บทวิจารณ์ทฤษฎีของฟรอยด์
ความยิ่งใหญ่และข้อจำกัด
ทางด้านความคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
ส่วนกลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Midnight University

กล่าวกันว่า บุคคล 3 คนในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างผลิกผันอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้
คือ ฟรอยด,์ มาร์กซ,์ และ ไอน์สไตน
สำหรับบทวิจารณ์ที่นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน จะอ่านต่อไปนี้ เป็นงานเรียบเรียงบางส่วนจากหนังสือ
Greatness and Limitations of Freud's Thought
เขียนโดย Erich Fromm ซึ่งเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของฟรอยด์

ในงานเขียนชิ้นนี้ เขาได้วิเคราะห์รากเหง้าข้อจำกัดของการนำเสนอทฤษฎีใหม่ๆ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรับความคิดใหม่ และข้อจำกัดบางประการอันเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
อันเนื่องมาจากบริบทของวัฒนธรรมทางความคิดในยุคสมัยของฟรอยด์ ซึ่งทำให้ฟรอยด์จำต้องผิดพลาด
เรียบเรียงโดย : สมเกียรติ ตั้งนโม (ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

Midnight's Psychology
ความเรียงจิตวิทยาวิจารณ์

ข้อจำกัดของความรู้วิทยาศาสตร์
(The Limitations of Scientific Knowledge)
เหตุผลที่ว่าทำไม ทฤษฎีใหม่ๆทั้งหมดจึงจำต้องผิดพลาดหรือบกพร่อง
(The Reason Why Every New Theory Is Necessarily Faulty)

ความพยายามที่จะทำความเข้าใจความคิดหรือทฤษฎีของฟรอยด์, รวมไปถึงบรรดานักคิดคนอื่นๆอย่างเป็นระบบนั้น ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ เว้นแต่เราจะยอมรับและรู้ว่าทำไม ทุกๆระบบความคิดที่ได้รับการพัฒนา และนำเสนอขึ้นมาโดยบรรดาผู้คิดค้นเหล่านั้นต่างมีข้อจำกัดบางประการ และจำจะต้องมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างเสมอ

แต่ข้อจำกัดและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมานั้น มิใช่เนื่องมาจากการขาดเสียซึ่งความเฉลียวฉลาด, ความคิดสร้างสรรค์ หรือการวิจารณ์ตนเองมากพอในส่วนของตัวผู้คิดค้นทั้งหลาย, แต่เป็นเพราะ ความขัดแย้งโดยเบื้องต้นซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้บางประการนั่นเอง

คำถามก็คือ, อะไรคือความขัดแย้งเบื้องต้นอันนี้ ?

ในด้านหนึ่งนั้น เนื่องมาจากผู้คิดค้นมีบางสิ่งบางอย่างที่ใหม่มากซึ่งอยากจะพูดออกมา, บางสิ่งซึ่งไม่เคยถูกคิดหรือพูดมาก่อนเลย. แต่ในการพูดถึงอะไรที่เป็น"ความใหม่มากๆ" ผู้คิดค้นจำต้องวางมันลงไปในบริบท หรือปริมณฑลของคำอธิบายอันหนึ่ง ที่ไม่เหมาะสมกับสิ่งที่เป็นสาระหรือแก่นแกนในความคิดที่สร้างขึ้นมา

ความคิดที่สร้างขึ้นมา มักจะเป็นความคิดที่สำคัญเป็นพิเศษ เพราะมันมักจะไปจัดการกับมายาภาพบางอย่าง และทำให้เราก้าวเข้าไปใกล้กับการรับรู้เกี่ยวกับความจริงมากขึ้นเสมอ. มันได้ไปขยายขอบเขตความรู้ของมนุษย์ และทำให้พลังของเหตุผลมีความเข้มแข็งมากขึ้น. สิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษ สำหรับความคิดที่สร้างขึ้นมานี้ มักจะมีหน้าที่ในการปลดเปลื้องมายาภาพ และขัดแย้งกับความคิดที่ไม่ถูกต้อง.

อีกด้านหนึ่งของความขัดแย้ง, นักคิดเหล่านี้จะต้องแสดงความคิดใหม่ของตนในจิตวิญญานของยุคสมัยของเขา. นอกจากนี้สังคมที่ต่างกันก็จะมีสามัญสำนึกที่ต่างกันไป, นับตั้งแต่ความคิดที่ผิดแผก, ระบบตรรกะที่แตกต่าง เหล่านี้เป็นต้น; ในเวลาเดียวกัน ทุกๆสังคมจะมีฟิลเตอร์หรือเครื่องกรองทางสังคมของมันเอง ซึ่งจะมีไอเดีย แนวความคิด และประสบการณ์บางอย่างเท่านั้น ที่สามารถผ่านเครื่องกรองอันนี้ไปได้. ความคิดต่างๆ บางครั้ง อาจจะไม่สามารถผ่านเครื่องกรองทางสังคมใดสังคมหนึ่งไปได้ในช่วงเวลาหนึ่งที่สังคมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นๆ, และแน่นอน เมื่อยังไม่ได้มีการคิดถึง มันจึงย่อมไม่มีคำพูดถึงมันด้วย.

สำหรับผู้คนโดยเฉลี่ย แบบแผนทางความคิดเกี่ยวกับสังคมของพวกเขา จะปรากฎออกมาในรูปของตรรกะแบบง่ายๆธรรมดาๆ. และแบบแผนทางความคิดของสังคมที่มีความต่างกันโดยพื้นฐาน ก็จะถูกพิจารณาหรือเฝ้าดูกันและกันโดยสังคมอื่นในฐานะที่เป็นเรื่องเหลวไหลหรือไร้สาระ.

ตัวอย่างเช่น สำหรับสมาชิกคนหนึ่งในสังคมในช่วงยุคหินใหม่ ซึ่งชายหญิงแต่ละคนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยแรงงานของตนที่ลงไป, โดยพื้นฐานเช่นนี้ เรื่องบางเรื่องอาจเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจคิดถึงได้ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบรวมทางสังคมทั้งหมดของพวกเขา.

ยกตัวอย่างเช่น, การคิดจะใช้ประโยชน์เกี่ยวกับแรงงานมนุษย์คนอื่นโดยคนอีกคนหนึ่ง ให้มาทำงานให้กับตัว. ความคิดเช่นนี้ในยุคหินใหม่อาจเป็นความคิดที่ดูบ้าๆหรือพิลึกในยุคนั้น ทั้งนี้เพราะ มันยังคงเป็นความคิดที่ยังคิดกันไปไม่ถึง และมันเป็นเรื่องที่ออกจะเกินไปที่จะทำให้มันมีเหตุผลขึ้นมา สำหรับการที่จะใช้หรือว่าจ้างคนอื่น. (ถ้าหากว่ามีใครคนหนึ่งบีบบังคับอีกคนเพื่อให้ทำงานให้เขาในยุคนั้น มันไม่ได้หมายความว่า จะเพิ่มจำนวนของสินค้าให้มากขึ้น, แต่กลับกลายเป็นว่า นายจ้างจะถูกบังคับโดยนัยๆให้ไม่ต้องทำงานหรืออยู่ว่างๆ และเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาแทนที่).

อีกตัวอย่างหนึ่ง: สังคมต่างๆเป็นจำนวนมากในสมัยก่อน ไม่รู้จักเรื่องของทรัพย์สินหรือสมบัติส่วนตัว(private property)ในความหมายแบบสมัยใหม่ พวกเขารู้จักแต่เพียง"สมบัติหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับหน้าที่ใช้สอย"(functional property), อย่างเช่น เครื่องมืออันหนึ่งซึ่งเป็นของคนๆหนึ่ง(ด้วยเหตุที่เขาใช้มัน) แต่มันจะถูกปันไปให้คนอื่นๆได้ทันทีเมื่อมีคนต้องการใช้.

สิ่งที่ยังไม่ได้มีอยู่ในความคิดหรือยังคิดไปไม่ถึง(unthinkable) ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้มีการพูดถึง(unspeakable) และภาษาก็ไม่มีคำพูดถึงสิ่งเหล่านั้นด้วยเช่นกัน. ภาษาโบราณเป็นจำนวนมากไม่มีคำว่า"to have"(มี) ดังนั้นจึงต้องแสดงออกถึงแนวความคิดอันนี้เกี่ยวกับการครอบครองด้วยคำอื่นๆ, ดังตัวอย่างการใช้คำว่า "it is to me" (มันสำหรับฉัน), ซึ่งแสดงออกถึงแนวความคิดเกี่ยวกับสมบัติหรือทรัพย์สินที่ใช้ทำหน้าที่ใช้สอย(functional) แต่ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว(private property) (หมายเหตุ: คำว่า "private" ในความหมายของภาษาละติน privare, หมายถึง to deprive [ตัดสิทธิ์ กีดกัน] - กล่าวคือ, สมบัติหรือทรัพย์สินซึ่งทุกๆคนถูกตัดสิทธิ์หรือกีดกันออกไป ยกเว้นเจ้าของเพียงเท่านั้น). ภาษามากมายเริ่มต้นขึ้นมาโดยไม่มีคำๆว่า to have แต่ในพัฒนาการของมัน โดยการปรากฎตัวขึ้นมาของทรัพย์สินส่วนตัว, พวกเขาได้เรียนรู้คำหนึ่งที่ถูกนำมาใช้สำหรับเรื่องนี้.

อีกตัวอย่างหนึ่ง: เช่น ในช่วงศตวรรษที่ 10-11 ในยุโรป, เรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับโลก. กล่าวคือ ถ้าจะพูดหรือคิดเกี่ยวกับโลกโดยไม่มีการอ้างอิงถึงพระผู้เป็นเจ้า สมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมันเป็นเรื่องซึ่งสุดจะคาดคิด และด้วยเหตุนี้ คำๆหนึ่งอย่างเช่น atheism (ความเชื่อที่ว่าไม่มีพระเจ้า) จึงไม่มีอยู่.

จากตัวอย่างข้างต้น จึงเห็นได้ว่าภาษาในตัวของมันเองได้รับอิทธิพลมาจากสังคม และโดยการสะกัดทางสังคมเกี่ยวกับประสบการณ์บางอย่างซึ่งไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของสังคมในเวลาหนึ่ง; ภาษาต่างๆที่แปลกออกไป และเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่แตกต่างจึงถูกสะกัดกั้นเอาไว้, ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงออกมา.

ด้วยเหตุนี้ ความคิดใหม่ๆซึ่งบรรดานักคิดทั้งหลายได้สร้างขึ้น มันจึงจำเป็นต้องคิดขึ้นมาในเทอมต่างๆของตรรกะอันเดิม, นั่นคือแบบแผนต่างๆทางความคิด, แนวความคิดที่สามารถแสดงออกมาได้ในวัฒนธรรมของเขา. ดังนั้น อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ บรรดานักคิดทั้งหลายจึงถูกบีบบังคับให้แก้ปัญหาในปัญหาซึ่งไม่อาจแก้ไขได้: เพื่อเสนอความคิดใหม่ในแนวความคิด และคำต่างๆที่ยังไม่มีอยู่ในภาษาของเขา.

ผลที่ตามมาก็คือว่า ความคิดใหม่ที่เขาได้สร้างขึ้น มันเป็นการคลุกเคล้ากันอันหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งซึ่งใหม่จริงๆ และความคิดแบบขนบประเพณีซึ่งมันมีอยู่ก่อนแล้ว. แต่อย่างไรก็ตาม นักคิดมิได้สำนึกเกี่ยวกับความขัดแย้งอันนี้.

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป จนมันกลายเป็นประวัติศาสตร์. ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวจะสะท้อนแบบแผนทางความคิดนั้นออกมา จนทำให้เห็นหลักฐานทางความคิดที่แตกต่าง ซึ่งมันใหม่ขึ้นมาในสมัยนั้น อันตัดกับความคิดแบบขนบประเพณี

และนานต่อมาจนกระทั่งมาถึงบรรดาสานุศิษย์ของเขา ผู้ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและในกรอบที่แตกต่างกันอันหนึ่งทางความคิดอย่างเห็นได้ชัด สานุศิษย์เหล่านี้จะมีการที่ตีความงานทางความคิดของปรมาจารย์ โดยการจำแนกความคิดที่สร้างขึ้นของเขา(หมายถึงของปรมาจารย์)ออกจากความคิดต่างๆตามขนบประเพณี, และจะวิเคราะห์ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่าง"ใหม่"กับ"เก่า" มากกว่าการพยายามที่จะผสานกลมกลืนความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในของระบบความคิดนี้

นอกจากนั้น บรรดาสานุศิษย์ในรุ่นหลังยังอาจมีการปรับปรุงทฤษฎีที่ใหม่ๆอันนี้ได้ โดยการคิดได้อย่างชัดเจนกว่า และทำให้มันแม่นยำมากยิ่งขึ้น ในสายความคิดเดียวกันนั้น เพราะพวกเขาไม่ต้องอาศัยคำอธิบายจากขนบประเพณี แต่ได้ใช้คำใหม่ที่บัญญัติขึ้นมาและเป็นที่รู้จักและพูดกันแล้ว เพิ่มเติมความคิดให้มีพลังอธิบายมากขึ้น

รากเหง้าแห่งความผิดพลาดของฟรอยด์ (The Roots Of Freud's Errors)

การประยุกต์หลักการอันนี้กับความคิดของฟรอยด์ หมายความว่า เพื่อจะเข้าใจฟรอยด์นั้น เราจะต้องยอมรับเกี่ยวกับการค้นพบต่างๆของเขาว่า เป็นเรื่องใหม่และเรื่องที่สร้างสรรค์จริง.แต่อย่างไรก็ตาม ฟรอยด์จำเป็นต้องอยู่ในขอบเขตที่เป็นอุปสรรคนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเขาจำต้องแสดงความคิดใหม่ของเขาออกมาในหนทางที่บิดเบี้ยว. ครั้นเมื่อได้มีการปลดปล่อยไอเดียทั้งหลายของเขาออกมาจากโซ่ตรวนเหล่านี้แล้ว มันได้ทำให้การค้นพบของเขากลายเป็นสิ่งที่มีผลสมบูรณ์มากขึ้นตามลำดับ.

การอ้างอิงถึงสิ่งที่ได้รับการกล่าวโดยทั่วไปเกี่ยวกับความคิดของฟรอยด์, ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า, อะไรคือสิ่งที่ยังคิดไปไม่ถึงจริงๆของฟรอยด์ และอุปสรรคกีดขวางถัดมาซึ่งเขาไม่อาจที่จะผ่านไปได้คืออะไร ?

ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะตอบคำถามข้างต้นว่า อะไรคือสิ่งที่นึกไปไม่ถึงสำหรับฟรอยด์จริงๆ ? ข้าพเจ้าเห็นว่ามันมีอยู่ 2 ประการดังนี้:

ประการแรก. ทฤษฎีวัตถุนิยมของชนชั้นกลาง(the theory of bourgeois materialism), โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มันได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในประเทศเยอรมันนีโดย Vogt, Moleschott และ Buchner.

ในเรื่อง Kraft und Stoff (Force and Matter)(1855). Buchner อ้างถึงว่าได้มีการค้นพบว่า "มันไม่มีผลที่ปราศจากมูลเหตุ และไม่มีมูลเหตุที่ปราศจากผล"; สำหรับความเชื่อที่ไม่มีข้อพิสูจน์อันนี้(dogma) ได้ถูกยอมรับกันอย่างกว้างขวางในยุคสมัยของฟรอยด์. และความเชื่อที่ไม่มีข้อพิสูจน์เกี่ยวกับวัตถุนิยมของชนชั้นกลางอันนี้ ได้ถูกแสดงออกมาโดยฟรอยด์อย่างนั้นเช่นกัน

จุดประสงค์ที่แท้จริงของฟรอยด์ต้องการที่จะเข้าใจกิเลสตัณหาของมนุษย์; บรรดานักปรัชญา, นักเขียนบทละคร และนักเขียนนวนิยาย ก่อนหน้านั้น - บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือนักประสาทวิทยาโดยตรง - ต่างเอาใจใส่กับเรื่องของกิเลสตัณหาอันนี้.

แล้วฟรอยด์แก้ปัญหาอันนี้อย่างไร ?

ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งมีคนอยู่เพียงไม่กี่คน(จำนวนน้อยมาก)ที่ได้ล่วงรู้เกี่ยวกับอิทธิพลของฮอร์โมนที่มีต่อจิตใจ อันที่จริง มันเป็นปรากฏการณ์อันหนึ่งซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสรีรวิทยาและจิต ซึ่งรู้กันเป็นอย่างดี: เรื่องเพศ. ถ้าหากว่าใครคนหนึ่งพิจารณาว่า เรื่องเพศเป็นรากเหง้าของแรงขับทั้งหมด, ถ้าเป็นเช่นนั้น ความต้องการในทางทฤษฎีจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นขึ้นมาทันทีและมีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพราะ มันจะทำให้เกิดความมั่นใจและแน่ใจมากขึ้นนั่นเอง, (ทฤษฎีที่ว่านี้ หมายถึงการค้นพบรากเหง้าทางสรีรวิทยาที่ผูกพันกับเรื่องจิต). ซึ่งต่อมา Jung เป็นผู้ที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน, และในแง่มุมดังกล่าวที่ Jung ทำ, มันเป็นการเพิ่มเติมอย่างมีคุณค่ายิ่งต่อความคิดของฟรอยด์.

ประการที่สอง. ความสลับซับซ้อนอย่างที่สองเกี่ยวกับความคิดที่ไม่มีใครคิดถึง ซึ่งไปเกี่ยวพันกับท่าทีหรือทัศนคติแบบชนชั้นกลาง และทัศนคติเกี่ยวกับ"อำนาจที่สืบทอดมาทางเชื้อสายพ่อ(พ่อเป็นใหญ่)"(authoritarian-patriarchal attitude)ของฟรอยด์.

ในที่นี้จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อย กล่าวคือ ในสมัยที่ฟรอยด์มีชีวิตอยู่นั้น ความคิดที่ว่า สังคมหนึ่งซึ่งผู้หญิงมีความเท่าเทียมกันกับผู้ชาย ในสังคมดังกล่าว ผู้ชายไม่ได้มีอำนาจปกครองเนื่องจากความเหนือกว่าทางสรีระและทางจิตใจ, (ซึ่งอันนี้เป็นความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาร่วมสมัยเดียวกันกับเขา)เป็นสิ่งที่ฟรอยด์ไม่ได้นึกถึง.

เมื่อ John Stuart Mill, ผู้ซึ่งฟรอยด์รู้สึกชื่นชมในตัวเขามาก, ได้แสดงไอเดียต่างๆเกี่ยวกับความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของผู้หญิง, ฟรอยด์ได้เขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งว่า, "ในประเด็นนี้ Mill ดูเหมือนจะบ้าไปแล้วจริงๆ". สำหรับคำว่า"จะบ้าไปแล้ว"(crazy)เป็นคำซึ่งหมายถึงว่า เป็นเรื่องที่คิดไปไม่ถึงหรือไม่ได้คิดถึงเอาเลย(unthinkable).

ผู้คนส่วนใหญ่เรียกไอเดียหรือความคิดบางอย่างว่า"บ้า" เพราะความปกติ(sane)นั้น หมายความว่า มันอยู่ภายในกรอบคิดที่อ้างอิงได้ทางความคิดตามขนบประเพณี. ส่วนไอเดียหรือความคิดใดก็ตามซึ่งมันอยู่เหนือไปจากนั้น มันเป็นความบ้าหรือฟั่นเฟือนในทัศนะของผู้คนโดยเฉลี่ยทั่วๆไป. (แต่อย่างไรก็ตาม, มันจะแตกต่างไป เมื่อนักเขียนหรือศิลปินกลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จ. ความสำเร็จจึงเป็นการรับรองความเป็นปกติไม่ใช่หรือ ?)

ความเสมอภาคของผู้หญิงซึ่งเท่าเทียมกันกับผู้ชาย เป็นสิ่งที่ไม่ได้คิดถึงเลยสำหรับฟรอยด์ ซึ่งอันนี้ได้น้อมนำเขาไปสู่จิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง. หลายคนเชื่อว่า แนวความคิดของเขานั้น ที่ว่าครึ่งหนึ่งของมนุษยชาติเป็นเรื่องของชีววิทยา, กายวิภาค และเรื่องทางจิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันด้อยกว่าอีกครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของไอเดียในความคิด ดูเหมือนว่ามันจะเป็นอย่างนั้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง, เว้นแต่การให้ภาพของท่าทีแบบผู้ชายซึ่งมีอคติต่อผู้หญิง(male-chauvinistic attitude).

แต่ลักษณะทางความคิดแบบชนชั้นกลางของฟรอยด์ ไม่ใช่เพียงค้นพบได้ในรูปแบบที่สุดขั้วเกี่ยวกับเรื่องพ่อเป็นใหญ่ในสายตระกูลอันนี้เท่านั้น. อันที่จริงมีนักคิดอยู่สองสามคน ซึ่งเป็นคนที่หัวรุนแรงในความหมายของการอยู่นอกเหนือความคิดเกี่ยวกับเรื่องชนชั้นของพวกเขา. ฟรอยด์ไม่ใช่หนึ่งในนั้น. ดังนั้นเบื้องหลังทางชนชั้นและท่าทีวิธีการของฟรอยด์ทางความคิดนี้ จึงได้แสดงออกมาให้เห็นในแถลงการณ์ทางทฤษฎีของเขาทั้งหมดอย่างชัดเจน.

มันอาจจำเป็นที่จะต้องเขียนหนังสือขึ้นมาทั้งเล่ม ถ้าหากว่าใครสักคนต้องการที่จะวิเคราะห์แนวความคิด และทฤษฎีที่สำคัญต่างๆของฟรอยด์จากจุดยืนเกี่ยวกับต้นตอกำเนิดทางชนชั้น(แน่นอน ไม่ใช่ปัจจัยทางชนชั้นทั้งหมดในความคิดของฟรอยด์ ที่จำเป็นต้องมีรากเหง้ากำเนิดมาจากชนชั้นกลางเพียงอย่างเดียว. บางส่วนในความคิดของเขาไปร่วมกันกับสังคมที่สืบเชื้อสายมาทางพ่อต่างๆ ที่มีแกนกลางบนทรัพย์สินส่วนตัว). แน่นอนว่า บทความชิ้นนี้คงทำอย่างนั้นไม่ได้ภายใต้กรอบข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขึ้นมา ๓ ตัวอย่างดังนี้


ฟรอยด์เองก็ต้องอยู่ในขอบเขต
แห่งอุปสรรคอย่างเดียวกันนี้
โดยต้องนำเสนอความคิด
ของเขาออกมาในหนทางที่
บิดเบี้ยว

 





สิ่งที่ฟรอยด์เองก็คิดไม่ถึง
ก็คือ กรอบความคิด
ทฤษฎีวัตถุนิยมแบบชนชั้นกลาง
และท่าทีแบบชนชั้นกลางในเรื่อง
ผู้ชายเป็นใหญ่

 

John Stuart Mill
ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับ
ความเสมอภาคและความเท่าเทียม
กันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย
ซึ่งฟรอยด์คิดว่าเรื่องนี้
Mill ดูจะบ้าไปเสียแล้ว

1. เป้าหมายในการบำบัดรักษาของฟรอยด์นั้น คือการพยายามหาทางควบคุมแรงขับที่มาจากสัญชาตญานของมนุษย์ โดยผ่านพลังหรือประสิทธิภาพของอีโก้; โดยการทำให้แรงขับสัญชาตญานนั้นลดลงมา. ในแง่มุมอันหลังนี้ ฟรอยด์ได้ก้าวเข้าไปใกล้กับความคิดทางทฤษฎีสมัยกลาง, แม้ว่าจะมีความแตกต่างที่สำคัญบางประการกับระบบความคิดของเขาก็ตาม นั่นคือ ในระบบความคิดของเขา มันไม่มีที่ทางหรือที่ว่างสำหรับความงดงามนิ่มนวล หรือสำหรับความรักในแบบของผู้เป็นแม่เอาเลย. สำหรับคำที่เป็นกุญแจสำคัญในที่นี้ก็คือ การควบคุม.

แนวคิดทางจิตวิทยาอันนี้ เกี่ยวกับการให้อีโก้หรือซูปเปอร์อีโก้คอยเป็นตัวควบคุมแรงขับสัญชาตญานนี้ ดูเหมือนว่ามันจะสอดคล้องลงรอยกันกับความจริงทางสังคมบางอย่าง นั่นคือ เมื่อนำความคิดนี้ไปเทียบกับเรื่องทางสังคม คนส่วนใหญ่จะถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยซึ่งทำหน้าที่ปกครอง (จิตใต้สำนึกได้ถูกสมมุติให้ถูกควบคุมโดยอำนาจของอีโก้และซูปเปอร์อีโก้).

อันตรายของการทะลุทะลวงของจิตไร้สำนึก มันเป็นอันตรายอย่างเดียวกันกับการปฏิวัติทางสังคมเลยทีเดียว. การระงับหรือข่มอารมณ์เป็นวิธีการของผู้มีอำนาจในการยับยั้งอันหนึ่งของการปกป้องสถานภาพภายในและภายนอก. แต่อย่างไรก็ตาม อันนี้ก็ไม่ใช่หนทางเพียงอย่างเดียวที่จะจัดการหรือรับมือกับปัญหาต่างๆเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม. มันยังมีการใช้วิธีการคุกคามและพลังอำนาจในการกดขี่บังคับ หรือควบคุมสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในระบบของผู้มีอำนาจ ที่ที่การปกปักษ์รักษาเกี่ยวกับสถานภาพถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุด. นี่คือแบบจำลองของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งปัจเจกสามารถที่จะนำมาทดลองใช้ได้ด้วย.

ในการวิเคราะห์ท้ายสุด มีคำถามอยู่ข้อหนึ่งก็คือ "จะต้องสละความสุขมากน้อยแค่ไหน กับการที่คนส่วนน้อยซึ่งทำหน้าปกครองสังคมหนึ่ง ต้องการที่จะยัดเยียดให้กับคนส่วนใหญ่ ? สำหรับคำตอบนี้ มันขึ้นอยู่กับพัฒนาการของพลังอำนาจที่ก่อให้เกิดผลในสังคมนั้นเอง ซึ่งสำหรับในที่นี้ ขึ้นอยู่กับระดับที่ปัจเจกชนที่ถูกทำให้ไม่สมปรารถนา.

2. สิ่งที่ดำเนินไปนั้นไม่ต้องพูดเลยว่า เป็นภาพอันวิตถารผิดปกติของฟรอยด์เกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะที่เป็นคนมักมากในกามหรือสนใจในตนเองมากเกินไป(narsissistic) พวกเธอไม่อาจที่จะรัก และเยือกเย็นทางเพศอย่างที่ผู้ชายโฆษณาชวนเชื่อ

ผู้หญิงชนชั้นกลางในสมัยนั้น มีกฎอยู่ข้อหนึ่งคือ จะต้องเยือกเย็นในเรื่องเพศ. ขนบประเพณีของยุคดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์สำหรับการแต่งงานของชนชั้นกลาง ได้วางเงื่อนไขให้พวกเธอจะต้องเย็นชา. นับตั้งแต่วันที่พวกเธอแต่งงาน พวกเธอก็จะถูกทำให้เป็นทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ของสามี, พวกเธอได้รับการคาดหวังให้เป็นคนที่ไม่มีชีวิตจิตใจ หรือว่าเซื่องซึมในการแต่งงาน. ในสมัยนั้น จะมีเพียงผู้หญิงในวงชั้นสูงและหรือโสเภณีชั้นสูงเท่านั้น ที่ได้รับการยินยอมให้เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นทางเพศได้ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เสแสร้งเกี่ยวกับเรื่องนี้).

ไม่ต้องประหลาดใจที่ว่า ผู้ชายมีประสบการณ์เกี่ยวกับกามตัณหาได้ ซึ่งในกระบวนการนี้ ผู้ชายเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ และผู้ชายเป็นคนคุมกฎ. การประเมินในลักษณะที่มากไปเกี่ยวกับ"วัตถุทางเพศ"นี้ ซึ่งตามความคิดของฟรอยด์ มันดำรงอยู่หรือมีอยู่เพียงแต่ในผู้ชายเท่านั้น, เท่าที่เห็นโดยสาระ ความพึงพอใจในการไล่ล่า(วัตถุทางเพศ-ผู้หญิง)เป็นเรื่องของผู้ชาย และในท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จหรือได้ชัยชนะ.

ชัยชนะดังกล่าวสำหรับเรื่องนี้ จะถูกทำให้มั่นใจได้โดยการมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรก, จากนั้น ผู้หญิงจะถูกผลักไสไปสู่ภาระหน้าที่ในการผลิตลูก และเป็นคนดูแลบ้านที่มีประสิทธิภาพคนหนึ่ง; เธอได้เปลี่ยนจากวัตถุชิ้นหนึ่งของการไล่ล่าไปสู่การเป็นไม่มีตัวตน

(ทั้งหมดนี้ได้ถูกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในการแต่งงานของตัวฟรอยด์เอง, จดหมายที่แสนหวานและโรแมนติค, ภาพของความหลงใหลใฝ่ฝันส่วนใหญ่เกี่ยวกับคนรักอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นแบบอย่างของจดหมายรักทั้งหลายในคริสตศตวรรษที่ ๑๙, จวบจนกระทั่งมาถึงการแต่งงาน; หลังจากนั้น การขาดเสียซึ่งความสนใจในตัวเธออย่างเด่นชัดก็ปรากฏออกมา ทั้งในเรื่องทางเพศ สติปัญญา และอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องความรักและความเสน่หา) ถ้าหากว่าฟรอยด์มีคนไข้ผู้หญิงจำนวนมากที่มาจากชนชั้นสูงของฝรั่งเศสและอังกฤษ, ภาพที่แข็งทื่อเกี่ยวกับผู้หญิงที่เย็นชา อาจเปลี่ยนไปก็ได้.

3. บางที ตัวอย่างซึ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับคุณลักษณ์ต่างๆอย่างชนชั้นกลางของแนวความคิดที่เป็นสากลของฟรอยด์ตามที่ปรากฎ จะเห็นได้ในเรื่องเกี่ยวกับ"ความรัก". อันที่จริง, ฟรอยด์ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับความรัก, มากยิ่งกว่าบรรดาสานุศิษย์ซึ่งยึดมั่นอยู่ในตัวเขาอย่างเหนียวแน่นคุ้นเคยที่จะทำเสียอีก. แต่อะไรล่ะ ที่ฟรอยด์หมายถึงเกี่ยวกับความรัก ?

สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ฟรอยด์และสาวกต่างๆของเขา ปกติแล้ว จะพูดถึง"object love" (ซึ่งคำนี้ตรงกันข้ามกับ"narcissistic love") และเกี่ยวกับ"love object" (คำแรก object love หมายถึง ความรักในเชิงวัตถุ ซึ่งตรงข้ามกับความรักในรูปโฉมหรือเรื่องกาม[narcissistic love] และคำที่สาม love object วัตถุของความรัก[หมายถึง บุคคลที่ คนๆหนึ่งหลงรัก]).

การพูดถึงวัตถุของความรัก (love object) ก็ต้องพูดถึงการ"มี"ในครอบครอง, โดยการกีดกันรูปแบบของภาวะอื่นๆออกไป; มันไม่ต่างอะไรไปจากการที่พ่อค้าคนหนึ่งพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน. ในกรณีหลัง เงินทุนได้ถูกลงไป, ส่วนอันแรกทุนคือ libido(หมายถึงสัญชาตญานที่เป็นความต้องการทางเพศ)

มันเป็นเพียงเรื่องของตรรกะ ซึ่งบ่อยครั้ง ในงานวรรณกรรมทางจิตวิเคราะห์ คนที่พูดถึงเกี่ยวกับความรัก ก็คือ การลงทุนที่เกี่ยวกับสัญชาตญานซึ่งเป็นความต้องการทางเพศ(libidinous investment)ในวัตถุชิ้นหนึ่ง. อันนี้มันเป็นการนำเอาความเก่าแก่ซ้ำซากของวัฒนธรรมทางธุรกิจเพื่อมาลดทอนความรักของพระผู้เป็นเจ้า, ของผู้ชายและผู้หญิง, ของมนุษยชาติลงมาเหลือเพียงแค่การลงทุนอันหนึ่งเท่านั้น; หรือลดความศรัทธาอย่างแรงกล้าของ Rumi, Eckhart, Shakespeare, Schweitzer เพื่อแสดงใเห็นความเล็กที่สุดของจินตนาการเกี่ยวกับผู้คน ซึ่งชนชั้นของเขาได้พิจารณาว่า การลงทุนและกำไรเป็นสิ่งซึ่งมีความหมายที่แท้ของชีวิต.

มันคือวัตถุที่เป็นขยะหรือปฏิกูลอันหนึ่ง อย่างที่มันเป็น, ของความจำเป็นทางชีววิทยาเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์. "ความรัก",ในมนุษย์, ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของแบบฉบับของความผูกติด ยกตัวอย่างเช่น การผูกติดกับบุคคลต่างๆผู้ซึ่งเป็นที่รัก โดยผ่านความต้องการอันมีชีวิตชีวาที่น่าพึงใจอื่นๆ (เช่น การกินและการดื่ม).

ถ้าจะเปรียบแล้ว, ความรักของผู้ใหญ่ มิได้แตกต่างไปจากความรักของพวกเด็กๆ; พวกเขาทั้งคู่ ต่างก็รักคนที่ป้อนอาหารให้พวกเขานั่นเอง. อันนี้เป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัยสำหรับคนส่วนใหญ่; ความรักอันนี้คือชนิดหนึ่งของความขอบคุณหรือปลื้มปิติในความรักสำหรับการที่ได้รับการป้อน. แน่นอน แต่การกล่าวเช่นนั้นว่าเป็นแก่นของความรัก มันค่อนข้างจะซ้ำซาก น่าเบื่อ และเจ็บปวด. (ผู้หญิง, ดังที่เขากล่าว ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงจุดๆนี้ได้ เพราะพวกเธอรักในลักษณะของความหลงใหลในรูปของตนเอง(narcissistically), พวกเธอรักตัวของพวกเธอเองในคนอื่น)

ฟรอยด์ยืนยันว่า : "ความรักในตัวของมันเองนั้น ภายใต้ขอบเขตที่ยังมีความต้องการความปรารถนาและการสิ้นสุด, จะทำให้ความสนใจในตนเองต่ำลง, ในทางตรงข้ามกับการถูกรัก, และมีการรักตอบและการครอบครองวัตถุของความรัก จะยกตัวตนขึ้นมาอีกครั้ง". คำพูดนี้เป็นกุญแจสำคัญต่อการเข้าใจแนวความคิดเกี่ยวกับความรักของฟรอยด์. นั่นคือ ความรัก, มีนัยะความต้องการและการสิ้นสุด; ทำให้การสนใจในผลประโยชน์ของตนเองต่ำลง(หรือความหยิ่งในศักดิ์ศรีต่ำลง).

สำหรับบุคคลที่ประกาศถึงความปลื้มปิติและความเข้มแข็ง ซึ่งความรักได้ให้กับคนรัก, ฟรอยด์กล่าวว่า: คุณทั้งหมดต่างก็ผิดถนัด! ความรักทำให้คุณอ่อนแอ; สิ่งซึ่งทำให้คุณมีความสุขก็คือการถูกรัก.

และอะไรล่ะคือการถูกรัก ? การครอบครองวัตถุของความรัก! นี่เป็นนิยามความที่คลาสสิคอันหนึ่งของความรักสำหรับชนชั้นกลาง: หมายถึงการเป็นเจ้าของและการควบคุมได้ ซึ่งอันนี้ได้สร้างความสุขขึ้นมา, มันคือสมบัติทางวัตถุ หรือผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ซึ่ง, ถูกเป็นเจ้าของ, เป็นหนี้เจ้าของความรัก.

ความรักเริ่มต้นขึ้นมาเหมือนอย่างกับเด็กคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการป้อนอาหารจากแม่. และมันสิ้นสุดลงเมื่อผู้ชายได้เป็นเจ้าของผู้หญิงคนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงก็ยังต้องป้อนเขาต่อไปด้วยความรักความเสน่หา, ความพึงพอใจทางเพศและอาหาร.

ในที่นี้ บางที เราจะพบกุญแจสำคัญที่นำไปสู่แนวความคิดเกี่ยวกับ Oedipus complex (ปมความซับซ้อนทางเพศ เด็กผู้ชายจะรักแม่ตนและเกลียดพ่อ ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็เป็นไปในทางตรงข้าม). โดยการจัดเตรียมหุ่นจำลองขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กันในสายเลือด ฟรอยด์ได้ซ่อน สิ่งซึ่งเขาพิจารณาว่าเป็นสาระหรือแก่นแกนเกี่ยวกับความรักของผู้ชาย: การผูกติดชั่วนิรันดร์กับแม่คนหนึ่ง ผู้ซึ่งคอยป้อน และในเวลาเดียวกันได้ถูกควบคุมโดยผู้ชาย. (ใครก็ตาม ที่เคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับความรักของผู้ชายชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีต่อผู้หญิงจะเข้าใจในประเด็นนี้ และผู้หญิงญี่ปุ่นเองเมื่อจะรักกับผู้ชายคนหนึ่ง ก็จะต้องเข้าใจว่า ตนพร้อมจะเป็นแม่ของชายคนรักด้วย).

อันที่จริง สิ่งที่ฟรอยด์พูดระหว่างบรรทัด เป็นไปได้ที่มันจะเหมาะสมกับสังคมผู้ชายเป็นใหญ่: อันที่จริง ผู้ชายยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพา แต่ก็ปฏิเสธเรื่องนี้โดยการคุยโตโอ้อวดเกี่ยวกับความเข้มแข็งของเขา และการพิสูจน์มันโดยผ่านการทำให้ผู้หญิงเป็นสมบัติของเขา.

เงื่อนไขหลักที่สำคัญต่างๆในท่าทีหรือทัศนคติแบบผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นการพึ่งพาอาศัยผู้หญิง และการปฏิเสธเรื่องนี้ พวกเขาจะกระทำโดยการควบคุมเธอเอาไว้. ฟรอยด์, ดังที่เคยอยู่บ่อยๆ ได้แปรเปลี่ยนปรากฎการณ์ที่จำเพาะอันนี้ไป, นั่นคือความรักแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ไปสู่ความรักของมนุษย์ที่เป็นสากล.

 


แนวคิดจิตวิทยาของฟรอยด์นั้น
ได้แบ่งจิตออกเป็นสามส่วนคือ
id, ego, super-ego
เขาต้องการที่จะควบคุม id
หรือสัญชาตญานดิบ

 

ในที่นี้ได้มีการเปรียบเทียบทฤษฎีจิต
กับเรื่องการควบคุมทางสังคม
โดยผู้มีอำนาจจำนวนน้อย

 

 

 




ภาพวิตถารผิดปกติอขงฟรอยด์
เกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งมาจากแนวคิด
ชนชั้นกลางในสมัยของเขา
ซึ่งต้องการควบคุมให้ผู้หญิง
หลังแต่งงานเป็นคนที่เย็นชา
ในเรื่องทางเพศ
โดยที่ผู้ชายเป็นผู้คุมกฎ
อันนี้มาจากความคิด
ที่ถือว่าผู้ชาย เป็นใหญ่ และเป็นผู้ชนะ

 

 

 

 

 

การพูดถึงวัตถุของความรัก
ก็ต้องพูดถึงเรื่อง"การมี"
ในครอบครอง

ความคิดนี้เป็นการทอนความรัก
ลงเหลือเป็นการลงทุน
ซึ่งไม่ต่างไปจากความคิดของพ่อค้า
เพียงแต่ว่าใช้เงินลงทุน
ส่วนความรักใช้ตัณหา
เป็นการลงทุน



ความรักของผู้ชายก็ไม่ต่างไปจาก
ความรักของเด็กที่มีต่อแม่
เขาต้องการให้ป้อนเช่นเดียวกัน
เพียงแต่เป็นความรัก
และความเสน่หา
ความพึงพอใจทางเพศ และอาหาร

 

สรุป: "ความยิ่งใหญ่และข้อจำกัดทางด้านความคิดของฟรอยด์" ในความเรียงสั้นๆนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า

1. ทฤษฎีใหม่ๆทั้งหลาย ทำไมจึงต้องผิดพลาดหรือมีอุปสรรค ? สำหรับคำตอบนี้ก็คือ เพราะ เนื่องมาจากเป็นความคิดหรือทฤษฎีใหม่ที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน(unthinkable) ดังนั้นจึงไม่มีคำพูดหรือคำอธิบายเรื่องนั้น(unspeakable),

2. ประการต่อมาคือ เขาจะต้องนำเสนอความคิดใหม่อันนั้นด้วยจิตวิญญานของยุคสมัยตน ซึ่งไม่มีภาษาที่เหมาะสมเพียงพอ (ต้องขุดเอาภาษาที่มีอยู่มาใช้)

3. ความคิดใหม่ๆนั้นจะต้องผ่านการกลั่นกรองทางสังคม ถ้ามันเกิดขึ้นมาในสังคมที่ยังไม่พร้อม ความคิดใหม่นี้ก็ไม่อาจผ่านเครื่องกรองทางสังคมไปได้

ในส่วนของรากเหง้าความผิดพลาดของฟรอยด์นั้น เนื่องมาจากสาเหตุดังนี้

1. ทฤษฎีวัตถุนิยมของชนชั้นกลาง เรื่อง "ผลที่มาจากเหตุ และเหตุที่นำไปสู่ผล". ซึ่งในที่นี้ ฟรอยด์เชื่อว่า รากเหง้าทางสรีระมีความผูกพันกับเรื่องจิต
โดยเฉพาะสัญชาติญาน แรงขับทางเพศ

2. ทัศนคติเกี่ยวกับการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในสมัยของเขา(อำนาจที่สืบทอดมาทางเชื้อสายพ่อ(พ่อเป็นใหญ่)"(authoritarian-patriarchal attitude). ดังนั้น
จึงเป็นเหตุแห่งการวิเคราะห์ไปในหนทางนั้น

3. ท่าทีของความรัก ซึ่งมาจากทัศนคติแบบผู้ชายเป็นใหญ่ โดยการเอาชนะผู้หญิง. แต่อันที่จริงมิได้เป็นอย่างนั้น ผู้ชายจำต้องพึ่งพาผู้หญิงอันไปสัมพันธ์อย่างสลับซับซ้อนกับเรื่องของ Oedipus complex. ดังนั้น ผู้ชายจึงต้องแสดงออกด้วยการครอบครองและควบคุม

(หมายเหตุ: ในข้อนี้ เนื่องมาจากการตั้งต้นขึ้นด้วย แนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่ตามค่านิยมในสมัยของเขาในข้อที่สอง
ทำให้เกิดการวิเคราะห์ไปในหนทางนั้น ดังในข้อที่ 3)

ปัจฉิมลิขิตของผู้เรียบเรียง : สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจ... บทความนี้ค่อนข้างยากในการทำความเข้าใจสำหรับคนที่ไม่มีความคุ้นเคยหรือมี back ground เกี่ยวกับฟรอยด์ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะพบกับความยุ่งยากอยู่สักหน่อย. แต่อย่างไรก็ตาม หากจะเก็บสาระอื่นๆอันใดไปได้บ้าง ก็คิดว่าน่าจะได้ประโยชน์พอสมควร. หรือหากสงสัย อยากจะทำความเข้าใจ กรุณา mail มาที่ midnightuniv(at)yahoo.com

(ขอขอบคุณ อาจารย์วัลลภ แม่นยำ / ผู้ให้ยืมหนังสือ เพราะเห็นว่าผู้เรียบเรียงสนใจทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์)

Back to midnight's home