Home

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : 1-31 ตุลาคม ๒๕๔๖
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 314 หัวเรื่อง
การข่มขืนโดยกระบวนการยุติธรรม โดย นัทมน คงเจริญ และ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com

เว็ปไซค์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดวัยวุฒิและคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น หรือประกาศข่าวกรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

131046
release date
R
ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามความหมายของการชำเราเอาไว้ แต่ศาลได้ให้ความหมายของการกระทำชำเราเอาไว้ในการตัดสินคดีว่า คือการร่วมเพศระหว่างชายหญิง โดยอวัยวะสืบพันธุ์ของชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอดของหญิงแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม และไม่ว่าฝ่ายชายจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ก็ตาม
นิยามความหมายในลักษณะเชิงกายภาพอย่างคับแคบเช่นนี้ ทำให้การบังคับร่วมเพศในหลายรูปแบบไม่เป็นความผิดในความหมายนี้ ดังเช่น การร่วมเพศทางทวารหนัก มีความผิดเพียงฐานอนาจารซึ่งบทลงโทษเบากว่าความผิดฐานข่มขืน หรือการบังคับให้สำเร็จความใคร่ทางปากโดยหญิง ก็จะไม่ได้เข้าอยู่ในความหมายของการกระทำชำเรา
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง การข่มขืนโดยกระบวนการยุติธรรม (บทความสาขานิติศาสตร์) เขียนโดย อ.นัทมน คงเจริญ หัวหน้าศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นการข่มขืนไม่ใช่เป็นความยินยอม มักให้ความสำคัญกับร่องรอยที่จะปรากฏขึ้นกับฝ่ายหญิง เช่น รอยฟกช้ำดำเขียว บาดแผลจากการต่อสู้ หากในคดีหรือข้อพิพาทใดที่ฝ่ายหญิงมีร่องรอยดังกล่าวก็จะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าตนเองมิได้มีความสมัครใจ์ ยิ่งหากฝ่ายหญิงเสียชีวิตด้วย ก็จะยิ่งเป็นการชัดเจนว่ามิได้เป็นการสมยอม
ความเชื่อว่าการข่มขืนต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความรุนแรงเช่นนี้ ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ในหลายครั้ง มิใช่เป็นการข่มขืนตามความเชื่อความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5176/2538 ผู้เสียหายอายุ 14 ปี 4 เดือน ถูกข่มขืนที่ห้องยามรักษาการณ์ หน้าห้องมีถนนกว้าง 2 วา ตรงข้ามกับที่เกิดเหตุมีร้านขายข้าวต้มโต้รุ่ง ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตรมีป้อมยามและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในป้อมยามขณะนั้น ศาลวินิจฉัยว่าถ้าผู้เสียหายขัดขืนย่อมมีผู้รู้เห็น จึงเป็นความสมัครใจร่วมประเวณี
บทความนี้เป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมว่า ปัจจุบันได้ให้ความเป็นธรรมต่อคดีข่มขืนกระทำชำเราแล้วหรือยัง

การข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำต่อหญิงที่ไม่ใช่ภริยาของตนเองเท่านั้น บทบัญญัติของกฎหมายลักษณะเช่นนี้ ได้ทำให้การบังคับให้มีการร่วมเพศระหว่างสามีภรรยาไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนแต่อย่างใด

บทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า การที่หญิงตกเป็นภรรยาของชายใด ทำให้หญิงนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายชาย การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่สิทธิที่หญิงจะสามารถเลือกได้ด้วยตนเอง หากต้องคอยตอบสนองต่อความต้องการของฝ่ายชายเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่าในบางช่วงเวลาที่หญิงอาจไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ เช่น ระหว่างมีประจำเดือน หรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน หากฝ่ายชายใช้กำลังเพื่อบังคับให้มีการร่วมเพศ การกระทำนี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

การข่มขืนโดยกระบวนการยุติธรรม
นัทมน คงเจริญ หัวหน้าศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276: ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยการทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

1. เกริ่นนำ
การข่มขืนเป็นการกระทำที่กฎหมายถือว่าเป็นความผิดฐานหนึ่ง ความเข้าใจโดยทั่วไปของสาธารณชนที่มีต่อการกระทำผิดฐานข่มขืนคือ การที่ชายใดใช้กำลังบังคับหญิงให้มีเพศสัมพันธ์กับตน โดยที่หญิงไม่ได้มีความสมัครใจหรือยินยอม

แม้จะได้มีการบัญญัติถึงความผิดฐานข่มขืนไว้อย่างชัดเจน และหากมีบุคคลใดได้กระทำผิดต่อกฎหมายก็จะต้องได้รับการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด จึงมักเป็นที่เข้าใจกันว่าในสังคมไทยได้มีกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพในทางเพศของหญิงไว้อย่างเพียงพอ หากมีการกระทำความผิดขึ้นก็เพียงแต่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเท่านั้น

น้อยครั้งที่จะมีการตั้งคำถามหรือข้อสงสัยกับระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ว่า เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของหญิงหรือไม่ รวมถึงในการบังคับใช้กฎหมายนั้นมีอคติ ความเชื่อ ของผู้บังคับใช้กฎหมายปะปนเข้าไปในกระบวนการตัดสินหรือไม่

ในประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลทางกฎหมายแบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ระบบประมวลกฎหมายนี้ เป็นระบบกฎหมายซึ่งอธิบายว่า กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นที่มาที่สำคัญที่สุดของกฎหมาย สำหรับองค์กรที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพียงแต่นำกฎหมายมาปรับใช้เข้ากับคดีเท่านั้น ศาลไม่อาจสร้างกฎหมายขึ้นใหม่จากการวินิจฉัยของตนเหมือนกับที่ศาลในระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) สามารถกระทำได้

ดังนั้น นักกฎหมายส่วนใหญ่ในสังคมไทยจึงเชื่อกันมาโดยตลอดว่า การใช้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ เป็นเพียงการนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายมาปรับใช้เท่านั้น ผู้ชี้ขาดไม่ได้มีส่วนในการเสริมแต่ง แก้ไข ตัดทอน ขยายความ เนื้อหาของกฎหมายแต่อย่างใด

แต่คำอธิบายในลักษณะที่กล่าวมานี้เป็นความจริงเสมอไปหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายของศาลเป็นเพียงการนำเอาบทบัญญัติมาบังคับใช้กับกรณีเฉพาะแต่ละเรื่องอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงความหมายของกฎหมายเลยจริงหรือ

2. ข่มขืน คือความรุนแรงทางกายภาพระหว่างชายหญิง?
การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงที่จะเป็นความผิดฐานข่มขืนนั้น ต้องเกิดขึ้นด้วยการบังคับโดยที่ฝ่ายหญิงมิได้ยินยอม แต่ถ้าหากฝ่ายหญิงยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์แล้วก็จะไม่ถือว่าเป็นการข่มขืนแต่ประการใด

หลักการเรื่องความยินยอมมีความสำคัญอย่างมากต่อการพิจารณาว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขืนหรือไม่ แต่ในการพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง คดีที่เป็นข้อพิพาทเรื่องข่มขืนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในสถานที่รโหฐานหรือลับหูลับตาผู้คน เช่น ในห้องพัก โรงแรม ป่าละเมาะ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้ได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายหญิงหรือเป็นการขืนใจของฝ่ายชาย ดังนั้น จึงเป็นปัญหามิใช่น้อยในกรณีที่ฝ่ายหญิงอ้างว่าเป็นการบังคับขืนใจ ส่วนฝ่ายชายก็อ้างว่า การมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นด้วยความยินยอมของอีกฝ่าย

กรณีที่มีข้อโต้แย้งเรื่องความยินยอมนี้หากไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานบุคคล ในการวินิจฉัยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขืนหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องมีการพิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมหรือพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นมาเป็นปัจจัยบ่งบอกถึงความเป็นไปได้

พยานหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นการข่มขืนไม่ใช่เป็นความยินยอม มักให้ความสำคัญกับร่องรอยที่จะปรากฏขึ้นกับฝ่ายหญิงหรือกับฝ่ายชายผู้กระทำ เช่น รอยฟกช้ำดำเขียว บาดแผลจากการต่อสู้ หากในคดีหรือข้อพิพาทใดที่ฝ่ายหญิงมีร่องรอยดังกล่าวก็จะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าตนเองมิได้มีความสมัครใจในการมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งหากฝ่ายหญิงเสียชีวิตด้วย ก็จะยิ่งเป็นการชัดเจนว่ามิได้เป็นการสมยอม

พยานหลักฐานในลักษณะเช่นนี้เป็นการตอกย้ำว่า การข่มขืนต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความรุนแรง และหากฝ่ายหญิงไม่ได้ยินยอมพร้อมใจก็ต้องมีการต่อสู้ขัดขืน เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายสามารถกระทำการข่มขืนได้ ยิ่งหากเป็นการกระทำในที่ใกล้เคียงกับสาธารณะก็ยิ่งยากต่อการเป็นการข่มขืน

ความเชื่อว่าการข่มขืนต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความรุนแรงเช่นนี้ ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในหลายครั้งหลายคดีมิใช่เป็นการข่มขืนตามความเชื่อความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5176/2538 ผู้เสียหายอายุ 14 ปี 4 เดือน ถูกข่มขืนที่ห้องยามรักษาการณ์ หน้าห้องมีถนนกว้าง 2 วา ตรงข้ามกับที่เกิดเหตุมีร้านขายข้าวต้มโต้รุ่ง ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตรมีป้อมยามและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในป้อมยามขณะนั้น ศาลวินิจฉัยว่าถ้าผู้เสียหายขัดขืนย่อมมีผู้รู้เห็นจึงเป็นความสมัครใจร่วมประเวณี

ทั้งที่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าเป็นกรณีที่ผู้ชาย 3 คน ใช้กำลังยึดจับเด็กอายุ 14 ปี จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเกินความคาดหมายได้ ในเมื่อหลายครั้งการข่มขืนเป็นเรื่องที่ผู้ชายเพียงคนเดียวก็สามารถกระทำได้แล้ว ยิ่งหากพิจารณาว่าผู้เสียหายในคดีนี้เป็นเด็กก็ยิ่งคำนึงถึงความอ่อนเยาว์เข้ามาเป็นเหตุผลประกอบการตัดสิน แต่คำพิพากษากลับวางอยู่บนความเชื่อว่าหากหญิงไม่ยินยอมก็ต้องขัดขืน โดยไม่คำนึงถึงแง่มุมจากผู้ถูกกระทำว่า ผู้หญิงหวาดกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้ชีวิตของตนปลอดภัย

การพิจารณาว่าการข่มขืนจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการต่อสู้ขัดขืนของฝ่ายหญิง ยังเป็นผลให้มีการละเลยต่อการข่มขืนที่อาจไม่ปรากฏร่องรอยชัดเจน เช่น ในกรณีที่ผู้ข่มขืนเป็นผู้ที่มีอำนาจหรือพระคุณเหนือฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว ครูบาอาจารย์ นายจ้าง ในกรณีเช่นการมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นแม้ฝ่ายหญิงจะไม่ได้สมัครใจ แต่ก็ไม่อาจต่อสู้ขัดขืนด้วยการใช้กำลังทางกายภาพเพราะมีเหตุผลอื่นๆ ที่ซับซ้อนรองรับอยู่

หรือในกรณีที่มีการข่มขืนแต่ฝ่ายหญิงใช้เวลาในการไตร่ตรองเป็นเวลานาน ก่อนที่จะดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าในการข่มขืนอาจมีร่องรอยปรากฏอยู่ แต่ระยะเวลาที่ผ่านไปก็อาจทำให้ร่องรอยเหล่านั้นลบเลือนได้ ถึงจะมีการเก็บคราบอสุจิเอาไว้ในกระดาษทิชชู่หรือชุดชั้นใน ทั้งหมดเป็นแค่หลักฐานของการมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นโดยการใช้กำลังบังคับ

นอกจากนี้ตามหลักกฎหมายในมาตรา 276 การกระทำที่เป็นการข่มขืนด้วยการใช้กำลังหรืออำนาจบังคับนั้น ต้องเกิดจากเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ
(2) โดยใช้กำลังประทุษร้าย
(3) โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้
(4) โดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นบุคคลอื่น

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้น ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำที่เข้าข่ายในลักษณะทั้ง 4 ประการข้างต้น ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายของศาล ได้มีการตีความให้เหตุของการใช้กำลังประทุษร้ายมีลักษณะที่คับแคบ โดยต้องเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจึงจะถูกนับว่าเป็นเหตุตามที่กฎหมายกำหนด

ตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกาที่ 3827/2538 จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำชำเราโดยใช้อาวุธขู่เข็ญ จากการพิจารณาคดีจำเลยที่เป็นเด็กนักศึกษาอาชีวะได้ชักมีดสปริงออกมาแต่ไม่ได้ง้างออก ศาลเห็นว่าเมื่อไม่ได้ง้างออกมาก็ไม่สามารถใช้ทำร้ายได้ และฝ่ายหญิงก็ไม่ได้นำสืบว่าได้ใช้ขู่เข็ญเพื่อกระทำชำเรา การกระทำนี้จึงไม่ผิดฐานขู่เข็ญโดยใช้อาวุธ

คดีนี้ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุ 14 ปี และอีกฝ่ายเป็นนักเรียนอาชีวะ หากพิจารณาถึงบริบททางสังคมที่แวดล้อมก็ย่อมชวนให้เกิดความกลัวต่อการกระทำของอีกฝ่าย การนำมีดสปริงออกมาแม้จะไม่ได้ง้างใบมีดออกมาก็ย่อมเป็นการข่มขู่ได้เช่นกัน การตีความหมายของการขู่เข็ญด้วยการใช้อาวุธในลักษณะเช่นนี้ ทำให้การกระทำที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดต้องให้มีการง้างใบมีดออกมาจ่อคออีกฝ่ายพร้อมกับการกล่าวข่มขู่ นับได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ได้พิจารณาถึงความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำแต่อย่างใด อันเป็นการตีความที่มีลักษณะคับแคบอย่างมาก

หรือกระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ใดที่เกิดขึ้นแม้โดยฝ่ายหญิงไม่ได้สมัครใจ แต่ถ้าหากไม่ได้เป็นผลมาจากเหตุ 4 ประการข้างต้น ก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นการข่มขืนตามบรรทัดฐานของกฎหมายปัจจุบัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 638/2516 หญิงยอมให้ชายมีเพศสัมพันธ์ด้วย เนื่องมาจากฝ่ายชายแบล็คเมล์ว่าหากไม่ยินยอมจะนำเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของหญิงกับชายอีกคนไปเปิดเผย กรณีเช่นนี้ ศาลก็มีความเห็นว่าไม่ถือเป็นการข่มขืน

จากตัวอย่างนี้ทำให้เห็นได้ว่าการตีความเหตุแห่งการข่มขืนตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้มีตัวอย่างอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่อาจจัดเข้าว่าเป็นการข่มขืนได้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นความยินยอมอย่างแท้จริงของฝ่ายหญิง เช่น การยินยอมมีเพศสัมพันธ์เพราะการถูกเข็ญว่าจะทำให้ได้รับความอับอาย, การหลอกลวงให้ฝ่ายหญิงเข้าใจผิดว่าจะแต่งงานด้วย, การใช้อำนาจของฝ่ายชายที่มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายหญิงหรือโดยอาศัยความเชื่อถือของบุคคลนั้นๆ

3. กระทำชำเรา : เรื่องของเครื่องเพศกับเครื่องเพศ
ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามความหมายของการชำเราเอาไว้ แต่ศาลได้ให้ความหมายของการกระทำชำเราเอาไว้ในการตัดสินคดีว่า คือการร่วมเพศระหว่างชายหญิง โดยอวัยวะสืบพันธ์ของชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอดของหญิงแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม และไม่ว่าฝ่ายชายจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ก็ตาม (ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ให้ความหมายนี้ เช่น ฎีกาที่ 2752/2540, 857/2536, 1117/2524,1346/2523, 1089/2518, 85/2504 เป็นต้น) ซึ่งความหมายของการกระทำชำเราในลักษณะที่เป็นเรื่องของเครื่องเพศกับเครื่องเพศ ได้ดำรงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง

นิยามความหมายในลักษณะเชิงกายภาพอย่างคับแคบเช่นนี้ ทำให้การบังคับร่วมเพศในหลายรูปแบบไม่เป็นความผิดในความหมายนี้ ดังเช่น การร่วมเพศทางทวารหนัก (คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 509/2529) มีความผิดเพียงฐานอนาจารซึ่งบทลงโทษเบากว่าความผิดฐานข่มขืน หรือการบังคับให้สำเร็จความใคร่ทางปากโดยหญิง ก็จะไม่ได้เข้าอยู่ในความหมายของการกระทำชำเราเลย

หากพิจารณาจากแง่มุมของผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการเอาอวัยวะเพศสอดใส่หรือใช้สิ่งของสอดใส่ล้วนแล้วแต่สร้างความบอบช้ำให้กับผู้เสียหายไม่แตกต่างกัน แต่สำหรับผู้กระทำแล้วกลับได้รับโทษน้อยลง ถ้าไม่ได้เป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศหญิงด้วยเครื่องเพศของตน

ได้มีการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขกำหนดคำนิยามของการร่วมประเวณีหรือการกระทำชำเราให้มีความหมายที่กว้างขึ้น และครอบคลุมประสบการณ์การถูกทารุณกรรมทางเพศที่มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการกำหนดให้การร่วมประเวณีหมายถึงการสอดใส่ หรือการกระทำใดที่เกี่ยวข้องกับการสอดใส่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายของผู้กระทำผิด ไม่ว่าเป็นนิ้ว อวัยวะเพศ หรือการใช้วัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในช่องคลอด ทวารหนัก หรือปากของผู้เสียหาย รวมถึงการใช้สัตว์ข่มขืนผู้เสียหายด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้ามากที่ควร การกระทำชำเราในทางกฎหมายจึงยังคงเป็นเรื่องของเครื่องเพศกับเครื่องเพศเช่นเดิม

4. หญิงที่มิใช่ภริยาตน และอดีตเมีย อดีตแฟน อดีตคนรัก ฯลฯ
การข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำต่อหญิงที่ไม่ใช่ภริยาของตนเองเท่านั้น บทบัญญัติของกฎหมายลักษณะเช่นนี้ ได้ทำให้การบังคับให้มีการร่วมเพศระหว่างสามีภรรยาไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนแต่อย่างใด

บทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า การที่หญิงตกเป็นภรรยาของชายใด ทำให้หญิงนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายชาย การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่สิทธิที่หญิงจะสามารถเลือกได้ด้วยตนเอง หากต้องคอยตอบสนองต่อความต้องการของฝ่ายชายเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่าในบางช่วงเวลาที่หญิงอาจไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ เช่น ระหว่างมีประจำเดือน หรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน หากฝ่ายชายใช้กำลังเพื่อบังคับให้มีการร่วมเพศ การกระทำนี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

บทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ได้ถูกโต้แย้งอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ด้วยการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว กับสิทธิในการมีเพศสัมพันธ์ว่าเป็นเรื่องที่สามารถแยกออกจากกันได้ การที่หญิงแต่งงานกับชาย มีความหมายถึงการร่วมกันก่อตั้งครอบครัวแต่ไม่ได้หมายความว่าหญิงได้กลายเป็นที่รองรับความต้องการทางเพศของฝ่ายชาย โดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึก สุขภาพ ความต้องการของฝ่ายหญิงเลย

จึงได้มีความพยายามที่จะเสนอแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว ด้วยการให้ตัดคำว่า "หญิงที่มิใช่ภริยาของตน" ออก อันจะทำให้การข่มขืนที่กระทำต่อหญิงใดก็ล้วนแล้วแต่มีความผิดในฐานข่มขืนกระทำชำเราได้ทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าบทบัญญัติในการข่มขืนกระทำชำเรา จะกำหนดให้เป็นความผิดหากได้กระทำต่อหญิงที่มิใช่ภรรยาของตนเอง ซึ่งก็ควรหมายถึงว่าหากชายใดบังคับขืนใจหญิงที่มิใช่ภรรยาก็ควรจะมีความผิดฐานข่มขืน

แต่ในการวินิจฉัยคดีเป็นจำนวนมาก ได้มีการนับเอาความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่เคยมีอยู่ในอดีตมาเป็นประเด็นในการวินิจฉัย ทำให้หญิงจำนวนมากที่แม้ไม่ใช่ภรรยาของชายนั้น ได้ถูกบังคับให้ร่วมเพศ แต่ก็ไม่ทำให้ชายนั้นมีความผิดฐานข่มขืน ดังในกรณีที่หากหญิงกับชายนั้นเป็นคนชอบพอหรือเป็นคนรัก หากมีข้อพิพาทว่าหญิงถูกข่มขืนกระทำชำเราจากฝ่ายชาย ถ้าฝ่ายชายสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าเป็นคนรักกันมาก่อนหรือเคยเป็นแฟนกัน หรือเข้าไปในที่ลับหูลับตาผู้คนด้วยความสมัครใจ คำพิพากษาส่วนใหญ่ก็จะตัดสินว่าการร่วมเพศนั้นเกิดขึ้นด้วยความยินยอมของหญิง (คำพิพากษาฎีกาที่ 227/2529, 2073/2537 เป็นต้น)

และหากฝ่ายชายสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าตนกับหญิงนั้นเคยมีความสัมพันธ์กันทางเพศมาก่อน การกล่าวหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการข่มขืนหรือไม่ ก็มักจะจบลงด้วยความเห็นที่ว่าหญิงนั้นยินยอมพร้อมใจ (4465/2530) และหากหลังเหตุการณ์ฝ่ายหญิงเก็บเรื่องราวไว้เนิ่นนานแล้ว จึงค่อยมาดำเนินการทางกฎหมายก็จะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาอ้างเป็นเหตุผลในการยกฟ้อง (ฎีกาที่ 2238/2527)

การตีความถึงข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ย่อมชวนให้ตั้งคำถามเกิดขึ้นได้ว่า หญิงที่เป็นแฟนกับชายที่ยินยอมเข้าไปในที่รโหฐาน หมายความถึงการยินยอมให้อีกฝ่ายร่วมเพศได้จริงหรือ แม้กระทั่งหญิงที่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายมาก่อน เมื่อเกิดการมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นในภายหลังฝ่ายหญิงต้องยินยอมด้วยทุกครั้งเสมอไปกระนั้นหรือ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมีตัวอย่างให้เห็นเป็นจำนวนมากว่า ชายหญิงที่เป็นคนรักหรือสามีภริยากัน ก็อาจเปลี่ยนระดับความสัมพันธ์คู่ของตนได้ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมตลอดไป

แนวคำวินิจฉัยในลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงไม่มีตัวตน อารมณ์ ความรู้สึกของตนเองแม้แต่น้อย หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาเพียงครั้ง ครั้งต่อๆไปก็ต้องเป็นการเกิดขึ้นโดยความยินยอม

หรือในบางคดีที่ได้ปรากฏว่าหญิงกับชายเคยเป็นสามีภรรยากัน ต่อมาแยกกันอยู่โดยที่ยังไม่ได้หย่ากันให้ถูกต้องตามกฎหมาย (ในคดีนี้ทั้งคู่เป็นนับถือศาสนาอิสลามและยังไม่ได้ทำการหย่ากันตามหลักกฎหมายอิสลาม) ต่อมาฝ่ายชายได้ใช้กำลังบังคับร่วมเพศกับฝ่ายหญิง โดยที่หญิงไม่ได้ยินยอม ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่ฝ่ายชายกระทำไปด้วยความเข้าใจผิดว่ามีสิทธิกระทำได้กับภริยา จึงไม่เป็นความผิดฐานข่มขืน (คำพิพากษาฎีกาที่ 430/2532)

ดังนั้น แม้บทบัญญัติของกฎหมายจะเขียนไว้ว่าการกระทำชำเราที่ทำต่อหญิงอื่นอันมิใช่ของตนเป็นความผิดฐานข่มขืน แต่ในการบังคับใช้กฎหมายในการวินิจฉัยเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ได้มีการขยายความกว้างออกไปรวมถึงอดีตคนรัก หรือผู้ที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน เพราะฉะนั้น การกระทำชำเราหญิงที่เป็นหรือเคยเป็นแฟน คนรัก ภรรยา ก็ไม่เป็นการกระทำที่เป็นความผิดฐานข่มขืนเช่นกัน

5. ข่มขืนโดยน้ำมือของกฎหมาย
ในความผิดฐานข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย แม้จะได้มีการบัญญัติเนื้อหาของกฎหมายจนดูราวกับว่า มีความชัดเจนอย่างเพียงพอต่อการกำหนดนิยามความผิดฐานข่มขืน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการบังคับใช้กฎหมายในความผิดฐานข่มขืนที่ได้เกิดขึ้นจริง จะพบได้ว่าเอาเข้าจริงแล้ว การบังคับใช้กฎหมายมิได้เป็นเพียงการนำเอาตัวบทมาใช้บังคับกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ตรงกันข้ามท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายแต่ละครั้งๆ มีการสร้างความหมายและเงื่อนไขในการพิจารณาถึงความหมายของการ "ข่มขืน" ให้มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น ผ่านการตีความ คำอธิบาย คำวินิจฉัย ซึ่งการสร้างความหมายในกระบวนการยุติธรรมนี้อันมีผลทำให้การข่มขืนมีทั้งความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ และที่แตกต่างไปจากที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติในประมวลกฎหมาย

ความหมายที่ปรากฏและดำรงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนี้ มีผลอย่างมากในการทำให้ผู้ที่ได้กระทำในสิ่งที่ควรเรียกว่า "ข่มขืน" ไม่มีความผิดฐานข่มขืนหรือหลุดพ้นไปจากการรับโทษ และอีกด้านเหยื่อของการกระทำที่ควรถูกเรียกว่า "ข่มขืน" ก็กลับมิได้เป็นผู้ที่ถูกข่มขืนในความหมายของกฎหมาย

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การตรวจสอบและตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีความผิดเรื่องการข่มขืน หรือการล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะต่างๆนั้น ตัวกฎหมายและระบบ เอื้อต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำได้ดีเพียงใด

ใช่หรือไม่ว่า ความไร้น้ำยาของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ผู้หญิงเป็นจำนวนมากต้องขบคิดอย่างหนักหากจะนำพาตัวเองเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย และหากตัดสินใจได้แล้วก็ยังต้องเผชิญกับคำถามจำนวนมาก เช่น ทำไมไม่มาแจ้งความทันทีภายหลังเหตุการณ์, ต้องการจะเรียกร้องผลประโยชน์จากอีกฝ่ายหรือไม่, มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ ฯลฯ

ไม่ใช่เพียงกับผู้คน สื่อมวลชน หากยังรวมถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

สรุป
สิ่งที่ได้กล่าวมามิใช่ปัญหาทั้งหมดของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในคดีข่มขืน หากเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ที่สามารถชี้ให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายว่า ไม่ใช่เป็นเพียงการเอาตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อพิพาทเท่านั้น หากเต็มไปด้วยอคติ ความเชื่อที่แอบแฝงอยู่อย่างแนบแน่น บางส่วนอาจแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้รองรับต่อสิ่งที่เป็นประสบการณ์ความทุกข์ของเพศหญิงให้กว้างขวางมากกว่าเดิม

แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมที่มีการตีความ ขยาย ลดทอน แก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมาย อันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งของเพศหญิงในการได้รับความคุ้มครองสิทธิโดยกฎหมาย และควรนำไปสู่การทะลายอคติเหล่านั้นให้ลดน้อยลง

ทั้งหมดที่นำเสนอนี้ก็เพื่อไม่ให้ผู้หญิงทั้งหลายที่ตกเป็นเหยื่อจากการข่มขืนทางกายภาพ ต้องถูก "ข่มขืน" ซ้ำอีกด้วยน้ำมือของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)