H
His
011044
release date
Mid's history
บทความทางปรัชญาสังคมวิทยา ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง" แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องตัวตน ระหว่างฉันที่เป็นประธาน และ ฉันที่เป็นกรรม" : 1 พ.ย.44
CP
MP
WB
contents P.
member P.
Webboard

หากภาพ และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้

 

แนวความคิดสำคัญ ที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของมี้ดที่ปรากฏอย่างเด่นชัด มีอยู่สี่แนวด้วยกันคือ

1. จารีตความคิดของสำนักศาสนานิกายธรรม นิวอิงแลนด์ที่เน้นถึงการค้นหาด้านปัญญาอย่างเป็นอิสระ และหน้าที่ทางศีลธรรมต่อชุมชน;
2. จารีตความคิดของยุคบุกเบิก ที่เน้นเรื่องการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาปฏิบัตินิยม
3.แนวความคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน ที่เน้นถึงการเปลี่ยนแปลงและการยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดถาวร นอกจากกระบวนการโดยตัวของมันเอง; และสุดท้ายคือ
4. แนวปรัชญาแบบจิตนิยมเยอรมันจาก คานต์ (Kant) ไปจนถึง เชลลิง (Schelling) ซึ่งเน้นสอดคล้องกันในเรื่องกระบวนการและการแปรเปลี่ยน และความสนใจหลักเกี่ยวกับความเป็นอิสระ
และความรับผิดชอบของผู้กระทำ

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแปล ของ รศ.วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เฉพาะส่วนที่ตัดตอนมานี้ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ ปรัชญาสังคมวิทยา ว่าด้วยเรื่อง"ตัวตน" อันเป็นประเด็นที่ แนวคิดหลังสมัยใหม ่สนใจ

งานฉบับสมบูรณ์ ของ
บทความชิ้นนี้ชื่อ
"ยอร์จ เฮอร์เบริ์ต มี้ด พิมพ์ครั้งแรกโดย สนพ.
ม.ธรรมศาสตร์

ต้นฉบับเขียนโดย
ลิวอิส เอ.โคเซอร์
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : แปล
(ความยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

Free Remote Education for All / The Midnight University / November 2001
George Herbert Mead
1863 - 1931
R
Related
article
P.1
back to

(ต่อจากหน้าที่แล้ว)

ลัทธิจิตนิยมของเยอรมัน

มี้ดได้รับแนวความคิดที่เกี่ยวเนื่องจากจารีตความคิดแบบจิตนิยมของเยอรมัน สิ่งที่ทำให้เขาสนใจในฟิคเต้ (Fichte) เชลลิง และเฮเกล (Hegel) ผู้ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "นักปรัชญายุคโรแมนติก" และในบางส่วนของคานต์ คือ
การที่บุคคลเหล่านี้ได้สรุปรวบยอดและสร้างลัทธิทางปรัชญาที่เกี่ยวกับความคิด เรื่องกระบวนการของชีวิต
"นักจิตนิยมยุคโรแมนติกแรกที่สุดได้เทียบกระบวนการนี้กับกระบวนการ ตัวตน-ไม่ใช่-ตัวตน (self-not-self process) ในประสบการณ์ และต่อมาก็เทียบกระบวนการตัวตน - ไม่ใช่ - ตัวตนนี้กับกระบวนการจิตวัตถุ" (subject-object process) มี้ดเขียนว่า ปรัชญาก่อนหน้าของคานต์ "ถือว่าโลกอยู่ที่นั่นแล้วและมนุษย์ได้มาสู่โลกในภายหลัง …แต่สิ่งที่นักจิตวิทยายุคโรแมนติกยืนยันคือ คุณไม่สามารถมีวัตถุโดยปราศจากจิต" ในอีกด้านหนึ่งคือ ไม่สามารถมีจิตสำนึกที่ไม่สำนึกต่อบางสิ่งบางอย่างได้ ดังนั้นจิตและวัตถุจึงมีความเกี่ยวพันต่อกันอย่างหลีกเลียงไม่ได้ มี้ดได้เรียนรู้จากจารีตความคิดของเยอรมันที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ระหว่างจิตและวัตถุในกระบวนการรับรู้และในการสร้างตัวตน "เราสามารถเห็นได้ว่ากระบวนการตัวตนของนักจิตนิยมยุคโรแมนติก --การผสมปนเปกันของสองสภาพของประสบการณ์ คือประสบการณ์กับตัวตนในด้านหนึ่ง และประสบการณ์ของจิต --วัตถุในอีกด้านหนึ่ง-- เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถยืนยันไม่เพียงว่าจิตเกี่ยวพันกับวัตถุ แต่วัตถุก็เกี่ยวพันกับจิตด้วย"

ขณะที่มี้ดอ่านงานของนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน พวกเขามีความเชื่อหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์ของตัวตนที่มีต่อวัตถุต่าง ๆ มี้ดสอนว่า ฟิคเต้มีความสนใจหลักอยู่ที่ประสบการณ์ทางศีลธรรม ขณะที่เชลลิงมีจุดความสนใจอยู่ที่ประสบการณ์ทางสุนทรียะ และเฮเกลสนใจที่ประสบการณ์ทางความคิด ปัญหาร่วมกันของพวกเขาคือ "การนำโลกซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นอิสระจากตัวตนเข้าสู่ประสบการณ์ของตัวตน" ความคิดนี้ปรากฏชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของฟิคเต้ "สำหรับปัจเจกบุคคล โลกเป็นงานที่ต้องทำให้สำเร็จเสมอ… มันเป็นโลก เป็นสิ่งที่เป็นจริงก็ต่อเมื่อคนได้สร้างมันขึ้นมาและจัดระเบียบให้กับมันเพื่อการดำเนินกิจกรรมของเขา" ในการสรุปทรรศนะของมี้ดเกี่ยวกับปรัชญาโรแมนติกในสภาพที่เป็นปรัชญาเกี่ยวกับกระบวนการและในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาทฤษฎีวิวัฒนาการ มี้ดได้เขียนไว้ว่า

ปรัชญาโรแมนติกชี้ไว้ ตัวตนขณะที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ทางสังคม ได้นำ [ข้อความเดิมเป็นดังนี้] หน่วยหนึ่งติดตัวมาด้วยซึ่งทำให้สังคมเกิดขึ้นได้และทำให้โลกเกิดขึ้นได้.. ตัวตนนั่นแหละที่จัดระเบียบโลก แต่เมื่อ ตัวตนได้จัดระเบียบโลกแล้ว สิ่งที่ตัวตนจัดระเบียบก็คือ สิ่งที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวมันเอง ก็คือจัดระเบียบประสบการณ์ของตัวตนนั่นเอง ในด้านของธรรมชาติของตัวตน ตัวตนได้ค้นพบสิ่งที่มันเป็นในอีกด้านหนึ่ง

ไม่จำเป็นต้องเน้นว่าฟิคเต้หรือเชลลิงยากที่จะยอมรับคำอธิบายถึงหลักการของพวกเขาในลักษณะนี้ หรือการที่สาวกทั้งหลายของพวกเขาในเวลาต่อมาจะตกใจมากที่รู้ว่าอภิปรัชญาแบบจิตนิยมที่รักยิ่งของพวกเขา ทำหน้าที่ในการวางพื้นฐานสำหรับปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐานจาก "ปรัชญาวัตถุนิยมที่หยาบกระด้าง" (horid materialism) ของดาร์วิน สิ่งที่สำคัญก็คือ คำอธิบายเหล่านี้เป็นเนื้อความซึ่งมี้ดได้รับจากการอ่านงานของพวกเขาและนำมารวมเข้าเป็นส่วนเดียวกันกับทรรศนะของเขาเอง

ในกลุ่มนักคิดชาวเยอรมันรุ่นหลัง ๆ วิลเฮล์ม วุนดท์ ผู้ซึ่งมี้ดเรียนด้วยหนึ่งภาคการศึกษา มีอิทธิพลทางความคิดต่อเขามากที่สุด สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนที่สุดในแนวความคิดเกี่ยวกับอากัปกิริยาของมี้ด วุนดท์ได้จำกัดความคำว่า อากัปกิริยา ไว้ว่า เป็นสิ่งที่พบได้ในระยะแรก ๆ ของพัฒนาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางสังคม ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ อากัปกิริยาเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางสังคมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำต่อ ๆ ไป

ดาร์วินถือว่าอากัปกิริยาเป็นการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ของสัตว์ แต่วุนด์ทคัดค้านว่าการหน้าที่ของอากัปกิริยาไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่อากัปกิริยาเป็นส่วนริเริ่มและส่วนย่อยของการกระทำที่ซับซ้อน

มี้ดเน้นอยู่บ่อย ๆ ว่าการสร้างสูตรความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอากัปกิริยา "ได้ก้าวหน้าไปได้มากเพราะวุนดท์" แต่กล่าวเสริมว่าวุนดท์ยังไม่ได้เน้นอย่างเพียงพอถึง "คุณค่าที่มีของการกระทำที่ถูกตัดทอนเหล่านี้ การเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวที่ถูกหักห้าม อากัปกิริยาเหล่านี้ในฐานะเป็นเสมือนการกระตุ้นที่เหมาะสมสำหรับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลอื่นๆ" การเน้นเฉพาะด้านจิตวิทยาอย่างเดียวของวุนดท์ทำให้เขาละเลยความคิดในเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม มี้ดมองว่าตนเองทำงานตามแนวความคิดของวุนดท์โดยตรงเมื่อเขาค้นคว้าในเรื่องธรรมชาติของอากัปกิริยาที่มีความหมายร่วม

ได้มีการตั้งข้อสังเกตบ่อย ๆ ว่า ความคิดของอดัม สมิธ (Adam Smith) ในเรื่อง "ผู้ชมที่ไม่มีอคติ" (impartial spectator) มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับความคิดของมี้ดในเรื่อง "บุคคลอื่นทั่วไป" (generalized other) และคล้ายกับความคิดของคูลี่ย์เรื่อง "กระจกส่องตน" (looking-glass self) ที. วี. สมิธ ลูกศิษย์คนหนึ่งของมี้ดได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถูกต้องเมื่อเขาเขียนถึงมี้ดว่า

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าตำหนิเขาอย่างล้อเล่นในเรื่อง "ขโมยสิ่งที่เขาค้นพบจาก สมิธ" เขาตอบอย่างสุภาพอ่อนโยนว่า เขาได้อยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดของอดัม สมิธขณะที่เขาศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด และที่นั่นเขาก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสมิธ … แต่ไม่ว่าเขาจะยืมอะไรมาจากสมิธก็ตาม ความคิดเรื่อง "บุคคลอื่นทั่วไป" (generalized other) ของเขามีความลึกซึ้งสมบูรณ์มากกว่าสิ่งที่เขายืมมา "บุคคลที่อยู่ภายในใจ" (man within the breast) ของสมิธ เป็นแขกที่เห็นแก่ผู้อื่นในครัวเรือนที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน เพื่อมุ่งหวังจะได้รับความเคารพยกย่อง "บุคคลอื่นทั่วไป" ไม่ใช่แขก เขาเป็นตัวเจ้าของบ้านเอง

ในหมู่นักคิดรุ่นเดียวกับเขา นอกจากนักลัทธิปฏิบัตินิยมชาวอเมริกันแล้ว มี้ดดูเหมือนจะประทับใจในงานของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี แบรก์ซอง (Henri Bergson) ผู้ซึ่งเน้นเรื่องการเลื่อนไหลของประสบการณ์ ซึ่งเป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจของมี้ด มี้ดเขียนอย่างเห็นด้วยว่า สำหรับแบรก์ซอง "ชีวิตคือกระบวนการของการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกี่ยวพันกับโลกในรูปของประสบการณ์"

มี้ดไม่ได้เชื่อตามแบรก์ซองเมื่อเขาเสนอปรัชญาว่าด้วยพลังแห่งชีวิตซึ่งมีแนวที่คัดค้านการใช้เหตุผลและคัดค้านเรื่องสติปัญญา มี้ดโต้แย้งว่าแบรก์ซองมองไม่เห็นว่า "การไหลหลั่งอิสรภาพ ความแปลกใหม่ การแทรกซึมระหว่างกัน การสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่เขา สนใจ ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่เพียงการแทรกซึมกันของการไหลของจิตสำนึกภายใน สิ่งเหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นในสภาพทางภววิสัยด้วย" มี้ดมีความตั้งมั่นที่เด่นชัดต่อลัทธิภววิสัยที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ แต่ในการสร้างทรรศนะของเขาในเรื่องการไหลหลั่งและสายธารของจิตสำนึกในการกระทำต่อกันและกันกับโลกของประสบการณ์ เขายังเป็นหนี้บางส่วนต่อแบรก์ซอง แม้ว่าเขาจะได้รับอิทธิพลจากวิลเลี่ยม เจมส์มาก่อนหน้าก็ตาม

กลุ่มนักคิดปฏิบัตินิยม

มีหลายอิทธิพลร่วมกันที่ซับซ้อนที่เชื่อมมี้ดกับเจมส์ กับบอลด์วิน (Baldwin) กับคูลี่ย์ และเหนือสิ่งอื่น กับจอห์น ดิวอี้ จำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียดลออและเฉพาะเจาะจงมากเท่านั้น จึงจะสามารถสืบสาวไปยังอิทธิพลต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างชัดเจนแน่นอน แนวความคิดที่ว่า การกระทำมีลักษณะเชิงสังคมเท่านั้น เป็นอุปมาอุปไมยที่เป็นพื้นฐานของมี้ดเช่นเดียวกับของคูลี่ย์และดิวอี้ ดิวอี้ยืนยันว่าความคิดของมี้ดที่เกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม "ทำให้เกิดการปฏิวัติ" ในการคิดของเขา และปรากฏอย่างชัดเจนต่อผู้อ่านที่มีความรู้เช่นกันว่าในทางกลับกันข้อเขียนต่าง ๆ ของมี้ดก็ได้รับอิทธิพลจากดิวอี้

ชาร์ลส์ มอร์ริสเขียนไว้ได้ดีเมื่อเขากล่าวถึงนักปรัชญาสองคนนี้ว่า เขาทั้งสองผูกพันกันอยู่ใน "การแบ่งงานกันทำตามธรรมชาติในงานเดียวกัน" "ทั้งคู่ไม่มีใครทำตัวในลักษณะความสัมพันธ์แบบครูและนักเรียนอย่างชัดเจน… เท่าเทียมกันแม้ว่าจะมีสถานภาพทางปัญญาแตกต่างกัน ทั้งสองคนมีความสัมพันธ์แบบให้-และ-รับตามอัจฉริยภาพเฉพาะของแต่ละคน ถ้าดิวอี้ให้ขอบเขตและวิสัยทัศน์ มี้ดก็ให้การวิเคราะห์ในด้านลึกและความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์"

คนมักจะรู้สึกได้ถึงความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างความคิดหลายอย่างของมี้ด และความคิดของคูลี่ย์ และของเจมส์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามี้ดได้แนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวตนจากคูลี่ย์และเจมส์มามาก แต่เขาแตกต่างจากทั้งสองคนนั้นในแง่ที่ปฏิเสธการอธิบายเกี่ยวกับตัวตนโดยใช้การสำรวจความคิดภายในตนเองและการเสนอว่าเป็นเรื่องของจิต เขาเห็นด้วยกับทรรศนะที่ว่าตัวตนเกิดขึ้นในกระบวนการทางสังคมที่มีลักษณะภววิสัย ส่วนใหญ่ของความแตกต่างทางความคิดนี้สัมพันธ์กับความแตกต่างของบริบททางสังคมซึ่งพวกเขาอาศัยและทำงานอยู่

บริบททางสังคม

เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณางานอาชีพของมี้ดควบคู่กับของคูลี่ย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงรากฐานทางสังคมบางอย่าง ซึ่งเป็นต้นตอของความแตกต่างทางความคิดทั้ง ๆ ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างนักคิดทั้งสอง

ชีวิตในวัยต้น ๆ ของมี้ดได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมและเกี่ยวข้องกับสังคมที่หลากหลายกว่าชีวิตของคูลี่ย์ คูลี่ย์ต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยและพยายามที่จะชดเชยความอายที่เกือบผิดปกติโดยการจินตนาการที่มากเกินธรรมดา ในทางตรงข้าม มี้ดเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ในช่วงที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเขาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ และหลังจากจบแล้วเขาก็พาตนเองไปอยู่ในสภาพผู้บุกเบิกโดยทำงานสำรวจทางระยะไกล ๆ

คูลี่ย์ผู้ซึ่งเป็นบุตรชายของบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมสูงและเป็นสมาชิกที่ร่ำรวยและมีอิสระของกลุ่มชนชั้นนำ สามารถที่จะใช้เวลานานในสภาพค่อนข้างเรื่อยเจื้อยเพื่อจะ "ค้นหาตัวเอง"

มี้ดเป็นบุตรชายของศาสตราจารย์ทางเทววิทยาที่ได้รับเงินเดือนเพียงเล็กน้อยผู้ซึ่งเสียชีวิตเมื่อมี้ดยังศึกษาอยู่ในวิทยาลัย ทิ้งให้ภรรยาม่ายและลูก ๆ ของเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่อาจปล่อยเวลาให้ว่างไปโดยเปล่าประโยชน์ได้ ถ้าเขาต้องการจะ "ค้นหาตัวเอง" ก็ไม่ใช่ความรโหฐานของห้องทำงานเพื่อศึกษาค้นคว้า แต่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เรียกร้องของคนงานสำรวจทาง ในหมู่ผู้ร่วมงานที่แข็งกระด้างผู้ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความเป็นไปของจิต

ในระยะหลัง ๆ ของงานอาชีพของเขาทั้งสอง คนทั้งคู่ได้เดินทางไปยุโรป แต่คูลี่ย์ซึ่งสูญเสียประสบการณ์บางส่วนที่ยุโรปเนื่องจากความเจ็บป่วยและการเก็บตัว ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับอะไรที่ลึกซึ้งจากการเดินทางครั้งนี้มากนัก แต่มี้ดผูกพันตนเองอย่างเต็มที่ไม่เพียงกับชีวิตในมหาวิทยาลัยเยอรมันเท่านั้น แต่รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมของเยอรมนีและประเทศในยุโรปอื่น ๆ ภรรยาของเขาเล่าให้บุตรชายของเธอฟังถึงเรื่องเมื่อครั้งที่เดินทางไปกับสามีว่า

เช่นเมื่อผ่านไปทางฝรั่งเศสและเยอรมนี [เธอ] สามารถบอกได้ถึงความยากลำบากต่าง ๆ ของนักเดินทางส่วนใหญ่บนรถไฟ ในทางตรงกันข้าม เขาจะมีความลำบากบ้างในการมองว่าใครเป็นใคร แต่สามารถให้คำอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง ทางสังคม และประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่ผ่านไป และเขาอาจจะแลกเปลี่ยนถกเถียงถึงจุดมุ่งหมายและความมุ่งมาดปรารถนาของบุคคลที่สำคัญ ๆ ในประเทศนั้นได้อย่างละเอียด

คูลี่ย์สอนหนังสือตลอดชีวิตของเขาในเมืองมหาวิทยาลัยที่เงียบและโดดเดี่ยวจากสังคม มีระยะทางค่อนข้างใกล้กับเมืองดีทรอยต์ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมแต่ทางสังคมห่างไกลกันมาก ส่วนมี้ด หลังจากอยู่ช่วงสั้น ๆ ที่เมืองแอน อาร์เบอร์ ได้ย้ายไปสอนที่ชิคาโก เมืองซึ่งไม่เป็นรองใครในเรื่องความใหม่ ความหยาบ ความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม และในด้านปัญหาสังคมต่าง ๆ คูลี่ย์สามารถเดินไปมาอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยร่มเงาของต้นไม้ซึ่งเป็นโลกอุดมคติโดยตัวมันเอง และได้รับการปกป้องจากเรื่องราวต่าง ๆ ภายนอก ขณะที่มี้ดต้องเดินข้ามลานของมหาวิทยาลัยที่มีตึกล้อมรอบ พร้อมกับได้กลิ่นของคอกที่ขังสัตว์สำหรับฆ่าจากชิคาโกใต้และกลิ่นจากโรงงานเหล็กที่เมืองแกรี่ แม้ว่าในตอนนั้นยังไม่มีแหล่งเสื่อมโทรมของพวกนิโกรซึ่งอยู่เลยออกไปจากเขตมิดเวย์ที่โอ่อ่าของชิคาโกก็ตาม แต่ก็ยากที่จะลืมว่าแม้ในสมัยของมี้ด มหาวิทยาลัยชิคาโกก็เป็นเพียงแหล่งปลอบประโลมใจเล็ก ๆ ในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยการสร้างสิ่งต่าง ๆ และการหาเงิน โดยแทบจะไม่อุทิศให้กับการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีเลย

เป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะคิดว่าชีวิตของมี้ดจะเป็นเช่นไรถ้าเขาเลือกที่จะไปอยู่ที่อื่นแทนที่จะอยู่ที่ชิคาโก สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเขาตัดสินใจที่จะอยู่ที่นั่น และมีจิตใจร่วมในการทำกิจกรรม ต่าง ๆ และในการปฏิรูปซึ่งเป็นสิ่งที่ดิวอี้สอดแทรกไว้ในภาควิชาปรัชญาของเขา คูลี่ย์ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องยังสามารถหล่อเลี้ยงแนวความคิดที่หยั่งรากในชุมชนเกษตรกรรมของอเมริกาซึ่งกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว แต่มี้ดต้องพบกับอเมริกาแบบใหม่ที่มีสภาพเป็นเมืองและเป็นอุตสาหกรรมในลักษณะที่เขาไม่สามารถละเลยได้ เขาตอบโต้ต่อสิ่งที่ท้าทายและมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในขบวนการปฏิรูป ซึ่งแผ่ขยายจากมหาวิทยาลัยชิคาโกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของเมือง ต่างจากปราชญ์แห่งแอน อาร์เบอร์ มี้ดผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประธานสโมสรการปฏิรูปเมืองชิคาโกไม่สามารถดำรงสภาพเป็นผู้สังเกตการณ์ภายนอก แต่ได้เข้าร่วมอย่างลึกซึ้งในปัญหาต่าง ๆ ของสภาพเมืองของอเมริกา

ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปฏิรูปหลาย ๆ ด้านของมี้ด เขาได้สวมตนเองเข้าไปในบทบาทของคนอื่น ๆ ผู้ซึ่งทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามกฎของเกมการเมือง การศึกษา และความสัมพันธ์ทาง อุตสาหกรรมของเมืองซึ่งเขาปรารถนาที่จะเข้าใจอยู่ตลอดเวลา บลูเมอร์และคนอื่น ๆ ได้ยืนยันว่า มี้ดเป็นผู้สังเกตการณ์ทางสังคมที่มีความสามารถ และกรอบทฤษฎีส่วนใหญ่ของมี้ดก็มีรากฐานมาจากการสังเกตที่เป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา เขาดูเหมือนจะมองเมืองชิคาโกเป็นนิเวศวิทยาที่ซับซ้อนของเกม ถ้าจะใช้สูตรของนอร์ตัน ลองจ์ (Norton Long) และรู้สึกว่าคนเราจะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับกฎต่าง ๆ ที่บังคับใช้ในเกมเหล่านั้นได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเขาเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้แตกต่างจากสถานการณ์ที่แยกโดดเดี่ยวออกมาของคูลี่ย์อย่างแน่นอน

สำหรับคูลี่ย์ ความเป็นจริงทางสังคมในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายเป็นบางสิ่งที่ดำเนินอยู่ภายในจิตของมนุษย์ สำหรับมี้ด ความเป็นจริงทางสังคมเป็นกระบวนการทางภววิสัยและเกิดขึ้นภายนอก นอกจากนี้ คูลี่ย์โดยทั่ว ๆ ไปมีจิตใจที่อ่อนโยนเมื่อเขาบรรยายและวิเคราะห์สังคม แม้ว่าเขาไม่ได้ละเลยต่อความขัดแย้งทางสังคมและแง่มุมที่น่าเกลียดของการแข่งขัน แต่เขาก็ยังมองว่าสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้เป็นสิ่งชั่วคราวและจะสูญสลายไปในระยะยาว ในขณะที่โลกโดยส่วนรวมจะมีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มคนที่มีความร่วมมือกันและมีความสัมพันธ์แบบกลุ่มปฐมภูมิที่ขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มี้ดเป็นนักคิดที่มีอารมณ์อ่อนไหวน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่มีความเชื่อร่วมกับคูลี่ย์และดิวอี้ ในเรื่องการปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นลำดับและความก้าวหน้าด้านมนุษยธรรม

มี้ดแตกต่างจากคูลี่ย์ ตัวอย่างเช่น มี้ดโต้แย้งว่า "ไม่มีสิ่งใดในประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์หรือในประสบการณ์ปัจจุบันที่ส่งเสริมให้เราหวังได้ในแรงผลักดันของความเป็นเพื่อนบ้านกัน สำหรับ… อำนาจแห่งความเชื่อมผนึกกันอย่างแนบแน่น ความรักที่มีต่อเพื่อนบ้านไม่สามารถทำให้กลับกลายเป็นความกระตือรือร้นในการบริโภคสิ่งต่าง ๆ รวมกัน"

มี้ดเห็นด้วยกับนักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล วิลเลี่ยม เกรแฮม ซัมเนอร์ (William Graham Sumner) ผู้ซึ่งมีจิตใจที่แข็งกร้าวมากกว่าคูลี่ย์ผู้มีจิตใจที่อ่อนโยน เมื่อเขาให้เหตุผลว่าความเชื่อมแน่นภายในกลุ่มปกติ จะเกิดขึ้นจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อคนนอกกลุ่ม และเช่นเดียวกับเดอร์ไคม์ มี้ดโต้แย้งอย่างรุนแรงว่า คนเคารพต่อกฎหมายเนื่องจากกฎหมายมีรากฐานอยู่ที่ "จิตวิทยาของความเที่ยงธรรมในการลงโทษ" (the psychology of punitive justice) ซึ่งความเชื่อมแน่นภายในกลุ่มดำรงอยู่ได้จากกระบวนการประทับตราอาชญากรแสดงออกในแง่ของความเชื่อมแน่นภายในกลุ่ม "ความรู้สึกของการเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งในด้านหนึ่งขจัดพวกที่ละเมิดกฎหมายของกลุ่มออกไป และในอีกด้านหนึ่งเป็นการหยุดยั้งแนวโน้มของพฤติกรรมอาชญากรในหมู่ประชาชนเอง"

ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแสดงถึงความแตกต่างของมี้ดและคูลี่ย์ให้ชัดเจนเกินไปในลักษณะกว้าง ทั้งสองคนมีส่วนร่วมในบรรยากาศของการมองโลกในแง่ดีและมีความหวัง ซึ่งเป็นลักษณะของยุคการปฏิรูป (Age of Reform) ความแตกต่างระหว่างเขาทั้งสองอยู่ที่ลีลาทางปัญญาไม่ใช่ที่เนื้อหาพื้นฐาน การที่มี้ดเองไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมชาติของกระบวนการทางสังคม อาจแสดงให้เห็นได้ดีที่สุดจากความพยายามในการให้คำจำกัดความของคำว่า การกระทำทางสังคม (social acts) เขาไม่มีความแน่นอนในการใช้และการให้คำจำกัดความของการกระทำทางสังคมต่าง ๆ บางครั้งก็ถือว่าการกระทำทางสังคมจำเป็นต้องมีลักษณะการร่วมมือกันและบางครั้งก็มีทรรศนะมองโลกในเชิงสัจนิยมมากขึ้นโดยมองว่า ความขัดแย้งทางสังคมเป็นการกระทำทางสังคมเท่า ๆ กับการร่วมมือกัน มี้ดมีจิตใจที่ทั้งอ่อนโยนและแข็งกร้าวอยู่ในตัว แต่การที่เขาอยู่ที่ชิคาโกและเกี่ยวพันกับการต่อสู้ทางสังคมที่น่าเกลียดและไม่น่ารื่นรมย์อยู่บ่อย ๆ ทำให้เขามีทรรศนะ "ที่มองโลกอย่างเป็นจริง" อย่างเด่นชัด ซึ่งไม่ค่อยได้พบในงานที่วิเคราะห์โดยสำรวจความคิดภายในของคูลี่ย์นัก

ผู้ฟังและเพื่อนร่วมงานของมี้ด

คงจำได้ว่าที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มี้ดยืนอยู่ภายใต้เงาของจอห์น ดิวอี้ ผู้มีชื่อเสียงอยู่เป็นเวลาหลายปี ดิวอี้ซึ่งอายุมากกว่ามี้ดเพียงสี่ปีได้กลายเป็นนักวิชาการที่มีผลงานอย่างน่าทึ่งในช่วง ต้น ๆ ของชีวิตขณะที่มี้ดผลิตงานชิ้นแรกที่สำคัญเมื่ออายุสี่สิบปี ดิวอี้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเขาในปี ค.ศ. 1886 เมื่อเขาอายุเพียงยี่สิบเจ็ดปี หนังสือเล่มต่อมาของเขาปรากฏออกมาสองปีหลังจากนั้น และมีหนังสืออีกสองเล่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1894 หนังสือเล่มที่มีชื่อเสียงของเขาเกี่ยวกับตรรกะของการทดลองได้รับการตีพิมพ์เมื่อเขาอายุสี่สิบสามปี ดิวอี้ได้ผลิตผลงานต่าง ๆ มากมายอย่างต่อเนื่อง และผลงานของเขามีทิศทางและขอบเขตที่น่าประทับใจจริง ๆ

ในทางตรงข้าม ผลงานของมี้ดมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่เป็นบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาทางปรัชญาและจิตวิทยาซึ่งปรากฏในวารสารเฉพาะทางต่าง ๆ เขามีบทความตีพิมพ์เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและสังคมอยู่แน่ แต่มีไม่บ่อยนักและอยู่ในลักษณะที่ไม่ค่อยดึงดูดความสนใจระดับกว้าง

ดิวอี้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนทั่ว ๆ ไปว่า เป็นบุคคลสำคัญในด้านการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ทศวรรษ 1890 แต่มี้ดได้รับความสนใจจากสาธารณชนน้อยมากยกเว้นในหมู่นักปฏิรูปท้องถิ่น เขาไม่เคยเป็นและบางทีอาจจะไม่เคยปรารถนาที่จะเป็นปากเสียงของประชาชนในระดับชาติเพื่อเรียกร้องลัทธิเสรีนิยม มี้ดไม่ได้มีชื่ออยู่ในหนังสือ Who's Who in America จนกระทั่งปี ค.ศ. 1910 (ประมาณเจ็ดปีหลังดิวอี้) และที่มีชื่ออยู่ก็เพราะความเป็นศาสตราจารย์เต็มขั้นของเขา

หลักฐานต่าง ๆ ชี้ว่า ดิวอี้และมี้ดเป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงาน และไม่ปรากฏการแข่งขันกันอย่างเปิดเผยที่จะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองเลย แต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะบันทึกตามที่เฮอร์เบิร์ต บลูเมอร์ เล่าว่า บางครั้งมี้ดกล่าวเหน็บแนมผลงานที่มากมายมหาศาล และแนวโน้มของการเขียนที่มีลักษณะสุกเอาเผากินและขาดซึ่งความแน่ชัดของดิวอี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงความสัมพันธ์อันยาวนานของพวกเขาที่ชิคาโก และแม้ภายหลังที่ดิวอี้ย้ายไปโคลัมเบียแล้วก็ตาม มี้ดพอใจที่จะเล่นไวโอลินตัวที่สองตามไวโอลินตัวแรกที่ดังกึกก้องของดิวอี้

แม้จะยากแก่การพิสูจน์ก็ตาม แต่คนทั่ว ๆ ไปจะได้รับความประทับใจว่า มี้ดมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงแนวความคิดของเขาอย่างต่อเนื่องและไม่เคยพอใจกับสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ อาจจะเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเขาถูกผลักดันให้ต้องเปรียบเทียบกับดิวอี้ผู้ซึ่งมีแนวโน้มในทางตรงกันข้ามและได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงขณะที่เพื่อนรุ่นน้องของเขาไม่ได้รับชื่อเสียงเหล่านั้น การที่มี้ดใช้ผลงานที่มากมายมหาศาลของดิวอี้เป็นจุดอ้างอิง อาจจะเป็นการเพิ่มความยากลำบากในการเขียนซึ่งเขาประสบอยู่แล้วให้มีมากขึ้นไปอีก

สรุป

ไม่เพียงแต่ในความสัมพันธ์กับดิวอี้ แต่ปรากฏว่าแม้กับบุคคลอื่น ๆ ในหมู่เพื่อนร่วมงานที่น่านับถือของเขา มี้ดก็ไม่เคยพยายามที่จะเอาชนะ เขาภูมิใจและมีความสุขกับการมีนักศึกษาที่ปราดเปรื่องและให้คุณค่าอย่างสูงต่อกลุ่มนักศึกษาที่เขาใช้เวลาจำนวนมากกระตุ้นและชี้นำนักศึกษาของเขา ถ่ายทอดการมองที่มีชีวิตชีวาให้กับนักศึกษา แต่เขาไม่เคยตั้งใจที่จะสร้างสำนักของเขาเองขึ้นเลย ตลอดชีวิตของมี้ดอิทธิพลทางความคิดของเขาที่มีต่อผู้อื่นจะพบได้ก็แต่ในการสอนและการสนทนาต่าง ๆ ระหว่างเขากับนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานเท่านั้น ผลกระทบในวงกว้างของเขาเพิ่ง ปรากฏหลังจากการตีพิมพ์ผลงานของเขาภายหลังที่เขาเสียชีวิตแล้ว ในส่วนอิทธิพลที่เขาได้รับจากผู้ฟังความคิดเห็นของเขาจะได้ผ่านทางการบรรยายของเขาและทางการสนทนาที่มีชีวิตชีวาต่าง ๆ --เหมือนที่มี้ดจะบอกว่าได้ผ่านทาง "อากัปกิริยาที่มีนัยสำคัญ" --ระหว่างเขากับเพื่อน ๆ และนักศึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่มี้ดถือว่าสำคัญที่สุด ในแง่นี้มี้ดจะเปรียบเหมือนหนึ่งในบรรดานักปรัชญาเก่าแก่ทั้งหลายผู้ซึ่งไม่เคยเขียนอะไรไว้เลย แต่จะอยู่ในจิตใจของนักศึกษาที่ประทับใจและเปลี่ยนแปลงความคิดไปตามแนวคิดของเขาเหล่านั้น

 

กลับไปหน้าแรกของบทความนี้

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com