จงดูร่างกายที่สวยงามนี้เถิด
เต็มไปด้วยแผล สร้างขึ้นด้วยกระดูก
เต็มไปด้วยโรคมาก
ด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
หาความยั่งยืนถาวรได้ไม่
ถึงจะแต่งกายแบบใดก็ตาม
ถ้าใจสงบระงับ ควบคุมตัวได้
มั่นคง บริสุทธิ์
ไม่เบียดเบียนคนอื่น
จะเรียกเขาว่า พราหมณ์ สมณะ
หรือภิกษุ ก็ได้
ขอเชิญนักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
พบกับบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหัวข้อ"ธรรมบท"
ซึ่งถอดเทปมาจากห้องเรียนมาหวิทยาลัยเที่ยงคืน
ดังความต่อไปนี้
(ความยาว 30 หน้ากระดาษ A4)
สวัสดีครับ ก่อนอื่นขอชี้แจงนิดหนึ่งเพราะว่า มีหลายคนที่มาใหม่ แล้วก็บรรยากาศของมหาลัยเที่ยงคืนอาจจะไม่คุ้นเคยนัก การพูดคุยในหัวข้อนี้ไม่ใช่เป็นการมาตอบคำถามหรือไม่ใช่ว่ามีคนหนึ่งรู้แล้วมาบอกคนที่ไม่รู้ ทุกคนมีความรู้ แต่อาจจะไม่เหมือนกันไม่ตรงกัน เราจึงจัดเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนความรู้กันนี้ ผมก็ได้เพิ่ม คุณก็ได้เพิ่ม เพราะสิ่งที่ผมรู้อยู่ก็รู้เหมือนเดิมแล้วก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นในเวทีนี้จึงไม่มีลักษณะที่ว่ามาถามเอาความรู้จากผู้อื่น เรามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งอาจารย์สมเกียรติเคยพูดอยู่เสมอว่า ถ้าเราแลกสิ่งของกัน เราให้สิ่งหนึ่งไป เท่ากับเราสูญเสียสิ่งหนึ่งไปแล้วได้สิ่งใหม่มา. แต่ในการแลกความรู้นั้นสิ่งที่เรามีอยู่ก็มีเท่าเดิม แต่สิ่งที่ได้มาใหม่นั้นเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้นในเวทีนี้ทุกคนเป็นผู้รู้หมดนะครับ อาจจะรู้ไม่ตรงกันหรือไม่เหมือนกัน การแลกเปลี่ยนคือมาแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดความเห็นหรือที่สิ่งผมเรียกว่าประสบการณ์ชีวิต โดยใช้ธรรมบทเป็นสื่อกลางในการที่จะพบปะและแลกเปลี่ยนกัน
ประเด็นที่สองคือเราให้อิสระในการพูดคุย... ที่สำคัญเรามีเอกสารคือตัวข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์ที่เป็นธรรมบทอยู่ในมือทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตั้งประเด็นขึ้นมาอะไรก็ได้ โดยอ้างถึงพระธรรมบท หมวดใดหมวดหนึ่ง แล้วก็ยกขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องไปกังวลว่าเรายกบทนี้ขึ้นมา เพื่อนอาจจะไม่เห็นด้วยหรือเพื่อนอาจจะไม่ชอบ ขอให้เราคนเดียวชอบแล้วก็ยกขึ้นมาเถอะครับ แล้วเราก็มาช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งเรามีต่อพระธรรมบทตรงนั้น
อันที่สองเนื่องจากการคุยเราไม่ตีกรอบโดยหัวข้อพระธรรมบทไม่ใช่เป็นชื่อของหัวข้อที่ชัดเจนนัก เป็นชื่อของคัมภีร์ แต่เรามีคำขยายนิดหนึ่งนะครับว่าเป็นวิถีแห่งความดีงาม ผมใช้คำนี้ด้วยความมุ่งหวังว่าน่าจะเป็นเป้าหมายของพวกเราทุกคน ที่มาร่วมสนทนากันในวันนี้หรือในวันถัดไป ว่าสิ่งหนึ่งที่เราศึกษาหรือสิ่งหนึ่งที่มาพูดคุยก็คือ มาเพื่อแสวงหาสิ่งดีงาม หรือจะเรียกว่าชีวิตที่ดีงามให้กับตัวเราเอง เพราะฉะนั้นการแสวงหาจึงเป็นการแสวงโดยเราทุก ๆ คนซึ่งพบมาบ้างแล้วเห็นมาบ้างแล้ว ตัวเป้าหมายของเราก็คือ เราต้องการที่จะให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นในความคิดในความรู้สึกและในวิถีชีวิตของเราเอง
คำว่าดีงามที่ผมพูดถึงนี้ มีความหมายกว้าง ๆ เพียงแค่ว่าทำยังไงให้ชีวิตของเรามีพลังที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์ หรือเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เป็นประโยชน์ปัจจุบันประโยชน์อนาคต และประโยชน์สูงสุด ซึ่งคำเหล่านี้คงมีอยู่ในพระธรรมบทอยู่แล้ว ผมขอให้พวกเรามาตั้งเป้าประสงค์ตรงกันตรงนั้น เพื่อที่จะได้มาช่วยกันทำการสนทนาในครั้งนี้ให้น่าสนใจ นี่เป็นคำชี้แจงนะครับ
ในส่วนเวลาต่อไปนี้ 15 นาที ผมในฐานะผู้เปิดประเด็นคงไม่ต้องเล่าองค์ประกอบอื่น ๆ เพราะเอกสารที่ทำไว้ มีหัวข้อบอกข้อธรรมแต่ละบทอยู่แล้ว ผมจะลองทำตัวผมเองเป็นตัวอย่างโดยจะเลือกธรรมบทซักข้อหนึ่งขึ้นมา ผมขอใช้สิทธิ์เลือก 2 ข้อก็แล้วกัน ถ้าพวกเรามีเอกสารอยู่ในมือขอเปิดไปข้อที่ 44 ที่ผมเลือกข้อนี้ก็เลือกเพื่อจะเกริ่นนำ
ในข้อที่ 44 ของธรรมบทแปลว่า ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินกับยมโลก มนุษย์โลก และเทวโลก ใครจะเลือกสรรพระธรรมบทที่เราแสดงไว้ดีแล้วนี้ได้ เหมือนนายมาลาการ ผู้ฉลาดเลือกสรรดอกไม้มาร้อยพวงมาลัย นี่เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในพระธรรมบทข้อที่ 44. ผมใช้สิทธิ์ในฐานะเป็นผู้เริ่มเพิ่มอีกข้อหนึ่งนะครับ ข้อที่ 53 บอกว่า นายมาลาการเลือกสรรดอกไม้มากมายจากกองดอกไม้ มาร้อยเป็นพวงมาลัยฉันใด คนเราเมื่อเกิดมาแล้วในโลกนี้ก็ควรเลือกทำแต่คุณงามความดีไว้ให้มากฉันนั้น
ที่ผมใช้คำขยายธรรมบทว่า เป็นวิถีแห่งความดีงาม ก็เอามาจากบทนี้ที่มาของการใช้ชื่อ ทั้งสองบทนี้ผมเลือกด้วยความรู้สึกว่าผมชอบ ผมมีความรู้สึกผูกพันกับพระธรรมบท โดยประสบการณ์ส่วนตัวที่จะมาแลกเปลี่ยนกับพวกเราก็คือ ผมได้เคยบวชเรียนและเมื่อได้เข้ามาบวชนั้น หลักสูตรในการเรียนที่เขาบังคับให้ผมเรียนก็คือ การแปลพระธรรมบทเป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้นในสมัยที่ผมเรียนนั้น ได้อาศัยจารีตในการเรียนท่องบ่นพระธรรมบท สมัยที่เรียนผมจึงต้องท่องพระธรรมบทจากคาถาที่หนึ่งจนถึงคาถาที่สุดท้าย ตอนนั้นไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ และไม่ได้มีความมุ่งหวังว่าพระธรรมบทจะเป็นประโยชน์อะไรกับผมเลย
ผมท่องพระธรรมบทว่าที่ 1 ว่า มโนปุพงคมา ธรรมมา มโนเสฏธา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏเรน ภาสติวา ทโรติวา ท่องโดยถูกบังคับให้ท่อง แต่เมื่อผมท่องไปแล้วผมสอบได้ไปแล้ว ผมกลับรู้สึกเสียดายความจำของผม ที่ถูกนำมาใช้กับเรื่องนี้โดยที่ผมคิดว่ามันไม่จำเป็นเลย ทำไมผมต้องท่องจำสิ่งเหล่านี้โดยต้องใช้สมองมากมายมหาศาล เมื่อมันมีอยู่แล้วจะทิ้งไปก็เสียดาย เพราะมันมีอยู่ในใจผมแล้ว ผมก็เลยคิดว่าผมน่าจะใช้ธรรมบทที่มันมีอยู่ในความจำผมให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นต่อมาเมื่อผมเรียนธรรมบท แล้วไปเรียนวิชาอื่น ๆแล้ว แต่ธรรมบทที่มีอยู่ในความจำผมนี่ผมจะทบทวนเสมอเพราะ เมื่อเกิดสิ่งที่มันเป็นปัญหาชีวิต หรือเกิดอะไรที่ผมไม่สามารถไปหยิบหนังสือมาอ่านได้ แต่ผมมีพระธรรมบทอยู่ในใจทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยที่แปลได้ด้วยตัวเอง ผมกลับพบว่า สิ่งที่ผมเคยคิดว่าผมสูญเสียความทรงจำไปมากกับการท่องจำสิ่งที่ดูไร้สาระนั้น มันกลับมีสาระมากเกินกว่าที่ผมคิด เพราะความจำอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมายที่ไร้สาระกว่านี้ผมยังจำได้ ธรรมบทที่ผมจำนี้มันก็เลยยิ่งประเสริฐ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ผมจึงเกิดความรู้สึกว่าผมได้อะไรมากมายจากการที่ผมจำธรรมบทไว้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นผมก็ทบทวนธรรมบท และก็นึกถึงสิ่งที่เป็นความหมายตามความคิด ตามความเชื่อ และตามความเข้าใจของผม ดังกรณีที่ผมกำลังพูดถึงธรรมบทบทที่ 44 ที่เราพูดถึงนี้ว่า ใครจักรู้แจ้งถึงแผ่นดินนี้ แปลเป็นไทยว่าแผ่นดินแต่จริง ๆ แล้วในความหมายเขาหมายถึงตัวเรานะครับ ว่าใครจะรู้แจ้งตัวเอง ยมโลก มนุษย์โลก เทวโลก ใครจะเลือกสรรธรรมบทที่พระพุทธเจ้าแสดงไว ้เลือกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้เหมือนกับที่นายมาลาการคือช่างร้อยพวงมาลัยไปเลือกสรรเอาดอกไม้ซึ่งมีหลากสีหลายขนาดต่างกัน จากกองดอกไม้มาร้อยเป็นพวงมาลัยที่สวยงามได้...นั่นคือสิ่งที่ ผมว่าคำอุปมามันสวย.
ธรรมบทนี้ ถ้าใครเรียนทางด้านภาษาโบราณของอินเดียมาจะทราบว่าภาษาที่ปรากฏเป็นธรรมบทบทกวีนิพนธ์ที่ไพเราะมาก ๆ ไพเราะทั้งในแง่ของ ภาษาและความหมาย ผมมีตัวอย่างเพลงอินเดียที่เอาจากพุทธศาสนา ถ้าเราอยากฟังฟังด้วยก็ได้นะครับ เพลงอินเดียที่ไพเราะ ๆ ซึ่งผมมีประจำอยู่คือเพลงที่ว่าด้วยบทสวดพาหุง เพราะว่ามันจะเป็นบทเพลงแต่จริง ๆ คือบทสวดที่พระสวดแต่ชาวอินเดียเขาไม่ได้สวดเขาร้อง พอเขาร้องแล้วก็ร้องเป็นเพลงเหมือนกับเราร้องเพลงที่เราร้องอยู่ปัจจุบันมีดนตรีประกอบมีเสียงร้อง แล้วมันจะเกิดความหมาย เพราะฉะนั้นในกรณีของผมที่ผมพูดตรงนี้ผมว่าบทนี้เป็นบทที่ไพเราะ ไพเราะในความหมายที่สำคัญมาก
ผมขอต่อบทต่อไป เพราะจริงๆแล้ว มันอยู่ห่างกันระหว่าง 44 กับ 53 แต่มีความหมายสัมพันธ์กันก็คือ หมายความว่าเมื่อเราเกิดมาในโลกนี้แล้ว เราจำเป็นต้องเลือกเพราะเราไม่มีทางทำทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้นได้ ในเวลาเดียวกันเราต้องเลือกทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง แล้วการเลือกทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง มันจะกลายมาเป็นชีวิตของเรา มันเหมือนกับที่เรากำลังพูดว่าเราต้องเลือกเอาอะไรมาร้อยเรียงเป็นตัวเรา ปัญหาว่าเราจะมีความสามารถ ฉลาด หรือไม่...
คำว่าฉลาดในภาษาพระธรรมบทใช้คำว่ากุศล ซึ่งเราก็ใช้อยู่เสมอว่า -ไปทำบุญทำกุศล-เวลาเราไปวัดคือไปทำพิธีกรรมอะไรต่างๆ, จริงๆแล้วคำว่ากุศลคือความฉลาดที่จะเลือกสรรที่จะกระทำ เลือกสรรที่จะคิด เลือกสรรที่จะพูด การคิดพูดทำของคนแต่ละคน มันก็ร้อยเรียงมาเป็นชีวิตของเราที่ปรากฏให้คนอื่นสัมผัสได้ และความงดงามของชีวิตที่มันเกิดขึ้นนี่ ไม่ใช่คนอื่นเลือกให้เรา ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการที่คนอื่นทำให้เรา แต่เกิดขึ้นจากการที่เราเป็นคนเลือกเองเหมือนกับเป็นช่างดอกไม้ ช่างดอกไม้ที่เก่งๆ เขาสามารถที่จะเลือกดอกไม้ที่มันอยู่ในที่ต่างๆกันมีสีต่างกัน มีขนาดต่างกันมาร้อยเป็นพวงมาลัยที่งดงาม เราไปดูที่ตลาดต้นพยอมก็ได้นะครับ นั่นคือความสามารถของช่างดอกไม้ ซึ่งพระพุทธเจ้าเปรียบเทียบให้เราดูเป็นแบบอย่างแล้วเลือกพูด เลือกคิด เลือกทำให้มันเกิดเป็นชีวิตที่งดงาม เหมือนกับพวงมาลัยที่ร้อยเสร็จแล้วงดงามมีมูลค่ามีราคา
ผมอยากจะเสนอเปิดประเด็นว่า เราผู้มาพิจารณาธรรมบทกำลังมาเลือกสรร เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการที่จะร้อยชีวิตเรา ให้เป็นพวงมาลัยที่งดงามสำหรับพวกเราแต่ละคนทุกคนนะครับ ผมก็เสนอแค่นี้ครับ
อาจารย์นิธิ : ผมขอให้อาจารย์ประมวล ช่วยอธิบายเพิ่มหน่อยได้ไหมว่า ในพระธรรมบทนี่ให้แนวทางการเลือกบ้างไหม และแนวทางที่ว่านั้นคืออะไรที่ว่าจะต้องเลือก
อาจารย์ประมวล : ผมอยากจะเล่าความเป็นมานิดหนึ่ง เนื่องจากธรรมบทไปอยู่ในหมวดของขุททกนิกาย ซึ่งเป็นหมวดประเด็นปลีกย่อยที่เป็นส่วนหนึ่งของพระสูตร พระอรรถกกาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์ เรียบเรียงคัมภีร์นี้มาจัดเป็นหมวด เพื่อให้เราเลือกง่าย ถ้าจะถามว่าในพระธรรมบทเองมี แนวทางมีเป้าหมายอะไร ธรรมบทรวมเอาเรื่องทั้งหมด ในพระพุทธศาสนาที่เป็นพระพุทธวจนะในเชิงกวีมาอยู่ด้วยกัน มีทั้งเรื่องที่เป็นระดับธรรมดาง่าย ๆ เป็นเรื่องปกติจนถึงเรื่องสูง ๆ เพราะฉะนั้นในธรรมบทจึงมีเรื่องที่ว่าด้วยหมวด เช่นหมวดคู่เริ่มต้น ว่าด้วยคนพาล ว่าด้วยบัณฑิต ว่าด้วยพราหมณ์ ว่าด้วยภิกษุ ฯลฯ เพราะฉะนั้นในตัวธรรมบทจึงว่าด้วยวิถีแห่งการประพฤติปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับง่ายสุดจนถึงระดับสูงสุด
ถามว่าเราจะมีวิธีเลือกอย่างไร ผมใช้ประสบการณ์ผมนะครับ ผมจำพระธรรมบทไว้แล้วเวลามีอะไรเกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างเมื่อตะกี้นะครับว่า ผมได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา เมื่อมีคำถามว่า ผมก็จะบวชต่อไปดีไหมนี่ ผมตัดสินได้ว่าช่วงที่ผมสึกมันมีพระธรรมบทอยู่หมวดหนึ่งบอกว่า คนเราไม่ได้เป็นสมณะหรือเป็นพระภิกษุที่โกนหัวให้โล้นแล้วห่มผ้าสีเหลือง แต่อยู่ที่การสำรวมระวังกายวาจาใจของเรา ถ้าใครสามารถทำอย่างนี้ได้ ก็สามารถเป็นพระภิกษุ. ในขณะเดียวกันถ้าใครจิตใจไม่มั่นคงหวั่นไหววอกแวก แล้วมีวัตรปฏิบัติที่ไม่งดงาม แม้จะโกนหัวโล้นจะนุ่งผ้าสีเหลืองก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
ผมบอกว่าถ้าพระพุทธเจ้าบอกผมอย่างนี้ผมก็พร้อมจะสึกได้แล้วจิตใจผมมั่นคงพอแล้วที่จะไม่วอกแวก แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีหัวโล้น และไม่จำเป็นต้องมีผ้าห่มสีเหลือง ผมยกตัวอย่างอย่างนี้อันนี้คือวิธีเลือกของผม วิธีเลือกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ผมก็เลือกอย่างนี้แล้วพวกเราทุกคนที่มาอยู่ในที่นี้ เวลาเจออะไรแล้วเกิดความสงสัยว่าจะปรึกษาใคร เพราะว่าบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องไปที่วัดเพื่อเรียนถามพระ หรือไม่จำเป็นต้องไปพบครูบาอาจารย์ท่านใด ในพระธรรมบทนี้ เราลองอ่านๆดูแล้ว เราจะนึกออกว่าควรจะอ่านบทไหน และทบทวนบทไหน เพื่อให้เกิดคำตอบขึ้นในใจเรา นี่คือวิธีเลือกของผมนะครับอาจารย์ครับ
อาจารย์สมเกียรติ : ผมมีคำถามว่า ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องความรักในธรรมบท มองเรื่องความรักแบบหนุ่มสาวอย่างไรบ้าง แล้วขณะเดียวกัน ผมอยู่ในวัยทำงาน ธรรมบทแนะนำคนที่อยู่ในวัยทำงานนี้อย่างไร ?
อาจารย์ประมวล : ในธรรมบทจะมีส่วนที่ว่าด้วย ความรักอยู่หลายคำ คำที่ใกล้กับความรักในภาษาไทยที่ใกล้เคียงที่สุด ผมคิดว่าคำว่า ปิย เปมหรือเปรม แต่มันจะมีคำที่สูงขึ้นไปเช่นคำว่ากรุณา เมตตา เป็นความรักเหมือนกันที่เมื่อมาแปลเป็นไทยแล้ว ในพระธรรมบทจะมีหลายตอนที่มีการพูดถึงในลักษณะของการตำหนิความรัก ที่เป็นไปในลักษณะเชิงความกำหนัดเป็นราคะ แล้วก็จะมีหลายบทหลายตอนว่าด้วยวิธีที่จะประพฤติปฏิบัติให้คลายความกำหนัด เพราะฉะนั้นตัวความรักที่อาจารย์ถามนี้ ถ้ามีความหมายโยงใยไปสู่ความรักที่เจือปนไปด้วยอำนาจของราคะนี้ ในธรรมบทกล่าวในเชิงตำหนิเป็นเชิงที่ส่งเสริมให้มีการละ ส่งเสริมให้มีการลด แต่ถ้าความรักนี้หมายถึงความเมตตากรุณา ก็จะมีอีกหลายบทที่จะมีการกล่าวเพื่อให้เจริญให้เกิดขึ้น และก็ทำให้เกิดเป็นเมตตาขึ้น
เช่น ในหมวดที่ว่าด้วยเวร ว่าด้วยคู่ปรปักษ์จะมีเลยนะครับ ที่เป็นคำกล่าวเพื่อให้เห็นว่า สิ่งที่เราควรจะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจเราก็คือ การที่เราไม่เบียดเบียนไม่มีเวรไม่มีภัยต่อผู้อื่น ซึ่งมีหมวดเฉพาะว่าด้วยสิ่งเหล่านี้นะครับ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป หรือที่อาจารย์พูดถึงเรื่องการทำงานทำการ ก็จะมีหมวดเรื่องความรัก ถ้าเรายินดีจะคุยกันถึงเรื่องความรักแวะพักตรงนี้นาน ๆ หน่อยก็คือคุยกันให้กว้างหน่อย
อาจารย์เครือมาศ : พอดีมีต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่สองอัน ฉบับหนึ่งความรักเขาบอกว่า Affection อีกอันหนึ่งเล่มของชาวอินเดียแปล ที่มีอยู่ฉบับโบราณก็คือ Pleasures ก็เลยอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าภาษาบาลีใช้ว่าอะไร
อาจารย์ประมวล : ที่ว่าด้วยเรื่องปิยะวรรค หมวดความรักนี้ จะเห็นว่ามีหลายบท คือในหมวดนี้จะรวมไปด้วยความรัก ในลักษณะที่เป็นความรักที่เจือปนไปด้วยความผูกพันธ์เป็นเรื่องเสน่หาหรือเรื่องมีราคะเจือปน เพราะฉะนั้น เราเคยได้ยินที่อ้างถึงหมวดนี้บ่อยก็คือ ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ซึ่งก็มาจากพระธรรมบทหมวดนี้ ในความหมายของคำว่าปิยะตรงนี้ผมถามอาจารย์เครือมาศว่าจะแปลอย่างไรดีให้ได้คำที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นความรักในระดับที่ผมพูดเมื่อตะกี้ที่ว่าเปรมะ ปิยะ อะไรพวกนี้นะครับ เป็นความหมายระดับเดียวกัน ความรักที่เจือปนด้วยความสิเน่หาความพอใจ ที่ถ้าเรามีสิ่งนั้นเราก็จะมีความสุข ถ้าเราขาดสิ่งนั้นเราก็จะมีความทุกข์ ซึ่งความรักประเภทนี้เป็นความรักซึ่ง ก็อยู่ในกลุ่มของเมถุนธรรม เมถุนธรรมคือธรรมที่มันจะต้องมีคู่ แต่เมถุนธรรมตรงนี้ ขออภัยนะครับ ไม่ได้หมายถึงเสพเมถุนในความหมายที่ห้ามพระภิกษุเสพเมถุน คือการร่วมเพศ เมถุนธรรมก็คือธรรมของคนที่เป็นคู่ หมายความว่าจะต้องมีผู้อื่นมามีส่วนร่วมทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราต้องผูกพันไว้กับสิ่งอื่น. ในลักษณะเช่นที่ว่านี้ ในพระธรรมบทจึงมีหลายบทหลายตอน เช่น ความโศกย่อมเกิดจากของรัก ภัยย่อมเกิดจากของรัก เมื่อพ้นจากความโศกและของรัก ภัยย่อมไม่มีอะไร
บทลักษณะอย่างนี้อาจจะมีมาก เพราะฉะนั้นคำว่าปิยะหรือเปรมะที่กล่าวถึงก็จะหมายถึงจิตใจที่จะต้องยึดเกี่ยวผูกพันกับผู้อื่น แต่ว่าความรักในความหมายนี้ก็ดี มากกว่าในลักษณะที่เป็นความโกรธ ความชัง เพราะว่ามันเป็นระดับของจิตใจที่สามารถพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่าบริสุทธิ์ได้ - ในขณะที่ตัวโทสะ ตัวเวรหรือตัวภัยที่เราพูดถึง มันเป็นส่วนที่ทำลาย ผมไม่แน่ใจว่าผมจะชี้แจงอาจารย์เครือมาศได้ตรงประเด็นหรือเปล่า แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า จะแปลความตรงนี้ว่าอย่างไรเพราะว่าผมคิดว่าฝรั่งเองก็คงมีปัญหาในการที่จะแปลเหมือนกัน ว่าจะแปลว่าอย่างไรดี
อาจารย์วารุณี : ดิฉันตั้งข้อสังเกตตรงนี้นะคะ ดิฉันคิดว่ามันมีความสับสนในเรื่องของภาษา ดิฉันไม่รู้ว่าคำว่าความรักมีพื้นฐานภาษามาจากไหน โดยพื้นศาสนาพุทธ มันไม่มีคำว่าความรักอยู่เลยไม่มีคำที่เรียกว่าความรัก ถ้าดิฉันเข้าใจไม่ผิด เวลาเราพูดถึงความรัก เราปนกันอย่างเช่นความรักของหนุ่มสาว มันก็จะมีความต้องการทางเพศเข้ามารวมอยู่ด้วย เราก็เรียกมันรวมๆว่าความรัก ในภาษาอังกฤษความรักใช้ปนกันหมด ระหว่างความรักที่หมายถึงว่าของหนุ่มสาว หรือว่ามันมีความต้องการทางเพศอยู่ด้วย ในขณะเดียวกันความรักก็ถูกใช้ในอีกมิติหนึ่ง อย่างเช่น ความรักต่อเพื่อน ความรักต่อมนุษยชาติ ซึ่งในความรักอันนี้ มันก็จะเป็นความรักซึ่งมันไม่มีมิติในเรื่องทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง. แต่ทีนี้ ในทางศาสนาพุทธ ดิฉันคิดว่าไม่มีคำพวกนี้} มันจะมีคำแยกอย่างชัดเจน ที่เราพูดถึงเมตตา ที่เราพูดถึงกรุณาอย่างนี้... ทีนี้ถ้าสมมุติว่าเวลาไปผูกพันกับเรื่องทางเพศ การต้องการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมันก็จะไปตกกับคำว่าราคะ ใช่ไหมคะ ซึ่งจะแยกชัดเจน
อาจารย์ประมวล : ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์วารุณีพูดเลยครับว่า ในประเด็นเรื่องความรักที่เราใช้ในภาษาไทยนี่ มันไม่มีรายละเอียดเหมือนกับในภาษาบาลีหรือภาษาในทางศาสนาที่ใช้ ที่เราพูดถึงเมื่อสักครู่ คำว่าปิยะ หรือเปรมะ พูดถึงเมตตากรุณา แม้กระทั่งความรักที่สูงขึ้นมาแล้วที่พูดถึงเมตตากรุณายังไปแยกอีกนะครับว่า เมตตา แยกกรุณา ซึ่งทั้งสองนี้ดูเหมือนแปลความว่าความรักเหมือนกันนะครับในส่วนที่เป็นพรหมวิหารธรรม หัวข้อต้นที่เราพูดถึงเมตตา กรุณา ที่เราคงแปลความว่าเป็นความรักเหมือนกัน แต่เราจะพยายามแปลว่า เป็นความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขหรือต้องการทำให้ผู้อื่นมีความสุข เพราะฉะนั้นในภาษาไทยจึงมีความที่ค่อนข้างจะกำกวม หรือจะเรียกว่าไม่ชัดเจนอยู่ในที เมื่อพูดคำว่ารักเกิดขึ้น เพราะเราบอกว่าพ่อแม่รักลูก สามีรักภรรยาอย่างนี้นะครับ ซึ่งจริงๆแล้วมีความหมายต่างกันนะครับ. พ่อแม่รักลูกรักหลายคนก็ได้นะครับ แล้วไม่กังวลว่าแม่จะไปรักพี่หรือน้องมากกว่ารักเราเท่าไหร่ แต่ถ้าสามีภรรยานี่ไม่ได้นะครับยอมไม่ได้ถ้าจะมีใครไปรัก ถ้าภรรยาผมไปรักคนอื่นเหมือนรักผม ผมไม่ยอม
อาจารย์สมเกียรติ : ผมต่ออาจารย์วารุณีนิดหนึ่งนะครับ พอดีเท่าที่ผมทราบไม่รู้ว่ารากเหง้าใช่ภาษาอังกฤษหรือเปล่า แต่ในภาษาอังกฤษเขาจะแบ่งความรักเป็นสามระดับเหมือนกัน ซึ่งเข้าใจว่ามาก่อนรากเดิม มาก่อนคริสต์ศาสนา ความรักในระดับที่ต่ำสุดเขาเรียกว่า Eros นะครับ ซึ่งในปัจจุบันเรามีคำว่า Erotic ซึ่งก็มาจากรากเดิม Eros ซึ่งคำนี้ตรงกับภาษาสันสกฤตว่ากามะ ส่วนความรักในระดับที่สองเขาเรียกว่า Plato friendship หรือว่าเป็นความรักแบบมิตรภาพแบบเพื่อน เป็นเรื่องของความมีน้ำใจ ความรัก ความสามัคคี. แล้วความรักสูงส่งที่สุดนั้น เขาเรียกว่า Agape ซึ่งหมายถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้ามีต่อหรือพระเยซูคริสต์มีต่อคนผู้ยากไร้ หรือเรามีต่อผู้ที่มีศรัทธา เราต่อคนที่สูงกว่าเรา เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือเรามีต่อคนที่อ่อนแอกว่าเรา คนผู้ทุกข์ยาก ก็จัดเป็นความรักแบบ Agape นี้ครับ
อาจารย์วารุณี : คือดิฉันอยากให้อาจารย์ประมวลช่วยแยกให้เห็นถึงว่า ในเชิงทางพุทธ อย่างเช่นความรู้สึกเมตตากรุณาอย่างนี้นะคะ คือมีเกณฑ์อะไรที่แยกความรู้สึกเหล่านี้ว่า อันนี้คืออันนั้น อันนั้นคืออันนี้
อาจารย์ประมวล : ประเด็นที่เราพูดถึงกัน ที่อาจารย์สมเกียรติพูดถึงความรักในคริสต์ศาสนา หรือก่อนหน้านั้นด้วย ของพุทธมีเกณฑ์ ผมอยากจะเสนอเป็นหลักนะครับ ไม่ทราบผมจะเสนอผิดหรือถูกว่า... มันมีเกณฑ์ที่ว่ามันมีตัวตนของตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าหากว่าอยู่ระดับของตัวความรักที่เจือปนด้วยราคะตัณหา เพราะมันเกิดขึ้นจากส่วนที่มันเป็นกามตัณหา และภวตัณหา นั่นก็คือหมายความว่า ตัวความรักเจือปนด้วยราคะที่ว่านี่ มันเป็นความปรารถนาเพื่อที่จะทำตัวตนของตัวเองสนองต่อตัวตนของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความรักประเภทนี้มันจึงมีสิ่งที่เรียกกันว่ามีตัวเองเป็นศูนย์กลางเป็นที่ตั้ง
แต่พอในขณะที่เป็นระดับหนึ่งที่สูงขึ้นไปที่อาจารย์วารุณีพูดถึง ความเชื่อทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนี้ เป็นความรักของพระโพธิสัตว์เป็นความรักของพระพุทธเจ้า หรือแม้กระทั่งที่เราพูดถึงพระศรีอริยเมตไตรก็คือ พูดถึงพระพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยความรักต่อมวลมนุษยชาติ หรือต่อสรรพสัตว์ นี่จะไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่าตัวตนเป็นที่ตั้ง เพราะทฤษฎีหรือความหมายสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เราพูดถึงความรักที่สูงนี้ มันพัฒนาเริ่มต้นจากมีตัวตนเป็นที่ตั้งก่อนนะครับ เพราะความรักที่มีตัวตนเป็นที่ตั้งนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนาสูงขึ้น คำว่าพัฒนาสูงขึ้นจริง ๆ ก็คือพัฒนาลดตัวตนลงพอลดตัวตนลงคือไม่มีตัวตน สิ่งที่เรียกกันว่าเมตตากรุณาสามารถมีอยู่ได้ แม้จะไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่าอัตตาหรือตัวตน. แต่ความรักที่เราพูดถึงความรักที่เป็นหนุ่มสาว ความรักที่เราพูดถึงกันว่าเจือปนด้วยราคะต้องมีตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น เวลามีความเปลี่ยนแปลงเรื่องความรักจึงมีตัวตนเป็นที่ตั้งอย่างชัดเจน มันจึงมีสิ่งที่เรียกว่าบุคคลที่เรารัก และตัวเราซึ่งเป็นผู้รัก
ประเด็นที่ผมอยากจะเสนอเพื่อให้พวกเราช่วยกันดูด้วยว่า ผมจะอธิบายได้ดีไหม แล้วพวกเราจะมีคำอธิบายดีกว่านี้ไหมว่า ความรักในพุทธศาสนาที่เราพูดถึงความรักที่เจือปนด้วยราคะก็คือ ยังเป็นความรักที่มีตัวอัตตา ภาษาทางพระเขาเรียกว่ามีอัตตวาทุปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตนอยู่เป็นแกนหลัก ทำให้ความรักนั้นเกิดขึ้น ความรักดำรงอยู่และความรักเป็นไป. แต่ความรักเป็นเมตตากรุณา ที่เรากำลังพูดถึงนั้น เป็นความรักที่แม้นจะไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่าตัวตนก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้กิจกรรมที่เรียกว่าความรักนี้เป็นไปได้ เหมือนกับกรณีที่พุทธวจนะซึ่งกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้ามีพระทัยเสมอเหมือน คือมีเมตตาเหมือนกันในพระราหุลและพระเทวทัต. ถามว่าทำไมจึงเสมอกัน... เพราะพระพุทธเจ้าไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งว่า พระราหุลคือลูก, พระเทวทัตคืออริศัตรู แต่พระราหุลและพระเทวทัตต่างเป็นมนุษยชาติที่ไม่ได้มีความต่างกันเลยในความหมายสำหรับพระพุทธเจ้า เพราะตัวพระพุทธเจ้าเองไม่มีความเป็นคนที่จะต้องบอกว่าพระราหุลคือลูก พระเทวทัตคือคน ๆ หนึ่งซึ่งมาเป็นปฏิปักษ์. เพราะฉะนั้น ความหมายที่ผมอยากจะเสนอตรงนี้ก็คือมีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนเป็นศูนย์กลางที่จะกำหนดความหมายของความรักสองระดับนี้อยู่ครับ
อาจารย์ศิริชัย : จะขอความเห็นอาจารย์ประมวลและท่านอื่น ๆ ด้วยนะครับ เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะมองพระธรรมบทเหมือนกันกับคัมภีร์ไบเบิล คือเป็นแหล่งรวมวัจนะของพระศาสดาที่ได้แสดงเอาไว้แล้วมีจำนวนมากทีเดียว แล้วก็อาจจะรวมทั้งปรัชญาคำสอนศาสนาอื่น ๆ ที่มีลักษณะที่ผมเห็นว่ามีร่วมกัน คือเป็นวัจนะของศาสดาที่แสดงไว้ในโอกาสในบริบทต่าง ๆ นี่ก็มาถึงประเด็นที่อาจารย์นิธิแตะไว้หน่อยหนึ่ง ถามบอกว่า ในเมื่อเหมือนกับเรามีสวนดอกไม้ใหญ่เลยเต็มไปด้วยดอกไม้หลาย ๆ สีรูปร่างอะไรต่าง ๆ จะมีวิธีเลือกอย่างไรที่จะนำมาใช้กับชีวิตของเรา
ในพระธรรมบทผมคิดว่ามีคำสอนซึ่งยอดเยี่ยมในแต่ละกรณี ทีนี้ผมอยากถามว่าในฐานะคนอย่างระดับเรา ๆ เราไม่ได้มีโอกาสมีโชคดีเหมือนอย่างอาจารย์ประมวลที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ได้บวชได้เรียน. แต่คนทั่ว ๆ ไปในสมัยปัจจุบัน บางคนอาจจะบอกว่ายุคสมัย IMF นี้พระธรรมบทมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตของเรา ต่อชีวิตคนหนุ่มสาว ต่อชีวิตผู้ครองเรือนอย่างผม ซึ่งคงจะไม่เหมือนกันกับพระธรรมบทที่พระสงฆ์ท่านถือปฏิบัติอยู่หรือท่านสอนอยู่นะครับ
อาจารย์ประมวล : ประเด็นที่อาจารย์ศิริชัยยกขึ้นมาก็เหมือนกับประเด็นที่ท่านอาจารย์นิธิพูดเมื่อกี้นะครับว่า เราจะมีวิธีเลือกยังไร ข้อความที่อาจารย์ศิริชัยเสนอ เป็นข้อความที่ผมเห็นด้วยทุกประการว่าตัวพระธรรมบทเป็นพระคัมภีร์ที่รวบรวมเอาพระพุทธวจนะ ผมคิดว่าในสมัยที่มีการรวบรวมพระพุทธวจนะเพื่อจัดหมวดหมู่นั้น พระธรรมบทคือพระพุทธวจนะที่จับจิตจับใจพุทธศาสนิกชนหรือสาวก จนกระทั่ง กลายมาเป็นข้อความที่คุ้นหูหรือคุ้นปาก แล้วมารวมเป็นหมวดเป็นหมู่ไว้ แม้กระทั่งในประเทศไทยเราผมคิดว่าบรรดาพระพุทธวัจนะที่อ้างถึงกันบ่อย ๆ เช่น อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ในปัจจุบันพระพุทธวจนะบทนี้ เมื่อเราภาวนาทำให้เราเกิดพลัง เป็นพลังที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นมาในชีวิตจิตใจ เพราะฉะนั้นที่พวกเรามานั่งกันในวันนี้แล้วมาคุยกันเรื่องนี้ อยากให้พวกเราลองอ่านแล้วมีบทไหนบ้างจับจิตจับใจพวกเรา ผมเองผมท่องอยู่หลายบท เช่น คนเราจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ผมท่องเสมอนะครับ หมายความว่านี่เป็นหัวใจสำคัญทางพระพุทธศาสนาเลยนะครับ
ธรรมบทนี้เป็นพระบาลีที่เรียกว่าพุทธวจนะ แต่จะมีคัมภีร์ที่เรียกว่าธัมมปทัฏฐกถา เมื่อคำอธิบายพระพุทธวจนะ แต่เนื่องจากคำอธิบายนี้เกิดขึ้นในบริบทของสังคมโบราณ บางครั้งก็เข้าใจไม่ค่อยได้ เป็นคำอธิบายว่าเพราะเหตุอะไร หรือมีสาเหตุอย่างไรพระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสกล่าวคำแบบนี้ไว้ ถ้าพวกเรามีเวลาก็อาจจะไปอ่านประกอบด้วยก็ได้ แต่มันเรื่องโบราณ ในสังคมปัจจุบันมีคำอธิบายในตัวของมันเอง เมื่อเราเริ่มอ่านบทที่เราประทับใจ ผมคิดว่าในทุก ๆ สถานการณ์สามารถที่จะค้นหาสิ่งที่เรียกกันว่า ความงดงามของพระพุทธวัจนะที่จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทีนี้แต่ละคนจะมีสถานการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน พวกเราที่เป็นเยาวชนในวัยหนุ่มสาวมีพลังที่จะทำอะไรหลาย ๆ อย่างก็จะมีพระธรรมบทบางบทที่อาจจะจำเป็น. แต่สำหรับผมแล้ว ผมอาจจะไปคิดถึงว่าทำอย่างไรให้จิตมันพ้นทุกข์ หรือจิตมันเกษมในความรู้สึกของผม ธรรมบทมีความหลากหลายในความหมายให้เราเลือกกันได้
อาจารย์วารุณี : เวลาเราพูดถึงศาสนาพุทธ เราจะนึกถึงต้องเป็นพระนะ ต้องสละทุกอย่าง ดิฉันคิดว่าเรารู้เฉพาะตอนต้น และเรารู้เฉพาะตอนปลาย คือจริง ๆ แล้วก่อนที่จะถึงที่สุดที่เราเรียกว่านิพพานคือทิ้งทุกอย่าง ศาสนาพุทธบอกขั้นตอนต่าง ๆ ไว้อยู่ตลอดเวลา ในขั้นตอนเหล่านั้นมันก็มีประโยชน์ต่อชีวิตที่เราอยู่ทุกวันนี้อยู่ตลอดเวลา
ดิฉันยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่นสมมุติวัยรุ่นยังมีความรู้สึกทางเพศ ต้องการจะรักคนนั้นต้องการจะรักคนนี้ ดิฉันคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามเลย. ในคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมีลักษณะยืดหยุ่นสูงมาก คือไม่เคยห้ามเลย แต่เพียงจะบอกเพียงว่าเมื่อคุณทำแบบนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น. เมื่อคุณเกิดความรัก และความรักที่ไปผูกพันอย่างเช่นที่อาจารย์ประมวลว่าคือ ไปผูกพันกับอัตตา แน่นอนสิ่งที่ตามมาก็คือว่า คุณต้องทุกข์. ถ้าคุณรู้สึกทุกข์ตรงนั้นแล้วฉันก็ทนได้ คุณก็รักต่อไป แต่สิ่งที่คุณได้รับก็คือว่า คุณจะทุกข์คือความไม่สบายใจไม่สบายกาย.
แต่ในคำสอนก็สอนเราอีกเหมือนกันว่า ถึงคุณทุกข์นี้ วันหนึ่งมันก็จะผ่านไป เมื่อเราเข้าใจตรงนี้จริง ๆ หรือว่าอย่างน้อยเราจำมันได้ เราก็จะพบว่าความทุกข์ที่เราเจอมันไม่ใช่อะไรที่จะอยู่กับเราตลอดชีวิต เราไม่ถึงกับต้องฆ่าตัวตายหรือฆ่าคนที่เรารักแล้วเขาไม่รักเรา คือมองว่าชีวิตมันจะไหลไปเรื่อย ไหลไปเรื่อยตามธรรมชาติ วันหนึ่งเรารัก วันหนึ่งเราอกหัก วันหนึ่งเราก็รักอีก...อะไรอย่างนี้. ถ้าเรายังรู้สึกว่าเรายินดีกับรสชาติของอารมณ์ตรงนั้น เราก็ทำไป แต่ขอให้เรารับรู้นะว่าคุณต้องการรสชาติของความสุขของอารมณ์ คุณก็ต้องเจอรสชาดความทุกข์ของอารมณ์
อาจารยสุชาดา : รู้สึกว่าเรื่องธรรมบทจะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถจะมีอำนาจอธิบายได้หมดเลยนะค่ะ ที่จับใจว่าเคยมีข้อเขียนของท่านพุทธทาส คือจะดูว่าใครมีธรรมะหรือไม่ ซึ่งธรรมะในที่นี้อาจจะหมายถึงเรื่องหลักยึด ยึดเรื่องความรักก็ดี ยึดเรื่องความกตัญญูก็ได้ หรือยึดอุดมการณ์เพื่อสังคมเพื่อชาติอะไรก็ได้ คือก็จะดูว่าใครมีธรรมะหรือไม่ ให้ดูว่าในเวลาเขาทุกข์เขาสามารถเอากาย เอาใจรอดพ้นจากความทุกข์นั้นได้หรือไม่ ก็เป็นการอธิบายอีกชุดหนึ่ง.
อันนี้เป็นคำถามอาจารย์ประมวลค่ะ คือเปิดดูหมวดที่ 9 ที่พูดถึงเรื่องหมวดพันคือในชุดของอาจารย์เสฐียรพงศ์แปลไว้ ถามอาจารย์ประมวลว่ามันมีความหมายหรือคำอธิบายอะไร
อาจารย์ประมวล : ขออนุญาตตอบตรงนี้นิดหนึ่ง ที่อาจารย์สุชาดาพูดมาคือประเด็นของสำนวนครับ เพราะว่าในหมวดนี้จะว่าด้วยหมวดที่เทียบเคียง เช่น กรณีเทียบเคียงว่าคนที่มีอายุอยู่สักพันปี ก็ประเสริฐสู้คนที่สามารถเข้าใจความเป็นจริง ที่ประเสริฐที่อยู่ได้แม้เพียงคืนเดียวไม่ได้ แล้วก็จะมีการเทียบเคียง คือประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนปริมาณ แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าความหมายหรือคุณค่าที่เราจะทำความเข้าใจเป็นเรื่องสารัตถะที่สำคัญ เพราะในหมวดพัน ถ้าเราเปิดอ่านดูเราจะเห็นนะครับ ว่าเป็นการเทียบเคียงให้เห็นว่าสิ่งที่ประเสริฐ สมมุติว่าท่องคาถาพันพระคาถา สู้เรามองเห็นความหมายที่ลึกซึ้งที่ทำให้เราพ้นทุกข์ได้แม้เพียงคาถา ๆ เดียวก็ไม่ได้. สมมุติว่าผมท่องพระธรรมบทเป็นพันคาถาได้ พวกเราไม่จำเป็นต้องท่องพันคาถาครับ จำพระพุทธวจนะหมวดเดียว บทเดียวแต่สามารถที่จะเอามาใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ ทำให้ดับทุกข์ได้ ทำให้เกิดมองเห็นทางที่ดีได้ ก็ประเสริฐกว่าผมแล้ว เพราะฉะนั้นกรณีพันที่พูดถึงนี้ ความหมายก็คือการเปรียบเทียบให้เห็นว่าสิ่งที่ประเสริฐนั้นไม่ได้อยู่ที่จำนวนปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพ.
ผมเกิดความรู้สึกประทับใจในพุทธวัจนะหมวดที่ว่าคนเรามีชีวิตอยู่ยืนยาวเป็นร้อยปี ก็สู้มีชีวิตอย่างประเสริฐชั่ววันเดียวคืนเดียวไม่ได ้ที่จิตใจของเราสงบ ผมเกิดความรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ผมเล่าตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่ง... ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจำศีลอยู่ที่เกาะสมุย ด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้กลับไปบ้านนานแล้วมีความผูกพันกับบ้านเดิมของตัวเอง พอไปแล้วมีความรู้สึกว่า ไม่อยากเที่ยวเกาะสมุยเลย เพราะมันรันทดหดหู่กับสภาพที่เปลี่ยนแปลงบนเกาะมากเลย ทำใจไม่ค่อยได้ พอทำใจไม่ได้ก็พอดีมีฐานบำรุงกำลังของทหารเรือ เขาอนุญาตให้ที่พักอย่างดี จะพักเฉย ๆ ทำไมก็ทำสมาธิภาวนาดีกว่า ผมไม่ดูข่าวทีวี} ไม่อ่านหนังสือพิมพ์} ไม่ติดต่อกับใครเลยในเวลาตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 27 ที่ผ่านมา. ไม่รู้เรื่องข่าวสารอะไรเลย ผมเกิดประจักษ์แจ้งว่ามีชีวิตอยู่ช่วงสั้น ๆ อย่างนั้นประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงยาว ๆ ที่มันมีอายุยาว ๆ แล้วมีเหตุการณ์มากมาย ผมคิดว่าพุทธวัจนะที่ผมท่องไว้ในพระธรรมบทยืนยันในความหมายที่ผมประจักษ์ด้วยตัวผมเอง
เพราะฉะนั้นกรณีที่คุณสุชาดายกขึ้นมา ผมก็เห็นด้วยว่ามันเป็นเรื่องเชิงการเปรียบเทียบให้เห็นถึงคุณภาพ โดยที่ให้เราเข้าถึงสิ่งที่เป็นคุณภาพมากกว่าจะไปเน้นหรือไปคำนวณในเชิงปริมาณ
อาจารย์นิธิ : คือผมอยากจะเถียงอาจารย์ประมวลแต่ไม่กล้านะครับ คืออาจารย์ก็ให้ความหมายเฉพาะบทที่อาจารย์ยกขึ้นมาน่าประทับใจ ผมอ่านทั้งหมดก็ไม่ได้รับความหมายที่ลึก แล้วก็กระจ่างแจ้งเท่าที่อาจารย์ยกมาเพียงไม่กี่บทเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่กล้าเถียงแต่ที่ผมสงสัยมาก ๆ ก็คือผมสงสัยว่า พระธรรมบทจะเป็นคนแต่งคนเดียวหรือรวบรวมกันมาอะไรก็แล้วแต่เถอะ มันไม่มีเอกภาพบ้างหรือ มันไม่มีตัวระบบความคิดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว แล้วครอบงำคำสอนที่หลากหลายทั้งหมดบ้างเลยหรือ. ผมเดาว่ามันน่าจะมีนะ เพราะว่าพระไตรปิฎก หรือว่าถ้าไม่มีก็อยากให้อาจารย์ประมวลช่วยสร้างมันขึ้นมา เพราะว่าอย่างพระไตรปิฎกมีหลากหลายกว่าพระธรรมบท, พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านยังสามารถสร้างระบบอธิบายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาครอบคลุมพระไตรปิฎกได้ เพราะฉะนั้น ผมอยากให้อาจารย์ประมวลช่วย. ถ้ามันไม่มีมาก่อนให้อาจารย์ประมวลช่วยสร้างขึ้นเดี๋ยวนี้ได้ไหมว่า ระบบความคิดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะอธิบายทั้งหมดในพระไตรปิฎกให้มันสอดคล้องกันไปหมดนี่มันคืออะไร
หากพบคำผิด กรุณาแจ้งให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทราบด้วย ตามที่อยู่ข้างต้น จะขอบคุณยิ่ง
(หากต้องการเปลี่ยนสีพื้น กรุณาไปที่ Control Panel / display / appearance / window text / color (เลือกสีพื้น) / apply)