H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 365 หัวเรื่อง
การเมืองและเรื่องตุลาการศาสตร์
พิเชษฐ เมาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ประเทศญี่ปุ่น

บริการเผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

180347
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

(ข้อคิดจากญี่ปุ่น)
การเมืองและเรื่องตุลาการศาสตร์ในญี่ปุ่น
พิเชษฐ เมาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ, ประเทศญี่ปุ่น
(บทความนี้ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

หมายเหตุ : เว็ปเพจนี้ เป็นการรวบรวมบทความ 3 เรื่อง เกี่ยวกับ"การเมืองและตุลาการศาสตร์" ประกอบด้วย
1. บ้านเรา-บ้านเขา (การเมืองในประเทศญี่ปุ่น)
2. ผู้พิพากษาญี่ปุ่นวันนี้ ยังคำนึงถึง "ความรู้สึก" รัฐบาลหรือไม่ ใน "คดีที่มีผลกระเทือนทางการเมือง"
3. "อิริไอ" : กฎหมายจารีตประเพณี "ทรัพย์สินชุมชน" ในญี่ปุ่น

(บทความเหล่านี้ ได้รับจาก อาจารย์พิเชษฐ เมาลานนท์ : เคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.ไทยโพสต์)

 

บทความเรื่องที่หนึ่ง
"บ้านเรา-บ้านเขา : การเมืองในประเทศญี่ปุ่น"


บิดาผม เมื่อครั้งยังมีชีวิต ท่านเคยเขียนบทความ เล่าเรื่องเมืองอังกฤษ ให้คนไทยในวงแคบๆ ได้อ่านกันหลายปี และมีชื่อคอลัมน์ว่า "บ้านเรา-บ้านเขา" จนพิมพ์ได้เป็นเล่ม ในหนังสืองานศพ ของท่านเอง

ผมเอง เมื่อไปยึดอาชีพสอนกฎหมายในญี่ปุ่น ทุกวันนี้ ก็มีความปรารถนาจะเล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น จึงยืมชื่อคอลัมน์ท่าน นำมาเริ่มเปิดฉาก บทความของผม ในวันนี้

ถ้าจะว่ากันตามกฎหมายแล้ว แม้ลูก ก็อาจละเมิดลิขสิทธิ์ของพ่อได้ แต่เชื่อว่า บิดาผม ท่านคงอภัยให้ เพราะถือเป็นมรดกอันน้อยนิด ที่ลูกมันก็ทำประโยชน์อันน้อยนิด ให้แก่ "บ้านเรา" คือให้เมืองไทย ในวิถีทางของมันเอง

ผมขอเปิดประเด็น เป็นข้อคิดว่า การแก้ปัญหาสังคมไทย ด้วยวิธีแสวงหาข้อคิด-บทเรียน จากต่างชาติ น่าจะทำได้ใน ๒ แนว:
- ดูต่างชาติแล้วย้อนดูไทย (ในทำนอง "ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว")
- ดูปัญหาสังคมไทยก่อน แล้วจึงย้อนไปดูต่างชาติ (คือ ดู "บ้านเรา" ก่อนไปดู "บ้านเขา" หรือพูดเป็นฝรั่งว่า Inside-Out ไม่ใช่ Outside-In)

ทั้ง ๒ แนวทาง ควรผสมผสานกัน อันควรแก่กรณี แต่ผมเห็นว่า โดยหลักแล้ว เราควรใช้ปัญหาสังคมไทยเป็น "ตัวตั้ง" ในลักษณะ Inside-Out เพราะจะช่วยให้เรา ไม่หลุดลอยไปจากความจริงของ "บ้านเรา" และได้เห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของไทย ไม่ดูแคลนศักยภาพคนไทย และเลือกหยิบยืมบทเรียนต่างชาติ ที่จะปรับใช้ได้จริงใน "บ้านเรา" เท่านั้น พูดง่ายๆก็คือ ผมชอบแนวทาง "บ้านเรา-บ้านเขา" ยิ่งกว่า "บ้านเขา-บ้านเรา"

ในปีนี้ ผมเริ่มวิ่งไป-วิ่งมา ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย เพราะไปเป็นสมาชิก "คณะทำงานเครือข่ายยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน" ที่มี อจ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน และมีการประชุมระดมความคิดทุก ๒ เดือน เรียกว่า "เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน"

ผมรับหน้าที่ หาหนทางใช้กฎหมายแก้ความยากจนในเมืองไทย โดยเริ่มศึกษาปัญหาใน "บ้านเรา" ก่อน แล้วจึงหันไปดูว่า การใช้กฎหมายใน "บ้านเขา" (ที่ญี่ปุ่น) มีข้อคิดอะไรแก่ไทยบ้าง กล่าวคือ ผมใช้เทคนิคแสวงหาบทเรียนจากญี่ปุ่น แต่ใช้ปัญหาสังคมไทยเป็น "ตัวตั้ง" ซึ่งแน่นอน ต้องทำใจไว้เสมอว่า การใช้เทคนิคเช่นนี้ อาจไม่ให้ข้อคิดที่ดีๆ ไปเสียทุกเรื่อง เพราะปัญหาสังคมในไทยและในญี่ปุ่น ไม่เหมือนกันเสมอไป (และไทยเอง ก็อาจดีกว่าญี่ปุ่น ด้วยซ้ำไป ในหลายเรื่อง) แม้กระนั้น คนทั่วไปในโลก ก็มักจะเห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น มักจะน่าทึ่ง และน่าพิศวง จึงน่ารับรู้ และน่าติดตามอยู่เสมอ ผมเข้าใจว่า คนไทยเอง ก็คงรู้สึกเช่นนั้น เป็นส่วนใหญ่เช่นกัน

อาทิตย์นี้ สังคมญี่ปุ่นกำลังยุ่งอยู่กับเรื่องเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีในวันอาทิตย์ที่ ๙ พย. อีก ๒-๓ วันข้างหน้านี้ เพราะขณะที่รัฐธรรมนูญ ม. ๔๕ กำหนดให้ สส.ญี่ปุ่นอยู่ในตำแหน่งได้ ๔ ปี แต่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีโคอิซุมิ ชิงยุบสภา ล่วงหน้าเสีย ๙ เดือน โดยประเมินว่า ฝ่ายรัฐบาลกำลังเป็นต่อ เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น และอัตราการว่างงาน ลดลง (Global Competitiveness Report 2003-2004 จัดญี่ปุ่นลำดับ ๑๑ ในปีนี้ จากลำดับ ๑๖ ในปีก่อน / ไทยลำดับ ๓๒ ในปีนี้)

ในวันนี้ ขอให้เรามาตรวจดูว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ที่ญี่ปุ่น จะมีข้อคิดอะไรให้ไทยบ้าง โดยลองตั้งประเด็นเป็นโจทย์ เพียงข้อเดียวกว้างๆ จากปัญหาสังคมไทย ซึ่งจะเรียกว่า เป็นการ "ถามแบบไทยๆ" ก็ใช้ได้

คำถาม: นักการเมืองญี่ปุ่น มุ่งจะแก้ความยากจน หรือปัญหาสังคมภายใน เช่นไรบ้าง?

เมื่อตรวจดูเรื่องความยากจนในญี่ปุ่น เราได้พบว่า หลังสงครามโลก ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ในการทำให้ความแตกต่างทางเศรษฐกิจของคนในชาติ ลดน้อยลง จนแทบไม่เหลืออีกต่อไปแล้ว เพราะ ๘๐% ของประชากร ๑๒๖ ล้านคนในญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในตัวเมือง มีเพียง ๒๐% ที่อาศัยในชนบท (นี่คือตัวเลข ๑๙๙๙ แม้จะเก่าไปหน่อย แต่ก็หลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจเอเซีย จึงสะท้อนสภาพปัจจุบัน ได้พอควร) ญี่ปุ่นมีระบบสวัสดิการค่อนข้างดี ทั้งคนจนในตัวเมืองและชนบท ที่รายได้และสินทรัพย์ ไม่เพียงพอกับมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นต่ำ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐ

แม้ตัวเลขปี ๑๙๙๙ ระบุว่า มีประชาชนเพียง ๑% ที่ยื่นขอเงินอุดหนุนเช่นว่านี้ แต่กระนั้น ตัวเลขนี้ก็อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้มาก เพราะเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่แตกตัวในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ก่อให้เกิดคนว่างงาน ไปเป็นผู้ไร้ที่อยู่และจรจัด (Homeless) จำนวนมาก กล่าวคือ ตัวเลขปี ๑๙๙๙ ชี้จำนวนรวม ๑๖,๐๐๐ คน ใน ๑๔ เมืองใหญ่ในญี่ปุ่น (๘,๖๖๐ คนในโอซากา ๔,๓๐๐ คนในโตเกียว ๗๕๘ คนในนาโกยา ฯลฯ)

กลับสู่เรื่องการเลือกตั้ง ในญี่ปุ่น การเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่าง ๒ พรรคใหญ่ มากยิ่งขึ้น (ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งแนวทางรัฐบาลผสม)

- "LDP" (Liberal Democratic Party) ซึ่งมีฐานเสียงในชนบท คือ ในหมู่ผู้มีการศึกษาต่ำ
- "DPJ" (Democratic Party of Japan) ซึ่งมีฐานเสียงในตัวเมือง คือ ในหมู่ผู้มีการศึกษาสูง

ในปีนี้ พรรคการเมืองได้จัดพิมพ์นโยบาย ออกมาเป็นคำมั่นสัญญา ที่เรียกว่า Manifesto (เลียนแบบอังกฤษ) ว่าถ้าได้รับเลือกตั้ง ก็จะบริหารรัฐบาล ตามแนวนโยบายเช่นนั้น เป็นการเปลี่ยนจากการเน้นตัวบุคคล มาสู่การต่อสู้ทางนโยบาย ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในญี่ปุ่น

การดู Manifesto ของ ๒ พรรคใหญ่ จึงทำให้เรา ตอบได้ว่า: "นักการเมืองญี่ปุ่น มุ่งจะแก้ความยากจน หรือปัญหาสังคมภายใน เช่นไรบ้าง?"

Manifesto ของฝ่ายรัฐบาล LDP
- การเมือง: ตกลงแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค LDP ให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูใบไม้ร่วง ๒๐๐๔ โดยวิธีอภิปรายสาธารณะ
- การเมือง: แก้รัฐธรรมนูญ ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเต็มรูป ภายใน ๒๐๐๕ เพราะขณะนี้ มีคนญี่ปุ่นจำนวนมาก กลัวการถูกโจมตี จากเกาหลีเหนือ

- เศรษฐกิจ: เพิ่ม GDP เป็น ๒% ภายใน ๒๐๐๖
- เศรษฐกิจ: แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ๒ แห่ง คือ วิสาหกิจทางหลวงภายใน ๒๐๐๕ และองค์การไปรษณีย์ภายใน ๒๐๐๗ เพราะมีปัญหาการบริหาร
- เศรษฐกิจ: เพิ่มการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเป็น ๒ เท่า ภายใน ๕ ปี ในฐานะเป็นมาตรการหนึ่ง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ของญี่ปุ่น

- สังคม: แก้ระบบเงินบำนาญ ภายใน ๒๐๐๔ เพื่อแก้ปัญหาเงินไม่พอ เพราะคนชรา เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในญี่ปุ่น
- สังคม: ใช้ทั้งวิธี "กดดันและเจรจา" เพื่อแก้ปัญหาเกาหลีเหนือลักพาตัว คนญี่ปุ่น เพราะเป็นประเด็นสังคม ที่คนญี่ปุ่นรู้สึกร่วมกันอย่างรุนแรง
- สังคม: ลดจำนวนคนเข้าเมืองผิดกฎหมายลงครึ่งหนึ่งภายใน ๕ ปี เพราะขณะนี้ มีคนญี่ปุ่นจำนวนมาก ที่เชื่อว่า อาชญากรรมเป็นการทำโดยคนต่างชาติ

Manifesto ของฝ่ายค้าน DPJ
- การเมือง: จัดให้มีการเปิดเผยเต็มรูป ของเงินบริจาคแก่พรรคการเมือง จากบริษัทเอกชน และองค์กรต่างๆ เพื่อความโปร่งใสทางการเมือง
- การเมือง: ยกเลิกเงินช่วยเหลือที่มีเงื่อนไข แก่รัฐบาลท้องถิ่น ภายใน ๔ ปี และส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีเสรีในตัวเอง
- การเมือง: ลดจำนวน สส. และค่าใช้จ่ายในเรื่องเงินเดือนข้าราชการ อย่างน้อย ๑๐% ภายใน ๔ ปี และส่งเสริมบทบาทสังคมของ NGOs

- เศรษฐกิจ: แปรรูปวิสาหกิจทางหลวงภายใน ๓ ปี เพื่อแก้ปัญหาการบริการ และยกเลิกค่าทางด่วนทั้งหมดนอกเมืองหลัก เพื่อแบ่งเบาปัญหาการเงินของทุกคน

- สังคม: นำภาษีผู้บริโภค (เทียบได้กับ VAT ในเมืองไทย) มาใช้จ่ายเงินบำนาญ
- การศึกษา: ลดขนาดชั้นเรียน ให้เหลือนักเรียน ๓๐ คน เพื่อผลการสอน

จาก Manifesto ของทั้งสองฝ่าย เราจะเห็นว่า ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นมองความยากจนต่างกับเรา คือ ไม่มองแง่ความแตกต่างแห่งสถานะทางเศรษฐกิจของคน แต่มองภาพรวมในแง่ GDP และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า หรือกล่าวโดยรูปธรรมก็คือ ปัญหาเรื่องคน Homeless จำนวนเพียง ๑๖,๐๐๐ คน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขนาดจะต้องมากำหนดเป็นนโยบายการหาเสียงแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ปัญหาสังคม ๓ ข้อ ที่คนญี่ปุ่นเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ได้แก่ ปัญหาคนชรา อาชญากรรม และเกาหลีเหนือลักพาตัวคนญี่ปุ่น ดังที่ผมเขียนไว้ข้างต้นแล้วว่า ปัญหาสังคมในไทยและในญี่ปุ่น ใช่จะเหมือนกันเสมอไป แม้เรื่องเลือกตั้งจะไม่ให้ข้อคิดอะไรแก่ไทยนัก แต่ถ้าเราเปลี่ยนคำถามเรื่องญี่ปุ่นเสียใหม่ อาจได้ข้อคิดให้ไทย ได้ดีขึ้น:

คำถาม: ญี่ปุ่นเขาทำอย่างไร จึงแก้ปัญหาความยากจนได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆที่มีความยากจนอย่างล้นเหลือ หลังจากที่พ่ายแพ้สงคราม อย่างย่อยยับ?

 

บทความเรื่องที่สอง
ผู้พิพากษาญี่ปุ่นวันนี้ ยังคำนึงถึง"ความรู้สึก"รัฐบาลหรือไม่ ใน"คดีที่มีผลกระเทือนทางการเมือง"

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ชัดเจนว่าตนถือศาสนาใด ในลักษณะ "อธิษฐานตามชินโต แต่งงานตามคริสต์ แต่สวดศพตามพุทธ" วุ่นวายไปหมดจากสายตาไทย แต่กระนั้น... เราก็ควรเข้าใจไว้ว่า คนญี่ปุ่นนั้น คุ้นกับ "ศาสนาผสม" เช่นนี้ยิ่งนัก

ชีวิตนี้มันช่าง "อนิจจัง" เสียนี่กระไร ... สิ่งดีๆในกี่ศาสนา จึงต้องคว้ามาพึ่งพาให้หมด ว่างั้นเถอะ และแล้ว - - คนญี่ปุ่นจึงชื่นชอบกับการอธิษฐานที่ศาลเจ้า (Shrine) แต่งงานที่โบสถ์ (Church) และสวดศพที่วัด (Temple)

ในวันนี้ เราจะเจาะคดีใหม่ในเดือนกุมภาฯ ๐๔ เรื่อง "ศาลเจ้าแห่งนักรบ" ที่ชื่อว่า "ศาลเจ้ายาซูคูนิ" (Yasukuni Shrine)

คดีศาลเจ้า "ยาซูคูนิ"
ข้อเท็จจริงย่อๆมีอยู่ว่า เมื่อเดือน สค. ๒๐๐๑ นายโคอิซุมิ ได้ไปคารวะศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" จึงมีคนกว่า ๖๐๐ คน นำเรื่องนี้ไปฟ้องเป็น ๗ คดีสู่ศาลจังหวัด ๖ แห่งทั่วญี่ปุ่น โดยมีจำเลยร่วม ๓ ราย คือ: (๑) นายโคอิซุมิ (๒) รัฐบาลญี่ปุ่น (๓) ศาลเจ้า "ยาซูคูนิ"

โจทก์ระบุว่า
(๑) การกระทำของจำเลยทั้งสาม ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะละเมิดหลัก "แยกรัฐจากศาสนา" (The Principle of Separation of State and Religion) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๐

(๒) ขอให้ศาลสั่งห้าม ไม่ให้นายโคอิซุมิไปคารวะศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" อีกต่อไป
(๓) ขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายค่าเสียหาย ที่ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ทุกคน

บทความนี้จะพิจารณาว่า ในวันที่ ๒๗ กพ. ๒๐๐๔ ที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้ ศาลจังหวัดโอซากาได้ตัดสินคดีนี้ออกมาเช่นไร เพื่อจะใช้พิจารณาว่า: ผู้พิพากษาญี่ปุ่นวันนี้ ยังคำนึงถึง "ความรู้สึก" รัฐบาลหรือไม่ - - ใน "คดีที่มีผลกระเทือนทางการเมือง"

ทั้งนี้ เพื่อทดสอบคำอธิบายของ J. Mark Ramseyer (สอนนิติศาสตร์ฮาร์วาร์ด) กับ Eric B. Rasmusen (สอนเศรษฐศาสตร์อินเดียนา) ผู้เขียนหนังสือ Measuring Judicial Independence: The Political Economy of Judging in Japan, The University of Chicago Press, 2003 ที่วิจัยในเรื่อง "อิสระของอำนาจตุลาการ" ในญี่ปุ่น ตามหลักวิชา "ตุลาการศาสตร์" (Judicial Science)

อ่านคดีเรื่องนี้แล้ว คนไทยอาจหงุดหงิดคิดสงสัยว่า เหตุไฉนญี่ปุ่นจึงต้องฟ้องคดีหยุมหยิม-เล่นแง่-ไร้สาระกันเสียจริง ผู้เขียนจึงใคร่ขอให้ท่านข่มใจใช้ขันติธรรม คือทำใจให้ "อิน" ไปกับจิตใจในแบบญี่ปุ่นว่า ... นี่คือ "ปัญหาค้างคาใจ" ใหญ่จริงๆในประวัติศาสตร์ของชาติเขา

เราจะยืนอยู่บนฐานสังคมไทย ไปตัดสินวิพากษ์วิจารณ์สังคมในฐานอื่น จึงไม่ถูกต้อง

เวลาที่ญี่ปุ่น หรือฝรั่งมังค่า มาวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมไทย โดยตัดสินจากฐานวัฒนธรรมของเขา เราไม่ชอบใจฉันใด ไทยเองก็ไม่ควรสถาปนาว่าเราเป็นวัฒนธรรม "มาตรฐาน" ไปวิจารณ์ชาติอื่นเช่นกัน ใช่ไหมครับ

โลกมันจะ Globalized ไปอย่างไร วัฒนธรรมมันก็ต่างกันอยู่ดี แนวคิดที่ว่า "ไม่มีวัฒนธรรมมาตรฐาน" จึงควรเป็นหลักการระหว่างประเทศ ในการให้เคารพความแตกต่าง และสร้างแนวปฏิบัติตามหลัก "Harmony in Diversity" (ปรองดองท่ามกลางความแตกต่าง)

ถ้าท่านติดตามไปเรื่อยๆ ท่านจะค่อยๆรู้สึกได้เองว่า คดีนี้ คือปัญหาที่ "ซีเรียส" จริงๆในสังคมญี่ปุ่น ... เรียกว่าเป็น "คดีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ก็คงได้ บทความนี้ จำต้องยาวกว่าปกติ และขอนำท่านเข้าเรื่อง โดยทำความเข้าใจในศาสนา "ชินโต" เสียก่อน

แต่ไม่ว่า เราจะพูดอะไรไปกว้างไกล ในเรื่องศาสนา-ศาลเจ้าอย่างไรก็แล้วแต่ ขอความกรุณาเข้าใจว่า จุดเน้นของผู้เขียนยังคงอยู่ที่บทบาทของ "ตุลาการญี่ปุ่นกับสังคม" (Judiciary & Society in Japan) อยู่ดี ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนมีเป้าหมายหลัก ที่ต้องการแนะนำวิชา "ตุลาการศาสตร์" (Judicial Science) มาสู่สังคมไทย

ศาสนาชินโตในสังคมญี่ปุ่น
"ชินโต" นับเป็นศาสนาสถานะแปลก ในด้านหนึ่งก็ถือว่า เป็นเพียงเป็นจารีตฯบูชาบรรพบุรุษและถือผี (Ancestor Worship and Animism) ยิ่งกว่าพิธีกรรมทางศาสนา (Religious Rites) ส่วนอีกด้านก็เกี่ยวพันใกล้ชิดบัลลังก์จักรพรรดิและลัทธิทหารในญี่ปุ่น

เห็นชัดว่า จักรพรรดิเมยิ ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็น "รัฐชินโต" (State Shinto) เพื่อปลูกฝัง (หรือ "มอมเมา" ในอีกทัศนะ) ให้คนญี่ปุ่นฝังหัวในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และมีความภักดีในจักรพรรดิ จักรพรรดิทรงสืบเชื้อสายมาจากมารดาองค์แรกของต้นตระกูล คือเทพีแห่งพระอาทิตย์ ชื่อ "อะมาเทะระสุ" (Sun Goddess Amaterasu) และการพลีชีพเพื่อจักรพรรดิ ถือเป็นเกียรติอันรุ่งโรจน์ ในชีวิตคนญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า การรุกรานฆ่าฟันชนชาติเพื่อนบ้าน คือการขยายพระราชอาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิ ... จึงเป็นเกียรติอันรุ่งโรจน์ ในชีวิตทหารญี่ปุ่นเช่นกัน

"ชินโต" จึงเป็น "ศาสนาแห่งรัฐ" ในญี่ปุ่น ("State Religion") ตั้งแต่สมัยเมยิในปี ๑๘๖๙ เรื่อยมา ภายใต้การดูแลของกระทรวงสงคราม (War Ministry) จนญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในปี ๑๙๔๕ (รวม ๗๗ ปี)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเขียนใหม่ว่า "จักรพรรดิทรงเป็น (เพียง) สัญลักษณ์ของชาติ" (มาตรา ๑) นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเขียนไว้ให้ใช้ "หลักแยกรัฐจากศาสนา" (The Principle of Separation of State and Religion) และชินโตได้ถูกลดฐานะลง ให้เป็นเพียงศาสนาหนึ่งเท่านั้น (มาตรา ๒๐)

ที่มาของศาสนาชินโต
ก่อนจะรับพุทธผ่านจีน และคริสต์ผ่านมิชชันนารีฝรั่ง ญี่ปุ่นได้มี "ชินโต" เป็นศาสนาดั้งเดิมมาแต่โบราณกาล แต่กระนั้น "ชินโต" ก็ยังยอดฮิตในชีวิตประจำวันทั่วไป แม้ในบัดนี้ ไม่มีเลือนลาง ไปตามกาลเวลา

"ชินโต" (Shinto) แปลตามอักษรว่า "The Way of Gods" ซึ่งขอให้สังเกตว่า ภาษาอังกฤษเขียน "Gods" โดยมีตัว "s" - - จึงขอแปลเป็นไทยว่า "วิถีแห่ง เหล่า พระเจ้า"

"ชินโต" สอนว่า สรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต ต่างสิงสถิตอยู่ด้วยวิญญาณหรือ "เจ้า" (Spirits, Gods, Deities) เหตุนี้ "ชินโต" จึงเป็น "Animism" ตามแบบฉบับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งคำนี้ มีดิกชันนารีแปลความไว้ว่า: (แอน-อิมิส"ม) ลัทธิที่ถือว่าชีวิตเกิดขึ้นเพราะวิญญาณ, ความเชื่อถือว่าสรรพวัตถุทั้งหลายมีวิญญาณ, การถือผี (สอ เสถบุตร, 2542: 53)

แต่ชินโตต่างจากคริสต์, อิสลาม, ยิว ฯลฯ เพราะยึดความเชื่อตามแบบจีนว่า พระเจ้า หรือ "เจ้า" (เรียกว่า Kami / คะมิ) มิได้มีองค์เดียว แต่มีได้หลายองค์ และแต่ละองค์จะ "Specialize" ไปในเรื่องต่างๆกัน

เหตุนี้ คนญี่ปุ่นจึงมุ่งไปคารวะศาลเจ้า ณ ที่ต่างๆ (Jinja อ่านว่า "จินจ้า" ในภาษาญี่ปุ่น) ตามแต่ว่า "เจ้า" ที่ไหนจะเฮี้ยนทางใด เช่น ผู้อยากได้ความรักก็มักไปอธิษฐาน "เจ้าแห่งความรัก" ที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ผู้ที่อยากสอบได้ก็ไปอธิษฐาน "เจ้าแห่งการเรียน" ที่ศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่ง หรือผู้อยากรำลึกถึงการรบก็ไปอธิษฐาน "เจ้าแห่งนักรบ" ที่ศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่ง เป็นต้น

ศาลเจ้า "ยาซูคูนิ"
ศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของรัฐบาลทหารญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเป็นศาลเจ้าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

"ยาซูคูนิ" (แปลตามตัวว่า "ชาติสงบสันติ") เป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโต สร้างเมื่อ ๑๘๖๙ ในสมัยเมยิ เพื่ออุทิศให้วีรบุรุษแห่งชนชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะทหารญี่ปุ่นที่ "พลีชีพเพื่อชาติ" ในสงครามต่างๆ เช่น:

- เพื่อการปฏิรูปเมยิ ๑๘๖๘
- เพื่อเหตุการณ์กบฏและความไม่สงบภายใน ๑๘๗๖-๗๗
- เพื่อสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่หนึ่ง ๑๘๙๔-๙๕
- เพื่อสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ๑๙๐๔-๐๕
-
เพื่อสงครามแมนจูเรีย ๑๙๓๑
- เพื่อสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่สอง ๑๙๓๗-๔๕
- เพื่อสงครามแปซิฟิค (สงครามโลกครั้งที่สอง) ๑๙๔๑-๔๕
- (และต่อไป คงเพื่อทหารญี่ปุ่น ที่อาจเสียชีวิตที่อิรัคด้วย)

ศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" แห่งนี้ คือที่สิงสถิตแห่งวิญญาณทหารหาญ ๒.๕ ล้านนาย ในรูปของป้ายวิญญาณ ๒.๕ ล้านแผ่น ซึ่งเคารพกันว่าได้กลายเป็นพระเจ้า หรือ "เจ้า" (Spirits, Gods / Deities) ๒.๕ ล้านองค์ ตามความเชื่อในศาสนาชินโต

ข้อสังเกตส่งท้าย
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองกำลังอเมริกันสั่งห้ามชินโตไม่ให้เป็น "ศาสนาแห่งรัฐ" ในญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่กระนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การไปคำนับศาลเจ้าแห่งนี้ได้กลายเป็นปัญหาการเมืองเพราะ "ยาซูคูนิ" ได้ปักป้ายวิญญาณ ๑๔ แผ่นของอาชญากรสงคราม ๑๔ คน ขึ้นเป็นพระเจ้า หรือ "เจ้า" ด้วย

"อาชญากรสงคราม" ๑๔ คนเหล่านี้ ถ้าว่ากันตามความคิดคนไทย คงใกล้กับ "ทรราช" ที่พวกเราพูดกันชินปาก แต่ไม่เคยทำอะไรได้จริงจัง (คงเป็นเพราะ ไม่มีใครฟ้องเป็นคดีตามกระบวนการตุลาการ หรืออย่างไร?)

ญี่ปุ่นนั้นต่างไปจากไทยมาก เพราะศาลอาชญากรสงคราม (Tokyo War Criminal Tribunal) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ตัดสินประหารชีวิตโดยถือเป็น "Class-A War Criminals" คือ อาชญากรชั้นแนวหน้า หรือชั้นหัวโจก เช่น นายพลโตโจ ฮิเดะคิ (Tojo Hideki) เป็นต้น

เหตุนี้ ศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งลัทธิทหาร และฝ่ายชาตินิยมขวาจัดของญี่ปุ่น และผู้ไปคำนับศาลเจ้าแห่งนี้ คือผู้ไปคารวะบูชาอาชญากรสงครามเหล่านั้นด้วย

แม้ปฏิกิริยาจากทั้งภายในและภายนอกญี่ปุ่น จะเรียกร้องให้ถอดถอนป้ายวิญญาณ ๑๔ แผ่นนี้ออกไป แต่ได้ถูกปฏิเสธจากศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" โฮมเพจของศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" แย้งว่า ญี่ปุ่นตกเป็นชาติแพ้สงคราม จึงถูกบังคับให้เรียกวีรบุรุษ ๑๔ ท่านนั้นว่า "อาชญากรสงคราม" ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ๑๔ ท่านนั้นคือ "ผู้สละชีพเพื่อชาติ" (Martyrs) แห่งยุคสงครามโลกครั้งที่สองต่างหาก

ชาติเพื่อนบ้านที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง (โดยเฉพาะจีน เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้) ต่างแสดงปฏิกิริยาคัดค้านผู้ไปคำนับศาลเจ้าแห่งนี้เสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปคารวะบูชาอาชญากรสงครามเสียเอง

คราวหน้า เราจะเจาะลึกลงไปในคดีที่คนกว่า ๖๐๐ คน นำเรื่องนี้ไปฟ้องคดีต่อศาล เรื่องนายกรัฐมนตรีโคอิซุมิไปคำนับศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" เพื่อจะใช้พิจารณาว่า: ผู้พิพากษาญี่ปุ่นวันนี้ ยังคำนึงถึง "ความรู้สึก" รัฐบาลหรือไม่ - - ใน "คดีที่มีผลกระเทือนทางการเมือง"

 

บทความเรื่องที่สาม
"อิริไอ" : กฎหมายจารีตประเพณี "ทรัพย์สินชุมชน" ในญี่ปุ่น


คนไทยหลายท่านคงทราบว่า แต่ดั้งเดิมในต่างจังหวัดจนบัดนี้ เรามีวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย ที่ให้ชุมชนทั้งหมู่บ้านมีสิทธิ เป็นเจ้าของร่วมกัน และ ใช้สอยร่วมกัน ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ถือว่าเอกชนผู้ใดเป็นเจ้าของ แต่เพียงผู้เดียว

คนภาคเหนือจะเรียกวัฒนธรรมเช่นนี้ว่า "หน้าหมู่" ส่วนคนในภาคอื่น ก็ดูจะมีชื่อเรียก ต่างๆกันไป

ญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับ "หน้าหมู่" ของไทย แต่ใช้ชื่อเดียว เรียกกันทั่วประเทศ ไม่แยกชื่อเรียกตามภาค ดังเช่นไทย วัฒนธรรมเช่นนี้ ญี่ปุ่นเรียกว่า "อิริไอ" ซึ่งแปลตามตัวว่า "เข้าได้ด้วยกัน" ("To enter collectively") คือ เข้าไป เป็นเจ้าของร่วมกัน และ ใช้สอยร่วมกัน ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ถือว่าเอกชนผู้ใด เป็นเจ้าของ แต่เพียงผู้เดียว

วัฒนธรรมดังนี้ มีอยู่ทั่วไปในโลก ไม่ใช่ในไทยและในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มีรายละเอียด เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ในบางประการ เช่น: "หน้าหมู่" ของไทยดูจะเน้นคำพูดอยู่ที่เรื่อง การจัดการร่วมกัน ยิ่งกว่าเรื่อง เป็นเจ้าของร่วมกัน

- แต่ "อิริไอ" ของญี่ปุ่นดูจะเน้นคำพูดอยู่ที่เรื่อง เป็นเจ้าของร่วมกัน (Collective Ownership) กับ ใช้สอยร่วมกัน (Collective Utilization) โดยไม่เน้นเรื่อง การจัดการร่วมกัน เหมือนไทย

ในภาษาอังกฤษ นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา จะเรียกจารีตประเพณีเช่นนี้โดยรวมๆว่า "Commons" (เขียนด้วยคำว่า Common แต่มีตัว "s" ต่อท้ายเสมอ)

วัฒนธรรมเช่นนี้ ต่างก็เป็น กฎหมายจารีตประเพณี (Customary Law) ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น:
- "หน้าหมู่" ของไทย
- "อิริไอ" ของญี่ปุ่น
- "Commons" ของฝรั่ง

ในภาษาอังกฤษ นักกฎหมายจึงเรียกกฎหมายจารีตประเพณีเช่นนี้ว่า "Common Property" หรือ "Communitarian Property" ซึ่งขอแปลเป็นไทยในชื่อว่า "ทรัพย์สินชุมชน"

บทความในวันนี้ จะเสนอข้อมูลเบื้องต้นให้คนไทย ในเรื่อง "อิริไอ" ของญี่ปุ่น ข้อมูลส่วนใหญ่เรื่อง "อิริไอ" ได้มาจากสารานุกรมชื่อ Japan: An Illustrated Encyclopedia, Kodansha, 1993: 623 ส่วนข้อมูลเรื่อง "ทรัพย์สินชุมชน" ได้มาจาก J. W. Harris, Property and Justice, Oxford University Press, 2001: 102~3

วัฒนธรรม "อิริไอ" ใน ๓ พื้นที่

1. พื้นที่ดินเพาะปลูกได้ (Arable Lands): ได้แก่ นาข้าว และไร่พืช-ผัก-ผลไม้

2. พื้นที่ดินเพาะปลูกไม่ได้ (Non-arable Lands หรือ "Yama"): ได้แก่ป่า เขา หนอง บึง พื้นน้ำตื้นเขิน และกอไผ่ เพื่อเข้าไปตัดใบไม้-ใบหญ้า ใช้เป็นฟางเลี้ยงสัตว์ ใช้เป็นปุ๋ย ใช้มุงหลังคา และเก็บผัก รากไม้ หน่อไม้ เพื่อบริโภค หรือเก็บฟืน เพื่อหุงต้มอาหาร ฯลฯ

3. พื้นที่น้ำ: ได้แก่ประมงน้ำจืดในแม่น้ำ และประมงน้ำเค็มในทะเล

พื้นที่ "อิริไอ" ที่จะเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นเรียกว่า "Iriai-chi" (ออกเสียงว่า "อิริไอ-จิ") เพราะ "chi" แปลว่า "พื้นที่". สิทธิที่จะเข้าไปเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์เรียกว่า "Iriai-ken" (ออกเสียงว่า "อิริไอ-เค็น") เพราะ "ken" แปลว่า "สิทธิ"

ชุมชนแต่ละท้องถิ่นจะมี "อิริไอ" ของตนเอง เฉพาะสมาชิกภายในชุมชนจึงจะมีสิทธิ "อิริไอ-เค็น" ภายใต้กฎเกณฑ์เข้มงวด และผู้เข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ อย่างเคร่งครัดเสมอ

จากการศึกษาเปรียบเทียบเบื้องต้น ผู้เขียนรู้สึกว่ากฎเกณฑ์ภายใน "อิริไอ" ของญี่ปุ่น ดูจะเข้มงวดกว่ากฎเกณฑ์ภายใน "หน้าหมู่" ของไทยมาก หรือทว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของ "อิริไอ" ในญี่ปุ่นก็คือ การจัดการร่วมกัน ในความหมายของไทยนั่นเอง เพียงแต่เขาไม่เน้นคำพูดอย่างเรา เท่านั้นเอง ประเด็นนี้ ควรมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป

วัฒนธรรม "อิริไอ" ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
"อิริไอ" มีวิวัฒนาการมา ๕ ยุค ดังต่อไปนี้:

1. ก่อนยุคปฏิรูปไทขะ: นับแต่ยุคหิน 300, 000 ปีก่อน คศ. เรื่อยมาจนถึง คศ. 300 นั้น "อิริไอ" จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบชัด แต่มีหลักฐานว่า "อิริไอ" มีอยู่ชนิดเดียวทั่วญี่ปุ่น (ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นา พื้นที่ป่า หรือพื้นน้ำ) คือ ทุกคนในหมู่บ้านเดียวกัน ครอบครองใช้สอยร่วมกัน และจัดการร่วมกัน โดยไม่มีผู้ใดคิดว่า ใครเป็นเจ้าของผู้เดียว แต่ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิจัดการ เพราะชุมชนท้องถิ่นในญี่ปุ่น จะแบ่งคนเป็นชนชั้นเสมอ (ชนชั้นวางแผน-ชนชั้นแรงงาน)

2. หลังยุคปฏิรูปไทขะ: ในปี ๖๔๕ ญี่ปุ่นได้ปฏิรูปการปกครองโดยรับอิทธิพลจากจีน เรียกว่า "Taika Reform" (แปลว่า "เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่") และตั้ง Nara ขึ้นเป็นเมืองหลวงถาวรแห่งแรกในปี ๗๑๐ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐรวมศูนย์ เลียนแบบจีน รัฐได้ประกาศรวบพื้นที่นาทั้งหมดมาเป็นของตน แต่กระจายให้ชาวนาทำกิน โดยต้องจ่ายภาษี กระนั้นก็ดี ที่ดินตามป่า-เขา ก็ยังไม่ตกเป็นของรัฐ และชุมชนท้องถิ่นก็ยังคงครอบครองทำประโยชน์ต่อไปในลักษณะ "อิริไอ" พื้นที่ดินสมัยนี้ จึงแยกเป็น ๒ ชนิด คือ (๑) พื้นที่นาเป็นของรัฐ กับ (๒) พื้นที่ป่าเป็น "อิริไอ" ในหมู่ชาวบ้าน

3. ยุคเกียวโต: ตั้งแต่ คศ. 794 - 1185 รัฐศูนย์กลางอ่อนแอลงในสมัยนี้ ตระกูลขุนนางและองค์การศาสนาที่เข้มแข็ง (ทั้งพุทธและชินโต) ต่างลักลอบถือครองที่ดินของรัฐ และเก็บภาษีข้าวจากชาวนา แต่ของป่าบนเขา-บนดอย ยังคงปล่อยคนท้องถิ่น ให้เก็บกินต่อไป

4. ยุคเอโดะ: มาถึงสมัยเอโดะ (คศ. 1603 - 1867) คนญี่ปุ่นต้องแย่งกันมากขึ้น ในการเพาะปลูกในไร่-นา และเก็บของในป่า ข้อพิพาทแย่งชิงการครอบครองใช้ประโยชน์ จึงเพิ่มขึ้น รัฐบาลสบโอกาส จึงเข้าสวมบทบาทเป็นคนกลางตัดสินว่า ที่ดินควรตกเป็นของเอกชน หรือของ "อิริไอ" ให้ชาวบ้านใช้สอยร่วมกัน

5. ยุคเมยิ (1868-1912): ต่อมาในปี ๑๘๖๘ ได้เกิดการปฏิรูปเมยิ (Meiji Restoration) เพื่อปรับปรุงญี่ปุ่นให้ "ทันสมัย" ไล่ตามตะวันตก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านลบครั้งใหญ่ ต่อ "อิริไอ" ในหลายด้าน

ข้อสังเกตส่งท้าย เรื่องผลกระทบต่อ "อิริไอ" ในสมัยเมยิ
จักรพรรดิเมยิ คือผู้ที่ทรงนำเอาระบบกรรมสิทธิ์เอกชน (Private Ownership in Lands) ของฝรั่งมาใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ ๑๘๗๐ ทำให้เกิดการถือครองที่ดินในรูปแบบใหม่ ที่ใช้วิธีออก "โฉนด" ให้เอกชนแต่เฉพาะผู้ที่ได้การถือครองมาตาม "ขั้นตอนกฎหมาย" เท่านั้น ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนแบบฝรั่ง จึงเริ่มเข้ามาข่มทับวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบ "อิริไอ" ในญี่ปุ่นเอง

นอกจากนี้ จักรพรรดิเมยิยังทรงใช้นโยบาย "เอกสารสิทธิ์เป็นใหญ่" คือ เมื่อเกิดข้อพิพาทใดๆในเรื่องที่ดิน รัฐก็จะดูเอกสารสิทธิ์เพียงอย่างเดียว โดยไม่นำพาว่าคู่พิพาทจะยากจนหรือร่ำรวย ชาวนายากจนจึงแพ้คดีเจ้าที่ดินผู้มีอำนาจเสมอ

นโยบายเช่นนี้จึง เป็นการส่งเสริมการรวบที่ดิน เพราะมีผลให้คนรวย รวบที่ดินได้ง่ายขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมในญี่ปุ่น อย่างรุนแรงยาวนาน คือ ตั้งแต่ปลายศตวรรษ ๑๙ เรื่อยมาจนถึงครึ่งแรกของศตวรรษ ๒๐

ยิ่งกว่านั้น จักรพรรดิเมยิยังทรงพยายามรวบ "Iriai-chi" (พื้นที่ "อิริไอ") เข้ามาไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (Public Domain) เพื่อเพิ่มพูนพระคลังสมบัติของรัฐอีกด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต่อ "อิริไอ" ในด้านลบ ที่จักรพรรดิเมยิทรงก่อให้เกิดขึ้นต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่กระนั้นก็ดี พระองค์ก็ได้ทรงคิดวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งพอจัดได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านบวกไว้ด้วย กล่าวคือ เมื่อพระองค์ทรงเริ่มให้ทำประมวลกฎหมายแพ่ง ๑๘๙๘ เป็นกฎหมายญี่ปุ่นเล่มแรกที่เลียนแบบฝรั่ง กฎหมายแพ่งเล่มนี้ก็ได้ให้การรับรอง-คุ้มครอง "อิริไอ" ให้คงอยู่ต่อไปอย่างเป็นทางการ (ในมาตรา ๒๖๓ และ ๒๙๔) เคียงคู่กับระบบกรรมสิทธิ์เอกชน จากตะวันตก

และศาลญี่ปุ่น ก็ได้ร่วมใช้บังคับกฎหมาย ๒ มาตรานี้ อย่างแข็งขันเสมอมา ทำให้วัฒนธรรม "อิริไอ" ยังคงอยู่ต่อมา ด้วยผลงานของศาลญี่ปุ่นโดยแท้

ซึ่งจะนำมาเล่าให้คนไทย ได้รับฟังต่อไป

หมายเหตุ:
- ผู้เขียนและทีมวิจัย เสนอบทความนี้ ในฐานะคณะทำงานโครงการก่อตั้ง "สปรย." (สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม & ความเป็นธรรมทางสังคม) ภายใต้การนำของ นพ. ประเวศ วะสี ซึ่งจัดประชุม "เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน" ทุก ๒ เดือน

- ปัจจุบัน "อิริไอ" ได้อ่อนกระแสลงเป็นอันมากในญี่ปุ่น เพราะอิทธิพลของทุนนิยม จนกระทั่งเด็กรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น แทบไม่รู้เรื่องนี้กันนัก ถ้าผู้อ่านต้องการสอบถามคนญี่ปุ่นในเรื่อง "อิริไอ" จึงใคร่แนะนำให้ถามกับคนญี่ปุ่นที่ค่อนไปในวัยกลางคนสักหน่อย เขาจึงจะรู้เรื่อง

 

บ้านเรา-บ้านเขา
โดย: พิเชษฐ เมาลานนท์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ประเทศญี่ปุ่น
ทีมวิจัย: นิลุบล ชัยอิทธิทธิพรวงศ์ & พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา แห่ง "TLD-RI" สำนักวิจัยกฎหมายไทยกับการพัฒนา (ไทย)

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนมีนาคม พศ.๒๕๔๗
รวมบทความวิชาการ เกี่ยวกับความรู้เรื่อง"การเมืองและตุลาการศาสตร์" ๓ เรื่อง : เขียนโดย พิเชษฐ เมาลานนท์

คดีศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" ข้อเท็จจริงย่อๆมีอยู่ว่า เมื่อเดือน สิงหาคม ๒๐๐๑ นายโคอิซุมิ ได้ไปคารวะศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" จึงมีคนกว่า ๖๐๐ คน นำเรื่องนี้ไปฟ้องเป็น ๗ คดีสู่ศาลจังหวัด ๖ แห่งทั่วญี่ปุ่น โดยมีจำเลยร่วม ๓ ราย คือ: (๑) นายโคอิซุมิ (๒) รัฐบาลญี่ปุ่น (๓) ศาลเจ้า "ยาซูคูนิ"
โจทก์ระบุว่า (๑) การกระทำของจำเลยทั้งสาม ขัดกับรัฐธรรมนูญ
(๒) ขอให้ศาลสั่งห้าม ไม่ให้นายโคอิซุมิไปคารวะศาลเจ้า "ยาซูคูนิ" อีกต่อไป (๓) ขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายค่าเสียหาย ที่ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ทุกคน

 

ญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับ "หน้าหมู่" ของไทย แต่ใช้ชื่อเดียว เรียกกันทั่วประเทศ ไม่แยกชื่อเรียกตามภาค ดังเช่นไทย วัฒนธรรมเช่นนี้ ญี่ปุ่นเรียกว่า"อิริไอ" ซึ่งแปลตามตัวว่า "เข้าได้ด้วยกัน" หรือ
(To enter collectively) คือ เข้าไป เป็นเจ้าของร่วมกัน และ ใช้สอยร่วมกันในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

ภาพประกอบดัดแปลงผลงานวิชาการด้านนิติศาสตร์ เรื่อง"ตุลาการศาสตร์"
ชาติเพื่อนบ้านที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง (โดยเฉพาะจีน เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้) ต่างแสดงปฏิกิริยาคัดค้านผู้ไปคำนับศาลเจ้ายาซูคูนิแห่งนี้เสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายโคอิซุมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปคารวะบูชาอาชญากรสงครามเสียเอง (ตัดมาบางส่วนจากบทความ)