หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะแก้ปัหาได้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
ภาพประกอบจากหนังสือ AIGA Graphic Design USA2 หน้า 200 / Art Director : Mark Hogan / Photographer : Jim Marchese
สนใจต้นฉบับภาษาอังกฤษ กรุณาคลิกไปที่
http://www.uta.edu/huma/illuminations/kell5.htm
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเตรียมวิจัยเรื่อง "ข้อเสนอการประยุกต์ปรัชญาของกลุ่มแฟรงค์เฟริทสกูล มาใช้เป็นฐานคิดการสร้างสรรค์ศิลปะหลังสมัยใหม่ในประเทศไทย" : สมเกียรติ ตั้งนโม
content page
member page
webboard

แฟรงค์เฟริทสกูล
บทความเกี่ยวกับทฤษฎีสังคม
H

หัวข้อย่อยในบทความนี้

1.ทฤษฎีทางสังคมในทุกวันนี้ได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต
2.ภูมิหลังความเป็นมาเกี่ยวกับทฤษฎีวิพากษ์
3. ลัทธิวัตถุนิยมและวิภาษวิธี
4.ทฤษฎีวิพากษ์
5. ระบบ, ภาพรวมทั้งหมด, และทฤษฎีวิพากษ์โดยรวม
6. กระบวนทัศน์ที่ขัดแย้ง และทฤษฎีวิพากษ์สังคม
7. สังคมมิติเดียว และวิกฤตของทฤษฎีวิพากษ์
8. ทิศทางใหม่ๆ: มุมมองใหม่ๆ (บทสรุป)

[หมายเหตุ] บทความชิ้นนี้ ได้ทำบทสรุปสาระสำคัญในแต่ละหัวข้อย่อยเอาไว้. เนื่องจากบทความชิ้นนี้ค่อนข้างยาวและมีความซับซ้อน สรุปสาระสำคัญจะช่วยให้ผู้อ่านได้มองเห็นประเด็นสำคัญที่มีการกล่าวถึงในบทความได้โดยภาพกว้าง

1.ทฤษฎีทางสังคมในทุกวันนี้ได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต

ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1960s ความหลากหลายของกระบวนทัศน์ทางทฤษฎีสังคมใหม่ๆได้ปรากฎตัวขึ้นมามากมาย ซึ่งได้ทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องของปริมาณและคุณภาพเกี่ยวกับทฤษีเหล่านี้ ในบรรดาทฤษฎีสังคมและงานวิจัยทางสังคมที่ผุดขึ้นมานี้รวมไปถึงแนวคิดทางด้านประสบการณ์นิยมและปฏิฐานนิยม(empiricist and positivist)ด้วย(1)(2)
(1) ประสบการณ์นิยม (empiricism) ในทางญานวิทยา หมายถึง ความรู้ทิ่เชื่อถือได้ มีอย่างเดียวเท่านั้นคือประสบการณ์(experience) ซึ่งหมายถึงความรู้ที่ผ่านประสาทสัมผัส ทัศนะนี้ไม่เชื่อว่ามีความรู้ก่อนประสบการณ์ จะมีก็แต่ความรู้หลังประสบการณ์เท่านั้น (ตรงกันข้ามกับ เหตุผลนิยม - rationalism)
(2) ปฏิฐานนิยม (positivism) ทัศนะนี้ถือว่า ความรู้ที่สูงที่สุด คือความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัส

เหตุนี้จึงทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระเบียบวิธีและทฤษฎีต่างๆที่ครอบงำอยู่ในช่วงเวลานั้น ทำให้มีการแสวงหาวิธีการที่เป็นทางเลือกและแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีและการวิจัยทางสังคมไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของศาสตร์ต่างๆ เช่น ปรากฏการณ์วิทยา(phenomenology), วิธีการชาติพันธุ์วิทยา(ethno-methodology), โครงสร้างนิยม(structuralism), มาร์กซิสม์(Marxism), ลัทธิสิทธิสตรี(feminism), และทฤษฎีวิพากษ์อื่นๆ กระบวนทัศน์เหล่านี้ได้ให้แนวความคิดใหม่ๆซึ่งอ้างว่าเพียงพอที่จะอธิบายคุณสมบัติของสังคมร่วมสมัย และพอที่จะให้แรงบันดาลใจและแนวทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงมันได้.

เมื่อเร็วๆนี้ นักทฤษฎีสังคมหลังโครงสร้างนิยมและหลังสมัยใหม่(poststructuralist and postmodern social theory) ได้ท้าทายต่อทฤษฎีสังคมและสังคมศาสตร์กระแสหลัก(mainstream social theory and science)มากขึ้น, ทฤษฎีพวกแรกได้โจมตีต่อสมมุติฐานขั้นพื้นฐานของพวกหลัง. ยิ่งไปกว่านั้น คำอธิบายในลักษณะวิพากษ์ใหม่ๆเหล่านี้ยังได้วิจารณ์ลัทธิมาร์กซ์, โครงสร้างนิยม, ปรากฏการณ์วิทยา และกระบวนทัศน์ที่สำคัญๆอื่นๆอย่างแหลมคม เพื่อการมีส่วนร่วมโดยการเสนอสมมุติฐานและวิธีการต่างๆของทฤษฎีสังคมสมัยใหม่

ก็คล้ายๆกันกับทฤษฎีฝรั่งเศสใหม่(new French Theory)บางอย่าง, ทฤษฎีวิพากษ์(Critical Theory)ของกลุ่มนักคิดแฟรงค์เฟริทสคูล ได้นำเสนอวิธีการศึกษาในรูปของสหวิทยาการอย่างหลากหลาย(multi-disciplinary) สำหรับทฤษฎีสังคม ที่ได้รวมเอามุมมองหรือทัศนะที่ดึงมาจากเศรษฐศาสตร์การเมือง, สังคมวิทยา, ทฤษฎีวัฒนธรรม, ปรัชญา, มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์มารวมเเข้าไว้ด้วยกัน. โดยเหตุนี้ มันจึงมีชัยชนะเหนือการแตกออกเป็นส่วนๆที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อที่จะพูดถึงประเด็นต่างๆเกี่ยวกับความสนใจและประโยชน์ที่กว้างกว่า.

เพราะฉะนั้น ทั้ง"ทฤษฎีฝรั่งเศสใหม่" และ"ทฤษฎีวิพากษ์"จึงตั้งข้อสงสัยและคำถามกับเส้นเขตแดนต่างๆที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาโดยการแบ่งแยกทางวิชาการ ซึ่งได้แยกทฤษฎีสังคมออกมาจากสาขาวิชาอื่นๆ. ทั้งคู่ต่างๆอ้างว่า มันมีปัญหาทางด้านญานวิทยาและอภิปรัชญาด้วยลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือหลุดลอยจากความเชื่อมโยงกันและกันเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่างๆในโลก, หรือจากประสบการณ์ของพวกเราเกี่ยวกับมัน

ในทัศนะนี้, "ปรัชญา", ถือเป็นตัวอย่างซึ่งหลุดลอยจากสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์. ส่วนรัฐศาสตร์ก็ได้แยกเอาเศรษฐศาสตร์หรือวัฒนธรรมออกไปจากขอบเขตทางด้านแนวคิดของมัน ทำให้มีข้อจำกัดและข้อบกพร่องเกิดขึ้น.

โดยเหตุนี้ ทั้งทฤษฎีวิพากษ์และทฤษฎีฝรั่งเศสใหม่ จึงละเมิดหรือฝ่าฝืนต่ออาณาเขตของสาขาวิชาที่ซึ่งได้เป็นที่ยอมรับกันแล้ว และได้สร้างสรรค์ทฤษฎีใหม่ๆและคำอธิบายใหม่ๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงภาวะความไม่สมบูรณ์ข้างต้นเกี่ยวกับการแบ่งแยกวิชาการในแบบจารีต โดยการรวมเอาศาสตร์ต่างๆมาไว้ในแนวคิดของตน.

ในงานเขียนฉบับนี้ จะให้เหตุผล ในฐานะยาต้านพิษต่อวิธีการศึกษาในเชิงปริมาณที่ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ภายในสังคมศาสตร์และทฤษฎีที่อยู่ในฝ่ายของกระแสหลัก. ทฤษฎีวิพากษ์จะเสนอทางเลือกที่มีประโยชน์มากกว่าในเชิงศักยภาพ และทางเลือกที่สอดคล้องในทางการเมืองยิ่งกว่าทฤษฎีของนักหลังโครงสร้างนิยม(poststructuralist)และหลังสมัยใหม่(postmodernist). โดยเฉพาะคำอธิบายของทฤษฎีหลังสมัยใหม่(postmodern) เกี่ยวกับลักษณะที่เป็นทฤษฎีมากเกินไปและไม่สนใจในเรื่องการเมือง(hypertheoretical and apolitical discourse). ทฤษฎีวิพากษ์จะแสวงหาความเชื่อมโยงกันอันหนึ่งกับการวิเคราะห์ในเชิงประจักษ์ของโลกร่วมสมัย และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งกำลังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ก้าวหน้า.

เพื่อที่จะเน้นงานเขียนต่างๆเกี่ยวกับ"ทฤษฎีวิพากษ์"ให้เด่นขึ้นมาสำหรับทฤษฎีสังคมร่วมสมัย ประการแรก จะนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมวิภาษวิธีก่อน ซึ่งมีอยู่ในความนึกคิดของทฤษฎีวิพากษ์สังคม, ต่อจากนั้น จะตามด้วยงานเขียนอันเป็นแก่นสำคัญที่สุดต่อทฤษฎีสังคมร่วมสมัย, และถัดจากนั้นจะวิจารณ์ถึงข้อจำกัดบางประการของมัน และนำเสนอมุมมองใหม่บางอย่างสำหรับทฤษฎีวิพากษ์สำหรับทุกวันนี้.

แต่อย่างไรก็ตาม ตอนเริ่มต้นจะอธิบายถึงการถือกำเนิดและพัฒนาการของทฤษฎีวิพากษ์แต่เพียงสั้นๆเอาไว้

[หมายเหตุ: สรุปสาระสำคัญช่วงที่ 1]
1. Critical Theory มีความคล้ายคลึงกันกับ New French Theory ในแง่ที่เป็น multi-disciplinary เหมือนกันในแนวคิด
2. Critical Theory มีการเน้นในเรื่องการเมืองมากกว่าทฤษฎีสังคม Poststructuralism และ Postmodernism
3. Critical Theory จะไปเชื่อมโยงกับการวิเคราะห์ในเชิงประจักษ์ และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

2.ภูมิหลังความเป็นมาเกี่ยวกับทฤษฎีวิพากษ์ (Historical Background)

บ่อยครั้ง "ทฤษฎีวิพากษ์" ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับ"แฟรงค์เฟริทสคูล", สำหรับคำๆนี้เป็นอ้างอิงถึงผลงานของสมาชิกของ the Institut fur Sozialforschung (สถาบันวิจัยสังคม - Institute for Social Research) [1]. สถาบันแห่งนี้ได้รับการสร้างขึ้นมาในเมือง แฟรงค์เฟริท, ประเทศเยอรมันนี้ ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1923 ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยในการปรับตัวของนักวิชาการมาร์กซิสท์ ซึ่งมีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยเยอรมันที่สำคัญแห่งหนึ่ง.

ผลงานของสถาบันแห่งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1920s ได้รับการกำกับโดย Carl Gruberg, และมีแนวโน้มทางวิชาการในลักษณะประสบการณ์นิยม, ประวัติศาสตร์, และมีการกำหนดทิศทางไปสู่เรื่องราวปัญหาต่างๆของขบวนการชนชั้นแรงงานชาวยุโรป.

หลังจากการเกษียรอายุของ Grunberg ในปี ค.ศ.1930, Max Horkheimer ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบัน. Horkheimer ได้รวบรวมบรรดานักทฤษฎีที่มีความสามารถพิเศษรายรอบตัวเขา อย่างเช่น Leo Lowenthal, Friedrich Pollock, Erich Fromm, Henryk Grossman, และ Herbert Marcuse มาทำงานด้วยกัน. ภายหลัง T.W. Adorno, Otto Kirchheimer, Franz Neumann และคนอื่นๆก็เข้ามาร่วมกับสถาบันแห่งนี้, ซึ่งยังรวมทั้งนักวิจัยสนับสนุนอย่าง Korsch และ Walter Benjamin ด้วย

ภายใต้การอำนวยการของ Horkheimer สถาบันแห่งนี้ได้แสวงหาหนทางที่จะพัฒนาทฤษฎีสังคมในลักษณะสหวิทยาการขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้เป็นเครื่องมืออันหนึ่งของการวิจัยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. ในช่วงระหว่างที่ Horkheimer บริหารงานอยู่นั้น ผลงานต่างๆของสถาบันได้แสดงลักษณะเฉพาะตัว โดยการสังเคราะห์ระหว่างปรัชญา, ทฤษฎีทางสังคม, และงานวิสัยมาผสมผสานกัน. ผลงานต่างๆที่ออกมาของสถาบันได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Zeitschrift fur Sozialforschung (1932-1941) ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รวบรวมบทความต่างๆและบทวิจารณ์หนังสือเอาไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังคงมีค่าควรอ่านอยู่ในทุกวันนี้.

ในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ, Horkheimer ได้สืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นทางการจาก Carl Gruberg. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1931, เขาได้เขียนเรื่องๆหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า "สภาพการณ์เกี่ยวกับปรัชญาสังคม และภารกิจต่างๆของสถาบันเพื่อการวิจัยสังคม"(The State of Social Philosophy and the Tasks of an Institute for Social Research)เพื่อใช้ในการแสดงปาฐกถาในคราวที่ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ในข้อเขียนนี้, Horkheimer ได้ให้นิยาม"ปรัชญาสังคม"ในฐานะที่เป็นความพยายามอันหนึ่งในการที่จะอธิบายถึง"ชะตากรรมของมนุษย์", ในฐานะที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งไม่ใช่ในฐานะเพียงปัจเจกบุคคลคนหนึ่งเท่านั้น. พวกเขาต่างๆผูกพันกับชีวิตสังคมของผู้คนทั้งหลาย เช่น รัฐ, กฎหมาย, เศรษฐกิจ, ศาสนา ฯลฯ กล่าวโดยสรุป เป็นความผูกพันกับวัฒนธรรมทางวัตถุและวิญญานของความเป็นมนุษย์นั่นเอง

การบรรยายของ Horkheimer ได้เป็นการนำเสนอแนวคิดหลักเกี่ยวกับทัศนะของเขาในเรื่องทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์ ในฐานะที่เป็นการสังเคราะห์อันหนึ่งของสังคมศาสตร์และปรัชญาเข้าด้วยกัน และยังได้เป็นการเตรียมการในลักษณะชี้นำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโครงการของสถาบันแห่งนี้

HorKheimer เริ่มต้นโดยการแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆของทฤษฎีสังคมเยอรมันแบบคลาสสิคของ Kant และ Hegel, และขีดจำกัดทางด้านปรัชญาเมตาฟิสิกส์ร่วมสมัยและปฏิฐานนิยม. การนำเสนอดังกล่าว เป็นแบบฉบับของวิธีการที่สร้างความชัดเจนของ Horkheimer เกี่ยวกับตำแหน่งของตัวเขาเอง.

Kant ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์สำหรับการที่ได้วางปรัชญาสังคมลงบนประสบการณ์และความสามารถต่างๆของปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะ. ส่วน Hegel นั้นพยายามที่จะวางปรัชญาลงในสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการนำเสนอในฐานะที่เป็นการปรับปรุงงานปรัชญาของ Kant, กระนั้นก็ตาม อุดมคตินิยมของ Hegel ก็เพื่อที่จะให้เหตุผลความถูกต้องของระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ ซึ่งได้ถูกปฏิเสธ

โดยเหตุนี้ Horkheimer จึงวิจารณ์รูปแบบต่างๆของอุดมคตินิยมที่แพร่หลายอยู่ในปรัชญาต่างๆของ neo-Kantian, neo-Hegelian, phenomenological(ปรากฎการณ์วิทยา), และปรัชญา existential

สำหรับอภิปรัชญา มันมีลักษณะที่เป็นการเก็งความจริงซึ่งยังคงเป็นปัญหาน่าสงสัยอยู่ และแนวโน้มต่างๆของอภิปรัชญาที่ให้การยกย่องต่ออาณาเขตหรือปริมณฑลที่เหนือธรรมชาติ(transcendental sphere)อย่างสูงเกี่ยวกับภาวะที่เป็นอยู่ และความหมาย ซึ่งเหนือกว่าการดำรงอยู่ที่เป็นรูปธรรม. ส่วนสกุลความคิดปฏิฐานนิยม ซึ่งมีรากฐานทฤษฎีอยู่ในข้อเท็จจริงที่แยกตัวออกไป ก็ได้ถูกวิจารณ์ด้วยเช่นเดียวกันสำหรับสมมุติฐานในเชิงอภิปรัชญาที่ไม่อาจมาสนับสนุนอะไรได้ และข้อจำกัดต่างๆของวิธีการเหล่านั้น

Horkheimer สรุปว่า ไม่มีสกุลปรัชญาสำคัญๆใดๆที่มีอิทธิพล ได้บรรจุปรัชญาสังคมเอาไว้อย่างเพียงพอ. เขามีสมมุติฐานว่า ปรัชญาสังคมจะต้องผนึกเอาวัฒนธรรมทาง"วัตถุและจิตวิญญานของความเป็นมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน". ผลที่ตามมา เขาได้ปฏิเสธข้ออ้างเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ อย่างเช่น "สังคมวิทยาเชิงวัตถุ"(material sociology)ที่ว่า ได้ตระเตรียและจัดหาความรู้เอาไว้มากพอ เพราะศาสตร์ที่เชี่ยวชาญต่างๆเหล่านี้ได้แยกออกมาจากโครงสร้างและองค์ระบบของสังคมทั้งหมด ในการอธิบายถึงอาณาเขตอันจำกัดของประสบการณ์ทางสังคม.

ในทางตรงข้ามกับการแบ่งแยกระหว่างทฤษฎีทางสังคม, วิทยาศาสตร์, และปรัชญาซึ่งได้มีอิทธิพลอยู่ในเวลานั้น และยังคงมีอิทธิพลอยู่ในทุกวันนี้, Horkheimer เรียกร้องการสังเคราะห์กันขึ้นมาใหม่อันหนึ่งระหว่าง ปรัชญา, สังคม, และวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆ.

ผลก็คือ, ขณะที่ Comte, Durkheim และบรรดานักปฏิฐานนิยมคนอื่นๆต้องการที่จะชำระล้างปรัชญาจากทฤษฎีทางสังคม, Horkheimer กลับปกป้องความสำคัญของมันเพื่อทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์(critical social theory).

เขาอ้างว่าแนวคิดปฏิฐานนิยมที่ว่า ปรัชญาเป็นเรื่องของความงดงาม, แต่ไม่ยังผลสัมฤทธิ์ใดๆในเชิงวิทยาศาสตร์เลย เพราะมันไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมใดๆ เช่น ต้องพิสูจน์ความจริง, ต้องมีการทดลอง, และอะไรทำนองนั้น. สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกปฏิเสธ เช่นเดียวกับที่ต้องขจัดอคติของนักปรัชญาทิ้งไป. ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ขาดปรัชญาในการกำกับ ก็จะไปเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น.

ความขัดแย้งกันเหล่านี้ อ้างถึงลักษณะสำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์และปรัชญา หากมันเป็นศาสตร์ที่แยกกันอยู่ ก็จะต้องถูกพิชิต เพื่อประโยชน์ของการซึมแทรกหรือเจาะทะลุในลักษณะวิภาษวิธี และการพัฒนาเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง.

สำหรับ Horkheimer, แรงขับทางปรัชญาที่นำไปสู่ความเป็นสากลและสาระสำคัญ ควรจะเป็นจิตวิญญานที่มีชีวิตชีวาและนำทางความเคลื่อนไหวสำหรับการวิจัยทางสังคม, แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ปรัชญาก็จะต้องเปิดไปสู่โลกมากพอ เพื่อยอมให้ตัวมันเองได้รับการแปรรูปไปโดยความก้าวหน้าในการศึกษาต่างๆที่เป็นรูปธรรมด้วย

เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้, Horkheimer ได้มองเห็นโปรแกรมอันหนึ่งเกี่ยวกับการวิจัยที่เรียกว่า supradisciplinary หรือ "เหนือสาขาวิชา" ซึ่งจะค้นคว้าถึงปัญหาต่างๆทางสังคมและการเมือง.

โครงการอันนี้ได้รวบรวมบรรดานักปรัชญา, นักสังคมวิทยา, นักเศรษฐศาสตร์, นักประวัติศาสตร์, และนักจิตวิทยา เข้ามามาทำงานในสถาบันวิจัยอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะทำงานด้วยกัน ในสิ่งซึ่งสาขาวิชาอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะทำงานของตนไปลำพังในห้องปฏิบัติการ (ซึ่งคือสิ่งที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมักจะทำเช่นนั้นเสมอ)

การรวบรวมคนจากส่วนต่างๆเหล่านี้ก็เพื่อไล่ตามคำถามต่างๆทางปรัชญา โดยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อันประณีตสุด; เพื่อปรับปรุงพัฒนาและทำให้มันเที่ยงตรงกับคำถามมากขึ้น ในแนวทางการทำงาน ที่ได้รับการเรียกร้องโดยเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์; และเพื่อพัฒนาวิธีการใหม่ๆโดยปราศจากการสูญเสียมุมมองของความเป็นสากล

ภายหลังจากยกย่องสรรเสริญมรดกตกทอดและงานวิจัยต่างๆที่ทำมาของผู้รงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันก่อนหน้านั้น(คือ) Carl Grundberg, Horkheimer ได้เน้นว่า สถาบันแห่งนี้ จะต้องดำเนินการไปในทิศทางใหม่และภารกิจใหม่นับจากจุดเริ่มต้นตรงนี้...

เขาอ้างว่า โปรแกรมวิทยาการอันหลากหลายใหม่(new multidisciplinary program)ของสถาบัน จะยินยอมให้สมาชิกทั้งหลายยกเอาคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันและกัน ระหว่าง ชีวิตทางเศรษฐกิจของสังคม, พัฒนาการทางจิตวิทยาของปัจเจกชน, ศิลปะและศาสนา, และการแปรเปลี่ยนไปในขอบเขตวัฒนธรรม... และยังรวมไปถึง ไม่เพียงสิ่งที่เรียกว่าเนื้อหาทางจิตวิญญานของวิทยาศาสตร์เท่านั้น, แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องของกฎหมาย, จริยธรรม, แฟชั่น, ข้อคิดเห็นของสาธารณชน, การกีฬา, ความบันเทิง, การสไตล์การใช้ชีวิต ฯลฯ เข้ามาด้วย

การวิจัยนี้ ค่อนข้างที่จะไม่เป็นไปในลักษณะเดิมๆสำหรับทฤษฎีทางสังคมแบบชาวมาร์กเซี่ยน(Marxian)ทั้งหลาย ซึ่งในอดีตมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจต่อมิติทางจิตวิทยาของปัจเจกและสังคม, และสบประมาทต่อการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความบันเทิง. ความสนใจในหัวข้อต่างๆเหล่านี้ ในท้ายที่สุด ได้ก่อให้เกิดงานวิจัยและสิ่งพิมพ์มากมายที่แตกต่างและโดดเด่นของทฤษฎีวิพากษ์

ในการปราศรัยตอนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ, Horkheimer ได้สร้างระยะห่างทางแนวคิดของตัวเขาเกี่ยวกับทฤษฎีสังคม จากลัทธิวัตถุนิยมมาร์กเซี่ยนที่ยังไม่กลั่นกรองหรือยังไม่มีการปรับปรุง. เขาประกาศว่า สถาบันจะไม่สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับข้อสรุปหรืองานวิจัยเชิงอภิปรัชญาใดๆ, อย่างเช่นลัทธิอุดมการณ์นิยมและวัตถุนิยม, ในความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม, และการมีจิตสำนึก. Horkheimer หมายเหตุเอาไว้ว่า เป็นความพยายามที่จะรับเอารูปลักษณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตมาจากแก่นทางอภิปรัชญาอันหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า"bad Spinozaism"(ลัทธิสปิโนซาอันเลวร้าย)(3). ด้วยเหตุนี้ นับจากจุดเริ่มต้นเลยทีเดียว, Horkheimer ได้ปฏิเสธลัทธิสัมบูรณนิยมในเชิงอภิปรัชญา(metaphysical absolutism)ทั้งหมด และคตินิยมลดทอน(reductionism)ต่างๆ(4).
(3) Spinozaism = ลัทธินี้เชื่อว่า ความจริงมีอยู่หน่วยเดียว คือ"พระเจ้า" แสดงออกเป็น 2 คุณลักษณะ คือ จิตกับสสาร. เราสามารถรู้ความจริงได้โดยการใช้เหตุผลพิสูจน์แบบเรขาคณิต คือเริ่มจากมูลบทและพิสูจน์ไปตามลำดับ. (ซึ่ง Horkheimer ไม่เห็นด้วย)
(4) Reductionism = reductivism = คตินิยมลดทอน เป็นความเชื่อที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอาจลดทอนลงได้เป็นสิ่งเดียว เช่น เป็นวัตถุอย่างเดียวหรือเป็นจิตอย่างเดียว, และยังถือว่าศาสตร์ต่างๆ อาจลดทอนลงเป็นศาสตร์ๆเดียว เช่น นักวิชาการบางคนเชื่อว่า "ฟิสิกส์"เป็นศาสตร์พื้นฐานที่สุด ศาสตร์อื่นๆเป็นเพียงส่วนขยายหรือเป็นแขนงย่อยของฟิสิกส์เท่านั้น

เขาอ้างเหตุผลว่า ลัทธิอุมคตินิยมอันหลอกลวงซึ่งรับเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาจากความคิดที่เป็น"นามธรรมอันหนึ่ง และเนื่องมาจากความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ของ Hegel ประกอบกับความพยายามที่จะรับเอาและสืบทอดเรื่องทุกอย่างมาจากเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจซึ่งได้ถูกเข้าใจว่าเป็นเพียงเรื่องภาวะทางวัตถุ) และสืบนื่องมาจากความเข้าใจของมาร์กซ์ที่บกพร่องนั่นเอง ด้วยข้อกำหนดหรือสมมุติฐานอันนั้น ซึ่งขาดการวิพากษ์วิจารณ์ ล้าสมัย และความแตกแยกที่เป็นปัญหาสูงมากเกี่ยวกับจิตวิญญานและความจริงในความสัมบูรณ์ต่างๆที่ไร้เดียงสา สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกเอาชนะหรือพิชิตลงได้ด้วยลักษณะวิภาษวิธี

ในทางที่แย้งกัน "ปรัชญาสังคมเชิงวิพากษ์"ได้อธิบายถึงการประนีประนอมกันอันสลับซับซ้อนซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันระหว่างความมีจิตสำนึกและสังคม, วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ, รัฐและประชาชน. ความสัมพันธ์กันเหล่านี้สามารถทำให้ชัดเจนขึ้นมาได้ดีที่สุดและพัฒนาขึ้นในบริบทประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม ที่ซึ่งกล่าวกันว่า:

"ความเชื่อมโยงกันดำรงอยู่ในกลุ่มสังคมที่แน่นอนอันหนึ่ง, ในช่วงเวลาที่ชัดเจน และในพื้นที่ที่จำเพาะพื้นที่หนึ่ง, ระหว่างบทบาทของกลุ่มนี้ในกระบวนการทางเศรษฐกิจ, การแปรเปลี่ยนเกี่ยวกับโครงสร้างจิตวิทยาของสมาชิกแต่ละคน, และทั้งหมดของระบบที่ส่งผลกระทบ ซึ่งได้ผลิตความคิดและระบบกลไกของมันขึ้นมา"

เมื่อตอนเริ่มต้นภารกิจนี้ สถาบันดังกล่าวได้ทำการศึกษาบรรดาคนงานที่มีคุณสมบัติทางด้านเทคนิค และบรรดาลูกจ้างในประเทศเยอรมันนี โดยรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์บนทัศนคติต่างๆทางจิตวิทยา สังคม และการเมือง ซึ่งจะถูกนำมาตีความในกรอบโครงร่างทางทฤษฎี ที่โอบล้อมด้วยทฤษฎีทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา. Horkheimer แสดงภาพให้เห็นถึงโครงการดังกล่าวเกี่ยวกับทฤษฎีทางสังคมของสถาบัน โดยบ่งชี้ว่า... การศึกษาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ของชนชั้นคนทำงานปกคอเสื้อขาว(พวกทำงานในสำนักงาน)จะเป็นโครงการวิจัยแรกสุดของสถาบันแห่งนี้. นอกจากนี้ เขายังชี้ว่า เพื่อนร่วมงานของเขาได้ทำการศึกษาในเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงทฤษฎี, ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ, และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชั้นคนงานอย่างโดดเด่น.

ด้วยเหตุดังนั้น อย่างน้อยที่สุดในช่วงระหว่างปีแรกๆของ Horkheimer, สถาบันแห่งนี้พยายามที่จะต่อเนื่องโครงการต่างๆเป็นจำนวนมากของ Gruberg โดยเอาใจใส่ต่อหัวข้อต่างๆที่มีแก่นแกนอยู่ที่ลัทธิมาร์กซ์ในแบบคลาสสิคและการเมืองแบบสังคมนิยม, แต่ได้กระทำสิ่งเหล่านั้นจากจุดที่ได้เปรียบในทางทฤษฎีอย่างกว้างขวางกว่า

[หมายเหตุ: สรุปสาระสำคัญช่วงที่ 2]
4. Critical Theory ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับ"แฟรงค์เฟริทสคูล" ซึ่งเป็นสถาบันที่สร้างขึ้นในเมือง แฟรงค์เฟริท ประเทศเยอรมันนีราวค.ศ.1923 เป็นศูนย์กลางการวิจัยในการปรับตัวของนักวิชาการมาร์กซิสท์ ผลงานของสถาบันแห่งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1920s ได้รับการกำกับโดย Carl Gruberg, และมีแนวโน้มทางวิชาการในลักษณะประสบการณ์นิยม, ประวัติศาสตร์, และมีการกำหนดทิศทางไปสู่เรื่องราวปัญหาต่างๆของขบวนการชนชั้นแรงงานชาวยุโรป
5. หลังจากการเกษียรอายุของ Grunberg ในปี ค.ศ.1930, Max Horkheimer ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบัน. ภายใต้การอำนวยการของ Horkheimer สถาบันได้แสวงหาหนทางใหม่ที่จะพัฒนาทฤษฎีสังคมในลักษณะสหวิทยาการขึ้น โดยการสังเคราะห์ระหว่างปรัชญา, ทฤษฎีทางสังคม และงานวิจัยมาผสมผสานกัน
6. เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ Horkheimer ได้มองเห็นโปรแกรมอันหนึ่งเกี่ยวกับการวิจัยที่เรียกว่า supradisciplinary หรือ "เหนือสาขาวิชา" ซึ่งจะค้นคว้าถึงปัญหาต่างๆทางสังคมและการเมือง
7. Horkheimer ได้วิพากษ์ความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ของ Hegel และ Marx ที่จะรับเอาและสืบทอดเรื่องทุกอย่างมาจากเศรษฐกิจ สิ่งนี้คือสมมุติฐานซึ่งขาดการวิพากษ์วิจารณ์ ล้าสมัย. นอกจากนี้ ทฤษฎีทางสังคมแบบชาวมาร์กเซี่ยนทั้งหลาย ซึ่งในอดีตมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจต่อมิติทางจิตวิทยาของปัจเจกและสังคม และสบประมาทต่อการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความบันเทิง. Horkheimer กลับเห็นว่ามีความสำคัญ.

3. ลัทธิวัตถุนิยมและวิภาษวิธี (Materialism and Dialectics)

สถาบันแห่งนี้เริ่มตีพิมพ์งานวิจัยและงานศึกษาของตนเองในนิตยสาร Zeitschrift fur Sozialforschung ของสถาบัน. ในฉบับแรก, Horkheimer ได้อธิบายถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์เกี่ยวกับงานของพวกเขาในฐานะที่เป็นพัฒนาการทาง"ทฤษฎีอันหนึ่งเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัย" ที่มีจุดมุ่งหมายที่กระบวนการทางสังคมอย่างสมบูรณ์.

สมมุติฐานคือ ภายใต้ผิวหน้าที่สับสนอลหม่านของเหตุการณ์ต่างๆ เราสามารถที่จะทำความเข้าใจและทำให้เป็นแนวคิดขึ้นมาได้เกี่ยวกับโครงสร้างอันหนึ่งของพลังที่มีประสิทธิภาพ. ทฤษฎีอันนี้ได้รับการวางพื้นฐานอยู่บนผลลัพธ์เกี่ยวกับงานศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และโดยเหตุนี้ จึงมีสถานะของ"ความเป็นวิทยาศาสตร์" กระนั้นก็ตาม การค้นคว้าเหล่านี้มิได้กันเอาปรัชญาออกไป. "สำหรับปรัชญาแล้ว ไม่ได้เป็นการผูกพันหรือเป็นพี่น้องกับสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ความสำคัญของมัน เพื่อเป็นทฤษฎีทางสังคม ซึ่งตั้งใจจะเป็นทางเลือกของเนื้อหาสาระหรือความคิดดังกล่าว"

โดยพื้นฐานแล้ว Horkheimer และบรรดาเพื่อนร่วมได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิมาร์กซ์, นับจาก ค.ศ. 1930 มาถึง 1936, บรรดาสมาชิกของสถาบันใช้คำหลักๆ อย่างเช่น "วัตถุนิยม" และ"ทฤษฎีเศรษฐกิจสังคม" สำหรับงานเขียนทั้งหลายของพวกเขาเกี่ยวกับทฤษฎีมาร์กเซี่ยน.

สถาบันได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า supradisciplinary (เหนือสาขาวิชา)ขึ้นมา เป็นทฤษฎีวัตถุนิยมสังคม เพื่อขานรับต่อ สาระที่มีอยู่อย่างไม่เพียงพอภายในลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิค และภายในรูปแบบต่างๆที่ครอบงำเกี่ยวกับศาสตร์ของชนชั้นกลางและปรัชญา.

ลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม มาถึงช่วงนี้ ได้รับการวิจารณ์ว่า มันได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้เข้มแข็งขึ้นเป็นหลักการที่ไร้ข้อพิสูจน์(Orthodox Marxism had congealed into a dogmatic), มีลักษณะคตินิยมลดทอน, และลัทธิวัตถุนิยมในลักษณะอภิปรัชญาวัตถุวิสัย(objectivist metaphysical materialism), ขณะที่ศาสตร์ทางสังคมของชนชั้นกลางก็แสดงอัตลักษณ์อันหนึ่งโดยการแตกออกเป็นส่วนๆของศาสตร์ต่างๆ และมีดำเนินการค้นคว้าเรื่องของตนเองไปโดยตัดขาดจากสาขาวิชาอื่นๆ

ทั้งศาสตร์ของชนชั้นกลาง และ ลัทธิมาร์กซ์ ต่างใช้ประโยชน์เกี่ยวกับวิธีการในเชิงวัตถุวิสัยกันมากจนเกินไป และด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงไม่สามารถที่จะประมวลปัญหาที่แพร่กระจายอยู่ขึ้นมาเป็นแนวคิดได้ อย่างเช่น วิธีการที่เงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมกำลังเบี่ยงเบนชนชั้นแรงงานและกลุ่มต่างๆทางสังคมไปสู่ลัทธิเผด็จการฟาสซิสม ์(มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดประวัติศาสตร์วิภาษวิธี ซึ่งจะต้องไปสู่ลัทธิสังคมนิยม). การขาดเสียซึ่งทฤษฎีอันหนึ่งเกี่ยวกับอัตบุคคล, ลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิมจึงไม่สามารถอธิบายได้ว่า จริงๆแล้ว ทำไมจิตสำนึกแห่งการปฏิวัติจึงล้มเหลวที่จะพัฒนาต่อไป และไม่อาจชี้ได้ว่า จิตสำนึกแห่งการปฏิวัติและการต่อสู้สามารถได้รับการสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ?

บรรดานักทฤษฎีต่างๆของสถาบันได้สร้างความหลากหลายอย่างใหม่อันหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับลัทธิวัตถุนิยม ซึ่งสวนทางกับแบบจำลองที่เป็นอุดมคติทั้งหมด เป็นการปฏิเสธลัทธิวัตถุนิยมในเชิงอภิปรัชญากลไกที่ถูกวิพากษ์โดย Marx และ Engels ไปแล้วใน The Holy Family. Horkheimer และเพื่อนร่วมงานของเขาได้นิยามเป้าหมายต่างๆของทฤษฎีวัตถุนิยมในเทอมของเงื่อนไขทางวัตถุ, ความต้องการต่างๆของมนุษย์, การดิ้นรนต่อสู้ทางสังคม ซึ่งสวนทางกับเรื่องของการกดขี่.

ยิ่งไปกว่านั้น, ลัทธิวัตถุนิยมไม่ได้แสดงออกหรือบ่งชี้สำหรับสถาบัน ในฐานะคำสอนเชิงอภิปรัชญาอันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ได้เข้ามายืนแทนที่ ความคิดทั้งหมดและท่าทีต่างๆในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงชุดหนึ่ง, ซึ่งใช้ในรูปการที่แตกต่างในบริบทที่หลากหลาก.

ทฤษฎีสังคมวัตถุนิยมของสถาบันพวกเขาในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1930s ได้พัฒนาลักษณะเฉพาะขึ้นมาอันหนึ่ง เกี่ยวกับ "การวิพากษ์อุดมคติวิทยา" ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงอุดมคติเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางสังคม โดยการเผยให้เห็นถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสมมุติฐานต่างๆของมัน รวมถึงการบิดเบี้ยวไปและการทำให้เป็นเรื่องสับสนลึกลับ เป็นอมตะ. สถาบันยังพัฒนาวิธีการศึกษาทางวัตถุนิยมในด้าน "วิพากษ์วัฒนธรรม" และได้ผลิตหรือสร้างทฤษฎีวิพากษ์ที่เป็นระบบขึ้นมาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในทฤษฎีวิพากษ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมมวลชน

ในอภิปรัชญา(เมติฟิสิกส์) Horkheimer ได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาในมุมมองทางด้านวัตถุนิยมเกี่ยวกับโลก, และรวมไปถึงความคิดประเภทใด, งานวิจัยชนิดไหน, และการกระทำอย่างใดที่เกี่ยวข้องด้วย [2]. เขาเริ่มต้นด้วยการวิจารณ์วัตถุนิยมเชิงอภิปรัชญา(metaphysical materialism) ซึ่งพยายามที่จะเข้ามายึดกุมทุกสิ่งทุกอย่างของการดำรงอยู่ในระบบปรัชญาที่เป็นสากล.

ในคำกล่าวเหล่านี้, Horkheimer ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเป็นปรปักษ์กับระบบต่างๆทางอภิปรัชญา, หรือสัมบูรณ์นิยม, และทฤษฎีรากฐานต่างๆทั้งหมด ที่พยายามจะค้นหารากฐานทางอภิปรัชญาอันหนึ่งสำหรับความรู้. ต่อจากนั้น เขาได้ให้เหตุผลซึ่งค่อนข้างเป็นทัศนะเฉพาะตัวที่ว่า นักวัตถุนิยมได้เข้ายึดครองช่วงเวลาที่กำหนดไว้อันหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ถูกบงการโดยข้อสรุปตายตัวทางอภิปรัชญาที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงใดๆ, แต่มันค่อนที่จะได้รับการบงการโดย:

"ภารกิจต่างๆ ซึ่ง ณ ช่วงเวลาที่กำหนดหนึ่ง ได้ถูกควบคุมหรือตกอยู่ใต้อำนาจด้วยความช่วยเหลือของทฤษฎี. ดังตัวอย่างเช่น การวิจารณ์เกี่ยวกับความเชื่อในศรัทธาศาสนาที่ไม่มีข้อพิสูจน์, ณ ห้วงเวลาและสถานที่ที่เฉพาะหนึ่งๆ, อาจแสดงบทบาทเด่นชัดในความสลับซับซ้อนของทัศนะต่างๆทางวัตถุนิยม, ขณะที่ภายใต้สถานการณ์อื่น การวิจารณ์นั้น อาจเป็นสิ่งที่ไม่สลักสำคัญอะไร. ทุกวันนี้ ความรู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและแนวโน้มต่างๆได้ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งหมด เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทฤษฎีวัตถุนิยม, แต่ในคริสตศตวรรษที่ 18 ความต้องการความรู้ของสังคมโดยรวมทั้งหมดได้ถูกบดบังหรือข่มรัศมีโดยคำถามต่างๆเกี่ยวกับญานวิทยา, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, และทางด้านการเมือง."

[ "tasks which at any given period are to be mastered with the help of the theory. Thus, for example, criticism of a dogma of religious faith may, at a particular time and place, play a decisive role within the complex of materialist views, while under other circumstances such criticism may be unimportant. Today the knowledge of movements and tendencies affecting society as a whole is immensely important for materialist theory, but in the eighteenth century the need for knowledge of the social totality was overshadowed by questions of epistemology, of natural science, and of politics" ]

Horkheimer อ้างว่า ขณะที่ทัศนะแบบอุดมคตินิยม โดยทั่วไป มุ่งที่จะให้เหตุผล, และได้รับการทำให้ก้าวหน้าไปโดยผู้ให้การสนับสนุนที่เป็นชนชั้นปกครองเพื่อยืนยันหรือรับรองในผลประโยชน์ทางชนชั้นตนที่ครอบงำ, ในทางตรงข้าม ทฤษฎีวัตถุนิยมมุ่งที่จะอธิบายด้วยการอ้างอิงถึงเงื่อนไขต่างๆทางวัตถุ, ชนชั้น, และสถานการณ์ต่างๆทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาคัดค้านความคิดต่างๆเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ทางอภิปรัชญาและความจริงสมบูรณ์, และถกว่า มันเป็นแรงดึงที่รุนแรงระหว่าง"แนวคิดและการดำรงอยู่"(concept and being).

ในที่นี้ Horkheimer ปฏิเสธข้อสรุปในเชิงเมตาฟิสิกส์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของความคิดและการดำรงอยู่, ของความรู้และการรู้. เขาได้ให้เหตุผลว่า แนวคิดต่างๆไม่ใช่อวัยวะของความรู้ที่สมบูรณ์, แต่มันเป็นเพียงเครื่องมือง่ายๆเพื่อเข้าถึงเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาอยู่อย่างสม่ำเสมอและดัดแปรงแก้ไขในเส้นทางของประสบการณ์.

ด้วยเหตุนี้ Horkheimer จึงเสนอแนวความคิดหลังเมตาฟิสิกส์ของลัทธิวัตถุนิยม, และเน้นเนื้อหาที่แตกต่าง ซึ่งทฤษฎีทางวัตถุนิยมมีในบริบทที่แผกออกไป. เขาและเพื่อนร่วมงานปฏิเสธทฤษฎีอัตลักษณ์ของ Hegel ซึ่งยืนยันถึงอัตลักษณ์อันหนึ่งระหว่างความคิดและการดำรงอยู่ภายในภววิทยาเชิงอุดมคติ(5) เช่นเดียวกับรูปแบบต่างๆของลัทธิสัจนิยมในแง่ญานวิทยา ที่ยึดถือกันโดยนักวัตถุนิยมเชิงปฏิฐานจำนวนมาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งได้ธำรงรักษาความคิดที่ถูกต้องที่สะท้อนหรือส่องให้เห็นถึงเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของความคิด.
(5) ontology = ภววิทยา สาขาหนึ่งของอภิปรัชญาที่ศึกษาว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นจริง - ศึกษาความจริงในฐานะที่เป็นสากล - ไม่ใช่ระดับสิ่งเฉพาะ(particular)

นอกจากนั้น สถาบันแห่งนี้ยังเน้นถึงธรรมชาติเชิงประวัติศาสตร์ของทฤษฎีทั้งหมดและเนื้อหาเรื่องราวของมัน. ซึ่งในเชิงปฏิบัติ "กิจกรรมเชิงทฤษฎีของมนุษย์ ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นอิสระของวัตถุประสงค์ที่กำหนดตายตัวอันหนึ่ง, แต่เป็นผลิตผลของความจริงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา". ขณะที่เงื่อนไขต่างๆทางประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไป, แนวความคิดและทฤษฎีต่างๆจะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย; ดังนั้น, มันจึงไม่มีรากฐานที่มั่นคงหรือมีเสถียรภาพสำหรับทัศนะเมติฟิสิกส์ที่สัมบูรณ์

สำหรับ Horkheimer แนวความคิดและทฤษฎีต่างๆ เป็นตัวแทนเกี่ยวกับโลกสังคม-เชิงวัตถุ(socio-material world) และไม่ใช่ความรู้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์หรือความรู้ที่ชัดแจ้งอันปราศจากข้อสงสัย.

นอกจากนี้ Horkheimer ยังได้วิจารณ์ทฤษฎีต่างๆ ซึ่งปฏิบัติการโดยแบบจำลอง"อัตวิสัย/วัตถุวิสัย" (subject/object model) ซึ่งได้จำแนกความแตกต่างอย่างตายตัวระหว่าง ตัวตนกับวัตถุ (subject and object), เขาให้เหตุผลว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง subject / object ไม่อาจได้รับการอธิบายได้อย่างถูกต้องโดยภาพของความจริงที่แน่นอนตายตัวสองภาพ ซึ่งในทางความคิดแล้ว ต่างก็โปร่งใสและเคลื่อนย้ายไปสู่กันและกัน. ยิ่งกว่านั้น ในสิ่งซึ่งเราเรียกว่าเงื่อนไขทางวัตถุวิสัย มันมีเงื่อนไขของอัตวิสัยทำงานอยู่; และในสิ่งที่เราเรียกว่าอัตวิสัย, มันมีเงื่อนไขวัตถุวิสัยทำงานอยู่เช่นกัน. ลัทธิวัตถุนิยมของ Horkheimer จึงมีลักษณะวิภาษวิธี, ใช้ประโยชน์ลักษณะวิภาษวิธี subject / object ซึ่ง objective conditions ได้มาช่วยสร้าง the subject ขึ้นมา, ขณะที่ในทางกลับกัน the subject ก็มาช่วยสร้าง objective conditions เช่นกัน(อันมีลักษณะเป็นวัตถุนิยม และประวัติศาสตร์).

สำหรับ Horkheimer:
"กระบวนการวิภาษวิธี ในเชิงนิเสธ ได้รับการอธิบายลักษณะโดยข้อเท็จจริงที่ว่า มันไม่ได้ถูกคิดว่าเป็นผลลัพธ์ของปัจจัยต่างๆส่วนตัวที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง. เพื่อเสนอมันในเชิงบวก แก่นแท้ของมัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันภายในกระบวนการ, ด้วยเหตุนี้ โดยรากแล้ว มันจึงไม่ถูกแยกจากกันและกัน. ดังนั้น พัฒนาการเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของมนุษย์, เป็นตัวอย่าง, ได้ถูกวางเงื่อนไขโดยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และโดยพลังของปัจเจกของคนที่กำลังพูดถึง. แต่แก่นแท้เหล่านี้ได้มากำหนดกันและกันอย่างต่อเนื่อง, ดังนั้น ในการพัฒนาทั้งหมด จึงไม่มีอะไรที่ถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพโดดๆ โดยปราศจากการมีบทบาทและความสัมพันธ์ต่อกันและกัน."

Horkheimer และเพื่อนร่วมงาน ได้ดำเนินรอยตามแนวคิดวิภาษวิธีนี้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งได้เน้นถึงความเป็นอิสระค่อนข้างมากทางความคิด, วัฒนธรรม, และปรากฎการณ์ต่างๆที่เป็นโครงสร้างส่วนบนอื่นๆทั้งหมด ในกระบวนการของการมีปฏิกริยาต่อกันและกันกับฐานเศรษฐกิจสังคมอันหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงปฏิเสธเรื่องราวทั้งหมดของนิยัตินิยมทางเศรษฐกิจ(economic determinism - เหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลตามมา) และคตินิยมลดทอน(reductionism) และได้จัดหาพื้นที่ทางความคิดเพื่อการวิเคราะห์ บทบาทของมูลเหตุที่สำคัญของปัจจัยทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์และสังคม.

ทฤษฎีสังคมวิภาษวิธี(A dialectical social theory) จึงวิเคราะห์ความสัมพันธ์กันระหว่างแง่มุมที่แตกต่างของสังคม มากกว่าที่จะจัดหาแบบจำลองนิยัตินิยมที่มีลักษณะมิติเดียว(unidimentional determinist model) ซึ่งอิงอาศัยมิติทางเศรษฐกิจของสังคมมาเป็นมูลเหตุหรือปัจจัยเพียงประการเดียวในการอธิบายถึงพัฒนาการและโครงสร้างทางสังคม.

ยิ่งไปว่านั้น เรื่องราวของสถาบันนี้เกี่ยวกับวัตถุนิยมวิภาษวิธีเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาโดยตลอด เพราะได้ เน้นว่า ประสบการณ์ของเรา, ทัศนะเกี่ยวกับโลก, และแนวความคิดต่างๆ มันมีการเปลี่ยนแปลงไปในความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์, และด้วยเหตุนี้ ทั้งทฤษฎีต่างๆของเรา และเครื่องมือในการรับรู้, เช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของความรู้, ต่างก็เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์:
"วัตถุนิยม, ไม่เหมือนกับอุดมคตินิยม, มักจะเข้าใจว่าความคิดนั้น เป็นความคิดของผู้คนโดยเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงลงไป. มันได้ท้าทายต่อข้ออ้างทั้งมวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระทางความคิด".

ตามข้อสรุปสำหรับ Horkheimer, วัตถุนิยมไม่ได้ให้ความสนใจในโลกทัศน์หรือในจิตวิญญานของมนุษย์. มันเป็นเรื่องที่ถูกนำไปผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆอันเป็นรูปธรรมภายใต้สิ่งซึ่งมนุษย์ประสบกับความทุกข์ยาก แน่นอน จิตวิญญานของพวกเขาจะต้องหยุดชะงัก. ความเกี่ยวพันกับอันนี้ อาจทำความเข้าใจได้ในเชิงประวัติศาสตร์และจิตวิทยา; มันไม่สามารถที่จะถูกนำไปวางอยู่ในหลักการทั่วๆไปได้

Horkheimer เชื่อว่า อย่างแรกนั้น ทฤษฎีต่างๆทางวัตถุนิยมได้รับการนำไปผูกพันกับความทุกข์ยากของมนุษย์ และเกี่ยวพันกับการแปรสภาพเงื่อนไขต่างๆทางวัตถุซึ่งได้สร้างความทุกข์ยากให้กับมนุษย์ ไปสู่การสร้างสังคมที่มีเหตุมีผลมากขึ้น และรูปแบบของการดำรงอยู่ที่มีมนุษยธรรมหรือความเห็นอกเห็นใจกันเพิ่มขึ้น

การวิเคราะหข้างต้นนี้ สันนิษฐานว่า "เคราะห์กรรม, ความทุกข์ยาก, หรือความน่าเวทนาในยุคสมัยของเรามันเชื่อมโยงกันกับโครงสร้างของสังคม ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีทางสังคมจึงได้ก่อรูปเนื้อหาหลักๆของวัตถุนิยมร่วมสมัยขึ้นมา". โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นับแต่มูลฐานในเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆทางเศรษฐกิจ เป็นอัตลักษณ์อันหนึ่งของฐานที่มั่นของวัตถุนิยม... แต่ความเข้าใจในปัจจุบันพยายามหลีกเลี่ยงมูลเหตุทางเศรษฐกิจมากขึ้น เกี่ยวกับความต้องการทางวัตถุ และมองเข้าไปยังความละเอียดอ่อนอันปราศจากมารยาเชิงจิตวิทยาของสิ่งที่ได้รับการเรียกว่า "แก่นแท้พื้นฐานเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์".

ดังนั้น ทฤษฎีวัตถุนิยมสังคม(materialist social theory) ของ Horkheimer จึงโฟกัสลงไปที่ความต้องการและความทุกข์เข็ญของมนุษย์, หนทางต่างๆที่เงื่อนไขอันหลายหลากทางเศรษฐกิจได้สร้างความทุกข์ยากขึ้นมา, และแปรเปลี่ยนความจำเป็นไปสู่การขจัดความทุกข์ทรมานของมนุษย์ออกไป และเพื่อเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับมนุษย์.

โครงการดังกล่าวต้องการทฤษฎีวิพากษ์สังคม(critical social theory) ซึ่งจะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆทางสังคมของยุคปัจจุบัน: "ถ้าทฤษฎีวัตถุนิยมเป็นแง่มุมหนึ่งของความพยายามต่างๆที่จะปรับปรุงสถานการณ์ของมนุษย์, หากเป็นเช่นนั้น มันจะต่อต้านความพยายามทุกๆอย่าง ซึ่งจะมาลดทอนปัญหาสังคมลงมาสู่การเป็นปัญหารอง". ทฤษฎีสังคม โดยลำดับการของมันแล้ว ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยการสังเคราะห์กันระหว่างปรัชญาและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

สำหรับสถาบันแห่งนี้, "ปรัชญา"ที่ปราศจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเชิงประจักษ์(empirical scientific research)เป็นสิ่งที่ว่างเปล่า, เท่ากันกับ"วิทยาศาสตร์"ที่ปราศจากปรัชญาก็เป็นสิ่งที่มืดบอด. ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930s, Horkheimer ได้รวมเอาวิทยาศาสตร์และปรัชญาเข้าด้วยกัน ดูเหมือนว่าจะเกี่ยวพันกับการตีความในเชิงวิภาษวิธีและการประนีประนอมของวิทยาศาสตร์และปรัชญา, โดยที่ไม่ทำให้อย่างหนึ่งอย่างใดเหนือกว่าอีกอันหนึ่ง [3].

ผลที่ตามมา, Horkheimer ได้ปฏิเสธทั้ง"อภิปรัชญา"และ"แนวคิดเชิงปฏิฐานของวิทยาศาสตร์" ซึ่งยอมรับ "หลักการที่ไร้ข้อพิสูจน์เกี่ยวกับความคงที่ของกฎธรรมชาติ(the dogma of the invariability of natural laws).

แนวความคิดครอบงำเชิงปฏิฐานของวิทยาศาสตร์, ตามความคิดของ Horkheimer, ไม่มีลักษณะที่เป็น ประวัติศาสตร์, และ"วิทยาศาสตร์"สำหรับทฤษฎีวิพากษ์ จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าปรัชญา และทฤษฎีสังคมแต่อย่างใด. กระนั้นก็ตาม Horkheimer ยึดถือว่า "วัตถุนิยมมีลักษณะร่วมกันกับปฏิฐานนิยม ซึ่งมันยอมรับว่าเป็นจริง เพียงในสิ่งซึ่งมีอยู่ในประสบการณ์แห่งผัสสะเท่านั้น, และมันเป็นเช่นนั้นมานับตั้งแต่เริ่มต้น".

แต่อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์แห่งผัสสะได้รับการประนีประนอมไปสู่แนวความคิดต่างๆ, และทั้งผัสสะการรับรู้และกระบวนการรับรู้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์. ดังนั้น, ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสหัชญานที่สัมบูรณ์, ไม่ว่าจะผ่านประสาทสัมผัสหรือกระบวนการรับรู้, จึงถูกปฏิเสธ.

Horkheimer และเพื่อนร่วมงานของเขาต่างเห็นร่วมกันว่า มันไม่มีทฤษฎีวัตถุนิยมที่เหนือธรรมชาติเกี่ยวกับความรู้(non-transcendental materialist theory of knowledge)อันเป็นที่ยอมรับ, โดยที่ Kant และนักอุดมคติคนอื่นๆยอมรับว่า, รูปแบบต่างๆอันนั้นของกระบวนการรับรู้และทฤษฎีได้มากำหนดประสบการณ์ของเราเกี่ยวกับโลกภายนอก พวกเขายอมรับมันเช่นเดียวกับเงื่อนไขทางด้านวัตถุวิสัย ในลำดับการณ์ทางด้านเงื่อนไขรูปแบบต่างๆของความคิดและความรู้.

ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์ของทฤษฎีหลังเมตาฟิสิกส์(post-metaphysical), ทฤษฎีวัตถุนิยมสังคม มักจะมีลักษณะเป็นเรื่องเพียงชั่วคราวเสมอ, เกี่ยวพันกับบริบท, และต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ.

[หมายเหตุ: สรุปสาระสำคัญช่วงที่ 3]
8. Horkheimer วิจารณ์ว่า ลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลงตัวจนเข้มแข็งขึ้นเป็นหลักการที่ไร้ข้อพิสูจน์(Orthodox Marxism had congealed into a dogmatic), มีลักษณะคตินิยมลดทอน, และลัทธิวัตถุนิยมในลักษณะอภิปรัชญาวัตถุวิสัย(objectivist metaphysical materialism). สถาบันได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า supradisciplinary (เหนือสาขาวิชา)ขึ้นมา เป็นทฤษฎีวัตถุนิยมสังคม เพื่อขานรับต่อ สาระที่มีอยู่อย่างไม่เพียงพอภายในลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิค และภายในรูปแบบต่างๆที่ครอบงำเกี่ยวกับศาสตร์ของชนชั้นกลางและปรัชญา(ที่แยกศาสตร์ออกมาเป็นส่วนๆ,สาขาวิชา)
9. Horkheimer และเพื่อนร่วมงานของเขาได้นิยามเป้าหมายต่างๆของทฤษฎีวัตถุนิยมในเทอมของเงื่อนไขทางวัตถุ, ความต้องการต่างๆของมนุษย์, การดิ้นรนต่อสู้ทางสังคม ซึ่งสวนทางกับเรื่องของการกดขี่ (ของลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม)
10. Horkheimer ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเป็นปรปักษ์กับระบบต่างๆทางอภิปรัชญา, หรือสัมบูรณ์นิยม, และทฤษฎีรากฐานต่างๆทั้งหมด ที่พยายามจะค้นพบรากฐานทางอภิปรัชญาอันหนึ่งสำหรับความรู้.
11. Horkheimer อ้างว่า ขณะที่ทัศนะแบบอุดมคตินิยม โดยทั่วไป มุ่งที่จะให้เหตุผล, และได้รับการทำให้ก้าวหน้าไปโดยผู้ให้การสนับสนุนที่เป็นชนชั้นปกครองเพื่อยืนยันหรือรับรองในผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ครอบงำ ทฤษฎีวัตถุนิยมมุ่งที่จะอธิบายด้วยการอ้างอิงถึงเงื่อนไขต่างๆทางวัตถุ, ชนชั้น, และสถานการณ์ต่างๆทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ.
12. ความสัมพันธ์ระหว่าง subject / object ไม่อาจได้รับการอธิบายได้อย่างถูกต้องโดยภาพของความจริงที่แน่นอนตายตัวสองภาพ เพราะสิ่งซึ่งเราเรียกว่าเงื่อนไขทางวัตถุวิสัย มันมีเงื่อนไขของอัตวิสัยทำงานอยู่; และในสิ่งที่เราเรียกว่าอัตวิสัย, มันมีเงื่อนไขวัตถุวิสัยทำงานอยู่เช่นกัน. (เป็นแนวคิดสัมพัทธนิยม)
13. ทฤษฎีสังคมวิภาษวิธี(A dialectical social theory) วิเคราะห์ความสัมพันธ์กันระหว่างแง่มุมที่แตกต่างของสังคม มากกว่าที่จะจัดหาแบบจำลองนิยัตินิยมที่มีลักษณะมิติเดียว(unidimentional determinist model) ซึ่งอิงอาศัยมิติทางเศรษฐกิจของสังคมมาเป็นมูลเหตุหรือปัจจัยเพียงประการเดียวในการอธิบายถึงพัฒนาการและโครงสร้างทางสังคม.
14. "วัตถุนิยม, ไม่เหมือนกับอุดมคตินิยม, มักจะเข้าใจว่าความคิดนั้น เป็นความคิดของผู้คนโดยเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงลงไป
15. ในตอนท้ายสุดของช่วงนี้ Horkheimer ได้พูดถึง"ทฤษฎีวัตถุนิยมสังคม" ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นเรื่องเพียงชั่วคราวเสมอ, เกี่ยวพันกับบริบท, และต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ. อันนี้เป็นการยืนยันว่า เขาไม่ยอมรับเกี่ยวกับ อภิปรัชญา, หรือสัมบูรณ์นิยม

คลิกไปอ่านหน้าต่อไป

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

แสดงความคิดเห็นที่กระดานข่าว

 

 

ศัพท์คำว่า"ทฤษฎีวิพากษ์"(Critical Theory) ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1937 ภายหลังจากที่สมาชิกหลักส่วนใหญ่ของสถาบันแห่งนี้ ได้อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกากันแล้ว

หลายปีทีเดียวที่ศัพท์คำว่า"ทฤษฎีวิพากษ์"ได้ยืนหยัดอยู่ ในฐานะที่เป็นคำระหัส สำหรับลัทธิมาร์กซ์ของสถาบันแห่งนี้(a codeword for the Institute's Marxism) และเป็นความพยายามที่จะก่อตั้งทฤษฎีสังคมขั้นรากฐานที่เหนือสาขาวิชาขึ้นมา (supradisciplinary social theory)

P1
Max Horkheimer
สำหรับผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิก
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สามารถส่งจดหมายไปที่ [email protected]
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
ความยาวประมาณ 27 หน้ากระดาษ A4