มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 315 หัวเรื่อง
ประวัติศาสตร์ลัทธิอาณานิคม
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
(บทความนี้ยาวประมาณ 18
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
ลัทธิอาณานิคมโดยสังเขป
ประวัติศาสตร์ลัทธิอาณานิคม
Colonialism : David K. Fieldhouse,
Oxford University
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
(ความยาวประมาณ
18 หน้ากระดาษ A4)
คำว่า"ลัทธิอาณานิคม"(colonialism)เป็นคำที่ท้าทายต่อการนิยามความหมาย สำหรับการใช้คำนี้ มีแนวโน้มสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมต่างๆ. ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ศัพท์คำนี้ได้ถูกประยุกต์ใช้แต่เพียง กับอาณานิคมต่างๆของบรรดาผู้ตั้งรกรากที่เป็นคนผิวขาวด้วยกัน และถูกใช้ในทางใดทางหนึ่ง ที่เป็นกลางๆด้านความถูกต้องชอบธรรมดังนี้ คือ
1. อัตลักษณ์เฉพาะของอาณานิคมนั้นๆ และ
2. สถานะทางการเมืองของเมืองขึ้นที่แตกต่างไปจากมหานคร(metropolis)(parent state - เมืองแม่) หรือ รัฐอธิปไตย (sovereign state - เจ้าอาณานิคม)
อันที่จริง ศัพท์คำว่า"ลัทธิอาณานิคม"(colonialism) ไม่ค่อยจะถูกใช้ในความหมายเกี่ยวกับระบบอาณานิคมมากนัก. การใช้ในช่วงหลังเกี่ยวกับศัพท์คำนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการรับเอาศัพท์คำดังกล่าวมา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเกี่ยวกับยุคการปลดปล่อยอาณานิคม(decolonization)
ในความหมายนี้ มันเกี่ยวโยงถึงการประสบกับเคราะห์กรรมเกี่ยวกับลัทธิจักรพรรดิ์นิยม(imperialism) ซึ่งหลังจากปี 1900 เป็นต้นมา มันได้ถูกนำมาใช้โดยบรรดานักวิจารณ์เกี่ยวกับการแผ่ขยายของชาวยุโรปเพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ในเชิงอุดมคติ และใช้เพื่อเสนอแนะอย่างไม่ค่อยจะชัดเจนนักถึงการผนวกเอาดินแดนต่างๆเข้ามาไว้ และรัฐที่เป็นรองต่างๆที่ตามมา - ในแต่ละกรณี เป็นไปเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอำนาจต่างๆของนายทุนยุโรปและอเมริกาเหนือ. ในช่วงกลางของคริสตศตวรรษที่ 19 คำว่า"ลัทธิอาณานิคม"เริ่มที่จะถูกนำมาใช้ในความหมายที่เสียหาย
"ลัทธิจักรพรรดิ์นิยม"และ"ลัทธิอาณานิคม" ศัพท์สองคำนี้ ค่อยๆถูกสกัดขัดเกลาและแยกออกจากกันอย่างเด่นชัด ขณะที่ศัพท์คำแรกคือคำว่า"ลัทธิจักรพรรดิ์นิยม"(imperialism)นั้น กลายเป็นคำที่บ่งชี้ถึงพลวัตต่างๆเกี่ยวกับอาคารสิ่งก่อสร้างในแบบจักรวรรดิ์ของชาวยุโรป และ, สำหรับชาวลัทธิมาร์กซ์ มันเป็นอัตลักษณ์พิเศษของบรรดาสังคมทุนนิยมที่จักรพรรดิ์นิยมได้ยึดครอง
ศัพท์คำที่สองคำว่า"ลัทธิอาณานิคม"(colonialism)เป็นคำที่อธิบายถึงผลลัพธ์ของความสลับซับซ้อนเกี่ยวกับการควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดยัดเยียดให้แก่เมืองขึ้นทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ลัทธิอาณานิคม มาถึงตอนนี้จะต้องได้รับการหยิบมาเพื่อชี้ถึงระบบอาณานิคมในลำดับขั้นตอนหลังนโยบายการแผ่ขยายดินแดน(post-expansionist) โดยความเกี่ยวพันกับการที่มันได้สถาปนาระบบการควบคุมอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจต่างๆของจักรวรรดิ์เพื่อกดให้เมืองบริวารตกอยู่ในอำนาจบังคับ และตักตวงผลประโยชน์จากเมืองขึ้นต่างๆ
บทความนี้จะสำรวจถึงอัตลักษณ์ของระบบอาณานิคมของจักรวรรดิ์อาณานิคมของยุโรปสมัยใหม่ ในความเกี่ยวข้องกับการสำรวจนี้ มีคำถามเบื้องต้นอยู่ 2 ข้อด้วยกันคือ
1. จักรวรรดิ์ต่างๆเหล่านี้ ได้รับการสร้างให้เป็นระบบขึ้นมาอย่างไร?
2. ระบบอาณานิคม ได้ตักตวงจากเมืองขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าอาณานิคมใช่ไหม?
ในการพิจารณาเกี่ยวกับคำถามข้างต้นนี้ ควรจะระลึกถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์ทั่วๆไป: แม้ว่าศัพท์คำว่า"ลัทธิอาณานิคม"จะถูกประยุกต์ใช้ส่วนใหญ่กับเงื่อนไขต่างๆของระบบอาณานิคมในคริสตศตวรรษที่ 19 แต่อย่างไรก็ตาม ระบบอาณานิคมนั้นมันได้ดำรงอยู่มาตลอดประวัติศาสตร์ อันนี้พูดในความหมายเกี่ยวกับเมื่อไรก็ตามที่เกิดมีจักรวรรดิ์ต่างๆขึ้นมา. อัตลักษณ์ของระบบเหล่านี้มีการแปรผันไปอย่างมากมาโดยตลอดประวัติศาสตร์(ทั้งเวลาและสถานที่)
"ลัทธิอาณานิคม"(colonialism) ได้รับการกล่าวโทษและติเตียนโดยบรรดานักวิจารณ์เกี่ยวกับจักรวรรดิ์อาณานิคมสมัยใหม่ต่างๆ(recent colonial empires) ซึ่งต้องถือว่า(ความเป็นอาณานิคมนั้น)ไม่ใช่มีลักษณะอย่างเดียวกันทั้งหมด, โดยข้อเท็จจริงแล้ว จักรวรรดิ์อาณานิคมสมัยใหม่นั้น มันแตกต่างอย่างมากจากแบบแผนต่างๆของลัทธิอาณานิคมในอดีต
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำให้เป็นอาณานิคม(History
of Colonization)
ลักษณะพิเศษร่วมกันของระบบอาณานิคมสมัยใหม่อันหนึ่งก็คือ บรรดาเมืองขึ้นทั้งหลายต่างถูกแยกห่างในทางภูมิศาสตร์จากเมืองมหานคร(metropolis)หรือเมืองแม่
แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาเมืองขึ้นเหล่านั้นยังคงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิ์หรือเจ้าอาณานิคมในบางระดับ.
อำนาจแต่เพียงอย่างเดียวของมันนี้ มิได้เป็นจริงเสมอไป เช่น กรณีของรัสเซีย
อาณานิคมต่างๆของรัสเซียได้แผ่ขยายออกไปโดยไม่มีการชะงักงัน จากดินแดนต่างๆของตัวในยุโรปสู่พรมแดนของอินเดีย และข้ามไปถึงช่องแคบแบริ่ง(แถบไซบีเรียและอลาสก้า). แม้ว่าในบางครั้งขอบเขตดินแดนของอาณานิคมเหล่านี้จะประชิดติดกัน แต่ดินแดนเมืองขึ้นที่เป็นอาณานิคมเหล่านี้ก็อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลาง ในส่วนของผู้คนแห่งดินแดนดังกล่าว มีชาติพันธุ์ที่แตกต่างและฐานเศรษฐกิจก็ต่างกันกับรัสเซียด้วย ความสัมพันธ์เริ่มแรกของรัสเซียกับดินแดนเหล่านี้ก็คือ ในฐานะผู้พิชิต หรือเจ้าอาณานิคม
จักรวรรดิ์ชายฝั่งและภาคพื้นทวีปในช่วงแรก
(Early Continental and Maritime Empires)
จักรวรรดิ์รัสเซียได้จัดหาสะพานทางแนวคิดอันหนึ่งขึ้นมาเชื่อมกันระหว่าง
"จักรวรรดิ์อาณานิคมสมัยใหม่" กับ "จักรวรรดิ์ดินแแดนต่างๆ" ซึ่งในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ของสิ่งที่พูดถึงนี้
เป็นจักรวรรดิ์บนภาคพื้นทวีป และประชิดติดกับเมืองเอกหรือเมืองมหานคร(metropolis)
ส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ต่างก็เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรพรรดิ์ราช(imperial dynasty)หรือรัฐ. พลังอำนาจของจักรพรรดิ์โบราณซึ่งยิ่งใหญ่สุดก็คือ - อิยิปต์, บาบีโลเนีย, แอสซีเรีย, เปอร์เซีย, โรม, ไบแซนทิอุม, คาโรลินเจียน, อาหรับ, จีน, อินคา และเอสเทค - ที่สำคัญต่างก็เป็นดินแดนบนภาคพื้นทวีปทั้งสิ้น
จักรวรรดิ์ชายฝั่งทะเลมีอยู่ไม่มากนักและไม่ค่อยน่าตื่นเต้นหรือน่าประทับใจสักเท่าใด ก่อนการมีอาณานิคมโพ้นทะเลของชาวยุโรปสมัยใหม่. ในยุคคลาสสิค พวกโฟนีเชี่ยน, กรีก, คาร์ธาจีเนียน และโรมันได้สถาปนาอาณานิคมชายฝั่งขึ้น ต่อมา ชาวฮินดูและมุสลิมจากอินเดียและอราเบียได้ตั้งรกรากดินแดนต่างๆของมหาสมุทรอินเดียและอินโดนีเซีย และชาวจีนก็ได้สร้างอาณานิคมส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การตั้งรกรากเหล่านี้ โดยทั่วไปขาดเสียซึ่งการควบคุมจากศูนย์กลางหรือไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องกับเมืองแม่
โดยส่วนใหญ่แล้ว "จักรวรรดิ์บนภาคพื้นทวีป"และ"การตั้งรกรากตามชายฝั่งทะเล"ทั้งหลาย ไม่มีอะไรซึ่งมีท่วงทำนองเดียวกันกับระบบอาณานิคมสมัยใหม่เลย - สำหรับส่วนแรก(ซึ่งหมายถึงจักรวรรดิ์บนภาคพื้นทวีป)นั้น เป็นเพราะ พวกมันต่างๆเป็นดินแดนที่ประชิดติดกัน ส่วนอย่างหลัง(จักรวรรดิ์ชายฝั่งทะเล) เป็นเพราะพวกมันขาดการควบคุมจากศูนยกลาง. แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังต่อมา ทั้งแรงกระตุ้นทั้งหลายซึ่งน้อมนำไปสู่การสร้างระบบต่างๆ และแบบแผนเกี่ยวกับการปกครอง, การค้า, หรือวัฒนธรรมที่ปรากฎขึ้น ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่สิ้นสุด
จักรวรรดิ์บนภาคพื้นทวีปทั้งหลาย เป็นผลผลิตของเงื่อนไขหรือปัจจัยอันหลากหลาย เช่น ความปรารถนาทะเยอทะยานของราชวงศ์ในเชิงชื่อเสียง, ความไม่มั่นคงปลอดภัยแถวชายแดน, การคลั่งไคล้ทางศาสนา, หรือความต้องการดินแดนหรือแรงงานทาส เป็นต้น. ความหลากหลายในอย่างเดียวกันเกี่ยวกับแรงกระตุ้นเหล่านี้ ได้ถูกพบเห็นในการสร้างอาณานิคมบนชายฝั่งช่วงต้นด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้า, ประชากรล้นเกิน, ความทะยานอยากของราชวงศ์ และเรื่องทางศาสนา
ระบบอาณานิคมต่างๆก็มีลักษณะที่หลายหลายเท่าๆกัน บางจักรวรรดิ์พยายามที่จะบังคับยัดเยียดความมีแบบแผนลักษณะเดียวกันทางวัฒนธรรมขึ้นมา ส่วนบางจักรวรรดิ์ก็ไม่ต้องการเช่นนั้น. อาณานิคมบางแห่งถูกโยงเข้ากับศูนย์กลางในด้านการบริหารมาก; ส่วนบางอาณานิคม โดยความจำเป็นบางประการ มีความเป็นอิสระในเขตปริมณฑลของตนเอง เป็นต้น
จักรวรรดิ์อาณานิคมของยุโรป
(European Colonial Empires)
การแผ่ขยายของชาวยุโรปสมัยใหม่สามารถระบุวันเวลาได้นับจากโปรตุเกสได้ชัยชนะต่อ
Ceuta (ในโมร็อคโค) ในปี ค.ศ.1415 จนกระทั่งถึงการยึดครองอบิสซีเนีย(เอธิโอเปีย)ของอิตาลีในปี
ค.ศ.1936. ภายในช่วงเวลานี้ มันเป็นห้วงเวลาที่ทับซ้อนกันสองห้วง ห้วงแรกสิ้นสุดลงด้วยการมีอิสรภาพของอาณานิคมดั้งเดิมส่วนใหญ่ในอเมริกา
ราวช่วงทศวรรษที่ 1820s, ส่วนห้วงที่สองเริ่มต้นด้วยการที่อังกฤษสามารถพิชิตเบงกอลได้ในช่วงและหลังจากปี
ค.ศ.1757
ในระหว่างห้วงเวลาแรก อาณานิคมของชาวยุโรปส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกตะวันตก ส่วนห้วงเวลาที่สองนั้น จักรวรรดิ์อาณานิคมขีดวงอยู่รอบๆเอเชีย, แปซิฟิค, และแอฟริกา. เบื้องหลังความตรงข้ามทางด้านภูมิศาสตร์เหล่านี้ ได้วางความต่างๆทางด้านพื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของลัทธิอาณานิคมขึ้นมาเช่นกัน
ห้วงแรก(The First Cycle) ลักษณะที่ดูออกจะขัดๆเกี่ยวกับห้วงแรกของอาณานิคมคือ รัฐต่างๆของยุโรปตะวันตกได้สถาปนาจักรวรรดิ์ขนาดใหญ่ขึ้นในทวีปอเมริกา ซึ่งคล้ายๆกับเป็นเรื่องของอุบัติเหตุหรือความบังเอิญ
โคลัมบัสตั้งใจที่จะค้นหาเส้นทางเดินเรือไปสู่ตะวันออก ไม่ใช่ต้องการที่จะแสวงหาอาณานิคมต่างๆ. เขาประสบกับความล้มเหลว แต่สเปนกลับพบสิ่งที่มาชดเชยคือ"ทองคำและเงิน" ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในแถบตอนกลางและทางใต้ของทวีปอเมริกา. การสร้างอาณานิคมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตื่นทองโพ้นทะเลเป็นเบื้องแรกโดยบรรดาชาวยุโรปทั้งหลาย
ในความตื่นตัวของบรรดาผู้พิชิตนี้ ได้ส่งผลถึงบรรดามิชชันนารี, นักบริหาร ผู้ตั้งถิ่นฐาน และพวกช่างฝีมือ. โดยในช่วงปี ค.ศ.1650, ชาวสเปน, โปรตุเกส, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, และเนเธอร์แลนด์ ทั้งหมดนี้ต่างก็มีอาณานิคมในอเมริกา
แรงกระตุ้นของชาวอาณานิคมมีลักษณะที่แตกต่างและหลากหลาย และอุตสาหกิจต่างๆในช่วงแรกเป็นเรื่องของการทดลอง. ผู้คนมากมายคาดหวังที่จะพบทองหรือเงิน. การเสาะแสวงเพื่อค้นหาเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่ประเทศจีนยังคงดำเนินต่อไป. ชาวประมงฝรั่งเศสและอังกฤษต้องการฐานที่มั่นใกล้ๆกับช่องแคบนิวเฟาน์แลนด์. ผู้อพยพทั้งหลายได้รับการดูดดึงโดยดินแดนอิสระหรือวาดหวังที่จะหลุดรอดไปจากการข่มเหงทางการเมืองและทางศาสนาในบ้านของตน. การสร้างอาณานิคมในอเมริกาเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน และปฏิกริยาที่ไร้การควบคุมส่วนใหญ่เป็นเรื่องความท้าทายเกี่ยวกับการแสวงหา
ในส่วนอื่นๆของโลก อัตลักษณ์เกี่ยวกับการแผ่ขยายของชาวยุโรปค่อนข้างแตกต่างไปเลยทีเดียว และในบางขอบเขต มันเป็นผลอันเนื่องมาจากการวางแผนเอาไว้อย่างรอบคอบรัดกุม. แบบแผนโดยทั่วไปได้รับการจัดวางโดยชาวโปรตุเกส ซึ่งนับจากคริสตศตวรรษที่ 14 มีจุดมุ่งหมายที่จะตักตวงผลประโยชน์จากการค้นพบเส้นทางหนึ่ง ที่มุ่งสู่ตะวันออกรอบๆแหลมกู๊ดโฮบเพื่อการพาณิชย์ มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการสร้างอาณานิคมขึ้นมา
โปรตุเกสได้เข้าครอบครองและสถาปนาดินแดนในบางส่วนของแอฟริกาและเอเชีย แต่โดยรวมแล้ว พวกเขาเลือกที่จะสร้างพันธะหรือข้อผูกพันที่มีขอบเขตจำกัดของตัวเองกับฐานที่มั่นชายฝั่งทะเลต่างๆมากกว่า โดยความวางใจในพลังอำนาจของเรือรบและสนธิสัญญาต่างๆกับผู้ปกครองที่เป็นชนพื้นเมือง เพื่อจัดหาหรือตระเตรียมเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการค้าที่จะให้ผลกำไรในอนาคต. ฝรั่งเศส อังกฤษ และดัทชก็ได้ดำเนินรอยตามตัวอย่างต่างๆเหล่านี้
การสร้างอาณานิคมบนแผนการแบบอเมริกันเป็นเรื่องที่ออกจะเพ้อฝัน ทำไม่ได้ และไม่มีความจำเป็นใดๆ. ในเอเชียและแอฟริกา ชาวยุโรปค้นพบสังคมต่างๆที่มีอารยธรรมและรัฐที่ทรงอำนาจ ซึ่งได้เป็นเจ้าของโครงสร้างรูปแบบการปกครองและการค้า ซึ่งสามารถที่จะปรับให้เหมาะสมหรือสอดคล้องกับชาวยุโรปได้. เพียงแค่เงื่อนไขต่างๆทางการเมืองในเอเชียเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อการต่อสู้แข่งขันระหว่างชาวยุโรปด้วยกันเองมีความเข้มข้นมากขึ้น มันได้ทำให้แบบแผนอันนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 จักรวรรดิ์เหนือดินแดนต่างๆได้เติบโตอย่างช้าๆ นับจากความเกี่ยวพันของอังกฤษกับการเมืองในอินเดีย และพันธกรณีของดัทชในชวา. ในช่วงแรกๆ ความเกี่ยวพันของชาวยุโรปในแอฟริกาและเอเชีย ไม่ได้เป็นไปในลักษณะลัทธิอาณานิคมในความหมายที่แท้จริงของมัน
ห้วงที่สอง(The Second Cycle) นับจากทศวรรษที่ 1760 จนกระทั่งถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1820 (ประมาณ 60 ปี) อาณานิคมต่างๆของชาวยุโรปในอเมริกา ดำรงอยู่ร่วมกันกับการครอบครองดินแดนต่างๆในช่วงแรกส่วนใหญ่ทางซีกโลกตะวันออก. แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1825 อาณานิคมอเมริกาได้หดเล็กลงจนเกือบไม่มีความสำคัญในเชิงปเรียบเทียบอีกแล้ว ส่วนใหญ่ของอาณานิคมอังกฤษในอเมริกาเหนือได้รับอิสรภาพโดยผ่านการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1783
สเปนได้สูญเสียการครอบครองบนภาคพื้นทวีปอเมริกาทั้งหมดของตัวเองไปในปี ค.ศ.1824 และในปี ค.ศ.1825 นั้น โปรตุเกสก็ยอมรับความเป็นอิสระของบราซิล และฝรั่งเศสก็เช่นกันที่ไฮติ แต่อย่างไรก็ตาม อังกฤษยังคงรักษาอำนาจที่มีต่ออาณานิคมส่วนใหญ่เอาไว้ได้ พวกเขายังคงสงวนรักษาส่วนหนึ่งของอเมริกาเหนือไว้ รวมทั้งฝรั่งเศสที่แคนาดา; พวกเขาต่างได้อาณานิคมต่างประเทศมากมายมาโดยการทำสงคราม, ที่เด่นๆคือทรินิแดด (Trinidad-เกาะใน West indies), แหลมกู๊ดโฮบ, Mauritius (ประเทศเกาะที่อยู่ในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกเฉียงใต้), รวมถึงศรีลังกา และมะละกา
อังกฤษคือผู้ปกครองดินแดนอาณานิคมที่ใหญ่โตมากในอินเดีย และได้ให้บรรดานักโทษไปตั้งรกรากขึ้นที่ออสเตรเลีย ซึ่งบรรดานักโทษเหล่านี้ได้ไปตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่จนทั่วภาคพื้นทวีปและในแปซิฟิคทางตอนใต้. ส่วนเนเธอร์แลนด์ยังคงสงวนรักษาการยึดครองของตัวในอินโดนีเซีย. แต่สำหรับสเปน โปรตุเกส และฝรั่งเศส ยุคแห่งลัทธิอาณานิคมดูเหมือนว่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ในช่วงทศวรรษที่ 1830s ดูเหมือนว่าจะมีเหตุผลอยู่เพียงเล็กน้อยสำหรับประเทศต่างๆที่จะสร้างจักรวรรดิ์อาณานิคมใหม่ๆขึ้นมา. อเมริกาได้ถูกปิดล้อมจากการก้าวก่ายของชาวยุโรปทั่วๆไปโดยกองทัพเรืออังกฤษ และ Monroe Doctrine (นโยบายต่างประเทศของอเมริกัน ซึ่งต่อต้านการแทรกแซงจากพลังอำนาจภายนอกซีกตะวันตก), แอฟริกาก็เป็นที่ดึงดูดใจไม่มากนักในช่วงนั้น และตะวันออกไกลที่ประกอบด้วยรัฐและจักรวรรดิ์ที่เหนียวแน่นต่างๆ ก็ดูออกจะยุ่งยากเกินไปที่จะเอาชนะได้
อังกฤษกำลังเริ่มรับเอาการค้าเสรี(free trade)มาใช้ ทำให้ประเทศอื่นๆค่อยๆทำตามการนำดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ อาณานิคมต่างๆจึงไม่ถูกผูกขาดทางการค้าโดยประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น มันมีอุปสรรคน้อยลงต่ออิสระทางการค้าของชาวยุโรปโพ้นทะเลกับอาณานิคมที่เป็นทางการ. บรรดาผู้อพยพทั้งหลายสามารถที่จะไปยังสหรัฐ, ลาตินอมเริกา, หรืออาณานิคมต่างๆของอังกฤษในออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้ได้. บรรดาพ่อค้า, หมอสอนศาสนา, พวกที่ทำไร่ฝ้ายและสวนยาง, และรวมถึงผู้ที่มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมทั้งหลายสามารถที่จะเสี่ยงโชคได้ในเกือบทุกๆที่. หลักการเกี่ยวกับ"การเปิดประตู" และการปฏิบัติกับคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรปโดยวิธีทางการฑูต ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า
ลัทธิจักรพรรดิ์นิยมใหม่(The
"New Imperialism")
อย่างไรก็ตาม จักรวรรดิ์อาณานิคมของชาวยุโรปก็ได้แผ่ขยายขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่
18. จักรพรรดิ์นิยมใหม่อันนี้ โดยจารีตแล้ว ได้รับการอธิบายในเทอมต่างๆของการเปลี่ยนแปลงความต้องการและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาวยุโรป
แหล่งต้นตอวัตถุดิบทั้งหลาย, พื้นที่ต่างๆสำหรับการลงทุน, และตลาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาคือสิ่งที่ต้องการ, และความกลัวเกี่ยวกับถูกกันออกไปจากภูมิภาค ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐอื่นๆ ได้บีบบังคับให้แต่ละประเทศสถาปนาอาณานิคมต่างๆขึ้นมา เพื่อที่จะป้องกันผลประโยชน์ของตัวเอง
คำอธิบายที่แตกต่างนี้ ยึดถือเรื่องการแข่งขันระหว่างประเทศอย่างรุนแรงเป็นที่ตั้ง แต่ละรัฐเรียกร้องอาณานิคมต่างๆเพื่อเพิ่มพูนอำนาจทางยุทธศาสตร์ของตัวเอง เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าของตน หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่างๆในทางการฑูต
ท้ายที่สุด ได้มีการเสนอว่า การทำให้เป็นอาณานิคมได้สะท้อนถึงลัทธิชาตินิยมที่มีลักษณะก้าวร้าวอันใหม่อันหนึ่งขึ้นมาในยุโรป บางส่วนได้รับการสร้างขึ้นมาโดยการต่อสู้แข่งขันระหว่างชาติ และบางส่วนได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยทฤษฎีเกี่ยวกับลัทธิเชื้อชาติ(racism)
คำอธิบายทั้งหมดนี้เจาะเน้นลงไปที่ยุโรป แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นองค์ประกอบต่างๆของความจริงในแต่ละคำอธิบาย มีหลักฐานบางอย่างได้เสนอว่า พลวัตเกี่ยวกับการแผ่ขยายของชาวยุโรป อีกครั้งที่มันปูลาดอยู่ภายนอกยุโรป: ลัทธิจักรพรรดิ์นิยมเป็นปฏิกริยาอันหนึ่งต่อวิกฤตและโอกาสต่างๆในเอเชีย, แปซิฟิค, และแอฟริกา มากกว่าจะเป็นผลิตผลของความต้องการและนโยบายต่างๆซึ่งมีการคิดคำนวณแล้วในยุโรป
วิกฤตการณ์ทั้งหลายอาจเป็นผลอันเนื่องมาจากปัญหาพรมแดน หรือความโน้มเอียงเกี่ยวกับการแผ่ขยายของอาณานิคมต่างๆที่มีอยู่, จากความแตกแยกกระจัดกระจายของระบบสังคมและการเมืองท้องถิ่น, หรือจากการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างชาวยุโรปทั้งหลายในพื้นที่เหล่านั้น. สถานการณ์ดังที่กล่าวมานี้ อาจชักชวนหรือเหนี่ยวนำการปกครองของชาวยุโรปผนวกเพิ่มเติมเข้าไป
ช่วงเวลานับจาก ค.ศ.1914 จนถึง 1939 ถือเป็นจุดที่ไกลสุดของจักรวรรดิ์อาณานิคมสมัยใหม่. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดินแดนของเยอรมัน ญี่ปุ่น และอ็อดโตมาน ส่วนใหญ่ ได้ถูกกำหนดโดยพลังอำนาจของชาวยุโรป. ในเชิงเทคนิค ดินแดนต่างๆเหล่านี้คือสันนิบาตชาติที่ได้รับมอบอำนาจหรืออาณัติปกครอง แต่พวกเขาได้รับการปฏิบัติหรือจัดการคล้ายกับเมืองขึ้นอื่นๆ. โดยการยึดครองของอิตาเลียนต่ออบีสซีเนีย(เอธิโอเปีย)ในปี ค.ศ. 1936 จักรวรรดิ์อาณานิคมต่างๆก็ได้มาถึงจุดสูงสุดของการครอบครองดินแดนของบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมแล้ว ประเทศของชาวยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่คือพลังอำนาจอาณานิคม, เช่นดัง สหรัฐฯและญี่ปุ่น
รัสเซียในช่วงเวลาดังกล่าวคือรัฐสังคมนิยม ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมรับอาณานิคมต่างๆ แต่ก็ยังสงวนรักษาดินแดนในส่วนต่างๆของเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเอาไว้ ซึ่งระบอบการปกครอง Czarist (Czar คือจักรพรรดิ์องค์หนึ่งที่ปกครองรัสเซียมาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1917 อันเป็นปีแห่งการปฏิวัติในรัสเซีย)ได้ยึดเอามา โดยทางเทคนิค มันคือสาธารณรัฐที่เป็นอิสระปกครองตนเอง
การถอนตัวจากการเป็นอาณานิคม(Decolonization)
สงครามโลกครั้งที่สองถือเป็นหมุดหมายการเริ่มต้นของจุดจบเกี่ยวกับเรื่องของอาณานิคม.
ยุโรปได้สูญเสียการควบคุมการยึดครองส่วนใหญ่ในแปซิฟิคและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับญี่ปุ่น
และอาณานิคมอื่นๆได้มีการแยกตัวออกจากเมืองแม่ต่างๆของพวกตน. แม้ว่าความผูกมัดส่วนใหญ่จะได้มีการรื้อฟื้นขึ้นภายหลังปี
ค.ศ.1945(สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่การสลายตัวของจักรวรรดิ์ต่างๆได้เริ่มต้นขึ้น
เหตุผลหลายหลากยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก ความเป็นปรปักษ์กับการปกครองของคนต่างด้าวหรือคนแปลกหน้าดูเหมือนจะแตกหน่อเพิ่มมากขึ้น. มีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดขึ้นต่อศรัทธา รวมไปถึงพื้นฐานความชอบธรรมที่อ่อนกำลังลงของยุโรป และผลประโยชน์ในความเป็นจริงเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม
รัสเซีย และถัดมาจีน ได้ให้การสนับสนุนต่อขบวนการต่างๆเกี่ยวกับการปฏิวัติ. เมืองขึ้นต่างๆเป็นประเทศแรกๆที่ได้รับอิสรภาพคือ อินเดีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา, พม่า, และอินโดนีเซีย - ในช่วงนี้ได้มีการปลุกปั่น ซึ่งทำให้เกิดบรรดานักชาตินิยมทั้งหลายขึ้นมาในที่ต่างๆ
โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960s ยังคงหลงเหลืออาณานิคมอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่น่าสังเกตคือ ดินแดนในอาณัติของโปรตุเกสกับสเปนในแอฟริกา, และรวมถึงเมืองขึ้นบางส่วนของอังกฤษ, อเมริกา, และฝรั่งเศส ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะโจมตีอย่างหลักลอยหรือไร้เหตุผล หรือยังคงใช้ความสะดวกแบบเดิมๆในด้านกำลังทหาร. ลัทธิอาณานิคมที่มีความหมายอย่างเป็นทางการได้ตายลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม มันยังคงมีความสลับซับซ้อนเกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ยังคงปฏิบัติการอยู่โดยประเทศที่ก้าวหน้าซึ่งมีอยู่เหนือประเทศที่ล้าหลัง. การปิดป้ายฉลากว่า"ลัทธิอาณานิคมใหม่"(neocolonialism)โดยบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ หมายความถึงการมีอำนาจอิทธิพลที่เหนือกว่า ซึ่งได้กลายเป็นจุดโฟกัสของการต่อต้านชาวยุโรป และต่อต้านอเมริกันด้วยความคับข้องใจ
มันมีความแตกต่างกันโดยแก่นแท้หรือไม่ จากการมีอำนาจเหนือที่ปฏิบัติการโดยสหภาพโซเวียดที่มีต่อรัฐต่างๆของยุโรปตะวันออก และภาวะที่ไร้ดุลยภาพทางอำนาจนั้น จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องได้อย่างไร ซึ่งเหล่านี้คือคำถามต่างๆที่เปิดขึ้นมาในช่วงนี้
ระบบต่างๆของอาณานิคมทางเศรษฐกิจ
(Colonial Economic Systems)
การตีความร่วมกันส่วนใหญ่เกี่ยวกับคำว่า"ลัทธิอาณานิคม"ก็คือ
มันเป็นระบบการคิดคำนวณอันหนึ่งในการตักตวงเอาประโยชน์ทางด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจจากเมืองขึ้นต่างๆ
เพื่อไปเพิ่มพูนผลประโยชน์ให้กับเมืองแม่ทั้งหลาย. ในส่วนของวิธีการนั้นมีการแปรผันไปอย่างหลากหลายเกินกว่าวัตถุประสงค์
จนกระทั่งกลางคริสตศตวรรษที่ 18 นานาจักรวรรดิ์ ต่างก็มีลักษณะเป็นนักพาณิชยนิยม(mercantilism - สนับสนุนให้รัฐมีบทบาทในการควบคุมและแทรกแซงทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศโดยส่วนรวม). หลังจากนั้น ทุกประเทศจึงทำการทดลองประกอบกิจกรรมในแบบการค้าเสรีกันอย่างจริงจัง ก่อนรับเอาระบบเศรษฐกิจพาณิชยนิยมใหม่ๆ(neo-mercantilist)มาใช้
แต่ละระบบในระดับที่แตกต่างกัน ตามข้อกล่าวอ้าง ได้จัดหาผลกำไรสูงสุดสำหรับเมืองแม่ทั้งหลายของตน ในขณะเดียวกันก็ไปทำอันตรายให้เกิดขึ้นกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของอาณานิคมต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตีความเช่นนั้นเป็นการน้อมนำไปสู่ความเข้าใจผิด
ลัทธิพาณิชยนิยม(Mercantilism)
ลัทธิอาณานิคมในช่วงพาณิชยนิยมก่อนปี ค.ศ.1830 ไม่ใช่ระบบที่มีเหตุผลในการวางแผนเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากอาณานิคม. ข้อกำหนดหรือการบังคับผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว เป็นการรับเอามาจากปฏิบัติการที่เป็นอยู่ภายในประชาชาติต่างๆของยุโรป. เป้าหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อปฏิบัติกับอาณานิคมที่อยู่ห่างไกล ในฐานะการแผ่ขยายสยายปีกของเมืองมหานคร มากกว่าในฐานะที่เป็นชุมชนต่างๆที่มีอิสระ ซึ่งเปิดสู่การค้านานาชาติชาวต่างประเทศทั้งหลายได้ถูกกีดกันออกไปจากเมืองท่าอาณานิคม; อาณานิคมต่างๆจะต้องส่งสินค้าออกทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ให้กับมหานคร(metropolis)หรือเมืองแม่ และจะต้องซื้อสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเมืองแม่หรือโดยผ่านพ่อค้าจากเมืองมหานคร; ความพยายามต่างๆได้รับการทำขึ้นมาเพื่อเป็นการห้ามปรามอุตสาหกรรมภายในประเทศอาณานิคมนั่นเอง เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการแข่งขันเกิดขึ้นกับเมืองมหานคร ขณะที่การผลิตที่เป็นสินค้าหลักหรือวัตถุดิบสำคัญของอาณานิคมเป็นที่ต้องการโดยเมืองแม่ ซึ่งจะได้รับการกระตุ้นโดยอัตราภาษีศุลกากรพิเศษและเงินสงเคราะห์ต่างๆ
เจตนาของการควบคุมเหล่านี้ก็เพื่อที่จะสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาในลักษณะซึ่ง เมืองมหานครและอาณานิคมต่างมีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน กับดุลภาพเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่มีต่อเมืองแม่. ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง ผลลัพธ์ที่ออกมามันแปรผันไปตามความเข้มงวดกวดขันของข้อจำกัดต่างๆ และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของเมืองแม่แต่และเมือง
ช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 17 เป็นตัวอย่าง อาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสในอเมริกาได้ประสบเคราะห์กรรมจากความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาของเมืองแม่ แต่อย่างไรก็ตาม อาณานิคมของอังกฤษกลับได้รับผลกำไรจากอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และความเหนือกว่าทางทะเลที่มีต่อคู่แข่งต่างๆอย่างมีศักยภาพ
มันเป็นความจริงอย่างกว้างๆที่ว่า การควบคุมในเชิงพาณิชยนิยมเป็นอันตรายต่ออาณานิคมทั้งหลาย และการจัดหาผลประโยชน์ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติให้กับมหานคร ทำให้ประเทศอาณานิคมได้รับการส่งเสริมในเรื่องผลประโยชน์ของตนเองแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังที่บรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายวิจารณ์เกี่ยวกับระบบนี้
เศรษฐกิจของอาณานิคมส่วนใหญ่ ได้สะท้อนถึงสมรรถภาพทางธรรมชาติของอาณานิคมเหล่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการส่งออกเกี่ยวกับวัตถุดิบหรือสินค้าหลักต่างๆที่พิเศษ อัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจของพวกเขามีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเช่นนั้นเนื่องจากไม่มีการผูกขาดโดยจักรวรรดิ์. เท่าๆกัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกี่ยวกับผลกำไรของจักรวรรดิ์เป็นเรื่องที่คลุมเครือ. Adam Smith ได้แสดงให้เห็นว่า การผูกขาดจะมีผลทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังต่อเศรษฐกิจของเมืองมหานคร
การค้าเสรี(Free Trade)
การค้าเสรีของอาณานิคมได้เจริญเติบโตขึ้นในช่วงเวลาจากปี ค.ศ.1825 เมื่ออังกฤษได้เปิดท่าเรืออาณานิคมของตน และทำการค้าบนพื้นฐานต่างตอบแทน จนถึงช่วงประมาณปี ค.ศ.1870 การค้าของอาณานิคมทั้งหมดได้ถูกเปิดออกอย่างแท้จริง. ในหลักการ การค้าเสรีควรจะเป็นที่มาของความเที่ยงธรรมทางเศรษฐกิจให้กับอาณานิคม เพราะจักรวรรดิ์หรือเจ้าอาณานิคมไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไปในอีกด้านหนึ่งนั้น การค้าเสรีของจักรวรรดิ์ ซึ่งมีลักษณะยัดเยียดตามอำเภอใจ เป็นข้อเสียเปรียบหรือไม่ได้รับประโยชน์ใดๆสำหรับประเทศที่เป็นเมืองขึ้นทั้งหลายเลย เพราะตลาดต่างๆของพวกเขาที่เปิดนั้น ในทางเทคนิค เป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้ผลิตชาวยุโรปมากกว่า และสกัดกั้นหนทางความเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมโดยผ่านมาตรการป้องกันต่างๆจากประเทศเจ้าอาณานิคม
อีกครั้ง ดุลแห่งผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่จะอธิบาย เศรษฐกิจเชิงการตลาดได้ให้ผลกำไรแก่บางอาณานิคมและแก่บางคนในอาณานิคมเท่านั้น แม้ว่ามันอาจจะทำลายคนอื่นลงก็ตาม. อย่างมีนัยสำคัญ อาณานิคมซึ่งปกครองตนเองของอังกฤษส่วนใหญ่ จะได้รับการปกป้องตราบเท่าที่อาณานิคมเหล่านั้นสมยอม
ลัทธิพาณิชยนิยมใหม่(Neo-mercantilism)
การค้าเสรีของจักรวรรดิ์ เริ่มเสี่อมถอยลงในช่วงทศวรรษที่ 1880s ในช่วงที่รัฐต่างๆของชาวยุโรปทำการปกป้องบ้านเมืองของตนเอง และแผ่ขยายมันไปสู่การยึดครองต่างๆของพวกเขา. แรงกระตุ้นต่างๆของชาวยุโรปในช่วงนี้ เป็นไปในลักษณะปฏิบัตินิยมตามความเป็นจริง นั่นคือ อาณานิคมต่างๆเป็นสิ่งที่มีราคาแพงเกินไปที่จะธำรงรักษาไว้ และมหานครหรือเมืองแม่ต่างๆ มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับผลตอบแทนแต่อย่างไรก็ตาม มันไม่มีการหวนกลับมาในเรื่องของการผูกขาด. อาณานิคมต่างๆไม่ได้ปิดตัวต่อการค้าหรือทุนจากต่างประเทศอีกต่อไป และมันก็ไม่ได้มีการห้ามปรามในการผลิตสินค้าต่างโดยเฉพาะ. พาณิชยนิยมใหม่ได้สร้างระบบภาษีอากรพิเศษขึ้นมาเกี่ยวกับการค้าภายในจักรวรรดิ์; มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินต่อการส่งออกในเส้นทางต่างๆของจักรวรรดิ์; และนับจากทศวรรษที่ 1930s มีการให้โคต้าต่างๆเกี่ยวกับการนำเข้าจากต่างประเทศมาสู่อาณานิคม และเรื่องของการส่งสินค้าออกของอาณานิคมสู่เมืองมหานคร
แม้ว่าสิ่งที่สร้างขึ้นต่างๆเหล่านี้จะมีลักษณะโดดเด่น ซึ่งเป็นแนวโน้มสำหรับการค้าในประเทศอาณานิคมที่ลื่นไหลไปตามเส้นทางต่างๆของจักรวรรดิ์ แต่มันก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเส้นเขตแดนทางการเมืองเท่านั้น (ดังเช่น อาณานิคมแอฟริกันตะวันตกของฝรั่งเศส ได้รับการดูแลหรือรับใช้ผลประโยชน์ทางการค้า โดยที่การค้าเกือบทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ 1930s เป็นของฝรั่งเศสแต่เพียงผู้เดียว แต่อาณานิคมในเขตอินโดจีนของฝรั่งเศส กลับขึ้นอยู่กับการค้าขายกับจีนมากกว่า ซึ่งการค้าภายนอกกับฝรั่งเศสนั้นไม่เคยเกินครึ่งหนึ่งของการพาณิชย์เลย)
ความดึงดูดใจของตลาดมหานครหรือเมืองแม่ที่ให้สิทธิพิเศษ มีแนวโน้มในการสร้างแรงกระตุ้นต่อภาคส่วนต่างๆทางเศรษฐกิจของอาณานิคม ซึ่งเข้ากันอย่างเหมาะสมกับความต้องการทั้งหลายของเมืองมหานคร. เพราะฉะนั้น การมีอยู่ของวงล้อมทางเศรษฐกิจพิเศษนี้ ในด้านหนึ่งนั้นคือ เศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นตะวันตกได้ให้การหนุนเสริมต่อทัศนะที่ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาณานิคมได้รับการทำให้ผิดรูปผิดร่างไป โดยความเป็นที่รองหรือบริวารต่อความต้องการของชาวยุโรป
อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงคือว่า อาณานิคมส่วนใหญ่ได้รับเอาการลงทุนจากเงินทุนมากมายมหาศาล โดยปฐมฐานจากเมืองแม่ ซึ่งอันนี้เป็นการบ่งว่า พวกเขายังคงถูกตักตวงผลประโยชน์โดยทุนนิยมของชาวยุโรปอยู่ดี
ในบางขอบเขต การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ได้ถูกทำให้มีเหตุผลอันควรต่อการรับฟัง จักรวรรดิ ไม่ว่าจะมีระบบเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีหรือปกป้อง ก็เป็นอุปสรรคอันหนึ่งต่อความสามารถในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจอยู่ดี และบางทีดุลยภาพการเจริญเติบโตสำหรับเมืองขึ้นบางแห่ง และผลกำไรต่างๆเกี่ยวกับการลงทุน มันมุ่งไปสู่นักลงทุนโพ้นทะเลมากกว่ามุ่งสู่อาณานิคม กระนั้นก็ตาม ปัจจัยทั้งคู่จะต้องได้รับการมองในขนาดสัดส่วนที่สัมพันธ์กัน
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่ไม่ใช่ชาวยุโรปเพียงเล็กน้อยมากเท่านั้นที่มีอิสระในทางการเมือง ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและมีการลงทุนทางเศรษฐกิจหลายหลากในช่วงระยะเวลานี้. แม้กระทั่งประเทศเหล่านี้ สินค้าหลักในการส่งออกพิเศษก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
โดยทั่วไปแล้ว บรรดานักลงทุนทั้งหลายไม่ได้รับผลกำไรมากมายมาจากการลงทุนในประเทศอาณานิคมเกินไปกว่ารัฐเอกราชต่างๆที่มีอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน. มันเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดด้วยความมั่นใจว่า โดยทั่วไป จักรวรรดิ์คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อเมืองขึ้น หรือได้ผลกำไรหรือประโยชน์จากพลังอำนาจจักรพรรดิ์นิยม
การบริหารอาณานิคม(Colonial
Administration)
ถึงแม้ว่าลัทธิอาณานิคม พูดอย่างหยาบๆ จะมีแนวโน้มในการสร้างแบบแผนทางเศรษฐกิจที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน
แต่เมื่อหันมามองด้านการเมืองแล้ว จะพบว่ามันได้พัฒนาไปในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ความแตกต่างอันดับแรกน่าจะได้รับการทำขึ้นมาระหว่างอาณานิคมต่างๆของชาวยุโรปที่เป็นผู้ไปตั้งรกราก
กับอาณานิคมแบบอื่นๆของเมืองขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ของเมืองขึ้นอย่างหลังนี้ได้มาในช่วงคริสตศตวรรษที่
18
สำหรับในกรณีแรก แต่ละพลังอำนาจจักรพรรดิ์นิยมปกครองดินแดนที่ไปตั้งรกรากไปตามหลักปฏิบัติของเมืองมหานครหรือเมืองแม่ ซึ่งได้แปรผันไปอย่างกว้างขวาง. ส่วนกรณีที่สอง พลังอำนาจทั้งหมดที่กระทำไปในทางปฏิบัติ มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไปสู่ระบบที่เป็นอย่างเดียวกันภายใต้แรงกดดันของปัญหาต่างๆร่วมกัน
อาณานิคมต่างๆ(ที่ชาวยุโรป)ไปตั้งรกราก(settlement Colonies)
อาณานิคมทั้งหลายของชาวยุโรปดั้งเดิมในอเมริกา และอาณานิคมของชาวอังกฤษที่ไปตั้งรกรากล่าสุด ได้รับการปฏิบัติส่วนใหญ่ในฐานะการยึดครองที่ยังคงอยู่ของแต่ละมหานครในยุโรป. การปรับตัวต่างๆเป็นสิ่งจำเป็นโดยคำนึงถึงเงื่อนไขนานาประการของอาณานิคมเป็นพิเศษ แต่สิ่งเหล่านี้มิได้มีผลกระทบต่อหลักการทั่วไปที่บรรดาผู้คนในอาณานิคมต้องแบกรับเอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายและสิทธิทางการเมืองที่พวกเขาครอบครองอยู่ที่บ้านขอยกเว้นที่สำคัญต่อเรื่องนี้คือ อำนาจเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางกฎหมายที่ให้กับบริษัทต่างๆหรือกับเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนตัว และในช่วงเวลานั้น การปกครองในหมู่พวกที่ไปตั้งรกรากนี้ อำนาจการจัดการทั้งหลายได้หวนกลับไปสู่รัฐบาลของเมืองแม่โดยตรง
ผลลัพธ์คือว่า รัฐบาลต่างๆของอาณานิคมและกฎบัตรกฎหมาย มันแตกต่างกันไปอย่างกว้างขวาง เท่าๆกันกับที่มีอยู่ระหว่างประเทศต่างๆในทวีปยุโรป อย่างเช่น อังกฤษมีผู้แทนรัฐสภาและมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ อาณานิคมดั้งเดิมของตนจึงค่อนข้างมีอิสระในการปกครองตนเอง; อาณานิคมที่ไปตั้งรกรากต่อมาภายหลังมีรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี และหลังจากปี ค.ศ.1931 ดินแดนเหล่านี้ได้กลายเป็นรัฐาธิปัตย์ที่ปกครองตนเอง ซึ่งยังคงเป็นหนี้ความจงรักภักดีกับมงกุฏกษัตริย์ต่อมา
ความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์โดยสมัครใจนั้น เป็นพื้นฐานอันหนึ่งของช่วงหลังปี ค.ศ.1945 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) กับเครือจักรภพ ซึ่งเมืองขึ้นในก่อนหน้านั้นทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่ง หลังจากได้รับอิสรภาพ ถ้าพวกเขาเลือกหรือสมัครใจ ก็ยังสามารถมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อไปได้
ในทางตรงข้าม ขนบธรรมเนียมในทางการเมืองของพลังอำนาจบนภาคพิ้นทวีปส่วนใหญ่เป็นแบบเอกาธิปไตยหรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างน้อยที่สุด จนกระทั่งปี ค.ศ.1789. ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในอาณานิคมของพวกเขา แม้ว่าในระบอบการปกครองเก่า(ในทวีปยุโรป)จะไม่มีความละมุนละม่อม แต่โดยทั่วไปมันกลับนิ่มนวลลงเมื่อข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค
บรรดาผู้คนในอาณานิคมซึ่งมีสัญชาติใดๆก็ตาม ปกติแล้วมีความเป็นอิสระในทางการเมืองและทางกฎหมายมากกว่าบรรดาประชากรในเมืองมหานครหรือเมืองแม่; ความไม่พอใจหลักๆส่วนใหญ่ของประชากรที่เมืองแม่ เป็นเรื่องความได้เปรียบหรือเหนือกว่าของบรรดาผู้อพยพที่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐบาลสูงสุดได้. การปฏิวัติต่างๆในอาณานิคม โดยปกติแล้ว ไม่ค่อยส่งผลมากมายนักต่อการกดขี่ที่ปราศจากความอดกลั้น แต่มันกลับมีอิทธิพลต่อความคิดต่างๆเรื่องเสรีภาพในยุโรป และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมกันในระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ยอมรับกันมาก่อนหน้านั้น
เมืองขึ้นต่างชาติ(Foreign Dependencies)
อันนี้ประยุกต์ใช้กับอาณานิคมต่างชาติส่วนใหญ่ที่ได้มาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 18-19 ที่ผ่านมา ซึ่งแรกสุดนั้นมันไม่ใช่อาณานิคมการตั้งรกราก(settlement colonies) และไม่ได้รับการปฏิบัติราวกับว่า อาณานิคมเหล่านี้คือการแผ่ขยายตัวต่างๆของมหานครทั้งหลายในแอฟริกา เอเชีย และแปซิฟิค ดูเหมือนว่าจะไม่เหมาะสมหรือไม่สมควรที่จะยัดเยียดระบบเกี่ยวกับการปกครองและกฎหมายที่ได้รับการวิวัฒน์ขึ้นมา รูปแบบใหม่ๆจำต้องได้รับการสร้างขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆของพื้นถิ่น แต่ยังคงอำนาจที่มีประสิทธิภาพของมหานครเอาไว้
รัฐบาลกลางในอาณานิคมเหล่านี้ โดยทั่วไป ใช้รูปแบบของผู้ปกครองหรือผู้ว่าการเพียงคนเดียว, ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารขนาดเล็กของบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งอพยพมา และในบางกรณี ก็เป็นไปในรูปของคณะกรรมการชุดใหญ่และการมีอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งอาจบรรจุตัวแทนที่มาจากผู้คนในท้องถิ่นร่วมด้วยก็ได้. ขอบเขตเกี่ยวกับความเป็นอิสระของท้องถิ่นแปรผันไปอย่างหลากหลาย. กฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบเกี่ยวกับอาณานิคมค่อยๆมีลักษณะผ่อนปรนและเป็นความเมตตาเพิ่มขึ้น แต่ก่อนปี ค.ศ.1945 มันอาจเป็นไปในลักษณะกดขี่และมีความเป็นเผด็จการ
กระบวนการดูดซึม(ปรับให้เหมือน)หรือการสงวนรักษา(Assimilation
or Preservation)
หัวข้อนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายทั่วไปของรัฐบาลกลางที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่
โดยพื้นฐานเบื้องต้นก็คือ จักรวรรดิ์ทั้งมวลมีทางเลือกอยู่ทางหนึ่งระหว่างหลักการที่ตรงข้ามกันสองประการ:
นั่นคือ
- ควรจะปรับเปลี่ยนให้คนที่ไม่ใช่ชาวยุโรป มีอารยธรรมเช่นเดียวกันกับเมืองมหานคร หรือ
- ควรจะสงวนรักษาสังคมพื้นถิ่นเอาไว้ ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมๆของมันเท่าที่จะเป็นไปได้ อันนี้จะเลือกอย่างไหน
ข้อสันนิษฐานร่วมกันของรัฐต่างๆส่วนใหญ่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 18 คือว่า อารยธรรมของชาวยุโรปมีความสูงส่งหรือเหนือกว่า ซึ่งการปรับให้เหมือนจะเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ผลที่ตามมา เพียงที่ซึ่งชาวยุโรปได้ประกอบกิจกรรมทางการค้าบนความอดกลั้นเท่านั้น ที่พวกเขาได้ให้ความเคารพต่อความแปลกแตกต่างไปจากพวกตน
แต่อย่างไรก็ตาม ในคริสตศตวรรษที่ 18 ปัญหาดังกล่าวเริ่มที่จะรุนแรงและแหลมคมมากขึ้น อาณานิคมใหม่ๆส่วนใหญ่ ไม่สามารถที่จะถูกดูดซึมหรือปรับเปลี่ยนมาให้เหมือนกับชาวยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอาณานิคมเหล่านี้มันใหญ่โตมากเกินไป และมีชาวยุโรปที่ไปตั้งรกรากน้อยเกินไป. มันเป็นการง่ายกว่าที่จะคงรักษากฎหมายท้องถิ่นเอาไว้ และกระทำโดยผ่านตัวแทนต่างๆที่เป็นชนพื้นเมือง ยิ่งกว่าจะยัดเยียดความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากและปกครองโดยผ่านเจ้าหน้าที่อพยพเข้ามาอยู่ กล่าวโดยทั่วไป อันนี้ทั้งหมด ได้ถูกกระทำโดยผ่านอำนาจต่างๆ
การปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม(Direct
or Indirect Rule)
ในอินเดียและศรีลังกา อังกฤษได้ยักย้ายจากการปกครองโดยอ้อมไปสู่การปกครองโดยตรง
โดยค่อยๆมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมายและสังคมตามลำดับ. อันนี้ไม่ใช่การปรับประเทศให้เหมือนหรือเป็นไปในอย่างเดียวกันกับอารยธรรมยุโรปอย่างเต็มที่
และไม่มีการยึดครองของชาวยุโรปอื่นใด โดยสาระแล้ว ได้รับผลกระทบมากโดยลัทธิอาณานิคม
แนวโน้มทั่วไปในอย่างเดียวกันเกิดขึ้นกับเมืองขึ้นจำนวนมากอื่นๆของชาวยุโรป นั่นคือ รัฐบาลและการปกครองมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาของชาวยุโรปที่แทรกเข้ามา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ไปกัดเซาะวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ
ฝรั่งเศส รัสเซีย โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายในเชิงบวกที่จะทำการดูดกลืนประเทศอาณานิคมให้เหมือนกับตน พิจารณามันในฐานะที่เป็นแง่มุมหรือแก่นสารอันหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายจักรพรรดิ์นิยม อันนี้กระทำเพื่อหล่อหลอมเมืองขึ้นต่างๆลงในแบบจำลองของมหานครหรือเมืองแม่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 อังกฤษมีปฏิกริยาที่ออกมาในเชิงคัดค้านการดูดกลืนอาณานิคมให้มาเป็นแบบเมืองแม่ ข้อที่น่าสังเกตนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของ Lord Frederick Lugard หลักการต่างๆของเขาเกี่ยวกับการปกครองโดยทางอ้อม ได้รับการนำเสนออยู่ในหนังสือของเขาเรื่อง Dual Mandate (อาณัติปกครองคู่ขนาน)(1922)
ตามหลักการต่างๆเหล่านี้ รูปแบบการเมืองและสังคมของท้องถิ่นไม่ควรจะเป็นเพียงแค่ต้องอดทนอดกลั้นเท่านั้น แต่ควรจะต้องสงวนรักษาเอาไว้เท่าที่จะเป็นไปได้; รัฐบาลกลางควรที่จะกระทำการโดยผ่านบรรดานักปกครองท้องถิ่น; อารยธรรมของชาวยุโรปควรที่จะค่อยๆซึมแทรกอย่างช้าๆ; และเหนืออื่นใด ผลประโยชน์ต่างๆของคนพื้นเมืองควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนืออื่นใด
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะมีการกระทำใดๆในการสร้างความตรงข้ามขึ้นมามากจนเกินไประหว่างการปกครองโดยตรงและการปกครองโดยอ้อม. โดยในปี ค.ศ.1939 ประชาชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ในอาณานิคมต่างๆของชาวยุโรป มีประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการควบคุมเหนือรัฐบาลในประเทศต่างๆของพวกเขาเอง และนโยบายการดูดกลืนได้เริ่มต้นขึ้นอย่างไม่ปิดบังหรือคลุมเครือ
ในการหวนรำลึกถึงอดีต ลัทธิอาณานิคมทางการเมืองปรากฎตัวขึ้นมาในลักษณะที่ไม่ก้าวหน้าเท่าใดนัก ซึ่งอันที่จริงโดยเนื้อแท้มันค่อนข้างเลวร้ายเสียมากกว่า. ในอาณานิคมส่วนใหญ่ ช่วงแรกของการยึดครองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแย่ที่สุด; หลังจากนั้น รัฐบาลก็ค่อยๆใช้ความมีมนุษยธรรมและสร้างสรรค์มากขึ้น
ความอ่อนแอของลัทธิอาณานิคมคือว่า มันขาดเสียซึ่งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์พื้นฐานของตัวเองที่จะเจริญงอกงามได้ต่อไป. นโยบายการดูดกลืนหรือปรับตัวให้เหมือนกับเมืองแม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้น้อมนำไปสู่การรวมตัวกันในท้ายที่สุดกับมหานคร ซึ่งอันนี้ไม่เคยทำได้ในเชิงปฏิบัติ. ไม่มีพลังอำนาจใดที่วางแผนการเพื่ออิสรภาพในอนาคตเกี่ยวกับเมืองขึ้นต่างๆของตนก่อนปี ค.ศ.1939, เป็นไปได้ที่ว่า เว้นแต่อังกฤษเท่านั้น อย่างในกรณีเกี่ยวกับอาณานิคมอินเดีย
การมีอยู่ของชาวยุโรปได้ให้กำเนิดชนชั้นหนึ่งของผู้คนขึ้นมาในเมืองขึ้นแต่ละเมือง ซึ่งมีลักษณะปลีกตัวออกจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นโดยการศึกษาและประสบการณ์. ชนกลุ่มน้อยของชนชั้นนี้ได้ถูกทำให้พึงพอใจโดยผลพวงของการร่วมมือกับพลังอำนาจจักรพรรดิ์นิยม แต่คนส่วนใหญ่กลับพบว่า สถานการณ์ของอาณานิคมมันได้นำมาซึ่งผลตอบแทนที่ไม่มากพอ
ภายหลังปี ค.ศ.1945 เรื่องของอิสรภาพกลายเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจอย่างเป็นสากลต่อลัทธิอาณานิคม เพราะมันได้ให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความก้าวหน้า และเพราะพลังอำนาจจักรพรรดิ์นิยมมันไม่มีอะไรที่ดีเกินไปกว่าที่เคยเป็นมาอีกแล้ว
การประเมินค่าเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม
(Appraisal of colonialism)
การประเมินคุณค่าอย่างเป็นภาววิสัย เกี่ยวกับลัทธิอาณานิคมอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานที่รับเอามาใช้. โดยมาตรฐานร่วมสมัยต่างๆ
บนพื้นฐานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของการตัดสินใจด้วยตนเอง ลัทธิอาณานิคม ในเชิงศีลธรรมหรือความชอบธรรม
เป็นเรื่องที่ถือเป็นโมฆะหรือจะไม่กล่าวเสียไม่ได้ เพราะเนื่องมาจากประเทศหนึ่งมีอิทธิพลครอบงำเหนือกว่าอีกประเทศหนึ่ง
บนรากฐานของมาร์กซิสท์และเลนินนิสท์ซ์ ลัทธิอาณานิคมเป็นสิ่งที่ผิด เพราะว่าตามข้อกล่าวหา มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเมืองขึ้นต่างๆ. สำหรับรัฐใหม่ๆ ช่วงเวลาของการตกเป็นอาณานิคม ถือว่าเป็นหนึ่งในช่วงเวลาของความเป็นทาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้อันเนื่องมาจากการถูกสบประมาทโดยชาวยุโรปที่มีต่อภาคพื้นทวีปและเชื้อชาติอื่น
แต่บรรทัดฐานเหล่านี้ว่ากันในเชิงประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้ เพราะมันตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการดำรงอยู่ ของทางเลือกที่ดีกว่าต่อจักรวรรดิ์และลัทธิอาณานิคม - โลกแห่งรัฐที่มีอิสรภาพ ซึ่งไล่ล่าผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของพวกเขาเองภายใต้ความปลอดภัยของระเบียบกฎเกณฑ์นานาชาติที่ถูกทึกทักหรือสมมุติกันเองขึ้นมา
มันไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป ระบบอาณานิคมทั้งหมดที่เกิดขึ้นมา โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งซึ่งไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า จากภาวะที่บีบบังคับของกระบวนการประวัติศาสตร์. ลัทธิอาณานิคมในฐานะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จะต้องได้รับการประเมินในเชิงศีลธรรม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกอันหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดหลายศตวรรษอย่างสม่ำเสมอ. บรรทัดฐานที่นำมาใช้พิจารณาในเรื่องนี้ จึงจะต้องสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับบริบทของช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
ความได้เปรียบของเมืองมหานคร(Advantages
to the Metropolis)
ผลของลัทธิอาณานิคม สามารถได้รับการพิจารณาได้จากมุมมองความคิดเห็นของด้านมหานคร(เมืองแม่)
หรือเมืองขึ้นต่างๆอย่างใดอย่างหนึ่ง. รัฐอิสระจำนวนมากมาย เช่นเดียวกับประเทศอาณานิคมทั้งหลาย
ได้ให้โอกาสต่างๆกับพลเมืองยุโรปในการอพยพย้ายถิ่น การค้า หรือการลงทุน แต่รางวัลตอบแทนพิเศษของจักรวรรดิ์ก็คือ
ความสามารถของระบบอาณานิคมที่จะจัดหาหรือตระเตรียมเงื่อนไขที่ดีกว่าให้กับกิจกรรมต่างๆเหล่านี้
ยิ่งกว่าที่จะดำรงอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น ชาวยุโรปจึงได้ไปตั้งรกรากอยู่ในนิวซีแลนด์ก่อนการที่ประเทศนี้จะถูกทำให้เป็นอาณานิคม
และการผนวกเข้ามานี้ได้ให้กรรมสิทธิ์ที่มั่นคงแก่ชาวยุโรปที่จะไปตั้งรกราก และการปกครองที่เข้มแข็งขึ้น
บรรดาชาวยุโรปทั้งหลายสามารถที่จะค้าขายกับแอฟริกาได้ โดยไม่ต้องมีการเข้าไปครอบครองดินแดนหรือผืนทวีป แต่ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 การค้าที่ขยายตัวที่ถูกทำให้ชะงักงันโดยอัตลักษณ์และความหลากหลายของรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ กฎหมายที่แตกต่างจากตน และการแข่งขันซึ่งกันและกัน ลัทธิอาณานิคมได้จัดหากรอบหรือโครงร่างที่ดีกว่าอันหนึ่งขึ้นมา สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น - แม้ว่าในหลายๆกรณี อันนี้ไม่ใช่เหตุผลที่รอบคอบมากนักสำหรับการผนวกเอาดินแดนอื่นเข้ามา
นอกเหนือจากนี้ รัฐจักรพรรดิ์นิยมบางแห่งได้สืบทอดความได้เปรียบที่พิเศษบางประการมา. สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ ในช่วงเวลานั้นได้โยกย้ายส่วนเกินในด้านรายได้จากอาณานิคมไปสู่เมืองมหานคร. ในเชิงเศรษฐกิจ รัฐที่อ่อนแอต่างๆอาจได้รับส่วนแบ่งเทียมเป็นจำนวนมากของการค้าอาณานิคมโดยผ่านการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว หรือนโยบายพิเศษที่ให้บุริมสิทธิ์ต่างๆ
บรรดาผู้อพยพทั้งหลาย โดยรวม จ่ายภาษีที่ต่ำกว่าในอาณานิคม แต่ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องชายขอบความสำคัญ. โดยเบื้องต้นหรือปฐมฐาน บทบาททางเศรษฐกิจของลัทธิอาณานิคม โดยแท้จริงคือ การสร้างโลกให้มีระบบเศรษฐกิจเดียวซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ผลที่มีต่อเมืองขึ้นต่างๆ(Effect
on Dependencies)
ไม่ว่าในการพิจารณาของเราเกี่ยวกับเมืองขึ้นต่างๆ เช่นเดียวกับรัฐมหานครทั้งหลาย
จะได้รับผลกำไรที่วัดได้มาจากลัทธิอาณานิคมหรือไม่ก็ตาม ข้อแตกต่างที่เด่นชัดอันหนึ่งจะต้องได้รับการอธิบายถึง
ระหว่างอาณานิคมการตั้งรกราก และสังคมต่างๆที่ไม่ใช่คนยุโรป ซึ่งได้ถูกคนต่างด้าวเข้ามาควบคุมการปกครอง
สำหรับประการแรก ลัทธิอาณานิคมถือเป็นสิ่งจำเป็นอันหนึ่งในขั้นปฐมต่อความเป็นชาติ. ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดในจำนวนนี้ ซึ่งเป็นผลที่ตามมา ได้ประกาศยกเลิกหรือสละวัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือระบบกฎหมายและการเมืองที่พวกเขารับมาทิ้งไป
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับอาณานิคมต่างๆที่ไม่ใช่เป็นการไปตั้งรกรากของคนยุโรป ลัทธิอาณานิคม ในบางระดับ มันหมายความถึงการบีบบังคับ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบเกี่ยวกับการปกครองหรือรัฐบาลท้องถิ่น อันนี้รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และองค์กรทางเศรษฐกิจด้วย
ลัทธิอาณานิคมคือประสบการณ์อันเจ็บปวดและสร้างรอยแผลอันหนึ่งขึ้นมา มันไปเปลี่ยนแปลงเส้นทางประวัติศาสตร์ของประเทศอาณานิคม และได้ให้กำเนิดสิ่งที่ได้รับการเรียกขานว่า"ความคิดจิตใจแบบอาณานิคม"(colonial mentality)ขึ้น - ความสำนึกเกี่ยวกับผู้พ่ายแพ้และความด้อยกว่า
ในฐานะสิ่งชดเชย ลัทธิอาณานิคมได้นำเอาเครื่องไม้เครื่องมือทางการเมืองและสังคมจากประเทศยุโรปที่ก้าวหน้ามาให้กับพวกเขา. ดินแดนที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางต่างๆและการบริหารจัดการที่ได้รับการปรับปรุง เข้ามาแทนที่อาณาจักรขนาดเล็กหรือชนเผ่าต่างๆที่มีอยู่อย่างหลากหลาย; สงครามและการค้าทาสที่เกิดขึ้นบ่อยๆได้ถูกทำให้จบสิ้นลง; ผลประโยชน์ต่างๆเพื่อสาธารณชนได้รับการสร้างขึ้นมา; เงินตราของชาวยุโรปและการธนาคารได้ถูกนำเสนอ; การบริการทางการศึกษาขั้นต้นและบริการทางการแพทย์ได้รับการสถาปนา; และมาตรฐานความเป็นอยู่ต่างๆได้มีการปรับปรุง
จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของคนที่ไม่ใช่คนยุโรปมีคุณภาพมากขึ้น - แม้ว่าพวกเขามักจะไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงบทบาทนำต่างๆในขอบเขตเหล่านี้ทั้งหมดก็ตาม. มันกลายเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปได้ที่จะเข้าใจว่า ประเทศเหล่านี้มีความสามารถที่จะอยู่รอดได้ต่อไป โดยไม่ต้องมีใครคอยช่วยเหลืออีกในโลกทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมสมัย
สรุป (Balance Sheet)
การประเมินค่าใดๆก็ตามเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม จะต้องตั้งคำถามสองข้อต่อไปนี้คือ(1) มันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาของคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรปใช่ไหม ที่จะได้รับการนำไปสู่การพัฒนาอย่างได้ผล บนหนทางแบบกระแสหลักของชาวยุโรปและชาวอเมริกัน?
(2) สิ่งนี้สามารถที่จะกระทำได้โดยไม่ปราศจากลัทธิอาณานิคมได้หรือไม่?ต่อคำถามข้อแรก คำตอบเบื้องต้นอาจเป็นดังนี้ รัฐใหม่ๆต่างๆเลือกที่จะธำรงรักษาสิ่งที่รับช่วงสืบทอดกันมาจำนวนมากแบบอาณานิคมของพวกเขาเอาไว้ แม้ว่ารัฐใหม่ต่างๆจำนวนไม่น้อยจะยึดติดกับลัทธิสังคมนิยมของยุโรปมากกว่าลัทธิทุนนิยมของยุโรปก็ตาม. มีประเทศเหล่านี้จำนวนน้อยเท่านั้นที่ประกาศละทิ้งแนวทางแบบตะวันตก. ส่วนใหญ่ของเมืองขึ้นต่างๆของอังกฤษมาก่อนยังคงรวมอยู่ในเครือจักรภพ และเมืองขึ้นจำนวนมากของฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน อย่างอาณานิคมแอฟริกันตะวันตกยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจพิเศษกับฝรั่งเศสและตลาดร่วมเอาไว้. สำหรับรัฐใหม่ๆทั้งหมด เป้าหมายทางเศรษฐกิจก็คือการบรรลุถึงระบบการทำให้เป็นอุตสาหกรรม ซึ่งจำลองแบบบนแนวทางของยุโรป
โอกาสต่างๆเหล่านี้ สามารถมีได้หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากช่วงเวลาการเรียนรู้หรือฝึกฝนแบบอาณานิคมใช่ไหม? ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ญี่ปุ่น จีน และรัฐอื่นๆบางรัฐได้บรรลุถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและทางการเมืองอย่างน่าตื่นเต้นโดยไม่เคยเป็นอาณานิคมของชาวยุโรปมาก่อน. ส่วนประเทศอื่นๆอาจกระทำในลักษณะเดียวกัน ที่น่าสังเกต เช่น ประเทศต่างๆของแอฟริกาที่นับถือศาสนาอิสลามและเอเชียใต้ - แต่ดูเหมือนมันเป็นที่น่าสงสัยคลางแคลงใจที่ว่า บรรดาสังคมต่างๆก่อนเป็นอาณานิคมของดินแดนทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกา(sub-Saharan Africa) และแปซิฟิค ต่างก็บรรลุความสำเร็จเป็นอันมาก โดยในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 19 บนคำอธิบายของพวกเขาเอง. สำหรับพวกเขา ลัทธิอาณานิคมเป็นทางลัดอันหนึ่ง แม้ว่าในเชิงศีลธรรมอาจจะน่าตำหนิ, ต่อความก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางด้านสติปัญญาก็ตาม
David K. Fieldhouse, Oxford University (บทความนี้ แปลและเรียบเรียงมาจาก Encyclopedia Americana : Volume 7 "Civilization to Coronium" ฉบับปี ค.ศ.1992, ในหัวข้อ "Colonialism" หน้าที่ 298-303)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)