บทความนี้เป็นความพยายามที่ต้องการเสนอ ความเป็นผู้หญิงไทยที่ปรากฏในสังคมนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

การให้คุณค่าเรื่องพรหมจารีย์
ปรากฎขึ้นมานับแต่สมัยรัชการที่ 5
โดยได้รับอิทธิพลจากความคิด
ในเรื่องเพศแบบวิคตอเรียน

ผู้หญิงมีบทบาททางการเมือง
หรือไม่ อย่างไร ?

ในทุกสังคม ผู้หญิงถูกมองว่าเป็น
ทรัพย์สินทางเพศ
พบกับหลักฐานเหล่านี้ได้ในบทความ
ที่จะอ่านต่อไปนี้

บทนำ : ความเป็นผู้หญิงในสังคมไทย : วารุณี ภูริสินสิทธิ์

(ความยาวประมาณ 22 หน้ากระดาษ A4)

บทความนี้เป็นความพยายามที่ต้องการเสนอ ความเป็นผู้หญิงไทยที่ปรากฏในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความรับรู้และความคาดหวังที่สังคมไทยมีต่อผู้หญิง สะท้อนผ่านทาง สถานภาพ บทบาท คุณธรรม และคุณสมบัติบางอย่างที่ผู้หญิงถูกคาดหวังว่า ควรจะเป็นหรือควรจะมี การจะศึกษาและทำความเข้าใจต่อความรับรู้และความคาดหวังเหล่านั้นให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จำเป็นต้องศึกษาผ่านทางเอกสารทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ และทางวรรณกรรมต่าง ๆ แม้ว่าแหล่งข้อมูลทั้งสองจะมีข้อจำกัดอยู่ เพราะคนที่มีความรู้ทางหนังสือและเป็นผู้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต ล้วนเป็นเพศชาย ดังนั้น การบันทึกจึงอยู่ภายใต้กรอบความคิดของเพศชายและจะมีจำนวนน้อยมาก (สุภาภรณ์ 2533) และวรรณกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นลายลักษณ์อักษรยังถือว่าเป็นสมบัติของชนชั้นนำ (นิธิ 2538) ในส่วนที่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ผู้มีสร้างวรรณกรรมเหล่านั้นก็ล้วนเป็นพระภิกษุหรือผู้ที่บวชเรียนมาแล้ว (ศิริรัตน์ 2529) หรือกล่าวได้ว่าเป็นผู้ชายทั้งสิ้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ดูเป็นเงื่อนไขที่จำกัด แต่ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้อาจนำไปสู่การเข้าใจความเป็นไปของความเป็นผู้หญิงไทยได้ในอีกแง่มุมหนึ่ง และถ้ามีช่องว่างทางความรู้ที่อาจเกิดขึ้นในบทความนี้ ถือเป็นหน้าที่ของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับผู้หญิงที่จะวิพากย์วิจารณ์และศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป

อะไรคือความเป็นผู้หญิงไทย ? "ผู้หญิงไทยคือช้างเท้าหลัง" "คือทาสในเรือนเบี้ย" "คือหลังบ้านที่ทรงอิทธิพล" "คือความอ่อนหวาน" ฯลฯ ภาพของผู้หญิงไทยเท่าที่ถูกเสนอมา มีลักษณะที่หลากหลายและบางครั้งก็ขัดแย้งกัน ขึ้นกับว่าจะใช้เอกสารชนิดใดเป็นแหล่งอ้างอิง ถ้าใช้หลักฐานทางกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่พิจารณาจากกฎหมายตราสามดวง สถานะหรือภาพของผู้หญิงก็ดูต้อยต่ำเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีความเท่าเทียมทางกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงเป็นสิทธิของพ่อแม่ และเป็นสิทธิของสามีเมื่อแต่งงานไปแล้ว ดังนั้นพ่อแม่และสามีมีสิทธิในขายลูกและเมียตัวเองได้ อย่างไรก็ตามหลุยส์ ดูปลาตร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาศึกษากฎหมายตราสามดวงโดยใช้กฎหมายลักษณะผัวเมีย ลักษณะมรดก ลักษณะลักภา ลักษณะกู้หนี้เป็นหลักเสนอว่า "สถานะตามกฎหมายของหญิงสยามดีกว่าหญิงอื่นอีกหลายประเทศในเอเซีย ในประเทศสยามหญิงไม่เคยถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอหรือไร้ความสามารถซึ่งจำต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนทาสคนหนึ่ง" (ดูปลาตร์ 2533 หน้า 113) และหญิงมีสิทธิเท่ากับชายในการทำนิติกรรมและรับมรดก นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ชายหญิงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์คงยังไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคน เพราะในช่วงนั้นรัฐยังไม่มีอิทธิพลในเข้าไปควบคุมการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปนัก (ตวงทอง 2539) นอกจากกฎหมายแล้วได้มีการพิจารณาจากหลักฐานอื่น ๆ พบว่า ผู้หญิงไทยโดยทั่ว ๆ ไป ดูจะไม่ต่ำต้อยนัก แม้แต่แอนนา เลียวโนเวนส์ที่ถูกมองว่าเป็นนักสตรีนิยมในยุคสมัยนั้น และต่อต้านการกดขี่โดยเฉพาะจากฝ่ายชายที่มีต่อฝ่ายหญิงยังมองว่าผู้หญิงไทยโดยทั่วๆไปแล้วจะได้รับการปฎิบัติอย่างเห็นอกเห็นใจ (Leonowens 1975)

มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่แตกต่างระหว่างเพศอยู่บ้าง เช่น เด็กทารกที่เกิดเป็นชายจะมีการจัดวางสมุดดินสอไว้ในเปลด้วย ในขณะที่ถ้าเป็นทารกหญิงจะวางเข็มและด้ายไว้ (เสฐียรโกเศศ 2539 ก) ในบางบันทึกกล่าวว่า กระด้งของทารกชายจะมีการเอาของมีคมใส่ไว้ ส่วนทารกหญิงยังคงใส่เข็มกับด้ายเหมือนกัน (พระยาอนุมานราชธน อ้างใน ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) การกระทำเช่นนี้ เป็นการสร้างการเรียนรู้ถึงหน้าที่ที่ต่างกันที่สังคมคาดหวัง สังคมยังคาดหวังให้ผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนหวาน แม้สังคมไทยให้คุณค่ากับความสุภาพเรียบร้อยในคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แต่สำหรับผู้หญิงไม่ใช่เพียงแค่ความคาดหวังแต่เป็นสิ่งที่ต้องเป็น โดยส่งผ่านความต้องการนี้ทางวรรณกรรมสั่งสอนหญิงทั้งหลาย เช่น

เกิดเป็นหญิงให้เห็นว่าเป็นหญิง อย่าทอดทิ้งกิริยาอัชฌาสัย เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งอย่าพึงใจ ใครเขาไม่สรรเสริญเมินอารมณ์ (สุนทรภู่: สุภาษิตสอนหญิง)

ในวรรณกรรมพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ ก็ดูจะคาดหวัง ความเรียบร้อยอ่อนหวานจากผู้หญิงเช่นกัน โดยเฉพาะในล้านนา ได้ให้ความสำคัญกับการพูดจาไพเราะอ่อนหวานของผู้หญิงมาก (ศิริรัตน์ เพิ่งอ้าง) ในวรรณกรรมภาคอีสานก็ได้มีการกล่าวสั่งสอนในเรื่องกิริยามารยาทของผู้หญิงอย่างละเอียด เช่นต้องพูดอย่างไร เดินอย่างไร (พิชัย 2532) ผู้หญิงไทยไม่ได้ถูกคาดหวังให้สุภาพอ่อนหวานเพียงอย่างเดียวแต่ต้องขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่งและทำทุกอย่างได้เท่ากับผู้ชาย ดังคำกล่าวในวรรณกรรมล้านนาที่ว่า "มื่อฆ่าเหล็กตาย สองตีนยันพระอาทิตย์" ต้องทำงานในไร่นา ต้องรู้เรื่องการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ดูแลเงินของครอบครัว และต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่ถูกสั่งสอนมากกว่าผู้ชาย และมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมอย่างมากมายและมากกว่าผู้ชาย จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า การลงข่วงผีฟ้าซึ่งเป็นพิธีกรรมของอีสานที่ยอมให้ผู้หญิงทุกคนที่มาร่วมงานสามารถดื่มเหล้าและเล่นสนุกได้เช่นเดียวกับที่ผู้ชายทำกัน มีขึ้นเพื่อระบายความเครียดให้กับผู้หญิงที่ต้องทนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในชีวิตประจำวัน (จารุวรรณ 2527)

ความคาดหวังที่ต้องการให้ผู้หญิงขยันขันแข็งในการทำงานดูจะเป็นจริงในทางปฎิบัติ การศึกษาจำนวนมากพบว่า สตรีไทยมีบทบาทในทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นเวลาช้านาน การที่ผู้หญิงในวรรณกรรมไทยล้วนเป็นตัวละครที่เป็นผู้ "กระทำ" จนทำให้เรื่องราวผับแปรไปตามผลของการกระทำหรือไม่ได้กระทำของตัวละครเหล่านั้น เช่น นางวันทอง บุษบา สีดา อาจจะเป็นเพราะในสังคมไทยโบราณ ผู้หญิงมีบทบาททั้งในเศรษฐกิจและสังคมอยู่มาก (นิธิ อ้างแล้ว) นอกจากนี้ ตามประเพณีเดิมทรัพย์สินของผู้ใหญ่ อันได้แก่ เรือกสวนไร่นา ตกเป็นมรดกแก่บุตรหญิง เพราะผู้หญิงเป็นผู้ค้าของเก่า เฝ้าเรือนหลัง ส่วนผู้ชายเป็นผู้ไปตายกลางดินกินเรือนหน้า จึงมีคำกล่าวเก่าที่ว่า บ้านเกิดเมืองแม่ (เมืองมาดร)เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นเมืองบิดรกันในรัชกาลที่ 6 นี้เอง (เสฐียรโกเศศ 2539 ข) การที่ผู้หญิงได้ผู้เป็นสืบทอดที่ดิน และบ้านเรือนของผู้เป็นบิดามารดา ปรากฏให้เห็นในชนบททั้งในภาคเหนือ ภาคกลางและอีสาน (วารุณี 2542)

นอกจากมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว หญิงไทยโดยเฉพาะสามัญชนซึ่งเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศ มีอิสระในความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมาตั้งแต่อดีต ประเพณีในภาคเหนือและภาคอีสาน ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือกคู่ คือผู้หญิงทำงานที่บ้าน ปั่นฝ้ายหรือเย็บปักถักร้อย ฝ่ายชายจะแวะมาพูดคุยด้วย (ภาคเหนือเรียกว่าแอ่วสาว ภาคอีสานเรียกว่า แอ่วอู้หรือเว้าสาว) และผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเลือกว่าพอใจผู้ชายคนใดที่มาคุยด้วย (เสฐียรโกเศศ 2539 ข) ผู้หญิงสามัญชนในอีสาน มีอิสระในการคบเพื่อนต่างเพศมาก โดยในประเพณีต่าง ๆ เช่น การลงข่วง (เข็นฝ้าย) ประเพณีทำบุญตามเทศกาล ลงแขก ประเพณีวันเฮือนดี เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้พบผู้ชาย เกี้ยวพาราสีและเลือกคู่ และผู้หญิงสามารถโต้ตอบพูดคุยกับผู้ชายได้อย่างอิสระ (พิชัย อ้างแล้ว)

อิสระในการโต้ตอบกับผู้ชายของผู้หญิงชาวบ้านยังสะท้อนออกมาในการแสดงพื้นบ้านเช่น ลิเก ที่ตัวตลกผู้หญิงสามารถจีบผู้ชายและพูดถึงความต้องการทางเพศได้อย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับศิลปะพื้นบ้านอื่น ๆ เช่น ลำตัด (สุริยาและคณะ 2541) ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยทั้งในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตั้งข้อสังเกตที่คล้ายคลึงกันถึงบทบาทที่สำคัญต่อครอบครัว และความอิสระของผู้หญิงไทยโดยเฉพาะในหมู่หญิงสามัญชน "หญิงมีอิทธิพลทางด้านจิตใจอย่างสูงในครอบครัว ไม่มีการตัดสินใจเรื่องสำคัญโดยไม่ได้หารือกับภริยา ภริยาจึงเป็นคู่คิดในการจัดการผลประโยชน์ของครอบครัวอย่างแท้จริง" (ดูปลาตร์ อ้างแล้ว หน้า 57) นอกจากนี้ "หญิงราษฎรสามัญซึ่งต้องทำมาค้าขาย ก็มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้เต็มที่ ส่วนภรรยาพวกขุนนางผู้ใหญ่ไม่ค่อยได้สูสีกับใครนัก และมิค่อยจะได้ออกไปนอกบ้าน นอกจากไปเยี่ยมญาติและไปวัดบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น" (ลาลูแบร์ 2510 หน้า 327) "หญิงสยามไปไหนมาไหนได้โดยอิสระ" (ดูปลาตร์ อ้างแล้ว หน้า 57) "พวกผู้หญิงปะปนอยู่ในฝูงชน ไม่มีผ้าปิดหน้า ซึ่งหล่อนมักจะทำอยู่เสมออย่างแท้จริง และหล่อนไม่รู้สึกอับอายหรือขลาดกลัวในที่ชุมชนอย่างไร" (ครอว์เฟิร์ด อ้างในนิธิ อ้างแล้ว หน้า 231)

นอกจากนี้ในวรรณกรรมหลายชิ้นยังได้มีการกล่าวถึง "ความมีปัญญา" ของผู้หญิงอยู่ด้วย เช่น มีการกล่าวถึง "นางผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด" ในวรรณกรรมล้านนา (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) นางนพมาศผู้เป็น "นักปราชญ์ฉลาด" "อุดมด้วยรูปและปรีชาชาญ" อย่างไรก็ตามนางนพมาศก็ต้องกล่าวตามแบบอย่างผู้หญิงชนชั้นสูงในตอนหนึ่งว่า "ทั้งเป็นสตรีปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ" ในสังคมช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก็ได้ปรากฏกวีที่มีชื่อเสียงที่เป็นหญิง คือ คุณพุ่มและคุณสุวรรณ ซึ่งได้แต่งบทสักวาในเพลงยาวเล่นกันจนเป็นที่เลื่องลือในสมัยรัชกาลที่ 3 และ4 งานชิ้นหนึ่งของคุณพุ่มแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในปัญญาของผู้หญิง

อันเรื่องราวกล่าวข้อยอพระเดช วิรัตเจตนาจิตดำกฤษณา ให้ครึกครื้นยืนอยู่คู่สาขา โดยสำคัญปัญญาของนารี (ประชุมเพลงยาว อ้างในกุสุมา 2537 หน้า 146)

แม้ว่าความฉลาดความมีปัญญาไม่ค่อยถูกคาดหวังให้เป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้หญิงไทย แต่ในขณะเดียวกันความเป็นผู้หญิงไทยที่ปรากฏในเอกสารส่วนใหญ่ในอดีต ก็ไม่เคยถูกเสนอให้เป็นคนที่โง่เขลา ไร้สาระ เจ้าอารมณ์ เป็นครึ่งเด็กครึ่งผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต เหมือนดังเช่น คุณสมบัติความเป็นผู้หญิงที่นักปราชญ์ตะวันตกเสนออย่างแพร่หลาย

ภาพต่าง ๆ ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความรับรู้และความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่หลากหลายและแตกต่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางสังคมที่ดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางสังคมหรือชนชั้นที่ผู้หญิงสังกัดอยู่ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหลากหลายเหล่านั้น มีความรับรู้และความคาดหวังหลัก ๆ ที่เด่นชัดในความเป็นผู้หญิงไทยที่ปรากฏให้เห็นในผู้หญิงทุกชนชั้น ซึ่งผู้เขียนจะเสนอต่อไป

อะไรคือความเป็นผู้หญิงไทย

ผู้หญิงไทยคือเมีย ควรจำธรรมดานาไร่ จักไม่รับคันไถใช่ที่ ฉันใดชาดานารี พึงมีสามีแนบกาย.
หรือ, หญิงไม่อยากมีสามี หาในโลกนี้หาไหน (สุนทรภู่: เรื่องกนกเรขา)

มีเอกสารที่เป็นวรรณกรรมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นข้อปฎิบัติในการดำเนินชีวิตจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเมียของผู้หญิง ผู้หญิงที่ไม่มีสามีดูจะไม่มีพื้นที่ใด ๆ ทางสังคม และคงมีจำนวนน้อยมากในอดีต เนื่องจากการเป็นเมียเป็นชีวิตของผู้หญิง จึงมีคำสั่งสอนมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเมียที่ดี ประการสำคัญที่สุดของการเป็นเมียที่ดี คือ เคารพสามีและรับใช้สามีดุจดังทาส

เมียดีดุจทาสรู้ การเรือน รอบแฮ อายแก่สามีเหมือน ดั่งน้อง (โคลงโลกนิติ)

ในวรรณกรรมอีสานได้มีงานหลายชิ้นที่กล่าวถึงการต้องเคารพผัว ตัวอย่างเช่น ทำตนเป็น สีสินไถ่ บ่มักใหญ่ เคารพยำเกรง ผัวตัวเอง ทำตัวเป็นทาส ญิงฉลาด การย้าวการเฮือน วรรณกรรมอีสาน อ้างใน ทวี (2536)หน้า 93 หรือจากวรรณกรรมล้านนา โคลงวิทูรสอนโลก (อ้างในศิริรัตน์ อ้างแล้ว หน้า 254)

หาเมียคือเพศเพี้ยง ทาสี บัวระบัติผัวดี ค่ำเช้า เอาครองแห่งมัทรี ยำพระเวศ วันนั่น คือเอาผัวเปนเจ้า ถูกถ้วนคลองธรรม

สามีถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้เคารพสูงสุด โดยการสอนในหลายเอกสารในหลายท้องถิ่นให้ผู้หญิงต้องกราบเท้าสามีอยู่เป็นประจำ ในสังคมไทยเท้าถือว่าเป็นของต่ำ ดังนั้นการให้กราบเท้าจึงเป็นการบอกถึงการให้ความเคารพอย่างสูง

ถึงแม้นภัสดาเข้าไสยาสน์ จงกราบบาททุกครั้งอย่าพลั้งหลง (สุภาษิตสอนหญิง) อย่าถือองค์นงลักษณ์ว่าอัคเรศ แม่ดวงเนตรนึกว่าเหมือนทาสี ต้องซื่อตรงจงรักด้วยภักดี ถึงราตรีกราบเท้าอย่าขาดวัน (พระอภัยมณ) ยามจัก นอนคืนให้ อย่าลืมคลอง สอนสั่ง ให้เอา ผมเซ็ดพื้น ตีนผัวแล้ว จิ่งนอน นั้นเนอ วรรณกรรมอีสานเรื่องธรรมดาสอนโลก (อ้างในทวี อ้างแล้ว หน้า 87)

เป็นที่น่าสนใจว่าในวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอีสานได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเคารพและปรนนิบัติสามีอย่างมาก ในวรรณกรรมคลองสิบสี่ (อ้างในพิชัย อ้างแล้ว) และในธรรมดาสอนโลก (อ้างใน ทวี อ้างแล้ว) สอนว่าในวันศีลวันพระเมียต้องเอาดอกไม้ ธูปเทียนไปกราบไหว้สามีเพื่อเป็นการขอขมาในสิ่งที่ตนเองอาจกล่าวล่วงเกินไป ส่วนในล้านนามีการสั่งสอนให้เคารพผัวปรากฏในวรรณกรรมคำสอนเหมือนกัน เช่น

คันผัวสั่งสอน หื้อนายได้ไหว้ วิทูรสอนโลก (อ้างในศิริรัตน์ อ้างแล้ว หน้า 223) หรือจากเรื่องอุทธะลา (อ้างในเพิ่งอ้าง หน้า 331) ที่ว่า ป่ำเปงดี สามีคืนเหง้า นั่งกราบติ๋นผัว เจ๊ดด้วยมวยเกล้า ตามกองธรรมจ๋ำระ

และในบทเซ่นผีที่ใช้กล่าวในงานพิธีแต่งงานก็มีบทกล่าวที่ว่า "เมื่อค่ำราตรี เข้าที่กราบเท้าผัว เป็นการดีแก่ตัว ไม่มีชั่วสักเวลา ฝ่ายข้างผัวก็อย่าช้า จงเร่งมาให้พรเมีย" (เสฐียรโกเศศ 2539 ข) การให้ความเคารพผัวจนถึงขั้นกราบเท้านั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการปฏิบัติจริงเพียงใด โดยเฉพาะในหมู่สามัญชนทั้งหลาย แต่ในชนชั้นสูงปรากฏในประชุมพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ที่ทรงบันทึกไว้ว่า "ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2451 พระราชชายา ฯ เสด็จขึ้นไปกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงเปลือยพระเกศาออกเช็ดพระบาท" (อ้างใน นงเยาว์ 2541 หน้า 60) พระราชชายาในที่นี้ คือ พระราชชายาดารารัศมี

แม้การกราบเท้าผัวก่อนนอน ไม่ได้รับการปฏิบัติโดยทั่วไป แต่การสั่งสอนเช่นนี้เป็นการบอกแก่เมียทั้งหลายว่า ผัวเป็นของสูงที่ต้องเคารพ การจำเป็นต้องให้ความเคารพผัวส่วนหนึ่งคงมาจากการมองว่าผัวเป็นที่พึ่งของเมีย

บุรุษรอบรู้คง งามเพื่อนรู้แฮ หญิงจักงามล้นล้วน เลอศด้วยสามี (โคลงโลกนิต)
หรือที่คุ้นเคยกันดี จากเวชสันดรชาดก
สามี มีอยู่แล้ว เหมือนฉัตรแก้วอันกั้นเกศ งามหน้างามเนตรทุกเวลา

ในภาคอีสานผู้หญิงก็ถูกสอนว่าความเป็นตัวตนของผู้หญิงขึ้นอยู่กับสามีเช่นกัน โดยเปรียบเทียบว่าผู้หญิงเหมือนดาวบนฟ้าที่ไม่มีแสง จำเป็นต้องอาศัยผู้ชายผู้ซึ่งเปรียบเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญที่ส่องแสงให้ (ปรีชา อ้างใน พิชัย อ้างแล้ว) ในล้านนาก็มีการกล่าวว่าสามีเป็นที่พึ่ง ในวรรณกรรมคำสอนเรื่องค่าวอุทธาหรณ์ (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) การถือว่าสามีเป็นที่พึ่งนั้นคงเป็นจริงอยู่และน่าจะเป็นผลจากโครงสร้างสังคม ที่ให้ผู้ชายมีสถานะที่ดีกว่า เช่น ในกรณีไพร่ที่เป็นหญิงไปแต่งงานกับขุนนางหรือเจ้า หญิงคนนั้นจะได้เลื่อนฐานะเป็นชนชั้นขุนนาง ในกรณีกลับกัน ถ้าผู้หญิงเป็นขุนนางหรือเป็นเจ้าแล้วได้สามีเป็นไพร่ สังคมจะติเตียนอย่างมากแทบจะอยู่ในสังคมเดิมไม่ได้ ส่วนสามีไพร่ก็อยู่เป็นไพร่เหมือนเดิม ไม่ได้เลื่อนชนชั้น (ปิยะฉัตร 2526) หรือในกรณีที่ภรรยามีปัญหาและหนีออกจากบ้าน จะไม่มีที่ไป เพราะใครให้ที่อยู่อาศัยกับภรรยาที่หนีต้องมีความผิดตามกฏหมายต้องให้ไหม แต่ถ้านำมาคืนจะได้รับบำเหน็จ แม้แต่พ่อแม่ผู้หญิงก็ให้ที่อยู่ได้ไม่เกินหนึ่งเดือน ถ้าเกินต้องโทษไหมด้วย (กฎหมายตราสามดวง อ้างในดูปลาตร์ หน้า 49-50) การต้องพึ่งพิงสามีมากน่าจะเกิดในหมู่หญิงชนชั้นสูงมากกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะหญิงชั้นสูงแทบจะไม่ได้สัมพันธ์กับสังคมภายนอกบ้านเลย ดังนั้น ความเป็นตัวตนหรือความมีเกียรติทางสังคมของผู้หญิงต้องถูกสะท้อนผ่านทางชื่อเสียงเกียรติยศของสามี ในขณะที่ผู้หญิงสามัญชนต้องทำงานเลี้ยงครอบครัวร่วมกับสามี ระดับของการพึ่งพิงจึงต่างกันอย่างไม่น่าสงสัย

แม้ว่าในวรรณกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวรรณกรรมชั้นสูงและวรรณกรรมพื้นบ้าน ได้มีการสอนสั่งให้เคารพสามีอย่างสูงดุจดังบิดา หรือนายทาสและให้ยอมรับในความเป็นใหญ่ของสามี แต่จะพบว่ามีระดับความเข้มข้นต่างกัน ในวรรณกรรมชั้นสูงหรือวรรณกรรมราชสำนัก จะมีความเข้มข้นมากกว่าในวรรณกรรมพื้นบ้าน คำพูดที่ติดปากกันอยู่ทุกวันนี้ว่า "ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง" ก็มาจากบทหนึ่งของโคลงโลกนิติ ที่ว่า

ชายเฉกเท้าหน้า คช เคียงความ เทียมแฮ หญิงเล่ห์เชิงหลังตาม คลาดคล้อย การกิจคิดงามตาม สุดแต่ ผัวนา เมียมิ่งเหมือนด้ายร้อย สอดเคล้า ตามเข็ม

ส่วนในวรรณกรรมพื้นบ้าน นอกจากให้เคารพผัวยังมีการกล่าวถึงการพึ่งพา การต้องนับถือกันและกันระหว่างสามีภรรยา การช่วยกันทำมาหากินรวมอยู่ด้วย เช่นในภาษิตของชาวล้านนาที่ว่า

ผัวไม่นับถือเมีย คำเท่าลำเยียก็บ่ค้าง เมียบ่นับถือผัว คำก๋องเท่าหัวก็เสี้ยง ทอง คือ ทองคำ ลำเยีย แปลว่า ยุ้งหรือฉาง

หรือคำกล่าวที่ว่า "ผัวเป็นแก้ว เมียเป็นแสง" (อ้างในศิริรัตน์ อ้างแล้ว) หรือในวรรณกรรม พื้นบ้านอีสานที่ว่า "แหวนดีย้อนหัว ผัวดีย้อนเมีย" (อ้างใน จารุวรรณ 2526 หน้า 34)

ถ้าพิจารณาในเรื่องการให้ความเคารพต่อสามีจากวรรณกรรมและสภาพทางสังคมที่เป็นอยู่ เราจะพบว่าในหมู่หญิงสามัญชน และในชนชั้นสูงมีความแตกต่างกันในระดับความเข้มข้นและคงเป็นอยู่เช่นนั้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ตราบจนเมื่อรัฐดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้อำนาจการปกครองจากส่วนกลางครอบคลุมไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ค่านิยมของชนชั้นสูงในเรื่องการเคารพผัวและความเป็นใหญ่ของสามีที่เข้มข้นจึงได้กระจายสู่ส่วนภูมิภาค ผ่านทางการศึกษาแบบสมัยใหม่ที่ยังคงรักษาค่านิยมนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น สะท้อนให้เห็นจากหนังสือสอนอ่านธรรมจริยา พ.ศ. 2449 ที่ว่า "นอกจากสามีแล้ว ก็ไม่มีใครอุดหนุนผู้หญิงได้ถึงเพียงนี้ เพราะผู้หญิงต้องอยู่ในบังคับปกครองของสามี….ถือเป็นกรรมสิทธิ์พิเศษ (ความสิทธิ์ขาดในที่จะทำอะไรก็ได้โดยชอบธรรม…)" (อ้างในวารุณี 2524 หน้า 163) คำสั่งสอนในเรื่องความเคารพและเชื่อฟังผัวได้ถูกถ่ายทอดอย่างเป็นทางการจากส่วนกลางสู่ชนบท ผสมผสานกับคำสอนพื้นบ้านที่มีอยู่แล้ว และสอดรับกับการให้ความเคารพผู้อาวุโสในสังคม สามีซึ่งถูกคาดหวังให้ต้องมีอายุมากกว่าภรรยา จึงเปรียบเสมือนผู้อาวุโสในชีวิตภรรยาด้วย ความเคารพและเชื่อฟังสามีจึงกลมกลืนกันได้ดีในวัฒนธรรมไทย และสามารถสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากการศึกษาของ วันทนีย์ และสุนีย์ (2541) พบว่า ผู้ตอบอายุ 21-30 ปี จำนวน 1,838 คน ซึ่งมีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ยังเห็นว่า ภรรยาควรเชื่อฟังสามี ควรยินยอมให้สามีเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ภรรยาควรสนับสนุนความก้าวหน้าในอาชีพของสามี

การให้ความสำคัญกับการที่เมียต้องเคารพผัวอย่างสูงแต่เพียงฝ่ายเดียว คงเป็นผลจากการที่วรรณกรรมสอนหญิงเหล่านี้ ล้วนเขียนขึ้นโดยผู้ชายทั้งสิ้น ผู้มีอำนาจในการเป็นผู้กำหนดย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุดมการณ์ย่อมรับใช้ผู้สร้างอุดมการณ์นั้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดเพียงในสังคมไทย ซีโมน เดอ โบวัวร์ นักเขียนและนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่า ได้มีการสร้างมายาคติมากมายผ่านทางวรรณกรรมต่าง ๆ เพื่อบอกว่าผู้หญิงในอุดมคติควรจะอยู่ในฐานะที่เป็นรอง เป็นผู้ที่ต้องเสียสละตัวเองให้กับผู้ชาย เสียสละความต้องการของตนเองเพื่อผู้ชายจะได้ทำตามความต้องการของเขา มายาคติเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกอธิบายจากความเป็นประโยชน์ต่อผู้ชาย ที่น่ากลัวคือ ผู้หญิงได้รับเอามายาคติเหล่านี้เข้ามาเป็นความเชื่อของตัว (De Beauvoir 1989) ไม่น่าแปลกใจที่ นวนิยายในช่วงหลัง แม้ว่าจะเขียนโดยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ก็ยังคงสืบทอดความเชื่อเหล่านี้อยู่ แม้ว่าไม่เข้มข้นเหมือนเดิมก็ตาม การสอนสั่งความเชื่อเหล่านี้ถูกส่งผ่านและสืบทอดมาเป็นเวลาอันยาวนาน สั่งสมเข้าไปสู่การรับรู้ของผู้หญิงว่าตนคือผู้ที่ด้อยกว่า คือผู้ตาม คือผู้พึ่งพิง แม้ว่าในปรากฏการณ์ที่เป็นจริงผู้หญิงโดยเฉพาะในชนบทซึ่งเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศ คือผู้ที่ค้ำจุนการดำรงอยู่ของครอบครัวและชุมชน อาจไม่มากกว่าแต่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชายอย่างแน่นอน (วารุณี 2542)

นอกจากนี้ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมคำสอนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในอดีต คือผู้ที่มีการศึกษาสูงถ้าในท้องถิ่นต่าง ๆ ก็คือพระหรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน บุคคลเหล่านี้ได้รับการศึกษาผ่านทางงานเขียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ผ่านทางชาดก คัมภีร์ วรรณคดีบาลี และคงได้รับอิทธิทางความคิดจากงานเขียนเหล่านั้นไม่มากก็น้อย คำสั่งสอนหลายเรื่องมีความคล้ายคลึงกัน จากการศึกษาของเรืองอุไร กุศลาศัย (2535) พบว่า ผู้หญิงในวรรรณคดีพุทธศาสนา จะถูกเสนอในด้านลบมากกว่าด้านบวก เช่น มีความกล่าวทางบาลีที่ว่า "หญิงคือความชั่วร้าย ถือกำเนิดมาเกิด" หรือต้องเคารพสามีอย่างสูง ทำทุกอย่างเพื่อความต้องการของสามี สิ่งใดที่สามีไม่ชอบ สิ่งนั้นเธอต้องไม่ทำแม้จะเป็นภัยถึงชีวิตก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความพอใจของสามีสำคัญกว่าชีวิตของตนเอง ภรรยาที่คบชู้มีความผิดถึงประหารและสามีฆ่าได้โดยไม่มีความผิด อิทธิพลความเชื่อเหล่านี้จึงปรากฏในวรรณกรรมทั้งที่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านและวรรณกรรมชั้นสูงของไทยด้วย

นอกจากต้องเคารพผัวแล้ว เมียที่ดียังต้องเก่งในทาง"การบ้านการเรือน" โดยเฉพาะในเรื่องทำอาหาร "เสน่ห์ปลายจวัก" เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในชนชั้นสูงที่สามีมีภรรยาหลายคน เพราะเป็นเครื่องมือต่อสู้ที่สำคัญในการแข่งขันเพื่อให้ตนเองเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ

พยายามเลี้ยงดูให้ชูใจ ถึงมีเมียใหม่ให้คมขำ เสน่ห์ปลายจวักไม่รูจักทำ หลงไหลไม่กี่น้ำก็จำคลาย สุภาษิตสอนหญิง

ในส่วนของผู้หญิงชาวบ้าน เรื่องการทำอาหารเป็นหน้าที่ของเมีย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ถูกให้ความสำคัญมากไปกว่าการเก่งในการทำมาหากิน ในอีสานสั่งสอนไว้อย่างชัดเจนว่า เมียที่ดีต้อง ตัก น้ำ ตำข้าว หาบน้ำ เย็บปักถักร้อย เลี้ยงหม่อน ทอผ้า ย้อมฝ้าย ย้อมไหม หาฟืน รู้เรื่องดนตรี ฟ้อนรำ และที่สำคัญเป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้จารีต ประเพณีต่าง ๆ (ฮีตคลองต่าง ๆ ) จากผู้เฒ่าผู้แก่(ปรีชา อ้างในพิชัย อ้างแล้ว; ทวี อ้างแล้ว) ส่วนในภาคเหนือก็เช่นกัน ผู้หรือเมียที่ได้รับการยกย่อง คือ ต้องขยันขันแข็ง ทำงานในไร่นา ต้องรู้เรื่องการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า รู้จักประหยัดอดออม มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อคำติฉินนินทา (ศิริรัตน์ อ้างแล้ว) "เสน่ห์ปลายจวัก" ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของชาวบ้าน

คลิกไปหน้าถัดไป

back to midnight's home midnightuniv(at)yahoo.com


ผู้หญิงไทยคือเมีย

 

บทความนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจถึง
บทบาท หน้าที่ คุณสมบัตฺ และสถานภาพของผู้หญิงไทย
นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร ?

โดยการค้นคว้าผ่านเอกสารประวัติศาสตร์
และผลงานวรรณกรรม