โดยที่นี่เป็นการทดลองจัดขึ้นอย่างใหม่ในรอบปีกลายและปีนี้เท่านั้น ก่อนหน้านั้น รับนักศึกษาเพียง ๑๐ คน ให้อยู่ภาวนาด้วยกันเป็นปี คือเน้นที่จิตสิกขาโดยโยงมายังศีลสิกขา ให้เข้าถึงปัญญาสิกขาด้วย

ข้าพเจ้ามีรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาทั้งสามที่เอ่ยถึงนี้ ส่วนวิทยาลัยชูมากเก้อนั้นมีแนวโน้มทางจิตสิกขาด้วยบ้าง หากไม่ได้ดำเนินไปในทางพุทธศาสนาเท่านั้น แม้กระนั้นก็นับว่าน่าสนใจ

ตัวอย่างที่ให้มานี้ ล้วนเป็นเรื่องการศึกษาทางเลือกของฝรั่งทั้งนั้น โดยที่ทางอินเดีย คานธีอาศรมและการศึกษาทางเลือกอย่างอื่นๆก็มี แม้จะไม่ใช่แนวพุทธ ก็นับว่าน่าสนใจ ยิ่งอินโดนีเซียด้วยแล้ว ระบบการศึกษาอย่างเปสันตรันของเขานั้น นับว่านำเอาอิสลามิกธรรมมาประยุกต์ใช้กับวัฒนธรรมชวา โดยกล้าท้าทายการศึกษาแบบฝรั่งอย่างน่าสนใจนัก

มหาวิทยาลัยทางเลือกของไทย
ถ้ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะจัดการศึกษาให้เป็นไปในทางเลือก ยิ่งกว่าที่แล้วๆมา ควรดำเนินการไปอย่างไร คงได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ยังมหาวิทยาลัยคนจนก็เช่นกัน โดยที่เมื่อข้าพเจ้าเริ่มจัดเสมสิกขาลัยขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๘ นั้น เราเริ่มที่อุดมศึกษาเลยทีเดียว โดยเรารับเด็กวัดที่ไม่จบประถมศึกษาตามกระแสหลัก ให้มาเรียนรู้ร่วมกับศาสตราจารย์จากเยอรมัน พร้อมด้วยพระภิกษุและแม่ชีจากลาวและเขมรอีกด้วย โดยไม่จำต้องกล่าวถึงไทย เราใช้วัดป่าเป็นสถานที่เริ่มเรียนรู้ แล้วขยายตัวไปยังวัดที่พระเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์ และวัดที่ได้รับความสำเร็จในการปลุกมโนธรรมสำนึกของชาวบ้านขึ้นมาได้ จากที่ผู้คนนั้นๆหมดหวังไปเลยแล้ว ดังนี้เป็นต้น

บัดนี้เสมสิกขาลัยก็กำลังจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบขึ้นด้วย โดยเริ่มจากกลุ่มนักบวชในคณะเสขิยธรรม คนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้ น่าจะหาทางสังคายนาร่วมกัน เพื่อหาแนวร่วมในด้านการจัดอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทให้สมสมัยได้จริงๆ

มหาวิทยาลัยกระแสหลักไม่ใช่คำตอบ
ที่เราควรร่วมมือกันอย่างสำคัญก็คือ อย่าไปนึกถึงสถาบันต่างๆดังต่อไปนี้ว่าเป็นคำตอบ เพราะสถาบันนั้นๆเป็นตัวปัญหาและเป็นตัวก่อปัญหา หรือขยายปัญหายิ่งๆขึ้น สถาบันที่ว่านี้ได้แก่

๑) รัฐ หรือรัฐบาล หรือองคาพยพของรัฐ
๒) บรรษัทข้ามชาติ หรือแวดวงทางธุรกิจ ที่มุ่งไปทางระบบทุนนิยม
๓) วิทยาศาสตร์กระแสหลัก และเทคโนโลยี

การล่มสลายของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติก็ดี การขยายตัวของความอยุติธรรมในสังคมก็ดี การเพิ่มให้ผู้คนตกอยู่ใต้ลัทธิบริโภคนิยมก็ดี ล้วนมีอนุสนธิมาจากสามหน่วยที่ว่านี้ทั้งนั้น

การที่จะไปขอให้รัฐบาลแก้ปัญหา หรือขอให้บรรษัทใหญ่ๆแก้ปัญหา โดยใช้วิทยาศาสตร์กระแสหลักและเทคโนโลยีนั้น คือมหันตภัย เราควรรวมตัวกันในระดับรากหญ้า หรือในแวดวงของกัลยาณมิตร แล้วแพร่ขยายมิติในทางสัมมาทิฐิออกไป ให้มีการกระจายอำนาจยิ่งๆขึ้น ให้ผู้คนมีส่วนร่วมตัดสินชะตากรรมให้เขาเอง และให้ส่วนรวมยิ่งๆขึ้น

พร้อมกันนั้น เราก็ต้องหาทางควบคุมบรรษัทที่ยิ่งใหญ่ต่างๆให้ได้ อย่างน้อยก็ให้บรรษัทพวกนั้นหันมาสนใจปัญหาทางสังคมและจริยธรรมยิ่งกว่าที่แล้วๆมา ยังการใช้วิทยาการในทางวิจัยต่างๆด้วยแล้ว เราต้องให้มีความโปร่งใส และเป็นไปอย่างประชาธิปไตยยิ่งๆขึ้นทุกที หาไม่งานวิจัยพวกนี้จะเป็นไปเพื่อเพิ่มความโลภเท่าที่บรรษัทต่างๆบงการ รวมถึงเพื่อเพิ่มความรุนแรง เท่าที่พวกพ่อค้าอาวุธต้องการด้วยความร่วมมือของรัฐบาล และแม่ทัพนายกอง รวมทั้งนักการเมือง โดยที่เป็นไปเพื่อความหลงนั้นก็มีมากต่อมากนัก ทั้งนี้ก็เพราะเพียงอ้างว่าจะได้ประโยชน์ในทางวิชาการ แต่ไม่เคยถามเลยว่าวิชาการนั้นๆรับใช้คนยากไร้หรือไม่ ผลิตผลที่ได้เป็นคุณต่อไปยังอีกเจ็ดชั่วคนไหม

ถ้าริเริ่มขึ้นได้เช่นนี้ อุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท น่าจะเป็นไปได้ แม้จะไม่ง่ายนักก็ตาม

ข้อสรุป 12 ข้อ
ท้ายที่สุดนี้ ขอเสนอความคิดให้นำไปเป็นการบ้านเพื่อการกระทำที่เป็นรูปธรรม สำหรับผู้ที่ประสงค์จะแสวงการศึกษาทางเลือกเพื่อความเป็นไท

(๑) เราแต่ละคนควรมีเวลาให้ตนเอง เจริญโยนิโสมนสิการ เพื่อฝึกปรือให้เป็นคนปกติ ด้วยการไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น อย่างรู้เท่าทันโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมและรุนแรง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ ด้วยสันติวิธีและอหิงสธรรม โดยไม่เกลียดโกรธคนที่เป็นต้นตอแห่งทุกขสัจทางสังคม

(๒) เราควรแสวงหากัลยาณมิตรในหมู่คนที่ใกล้ตัวเรา และในหมู่คนที่ห่างไกลออกไป หากมีวิสัยทัศน์คล้ายๆกับเรา แม้จะมีจุดยืนต่างกันก็ตาม โดยเราควรสมานงานการศึกษาของเราให้เข้ากับชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่ตื่นตัวแล้ว เช่น สมัชชาคนจน กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กลุ่มต่อต้านพลังงานต่างๆทางประจวบคิรีขันธ์และสงขลา เป็นต้น รวมถึงคนในวงการกรรมกรที่ถูกเอาเปรียบนานับประการ และชนกลุ่มน้อยต่างๆทั้งในและนอกประเทศ

(๓) เราควรหาทางทำการด้านสื่อสารมวลชนทางเลือกให้มาก แม้สื่อสารมวลชนกระแสหลักจักเป็นไปเพื่ออกุศลมูลทั้งสาม แต่ก็มีคนดีๆอยู่ในแวดวงนั้น ควรคบหากับเขาไว้ และหาทางส่งข้อมูลและความคิดเห็นของเราแทรกเข้าไปเท่าที่จะทำได้

(๔) เราควรต้องหาทางสนทนาวิสาสะกับผู้คนในวงการของรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการ ตลอดจนหน่วยงานใหม่ๆที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. ๒๕๔๐ เช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เพื่อหาจุดยืนร่วมทางด้านความเป็นไท หาไม่คนเก่าในสถาบันใหม่เหล่านี้ จักติดอยู่ในจิตสำนึกเดิม ที่เป็นไปในทางอหังการ ในทางเผด็จการ ในทางชนชั้น แม้ปากเขาจะว่าไปในทางตรงกันข้ามก็ตาม

(๕) เราควรหาทางสนทนาวิสาสะกับผู้คนในวงธุรกิจการค้าและนายธนาคาร แม้จนบรรษัทข้ามชาติ ตลอดจนธนาคารโลก องค์การค้าโลก และกองทุนระหว่างประเทศ โดยเชื่อได้ว่าคนดีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันนั้นๆมีอยู่ในทุกวงการ ถ้าช่วยผลักดันให้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นไทได้ ควรร่วมมือกัน หาไม่ก็ต้องประท้วง หรือก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆอย่างสันติ หากเราสามารถนำคนข้างบนให้มาเข้าใจคนข้างล่าง ให้ได้เห็นความทุกข์ของมหาชน ที่เกิดขึ้นเพราะวิถีชีวิตอันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยของคนข้างบน ที่จะเป็นการเริ่มต้นการศึกษาที่ถูกทาง เพื่อช่วยคนข้างบนให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนถึงอาจร่วมกับเรา เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมก็ได้

(๖) แม้ครูและนักบวชในทุกศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามกระแสหลัก แต่ก็มีผู้ที่อยู่นอกกระแสหลัก ซึ่งควรร่วมมือกับเราอย่างเต็มที่ แม้ท่านที่อยู่ในกระแสหลัก เราก็ควรพยายามติดต่อ พูดจาหาทางให้ท่านหันไปในทิศทางแห่งความเป็นไท แต่ถ้าท่านนั้นๆเลวร้ายจนเป็นสมีและอลัชชีเสียแล้ว ก็ควรหาทางกำจัดเสียตามหนทางแห่งธรรม ความข้อนี้ ควรรวมถึงฆราวาสในทุกๆวงการด้วย

(๗) ที่สำคัญคืองานของเรา ควรเริ่มขึ้นอย่างจิ๋วแต่แจ๋ว มุ่งที่คุณธรรม ซึ่งควรสัมพันธ์กับความดีงามและความรู้ ด้วยการใช้หัวสมองให้สัมพันธ์กับหัวใจเสมอไป ที่สำคัญคือต้องมีเวลาสำรวจตรวจดูตัวเองและงานของเรา ว่าขาดตกบกพร่องไปอย่างไรในทางคุณภาพ ยิ่งกว่าในทางปริมาณหรือในทางวัตถุ โดยอย่าไปเน้นที่อาคารหรือทรัพย์ศฤงคาร แม้จนความสำเร็จตามมาตรฐานสังคมกระแสหลัก อย่าไปเน้นให้นักศึกษาไปเป็นลูกจ้าง หรือรับใช้อะไรๆในทางมิจฉาทิฐิ หากเขาควรรู้จักตัวเขาเองและรู้จักสังคม โดยกล้าตัดสินใจได้เอง แม้จนสร้างเครือข่ายทางการงานแบบพึ่งตนเองได้ด้วย

(๘) สำหรับงานวิจัยนั้น ควรเรียนจากของจริง โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมวิจัยได้อย่างไม่จำต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งงานวิจัยหลัก ควรเป็นเรื่องของทุกขสัจทางสังคม และเหตุแห่งทุกข์ที่โยงไปยังอวิชชาสมัยใหม่ ซึ่งได้แก่วิทยาศาสตร์กระแสหลัก เทคโนโลยี่ สื่อสารมวลชน และองคาพยพต่างๆที่มอมเมาผู้คน ให้ต้องการความทันสมัยและโลกาภิวัฒน์ โดยที่เราอาจวิจัยในเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นและแบบอย่างของสังคมซึ่งเป็นไปได้เป็นอย่างดี นอกการมอมเมาของทุนนิยมและบริโภคนิยม

(๙) ถ้าเราสามารถสร้างเครือข่ายทางด้านกัลยาณมิตร ให้เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางในบางกรณี และให้ลึกซึ้งได้ในบางกรณี นี้จะเป็นตัวการที่จะนำไปสู่วิถีชีวิต หรือการศึกษาเพื่อความเป็นไทได้อย่างจริงๆจังๆ

(๑๐) เราต้องไม่ลืมว่า แม้กระแสหลักจะมีทีท่าว่าเข้มแข็งและสามารถมาก ทั้งทางเทคโนโลยี แลเทคโนแครต แต่เมื่อปราศจากความชอบธรรม และขาดความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณเสียแล้ว กระแสหลักยิ่งใหญ่นั้นๆย่อมปลาสนาการไปได้ไม่ยาก แม้เราอาจไม่มีส่วนช่วยให้มันพังทะลายไป แต่เราก็ควรหาทางออกจากรากหญ้าขึ้นมา อย่างเป็นประชาธิปไตยด้วย ให้ใครต่อใครมีส่วนร่วมตัดสินชะตากรรมของเขาเองและของส่วนรวมเพื่อความเป็นปกติของสังคม และความสมดุลย์ทางธรรมชาติ

๑๑) ที่สำคัญสุด คือการคิดทำการใดๆ ควรมีเวลาภาวนา ให้หัวใจประสานกับหัวสมอง อย่าคิดให้ลงร่องตามแนวทางที่เราเคยร่ำเรียนมาจากฝรั่งเท่านั้น พยายามถามตัวเองเนืองๆว่าเราคิด พูด และทำเพื่อตัวเราเองหรือเพื่อผู้อื่น หรือเพื่อความถูกต้องดีงาม โดยตราไว้เสมอๆว่า ทุกๆอย่างอิงอาศัยกันและกัน อย่างเป็นอิทัปปัจจยตา การแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆนั้น ไม่ถูกต้อง ต้องรู้จักโยงใยอะไรๆให้ถึงกันอย่างรู้เท่าทันปัญหานั้นๆเท่าที่จะทำได้ ทุกกรณียกิจที่เราทำไปนั้น ขอให้ถือว่าเป็นการบำเพ็ญบารมี เพื่อลดละเลิก เพื่อปล่อยวาง อย่างมีความสุขในปัจจุบันขณะ แม้ปัญหาจะดูเลวร้ายและทับถมไว้มาก หากตั้งสติไว้ดีๆ ก็ย่อมไม่มีอะไรที่เกินความสามารถของปัญญามนุษย์ไปได้

๑๒) ข้อสุดท้ายสำหรับพวกเราทุกคน ที่คิดจะทำอะไรนอกกระแสหลัก หรือสู้กับโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมและรุนแรง คืออย่าลืมอารมณ์ขัน อย่าลืมหัวเราะเยาะตัวเอง หากเรียนรู้ที่จะฝึกการให้อภัยไว้เนืองๆ และควรรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งแม้จะเลวร้ายเพียงใดก็ควรรับฟังไว้อย่างมีมนสิการ

ส.ศิวรักษ์ แสดงปาฐกถา ณ ที่ทำการแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่ วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ