ภิกษุณี ประเด็นปัญหาถกเถียงในสังคมไทย : บทความถอดเทปชั้นเรียน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4
content page
member page
webboard
ต้นฉบับภาพประกอบโดย อังกฤษ อัจฉริยโสภณ
เทคนิควาดเส้นและสีช็อล์คน้ำมันบนกระดาษ
(ดัดแปลงเพื่อเป็นภาพประกอบ โดยฝ่ายศิลป์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
บทความเดือน สิงหาคม 2544
สนใจสมัครสมาชิก คลิกที่ปุ่ม
member page
การอนุญาตให้ผู้หญิงมาบวชนั้น พระพุทธองค์ต้องแบกรับความเสี่ยง คือต้องเสี่ยงกับความกดดันทางสังคม ทั้งในสังคมพุทธเอง หมายถึงภายในหมู่ภิกษุเอง แล้วก็สังคมคฤหัสอย่างมหาศาล แต่ถึงกระนั้น พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวช ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว และเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ ซึ่งพระองค์คิดดูแล้วว่า คุ้มกับการรับความเสี่ยงทั้งมวล เหตุผลนั้นก็คือ "การให้อิสรภาพทางจิตวิญญาน".
2
next
บทความที่นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจกำลังอ่านอยู่นี้
ถอดเทปมาจากชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หัวข้อเรื่อง

"ภิกษุณี คติหรืออคติ"
วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2544 เวลา 14.00-17.00 น.
ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วิทยาเขตวัดอุโมงค์ จ. เชียงใหม่
นำเสนอโดยวิทยากร 2 ท่านคือ
1. ดร. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล / ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มช.
2. ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ / ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มช.

(สำหรับส่วนที่หนึ่ง พูดโดยวิทยากรทั้ง 2 ท่านข้างต้น)
(ส่วนที่สอง ซึ่งอยู่หน้าถัดไป เป็นการสนทนาในชั้นเรียน)

ไปหน้าถัดไปคลิกที่นี่
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : สำหรับชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนวันนี้ เราได้รับเกียรติจาก ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ภาคสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้ความรู้กับเราในหัวข้อ "ภิกษุนี้ คติหรืออคติ" ซึ่งอาจารย์เป็นผู้ที่สนใจในประเด็นนี้มานาน และในชั้นเรียนวันนี้ เราจะได้ทราบว่า มุมมองของท่านต่อประเด็นดังกล่าวกับสังคมไทย ซึ่งกำลังมีการถกเถียงกันอยู่นั้น ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร สังคมไทยมีอคติเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ ? รวมไปถึงแง่มุมครั้งในอดีตเกี่ยวกับเรื่องภิกษุณี ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นและมีการสนทนากันมาแล้ว. เพื่อเป็นการประหยัดเวลาสำหรับเราทุกคน จึงขอเรียนเชิญอาจารย์ อภิญญา นำเสนอเรื่องที่เตรียมมาเลยค่ะ

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล : สวัสดีทุกๆคน ประเด็นภิกษุณีที่จะพูดวันนี้มี 3 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กันหมด.
ในประเด็นแรกจะพูดถึง ท่าทีของพระพุทธเจ้าต่อการอนุญาตให้ผู้หญิงบวช
ประเด็นที่สองจะพูดถึง ธรรมชาติของการบรรลุธรรมกับรูปแบบของการปฏิบัติที่นำไปสู่เป้าหมาย
และประเด็นสุดท้าย จะพูดถึงท่าทีของสังคมไทยในปัจจุบันที่มีต่อนักบวชทั้งชายและหญิง

สำหรับ ในประเด็นแรกจะพูดถึง ท่าทีของพระพุทธองค์ต่อการอนุญาตให้ผู้หญิงบวช ที่จะต้องพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่า ในด้านหนึ่งมีผู้เชื่อกันว่า อันที่จริงพระพุทธองค์อาจจะไม่ทรงเต็มพระทัยให้ผู้หญิงบวชนัก เพราะเหตุว่าประการแรก ทรงลังเลและปฏิเสธพระแม่น้าของพระองค์ คือ พระมหาปชาบดีโคตมีถึง 3 ครั้งคือ ที่กรุงกบิลพัตร และเมื่อมาอีกเมืองหนึ่ง พระนางปชาบดีได้ปลงผม แล้วนุ่งห่มจีวรแบบนักบวช เดินตามมาเป็นระยะทางที่ยาวไกลแล้วขอบวช พระพุทธองค์ก็ยังทรงปฏิเสธถึง 3 ครั้งผ่านพระอานนท์ อันนี้เป็นจุดแรกที่มีผู้ตั้งข้อสังเกต

ประการต่อมาคือว่า แม้จะทรงอนุญาตให้บวช แต่ก็ทรงมีเงื่อนไขให้สตรีต้องยอมรับสิ่งที่เรียกว่า"ครุธรรม 8 ประการ" ซึ่งใน 8 ประการล้วนมีเนื้อหาในเชิงกดให้ภิกษุณีต้องอยู่ใต้การปกครองดูและของภิกษุโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบางข้อซึ่งนักสตรีนิยมสมัยใหม่อาจจะดูว่า เป็นเรื่องที่อยุติธรรมอย่างเช่น แม้ภิกษุณีบวชร้อยพรรษาก็ต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชเพียงหนึ่งวัน และอีกข้อหนึ่งข้อสุดท้าย ภิกษุณีต้องไม่ว่ากล่าวภิกษุไม่ว่าประการใดทั้งปวง แต่ว่าภิกษุเป็นฝ่ายว่ากล่าวภิกษุณีได้

[หมายเหตุ : ครุธรรม 8 ประการ ธรรมอันหนักสำหรับภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ ไม่ละเมิดตลอดชีวิตมี 8 ประการคือ 1. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชเพียงแค่วันเดียว 2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ 3. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาสจากภิกษุทุกกึ่งเดือน 4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง 3 คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) 5. ภิกษุณีต้องอาบัติหนักต้องประพฤติมานัติในสงฆ์สองฝ่าย 6. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย 7. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ 8. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้ / พจนานุกรมพุทธศาสน์(ฉบับประมวลศัพท์) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)]

สิ่งเหล่านี้ทำให้ feminist ตะวันตกและ feminist ไทยที่รับแนวคิด feminist ตะวันตกเห็นว่า ครุธรรม 8 เป็นที่พิสูจน์ให้เห็นว่า โครงสร้างของนักบวช ยังคงจำลองโครงสร้างชายเป็นใหญ่เหนือหญิง ตกลงว่าไม่ได้ปลดปล่อยผู้หญิงเลย

นอกจากประเด็นนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีก ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะแสดงถึงความไม่เต็มใจ หรืออาจจะแสดงถึงยุทธวิธีในการลดจำนวน หรือคุมกำเนิดภิกษุณี อย่างเช่น เรื่องของการอนุญาตให้บวช ทางฝ่ายอุปัชฌาย์ของภิกษุนีที่เรียกว่าปวัตตินี แล้วก็มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับไว้ว่า ปวัตตินีสามารถบวชให้ภิกษุณีได้เพียงครั้งละ 1 รูป แล้วเมื่อบวชไปปีนี้ 1 รูปแล้ว จะต้องเว้นไปอีก 1 ปี ปีถัดไปจึงจะบวชได้อีก. วิธีนี้ก็เท่ากับเป็นการบังคับไม่ให้ภิกษุณีมีมากเกินไป

พระพุทธองค์เองตรัสกับพระอานนท์ว่า ครุธรรม 8 ประการ เปรียบเสมือนเขื่อนหรือคันกั้นน้ำไม่ให้เอ่อท้นออกไป ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของนักคิดรุ่นหลังที่ต้องมาตีความว่า ที่เป็นเขื่อนหรือคันกั้นน้ำนี้หมายถึงอะไรกันแน่. นักวิชาการอย่างท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ท่านก็ชี้ให้เห็นว่า ที่จะกั้นหรือกันนี่ คงหมายถึงการกันการวิพากษ์วิจารณ์จากพวกเดียรถียหรือนักบวชนอกศาสนา เพราะเหตุว่าในช่วงนั้น ก็มีนักบวชนอกศาสนาพุทธที่คอยจ้องที่จะวิพากษ์วิจารณ์และหาจุดอ่อนที่จะต่อต้านหรือว่าบ่อนทำลายศาสนาพุทธอยู่ เพราะฉะนั้น การที่ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชจึงเป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมสังคมอินเดียในสมัยนั้นอย่างมาก อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้พวกนี้ต่อต้านโจมตี อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ถ้ามาคิดดูคือ สิ่งที่จะสั่นคลอนศาสนาพุทธมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์จากพวกเดียรถียนี่ มีอีก 2 อย่าง

อันแรกก็คือ การต่อต้านจากคฤหัสถ์เอง เราต้องเข้าใจว่าสังคมฮินดูในสมัยนั้น มีวิธีการคุมผู้หญิงหลายๆอย่าง แล้วก็สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การควบคุมผู้หญิงให้อยู่ในอาณาบริเวณของสถาบันครอบครัว วิธีการ control ก็มีการ control ผ่านจารีตประเพณี กฎหมาย อุดมการณ์ทางสังคม... อุดมการเป็นเมียที่ดี การเป็นแม่ที่ดี ความเป็นลูกสาวที่ดี ผู้หญิงที่ดีในสมัยนั้นจะต้องอยู่ในอาณัติ อยู่ในการดูแลของผู้ชายที่เป็นพ่อ เมื่อแต่งงานไปแล้วก็ต้องอยู่ในการดูแลของสามี เมื่อสามีตายไปแล้วก็ต้องอยู่ในการดูแลของลูกชาย. ผู้หญิงจะถูกกำกับให้อยู่ในสถาบันครอบครัวมาโดยตลอด

การอนุญาตให้ผู้หญิงมาบวช ลองคิดดู มันหมายถึงการปลดเปลื้องผู้หญิงให้เป็นอิสระจากพันธนาการอันนี้ ซึ่งในเถรีคาถา ซึ่งเป็นพระสูตรที่ชุมนุมคำกล่าวของภิกษุณีต่างๆ ที่ล้วนแต่บรรลุอรหันต์ มีหลายข้อความของภิกษุณีหลายองค์ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความโล่งอกโล่งใจ หรือความยินดีในการมีอิสระจากพันธนาการของสถาบันครอบครัว ดังนั้น ถ้าการบวชปลดเปลื้องผู้หญิงออกจากสถาบันครอบครัวแล้วละก็ ถ้ามีผู้หญิงที่อึดอัดซึ่งต้องอยู่ภายใต้การพันธนาการนี้แห่กันมาบวชเยอะๆ แน่นอน สถาบันครอบครัวทั้งสังคมจะต้องถูกสั่นคลอน. ถึงตรงนั้น บรรดาคฤหัสถ์ที่เคยสนับสนุน อุปัฏฐากศาสนาพุทธก็อาจจะหันมาต่อต้านศาสนาพุทธก็ได้ จุดนี้น่ากลัวยิ่งกว่าการต่อต้านของเดียรถียเสียอีก

อีกประเด็นหนึ่งที่จะเป็นการสั่นคลอนศาสนาพุทธ ก็คือการต่อต้านจากภิกษุเอง เคยมีคนทำสถิติพบว่า ภิกษุส่วนใหญ่ซึ่งมาบวชในพระพุทธศาสนามาจากวรรณะพราหมณ์ อันนี้ทำให้เห็นชัดว่า สิ่งหนึ่งที่จะเป็นการสั่นคลอนก็คือว่า การที่ยกผู้หญิงขึ้นมาให้มีสถานภาพเหนือตน การไม่พอใจของภิกษุที่จะต้องร่วมสังฆกรรมกับผู้หญิง เห็นได้ชัดจากหลักฐานอันหนึ่งก็คือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปเพียง 3 เดือน ในเหตุการณ์ที่เรียกว่าปฐมสังคายนา ก่อนการสังคายนา ที่ประชุมสงฆ์ได้ปรับอาบัติพระเถระที่พึ่งจะบรรลุอรหัตผลสดๆร้อนๆ คือพระอานนท์

ที่ประชุมสงฆ์ 500 รูป ซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น(โปรดสังเกต) ได้ปรับอาบัติพระอานนท์ ด้วยเหตุต่างๆหลายประการ หลายข้อนั้นเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ประการที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ กล่าวโทษพระอานนท์ที่ทูลขอพระพุทธเจ้า หรือตื้อพระพุทธเจ้าว่างั้นเถอะ ให้อนุญาตให้ผู้หญิงบวช แล้วก็ยังปล่อยให้ผู้หญิงมาถวายบังคมพระบรมศพของพระพุทธเจ้าก่อน แล้วก็ปล่อยให้ผู้หญิงร้องห่มร้องไห้จนกระทั่งน้ำตา แปดเปื้อนพระพุทธสรีระ นี่คือสิ่งที่ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น กล่าวหาพระอานนท์

แสดงว่าการไม่พอใจผู้หญิงคงจะมีมานานแล้ว แต่ว่าไม่สามารถแสดงออกได้ แล้วก็ระเบิดออกมา เพียงสามเดือนหลังจากพระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน. โปรดสังเกตพระอานนท์นั้น ท่านบอกว่าท่านไม่เสียใจเลยที่ทูลขอให้ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวช แต่ว่าเนื่องจากท่านเคารพมติของที่ประชุมสงฆ์ อยากจะปรับอาบัติท่าน ท่านก็ยอมให้ปรับอาบัติ

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การอนุญาตให้ผู้หญิงมาบวชนั้น พระพุทธองค์ต้องแบกรับความเสี่ยง คือต้องเสี่ยงกับความกดดันทางสังคม ทั้งในสังคมพุทธเอง หมายถึงภายในหมู่ภิกษุเอง แล้วก็สังคมคฤหัสถ์อย่างมหาศาล แต่ถึงกระนั้น พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวช ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว และเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ ซึ่งพระองค์คิดดูแล้วว่า คุ้มกับการรับความเสี่ยงทั้งมวล เหตุผลนั้นก็คือ "การให้อิสรภาพทางจิตวิญญาน". พระองค์ตระหนักดีว่า การบรรลุธรรมเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการแบ่งแยกทั้งมวล รวมทั้งการแบ่งแยกทางเพศ อันนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก

และเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะเห็นว่า พระองค์ทรงปกป้องพุทธสาวิกาของพระองค์ เราจะเห็นท่าทีนี้ในหลายๆอย่าง เช่น มีการบัญญัติกฎเกณฑ์ไม่ให้ภิกษุณีนี้ทำงานรับใช้ภิกษุ อย่างเช่น บัญญัติไม่ให้ภิกษุณีตักน้ำให้ภิกษุ ไม่ให้ทำความสะอาดเสนาสนะที่นั่งให้กับพระภิกษุ แน่นอนว่า เหตุผลในการบัญญัติวินัยข้อนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น แต่อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าก็คือว่า การให้ผู้หญิงมาบวชไม่ใช่เพื่อให้เป็นคนใช้ แต่ให้มาบวชเพื่อที่จะให้ทำหน้าที่ของนักบวช คือการปฏิบัติธรรมและเพื่อการบรรลุธรรม

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงยกย่องสาวิกาของพระองค์หลายรูปให้เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ นี่ก็เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเกรงใจและให้เกียรติกับภิกษุณี ที่น่าสนใจก็คือว่า มีเอตทัคคะอยู่รูปหนึ่งชื่อพระธรรมาทินาเถรี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะในการแสดงธรรม

มีเรื่องบันทึกในพระไตรปิฎก เป็นการสนทนาธรรมกันระหว่าง พระธรรมาทินาเถรีซึ่งเป็นพระอรหันต์ กับวิสาขาอุบาสก ซึ่งเป็นอดีตสามีของภิกษุณีรูปนี้ และเป็นผู้บรรลุธรรมขั้นพระอนาคามีผลแล้ว. คือเมื่อสมัยยังเป็นคฤหัสถ์อยู่นั้น ทางฝ่ายสามีได้สนใจมาปฏิบัติธรรมก่อน แล้วได้บรรลุธรรมในขั้นอนาคามี และในฝ่ายภรรยาอยากจะบวชบ้าง ก็ขออนุญาตบวชแล้วก็ได้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหันต์ แล้วต่อมาได้มีการสนทนาธรรมกัน ตอบปัญหาธรรมได้เป็นที่พอใจแก่วิสาขาอุบาสก

ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราพิจารณาสถานะของผู้หญิงฮินดู ไม่มีทางเลยที่จะได้มาเป็นผู้ซึ่งสั่งสอน เป็นครูบาอาจารย์ และสั่งสอนคนอื่น. หมายถึงสถานภาพของผู้หญิงฮินดูในยุคนั้น ไม่ใช่ในยุคพระเวทซึ่งมาก่อนหน้านั้น ในยุคพระเวท ผู้หญิงมีสถานภาพทางสังคมค่อนข้างสูง แต่พอมาถึงยุคพุทธกาล สถานภาพของผู้หญิงฮินดูตกต่ำลงมากแล้ว เพราะว่าสังคมฮินดูมีค่านิยมอย่างหนึ่ง คือนิยมให้ผู้หญิงมีลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะลูกชายจะทำหน้าที่สืบทอดการทำพิธีกรรมตามจารีตต่อจากบิดา เพราะฉะนั้น ผู้หญิงจะถูกบีบบังคับให้แต่งงานตั้งแต่เล็ก ทำหน้าที่ผลิตลูกชาย ทำให้ผู้หญิงห่างเห็นจากการเรียนหนังสือ ปิดโอกาสของผู้หญิงจากการเรียนรู้ โอกาสที่ผู้หญิงจะได้เป็นครูบาอาจารย์นั้นไม่มี ยิ่งโอกาสที่จะมาเทศนาสั่งสอนสามียิ่งไม่มีใหญ่

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การอนุญาตให้ผู้หญิงบวชนั้น ก็คือการยกสถานภาพทางสังคมของผู้หญิง ให้สามารถที่จะเป็นครู เป็นผู้นำทางจิตวิญญานของสังคมได้ เป็นที่เคารพนับถือของสังคมในฐานะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาน อันนี้ถือเป็นการปฏิวัติค่านิยมทางสังคมครั้งใหญ่เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอื่นๆอีกที่แสดงให้เห็นพระเมตตาของพระองค์ที่มีต่อผู้หญิง และมีตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่งของการบวชซึ่งทำให้เห็นว่า จริงๆแล้ว พระองค์เห็นเป้าหมายของการบวชสำคัญกว่ารูปแบบ อย่างที่เราทราบกันก็คือว่า รูปแบบของการบวชของภิกษุณีนั้น จะต้องเป็นไปด้วยการยอมรับของสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย นั่นคือ ทางฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ และทางฝ่ายภิกษุสงฆ์ แต่แล้วก็มีข้อยกเว้นอยู่กรณีหนึ่ง ก็คือ

มีนางคณิกาผู้หนึ่งต้องการจะบวช แต่ว่าไม่สามารถเดินทางมายังอีกเมืองหนึ่งซึ่งเป็นที่ประชุมสงฆ์ได้ เพราะสืบทราบมาได้ว่า มีนักเลงจะมาดักฉุดนางไปกลางทาง เนื่องจากว่าอาจจะมีค่าตัวมากมาย ก็จึงส่งคนมากราบทูลพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นกรณียกเว้นกรณีเดียวคือ พระองค์อนุญาตให้ผู้หญิงคนนี้บวชได้ โดยไม่ต้องมาเอง เรียกว่าเป็นการบวชแบบพิเศษ คือบวชแบบใช้ตัวแทนให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งอยู่อีกเมืองหนึ่งนั้น แต่งตั้งภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นตัวแทนแล้วทำการบวชให้แทน อันนี้เป็นกรณีพิเศษมาก แล้วคณิกา คนนี้หลังจากที่เป็นภิกษุณีแล้วไม่นานก็บรรลุอรหันต์ ทำให้เห็นว่าความยืดหยุ่นมีได้โดยมีเจตนาสำคัญอยู่ที่การให้โอกาสคนที่จะบรรลุธรรม รูปแบบของการบวชจึงเป็นรองเป้าหมายในการบวช

สรุปในส่วนนี้ก็คือ อยากจะชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าในเชิงของโครงสร้างองค์กร ภิกษุณีสงฆ์จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภิกษุสงฆ์ก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เท่ากับเป็นการปลดปล่อยผู้หญิงออกจากพันธนาการของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นพันธนาการของผู้หญิงอันใหญ่หลวงที่สุด และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการปลดปล่อยผู้หญิงในเชิงจิตวิญญาน อันนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

ต่อมาในประเด็นที่สอง, อยากจะขอพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติของการบรรลุธรรมกับรูปแบบของการปฏิบัติที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว สองสิ่งนี้มันสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วมันมีความสำคัญตรงไหนในประเด็นที่เราจะพูด

คิดว่าหลายคนที่ตามเรื่องนี้คงจะได้อ่าน หรือได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหญิงหรือนักบวชชายซึ่งเป็นพระหรือแม่ชีก็ดี หลายๆท่านพูดคล้ายๆกันว่า อันที่จริงนั้น ธรรมชาติของการบรรลุธรรมก็คือการฝึกจิตให้ปล่อยวาง ปล่อยวางหมายความว่า ให้ไปพ้นการคิดในเชิงแบ่งแยกเป็นขั้วตรงข้าม ไปพ้นการติดยึดในรูปแบบต่างๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า การบรรลุธรรมก็คือว่า อยู่ในสภาพคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติได้ และสามารถบรรลุธรรมได้ด้วย. คฤหัสถ์สามารถบรรลุธรรมได้ถึงขั้นอนาคามี ดังนั้นโดยสรุปแล้วก็คือว่า จะปฏิบัติในฐานะอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องขวนขวายมาเป็นภิกษุณี

ประเด็นนี้คิดว่า เราจำเป็นต้องแยกแยะให้ดี คือแยกแยะการมองประเด็นจากมุมมองภายในของนักปฏิบัติ แยกออกจากปัญหานี้ในเชิงโครงสร้าง หมายความว่าอย่างไร ? ในแง่ของมุมมองภายในในแง่ของนักปฏิบัตินั้น อย่างที่กล่าวไว้แล้วก็คือว่า นักปฏิบัติธรรมนี่จะต้องฝึกตนเอง ฝึกท่าทีในการมองโลกเสียใหม่ ปฏิวัติในท่าทีในการมองโลกเสียใหม่ พยายามยกจิตให้เป็นอิสระเหนือกรอบคิดในเชิงแบ่งแยกทั้งมวล รวมทั้งกรอบคิดในการนิยามทางด้านภาษา เพราะถึงจุดหนึ่ง การฝึกจิตให้เป็นอุเบกขา จะถูกฝึกให้จิตไม่ตอบโต้กับสิ่งที่จะมากระทบจากข้างนอก ดังนั้นถ้าจิตเป็นลักษณะนี้ แน่นอนว่าประเด็นจะเป็นภิกษุณี หรือไม่เป็นภิกษุณี เป็นเรื่องเล็ก เป็นประเด็นรอง เพราะสำหรับมุมมองของนักปฏิบัติก็คือว่า ปฏิบัติไปเถอะเพราะรูปแบบพวกนี้เป็นเรื่องภายนอก อันนี้เป็นมุมมองภายในจากเหล่านักปฏิบัติ

แต่ถ้าเรามองจากอีกมุมมองหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้าง หมายความว่า ในการจะปฏิบัติธรรมไปได้ให้ถึงจุดดังกล่าว จุดที่ถึงอุเบกขา จุดที่ยกจิตเหนือการแบ่งแยกได้ นักปฏิบัติต้องอาศัยองค์ประกอบแวดล้อมเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น องค์ประกอบแวดล้อมในเชิงโครงสร้างสังคม ในเชิงปัจจัยสี่ ในเชิงการดำเนินชีวิต และที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมเชิงวัตถุที่เป็นจริง และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการจะบรรลุธรรมได้เร็วได้ช้า

ถ้าหากว่าองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมเชิงโครงสร้าง วิถีชีวิต หรือในระดับสมมุติบัญญัติ(ตามภาษาของนักปฏิบัติ) ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญแล้วละก็ จำเป็นที่จะต้องมีสังคมสงฆ์ไปทำไม ถ้าหากว่าเป็นคฤหัสถ์ก็บรรลุธรรมได้. อันนี้ไม่ต้องสงสัยเลย พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญวิถีชีวิตในอุดมคติ โปร่ง เบา สบาย เกื้อกูลต่อความเป็นอิสระทางจิตวิญญาน เหนือวิถีชีวิตในรูปแบบคฤหัสถ์มากนัก ดังนั้นจึงแน่ชัดว่า รูปแบบของชีวิตนักบวชนั้นประเสริฐกว่าแน่สำหรับการเป็นอิสระทางจิตวิญญาน ในแง่นี้ รูปแบบของการใช้ชีวิต รูปแบบของการปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้เป้าหมายในที่สุดแล้ว การบรรลุธรรมจะไปพ้นการติดยึดรูปแบบก็ตาม

อันนี้เป็นสิ่งซึ่งเป็น paradox คือดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งมันเกื้อหนุนกัน การปฏิบัติธรรมถึงที่สุดแล้วเป็นการไปพ้นรูปแบบทุกประการ แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น การอิงอาศัยรูปแบบวิถีชีวิตที่ถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็นในการนำไปสู่เป้าหมายของการไปพ้นรูปแบบ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึง ถ้าเราคิดว่า ในที่สุดแล้วรูปแบบของนักบวชเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับการนำไปสู่เป้าหมายนั้น คำถามต่อมาก็คือว่า ทำไมรูปแบบนักบวชนี้จึงอนุญาตให้แต่เพียงผู้ชาย. อาจจะมีคนกล่าวว่า รูปแบบของนักบวชหญิงก็มีอยู่แล้ว แม่ชีไงเล่า! อันนี้ก็จะนำมาสู่ประเด็นที่สามนะคะ ก็คือ...

ท่าทีของสังคมไทยที่มีต่อนักบวชทั้งหญิงและชายที่มีอยู่. ในแง่ของนักบวช ปัจจุบันนี้เรามีแม่ชี แต่โปรดสังเกตว่า จริงๆแล้วในทางเทคนิค แม่ชีไม่ใช่นักบวช หมายความว่าพิจารณากันในเชิงธรรมวินัยแล้ว แม่ชีเป็นเพียงอุบาสิกา มีศัพท์เรียกแม่ชีอย่างเป็นทางการว่า อุบาสิกา ซึ่งก็คือคฤหัสถ์

ท่านเจ้าคุณประยุทธพูดเอาไว้ชัดเจนว่า แม่ชีก็คือคฤหัสถ์ที่ต้องการจะปลีกตัวจากโลก ก็เลยมาถือศีล 8 นุ่งขาวห่มขาวอยู่กับวัด ซึ่งถ้าเป็นฝ่ายชายก็จะเรียกว่าชีปะขาว หรือผ้าขาว. ในแง่นี้ แม่ชีไม่ใช่นักบวช เราแทบไม่เคยได้ยิน น้อยมากถ้าจะมีก็เป็นกรณียกเว้นที่จะได้ยินคนใช้ศัพท์พระกับแม่ชี เช่น ฉัน(กิน) รูป หรือ องค์ อันนี้แทบไม่เคยได้ยิน

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่า สังคมไทยปัจจุบันยอมรับฐานะของผู้หญิงที่เป็นแม่ชีมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีผู้หญิงซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีพื้นฐานภูมิหลังในทางการศึกษาดีพอสมควรมาบวชมากขึ้น แล้วก็กลายมาเป็นที่ยอมรับ อย่างเช่น แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต, แม่ชีอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง, หรือแม่ชีอาจารย์สุภาพรรณ ณ บางช้าง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การยอมรับเหล่านั้น เป็นการยอมรับแม่ชีในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล หรืออีกนัยหนึ่งคือการยอมรับคุณธรรมเฉพาะตัวของแม่ชี ไม่ใช่ยอมรับสถาบันผ้าขาว

สิ่งที่จะชี้ให้เห็นกันชัดเจนในเรื่องการยอมรับคุณธรรมส่วนบุคคลก็คือว่า สำหรับผู้หญิงนักปฏิบัติธรรมบางท่าน ซึ่งปฏิบัติธรรมจนเป็นที่ยอมรับ ถึงไม่ได้โกนหัวบวชคนก็กราบไหว้ อย่างเช่น อาจารย์...คุณแม่สิริ กลินชัย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คนกราบท่านเพราะเชื่อว่าท่านเป็นอริยบุคคล อันนี้เป็นการเคารพคุณธรรมส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องบวช

อันนี้ต่างกันมากเลยกับผ้าเหลือง ผ้าเหลืองนี่มีความเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองที่คนไทยให้ความเคารพนับถือและเกรงกลัวมาก และการเคารพผ้าเหลือง คนไทยสามารถจะยกอยู่เหนือการเคารพคุณธรรมส่วนบุคคลคนนั้นก็เป็นได้ ความเกรงใจผ้าเหลืองนี่เราจะเห็นว่า อีกด้านหนึ่งมันเป็นช่องให้คนอาศัยผ้าเหลืองอันนี้เข้ามาหากิน บางครั้งมีพระมาขอบริจาคอะไร คนบางคนอาจจะไม่อยากให้ แต่ก็อึดอัดไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้ไปดีกว่า จะได้ไม่มีเรื่อง ไม่อยากจะทำอะไรกระทบกระเทือนผ้าเหลือง

จุดนี้ทำให้เกิดกระบวนการหนึ่ง ที่เมื่อ 20-30 ปีก่อนเกิดกรณีที่เรียกว่า "ซาอุเหลือง" คือชาวบ้านจากหมู่บ้านยากจนในอีสานลงทุนปลอมเป็นพระ เป็นวิธีการหากินที่ง่ายที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง แล้วทำกันเป็นขบวนการใหญ่โตพอสมควร คือยกมากันทั้งหมู่บ้าน... สิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ไม่กล้าที่จะตั้งคำถามกับผ้าเหลืองของคนไทย

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เห็นว่า คนไทยได้ยกผ้าเหลืองให้อยู่เหนือความถูกผิดหรือคุณธรรมส่วนบุคคล ของบุคคลที่ครองผ้าเหลืองนั้นด้วยซ้ำไป กรณีหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวทางสื่อมวลชน เมื่อพระผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งถูกจับสึกในข้อหาปาราชิกในเรื่องเกี่ยวกับสีกา (ในที่นี้เราจะไม่ลงไปในรายละเอียด) ที่น่าสนใจก็คือ ปฏิกริยาของชาวบ้านต่อเรื่องนี้ นักข่าวไอทีวีไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ติดวัด ซึ่งพระรูปนี้อยู่. ถามว่าเขารู้สึกอย่างไร ? ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ชายตอบว่า "ชาวบ้านแถบนี้รู้เรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว ตัวเขานี่ แม้รู้แล้วก็ยังไปทำบุญใส่บาตรที่วัดนี้เสมอ เพราะเห็นแก่ผ้าเหลือง" ประโยคนี้น่าสะกิดใจมาก เพราะการเคารพผ้าเหลืองในลักษณะแบบนี้ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่นี่มันเป็นการต่ออายุผ้าเหลือง ต่ออายุศาสนา หรือเป็นการบั่นทอนศาสนากันแน่ ? อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องทบทวน แล้วก็ตั้งคำถาม

ที่กล่าวมานี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกันมากระหว่างไผ้าเหลือง"กับ"ผ้าขาว" คนไทยไม่ยอมรับผ้าขาวในฐานะที่เป็นสถาบันในตัวเอง และการไม่ยอมรับสถาบันแม่ชี การเป็นนักบวชของแม่ชี มันนำไปสู่ความยากลำบากเหลือเกินของแม่ชีแต่ละคน แต่ละปัจเจก ในฐานะที่เป็นนักปฏิบัติธรรม ถ้าสังคมไม่เกื้อกูน ไม่เห็นแม่ชีเป็นนักบวชแล้วละก็ บางครั้ง การดำรงเพศพรหมจรรย์นั้นเป็นสิ่งที่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง

จะขอยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เห็นความเพิกเฉยหรือความโหดร้ายของสังคมต่อแม่ชี เป็นตัวอย่างเล็กๆอันหนึ่งท่ามกลางตัวอย่างมากมาย ตัวอย่างนี้ แม่ชีรัญจวน อินทรกำแหงเล่าให้กับนักวิจัยท่านหนึ่งฟังว่า ท่านเคยเดินทางไปในเวลากลางคืน โดยรถบัสโดยสารปรับอากาศซึ่งเป็นรถนอน ท่านได้ที่นั่งซึ่งเป็นที่นั่งของนักบวชที่อยู่ตอนหน้าของรถ ก่อนรถจะออกมีพระภิกษุขึ้นมา ภิกษุก็สั่งท่านให้ไปนั่งที่อื่น แล้วพระก็นั่งตรงที่นั้น หลังจากนั้นปรากฎว่าทั้งรถไม่ที่ว่างเลย ยกเว้นที่นั่งเดียวคือที่ซึ่งติดกับผู้ชายที่เมาเหล้า ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่ารถโดยสารกลางคืนเขาจะปิดไฟ แม่ชีรัญจวนรู้สึกอึดอัดใจและไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำแบบนั้น เพราะผิดวิสัยของนักบวช แต่ปรากฏที่น่าเศร้าก็คือว่า รถทั้งคันนั้นไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือฆราวาสที่จะใส่ใจถึงความลำบากใจ ความอึดอัดใจความยากลำบาก ด้วยการเอื้ออาทรแม่ชี ไม่มีใครสักคนที่อาสาจะลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนที่นั่งกับแม่ชี ไม่มีเลย. ท่านจำใจจะต้องนั่งตรงนั้นไปตลอดทางเพราะว่า มันเป็นรถที่เดินทาง 7-8 ชั่วโมง อันนี้เป็นตัวอย่างที่น่าเศร้าที่แสดงถึงความโหดร้ายของสังคมไทย และมีพื้นมาจากไม่ยอมรับสถานภาพนักบวชของแม่ชี

ตัวอย่างที่เล่าไปแล้วนี้ แสดงให้เห็นว่า ว่าอย่าว่าแต่ผู้หญิงกับผ้าเหลืองเลย ลำพังผู้หญิงที่นุ่งห่มผ้าขาวก็ถูกสังคมละเลยทอดทิ้ง จะมาพูดถึงผู้หญิงกับผ้าเหลืองๆไปทำไม ซึ่งตรงนี้ตัวอย่างที่ชัดเจนมาจากผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งจะขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งจากรายการวิทยุ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นที่อาจารย์ฉัตรสุมาลย์ บวชเป็นสามเณรี. มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนฟังได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงทัศนะด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ว่า "ทำไมต้องลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ผิดประเพณี ไม่เป็นการสมควรจริงๆ ผ้าเหลืองเป็นของสูง ผู้หญิงไม่ควรบังอาจเอามาสวมใส่ ดิฉันคิดว่าเป็นการทำลายพุทธศาสนามากกว่า". ตัวอย่างนี้ชัดเจนนะคะว่า ผ้าเหลืองกับผู้หญิงถูกมองอย่างไร ?

ก่อนจะจบการสนทนา อยากจะยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นทัศนะเรื่องของผู้หญิงกับผ้าเหลืองอีกแบบหนึ่ง เป็นทัศนะที่ตรงข้ามกับที่เพิ่งยกตัวอย่างไป แต่ตัวอย่างนี้ได้เอามาจากภาพโปสการ์ดภาพหนึ่ง เมื่อต้นปี 2543 มีผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศแถบสแกนดินเนเวีย ได้ส่งรูปๆหนึ่งมาให้กับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนรายสัปดาห์ และภาพโปสการ์ดนี้เป็นภาพของผู้หญิงฝรั่ง โกนศีรษะแบบนักบวชและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเหลือง (ภาพที่ตีพิมพ์เป็นภาพขาวดำ แต่ดิฉันมั่นใจว่าเสื้อที่สวมใส่เป็นสีเหลือง) แต่ไม่ใช่จีวร มีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาวผ่าหน้า แล้วท่อนล่างเป็นกางเกง แล้วนั่งในท่าสมาธิ มือประสานอยู่บนตัก สีหน้าเคร่งขรึม สงบสำรวมมาก ดูไม่มีอะไร แต่จุดเด่นของภาพนี้ซึ่งทำให้คนดูช็อคก็คือว่า เสื้อของผู้หญิงคนนี้เปิดด้านบนทำให้เห็นหน้าอกที่เปล่าเปลือย และท้องที่กำลังตั้งครรภ์ซึ่งใกล้คลอด ภาพนี้ไม่มีคำบรรยาย

ผู้ชายที่ส่งภาพนี้มา เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการว่า อันนี้เป็นการหยามหยาบจาบจ้วงศาสนาอย่างรุนแรงที่เขารับไม่ได้ และรู้สึกอเนจอนาถใจมาก ก็เลยส่งมาให้คนช่วยกันดูเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ อันที่จริงภาพนี้ดิฉันเชื่อว่าชาวเถรวาททั่วไปรับไม่ได้ เพราะว่าภาพนี้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้แบบมหายาน คือใช้วิธีการกระแทกตรงๆ ด้วยการเอาสัญลักษณ์ที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมาไว้ในที่เดียวกัน เป็นการกระแทกให้คนดูได้สติแล้วคิดถึงว่า ทำไมต้องมีสิ่งซึ่งขัดแย้งกันสองสิ่งมาอยู่ในภาพเดียวกัน ในที่นี้เป็นความขัดแย้งของร่างกายเปล่าเปลือยของผู้หญิงและผ้าเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่สูงสุด

ความหมายของภาพนี้ อย่าลืมว่าเป็นภาพของผู้หญิงครรภ์แก่... อันที่จริงร่างเปลือยของผู้หญิง จะอยู่ตรงไหน จะอยู่ที่ไหน คือความหมายของร่างเปลือยขึ้นอยู่กับบริบท ถ้าหากว่าร่างเปลือยนี้ไปอยู่กับหนังสือเกี่ยวกับมารดาและทารก ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอมาวางเทียบเคียงกับผ้าเหลือง กลายเป็นเรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องของการหยามหยาบจาบจ้วงขึ้นมา ความหมายของภาพนี้จริงๆแล้วต้องการจะทำให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนถือกำเนิดมาจากครรภ์มารดา ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ต้องอาศัยครรภ์มารดา เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาน แล้วเมื่อคลอดออกมาก็อาศัยความรักของมารดา น้ำนมของมารดาหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาน ดังนั้น ความหมายของภาพนี้จึงเป็นการ ยกฐานะร่างเปลือยของผู้หญิงคนนี้ให้เป็นร่างที่ศักดิ์สิทธิ์และคู่ควรกับการสวมใส่ผ้าที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นภาพของการเปลืองผ้า ถ้าใช้ศัพท์ของอาจารย์นิธิ มันเป็นภาพของการเปลืองอำนาจ เปิดโปงให้เห็นถึงอุดมการของการแบ่งแยกกีดกัน และอคติทางเพศ ที่แฝงอยู่ในการนับถือศาสนา เป็นภาพที่ทำให้เราคิดนะคะว่า เบื้องหลังความรู้สึกต่อต้านรุนแรงนั้น มันมีอะไรที่แฝงอยู่

สำหรับดิฉัน ก็คงจะจบการบรรยายในช่วงต้นแต่เพียงเท่านี้ และขอเชิญท่านอาจารย์ประมวล ต่อเลยค่ะ

สมเกียรติ ตั้งนโม : ใคร่เรียนเชิญอาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มช. พูดต่อจากอาจารย์ ดร.อภิญญา เลยครับ แล้วหลังจากนั้น จะเปิดให้ทุกคนในชั้นเรียนได้เรียนถามถึงเรื่องภิกษุณีนี้กับอาจารย์ทั้งสองท่านต่อไป

ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อภิญญาเสนอมาทุกประการ และขอเพิ่มเติมอธิบายในประเด็นที่ว่า ในประเด็นที่เราพูดคุยเกี่ยวกับปัญหา"ภิกษุณี คติหรืออคติ"นี้ ผมคิดว่ามีข้อที่เราควรจะทำให้มันแยกออกจากกันให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นปัญหา 2 ปัญหาที่สับสน

ปัญหา 2 ปัญหาที่ผมจะเสนอให้แยกออกจากกันคือเรื่อง หลักการที่ว่า เราควรจะมีภิกษุณีในสังคมไทยหรือไม่ ? และปัญหาที่ 2 ก็คือ ถ้าหากเห็นว่าควรมี อุปสรรคอยู่ตรงไหน แล้วเราควรจะแก้ปัญหาอุปสรรคนั้นอย่างไร ? ผมคิดว่าทั้ง 2 ปัญหานี้เราควรพูดและทำความเข้าใจกับปัญหาที่ 1 เสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราจะเอาปัญหาที่ 1 ไปพันกับปัญหาที่ 2 แล้วเอาข้ออ้างของปัญหาที่ 2 มาหักล้างข้อที่เราจะคุยกันในปัญหาที่ 1

ปัญหาข้อที่ 1 คือ โดยหลักการที่เราพูดกันว่า ควรจะมีภิกษุณีหรือไม่ ? เมื่อสักครู่นี้ อ.อภิญญา ก็พูดไปแล้วว่า โดยเหตุผลที่มีมาในประวัติศาสตร์ และด้วยข้ออ้าง เราสามารถที่จะมีภิกษุณีได้ แล้วก็ควรมี ผมขอสนับสนุนความเห็นนี้ว่า เราควรจะมีภิกษุณีในสังคมไทยได้ ด้วยเหตุผลประกอบหลักๆ 2 ประการ

ประการที่ 1 คือ การมีภิกษุณีในสังคมไทยนั้น เป็นการทำให้พุทธบริษัทมีความสมบูรณ์ ตามพุทธประสงค์หรือเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เองก็ได้แสดงให้เห็นชัดเจนเมื่อตอนที่จะทรงดับขันธปรินิพพาน พระองค์ทรงมีข้อคำนึงอยู่ประการหนึ่งว่า พระองค์ได้สถาปนาสร้างสังคมพุทธบริษัทที่สมบูรณ์เข้มแข็งแล้วหรือยัง ? คำว่าสังคมพุทธบริษัทที่สมบูรณ์เข้มแข็งแล้วหรือยัง ให้ดูว่า พระองค์ได้ทำให้เกิดพุทธบริษัทครบทั้ง 4 ทั้งในฝ่ายนักบวชและคฤหัสถ์ นั่นคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าดำริที่จะปลงอายุสังขาร ทรงกำหนดว่า พระองค์ได้ประกอบภารกิจเสร็จแล้ว สมควรที่จะละสังขารได้ พระองค์ได้ทำให้เกิดพุทธบริษัทที่สมบูรณ์แล้ว ด้วยเหตุอันนี้ ผมคิดว่านี่เป็นข้อที่เราควรคิดคำนึง ว่าพระพุทธองค์ในฐานะที่เป็นพระศาสดานั้น มีความประสงค์ให้พุทธบริษัทประกอบขึ้นด้วย การมีนักบวชที่เป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และคฤหัสถ์ที่เป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และพุทธบริษัททั้ง 4 นี้จะต้องเกื้อกูนและอุดหนุนซึ่งกันและกันเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง. เพราะฉะนั้นโดยหลักการอันนี้ ผมคิดว่าไม่มีข้อใดๆเลยที่เราจะปฏิเสธว่าสังคมชาวพุทธไม่สมควรมีภิกษุณี นั่นคือเหตุผลที่จะสนับสนุนว่าเราควรมีภิกษุณี

ประการที่ 2 คิดว่า สิ่งที่เราควรจะพิจารณาประกอบก็คือ ในสภาพสังคมปัจจุบัน เมื่อเรามองถึงภิกษุณี คำถามคือ ภิกษุณีเกิดขึ้นแล้วจะเป็นผลเสียหายอะไรหรือไม่ ? ผมคิดว่ายังหาคำชี้แจงหรือคำตอบไม่ได้ว่าภิกษุณีจะก่อให้เกิดความเสียหายใดๆในการจะมีภิกษุณีขึ้น แล้วจะทำให้สังคมชาวพุทธอ่อนแอหรือเสื่อมโทรม

ในความคิด ผมกลับเห็นเป็นตรงกันข้ามก็คือ การที่เรามีผู้หญิงส่วนมากซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมีความประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี การที่มีผู้ประสงค์เช่นนั้น น่าจะมีการสนับสนุนให้เกิดการบวชเป็นภิกษุณีได้ เพราะว่าการบวชถือว่าเป็นการดีในคติความเชื่อของชาวพุทธ เมื่อเป็นการดีสำหรับผู้ชาย ก็ย่อมจะเป็นการดีสำหรับผู้หญิงด้วย

เพราะฉะนั้น ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งสังคมเองก็ไม่ปฏิเสธหลักการที่ว่า ภิกษุณีคือส่วนหนึ่งของพุทธบริษัท ประกอบเข้ากับสังคมในปัจจุบันก็มีความประสงค์หรือแนวโน้มที่จะให้สิ่งที่เรียกว่า"ความเสมอภาค"ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่พูดคุยกันอยู่ในปัจจุบันนี้ คิดว่าโดยองค์ประกอบ 2 ข้อข้างต้น จึงนำมาสนับสนุนปัญหาข้อที่ 1 ว่า "เราควรมีภิกษุณี หรือไม่ควรมี" ...คำตอบคือ "ควรมี"

เมื่อเราพูดถึงปัญหานี้กันแล้ว เราจึงมาพูดถึงปัญหาข้อที่ 2 ว่า เราจะมีภิกษุณีได้อย่างไร ?

ผมเข้าใจ และจากการได้ฟังข้อสนทนาหรือข้อคิดเห็นผ่านสื่อ ซึ่งมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนมาก คนทุกคนที่ออกมาพูดเรื่องภิกษุณีมักจะพูดปัญหาข้อที่ 2 คือพูดว่า ภิกษุณีมีไม่ได้เพราะมีเหตุขัดข้องทางพระวินัย หมายความว่ามีเหตุขัดข้องทางเทคนิคที่จะเป็นภิกษุณี แม้กระทั่งพระคุณเจ้าที่ออกความเห็นว่า มีภิกษุณีไม่ได้ก็ยอมรับว่าควรมีภิกษุณี หรืออยากให้มีภิกษุณี แต่มีไม่ได้เพราะเหตุว่ามีปัญหาทางด้านพระวินัย

คิดว่าเรื่องนี้จะต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน เรื่องปัญหาพระวินัยเป็นปัญหาเชิงเทคนิค นั่นคือหมายความว่า พระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทก็คือคณะสงฆ์ไทยอ้างว่า มีภิกษุณีไม่ได้เพราะปัจจุบันนี้ ไม่มีภิกษุณีที่จะเป็นปวัตตินี ที่จะรับผู้หญิงมาบวช เพราะต้องบวชกับภิกษุณีสงฆ์ก่อนแล้วจึงจะไปบวขกับภิกษุสงฆ์ในภายหลัง เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี จึงทำให้มีเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถบวชได้

ผมคิดว่าข้ออ้างนี้เป็นข้ออ้างที่ฟังได้ แต่ฟังไม่ขึ้น ที่ฟังไม่ขึ้นหมายความว่า กรณีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในแวดวงพุทธบริษัท หรือแวดวงพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในอดีตครั้งหนึ่งเมื่อคณะสงฆ์ไทยขาดหาย หมายความว่า เราไม่มีคณะสงฆ์ไทยที่เชื่อว่าจะเป็นสงฆ์ เราก็เคยขอความร่วมมือและความช่วยเหลือโดยการที่ไปขอพระสงฆ์จากประเทศศรีลังกามาเป็นผู้อุปสมบทกุลบุตรไทยให้เป็นพระสงฆ์ไทย แล้วก็สืบต่อคณะสงฆ์ไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้

หรือในกรณีตรงกันข้าม เมื่อเกิดปัญหาทำนองเดียวกันนี้ในประเทศศรีลังกา คณะสงฆ์ศรีลังกาขาดหายไปในช่วงเกิดศึกสงคราม ภิกษุขาดหายหมดเลย กษัตริย์ศรีลังกาก็ได้ทำหนังสือมายังคณะสงฆ์ไทยช่วย ด้วยการส่งพระไทยไปบวชให้กับกุลบุตรชาวศรีลังกา ดังที่เรามีนิกายสยามวงศ์อยู่ในประเทศนั้น ก็เกิดจากการที่พระอุบาลีซึ่งเป็นหัวหน้าคณะในตอนนั้น ไปบวชให้นั่นเอง ปัจจุบันก็ยังมีการเคารพพระภิกษุไทยรูปนี้ในประเทศศรีลังกาด้วย

สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติว่า เมื่อมีการประกาศาสนาพุทธไปที่ใด แม้ไม่เคยมีพุทธศาสนาอยู่ก่อน ก็มีพระสงฆ์ไปประกาศและอุปสมบทให้กับกลุบุตรของประเทศนั้นๆ หรือหากว่าเคยมีแต่ขาดหายไป ก็ขอมาแล้วก็ขอบวชได้ ดังนั้นในกรณีของภิกษุณี ไม่ควรอ้างว่าไม่มีแล้วก็ต้องให้ขาดหายไปเลย การอ้างด้วยข้ออ้างแบบนั้น ผมคิดว่ายังไม่ชอบด้วยจารีตประเพณี เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ คิดว่าข้ออ้างนี้สามารถทำได้ โดยการขอความร่วมมือกับคณะสงฆ์ หรือภิกษุณีสงฆ์ในประเทศอื่น เช่น ศรีลังกาที่ได้มีภิกษุณีขึ้นแล้วในปัจจุบัน

ประการที่ 2 การอ้างข้อขัดข้องในเชิงเทคนิคหรือพระวินัย ต้องอ้างด้วยความรู้สึกที่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการมีภิกษุณีมากกว่าจะอ้างตามตัวอักษร เพราะถ้าอ้างตามตัวอักษรจะเป็นการอ้างเพื่อจะไม่ปฏิบัติ อ้างเพื่อจะยกขึ้นมาปฏิเสธ มากกว่าจะอ้างเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม

ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราจะอ้างว่าเราไม่สามารถยอมรับการมีภิกษุณีสงฆ์ของที่อื่น แล้วไม่สมควรให้มาร่วมมือกับพระสงฆ์ไทยเพื่อบวชภิกษุณีนั้น เช่นข้ออ้างที่ว่าเป็นนิกายมหายาน ข้ออ้างว่าเป็นการบวชที่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับ ผมคิดว่าข้ออ้างนี้เป็นข้ออ้างที่คณะสงฆ์ไทยจะต้องทบทวน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคณะสงฆ์ไทยจะมีข้ออ้างที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ไม่ยอมรับการบวชโดยคณะสงฆ์อื่น ซึ่งเป็นปัญหาตลอดมา เพราะเหตุว่าการอ้างเช่นนี้เคยทำให้เกิดมีความร้าวฉานอยู่ในคณะสงฆ์หลายครั้ง จึงอยากจะฝากเรื่องนี้ให้คิดด้วยว่า การอ้างว่าบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้น เป็นข้ออ้างที่ทำให้เกิดเป็นปัญหามาก ยิ่งกว่าจะก่อให้เกิดการแก้ปัญหา

เพราะฉะนั้น การจะดูพระวินัยให้ดูที่เจตนารมณ์ ว่าเจตนารมณ์ของพระวินัยที่มีข้อกำกับหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุณีสงฆ์นั้น เกิดขึ้นจากเงื่อนไขสังคมอินเดียในสมัยนั้น ซึ่งไม่ยอมรับการที่จะให้ผู้หญิงได้เป็นนักบวชในศาสนา การไม่ยอมรับนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง แต่เป็นการไม่ยอมรับมาจากคติของศาสนาพราหมณ์เดิม ที่รังเกียจจะให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนในเรื่องกิจการทางศาสนา แล้วข้อรังเกียจนี้ได้กลายมาเป็นจารีตของสังคมอินเดียและจารีตนี้เองที่พระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วย

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงประทานให้ผู้หญิงบวชนั้น ก็รู้ข้อเท็จจริงนี้ จึงมีเงื่อนไข หรือข้อตกลงเป็นการเฉพาะกับผู้หญิงที่จะบวช ด้วยความเข้าใจว่า ผู้หญิงที่จะบวชต้องฝืนจารีตประเพณีของชาวอินเดีย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจน เพื่อให้สังคมอินเดียซึ่งมีปัญหากับการสถาปนานักบวชผู้หญิงขึ้น จะได้ไม่มีข้อที่จะต้องทำให้เกิดมีปัญหาในเวลาต่อมา

ดังนั้นผมคิดว่าตรงนี้ ควรจะคิดถึงเจตนารมณ์ว่า สังคมอินเดียในสมัยนั้นไม่ต้องการให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนในกิจการของนักบวช ซึ่งนักบวชในที่นี้หมายถึงนักบวชในศาสนาพราหมณ์ที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น แต่พระพุทธเจ้าต่างหากที่เห็นว่าควรมี ผมจึงคิดว่า ปัจจุบันนี้เรากลับถอยกลับไปถึงสังคมอินเดียแล้วกระมัง เพราะเหตุว่า เรากำลังทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ชาวบ้านปรารถนาให้มีภิกษุณี แต่พระสงฆ์กลับกลายเป็นพวกพราหมณ์หรือใครก็แล้วแต่ที่ปฏิเสธการมีนักบวชเป็นผู้หญิง อันนี้ควรเป็นข้อที่พระสงฆ์และพุทธบริษัทไทยควรจะระลึกให้ชัดเจนว่า ข้ออ้างในเรื่องภิกษุณี ต้องเข้าใจในเชิงเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าและการสถาปนาคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายภิกษุสงฆ์ให้ชัดเจน

นี่คือประเด็นที่ผมเสนอขึ้นมาเพื่อจะสนับสนุน อ.อภิญญา และเป็นการเสนอประเด็นเพื่อการสนทนาแลกเปลี่ยนกันในช่วงต่อไปครับ

คลิกไปอ่านหน้าต่อไป

(หมายเหตุ : หน้าต่อไปจะถอดเทปเสร็จหลังวันที่ 5 สิงหาคม 2544)

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

 

หากภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา