คำโปรยทีทรรศน์ท้องถิ่น
ตอน
"ปฏิรูปที่ดิน : กรวดในรองเท้าของรัฐบาลใหม่"
ตามความเข้าใจที่ว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินของรัฐ และกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้น ความเข้าใจเช่นนี้ เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อคริสตศตวรรษที่ 17 มานี้เอง ก่อนหน้านั้นทั้งหมด ที่ดินเป็นทรัพย์สินของสังคม เป็นของสาธารณะ เป็นของส่วนรวม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่ดินเป็นทุนทางสังคม ในการสร้างผลผลิตให้กับประชากรโดยรวมนั่นเอง
จากความเข้าใจผิดดังกล่าว รัฐและเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงใช้ประโยชน์จากดินไปในรูปต่างๆ ซึ่งคุ้มค่าบ้าง และไม่คุ้มค่าบ้าง บางครั้งก็ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า บางครั้งก็เก็บงำเอาไว้เพื่อหวังผลในการเก็งกำไร
การทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนภาคเกษตรกรรม ประสบกับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ปัญหาก็คือ ถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาความรุนแรงทางสังคมในการเข้าไม่ถึงทรัพยากรจะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ดินกันอย่างจริงจัง ซึ่งต้องเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่บัดนี้
ใครที่เคยคิดว่า เรื่องปฏิรูปที่ดิน เป็นเรื่องประโยชน์เฉพาะของประชากร ในภาคเกษตรกรรม เป็นเรื่องที่ไกลตัว รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นตอนนี้ จะทำให้เรารู้ว่าปัญหาที่ดินก็คือปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงกับเราคนไทยทุกคน
[ทีทรรศน์ท้องถิ่น ตอน "ปฏิรูปที่ดิน กรวดในรองเท้าของรัฐบาลใหม"]่
ดร. ประมวล : กรณีนี้ คุณสมชัย มีประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินเกิดประโยชน์ให้กับสังคม เพราะว่า เท่าที่ผมทราบ คุณสมชัยไม่ได้ต่อสู้เฉยๆ แต่ได้พยายามรณรงค์ทุกประการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองที่ดิน พอจะมีประเด็นเล่าให้เราฟังตรงนี้ได้ไหมครับว่า ได้ทำการต่อสู้ หรือดำเนินการดิ้นรนเพื่อให้ปัญหาที่ดินมันคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร ?
สมชัย : ประเด็นแรกผมกำลังมองว่ารัฐบาลกำลังเอาเกษตรกรเป็นที่แอบอ้างในการพัฒนา อย่างเช่นว่าการสร้างเขื่อน การสร้างระบบชลประทาน ถ้าเราไปดูพื้นที่จริงๆ รัฐบาลได้ทำตามสิ่งที่ตนพูดหรือไม่. ถ้าเราเดินออกนอกจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ แถวอำเภอหางดง เราดูพื้นที่ลุ่มน้ำกรมชลประทานแม่แตง สองข้างทางเป็นป่าไมยราบหมด ถ้าไปทางแม่ริมก็เป็นป่าไมยราบหมด นั่นก็คือ พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มันไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ เพราะไม่ได้เป็นที่ดินของเกษตรกรแล้ว เป็นของกลุ่มทุนที่ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร.
เทปโทรทัศน์นี้
ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2544
ทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
วิทยากรในรายการประกอบด้วย
ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ (คณะสังคมศาสตร์ มช.) / อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล (คณะสังคมศาสตร์
มช.) / สมชัย ศิริชัย (สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ) / ธนา ยะโสภา (เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ)
/ รังสรรค์ ศรีสองแคว (แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ)
รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาด้านเกษตรเพื่อเกษตร เหมือนกับในปี 2533-34 ใช่ไหม รัฐบาลมีนโยบายที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ถามว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์ในคราวนั้นหรือไม่ ? ผมว่าไม่ได้รับเลย. เหมือนกับตอนที่รัฐบาลชวน 1 ปฏิรูปที่ดินออกมา กลายเป็นว่าผู้ที่มีความร่ำรวยมีที่ดินคนละหมื่นๆไร่ อันนี้คือประเด็นหนึ่งนะครับว่ามันเป็นนโยบายที่ผิดพลาด
แล้วรัฐบาลจะพูดมาตลอดว่า การปฏิรูปที่ดิน... คือรัฐบาลเคยปฏิรูปพื้นที่ป่า ปี 2518 เรามีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน, จากปี 2518-32 นี่... เมื่อก่อนปี 2518 เรามีพื้นที่ป่า 130 กว่าล้านไร่ พอมาถึงปี 2532 นี่ เราเหลือพื้นที่ป่า 86 ล้านไร่ นั่นก็หมายความว่า ช่วงปี 18-32 รัฐบาลได้ปฏิรูปที่ดิน โดยการที่กรมป่าไม่ได้แปรพื้นที่ป่าเพื่อการปฏิรูปที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร 40 กว่าล้านไร่ ถ้าเรามองลึกลงไปจริงๆ 40 กว่าล้านไร่ ถึงมือเกษตรกรหรือไม่ ? ผมว่าไม่ถึงเลย ปัจจุบันนี้ เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่องที่ดินอยู่ คำถามของผมก็คือว่า 40 กว่าล้านไร่นั้น รัฐบาลปฏิรูปให้ใคร ?
ดร. ประมวล : เมื่อสักครู่นี้ อ.สมชายได้ตั้งประเด็นว่า การปฏิรูปที่ดินหมายถึงการไปแบ่ง หรือตัดเอาป่ามาแจกประชาชน. ปัจจุบันคุณสมชัยยืนยันว่า ป่าที่รัฐบาลอ้างว่าเอามาแจกประชาชน ก็ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรหรือชาวนา แล้วมันไปอยู่ที่ไหนครับ ?
สมชัย : เอกสารทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นของกรมป่าไม้ก็ดี กรมป่าไม้ก็ยอมรับว่า ตอนนี้ประชากรอยู่ในเขตป่ามากกว่า 10 ล้านคน กินพื้นที่มากกว่า 30 ล้านไร่
ดร. ประมวล : แสดงว่า 40 ล้านไร่ที่บอกว่าหายไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นที่รองรับปัญหาการทำมาหากินของประชาชนที่มีปัญหา...
สมชัย : ปี 2518 รัฐบาลก็บอกว่าคนอยู่ในเขตป่า ประมาณ 7-8 แสนครอบครัว ตอนนี้ก็มีประมาณ 1.5 ล้านครอบครัวที่อยู่ในป่า อันนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ที่ดินก็หายไป
ดร. ประมวล : ผมได้ทราบมาว่า คุณสมชัย ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย จนถึงมีการรวมตัวกันเพื่อร่าง พรบ.ป่าชุมชน กระบวนการที่กำลังทำอยู่นี้คือต้องการอะไร ?
สมชัย : ขบวนการภาคประชาชน เราต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน. เรื่องที่ดิน ถ้าสมมุติชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ ที่ดินซึ่งไม่มีการทำประโยชน์ ผมว่าน่าจะเอามาทำประโยชน์ เหมือนกับการจัดการป่า ตอนนี้รัฐบาลจัดการแต่เพียงผู้เดียว แล้วไปบอกว่าชาวบ้านเป็นผู้ไปบุกรุกทำลายป่า เหมือนกับการจัดการแต่เพียงผู้เดียว ในปัจจุบันรัฐบาลกำลังเอาที่ป่าไปให้เอกชนกิน ปลูกยูคาฯตั้ง 7 แสนไร่ แล้วรัฐบาลก็บอกว่าพื้นที่ป่ามีไม่พอ ถ้าราษฎรอยู่ในป่าต้องอพยพออก แต่รัฐบาลกลับใช้ป่าอย่างเสรี
ตรงนี้ผมคิดว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า. เพราะถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการ ที่ดินก็จะกระจุกตัวอยู่แต่ในมือของคนรวย
ดร. อานันท์ : ตรงนี้ผมคิดว่ามีปัญหาทางกฎหมายอย่างมากเลย เพราะว่าเท่าที่ผ่านมา เรามักจะไปออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกับคนในป่า เพราะเราคิดว่าคนในป่าเป็นคนที่ทำลายทรัพยากร หรือเป็นต้นตอของทั้งหลายแหล่ แต่เราไม่มีการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเลยสำหรับคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งถือครองที่ดินในป่ามหาศาล. พูดง่ายๆก็คือว่า เราเข้มงวดกับคนจน คนในป่า ส่วนคนที่อยู่ในเมือง คนที่ร่ำรวยมากๆ เราไม่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดที่สร้างขึ้นสำหรับคนพวกนี้เพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมเลย ตรงนี้เองมันก็สร้างปัญหา
เมื่อที่ดิน มันอยู่ในมือของคนที่มีสตางค์มาก ในขณะที่คนไม่มีที่ดินถูกเข้มงวดมากขึ้น มันก็ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นมา เกิดความขัดแย้ง ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนเหล่านี้ต้องไปดิ้นรน ขายที่ดินแล้วก็เข้าไปบุกรุกป่ามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เราก็แก้ปัญหาคนบุกรุกป่าไม่ได้ เพราะไปเข้มงวดกับคนในป่า แต่คนในป่าไม่ใช่ตัวต้นตอของปัญหา ต้นตอมันอยู่ข้างนอก
อย่างที่ผมพูดแต่ต้นแล้วว่า ที่ดินเป็นของส่วนรวม แต่เราปล่อยให้แต่ละคนเอาไว้ แล้วพอมาถึงเรื่องของการจัดการ เรามักจะเน้นว่า ทำอย่างไรที่ดินจะกระจายให้ปัจเจกอีก การที่เราเอาที่ดินมากระจายให้ปัจเจก การวิจัยได้ค้นพบแล้วว่า ไม่ว่าจะกระจายในรูปแบบใด เราแพ้กลไกตลาดหมด แพ้ราคา.
ที่ดินมันกลายเป็นสิ่งที่มีราคา ไม่ว่าจะให้เป็น สทก. เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็น สปก. คือยังไม่ทันให้จนเสร็จ ที่ดินก็ขายไปหมดแล้ว... คือเมื่อก่อนที่ดินทำมาหากินจริง แต่ขายไปหมดแล้วด้วยกลไกตลาด แล้วเมื่อเราเอามาทำเป็นที่ดินของปัจเจก มันยิ่งไปเร่งเร้าทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นผมคิดว่า การปฏิรูปที่ดินที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเป็นในลักษณะที่ว่า ไม่ให้เป็นของปัจเจกทั้งหมดอย่างเดียว แต่ให้เป็นของในรูปแบบอื่นบ้าง. เวลานี้เราให้เป็นสองอย่าง คือให้เป็นของรัฐและให้เป็นของปัจเจก แต่เราไม่นิยมให้เป็นของส่วนรวม หรือที่เราเรียกว่าที่สาธารณประโยชน์หรือ ที่ของชุมชนในลักษณะต่างๆ เช่น อาจจะมีการผลักดันในเรื่องของป่าชุมชน ซึ่งก็มีลักษณะการจัดการที่ดินให้เป็นของส่วนรวม แต่มันมีวิธีการจัดการให้เป็นของส่วนรวมอีกหลายอย่าง ซึ่งอันนี้คิดว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้มีการจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แล้วก็จะตอบสนองความจำเป็นของสังคมได้สูงมากกว่าเดิม
เพราะว่า ที่ดินหลายๆอย่างเมื่อเป็นของส่วนรวม มันจะมีการร่วมมือกันในการพัฒนาที่ดินเหล่านั้นได้ดีกว่าในสถานการณ์ที่ที่ดินมันมีราคามาก ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ที่ดินมันก็จะถูกดึงออกไปจากคนยากจนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะทำวิธีใด เราก็ไม่สามารถจะไปหยุดยั้งกระบวนการเปลี่ยนมือจากคนคนจนไปสู่คนรวยได้ เพราะว่าเวลานี้เรามันเป็นระบบเศรษฐกิจตลาด มันยากจะไปหยุดยั้ง ยกเว้นแต่ว่าเราจะมีวิธีหลายๆอย่างซึ่งได้พูดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี หรือการเก็บที่ดินให้กับส่วนรวม หรือการกำหนดอัตราการถือครองที่ดิน หรือการกันเขตเอาไว้ให้เป็นโซนนิ่ง ที่เราเรียกกันว่าเป็นเขตเฉพาะ.
คือมันมีหลายวิธี แต่ของเราไม่เอาสักอย่าง หมายความว่า... อันนี้ก็พูดกันมานาน สิ่งที่เราพูดถึงกันก็เป็นการย้อนหลังกลับไปอีก ซึ่งมีนักวิชาการพูดเรื่องนี้กันมาเป็นเวลานาน แต่ว่า ของเราก็ไม่มีใครอยากจะทำอะไรต่างๆ คือปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมมาเป็นเวลานาน ผมคิดว่า อันนี้เป็นปัญหาหลัก
ตัวอย่างชาวบ้านในลำพูนเวลานี้เห็นได้ชัดว่า ถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้ เขาอยู่ไม่ได้ เขาจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วการที่เขาเข้าไปยึดที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรต่างๆ อันนี้จะเป็นกระบวนการทางสังคมที่สำคัญในการบีบให้มีการจัดการอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งอันนี้ผมอยากจะส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในสังคม คือ ถ้าที่ดินนั้นคุณไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทิ้งไว้เฉยๆ คนที่อยากจะใช้ประโยชน์มากกว่าน่าจะมีสิทธิทางศีลธรรมในสังคม อาจจะดูผิดกฎหมายในสายตาของคนภายนอก เพราะว่าเป็นที่ดินซึ่งมีโฉนด แต่ว่าในทางสังคม ในทางศีลธรรม มันควรจะมีสิทธิ์ เพราะผมบอกแล้วว่า หลักการสำคัญคือว่า ที่ดินเป็นของส่วนรวม เพียงแต่ฝากไว้กับปัจเจกชนเท่านั้นเอง
สมชาย : ผมมีเพิ่มเติมนิดหนึ่ง ในแง่ที่บอกว่าที่ดินเป็นต้นทุนทางสังคม คือในกฎหมายบางทีก็ดูเหมือนว่า ประมวลกฎหมายที่ดินมันก็มีมาตราที่บอกว่า ที่ดินตรงไหนไม่ใช้ประโยชน์ ให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนที่ดินตรงนั้นได้ แต่ว่ากรณีที่ลำพูน ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังก็คือว่า ชาวบ้านบอกว่าที่ดินตรงนี้ไม่มีการใช้ประโยชน์ ทางราชการก็ออกหนังสือแจ้งเลย ให้เจ้าของที่ดินให้ไปใช้ประโยชน์โดยด่วน ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นการจัดการที่ดินที่มันไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนร่วมทางสังคม
และผมยังมีอีกสองประเด็นเพิ่มเติมคือ อันแรกผมเห็นด้วยกับอาจารย์อานันท์คือว่า ลำพังการกระจายสิทธิให้กับชาวบ้านในเชิงปัจเจก มันจะไม่ได้เป็นหลักประกันในระยะยาวว่า การถือครองที่ดินของชาวบ้านมันจะมีความมั่นคง มันจะต้องผนวกรวมเอาเรื่องอื่นๆเข้าไปเกี่ยวด้วย ผมเคยคุยกับชาวบ้านบางพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อาจจะไกลไปจากตัวเมืองหน่อยนึง แต่ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีโฉนดของชุมชน แล้วก็จำกัดสิทธิบางอย่าง เช่น จะเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ จากเกษตรกรรมไปเป็นการตั้งโรงงาน ต้องให้คนในชุมชนร่วมกันตัดสินใจว่าได้หรือไม่ได้ ผมคิดว่า เราต้องคิดถึงการจำกัดการใช้ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของส่วนต่างๆในสังคมต่อที่ดินมากขึ้น นโยบายการสร้างความมั่นคงของเกษตรกรในการถือครองที่ดิน ต้องมีการคิดถึงกันมากขึ้น
อันที่สองผมคิดว่า ประเด็นเรื่องปัญหาที่ดิน ไม่ใช่ปัญหาของคนยากคนจน แต่มันเป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งสังคม ซึ่งอันนี้เท่าที่ผ่านมา พอเราไปพูดถึงเรื่องของปัญหาที่ดิน เราก็จะไปคิดกันว่า เป็นปัญหาคนยากคนจน ปัญหาของพวกเกษตรกร แต่จริงๆไม่ใช่ ผมคิดว่าชนชั้นกลางเป็นจำนวนมากในปัจจุบันที่ซื้อบ้านในเขตเมือง แล้วราคามันแพง เช่น ทาวเฮาส์ 18 ตารางวา หรือ 20 ตารางวา ราคาล้านหนึ่ง ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นมูลค่าส่วนเกิน ซึ่งถูกสูบไปโดยนักลงทุนหรืออะไรก็ตาม คิดว่าอันนี้มีแฝงอยู่เยอะ แต่ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยค้นหาสักทีว่า แต่ละคนซึ่งเป็นคนชั้นกลาง ได้ถูกสูบกันไปเท่าไหร่ อันนี้ต้องทำให้กระจ่างว่า ปัญหาเรื่องการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง การถือครองที่ดิน มันเป็นปัญหาร่วมกันของคนชั้นกลาง เกษตรกร และคนยากคนจน อันนี้เป็นปัญหาร่วมกัน ยกเว้นคนที่มีที่ดินเยอะๆ
ดร. อานันท์ : แม้คนรวยและนักลงทุนก็มีปัญหา เพราะว่าทำให้ต้นทุนการผลิตของเขาสูงเกินกว่าความจำเป็น
ธนา : ขอเสริมนิดหนึ่ง คือสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเข้าไปยึดครองที่ดินทำกินตรงนี้ ก็เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วน คือเราร้องเรียนไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่ลำดับอำเภอ ไปถึงจังหวัด จนกระทั่งถึงอธิบดีกรมที่ดิน และรัฐมนตรีที่มีส่วนรับผิดชอบ หรือนักการเมือง ก็ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา เราร้องเรียนไป... อย่างที่ตรงนี้ ที่ศรีเตี้ย บอกว่ามีความลาดชันเกิน 35% นะ ทางลำดับล่างบอกว่าไม่มี พอเราพิสูจน์จริงๆจากกรมที่ดิน บอกว่าเกิน 35% ก็ไม่ทำการเพิกถอน บอกว่ากลัวถูกฟ้อง ตอนนี้อำนาจการเพิกถอนกลับไปอยู่ที่อธิบดีกรมที่ดินแล้ว
หรืออย่างกรณีชาวบ้านไปร้องเรียน บอกว่าจะแก้ให้ภายใน 7 วัน คือเราพยายามตามเกมของทางฝ่ายรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ทางราชการตลอด เราพยายามจะเชื่อ... แต่ว่าเรารอกันมา 7-8 ปีแล้ว ไม่มีผลคืบหน้า ทีนี้ชาวบ้านเราก็มาคิดกันว่า เราขอจัดการกันเองบ้าง ให้มันมีผลประโยชน์ตอบแทนบ้าง ดีกว่า. ขอจัดการเองบ้าง ในเมื่อรัฐไม่สามารถจัดการให้เราได้ ดังนั้น ชุมชนของเราจะขอจัดการเอง เราคิดกันอย่างนี้เพราะว่า รัฐได้ผลักดันให้เราต้องทำอย่างนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าเราไม่มีศีลธรรม หรือไม่มีคุณธรรม เพราะว่าคิดกันจริงๆแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความจริงใจ
อย่างเห็นได้จากกรณีการขอออกโฉนดของชาวบ้าน ชาวบ้านขอออกโฉนดในครัวเดียวกัน แต่ทางราชการกลับบอกว่า ที่ดินของคุณมันติดภูเขานะ อย่างนี้ออกโฉนดไม่ได้ แต่พวกกลับไปออกโฉนดที่ดินบนถูเขากับอีกพวกหนึ่ง ซึ่งพวกผมร้องเรียนกันอยู่. ปัจจุบันที่ของพวกเราที่จะไปขอออกโฉนดก็ยังไม่มี ยังไม่ได้ แต่ลำใยที่พวกเรานี่ใหญ่แล้ว เก็บขายทุกปีแล้ว แต่ไม่มีโฉนด ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่ามันติดกับภูเขา... แต่ผ่าไปออกที่ดินบนเขาให้คนอื่นได้...นั่นแหละ
สมชัย : คือประเด็นที่พ่อหลวงนำเสนอนี่ เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อก่อนเราพูดกันว่าป่าชุมชน เราเสนอแนวคิดแนวนโยบายไปให้รัฐบาล รัฐบาลก็บอกว่าชาวบ้านทำไม่ได้ คือไม่ฟัง. ขบวนการประชาชนทำเรื่องป่าชุมชน ก็เหมือนกับพ่อหลวงธนาว่า เราจัดการกันเองหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดับไฟป่า การจับผู้ที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า หรืออื่นๆ อันนี้คือสิ่งซึ่งกระบวนการชุมชนได้ทำมาแล้ว ได้ประสบผลสำเร็จ ตอนนี้เรามีขบวนการป่าชุมชนจนเป็นที่ยอมรับ
และผมอยากมาย้อนเรื่องที่ดิน ผมว่าที่ดินในบ้านเรา ชุมชนกำลังจัดการ กฎหมายเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน เราได้นำเสนอมาตั้งนานแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ทำ. ตอนนี้กระบวนการประชาชนเริ่มทำ เริ่มเข้าไปจัดการ เริ่มเข้าไปใช้ประโยชน์ อันนี้แก้ปัญหาเกษตรกรได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือมันแก้ได้.
อย่างเมื่อก่อนถ้าย้อนกลับไปยังปี 2531-32 รัฐบาลพยายามสร้างเรื่องมูลค่าเรื่องแรงงาน เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเกินความเป็นจริง. อย่างผมไปทำงานในเมืองได้ค่าแรงวันละ 200 บาท ถ้าผมไปทำภาคเกษตรผมได้ 50 บาท ผมก็ไม่ทำ ทิ้งมันเสีย. พอถึงปี 2540 ภาคอุตสาหกรรมมันล้ม เกษตรกรจำเป็นต้องมีที่ดิน พอเราไปทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งไม่ทำประโยชน์ มันสามารถเกื้อกูนครอบครัว ถ้าเราไปทำประโยชน์ พริกเราก็ไม่ต้องซื้อ ผักเราก็ไม่ต้องซื้อ ที่ไหนปลูกข้าวได้เราก็ปลูกข้าว ที่ไหนปลูกกล้วยได้เราก็ปลูกกล้วย อันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนอีกอย่างหนึ่ง. ตอนนี้ชุมชนกำลังจะจัดการ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่จัดการ.
ถ้ามองเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ ผมเห็นว่า วาระเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ อย่างไทยรักไทย... เขาก็บอกว่าจะจัดการเอาภาพถ่ายทางอากาศเป็นตัวหลักในการจัดการ ผมว่ามันก็จะเข้าอีหรอบเดิม. การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินของพรรคไทยรักไทย โดยหัวหน้าพรรคฯซึ่งแถลงนโยบายมา ท่านบอกว่าจะเอาภาพถ่ายทางอากาศเป็นเกณฑ์ในการแก้ไขปัญหา แล้วมันก็ขัดกับชาวบ้าน
คือชาวบ้านเขาทำนั้น เขาไม่ได้บุกเบิกเป็นแปลงใหญ่ เขาทำนี่นิดหนึ่ง โน่นนิดหนึ่ง ที่นั่นนิดหนึ่งเป็นหย่อมๆ แล้วก็ทำหมุนเวียนกันไป ที่ทำกินของชาวบ้านกับป่ามันจึงแยกกันไม่ออก ไม่เหมือนกับกลุ่มนายทุนที่เขาไปถางกันเป็นร้อยไร่ พันไร่ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภาพถ่ายทางอากาศ ถ้ารูปพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ก็จะถ่ายไม่ติดหรือมองไม่เห็น มันจะกลายเป็นที่ป่า ส่วนพื้นที่ทำกินของกลุ่มนายทุนซึ่งเป็นแปลงใหญ่ ก็จะติดภาพถ่ายทางอากาศ การแก้ไขปัญหามันก็แก้ไขไม่ถึงอยู่ดี
ดร. ประมวล : ผมอยากจะฟังนักวิชาการอย่างอาจารย์อานันท์ กับอาจารย์สมชายว่า พอมาถึงวันนี้ เท่าที่เราได้คุยกันทำให้เราเห็นถึงปัญหาในเชิงความคิด และปัญหาในเชิงโครงสร้าง อะไรต่างๆเหล่านี้ ถ้าจะสรุปความวันนี้ อุปสรรคหรือสิ่งที่มันกีดขวางให้ปัญหาซึ่งมีอยู่ปัจจุบันแก้ปัญหาไม่ได้ มันอยู่ตรงไหนครับ ?
ดร. อานันท์ : ปัญหาในเชิงความคิดที่เป็นอยู่ก็คือ เขาไม่ได้มองว่า"ที่ดินเป็นของส่วนรวม" หรือเป็นต้นทุนทางสังคมแต่มองว่าเป็นของส่วนตัว หรือไม่ก็เป็นของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้ไม่สนใจที่จะทำอะไร ขณะเดียวกัน ที่ดินก็ไปกระจุกตัวอยู่ในมือของคนที่มีอำนาจในสังคมมาเป็นเวลานาน การที่จะแก้ไขอะไรต่างๆ มันต้องไปปรับปรุงกันที่กฎหมาย
การจะปรับปรุงกันที่กฎหมาย มันก็ก่อให้เกิดปัญหาอีกเพราะว่า คนที่จะออกกฎหมายส่วนใหญ่ก็มีที่ดินของตนเองคนละมากๆ อันนี้ก็เท่ากับเอาที่ดินตัวเองไปแจกคนอื่น เขาก็ไม่อยากจะยอม ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ต้องพูดถึงผลกระทบที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม ที่ว่ามาแล้วก็คือว่า การที่เราปล่อยให้ปัญหานี้มันคาราคาซังมา มันไม่ใช่กระทบแค่คนจนดังที่ อ. สมชายบอก มันกระทบสังคมโดยรวม
พูดง่ายๆคือ ที่สังคมทุกวันนี้มันจนลง ไม่ใช่จนลงเพราะต่างประเทศมันทำให้เราจน แต่เราจนลงเพราะเรามีทรัพย์ แต่เราไม่ใช้ ปัญหาอยู่ตรงนี้. คิดดูซิครับว่า ที่ดินที่เราไม่ใช้ตั้งมากมาย รวมเป็นต้นทุนทางสังคม รวมเป็นเงินที่จะนำไปลงทุนดูซิว่ามันขนาดไหน ? ที่ดินซึ่งมันมีหญ้าขึ้นปกคลุมอยู่นี้ไม่ใช่ว่ามันไม่มีค่านะครับ ถ้าเราเปลี่ยนมันไปเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการผลิต
แล้วเวลานี้ อาหารหรือสิ่งที่ได้มาจากภาคการเกษตร มันมีราคาถูกมากก็เพราะว่าเราไปกดราคามัน แต่ถ้าเผื่อมันสามารถทำให้เป็นสินค้าที่มีราคาเป็นธรรม จะทำให้เกิดพลังทางสังคมในการที่จะปรับแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ หลายประเทศที่เขาสามารถจะพลิกฟื้นปัญหาทางเศรษฐกิจได้ โดยดึงเอาต้นทุนเหล่านี้ของสังคมมาใช้ประโยชน์ แต่ปรากฏว่าเมืองไทยเราเงียบครับ ไม่มีใครสนใจ ปล่อยให้มันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอย่างที่ว่านี้ ทั้งๆที่เป็นที่ดินซึ่งมีคุณภาพสูง อย่างที่ว่าไปแล้ว
ดังนั้น ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่จะบีบหรือผลักดัน ให้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ก็คือ การที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการไม่ใช้ที่ดิน นอกเหนือจากการไม่ใช้ต้นทุนของเราแล้ว มันจะทำให้เกิดปัญหาในแง่ที่ว่า จะทำให้ต้นทุนของเราสูงเกินไป อันนี้ไม่ใช่เรื่องการเกษตรอย่างเดียว ในเรื่องของการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม ทางด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากมาลงทุน เพราะว่าที่ดินมันจะราคาแพงเกินไป เนื่องจากเขาไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ เขาเก็งแต่กำไรอย่างเดียว มันก็ทำให้ต้นทุนสูงเกินไป เราก็ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ผมคิดว่า ดังนั้น ด้านหนึ่งต้องพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจ ว่ามันมีผลกระทบต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจโดยรวมขนาดไหน ? กับอีกด้านหนึ่ง จะรอให้สังคมเข้าใจมันก็ยาก เพราะว่าจะไปเที่ยวอธิบาย เนื่องจากว่าพูดกันมาตั้งนานแล้ว เขาก็มีความเข้าใจนะครับ แต่เนื่องจากว่าคนที่ได้รับประโยชน์ มันเป็นคนที่กุมอำนาจในการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมาย ก็ไม่มีการขยับเขยื้อน ผมจึงคิดว่า ส่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ แรงกดดันทางภาคสังคม
แน่นอน คนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเหล่านี้ แม้ว่าจะกระทบทั่วไปทั้งสังคม แต่คนที่ได้รับผลซึ่งวิกฤตที่สุด มันจะอยู่ในส่วนล่างของสังคม คือสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมานาน คนต้องการที่ดินในการผลิต แต่ในเวลานี้สังคมไทย กว่า 50% ของเกษตรกรไม่มีที่ดิน แล้วเราก็ปล่อยให้เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าเกษตรกร 50% ในปัจจุบันซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้ ถ้ารัฐไม่ทำก็ขอจัดการเอง มันอาจจะเป็นแรงกดดันทางสังคมอีกอันหนึ่งที่ทำให้เกิดมีการคิดถึงการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้น เพราะว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่มันจะก่อให้เกิดความโกลาหลทางสังคมเป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่การไปคิดแก้ไขกับนโยบายเฉพาะหน้าที่เราคิดกันทางการเมือง เพราะว่าปัญหาที่เราพูดถึงนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองไหนเขาอยากจะเอาวิธีการแก้ไขเหล่านี้ไปเป็นนโยบายโฆษณาหาเสียง ไม่มีใครเขาโฆษณาแบบนี้เนื่องจากว่ามันกระทบกับคนที่จะเป็นผู้ให้คะแนนเสียงเขา หรือว่า คนที่จะให้สตางค์เพื่อให้นักการเมืองไปหาคะแนนเสียง มันก็เลยเปลี่ยนแปลงยาก
ดังนั้นเราก็เลยมาพูดกันในเวทีเล็กๆอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเวทีเล็กๆแล้วมันไม่สำคัญ ผมคิดว่าสำคัญ เนื่องจากว่า กระแสหรือแรงกดดันทางสังคม มันเคยเปลี่ยนหลายเรื่องมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกกฎหมายองค์กรอิสระ แม้แต่ว่าการจะเปลี่ยนรัฐบาลยังเปลี่ยนได้ ดังนั้นผมคิดว่า เราอย่าเพิ่งไปดูถูกพลังทางสังคมที่จะสร้างแรงกดดันเหล่านี้
ประเด็นสำคัญในเรื่องเหล่านี้ ต้องทั้งทำความเข้าใจ แล้วให้มองเห็นถึงพลังทางสังคมประกอบกัน ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมก็จะเกิดความวุ่นวาย ผมคิดว่า ถ้าหากว่ามีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้น แล้วเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมออกมาอย่างชัดเจน ก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเป็นนโยบายมันก็ชัดเจนเลยเป็นขั้นๆ
อย่างในขั้นแรก ให้มีการจำกัดการถือครองที่ดิน(1) ควบคุมการใช้ที่ดินให้ชัดเจนหรือแบ่งออกเป็นโซนๆ(2) ออกกฎหมายในเรื่องของเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่ก้าวหน้า(3) ให้มีการออกเอกสารสิทธิชนิดอื่นนอกเหนือจากการออกให้กับปัจเจก(4) ให้มีการออกเอกสารสิทธิ์แก่ส่วนรวม(5) ซึ่งก็ต้องไปนั่งคิดกันว่ารูปแบบอะไรบ้าง ป่าชุมชนเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
ผมคิดว่า 4-5 มาตรการเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ในการที่จะเข้าใจการปฏิรูปที่ดิน เพราะในเวลานี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินมีอย่างเดียวก็คือว่า เอาที่ดินมาจัดสรรกันใหม่ แต่อันที่จริงมันทำได้หลายรูปแบบ และมันก็จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
เราจะใช้หลักการที่นำไปใช้กันในไต้หวันหรือเกาหลีอะไรต่างๆอย่างเดียวนั้นไม่ได้ คือรัฐบาลซื้อที่ดินของคนรวยมา แล้วมาจัดสรรให้ใหม่ เพราะปัจจุบันเราต้องคิดถึง สถานการณ์ของระบบเศรษฐกิจ คือถึงแม้ว่าจะจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านไปแล้ว ถ้าเผื่อปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำแบบนี้ ทำไปไม่กี่ปีเขาก็จะต้องเป็นหนี้ แล้วก็ต้องขายที่ดินกลับไปอย่างเดิม ดังนั้นเราต้องคิดตรงจุดนี้ด้วย
เพราะฉะนั้น การจัดสรรที่ดินให้กับปัจเจกชนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างความมั่นคงในการถือครอง ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งคิดว่า ความมั่นคงและการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน มันจะต้องเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปที่ดิน
ดร. ประมวล : เท่าที่ฟังอาจารย์พูดมา เป็นที่ชัดเจนเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง อาจารย์สมชายครับ ในเชิงกฎหมาย มันมีอุปสรรคอย่างไรบ้างที่จะทำให้ทำเช่นนี้ไม่ได้
สมชาย : ก่อนที่จะไปถึงเรื่องกฎหมาย ผมคิดว่าเรื่อความคิดเป็นเรื่องที่สำคัญ เรากำลังพูดถึงเรื่องปัญหาที่ดินหรือปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่ถูกมองไปในทางเศรษฐกิจ หรือในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ? วิธีการแก้ปํญหาของรัฐนี่ ผมคิดว่าคล้ายกันคือ ทำให้ที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรกัน ตอนนี้ก็เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในระยะยาวได้ ผมคิดว่าถ้าเกิดเราคิดแบบนี้ เราต้องกลับมาคิดในเรื่องความเป็นธรรมของสังคมด้วย ซึ่งจะต้องผนวกเอากลุ่มคนเข้ามาให้กว้างขวางมากที่สุด
ปัญหาที่เผชิญอยู่มีอยู่ 2 เรื่องที่จะต้องคิดถึงคือ แรกสุดเป็นปัญหาเฉพาะหน้า คือถ้าเกิดชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกำลังเริ่มเข้าไปทำกินในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าเรายังไม่ทำความเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมในเชิงโครงสร้างแล้ว ชาวบ้านก็จะถูกรังแกโดยการที่ชาวบ้านจะถูกจัดการโดยมาตรการทางกฎหมาย คนพวกนี้จะกลายเป็นคนที่บุกรุก โดยถูกฟ้อง ดำเนินคดี และจับกุมแล้วติดคุกไป ปัญหาเฉพาะหน้านี้เราจะต้องพูดถึงว่าจะพยายามทำอะไรให้ประเด็นนี้มันถูกดึงออกมาจากมุมแคบๆเรื่องการบุกรุก มาทำให้เห็นว่านี่คือภาพสะท้อนของปัญหาการจัดการที่ดิน
สิ่งที่ตามมาอีกประเด็นหนึ่ง ตอนนี้มีเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ในบางส่วนของทางภาครัฐเองก็เริ่มคิดถึงการปรับกฎหมายในหลายๆเรื่อง เช่นภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีที่ดิน พยายามที่จะมีการปรับใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางภาษี เพื่อทำให้การถือครองที่ดินอย่างเสรีมันเริ่มเป็นไปได้ลำบากมากขึ้น แต่จะพูดถึงว่าจะก้าวหน้าไปอย่างที่เราคุยกัน ซึ่งมันยังไม่ถึงตรงนั้น.
มันอาจจะเป็นช่วงจังหวะที่ดีก็ได้ ถ้าเผื่อหน่วยงานรัฐบางหน่วยคิดว่านี่มันเป็นปัญหา แล้วเกิดการขยับตัว ผมคิดว่าทำอย่างไรให้มันเป็นกระแส พร้อมกับผลักดันให้ปัญหานี้ถูกแก้ไขได้กว้างขวางมากขึ้น ยิ่งกว่าจะใช้เพียงมาตรการทางภาษี ซึ่งอาจจะดูไม่ก้าวหน้ามากเท่าที่ควร อันนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะคิดถึงในช่วงเวลาต่อไปครับ
ดร. อานันท์ : ตรงนี้ผมอยากจะขอเสริมนิดหน่อย เพราะมีความสำคัญในแง่ที่ว่า การที่ชาวบ้านอยากจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ผมคิดว่าต้องมองกระบวนการอันนี้ไม่ใช่เฉพาะเป็นแรงกดดันทางสังคมอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าเป็นกระบวนการเดียวกับความพยายามของชาวบ้านที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปที่ดิน เพราะการปฏิรูปที่ดินซึ่งเราพูดกันทุกวันนี้ เป็นการพูดในแง่ที่ว่า เรียกร้องให้ทางภาครัฐเป็นผู้จัดการ แต่การเรียกร้องทำนองนี้มันทำมานาน แล้วก็ไม่เกิดผลอะไรต่างๆ ดังนั้นผมคิดว่า คนในสังคมก็มีสิทธิที่จะบอกว่า เขาก็ควรจะต้องทำได้
เพราะว่า เมื่อที่ดินเป็นของสังคมแล้ว คนในสังคมทุกคนก็มีสิทธิ์โดยธรรม... มันอาจจะผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายที่เราเขียน บางทีมันอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางสังคม ซี่งก็ต้องเปลี่ยนๆกันไป แต่ในขณะที่กฎหมายไม่เปลี่ยน มันควรจะต้องมีการยอมรับกระบวนการทางสังคม ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปที่ดิน
ถ้าเราชี้ตรงนี้ให้สังคมได้เข้าใจ มันจะก่อให้เกิดกระบวนการที่เป็นแรงกดดันให้มีการปรับเปลี่ยนต่อไป ดังนั้นต้องมองว่า การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการเข้าไปจัดการที่ดิน มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการปฏิรูปที่ดินด้วย
ดร. ประมวล : เท่าที่ฟังวิทยากรมาทั้งหมด ทำให้เกิดความกระจ่างนะครับเกี่ยวกับปัญหาการปฏิรูปที่ดิน และอุปสรรคในการที่จะปฏิรูปที่ดิน ผมอยากจะถามเป็นคำถามสุดท้าย โดยที่ใครซึ่งสามารถตอบได้ช่วยตอบผมทีครับว่า ถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาอันรวดเร็ว จะเกิดอะไรขึ้นกับคนไทยและสังคมไทยบ้างครับ ?
สมชัย : ผมว่าประเด็นแรก ที่เราได้ยินข่าวทางสื่อมวลชนว่า ที่ดินส่วนใหญ่ โฉนดส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือของ 58 ไฟแนนซ์ ไปอยู่ที่ธนาคารซึ่งมีปัญหาวิกฤต ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลไม่รีบจัดการเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินตรงนี้ คิดว่าอีกประมาณ 5-10 ปี คนต่างชาติก็จะมาซื้อธนาคาร ซื้อบริษัทเหล่านี้ ที่ดินก็จะเป็นของแถมตกไปอยู่ในมือของคนต่างชาติ ผมคิดว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ผมก็เกรงว่าประชาชนจะมาทำก่อนรัฐบาล
ธนา : ปัญหาเรื่องที่ดินนี่ จะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ไข. ถ้าแก้ไขตัวนี้ได้ มันจะมีค่ายิ่งกว่ากองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพราะว่าที่ดินคือปัจจัยการผลิต ที่ดินไม่ใช่สินค้า
รังสรรค์ : กฎหมาย 11 ฉบับที่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามามีโอกาสเช่าซื้อที่ดิน ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องที่ดิน โอกาสที่ที่ดินจะตกไปเป็นของต่างชาติจะมีสูง. อีกประเด็นหนี่งก็คือว่า ผมกลัวว่าถ้ารัฐบาลไม่ลงมาแก้ปัญหาในเรื่องที่ดิน ก็จะเกิดวิกฤตเหมือนกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซิมบับเว หรือบราซิล เกษตรกรจะรุกเข้าไปยึดที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า
ดร. อานันท์ : ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการปฏิรูปที่ดิน มันเป็นดัชนีชี้วัดถึงว่า สังคมไทยจะยกระดับการพัฒนาจากเดิม เปลี่ยนไปอีกทิศทางหนึ่งอย่างไรบ้าง ? เพราะเท่าที่ประสบการณ์ที่ได้ศึกษามาหลายๆประเทศ ผมไม่เคยพบประเทศไหนที่จะสามารถยกระดับการพัฒนาประเทศให้มันก้าวกระโดดไปอีกขั้นหนึ่งได้ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องเกี่ยวข้องการจัดการที่ดินให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องสิทธิในการถือครองที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม และที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า จะต้องออกกฎหมายเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้า เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งจะดึงเอาประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินให้มากองอยู่กับสังคม แล้วเอาไปเสริมศักยภาพให้สังคมสามารถก้าวกระโดดไปได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการดังกล่าว 5-7 % ประเทศญี่ปุ่น 5-7% ส่วนประเทศไทยไม่ต้องการมากเลย ขอเพียงแค่ 1% เท่านั้น
ปัจจุบันเราเก็บภาษีที่ดินน้อยมากๆ ซึ่งไม่มีแรงบีบที่มากพอที่ทำให้คนเอาที่ดินที่มีอยู่ไปลงทุน พูดง่ายก็คือว่า เวลานี้เราเอาที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เอาไปวางทิ้งไว้เฉยๆโดยไม่เอามาใช้ประโยชน์อะไรเลย ถ้าเรานำเอาที่ดินมาเป็นทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
หากเราไม่ทำอะไรเลย ก็จะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในทางสังคมเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล เพราะว่า ที่ดินซึ่งไม่ได้นำมาใช้ จะเป็นปัญหาหนักหน่วงของสังคม และอาจนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของสังคมขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับที่ปี 2518 ได้เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะต้องรอให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่อย่างนี้ทุกครั้งก่อนหรือ แล้วจึงจะแก้ปัญหาดังกล่าว หรือเราจะแก้ไขโดยการอาศัยสติปัญญาของสังคม ไม่ใช่อาศัยการหาเสียงไปวันๆ
ดร. ประมวล : ท่านผู้ชมครับ ปัญหาเรื่องที่ดินเท่าที่ฟังวิทยากรพูดมาในวันนี้ทั้งหมด ผมจับใจความได้ว่า ปัญหาเรื่องที่ดินไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นปัญหาของสังคมไทย ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะของเกษตรกรซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน แต่เป็นปัญหาของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในชนบท หรือในเขตเมือง
และที่ดินไม่ใช่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ดินเป็นทรัพย์สินของสังคม สังคมไทยต้องใช้ที่ดินคือทรัพย์สินนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องไม่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งเก็บทรัพย์สินของสังคมไปเป็นสมบัติส่วนตัว และถือเอาเฉพาะประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง เช่นเอาที่ดินไปเก็งกำไร ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง
การปฏิรูปที่ดินซึ่งเรากำลังพูดกำลังคิดถึงกันอยู่นี้ จะต้องเกิดขึ้นจากจิตสำนึก ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากแง่มุมของกฎหมายเท่านั้น จะต้องไม่บอกว่าทำอย่างนั้นได้เพราะกฎหมายอนุญาต หรือไม่ทำอย่างนั้นเพราะไปขัดกับกฎหมาย แต่ต้องเกิดจากสำนึกว่า เราจะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมาในสังคมไทย นั่นคือ ที่ดินจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยทุกคน
รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสำหรับวันนี้ ไม่ต้องการเพียงแค่แสดงวาทะโวหารว่า เรามีปัญหาอะไรแล้วเรามาแสดงวาทะกัน แต่เราคิดว่าอันนี้คือปัญหาของสังคมไทย ผู้ที่มารับผิดชอบปัญหาของสังคมไทยจะต้องคิด และต้องลงมือทำ ถ้าปัญหาเรื่องที่ดินไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะเป็นที่มาของการยึดประเทศไทยได้ เพราะที่ดินปัจจุบันนี้กำลังเป็นที่เน่า ติดอยู่ในธนาคารหลายธนาคาร หากต่างชาติมายึดครองธนาคาร ที่ดินก็จะกลายเป็นของแถมให้กับคนที่ถือครองธนาคาร และปัญหาที่ดิน ถ้าไม่แก้ให้ถูกต้องในเวลาอันรวดเร็ว ความรุนแรงต้องเกิดขึ้นในชุมชนและสังคมของประเทศไทย เพราะเป็นปัญหาวิกฤตที่ภาคเกษตรกำลังเผชิญอยู่
การที่จะทำอะไรให้เกิดความสงบในประเทศไทย การจัดการและการปฏิรูปที่ดินเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และภารกิจนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแต่เฉพาะของรัฐบาลเท่านั้น ทุกส่วนของสังคมต้องช่วยกันผลักดัน ท่านอาจารย์อานันท์พูดเอาไว้ดีมากครับว่า เราต้องทำให้เกิดการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินให้ได้ หากไม่เช่นนั้นแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมายตามมาในสังคมไทย ที่สำคัญคือ ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมนั่นเอง
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com