บทความ "กรอบความคิดว่าด้วยกระบวนทัศน์สุขภาพ"นี้ เป็นบททดลองเสนอเบื้องต้น ที่ผู้เขียนพยายามจะประมวลความคิด และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใน ๓ ประเด็น ดังนี้
-กระบวนทัศน์คืออะไร ?
- ความสำคัญของกระบวนทัศน์ (เกี่ยวข้องกับมนุษย์ สังคม ระบบนิเวศ วิกฤตการณ์ การพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างไร) โดยใช้กระบวนทัศน์สุขภาพเป็นกรณีตัวอย่าง
-ข้อสังเกตและวิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์สุขภาพ
1
บทความนี้ ได้รับความร่วมมือจาก อ.อรศรี งามวิทยาพงศ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากประสบปัญหาภาพ
และตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลดขนาดของ font ลง

กลับไปหน้าที่ 1
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืน เราต้องอาศัยจินตนาการ
content page
member page
back to home
webboard
ภาพประกอบโดย Fernando Botero
ชื่อภาพ Siesta.1982
oil on canvas
Introduction

บทความต่อจากหน้าที่ 1 / URL ../datamid2001/newpage3.html
จากตารางที่แสดงในหน้าที่ 1 จะเห็นได้ว่า อิทธิพลของความเชื่อที่มีต่อ"ความจริง"เกี่ยวกับมนุษย์ , ธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่แตกต่างกัน ได้นำไปสู่กระบวนทัศน์สุขภาพที่แตกต่างกันด้วย ในที่นี้ผู้เขียนทดลองวิเคราะห์เพิ่มเติมใน ๒ ประเด็นที่คิดว่าสำคัญ คือ ความแตกต่างของวิธีคิด และการจัดการต่อสุขภาพ

กระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน

1.มีวิธีคิดที่ไม่มี"บริบท"(Context) คือสนใจเฉพาะเรื่อง เฉพาะส่วน ไม่เชื่อมโยงความเจ็บป่วย สุขภาพ เข้ากับบริบทอื่นที่แวดล้อม ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี แม้แต่ภายในร่างกายเองก็เห็นว่า อวัยวะระบบต่าง ๆ สามารถรักษาหรือฟื้นฟูเป็นส่วน ๆ ได้ และมีแนวโน้มการคิดที่ย่อส่วน ซอยย่อย มากกว่าจะขยายออก การขยายบริบทหรือความเชื่อมโยงของกระบวนทัศน์นี้ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นภายหลัง มนุษย์เป็นผู้กำหนด(อะไรเชื่อมโยงกับอะไร) มิใช่สภาพตามธรรมชาติ ดังนั้นถึงที่สุดแล้ว เป็นความเชื่อมโยงแบบกลไก ขาดพลวัต

2. เมื่อสุขภาพมิใช่ของบุคคล หาก เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในเรื่องเชื้อโรค ความผิดปกติของเซลล์ ยีนส์ ฯลฯ ซึ่งมิใช่ความรู้ของคนทั่วไป ความเจ็บป่วยจึงต้องพึ่งพาความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ บุคคลเมื่อเจ็บป่วยจะต้องไปพบแพทย์ ระบบบริการสุขภาพตามกระบวนทัศน์นี้จึงมีโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจการจัดการ โดยปัจจัยความรู้มีบทบาทสำคัญเป็นตัวกำหนดลำดับชั้น คือแพทย์เฉพาะทางมีอำนาจการรักษามากกว่าแพทย์ทั่วไป ในขณะที่แพทย์ทั่วไปมีอำนาจมากกว่าพยาบาล, เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย , อสม.,ประชาชนทั่วไป การรักษาเป็นเรื่องเฉพาะของแพทย์-ผู้ป่วย

3.1 การจัดการสุขภาพเป็นเรื่องของ การ "รับรู้"ข้อมูลจากผู้รู้มาปฏิบัติ

3.2 การผูกขาดความรู้เรื่องสุขภาพและ การขาดบริบทในวิธีคิด ทำให้เกิดการจัดการต่อระบบสุขภาพในแบบ "พิมพ์เขียว" ปฏิเสธความหลากหลาย ความรู้อื่น มุ่งไปที่การจัดการเชื้อโรค เซลล์ผิดปกติ อนุมูลอิสระ ฯลฯ (รักษาโรคไม่รักษาคน)

3.3 ความเชื่อว่ามนุษย์เอาชนะธรรม ชาติได้ ทำให้เกิดความพยายามที่จะพัฒนาความรู้ ที่จะเข้าไปจัดการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลง ความชราและความตาย รวมไปถึงควบคุมการเกิด (โคลนนิ่ง จีโนม)

กระบวนทัศน์แบบองค์รวม

1.มีวิธีคิดที่ให้ความสำคัญแก่บริบท เป็นอย่างสูง คิดเชื่อมโยงสุขภาพเข้าสู่บริบทในระบบย่อย ระบบใหญ่ทั้งหมด ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า ความเชื่อมโยง(สัมพันธภาพ)คือสภาวะของธรรมชาติ (ไม่ว่ามนุษย์จะคิดเชื่อมโยงหรือไม่ โดยสภาพแท้จริงก็เชื่อมโยงกัน) การที่องค์ประกอบทุกส่วนมีบริบทซ้อนกันไปมา ทำให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ วิธีคิดแบบองค์รวม จึงเป็นการคิดทั้งกระบวน มีพลวัตต่อเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์

 

1.วิธีคิด
2.การจัดการ กับ สุขภาพ
2.สุขภาพเป็นเรื่องของการรักษาระบบชีวิต ให้สมดุล จึงเป็นเรื่องของวิถีชีวิตประจำวัน มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม สุขภาพจิต ระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลของสุขภาพ (การเสียสมดุลของหยิน-หยางหรือระบบธาตุในร่างกาย ฯลฯ) ในกระบวนทัศน์นี้สุขภาพจึงเป็นเรื่องการจัดการของบุคคล เมื่อใดที่ขาดสมดุลก็เจ็บป่วย ผู้ป่วยต้องหาความรู้จากผู้รู้ แต่กระบวนการรักษาเยียวยาเป็นเรื่องบูรณาการปัจจัยต่างๆเข้าด้วยกัน มิใช่เรื่องเฉพาะของผู้รักษาและผู้รับการรักษา ร่วมมือกันจัดการเท่านั้น
3.การจัดการ

3.1 สุขภาพเป็นเรื่องของ "การ เรียนรู้"ของบุคคลในบริบทต่าง ๆ

3.2 การแพทย์ในกระบวนทัศน์นี้ มี ความหลากหลาย เป็นพหุลักษณ์ตามความหลากหลายของบริบททางวัฒนธรรม ระบบนิเวศ และความเฉพาะของบุคคล (ที่มีธาตุเดิมแตกต่างกัน)

3.3 เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายไม่อาจ คืนสมดุลได้ คือชราภาพ ชีวิตก็ตายไปตามปกติของธรรมชาติ บุคคลควรเตรียมพร้อมจัดการกับความตายอย่างสงบ และเป็นปกติ


คำชี้แจง
หากนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน ประสบกับปัญหาภาพ
และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาในระดับ medium
web page นี้ ไดรับการจัดหน้าให้เหมาะกับการใช้ internet explorer หากใช้โปรแกรม netscape เปิดอ่าน ภาพและตัวหนังสืออาจไม่อยู่ในตำแหน่งของการ
ออกแบบ (220644)

กระบวนทัศน์ วิธีคิดและการจัดการกับสุขภาพแบบกลไก แยกส่วน ลดส่วนเมื่อปฏิสัมพันธ์(Interaction) กับปัจจัยอื่น ๆ ในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้ก่อผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลและสังคมอย่างกว้างขวาง ผลกระทบที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญและก่อวิกฤตได้มากและรุนแรงคือ

๑.ทำลายบูรณาการของมนุษย์ (กาย จิต ปัญญา)
ความหมายของ "ชีวิต"แยกและลดเหลือเพียงกายเป็นหลัก จิตและปัญญาจะดีได้ด้วยกายเป็นฐาน และกายเองก็ดีได้เป็นส่วน ๆ กระบวนทัศน์นี้สะท้อนชัดเจนในการรักษาและบำรุงสุขภาพ (การกินแคลเซียม โฟเลต วิตามิน อาหารเสริม ฯลฯ ) วิธีคิดดังกล่าว เมื่ออยู่ในบริบททุนนิยม ที่กระตุ้นการบริโภคได้ก่อให้เกิดการบริโภคยา เวชภัณฑ์อย่างฟุ่มเฟือย ไร้ประโยชน์เพื่อรักษา ควบคุม และบำรุงร่างกาย ขาดความสนใจการพัฒนา จิตใจ สติปัญญา หรือแม้แต่ร่างกาย ซึ่งสามารถจะพัฒนาได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น การออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ ฯลฯ เงินได้กลายเป็นกุญแจสำคัญของสุขภาพดีในวิธิคิดของกระบวนทัศน์นี้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ผู้เขียนคิดว่าร้ายแรงที่สุด คือกระบวนทัศน์นี้ได้เข้าไปครอบงำความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็ก(ชีวิต) ทำให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่สนใจแต่การบำรุง "ส่วนกาย" ของเด็กเพราะทำได้ง่าย จากการที่มีสินค้าสนองตอบเพื่อการนี้จำนวนมากมายมหาศาล กระบวนทัศน์สุขภาพแบบนี้ จึงก่อผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างน่าวิตก เนื่องจาก "ชีวิต"ได้ถูกทำให้มีความหมายตื้นเขิน ขาดบูรณาการเป็นอย่างยิ่ง

๒.ทำลายบูรณาการในสังคม ( Social Integration)
กระบวนทัศน์สุขภาพแบบกลไก ฯ ได้แยกมนุษย์ออกจากกัน ในระดับต่าง ๆ คือ

- แยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว การรักษาความเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องของครอบครัว แม้แต่การคลอดบุตร ความตายของญาติ ฯลฯ
- แยกบุคคลออกจากบริบทชุมชน สิ่งแวดล้อม ทำให้สุขภาพ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับแพทย์อย่างโดดเดี่ยว(เดียวดาย)
- โครงสร้างและระบบบริการสุขภาพแบบรวมศูนย์ที่แบ่งตามลำดับชั้นความรู้และเทคโนโลยี การแพทย์ โดยที่ศูนย์กลางเป็นแหล่งรวม "สุดยอดความรู้"ด้านสุขภาพ ทำให้ประชาชนผู้อยู่ใต้อิทธิพลของกระบวนทัศน์สุขภาพดังกล่าว มุ่งหน้าเข้าหาศูนย์กลางให้ได้มากที่สุด แต่การเข้าหาศูนย์กลางได้ จะต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เช่น ทรัพย์ , เส้นสาย (ลัดคิว จองเตียง ฯลฯ) ความคุ้นเคยกับระบบการจัดการแบบสมัยใหม่ ฯลฯ เงื่อนไขดังกล่าวได้สกัดคนจำนวนมากที่ไม่มีเงิน มีเงินน้อย ไม่มีเส้น ไม่คุ้นเคยกับการบริการแบบใหม่(เมือง) ไม่อาจเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือเข้าถึงด้วยความยากเข็ญ ได้รับความทุกข์ยากซ้ำสองจากความเจ็บป่วย โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงว่า เมื่อเข้าถึงแล้ว ยังต้องประสบกับความทุกข์ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับ"ความรู้" ที่แพทย์สั่ง เป็นหนี้เป็นสินจากการรักษา และอีก ฯลฯ สุขภาพที่ควรจะเป็นสาธารณสุขจึงกลายเป็น "สาธารณทุกข์" ไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้เข้าไม่ถึง มีมากกว่าเข้าถึง ผู้ที่เข้าไม่ถึงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ก็จะรักษาแบบตามมีตามเกิด มีปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกันผู้ที่เข้าถึงบริการได้มากที่สุด สะดวกที่สุด จะเป็นคนมีเงินที่สามารถจ่ายให้แก่ความรู้และเทคโนโลยีการแพทย์ ซึ่งสูงมากเท่าไรก็ยิ่งแพงมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งในบริบทของสังคมแบบตลาดเสรี ที่กำลังเงินกำหนดกำลังการบริโภคอย่างอิสระเสรี การแพทย์ของระบบสุขภาพแบบนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีการแพทย์อย่างฟุ่มเฟือยตามกำลังเงิน และทำให้สุขภาพกลายเป็นการค้า (Commercialization) ในตลาด มีการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพตามกระบวนทัศน์แยกส่วน กลไกกันในมูลค่ามหาศาล(10) ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจตายด้วยโรคธรรมดา สุขภาพจึงเป็นปัจจัยของการแบ่งแยกกลุ่มคนในสังคม (แม้ในกลุ่มคนผู้มีกำลังซื้อบริการสุขภาพก็ยังมีการแบ่งระดับ ตามชื่อเสียง ราคาของโรงพยาบาล ฯลฯ)

๓.ทำลายบูรณาการระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ กระบวนทัศน์ที่มุ่งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและต้องการอยู่เหนือกฏเกณฑ์ตามธรรมชาติ (การเกิด แก่ เจ็บ ตาย) และการสนใจแยกส่วนเฉพาะร่างกาย รวมไปถึงการควบคุมสุขภาพจากภายนอก (กินยาลดน้ำหนัก ควบคุมไขมัน เบาหวาน ฯลฯ ) ก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย สูญเปล่า ไม่ว่าจะเป็นยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เทคโนโลยีการแพทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น(และแยกส่วน ลดส่วนมากยิ่งขึ้น) ทำให้มีการใช้พลังงานมากขึ้น จากข้อมูลที่ปรากฏ

ผู้เขียนคิดว่า กระบวนทัศน์สุขภาพแบบกลไก แยกส่วน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายระบบนิเวศทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น การบริโภคอาหารที่เชื่อว่าทำให้สุขภาพดีใน "พิมพ์เดียวกัน" เช่น อาหารนม ถั่วหรือธัญญพืช ฯลฯ ทำให้เกิดระบบการเกษตรแบบทำลายสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วอย่างกว้างขวางทั่วโลก ก่อให้เกิดปริมาณไนโตรเจนในธรรมชาติมากขึ้นในระบบนิเวศ ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลให้เกิดมลภาวะในแหล่งน้ำทั่วโลก และทำลายความหลากหลายของพันธุ์พืชซึ่งใช้ไนโตรเจนน้อย รวมไปถึงการใช้สารเคมีในการปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงวัวนมก็ก่อให้เกิดสารตกค้างในระบบนิเวศด้วย นอกจากนี้ งานบริการสุขภาพก็เป็นภาคที่ใช้พลังงานในระดับสูง เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก(11)

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า กระบวนทัศน์สุขภาพมีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนามนุษย์ สังคม และระบบนิเวศ วิกฤตการณ์ทั้ง ๓ ด้านที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จึงเกี่ยวข้องกับกระบวนทัศน์สุขภาพแบบกระแสหลักโดยตรง การออกจากวิกฤตการณ์จึงต้องมีการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ไปสู่กระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวม ที่มีลักษณะตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน เป็นกระบวนทัศน์ที่บูรณาการมนุษย์ สังคม ธรรมชาติ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันที่จริงกระบวนทัศน์สุขภาพแบบนี้ ก็คือวิถีชีวิตของระบบชุมชนเดิม คือ

- สุขภาพของมนุษย์ คือปฏิสัมพันธ์ขององค์รวมแห่ง กาย จิต ปัญญา
- สุขภาพไม่แยกบุคคลออกจากบริบทครอบครัว ชุมชน , ความสัมพันธ์ทางสังคม ดินฟ้าอากาศ , "ผี" และ "กรรมเก่า" (สิ่งที่มนุษย์ยังอธิบายไม่ได้ รู้ไปไม่ถึง) รวมทั้งเชื่อมโยงกับธรรมชาติ(ธรรมะ) สุขภาพ จึงเป็นการเรียนรู้ของบุคคลเพื่อรักษาสุขภาพให้สอดคล้อง(บูรณาการ)กับบริบททั้งหลาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากกันและกันเป็นหนทางสำคัญอย่างหนึ่งของการรักษาสุขภาพ ไม่ว่าในทางรักษาหรือป้องกัน สุขภาพในแนวนี้ จึงมีโครงสร้างความสัมพันธ์แบบแนวราบมากกว่าลำดับชั้น ไม่แบ่งแยกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องออกจากกัน จึงเป็นกระบวนทัศน์สุขภาพที่เอื้อต่อการบูรณาการมนุษย์ สังคม และธรรมชาติ

๓.ข้อสังเกตและวิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนทัศน์สุขภาพ

ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่า มีงานเขียนและงานวิจัยจำนวนมากในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่ และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ ในส่วนของกระบวนทัศน์สุขภาพนั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตจากการอ่านงานที่ระบุว่า เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางสุขภาพ ดังนี้

๓.๑ ความสับสนเกี่ยวกับกระบวนทัศน์สุขภาพ:
หากพิจารณาตามกรอบความคิดของคาปร้า กระบวนทัศน์ใหม่หรือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์สุขภาพ จะต้องเป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์ในการมองความจริงเกี่ยวกับมนุษย์และธรรมชาติ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต วิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะบางด้าน บางเรื่อง จึงมิใช่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือมิใช่กระบวนทัศน์ใหม่โดยนัยนี้ เช่น การกินอาหารต้านอนุมูลอิสระ การบริโภคอุปโภคผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ด้วยความเชื่อว่า อาหาร ผลิตผลจากธรรมชาติจะลดความเสี่ยงจากสารเคมีที่ก่อมะเร็ง หรือบริโภคอาหารเสริมจากธรรมชาติ เช่น แปะก๊วย ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ซุปไก่สกัดช่วยส่งเสริมสมอง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนวิธีคิดแบบกลไก แยกส่วน ว่ามะเร็งเกิดจากความผิดปกติของเซลและสุขภาพดีได้เป็นส่วน ๆ(12) หรือการปรับปรุงระบบการจัดการใหม่ในด้านบริการสุขภาพ เป็นที่เข้าใจว่าคือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์(13)

ผู้เขียนเห็นว่า ความสับสนของกระบวนทัศน์ใหม่ ที่มักเกิดขึ้นคือ

(๑) ความสับสนว่าเทคนิคคือกระบวนทัศน์
เช่นเข้าใจว่า การฝังเข็มเป็นกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ดังนั้น เมื่อนำการฝังเข็มมาใช้รักษาสุขภาพในการแพทย์สมัยใหม่ แสดงถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่มาเป็นกระบวนทัศน์แบบองค์รวม โดยมิได้พิจารณาบริบทหรือความเชื่อพื้นฐานในการนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ เช่น การนำวิธีฝังเข็มไปควบคุมการลดน้ำหนักโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการฝังเข็ม

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า การนำเทคนิคการรักษาและเทคนิคการจัดการแบบอื่น ๆ นอกกระแสหลักของการแพทย์ปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ น่าจะมิได้หมายถึงการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์? (อย่างไรก็ตาม เทคนิค การจัดการบางอย่าง ก็มีสาระของกระบวนทัศน์อยู่ด้วย มิได้เป็นเพียงเทคนิคล้วน ๆ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนเทคนิค การจัดการบางอย่างก็อาจมีผลให้การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ก่อตัวสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในอนาคตได้ หากมีเงื่อนไขอื่นเข้ามาเสริม เช่นการเรียนรู้ของบุคลากร การเห็นผลดีที่เกิดขึ้น ฯลฯ)

ในนัยเดียวกัน ความเข้าใจที่ว่า กระบวนทัศน์แบบองค์รวมจะต้องปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด ต้องใช้แต่เทคนิคการแพทย์ของสมัยเดิมล้วน ๆ อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน ? ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า แม้เราจะสามารถเข้าใจกระบวนทัศน์โดยผ่านการพิจารณาเทคนิค วิธีการจัดการ แต่การพิจารณาเพียงเทคนิค การจัดการ โดยลำพัง ก็ไม่เพียงพอที่จะแสดงกระบวนทัศน์ใหม่หรือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ เพราะกระบวนทัศน์ใหม่หรือเก่า มิได้พิจารณาจากความเป็นตะวันตก ตะวันออก กระแสหลักหรือทางเลือก ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยคือ ความเชื่อโดยพื้นฐานต่อระบบสุขภาพ (องค์รวม-แยกส่วน) วิธีคิด (มีบริบท /ไม่มีบริบท)(14) ที่สำคัญที่สุดคือกระบวนทัศน์นั้น ตอบคำถามหลักเกี่ยวกับมนุษย์-ธรรมชาติอย่างไร

(๒) ความสับสนเกี่ยวกับสภาวะของ "องค์รวม" และ "ความเชื่อมโยง"
ในทัศนะของคาปร้า(และแนวคิดฝ่ายพุทธ) สภาวะที่เรียกว่า "องค์รวม" นั้น คือสภาวะตามธรรมชาติ ที่สรรพสิ่งมีสัมพันธภาพเชื่อมโยงซับซ้อนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน (จนไม่มีคำว่าส่วนประกอบ/part)มนุษย์จะต้องศึกษาเรียนรู้หลายช่องทาง หลายรูปแบบเพื่อการเข้าถึงสภาวะนี้ (เช่น อาศัยญาณทัศนะ/intuition มิใช่เฉพาะเหตุผลล้วน ๆ ) ผู้เขียนสังเกตว่า "องค์รวม"ซึ่งใช้กันอยู่ในหลายกรณีนั้น คือการนำปัจจัยต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกัน หรือมาต่อรวมกันเข้า ซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบกลไกมากกว่า ความสับสนในประการนี้ น่าจะมาจากความเข้าใจว่า ความสัมพันธ์แบบกลไกไม่มีความเชื่อมโยง ดังนั้นถ้านำส่วนต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกันแล้ว สภาวะ "องค์รวม"ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว แม้เครื่องจักรกลก็ทำงานเชื่อมโยงกัน หากเป็นความเชื่อมโยงแบบส่งต่อ(เส้นตรง) แต่ละส่วนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และความเชื่อมโยงเกิดขึ้นภายหลัง ในขณะที่สภาวะ "องค์รวม" นั้น สัมพันธภาพหรือความเชื่อมโยงคือตัวสาระสำคัญแรกของ "ความเป็นองค์รวม" และเกิดขึ้นแบบพร้อมกัน มิใช่แบบส่งต่อหรือเป็นเส้นตรง

๓.๒ คำถามที่น่าคิด ?

กล่าวเฉพาะกระบวนทัศน์สุขภาพ ผู้เขียนคิดว่า ยังมีเรื่องชวนให้คิดอีกไม่น้อย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า กระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวมจะดำรงอยู่อย่างไร อยู่ได้หรือไม่ ในวิถีชีวิตแบบเมืองที่ต้องพึ่งพาตลาด และเป็นตลาดเสรีที่สร้างวัฒนธรรมการบริโภค "สุขภาพ" เพราะกระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวมพัฒนามาจากการเรียนรู้ในระบบชีวิตแบบชุมชนที่ใกล้ชิดและพึ่งพิงธรรมชาติ , เราจะพัฒนากระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวมภายใต้บริบทเศรษฐกิจ สังคม การเมืองปัจจุบันกันอย่างไร ต้องอาศัยเงื่อนไขปัจจัย กระบวนการอะไรบ้าง ? ฯลฯ

เชิงอรรถ

(1) Guba ,Egon C. (editor). The Paradigm Dialog. California : Sage Publication Inc. ; 1990 p.17

(2) Encyclopedia Britannica , Year in Review 1996 : obituary , Kuhns , Thomas S.
< http://www.britannica.com/bcom/eb/article/printable/0/0,5722,123490,00.html > 31/10/43

(3) Cohen,Jon. "The March of Paradigms" Science,03/26/99 , Vol 283 Issue 5410,p1998-1999

(4) Capra , Fritjof. The Web of Life. London : Flamingo ,1997 . p.5

(5) อ่าน พระประชา ปสสนธัมโม และคณะ (แปล) จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ. แปลจากThe Turning Point. by Fritjof Capra กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ๒๕๒๙.

(6) คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม , กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา. (New Development Paradigm) กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ, กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม , เอกสารวิชาการลำดับที่ 314 เล่มที่ 14/2537 น.1

(7) คาปร้าชี้ให้เห็นว่า ความจริงแล้ว การแบ่งแยกวิทยาศาสตร์และศาสนาหรือจิตวิญญาณออกจากกันนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเกิดวิทยาศาสตร์แบบกลไก เพราะในอารยธรรมดั้งเดิมนั้น ศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้เขียนคิดว่า The Web of Life เป็นความพยายามของคาปร้าที่จะประสานวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณหรือศาสนธรรมกลับไปเหมือนเดิม ที่ไม่มีการแบ่งแยกโลกทางวัตถุและจิต

(8) หากเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา กระบวนทัศน์ก็คือ "ทิฏฐิ" ที่มีต่อปรมัตถ์สัจจะ(Truth) ซึ่งมีทั้งมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) และสัมมาทิฏฐิ(เห็นถูก)พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับสัมมาทิฏฐิมาก ถือเป็นมรรคแรกในมรรค ๘ มีอิทธิพลต่อมรรคที่เหลือ คือหากเห็นผิดแต่ต้น มรรคอื่นก็ผิดไปด้วย

(9) สรุปความจากตารางของ Smith , Macia. The New Paradigm in Health.

(10) สินค้าเพื่อการลดน้ำหนักของสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อปี1990 คาดว่าปัจจุบันจะเพิ่มอีกหลายเท่าตัว มีการศึกษากระบวนทัศน์ใหม่ในการลดน้ำหนักด้วย : Gast, Julie; Hawks, Steven R. "Weight loss education: The challenge of a new paradigm." In Health Education & Behavior, Aug98, Vol. 25 Issue 4, p464-74

(11) อ่าน อรศรี งามวิทยาพงศ์ (บรรณาธิการ) " อาหารทุกคำลงทุนด้วยพลังงานและสิ่งแวดล้อม" และ "พลังงานอะไร ใช้นานจนลืมว่าใช้" ใน กรอบความคิดและบูรณาการพลังงานสู่ชีวิต : วารสารพลังรุ่งอรุณ ฉบับพิเศษ เดือนกุมภาพันธ์ 2544. กรุงเทพฯ : สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย,2544

(12) มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจระหว่างกระบวนทัศน์ ๒ แบบว่า ผลิตผลธรรมชาติที่ผ่านการแปรรูปทางอุตสาหกรรมแล้ว เมื่อนำมาใช้เกี่ยวกับสุขภาพจะคงสภาวะ "ธรรมชาติ"ไว้เหมือนเดิมหรือไม่ นักคิดบางคนในกระบวนทัศน์แบบองค์รวมเชื่อว่า มี"information"หรือ energy หรือพลังธรรมชาติ อยู่ในผลิตผลด้วย การแปลงรูปเพื่อเป็นสินค้าแบบ Mass product จะทำลายคุณค่าดังกล่าวไป อ่าน Malcolm , Christine . "A New Aromatic Paradigm" . Drug & Cosmatic Industry . Issue Dec.1998

(13) อ่าน Blair Earl H. ,Geller E. Scott . "Does OSHA Need a New Paradigm" (Occupational Safety and Health Administration) Professional Safety . Sep.2000 Vol.45 Issue 9,p.27-31 และ Andrus & Co. " A new Paradigm for international disease Control : Lesson Learned from Polio Eradication in Southeast Asia". American Journal of Public Heath. Jan 2001 Vol 91 Issue 1 p. 146-151

(14) กรณีนี้จะศึกษาได้จาก กรณีอาพาธของท่านพุทธทาสมหาเถระ ผู้ซึ่งมีกระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวม แต่ไม่ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี และวิธีการรักษา เวชภัณฑ์ บางระดับ แต่เป็นการใช้ในขอบเขตของความเชื่อพื้นฐานในกระบวนทัศน์สุขภาพแบบองค์รวม ผู้เขียนคิดว่า กระบวนทัศน์สุขภาพของท่านอาจารย์สะท้อนผ่านวิธีคิดเชิงบริบท คือ การพิจารณาเงื่อนไขเฉพาะตน(อายุ ,สมณภาวะ ฯลฯ) เงื่อนไขทางสังคม เงื่อนไขของธรรมชาติ มาประกอบการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ อ่าน น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ท่านอาจารย์พุทธทาส คนไข้ที่ผมรู้จัก , กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ,๒๕๓๗

 

กลับไปหน้าแรกของบทความ

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com