(ต่อจากหน้าที่แล้ว) บทความ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / พย. 2543
เขียนโดย
วารุณี ภูริสินสิทธิ์

ความซื่อสัตย์ของเมีย
คุณค่าพรหมจรรย์
สำคัญตั้งแต่เมื่อใด ?

ความงามของผู้หญิงไทย
เริ่มเป็นที่นิยมให้เป็น
คุณสมบัติของตนตั้งแต่
เมื่อใด ?

ความซื่อสัตย์ของเมีย
เป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งของผู้หญิงที่เป็นเมียถูกคาดหวัง
และถูกให้ความสำคัญจนน่าตกใจทั้งในส่วนของสามัญชนและชนชั้นสูง
ในวรรณกรรมอีสานเรื่องพญาคำกองสอนไพร่ (อ้างในทวี หน้า 197)
ได้ด่าว่าเมียที่ไปมีชู้ มีตัณหาร้อน ฆ่าผัว ขโมยของผัวไปให้ชู้ เป็น
"หญิงชาติชั่ว" เสียชาติเกิด และต้องตกนรกหมกไหม้
และควรต้องถูกหอกดาบฟันให้ตาย
และตามกฎหมายธรรมศาสตร์ขุนบรม
ซึ่งถือเป็นข้อบังคับเก่าแก่ของอีสาน ได้ระบุให้ผัวฆ่าทั้งเมียและชู้ได้
ถ้าไม่ฆ่าก็ให้ผัวเรียกค่าสินไหมจนหมดสิ้น
โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นของสามี อีกส่วนเป็นของบิดามารดาผู้หญิง
และยังให้คนที่ช่วยจับเมียที่มีชู้ด้วย
โดยทรัพย์ของผู้หญิงที่มีให้ผัวสองส่วนและคนจับหนึ่งส่วน
(พิชัย อ้างแล้ว)
วรรณกรรมหลายเรื่องในล้านนา จะพยายามเสนอให้ผู้หญิงไม่ว่า
ชนชั้นใดต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสามีตลอดไป
แม้จะพลัดพรากจากกันนานเท่าใดก็ตาม
และจากผลของความซื่อสัตย์นี้ ภรรยาจะได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอ
ความซื่อสัตย์ของเมีย

และในมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายของล้านนาได้ลงโทษภรรยาที่มีชู้อย่างรุนแรง โดยให้ตัดศีรษะ ตัดหู ปรับไหม และให้สิทธิสามีขายภรรยาที่มีชู้ ขายได้เงินเท่าใด แบ่งให้สามีและบิดามารดาของภรรยาคนละครึ่ง (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) กฎหมายตราสามดวงก็ระบุโทษในการมีชู้ของเมียไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือสามีสามารถฆ่าชายชู้และเมียตัวเองได้โดยไม่ต้องรับโทษใด ๆ และสามีมีสิทธิยึดทรัพย์ทั้งหมดของภรรยา หรืออาจใช้วิธีการประจานโดยกฎหมายอนุญาตให้เอาปูนเขียนใบหน้าเมียที่มีชู้ เอาดอกชบาแดงทัดสองหูและร้อยเป็นมาลัยใส่ที่ศีรษะและคอ แล้วให้คนตีฆ้องนำหน้าประจานไปทั่ว ลาลูแบร์ (อ้างแล้ว) ได้บันทึกไว้ว่า ถ้าผู้หญิงที่เป็นราชบาทบริจาริกกาของพระมหากษัตริย์ ลอบมีชู้จะถูกให้ลอบสังวาสกับม้า และให้ประหารชีวิต หรือสั่งให้เสือขบ สำหรับกรณีทั่ว ๆ ไป สามีอาจขายภรรยาที่คบชู้ไปเป็นโสเภณี ส่วนชายชู้ซึ่งถือว่าเป็นจำเลยที่ทำผิดร่วมกันกลับได้รับโทษที่เบากว่าผู้หญิงที่กระทำผิด

ในขณะที่ภรรยาที่คบชู้ถูกด่าว่า สาปแช่ง และถูกลงโทษอย่างรุนแรง ผู้ที่เป็นสามีสามารถมีภรรยากี่คนก็ได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีได้หลายประเภท คือ เมียกลางเมือง ภรรยาพระราชทาน เมียกลางนอก เมียกลางทาษี จำนวนของเมียที่จะมีขึ้นอยู่กับฐานะ ความร่ำรวยของผู้ชายนั้น "คนมั่งมีเท่านั้นที่ริมีภรรยามากกว่าคนเดียว เพื่อประสงค์ให้ภาคภูมิประดับบารมีมากกว่าจะเป็นการแสดงออกทางด้านกามรมณ์" (ลาลูแบร์ อ้างแล้ว หน้า 229) พวกขุนนางสมัยอยุธยา "ที่มีรายได้จากค่าเช่าถือที่ดินของตน อาจมีเมียมากเท่าไรก็ได้ตามปรารถนา ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับความนับหน้าถือตามากขึ้นเท่านั้น …พวกขุนนางถือว่าการมีเมียน้อยได้หลายคนนั้นเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาอย่างสูง ขุนนางคนใดไม่มีเมียน้อยก็ถือกันว่าเป็นคนอัตคัดเต็มที" (แชรแวส 2506 หน้า59…86) ดูปลาตร์มองว่าถึงกฎหมายยอมให้ผู้ชายสยามมีเมียได้หลายคน แต่จำนวนผู้ชายแบบนี้มีอยู่น้อยมาก เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การที่มีการยอมรับกันอย่างเป็นทางการย่อมเป็นการแสดงว่า สังคมอนุญาตให้ผู้ชายมีหลายเมีย และเป็นความมีหน้ามีตาอย่างหนึ่งของผู้ชาย

ความซื่อสัตย์ที่ภรรยาถูกเรียกร้องให้มีแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น อาจอธิบายได้จากแนวคิดของเองเกลที่ว่า ในสังคมที่เริ่มมีการสะสมทรัพย์สินมากขึ้น ผู้ชายต้องการที่จะให้แน่ใจว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะถูกสืบทอดไปยังลูกที่เกิดจากตนเองจริง ๆ จึงสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้หญิงนั้นมีตนเพียงคนเดียวและลูกที่เกิดมา คือ ลูกของตน เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์ของเมียเป็นเรื่องสำคัญ แต่การที่ผู้ชายต้องมีเมียคนเดียวเป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่มีผลต่อการสืบทอดมรดก (Engel 1995)

อย่างไรก็ตามในกรณีของสังคมไทย อาจพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่งได้ไหมว่า เนื่องจากเมียไทยในอดีต เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการเก็บดูแลทรัพย์สินที่หามาของครอบครัว และส่วนใหญ่ฝ่ายผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน ดังนั้น การมีชู้ของเมียย่อมส่งผลสะเทือนต่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของครอบครัวอย่างแน่นอน และถ้าพิจารณาว่าในอดีตครอบครัวมีความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแนบแน่น เพราะคนในชุมชนมีความเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น ผลกระทบที่มีต่อครอบครัวย่อมมีผลต่อชุมชนด้วย เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์ของเมียเป็นเรื่องสำคัญต่อความสงบสุขของชุมชนโดยรวม

ในขณะที่ผู้หญิงกับความเป็นเมียได้ถูกตอกย้ำอย่างมากมายในวรรณกรรมต่าง ๆ ผู้หญิงกับ ความเป็นแม่ กลับมีน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ และยังพบว่าพ่อสามัญชนอาจมีส่วนในการเลี้ยงลูกมากกว่าที่เคยคิด สะท้อนให้เห็นในเพลงกล่อมเด็กของล้านนาที่ว่า

นอนเหียลูกเหย หลับตาอ้วยส้วย ไผมาขายกล้วย ป้อจะซื้อหือกิ๋น แม่เจ้าไปไฮ่ เปิ้นจะหมกไข่มาหา
แม่เจ้าไปนา เปิ้นจะหมกป๋ามาต้อน แม่เจ้ามาเถิง จึงค่อยตื่นกิ๋นนม ( อ้างในศิริรัตน์ อ้างแล้ว หน้า48)

การที่ความเป็นแม่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก อาจเพราะว่า การเลี้ยงลูกในอดีตไม่ใช่เป็นเรื่องของแม่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของญาติพี่น้องและชุมชนที่ช่วยเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอน ในหมู่ชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะจะมีคนช่วยดูแลเด็กอยู่ตลอดเวลา ความเป็นแม่ของผู้หญิงเริ่มถูกให้ความสำคัญให้อยู่เหนือความสำคัญอื่น ๆ อย่างชัดเจนในช่วงยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (2481-2487) ที่มีนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงหลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเสนอว่าผู้หญิงคือแม่พิมพ์ของชาติ คือ เป็นแม่พิมพ์ของลูก ถ้าแม่ดีลูกก็จะเป็นคนดี ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยสร้างชาติ "การสร้างชาติก็คงสำเหร็ดไม่ได้ (ถ้าขาดผู้หยิง) เพราะหยิงเป็นแม่ เมื่อมีลูก ลูกก็ย่อมเป็นไปตามแม่……หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งที่ว่าหยิงเป็นแม่พิมพ์ในการสร้างชาติ" (จอมพล ป.อ้างในนันทิรา 2530 หน้า 107-8)

เพราะฉะนั้นผู้หญิงต้องบำรุงร่างกาย เพื่อสามารถที่จะเป็นแม่พันธุ์ที่ดี ผู้หญิงที่ไม่มีลูกถือว่าไม่มีประโยชน์กับประเทศชาติเลย สะท้อนให้เห็นจากข้อความในเรื่องขอให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว พ.ศ. 2485 ของผู้ที่ใช้นามว่า ศักดิ์ที่กล่าวว่า "พูดถึงภรรยาที่ที่กดหมายรับรองเกิดบังเอิญมีอุปสัก ไม่มีลูกหรือไม่ได้ ซึ่งจะเรียกกันตรง ๆ ว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาติเลย" (อ้างในนันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 248) และกำหนดให้ "ทางฝ่ายชายเป็นผู้หารายได้มาให้ ทางฝ่ายหยิง มีหน้าที่เลี้ยงลูก" (จอมพล ป. อ้างในนันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 104) แม้หมดยุคสมัยของจอมพล ป.แล้วแต่นโยบายเหล่านี้หรือความเชื่อเช่นนี้ ได้ถูกสืบทอดอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการประกวดแม่ดีเด่น หรือการกำหนดให้มีวันแม่ และถูกโฆษณาผ่านตามสื่อต่าง ๆ จนทำให้คิดไปได้ว่าความเป็นแม่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตผู้หญิง ผู้หญิงที่ไม่อยากเป็นแม่หรือไม่ได้เป็น คือคนหรือผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์

 

"คุณค่าของพรหมจรรย์" สำคัญตั้งแต่เมื่อใด "การรักนวลสงวนตัว" "อย่าชิงสุกก่อนห่าม" เป็นคำสั่งสอนผู้หญิงไทยที่ติดปาก "ความบริสุทธิ์" กลายเป็นคาดหวังที่สังคมมีต่อผู้หญิง เป็นคุณค่าที่ใช้ประเมินผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาวรรณกรรมอีสานของ ทวี (อ้างแล้ว) พิชัย (อ้างแล้ว) ล้วนแต่พบว่า การรักนวลสงวนตัวของผู้หญิงสำคัญ และจากการที่รักนวลสงวนตัวนี้ทำให้มีเทวดาคุ้มครอง จะได้ผัวดี ลูกดี ในวรรณกรรมล้านนาก็สะท้อนผ่านเนื้อหาของวรรณกรรมที่ให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว ถ้าไม่ทำ ผลที่ตามมานอกจากไม่ดีกับตนเองแล้ว ยังส่งผลให้เกิดอาเพทในสังคม บ้านเมืองประสบกับความแห้งแล้ง ประชาชนอดอยาก สังคมมีโรคร้ายระบาด (เรื่อง จั๋นต๊ะฆา อ้างในศิริรัตน์ หน้า 229)

แม้ผู้หญิงถูกสอนผ่านวรรณกรรมต่าง ๆ ให้รักษาความบริสุทธิ์จนแต่งงาน แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดดูจะขัดแย้งกับสิ่งที่ปฏิบัติจริงอยู่ แม้ในวรรณกรรมเอง พิจารณาจากหนังสือ นางในวรรณคดีที่รวบรวมโดยมาลัย(2536) จำนวน 67 ราย พบว่าตัวเอกผู้หญิงและผู้ชายลักลอบมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนที่จะแต่งงานหรือสู่ขอผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเป็นจำนวนมาก และเมื่อผู้ใหญ่รับรู้ทีหลังก็ไม่ว่ากล่าวแต่ประการใด ได้มีการศึกษาพบว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหนุ่มสาวเกิดขึ้นทั่วไปในชนบท (Turton 1972; Klausner 1972; Davis 1984) ในกรณีภาคเหนือ ถ้าผู้ใหญ่จับได้ ผู้ชายต้องทำพิธีเสียผี และจะมีการพิจารณาว่าจะยกผู้หญิงให้ไปเป็นเมียหรือไม่ และอาจพิจารณาไม่ให้มีการแต่งงานเกิดขึ้น (Turton เพิ่งอ้าง; Cohen 1984) เพราะฉะนั้นการเสียความบริสุทธิ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญถึงขั้นที่ต้องแต่งงาน ผู้หญิงก็ยังอยู่ในสังคมนั้นต่อไป หรือการหนีตามกันก็มีเกิดขึ้นทั่วไป (ปาลเลกัวซ์ อ้างในนิธิ อ้างแล้ว; Hanks and Hanks 1963; วารุณีและเบ็ญจา 2537) ถ้าทั้งคู่กลับมาขอขมา ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงส่วนใหญ่ก็ไม่เอาผิดแต่ประการใด

ดังนั้นการรักษาความบริสุทธิ์จนถึงวันแต่งงานคงไม่ได้มีการปฏิบัติเป็นจริงเป็นจังมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พรหมจารีย์ของผู้หญิงในสังคมไทยในอดีตอาจไม่ได้ถูกให้คุณค่ามากเท่าที่มีการพูดกันในปัจจุบัน มีเกร็ดทางประวัติศาสตร์ที่เล่าถึง กรณีอำแดงอยู่ เป็นเรื่องราวในช่วงปี พ.ศ 2424 อำแดงอยู่เคยอยู่กินกับม.ร.ว.ท่านหนึ่ง แต่เป็นสามี ภรรยาได้ 2-3 ปี ไม่มีบุตร เกิดทะเลาะวิวาท หนีไปอยู่กับท้าวอิ่มในพระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้นหลวงสะท้านมาขอเป็น ภรรยา ฯลฯ (เอนก 2542) หรือ กรณีอำแดงเหมือน เป็นเมียนายริดแล้ว แต่นายภูซึ่งทราบเรื่องนี้ดี ก็ยังตามตื้อและทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้อำแดงเหมือนมาเป็นเมีย (วิบูล 2542) หรือกรณีที่พระเจ้าตากสิน รับเอาแม่ม่าย คือหม่อมอุบล (เคยเป็นเมียไพร่) และหม่อมเสม มาเป็นมเหสีและสนม (วิบูล เพิ่งอ้าง) และในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ 2394-2404 ที่ทรงอนุญาตให้บรรดาเจ้าจอมต่าง ๆ ลาออกไปมีสามีใหม่ได้ ยกเว้นเจ้าจอมในพระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าที่ยังอยู่ (ถ้าจะมีสามีใหม่ต้องตัดขาดจากพระองค์เจ้าก่อน) (อ้างใน นันทิรา อ้างแล้ว) และยังมีพระราชดำรัสว่า

ตั้งแต่กุนปีศก จนถึงปีกุนเบญจศกนี้ ผู้หญิงที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อน ลาไปมีผัวอยู่ข้างนอกก็หลายคน ผัวของผู้หญิงเหล่านั้นกับข้าพเจ้า ก็ดีกันหมด ไม่ได้ขัดเคืองกระดากกระเดื่องกับใคร คนที่เป็นเมียข้าพเจ้า อยู่ก่อน บางคนมีผัวใหม่แล้วกลับมาหาข้าพเจ้า ก็พูดจาด้วยดีอยู่ (อ้างใน วิบูล อ้างแล้ว หน้า 225)

กรณีต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ทำให้พิจารณาได้ว่า ความบริสุทธิ์ หรือพรหมจรรย์ของผู้หญิงไม่ใช่เงื่อนไขในการที่ผู้ชายจะใช้ในการพิจารณาเลือกไปเป็นภรรยา และการที่ผู้หญิงจะมีสามีมากกว่าหนึ่งคนในชีวิตไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ประการใด (แต่ต้องมีครั้งละหนึ่งคน) เพราะฉะนั้นพรหมจารีย์ของผู้หญิงไม่สำคัญเท่ากับการต้องซื่อสัตย์ต่อสามีของตน

การให้คุณค่าในเรื่องพรหมจารีย์ของผู้หญิงไทยปรากฏขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยได้รับอิทธิพลจากความคิดในเรื่องเพศแบบวิคตอเรียน (Victorian Sexual Attitudes) และคุณค่าเหล่านี้ได้เสนอสู่สังคมผ่านทางวรรณกรรม นวนิยายต่าง ๆ ในเวลาต่อมา เช่น ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเงาะป่า ที่ ลำหับกล่าวว่า

เกิดเป็นหญิงจริงสำหรับรับอดสู สุดจะกู้แก้กายให้หายกลิ่น แม้นได้กับซมพลาก็ราคิน เขารู้สิ้นว่าคู่ครองของฮเนา ได้คู่เก่าก็ร้ายน่าอายเหลือ เขา (ซมพลา)ถูกเนื้อจับต้องเหมือนของเขา

สุรีย์ (2529) ได้ทำการศึกษานวนิยายที่แต่งขึ้นในช่วง พ.ศ 2444-2501 พบว่า พรหมจรรย์เป็นคุณค่าที่สำคัญของผู้หญิง แม้ในนวนิยายช่วงหลังจากนั้น ส่วนใหญ่หรือแทบทุกเรื่อง นางเอกต้องเป็นสาวบริสุทธิ์ก่อนแต่งงาน ยกเว้นถูกพระเอกปล้ำเสียก่อน ค่านิยมนี้ถูกซึมซับเข้าสู่สังคม ทำให้พรหมจารีย์ของผู้หญิงถูกให้ค่าประหนึ่งว่าเป็นคุณค่าทั้งหมดของความเป็นผู้หญิงและต้องเก็บไว้มอบแก่ผู้ชายในวันแต่งงาน และกลายเป็นความรับรู้และคาดหวังที่สังคมมีต่อผู้หญิงที่ดูเป็นจริงเป็นจังมาจนถึงปัจจุบันนี้

"คุณค่าของพรหมจรรย์" สำคัญตั้งแต่เมื่อใด
การรักนวลสงวนตัว
อย่าชิงสุกก่อนห่าม
เป็นคำสั่งสอนที่ติดปาก

สมัยก่อน การรักษา
ความบริสุทธิ์
จนถึงวันแต่งงาน
คงไม่ได้มีการปฏิบัติ
กันจริงจัง

 

 

 

ประกาศรัชกาลที่ 4
ทรงอนุญาตให้เจ้าจอม
ต่างๆ ลาออกไป
มีสามีใหม่ได้

 

 

การให้คุณค่าเรื่อง
พรหมจรรย์ของ
ผู้หญิงไทย ปรากฎขึ้นมา
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

 

"แม่ค้า" หายไปไหนจาก "ความเป็นผู้หญิงไทย" มีบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงไทยในเรื่องค้าขาย ส่วนใหญ่ผู้บันทึกเป็นชาวต่างประเทศซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ภาพของผู้หญิงไทยที่ทำการค้าขายปรากฏให้เห็นในเอกสารต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา (ตวงทอง อ้างแล้ว) ผู้หญิงไทยในที่นี้รวมไปถึงผู้หญิงในชนชั้นสูงด้วย ลาลูแบร์ (อ้างแล้ว) ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกว่า "พระอัครมเหสียังทรงมีพระคลัง เรือกำปั่น และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นอเนก พระนางทรงทำการค้าขาย….เป็นกรรมสิทธิ์ เป็นธรรมเนียมในพระราชอาณาจักรมาแต่เบื้องโบราณ" (หน้า 452)

แอนนา เลียวโนเวนส์ (1975) เล่าว่า เครื่องราชบรรณาการที่สยามได้รับจากเมืองประเทศราช อาทิเช่น ผ้าไหม งาช้าง และสินค้าหายากต่าง ๆ จะถูกนำมาขายให้กับพ่อค้าชาวต่างชาติ โดยวิธีการประมูลและผู้ที่ดำเนินการประมูลคือ พระสนมผู้เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ ส่วนการค้าขายของผู้หญิงสามัญชนยิ่งปรากฏให้เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ที่สังคมมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก "ภรรยา ..สามารถค้าขายเป็นส่วนตัวของเธอได้ และสามีหรือบรรดานายเงินของสามีจะไปแตะต้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของเธอมิได้" (แฮรีส 2515 หน้า 16) "ถ้าหากชาวสยามต้องการแรงหนุนในการต่อรองราคาซื้อขายแล้ว พวกเขามักจะเรียกภรรยาหรือลูกสาวของเขาออกมา และในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจแล้ว เขาจะถูกพวกผู้หญิงหนุนนำ" ( เอช. วาริงตัน สมิธ อ้างในตวงทอง อ้างแล้ว หน้า 138)

"ผู้หญิงสยามดูเหมือนมีพลังซึ่งไม่มีอยู่ในสามีของเธอ…….พวกเธอเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ เป็นผู้จัดการเรื่องทรัพย์สมบัติ และแสดงออกซึ่งความสามารถอย่างมากในการรักษาผลประโยชน์ของพวกเธอ" (Buls 1994:75-76)

จากการศึกษาของตวงทอง (อ้างแล้ว) พบว่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จำนวนแม่ค้ามีมากกว่าพ่อค้าชาวจีนที่นับว่ามีมากอยู่แล้ว ผู้หญิงสามัญชนไม่เพียงแต่เป็นแม่ค้า แต่มีบทบาททางเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ เป็นคนกลางรับซื้อสินค้า เป็นนายเงินรับซื้อทาส และดูแลทาส หรือให้กู้ยืมเงิน มีหลายกรณีที่รับบ่อนจากนายอากรบ่อนเบี้ยมาเปิดอีกต่อหนึ่ง หรือกู้เงินเพื่อมาเปิดบ่อนเองก็มี นอกจากนี้ยังเป็นกำนันตลาด มีหน้าที่ดูแลจัดเก็บเงินอากรตลาดตามรายการสินค้าที่ถูกกำหนด ดูแลความเรียบร้อยของผู้ซื้อขาย จัดการกับผู้ทะเลาะวิวาทในตลาด จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงและคนจีนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดและเชี่ยวชาญเรื่องค้าขายมากกว่าผู้ชาย

การมีบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงในแวดวงธุรกิจและการเงินได้มีติดต่อกันมาอย่างยาวนาน ล่าสุดภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจของสังคมไทยในช่วงปี 2540-2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของธนาคาร และภายหลังการปรับปรุง จากจำนวนผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร 12 ตำแหน่ง จำนวน 10 ตำแหน่งนั้นเป็นผู้หญิง อย่างไรก็ตามแม้พบหลักฐานว่าผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญในทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน แต่ความเป็นจริงนี้ดูเหมือนว่าจะ "ถูกลืม ๆ" หรือไม่เป็นที่คาดหวัง ไม่มีนางในวรรณคดีคนใดเลยโดยเฉพาะตัวเอก ที่เป็นแม่ค้าหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าขาย แม้ในช่วงต่อ ๆ มาก็ไม่มี หรือมีน้อยมากที่นางเอกของนวนิยายจะเป็นแม่ค้าหรือทำธุรกิจ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ความเป็นแม่ค้าที่ต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชน ต่อรองเรื่องผลประโยชน์ ต้องกล้าตัดสินใจ มีความสามารถในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ดูจะขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับภาพผู้หญิงไทยในอุดมคติที่ต้องสุภาพ อ่อนน้อม เป็นผู้ตาม ไม่โต้เถียงและอยู่ในโอวาทของสามี แม่ค้าจึงไม่มีที่อยู่ในงานเขียนที่มีระบบคิดแบบผู้ชาย และไม่ได้ถูกทำให้ปรากฎต่อสังคมและทำให้ความสามารถนี้ของผู้หญิงไทยถูกมองไม่เห็นและไม่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาอย่างเต็มที่

สังคมตั้งคำถามว่ารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมทำไมไม่เป็นผู้หญิง แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงการคลัง ทำไมไม่เป็นผู้หญิง ทั้ง ๆ ที่น่าจะเป็นคำถามที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าเมื่อพิจารณาจากบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงที่มีมาตลอดเวลาอันยาวนาน

"แม่ค้า" หายไปไหนจาก "ความเป็นผู้หญิงไทย"

บทบาททางการเมืองของผู้หญิงไทย ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ถูก "มองไม่เห็น" เพราะบทบาททางการเมืองถูกจำกัดความเพียงการมีอำนาจทางการเมืองเท่านั้น ถ้ามีการพิจารณาบทบาททางการเมืองในความหมายหรือมิติอื่น ๆ จะพบว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองตลอดมา ผู้หญิงถูกใช้เพื่อประสานและต่อรองผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งของผู้เป็นบิดาและญาติพี่น้อง ผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการ จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (นฤมล 2539) ความว่า เมืองทวายขอเป็นค่าขอบขันธสีมาเมืองขึ้นกรุงเทพมหานคร และได้นำของมาถวายส่วนหนึ่ง คือ

เข้าตอกเงินเข้าตอกทอง นางเอกหนึ่ง นางโทหนึ่ง สาวใช้เจ็ด ทาษหญิงห้าสิบ รวมหกสิบคน เข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอพึ่งพระบรมเดชานุภาพ เปนข้าขอบขันธสีมากรุงเทพมหานคร (หน้า 134)

หรือในกรณีพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นพระราชธิดาองค์หนึ่งของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในช่วงรัชการที่ 5 ซึ่งในขณะนั้นอังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพลต่อราชวงศ์เชียงใหม่ และมีการกล่าวว่า อังกฤษได้ส่งทูตมาทาบทามเจ้าผู้ครองนครว่า สมเด็จพระบรมราชินีแห่งประเทศอังกฤษจะขอรับเจ้าดารารัศมีไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ หลังจากเหตุการณ์นั้นเพียงปีเดียวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระกุณฑลและพระธำมรงค์เพชรแก่เจ้าดารารัศมีเพื่อเป็นการหมั้นหมาย และเจ้าดารารัศมีก็ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในอีก 3 ปีต่อมาเมื่อพระชนมายุ 13 ชันษา

ได้มีการอ้างจากนางสนมว่า เมื่อพระมหากษัตริย์พอใจตน ก็จะได้พระราชทานเครื่องประดับต่าง ๆ และคำขอที่ให้บิดาได้เลื่อนยศ หรือพี่ชายได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองในพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ ก็จะได้รับการพระราชทาน (Leonowens 1991) ด้วยเหตุนี้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จึงทำให้มีการถวายลูกเป็นนางสนมจำนวนมาก เพราะเป็นธรรมเนียมของข้าราชการขุนนางไทย ที่จะถวายลูกสาวแก่องค์พระเจ้าแผ่นดิน และหากโชคดี "ได้รับเกียรติยศเป็นเจ้าจอม มีส่วนช่วยให้บิดาได้ใกล้ชิดกับองค์พระเจ้าแผ่นดินมากขึ้น เป็นโอกาสให้ได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์เร็วกว่าผู้อื่น" (วิบูล อ้างแล้ว หน้า 219) จำนวนผู้หญิงที่ถูกนำมาถวายมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องออกประกาศให้บิดามารดารับตัวคืนไป หรือถ้าผู้ใดต้องการลาออกจากการรับราชการในพระบรมมหาราชวังก็สามารถทำได้

ผู้หญิงได้มีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองมาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือพูดถึงมากนัก Collins (1988) กล่าวว่า ในทุกสังคม ผู้หญิงถูกมองในฐานะที่เป็นทรัพย์สินทางเพศ (sexual property) ผู้หญิงเป็นเชลยในสงคราม ถูกใช้โดยบิดาเพื่อการต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และถือว่าเป็นสมบัติของสามี

บทบาททางการเมืองของผู้หญิงไทย

ผู้หญิงกับความงาม "สำหรับผู้หญิง ความงามต้องมาก่อนเสมอ" คำกล่าวนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับและรู้สึกกันว่า "เป็นธรรมชาติ" ของผู้หญิงที่ต้องรักสวยรักงาม ในขณะที่ไม่ใช่ "ธรรมชาติของผู้ชาย" สังคมไทยมีคำพูดที่ชินหู คือ ผู้หญิงมีรูปเป็นทรัพย์ ซึ่งมาจากโคลงโลกนิติบทที่ว่า

เปนชายความรู้ยิ่ง เปนทรัพย์ ตกประเทศบมีผู้นับ อ่านอ้าง สตรีรูปงามสรัพ เปนทรัพย์ ตนนา แม้ตกยากไร้ร้าง ห่อนไร้สามี

ความงามเป็นของคู่กับผู้หญิงตามธรรมชาติจริงหรือ? ถ้าพิจารณาจากนางในวรรณคดี 67 รายที่มาลัย (อ้างแล้ว) รวบรวมมา ก็พบว่ามีความงามเป็นเลิศทั้งสิ้น (ยกเว้นนางประแดะจากเรื่องระเด่นลันได) ถ้าไม่งามโดยกำเนิดก็ถูกทำให้งาม และด้วยความงามนี่แหละที่ทำให้ชายผู้สูงศักดิ์มาลุ่มหลง ถ้าไม่สวยแม้เก่งเพียงใดก็ไม่มีประโยชน์ เช่น ในเรื่องอรชุน เจ้าหญิงจิตราไม่ค่อยสวยแต่มีความสามารถในการรบ เกิดหลงรักพระอรชุน แต่พระอรชุนไม่สนใจ เจ้าหญิงจิตราจึงต้องขอให้เทพช่วยแปลงโฉมตนจนงาม พระอรชุนจึงมาหลงรัก เช่นเดียวกับเรื่องแก้วหน้าม้า ซึ่งไม่สวยเช่นกันแต่มีความสามารถพิเศษในการรู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นเมื่อไรจะมีภัยพิบัติ เป็นต้น แต่พระปิ่นทองไม่รักเช่นกัน ต้องร้อนถึงเทพ ซึ่งส่วนใหญ่คือพระอินทร์มาช่วยถอดหน้าม้าออก จึงได้สมรัก สิ่งที่น่าสนใจคือ นางในวรรณคดีเหล่านี้โดยเฉพาะที่เป็นนางเอกจะสัมพันธ์กับเรื่องราวของชนชั้นสูงทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นมเหสีหรือนางสนมของกษัตริย์ หรือเป็นเจ้าหญิงต่างเมือง หรือ ลูกสาวคหบดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความงามเป็นคุณสมบัติของหญิงสูงศักดิ์ "ขึ้นชื่อว่าสตรีมีอิสริยยศแล้วย่อมรักใคร่ในการที่จะตกแต่งกายาสิ้นทุกตัวตน" (นางนพมาศ อ้างแล้ว หน้า 79) ในวรรณกรรมอีสาน การบรรยายถึงเรื่องความงามจะอยู่ในบริบทของการหาคู่ครองให้กับบุตรของเจ้าผู้ครองนคร เช่น วรรณกรรมเรื่องท้าวฮุงหรือเจือง (ทวี อ้างแล้ว)

ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ต้องงดงามผ่านทางวรรณกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในสตรีสูงศักดิ์ความงามกับหญิงสูงศักดิ์ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ จำนวนภรรยาเป็นตัวบ่งบอกถึงฐานะและบารมีของผู้ชาย ความงามของภรรยาก็จัดว่าเป็นส่วนประกอบของบารมี จากไตรภูมิกถา (อ้างใน สุพัตรา หน้า42) นางงามถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบเจ็ดประการที่ช่วยเสริมบารมีฐานะความเป็นกษัตริย์ ในขณะที่ความงามสำหรับหญิงสามัญชนไม่ได้ถูกกล่าวถึง และในความเป็นจริงคงไม่มีความสำคัญนัก

ปทุมถันของหญิงชาวสยามมิเต่งตึงอยู่ได้เมื่อพ้นวัยสาวรุ่นแล้ว และยานย้อย ลงมาเกือบถึงท้องน้อยในเวลาไม่ช้านาน…[แต่]มิได้เป็นที่รำคาญตาสามี ของนางแต่ประการใด…..พวกผู้หญิงชาวสยามไม่ใช้ชาดทาปากทาแก้ม หรือแต้มไฝเลย (ลาลูแบร์ อ้างแล้ว หน้า 121-122)

หญิงในชนบทเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน จะมีผ้าซิ่นที่ทอเป็นพิเศษเพื่อใช้ใส่ไปวัดในงานบุญเพียงตัวเดียว เมื่อใส่ในวันนั้นแล้วต้องรีบเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป (วารุณีและเบ็ญจา อ้างแล้ว) ซึ่งการต้องดูดีเป็นพิเศษในการไปงานบุญคงเป็นจริงทั้งหญิงและชาย จากภาพถ่ายเก่า ๆ จะพบว่าผู้หญิงไทยโดยทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสวยความงามกันนัก

การรับรู้และคาดหวังว่า ความงามควรเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้หญิงทุกคนถูกทำให้ปรากฏในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้หญิงทุกคนกลายเป็น "ดอกไม้ของชาติ" และผู้หญิงถูกบอกว่าต้องรู้จักแต่งกายให้สวยงามทันสมัยอยู่เสมอ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายในการสร้างชาติ และกำหนดนโยบายว่าผู้หญิงควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร นโยบายของจอมพล ป. ได้สร้างความคาดหวังต่อ "ความเป็นผู้หญิงไทย" ขึ้นใหม่ นอกจากเป็น "ดอกไม้ของชาติ" แล้ว "เมีย[ยัง]เปนเพสที่อ่อนแอ" ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนหวาน "หญิงไทย 9 ล้านคนนี้เปนเพสอ่อนหวานน่าถนอมไว้มากกว่าจะไช้แบกหามหรือทำสิ่งหนัก" (จอมพล ป. อ้างในนันทิรา อ้างแล้ว หน้า 71)

เพราะฉะนั้นผู้หญิงไทยจึงถูกสนับสนุนให้ทำงานในร่ม ส่งเสริมการประกอบอาชีพหัตถกรรม เย็บปักถักร้อย งานพยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามได้แต่งบทละคร บทประพันธ์ ยกย่องผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ และในฐานะที่เป็นดอกไม้ของชาติ หลวงวิจิตรวาทการได้ปรับปรุงการแต่งกายของผู้หญิงไทยให้มีความทันสมัยแบบตะวันตก เพื่อความเป็น "อารยะชาติ" สตรีไทยถูกขอให้เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบนและคาดผ้าแถบ ให้มานุ่งซิ่นและสวมเสื้อ สวมกระโปรง สวมหมวกและรองเท้า นโยบายสำหรับผู้หญิงเหล่านี้ได้ถูกส่งผ่านทางหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมฝ่ายหญิง กรมโฆษณาการ หนังสือพิมพ์รายวันต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข (นันทิรา เพิ่งอ้าง)

ความคาดหวังของสังคมที่ผู้หญิงต้องมีความสวยงาม นำไปสู่การเกิดอาชีพต่าง ๆ เกี่ยวกับความงามมากขึ้น เช่น ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างทำผม (นันทิรา เพิ่งอ้าง) ประจวบกับในขณะนั้น ได้มีการจัดให้มีการประกวดนางงาม(นางสาวสยาม) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 ในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัด และใช้เวทีประกวดเพื่อสนับสนุนนโยบายบริหารงานของรัฐ การประกวดนี้ถือเป็นนโยบายของรัฐและได้พยายามจัดให้มีการประกวดในทุกจังหวัด การจัดให้มีการประกวดในระยะแรกเป็นไปอย่างไม่ค่อยราบรื่น เพราะไม่ค่อยมีผู้หญิงเข้ามาร่วมประกวดมากนัก สะท้อนให้เห็นจากคำกล่าวของพระยาสุนทรพิพิธ ประธานจัดประกวดนางสาวไทย 2479 (อ้างในสุพัตรา 2531 หน้า 260) ที่ว่า

การประกวดนางงามในประเทศเรา…ได้เริ่มมาแล้ว 2 ปีน่าเป็นที่นิยมดีอยู่ว่า กิจการเรื่องนี้ได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองชนบทเกือบทั่วถึงแล้ว [แต่] ความรู้สึก ที่ว่ากิจการนี้เป็นเกียรติยศของชาติและเป็นประเพณีอันมีมาแต่โบราณนั้น ยัง มิได้คิดเห็นกันโดยทั่วถึง จึงบางท่านก็ยังมีความละอายอยู่ และบางท่านก็เห็น เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ จึงยังมิได้มีการ่วมมือโดยพร้อมเพรียง

กระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายไม่ส่งเสริมให้ครูหรือนักเรียนเข้าประกวดนางสาวไทย การประกวดในช่วงแรกหยุดไปในปี 2497 และได้กลับมามีขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2507-2515 พร้อมกับการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจทุนนิยมและการเติบโตอย่างสูงของธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย การประกวดนางสาวไทยมีขึ้นในครั้งหลังนี้เพื่อหาสาวงามไปประกวดที่ต่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และในช่วงนั้นก็เป็นยุคเฟื่องฟูของกิจกรรมด้านบันเทิงและด้านความงาม (สุพัตรา เพิ่งอ้าง) และสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ความงามของผู้หญิงกลายเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งรายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความงามของผู้หญิงขายได้ในสังคมทุนนิยม ในขณะเดียวกันการสร้างความงามให้กับผู้หญิงก็กลายเป็นธุรกิจจำนวนมหาศาลเช่นกัน ดังนั้น "สำหรับผู้หญิง ความงามต้องมาก่อน" ดูจะเป็นวาทกรรมแห่งยุคทุนนิยมโดยแท้

ผู้หญิงกับความงาม

แล้ว "ความเป็นผู้หญิงไทย"คืออะไร ความรับรู้และคาดหวังที่สังคมมีต่อความเป็นผู้หญิงไทยในอดีต ที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ในบางเรื่องได้มีการสืบทอดมาจนเป็นความรับรู้ในปัจจุบันนี้ ในบางเรื่องได้มีปรับเปลี่ยนและแต่งเติมขึ้นในช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สืบทอดมาในอดีตหรือที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อไม่นานนี้ "ความเป็นผู้หญิงไทย" ที่เป็นที่รับรู้ คือ ผู้ที่ต้องเคารพและเชื่อฟังสามี ต้องปรนนิบัติและซื่อสัตย์แต่เพียงฝ่ายเดียว ว่านอนสอนง่าย ไม่มีปากมีเสียง คุณสมบัติเหล่านี้ ล้วนเป็นคุณลักษณะของ "ผู้รองรับ" "ผู้ถูกกำหนด" "ผู้ไร้อำนาจ" นอกจากนี้ ความคาดหวังที่ผู้หญิงต้องมีความงามเป็นสำคัญ มีพรหมจรรย์เป็นคุณค่าสูงสุดของชีวิต ยิ่งเป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงลงเป็นเพียง "สิ่งของ" โดยไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่น ๆ ของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้หญิงไทยที่สังคมคาดหวัง คือ ผู้รองรับที่ไม่ควรเป็นผู้แสดง ไม่สามารถกระทำหรือกำหนดความเป็นไปของสังคมที่อยู่รอบข้าง หรือแม้แต่ชีวิตของตัวเอง

ในขณะที่ คุณลักษณะที่สัมพันธ์กับผู้หญิงไทยมาอย่างยาวนาน คือ ความสามารถในการค้าขาย การมีส่วนร่วมกับความเป็นไปทางการเมืองอย่างแนบแน่น กลับไม่เคยถูกให้คุณค่า ไม่เคยรับรู้และคาดหวัง ให้เป็นคุณลักษณะของความเป็นผู้หญิงไทย ทั้ง ๆที่คุณสมบัติเหล่านี้คือ คุณลักษณะของผู้แสดง ผู้กำหนด ผู้ตัดสินใจ แต่สังคมไทยไม่คาดหวังให้ผู้หญิงต้องมีหรือต้องเป็น

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ใช่หรือไม่ ที่สังคมไทยยอมรับให้มี "โสเภณี"เป็นแสน ๆ คนโดยไม่สนใจจะแก้ไขอย่างจริงจัง การตบตีเมียถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา "ของผัวเมีย" สังคมไม่เกี่ยว การที่ผู้หญิงต้องทิ้งลูกเพราะผู้ชายไม่รับผิดชอบเป็นความชั่วของผู้หญิง และเมื่อผู้หญิงไทยต้องการสิทธิที่ควรจะได้ จะใช้วิธี "ร้องขอ"มิใช่ "เรียกร้อง"

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงไทยดูจะพอใจ และบางครั้งก็ภูมิใจกับการรับรู้และความคาดหวังที่สังคมมีต่อ "ความเป็นผู้หญิงไทย" เช่นนี้ หรือเป็นเพราะผู้หญิงไทยอยู่ในภาวะของ ผู้รองรับ ผู้ไร้อำนาจ มามากและนานเสียจนไม่เห็นว่า ความสามารถในการเป็นผู้กำหนด ผู้ตัดสินใจนั้น คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และมีค่ามากเพียงใด

สรุป

กุสุมา รักษมณี. 2537. ดั่งรัตนะแห่งโกสินทร์. กทม. : สำนักพิมพ์ศยาม.
จารุวรรณ ธรรมบุตร. 2526. คติชาวบ้านอีสาน. กทม. : โรงพิมพ์อักษรวัฒนาการพิมพ์.
จารุวรรณ ธรรมวัตร. 2527. "การศึกษาเรื่องผีฝ้า" เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับอีสานศึกษา. นครราชสีมา : วิทยาลัยครูนครราชสีมา.
แชรแวส, นิโกลาส์. 2506. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท.โกมลบุตร (แปล) พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า.
ดูปลาสตร์, หลุยส์. 2533. สถานะของหญิงมีสามีในประเทศสยาม. ไพโรจน์ กัมพูสิริ (แปล) กทม. : สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์.
ตวงทอง เหล่าวรรธนกูล. 2539. ผู้หญิงสามัญชนในเมืองแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ทวี ศรีแก้ว. 2536. คติในการครองเรือนจากวรรณกรรมอีสาน. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
นันทิรา ขำภิบาล. 2530. นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์.
น.พ.วิบูล วิจิตรวาทการ. 2542. สตรีสยามในอดีต. กทม. : บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด.
นงเยาว์ กาญจนจารี. 2541. ดารารัศมี. เชียงใหม่ สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์.
นฤมล ธีรวัฒน์. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยา ทิพาวงศ์ กทม. : บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์. จำกัด
นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. 2539. ใน ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย สุจิตต์ วงศ์เทศ บรรณาธิการ. กทม. : สำนักพิมพ์มติชน, 2539. นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2538. ปากไก่และใบเรือ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กทม. : แพรวสำนักพิมพ์.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2541. "คลุมถุงชนของโลกปัจจุบัน" วัฒนธรรมความจน? กทม. : แพรวสำนักพิมพ์.
นิยะดา เหล่าสุนทร. 2538. โคลงโลกนิติ : การศึกษาที่มา. กทม. : สำนักพิมพ์แม่คำผาง.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. 2541. สตรีในคัมภีร์ตะวันออก. กทม. : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปิยะฉัตร ปิตะวรรณ. 2526. ระบบไพร่ในสังคมไทย พ.ศ. 2411-2453. กทม. : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พิชัย ศรีภูไฟ. 2532. สตรีในวรรณกรรมอีสาน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
พรพิไล ถมังรักษ์สัตว์. 2539. ปรัชญาผู้หญิง. กทม. : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์.
พวงเพชร สุรัตนกวีกุล. 2525. บทบาทของสตรีด้านสังคมและเศรษฐกิจในสมัยรัตนโกสินทร์. (พ.ศ. 2525-2525) รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
มาลัย. 2536. นางในวรรณคดี. กทม. : บวรสารการพิมพ์.
รังรอง. 2531. แล้วเราก็ปรึกษากัน. กทม. :อมรินทร์ พรินติ้ง กรุ๊พ จำกัด
เรืองอุไร กุศลาศัย. 2535. สตรีในวรรณคดีพุทธศาสนา. กทม. : สำนักพิมพ์ศยาม.
ลาลูแบร์ เดอ. 2510. ราชอาณาจักรสยาม. สันต์ ท. โกมลบุตร (แปล) กทม. : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า.
วันทนีย์ วาสิกะสิน และสุนีย์ เหมะประสิทธิ์. 2541. สังคมไทยคาดหวังอย่างไรกับผู้หญิง. กทม. : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วารุณี ภูริสินสิทธิ์. 2542. "ผู้หญิงในสังคมหมู่บ้าน" วารสารสังคมศาสตร์. 11(2) : 22-51.
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ และเบ็ญจา จิรภัทรพิมล. 2537. ภาวะการทำงานอุตสาหกรรมของสตรีและการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในครอบครัว. รายงานการวิจัย. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วารุณี โอสถารมย์. 2524. การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2475. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิจิตร ว่องวารีทิพย์. 2542. "เซ็กซ์ชวลลิตี้ บททดลองอ่านผ่านคอลัมน์ตอบปัญหาหัวใจ" รัฐศาสตร์สาร. 21(2) : 243-272.
ศิริรัตน์ อาศนะ. 2529. สตรีในวรรณกรรมล้านนา. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
สุนทรภู่ (ไม่ระบุปีพิมพ์) คำกลอนสุนทรภู่สุภาษิตสอนชายหญิง อาทิตยา (รวบรวม) นครสวรรค์ : สำนักพิมพ์บันดาลสาส์น.
สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. 2531. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ. 2477-2530) วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุภาภรณ์ จรัลพัฒน์. 2533. "การศึกษาสตรีไทยในเชิงประวัติศาสตร์" ใน องค์ความรู้เกี่ยวกับสตรีไทย โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุริยา สุมทคุปต์และคณะ . 2541. แต่งองค์ทรงเครื่อง : "ลิเก" ในวัฒนธรรมประชาไทย. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
สุรีย์ สุวรรณภาค. 2529. บทบาทของสตรีในด้านสิทธิทางเพศ : ศึกษาจากนวนิยายในช่วง พ.ศ. 2444 ถึง พ.ศ. 2501 วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ ประสานมิตร.
เสถียฐโกเศศ. 2539(ก). ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตการเกิด. กทม. : สำนักพิมพ์ศยาม.
เสถียรฐโกเศศ. 2539(ข). ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน. กทม. : สำนักพิมพ์ศยาม.
อเนก นาวิกมูล. 2542. หญิงชาวสยาม. กทม. : สำนักพิมพ์แสงดาว.
อัญชลี สุสายัณห์ นฤมล ศรีกิจการ และอุษณีย์ ธงไชย. 2529. สถานภาพผู้หญิงไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. เอกสารประกอบการอบรมเรื่องวิธีการทางประวัติศาสตร์แก่ศึกษานิเทศก์สังคมศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
แฮรีส, เทาเซนด์. 2515. บันทึกรายวันของเทาเซนด์ แฮรีส. นันทา วรเนติวงศ์ (แปล) กทม. : กรมศิลปากร.

Agonito, Rosemary. 1977. History of Ideas on Woman. New York : Perigee Books.
Buls, Charles (Translated by Walter Tips). 1994. Siamese Sketches. Bangkok : White Lotus.
Cohen, Paul. 1984. "Are the Spirit Cults of Northern Thailand Descent Groups? In Mankinds, Peter Hinton ed. Australia : The Anthropological Society of New South Wales.
Collins, Randall. 1988. Sociology of Marriage and the Family 2nd ed. Chicago : Nelson Hall.
Davis, Richard. 1984. "Muang Matrifocality" in Mankind, Peter Hinton ed. Australia : The Anthropological Society of new South Wales.
De Beauvoir, Simone. 1989. The Second Sex, Translated and Edited by H.M. Parshley New York : Vintage Books.
Engel, Friedrich. 1995. "The Origin of the Family, Private Property, and the State" in Social and Political Philosophy , James P. Sterba ed. California : Wadsworth Publishing Company.
Hanks, Lucien and Jame Hanks. 1963. "Thailand : Equity Between the Sexes" in Women in the New Asia : The Changing Social Roles of Men, Barbara E. Ward ed. Paris : UNESCO.
Klausner, William. 1972. Reflections in a Long Pond. Bangkok : Suksit Siam.
Leonowens, Anna. 1975. The English Governess at Siamese Court. England : The Gresham Press.
Leonowens, Anna. 1991. The Romance of the Harem, Susan Morgan ed. Virginia : The University Press of Virginia.
Mason, Michael. 1994. The Making of Victorian Sexual Attitudes. Oxford : Oxford University Press.
The Nation, 15 October 1999.
Turton, Andrew. 1972. "Matrilineal Decent Groups and the Spirit Cults of the Thai Yuan in Northern Thai" Journal of the Siam Society, 60(2) : 217-56.
Wollstonecraft, Mary. 1995. A Vindication of the Rights of Woman. A. Tauchert ed. London : J. M. Dent.

 

คลิกกลับไปหน้าแรกของบทความนี้

 

back to begining page iiiiii back to midnight's home

E-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

เอกสารอ้างอิง