June 2001
Midnight University
ประเทศไทยประสบกับอุบัติภัย
ทางสารเคมีครั้งรุนแรงที่สุด
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 เมื่อสารเคมีที่เก็บไว้ในโกดังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เกิดระเบิดขึ้นจนกลายเป็นเพลิงลุกไหม้ต่อเนื่องนานถึง 4 วัน ส่งผลให้สารเคมีฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้มีผู้เสีย ชีวิต ทันที 4 คนบาดเจ็บ และเจ็บป่วย เรื้อรังอีกจำนวนมาก

Introduction
R
random
content page
member page
back home
หากประสบปัญหาภาพ และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
อาจารย์ สุริชัย หวันแก้ว

เมืองไทยบนเส้นทางแห่งสังคมเสี่ยงภัย
ข้อคิดและคำถามเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีแห่งเหตุการณ์โกดัง สารเคมีระเบิดที่คลองเตย
สุริชัย หวันแก้ว

หมายเหตุ : ปรับปรุงจากเอกสารประกอบการสัมมนาโต๊ะกลม หนึ่งทศวรรษสารเคมีระเบิดที่คลองเตย - พัฒนาการของความเสี่ยงภัยด้านสารพิษกับศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีของโศกนาฎกรรมที่คลองเตย, ศูนย์สารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 มีนาคม 2544.

1. นำเรื่อง : บทเรียนที่ยังมิได้เรียนรู้กัน
ประเทศไทยประสบกับอุบัติภัยทางสารเคมีครั้งรุนแรงที่สุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 เมื่อสารเคมีที่เก็บไว้ในโกดังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เกิดระเบิดขึ้นจนกลายเป็นเพลิงลุกไหม้ต่อเนื่องนานถึง 4 วัน ส่งผลให้สารเคมีฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 คนบาดเจ็บและเจ็บป่วยเรื้อรังอีกจำนวนมาก

จากการติดตามผลของมูลนิธิดวงประทีป และกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมทราบว่ามีคนเข้ารับการรักษา 1,700 คนเศษ ในจำนวนนี้มีหญิงมีครรภ์ 499 ราย มีคนบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากการปฏิบัติการ 30 คนเศษ แม้แต่ตำรวจดับเพลิงก็มีถึง 30 คนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเพราะไม่รู้จักวิธีดับไฟ ขณะที่ประชาชน 5,700 คนไร้ที่อยู่อาศัย หลังจากเหตุการณ์นั้นมีคนตายอีก 43 ราย (ดูบทความของ สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ เรื่องราวของผู้ยังอยู่และผู้จากไป) เอกสารสัมมนา 1 มีนาคม 2544)

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลสำคัญที่ช่วยปลุกให้สังคมไทยตื่นขึ้นฉับพลันโดยไม่ทันเตรียมตัว ใด ๆ สังคมโดยส่วนรวมตื่นตัวกับเรื่องนี้และเกิดการถกเถียงตามมามากมาย ในหมู่สาธารณชนและแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเอง โดยเฉพาะในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ทั้งระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ความล้าหลังทางมาตรการ กฎหมาย และนโยบายของประเทศต่อสถานการณ์ความเสี่ยงภัยด้านอุบัติภัยสิ่งแวดล้อม การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ตามไม่ทันกับปัญหาและเรื่องการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประสบภัย เป็นต้น ตลอดจนข้อวิตกที่ว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศโลกที่สามที่ตกเป็นเป้าหมายของการระบายสารพิษจากประเทศอุตสาหกรรม ทั้งนี้แทบทุกคนในครั้งนั้นคาดหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทั้งเชิงมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ แต่ว่าความคาดหวังดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นภาพเลือนลางมาตลอด 10 ปี

หากมองย้อนภาพยาวไปอีกบ้าง ประเทศไทยดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อเร่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้ามานานกว่า 3 ทศวรรษ พร้อมกับมีการส่งเสริมการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาคมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 - 2519) การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศก็มีการขยายตัวไปในทุกภูมิภาค การขยายตัวดังกล่าวจำเป็นพึ่งพาเงินทุน เทคโนโลยี ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และวัตถุดิบจำนวนมากจากต่างประเทศ

หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่มีการนำเข้าประเทศคือ สารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ในแต่ละปีมีการนำเข้าสารเหล่านี้นับร้อยล้านตัน และผลิตในประเทศอีกหลายสิบล้านตัน

การใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างผลกระทบมากมายต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษและโลหะหนักในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ รวมถึงการสะสมของสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่กำลังอยู่ในระดับอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และอื่น ๆ นอกจากนี้สารพิษที่ตรวจพบในสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีหลายชนิดที่เป็นสารอินทรีย์ย่อยสลายยาก ตัวอย่างเช่น พีซีบี ไดออกซิน ดีดีที แอลดริน ดีลดริน และอื่น ๆ ซึ่งมาจากการใช้ในกระบวนการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สารจำพวกนี้เป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงต่าง ๆ ในมนุษย์และสัตว์ เช่น โรคมะเร็ง และความพิการของทารกแรกเกิด รวมทั้งทั้งที่อยู่ในครรภ์มารดาด้วย เป็นต้น

ขณะที่ปริมาณการใช้สารเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น การควบคุมดูแลตั้งแต่ระดับการนำเข้า การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย ตลอดจนถึงการใช้และการป้องกันในประเทศไทยยังคงหละหลวม ขาดระบบ ขาดความพร้อมและประสิทธิภาพ จนเป็นเหตุนำไปสู่การเกิดอุบัติภัยรุนแรงและการรั่วไหลสู่สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความสูญเสียนับ 50 ครั้ง โดยเฉพาะกับชาวชุมชนรอบโรงงาน และคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งเส้นทางการขนส่งวัสดุเคมีและสารอันตราย (ดูบทความของโสภณ ตติโชติพันธ์แห่งกรมควบคุมมลพิษในเอกสารสัมมนา 1 มีนาคม 2544)

แม้ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมานี้ อุบัติเหตุด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็ยังก่อความสะเทือนขวัญอีกต่อไป อาทิ เหตุการณ์สารโปรแตสเซียมระเบิดที่โรงงานลำไยอบแห้ง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 เดือนกันยายน 2542 คลังน้ำมันของบริษัทไทยออยส์ระเบิดเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เหตุการณ์สารคาร์บอนิลรั่วที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อเดือนมีนาคม 2543 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอีกหลายกรณี รวมทั้งกรณีโคบอลต์ 60

เหตุการณ์และอุบัติภัยเหล่านี้ล้วนเป็นการท้าทายให้เราหันมาพิจารณาพลวัตการปรับตัวของสังคมไทย ผู้สังเกตการณ์หลายฝ่ายได้พากันชี้ถึงว่า นั่นเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลว ล่าช้า และไร้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การติดตามให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมายยังคงไม่ได้รับความสำคัญ

2. การปรับตัวของสังคมไทย
ถ้าหากสังคมไทยมีการปรับตัวต่อปัญหาใด ๆ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เองโดยอัตโนมัติเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมาพูดคุยกันหรือแสดงการวิตกเรื่องการแก้ไขและการป้องกันปัญหาความเสี่ยงให้เกินเหตุ ตรงจุดนี้หากจะพิจารณาในทางวิชาการสังคมวิทยาแล้ว ประเด็นปัญหาเบื้องต้นที่สุดก็คือ สังคมนั้นมีธรรมชาติอันสามารถปรับตัวได้เองหรือไม่

หากพินิจพิจารณาถึงคำศัพท์สำคัญในเรื่องพลวัตการปรับตัวของสังคมไทย นี้ย่อมจะพบว่า คำ ๆ นี้แฝงด้วยการตั้งข้อสมมติบางประการ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดคำถามที่เกี่ยวเนื่องขึ้นมาด้วย

2.1) สังคม มีภาวะเป็นปรนัย (วัตถุวิสัย) หรือมีภาวะเป็นอัตนัย (อัตตวิสัย) ควบคู่ไปด้วย หากถือว่าสังคมมันตั้งมั่นอยู่ตรงโน้น สังคมมีความเป็นตัวเป็นตนเป็นรูปธรรมมั่นคงอยู่ แต่หากเราถามว่า สิงที่เรียกกันว่าสังคมนั้นมีรูปธรรมอยู่ตรงไหน เวลาเด็กนักเรียนหญิงใกล้บริเวณสารเคมีระเบิดที่คลองเตยร้องว่า "ช่วยด้วย" สังคมไทยที่ว่านั้น มีท่าทีและการตอบโต้ต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร ? สังคมมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำถามข้อนี้ เราจำต้องพิจารณาตามหลักวิชาสังคมวิทยาที่เน้นพินิจสังคมจากทั้งสองด้านคือ "ด้านวัตถุวิสัย"กับ"ด้านอารมณ์ความรู้สึก"หรืออัตวิสัยดังกล่าวที่ปฏิสัมพันธ์กัน

2.2) เราคิดว่าสังคมมีการปรับตัวได้เองคือเป็นพลวัตในตัวเองได้จริงเช่นนั้น เราจะมองสังคมด้วยการคิดเป็นแบบกลไก (mechanistic) ซึ่งมิได้มีชีวิตของตนเอง หรือว่าสังคมมีพลวัตแบบสิ่งมีชีวิต (organismic) กันแน่ หากเราพิจารณาสังคมด้วยแนวทางแบบกลไกก็ไม่ต้องสนใจใส่ใจตัวแปรแห่งเจตนารมณ์ของคนแต่ละคนที่เป็นสมาชิก

คำถามข้อนี้แฝงด้วยข้อสมมติฐานอันสำคัญเรื่อง การปรับตัว (Adaptation) อันที่จริงนั้นเดิมทีคำว่าการปรับตัวเป็นศัพท์ที่มีที่มาจากวิชาชีววิทยา ซึ่งเน้นทำความเข้าใจต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต (organism) ในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

- ประเด็นคำถามคือ สังคมเป็น "สิ่งมีชีวิต" (organism) หรือไม่ หรือว่าสังคมเป็นจักรกลที่เป็นวัสดุอันเป็นชิ้นส่วนที่ประกอบกันเข้าเป็นระบบ การตั้งโจทย์เรื่องการปรับตัวของสังคมนั้นสะท้อนสมมติฐานในใจว่า ตัวเราผู้ตั้งคำถามยึดเอากระบวนทัศน์แบบชีววิทยา มิใช่กระบวนทัศน์กลศาสตร์มาเป็นตัวอธิบายเรื่องสังคม

- การปรับตัวในความหมายทางสังคมวิทยานั้นใช้ในความหมายที่ประยุกต์ใช้กว้างกว่าความหมายเดิมทางชีววิทยา เพราะหมายถึง กระบวนการที่สิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมทางสังคม ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดสำนักวิวัฒนาการนิยม (Evolutionary Theory) เชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายย่อมสามารถปรับตัวได้มากขึ้น ดีขึ้น และก้าวหน้าขึ้นเสมอ ขณะเดียวกันนั้นผู้ที่ไม่อาจปรับตัวได้ ชีวิตเขาก็ต้องสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา นี่คือหลักผู้แข็งแรงเท่านั้นคือผู้อยู่รอด (Survival of the Fittest) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน คำนี้แตกต่างจากคำว่า "การปรับปรุง" (adjustment)

- คำว่า "การปรับตัว" ใช้ในความหมายที่กว้างกว่าคือ วิธีที่ระบบสังคมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น ครอบครัว องค์กรธุรกิจ องค์กรสังคม หรือสังคมทั้งระบบ ฯลฯ สามารถอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (structional-functional theory) การที่สังคมดำรงอยู่ก็ถือได้ว่ามีการปรับตัวรับสภาพปัญหาต่าง ๆ เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น (prerequisities) ของการอยู่รอดของระบบสังคมนั้น ๆ ถ้าหากไม่มีการปรับตัวหรือปรับตัวไม่ได้ (maladjustment) สังคมนั้น ๆ จะไม่สามารถดำรงต่อไปหรือไม่อาจอยู่รอดต่อไปได้ ทัศนะเชิงชีววิทยานั้นมองว่าสังคมซึ่งประกอบด้วยผู้คนแตกต่างกันและประกอบด้วยกลุ่มคนแตกต่างกันสามารถปรับตัวร่วมกันเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตองคาพยพเดียวกัน

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องก็คือ สังคมไทยประกอบด้วยคนซึ่งต่างก็มีชีวิตของตนอยู่ต่างกลุ่มต่างองค์กร จะสามารถมีเจตนารมย์ร่วมกันในการปรับตัวได้หรือไม่ สังคมมีการจำแนกความแตกต่าง ต่างกลุ่มต่างผลประโยชน์ มีทั้งผู้มีอำนาจและผู้สูญเสียอำนาจ มีทั้งหน่วยงานราชการ ธุรกิจและภาคประชาชน มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากผู้เข้มแข็งและผู้อ่อนแอ หากมีการยอมรับว่าความเป็นธรรมต่อบรรดาชีวิตในสังคมเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ใครเล่าควรจะเป็นผู้ตัดสินใจ และพึงจะตัดสินด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรดี

2. 3). สังคมไทยมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสังคมอื่นอย่างไร หรือไม่ สังคมไทยมีการตอบสนองต่ออุบัติภัยอันตรายแรงจากสารพิษอย่างไร มีการปรับตัวต่อแรงกระตุ้นจากโลกภายนอกแตกต่างจากสังคมอื่นในแถบภูมิภาคนี้หรือไม่ ในการปรับตัวต่อเหตุการณ์ร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมไทยกับสังคมภูมิภาคและมหาวิทยาลัยภูมิภาคแต่ละแห่งของประเทศไทยมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร กล่าวคือมีท่าทีและปฏิกิริยาต่อการเหตุการณ์ร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันหรือไม่ กล่าวคือต่อกรณีน้ำพองเน่า ต่อกรณีไข้ดำที่ร่อนพิบูลย์ กรณีโรงลำใยอบแห้งระเบิด รวมทั้งกรณีโกดังสารเคมีที่คลองเตยระเบิด หรือกรณีมลภาวะที่มาบตาพุด ฯลฯ อย่างไร

2. 4). องค์กรและสถาบันต่าง ๆ ในสังคมที่เรียกตนเองว่าสังคมไทยนั้นมีขีดความสามารถในการเรียนรู้ (learning capacity) เพื่อปรับตัวในเรื่องนี้และสถานการณ์ปัญหาเช่นนี้อย่างไรบ้าง

จากการศึกษาวิจัยประสบการณ์ในยุโรปในเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองของสังคม รวมทั้งบริษัทอุตสาหกรรม สังคมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่าง ๆ ปิแอร์ เวลลิงกะ นักวิชาการคนสำคัญของยุโรปได้เขียนสังเคราะห์และสรุปปฏิกิริยาต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมแบ่งเป็นขั้นตอนได้ เขาได้สรุปปฏิกริยาตอบสนองของสังคมและธุรกิจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นขั้นตอนการพัฒนาได้เป็นลำดับ ซึ่ง ณ ที่นี้ ผู้เขียนขอปรับประยุกต์ข้อคิดเห็นของเขาและทดลองขยายความเพื่อให้สอดคล้องกับการคิดพิจารณากรณีของประเทศไทยตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 : ปฏิกิริยาตอบสนองของสังคมและธุรกิจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

ลำดับ (1) / ขั้นตอนของการ ตอบสนอง(ขั้นปฏิกริยา/reactive) /จุดเพ่งที่สนใจ (ปัญหาตรงปลายเหตุเช่นแก้ปัญหาตรงปล่องควัน) / ตัวกระทำการหลัก (ผู้เชี่ยวชาญมีบทบาท สูง) / หลักปรัชญาที่ ขับเคลื่อน (ลดให้น้อยที่สุด)

ลำดับ (2) /ขั้นตอนของการ ตอบสนอง (ขั้นเป็นฝ่ายรับ-(receptive)) / จุดเพ่งที่สนใจ (กระบวนการ) / ตัวกระทำการหลัก (ผู้จัดการมีบทบาทสูง) / หลักปรัชญาที่ ขับเคลื่อน (ให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด)


ลำดับ (3) / ขั้นตอนของการ ตอบสนอง(ขั้นสร้างสรรค์ (Constructive)) / จุดเพ่งที่สนใจ (ผลผลิต/ ผลิตภัณฑ์) / ตัวกระทำการหลัก (สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง) /
หลักปรัชญาที่ ขับเคลื่อน (เร่งรัด-ประสิทธิภาพ)


ลำดับ (4) / ขั้นตอนของการ ตอบสนอง (ขั้นเป็นฝายรุกเชิงยุทธศาสตร์ (pro-active)) /
จุดเพ่งที่สนใจ(ทั้งระบบให้ครบ วงจร) / ตัวกระทำการหลัก (สังคม (ทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ และประชาสังคม)) / หลักปรัชญาที่ ขับเคลื่อน ( วิสัยทัศน์แห่งการ พัฒนา)

จากตารางข้างต้นเราอาจจะลองเทียบเคียงกรณีการปรับตัวในสังคมเรา และะพิจารณาได้ว่าประเทศไทยเรายังอยู่ในขั้นตอนการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในลำดับขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เท่านั้น

3. เมื่อสังคมมุ่งพัฒนากลายเป็นสังคมเสี่ยงภัย
ในการพิจารณาเรื่องสภาพความเสี่ยงอันตรายในด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ติดตามมากับการสร้างความเจริญในสมัยใหม่นั้น เราสามารถอ้างอิงแนวความคิดและการค้นคว้าของ Ulrich Beck นักสังคมวิทยาเยอรมันผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกปัจจุบัน เบคเห็นว่า สังคมที่มุ่งอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ๆ มากมาย จริงอยู่สังคมมนุษย์ไม่ว่ายุคใดสมัยใดล้วนต้องเผชิญกับความเสี่ยงกันทั้งนั้น ซึ่งความเสี่ยง ณ ที่นี้หมายถึงโอกาสที่คนเราจะประสบกับความสูญเสียหรืออันตรายประสบกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

แต่อย่างไรก็ดี สังคมที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนี้ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มีลักษณะแตกต่างจากสมัยก่อนนั้นกล่าวคือ ในยุคแห่งสังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) นี้มีความเสี่ยงอันตรายที่มีลักษณะแตกต่างออกไปกล่าวคือ การประสบอันตรายในยุคก่อนเป็นชะตากรรมที่มาจากอุบัติภัยธรรมชาติ แต่ในสมัยปัจจุบันนั้นการประสบภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินเกี่ยวข้องและเป็นผลลัพธ์เกี่ยวเนื่องมาจากการตัดสินใจของผู้อื่นเป็นส่วนมาก

ในงานเขียนต่อมาของเขา เบคพยายามแยกแยะทัศนคติและความคิดของสังคมในการเผชิญกับวิกฤตสภาพแวดล้อมในช่วงร่วมสมัยออกเป็น 2 ขั้นตอน ตามนัยความเข้าใจดังกล่าวนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเราสามารถจะแยกแยะและเห็นว่าเมืองไทยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ 1 ของการพัฒนา ซึ่งแบ่งลักษณะการปรับตัวของสังคมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 ช่วงหรือ 2 ขั้นตอน

ขั้นแรก ได้แก่ ขั้นตอนซึ่งสังคมมีการผลิตและสร้างผลลัพธ์อันมีพิษภัยและมีการทำอันตรายต่อตนเองอย่างมีระบบ แต่ทว่ายังไม่มีการตระหนักรู้ถึงลักษณะสาเหตุด้านระบบเช่นนี้ และสิ่งเหล่านี้ยังมิได้เป็นประเด็นปัญหาสาธารณะ (public issue) และก็มิได้เป็นเรื่องประเด็นต่อสู้ในการขัดแย้งทางการเมือง สังคมในช่วงแรกนี้ถูกบรรยากาศแห่งอุดมการณ์ในการมุ่งเป็นประเทศพัฒนา หรือรัฐพัฒนา (developmental state)

ในสภาพสังคมมุ่งหน้าไปในทิศทางการขยายตัวและรุ่งเรืองด้านอุตสาหกรรมเช่นนั้น หากมีพิษภัยหรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ทางราชการหรือวิชาการในแนวอุดมการเช่นนี้ ก็มักจะกล่าวถึงว่าเป็นการเสี่ยงภัยที่ต้องยอมเสียสละบ้าง เพราะเป็นผลเสียที่สืบเนื่องมาจากการตัดสินใจจะมุ่งให้เป็นประเทศพัฒนาอันเป็นเป้าหมายสูงส่ง การพูดในแนวนี้มักจะชวนให้มองข้ามความทุกข์เข็ญในหมู่ผู้ประสบเคราะห์กรรม รวมทั้งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากอุบัติภัยว่าเป็นเรื่องที่ "หลีกเลี่ยงไม่ได้" หรือไม่ก็เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งเป็น "คนส่วนน้อย" น่าจะต้องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวมหรือ "คนส่วนใหญ่" ก่อน

ขั้นที่สอง ในการพัฒนาการของสังคมสู่ขั้นนี้ จะมีสถานการณ์แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เมื่อสังคมที่มุ่งเป็นอุตสาหกรรมประสบกับอุบัติภัยร้ายแรง รวมทั้งเหตุการณ์เกี่ยวกับมลพิษแบบเฉียบพลันและมลพิษที่สะสม แต่ทว่าสาธารณชนกลับขาดข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ความวิตกตระหนกตกใจกลัวย่อมครอบงำจิตใจผู้คนในสังคม สาธารณชนวิตกกังวล บางครั้งจึงตื่นตระหนกเพราะอุบัติภัย ความเสี่ยงภัยเหล่านี้จึงเป็นประเด็นโต้เถียงกันทั้งในระดับระหว่างสื่อมวลชนและแวดวงการเมือง ตลอดจนเวทีสาธารณะ แต่บ่อยครั้งที่มีการหันเหให้กลับกลายเป็นเพียงเรื่องการแย่งชิงตำแหน่งหรือขั้วการเมืองเรื่องของอำนาจ

บ่อยครั้งก็เน้นแต่การแก้ไขด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ "เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง" โดยมิได้นำพาต่อตัวปัญหาอันเป็นพื้นฐานและก็มิได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจริงจังให้ได้ผลที่ยั่งยืน ในช่วงเวลานี้ เริ่มจะมีการชี้แจงกันว่า สถาบันต่าง ๆ ของสังคมที่มุ่งการพัฒนาเป็นสังคมอุตสาหกรรมเป็นตัวการก่ออันตรายเสียเอง และมักจะเป็นตัวให้ความชอบธรรมอันตรายที่ตนเองก็ไม่สามารถควบคุมได้นั้นไปด้วย

ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสังคมที่ดำเนินเข้าสู่ขั้นที่สองนี้ สถาบันทรัพย์สิน กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบสังคมการเมืองยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก สังคมมุ่งอุตสาหกรรมนี้เริ่มพินิจความเป็นไปของตนเองและวิพากษ์ตนเองว่าเป็นสังคมเสี่ยงภัย (risk society)

แต่อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งนั้น สังคมก็ยังคงมีการตัดสินใจและปฏิบัติการตามแบบแผนแห่งสังคม มุ่งหน้าพัฒนาแบบขยายตัวแต่ในเชิงปริมาณอย่างที่เคย แต่ทว่าขณะเดียวกันนั้น ในเวทีสาธารณะในสังคมก็มีการโต้เถียงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากพลวัตในสังคมแห่งความเสี่ยงภัยนี้เกิดขึ้นไปด้วย กระแสแห่งความขัดแย้งในมติมหาชนนี้เพิ่มซ้อนทับหรือแทรกตัวเข้าไปในองค์การหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งกลายเป็นแรงกดดันใหม่ ๆ ต่อการปฏิรูประบบกฎหมาย รวมทั้งระบบการเมืองไปด้วย

อุลริช เบค เสนอว่า ในระหว่างที่สังคมมีการเคลื่อนตัวปรับตนในระหว่างขั้นที่ 1 กับขั้นที่ 2 นี้ เราน่าจะสามารถใช้แนวความคิดเรื่องการพัฒนาที่มีการทบทวนตนเอง (reflexivity) ผู้เขียนเห็นพ้องกับเบคและอยากจะแปลว่าเราต้องมี ความทันสมัยที่เจริญสติด้วย (reflexive modernization) คำ ๆ นี้มิได้แปลเพียงว่า การตริตรองทบทวน หากแต่หมายถึงการที่สังคมสามารถเผชิญหน้ากับตัวของตัวเอง (self-confrontation)

ในกรณีของพิษภัยและอันตรายจากการพัฒนา การที่สังคมมีการเคลื่อนตัวจากสังคมมุ่งอุตสาหกรรม ไปสู่สังคมยุคแห่งความเสี่ยงภัยไปแล้วนี้ นับเป็นการก้าวไปโดยมิได้มีเจตนาและไม่รู้ตัวนัก ไม่ได้ประสบพบเห็นร่วมกันทางสังคม แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการเคลื่อนตัวของพลวัตการเป็นสังคมสมัยใหม่พร้อม ๆ กับเกิดผลลัพธ์ข้างเคียงที่แอบแฝง (latent Side - effects) มากับกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้น เบคชี้ว่า การก่อรูปก่อร่างของสังคมเสี่ยงภัยขึ้นมานี้ ถือเป็นผลลัพธ์โดยตรงมาจากการติดยึดเอามิจฉาทิษฐิแห่งสังคมอุตสาหกรรมเป็นสรณะ

กล่าวคือ สังคมถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์และความเข้าใจผิดในเรื่องความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ต่อความก้าวหน้า รวมทั้งการคิดเชิงนามธรรมต่อผลลัพธ์ที่ติดตามมาและอันตรายด้านนิเวศน์วิทยา ขณะเดียวกันทั้งพฤติกรรมและความนึกคิดของสถาบัน สังคม และของปัจเจกบุคคลล้วนแต่ตกอยู่ใต้อิทธิพลอุดมการณ์อุตสาหกรรมนิยมเช่นนี้ โดยปราศจากการทบทวน

หากจะถามว่า สังคมไทยเลือกเส้นทางสังคมเสี่ยงภัยนี้ด้วยตนเองหรือ? ก็ต้องตอบว่าคนไทยทั้งสังคมมิได้เลือกด้วยกันเสียทีเดียว คำถามข้อนี้สะท้อนถึงความสำคัญของกระบวนการตัดสินใจของสังคมที่จำต้องมีระบบความรับผิดชอบ ที่สามารถตรวจสอบได้ให้ชัดเจนมากขึ้น

อันที่จริงเรามิสามารถเลือกหรือปฏิเสธสภาพการณ์แห่งสังคมเสี่ยงภัยนี้ได้ เพราะว่าภาวะสังคมเสี่ยงภัยที่เราประสบอยู่นี้ เกิดมาเป็นสภาพการณ์ที่เป็นจริงอันเป็นผลมาจากการดำเนินไปและการเคลื่อนตัวเป็นเอกเทศของการพัฒนาประเทศ ที่เน้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียวและละเลยมองข้ามด้านพิษภัยที่ติดตามมา แต่ขณะเดียวกันสังคมกลับมึนชาต่อเหตุการณ์ร้ายแรงทางสิ่งแวดล้อมทางอุตสาหกรรมเหล่านั้น

ชนชั้นนำที่มุ่งแต่ด้านการพัฒนาแนวเดิม กลับพากันชวนให้ปิดตาข้างเดียวหรือหลับตาไม่มองผลลัพธ์และเหตุการณ์อันตรายที่ติดตามมา และที่สำคัญก็คือ ชนชั้นนำทางนโยบายและชนชั้นนำทางการเมืองของประเทศไทย เท่าที่ผ่านมานั้น มิได้ส่งเสริมท่าทีที่เตรียมพร้อมซึ่งตั้งอยู่บนความไม่ประมาทต่อความเสี่ยงภัย และไม่ส่งเสริมการตระหนักรู้แก่สาธารณะในทุกระดับในสังคมอย่าง จริงจังแต่อย่างใด

การเผชิญหน้ากับตนเองของสังคมที่มุ่งหน้าเป็นสังคมอุตสาหกรรมในกรณีของผลลัพธ์อันเป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากการพัฒนาให้ทันสมัยนี้ เป็นเรื่องที่ยากเย็น เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสำนึกร่วมกันของสังคม และต่อวิบากกรรมร่วมกันในสังคม ดังนั้นจึงเป็นคนละประเด็นกับการมีความรู้เพิ่มขึ้น และการเผยแพร่ของวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในทุกปริมณฑลของชีวิตสังคม

แม้สังคมจะมีการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และความรู้เฉพาะทาง รวมทั้งมีแหล่งข้อมูลในคอมพิวเตอร์มากขึ้นแต่ก็อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความสามารถเผชิญกับความเสี่ยงภัยเหล่านี้ของสังคมอย่างจริงจังก็ได้ ประเด็นสำคัญได้แก่ ข้อมูลและข่าวสารสารสนเทศที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในสมองกล มิใช่สิ่งเดียวกันกับความรู้ทางสังคมที่ต้องการสติหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมควบคู่กันไป

4. ท่ามกลางวิกฤตการณ์แห่งอุบัติภัยจากสิ่งแวดล้อมนี้ สังคมไทยสามารถจะมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันหรือไม่ : ความมีตัวตนร่วมกัน(collective identity) ถ้าหากสังคมเป็นเหมือนจักรกลที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน สังคมย่อมไม่มีความรู้สึกใด ๆ และไม่มีความนึกคิดใด ๆ ได้ แต่สังคมที่ประกอบด้วยมนุษย์อยู่ด้วยกันนั้นมีความรู้สึกได้และคิดได้ ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า "ภาวะตัวตนร่วมกัน" (collective identity) ของกลุ่มสังคมหรือวงการก่อเกิดขึ้น บังเกิดขึ้น ก่อรูปก่อร่างขึ้นได้อย่างไร

การนิยามนี้มิใช่กระทำได้ตามใจตนเองโดยโดดเดี่ยวจากคนกลุ่มอื่น และก็มิอาจเกิดขึ้นได้เพียงอาศัยความเป็นหน่วยงานราชการที่ยึดเอาอำนาจและระเบียบเป็นหลักความสัมพันธ์ แต่ภาวะตัวตนร่วมกันนี้เป็นการนิยามเชิงสังคม กล่าวคือ ความเป็นตัวตนมีความหมายเชิงปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่น หรือเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ของปัญหาอุบัติภัยจากสารพิษ และส่วนร่วมในพื้นที่ร่วมกันเป็นกระบวนก่อรูปก่อสร้างขึ้น และต่อรองกันและเชื่อมโยงแต่ละคนเข้าด้วยกัน

4.1) เมื่อเกิดอุบัติภัยร้ายแรงทางอุตสาหกรรม เกิดความตื่นตัวของสังคมร่วม ๆ กันหรือไม่ อย่างไร เป็นกระบวนการที่ผู้คนคิดนึกเรื่องเป้าหมาย วิธีการ พื้นที่ และปฏิบัติการที่จะช่วยให้หันมาร่วมกันลงมือกระทำการ รวมทั้งการที่ผู้คนในวงการมีการสื่อสาร มีการใช้ภาษา พิธีกรรม สัญลักษณ์ที่รู้สึกร่วมกัน เช่น เอื้ออาทรต่อผู้ประสบเคราะห์กรรมจากอุบัติภัยจากสิ่งแวดล้อม

4. 2) เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยเครือข่าย โยงใยที่มีชีวิตชีวา ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำหรือร่วมกันเป็นฝ่ายกระทำต่อสภาวะการณ์ เป็นข่ายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างคนที่ปฏิสัมพันธ์กัน มีการสื่อสารกัน มีอิทธิพลต่อกัน ต่อรองกัน และตัดสินใจ โดยที่ไม่มีรูปแบบองค์การ รูปแบบภาวะผู้นำ ช่องทางสื่อสารและเทคโนโลยีอันตายตัวจนไม่เปลี่ยนแปลง

4. 3) มีความผูกพันทางอารมณ์ ความรู้สึก เอกภาพของหัวใจ แท้ที่จริงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นสิ่งจำเป็นของการนิยามความเป็นตัวตนร่วมกัน

ความมีตัวตนร่วมกันนี้มิอาจมีความหมายนามธรรมที่เลื่อนลอย แต่มีความหมายเป็นจริงเป็นจังได้ในการกระทำร่วมกัน แต่ทว่าความหมายที่เป็นรูปธรรมนั้นก็มิใช่ความหมายที่พูดได้แต่เพียงในแง่มุมของการคิดคำนวณต้นทุน-กำไร เช่น คนที่เกี่ยวข้องจะยึดแนวคิดว่า "ใครได้ ใครเสีย" ก็อาจทำให้นักวิชาการที่เกี่ยวข้องตั้งข้อสังเกต "หัวเรื่องวิจัยแนวนี้เป็นเขตแดนของสาขาวิชาฉันไม่ใช่ของเธอ" "ถ้าฉันทำด้วย แล้วฉันจะได้อะไร จะเสียอะไร" "แล้วใครจะได้เปรียบ เสียเปรียบล่ะ?"

ซึ่งการพิจารณาแบบนี้เรียกแบบภาษาวิชาการว่า Cost-benefits perspective มิตินี้มีความคับแคบ อย่างยิ่งในการพิจารณาเรื่ององค์การทางสังคม เพราะว่าความรู้สึกมีตัวตนร่วมกัน เช่น สำนึกหมู่คณะย่อมต้องการอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันด้วย ภาวะอารมณ์และจิตใจเช่น ความรู้สึกเบื่อหน่าย ความรู้สึกเร่าร้อน ความรู้สึกรักหรือเกลียด ศรัทธาและความกลัวเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบอยู่ในความเป็นตัวตนร่วมกันของกลุ่มสังคมนี้ทั้งสิ้น

มีนักวิชาการบางสำนัก เรียกองค์ประกอบด้านจิตใจของสถาบันหรือของกลุ่มส่วนนี้ว่าเป็นส่วนที่ไร้เหตุผล (irrational) ซึ่งมีนัยยะหมายความว่าไร้สาระอันเป็นแก่นสาร หากมีแนวคิดเช่นนี้ ก็ย่อมมองแตกต่างและวินิจฉัยไปคนละทางได้กล่าวคือ พวกสนใจด้านจิตใจและคุณค่าร่วมกันในแง่นี้ ย่อมถือว่าตรงกันข้ามกับองค์ประกอบอีกพวกหนึ่งที่รู้จักการใช้เหตุผลมากกว่า (และตามนัยนี้ก็ย่อมถือ ส่วนที่รู้จักอ้างเหตุผลก็ย่อมถือเป็นส่วนที่ดีงามกว่า)

อันที่จริงความสนใจแต่ด้าน "ความเป็นวิทยาศาสตร์" ที่มีเหตุผล กับความสนใจ "หลักฐานและข้อมูลที่แม่นยำมิใช่ใช้อารมณ์ตามความรู้สึก" เหล่านี้ก็กลับเป็นการให้เหตุผลสนับสนุน (justification) การดำรงสถานภาพเดิมไปโดยปริยาย ผู้ที่มองเช่นนี้ ย่อมชวนให้คิดเขวไปมองเห็นเรื่องตัวตนร่วมกันเป็นเรื่องไร้สาระอย่างบริสุทธิ์ สู้มาดูแก่นสารของผลงานกันเสียเลยไม่ได้ แต่ผู้เขียนเองเห็นว่าการมองอย่างนี้แยกเอาเรื่องจิตใจขาดจากเรื่องวัตถุแล้วให้คุณค่าเฉพาะผลงานที่เป็นวัตถุ เป็นทัศนะด้านเดียวและไม่ถูกต้องทางวิชาการ เพราะในข้อเท็จจริงในชีวิตสังคมหรือชุมชนที่สร้างสรรค์งานนั้นไม่มีการการรับรู้ใดที่ไม่มีความรู้สึก และไม่มีความหมายที่คนยึดถือร่วมกันใด ๆ ที่ปราศจากอารมณ์เจือปน

4. 4) มิติความโยงใยแห่งความมีตัวตนร่วมกัน ความมีตัวตนร่วมกันเป็นการช่วยนิยามความสามารถในการลงมือกระทำการอย่างเป็นเอกเทศ คนที่ร่วมทำรู้สึกว่ากลุ่มตนแตกต่างจากกลุ่มคนอื่น พร้อม ๆ กันนั้นก็รู้สึกว่าเป็นตัวตนของตัวเอง ความรู้สึกเป็นตัวตนของตัวเองนี้ มิใช่เรื่องส่วนตัวแต่ว่าต้องได้รับการยอมรับจากสังคม มิฉะนั้นความมีตัวตนร่วมกันก็จะขาดพื้นฐานรองรับ. ความมีตัวตน ณ ที่นี้จึงมีความหมายแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคำว่า "อัตตา" ซึ่งหมายถึงการติดยึดในตัวของตัวเอง ความหมายอย่างหลังนี้ มีนัยยะที่ถือตัวของตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ข้องเกี่ยวกับสังคม. การมีตัวตนร่วมกันในความหมายนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ในสูญญากาศของสังคม และย่อมไม่มีถ้าไม่อิงมิติของการโยงใยทางสังคมโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ไม่สำคัญ

ในทำนองเดียวกัน ความเป็นตัวตนร่วมกันของกลุ่มผู้ป่วยจากโรคและพิษภัยจากสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ จำต้องอิงกับบริบทของสาธารณะของเวทีสังคมการเมืองที่กว้างออกไปจากกลุ่มของเขา เช่น สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมฯ ต้องดำรงอยู่อย่างมีตัวตนร่วมกันและมีการกระทำต่อสังคม จะต้องต่อรองบทบาทและสถานภาพของตนเอง และสร้างสรรค์ร่วมกันต่อสาธารณะที่ชัดเจนขึ้น

5. คำถามต่อจริยธรรมแห่งความรู้และจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน
ในเมื่ออุบัติภัยด้านสารพิษด้านวัสดุอันตรายและด้านสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังได้ประจักษ์กันมาในรอบ 10 ปีเช่นนี้ คำถามต่อวงวิชาการและวงปฏิบัติการก็คือ เรามีองค์ความรู้ที่จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจต่อภาวะความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ เหล่านี้ ได้เพียงไร? ความรู้ในมหาวิทยาลัยหอคอยงาช้างจะช่วยให้สาธารณะมีความเข้าใจข้อพิพาทและข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมได้เพียงไร

ขณะเดียวกันหากมองต่อไปในระยะยาว สังคมจะสามารถบริหารความเสี่ยงภัย (risk management) หรือลดความเสี่ยงอันตรายเหล่านั้นในอนาคตได้บ้างหรือไม่ หรือหากจำต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยใด ๆ แล้วไซร้ จะช่วยกระจายความเสี่ยงภัยเสี่ยงอันตรายที่เคยปล่อยให้กระจุกตัวในบางพื้นที่นี้ให้กระจายทั่วถึง "อย่างเป็นธรรม" กว่าเคยเป็นมาได้หรือไม่ (ตัวอย่างเช่น วิถีชีวิตอันสะดวกสบายในเมืองต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้ามาก แต่ก็ผลักภาระความเสียงสืบเนื่องจากการผลิตพลังงานเหล่านั้นไปให้แก่ชนบทหรือต่างแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป)

มหาวิทยาลัยจะเสนอองค์ความรู้ใดได้บ้าง ต่ออนาคตที่ไม่มีความแน่นอนและอันตรายที่แฝงตัวตนทั่วไปจากเทคโนโลยีที่ขยายตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา? ความเสี่ยงภัยเหล่านี้ส่วนมาก เป็นความเสี่ยงภัยชนิดประสาทสัมผัสของมนุษย์ไม่อาจรับรู้หรือตัดสินใจได้เลย วิชาการจึงจำต้องปรับปรุงบทบาททางสังคมของตน และมีบทบาทเป็นที่พึ่งด้านนี้มากขึ้น

โจทย์เหล่านี้จะมีความสำคัญเป็นแก่นสารได้ ก็ต้องมีพื้นฐานแรกมาจากการยอมรับกันอย่างเป็นงานเป็นการว่า มหาวิทยาลัยและองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยจำต้องเกี่ยวถึงเรื่องอื่นภายนอกมหาวิทยาลัย และถ้าหากว่าเราถือกันว่ามหาวิทยาลัยจำต้องมีพันธกิจที่จะคำนึงถึงโจทย์ใหญ่ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแห่งยุคสมัยด้วยแล้ว การหันมาพิจารณาสภาวการณ์แห่งความเสี่ยงภัยจากการพัฒนาจากแง่มุมที่กว้างขวางแบบสหสาขาาวิชาก็ย่อมจะเป็นขั้นตอนที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

เราจะเลือกพิจารณาบทบาทของทฤษฎีสังคมในความหมายกว้างหรือแคบก็ได้ ถ้าในความหมายแคบที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการพัฒนาก็ได้ ในกรณีนี้เป้าหมายของการพัฒนาก็ย่อมได้แก่ สิ่งที่ราชการบางฝ่ายกำหนดไว้อันได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (sustainable growth) ซึ่งก็มักหมายความถึงการขยายตัวเชิงปริมาณอย่างไม่รู้จักการหยุดชะงัก เพราะการหยุดขยายตัวเท่ากับเป็นความชะงักงันและหมายถึงความเสื่อมไม่เจริญ จึงเป็นภาระที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดี หากเราจะเลือกพิจารณาเป้าหมายของการพัฒนาที่แตกต่างออกไปอันได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพและความสัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งแวดล้อมด้วย ในทิศทางความหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ "วิชาการ" และความรู้ในมหาวิทยาลัย ก็ย่อมต้องมีบทบาทมิใช่เพียงเครื่องมือและเทคนิคให้บรรลุเป้าหมายการขยายตัว แต่ย่อมต้องตระหนักถึงลักษณะพิเศษของสังคมแห่งความเสี่ยงภัยที่มีคนต่างกลุ่มต่างกันด้วย

ในบริบทสังคมโลกาภิวัตน์ที่มีภาวะเสี่ยงภัยทั้งทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยีเช่นนี้ ปัญหาจริยธรรมของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงต้องเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐาน เพราะแม้แต่การสื่อสารและการพรรณาถึงเหตุการณ์อุบัติภัย อย่างเช่น การบอกเล่าโดยไม่ให้มีการแสดงความรู้สึกใด ๆ ก็ย่อมมีนัยความหมายที่แอบแฝงโดยไม่เจตนาได้มาก

การที่ผู้เขียนกล่าวถึงนัยความหมายที่แฝงจริยศาสตร์และหลักศีลธรรมในการพูดถึงอุบัติภัยและผลกระทบว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้มิได้หมายความว่า เราจักต้องหันมาส่งเสริมบทบาทด้านศีลธรรมของมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะ หรือให้เปิดวิชาสอนด้านนี้ในระดับมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง

หามิได้ ตรงกันข้ามเราหมายถึงนัยความรับผิดชอบทางจริยธรรมทางวิชาการ กล่าวคือ การอยากทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและการหาทางอธิบายไม่ว่าในลักษณะใด ๆ ก็ตามล้วนแต่ต้องผ่านขั้นตอนที่ตัวเราต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือมองข้ามนัยความสำคัญด้านจริยธรรมของเรื่องนั้น ๆหรือไม่เสมอ

หากเมื่อใดเรายอมรับว่ากำลังเผชิญกับทางแพร่งแห่งจริยธรรมในการเผชิญความจริง เช่นนี้ได้ เมื่อนั้นก็ย่อมแสดงถึงการย่างก้าวเข้าสู่การสร้างความทันสมัยแบบตริตรองมีสติ คือ สามารถยืนอยู่บนฐานของการเผชิญหน้ากับตนเองอย่างเต็มตาเต็มใจ ความสามารถเผชิญหน้ากับความจริงนี้ย่อมจะต้องรวมถึงการพินิจพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้อง ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับตนเองในปัญหาร้ายแรงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างความทันสมัยเหล่านี้กลายเป็นประเด็นวิวาทะอันสำคัญในหมู่นักสังคมวิทยาของยุโรป และได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการอภิปรายในโลกเกี่ยวกับทิศทางของสังคมมนุษย์ภายใต้อารยธรรมเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ประเด็นทางวิชาการดังกล่าวนี้น่าจะเป็นแง่คิดประกอบการพิจารณาบทเรียนที่ไม่ได้มีการเรียนรู้ของเราได้บ้างไม่มากก็น้อย

6. สรุป
การดำรงอยู่ของความทุกข์ยากและเดือดร้อนของผู้ป่วยและผู้รับเคราะห์จากเหตุการณ์คลองเตยและอุบัติภัยอื่น ๆ ที่ติดตามมา แม้เวลาจะผ่านล่วงไปหลายปีย่อมแสดงถึงปัญหาพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ อันได้แก่ การขาดกลไกตรวจสอบความรับผิดชอบใด ๆ สำหรับความสูญเสียต่อชีวิตที่เกิดขึ้น จากการมุ่งหน้าพัฒนาแต่ด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้น การปล่อยปละละเลยให้ผู้รับเคราะห์ต้องประสบชะตากรรมอยู่แล้ว ยังจะต้องเผชิญกับความเป็นอยู่ตามยถากรรมที่น่าเวทนา ขาดที่พึ่งอันเป็นธรรมอีกด้วย ความข้อนี้ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ฟ้องว่ากลไกแห่งการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดสูญญากาศแห่งความรับผิดชอบและสูญญากาศแห่งการตรวจสอบได้อย่างชัดเจน

เนื่องจากในช่วงขณะนี้เหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรมได้เวียนมาครบรอบ 10 ปีแล้ว จึงน่าจะถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาหยุดพินิจพิจารณาและตั้งความหวังว่าความรู้และประสบการณ์ทางสังคมในประะเทศไทยที่ได้สะสมมา ซึ่งน่าจะช่วยให้สังคมไทยในยุคใหม่นี้เผชิญกับความเสี่ยงภัยได้ดีกว่าสถานการณ์เมื่อทศวรรษที่แล้ว ณ ที่นี้ผู้เขียนขอสรุปเพียงประเด็นปัญหาสำคัญ ๆ ทั้งทางด้านการเมือง ทางการบริหารจัดการ และทางด้านวิชาการเพื่อเสนอให้มีการพิจารณากันต่อไป

1. 10 ปีที่ผ่านมาของเหตุการณ์คลองเตยนี้ ปรากฏความจริงว่ากลุ่มผู้ประสบเคราะห์กรรม มักจะถูกปฏิบัติเสมือนเป็นคนชายขอบในทางสาธารณะและในทางราชการ รวมทั้งในสื่อสารทางการ เพราะชนชั้นนำในสังคมการเมือง คล้ายกับไม่ต้องการจะรับรู้และยังมีท่าทีที่รำคาญต่อเสียงเรียกร้องจากคนเหล่านี้ด้วยซ้ำ

2. แม้เหตุการณ์จะผ่านไป 10 ปี แต่ก็ยังขาดการศึกษาและสอบสวนอย่างเป็นวิชาการในทุกด้านต่อเหตุการณ์ สาเหตุความเสียหายต่อชีวิตและระบบการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงระบบ ซึ่งจำต้องเป็นภารกิจของคณะกรรมการข้ามกระทรวงและนักวิชาการ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ถ้าฝายการเมืองยังขาดสำนึกถึงความจำเป็นและภารกิจริเริ่มของตน

3. ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหา ทั้งระหว่างเกิดเหตุและภายหลัง รวมทั้งการไม่ตรวจสอบแสดงถึงการขาดสำนึกที่เร่งด่วนในการตอบสนองของกลไกทางการเมืองและการบริหารราชการ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาในแง่ของการบริหารวิกฤต (crisis management)

4. ความล้าหลังของมาตรการทางกฎหมายและนโยบาย แสดงถึงว่ามีความจำเป็นต้องการปรับปรุงและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยจากปัญหาเหล่านี้

5. การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล และการปรับปรุงพัฒนาเกณฑ์วินิจฉัยโดยยึดเอาความทุกข์เข็ญของผู้ถูกกระทบเป็นที่ตั้ง

6. การพูดถึงเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety-Nets) ในระยะหลังมีภาพของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้บ้างหรือไม่ การจัดระบบสงเคราะห์แก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมและครอบครัว รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางกายและใจ ตลอดจนการฟื้นฟูและพัฒนาด้านอาชีพของครอบครัวผู้ประสบปัญหา

7. รัฐบาลจำต้องแสดงความเป็นผู้นำในการแสดงความตระหนักถึงความสำคัญในปัญหาอุบัติภัย จากสิ่งแวดล้อมและแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว

8. สมควรหรือยังที่การปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการจะให้ความสำคัญต่อการรับมือกับภาวะสังคมเสี่ยงภัยให้มากขึ้น การกระจายอำนาจที่ปราศจากการพิจารณาขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะสังคมเสี่ยงภัยนี้ อาจจะกลับกลายเป็นการกระจายความเสี่ยงภัยตามแบบยถากรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยเหตุผลเช่นนี้เองลักษณะรัฐพัฒนาจึงต้องปรับเปลี่ยนลักษณะและพฤติกรรมไปเป็นประชารัฐที่มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

9. สมควรหรือไม ่ที่การพิจารณาในเรื่องเมืองไทยในกระแสโลกาภิวัตน์จักต้องพิจารณามิติวัฒนธรรม อันเป็นการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแต่ทว่าไม่แน่นอนเหล่านี้ สมควรหรือยังที่เราจำต้องพินิจวัฒนธรรมไทยในเชิงวัฒนธรรมวิจารณ์ และในเชิงการส่งเสริมการเจริญสติทางวัฒนธรรมกันให้มากขึ้นแทนการมองวัฒนธรรมเป็นแบบสำเร็จรูปกระบิเดียวเพียงเพราะต้องลุกขึ้นสู้กับปีศาจจาก "ตะวันตก" หรือชี้นิ้วไปแต่ "ภายนอก"

10. สมควรหรือไม่ที่การอภิปรายถึงอนาคตของมหาวิทยาลัยจะต้องพิจารณาบทความรับผิดชอบต่อสังคมในยุคสมัยแห่งความเสี่ยงภัยนี้ควบคู่ไปด้วย เพราะน่าสงสัยว่า การออกนอกระบบราชการโดยปราศจากการปรับบทบาทมหาวิทยาลัยให้ร่วมเผชิญหน้ากับปัญหาที่ท้าทายสังคมนั้น จะมีคุณประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างยั่งยืนได้อย่างไรกัน

(ข้อคิดเห็นบางส่วนในบทความนี้ได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนกับหลายคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคุณสมบุญ ศรีคำดอกแค คุณเพ็ญโฉม ตั้ง ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนะกุลวงศ์.)

อ้างอิง
1 เป็นคำสำคัญในหัวข้อใหญ่ของการสัมมนาสังคมวิทยาระดับชาติครั้งที่ 1 จัดโดยคณะกรรมการสาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 15 - 16 ธันวาคม 2543.

2 อันที่จริงในหมู่ทฤษฎีการสร้างภาวะความทันสมัย (modernization theory) ที่เคยเป็นที่ยึดถือกันมานานนั้นมี 3 ข้อสมมติฐานประการที่ว่า (1) การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในทิศทางเดียว (unilinear) ที่แน่นอน (2) มีกฎเกณฑ์ที่สังเกตได้ และ (3) มีลักษณะก้าวหน้า คือยกระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ นั้น ข้อสมมติดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อนำทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งธรรมดาใช้กับวิวัฒนาการของพืชและสัตว์มาประยุกต์ใช้กับสังคมมนุษย์ โดยเน้นกลไกการปรับตัวและการคัดสรรค์ผ่านกระบวนการจำแนกการแตกต่าง (differentiation) และการแบ่งแยกงานทำระหว่างสถาบันต่าง ๆ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก การยึดหลักการดังกล่าวมีนัยความหมายแฝงด้วยความเชื่อเชิงวิวัฒนาการนิยม (Evolutionism) ที่ว่า ผู้เข้มแข็งคือผู้อยู่รอด ความคิดความเชื่อเช่นนี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ลัทธิดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) ในวงการอภิปรายทางวิชาการนโยบายในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ทัศนะดังกล่าวถูกโจมตีว่าเป็นความคิดที่ให้การรับรองแก่ระบบสังคมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาและเมินเฉยต่อหลักความเสมอภาค ผลลัพธ์ที่สืบเนื่องคือทำให้สังคมมึนชาต่อความทุกข์ยากของคนบางกลุ่มที่ถูกผลกระทบ ความไม่เป็นธรรมในสังคมเพิ่มมากขึ้นโดยขาดความใส่ใจต่อการแสวงหาหนทางแก้ไข.

3 Pier Vellinga, "Research for Industrial Transformation," paper for The Ninth International Conference of the Green Industry Network (GIN) Sustainability at the Millennium : Globalization, Competitiveness and the Public Trust จัดโดย GIN=Asia, และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ. 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2544 ผู้เขียนเป็นนักวิชาการสังคมศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษา กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์.

4 Urich Beck, Risk Society : Towards a New Modernity Translated by Mark Ritter London : Polity Press (1992) ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค สหสัมพันธรัฐเยอรมนี.

5 Ulrick Beck, 'Risk Society and the Provident State' in Scott Lash, et. al. eds., Risk, Environment and Modernity : Towards a New Ecology Sage Publications, 1996, pp. 27 - 43.

6 แนวคิดเรื่อง Developmental State นี้ ได้รับการเสนออย่างเป็นระบบครั้งแรกโดย Chalmers Johnson ในการวิเคราะห์กรณีญี่ปุ่นหลังสงครามต่อมาก็มีการนำเอาแนวความคิดนี้มาวิเคราะห์ประเทศอุตสาหกรรมใหมม่ รวมทั้งประเทศที่เร่งรัดพัฒนา Gordon White, eds. (1988), Developmental States in East Asia London : MacMillan Press.

7 Ulrich Beck, Anthony Giddens, Scott Lash, Reflexive Modernization : Politics, Tradition and Aesthetics in the Modern Social Order Cambridge : Polity Press, 1994.

8 แนวการพิจารณาในส่วนนี้ผู้เขียนได้ข้อคิดจากบทความของ S.N. Eisenstadt, Berhhard Giesen "The Construction of Collective Identity" Archives Europeennes de Sociologie (PARIS) XXXVI, 1995 No.1, p.72-101.

9 ประเด็นนี้ถือเป็นแนวโน้มใหม่ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์การ (และสถาบัน) ทางสังคมในระยะหลัง ข้อคิดเชิงทบทวนในแง่ของสังคมวิทยาองค์การ รวมทั้งความเห็นเขิงวิพากษ์ต่อการสอนเรื่ององค์การและพฤติกรรมองค์การ ในบรรดาโครงการและหลักสูตรบริหารธุรกิจที่เป็นที่นิยมกว้างขวางดังกล่าวนี้ปรากฏใน Martin Albrow, Do Organizations Have Feelings, London and New York : Routledge 1997.

10 Ulrich Beck. Anthony Giddens and Scott Lash, อ้างแล้ว, p. 5.

11 Barbara Adam, Ulrich Beck and Joost Van Loon, eds., (2000), The Risk Society and Beyond : Critical Issues for Social Theory, Thousand Oaks, Calif.: Sage Publications

12 ท่านผู้สนใจโปรดดู พ่ายพิษ : 9 กรณีวิกฤตยุคสังคมเสี่ยงภัย หนังสือเล่มซึ่งได้พากเพียรประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ รวมทั้งท่าทีการตอบสนองของฝ่ายต่าง ๆ ไว้อย่างน่าศึกษา กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม 31 มีนาคม 2544 (สั่งจองได้ที่ กลุ่มฯ โทรศัพท์/โทรสาร 952-7371

e-mail:[email protected].

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

ความยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4