บทความ "กรอบความคิดว่าด้วยกระบวนทัศน์สุขภาพ"นี้ เป็นบททดลองเสนอเบื้องต้น ที่ผู้เขียนพยายามจะประมวลความคิด และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใน ๓ ประเด็น ดังนี้
-กระบวนทัศน์คืออะไร ?
- ความสำคัญของกระบวนทัศน์ (เกี่ยวข้องกับมนุษย์ สังคม ระบบนิเวศ วิกฤตการณ์ การพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างไร) โดยใช้กระบวนทัศน์สุขภาพเป็นกรณีตัวอย่าง
-ข้อสังเกตและวิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์สุขภาพ
2
บทความนี้ ได้รับความร่วมมือจาก อ.อรศรี งามวิทยาพงศ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากประสบปัญหาภาพ
และตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลดขนาดของ font ลง

คลิกไปที่หน้า 2
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืน เราต้องอาศัยจินตนาการ
content page
member page
back to home
webboard
ภาพประกอบโดย Fernando Botero
ชื่อภาพ Siesta.1982
oil on canvas
Introduction

หมายเหตุ บทความนี้เป็นต้นร่างเพื่อการอภิปรายของกลุ่ม"ทิศทางกระบวนทัศน์ไทย" ติดต่อกลุ่มทิศทางฯ ได้ที่ [email protected]

บทความ "กรอบความคิดว่าด้วยกระบวนทัศน์สุขภาพ"นี้ เป็นบททดลองเสนอเบื้องต้น ที่ผู้เขียนพยายามจะประมวลความคิดและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใน ๓ ประเด็น ดังนี้

1. กระบวนทัศน์คืออะไร ?
2. ความสำคัญของกระบวนทัศน์ (เกี่ยวข้องกับมนุษย์ สังคม ระบบนิเวศ วิกฤตการณ์ การพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างไร) โดยใช้กระบวนทัศน์สุขภาพเป็นกรณีตัวอย่าง
3. ข้อสังเกตและวิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์สุขภาพ

1.กระบวนทัศน์คืออะไร ?

"กระบวนทัศน์"(Paradigm) คืออะไร ? เป็นข้อความที่ถูกตั้งเป็นคำถามกันมาอย่าง ต่อเนื่องในแวดวงวิชาการของต่างประเทศ นับตั้งแต่ที่โทมัส คูนส์ ได้นำเสนอเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.๑๙๖๒ ใน The Structure of Scientific Revolutions งานความคิดที่มีอิทธิพลมากที่สุดชิ้นหนึ่งในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๒๐ มีผู้ศึกษาว่าคูนส์เองก็ใช้ความหมายของกระบวนทัศน์แตกต่างกันถึง ๒๑ คำนิยาม(1) และดูเหมือนว่าเขาเองก็ลำบากที่จะขยายความ หรือทำให้ชัด (เพราะเขาเองก็คลุมเครือ? ) หรือเนื่องจากความคิดของเขาในช่วงหลังจากงานหนังสือเล่มดังกล่าว ก็แสดงนัยของการปฏิเสธงานความคิดเดิมของตนเองด้วย (2)

 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คำว่า กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm)และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของเขาก็ได้รับความสนใจและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ วิธีวิทยา (Methodology) ของศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา

ในขณะเดียวกันการขยายตัวอย่างกว้างขวางในการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ของศาสตร์ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เอง ก็ทำให้"กระบวนทัศน์"ถูกใช้และมีนิยามความหมายไปอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นการใช้อย่างฟุ่มเฟือยและห่างไกลออกไปจากความคิดของคูนส์มากขึ้น

ดังที่มีการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า ในวงการวิชาการของสหรัฐเฉพาะในปี ๑๙๙๘ เพียงปีเดียว มีการใช้คำว่า "กระบวนทัศน์ใหม่"ในบทคัดย่อและชื่อเรื่องของงานเขียนในวารสารชั้นนำเป็นจำนวนถึง ๑๒๔ ชิ้น โดยเพิ่มมาเป็นลำดับจากปี ๑๙๙๑ ซึ่งมีจำนวนเพียง ๓๐ ชิ้น สะท้อนถึงความสนใจที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และในรายงานเดียวกันระบุว่า จากการสืบค้นในฐานข้อมูลการแพทย์ MEDLINE ในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า "กระบวนทัศน์ใหม่" ปรากฏเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ ๒๖ ต่อปี จาก ๒๑ ชิ้นเป็น ๗๓ ชิ้น รวมไปถึงการเพิ่มมากขึ้นของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนที่เป็นเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่ก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การสำรวจระบุว่า งานดังกล่าวส่วนมาก ใช้ความหมายของกระบวนทัศน์คนละความหมายกับของคูนส์ และถูกวิจารณ์ว่า งานวิจัยร้อยละ ๙๐ ซึ่งใช้คำว่า "กระบวนทัศน์ใหม่"นั้นก่อผลต่อวงการวิจัยน้อยมาก(3)

ผู้เขียนคิดว่าความฟุ่มเฟือยในการใช้คำว่า"กระบวนทัศน์ใหม่"ดังการวิจัยที่กล่าวมา รวมทั้งบทความของต่างประเทศบางส่วนที่ผู้เขียนได้อ่าน มาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสับสนบางประการเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ ใน ๒ แบบ คือ

(๑) ความเข้าใจว่า การคิดใหม่ ทำใหม่ แม้เพียงบางด้านบางเรื่อง ถ้ามีความใหม่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือเป็นการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่

(๒) ความเข้าใจต่อ"ระดับการเปลี่ยนแปลง"คือ หากเป็นการเปลี่ยนแบบ ๑๘๐ องศาหรือเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิงตามทัศนะของคูนส์แล้ว ถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทุกเรื่อง

ความเข้าใจใน ๒ ลักษณะนี้ ทำให้มีกระบวนทัศน์ใหม่เกิดขึ้นทุกเดือนในวงการต่าง ๆ ทั้ง ด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข รัฐศาสตร์ นิเวศวิทยา บริหารธุรกิจ อุตสาหกรรม การบริการ ฯลฯ ผู้เขียนคิดว่า หากศึกษาเรื่องของกระบวนทัศน์ โดยอาศัยกรอบความคิดของคูนส์และฟริตจ๊อฟ คาปร้า โดยเฉพาะของคาปร้าแล้ว เราจะเห็นว่า กระบวนทัศน์มิใช่เป็นเพียงความใหม่-เก่า หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในเรื่องต่าง ๆ ทั่วไปหมด (แม้ว่าความเก่า-ใหม่ และการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิงจะเป็นสาระสำคัญของเรื่องกระบวนทัศน์ก็ตาม) ทั้ง ๒ คนให้ความหมายของกระบวนทัศน์ โดยสรุปดังนี้

โทมัส คูนส์
ให้ความหมายของกระบวนทัศน์ว่า หมายถึง ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากล กระทั่งเป็นตัวแบบ(แนวคิด ค่านิยม ความเชื่อ)ในการมองปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของชุมชน ซึ่งตามบริบทของหนังสือของเขา คูนส์หมายถึงชุมชนนักวิทยาศาสตร์ และเรียกความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวว่า normal science คือเป็นกระแสหลักหรือเป็นสามัญซึ่งมีอิทธิพลเหนือความคิดความเชื่อ ค่านิยมและการปฏิบัติของกลุ่มคนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) เมื่อความรู้เดิมดังกล่าวไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ได้ หรือมีการค้นพบใหม่เกิดขึ้น การปฏิวัติดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนย้าย(paradigm shift)ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ (new paradigm) ซึ่งคนทั่วไปในชุมชนนั้นเห็นพ้องให้เป็นแนวทางการปฏิบัติใหม่

ระดับของกระบวนทัศน์ที่คูนส์ได้กล่าวถึงในหนังสือเล่มดังกล่าว หมายถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีความสำคัญ ในระดับที่นักประวัติศาสตร์เรียกขานทำนองเป็นยุค หรือเป็นเส้นแบ่งช่วงเวลาสำคัญ เช่น ยุคดาราศาสตร์ของปโตเลมี (Ptolemaic astronomy) ,Copernican, Newtonian นักวิชาการผู้เคยร่วมถกเถียงอย่างมากกับคูนส์ แสดงความเห็นว่า ในทัศนะของคูนส์ กระบวนทัศน์ใหม่ควรหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับของ ดาร์วิน นิวตัน ฟรอยด์ การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ในประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นไม่เกิน ๕ ครั้ง

ดังนั้นหากพิจารณา จากจุดเริ่มต้นของคูนส์ผู้เริ่มใช้คำว่า paradigm(กระบวนทัศน์)แล้ว การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น มิใช่การเปลี่ยนแปลงในระดับแนวคิด ทฤษฎีย่อย หากเป็นการเปลี่ยนแปลงรากฐานความคิดความเชื่อในระดับถอนรากถอนโคน ดังจะเห็นได้ว่าเขาใช้คำว่า "ปฏิวัติ" (Revolution) คือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม "ชุด"ใหม่ แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเหมือนการปฏิวัติ

ฟริตจ๊อฟ คาปร้า
นักคิดยุคใหม่ (New age thinker) ผู้เขียน"จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ"และ The Web of life เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ซึ่งโทมัส คูนส์เสนอกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องให้คำนิยามใหม่ ที่ขยายขอบเขตจากบริบททางวิทยาศาสตร์ บูรณาการมาสู่พื้นที่ทางสังคมอันกว้างใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม(4) คาปร้าได้ให้นิยามกระบวนทัศน์ว่า คือ ชุดแนวคิด (Concepts) ค่านิยม (Values) ความเข้าใจรับรู้(Perceptions) และการปฏิบัติที่มีร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่ง ที่ก่อตัวเป็นแบบแผนของทัศนะอย่างเฉพาะแบบหนึ่ง เกี่ยวกับความจริง (Reality) ซึ่งเป็นฐานของวิถีของการจัดการตนเองของชุมชนนั้น

การปรับคำนิยามของคาปร้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากจะมิได้ทำให้ความหมายและความสำคัญของ "กระบวนทัศน์"กลายเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย ปลีกย่อยไปตามประเด็นมากมายทางสังคมแล้ว ในทางตรงข้าม กระบวนทัศน์ในความคิดของคาปร้านั้น ขยายพื้นที่ครอบคลุมปริมณฑลของสังคมทั้งหมด มิใช่เพียงด้านวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เท่านั้น หากเขาได้เชื่อมโยงให้เห็นว่ากระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์นั้น ได้ขยายปริมณฑลเข้าไปสู่ทุกพื้นที่ทางสังคม จนก่อตัวเป็นวัฒนธรรม มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ระบบคิด-วิธีคิด ของคนในสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ซึ่งมีกระบวนทัศน์แบบนิวตัน เดคาร์ต เป็น normal science มากว่า ๒-๓ ศตวรรษ

ดังนั้นกระบวนทัศน์ใหม่และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ในทัศนะของเขาจึงเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม กระบวนทัศน์ในความหมายของคาปร้าจึงมีขอบเขตกว้างขวางกว่าของคูนส์มาก(5) (แม้ว่าในงานของคูนส์จะได้กล่าวถึงอิทธิพลของ normal science ต่อสังคมทั่วไปด้วย แต่ผู้เขียนคิดว่างานของคาปร้าให้น้ำหนักมากกว่า ชัดเจนกว่า)

ในประเทศไทย เมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนทัศน์มากขึ้น ได้มีการกำหนดคำนิยามกันขึ้น ผู้เขียนคิดว่าคำนิยามของคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม(กรอ.สังคม) มีความหมายใกล้เคียงกับของคูนส์และคาปร้า คือ "ทรรศนะพื้นฐานอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง อันกำหนดแบบแผนการคิดและการปฏิบัติในประชาคมหนึ่ง ๆ เมื่อทรรศนะพื้นฐานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้แบบแผนการคิดและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยทั้งกระบวน ซึ่งเรียกว่าเป็นการ "ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์" (Paradigm Shift) (6)

ในทัศนะของผู้เขียนคิดว่า กระบวนทัศน์ มิใช่ "ความใหม่"หรือระดับการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิงเท่านั้น แต่หัวใจของกระบวนทัศน์คือ "ระดับความสำคัญ" กล่าวคือ กระบวนทัศน์มีฐานะเป็นทัศนะแม่บท หรือเป็นความเชื่อระดับรากหรือฐานคิด ที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดทัศนะ ความเชื่ออื่นๆ ตามมาอีกมาก

เพื่อศึกษารูปธรรมของเนื้อหาที่กล่าวมาในข้อนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะทดลองศึกษากระบวนทัศน์สุขภาพเป็นกรณีศึกษา

๒.กระบวนทัศน์สุขภาพ

ในคำนิยามและความคิดของคาปร้านั้น "กระบวนทัศน์" ก็คือโลกทัศน์(Worldview)ที่ชุมชนหนึ่งเชื่อและยึดถือร่วมกัน โดยเขาเน้นว่าเป็นโลกทัศน์ของมนุษย์เกี่ยวกับ"ความจริง"ในการดำรงอยู่ของมนุษย์ และสรรพสิ่งต่าง ๆ

ผู้เขียนคิดว่า "ความจริง"ที่มนุษย์ต้องการค้นหาคำตอบมาทุกยุคทุกสมัย คือ

1.ธรรมชาติหรือจักรวาลเป็นอย่างไร ดำรงอยู่อย่างไร ฯลฯ
2.มนุษย์คืออะไร หรือชีวิตคืออะไร ใครสร้าง มาจากไหน จะไปไหน ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ดี-เลว , มีเหตุผล - ไร้เหตุผล มนุษย์เท่าเทียมกันหรือไม่ ฯลฯ
3.มนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ในสถานภาพแบบใด

เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ เราจะพบว่า ศาสนาและวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มุ่งค้นหาคำตอบที่จะมาอธิบายข้อสงสัยดังกล่าว จึงทำให้ศาสตร์ทั้งสองเป็นฐานของโลกทัศน์หรือกระบวนทัศน์ในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์(7) ความพยายามที่จะตอบข้อสงสัยในคำถามเหล่านี้ นำไปสู่พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และศาสนา อภิปรัชญา ที่กลายเป็นกระบวนทัศน์เมื่อชุมชนหรือประชาคมหนึ่ง ๆ ยอมรับร่วมกันในคำตอบนั้น และผลของการยอมรับในความเชื่อพื้นฐานเหล่านี้เอง ก็นำไปสู่

(๑)การพัฒนาแนวคิดของศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งหมดไม่ว่าในระดับปัจเจกและสังคม อาทิ แพทยศาสตร์(ความรู้เกี่ยวกับการเกิดแก่ เจ็บ ตาย) เศรษฐศาสตร์(การผลิต การบริโภค) ศึกษาศาสตร์(การถ่ายทอดความรู้ อบรมกล่อมเกลา) รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ (การปกครอง การใช้อำนาจ ความธำรงความยุติธรรม ) ฯลฯ

(๒)การพัฒนาระบบการปฏิบัติทั้งในระดับปัจเจกและระบบการจัดการทางสังคมตามกระบวน ทัศน์ และแนวคิด ทฤษฎีของศาสตร์ต่าง ๆ ตามกระบวนทัศน์นั้น

(๓)การพัฒนาวิธีวิทยา(Methodology)เพื่อสร้างความรู้ใหม่จากแนวคิดและการปฏิบัตินั้น

กระบวนทัศน์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อความเป็นไปของสังคมมนุษย์ มิใช่เฉพาะในแวดวงของวิชาการ หากต่อวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้นทั้งหมด กระบวนทัศน์ปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของบุคคลและสังคมอยู่ตลอดเวลา งานของคาปร้าชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ที่มนุษย์เผชิญอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน ไม่ว่าในระดับชีวิต สังคม และธรรมชาติ/ระบบนิเวศ เป็นผลโดยตรงมาจากกระบวนทัศน์ที่มองและเข้าใจ "ความจริง"ผิดพลาด(8) แล้วไปขยายเป็นการปฏิบัติ และการสร้างความรู้ที่บกพร่อง วิกฤตการณ์จึงยิ่งขยายตัวไม่รู้จบ มีแต่การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในการมองความจริงที่แตกต่างจากเดิมแบบสิ้นเชิงเท่านั้น วิกฤตการณ์จึงจะคลี่คลายและแก้ไขได้

โดยนัยนี้ วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบันก็เป็นภาพสะท้อนของปัญหากระบวนทัศน์สุขภาพที่บกพร่อง ?

กระบวนทัศน์สุขภาพ และวิกฤตการณ์สุขภาพไทย

หากอาศัยกรอบความคิดของคาปร้าแล้ว แนวคิด ทฤษฎี การปฏิบัติ และวิธีวิทยาในการ สร้างความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา การแพทย์ ฯลฯ กำหนดขึ้นจากกระบวนทัศน์ที่ประชาคมนั้นเชื่อโดยพื้นฐาน ซึ่งคาปร้าแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือกระบวนทัศน์แบบลดส่วน กลไก (Reductionist / Mechanistic) และกระบวนทัศน์แบบองค์รวม (Holistic) กระบวนทัศน์แต่ละแบบ ตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษย์และธรรมชาติด้วยโลกทัศน์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวโดยสรุป ดังนี้

คำถาม : ธรรมชาติ จักรวาล มนุษย์ คืออะไร ดำรงอยู่อย่างไร ลักษณะความ สัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร ?

กระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน
เชื่อว่า ธรรมชาติดำเนินไปหรือเคลื่อนไหวไปอย่างต่อเนื่องเหมือนเครื่องจักร ที่ถูกควบคุมด้วยกฎอันคงที่ และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโลกของวัตถุ ไม่ว่ามนุษย์ วัตถุ ธรรมชาติ ฯลฯ สามารถที่จะวัดและคำนวณค่าออกมาเป็นตัวเลขหรือผลทางคณิตศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ แนวคิดนี้จึงสนใจศึกษาเฉพาะสิ่งที่สามารถวัดและหาปริมาณได้ สามารถพิสูจน์และสัมผัสได้ด้วยอายตนะของมนุษย์

"ความจริง"ของกระบวนทัศน์นี้คือ โลกเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุเป็นชิ้น ๆ จำนวนมากมายที่สามารถแยกจากกันได้ จึงสามารถทำความเข้าใจได้โดยการลดส่วนแยกซอยลงมาศึกษาหน่วยย่อยพื้นฐานของมัน เมื่อเข้าใจส่วนย่อยแล้วจะสามารถจะกำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมดได้เอง การที่สรรพสิ่งได้รับการจัดวางไว้แล้ว ความเป็นเหตุเป็นผลทั้งหลาย จึงถูกกำหนดไว้แล้วอย่างตายตัว สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีสาเหตุอันแน่นอน และนำไปสู่ผลที่เที่ยงตรงแน่นอน เราจึงสามารถคำนวณและคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ออกมาได้อย่างแม่นยำ

การที่กระบวนทัศน์นี้เห็นว่า โลกเป็นเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่ง ไม่ได้มีชีวิต ดังนั้นธรรมชาติหรือระบบนิเวศ และข้อจำกัดของธรรมชาติที่เคยกำหนดและจำกัดมนุษย์ไว้ รวมไปถึงความลึกลับต่าง ๆ ของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องเอาชนะและพิชิตให้ได้ เพื่อนำธรรมชาติมารับใช้ความต้องการของมนุษย์

กระบวนทัศน์แบบองค์รวม
เชื่อในทางตรงข้ามกับแบบแรกอย่างสิ้นเชิง คือเชื่อว่า โลกมิได้ดำรงอยู่อย่างแยกส่วนแบบเครื่องจักรกล และมิได้แยกขั้วมีเพียงวัตถุเป็นแกน หากแต่สรรพสิ่งในโลกทั้งสิ้นทั้งปวง มีทั้งวัตถุและจิต(รูปธรรม/นามธรรม)ที่รวมกันอยู่อย่างหลากหลายแต่เชื่อมโยงแบบผสมผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แยกไม่ได้ โลกจึงมิได้เป็นเพียงวัตถุที่รับรู้ได้โดยมนุษย์เท่านั้น หากมีองค์ประกอบอื่น ๆ อันซับซ้อนอีกมากมายที่เกินการรับรู้ของอายตนะมนุษย์ ด้วย สภาพของ "ความจริง"ดังกล่าว ทำให้การแยกส่วน ลดส่วน มาศึกษา จึงไม่อาจถูกต้องแม่นยำในทุกกรณี หรืออธิบายความเป็นทั้งหมดหรือองค์รวมนั้นได้

ในกระบวนทัศน์นี้ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ "ชีวิต"จึงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และมีสภาวะแบบเดียวกับธรรมชาติ คือมีองค์ประกอบ(ระบบ)หลากหลายรวมกันอยู่อย่างผสมผสานกลมกลืน ทั้งกาย จิต ปัญญา และมีสภาวะสมดุลอยู่เป็นพื้นฐานเดิม

กระบวนทัศน์ทั้ง ๒ แบบที่กล่าวมาโดยย่อนี้ มีอิทธิพลต่อแนวคิด , การจัดการเรื่องสุขภาพ และวิธีวิทยาเพื่อสร้างความรู้ในด้านสุขภาพ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังตารางเปรียบเทียบกระบวนทัศน์ด้านสุขภาพของกระบวนทัศน์ ๒ แบบ ดังต่อไปนี้ (9)

 

กระบวนทัศน์สุขภาพแบบกลไก ลดส่วน แยกส่วน

1.ร่างกายเป็นเครื่องจักรที่สามารถแยกออกเป็นชิ้นส่วนย่อยและมีสภาพแน่นอนเหมือนชิ้นส่วนรถยนต์ ดังนั้น"ชีวิต"ก็คือร่างกายเท่านั้น (จิตก็เป็นปรากฏการณ์ของร่างกาย) การดูแลรักษาสุขภาพจึงมุ่งแต่ส่วนกาย ซึ่งดูแลจัดการแยกได้เป็นส่วน ๆ

2.มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อควบคุมและบงการร่างกายให้มีสุขภาพดี เนื่องจากร่างกายมนุษย์มีขีดความสามารถอันจำกัดมากที่จะรักษาตนเอง

3.การกำจัดอาการเจ็บป่วย สามารถที่จะใช้สารเคมี ฯลฯ เพื่อจัดการอาการเจ็บป่วยนั้นได้โดยทันทีและมีเวลาในการรักษาที่แน่นอน

4.จุดหมายของวิทยาศาสตร์การแพทย์คือการค้นหาการบำบัดความเจ็บป่วยอย่างแยกออกเป็นโรค ๆ โดยค้นหาสาเหตุ หนึ่งสาเหตุต่อหนึ่งโรค.

5.ความรู้ทางการแพทย์แบ่งชั้นลงมาเป็นลำดับ จากนักวิจัยวิทยาศาสตร์มาสู่แพทย์ และสู่คนไข้ แพทย์คือผู้มีอำนาจในการรักษา

กระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวม

1.มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีองคาพยพอันซับซ้อนหลายมิติ ไม่ใช่เครื่องจักร พลวัตของร่างกายมนุษย์มิได้เกิดจากปฏิกิริยาของเคมีและสรีระร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว อารมณ์ จิตใจมีอิทธิพลอย่างสูงต่อสุขภาพ บางครั้งโรคเกิดจากกระบวนการของจิต การรักษาโรคโดยละเลยปัจจัยประการนี้ มีผลต่อความสำเร็จในการรักษา

2.ร่างกายดูแลรักษาตนเองได้ โดยอาศัยสมดุลของร่างกายตามวิถีธรรมชาติ การใช้ชีวิตอย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นแนวทางแห่งสุขภาพที่ดี ซึ่งธรรมชาติได้ให้ไว้ แนวคิดของการรักษาโรคจึงถูกแทนที่ด้วยกระบวนการฟื้นฟูสมดุล

3.ร่างกายมีกลไกวิเศษตามธรรมชาติ ที่จะกำจัดสารพิษผ่านกลไกการกำจัดพิษของร่างกาย แต่การฟื้นฟูสุขภาพเป็นกระบวนการยาวนาน เพื่อสร้างสมดุล และมีความแตกต่างกันในแต่ละคน กระบวนการดังกล่าวไม่ได้สบายราบรื่น และไม่สามารถทำนายเวลาได้.

4.โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายมีกลไกของการป้องกันโรคและเยียวยาตนเอง การเกิดโรคเป็นผลจากการเสียสมดุลของภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มอาการโรคทันสมัย( The Modernization Disease Syndrome) เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เอดส์ เบาหวาน ข้ออักเสบ เกิดมาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ความเครียด บุหรี่ ยา มลพิษ ฯลฯ โดยเฉพาะการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

5.การรักษาสุขภาพเป็นกระบวนการร่วมมือระหว่างปัจเจกบุคคลกับผู้ให้การรักษาสุขภาพแพทย์มิใช่ผู้มีอำนาจสุดท้ายในการควบคุมการรักษา ในนิยามใหม่ แพทย์ทำหน้าที่เหมือนครูผู้คอยให้คำแนะนำ ดังนั้นสุขภาพจึงสามารถเกิดขึ้นนอกช่องทางวิทยาศาสตร์ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปห้ามวิธีการรักษาอื่นๆ ตราบที่ยังให้ผล และวิทยาศาสตร์เองก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีผลเสียจริงอย่างไร

คำชี้แจง : หากนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน ประสบกับปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาในระดับ medium
(web page นี้ ไดรับการจัดหน้าให้เหมาะกับการใช้ internet explorer หากใช้โปรแกรม netscape เปิดอ่าน ภาพและตัวหนังสืออาจไม่อยู่ในตำแหน่งของการ
ออกแบบ (220644)

คลิกไปอ่านหน้าต่อไป

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com


หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
ความยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4