Home

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : 1-31 ตุลาคม ๒๕๔๖
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 312 หัวเรื่อง
ข้อแนะนำเกี่ยวกับ WTO ในอนาคต
โดย พอล เลอมัง (เจนีวา)
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(บทความนี้ยาวประมาณ 6 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com

061046
release date
R

WTO ต้องเปลี่ยนแปลง
ข้อเสนอต่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก

พอล เลอมัง - เจนีวา, สวิสเซอร์แลนด์

บทความจากสมาชิกหมาวิทยาลัยเที่ยงคืน

และแล้วการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ขององค์การการค้าโลกที่แคนคูนก็ผ่านพ้นไปอย่างสะบักสะบอม บอบช้ำไม่แพ้เช่นคราวที่ซีแอตเติ้ล มีผู้ไปประท้วงหลายพันคน มีการปะทะกันอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้บาดเจ็บไปหลายคนรวมทั้ง มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วง 1 คน ผลการประชุมออกมาเป็นไปอย่างผิดคาดและน่าผิดหวังสำหรับบางกลุ่ม แต่น่ายินดีสำหรับกลุ่มผู้ต่อต้านนโยบายการค้าเสรี โดยสรุป กล่าวได้ว่าผลการประชุมที่ไร้ข้อสรุปนี้ไม่เป็นไปอย่างที่ประเทศสมาชิกใดคาดหวังเอาไว้เลย ซึ่งสาเหตุของความล้มเหลวนั้นจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะหลายฝ่ายได้วิจารณ์ วิเคราะห์กันจนหมดแล้ว

ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากผู้ใดก็ตาม ตั้งแต่กลุ่ม 21 กลุ่ม ACP สหภาพยุโรป สหรัฐฯ หรือนายเดอเบส ประธานการประชุม (เม็กซิโก) หรือจะเกิดจากประเด็นใดก็ตาม ตั้งแต่เรื่องฝ้าย เกษตร การลดการอุดหนุนภาคเกษตรและการส่งออก การเปิดตลาด ตลอดจนเรื่องใหม่ๆ ที่เรียกว่า Singapore Issues ก็ตาม........ในที่สุดที่ประชุมไม่สามารถตกลงอะไรกันได้เลยนอกจากการรับสมาชิกใหม่ 2 ประเทศคือเนปาล และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
หลังการประชุมเสร็จสิ้นลง ต่างฝ่ายต่างหาแพะรับบาปและโทษว่าเป็นความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและเป็นพัฒนาการที่ดี ก็คือทุกประเทศได้บทเรียนสำคัญจากการประชุมครั้งนี้ ผมจึงอยากจะมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์บทเรียนนี้บ้าง โดยผมมีความเห็นที่จะนำเสนอ ดังนี้

1.องค์การการค้าโลก (ที่พัฒนามาจากแกตส์) ในความเป็นจริงคือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหรือสมาคมคนรวยของโลกที่มีตัวเล่น player หรืออาจจะเรียกได้ว่าสมาชิกพิเศษเพียงประมาณ 30 ประเทศเท่านั้น ประเทศสมาชิกอีกร้อยกว่าประเทศที่เหลือเป็นตัวเล่นเล็กๆ หรือตัวสำรอง มีบทบาทเด่นในบางเรื่องบางเวลา ถือเป็นสมาชิกสามัญและเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น

2.ที่ผ่านมา องค์การการค้าโลกเป็นองค์การระหว่างประเทศเพียงองค์กรเดียวที่มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดกฎเกณท์การค้าของโลก ....เป็นเสมือนองค์กรนิติบัญญัติระหว่างประเทศที่ทรงอำนาจเหนืออธิปไตยของรัฐ โดยรัฐต่างๆ (ไม่เฉลียวใจเท่าใดนัก) ยินยอมรับข้อผูกพันโดยหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องการค้าเป็นการตอบแทนที่คุ้มกัน

3.ประเด็นการค้าระหว่างประเทศมีความสลับซับซ้อนมากและเป็นวิชาการขั้นสูงระดับโลก (นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกหลายคนได้ Nobel Prices ในสาขานี้) สูงเกินกว่าที่ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถตามได้ทันทั้งหมด

4.อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาประเทศกำลังพัฒนาซึ่งถูกเอาเปรียบมานานนั้น ก็ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมามากเหมือนกัน ได้เรียนรู้ประเด็นการค้าเพิ่มมากขึ้นและรู้เท่าทันมากขึ้น ในแง่ของการเจรจาต่อรองรวมตัวกันได้มากขึ้นและไม่ต้องการเป็นเบี้ยล่างอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่แข็งพอที่จะต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้วได้ แม้ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ตาม

5.ประเทศพัฒนาแล้วมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือของกลุ่มตนมากเกินไปโดยถือว่าโลกนี้อยู่ในกำมือของฉันและประเทศอื่นๆ ต้องพึ่งพาความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของตน

6.ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเองก็มีความแตกต่างกันมากในระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความเชี่ยวชาญในเรื่องการค้าระหว่างประเทศและไม่เคยสามัคคีกัน ไม่มีอุดมการณ์ร่วมกันที่รุนแรงเพียงพอและมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตนเองมากเกินไปเช่นกัน มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่ม

7.ระบบการตัดสินใจแบบฉันทามติขององค์การ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ที่ผ่านมาระบบดังกล่าวเอื้อประโยชน์กับประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า ในแง่ของการที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการเจรจาเพื่อให้ประเทศเล็กๆยอมที่จะไม่คัดค้านได้มากกว่า (ทั้งที่อาจจะไม่รู้เรื่องที่ตกลงมากเท่าที่ควร) ในขณะที่ประเทศเล็กๆ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนอะไรกับใครได้ ยิ่งกับประเทศใหญ่แล้ว หากประเทศใหญ่ๆ นั้นไม่เห็นด้วยในเรื่องใด เรื่องนั้นก็เป็นอันตกไป

8.ในการประชุมที่แคนคูน ประเทศพัฒนาแล้วประมาทกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจนเกินไป คิดเพียงว่าจะใช้วิธีการเดิมที่เคยทำที่โดฮาคือโน้มน้าวกลุ่มย่อยให้กดดันกลุ่มใหญ่ให้ไม่คัดค้าน

9.ผู้อำนวยการใหญ่ไม่สามารถแสดงบทบาทได้มากนักในการโน้มน้าวประเทศสมาชิกลดจุดต่าง และหาจุดร่วมและที่สำคัญให้ยอมรับว่าการประชุมจำเป็นต้องก้าวหน้าไปตามกำหนดการ

10.กลุ่มนักวิชาการ กลุ่ม NGO และกลุ่มต่อต้านมีการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นการค้าที่ละเอียด ลึกซึ้งมากขึ้นในทุกแง่มุม และมีการรวมพลังกับประชาชนทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและที่สำคัญการวิเคราะห์ของกลุ่มต่อต้านนี้มีอิทธิพลต่อความคิด และท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาไม่น้อย

11.ทางออกที่ถือว่าเป็นทางเลือกที่เข้าทางประเทศพัฒนาแล้วคือ FTA (เขตเสรีการค้าสองฝ่าย) ประกอบกับความล่าช้าในการเจรจาระหว่างประเทศทำให้ศรัทธาในองค์กรและระบบพหุภาคีเลื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด

12.การค้าระหว่างประเทศ เงินทุนรวมทั้งผลกำไรที่เกิดขึ้นยังคงวนเวียนและกระจุกตัวอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาชั้นแนวหน้าบางประเทศเท่านั้น ประเทศเล็กๆ ที่เหลือมีสัดส่วนที่เล็กน้อยมากในการค้าโลก เรียกว่าเค็กชิ้นใหญ่ยังคงตกอยู่กับมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม ที่เหลือได้แต่เพียงเศษเสี้ยวของขนมเค็กเท่านั้น และหากยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปอาจจะมีหลายประเทศที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งเลยแม้จะเป็นแค่เศษเสี้ยวก็ตาม

ทุกฝ่ายต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสัญญานบอกให้ประชาคมโลกว่า องค์การการค้าโลกที่เคยตกอยู่ในการครอบงำของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำมาตั้งแต่วันที่ก่อตั้งมานั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง เปลี่ยนแปลง

กล่าวคือประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรปที่เคยคิดว่าเป็นเจ้าขององค์การจะต้องเปลี่ยนท่าทีของตนเองที่มีต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะได้รับการต่อต้านที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่จะรวมตัวกันมากขึ้น ผนวกกับพลังขององค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการอิสระและจากประชาชนทั่วโลก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อองค์การโดยรวมและอาจมีผลให้องค์การต้องถึงจุดจบในที่สุด

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ก็จะต้องรวมกลุ่มกันให้เหนี่ยวแน่นต่อไปและมากขึ้น และเป้าหมายก็ไม่ควรจะมุ่งที่จะล้มการประชุมดังเช่นที่ทำที่ซีแอตเติ้ลและที่แคนคูน แต่ควรจะพยุงและผดุงการประชุมเอาไว้เพื่อใช้เป็นเวทีกดดันให้มีการยอมรับหรือประนีประนอมที่สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น

ขอย้ำว่าการมีองค์การการค้าโลกในระบบพหุภาคียังเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกโดยส่วนรวม เหมือนกับการจับนักเลงโตให้มาเข้ากลุ่มและมาเล่นเกมส์ที่มีกติกา หากนักเลงโตเกิดขัดใจพาลล้มกระดานเลิกเล่นเกมส์ไป ก็น่าเสียดาย แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้นักเลงโตนี้มาเอาเปรียบกลุ่มอยู่ร่ำไป สิ่งที่ต้องทำก็คือช่วยกันตะล่อม โน้มน้าวให้นักเลงโตยอมอยู่ในกลุ่มและพัฒนาให้กลุ่มได้ประโยชน์

ในส่วนของกลุ่มต่อต้านไม่ว่าจะเป็น NGO นักวิชาการอิสระ พลังชาวนา ประชาชนเองก็ต้องเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้เหมือนกันคือ เปลี่ยนจากเป้าหมายการต่อต้านเพื่อล้มล้างองค์การควรเปลี่ยนมาเป็นกดดัน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการดำเนินการขององค์การ และให้การเจรจาให้มีความเป็นธรรมและสมดุลกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อผลดีจะได้เกิดกับประชาชนของโลกมากขึ้น

ทุกประเทศคงจะต้องใช้สติให้มากขึ้นในการพิจารณาแก้ไขปัญหาและหาทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้

ข้อเสนอฝากไปยังผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกและประเทศพัฒนาแล้ว
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชะงักงันและน่าเสื่อมศรัทธาในองค์การนี้ ผมขอเสนอทางออกหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อองค์การโดยรวม นั่นคือ

ขอเสนอให้ตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศหรือคณะกรรมการพิเศษก็ได้ เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านการค้าและการเจรจาแก่ประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อให้มีการค้นคว้า ศึกษาและรายงานประเด็นทางการค้าที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นห่วงและที่เป็นปัญญาความขัดแย้งในการเจรจาที่ผ่านมา

เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเรื่องของบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านการค้าระหว่างประเทศ ข้อเท็จจริงก็คือผู้แทนของหลายประเทศที่เจนีวามีคนทำงาน ดูแลรับผิดชอบเรื่องการค้าเพียงไม่กี่คน แม้ที่มีอยู่ก็ขาดความรู้ ความเข้าใจในนโยบายการค้าเสรีและประเด็นการค้าซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน

ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้คนเป็นจำนวนมาก แต่ละคนล้วนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญและเก่งมากในเรื่องการค้าและการเจรจาต่อรอง ถ้าเปรียบเทียบให้ชัดเจนก็อาจจะต้องเปรียบเหมือนเอาคนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มาเจรจากับคนที่จบมัธยมหรือเพิ่งจบปริญญาตรี หรือเอานักมวยแชมเปี้ยนรุ่นใหญ่มาต่อยกับนักมวยรุ่นเล็กสุด มันจะสู้กันได้อย่างไร

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในการประชุมองค์การการค้าโลกที่เจนีวาที่ทราบมาก็คือในการประชุมในหลายคณะกรรมการ ประเทศแอฟริกาหลายประเทศยอมรับในที่สุดว่าที่ประชุมกันมานั้นบางครั้งไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ว่าเรื่องมีความสำคัญอย่างไร ในแง่มุมใดบ้างหรือจะกระทบต่อประเทศของตนในระยะยาวหรือไม่ อย่างไร และไม่ใช่ประเทศแอฟริกาเท่านั้นที่ตกอยู่ในสภาพนี้ ในหลายเรื่องเช่น การค้าอิเลคโทรนิค เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ประเทศกำลังพัฒนาก็เสียเปรียบยิ่งนักในการทำความเข้าใจกับสาระของเรื่อง การประชุม

ในการประชุมแทบทุกเรื่อง ผู้แทนประเทศต่างๆ รู้ล่วงหน้ากันเพียงไม่กี่วัน แต่เอกสารการประชุมบางเรื่องหนาหลายร้อยหน้า ดังนั้นเวลามาประชุมหารือกัน ผู้แทนทุกประเทศจึงมีความเข้าใจไม่เท่ากัน ไม่ตรงกันและในการประชุมในเรื่องที่สำคัญประเทศพัฒนาแล้วก็มักจะไม่รอให้ทุกคนเข้าใจเท่ากันเสียก่อน แต่จะพยายามให้รีบพิจารณาและรับรองเป็นมติโดยไม่ให้มีใครคัดค้าน ซึ่งก็ทำแบบนี้มาหลายเรื่องแล้ว

และการขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซื้งนี้เองเป็นที่มาของการเคลือบแคลง สงสัย ไม่ไว้ใจในท่าทีและข้อเสนอของประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบกับภาพพจน์ของประเทศพัฒนาแล้วนั้นมักจะถูกมองว่ามุ่งเอาเปรียบประเทศยากจนมากเกินไป ซึ่งก็ดูเหมือนว่าในหลายกรณีจะเป็นจริงตามนั้นเสียด้วย เพราะหลายกฎระเบียบขององค์การการค้าโลกที่สมาชิก (หลง) ยอมรับรองไปแล้วในการเจรจาครั้งก่อนๆ เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเพราะมารู้ที่หลังว่ากระทบต่อประเทศกำลังพัฒนามาก แต่ก็แก้ไขอะไรยากเสียแล้ว

ความสลับซับซ้อนของประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศนับวันจะมีมากขึ้นทุกที บวกกับความไม่เข้าใจของผู้แทนประเทศต่างๆ ประกอบกับจุดอ่อนของระบบฉันทามติขององค์การที่ทำให้ประเทศหนึ่งสามารถที่จะโน้มน้าวให้ประเทศอื่นเกิดการเห็นชอบและไม่คัดค้านมติ (โดยไม่สุจริต )ได้ ทำให้เกิดสภาพการเจรจาที่ไม่สมดุลและไม่ยุติธรรม

ศูนย์ศึกษา คณะกรรมการพิเศษ หรือที่ปรึกษาด้านการค้าที่ว่านี้จำเป็นต้องใช้นักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ แต่มีข้อแม้ว่านักวิชาการเหล่านี้จะต้องมาจากประเทศโลกที่สามเท่านั้น เพื่อจะได้สะท้อนประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาห่วงใยจริงๆ หากประเทศกำลังพัฒนาใดไม่มีนักวิชาการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ก็สามารถขอยืมตัวจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นได้ เช่น เนปาล สมาชิกใหม่ล่าสุด หากไม่มีที่ปรึกษาการค้าระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญพอ ไทยก็สามารถให้ยืมตัวนักวิชาการในการที่จะศึกษาว่าท่าทีและยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าที่ดีที่สุดสำหรับเนปาลในองค์การการค้าโลกคืออะไรและอย่างไร เป็นต้น

การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้นักวิชาการชั้นนำของประเทศกำลังพัฒนา ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในระดับระหว่างประเทศแล้ว ยังจะทำให้เกิดความสมดุลในองค์การการค้าโลกซึ่งที่ผ่านมาตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักวิชาการตะวันตกจนหมดสิ้น

การปล่อยให้เจรจากันต่อไปโดยยังมีความไม่เข้าใจในระดับใกล้เคียงกันดังเช่นเดิมไม่เป็นผลดีต่อองค์การและโลกเลย

ในทางตรงกันข้าม หากผู้แทนประเทศต่างๆ รวมทั้งผู้นำประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าใจประเด็นการค้าที่ลึกซึ้งมากขึ้น ผลที่คาดว่าจะได้ น่าจะทำให้ความเห็นที่แตกต่างในเรื่องการค้าโลกนั้นลดน้อยลงและน่าจะนำไปสู่การหาทางออกที่ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายมากขึ้นในการเจรจาครั้งต่อไป

ระบบการเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกยังมีความสำคัญต่อโลกและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อแคนคูนล้มเหลว ยิ่งจะต้องพยายามมิให้ระบบนี้ล่มสลายไป แต่ก็มิใช่ปล่อยให้เป็นไปแบบเดิมที่ประเทศใหญ่แล้วเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

แคนคูนล้มเหลวถือเป็นข่าวร้ายของประเทศพัฒนาแล้วเป็นอันดับแรกนั้นแน่นอน (บริษัทข้ามชาติสูญเสียกำไรที่หวังว่าจะได้จากการค้ากับประเทศยากจน) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ก็อาจใช่ (นึกว่าจะกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นเป้าหมายลดการอุดหนุนเกษตร ลดภาษีและเปิดตลาดมากขึ้นบ้าง) แต่ในอีกมุมหนึ่งการล้มเหลวของแคนคูนถือเป็นชัยชนะก้าวน้อยๆของประเทศผู้ด้อย ผู้เสียเปรียบในองค์การการค้าโลก และเป็นโอกาสดีให้มีการทบทวน ปรับปรุงระบบการทำงานขององค์การ รวมทั้งหามาตรการใหม่ๆ เช่นที่ข้อเขียนนี้เสนอ เพื่อให้การเจรจาต่อรองในองค์การมีความสมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น

และเนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศมามากแล้วในอดีต จึงควรให้แสดงความใจกว้างและรับผิดชอบในงบประมาณในการตั้งศูนย์ศึกษาและจ้างนักวิชาการอิสระที่ว่านี้ ซึ่งอาจจะคุ้มกว่าที่จะพากันไปจัดประชุมระดับรัฐมนตรีในประเทศอื่นๆ อีก แล้วไม่ได้ผลอะไรเลยเช่นที่แคนคูน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

องค์การการค้าโลก ในความเป็นจริงคือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหรือสมาคมคนรวยของโลกที่มีตัวเล่น (player) หรืออาจจะเรียกได้ว่าสมาชิกพิเศษเพียงประมาณ 30 ประเทศเท่านั้น
ที่ผ่านมา องค์การการค้าโลกเป็นองค์การระหว่างประเทศเพียงองค์กรเดียว ที่มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดกฎเกณท์การค้าของโลก....เป็นเสมือนองค์กรนิติบัญญัติระหว่างประเทศที่ทรงอำนาจเหนืออธิปไตยของรัฐ โดยรัฐต่างๆ (ไม่เฉลียวใจเท่าใดนัก) ยินยอมรับข้อผูกพันโดยหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องการค้าเป็นการตอบแทนที่คุ้มกัน
การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ขององค์การการค้าโลกที่แคนคูนก็ผ่านพ้นไปอย่างสะบักสะบอม บอบช้ำไม่แพ้ที่ซีแอตเติ้ล
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเองก็มีความแตกต่างกันมากในระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความเชี่ยวชาญในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และไม่เคยสามัคคีกัน ไม่มีอุดมการณ์ร่วมกันที่รุนแรงเพียงพอ และมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตนเองมากเกินไป มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่ม
ระบบการตัดสินใจแบบฉันทามติขององค์การ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ที่ผ่านมาระบบดังกล่าวเอื้อประโยชน์กับประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าในแง่ของการที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการเจรจาเพื่อให้ประเทศเล็กๆยอมที่จะไม่คัดค้านได้มากกว่า (ทั้งที่อาจจะไม่รู้เรื่องที่ตกลงมากเท่าที่ควร) ในขณะที่ประเทศเล็กๆ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนอะไรกับใครได้
ในการประชุมที่แคนคูน ประเทศพัฒนาแล้วประมาทกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจนเกินไป คิดเพียงว่าจะใช้วิธีการเดิมที่เคยทำที่โดฮาคือโน้มน้าวกลุ่มย่อยให้กดดันกลุ่มใหญ่ให้ไม่คัดค้าน
กลุ่มนักวิชาการ กลุ่ม NGO และกลุ่มต่อต้านมีการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นการค้าที่ละเอียด ลึกซึ้งมากขึ้นในทุกแง่มุมและมีการรวมพลังกับประชาชนทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและที่สำคัญการวิเคราะห์ของกลุ่มต่อต้านนี้มีอิทธิพลต่อความคิดและท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาไม่น้อย
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ