มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
h
o
m
e
วาทะของฮิตเลอร์ได้เปรียบเปรยว่า ชาวยิวและกลุ่มบอลเชวิคเป็นสาเหตุของเชื้อโรคร้าย เป็นปรสิต เป็นยาพิษร้ายแรงต่อร่างกายของชาติ
การใช้อุปมาอุปมัยดังกล่าวเหมาะเจาะพอดีกับการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และด้วยเหตุที่ฮิตเลอร์ได้เลือกใช้อุปมาอุปมัยว่าชาวยิวเป็นเหมือนกับเชื้อโรคร้าย เป็นปรสิตในร่างกาย เป็นยาพิษซึ่งก่อให้เกิดความหายนะต่อชาติ จึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คน จากเดิมที่เคยรับรู้กันว่าชาวยิวเป็นสิ่งไร้ค่าแต่ไม่มีอันตราย ให้กลับกลายเป็นว่า ชาวยิวเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ ชาวเยอรมันจึงต้องการผู้คุ้มครองพวกตน และนั่นก็คือฮิตเลอร์
การวิพากษ์การใช้อุปมาอุปมัย
โดย นิษฐา หรุ่นเกษม
นิสิตปริญญาเอกสาขาวิชานิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้แปลเลือกแปลสรุปและเรียบเรียงบทที่ว่าด้วยการวิพากษ์การใช้อุปมาอุปมัยจากหนังสือเรื่อง Rhetorical criticism: Exploration & practicee ของ Sonja K Foss(1) ในครั้งนี้ ด้วยเห็นเช่นเดียวกับผู้แต่งว่า การค้นพบตรรกะของการใช้อุปมาอุปมัยในเชิงวาทศิลป์นี้ จะช่วยทำให้เราเกิดความเข้าใจและสามารถยับยั้งตัวเอง ไม่ให้หลงงมงายไปกับวาทศิลป์ที่ถูกประดิษฐ์บรรจง เพื่อโน้มน้าวชักจูงสร้างความแตกต่างระหว่างชนชาติ ชนชั้น ระหว่าง"เรา" กับ "เขา" อย่างที่เกิดขึ้นอย่างเสมอๆในปัจจุบัน หรือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
นักวิชาการที่เริ่มใช้การอุปมาอุปมัยเป็นคนแรกคืออริสโตเติล ในหนังสือชื่อ "Rhetoric and Poetics" ทั้งนี้ อริสโตเติลได้ให้นิยามของคำว่า "การอุปมาอุปมัย" ไว้ว่า "เป็นการเคลื่อนย้ายชื่อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามลักษณะธรรมชาติดั้งเดิมของมัน" (เช่น หากเราจะพูดว่า "เธอสกปรกเหมือนหมู" คำว่า "หมูสกปรก" เราก็เอามาจากสภาพธรรมชาติของหมูที่ชอบกลิ้งเกลือกกับโคลน) คำนิยามและการปฏิบัติต่อการอุปมาอุปมัยตามนิยามของอริสโตเติลนี้ ได้รับการศึกษาต่อๆมาเป็นเวลาอีกหลายศตวรรษ
ในยุคเริ่มแรก การศึกษาการอุปมาอุปมัยจะอยู่ในมิติหลักและมุมมองที่คับแคบว่า การอุปมาอุปมัยนั้นเป็นการตกแต่ง (Decoration) หรือศิลปะของการตกแต่ง (Ornamentation) การอุปมาอุปมัยถูกมองว่า เป็นคำพูดโดยนัยหรือภาษาที่ถูกถักร้อยเข้าด้วยกัน ซึ่งในบางโอกาสแล้วนักพูดจะใช้เพียงเพื่อเพิ่มพลังให้กับภาษา
โดยอริสโตเติลได้อธิบายว่า การอุปมาอุปมัยทำให้เกิดความแจ่มชัด ความมีเสน่ห์ และเกิดลักษณะพิเศษกับรูปแบบลีลา เช่นเดียวกับซิเซโรที่เชื่อตามความคิดนี้ว่า ไม่มีระบบของการตกแต่งใดๆ ที่จะทิ้งความรุ่งโรจน์เหนือภาษา และหากจะสรุปมิติของการอุปมา อุปมัยแล้ว การอุปมาอุปมัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ดี (นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะทำให้ฟังดูอลังการและสามารถโน้มน้าวใจได้มากกว่า)
เมื่อการอุปมาอุปมัยถูกมองว่าเป็นเพียงการตกแต่ง มันก็ถูกมองว่าเป็นภาษาที่เหนือธรรมดา เบี่ยงเบนไปจากภาษาปกติ ตามที่อริสโตเติลได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Poetic ว่า "การอุปมาอุปมัยก่อให้เกิดการสร้างสรรค์องค์ประกอบที่ไม่ธรรมดาในวิธีการใช้คำพูด ด้วยการที่ไม่อยู่ในคำพูดแบบธรรมดา"
มุมมองที่ว่าการอุปมาอุปมัยเบี่ยงเบนไปจากภาษาแบบปกตินั้น ถูกใช้กันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในยุคคลาสสิค ราวศตวรรษที่ 16 และ 17 Thomas Hobbes มองว่าการอุปมาอุปมัยก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย (frustrate) ในกระบวนการสื่อสารความคิดและความรู้ เขาคิดว่า การอุปมาอุปมัยเป็นหนึ่งในเครื่องมือจำนวน 4 อย่างที่ถูกใช้ไปในทางที่ผิดของคำพูด เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะเราได้หลอกลวงผู้อื่นเมื่อเราใช้อุปมาอุปมัย นักทฤษฎีทางวาทวิทยาในศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีความคิดในแบบนี้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Richard Whately ที่ได้เสนอความคิดว่า การใช้อุปมาอุปมัยเป็นการใช้ภาษาที่เบี่ยงเบนไปจากลักษณะการเขียนที่เรียบง่ายเคร่งครัดตามแบบแผน
เนื่องจากการอุปมาอุปมัยถูกมองว่าเป็นการตกแต่งทางภาษาที่ก่อให้เกิด ความแตกต่างจากการใช้ภาษาแบบธรรมดา นักทฤษฎีจึงมองว่า การสร้างกฎสำหรับการใช้อุปมาอุปมัยจึงมีความเหมาะสม ตลอดประวัติศาสตร์ของการใช้อุปมาอุปมัยก็คือ การเตือนให้ระมัดระวังต่อการใช้อุปมาอุปมัยที่ไม่เหมาะสม
ถึงแม้ว่าอริสโตเติลจะได้กล่าวไว้ใน The Poetic ว่าการใช้อุปมาอุปมัยมิใช่สิ่งที่จะสอนกันได้ แต่ก็ได้ให้แนวทางในการใช้อุปมาอุปมัยไว้ว่า การใช้อุปมาอุปมัยนั้นไม่ควรจะใช้เพื่อการเยาะเย้ยถากถาง ทำให้ขบขัน ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ควรใช้มากในอารมณ์ประเภทโศกนาฏกรรม หรือห่างไกลจากความเป็นจริง
ในขณะที่ซิเซโรได้ให้ภาพของการใช้อุปมาอุปมัยในอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือการอุปมาอุปมัยจะต้องแสดงความเหมือนและคล้ายคลึงต่อภาพที่มันแสดง และควรจะต้องให้ความกระจ่างชัดต่อประเด็นที่ต้องการแสดงออกมากกว่าทำให้เกิดความสับสน (คือพูดแล้วนึกภาพออกทันทีกับสิ่งนั้น)
มุมมองที่มีต่อการอุปมาอุปมัยโดยนักวิพากษ์ ได้ขยายความคิดไปจากแต่เดิมที่มองว่าการอุปมาอุปมัยเป็นเพียงการตกแต่งของภาษา โดยจุดเริ่มต้นในความคิดนี้ได้รับ การพัฒนาขึ้นมาว่า อุปมาอุปมัยเป็นภาษาที่มีความสัมพันธ์กับความเป็นจริง ภายใต้ ความคิดนี้คือข้อสมมติฐานที่ว่า เราไม่สามารถรู้ความเป็นจริงได้โดยปราศจากอคติ เราไม่สามารถแยกออกจากโลกในการรับรู้ความเป็นจริงและตีความหรือให้ความหมายกับมัน แน่นอนที่ว่า เรามีหรือได้รับรู้ความเป็นจริงโดยผ่านภาษา โดยวิธีการที่เราบรรยายมัน เราสถาปนาความเป็นจริงผ่านทางการใช้สัญลักษณ์ของเรา
การอุปมาอุปมัย เป็นวิธีการที่ง่ายในกระบวนการใช้สัญลักษณ์เพื่อให้รู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตามที่เราเลือกใช้มัน ก็จะเป็นวิธีในการมองความเป็นจริง มันจัดการต่อส่วนหนึ่งของความเป็นจริงในฐานะที่เป็น (as) บางสิ่ง บางอย่าง สร้างสรรค์มันขึ้นมาเป็นวัตถุ (object) ในประสบการณ์สำหรับเรา
ดังนั้น ความเป็นจริงจึงเป็นเพียงโลกในฐานะที่มองผ่านการบรรยายของภาษา มันเป็นอะไรก็ตามที่เราบรรยายให้มันเป็น ทั้งคำศัพท์และภาษาใดๆที่เราใช้บรรยายความเป็นจริงก็เป็นการอุปมาอุปมัย เพราะมันทำให้เรามองเห็นความเป็นจริงในฐานะบางสิ่งบางอย่าง ปรากฏการณ์ต่างๆในโลกกลายเป็นเพียงวัตถุของความเป็นจริงหรือความรู้ เพียงเพราะสัญลักษณ์หรือการอุปมาอุปมัยที่ทำให้เราเข้าถึงมันได้โดยง่าย
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 Friedrich Nietzsche ได้ให้เหตุผลว่า การอุปมาอุปมัยเป็นกระบวนการซึ่งเราปะทะ (Encounter) กับโลกของเรา การกระตุ้นระบบประสาท (Nerve-Stimulus) ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่การรับรู้ เป็นการอุปมาอุปมัยในครั้งแรก จากนั้นการรับรู้ได้ถูกเลียนแบบเป็นเสียง เป็นการอุปมาอุปมัยครั้งที่สอง และแต่ละครั้งมันก็จะข้ามผ่านจากที่แห่งหนึ่งไปสู่ใจกลางความแตกต่างของที่อีกแห่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง
ส่วน I.A. Richards มองการอุปมาอุปมัยว่าเป็น การขอยืมและการแลกเปลี่ยนความคิด การดำเนินการระหว่างปริบท (A borrowing between and intercourse of thoughts, a transaction between context) ดังนั้น การอุปมาอุปมัยจึงเป็นหลักการของความคิดและภาษาที่ปรากฏอยู่ในเวลาเดียวกัน ความคิดนั้นเป็นอุปมาอุปมัยและดำเนินการโดยการเปรียบเทียบ Richard มองว่าทุกความคิดเป็นอุปมาอุปมัย เพราะเมื่อเราให้คุณสมบัติแก่ความหมาย เราเพียงแต่มองเห็นมันในปริบทหนึ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่เราประสบมาในปริบทก่อนหน้านี้ (ยกตัวอย่างเช่น การที่เรามองสภาพห้องของคนหนึ่งว่าสกปรกเหมือนเล้าหมู ก็เป็นเพราะเราได้เปรียบเทียบมันกับภาพของเล้าหมูที่เราได้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว)
เช่นเดียวกับที่ Kenneth Burke ได้เสนอแนะว่า การอุปมาอุปมัยได้เล่นบทบาทที่สำคัญในการค้นพบและการพรรณนาความจริง เขาอธิบายว่า ถ้าเราใช้คำว่า "Character" ในฐานะที่เป็นถ้อยคำทั่วไปสำหรับอะไรก็ตามที่สามารถคิดได้ถึงความแตกต่าง (เช่น รูปแบบ สถานการณ์ โครงสร้าง ธรรมชาติ บุคคล วัตถุ การกระทำ บทบาท กระบวนการ เหตุการณ์ ฯลฯ) เราก็จะสามารถพูดได้ว่า การอุปมาอุปมัยได้บอกเราถึงบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับลักษณะหนึ่งโดยการพิจารณาจากมุมมองของอีกลักษณะหนึ่ง เช่น การมอง A โดยใช้มุมมองที่มีจาก B เป็นต้น
จากทัศนะที่มีต่อการอุปมาอุปมัยของ Burke และคนอื่นๆนั้น ทำให้การอุปมาอุปมัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและก่อให้เกิดการค้นพบความคิด
กระบวนการของการอุปมาอุปมัยที่ทำให้เราได้รู้ และมีประสบการณ์กับความเป็นจริง ได้สร้างความเป็นจริงเฉพาะสำหรับเรา ตามถ้อยคำที่เราเลือกใช้บรรยายความเป็นจริง มันทำหน้าที่เสมือนโครงสร้างหลัก ที่ให้ความสนใจต่อบางแง่มุมของปรากฏการณ์และซ่อนเร้นแง่มุมอื่นๆไว้ ด้วยเหตุนี้ แต่ละอุปมาอุปมัยที่เราเลือกใช้จึงพรรณนาความเป็นจริงเดียวกันในทิศทางที่แตกต่างกัน (เทียบได้กับวาทกรรมของฟูโก หรือมายาคติของบาร์ตส์)
การเลือกใช้อุปมาอุปมัย เป็นผลมาจากความคิดและประสบการณ์ของเราต่อความเป็นจริง และการใช้อุปมาอุปมัยยังสะท้อนการแสดงความรู้สึกร่วมกันในวัฒนธรรมของเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น อุปมาอุปมัยที่ว่า "Time is money" อาทิ "อะไหล่ชิ้นนี้จะช่วยคุณประหยัดเวลา" "ผมลงทุนไปกับเธอเยอะมาก" เป็นต้น เราพูดคำเหล่านี้ได้เป็นเพราะเรารับรู้ว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง เราจึงเข้าใจและมีประสบการณ์กับมัน ในฐานะที่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่สามารถจับจ่ายใช้สอย ลงทุนได้ และเก็บหอมรอมริบได้
การเลือกใช้อุปมาอุปมัยยังกำหนดการกระทำของเราอีกด้วย เนื่องจากในการอุปมาอุปมัยจะมีทั้งนัยของข้อตกลง มุมมอง และการประเมิน สิ่งเหล่านี้จะจัดการกับทัศนคติผ่านทางอะไรก็ตามที่มันได้บรรยายไว้ และให้แรงจูงใจให้กระทำการเป็นไปตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคิดว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง เราย่อมคาดหวังว่าจะได้รับการจ่ายค่าแรงจากเวลาการทำงานของเรา และเราตัดสินใจว่าจะทำอะไรถ้ากิจกรรมนั้นจะคุ้มค่ากับเวลาที่เราจะต้องเสียไป
ด้วยทัศนะที่มองว่าการอุปมาอุปมัยเป็นวิธีการในการรับรู้สิ่งต่างๆนี้เอง ที่ทำให้เกิด มุมมองใหม่ต่อการทำงานของการอุปมาอุปมัย ทฤษฎีหนึ่งที่มีอิทธิพลในกระบวนการนี้ได้แก่ ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ (Interaction theory) โดยนักวิชาการที่ชื่อ Black
มุมมองที่ว่าด้วยเรื่องปฏิสัมพันธ์ของการอุปมาอุปมัยเริ่มจากความคิดที่ว่า การอุปมาอุปมัยนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่กลับถูกนำมาวางอยู่เคียงข้างกัน โดยองค์ประกอบหลักเรียกว่า "Tenor" "Principal subject" หรือ "Focus" และองค์ประกอบรองเรียกว่า "Vehicle" "Secondary subject" หรือ "Frame" ยกตัวอย่างเช่นในอุปมาอุปมัยที่ว่า "เพื่อนร่วมห้องของฉันสกปรกเหมือนหมู" คำว่า "เพื่อนร่วมห้อง" เป็น Tenor และคำว่า "หมู" เป็น Vehicle เป็นต้น
ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์มีความโดดเด่นตรงที่มันให้ความสนใจกับการอธิบายว่า "Tenor" และ "Vehicle" มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งสองคำนี้ถูกมองว่า เกี่ยวข้องกันโดยระบบของบทสนทนาที่สัมพันธ์กัน ซึ่งปฏิสัมพันธ์ของมันนี้เองที่ก่อให้เกิดการอุปมาอุปมัย และในขณะที่คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกันของ "Tenor" และ "Vehicle" มีปฏิสัมพันธ์กัน บางส่วนก็อาจจะถูกเน้นย้ำและบางส่วนจะถูกกดกักปิดบัง (ลองเปรียบเทียบความแตกต่างของการมองอาจารย์คนหนึ่งว่าเป็น "แม่มด" หรือเป็น "แม่พระ")
เมื่อการอุปมาอุปมัยถูกมองว่า เป็นวิธีในการรับรู้โลกจากการปฏิสัมพันธ์กันของ "Tenor" และ "Vehicle" การอุปมาอุปมัยได้กลายมาเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบเฉพาะของข้อโต้แย้ง จากเดิมเมื่อการอุปมาอุปมัยถูกมองว่าเป็นการตกแต่งและเป็นภาษาที่แปลกไปจากธรรมดา ไม่มีบทบาทอะไรในการโต้แย้ง เป็นเพียงรูปแบบลีลาที่ไม่มีหน้าที่ของ การให้เหตุผลสนับสนุน แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการอุปมาอุปมัยนั้น การอุปมาอุปมัยได้ทำหน้าที่ในการให้เหตุผลโต้แย้งขั้นต้น
นั่นคือ การอุปมาอุปมัยทำให้เกิดการโต้แย้ง และไม่เพียงแต่การอุปมาอุปมัยจะก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงเท่านั้น ในตัวโครงสร้างของการอุปมาอุปมัยเองก็ยังเป็น ข้อโต้แย้งหรือเหตุผลสนับสนุนอีกด้วย หากว่าผู้รับสารสามารถค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง "Tenor" และ "Vehicle" และเห็นความเหมาะสมในการเชื่อมโยงสองคุณลักษณะดังกล่าวนั้นเข้าด้วยกันแล้ว ผู้รับสารก็จะยอมรับเหตุผลโต้แย้งสนับสนุนนั้น
Steven Perry ได้อธิบายการใช้อุปมาอุปมัยโดยศึกษา"วาทศิลป์กาฝากชาติ"(Infestation metaphor)ของฮิตเลอร์ ในการวิพากษ์ต่อสถานภาพของชาวยิวในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตทางวัฒนธรรม. เขาชี้ให้เห็นว่าการใช้อุปมาอุปมัยของฮิตเลอร์นั้น ฮิตเลอร์ได้ใช้เป็นข้อโต้แย้งไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อการอธิบายเท่านั้น ผู้ฟังหรือผู้อ่านที่ไม่ได้ปฏิเสธปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะของกาฝาก (Infestation-การเข้ามาอยู่ยุ่มย่ามเต็มไปหมด)และชาวยิว ย่อมจะยอมรับการใช้อุปมาอุปมัยดังกล่าว
วิธีการวิพากษ์
ความมุ่งหมายหลักของการวิพากษ์การใช้อุปมาอุปมัยนั้น ก็เพื่อจะพิจารณาว่าผู้ใช้ได้ใช้อุปมาอุปมัยใดเป็นหลัก
และได้สื่อความจริงออกมาในลักษณะเช่นใด วาทกรรมที่นำมาวิพากษ์นั้นจะขึ้นอยู่กับความสนใจของนักวิพากษ์เป็นหลัก
อาทิ เทปบันทึกคำสนทนา คำพูดที่ได้ยิน บทสุนทรพจน์ จดหมายข่าว รวมถึงมิวสิควิดีโอ
ภาพยนตร์ รูปภาพ หรือ รูปปั้นรูปแกะสลัก เป็นต้น
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการวิพากษ์มี 5 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
(1) การวิเคราะห์วาทศิลป์ในฐานะองค์รวม,
(2) การแยกการอุปมาอุปมัยออกจากเนื้อหาหรือปริบทส่วนอื่น
(3) การจัดกลุ่มของการใช้การอุปมาอุปมัย
(4) การวิเคราะห์การใช้การอุปมาอุปมัย และ
(5) การประเมินคุณค่าของการใช้การอุปมาอุปมัย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้คือ
1. การวิเคราะห์วาทศิลป์ในฐานะองค์รวม
ขั้นตอนแรกของการวิพากษ์ คือ ผู้วิพากษ์ต้องทำความคุ้นเคยกับตัวบทหรือองค์ประกอบและปริบทของงานวาทศิลป์ที่จะนำมาใช้ในการวิพากษ์
การทำความเข้าใจกับปริบทมีความสำคัญมาก เพราะความหมายของการอุปมาอุปมัยได้ถูกประกอบสร้างขึ้นจากฉาก
สถานการณ์ ผู้รับสารและผู้พูด ทั้งนี้เพราะการใช้อุปมาอุปมัยเดียวกัน อาจจะมีนัยที่แตกต่างกันไปตามบริบท
ยกตัวอย่างเช่น การเรียกคนว่า "Pig" อาจแตกต่างกันเมื่อใช้เรียกตำรวจในปริบทของปลายยุค
'60 หรือเมื่อเราใช้เรียกเพื่อนร่วมห้องที่ชอบทำห้องเลอะเทอะ เป็นต้น
ข้อมูลเกี่ยวกับปริบทและผลิตกรรม (Artifact) นั้นได้มาจากหลายวิถีทางด้วยกันเช่น การทบทวนผลิตกรรมวาทศิลป์ร่วมสมัย ปฏิกิริยาของผู้ฟังต่อวาทศิลป์ ประวัติศาสตร์ของตัวบทนั้น และข้อเขียนที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ของนักวิพากษ์
2. การแยกการอุปมาอุปมัยออกจากเนื้อหาส่วนอื่น
ขั้นตอนที่สองในการวิเคราะห์การใช้อุปมาอุปมัย คือ การแยกอุปมาอุปมัยที่ถูกใช้โดยผู้พูดออกจากหลายๆปริบท
ผู้วิพากษ์จำเป็นต้องแยกแยะว่าอะไรเป็น Tenor และ Vehicle และในเนื้อหาส่วนใดที่มีเพียง
Vehicle แสดงออกมาเท่านั้น เนื่องจากในหลายๆ ตัวอย่าง ได้พบว่ามีเพียง Vehicle
เท่านั้นที่ปรากฏในเนื้อหา ส่วน Tenor ได้แสดงออกเพียงนัยเท่านั้น
ในขั้นตอนสุดท้ายสำหรับส่วนนี้ ผู้วิพากษ์จะตัดเนื้อหาส่วนอื่นๆ ออกให้เหลือเพียงส่วนของการอุปมาอุปมัยและคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับบริบทที่แวดล้อมการอุปมาอุปมัยนั้นเท่านั้น
3. การจัดกลุ่มของการอุปมาอุปมัย
ผู้วิพากษ์จะต้องจัดกลุ่มของการใช้อุปมาอุปมัยตามประเภทของ Tenor หรือจัดกลุ่มตามประเด็นที่เกี่ยวกับ
Vehicle เช่น ในสุนทรพจน์ของ Martin Luther King, Jr. ผู้วิพากษ์อาจจะจัดกลุ่มการอุปมาอุปมัยออกตาม
Tenor ที่เกี่ยวกับคนผิวดำ, รัฐธรรมนูญ หรือประเทศสหรัฐฯ ก็ได้
4. การวิเคราะห์การอุปมาอุปมัย
ในขั้นตอนนี้จะวิเคราะห์อุปมาอุปมัยที่ได้รับการจัดกลุ่มตาม Tenor หรือ Vehicle
เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวคิดของการใช้อุปมาอุปมัยในชิ้นงานนั้นๆ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการใช้การอุปมาอุปมัยที่มีต่อผู้ฟัง
และต่อการสนับสนุนแนวคิดของการโต้แย้งด้วย
5. การประเมินคุณค่าของการอุปมาอุปมัย
ในขั้นตอนสุดท้าย คือ การประเมินคุณค่า ซึ่งผู้วิพากษ์จะต้องประเมินว่าอุปมาอุปมัยที่ใช้ในงานวาทศิลป์ว่ามีคุณค่าอย่างไร
เช่น อาจจะประเมินคุณค่าในด้านของ ผลกระทบที่มีต่อผู้ฟัง หรือประเมินในแง่ของความสามารถที่การใช้อุปมาอุปมัยได้สร้างผลกระทบต่อผู้ฟังตามความตั้งใจของผู้แสดงวาทศิลป์
ว่ามีระดับของความสามารถมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างการวิพากษ์การใช้อุปมาอุปมัย
กาฝากชาติ : วาทศิลป์ของฮิตเลอร์ในการสร้างภาพชาวยิว
(Infestations of the National Body: Hitler's Rhetorical Portrait of the Jews)
By Steven Perry
การใช้ภาพพจน์เกี่ยวกับธรรมชาติและอินทรียภาพ เพื่อแสดงคุณลักษณะของชาติเยอรมันของฮิตเลอร์นั้นไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ของนักวิพากษ์อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ Perry ต้องการจะสำรวจในครั้งนี้ คือ การใช้อุปมาอุปมัยของฮิตเลอร์ เพื่อแสดงลักษณะของชาวยิวซึ่งเป็นศัตรูของชาติ หรือเป็นสิ่งรบกวนอินทรียภาพของชาติ ดังเช่นงานวิจัยของ Richard Koenigsberg และ Norman Baynes ซึ่งพบว่า วาทะของฮิตเลอร์ได้เปรียบเปรยว่า ชาวยิวและกลุ่มบอลเชวิคเป็นสาเหตุของเชื้อโรคร้าย เป็นปรสิต เป็นยาพิษร้ายแรงต่อร่างกายของชาติ
การใช้อุปมาอุปมัยที่ได้กล่าวถึงในครั้งนี้ นอกเหนือจากอุปมาอุปมัยเกี่ยวกับ โรคร้ายแรง/สิ่งรบกวน (Disease/Infestation metaphors) แล้ว ยังรวมถึงอุปมาอุปมัยประเภทเชื้อแบคทีเรีย (Viral-Bacterial), ปรสิต (Parasitic), และยาพิษ (Poison) เนื่องจากการใช้อุปมาอุปมัยทั้งหมดนี้ มีความหมายถึงการโจมตีร่างกายของชาติจากสิ่งที่เจริญเติบโตโดยอาศัยปัจจัยภายนอก ทั้งที่มองเห็นได้และไม่อาจมองเห็นได้ นอกจากนั้นแล้ว การใช้อุปมาอุปมัยเหล่านี้ยังประกอบไปด้วยองค์ประกอบจำพวกความน่ากลัว และความลึกลับอีกด้วย
กลยุทธ์ทางวาทศิลป์ในการตั้งสมญานาม (Rename) ให้แก่ศัตรูในสถานการณ์ซึ่งมีความขัดแย้งกันนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับการใช้เพื่อลดความเป็นตัวตน ลดทอนความเป็นมนุษย์ของศัตรู และเพื่อทำให้การต่อต้านศัตรูนั้นมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในการเปลี่ยนชื่อหรือตั้งสมญานาม (Rename) ของศัตรูนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสงคราม ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่เราได้ตั้งชื่อใหม่ให้แก่ญี่ปุ่นว่า "Gook" และ "Nip" เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางวาทศิลป์ของฮิตเลอร์นั้นกลับแตกต่างออกไป เพราะถึงแม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะเกิดเหตุการณ์ความเกลียดชังชาวเซไมต์ในตอนกลางของยุโรป แต่ชาวยิวก็ไม่ได้ถูกรับรู้กันทั่วไปว่าเป็นศัตรูของชาติเยอรมัน การใช้อุปมาอุปมัย "กาฝากชาติ" (Infestation metaphor) จึงทำให้ฮิตเลอร์สามารถปลูกฝังความเกลียดชัง ความรังเกียจชาวยิวให้เกิดขึ้นในชนชาติเยอรมันได้
การใช้อุปมาอุปมัยดังกล่าวเหมาะเจาะพอดีกับการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และด้วยเหตุที่ฮิตเลอร์ได้เลือกใช้อุปมาอุปมัยว่าชาวยิวเป็นเหมือนกับเชื้อโรคร้าย เป็นปรสิตในร่างกาย เป็นยาพิษซึ่งก่อให้เกิดความหายนะต่อชาติ จึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คน จากเดิมที่เคยรับรู้กันว่าชาวยิวเป็นสิ่งไร้ค่าแต่ไม่มีอันตราย ให้กลับกลายเป็นว่า ชาวยิวเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ ชาวเยอรมันจึงต้องการผู้คุ้มครองพวกตน และนั่นก็คือฮิตเลอร์ เพื่อให้จัดการต่อภัยร้ายแรงทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นจากพวก ชาวยิว
ในทำนองเดียวกัน ความชื่นชมต่อการใช้ตรรกะโดยนัยของอุปมากาฝากชาติ ทำให้ ความรู้สึกที่ดูเหมือนจะขัดแย้งของผู้คนเลือนหายไปเมื่อได้รับฟังวาทะของฮิตเลอร์ นั่นคือ เมื่อเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่าชาวยิวต่ำต้อยกว่าชาวอารยัน จะเป็นไปได้อย่างไรว่าชาวยิวจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระเบียบสังคมของชาวอารยัน แต่คำตอบก็คือ ระหว่างชาวยิวกับชาวอารยันนั้นเปรียบเสมือนกับ "กาฝากและเจ้าบ้าน" กาฝาก (ยิว) เป็นสิ่งที่ต่ำกว่า เลวร้ายกว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น แต่มีศักยภาพสูงในการทำลายล้างอินทรียภาพของเจ้าบ้าน (อารยัน) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่า
การประยุกต์ใช้อุปมาอุปมัยเกี่ยวกับเชื้อโรคหรือสิ่งรบกวนต่อมนุษยชาตินั้น แตกต่างไปจากการใช้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต การใช้อุปมาอุปมัยแบบนี้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความเป็นอันตราย เพียงแต่จะรู้สึกรังเกียจต่อสิ่งที่ปรากฏให้เราเห็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาใช้กับวาทกรรมสาธารณะเพื่อแสดงคุณลักษณะของกลุ่มคน อุปมาอุปมัยแบบนี้ได้ทำหน้าที่ที่แตกต่างออกไป
ตามที่ Sontag ได้กล่าวไว้ว่า "ลักษณะความเป็นละครของการใช้อุปมาอุปมัย เชื้อโรคในวาทกรรมทางการเมืองสมัยใหม่ ได้ก่อให้เกิดความคิดเกี่ยวกับการลงโทษ เนื่องจากเชื้อโรคนั้นเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของปีศาจ เป็นสิ่งที่จะต้องถูกกำจัด" ความรู้สึกที่ยังคงอยู่ในอุปมาอุปมัยแบบนี้ คือ ความรู้สึกสะพรึงกลัวและความลึกลับ ในขณะเดียวกัน ก็ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มคนที่ร่วมอยู่ในคุณสมบัติเดียวกันนี้ด้วย
การประยุกต์ใช้อุปมาอุปมัยกาฝากชาติของฮิตเลอร์ต่อชาวยิว ทำให้ชาวยิวถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่อาศัยอยู่ภายในร่างกาย ในการกล่าววาทศิลป์ตอนหนึ่งซึ่งมีความยาวมากฮิตเลอร์ได้กล่าวเน้นย้ำถึง ความประสงค์ร้ายตามธรรมชาติของชาวยิวต่อเชื้อชาติ และเป้าหมายทางวัฒนธรรมของชาวอารยัน
อุปมาอุปมัยกาฝากชาติยังถูกใช้เพื่อให้มีนัยถึงความไม่บริสุทธิ์(Impurity) การไม่เคารพต่อกฏธรรมชาติ (A profanation of the natural order) ซึ่ง Black และ Sontag ได้ให้คำอธิบายในทำนองเดียวกันว่า อุปมาอุปมัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง (Cancer metaphor) ได้ถูกใช้เพื่อสร้างความหมายให้เกิดขึ้นมาอย่างไร และถึงแม้ว่าฮิตเลอร์จะไม่ได้อ้างถึง โรคมะเร็งโดยตรง แต่ประเภทของภาพพจน์กาฝากชาติที่ใช้ (เช่น เนื้องอกร้ายที่ไม่สามารถรักษาได้, ความเสื่อมสภาพภายใน ฯลฯ ) ก็มีค่าเท่ากันในการชี้ให้เห็นถึงการบริโภค ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายจากสิ่งที่เลวร้าย
ตามตรรกะของฮิตเลอร์แล้ว ชาวยิวเปรียบเสมือนรากเหง้าของการเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ ตรรกะเช่นนี้ได้สะท้อนผ่านคำพูดของฮิตเลอร์ใน Mein Kampf ว่า ชาวยิวเปรียบเสมือนกาฝากของวัฒนธรรมอารยัน คุกคามและทำลายความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยัน (จากการบริโภคร่างกายซึ่งมีเลือดบริสุทธ์ของชาวอารยันอยู่)
Perry มีความคิดเห็นว่า นัยของการใช้อุปมาอุปมัยกาฝากชาตินี้ ได้ไปไกลเกินกว่าการแสดงคุณลักษณะของชาวยิว ตรรกะของอุปมานี้ยังมีนัยถึงทัศนะเกี่ยวกับลักษณะปัญหาทางคุณธรรมของกลุ่มสังคมนิยมฝ่ายขวาในการรังเกียจชาวเซไมต์ และลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งระหว่างนาซีและยิว
ตรรกะของการใช้อุปมาอุปมัยกาฝากชาตินี้ ยังได้ทำให้ความสงสัยเคลือบแคลงทางคุณธรรมในการปฏิบัติต่อชาวยิวว่าเป็นเสมือนศัตรูหายไป ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การใช้อุปมาอุปมัยนี้ได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของชาวยิว และยังได้ทำให้คุณธรรมตามขนบดั้งเดิมในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้กับชาวยิว
เปรียบได้กับการนำผู้ป่วยไปรักษา แพทย์ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงการปฏิบัติอย่างยุติธรรม อย่างเมตตากรุณาต่อสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคร้ายนั้น ลำดับความสำคัญที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวก็คือการรักษา และไม่สำคัญว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อให้สมความมุ่งหมายนั้น วิธีการรักษาทุกรูปแบบเพื่อจะกำจัดเชื้อโรคร้ายและหยุดยั้งการคร่าทำลายชีวิตผู้ป่วยนั้นเป็นที่ยอมรับได้
การใช้อุปมาอุปมัยกาฝากชาติยังมีนัยถึงการที่ "ผลลัพธ์เหนือกว่าวิธีการ" (An end-over-mean) นอกจากนั้นแล้ว อุปมาอุปมัยดังกล่าว ยังทำให้ลักษณะทั่วไปของการต่อสู้ระหว่างนาซีและยิว แปรเป็นการทำสงครามเพื่อให้ร่างกายของชาติสามารถสืบชีวิตต่อไปได้ จากคำกล่าวของฮิตเลอร์ที่ว่า "ถ้าเราปล่อยให้พัฒนาการที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ดำเนินอยู่ต่อไป โดยปราศจากการขัดขวางใดๆ พวกยิวก็จะกลืนกินมนุษย์หมดทั้งโลก"
แม้ว่าเอกสารที่ Perry ได้ใช้ในการวิเคราะห์วาทศิลป์ของฮิตเลอร์ครั้งนี้ จะเป็นเอกสารก่อนหน้าปี ค.ศ. 1940 แต่สิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์ ทำให้เราสามารถพบนัยสำคัญของลางบอกเหตุถึงการปฏิบัติต่อชาวยิวอย่างเด็ดขาดของฮิตเลอร์ได้ อย่างไรก็ตาม มันออกจะง่ายเกินไป ถ้าเราจะมองเพียงแค่ว่าวาทศิลป์ของฮิตเลอร์เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศ เพื่อสื่อนำถึงการทำลายล้างเท่านั้น เนื่องจากการค้นพบตรรกะของการใช้อุปมาอุปมัยในครั้งนี้ จะช่วยทำให้เราเกิดความเข้าใจถึงการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
รายการอ้างอิง
(1) Foss, Sonja K. 1989. Rhetorical criticism: Exploration & practicee. Illinois: Scott, Waveland Press, Inc.
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)