H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 358 หัวเรื่อง
เกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมไทย
นิธิ เอียวศรีวงศ ์:
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เคยตีพิมพ์แล้วในมติชนสุดสัปดาห์

(บทความนี้ยาวประมาณ 20 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

030347
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย
มุมสะท้อนวัฒนธรรมของสังคมไทย
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความรวม ๖ เรื่องนี้ ยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 3 มีนาคม 2547

รวมบทความทางวัฒนธรรมของ นิธิ เอียวศรีวงศ์
1. ลูกค้าใหม่ของวัด 2. เถ้าแก่ของผ้าเหลือง
3. คริสต์มาส : แปลงสินทรัพย์เป็นความรัก
4. ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต 5. เส้นสายลายไทย
6. ความจริงบนหน้ากระดาษ

1. ลูกค้าใหม่ของวัด
สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอรัฐบาลว่า ควรอนุญาตข้าราชการลาหยุดไปปฏิบัติธรรมตามวัด เพื่อจะทำให้ข้าราชการเป็นคนดี เป็นคนดีแล้วคงจะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้น รวมทั้งเลิกทุจริตคดโกงด้วย ถ้ารัฐบาลเอาด้วย ก็คงต้องคิดรายละเอียดกฎเกณฑ์การลาแบบนี้ขึ้นมา เช่น ปฏิบัติธรรมหมายถึงทำอะไร, วัดอะไรที่เข้าเกณฑ์บ้าง, ลาได้กี่วันและกี่หน ฯลฯ เป็นต้น

สมมติว่าราชการสามารถทำให้การลาไปปฏิบัติธรรมได้ผลจริง คือข้าราชการกลับจากวัดแล้วกลายเป็นคนดีมีศีลธรรม ผมก็ให้สงสัยอย่างมากว่า คนดีๆ เหล่านี้เมื่อกลับจากวัดแล้วมาเผชิญกับสภาวะที่เป็นจริงในระบบราชการก็ตาม เผชิญกับสภาวะที่เป็นจริงในสังคมก็ตาม เขาจะรักษาศีลธรรมจากวัดไว้ได้ต่อไปอีกหรือไม่

ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ของข้าราชการ ทั้งที่ดีและไม่ดี ล้วนเคยผ่านการปลูกฝังศีลธรรมกันมาอย่างยาวนานทั้งสิ้น ไม่ใช่จากวัดเพียงอย่างเดียว แต่จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ รวมทั้งภาพยนตร์ ทีวี ลิเก หนังสือพิมพ์ และนวนิยาย พิธีกรรม และความสัมพันธ์ทางสังคมอื่นๆ ด้วย

อันนี้ก็ไม่แปลกอะไรนะครับ ไม่ใช่เพราะเราเป็นสังคมพุทธ สังคมไหนๆ ก็ปลูกฝังหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมที่สังคมนั้นยึดถือผ่านกระบวนการต่างๆ ที่กล่อมเกลาให้มนุษย์เข้ามาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมแบบนี้ทั้งนั้น...คือเติบโตมาในสังคมนั้น แล้วก็มีคนมีศีลธรรมและไม่มีศิลธรรมปะปนกันอยู่ในสังคม ไม่แต่เฉพาะต่างคนกันเท่านั้น แม้ในคนเดียวกัน ก็มีศีลธรรมในบางเรื่องและไม่มีศีลธรรมในบางเรื่องได้

เราจะอธิบายความสำเร็จหรือความล้มเหลวทางศีลธรรมของบุคคลอย่างไร

ผมเข้าใจว่าในเมืองไทยมักใช้คำอธิบายเพียงอย่างเดียว คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางศีลธรรมคือบุคคลที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ อดทนต่อความเย้ายวนของกิเลสต่างๆ ได้ดี และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องฝึกฝนความเข้มแข็งของบุคคลตรงนี้ให้มาก ส่วนคนที่ล้มเหลวก็คือคนที่อ่อนแอด้านจิตใจ จะช่วยเขาได้ก็คือเอาเขามาอบรมกล่อมเกลาให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นและส่วนใหญ่มักเป็นการฝึกด้านวินัย เช่นเข้าแคมป์ทหารหรือเข้าวัดบวชเสีย

การอธิบายศีลธรรมจากแง่บุคคลเช่นนี้คงไม่ผิดหรอกครับและมีส่วนจริงอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผมคิดว่าไม่เพียงพอ เพราะนอกจากความเข้มแข็งทางจิตใจที่ได้รับการอบรมมาดีแล้ว ยังมีอิทธิพลของโครงสร้างที่บุคคลต้องเผชิญ (หมายถึงระบบความสัมพันธ์ที่กำหนดให้บุคคลต้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ รอบตัวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง) เข้ามามีส่วนกำหนดอยู่ด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ศีลธรรมนั้นนอกจากมีมิติเชิงบุคคลแล้วยังมีมิติเชิงโครงสร้างอยู่ด้วย

จะเถียงว่ามิติเชิงโครงสร้างทำอะไรคนดีที่จิตใจยึดมั่นในศีลธรรมแน่นแฟ้นไม่ได้หรอก ก็เป็นตรรกะที่ผมยอมรับ แต่มันก็เป็นเพียงตรรกะเท่านั้น ไม่ใช่ของจริง เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ย่อมตกอยู่ใต้อิทธิพลของโครงสร้างซึ่งตัวใช้ชีวิตปรกติอยู่อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และเรากำลังพูดถึงศีลธรรมของคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่คนพิเศษน่าสรรเสริญจำนวนน้อย

ฉะนั้น เมื่อข้าราชการกลับจากวัดแล้ว ก็ต้องกลับมาอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของระบบราชการเหมือนเดิม เช่น เป็นวัฒนธรรมที่เน้นความสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจหรือแนวดิ่ง ชีวิตราชการจะก้าวหน้าหรือไม่ หาได้ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์สุจริต และการอุทิศตนเพื่อการงานไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการจัดความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนที่มีอำนาจเหนือขึ้นไปให้ราบรื่น และเป็นที่พอใจของ "นาย" มากกว่า

ถึงวัดจะช่วยกล่อมเกลาให้พอใจกับชีวิตสมถะ แต่จะทำอย่างไรกับลูกซึ่งรบเร้าขอโทรศัพท์มือถือ ไม่อย่างนั้นเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ทั้งลูกและเพื่อนของลูกต่างถูกโจมตีและยึดครองโดยโฆษณาโทรศัพท์มือถือ สินค้าต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนมนุษย์ทุกคน ไม่มีสินค้าก็ไม่มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนที่ยอมรับได้ในสังคม

ฉะนั้น แม้แต่ตัวข้าราชการเองซึ่งกลายเป็นคนดีแล้ว ยังไม่รู้จะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ได้อย่างไร เพราะคนสมถะในสังคมปัจจุบันคือคนที่เขา "ยกเอาไว้คน" หรือถูกกันออกไปเป็นคนนอกนั่นเอง

ราคาที่ต้องจ่ายในการเป็น "คนดี" นั้นสูงมาก เพราะโครงสร้างทางวัฒนธรรมไม่เอื้ออำนวยให้ดำรงตนเป็นคนดีได้ง่ายๆ ผมจึงคิดว่าศีลธรรมเชิงโครงสร้างมีความสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงให้มาก ส่งคนเข้าวัด (โดยสมัครใจ) นั้นดีแน่ แต่ชีวิตของเราดำเนินไปอยู่นอกวัดเป็นส่วนใหญ่ การจัดให้สิ่งที่อยู่นอกวัดเอื้ออำนวยต่อการทำความดีจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันหรืออาจจะยิ่งเสียกว่าการเข้าวัดก็ได้

อันที่จริงในวัดและนอกวัดในสังคมไทยสมัยก่อนไม่ได้แยกจากกันมากเหมือนปัจจุบัน เพราะสิ่งที่สอนกันอยู่ในวัดนั้น ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการนอกวัดอยู่มาก แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป วัดกลับสร้างกำแพงวัดให้สูงขึ้น จนกระทั่งอะไรที่อยู่ในวัดสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่นอกวัดน้อยลงไปเรื่อยๆ

กลายเป็นปัญหาว่าจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวัดมาดำเนินชีวิตนอกวัดได้ยาก โครงสร้างทางวัฒนธรรมนอกวัดนั้นแตกต่างจากคำสอนในวัด ซ้ำมีพลังรุนแรงกว่ากันมาก จนกระทั้ง การเข้าวัดเพื่อบวชเรียนหรือศึกษาพระธรรมนั้น อย่างเก่งก็เป็นเหมือนไปพักรีสอร์ต คือได้มีโอกาสพักใจพักกายจากความวุ่นวายภายนอกชั่วคราว เรียกกันว่าเข้าไปชาร์ตแบตตารี จะได้กลับออกมาทำอะไรนอกวัดที่ไม่ตรงกับคำสอนในวัดได้อย่างมีพลัง เช่น แข่งขันทางธุรกิจพอจะเอาชนะเขาได้ โดยไม่เป็นบ้าไปเสียก่อน (ถ้าใกล้บ้าก็กลับเข้ารีสอร์ตได้อีก)

ปัญหาพุทธศาสนาในสังคมไทยจึงซับซ้อนกว่าเพียงคนไม่ได้เข้าไปปฏิบัติธรรมในวัด (ซึ่งที่จริงปฏิบัติธรรมนอกวัดก็ได้ หรือแม้ทุกลมหายใจก็ยังได้) แต่เป็นเรื่องที่ "วัด" กำลังกลายเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว (irrelevant) ของสังคมไปแล้วต่างหาก

ถ้าเราจะมีหน่วยงานราชการที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาใหม่ ก็ไม่น่าจะทำอะไรเท่ากับที่กรมการศาสนาซึ่งเคยมีอยู่แล้วได้ทำ แต่ควรสร้างและสั่งสมความสามารถในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งแก่องค์กรศาสนาและแก่พระพุทธศาสนาในสังคมไทย เพื่อจะได้สามารถทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมการจรรโลงพระศาสนาได้อย่างกว้างขวาง

ในขณะเดียวกันก็ครอบคลุมหน่วยต่างๆ ในสังคมว่าใครควรทำอะไรอีกด้วย เช่น หน่วยการศึกษาควรทำอะไร, สื่อควรทำอะไร, องค์กรภาคเอกชนต่างๆ ควรทำอะไร จะใช้มาตรการอะไรจึงจะจูงใจให้หน่วยต่างๆ เหล่านั้นทำ ฯลฯ

ข้อเสนอให้ข้าราชการลาหยุดไปปฏิบัติธรรมในวัด ไม่ได้ตอบอะไรกับสิ่งที่เป็นปัญหาในพระพุทธศาสนาและสังคมไทยเลย นอกจากการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ให้แก่วัดเท่านั้น

ที่ผมเรียกว่าลูกค้านั้น ไม่ได้ต้องการจะหมายความว่าวัดจะได้ประโยชน์โภชผลจากโครงการปฏิบัติธรรมของข้าราชการ แต่ต้องการจะให้นึกถึงการปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนการบริโภคสินค้าคือเข้าวัดไปบริโภคธรรมเหมือนสินค้าแปลกๆ ที่ไม่มีโอกาสใช้ในชีวิตจริงสักเท่าไร

2. เถ้าแก่ของผ้าเหลือง
หลายเดือนแล้ว เคยมีข่าวว่า "ศาสนสมบัติกลาง" มีเงินอยู่เป็นหมื่นล้าน แต่บริหารกันจนบางปีขาดทุน และบางปีได้กำไรแค่ 51 บาท มาไม่นานนี้เอง รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่าจะจัดบริหาร "ศาสนสมบัติกลาง" กันใหม่ โดยเอามืออาชีพเข้าไปทำ เพื่อให้เกิดกำไรงอกงามโดยไม่ขัดพระวินัย

ดูเหมือนจะเรียกคนอย่างนั้นว่า ซีอีโอ อีกนั่นแหละ และเข้าใจกันว่าคนพันธุ์นี้จะไม่ทำให้ทุนเป็นหมื่นล้านงอกขึ้นมาเพียงปีละ 51 บาท แต่สามารถทำให้งอกได้เป็นหลายร้อยหรือหลายพันล้านบาท พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ บริหาร "ศาสนสมบัติกลาง" เพื่อมุ่งเอากำไรเป็นหลัก เหมือนธุรกิจทั่วไป

ผมยอมรับว่า การจัดการศาสนสมบัติกลางเวลานี้เละเทะ (ทั้งบริหารให้ได้มาซึ่งรายได้ และที่สำคัญกว่าคือการบริหารเพื่อใช้จ่ายอย่างมีประโยชน์แก่พระศาสนา) แม้กระนั้นก็รู้สึกห่วงที่คิดจะปรับปรุงด้วยการมองกันแต่กำไรเป็นหลัก เพราะกำไรอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย และความอ่อนแอแก่พระศาสนาได้อย่างร้ายแรง จนกระทั่งเก็บเงินได้ปีละ 51 บาทอาจ "คุ้ม" กว่าก็ได้

เช่น เพื่อมุ่งกำไร อาจมีเงินจำนวนมากไหลเข้าไปสู่การซื้อหุ้นและเก็งกำไรในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นตัวบริโภคนิยมเวลานี้ หรือเข้าไปถือหุ้นกับบริษัทเกษตรข้ามชาติซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและผู้คนลงอย่างย่อยยับ หรือองค์กรคณะสงฆ์กลายเป็นเจ้าของฝ่ายหนึ่งของสิทธิบัตรยา ซึ่งคร่าชีวิตคนจนลงปีละนับแสนนับล้าน เพราะกีดกันไม่ให้เขาเข้าถึงยาในราคาถูก ฯลฯ

อย่านึกว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นไม่ได้นะครับ องค์กรศาสนาสากลซึ่งมีนักบวชศาสนาหนึ่ง ถูกขุดคุ้ยเกี่ยวกับการลงทุนอันไม่ชอบด้วยธรรมเช่นนี้อยู่เสมอ ซ้ำการลงทุนนั้นยังอาจไปกำกับนโยบายทางศาสนาขององค์กรเข้าเสียอีก

ข้อห้ามว่าต้องไม่ลงทุนลงไปในกิจการที่ขัดพระวินัยนั้น ผมเกรงว่าจะห้ามไม่ได้ในเมืองไทยหรอกครับ เพราะท่านตีความพระวินัยไว้แคบจนไม่อาจเรียกว่าเป็น "อริยวินัย" ได้ ท่านคงไม่ไปซื้อหุ้นบริษัทค้าอาวุธหรอกเพราะผิดพระวินัยโจ่งแจ้ง แต่ถ้าซื้อหุ้นในบริษัทเกษตรซึ่งส่งเสริมให้เกษตรเลี้ยงไก่อย่างทารุณ (ไก่สามตัวขังไว้ในกรงตับเล็กๆ หนึ่งกรง) บริษัทที่ขายอาหารแดกด่วนและน้ำอัดลมซึ่งทำลายสุขภาพของผู้คนไปทั่วโลก หรือบริษัทก่อสร้างที่อื้อฉาวในเรื่องทุจริตคดโกงอยู่เสมอ หรือให้เงินกู้แก่นักการเมืองในอัตราดอกเบี้ยสูง เพราะรู้อยู่แล้วว่าหมอนั่นจะสามารถใช้คืนได้ด้วยการเก็บค่าต๋ง หรือบริษัทที่เปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนอาจเกิดขึ้นจากผู้บริหาร "มืออาชีพ" ที่เล็งกำไรเป็นที่ตั้งได้ทั้งนั้น เปิดบัญชี "ศาสนสมบัติกลาง" ขึ้นมาเมื่อไหร่ (ซึ่งก็ควรเปิดเพื่อความโปร่งใส) ก็เหม็นหึ่งไปทั่ว ความน่ารังเกียจเพียงเท่านี้ยังไม่น่ากลัวเท่ากับว่า การลงทุนเพื่อกำไรเหล่านี้สร้างความอ่อนแอให้แก่องค์กรศาสนาด้วย ก็ถ้าคณะสงฆ์เองถือหุ้นอยู่กับบริษัทน้ำอัดลม แล้วจะมาเทศน์เรื่องบริโภคนิยมอะไร เหม็นขี้ฟันเปล่าๆ แล้วเราต่างก็หวังกันไม่ใช่หรือครับว่า องค์กรศาสนาจะถูกปฏิรูปเพื่อตอบสนองปัญหาทางศีลธรรมที่เป็นจริงของโลกปัจจุบัน

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญกว่าวิธีหาเงิน คือวิธีใช้เงิน

อย่างที่ผมเคยคุยไว้แล้วในคอลัมน์นี้ว่า ในทุกสังคมนั้นล้วนมีกลไกที่ทำหน้าที่ accumulate หรือรวบรวมทรัพย์สิน แล้วก็มีกลไกซึ่งทำหน้าที่ redistribute หรือกระจายทรัพย์สินกลับไปใหม่

วัดเป็นกลไกสำคัญที่สุดอันหนึ่งในสังคมไทยสมัยโบราณที่จะทำหน้าที่สองอย่างนี้ได้อย่างดี ผู้คนพากันมาทำบุญที่วัด นับตั้งแต่ถวายอาหารและปัจจัยไปจนถึงสร้างเสนาสนะและอื่นๆ ให้แก่วัด ฉะนั้น วัดจึงเป็นแหล่งรวบรวมทรัพย์สินใหญ่อันหนึ่งของสังคม ซ้ำยังเป็นการรวบรวมใน "อัตราก้าวหน้า" พอสมควรด้วย เพราะสังคมคาดหวังกันว่าคนรวยจะทำบุญมาก อย่างน้อยคนรวยก็ไม่อยากเสียหน้า

แล้วพระท่านก็นำเอาทรัพย์สินเหล่านี้ไปเลี้ยงเด็กอนาถา รับเด็กไปให้การศึกษา ซึ่งหมายถึงกินข้าววัดและนอนวัดฟรี เครื่องใช้ไม้สอยที่ถวายวัดไว้ นับตั้งแต่ถ้วยโถโอชาม ตู้ตั่งเตียง ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมักหยิบยืมไปใช้ เพราะถือว่าวัดเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาสมบัติกลางของชุมชน (ก่อนที่หลวงพ่อจะยึดเอาวัดไปเป็นของตัวแต่ผู้เดียวในสมัยหลัง)

ส่วนบทบาทในฐานะผู้กระจายทรัพย์สินแก่สังคม แม้ในทุกวันนี้ถึงวัดจะทำบทบาทนี้น้อยลงไปมาก ก็ยังไม่ได้ทิ้งไปหมดเสียทีเดียว เช่นที่พูดกันว่าการศึกษาของพระสงฆ์เป็นโอกาสทางการศึกษาของคนจน นั่นก็เป็นวิธีกระจายทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ในภาคเหนือ ปัจจุบันเด็กยากจนที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียน พากันบวชเณรซึ่งก็คือเข้ามาสู่สถาบันที่สังคมแบ่งปันทรัพย์มาจุนเจือให้ดำรงอยู่นั่นเอง แล้วก็ได้เรียนหนังสือในชั้นประถม มัธยม ปริยัติธรรมของวัด ถ้าในวัดของตัวไม่มีโรงเรียนหลวงพ่อก็จัดให้ได้ไปเรียนในวัดอื่น บางครั้งหลวงพ่อส่งเสียให้ได้เรียนในโรงเรียนสามัญ หรือแม้แต่ตั้งโรงเรียนสามัญขึ้นเองในวัดก็มี

เด็กจนๆ จำนวนมากในเมืองไทยได้เรียนหนังสือก็เพราะบทบาทกระจายทรัพย์สินของวัดนี่แหละ โดยวัดไม่ต้องออกหวยบนดินเลย

ยังมีบทบาทของ redistributor หรือผู้กระจายทรัยพ์สินที่สำคัญของวัดไทยอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ก่อนหน้าที่หลวงพ่อจะแข่งกันสร้างถาวรวัตถุสถานกันอย่างเมามันเหมือนในปัจจุบันนั้น การเทศน์สั่งสอนของท่านให้ผู้คนรู้จักทำบุญสุนทาน มีความหมายกว้างกว่าบาตรมากนัก เช่น การช่วยคนทุคตะเข็ญใจ หรือการบริจาคเงินสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น บ่อน้ำ, สะพาน, ถนน ฯลฯ ก็ถือว่าทำบุญที่ศาสนาส่งเสริมเหมือนกัน ฉะนั้น โดยคำสอนของพระ ก็เกิดการกระจายโภคทรัพย์จากคนมีไปยังคนจนบ้าง จะผ่านหรือไม่ผ่านวัดก็ตามที

ในปัจจุบัน บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป บทบาทด้านกระจายทรัพย์สินของวัดหายไปมาก ทั้งๆ ที่วัดยังมีกำลังในการเก็บรวบรวมทรัพย์สินอยู่ไม่น้อย ในขณะที่ "ศาสนสมบัติกลาง" ก็มีจำนวนมหาศาล ผมจึงคิดว่า สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับการพระศาสนาก็คือการใช้เงินมากกว่าการหาเงิน

หาเงินก็สำคัญครับ แต่เงินนั้น จะหาไปทำไมกัน ถ้าไม่คิดถึงการใช้ที่จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ซึ่งก็คือประโยชน์ของสังคมโดยรวมนั่นเอง จึงน่าจะคิดกันถึงการจัดการด้านการใช้ ซึ่งไม่มี "มืออาชีพ" หรอกครับ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันคิดจากคนหลายฝ่ายหลายกลุ่ม (ไม่เฉพาะแต่เพียงพระเถระเพียงอย่างเดียว) ในเมื่อพระศาสนามีกำลังทรัพย์มากถึงเพียงนี้ (หลังจากได้ accumulate หรือเก็บรวบรวมมานาน) จะทำหน้าที่ redistribute หรือกระจายอย่างไร จึงจะเพิ่มพลังคุณของพระศาสนาที่มีต่อสังคมปัจจุบัน

ทำอย่างฉลาดและรู้เท่าทันนะครับ ไม่ใช่ทำแบบแจกของแจกซอง ถ้าการกระจายทรัพย์กลับคืนแก่สังคมของ "ศาสนสมบัติกลาง" กอปรไปด้วยปัญญา ผมเชื่อว่าในเวลาต่อมาก็จะเป็นแบบอย่างให้แก่ศาสนสมบัติของวัดในท้องถิ่นต่างๆ ด้วย แทนที่จะระดมสร้างโบสถ์ใหม่ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อที่เจตนาดีก็อาจมองเห็นช่องทางที่จะกระจายทรัพย์คืนกลับสังคมท้องถิ่นด้วยปัญญาเหมือนกัน

ชาวบ้านที่ใจบุญก็จะมองเห็นตามไปด้วยว่า ควรทำบุญด้วยปัญญาอย่างไร จึงจะเกิดผลานิสงส์แก่จิตใจของตัวเองและคนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดกระบวนการเรียนรู้กันไปทั้งสังคมและนี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาของการเรียนรู้ไม่ใช่ศาสนาของหลวงพ่อรวยๆ

ท่ามกลางศาสนาแห่งความมั่งคั่งที่ครอบงำโลกอย่างมืดมิดในทุกวันนี้ องค์กรพระพุทธศาสนาจะได้มีคำตอบที่เป็นทางเลือกอันสุกสว่างแก่สังคมไทยได้

3. คริสต์มาส : แปลงสินทรัพย์เป็นความรัก
ผมมีซีดีเพลงคริสต์มาสอยู่แผ่นหนึ่ง แต่ไม่ใช่เพลงที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในเวลานี้ เพราะเป็นคอนแชร์โต "แห่งวันประสูติ" ของคีตกวีบาโร้ครุ่นแรกๆ เช่น คอร์เรลลี, ซัมมาร์ตินี, ทอเรลลี, ฯลฯ เป็นต้น

ทุกปีในช่วงคริสต์มาส ผมชอบนำเอาซีดีแผ่นนี้ออกมาฟังและทุกครั้งที่ฟังก็รู้สึกว่าคริสต์มาสของผมไม่เหมือนกับคริสต์มาสของคนอื่นทั้งโลก เพราะท่วงทำนองและลีลาของเพลงเหล่านี้ล้วนเคร่งขรึม สงบเยือกเย็น สง่างาม และฟังดูศักดิ์สิทธิ์

ฟังแล้วรู้สึกได้ชัดเจนว่าคริสต์มาสเป็นวาระแห่งการฟื้นฟูศาสนธรรมให้แก่จิตวิญญาณมนุษย์ ถึงเป็นการฉลองการประสูติของพระบุตร อันเป็นสัญญาณในความรักของพระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นการฉลองที่มุ่งไปยังจิตวิญญาณมากกว่าอื่น ไม่ใช่วาระของปาร์ตี้อย่างเอิกเกริก และการจับจ่ายซื้อเข้าของกันขนานใหญ่อย่างในทุกวันนี้ และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาที่เงินทองสะพัดกันอย่างขนานใหญ่ทั้วทั้งโลก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั้งหมดด้วย

ไม่ขาดแม้แต่จีน ผมเพิ่งอ่านเจอข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่รู้สึกตะขิดตะขวงอะไรที่ห้างสรรพสินค้าตามเมืองใหญ่ๆ จะติดตั้งต้นคริสต์มัสขนาดใหญ่ ประดับไฟและแสงสีเต็มที่ พร้อมเชิญชวนให้ผู้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอย แต่ขมวดคิ้วให้แก่การประกอบศาสนกิจของคริสต์ชนเนื่องในวาระคริสต์มาส โดยเฉพาะพิธีกรรมที่ประกอบกันขึ้นตามโบสถ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนไว้กับทางการ หนังสือพิมพ์สรุปว่า รัฐบาลจีนเปิดการฉลองคริสต์มาสในด้านมิติของการพาณิชย์อย่างเต็มที่ แต่ไม่ค่อยยอมเปิดการฉลองในมิติทางศาสนา

อันที่จริง จะสรุปอย่างนี้กับประเทศอื่นๆ ทั้งโลกได้เหมือนกันหมด เพียงแต่ว่ารัฐบาลอื่นไม่ได้สนใจที่จะไปยับยั้งห้ามปรามการฉลองคริสต์มาสในมิติทางศาสนา เพราะถึงอย่างไรการฉลองคริสต์มาสในชีวิตของผู้คนเวลานี้ ส่วนใหญ่ก็เน้นไปในด้านมิติเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว

ผมไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนไม่ไปโบสถ์หรือคาทอลิกไม่ไปฟังมิสซาในวันคริสต์มาสนะครับ ไปน่ะไป แต่ส่วนใหญ่ของการฉลองเป็นเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย ทุกประเพณีพิธีกรรมที่เคยทำๆ กันมา กลายเป็นเรื่องการบริโภคสินค้าไปหมด คริสต์มาสกลายเป็นโอกาสทองของพ่อค้าไม่นานมานี้เอง คือราวสมัยหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

ในสมัยกลาง มีช่างแกะสลักไม้เป็นรูปเรื่องราวในศาสนาพิมพ์ออกขายในช่วงนี้ เพื่อผู้คน (ที่มีตังค์) นำไปติดไว้ตามบ้านเรือน แต่การ์ดอวยพรวันคริสต์มาสซึ่งต้องแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางในสมัยนี้ เพิ่งมีครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1843 นี่เอง โดยมีพ่อค้าหัวใสพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบใหม่ออกมาวางขายแค่ 1,000 แผ่นในกรุงลอนดอน พร้อมทั้งคำอวยพร A Merry Chistmas and a Happy New Year to You... ซึ่งกลายเป็นสูตรคำอวยพรสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วกำไรก็ทำให้พิมพ์กันแพร่หลายในประเทศต่างๆ สืบมา วาระแห่งการสำนึกถึงการุณยภาพของพระผู้เป็นเจ้าอันนำมาสู่ความปรารถนาดีแก่กันของมนุษย์ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่อาจซื้อขายส่งแก่กันได้ เรียกว่าการ์ดคริสต์มาส

ต้นคริสต์มาสและการประดับ ซึ่งแต่เดิมเป็นประเพณีของพวกเยอรมันเท่านั้น ต่อมาก็ขยายไปอังกฤษเพราะพระราชสวามีของพระนางวิกตอเรียนำไป รวมทั้งขยายไปสหรัฐเพราะเชื้อสายเยอรมันอพยพนำเข้าไป ต้นคริสต์มาสกลืนเอาสัญลักษณ์รูปกรอบไม้สามเหลี่ยมที่บรรจุความอุดมสมบูรณ์ (เช่น ผลหมากรากไม้และขนมนมเนย) เข้าไว้ในตัวต้นคริสต์มาส (ซึ่งต้องทำเป็นรูปสามเหลี่ยมเสมอ) ฉะนั้น เฉพาะการประดับต้นคริสต์มาสอย่างเดียวก็สามารถทำเป็นสินค้าได้นานาชนิดแล้ว-ทั้งสี ทั้งแสง ทั้งเสียง บวกสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์เดิม และธุรกิจขายต้นสนไว้ทำต้นคริสต์มาสอย่างเดียวก็เป็นธุรกิจใหญ่มหึมาในปัจจุบัน

การให้ในวันคริสต์มาส อาจสืบทอดมาจากประเพณีของโรมันที่ฉลองวันที่ 25 ธันวาคม อันเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เบี่ยงข้ามเส้นแบ่งอันหนึ่งซึ่งทำให้กลางวันเริ่มยาวขึ้น แต่พวกโรมันให้ของแก่เด็กและคนยากจนเท่านั้น ส่วนธรรมเนียมการแลกของขวัญกันอย่างเอิกเกริกดังที่เราพบในปัจจุบันนี้นั้น เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณทศวรรษแรกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เอง มาบวกกับเรื่องซานตาคลอส เลยกลายเป็นเรื่องสำคัญของการฉลองคริสต์มาสไป

พูดถึงการให้ของขวัญแก่เด็ก ของขวัญที่พ่อแม่ (ซึ่งสมมติว่าเป็นซานตาคลอส) จะนำมายัดลงถุงเท้าซึ่งเด็กแขวนเอาไว้นั้น ก็สัมพันธ์กับนิทานเรื่องซานตาคลอสซึ่งเป็นนิทานที่ส่งเสริมการค้าขายเด่นที่สุดในโลก เพราะในนิทานนั้นเล่าว่า ซานตาเอาเงินเหรียญยัดลงถุงเท้าของเด็กสาวยากจนสามคน ไว้สำหรับใช้เป็นสินสอดในการแต่งงานของเธอ ไม่อย่างนั้นแล้วเด็กทั้งสามจะต้องถูกขายไปเป็นโสเภณี

แต่เดิมนั้นซานตาพ่อแม่ ก็มักจะยัดเพียงขนมเช่นถั่ว, ลูกกวาด หรือผลไม้ลงไปในถุงเท้าของเด็กเท่านั้น เพิ่งมาเริ่มยัดของมีราคาลงไปในถุงเท้าเอาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง นิทานซานตาคลอสซึ่งเล่ากันมาในสวีเดนแต่โบราณนั้นขายไม่ได้หรอกครับ แต่นิทานเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงที่เขานำเอาเทศกาลคริสต์มาสเข้าตลาดนี่เอง

การแต่งตัวพิสดารของซานตาก็ตาม (สีแดงขาวเป็นสีเสื้อคลุมของนักบวช-แต่เครื่องแต่งกายของซานตาไม่ใช่ชุดนักบวชแน่) การขี่เลื่อนก็ตาม, เลื่อนเทียมกวางเรนเดียร์ก็ตาม, เลื่อนมาจอดบนหลังคา แล้วซานตาก็ลงมาแจกของขวัญทางปล่องไฟก็ตาม ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ.1822

พ่อบ้านคนหนึ่งชื่อ Clement Moore แต่งนิทานนี้เป็นกลอนให้ลูกๆ ได้อ่านเล่น แต่ปรากฏว่ากลอนของเขาหลุดไปอยู่ในมือของนักหนังสือพิมพ์ เลยเอาไปลงพิมพ์ เกิดนิยมแพร่หลายในสหรัฐ ซึมซาบกับเรื่องราวนี้ไปหมด จนอีก 16 ปีต่อมาเขาจึงยอมรับว่าเขาเป็นคนเขียนกลอนนี้ขึ้นมาเอง

ระหว่าง ค.ศ.1863-1886 นิตยสารขายดีของสหรัฐชื่อ Harper"s Weekly นำเอานิทานนี้ไปขยายเรื่องโดยทำเป็นนิทานภาพแกะไม้ เติมเรื่องโรงงานทำของเล่นของซานตา เรื่องซานตาคอยอ่านจดหมายของเด็กดีที่เขียนส่งไปให้ และอื่นๆ จนซานตากลายเป็นคริสต์มาสเสียยิ่งกว่าพระเยซู (ซึ่งขายของให้ใครไม่ได้เลย) ยิ่งกว่านี้ในระหว่าง 1931-1964 บริษัทโคลาโคล่ายิ่งทำให้ซานตาคลอสแพร่หลายมากขึ้นไปอีก เพราะบริษัทใช้ภาพของซานตาในโฆษณาของบริษัทตลอดมา

ส่วนกวางเรนเดียร์ ชื่อรูดอล์ฟนั้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายโฆษณาของห้างมองต์โกเมอรีวอร์ด (ห้างสรรพสินค้า) ซึ่งแต่งเรื่อง Rudolf, The Red Nose Reindeer ให้บริษัทพิมพ์สองล้านกว่าเล่มแจกใน ค.ศ.1939

ผมควรเล่าไว้ด้วยว่าทำไมคำว่า Xmas จึงแพร่หลายในโฆษณา คำ X มาจากภาษากรีกว่า Xristos แปลว่าพระผู้ไถ่ และใช้คำนี้ในยุโรปมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่นักโฆษณาชอบคำนี้เพราะ Xmas ใช้ตัวอักษรเท่ากับคำว่า Sale ทำให้เขียนป้ายโฆษณาได้ลงตัวดีครับ

เพื่อให้เห็นมิติทางศาสนาของคริสต์มาสก่อนที่เทศกาลนี้จะถูกพ่อค้าแย่งเอาไปค้ากำไร ขอให้สังเกตว่า แม้จนถึงทุกวันนี้พวกคริสเตียนนิกายคอปดิกในอียิปต์ (นิกายโบราณที่ตกค้างอยู่ในอียิปต์ และแทบจะสาบสูญไปแล้ว เพราะเหลือศาสนิกอยู่น้อยมาก) ยังฉลองคริสต์มาสกันด้วยการถือศีลอด ซึ่งก็คือเป็นมังสวิรัติ เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของจิตในการควบคุมร่างกายของตนเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า คริสต์มาสเป็นวาระแห่งการฉลองรื่นเริงมาแต่โบราณ แต่การฉลองรื่นเริงไม่ใช่วาระแห่งการจับจ่ายอย่างเอิกเกริกเหมือนปัจจุบัน งานฉลองทางศาสนาของไทยแต่โบราณก็มีทั้งมิติทางศาสนาและมิติของความรื่นเริง เช่น เทศน์มหาชาติ เป็นทั้งโอกาสการทำบุญใหญ่และความสนุกสนานไปพร้อมกัน แต่ไม่ได้ถูกนำไปรับใช้บริโภคนิยมเหมือนการฉลองคริสต์มาสในปัจจุบัน

ผมคุยเรื่องนี้เพราะได้ยินว่า ชาวพุทธไทยบางคนอยากทำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้มีลักษณะเหมือนคริสต์มาสเพราะเห็นว่าคริสต์มาสเป็นของศาสนาคริสต์ เราเป็นชาวพุทธไม่ควรไปร่วมฉลองด้วย

แต่การฉลองคริสต์มาสที่โลกรู้จักในทุกวันนี้ แทบไม่เกี่ยวอะไรกับคริสต์ศาสนาเสียแล้ว พระเยซูอุบัติขึ้นในโลกเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน แต่วันประสูติของพระองค์กลับเป็นวันที่เขาใช้สำหรับทำกำไรกันอย่างมโหฬาร ผูกมัดให้ผู้คนติดอยู่ในหล่มของการบริโภคอย่างเงยหัวไม่ขึ้นโดยไม่แยแสต่อความรักของพระองค์เลย

คริสต์มาสปีนี้ มีคนกว่าพันล้านคนที่เข้านอนโดยกินไม่อิ่มถ้าทรัพย์ในโลกยังไหลไปกระจุกกับคนจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่ จะมีคนมากกว่านี้ที่หิวโหยในวันคริสต์มาสปีหน้าและปีต่อๆ ไป นี่คือลูกหลานของเด็กจรจัดในนิทานของฮันส์คริสเตียน แอนเดอสัน ซึ่งจุดไม้ขีดขึ้นสู้กับความหนาวในวันคริสต์มาส แล้วฝันเห็นอาหารเลิศหรูบนโต๊ะที่พรั่งพร้อม... ความฝันซึ่งมีอายุเท่ากับแสงไฟบนก้านไม้ขีด

นี่คือเหล่าคนที่ซานตาขี่เลื่อนไปไม่มีวันถึง จนกว่าผู้คนจะชิงเอาคริสต์มาสกลับคืนมาจากพ่อค้า แล้วถือเอาคริสต์มาสเป็นวาระที่ควรรำลึกถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้ามีต่อมนุษย์

และด้วยเหตุดังนั้นมนุษย์จึงพึงต้องมีความรักต่อมนุษย์ด้วยกันเอง

4. ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต
นักวิชาการไทยคดีฝรั่งหลายคนที่ผมรู้จัก รวมทั้งนักวิชาการไทยที่เชื่อฝรั่งด้วย มักพูดว่าคนไทย (และคนเอเชีย) ไม่เคารพความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต (Sanctity of Life) เพราะคนไทยเชื่อว่าตายแล้วก็เกิดใหม่ ในขณะที่ฝรั่งเชื่อว่าตายแล้วตายเลย ชีวิตในทัศนะของฝรั่งจึงศักดิ์สิทธิ์มาก

ผมไม่เชื่อทั้งเหตุและไม่เชื่อทั้งผล ก็ยอมรับด้วยนะครับว่าอาจมีฉันทาคติต่อวัฒนธรรมไทยและเอเชียผสมปนเปอยู่ด้วย ไม่เชื่อเหตุก็คือไม่เชื่อว่า เพราะเราชื่อการเวียนว่ายตายเกิดทำให้เราไม่เคารพชีวิต หรือไม่เชื่อว่าเพราะความเชื่อเกิดหนเดียวตายหนเดียวแบบฝรั่งทำให้เคารพชีวิต

ก็เห็นอยู่ทนโท่ว่า พระพุทธศาสนาสอนให้เคารพชีวิต ไม่แต่เฉพาะชีวิตมนุษย์เท่านั้น รวมทั้งชีวิตสัตว์ร่วมโลกทั้งมวลด้วย ศีลข้อแรกคือ ปาณาติบาตหรือให้งดเว้นจากการทำสิ่งที่มีชีวิตให้ตกไป ไม่แต่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะนักวิชาการบางพวกเชื่อว่าศิลห้านั้นเป็นพื้นฐานทางศีลธรรมที่พบได้ในทุกศาสนา และพวกพราหมณ์บัญญัติมาก่อน พระพุทธเจ้าเพียงแต่รับเอาศีลห้าของพราหมณ์มาไว้เท่านั้น

แต่ก็มีนักวิชาการอีกพวกที่เชื่อในทางตรงกันข้ามว่า พวกพราหมณ์ต่างหากที่รับเอาศีลห้าของพุทธไปใช้ในภายหลัง แล้วก็ใช้ได้ไม่เคร่งเท่าพุทธด้วย เพราะยังมีการบูชายัญสัตว์ในบางกรณีสืบมา อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวรวมๆ แล้ว การเคารพชีวิตเป็นคำสอนที่หนักแน่นของศาสนาสากลต่างๆ ซึ่งล้วนเกิดในเอเชียทั้งนั้น

ไม่เชื่อผลก็คือไม่เชื่อว่าฝรั่งเคารพชีวิตมากกว่าคนไทย โดยเฉพาะฝรั่งโบราณ การฆ่าล้างผลาญหรือทำร้ายชีวิตของคนอื่นไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในประวัติศาสตร์ฝรั่ง ไม่ว่าการฆ่าพวก "นอกรีต" ในยุโรป รวมทั้งการเอา "แม่มด" ไปเผาทั้งเป็น พ่อค้าทาสชาวผิวขาวปฏิบัติต่อชาวแอฟริกันที่ไปล่ามาได้เหมือนเป็นสัตว์ และอัตราตายของคนผิวดำในการขนส่งทางเรือแต่ละเที่ยวนั้น สูงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ธุรกิจค้าทาสก็ดำเนินไปเป็นปรกติหลายศตวรรษ

ผมไม่ต้องการชี้นิ้วกล่าวโทษฝรั่งว่ามึงเหี้ยมกว่ากู เพราะผมก็ยอมรับว่าคนไทยหรือคนเอเชียก็เหี้ยมพอๆ กัน เพียงแต่ว่าในรอบ 400 ปีท้ายนี้ สมรรถภาพในการปฏิบัติที่เหี้ยมเกรียมของคนเอเชียด้อยกว่าฝรั่ง เช่น ไม่มีปืนดีเท่าเขา ไม่มีเรือดีเท่าเขา ไม่มีการจัดการทั้งทางธุรกิจ และสังคมดีเท่าเขา ฯลฯ เลยทำให้ไม่อาจแผ่ขยายความเหี้ยมเกรียมไปทั่วโลกเหมือนเขา

ความเหี้ยมเกรียมของทั้งสองฝ่ายนี้ทำให้ผมนึกถึงกบฏซีป่ายในอินเดีย (พ.ศ.2400-1) ทหารซีป่ายที่ก่อกบฏจับคนขาวหลายสิบหรือถึงร้อยกว่า รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ ไปขังไว้ในหลุม ขาดอากาศหายใจตายไปเยอะแยะ ฝ่ายอังกฤษก็รวบรวมกองทัพปราบปรามจนชนะ ในการรบบางแห่ง ทหารอังกฤษต้อนพวกกบฏไปจนมุมริมฝั่งน้ำ แล้วก็ยกเข้าตีพร้อมกัน จนทหารกบฏต้องหนีลงน้ำทั้งหมด ถูกกระแสน้ำกลืนชีวิตหายไปทั้งกองทัพ

ผมคิดเรื่องกบฏซีป่ายขึ้นมาก็เพราะ ถ้าเรากลับไปอ่านรายละเอียดในประวัติศาสตร์อินเดีย ก็จะพบว่าความโหดเหี้ยมของทั้งสองฝ่ายที่กระทำแก่กันนั้น มีปัจจัยที่สลับซับซ้อนสั่งสมกันมานาน ทั้งเรื่องการเมือง, ศาสนา, สังคม ฯลฯ ไม่ใช่เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวกับชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างตายตัว แล้วเลยทำให้เกิดความเหี้ยมเกรียมขึ้นในจิตใจ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความโหดเหี้ยมต่อชีวิตนั้นมีพลวัต ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างนิ่งแน่ตายตัวจากอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ผมอยากพูดนอกเรื่องตรงนี้ไว้ด้วยว่า ภาพของความโหดเหี้ยมไม่เคารพต่อชีวิตที่เกิดจากอุดมการณ์ที่นิ่งแน่ตายตัวนั้น กำลังถูกสร้างให้แก่มุสลิมทั่วโลก เราจึงมักมองการก่อการร้ายของมุสลิมให้หลุดลอยออกมาจากปัจจัยแวดล้อม เช่น มองระเบิดพลีชีพในปาเลสไตน์แยกออกมาจากความกดขี่ทารุณนานัปการที่อิสราเอลกระทำต่อชาวมุสลิม ไม่ต้องสรุปก็เห็นได้ง่ายนะครับว่าภาพของความโหดเหี้ยมที่ไม่มีพลวัตอย่างนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน ล้วนเป็นภาพหลอกลวง

เมื่อพูดว่าความโหดเหี้ยมต่อชีวิตมีพลวัต ด้านที่ตรงกันข้ามก็คือความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตก็มีพลวัตเหมือนกัน แปลว่าเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ มันไม่ได้งอกขึ้นมาจากอุดมการณ์ที่ตายตัวอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะในพระพุทธศาสนาหรือในคริสต์ศาสนา

ความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตอย่างที่ฝรั่งพูดถึงนั้น ผมคิดว่าที่จริงแล้วก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ฝรั่งในช่วงประมาณ 200 ปีมานี้เอง เงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความคิดว่าชีวิตศักดิ์สิทธิ์จนล่วงละเมิดไม่ได้ (ง่ายๆ) นั้น คงมีหลากหลายและซับซ้อนมาก พูดกันตรงๆ ก็เกินสติปัญญาความสามารถของผมจะรู้ได้ เพราะไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ฝรั่งละเอียดพอ

ผมขอยกเป็นตัวอย่างเพียงเรื่องสองเรื่องเท่านั้น

ในสมัยกลางเมื่อผู้คนยังตกอยู่ใต้พันธนาการของเจ้าและพระ ชีวิตของเขามีคุณค่าในแง่ที่เป็นพลังส่วนหนึ่งของระบบศักดินา ไม่ว่าจะเป็นพลังในการผลิตหรือพลังในการเมืองของแคว้น (manorial system) แต่ชีวิตของเขาไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร เมื่อเขาแหกคอก เช่น ดูหมิ่นพระเจ้า หรือเชื่อภูตผีปีศาจ หรือแข็งข้อกับเจ้าศักดินา ชีวิตของเขาจึงต้องถูกล้างผลาญ รวมทั้งวิธีการฆ่าเขาก็อาจใช้เป็นประโยชน์ในการข่มขู่คนอื่นๆ ให้สยบยอมต่อระบบด้วย

ครั้นเมื่อสิ้นสมัยกลางและพันธนาการของเขาถูกปลดเปลื้องไปแล้ว คุณค่าของชีวิตของเขากลับไปอยู่ที่การเป็นแรงงานราคาถูก (และกำลังการบริโภค) ให้แก่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ตอนนี้แหละครับที่ผมคิดว่าการฆ่าล้างผลาญชีวิต "อิสรชน" ย่อมเป็นอันตรายต่อระบบ ถ้าจะเอาชีวิตของแรงงานราคาถูกออกไปจากตลาดสักคนหนึ่ง จึงควรต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบอย่างรอบคอบ

และถึงตอนนี้แหละครับที่อุดมการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตจะมีความหมายที่เป็นจริงขึ้นมาได้ และก็เป็นการง่ายที่จะผูกความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตไว้กับศาสนา (เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์) นอกจากศาสนาแล้ว ก็ยังผูกไว้กับสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เนื้อหาในการศึกษา, ศีลธรรม, นวนิยายซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้พอดี (ลองเปรียบเทียบการฆ่าและผลการฆ่าในนวนิยายฝรั่งกับละครเชคสเปียร์สิครับ ผิดกันไกลเลย) และวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ

นอกจากปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ผมคิดว่าลัทธิเสรีนิยมก็มีส่วนในการทำให้แนวคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตเฟื่องฟูขึ้นในหมู่ฝรั่ง เสรีนิยมมองมนุษย์เป็นปัจเจกเกือบจะล้วนๆ เพียงอย่างเดียว เสรีภาพที่เสรีนิยมใฝ่หานั้นจะตกแก่ปัจเจกซึ่งยังหายใจได้ เพราะถ้าหายใจไม่ได้ ก็หมดความหมายที่จะพูดถึงเสรีภาพชนิดที่เสรีนิยมเรียกร้อง (เช่น เสรีภาพจากอุปาทานต่างๆ ไม่ใช่เป็นเสรีภาพที่พวกนี้เรียกร้อง)

ในขณะเดียวกัน ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตก็ลิดรอนอำนาจของรัฐซึ่งไม่น่าไว้วางใจแก่พวกเสรีนิยมลงอย่างมาก อำนาจรัฐถูกสกัดลงถนัด เมื่อเปลี่ยนกระสุนจริงเป็นกระสุนยาง

ผมควรกล่าวด้วยว่า แนวคิดฝรั่งเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตนั้นขยายจากลมหายใจไปสู่คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ทั้งหมด Life, Liberty, and the Pursuit of Happiness (ชีวิต, เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข) เป็นสามอย่างที่แยกออกจากกันไม่ได้

รัฐบาลทหารพม่านั้นไม่ได้ฆ่าคนตายจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของคนพม่าจำนวนมากไร้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ไปหมด ซึ่งก็เท่ากับมองเห็นว่าชีวิตไร้ความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ฉะนั้น ในแง่หนึ่งผมก็ยอมรับว่าคนไทยและเอเชียอาจไม่ได้มองว่าชีวิตมีความศักดิ์สิทธิ์เท่าฝรั่ง แต่นั่นไม่ได้เกิดขึ้นจากมุมมองทางอภิปรัชญาที่ต่างกัน แต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันต่างหาก

แม้ว่าเราอาจผ่าน "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" และผ่านผลกระทบของลัทธิเสรีนิยมเหมือนกัน แต่ทั้งหมดนั้นเป็นการนำเข้าเฉพาะส่วนที่เป็นรูปแบบภายนอกเท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อจิตสำนึกของเรา เสรีนิยมที่เข้ามาถึงเมืองไทยอาจทำให้รัฐยิ่งเข้มแข็งเหนือประชาชนกว่าสมัยก่อนเสียอีก เป็นต้น

ผมอยากย้ำว่า การ "ฆ่าตัดตอน" ในสงครามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนไทยจำนวนมากทั้งในเวลานั้นและหลังจากนั้น การคัดค้านว่ารัฐบาลทำให้ชีวิตคนมีค่าประหนึ่งเป็นผักเป็นปลา จะมีความหมายได้ก็เฉพาะในวิธีมองโลกหรือชีวทรรศน์แบบพุทธเท่านั้น

แต่ในชีวทรรศน์กึ่งฝรั่งกึ่งไทยอย่างที่เราเป็นอยู่ ก็จะพบว่าทำอย่างนั้นก็ถูกแล้ว ในเมื่อชีวิตของผักและปลาย่อมมีไว้บำรุงบำเรอชีวิตมนุษย์ไม่ใช่หรือ ตายไปเสียบ้างเพื่อให้ชีวิตของชาติดำรงอยู่จึงถูกแล้ว

5. เส้นสายลายไทย
เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนที่มีเส้นสายมาก และการดำเนินชีวิตปรกติของเขาก็อาศัยเส้นสายเหล่านี้อยู่เสมอ จะช่วยให้ชีวิตของเขาสะดวกขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนผมไม่ทราบ แต่เขาใช้เสมอแม้ในเรื่องที่ผมไม่เห็นจำเป็นเลย เช่น ซื้อตั๋วเครื่องบิน ซึ่งทำเองได้ด้วยการยกหูโทรศัพท์เท่านั้นเอง เขาก็ยกหูเหมือนผมนั่นแหละ แต่แทนที่จะโทรไปยังออฟฟิศของสายการบิน เขากลับโทรไปหาเพื่อนของเขาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท แล้วก็ฝากซื้อด้วยราคาปรกตินี่แหละครับ ไม่ว่าจะมีปัญหา (หรือไม่มีปัญหาอะไร) เพื่อนของเขามีอยู่ทั่วหัวระแหง และพร้อมจะให้บริการได้เสมอ

ผมเคยถูกยึดใบขับขี่เพราะขับรถเข้าซอยที่เขาห้ามเข้าโดยไม่ทันเห็นป้าย เขาเสนอว่าจะให้เพื่อนซึ่งเป็นตำรวจไปเอาใบขับขี่มาให้ แต่เนื่องจากผมมีเวลาเหลือเฟือ จึงไม่ได้รับบริการของเขา

ผมอยากรู้เรื่อง "แก๊งซามูไร" ที่อาละวาดอยู่ในเชียงใหม่ ไม่นานนักเขาก็เอาข้อมูลจากฝ่ายตำรวจมาบอกผมได้ เพราะเขาบังเอิญไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อนที่เป็นรองสารวัตรของสถานีแห่งหนึ่งมา อะไรในวงการธุรกิจ เขาก็บอกผมได้ เพราะเขามีเพื่อนในวงการธุรกิจหลายคน วงการมหาดไทย, วงการทหาร, วงการผู้พิพากษา, วงการผู้ค้าขายแผงข้างถนน, วงการภัตตาคารร้านอาหาร ฯลฯ เขามีเพื่อนอยู่ทั้งนั้น

ในขณะเดียวกันผมก็สังเกตมานานว่า เพื่อนของเขาแต่ละคนที่เขาแนะนำให้ผมรู้จักนั้น เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย รวบรวมสะสมกันมาโดยไม่ได้ทิ้งขว้างไปไหนเลย

ข้อนี้ผมออกจะทึ่งมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อสำรวจตัวเองแล้วก็ตกใจว่า ผมทิ้งเพื่อนไปไม่รู้จะกี่โหลในชีวิต เพราะเมื่อแยกย้ายกันไปแล้วก็ไม่ได้ติดต่อพบปะกันอีกเลย ในขณะที่เพื่อนผมคนนี้ไม่เคยขาดงานเลี้ยงรุ่น (ซึ่งก็มีหลายรุ่น), เลี้ยงแก๊ง, เลี้ยงวันเกิด, แต่งงาน, โกนผมไฟ ฯลฯ ของเพื่อนฝูงเลย

ผมเล่ามาเสียยืดยาว เพราะมันเล่าง่าย แต่ที่จริงแล้วผมต้องการจะพูดนิดเดียวว่า ชีวิตของคนไทยสมัยใหม่ สร้างและสั่งสมเส้นสายมาจากชีวิตการศึกษานี่เอง เพื่อนคือคนที่ไปโรงเรียนเดียวกัน (หรือมหาวิทยาลัยเดียวกัน) และจากฐานของเพื่อนหรือเส้นสายที่มากับการศึกษานี้ บางคนก็อาจขยายต่อไปสู่คนอื่นกลุ่มอื่นได้กว้างขวางไม่รู้จบ หากไม่ทิ้งใครไปเลยก็จะมีเพื่อนหรือเส้นสายเป็นกระตั้ก อย่างเพื่อนผมที่เล่าถึงนี่เอง

ด้วยเหตุดังนั้น คนที่เรียนหนังสือน้อยจึงมีเพื่อนน้อย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือมีเส้นสายน้อย ครับ โรงเรียนให้หรือไม่ให้ความรู้ก็ตาม แต่โรงเรียนให้เพื่อนซึ่งจะกลายเป็นเส้นสายด้วย ชาวบ้านซึ่งเรียนหนังสือแค่ ป.4 หรือ ป.6 จึงมีเวลาที่จะสะสมเพื่อนอยู่เพียงเท่านั้น และทำให้ส่วนใหญ่ไม่มีเส้นสายที่กว้างขวางนัก

เพื่อนในฐานะเส้นสายนั้น ไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกหรือขจัดความยุ่งยากบางอย่างในชีวิตให้เราเท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลหรือคำแนะนำซึ่งอาจเอาไปใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตได้มาก ทั้งในทางทำมาหากินและในทางอื่นๆ

ก่อนหน้าที่จะมีโรงเรียนในสังคมไทย คนที่มีเส้นสายกว้างขวางเหมือนเพื่อนผมคนที่เล่าถึงนั้นคงมีน้อย ยกเว้นคนที่เป็นลูกท่านหลานเธอ แต่เส้นสายของเธอเหล่านี้ ก็ไม่เหมือนเส้นสายของเพื่อนทีเดียวนัก เพราะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลดหลั่นกัน หรือความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง จะสามารถดำรงเครือข่ายของเส้นสายนี้ไว้ได้ก็ต่อเมื่อดำรงรักษาอำนาจของตัวไว้ได้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมีเส้นสายแคบๆ แต่ก็พอเหมาะกับการดำเนินชีวิตของเขาซึ่งแคบๆ เหมือนกัน เช่น ทำเกษตรเลี้ยงตนเองในหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์กับคนอื่นหลายลักษณะ ที่เป็นเพื่อนกันก็จำนวนหนึ่ง แต่ยังมีความสัมพันธ์ลักษณะอื่นๆ อีกด้วย เช่น เครือญาติ, เป็นสมาชิกในกลุ่มลงแขกเดียวกัน, อุปัชฌาย์เดียวกัน, อยู่ในหัววัดเดียวกัน ฯลฯ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการดำเนินชีวิตของเขา แม้กระนั้น ก็มีบางคนที่แสวงหา และมีเพื่อนกว้างขวางกว่านั้น

ผมกำลังนึกถึงระบบเสี่ยวของภาคอีสาน และระบบเกลอของภาคใต้ ซึ่งผูกสัมพันธ์คนออกไปกว้างขวางกว่าตำบลหมู่บ้านไกลทีเดียว นับเป็นความสัมพันธ์พิเศษกว่าเพื่อนหรือคนรู้จักธรรมดา เพราะต้องผ่านพิธีกรรม และสถาปนาความสัมพันธ์ที่เทียบเคียงได้กับความสัมพันธ์ในครัวเรือน ถือพ่อแม่เกลอเหมือนพ่อแม่ของตัว และเป็นธรรมเนียมว่าจะไม่จีบน้องสาวหรือพี่สาวของเกลอ เพราะถือเหมือนเป็นพี่สาวน้องสาวของตัวเอง (อาจเป็นประเพณีข้อห้ามทางเพศ เพราะเกลออาจมาพักพิงในเรือนเหมือนสมาชิกของครอบครัว จึงต้องระวังมิให้ปีนเข้าห้องน้องสาว เวลามาพักหลับนอนที่บ้านก็ได้)

คนที่มีเสี่ยวและเกลอมากกว้างขวางย่อมมีเส้นสายสำหรับทำอะไรได้หลายอย่าง ชนิดที่คนทั่วไปทำไม่ได้ เช่น ทำมาค้าขาย เป็นนายฮ้อย ต้อนงัวควายไปขายในที่ห่างไกลได้ เพราะมีเสี่ยวอยู่ตามเส้นทาง ให้ความปลอดภัยและความสะดวกไปพร้อมกัน รวมทั้งทำให้รู้ข้อมูลตลาดได้ด้วย คนที่มีเสี่ยวและเกลอมากและกว้างจึงมักจะเป็นผู้นำท้องถิ่น เพราะมีเส้นสายช่วยให้ทำงานสะดวก ควายลูกบ้านถูกขโมย ก็อาจตามควายได้ไกลๆ รู้เบาะแสคนร้ายได้เร็ว เป็นต้น

ชีวิตของคนไทยในชนบทเปลี่ยนไป เส้นสายที่ต้องมีในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย และผมออกจะสงสัยว่า ขอบเขตของชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้ ขาดเส้นสายที่จำเป็นสำหรับเกื้อหนุน เช่น เมื่อทำการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์เข้มข้นขึ้น ก็จำเป็นต้องมีทุนเป็นตัวเงินมากขึ้นตามไปด้วย ไม่รู้จะไปหยิบยืมที่ไหน จะหาเส้นไปช่วยค้ำประกันก็ไม่มี เพราะเรียนหนังสือมาไม่กี่ปี เพื่อนที่ได้มาจากโรงเรียนก็แค่ชาวไร่ชาวนาด้วยกัน ไม่มีเวลาในโรงเรียนยาวพอที่จะทำให้มีเพื่อนเป็นรองสารวัตร หรือเสี่ยใหญ่เจ้าของกิจการ

แถมเพื่อนที่เป็นชาวไร่ชาวนาด้วยกันนั้น ก็หันไปเพาะปลูกเชิงพาณิชย์หมดแล้ว ความเกื้อหนุนจุนเจือกันแบบที่เคยมีมาแต่ก่อนก็ใช้ไม่ได้ เช่น จะเรียกไปลงแขกเกี่ยวข้าวให้ฟรีๆ ไม่ได้เสียแล้ว เพราะเขาก็ต้องขายแรงงานเลี้ยงลูกเมียเขาเหมือนกัน ถึงเป็นเพื่อนกันอยู่ก็ได้แต่ร่วมวงเหล้ากันเท่านั้น ไม่อาจทำงานอย่างที่เส้นสายเคยทำมาในสมัยก่อนได้

อันที่จริงความสัมพันธ์เชิงเส้นสายแบบเก่านั้นใช่ว่าจะใช้ประโยชน์ในโลกสมัยใหม่ไม่ได้เสียเลย ผมเชื่อว่าใช้ได้ถ้ามีโอกาสปรับตัว เช่น เอาเส้นสายแบบเก่าเป็นฐานสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรแบบใหม่ เอาไปทำสหกรณ์ที่โม่โกงกัน เป็นต้น แต่จะเพราะเหตุใดก็ตาม โอกาสที่เส้นสายแบบเก่าจะปรับตัวไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ผลก็คือส่วนใหญ่ของคนชนบทซึ่งผ่านโรงเรียนเพียงไม่กี่ปี มีเส้นสายน้อย และเส้นสายที่มีอยู่ก็ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการเมืองหรือสังคมไม่ค่อยได้เสียอีก ฉะนั้น เขาจึงไร้อำนาจและจน (เรื่องเดียวกัน) จะไปขึ้นทะเบียนว่าจนเพราะไม่มีเส้นสาย ท่านก็ไม่รับ ทั้งๆ ที่ไม่มีเส้นสายนั้นเป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งของความยากจน

ขอบเขตของชีวิตเปลี่ยน บุคลิกภาพของผู้นำท้องถิ่นก็เปลี่ยนเหมือนกัน มีคนชนบทบางคนที่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้มีโอกาสได้รู้จักมักจี่กับผู้คนกว้างขวางออกไป เช่น ค้าขายจนเถ้าแก่ไว้ใจ จึงให้เป็นนายหน้าซื้อพืชผลในท้องถิ่น ได้เคยรับใช้นายอำเภอมาก่อน จึงขึ้นอำเภอไปขอความช่วยเหลือได้ง่าย ฯลฯ คนเหล่านี้แหละครับที่ได้เป็นผู้นำท้องถิ่น ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แต่มีข้อสังเกตว่า "เส้นสาย" ของคนเหล่านี้เป็นเส้นสายในแนวดิ่ง หมายความว่า คนที่ทำให้เขามีฐานะเศรษฐกิจ, สังคมหรือการเมืองดีขึ้นนั้น คือคนที่เหนือกว่าเขา ความสัมพันธ์ที่เขามีกับคนเหล่านี้เป็นลักษณะพึ่งพาไม่ใช่เส้นสายในแนวนอนที่เกื้อหนุนกันในเชิงแลกเปลี่ยนของคนที่เท่าเทียมกัน เพราะ "เจ้านาย" เหล่านี้ไม่ใช่เพื่อนร่วมโรงเรียนของเขานี่ครับ

และเช่นเดียวกับชาวบ้านธรรมดา ผมคิดว่าระบบเส้นสายแบบเก่า เช่น การผูกเสี่ยวผูกเกลอไม่ได้มีโอกาสปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวิถีชีวิต เสี่ยวและเกลอก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ได้ทำงานเหมือนเก่าอีกแล้ว นั่นก็คือจะนับเป็นเส้นสายไม่ได้

เช่น ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีการระดมทุน เพื่อประกอบการสมัยใหม่จากเสี่ยวและเกลอ ลองคิดเปรียบเทียบการระดมทุนจากแซ่หรือกลุ่มเครือญาติในธุรกิจของคนจีน จะเห็นว่าจีนได้ปรับความสัมพันธ์ของเส้นสายมาใช้ในธุรกิจสมัยใหม่ได้ดี

ผมไม่กล้ายืนยัน เพราะไม่ได้กลับไปค้นหนังสือเก่าให้ดี แต่ผมจำได้ว่าคำว่าเส้นสายนั้น ในภาษาไทยเคยใช้ทั้งสองความหมาย คือความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอย่างที่ใช้กันในปัจจุบันก็ได้ และใช้ในความหมายสัมพันธ์เชิงเท่าเทียมอย่างที่ผมใช้ในบทความนี้ก็ได้ แต่เพราะคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมเป็นเส้นสายอีกแล้ว ความหมายของเส้นสายจึงเหลือแต่เพียงเชิงพึ่งพาคนที่สูงกว่าเท่านั้น

6. ความจริงบนหน้ากระดาษ
ผมออกจะสนใจกิริยาและปฏิกิริยาต่อการนำถุงยางอนามัยเข้าโรงเรียน เพราะดูเหมือนมันจะสะท้อนอะไรบางอย่างในวิถีความคิดของคนไทยอยู่ด้วย ปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ซึ่งผมได้ยินได้ฟังก็คือต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก ว่ากันว่าขัดต่อจารีตประเพณีไทย เหมือนยุยงส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีเพศสัมพันธ์กัน

แม้แต่นักเรียนเองที่สื่อไปเที่ยวสัมภาษณ์ ก็ล้วนแสดงความไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ทั้งๆ ที่มันอยู่ใกล้มือ จะใช้ก็ได้ ไม่มีเหตุต้องใช้ก็ไม่มีใครเขาว่าอะไร ผมจึงออกจะสงสัยว่า นักเรียนไม่อยากให้มีตู้ถุงยางในโรงเรียน เพราะตู้นั้นเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า ที่โรงเรียนมีเพศสัมพันธ์ในหมู่นักเรียน อายเค้าว่ะ

ทั้งๆ ที่ใครก็รู้ว่ามีเพศสัมพันธ์ในหมู่นักเรียนอยู่มาก แม้แต่ผู้สำรวจบางคนไปถามนักเรียนเอง นักเรียนก็ยอมรับว่ามี ตัวเลขที่แน่นอนนั้นไม่ทราบได้ แต่จากผลการสำรวจหลายครั้งก็ว่ากันว่ามีตั้งแต่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปถึงยี่สิบกว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะวางกลวิธีสำรวจอย่างไรให้แนบเนียน เพราะสำรวจเรื่องอย่างนี้ไม่ง่ายเลย

แม้กระนั้น การสำรวจเพศสัมพันธ์ในโรงเรียนซึ่งทำกันหลายครั้งโดยคนหลายกลุ่ม ก็ไม่ได้ระบุชื่อโรงเรียนใด ฉะนั้น จึงต่างจากการเอาตู้ถุงยางไปตั้งในโรงเรียน เพราะเท่ากับยอมรับกันอย่างเปิดเผยว่านักเรียนในโรงเรียนนั้นมีเพศสัมพันธ์

ความจริงว่านักเรียนในโรงเรียนนั้นมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ มีความสำคัญน้อยกว่าโรงเรียนนั้นถูกตราลงในบันทึก (record) ว่าเป็นโรงเรียนที่มีเพศสัมพันธ์ในหมู่นักเรียน ไม่อย่างนั้นจะเอาตู้ถุงยางไปตั้งทำไม ผมออกจะมีความประทับใจว่า คนไทยสนใจความเป็นจริงน้อย แต่อยากให้ถือว่าสิ่งที่อยู่ในบันทึกนั่นแหละคือความจริงมากกว่า เพราะสิ่งที่อยู่ในบันทึกเป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าไปจัดการได้ง่ายกว่าความเป็นจริงนอกสมุดบันทึก

อันที่จริงความคิดของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำตู้ถุงยางเข้าโรงเรียนก็ทำอย่างเดียวกัน กระทรวงอ้างว่ามีความห่วงใยการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี ผ่านเพศสัมพันธ์ในหมู่นักเรียน กระทรวงจึงแสดงความห่วงใยในบันทึกให้เห็นด้วยการตั้งตู้ถุงยางไว้บริการ

แต่ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะนำเอาความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศเข้าสู่โรงเรียน เช่น การมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยและอาทรซึ่งกันและกัน ความเข้าใจใหม่อย่างนี้ต่างหากที่ทำให้ผู้คนอยากใช้ถุงยางอนามัยในการร่วมเพศนอกสถาบันการสมรส และเมื่อมีความต้องการแล้ว ตู้ถุงยางที่สะดวกย่อมเป็นที่ต้องการไปด้วย

เริ่มต้นก็เอาถุงยางมาไว้ใกล้มือเลย โดยไม่ได้ปรับทัศนคติเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่นไทย จึงเหมือนกับการบอกว่า "อ๊ะ อ๊ะ ฉันเห็นนะ" ลองเปรียบเทียบการแจกถุงยางแก่คู่สมรสดูเถิดครับ คู่สมรสจำนวนมากอยากมีลูกน้อยอยู่แล้ว แจกถุงยางก็ยินดีรับ (และใช้) พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีทัศนคติที่เหมาะจะใช้ถุงยางอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูในหน้าบันทึกแล้วก็จะเห็นความห่วงใยและการดำเนินการที่กระฉับกระเฉงของกระทรวงสาธารณสุขในการยับยั้งการแพร่กระจายของเอชไอวี ส่วนจะได้ผลหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ในบันทึก

เช่นเดียวกับเรื่องโสเภณี ซึ่งในความเป็นจริงก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามีอยู่มากในเมืองไทย แต่ครั้นจะถอดความเป็นอาชญากรรมออกไปจากบุคคลที่ประกอบอาชีพนี้ ผู้คนจำนวนหนึ่งกลับเกรงว่าจะยิ่งทำให้ผู้เข้าสู่อาชีพนี้จำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่แล้วว่ากฎหมายที่สร้างความเป็นอาชญากรให้โสเภณีแทบไม่มีผลยับยั้งผู้คนที่จำเป็นต้องเดินเข้าสู่อาชีพนี้เลย

ปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ผลักดันผู้คนตัวเล็กๆ ให้เลือกอาชีพนี้กลับได้รับความสนใจน้อย จนกระทั่งรัฐบาลไทยไม่เคยถูกพลเมืองกดดันให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ได้แต่กดดันให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หรือให้เลิกกฎหมายไปเลย ซึ่งจะไม่ช่วยลดจำนวนโสเภณีในเมืองไทยลงได้ แต่นั่นก็ไม่เป็นไร เพราะการมีกฎหมายปรามการค้าประเวณีทำให้ประเทศไทยดูดีบนหน้าบันทึกอยู่แล้ว ไม่ว่าในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ผมคิดว่าถ้าเราหันไปดูความใส่ใจที่จะสถาปนาความจริงไว้บนหน้าบันทึกมากกว่าความเป็นจริง จะเห็นได้ทั่วไปหมดในทุกๆเรื่อง พูดภาษาชาวบ้าน ความจริงบนหน้าบันทึกก็คือที่เรียกกันว่า ผักชีโรยหน้า นั่นเอง ไม่เฉพาะแต่รัฐบาลนะครับ ผมคิดว่าสังคมไทยนั่นแหละที่นิยมผักชีโรยหน้า คนไทยจำนวนมาก (ซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่ก็ได้) ชื่นชมที่รัฐบาลจัดฉากกรุงเทพฯ ต้อนรับผู้นำเอเปกได้งดงาม ทั้งๆ ที่นั่นเป็นกรุงเทพฯ ที่ไม่จริงนะครับ ไม่ว่าจะมองจากปัญหาจราจร, คนและเด็กเร่ร่อน, คนขายของตามสี่แยก, ธุรกิจริมทางเท้า, หรือไม้ดอกไม้ประดับ

ใครที่ชอบกรุงเทพฯ แบบนั้นก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า นั่นเป็นเพียงภาพฝันที่จะจางหายไปเมื่อแขกกลับไปหมดแล้ว

ความงดงามบนหน้าบันทึกจึงมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าในความเป็นจริง และก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างทั่วหน้า เพราะมันตรงกับวิถีคิดของคนไทยอยู่แล้ว

ผมพยายามคิดว่าเหตุใดคนไทยร่วมสมัยของผมจึงใส่ใจแต่ความจริงบนหน้าบันทึก แล้วไม่สู้จะสนใจความจริงในความเป็นจริง ไม่สนใจศึกษา และเมื่อไม่ศึกษาก็ไม่สามารถนำมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ พูดตามความจริง ผมถามตัวเองแล้วก็ตอบให้ตัวเองพอใจไม่ได้หรอกครับ แต่ก็ยังอยากจะเสนอคำตอบลำลองของตัวไว้ในที่นี้ด้วย

ผมคิดว่าเรารู้สึกตัวว่ามีอำนาจน้อย อาจเป็นมรดกตกทอดมาจากการที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบอัตตาธิปไตย-อำนาจนิยมมานานแสนนาน ทำให้เรารู้สึกตัวเสมอว่า เราแก้ปัญหาอะไรไม่ได้หรอก การขาดความเชื่อมั่นในตัวเองข้อนี้เห็นได้จากความยากลำบากที่จะขับเคลื่อนประเด็นสังคมต่างๆ การหาคนที่เห็นพ้องต้องกันกับความคิดนั้นทำได้ไม่ยาก แต่หาคนที่จะออกมาร่วมมือกันในการทำอะไรร่วมกันเพื่อผลักดันความคิดนั้นให้เป็นรูปธรรมกลับหาไม่ค่อยได้

ยกเว้นอย่างเดียวคือบริจาค ขอบริจาคล่ะก็ง่ายมาก แต่ขอให้ออกมาทำอะไรอย่างอื่นด้วยตัวเองล่ะก็ไม่สู้จะมีใครอยากออกมา คำเตือนที่ได้ยินอยู่เสมอก็คือ อย่าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง และเพราะสำนึกถึงความมีอำนาจน้อยของตัวนี่หละครับ ที่ทำให้เราใส่ใจจะสร้างความจริงที่เราพอใจบนกระดาษเท่านั้น ทุกอย่างให้ดูดีบนหน้าบันทึก อะไรที่อยู่บนกระดาษนั้นแก้ง่าย แต่อะไรที่อยู่ในความเป็นจริงมันเกินอำนาจของอั๊วจะไปแก้ไขอะไรได้

ด้วยเหตุดังนั้น ใครจะบริหารเมืองไทย ต้องบริหารกระดาษหรือหน้าบันทึกให้เก่ง ส่วนบริหารกระดาษให้เก่งทำอย่างไรนั้นก็นับว่าน่าสนใจเหมือนกัน แต่ไว้มีโอกาสข้างหน้าผมจะลองไล่เลียงดูว่าเขาทำกันอย่างไร

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนมีนาคม พศ.๒๕๔๗
รวมบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมไทย 6 เรื่อง ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ - เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายสัปดาห์

นักวิชาการไทยคดีฝรั่งหลายคนที่ผมรู้จัก รวมทั้งนักวิชาการไทยที่เชื่อฝรั่งด้วย มักพูดว่าคนไทย (และคนเอเชีย) ไม่เคารพความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต (Sanctity of Life) เพราะคนไทยเชื่อว่าตายแล้วก็เกิดใหม่ ในขณะที่ฝรั่งเชื่อว่าตายแล้วตายเลย ชีวิตในทัศนะของฝรั่งจึงศักดิ์สิทธิ์มาก ความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตอย่างที่ฝรั่งพูดถึงนั้น ผมคิดว่าที่จริงแล้วก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ฝรั่ง

ระบบเสี่ยวของภาคอีสาน และระบบเกลอของภาคใต้ ซึ่งผูกสัมพันธ์คนออกไปกว้างขวาง กว่าตำบลหมู่บ้านไกลทีเดียว นับเป็นความสัมพันธ์พิเศษกว่าเพื่อนหรือคนรู้จักธรรมดา เพราะต้องผ่านพิธีกรรม และสถาปนาความสัมพันธ์ที่เทียบเคียงได้กับความสัมพันธ์ในครัวเรือน ถือพ่อแม่เกลอเหมือนพ่อแม่ของตัว และเป็นธรรมเนียมว่าจะไม่จีบน้องสาวหรือพี่สาวของเกลอ เพราะถือเหมือนเป็นพี่สาวน้องสาวของตัวเอง (อาจเป็นประเพณีข้อห้ามทางเพศ เพราะเกลออาจมาพักพิงในเรือนเหมือนสมาชิกของครอบครัว... )

แล้วพระท่านก็นำเอาทรัพย์สินเหล่านี้ไปเลี้ยงเด็กอนาถา รับเด็กไปให้การศึกษา ซึ่งหมายถึงกินข้าววัดและนอนวัดฟรี เครื่องใช้ไม้สอยที่ถวายวัดไว้ นับตั้งแต่ถ้วยโถโอชาม ตู้ตั่งเตียง ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมักหยิบยืมไปใช้ เพราะถือว่าวัดเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาสมบัติกลางของชุมชน (ก่อนที่หลวงพ่อจะยึดเอาวัดไปเป็นของตัว)