H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : 1-31 ตุลาคม ๒๕๔๖
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 309 หัวเรื่อง
บทสัมภาษณ์ : วันทนา ศิวะ
คัดลอกมาจาก website fridaycollege.org

แปลและเรียบเรียงโดย ภัควดี
บทความนี้เคยคัดลอกเผยแพร่แล้ว บนเว็ปบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(บทความนี้ยาวประมาณ 8 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com

ฉันยังเรียนรู้จากภควัตคีตาและคำสอนอื่น ๆ ในวัฒนธรรมของเราให้วางตัวเป็นอุเบกขาจากผลลัพธ์ของการกระทำ เพราะนั่นอยู่นอกเหนือการควบคุมของฉัน บริบทไม่ได้อยู่ในการควบคุมของคุณ แต่ปณิธานต่างหากคือสิ่งที่คุณตั้งมั่นขึ้นมาด้วยตัวเอง และคุณสามารถตั้งปณิธานที่ลึกซึ้งที่สุดพร้อมกับวางตัวอยู่ในอุเบกขา
031046
release date
R

ถึงแม้ว่าฉันเป็นนักฟิสิกส์ ไม่ใช่นักสังคมศาสตร์ แต่ในฐานะพลเมืองอินเดีย ฉันจำต้องรับผลกระทบจากความรุนแรงและความป่าเถื่อนที่มาพร้อมกับความเฟื่องฟูของลัทธิมูลฐานทางศาสนาสุดขั้ว (fundamentalism) ฉันได้แต่ถามตัวเองว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สังคมซึ่งเป็นอู่สันติภาพ ดินแดนของคานธีและพระพุทธเจ้า กลับเสื่อมทรามลงจนเป็นสังคมที่ปั่นป่วนที่สุดสังคมหนึ่งในโลก

ยิ่งระยะหลังมานี้ ยิ่งมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ลัทธิมูลฐานทางศาสนาสุดขั้วเกิดขึ้นมาจากความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของระบบโลกาภิวัตน...์ ในคุชราต เรามีการเลือกตั้งระดับภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง WTO การเกษตรและความอยู่รอดของชาวนาเป็นประเด็นสำคัญ ชาวนาบอกว่าพวกเขาถูกทำลายจากนโยบายโลกาภิวัตน์ และลงคะแนนเสียงให้พรรครัฐบาลหลุดจากอำนาจ ทันทีหลังจากนั้น ลัทธิมูลฐานทางศาสนาสุดขั้วก็ปะทุขึ้น การสังหารหมู่และการปลุกปั่นสงครามเริ่มต้นขึ้น และขณะที่ความสนใจของสาธารณชนพุ่งไปที่ความรุนแรง ระเบียบวาระของระบบโลกาภิวัตน์ก็ถูกผลักดันต่อไป (บางส่วนจากบทความ)

สัมภาษณ์วันทนา ศิวะ: หยั่งรากประชาธิปไตย
บทสัมภาษณ์วันทนา ศิวะ โดยซาร่าห์ รูธ แวน เกลเดอร์ YES! Magazine 13 ธันวาคม พ.ศ. 2545
ภัควดี : แปล - จาก Deepening Democracy by Sarah Ruth van Gelder, YES! Magazine

วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) เป็นนักฟิสิกส์และเกษตรกรชีวภาพ ผู้ปลุกให้เกิดขบวนการ "ผู้โอบกอดต้นไม้" อันลือลั่นของอินเดีย
และเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง เธอปราศรัยไปทั่วโลกเกี่ยวกับหายนภัยของโลกาภิวัตน์
พร้อม ๆ กับชักชวนเพื่อนร่วมโลกให้เรียกร้องสิทธิต่อชีวิตกลับคืนมา

ซาร่าห์: อยากให้คุณกล่าวถึงขบวนการประชาธิปไตยโลก (Earth Democracy Movement) ว่าได้แนวความคิดมาจากไหนและขบวนการมีรูปแบบอย่างไร?

วันทนา: แนวความคิดนี้มาจากทรรศนะที่โบราณมากในปรัชญาอินเดีย เช่นเดียวกับที่หัวหน้าซีแอตเติลพูดถึงการอยู่ในข่ายใยของชีวิต (Chief Seattle หัวหน้าเผ่าชาวอินเดียนแดงผู้แสดงวาทะสำคัญเมื่อปี ค.ศ. 1854 ว่า " มนุษย์ไม่ได้ถักทอข่ายใยของชีวิต เขาเป็นเพียงด้ายเส้นหนึ่งในข่ายใยนั้น สิ่งใดก็ตามที่เขากระทำต่อข่ายใย เท่ากับเขากระทำต่อตัวเอง") ในอินเดีย เราพูดถึง vasudhaiva kutumbkam ซึ่งหมายถึง "ครอบครัวโลก" จักรวาลวิทยาของอินเดียไม่เคยแบ่งแยกมนุษย์จากสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เราคือเอกภาพที่ต่อเนื่องกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่างหาก

เมื่อเกิดประเด็นเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ในอินเดียมีการตอบโต้สองระดับจากฝ่ายที่คัดค้านการปฏิบัติแบบนี้ ระดับแรกคือการขัดขืน: "นี่เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม ชีวิตไม่ใช่ประดิษฐกรรม ชีวิตไม่พึงถูกผูกขาด คุณไม่ควรขายเมล็ดพันธุ์ที่ขโมยจากเราไป และคุณไม่ควรมาเก็บค่าธรรมเนียมผลิตผลที่เกิดจากอัจฉริยภาพของธรรมชาติ และการแก้ไขปรับปรุงของมนุษย์ตลอดหลายศตวรรษ"

ระดับที่สองคือ ทวงสิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา: ประชาชนอ้างถึงสิทธิในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพและใช้ความหลากหลายนั้นอย่างยั่งยืน ความคิดนี้เกิดมาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายครั้งในหมู่ขบวนการเคลื่อนไหวที่เราสร้างขึ้นมาจากรากหญ้า

ฉันยังจำได้ถึงการประชุมครั้งหนึ่งของชาวบ้าน 200 คน ซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในการรักษาเมล็ดพันธุ์และการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์กับ Navdanya กองทุนที่ฉันก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมเกษตรกรรมชีวภาพ ชาวบ้านทั้ง 200 คนนี้รวมตัวกันในวันสิ่งแวดล้อมโลกเมื่อ ปี พ.ศ. 2541 และประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือความหลากหลายทางชีวภาพของตน ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเพื่อข่มขืนและทำลาย แต่เป็นอำนาจอธิปไตยเพื่ออนุรักษ์

ชาวบ้าน 200 คนนี้รวมตัวกันในหมู่บ้านบนภูเขาสูงแห่งหนึ่งใกล้กับสาขาของแม่น้ำคงคา พร้อมใจกันประกาศว่า "เราได้รับป่า สมุนไพร เมล็ดพันธุ์จากธรรมชาติตกทอดมาทางบรรพบุรุษ เราเป็นหนี้ที่ต้องอนุรักษ์มรดกนี้ไว้เพื่ออนาคต เราขอปฏิญาณว่า เราจะไม่ปล่อยให้มรดกถูกทำลายหรือถูกขโมยไป เราขอปฏิญาณว่าเราจะไม่มีวันยอมรับสิทธิบัตร การดัดแปลงพันธุกรรม หรือยินยอมให้ความหลากหลายทางชีวภาพของเราถูกแปดเปื้อนเป็นมลทินไม่ว่าในรูปแบบใด และเราขอปฏิญาณว่า เราจะปฏิบัติตัวเป็นประชาชาติของความหลากหลายทางชีวภาพนี้"

การพูดคุยแลกเปลี่ยนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วทั้งอินเดีย โดยใช้ภาษามากมายหลายสำเนียง นำไปสู่ปฏิบัติการที่น่าอัศจรรย์ใจ ชาวบ้านบางคนเขียนจดหมายถึงนายไมค์ มัวร์ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกในขณะนั้น บอกว่า "เราได้รับรู้ว่าคุณผ่านกฎหมายที่เรียกกันว่า 'ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า' เรารับรู้ด้วยว่า ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ คุณต้องการผูกขาดรูปแบบชีวิต แต่นี่เป็นทรัพยากรที่คุณไม่มีอำนาจชี้ขาด คุณก้าวออกไปเกินขอบเขตอำนาจของตนเสียแล้ว"

จดหมายทำนองเดียวกันนี้มีส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีของอินเดีย: "คุณเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ก็จริง แต่เราต่างหากที่เป็นผู้รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งนี้ไม่อยู่ในอำนาจชี้ขาดของคุณ คุณไม่มีสิทธิ์ลงนามเพื่อมอบอำนาจนี้ให้ใคร เพราะคุณไม่เคยได้รับมอบอำนาจนี้เลย เราไม่เคยมอบหมายให้คุณเป็นตัวแทนของเรา"

แต่ข้อความที่งดงามที่สุดถูกสลักไว้ใต้ต้นไม้ในหมู่บ้าน และเขียนถึงบริษัทไรซ์เทค ซึ่งเป็นบริษัทที่จดสิทธิบัตรข้าวบัสมาติ และเขียนถึงบริษัทเกรซคอร์ปอเรชั่นที่จดสิทธิบัตรชื่อของข้าว จดหมายฉบับนี้เขียนว่า "เราใช้ข้าวบัสมาติมาหลายศตวรรษ...ตอนนี้เราได้ยินว่าคุณได้หมายเลขสิทธิบัตรเหนือข้าวชนิดนี้ และอ้างว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เรารู้ว่าบางทีการปล้นและการขโมยแบบนี้ก็เกิดขึ้น มีขโมยในหมู่บ้านของเราเหมือนกัน และเราปฏิบัติต่อขโมยด้วยความเข้าใจ เราเรียกขโมยมาและขอให้ขโมยอธิบายว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้ต้องขโมย ดังนั้น เราจึงขอเชิญคุณมาที่หมู่บ้านของเราและอธิบายให้เราฟังถึงแรงจูงใจที่ทำให้คุณต้องขโมยจากเรา"

ชุมชนเหล่านี้เริ่มก่อตั้งมาหลายปีแล้วโดยเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในท้องถิ่น และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ตอนนี้ ชุมชนพยายามสร้างการอภิบาลตนเองในเรื่องระบบอาหาร ระบบน้ำและระบบความหลากหลายทางชีวภาพ

ถ้าคุณคิดถึงความจริงที่ว่า โลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติคือการรุกรานเข้ามาแปรรูปน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบอาหารของแม่พระธรณี เมื่อชุมชนเหล่านี้ประกาศอำนาจอธิปไตยและดำเนินการตามอำนาจอธิปไตยนั้น เท่ากับพวกเขาสร้างการตอบโต้ที่ทรงพลังต่อโลกาภิวัตน์ ประชาธิปไตยที่มีชีวิตคือประชาธิปไตยที่พิทักษ์รักษาความมั่งคั่งที่มีชีวิตให้ประชาชนได้พึ่งพิง

ซาร่าห์: มีที่ไหนอีกไหมที่ใช้ภาษาแบบเดียวกันนี้เพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติ

วันทนา: ฉันคิดว่ามีการพลิกฟื้นขึ้นมาเองของวิธีคิดที่ตั้งอยู่บนหัวใจของการทะนุบำรุงชีวิต เฉลิมฉลองชีวิต ชื่นชมชีวิต โดยถือเป็นทั้งหน้าที่สูงสุดของเราและเป็นรูปแบบที่ทรงพลังที่สุดในการขัดขืนต่อระบบที่ก้าวร้าวป่าเถื่อน ซึ่งครอบงำโลกไม่เพียงเฉพาะด้านการค้า แต่ยังเป็นเผด็จการที่ปฏิเสธอิสรภาพและเสรีภาพของประชาสังคม

ไม่มีภาษาใดภาษาหนึ่งเพียงภาษาเดียวสำหรับบรรยายขบวนการนี้ และนั่นคือข้อที่งดงามของมัน เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ WTO ในซีแอตเติล สร้างประสบการณ์ครั้งแรกของการเมืองสายรุ้ง นั่นคือ การเมืองที่บรรลุความเป็นพหุนิยม ปราศจากการวางแผนสั่งการจากมันสมองหลัก แต่มีกระแสพลังและความงามที่เกิดจากความคิดเสรี ในการเมืองแบบใหม่ ประชาชนมีวิธีแสดงออกแตกต่างกันไป แต่ฉันรู้สึกว่า แก่นกลางยังคงเป็นประชาธิปไตยที่มีชีวิต ระบบเศรษฐกิจที่มีชีวิต รวมไปจนถึงการยึดมั่นในความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับชาติและระดับสากลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย

ซาร่าห์: คุณเคยเขียนถึงความไร้เสถียรภาพสี่ประเภท นั่นคือทางด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง และแจกแจงว่าแต่ละประเภทนำไปสู่บทลงเอยที่เป็นความรุนแรงอย่างไร คุณพอบอกได้ไหมว่า ทำไมคุณถึงแยกแยะความไร้เสถียรภาพแต่ละรูปแบบนี้?

วันทนา: วิกฤตการณ์ทางด้านนิเวศวิทยาคือรูปแบบของความไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสภาพของความยากไร้ เมื่อแม่น้ำปนเปื้อนมลพิษและคุณไม่มีน้ำสะอาดดื่ม เมื่อน้ำบาดาลแห้งขอดและคุณจำต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ไม่มีความไร้เสถียรภาพที่ลึกซึ้งไปกว่านี้อีกแล้ว ความขัดแย้งจำนวนมากภายในประเทศโลกที่สามเกี่ยวโยงกับการถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติเร็วเกินกว่าที่ธรรมชาติสามารถสร้างทดแทน หรือยักย้ายทรัพยากรไปจากถิ่นที่ประชาชนต้องพึ่งพาอาศัยมัน ในทุกสังคม เขื่อนกลายเป็นต้นตอความขัดแย้งครั้งใหญ่ เมื่อใดที่ความขาดแคลนน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง ย่อมกลายเป็นศัตรูกันเอง

ซาร่าห์: คนส่วนใหญ่มักทึกทักว่า ทุพภิกขภัยเป็นส่วนหนึ่งของสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์เสมอมา และทุพภิกขภัยมีความเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับการเพิ่มขึ้นของประชากร

วันทนา: ตลอดเวลา 25 ปีที่ฉันทำงานเกี่ยวกับปัญหาทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ก็คือ แต่ละพื้นที่บนโลกใบนี้มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันไป อาจมีปริมาณฝนเพียงเล็กน้อยในรัฐราชสถาน แต่วัฒนธรรมของรัฐราชสถานวิวัฒนาการมาจนสามารถจัดการกับปริมาณน้ำฝนอันน้อยนิดได้ ผู้คนในรัฐนั้นพัฒนาเทคโนโลยีอันน่าทึ่งในการใช้และเก็บรักษาน้ำฝนเท่าที่มี มีระบบเก็บรักษาน้ำใต้ดินที่ซับซ้อน และระบบใช้น้ำในการเกษตรที่ไม่ให้น้ำเปล่าเปลืองไปแม้แต่หยดเดียว เทคโนโลยีนี้ยังใช้หล่อเลี้ยงเมืองต่าง ๆ อย่างโชธปุระและชัยปุระ ผู้คนในถิ่นนี้มีน้ำดื่มเพียงพอก็เพราะพัฒนาวัฒนธรรมการสงวนรักษาน้ำ และปลูกธัญพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก ทันทีที่คุณคิดว่าทะเลทรายของราชสถานควรทำนาข้าวหรือปลูกฝ้ายล่ะก็ คุณสร้างความขาดแคลนขึ้นมาทันที

ทุพภิกขภัยไม่ใช่ผลลัพธ์ของการมีคุณสมบัติที่ไม่เท่าเทียม นั่นคือความหลากหลายต่างหาก ความขาดแคลนคือการผิดคู่ระหว่างวัฒนธรรมกับสิ่งที่ธรรมชาติให้มา วัฒนธรรมวิวัฒนาการมาจนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เลียนแบบความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิอากาศและระบบนิเวศวิทยา เมื่อไรก็ตามที่ความสัมพันธ์นี้พังทลายลง เมื่อนั้นคุณจะเห็นการเติบโตของประชากรที่ผิดสัดส่วน ไม่เคยมีสังคมไหนมีสิ่งที่เราเรียกว่า การขยายตัวอย่างพรวดพราดของประชากร ตราบที่สังคมนั้นยังดำรงอยู่ในบริบทของสิทธิที่มีต่อทรัพยากรและความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่ออนาคต

ลองดูตัวอย่างจากสองสถานการณ์นี้ ในประเทศอังกฤษ การขยายตัวอย่างพรวดพราดของประชากรเริ่มต้นพร้อมกับขบวนการล้อมรั้วที่ดิน (The Enclosure of the Commons) ในยุโรปสมัยก่อน ที่ดินที่ใช้ทำกสิกรรมไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลคนใดโดยเฉพาะ แต่มีลักษณะเป็นที่ดินส่วนรวมของชุมชน กสิกรแต่ละคนจะจับจองที่ดินคนละหย่อมเพื่อเพาะปลูก แต่เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยว คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนนั้นได้ เช่น เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ขบวนการล้อมรั้วที่ดินเพื่อจับจองเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยพวกขุนนางบางกลุ่ม จนมาเสร็จสิ้นเบ็ดเสร็จในศตวรรษที่ 19

เมื่อที่ดินที่ทำกสิกรรมทั้งหมดได้ตกเป็นของส่วนบุคคล ในประเทศอื่น ๆ กระบวนการนี้เริ่มต้นและสิ้นสุดในระยะเวลาที่ต่างกันไป [ผู้แปล]) เมื่อชาวนาถูกถอนรากออกจากที่ดินและต้องหันมาขายแรงงานเพื่อยังชีพ ในอินเดีย ปี ค.ศ. 1800 เป็นเส้นแบ่งเมื่อระบอบอาณานิคมสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นมา หลายศตวรรษก่อนหน้าปี ค.ศ. 1800 ประชากรของเราคงที่มาตลอด เมื่อคุณต้องพึ่งพาอาศัยที่ดินในการยังชีพ คุณรู้ว่าที่ดินนั้นเลี้ยงดูคนได้ 5 คน คุณย่อมสร้างกระบวนการทางสังคมที่ทำให้คุณมีกันแค่ 5 คน แต่เมื่อคุณต้องขายแรงงานบนพื้นฐานที่ไม่แน่นอน ในตลาดแรงงานที่ไม่มั่นคง คุณรู้ว่ามี 10 คนดีกว่ามี 5 คน ด้วยเหตุนี้เอง การต้องพรากจากความมั่งคั่งตามธรรมชาติของแม่พระธรณี คือรากเหง้าของความไม่มั่นคงและการขยายตัวของประชากร

ซาร่าห์: ถ้าเช่นนั้น ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น?

วันทนา: แทนที่จะปล่อยให้เมล็ดพันธุ์อยู่ในมือของชาวนาที่ร่วมมือกับธรรมชาติในการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมา เมล็ดพันธุ์กลับตกไปอยู่ในกำมือที่ผูกขาดของบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเพียง 5-6 บรรษัท แทนที่น้ำเป็นสมบัติของชุมชนท้องถิ่นหลายล้านครอบครัว น้ำกลับถูกควบคุมโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกแค่ 5-6 บรรษัท นี่คือวิธีการใช้ระบบเศรษฐกิจกอบโกยเพื่อคนหยิบมือหนึ่งโดยแลกกับความอยู่รอดของคนส่วนใหญ่ ประชากร 80% ที่ถูกพรากจากความมั่งคั่งของธรรมชาติต้องย้ายเข้าไปอยู่ในความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะการดำรงชีพในฐานะชาวนา ชาวประมง เกษตรกร ชนเผ่า ชาวป่า ล้วนต้องพึ่งพิงอยู่กับการมีสัตว์น้ำ ที่ดิน ป่า เพื่อดำรงชีวิต เมื่อสิทธินั้นถูกยื้อแย่งไป คนเหล่านี้ย่อมกลายเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจ กลายเป็นประชากรส่วนเกิน

วิถีเศรษฐกิจเช่นนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ประชากร 20% ที่ได้ผลประโยชน์จะได้รับความมั่นคงอันเป็นผลตามมาจากนโยบายดังกล่าว แต่ปรากฏการณ์ระยะหลังที่วอลล์สตรีทส่อให้เห็นว่า วิถีเศรษฐกิจแบบนี้สร้างความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งต่อประชากร 80% ที่ต้องพึ่งพิงความมั่งคั่งของธรรมชาติ และต่อประชากรอีก 20% ที่เหลือที่พึ่งพิงความมั่งคั่งในโลกเสมือนด้วย เพราะเงินในโลกเสมือนเป็นสิ่งสมมติ และสิ่งสมมติย่อมปลาสนาการไปอย่างง่ายดายเช่นเดียวกับตอนที่สร้างขึ้น

ถึงที่สุดแล้ว ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นผลพวงของวิถีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเงิน ขับเคลื่อนด้วยทุน ขับเคลื่อนด้วยบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งกำลังทำลายทุนทางธรรมชาติและความยืดหยุ่นยั่งยืนของเศรษฐกิจท้องถิ่น

ซาร่าห์: ความไร้เสถียรภาพประเภทที่สามคือทางด้านวัฒนธรรม คุณเห็นว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างโลกาภิวัตน์กับการเปิดฉากความรุนแรงของลัทธิชาตินิยมและการกดขี่ของฝ่ายขวา มีหลักฐานอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเชื่อมโยงนี้?

วันทนา: ถึงแม้ว่าฉันเป็นนักฟิสิกส์ ไม่ใช่นักสังคมศาสตร์ แต่ในฐานะพลเมืองอินเดีย ฉันจำต้องรับผลกระทบจากความรุนแรงและความป่าเถื่อนที่มาพร้อมกับความเฟื่องฟูของลัทธิมูลฐานทางศาสนาสุดขั้ว (fundamentalism) ฉันได้แต่ถามตัวเองว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สังคมซึ่งเป็นอู่สันติภาพ ดินแดนของคานธีและพระพุทธเจ้า กลับเสื่อมทรามลงจนเป็นสังคมที่ปั่นป่วนที่สุดสังคมหนึ่งในโลก

ตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ฉันเข้าใจความเชื่อมโยงเหล่านี้ก็คือ ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในรัฐปัญจาบเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมนตร์วิเศษของการปฏิวัติเขียวเริ่มจางลง เมื่อเงินทุนอุดหนุนหดหายไปและระบบความรุ่งเรืองจอมปลอมเริ่มเสื่อมถอย ปัญจาบกลายเป็นแหล่งกำเนิดของความโกรธแค้นและไม่พอใจ

เมื่อคุณพิจารณาดูว่าทำไมประชาชนถึงต่อสู้ คุณพบว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำ เพื่อราคาที่เป็นธรรม เพื่อมีปากเสียงว่าควรปล่อยน้ำในเขื่อนตอนไหนบ้าง ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกตัดสินใจในท้องถิ่นหรือในภูมิภาค มันล้วนแต่ถูกตัดสินใจมาแล้วจากเมืองหลวง จากกรุงเดลี ดังนั้น ความขุ่นแค้นจึงเกิดขึ้นต่อระบอบการปกครองที่รวมศูนย์ ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง

ยิ่งระยะหลังมานี้ ยิ่งมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ลัทธิมูลฐานทางศาสนาสุดขั้วเกิดขึ้นมาจากความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของระบบโลกาภิวัตน์ ฉันขอให้คุณดูสองตัวอย่างนี้ ในปลายทศวรรษ 1990 เพราะแรงกดดันของระบบโลกาภิวัตน์ ราคาหัวหอมเพิ่มขึ้นจาก 2 รูปี เป็น 100 รูปี พรรครัฐบาลพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่เรียกกันว่า "การเลือกตั้งหัวหอม" ในปี ค.ศ. 1998 เพราะปล่อยให้ราคาพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ พรรคฝ่ายค้านใช้หัวหอมเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ และชนะการเลือกตั้งในทุกรัฐ ทันใดหลังจากนั้น เราก็ได้เห็นความรุนแรงที่เกิดจากลัทธิศาสนาสุดขั้วระเบิดขึ้นมารอบหนึ่ง

ในคุชราต เรามีการเลือกตั้งระดับภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง WTO การเกษตรและความอยู่รอดของชาวนาเป็นประเด็นสำคัญ ชาวนาบอกว่าพวกเขาถูกทำลายจากนโยบายโลกาภิวัตน์ และลงคะแนนเสียงให้พรรครัฐบาลหลุดจากอำนาจ ทันทีหลังจากนั้น ลัทธิมูลฐานทางศาสนาสุดขั้วก็ปะทุขึ้น การสังหารหมู่และการปลุกปั่นสงครามเริ่มต้นขึ้น และขณะที่ความสนใจของสาธารณชนพุ่งไปที่ความรุนแรง ระเบียบวาระของระบบโลกาภิวัตน์ก็ถูกผลักดันต่อไป

เมื่อการตัดสินใจถูกดึงจากชุมชนท้องถิ่นไปรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลาง และสุดท้ายไปลงเอยที่ห้องประชุมกรรมการของบรรษัท ตลาดการเงิน สถาบันอย่างธนาคารโลก IMF และ WTO ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็สูญเสียรากฐานในระบอบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับชาติสูญเสียการควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และสิทธิในการจัดลำดับความสำคัญของระเบียบวาระทางนโยบาย ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาย่อมไม่สามารถสร้างฐานทางการเมืองโดยผลักดันโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยครอบครัวและชุมชนได้อีกต่อไป

นักปลุกระดมทางการเมืองของฝ่ายขวาสุดขั้วโผล่ออกมาเติมช่องว่าง โดยเบี่ยงเบนความโกรธแค้นและความไร้เสถียรภาพที่เกิดจากโครงการเพื่อความขาดแคลน ความอยุติธรรมและการกีดกันของจักรวรรดินิยม ให้หันเหมาเป็นการเมืองแบบแบ่งเราแบ่งเขาที่โยนความผิดไปให้กลุ่มชนทางศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติหรือสัญชาติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการเกิดขบวนการ LePens ในฝรั่งเศส, Fortuyns ในเนเธอร์แลนด์, Haiders ในออสเตรีย และ Narendra Modis ในอินเดีย

เพราะฉะนั้น จึงมีความเกี่ยวพันแนบแน่นระหว่างกองกำลังของจักรวรรดินิยม กับการเมืองของความเกลียดชังที่รองรับนโยบายครอบงำและแบ่งแยกกีดกัน ตราบที่ความสนใจของประชาชนยังพุ่งเป้าไปที่ความกลัวและความเกลียดชังชาวต่างชาติ หรือสมาชิกกลุ่มศาสนากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น มุสลิม ประชาชนก็ถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการจัดตั้งรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับระบบองค์กรโลกบาลและการขูดรีด ซึ่งเป็นต้นตอที่แท้จริงของความไร้เสถียรภาพ

ซาร่าห์: ฟังดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

วันทนา: ถูกแล้ว มันเป็นวงจรอุบาทว์ และเราจำเป็นต้องสร้างวงจรคุณธรรมขึ้นมาแทน เพื่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยทางการเมือง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ย้อนกลับมาสู่การหยั่งรากประชาธิปไตย สิ่งที่เรามีอยู่ในขณะนี้คือระบอบประชาธิปไตยที่เสื่อมทรามลงจนเป็นแค่กติกาของความมดเท็จ มดเท็จในวิถีทางที่บิดเบือนเจตจำนงของประชาชน ดังที่เราเห็นในการนับคะแนนเสียงที่ฟลอริดาเมื่อปี ค.ศ. 2000 และมดเท็จในวิถีทางที่บิดเบือนความมั่งคั่งของประชาชน ดังที่เราได้เห็นในเรื่องฉาวโฉ่ของการฉ้อฉลบัญชีบรรษัททุกวันนี้ ความมั่งคั่งจอมปลอมนั้นส่งอิทธิพลต่อผู้ที่จะมาปกครอง มันเพียงแต่จอมปลอมจนเกินไปแล้ว

ระบบความมั่นคงทางอาหารของเราถูกทำลายในนามของความเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ แล้วประชาชนก็มีไม่พอกิน เกษตรกรของเราถูกบริษัทเมล็ดพันธุ์ข่มขู่คุกคาม ถูกผลักดันให้ตกเป็นหนี้สินและฆ่าตัวตาย ระบบแบบนี้จะเอาชีวิตผู้คนแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ประชาชนไม่รู้ว่าจะเอาปัญญาที่ไหนมาจ่ายให้แก่การประกันสุขภาพและเงินบำนาญ

ทางออกจากวงจรแห่งความรุนแรงนี้ก็คือการหยั่งรากประชาธิปไตย นั่นคือ นำเอาการตัดสินใจที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของประชาชนมาอยู่ใกล้กับจุดที่ประชาชนอยู่ และจุดที่ประชาชนสามารถรับผิดชอบให้มากที่สุด หากแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านชุมชนแห่งไหน ชุมชนแห่งนั้นควรมีอำนาจและความรับผิดชอบที่จะตัดสินใจว่า ควรใช้น้ำอย่างไร และควรให้มันปนเปื้อนมลพิษหรือไม่ ไม่ใช่กงการของรัฐบาลที่จะเที่ยวยกแหล่งน้ำบาดาลของหมู่บ้านในรัฐเกระละให้บริษัทโคคา-โคลา จนส่งผลให้ที่ดินเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์แห้งผากไปหมดสิ้น ชุมชนจำเป็นต้องยึดเอาอำนาจอธิปไตยกลับคืนมา และมอบอำนาจให้รัฐเป็นตัวแทนต่อเมื่อสมควรเท่านั้น

สิ่งที่เรามีอยู่ในขณะนี้คือระบอบของอภิสิทธิ์สัมบูรณ์ในมือบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งแสดงความรับผิดชอบเป็นศูนย์ต่อความพินาศทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่พวกนั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดขึ้น หากเราต้องการฟื้นฟูและชุบชีวิตประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ เราต้องช่วงชิงเอาเนื้อหาทางเศรษฐกิจกลับคืนมาให้ได้

ซาร่าห์: ฉันขอสรุปด้วยคำถามส่วนตัวข้อหนึ่ง ทุกครั้งที่ฉันฟังคุณพูดหรือได้พบคุณ คุณมีพลังมากเหลือเกิน ไม่เพียงพลังทางปัญญา แต่เป็นพลังส่วนตัวหรือพลังทางจิตวิญญาณด้วย ฉันเพียงแต่สงสัยว่า อะไรที่ทำให้คุณมีชีวิตชีวามาก?

วันทนา: มันเป็นเรื่องเร้นลับเสมอมา เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าทำไมคุณถึงหมดสิ้นเรี่ยวแรงหรือฟื้นกำลังขึ้นมาใหม่ แต่เท่าที่ฉันรู้ ฉันไม่ปล่อยให้ตัวเองจมไปกับความสิ้นหวัง ไม่ว่าสถานการณ์จะหนักหนาสาหัสขนาดไหน ฉันเชื่อว่าถ้าคุณทำในส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ของคุณให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องไปคิดว่าคุณกำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่โตขนาดไหน หากคุณหันมาให้ความสนใจกับการสร้างเสริมความสามารถของตัวเอง เพียงแค่นั้นก็สามารถสร้างสรรค์ศักยภาพใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เสมอ

และฉันยังเรียนรู้จากภควัตคีตาและคำสอนอื่น ๆ ในวัฒนธรรมของเราให้วางตัวเป็นอุเบกขาจากผลลัพธ์ของการกระทำ เพราะนั่นอยู่นอกเหนือการควบคุมของฉัน บริบทไม่ได้อยู่ในการควบคุมของคุณ แต่ปณิธานต่างหากคือสิ่งที่คุณตั้งมั่นขึ้นมาด้วยตัวเอง และคุณสามารถตั้งปณิธานที่ลึกซึ้งที่สุดพร้อมกับวางตัวอยู่ในอุเบกขาโดยสิ้นเชิงไม่ว่าผลลัพธ์จะพาคุณไปลงเอยที่จุดไหน คุณอยากให้มันนำไปสู่โลกที่ดีกว่านี้ คุณกำหนดการกระทำของคุณเอง และรับผิดชอบต่อการกระทำอย่างเต็มที่ แต่นอกเหนือจากนั้น คุณต้องวางตนอยู่ในอุเบกขา

การทุ่มเทอย่างลึกซึ้งผนวกเข้ากับการวางตนอยู่ในอุเบกขาอย่างลึกซึ้งนี้เองที่ช่วยให้ฉันรับการท้าทายใหม่ ๆ ได้เสมอ เพราะฉันไม่บั่นทอนตัวเอง ฉันไม่ผูกใจตัวเองเป็นปมเงื่อน ฉันดำเนินตามหน้าที่อย่างเสรี ฉันคิดว่าการบรรลุถึงเสรีภาพเช่นนั้นเป็นหน้าที่ทางสังคม เพราะฉันคิดว่าเราเป็นหนี้กันและกันที่จะไม่สร้างภาระแก่กันและกันด้วยใบสั่งและการเรียกร้อง ฉันคิดว่าหนี้ที่เรามีต่อกันคือการเฉลิมฉลองชีวิตและแทนที่ความกลัวกับความสิ้นหวังด้วยความไม่กลัวและความปีติยินดี

หนังสือของวันทนา ศิวะ มีอาทิเช่น Water Wars: Privatization, Pollution and Profit; Stolen Harvest, the Hijacking of the Global Food Supply; ฯลฯ

บทความชิ้นนี้นำมาจาก http://www.fridaycollege.org/index.php?object=Article.View(forum_id=tr,id=27)

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทสัมภาษณ์วันทนา ศิวะ โดยซาร่าห์ รูธ แวน เกลเดอร์ YES! Magazine วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕
ไม่มีภาษาใดภาษาหนึ่งเพียงภาษาเดียวสำหรับบรรยายขบวนการนี้ และนั่นคือข้อที่งดงามของมัน เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ WTO ในซีแอตเติล สร้างประสบการณ์ครั้งแรกของการเมืองสายรุ้ง นั่นคือ การเมืองที่บรรลุความเป็นพหุนิยม ปราศจากการวางแผนสั่งการจากมันสมองหลัก แต่มีกระแสพลังและความงามที่เกิดจากความคิดเสรี ในการเมืองแบบใหม่ ประชาชนมีวิธีแสดงออกแตกต่างกันไป แต่ฉันรู้สึกว่า แก่นกลางยังคงเป็นประชาธิปไตยที่มีชีวิต ระบบเศรษฐกิจที่มีชีวิต รวมไปจนถึงการยึดมั่นในความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับชาติและระดับสากลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย