บรรยายให้กับนักศึกษา
อาจารย์ (คณะวิจิตรศิลป์ มช.)
และผู้สนใจทั่วไปเข้าฟัง
จัดบรรยายภายใต้หัวข้อ
"จะเป็นศิลปินได้อย่างไรใน 20 ชั่วโมง"
(20 hours, how to be artist)
ครั้งที่ 4 เรื่อง
"ปรัชญาการสร้างสรรค์ศิลปเอเชียในอดีต"
โดย อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ
การบรรยายพิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนวิชา
องค์ประกอบศิลป์ 3 (นักศึกษาชั้นปีที่ 3)
การถอดเทปนี้ได้คัดมาเผยแพร่บางส่วน เพื่อความ เหมาะสมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แก่นของการอภิปราย
อ.นิธิได้เปรียบเทียบให้เห็นถึง
ปรัชญาการสร้างสรรค์ของศิลปะ
ตะวันออกและตะวันตก
มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ในขณะที่ศิลปะตะวันตกในยุคโมเดิร์น เน้น
creation, individual, การแหกคอก,
และการไม่ใช้สัญลักษณีที่คนรู้จัก
ทำให้ศิลปะสมัยใหม่ของตะวันตก
กลายเป็นสิ่งที่ลี้ลับ ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงได้
และห่างเหินไปจากผู้คน
ขณะที่ ศิลปะตะวันออก
จะเป็นไปในทางตรงข้าม
นอกจากนี้ในปัจจุบัน
ศิลปะยังถูก
ทำให้เป็นสินค้า (commoditization)
ซึ่งวางคุณค่าของตัวมันอยู่ที่ individuality
ซึ่งได้ตัดเอาประโยชน์ใช้สอยทิ้งไป
ยิ่งทำให้ศิลปะสมัยใหม่ของตะวันตก
ไม่มีความสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ...ผมอยากจะพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ของโลกตะวันออก... ซึ่งอยากจะเริ่มต้นที่ ความเหลวไหลของศิลปะตะวันตก ที่มันได้ถูกพังทะลายไป แล้วในที่สุด มันกำลังเดินเข้ามาสู่ทิศทางในแนวทางเดียวกันกับที่โลกตะวันออกที่ทำมานานแล้วโดยไม่รู้ตัว. แต่ก็มีความแตกต่างบางอย่าง ซึ่งถ้าผมไม่ลืมจะพูดต่อไปข้างหน้าว่า, Happening Art ซึ่งได้มีการพูดถึงกันนั้น มันไม่ได้ลงลอยกันเสียทีเดียว
ขอเริ่มจากสิ่งที่ผมเตรียมมา คือ แนวคิดเรื่องศิลปะร่วมสมัยและการสร้างสรรค์ที่เป็นกระแสในสังคมไทยทุกวันนี้ ตามที่ศิลปินหลายคนพูด ไม่ใช่ศิลปะกระแสหลัก แต่เป็นสิ่งซึ่งเพิ่งปรากฎขึ้นมาทีหลัง แล้วก็พยายามจะมาท้าทายกระแสหลักมากกว่า. ความคิดศิลปะที่เป็นกระแสหลักในสังคมไทยปัจจุบันนี้ จริงๆแล้วมันเป็นแนวคิดมาจากตะวันตก ไม่ใช่เป็นแนวคิดที่มีในเมืองไทย หรือในเอเชียมาก่อน.
จริงๆในภาษาไทยไม่มีคำว่า Art เป็นแต่เพียงว่า เรามีคำว่า"สิปปะ"หรือ"ศิลปะ" แต่ไม่ได้มีความหมายว่า Art. "สิปปะ"หรือ"ศิลปะ"แปลว่า"งาม"เท่านั้นเอง ใช้ในความหมายอื่น. เราเอาคำนี้มาใช้เพื่อแปลคำว่า art ในภายหลัง คือประมาณรัชกาลที่ 6 ลงมา ถึงจะพบคำว่า"ศิลปะ"ที่แปลว่า art ในภาษาไทย.
คำว่า"การสร้างสรรค์"ก็เหมือนกัน คำว่า"สร้าง"ก็เคยมีในภาษาไทย, คำว่า"สรรค์"ก็เคยมีในภาษาไทย, แต่คำว่า"การสร้างสรรค์"และให้มีความหมายว่า"creation"นั้น ก็ไม่มีในภาษาไทยมาก่อน. เราคิดคำนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะแปลคำว่า creation ในภาษาฝรั่งออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้นเอง. แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าคนไทยก็หน้านั้นขึ้นไป ไม่มี"ศิลปะ"หรือไม่รู้จัก"การสร้างสรรค์". เขามี เขารู้จักการสร้างสรรค์ แต่ด้วยความคิดอีกอย่างหนึ่ง เป็นความคิดเกี่ยวกับศิลปะอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนฝรั่ง
ทีนี้ มันไม่เหมือนตรงไหน ? สิ่งที่เราต้องเข้าใจประการแรก หลังจากที่เราถูกครอบงำโดยความคิดกระแสตะวันตก เกี่ยวกับศิลปะและการสร้างสรรค์มาเป็นเวลานาน... สิ่งแรกที่เราควรเข้าใจก็คือว่า... หลายคนฟังแล้วจะบอกว่า, แบบนี้โลกตะวันตกก็มี ในสมัยหนึ่งครั้งโบราณ ฝรั่งก็เป็นแบบนี้แหละ, ศิลปะและการสร้างสรรค์ของฝรั่งก็เป็นแบบนี้ เป็นแต่เพียงในปัจจุบัน มันได้แตกต่างออกไปแล้ว มันได้ก้าวหน้าพ้นจากลักษณะนั้นไปแล้ว. เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ควรเข้าใจก่อนก็คือว่า ผมไม่เชื่อในพัฒนาการของศิลปะว่า ศิลปะหรือการสร้างสรรค์ของวัฒนธรรมหนึ่ง มันล่าช้ากว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง.
คืออย่างนี้ มันมีวิธีการอธิบายวัฒนธรรม ซึ่งฝรั่งนักวิชาการในคริสตศตวรรษที่ 19 เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วชอบอธิบาย... คือ อธิบายว่าวัฒนธรรมทั้งหลายมันมีพัฒนาการซึ่งเป็นขั้นตอนที่แน่นอน. หมายความว่า, เมื่อเริ่มต้น มนุษย์ก็จะต้องไปเป็นผู้ไปเก็บของป่ามากิน และออกล่าสัตว์. ต่อมาฝ่ายหนึ่งก็เลี้ยงสัตว์ ฝ่ายหนึ่งก็เพาะปลูก บางคนก็อธิบายว่าเลี้ยงสัตว์มาก่อนเพาะปลูก พอเลี้ยงสัตว์มาพักหนึ่งก็รู้จักการเพาะปลูก และเริ่มพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนตลอดมา. เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมทุกแห่งในโลกนี้ คุณก็สามารถกลางแผนที่วัฒนธรรมสากลออกมาได้ แล้วคุณพบวัฒนธรรมไหน คุณก็เอามาวางว่า นี่อยู่ลำดับที่หนึ่ง อันนี้อยู่ลำดับที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า... ที่สุดท้ายก็แน่นอนคือฝรั่ง.
วิธีอธิบายแบบนี้ภาษาฝรั่งเรียกว่า Eurocentric. คือหมายความว่า อธิบายโดยเอาคนผิวขาวเป็นศูนย์กลาง. เป็นมาตรสำหรับไว้วัดว่า ห่างจากฝรั่งเท่าไหร่ ? ถ้าใกล้กับฝรั่งมาก ก็ถือว่า ถึงพัฒนาการลำดับสุดท้าย.
วิธีอธิบายอันนี้ นักปราชญ์ไทยเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วก็รับเอามา แล้วก็มักจะเอามาใช้ในการอธิบายวัฒนธรรมตลอดเวลา ไม่ว่าวัฒนธรรมไทยหรือวัฒนธรรมเพื่อนบ้านเราก็ตาม เช่น รัชกาลที่ 4 ท่านเคยอธิบายว่า เขมรยังป่าเถื่อนอยู่ ยังไม่เหมือนกับประเทศไทย. น่าตกใจมากนะครับว่า ถ้าเราคิดถึงนครวัด แล้วบอกว่าเขมรยังป่าเถื่อนอยู่. อันนี้คล้ายๆกับว่า เขมรก็กำลังจะค่อยๆเดินตามความเจริญก้าวหน้ามาถึงเรา
ความคิดนี้รู้สึกว่า มันค่อนข้างแพร่หลายและฝังแน่นอยู่ในบรรดานักคิดไทยค่อนข้างมาก และเราจะได้ยินสิ่งนี้ โดยรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นการอธิบายแบบ Eurocentric คือว่าเอาฝรั่งผิวขาวเป็นมาตรสำหรับไว้วัดสิ่งต่างๆ
ถ้าผมคุยกับฝรั่งว่า เพลงทางเหนือไทย หรือเพลงทางเหนือทั่วๆไป เราจะมีวิธีการประสานเสียงที่แย้งกันในตัว. หมายความว่า ในการประกอบวงดนตรีหนึ่งวง มันจะมีเครื่องดนตรีบางชิ้น เล่นทำนองอย่างหนึ่ง อีกบางชิ้นเล่นทำนองอีกอย่างหนึ่ง พร้อมกัน. และทำนองที่มันไม่ตรงกันมันกลับมาประสานกัน ซึ่งเวลาคุณฟังเพลงไทยที่เรียกว่าเพลงไทยเดิม หรือเพลงพื้นเมืองทางเหนือก็ตาม แล้วคุณฟังการไล่ทำนองของดนตรีแต่ละชิ้นที่มันเล่นล้อกันเอง มันก็จะเป็นความเพลิดเพลินในการฟังเพลงอย่างหนึ่ง.
ฝรั่งหรือพวกที่ฟังเพลงคลาสสิคบางคนจะบอกว่า อย่างนี้เพลงฝรั่งก็มี แต่ว่ามันเป็นโน่น ศตวรรษที่ 18. เพลงสมัยที่เรียกว่า"เพลงบารอค" พวกบาค(Bach), วิวาวดี(Vivaldi), อะไรพวกนี้ ก็จะเป็นเพลงแบบนี้แหละ. ฟังดูคล้ายๆกับว่า... มันผ่านไปแล้ว มันไปไกลเกินกว่านี้แล้ว ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่นี้. แต่มันน่าประหลาดตรงที่ว่า ในปัจจุบันนี้ ฝรั่งหรือนักฟังเพลงคลาสสิคทั้งหลาย กลับไปชอบฟังเพลงของบาร์ค มีการไปรื้อค้นเพลงของบาค ซึ่งไม่เคยเอาแผ่นออกมาเล่น เอาออกมาเล่น. ไปรื้อค้นเพลงวิวาวดีออกมาเล่น แล้วทำแผ่นเสียงขาย ขายกันได้ดีด้วยซ้ำไป.
แสดงว่า อย่างน้อยรสนิยมคน มันไม่ได้เป็นขั้นเป็นตอน. เวลานี้เรามาถึงศตวรรษที่ 21 แต่ยังหันกลับไปฟังเพลงในศตวรรษที่ 18 ด้วยความชื่นชมกว่าเพลงในศตวรรษที่ 19 เป็นต้น. เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าประการแรกที่ควรจะเข้าใจก็คือว่า ผมไม่เชื่อ หรือผมไม่คิดว่าถ้าเราจะเข้าใจวัฒนธรรมอะไร ศิลปะอะไร การสร้างสรรค์อะไรก็ตามแต่ แล้วไปมองสิ่งนั้นแบบ Eurocentric จะไม่มีทางเข้าใจวัฒนธรรม หรือศิลปะ หรือการสร้างสรรค์ศิลปะของสังคมใดๆได้เลย. นั่นเป็นประการที่หนึ่ง
ประการที่สองต่อมาที่ควรเข้าใจก็คือว่า ความคิดเรื่อง"creation"ก็เป็นความคิดที่มันสัมพันธ์อยู่ค่อนข้างมากกับศาสนาคริสเตียนทีเดียว. คงทราบอยู่แล้วว่า creation ในภาษาฝรั่งมันแปลว่า "สร้างขึ้นจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย". คุณเอาไม้มาต่อเป็นโต๊ะ คุณไม่ได้ create โต๊ะขึ้นมา แต่แน่นอนคุณ create โต๊ที่ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนในโลกนี้เลย เช่น เวลาจะใช้โต๊ะจะต้องนอนหงาย หรืออะไรก็แล้วแต่, สมมุติว่าเป็นอย่างนั้น. โอเค อย่างนี้อาจจะเรียกว่า create ได้. คือไม่มีแบบอย่างแบบโต๊ะอย่างนั้นมาก่อน. เพราะฉะนั้น เวลาที่ศาสนาคริสต์พูดว่า พระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ จึงบอกว่า God Create the World. คือสร้างจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย.
เพราะฉะนั้น เวลาที่ฝรั่งพูดถึง Creation มันจะกลัว มันจะรู้สึกว่ายิ่งใหญ่มาก. ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ ผมคิดว่าไม่มีในเอเชีย. ไม่มีความคิดว่า"การสร้างสรรค์"นั้น มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เทียบเทียมกับพระเจ้า. ฝรั่งจะมีแนวโน้มที่จะมองการสร้างสรรค์ของใครก็ตามแต่ว่า มันเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ เทียบเคียงกับการสร้างสรรค์ของพระเจ้าได้.
ผมควรจะบอกด้วยว่า ศาสนาอิสลาม ศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวเหมือนกัน มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาใกล้ๆกับแถวเซเมติค พวกยิวเหมือนกัน ถือว่า การที่แม้แต่คุณวาดรูปคน ก็ไม่ได้, คุณกำลัง create คน คุณกำลังทำอะไรเทียบเคียงกับพระผู้เป็นเจ้า. เพราะฉะนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง Creation มันจะสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับตัวศาสนา
ทีนี้เพียงแค่ความแตกต่างเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง Creation เรื่องเกี่ยวกับ"การสร้างสรรค์"ของตะวันออก ตะวันตก อาจจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องการสร้างสรรค์มากนักก็ได้. ถ้าเรามองย้อนกลับไปในตำนานต่างๆของไทย จะพบว่า เรามีความชื่นชมต่อการสร้างสรรค์อะไรที่มันเลิศลอย ที่มันเป็นของดีมากๆ อยู่เหมือนกัน. เช่น เรามีตำนานการสร้างพระพุทธชินราชเป็นตัวอย่าง.
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่คนไทยโบราณถือว่า เป็นการสร้างสรรค์ที่สุดยอดที่สุดของการสร้างพระพุทธรูป. แต่ปรากฏว่าในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชนั้น ไม่ใช่คนสร้างขึ้น แต่พระอินทร์แปลงกายมาเป็นชีปะขาว มาช่วยในการหล่อพระองค์นี้ให้. คงทราบอยู่แล้วว่า การหล่อพระที่ใหญ่ขนาดนั้น ฝีมือให้มันเนี๊ยบขนาดนั้น โดยไม่แตก ไม่อะไรเลย ไม่ใช่ของทำได้ง่ายๆ. ทำไมถึงเป็นพระอินทร์ จะพูดถึงข้างหน้า
ประเด็นที่ผมต้องการจะชี้ในที่นี้ก็คือว่า เพียงความคิดว่า มันมีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน ฝรั่งคิดว่ามันยิ่งใหญ่เทียบเทียมพระเจ้า คนไทยก็เฉยๆ แค่นี้ก็อาจไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างในเรื่องการสร้างสรรค์ศิลปะเท่าไหร่ก็ได้. ข้อที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสำคัญมากๆทีเดียว ผมคิดว่ามันมาจากความคิดเรื่องเกี่ยวกับ"ปัจเจกบุคคล". เรื่องเกี่ยวกับ Individual. ซึ่งในแนวคิดตะวันตก เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาประมาณคริสตศตวรรษที่ 18 มานี้เอง. ก่อนหน้านั้นก็ไม่มี หรือมีก็ไม่ค่อยจะสำคัญเท่าไหร่. คือประมาณในศตวรรษที่ 18 แล้วมาถูกเน้นหนักในศตวรรษที่ 19 ค่อนข้างมาก ก็คือว่า คุณค่าของบุคคลอยู่ที่ตัวเขาคนเดียว. เขามองการกระทำต่างๆ ไม่ว่าเลว ไม่ว่าดี ของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล.
เอากฎหมายที่เห็นง่ายๆอีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้คือ กฎหมายฝรั่ง. คุณไปฆ่าคนตาย พ่อ แม่ พี่น้องของคุณไม่เกี่ยว, เขาจับคุณคนเดียว เพราะไม่เกี่ยวกับ พ่อ แม่ พี่น้องคุณ. คุณเป็นผู้รับผิดชอบ. เป็น Individual หรือปัจเจกบุคคลเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง. คุณย้อนกลับไปคิดถึงกฎหมายไทย ไม่ใช่อย่างนี้. คุณไปเป็นหนี้สินเขา และไม่มีปัญญาจะใช้ แล้วหนีหายไป. เจ้าหนี้มีสิทธิไปจับเอาสามีคุณ หรือภารรยาคุณไปมัดไว้ที่หลักกลางแดด ให้แดดเผา และฝนตกใส่ได้ เพื่อที่จะทำให้คุณมาใช้หนี้แทน แม้ว่าภรรยาของคุณ พ่อคุณ แม่คุณ ลูกคุณ ไม่ได้เกี่ยวกับหนี้สินที่เกิดขึ้นก็ตาม...
กฎหมายฝรั่งที่พูดถึงนี้ ความจริงก็เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในระยะหลัง กฎหมายในสมัยกลางของฝรั่งก็คล้ายๆกับกฎหมายไทย.ความรับผิดชอบเป็นความรับผิดชอบร่วม ของครอบครัวบ้าง ของชุมชนบ้าง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนๆเดียว. แต่กฎหมายฝรั่งแบบที่มาเน้นว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำของตนเองแต่เพียงผู้เดียว ก็เกิดขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ลงมาแล้ว เป็นส่วนใหญ่
และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ในลัทธิปัจเจกชนนิยม เขาจะเน้นว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจก จะสามารถบรรลุสิ่งสูงสุดในชีวิตได้ด้วยตัวเขาเองคนเดียว. กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า มนุษยในฐานะที่เป็นแต่ละคนๆ นาย ก. นาย ข. นาย ค., ในฐานะที่เป็นปัจเจก มีศักยภาพสูงสุด จนแทบไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย. จะจำกัดก็คือ ต่ำกว่าพระเจ้า แน่นอน. แต่ว่าคุณสามารถบรรลุสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ดีที่สุด เลิศที่สุด เลวที่สุดด้วย ทุกๆอย่างได้ด้วยตัวคุณคนเดียว โดยไม่เกี่ยวกับคนอื่นๆเลย. พอคุณคิดแบบนี้ คุณก็ต้องให้ความสำคัญแก่มนุษยในฐานะที่เป็นปัจเจกอย่างมาก. ฉะนั้น จึงมองว่าการสร้างสรรค์ทั้งหลาย เป็นการสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล.
คุณเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะมาแล้ว คุณลองนึกย้อนไปถึงรูปในสมัยกอธิค สมัยอะไรก็แล้วแต่ที่เขียนคนยาวๆ อะไรทั้งหลายเหล่านี้ ลองถามว่าใครเป็นคนเขียน. น้อยภาพมากที่จะรู้ว่าใครเป็นคนเขียน. อันนี้ก็เหมือนของไทยเวลาที่เข้าไปในวัดทั้งหลาย แล้วมีรูปจิตรกรรมฝาผนัง คือไม่บอกว่าใครเขียน ไม่รู้ว่าใครเขียน. ทั้งหมดพระอินทร์เขียนทั้งนั้นแหละ. ของฝรั่งก็เหมือนกัน สมัยก่อนหน้าศตวรรษที่ 18 การเน้นการสร้างสรรค์ของบุคคลจะน้อยมาก. ผมคิดว่าตรงนี้ล่ะเป็นตัวที่ทำให้การสร้างสรรค์ในโลกตะวันออก กับ ตะวันตก แตกต่างกัน. คือว่าทำให้ศิลปะเป็นการสร้างสรรค์ของเอกบุคคล.
พอเป็นการสร้างสรรค์ของเอกบุคคล... อย่าลืมนะครับที่เราพูดไปเมื่อสักครู่นี้ creation ต้องเป็นการสร้างสรรค์จากสิ่งที่ไม่มีอะไรมาก่อนเลย แล้วคุณมาเน้นที่การสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น การสร้างสรรค์ของโลกตะวันตก หลังจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา จึงต้องเน้นการแหกคอก. เพราะว่าถ้าคุณไม่เน้นการแหกคอก คุณก็สร้างสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว คนอื่นเขาเขียนแบบนี้มาแล้ว คุณก็เขียนแบบนี้อีก. ฉะนั้น คุณก็ไม่ได้ create จริง คุณก็ไม่ได้สร้างสรรค์จริง. คุณต้องหาวิธีสร้างอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เหมือนกับที่คนอื่นได้สร้างมาแล้ว. ถ้าเหมือนกับที่คนอื่นเขาสร้างมาแล้ว ก็คือว่าคุณไม่ได้สร้างสรรค์.
ไม่เดินตามรอยที่คนอื่นได้เดินมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธี ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นความคิด อะไรก็ตามแต่ ต้องแตกต่างออกไป. และผมคิดว่า ความคิดแหกคอกนี้ มันจะกลายเป็นความคิดที่ครอบงำโลกของศิลปะตะวันตกสืบมาเป็นร้อยๆปีจากนั้น.
ก็ทุกคนพยายามทำอะไรก็ตามที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธี หรืออื่นๆ. แล้วถือว่าถ้าคุณไม่ทำแบบนั้น คุณไม่ได้สร้างสรรค์ศิลปะ. และผมคิดว่านี้เป็นความคิดกระแสหลักที่ค่อนข้างรุนแรงในสังคมไทย. และเมื่อการสร้างสรรค์ศิลปะ เป็นการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำรอยคนอื่นๆ เป็นการสร้างสรรค์ของเอกบุคคล ฉะนั้นจึงใช้สัญลักษณ์แบบขนมประเพณีที่รู้กันอยู่แล้วน้อยมาก.
ในขณะที่ศิลปะตะวันออก มันตรงกันข้ามกับที่พูดถึง... ศิลปะจึงเป็นการสื่อ และการสื่อที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุดที่จะสื่อ ก็คือใช้สัญลักษณ์ตามขนบประเพณีที่รู้กันอยู่แล้ว เป็นต้น. อันนี้ก็ทำให้ศิลปะตะวันออกเป็นอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ และขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในโลกตะวันออก อย่างเช่นของไทยเรา คุณจะพบได้ว่า ชื่อศิลปินนั้นแทบจะไม่ปรากฎ. เมื่อไหร่ที่มันดีเลิศเลอ เราก็ยกให้พระอินทร์ไป.
จริงๆแม้แต่ในวรรณคดี แทบจะไม่มีชื่อผู้แต่งปรากฎในวรรณคดีเลย จนกระทั่งมาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว จึงเริ่มปรากฏชื่อผู้แต่งขึ้นมาบ้าง. ก่อนหน้านั้นแทบจะไม่รู้จักชื่อเลย... ที่เรียกว่า กำสรวญศรีปราชญ์, ศรีปราชญ์มีตัวตนหรือเปล่าก็ไม่รู้. เรียกๆกันมาในสมัยหลัง ในตัวหนังสือมันไม่ได้บอกว่าศรีปราชญ์เป็นคนเขียน. ก็ยังเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้ คนที่เรียกตัวเองว่าศรีปราชญ์ เป็นใครกันแน่. จะพบได้ว่า ไม่ว่าวรรณคดี ไม่ว่างานศิลปะ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีชื่อบุคคลเป็นคนสร้างขึ้น เพราะเขาไม่คิดว่าคนในฐานะปัจเจกเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ถ้ามันยิ่งใหญ่เหลือเกินก็ยกให้กับพระอินทร์ไป.
นอกจากความคิดเรื่อง"การสร้างสรรค์", ความคิดเรื่องเกี่ยวกับ"ปัจเจกบุคคล", ความคิดเรื่อง"แหกคอก", ความคิดที่จะใช้สัญลักษณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักให้น้อยลง... เมื่อใช้สัญลักษณ์อันเป็นที่รู้จักน้อยลง คุณก็สื่อได้ยากขึ้น. เมื่อใช้สิ่งที่มันตกลงร่วมกันน้อยลง มันก็สื่อกันได้ยากขึ้น. ศิลปะฝรั่งในยุคหลังต่อมา เลยกลายเป็นอะไรที่ลี้ลับ คล้ายๆกับคุณ express สิ่งที่เป็นตัวคุณเฉพาะคนเดียว ที่คนอื่นก็ไม่เหมือนด้วย ละเลงลงไปบนผ้าใบ แล้วบอกให้คนอื่นเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวคุณคนเดียวให้ได้. มันก็กลายเป็นสิ่งลี้ลับ.
ถ้าหากสามารถเข้าถึงสิ่งลี้ลับนั้นได้ ก็เรียกได้ว่าบรรลุ หรือซาโตริคนเดียว ไม่ใช่ซาโตริของที่เป็นสากล. จึงมักจะพูดกันว่า ศิลปิน ถ้าจะขายภาพได้ คุณเขียนเก่งอย่างเดียวไม่พอ คุณจะต้องพูดเก่งด้วย. คือพูดให้คนอื่นเชื่อว่า คนๆนั้นสามารถบรรลุได้ คุณถึงจะสามารถขายสิ่งเหล่านั้นได้. เพราะว่าคุณไม่อาศัยสื่อที่คนรู้จักกันเลย. กลายเป็นลักษณะเฉพาะที่ลี้ลับ คนอื่นเข้าไม่ถึง มากขึ้นทุกที.
นอกจากนั้นแล้ว มันยังไปบวกกับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญมากๆเลย ในการจะไปมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ของโลกตะวันตก นั่นก็คือ พาณิชยนิยม. พูดง่ายๆก็คือ กำไร. พาณิชยนิยมก็คือ การที่มองทุกอย่างเป็นสินค้า ที่สามารถเอาไปขายในตลาดทำกำไรได้. นี่ก็เป็นกระแสในโลกตะวันตกที่เกิดขึ้นมาประมาณยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ที่จะมองทุกอย่างเป็นสินค้า แล้วก็เอามันไปสู่ตลาด. ฝรั่งเรียก "commoditization" หรือ "การทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า".
ด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้ศิลปะกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง. ถามว่ามูลค่าของสินค้าชนิดนี้คืออะไร ? มูลค่าของสินค้าชนิดนี้ ตอบให้สั้นที่สุด ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า individuality ภาษาไทยก็คือว่า ลักษณะปัจเจก หรือลักษณะที่มันไม่เหมือนใครเลย. เป็นชิ้นเดียวที่มีในโลก. คุณไปซื้องาน Picasso ก็ต้องเป็น Picasso 1922 ค.ศ.นั้น รูปนั้น มีอยู่รูปเดียวในโลกนี้. มันจะดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ลองว่ามันเป็นรูปนั้นจริง คุณรวยไม่รู้เรื่องเลย. เพราะว่านั่นคือตัวมูลค่าที่แท้จริง คือ individuality ของภาพนั้น เป็นตัวทำราคาให้แก่ภาพนั้น. ส่วนว่าภาพนั้นมันจะดีหรือไม่ดีไม่รู้. แต่ว่ามันเป็น individuality.
ผมเคยถาม อ.อุทิศว่า "ทำไม ถ้ามันมีคนที่สามารถ reproduce ภาพเขียนได้ด้วยเครื่องจักร ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ภาพที่ว่าดีๆทั้งหลายนี่ ให้ออกมาเหมือนจนกระทั่งขนาดที่เจ้าของเองยังจำไม่ได้ ทำไมมันถึงมีค่าไม่เท่ากัน ? อ.อุทิศ บอกว่า ก็มันเป็น reproduction มันเป็นภาพ copy มันไม่ใช่ authentic หรือของแท้... เพราะฉะนั้น มันมีนักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคน บอกว่า ความจริงศิลปะที่คุณไปซื้อๆมาแขวนบ้านคุณ จริงๆคุณไม่ได้ซื้อตัวผ้าใบ คุณไม่ได้ซื้อฝีมือ คุณไม่ได้ซื้ออะไรสักอย่าง... แต่คุณซื้อ history. คุณซื้อภาพ หรือผ้าใบที่มือของ Picasso เคยแตะ ซึ่งผ้าใบผืนอื่น มือ Picasso ไม่ได้แตะ. การที่มือของ Picasso ไปแตะผ้าใบผืนนั้น เป็น history เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว. และมันไม่มีทางจะเกิดขึ้นมาอีก เพราะ Picasso ก็ตายไปแล้ว. ฉะนั้น ถ้าพูดแบบผม, individuality หรือสิ่งเดียวที่มันไม่มีอะไรเหมือนได้อีก. นี้คือมูลค่าของศิลปะ. ภาพ reproduction จึงไม่สามารถทำเงินได้เท่าเทียมกัน.
แล้วคุณลองนึกเทียบของโลกตะวันออก โลกตะวันออกก็มีการเล่นศิลปะของโลกตะวันออกเหมือนกัน คือการเอางานศิลปะของโลกตะวันออกเข้าสู่เชิงพาณิชย์แบบเดียวกับตะวันตก แต่มันมีอะไรซึ่งไม่เหมือนกันทีเดียว. เช่นเป็นต้นว่า คนที่ชอบเล่นเครื่องกระเบื้องของราชวงศ์หมิง สิ่งที่จะทำให้เกิดราคาที่สุด ไม่ใช่ชิ้นนั้น. ชิ้นไหนก็ได้ แต่ขอให้มีสีแดง ต้องเป็นสีแดงชนิดที่ under glaze คือ มีการเคลือบ ไม่ใช่เอาสีแดงมาทา เพราะการเอาสีแดงมาทาไม่ค่อยมีค่า... สีแดงปนอยู่จุดเดียว ก็มีราคามากมายแล้ว. แต่ไม่ต้องชิ้นนั้น ชิ้นไหนก็ได้ ขอให้มีสีแดง. เหตุผลนิดเดียวเท่านั้นเอง เพราะว่ามันมีน้อย. ก็คล้ายๆกันเหมือนกันกับ individuality ก็คือมันมีน้อย. แต่คุณจะพบว่ามันมีลักษณะที่มันไม่ตรงกันเสียทีเดียว.
เพราะ พาณิชยนิยม, เพราะลักษณะ creation, เพราะลักษณะ individuality, ทำให้ศิลปะของโลกตะวันตก ต้องไม่มีประโยชน์ใช้สอย คือค่อนข้างจะเป็นแบบนี้. หมายความว่า เมื่อไหร่ที่มีประโยชน์ใช้สอย คุณค่าทางศิลปะจะลดลง. คนที่ออกแบบรถยนต์ซึ่งเก่งมากเลย และทำให้รถยนต์ขายดิบขายดี เพราะว่า ไม่ใช่เครื่องมันดีอะไรมันดี แต่แบบมันสวยคนถูกใจ. ถามว่าใช่ศิลปะไหม ? ตอบว่า"ใช่". แต่คุณค่าของมันน้อยกว่า... จริงอยู่ที่มันอาจจะทำเงินได้มากกว่า เช่น Honda Civic คนชอบกันมาก ไปซื้อกันใหญ่. ถามว่ารูปแบบ Hodda Civic ใช่ไหมที่ทำให้ Honda Civic ทำเงินได้เป็นพันๆล้านเหรียญ. ใช่...แต่มีใครคิดถึงคุณค่าทางศิลปะของ Honda Civic สักเท่าไหร่ ? ตอบได้ว่า ไม่ค่อยมากเท่าไหร่. คิดแต่เพียงยกย่องว่ามันเก่ง มันออกแบบให้ถูกใจคน และคนก็ไปซื้อเป็นแสนๆคัน.
ผมคิดว่าศิลปะในโลกตะวันตกมีประโยชน์ใช้สอยน้อย ก่อนที่จะมาถึงศิลปะ Contemporary ที่ได้มีการพูดถึงกัน... และพยายามหลีกเลี่ยงการที่จะมีประโยชน์ใช้สอย. ถ้าหากว่าคุณอยากให้มันมีคุณค่าทางศิลปะสูง คุณก็ให้มันมีประโยชน์ใช้สอยให้น้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้. เพราะ ถ้ามีประโยชน์ใช้สอย จะทำให้ราคามันถูกบิดเบือนไป. เช่น รถยนต์ ไม่ว่าคุณจะออกแบบมันให้มีศิลปะอะไรขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ปรากฏว่าสต๊าร์ทไม่ติด มันก็ขายไม่ได้. มูลค่าของศิลปะมันก็ถูกบิดเบือนไปจากประโยชน์ใช้สอย. ฉะนั้น คุณต้องหลีกเลี่ยงประโยชน์ใช้สอย.
มาถึงจุดนี้ ผมอยากจะเตือนเพียงนิดเดียวว่า ในทัศนะผม ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่ห่างเหินจากคนทั่วๆไปโดยปริยาย หมายความว่า ถ้ามีลักษณะ individualism มีลักษณะเป็นปัจเจกสูงขนาดนี้ มีลักษณะพาณิชยนิยมแบบนี้ แล้วไม่มีประโยชน์ใช้สอยด้วย. มันก็แน่นอน ถ้าอย่างนั้นก็ทำให้ศิลปะกับวิถีชีวิตของคนมันไม่สัมพันธ์อะไรกันเลย.
ผมเห็นคนจำนวนมากรู้สึกอึดอัดใจ ทำไมบ้านในเมืองไทยถึงไม่มีภาพศิลปะแขวนอยู่ตามฝาผนังบ้าง เป็นต้น. ซึ่งผมคิดว่า ก็ไม่รู้จะแขวนทำไม เกะกะเปล่าๆ ...แขวนรูปปู่ ย่า ตา ยาย เอาไว้กราบไหว้บูชาไม่ดีกว่าหรือ. แขวนรูปนายกรัฐมนตรีเอาไว้ให้ตำรวจมันกลัวไม่ดีกว่าหรือ ? อันนั้นคือประโยชน์ใช้สอยโดยตรง ในขณะที่ศิลปะ ด้วยวิธีคิดแบบนี้ มันทำให้แยกตัวเองออกไปจากมนุษย์ธรรมดา แยกตัวเองออกไปจากวิถีชีวิตปกติธรรมดา
ในขณะที่โลกตะวันออก สมัยก่อนคุณจะพบว่า คุณแยกออกจากประโยชน์ใช้สอยไม่ได้เลย มันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างชนิดแยกออกจากกันไม่ได้. จะเป็นพระพุทธรูปก็ตาม จะเป็นโบสถ์ วิหาร ก็ตาม. จะเป็นภาพเขียนฝาผนังก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ใช้สอยอยู่ในการสร้างสรรค์ทั้งหมดเหล่านั้นทั้งสิ้น.
ในทางตรงกันข้าม เพราะการสร้างสรรค์ในโลกตะวันออก ไม่ใช่การสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล จึงเป็นเรื่องของการปรับปรุงจากฐานเดิมเสมอ. เมื่อไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล คุณก็ไม่จำเป็นต้องแหกคอก เมื่อคุณไม่จำเป็นต้องแหกคอก คุณก็สามารถพัฒนาจากฐานเดิมได้.
หลายปีมาแล้ว ไม่ทราบว่ามีใครจำได้บ้างว่า คุณพิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะคนหนึ่งที่มีชื่อของไทย แกไปเขียนบทความว่า ศิลปไทย หัวใจของมันจริงๆคือ copy แต่ถ้าแกพูดให้มาหยุดเพียงแค่สมัยรัชกาลที่ 6, หมายความว่า ศิลปไทยสืบมาถึงรัชกาลที่ 6 ก๊อปปี้หมด คงไม่มีใครโกรธ. แต่แกผ่าพูดเลยจากรัชกาลที่ 6 มาถึงปัจจุบันว่า มันก็ copy เหมือนกัน. เสร็จแล้วแกก็ไปเอาภาพดังๆของศิลปินไทย แล้วไปเทียบให้ดูว่ามันตรงกับศิลปะอเมริกันอย่างไร ? หรือศิลปะยุโรปอย่างไร ? ปรากฏว่าแกโดนโกรธมาก จนแทบเอาตัวไม่รอด.
เพราะว่า แกพูดสิ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งคือ หัวใจของศิลปไทยคือก๊อปปี้. เพราะว่า เมื่อมันไม่ใช่เป็นการสร้างสรรค์ของปัจเจก คุณก็ต้องก๊อปปี้จากของเดิม. แต่ว่ามันมีวิธีก๊อปปี้ว่าคุณก๊อปปี้อย่างไร แล้วทำให้มันยักเยื้อง แล้วทำให้มันไม่เหมือนของเดิม เพราะว่าเดี๋ยวมันเบื่อ. เอาง่ายๆ เหตุผลง่ายๆอย่างเดียว เดี๋ยวมันเบื่อ. เพราะฉะนั้น คุณก็ยักเยื้องมันไปนิดหน่อย ให้มันไม่เบื่อ ให้มันน่าดูกว่า. เพราะว่า ใครๆก็เคยเห็นพระพุทธชินราชกันจนชินตาไปแล้ว ทั้งรูปถ่าย ทั้งรูปจำลองมีอยู่ตลอดเวลา. เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากจะทำพระพุทธชินราชองค์ใหม่ คุณก็ยักเยื้องนิดหน่อยให้มันแปลกตาออกไป ไม่ดีกว่าหรือ ? แต่ฐานมันก็คือพระพุทธชินราชนั่นแหละ.
และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ควรที่ใครจะมาอ้างว่าเขาเป็นผู้สร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา. กว่าที่จะมีรูปอย่างพระพุทธชินราชขึ้นมา เชื่อว่า ได้มีคนปั้นพระพุทธรูปลักษณะแบบนี้, โดยที่ซุ้มเรือนแก้วอาจจะยังไม่มีก็ได้, เข้าใจว่าซุ้มเรือนแก้วสร้างขึ้นมาในสมัยหลัง, สร้างแล้วมันไม่ลงตัวเท่านี้ มาแล้วเป็นร้อยๆรูปก็ได้ เอาพระที่ดังๆบางองค์ก็ได้ อย่างพระพุทธรูปปางค์ลีลาของสุโขทัย เป็นต้น มีเป็นร้อยองค์ องค์ที่ตั้งอยู่ที่ระเบียงโบสถ์วัดเบญจมบพิตร. องค์นั้นคุณจะพบว่า ในรูปเขียนก็มี ปูนปั้นก็มี รูปอะไรก็มี. กว่าจะลงตัวได้เป็นพระพุทธรูปองค์นั้นได้ ได้ผ่านรูปลักษณ์ผิดๆถูกๆมาเป็นร้อยองค์แล้ว. ฉะนั้น จึงไม่สามารถจะบอกได้ว่าใครเป็นคนสร้าง แล้วความจริงไม่ควรที่จะมาบอกว่าตนเป็นคนสร้างด้วย อาศัยการยืนบนบ่าของบรรพบุรุษที่เขาสร้างๆกันต่อๆกันมา กว่าจะเกิดสิ่งนั้นขึ้นมาได้
อันนี้เป็นคนละเรื่องกับศิลปะตะวันตก ซึ่งพยายามไปเน้นตัวของ creator หรือตัวผู้สร้าง. ของเรา ผู้สร้างก็คือชุมชน สังคมทั้งหมดต่างหากที่เป็นผู้สร้าง. ศิลปะเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ของสังคม ไม่ใช่เป็นการสร้างสรรค์ของปัจเจก และด้วยเหตุดังนั้น ศิลปะจึงต้องตอบสนองสังคม คือเอาไปใช้ได้ เกี่ยวข้องกับอุดมคติของสังคม ไม่มีใครสามารถรวยคนเดียวได้ สัมพันธ์กับความมั่งคั่งทางจิตวิญญานทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝีมือคนใดคนหนึ่ง.
งานศิลปะของตะวันตกแบบที่ผมพูด มันคล้ายๆกับเรื่องของสิทธิบัตร. คุณลองนึกว่ามันเป็นแบบเดียวกับสิทธิบัตร. คุณ invent คุณประดิษฐ์อะไรบางอย่าง และคุณเอาไปจดทะเบียนสิทธิบัตรไว้ แล้วคุณเอาไปขายต่อ ก็รวยไม่รู้เรื่อง. ถามว่าการจดทะเบียนสิทธิบัตร การ invent หรือการประดิษฐ์อะไรบางอย่าง แล้วนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตร กับการสร้างงานแบบตะวันตก ก่อนหน้า Contemporary Art ถามว่ามันต่างกันอย่างไร ? ผมว่ามันไม่ต่าง เหมือนกันเลยทุกประการ.
ซึ่งในงานศิลปะตะวันออก ผมคิดว่ามันไม่ใช่ลักษณะของการสร้างสิทธิบัตรแบบนั้น มันเป็นเรื่องของสังคมทั้งหมด จะได้สิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ร่วมกันนั้นไปใช้พร้อมๆกัน. และในขณะเดียวกัน ก็ง่ายที่จะรับจากภายนอกด้วย. อันนี้ตะวันตกก็จะเหมือนกันก็ได้, อย่างที่บอกแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า copy มันเป็นพื้นฐาน. คราวนี้มาถามว่า แล้วมันมาสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งที่ศิลปินพูดกันอย่างไร ?
ในทัศนะผมคิดว่า Contemporary Art ที่ศิลปินพูดถึง เช่น การผัดก๋วยเตี๋ยวผัดไทยแล้วแจกให้คนอื่นกิน, ฟังดูแล้วคล้ายๆกับที่ศิลปินร่วมสมัยเริ่มสำนึกได้ว่า ศิลปะของตนเองมันถูกแยกขาดออกไปจากวิถีชีวิตของคนทั่วๆไป ผมคิดว่า แม้แต่คนที่ซื้อศิลปะไปเป็นจำนวนมากนั้น จริงๆแล้วอาจเป็นการเก็งกำไรของ 70% ของคนที่ซื้อก็ได้. คนที่ appreciate ศิลปะจริงๆซื้อไปจะมีสักกี่เปอร์เซนต์ ผมก็ไม่แน่ใจ. ผมรู้แต่เพียงว่า ถ้าคุณมีเงินมากพอ แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนเล่นการเมือง, ลงทุนซื้อศิลปะ บางทีก็ทำกำไรได้มากกว่าเล่นการเมืองด้วยซ้ำไป เป็นต้น. มันก็ขาดจากชีวิตของคนอื่นๆที่ไม่ได้มีชีวิตอย่างนั้นไปโดยสิ้นเชิง. และทำให้เขาพยายามที่จะหันกลับมาเชื่อมโยงตัวเองกับวิถีชีวิตปกติ เช่น ผัดไทย แล้วทำให้คนมาชุมนุมกัน มาแลกเปลี่ยนกัน เป็นต้น.
แต่ความแตกต่างระหว่างการสร้างสรรค์ศิลปะตะวันออก กับ ศิลปะตะวันตกในแนว contemporary ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในทัศนะของผมเท่าที่นึกออกทันทีเวลานี้ก็คือ ผมคิดว่าในโลกตะวันออกไม่ได้นึกถึงการสร้างศิลปะ แต่คนที่ทำผัดไทย แล้วให้คนมาชุมนุมกัน และก็มีการแลกเปลี่ยน กำลังคิดว่าตัวกำลังสร้างศิลปะอยู่. ผมคิดว่าในโลกตะวันออกมันไม่ได้คิด. ไอ้ตรงที่มันไม่ได้คิด กับที่คิด จะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างไรต่อไปอีกข้างหน้า ผมก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน. แต่ผมคิดว่าสำคัญ. ที่คุณมีสำนึกอยู่เต็มอกว่า นี่คุณกำลังสร้างงานศิลปะอยู่ กับอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้สำนึกว่าฉันกำลังสร้างศิลปะอยู่ ผมคิดว่ามันจะเกิดความแตกต่าง แต่จะแตกต่างอย่างไร ผมก็นึกไม่ออก.
...จริงๆแล้ว ผมไม่ชอบการแบ่งตะวันออกและตะวันตกเสียเท่าไหร่ การแบ่งที่ถูกต้องที่ตรงจริงๆ คือการแบ่งระหว่าง สมัยใหม่กับ ไม่ใช่สมัยใหม่. ผมไม่อยากใช้คำว่า modern and pre-modern ผมอยากใช้คำว่า modern and non-modern มากกว่า. คือคิดว่า คำว่า modern หรือ modernity จริงๆแล้วมันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นจากหลายๆอย่างด้วยกัน จะเป็น ปฏิวัติอุตสาหกรรม จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ที่มันเกิดขึ้นในโลกตะวันตกก่อน แล้วมันครอบงำโลกตะวันตกอย่างหนาแน่น และด้วยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจตะวันตก ก็เลยแพร่หลายออกมายังโลกทั้งโลก.
เวลานี้มันเกิดการกบฎและการปฏิวัติต่อสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น modern หรือ modernity ทั้งโลก. โดยเฉพาะในโลกตะวันตกเองก็มีวิธีคิดที่ถูกเรียกว่า postmodern. ที่จริง postmodern ก็คือสิ่งที่ไม่ใช่ modern แปลตรงๆว่า"หลังโมเดิร์น" แต่เอาเป็นว่ามัน non มันไม่ใช่ก็แล้วกัน. วิธีคิดแบบนั้นที่ว่ามันครอบงำโลกตะวันตกอยู่ ถ้าเผื่อว่าเป็นเรื่อง postmodern ก็จะไปเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับ"เหตุผล" กับ"สิ่งที่ไม่ใช่เหตุผล", "จริง" กับ "ไม่จริง". ผมว่าในทางศิลปะก็เป็นความพยายามที่จะดึงเอาศิลปะเข้าสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนทั่วๆไป ไม่แยกตัวออกไปเป็นของลี้ลับอย่างที่เป็นมาเมื่อ 200 ปีที่แล้วในโลกตะวันตก
(หมายเหตุ : อาจารย์นิธิ จบการบรรยายเพียงเท่านี้ ต่อจากนั้นได้เปิดให้มีการซักถามและแสดงความคิดเห็นกันทั่วไป ซึ่งข้อซักถามและการอภิปรายต่อไปนี้ ได้รับการคัดเลือกมาเฉพาะบางประเด็นเท่านั้น)
สมเกียรติ ตั้งนโม : หลังจากที่ฟังอาจารย์นิธิพูดแล้ว ผมไม่มีคำถามอะไรเพิ่มเติมอีก เพียงแต่ว่าอยากจะแลกเปลี่ยนกับพวกเราทุกๆคนเกี่ยวกับเรื่องของ"สัญลักษณ์" สำหรับสัญลักษณ์ที่อาจารย์พูดถึงนั้น เป็น conventional symbol หรือสัญลักษณ์ตามขนบประเพณี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เป็นทางการร่วมกัน ซึ่งศิลปินสมัยใหม่ใช้สิ่งเหล่านี้น้อยมาก. ถ้าจะอนุโลมพูดในภาษาที่ผมถนัด อยากจะเรียกสัญลักษณ์ที่อาจารย์พูดถึงว่าเป็น"สุญลักษณ์ทางวัฒนธรรม" หรือ cutural symbol เช่น พระพุทธรูปทำพระหัตถ์เป็นรูปกงล้อธรรมจักร หมายถึงปางค์ปฐมเทศนา หรือที่ฐานพุทธบัลลังค์ มีรูปกวางหมอบอยู่ หมายถึง ป่าอิสปตนมฤคทายวัน ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่คนในวัฒนธรรมเดียวกันรู้จักและสื่อสารกันได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด สื่อสารได้ เพราะอยู่ในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน
ศิลปินเองนั้น เขาพยายามสื่อสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แล้วสัญลักษณ์ของเขาเป็น individual ที่มีเหตุผลด้วยในความคิดของพวกเขา. ผมขอยกตัวอย่างว่า สัญลักษณ์ที่ศิลปินนำมาใช้ ซึ่งมีลักษณะเป็น individual อันนี้ผมอยากจะอนุโลมเรียกว่า personal symbol ไปก่อน. ไม่ใช่อย่างเดียวกับ cultural symbol. สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ โดยถูกครอบงำจากความคิด creative เช่นกัน นั่นคือ symbol ที่นำมาใช้ต้องใหม่ด้วย ต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่. ไม่ใช่เป็นแบบ cultural symbol ซึ่งมีใช้กันในวัฒนธรรมอยู่แล้ว. ฉะนั้น เมื่อมันใหม่และสร้างสรรค์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน มันจึงสื่อสารกับใครแทบไม่ได้เลย มันจึงกลายเป็น blind symbol หรือ "สัญลักษณ์บอด" ที่ไม่สามารถสื่อให้ใครเข้าใจได้.
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องไม่นานมานี้คือ เชอร์ชิลล์ ที่ชูสองนิ้วขึ้นมาเป็นรูปตัว V หมายถึง victory หรือชัยชนะ,เป็น personal symbol มาก่อน เมื่อผู้คนยอมรับ ก็กลายมาเป็น cultural symbol. แต่เมืองไทยหมายถึง ลิโพวิตันดี. ผมคิดว่า"ศิลปะสมัยใหม่"อาจจะทำหน้าที่แบบนั้น ก็คือ เสนอสัญลักษณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งคิดขึ้นมาชนิดใหม่ เพื่อให้สังคมรับรู้แล้วก็สื่อได้ แต่ว่ามันไม่ได้พ้นกรอบที่ ท่านอาจารย์นิธิ พูดคือ แม้แต่สัญลักษณ์ที่อยากจะสื่อ ก็ยังถูกความคิดแบบสร้างสรรค์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ครอบงำเอาไว้ด้วย
ที่ผมอยากจะพูดต่อก็คือว่า นี่ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งไม่ใช่หรือ ? ผมขอยกตัวอย่างเช่น ความฝันของแต่ละคน มันเป็น individual. ถ้าเราวิเคราะห์ตามหลักจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์เดี่ยน เราจะพบว่า ในแง่หนึ่งนั้น ทุกคนฝันอันเนื่องมาจากความรู้สึกเก็บกดทางเพศ. ทุกคืนที่เราฝันนั้น เป็นช่วงที่เราหลับตื้น เราไม่ได้หลับลึก ซึ่งขั้นตอนนั้นภาษาเทคนิคเรียกว่า rem หรือ rapid eyes movement. ในเมื่อเราหลับตื้น, super-ego จึงได้เข้ามาแทรกแซงในระหว่างที่เรานอนหลับฝัน ทำให้เราไม่สามารถฝันเปลือยได้ ดังที่เรามีอารมณ์เก็บกดทางเพศ.
ดังนั้น เราจึงต้องฝันผ่านสัญลักษณ์. เช่น ผู้หญิงฝันเห็นงู หมายถึงองคชาติของผู้ชาย. ถ้าผู้ชายฝันเห็นงู ส่วนใหญ่แล้วจะกระทืบ หรือตีมันให้ตาย เพราะว่าไปฝันเอาองคชาติของตัวเอง ไม่เป็นประโยชน์. ผู้หญิงจะฝันเห็นงู. และมีผู้หญิงหลายคนไม่ได้ฝันเห็นงู แต่ก็สามารถตีความได้ว่า เป็นองคชาติของผู้ชาย เช่น ไม้ตีกลอง ปืน... หรืออนุสาวรีย์. ผมคิดว่าความฝันเหล่านี้ มันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งแต่ละคนฝันไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะมีมูลเหตุจากเรื่องเพศเช่นเดียวกันก็ตาม แต่ฝันออกมาผ่านสัญลักษณ์. ที่เป็นเช่นนี้เพราะ บรรทัดฐานคุณงามความดีที่ได้รับการปลูกฝัง หรือ super-ego มันเข้าไปรบกวนในขณะที่เราหลับตื้น ทำให้เราไม่สามารถฝันเปลือย ฝันโป๊ หรือฝันแบบล่อนจ้อนได้บ่อยครั้งนัก. ผมไม่ทราบว่าที่พูดมาถึงตรงนี้ เราโยงเรื่องสัญลักษณ์ปัจเจกในงานศิลปะกับความฝันที่เป็นธรรมชาติกันได้หรือเปล่า...
จริงๆแล้ว สัญลักษณ์ประเภทนี้ มันได้ถูกนำมาเขียนในงาน sur-realism ด้วย แล้วหลายคนไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เขียนออกมาเป็นสัญลักษณ์มันแปลหรือมีความหมายถึงอะไร ? เช่น Magritte (มา-เกรท) จิตรกรชาวเบลเยี่ยมในแนวเหนือจริง จะเขียนภาพที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหลากหลาย เช่น ช่องหน้าต่าง นก ลูกกระพรวน หรือลูกโบว์ลิ่ง ใบไม้ เป็นต้น ซึ่งไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าสัญลักษณ์ต่างๆเหล่านี้หมายความว่าอะไร. แต่ผมคิดว่า คนที่จะเข้าใจงานเหล่านี้ได้ คงมีแต่ฟรอยด์คนเดียว หรือบรรดาสานุศิษย์ เพราะมีตำรา The Interpretation of Dream เป็นหนังสือไขปริศนาความฝัน เพื่อตีความความฝันทุกชนิดที่คนไข้มาปรึกษากับเขา
ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่เท่าใดนักก็คือ เรื่องความฝันที่เป็นสัญลักษณ์ เกี่ยวกับ "หมาป่าสีขาวที่มาจูบแก้มคนไข้สาว". คนไข้สาวคนนี้ได้มาปรึกษากับฟรอยด์ถึงความฝันดังกล่าว...
เรื่องมีอยู่ว่า คนไข้สาวคนหนึ่งได้ฝันถึงหมาป่าสีขาวตัวหนึ่งได้ด้อมๆเข้ามาจูบแก้มของตน ฟรอยด์วิเคราะห์ว่า ความฝันแบบนี้เป็นเรื่องของ Oedipus Complex เพราะว่าหมาป่าสีขาวนั้นหมายถึงพ่อของคุณ คุณอยากมีเพศสัมพันธ์กับพ่อของคุณ. ทำไมหมาป่าจึงถูกตีความว่าเป็นพ่อล่ะ ? อย่าลืมนะครับว่า ในประเทศเขตอบอุ่น ชุดชั้นในในสมัยนั้น เป็นชุดสีขาวแนบเนื้อทั้งตัว เมื่อไรก็ตามที่คุณคลานสี่ขา มันก็เหมือนหมาป่าสีขาว. อันนี้เป็นการแทรกแซงของ super-ego คือแทนที่คุณจะฝันว่าคุณมีเพศสัมพันธ์กับพ่อแบบเปลือยเช่นนั้น คุณกลับต้องฝันผ่านสัญลักษณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้ ดังนั้น คุณจึงฝันออกมาในรูปของหมาป่าสีขาวแทนที่มาดมแก้มคุณ
จริงๆที่พูดมาทั้งหมดก็คือ สัญลักษณ์ ที่อาจารย์นิธิเสนอไปแล้ว มันถูกครอบงำโดยความคิดแบบ creation คือการคิดสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มันจึงลี้ลับ มันจึงสื่อไม่ได้. อันที่สอง สัญลักษณ์ที่มันเกิดขึ้นมาเป็น individual หรือเป็น personal โดยธรรมชาติของความฝัน มันมีอยู่ แต่มันยังไม่ถูกทำความเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง.
นักศึกษา : อยากถามว่า คำว่า"สัญลักษณ์"นั้น ใครเป็นคนสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมา แล้วก็ใครเป็นคนยอมรับ และสัญลักษณ์อันนี้ใครก็ทำขึ้นมาได้ ใช่หรือเปล่าครับ ?
นิธิ : คือ เดี๋ยวอาจารย์สมเกียรติ คงจะตอบปัญหานี้แบบของอาจารย์สมเกียรติอีกทางหนึ่งนะครับ. แต่ถ้าตอบแบบผม คำตอบคือ"สังคมสร้างขึ้น". ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการถามว่าใคร ? ในฐานะปัจเจกบุคคลว่า นาย ก. ใช่ไหม, นาย ข. ใช่ไหม...? ซึ่งผมคิดว่าคำถามประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ? แต่เราควรจะดูว่า มันถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ? แล้วมันสืบทอดมาจากสัญลักษณ์อื่นอย่างไร ? เป็นต้น.
เช่น กวางหมอบที่อาจารย์สมเกียรติพูดเมื่อสักครู่นี้ ให้แทนป่าอิสปตนฯ ใครเป็นคนสร้างขึ้นก็ไม่รู้. แต่กวางถูกใช้แทนธรรมชาติในประติมากรรมอินเดียมาเก่าแก่มาก แล้วความหมายของมันถูกลดลงมาให้เหลือ ป่าอิสบตนฯ ที่พระเจ้าแผ่นดินเขาพระราชทานให้กวางมันมีชีวิตอยู่โดยไม่มีใครฆ่ามัน ในช่วงไหน อย่างไร ? ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง. แต่จะเห็นได้ว่า มันไม่ได้ลอยมาเฉยๆ มันจะเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ของธรรมชาติ. เพราะฉะนั้น ตัวกวางจึงแทนทั้งสองอย่าง คือ แทนทั้งตัวป่าอิสปตมฤคทายวัน และแทนทั้งธรรมมะ ความเป็นจริงในธรรมชาติ. เพราะฉะนั้น ถามว่า นาย ก. นาย ข. ใช่ไหม ? ผมไม่ทราบ แล้วก็ยากมากที่จะให้มีใครบอกว่า นาย ก. นาย ข. ผมคิดว่ามันค่อยๆสะสมกันมา ค่อยๆ form ตัวเองขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ
อุทิศ อติมานะ : ผมอยากจะถามคำถามอาจารย์ 2 คำถามครับ. คำถามแรกก็คือว่า สิ่งที่อาจารย์พูด อาจารย์กำลังพูดถึงกรอบคิดการสร้างสรรค์ให้เราคิดว่า กรอบคิดในการสร้างสรรค์ อย่างน้อยมีกรอบคิดอยู่ 2 ประเภท คือ แบบดั้งเดิม แบบที่สังคมเป็นผู้ผลักดัน ไม่เป็นตัวบุคคล. กับอีกกรอบคิดหนึ่งคือ เน้นตัวบุคคลมากไป.
ผมจะถามคำถามแรกก็คือว่า แบบที่อาจารย์อธิบายมานี่ มันเหมือนหรือต่างยังไงกับ ยกตัวอย่างเช่น ฮิตเลอร์ ช่วงที่ฮิตเลอร์มีอำนาจขึ้นมา แล้วพยายามที่จะทำศิลปะแบบฟาสซิสท์ แล้วปฏิเสธเรื่อง individual. หมายความว่า ศิลปะมันควรจะรับใช้อุดมการณ์ทางการเมือง คือผมอยากจะถามคำถามว่า มันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับยุคฮิตเลอร์
และคำถามที่สองก็คือว่า สิ่งที่อาจารย์อธิบาย อาจารย์ทำให้เห็นความแตกต่างในโลกของวิชาการหรือโลกของภาษาเท่านั้น แต่ในภาคปฏิบัติจริงๆ ศิลปินตะวันตก ตะวันออก หรือไทย ก็เหมือนๆกัน. ผมชวนคิดครับ...เหมือนๆกันในแง่ที่ว่า ศิลปินทุกยุคทุกสมัย ทุกๆ space and time เราก็มีหน้าที่อย่างเดียวก็คือว่า เรามองไปที่อดีต
สมมุติว่าผมเป็นคนลาว ช่วงนั้นมีพระพุทธรปสุโขทัยเกิดขึ้นมาแล้ว ผมเป็นคนลาว ผมก็อยากจะเห็นความแตกต่าง. ผมอาจจะเอาพระพุทธรูปสุโขทัยมาปรับเป็นลาว เพียงแค่ยักย้ายนิดหน่อย. ในขณะที่ฝรั่งเขาก็ทำ ผมยกตัวอย่างนะครับ อย่าง พอเกิด Duchamp ก็เกิด Joseph Beuys. Beuys อาจจะเห็นว่า Duchamp เขาทำงานแนวนี้ ยังไม่พอ ต้องมาเป็น social sculpture. ผมมองว่า จริงๆแล้วตัวปรากฏการณ์ในสังคม มนุษย์ก็เหมือนๆกัน คือ ทุกยุคทุกสมัย มนุษย์พยายามที่จะพัฒนา แก้ปัญหา สิ่งที่มันมีเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอยู่แล้วให้มันดีขึ้น
ผมคิดถึงนักปรัชญาคนหนึ่งซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาอธิบายเรื่องศิลปะแอฟริกา ซึ่งเขาทำหน้ากาก. เช่นว่า หมู่บ้านนี้ทำหน้ากาก ทำไมต้องแยกเขี้ยว อีกหมู่บ้านหนึ่งทำไมไม่แยก. เขาก็อธิบายง่ายๆก็คือว่า เมื่อหมู่บ้านนั้นทำแบบนี้ ฉันก็ต้องไม่เหมือน. คือผมพยายามบอกว่า ตรงนี้มันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์หรือเปล่า ที่ว่าเราพยายามจะหาความแตกต่าง.
ในศาสตร์ศิลปะ ตรงนี้เป็นหัวใจ คือ หาความแตกต่าง. แต่ปัญหาทางวิชาการก็คือว่า เมื่อก่อนเวลาเราจะอธิบายอะไร เราจะเน้นที่ มันเป็นกระบวนการของสังคม. พอมาถึงยุคโมเดิร์น ประเพณีการอธิบายทางประวัติศาสตร์มันเปลี่ยนไป ก็คือว่า เขาพยายามจะหาตัวละครชัดๆว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาจาก นาย ก., นาย ข. ทั้งๆที่ นาย ก. ก็เป็นผลิตผลของสังคม ไม่มีใครเป็น creator. เหมือนกับผมทุกวันนี้ที่คิดอะไรอยู่นี้ ไม่ได้มีอยู่จริง ก็รับนั่นรับนี่มา แล้วก็เอามาสรุป. จริงๆเราก็เป็นชุมนุมของความคิดของสังคม เราคือผลิตผลของสังคม
ผมกำลังชวนคิดข้อสองก็คือว่า จริงๆแล้ว ปัญหาของมันก็คือ ปัญหาทางเทคนิคหรือเปล่าว่า คำอธิบาย...อาจารย์ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ตอนนี้นักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการเริ่มมีปัญหาก็คือว่า เขาอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางศิลปะโดยเน้นตัวบุคคล เป็นความผิดพลาดทางเทคนิคในการเขียนประวัติศาสตร์ แต่ตัวปรากฎการณ์ที่เป็นจริงของสังคม มนุษย์ก็เป็นแบบนี้ มนุษย์ก็พยายามที่จะแอนตี้ของเก่าไปเรื่อยๆ... ผมจึงมองศิลปะสมัยใหม่ ทุกคนก็อาศัยฐานของสังคม
อย่างผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หรือคนที่ประสบความสำเร็จในประวัติาสตร์ทุกคน ทุกคนต้องรู้นะว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ? เพื่อที่เขาจะได้เดินต่อไป
นิธิ : คืออย่างนี้ ผมจำไม่ได้ว่าคำถามที่หนึ่งเป็นอย่างไร เอาข้อที่เพิ่งพูดจบนี้ก่อนแล้วกัน. คือถามว่าเป็นความแตกต่างในเรื่องเทคนิคการอธิบายไหม ? แทนที่จะอธิบายสังคม ไปอธิบายตัวบุคคลแทน. โอเค! มันอาจจะเป็นความผิดพลาด คือใช้ภาษาอาจารย์ว่า เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค. แต่อย่าคิดว่า ความผิดพลาดทางเทคนิคมีผลแต่เฉพาะเทคนิค. อันนี้ไม่ใช่. ความผิดพลาดทางเทคนิคที่อาจารย์เรียก มันไปมีผลกำกับวิธีคิดของคนเลย
ผมขอยกตัวอย่างที่ผมถนัดที่สุดคือ ประวัติศาสตร์. พออาจารย์เริ่มวิเคราะห์อดีตว่า หมอนั่นทำอย่างนี้ หมอนั่นทำอย่างนั้น ยายโน่นทำอย่างโน้น หรืออะไรก็แล้วแต่. อาจารย์มองไม่เห็นคนอื่นอีกเลย อาจารย์ไปเข้าใจผิดว่า นาย ก., นาย ข. ทำอย่างนั้น, กู้ชาติบ้าง ป้องกันประเทศตนเองให้พ้นจากคนอื่น คนเลวทำให้กรุงแตก อะไรก็แล้วแต่ แล้วทำให้มองไม่เห็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่เป็น non-human ทั้งหลาย ซึ่งสำคัญและกำกับชีวิตคนเรา อย่างที่อาจารย์พูดเอง มากเสียยิ่งกว่าตัวบุคคลอีก. เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดในเทคนิคมันก่อให้เกิดความตื้นเขินในเนื้อหาว่ะ.
เพราะฉะนั้น ถ้าประวัติศาสตร์ศิลปะยังอธิบายตัวบุคคลๆอย่างนี้ เนื้อหามันคงตื้นเขินมากเลยทีเดียว. แต่ที่ผมสงสัย โดยที่ผมไม่รู้ประวัติศาสตร์ศิลปะจริง... สงสัยว่า ไม่ใช่ความผิดพลาดทางเทคนิค แต่เป็นความผิดพลาดของวิธีคิดแบบฝรั่งในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา ที่ไปเน้นเรื่อง individual ก็เลยไปสะท้อนออกในงานประวัติศาสตร์ศิลปะของฝรั่ง. คือ เอาชื่อคนมาแทน พ.ศ. ว่าอย่างนั้นดีกว่า คือเรียงคนตาม พ.ศ. แล้วก็มีรูปถ่าย แล้วยกย่องกัน ไล่กันไปเรื่อยๆ. ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่. ก็ยิ่งทำให้คนอ่านและศึกษาสิ่งเหล่านี้ยิ่งไปคิดว่า เฮ้ย! นี่มันเป็น creation เป็น individual เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง
คามิน เลิศชัยประเสริฐ : จริงๆแล้ว ผมคิดว่าเขาก็มีการอธิบายควบคู่ไปกับเรื่องประวัติศาสตร์ อย่างเช่น Pop Art เกิดขึ้นมาในยุคนั้น ประวัติมันเป็นยังไง ? หรือ Dada เกิดขึ้นมาในยุคนั้น ช่วงหลังสงครามโลก มันเป็นอย่างไร ? ได้อิทธิพลอย่างไร ผมว่ามันก็มีอยู่, มันไม่น่าเบื่ออย่างที่อาจารย์คิด...
นิธิ : ไม่ใช่ๆ ผมพูดให้มันน่าเบื่อไปเอง, คือผมเข้าใจว่าเขาเอาเรื่องประวัติศาสตร์มา... ถ้าอาจารย์พูดถึง trend ของยุคสมัยหนึ่ง ของสังคมหนึ่งว่ามันมี trend แบบนี้. เราจะสามารถยกตัวอย่าง, ถ้าอาจารย์สนใจ trend ความคิดเกี่ยวกับงานศิลปะของยุคนั้นสมัยนั้น อาจารย์สามารถยกงานหลากหลายมากเลยมาชี้ให้เห็น แทนที่จะเกาะที่ตัวคน มาเกาะที่ยุคสมัย. แล้วคนที่อาจารย์พูดถึง อาจจะเป็นศิลปนซึ่งในทัศนะของอาจารย์จะบอกว่า ห่วยมากเลย, แต่ห่วยนั้น เผอิญมันสะท้อนยุคสมัยได้ดีกว่าศิลปินที่ดีๆ ก็ได้ เป็นต้น
นักศึกษา : ก่อนมาผมก็สงสัยก่อนแล้ว อยากเรียนถามอาจารย์ว่า การสร้างศิลปะในเอเชีย ในการที่กำหนดว่า ศิลปไทย ศิลปขอม หรือศิลปะอะไรต่างๆ. อย่างลายไทย ทำไมคนถึงเรียกว่าลายไทย มันเป็นการรับมรดกมาจากอินเดีย แล้วมาเรียกว่า "ลายไทย". มันเกิดอะไรขึ้นตรงนี้ อาจารย์คิดว่าเขาแบ่งกันอย่างไรครับ ?
นิธิ : มันเกิดขึ้นมาในช่วงราวรัชกาลที่ 5 เมื่อตอนที่คุณสร้างสำนึกเกี่ยวกับเรื่องชาติขึ้นมา แล้วก็อ้างว่าไอ้นั่นเป็นไทย ไอ้โน่นเป็นไทย แต่ความจริงสมัยก่อนหน้านั้นไม่มี.
คามิน : ทำไมมันถึงมีการเรียกร้องเรื่องความเป็นไทยในสมัยรัชกาลที่ 5.
นิธิ : เราไปพบว่ามีสำนึกเรื่องชาติในโลกนี้กว้างขวางมาก แล้วเรารู้สึกว่าเราต้องสร้างสิ่งนี้ อย่างน้อยที่สุดก็คือ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ก็คือว่า ทำให้คน... ที่จริงผมใช้คำว่าชาติก็ผิดนะครับ แต่ใช้มันแบบผิดๆไปก่อน, ทำให้คนในสมัยนั้น รู้สึกว่าตัวเองเป็นข้าแผ่นดินร่วมกัน. ในขณะที่ก่อนหน้านั้น เราไม่รู้สึกว่าเป็นข้าแผ่นดินร่วมกัน. คนเชียงใหม่ คนอีสาน คนภาคกลาง ไม่ได้รู้สึกเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ก็มาสร้างให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน เพื่อหวังว่าจะใช้เป็นพลังในการต่อสู้กับคนอื่นๆเขาได้
อุทิศ : คือ อาจารย์พูดเรื่อง Eurocentric แล้วอาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งอาจารย์ไม่เห็นด้วยที่จะเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องเส้น แล้วจับมาเทียบกันหรือแข่งกัน แต่ละวัฒนธรรมมาแข่งกันว่าใครสูงใครต่ำอะไรอย่างนี้. แต่ผมมีความขัดแย้งในใจ...
อย่างผมดูสารคดีจากรายการ Discovery ซึ่งเป็นเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ เทคโนโลยี. ผมรู้สึกว่า ถ้าเป็นเรื่อง เทคโนโลยี มันเป็นเรื่องที่ชัดเจน. มันเป็นเรื่องการประดิษฐ์คิดค้นทางวัตถุ. เริ่มตั้งแต่รถยนต์ ผมยกตัวอย่าง เรื่องรถยนต์ ทุกๆที่ก็มี. พอฝรั่งประดิษฐ์เรื่องนี้ ทุกๆที่ก็มี. คือถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยี ผมค่อนข้างยอมรับว่า มันค่อนข้างเป็นเส้นตรง และเป็นสากล.
แล้วคำว่า Eurocentric ถ้าวิเคราะห์ด้วย ประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ผมรู้สึกว่าถูกต้อง. แต่ถ้าเป็นเรื่องวัฒนธรรม ผมกลับเห็นด้วยกับอาจารย์
นิธิ : คืออย่างนี้อาจารย์ คำว่า "เทคโนโลยี" ที่อาจารย์ใช้, อาจารย์ใช้มันในความหมายเดียวกับฝรั่งเลย. คือ"เทคโนโลยี" จริงๆมันแปลว่า "เทคนิควิธีที่คุณจะบรรลุวัตถุประสงค์ของคุณได้". ถ้าผมใช้น้ำมันพรายดีดใส่ผู้หญิง แล้วผู้หญิงมารักผมจริง อย่างที่ผมต้องการ น้ำมันพรายก็เป็นเทคโนโลยีอันหนึ่ง ถูกไหม ?
แต่คำว่า"เทคโนโลยี"ที่อาจารย์ใช้ ใช้แบบฝรั่งสมัยหลัง คือจะนิยามว่า"เทคโนโลยี"คือ "วิธีการที่วางอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ" ถ้าวิธีการที่ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ไม่เรียกมันว่า"เทคโนโลยี". ก็เลยทำให้คุณไปดูถูกปัญญาญานของคนจำนวนแยะมาก ผมขอยกตัวอย่างเรื่องที่ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วอันหนึ่ง ตัวอย่างเรื่องเกี่ยวกับ "การแห่นางแมว"
เมื่อฝนเกิดแล้งขึ้นมาในท้องที่ใด คุณคิดว่าอะไรสำคัญที่สุด ? ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์จะตื้นมาก คือ "น้ำสำคัญที่สุด". แล้วจะเอาน้ำมาจากที่ไหน ? เครื่องบินฝนหลวงก็ไม่มี จะเอาน้ำมาจากที่ไหน ? ถ้ามาเอาเรื่องน้ำก็ตายกันหมด ไม่เหลือสักคน ถูกไหมครับ ? เมื่อเกิดภัยแล้งอย่างหนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "ความร่วมมือร่วมใจกัน อย่าทิ้งกัน" นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด. เพราะฉะนั้น แห่นางแมว จุดประสงค์ไม่ใช่ต้องการฝน แต่ต้องการความร่วมใจ.
ถ้าคุณไปวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการแห่นางแมว มันจะทำลายลำดับขั้นทางสังคมหมด. เช่นเป็นต้นว่า ถ้าเป็นภาคกลาง มันจะมีปลัดขิกอันใหญ่ๆเลย ทาสีแดงที่หัว แล้วก็เอาปลัดขิกนี่แห่กันไป คือค่อนข้างหยาบคาย แล้วก็เอาไปกระทุ้งบ้านคน ให้ออกมาร่วมแห่กับเรา รวมทั้งกระทุ้งกุฏิพระด้วย. เพราะถ้าคุณเข้าใจในชีวิตปกติ พระคือคนที่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าคุณใช่ไหม ? คุณต้องไหว้ท่าน เอาข้าวไปให้ทันฉัน ท่านเอ็ดหน่อย จะเถียงกับท่านก็ไม่ได้. แต่ถึงยามวิกฤต เราต้องเท่ากัน อย่างน้อยเท่ากันในเชิงพิธีกรรมก็ยังดี. เข้าใจไหมครับ ?
ถามว่าอันนี้เป็นเทคโนโลยีไหม ? เป็น เทคโนโลยี ที่เผชิญภัยแล้งที่ดีทีสุด ซึ่งคนสมัยหนึ่งจะสามารถคิดขึ้นมาได้. ผมถึงบอกว่า ถ้าอาจารย์นิยาม"เทคโนโลยี"แบบฝรั่ง อาจารย์ก็ต้องคิดแบบฝรั่ง. ก็แน่นอน อะไรที่ไม่มีฐานทางวิทยาศาสตร์ถูกตัดทิ้งหมด. พอมีฐานทางวิทยาศาสตร์ อาจารย์ก็เริ่มเรียงลำดับได้มาเป็นขั้นๆหมด.
คามิน : พออาจารย์เริ่มอธิบายอย่างนี้ ผมก็เริ่มมีหวังว่าศิลปะของเราจะเทียบเท่า เพราะว่าเราเริ่มมีความเชื่อมั่นกันมากขึ้นหรือยัง เพราะว่ามันเริ่มที่จะมีเส้นเฉพาะ ไม่ได้อยู่ในสูตรสำเร็จที่จะต้องขึ้นอยู่กับหนังสือเรื่อง The Art at the turning point of Millennium อย่างที่เราเคยถกกัน. เราเริ่มที่จะสร้างระบบคิดของเราได้ไหม ? อันนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ.
แต่ผมคิดว่า การตีความเส้นแบ่งตรงนั้น มันมีอยู่ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์อุทิศพูดว่า สังคมปัจจุบันมันโดนยริดรอนเสรีภาพหรือความเชื่อมั่น ในการตัดสินใจ หรือประดิษฐกรอบคิดใหม่ๆ. ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นหัวใจของการสร้างรรค์... อาจารย์อุทิศ ช่วยอธิบายต่อได้ไหม ?
อุทิศ : คือ ผมฟังอาจารย์ประมวลพูดคราวหนึ่งแล้วเกิดความประทับใจในเรื่องการยกตัวอย่าง"ขอทาน". อาจารย์ประมวลบบอกว่า ฝรั่งเห็นขอทานเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่ล้มเหลว แต่ถ้าเป็นคนอินเดีย มันเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่รุ่มรวย เพราะว่า ถ้า"มีขอทาน"แสดงว่า"มีคนให้" คือปรากฏการณ์อันเดียวกัน แต่กรอบคิดคนละกรอบ แล้วเขาก็รู้สึกเชื่อมั่น แล้วก็ยืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่ากัน
จากคำพูดตรงนี้ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของอาจารย์ชัยอนันต์ ที่เคยบอกว่า ในยุคปัจจุบัน คนไทยเราสูญเสียความเชื่อมั่นที่จะประดิษฐ์กรอบคิด อย่างเช่น ถ้าฝรั่งคิดเอง เรากล้าคิดต่อเพราะเราไม่ผิด. ในยุคปัจจุบัน คนไทยจะสูญเสียความเชื่อมั่น เห็นฝรั่งเป็น god, ถ้าฝรั่งคิดไปมุม A คำตอบก็ต้อง A.
นิธิ : คือเสียดายอาจารย์ ชัชวาล ไม่ได้มา. ผมคิดว่าไม่ใช่เราไปเชื่อฝรั่งอย่างเดียว การไปเชื่อฝรั่ง มันเป็นปรากฏการณ์ผิวๆ. ผมว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ"วิทยาศาสตร์". พลานุภาพของวิทยาศาสตร์มันกำหนดให้มีกรอบคิดอยู่เพียงกรอบเดียวต่างหาก. ผมว่าอันนี้น่ากลัว. เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะกบฎ ไม่ใช่กบฎต่อฝรั่ง แต่เป็นการกบฎต่อวิทยาศาสตร์. แล้วถ้าอาจารย์ชัชวาลมา จะพูดได้ดีมากเลย และจะชี้ให้เห็นถึงว่า กรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดในตัวมันเองอย่างไรบ้าง ? ในกรอบคิดวิทยาศาสตร์มันมีข้อบกพร่องแยะขนาดไหน ?
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com