H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 317 หัวเรื่อง
อิทธิพลทางทหารของอเมริกาในไทย
ข้อมูลถอดเทป"ฐานทัพอเมริกันในเอเชีย" วันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2546 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(บทความนี้ยาวประมาณ 16 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com

271046
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements
ภาพประกอบ เพื่อใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง: "ฐานทัพอเมริกันในไทย" ข้อมูลจากการสัมมนา "ฐานทัพอเมริกันในเอเชีย" วันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2546 เวลา 09.00 - 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ธรรมศาสตร์ มูลนิธิโกมลคีมทอง เครือข่ายพันธมิตรสันติภาพเอเชีย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) [ขอขอบคุณ คุณชาญกิจ ที่ได้ส่งงานถอดเทปชิ้นนี้มาให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผยแพร่ต่อสาธารณชน 271046]
ปี 2540 มีการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยและอเมริกาในการเข้าไปพัฒนาการใช้อวกาศร่วมกัน โดยฝ่ายไทยต้องการพัฒนาระบบควบคุมและการสั่งการจากศูนย์การข่าว มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายดาวเทียมของอเมริกาเข้ามาในวงโคจรของไทย ให้มีการตั้งสถานีดาวเทียมของอเมริกาในภาคพื้นของไทย โดยใช้เครื่องมือของอเมริกา เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้นั้น ผมเกรงว่าเป็นเรื่องที่พวกเราอาจเข้าไม่ถึง และซับซ้อน และยังไม่เห็นผลกระทบของมันอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
การเข้ามาใช้วงโคจรของไทยเพื่อควบคุมตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันเรื่องยาเสพติดและการก่อการร้ายเป็นผลดี แต่ขณะเดียวกันทำให้อเมริกาสามารถเข้ามาควบคุมระบบคมนาคมสื่อสาร และเข้ามาผนึกกำลังเครือข่ายโทรคมนาคมในบ้านเรา ในรูปแบบที่ผมเข้าใจว่าหลายคนยังไม่เคยเห็นมาก่อน เรื่องเหล่านี้เป็นความจำเป็นที่สังคมไทยต้องศึกษานโยบายเหล่านี้ให้ชัดเจน

The United States and South East Asia
สหรัฐอเมริกาและตะวันออกเฉียงใต้

ฐานทัพอเมริกันในไทย

จากการสัมมนา "ฐานทัพอเมริกันในเอเชีย" วันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2546 เวลา 09.00 - 13.00 น.
ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จัดโดยศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ธรรมศาสตร์ มูลนิธิโกมลคีมทอง เครือข่ายพันธมิตรสันติภาพเอเชีย
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
(บทความนี้ยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
ขอเริ่มการเสวนา โดยอาจารย์ปณิธาน จะกล่าวถึงความเป็นมาของเรื่องฐานทัพอเมริกันในเอเชีย เหตุผล และความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของฐานทัพสหรัฐในเอเชียว่ามีนัยยะสำคัญอย่างไรต่อสังคมของเรา

ปณิธาน วัฒนายากร : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หากจะมองอเมริกาในวันนี้ คนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ก็ไม่ได้แปลกใจอะไรมากนักกับบทบาทของอเมริกัน ซึ่งหลายคนบอกว่าขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก อเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศเดียวที่เหลืออยู่ และถูกเพ่งเล็งมาก ซึ่งก็เป็นธรรมดา เนื่องจากเป็นหมายเลขหนึ่งของโลก บ้างก็ว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจเดี่ยว บ้างก็ว่าเป็น hyper power เป็นคำที่ยุโรปใช้ ฝรั่งเศสเรียกอเมริกาเป็นประจำว่าเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งมาก พวกเรานักวิชาการก็เรียกว่าเป็น hegemony คือเป็นอำนาจที่ครอบงำ ในสังคมโลกก็มีอยู่แบบนี้มาเสมอ ผมเชื่อว่าถ้าไม่ใช่อเมริกา ในวันนี้ก็จะมีคนอื่นมาครอบเราอยู่นั่นเอง

สมัยศตวรรษที่ 16 ก็ครอบงำโดยสเปน ศตวรรษที่ 17 ก็ครอบงำโดยเนเธอร์แลนด์ ศตวรรษที่ 18 โลกหรือการจัดความสัมพันธ์ของโลกก็ถูกครอบงำโดยฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 19 ก็อังกฤษ ผมว่าก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร อเมริกาก็เป็นมหาอำนาจในศตวรรษที่ 20 และเชื่อว่าในศตวรรษที่ 21 นี้อย่างน้อย ๆ ครึ่งศตวรรษ อเมริกาก็ยังจะเป็นมหาอำนาจอยู่ และจีนก็อาจเป็นมหาอำนาจในศตวรรษที่จะมาถึงเร็ว ๆ นี้ หรืออาจเป็นโลกอาหรับก็ได้ โลกก็จะยังคงมีมหาอำนาจแบบนี้ไม่สิ้นสุด นี่คือความจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความจริงของโครงสร้างทางการเมืองระหว่างประเทศ

ประเด็นแรกคือ เราส่วนใหญ่เข้าใจดีอยู่ว่า มหาอำนาจคืออะไร วันนี้อาจมีการขยายความกันมากขึ้นว่ามหาอำนาจของอเมริกาในเอเชียนั้นคืออะไร มีความตั้งใจอะไรกันแน่ ต่างจากมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างไรหรือไม่ ซึ่งก็คงพอจะรู้ ๆ กันอยู่บ้างแล้ว

ประเด็นที่สองคือ นอกจากจะเข้าใจ เราต้องซาบซึ้งกับมันด้วยว่าเขากำลังทำอะไรกัน ผลประโยชน์อยู่ตรงไหน อย่างไร เพราะแม้เราจะไม่ชอบแต่เราต้องอาศัยอยู่ด้วยไปอีกหลายสิบปี ก่อนที่เราต้องไปอยู่กับมหาอำนาจใหม่ ยกเว้นว่าเราจะเป็นมหาอำนาจเสียเอง ซึ่งโอกาสคงน้อยหน่อย แต่เราก็มีความพยายามอยู่เหมือนกันที่จะเป็นผู้นำเอเชีย ในสายตาของเพื่อนบ้านที่เล็ก ๆ เราก็เป็นมหาอำนาจเช่นกัน

การต้องทำความเข้าใจอเมริกาที่เราต้องอาศัยอยู่ด้วยนี้ ไม่ใช่หมายความว่าเข้าใจแต่ไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถกล่อมเกลา บีบบังคับให้อเมริกาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือปลอดภัยจากโลกมากขึ้น ดังเช่นที่เรากำลังพยายามทำกันอยู่นี้ ทั้งหมดนี้ต่างมีความสำคัญ

ความเป็นมหาอำนาจของอเมริกาน่าจะกำลังเข้าสู่ช่วงที่สองของจักรวรรดิ
- ช่วงแรกคือเป็นมหาอำนาจโดดเด่น มีพันธมิตรกว้างขวาง มีความเข้มแข็งเหมือนเช่นอาณาจักรโรม ปกครองการเมืองระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

- ช่วงที่สองเป็นช่วงที่มีคนต่อต้านอย่างมาก มีคนอิจฉา เนื่องจากเป็นหมายเลขหนึ่ง จะทำอะไรก็คงผิดไปหมด ทำให้เกิดความขัดแย้งในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พันธมิตรเริ่มแตกตัว เราอาจยังไม่เห็นความแตกตัวมากในขณะนี้ แต่เราเริ่มเห็นแนวโน้มนั้นแล้วในช่วงสงครามอิรัก เมื่อแตกตัวลง อเมริกาต้องทำตามลำพังมากขึ้นในการเข้าไปจัดระเบียบ รักษาผลประโยชน์มากขึ้น ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า imperial over strength คือทำการใหญ่เกินตัว เช่น ใช้งบประมาณทางทหารมากเกินไป

ในช่วงที่สหภาพโซเวียตทำการเกินตัวใช้งบประมาณทางการทหารถึง 6% ของจีดีพี ณ วันนี้ อเมริกายังใช้งบประมาณแค่ 3% ของจีดีพีเท่านั้นเอง แต่ก็ถือว่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ คือ ประมาณ 10 เท่าของประเทศอื่น ๆ หรือมากกว่าลำดับที่ 1 ถึง 14 รวมกัน แม้จะยังไม่ถึง 6% แต่ก็เข้าสู่ช่วงของการทำการใหญ่เกินตัว มีอาการที่เรียกว่า ทำการตามลำพัง นี่คือวงจรของมหาอำนาจ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า อเมริกาอาจจะชะลอวงจรนี้ เพราะอเมริกามีความสามารถพิเศษหลายอย่าง เช่น ความเป็นมา ฐานอำนาจ ความเฉลียวฉลาด ซึ่งจะทำให้อเมริกาสามารถประคับประคองถ่วงดุลวงจรอุบาทว์นี้ให้สามารถยืดยาวออกไปได้อีก ขณะนี้อเมริกากำลังเป็นมหาอำนาจได้เกือบสองศตวรรษแล้วคือ 20 และ 21 ซึ่งเก่งกว่าประเทศต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ที่เป็นได้แค่ช่วงศตวรรษเดียว

ฐานทัพเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อเมริกาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการชะลอตัวเองที่จะไม่ให้ทำการเกินตัวมาก โดยใช้การสร้างพันธมิตร สร้างความร่วมมือทางการทหาร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ค่อนข้างมาก มีสัญญาใช้ฐานทัพต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 40 กว่าฐานทัพ รวมทั้งอู่ตะเภาของไทยด้วย มีกองกำลังประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ รวมแล้วประมาณ 130-140 ประเทศ จาก 191 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ

เพราะฉะนั้นอเมริกามีเครือข่าย พรรคพวกที่จะช่วยค้ำยันความมั่นคงผลประโยชน์มากพอสมควร เพราะฉะนั้นเมื่อผ่านช่วงนี้ไป หากอเมริกาไม่ชะลอตัวก็จะเกิดอาการออกกำลังเกินไป เกิดอาการล่มสลายในช่วงที่ 3 ของจักรวรรดิที่เรียกว่า fall of empire คือทุกประเทศหันมาต่อต้าน หันมาถ่วงดุล มาเผชิญหน้ากับอเมริกา แต่จะเกิดเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะอเมริกาเองก็มีผลประโยชน์ร่วมกับประเทศต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย ตลาดเสรี ที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองก็เห็นด้วย

เรื่องการศึกษาของอเมริกาก็เป็นที่หนึ่ง เกือบทุกประเทศที่ต่อต้านอเมริกาตอนนี้ส่งลูกหลานไปเรียนที่อเมริกากันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอเมริกาก็มีอำนาจในทางสังคมและอื่น ๆ ที่ผสมผสานกับอำนาจทางการทหารอยู่ด้วย นี่เป็นภาพรวมที่จะมองร่วมกันว่าวงจรนี้จะอยู่หรือไม่

เราต้องมาทำความเข้าใจอเมริกากันจริง ๆ ว่า อเมริกาต้องการอะไรกันแน่ในฐานะมหาอำนาจ หลักของอเมริกาคืออะไร นโยบายต่างประเทศที่ประกาศอย่างเป็นทางการของบุชคือ ต้องการสิ่งที่เรียกว่า American Internationalism คืออเมริกาต้องการมีส่วนร่วมในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในโลก จริง ๆ แล้วก็คืออเมริกาต้องการเข้าไปกำหนดประเด็นทางการเมืองโลกให้เป็นไปตามแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อฐานอำนาจของอเมริกา

ในศตวรรษที่แล้ว มีฐานอำนาจหลายฐาน เช่น ฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นตลาดทุนนิยมขนาดใหญ่ อเมริกาต้องการเข้าไปกำหนดตลาดให้เป็นตลาดการค้าเสรี ฐานอำนาจของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ทำให้อเมริกาสามารถกำหนดยุทธวิธีต่าง ๆ นอกจากนี้อเมริกามีฐานอำนาจทางวัฒนธรรม ความนิยมในโลกเสรี ซึ่งก็ต่อเนื่องมาถึงศตวรรษนี้ โดยขณะนี้อำนาจทางการทหารของอเมริกาโดดเด่นที่สุด ซึ่งอาจถึงขั้นที่ว่าไม่ต้องพึ่งใครเลยก็ได้ อำนาจทางเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอยู่ ที่สำคัญคือเป็นผู้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เกือบทุกด้าน การสื่อสาร การคมนาคม ข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะทางการทหาร ทำให้สามารถรบชนะบ่อยครั้ง สูญเสียน้อยลงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในสงครามโลกครั้งที่ 1 อเมริกาสูญเสียทหารไปประมาณ 5-6 หมื่นคน สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียไปประมาณ 3 แสนคน ในสงครามเกาหลีเสียไปประมาณ 3 หมื่นคน สงครามในเวียดนามเสียไปประมาณ 5 หมื่นคน แต่เวียดนามเสียประชากรทหารและประชากรทั่วไปเกือบ 1 ล้าน 5 แสนคน ในเบรุตเสียไปประมาณ 200 กว่าคน ในสงครามอ่าวครั้งแรกเสียไปแค่ 150 คน ครั้งที่ 2 เสียไป 138 คน แต่ขณะนี้หลังรบชนะอิรัก อเมริกาเสียทหารมากขึ้น

เพราะฉะนั้นความสามารถของอเมริกาในการรบมีมากขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์การปฏิวัติทางการทหารจนทำให้สามารถรบได้ทุกสภาพอากาศ ทุกที่ จนทำให้มีคำถามตามมาว่าจริง ๆ แล้วอเมริกาต้องการฐานทัพอีกหรือไม่

ในอดีตก่อนที่จะเกิดสงครามในอิรัก เมื่อเดือนพฤษภาคม ยังมีหลายคนเชื่อว่าอเมริกาต้องการฐานทัพมากขึ้นเรื่อย ๆ วางกำลังไปทั่วโลก คำถามคือจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้สมัยใหม่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มาทดแทนฐานทัพได้ จริง ๆ แล้วอเมริกาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางการทหาร ที่เรียกว่า transformation technology คือลดการพึ่งพากำลังลง เปลี่ยนแปลงจากการต้องการกำลังทหารมาก ๆ วางกำลังพลไว้มาก ๆ ซึ่งเป็นหนทางสู่หายนะของอเมริกาได้เช่นกัน คือทำเกินกำลังตนเอง

ขณะนี้รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกาจึงผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์จากแบบ power doctrine คือต้องมีกำลังมากกว่าศัตรูหลายเท่าในการทำการรบเพื่อชนะแน่นอน มาเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกกว่า เช่น เครื่องบินติดอาวุธแบบไม่มีคนขับ ดาวเทียม การรบระยะไกล เพื่อลดภาระอเมริกาลง และใช้การบีบบังคับให้พันธมิตรเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดการใช้กำลังเกินตัว ดังนั้น ขณะนี้ผมจึงไม่แน่ใจว่าอเมริกาต้องการฐานทัพมากขึ้นหรือไม่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าอาจมีฐานทัพเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น ในเอเชียกลางซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ แต่ในที่อื่น ๆ ยังเป็นคำถามอยู่ ที่แน่ ๆ อเมริกาต้องการพันธมิตร ต้องการให้หลาย ๆ ประเทศเข้ามารับภาระ

ความสามารถทางการทหารของอเมริกาเป็นความสามารถขั้วเดี่ยว คืออเมริกาสามารถรบได้ตามลำพัง และชนะได้เกือบทุกสงคราม ด้วยอาวุธ เทคโนโลยี งบประมาณที่สูงมาก โดยไม่ต้องใช้ทหารตามแบบ ซึ่งทำให้อเมริกาค่อนข้างเข้มแข็งมากและไม่ค่อยฟังใคร มีความแข็งกร้าวซึ่งน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม อเมริกาก็มีจุดอ่อนอำนาจทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งเท่าศตวรรษที่แล้ว มีปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจมาเรื่อย ๆ คล้ายญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายเกินตัว เงินเฟ้อ การว่างงานมีมากขึ้น ไม่สามารถทำให้งบประมาณสมดุลได้ มีปัญหาในตลาดหุ้น และขณะนี้มีขั้วอำนาจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ที่มีกำลังการผลิตเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับ 2 ใน 3 ของโลก รวมทั้งอาจมีจีนขึ้นมาอีกเร็ว ๆ นี้ ซึ่งสถานการณ์จะผกผันไปอีก อเมริกาไม่สามารถชี้นำเศรษฐกิจโลกได้มากแล้ว ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกมีผลอย่างมากต่ออเมริกา ซึ่งอเมริกาต้องเข้ามาจัดการ

เพราะฉะนั้น เมื่อดูฐานอำนาจต่าง ๆ เหล่านี้แล้วจะทำให้เข้าใจได้ว่าอเมริกากำลังทำอะไรในเอเชีย และในโลก ขีดความสามารถของอเมริกาทางการทหารที่เข้มแข็งที่สุดก็มีความเปราะบางมากเช่นกัน เช่น การใช้งบประมาณมากเกินไป ความใหญ่โตที่มีมากก็เป็นจุดอ่อนในตัวมันเองด้วย ดังนั้นอเมริกาจึงค่อนข้างกังวลมากที่ประเทศใดก็ตามพยายามพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการทหารขึ้น ส่วนทางเศรษฐกิจก็เข้าสู่ภาวะชะงักงัน สภาพสังคมไม่เข้มแข็งนัก คนเริ่มต่อต้านสงคราม เริ่มสงสัยในบทบาทบุชที่มีลักษณะความเป็นจักรวรรดินิยมอยู่ คนอเมริกาไม่ค่อยชอบการเข้าไปร่วมจัดการโครงสร้างโลกมากนัก มีลักษณะการปิดล้อมตนเองอยู่เสมอ สลับกับการเข้าไปแทรกแซง

ในเอเชีย อเมริกาต้องการให้เกิดเสถียรภาพในระยะสั้น ระยะยาวต้องการความมั่นคง อเมริกาต้องการความเป็นผู้นำ รักษาระบบตลาดเสรีแบบทุนนิยม รักษาพันธมิตรทางการทหาร เช่น กับไทย อเมริกาต้องการคงสนธิสัญญาทางการทหารที่มีอยู่ และปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เกิดความมั่นคง และอเมริกาต้องการตรวจสอบ ถ่วงดุล สกัดกั้นกับมหาอำนาจที่กำลังเกิดขึ้น เช่น จีน ซึ่งเข้ามาพัฒนาศักยภาพทางการทหาร การเมืองในเอเชียอย่างช้า ๆ หรืออินเดีย อเมริกาต้องทำการหยุดประเทศเหล่านี้ ดังนั้น ในระยะปานกลาง การแข่งขันกันในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอเมริกากับจีนจะเข้มข้นขึ้น ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน อเมริการู้ดีว่าจีนขาดแคลนพลังงาน ต้องการน้ำมัน เพราะฉะนั้นอเมริกาต้องการควบคุมแหล่งพลังงานในตะวันออกกลาง

โดยสรุป ความหมายของ American Internationalism ซึ่งเป็นกระแสที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือการรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง แสวงหาพันธมิตรทั้งในเอเชียและโลก รักษาความเป็นผู้นำ และการสกัดกั้นมหาอำนาจอื่น โดยใช้ความร่วมมือจากพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งหลายประเทศเห็นด้วย เพราะได้ประโยชน์จากอเมริกาด้วย เป็นอำนาจการเมืองโลกที่เราต้องยอมรับ และเข้าใจ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (ผู้ดำเนินรายการ)
บทสรุปของอาจารย์ปณิธานตอนท้ายฟังแล้วรู้สึกหดหู่นิดหน่อย ถ้าหากจะต้องอยู่กับมหาอำนาจเดี่ยว ซึ่งประเทศเล็ก ๆ อย่างเราไม่มีทางเลือกมากเท่าไร ผมสงสัยเช่นกันว่า เราจะต้องหดหู่กันต่อไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ เราไม่มีทางเลือกไปกว่านั้นหรือไม่ อาจารย์เสนอภาพโดยรวมถึงทฤษฎีการขึ้นและการลงของจักรวรรดินิยมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และเป็นปัญหาที่ยังเถียงกันอยู่ในทางประวัติศาสตร์ว่า อเมริกาจะพัฒนาเส้นทางของจักรวรรดิแบบแต่ก่อนหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

มีประเด็นที่อาจารย์ปณิธานกล่าวถึงอยู่และจะเป็นคำถามที่ขอต่อไปยังอาจารย์วิโรจน์คือ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้นั้น อเมริกาไม่น่าจะต้องการฐานทัพเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นั้นจริงหรือไม่ เทคโนโลยีที่มีอยู่นั้นทดแทนได้เพียงพอหรือไม่ และฐานทัพของสหรัฐนั้นกินความถึงอะไรบ้าง

วิโรจน์ อาลี : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สวัสดีครับทุกท่าน คำถามของอาจารย์ธเนศตอบยาก โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าฐานทัพเป็นมิติหนึ่งของการครอบงำ การเข้ามาของการตั้งฐานทัพอาจนำไปสู่การสร้าง ideology ใหม่ของการควบคุมสังคม ในขณะที่ในช่วงปี 1970 ก็เคยทำในวิธีคิดการสร้างอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามไล่ดูถึงลักษณะของการเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศต่าง ๆ และจะโฟกัสในส่วนของประเทศไทย และโยงไปถึงผลกระทบของการตั้งฐานทัพในประเทศไทยปี 1960-1970 รวมทั้งลองมาวิเคราะห์กันว่าเราต้องการให้มีการตั้งฐานทัพหรือไม่ หากจะต่อต้านจะทำได้มากน้อยแค่ไหน สังคมเราเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน

โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นสักเท่าไร ตลอดเวลาอำนาจของสหรัฐไม่ได้ลดน้อยลงไป แต่พยายามที่จะใช้หลาย ๆ ขาที่มี ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การทหาร วัฒนธรรมเข้ามาจัดการในเรื่องต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ช่วงปี 1960-1970 อาจจะต้องใช้กำลังในบางส่วนในการจัดการคอมมิวนิสต์ ให้เงินพันธมิตร มาช่วงกลางปี 1980 ถึงต้นปี 1990 เป็นเรื่องเศรษฐกิจนำ และในที่สุดเรื่องความมั่นคงก็กลับมาอีกครั้ง

ในช่วงสงครามเย็น การเข้ามาของสหรัฐในภูมิภาคนี้และประเทศไทยมีนัยยะสำคัญหลายประการ
- ประการแรกคือ ต้องการควบคุมคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำมาสู่

- ประการที่สอง คือ ทำให้รัฐบาลภายในของแต่ละประเทศเข้มแข็ง มีอำนาจมากในการควบคุมสังคมภายในของตนเอง เช่น ในยุคจอมพลสฤษฎ์ และในขณะนั้นการเข้ามาตั้งฐานทัพรัฐบาลเปลี่ยนบทบาทของตนเองให้มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น ซึ่งก็ไม่แปลกที่คุณทักษิณก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นมาตลอด

- ประการที่สาม ในยุคสงครามเย็น การเข้ามาของสหรัฐมีความตั้งใจอย่างมากที่จะสกัดกั้นประเทศจีน หรือต้องการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังจะกลับเข้ามาในยุคนี้อีกครั้ง

- ประการที่สี่ เงื่อนไขต่อมาที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ระบบการคุ้มครอง security ทำให้ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เจริญเติบโตอย่างมาก ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจต่อไปว่าเรายังต้องการการคุ้มครองเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจของเราได้รับการคุ้มครองไปด้วยหรือไม่ โลกยังอยู่ในวิธีคิดเช่นนั้นหรือไม่

- ประการสุดท้าย ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นคือ มีการพูดอยู่ตลอดว่าสิ่งที่สหรัฐทำเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และเพื่อความมั่นคงทางการเมืองทั้งของประเทศที่สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพและสหรัฐเอง ความคิดความรู้สึกที่ฝังอยู่นี้ทำให้การขยายอำนาจของสหรัฐเป็นไปโดยไม่ยากเท่าไร

ยิ่งในปัจจุบัน มีแนวความคิดเรื่องการก่อการร้ายเข้ามาอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถนำเอาอุดมการณ์ทางการเมืองเข้าไปผสมผสานหรือแทรกแซงได้ เมื่อก่อนยังมีประเด็นความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ ที่แทรกเข้าไปในสังคมได้ แต่เรื่องการก่อการร้ายเป็นเรื่องยาก ทำให้เราสามารถปฏิเสธมัน ผลักมันเข้าไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง และเราร่วมมือกันทำลายมัน พูดง่าย ๆ คือจะไม่มีการโต้เถียงทางอุดมการณ์อีกต่อไป

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อเมริกาเปลี่ยนบทบาทตัวเองใหม่ จากที่พยายามคุ้มครอง ครอบงำประเทศในภูมิภาคนี้ให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้โตพอที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งของสหรัฐได้ และวิกฤตเอเชียที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐเริ่มเห็นความจำเป็นที่ตัวเองจะต้องกลับเข้ามา ซึ่งผมคิดว่าสหรัฐประสบความสำเร็จมากพอสมควรในการจัดการทางการเงินและการปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ มีความเป็นไปได้ว่าการกลับเข้ามานั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อการปิดล้อมจีนอย่างเดียว ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามเข้ามาแทรกตัวเองในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มากขึ้น จากที่เกือบทศวรรษครึ่ง สหรัฐเสียบทบาทนี้ให้กับญี่ปุ่นไป และจีนเองก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น

หากจะดูการเมืองสหรัฐ ต้องดูการเมืองภายในของสหรัฐว่าใครขึ้นมายึดอำนาจ หากเป็นรีพลับลีกันขึ้นมาก็ต้องรบกันแน่นอน อาจด้วยฐานการเงิน ความช่วยเหลือต่าง ๆ ในช่วงหลัง 11 กันยา บุชออกมาพูดว่าต้องการจัดการกับการก่อการร้าย ในช่วงแรกผมเห็นว่าอาจให้ความสนใจกับอัฟกานิสถานและอิรักมากเกินไป จนตัวเองเริ่มมีความรู้สึกว่าตนเองดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบไม่สมดุลเท่าไร เพราะถึงที่สุดแล้วจักรวรรดิต้องการจำกัดอำนาจของประเทศอื่น ๆ ที่สามารถขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้

อเมริกาลืมคิดเรื่องนี้ไป ดังนั้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อเมริกาจึงต้องการออกนโยบายที่สมดุลมากขึ้น และต้องพยายามที่จะควบคุมจีน และกลุ่มอิสลามในกลุ่มคาบสมุทรอินโดนีเซีย ซึ่งอาจเป็นปัญหาได้ และในขณะเดียวกันเกาหลีเหนือก็เป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ด้วย ตรงนี้น่าคิดว่านัยยะสำคัญของอเมริกาในภูมิภาคนี้มีอยู่มากมาย จนอาจทำให้เราเข้าใจค่อนข้างลำบากว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมานั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง

ฝ่ายไทยก็ต้องการประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอเมริกา แต่ไทยเองก็ต้องพิจารณาให้ดีด้วยเพราะไทยเองก็ปรับตัวกับทางจีนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว หากเราเข้ากับอเมริกามากก็จะเป็นปัญหากับจีนได้

สรุปคืออเมริกาสามารถใช้ข้ออ้างเรื่องการก่อการร้ายเพื่อเข้ามาในประเทศต่าง ๆ และประเทศต่าง ๆ นั้นก็ต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของอเมริกา เป็นเรื่องต่างได้ต่างตอบแทน แต่เรื่องผลกระทบทางสังคมในระยะยาวก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

ขอพูดถึงเรื่องการรับรู้ของคนไทย thai perception ผมคิดว่าคนไทยลืมง่าย ผมเองก็ไม่ได้เกิดในช่วง 14 ตุลา เกิดช่วง 6 ตุลา เพราะฉะนั้นเรื่อง 14 ตุลาก็ไม่ได้รู้มากสักเท่าไร แต่เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการตั้งฐานทัพสหรัฐเข้ามา ผมไปคุยกับนักศึกษาว่าคิดอย่างไร เขาบอกว่าเฉย ๆ ไม่เห็นจะเป็นอะไร มีเงินทองไหลมาเทมา ตรงนี้เป็นการรับรู้ที่สำคัญมาก เพราะทำให้การเคลื่อนของสหรัฐเป็นไปได้ง่ายขึ้น

และยิ่งการครอบงำที่มีอยู่มากอยู่แล้วว่าการเข้ามาของสหรัฐนั้นทำให้เศรษฐกิจสังคมดีขึ้น และยิ่งหลังวิกฤตเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ต่างต้องการความช่วยเหลือ นายกทักษิณของไทยมีความอยากที่จะเป็นผู้นำภูมิภาคมาก แต่ศักยภาพเพียงพอหรือไม่เป็นอีกเรื่อง การวู่วามกระทำอะไรลงไปอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ในขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องการรับรู้ของคนไทยคือ ภาพที่อยู่ข้างใต้

ทุนนิยมจะอ้ารับการเข้ามาของสหรัฐ และสามารถตัดสินได้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นยอมรับได้ ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะชินคอร์ปและบริษัทในเครือต่าง ๆ ที่ร่วมกันขึ้นมาเป็นไทยรักไทยนั้น เริ่มซื้อกิจการหลายอย่าง และยิ่งเมื่อกลับเข้าไปดูรายการใน FTA ที่ไทยจะทำกับอเมริกา 13,000 รายการนั้นพบว่า เขากระโดดเข้าไปในหลาย ๆ เรื่อง ดูเหมือนว่าเป็นการขายประเทศ ในขณะเดียวกันถ้าคุณทักษิณได้อำนาจของสหรัฐเข้ามา และญาติตนเองก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ จะทำให้การควบคุมทางสังคมของพรรคไทยรักไทยและทักษิณเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ในขณะที่ชนชั้นกลาง นายทุน เห็นด้วย การพัฒนาที่ต้องการดึงทรัพยากรจากคนยากจนก็จะมีมากขึ้น และจะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองด้วย

ขอกลับไปในช่วงสงครามเวียดนาม เพื่อถามถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ว่าที่ผ่านมาเราได้อะไรกันบ้าง เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีประโยชน์อะไรจากการตั้งฐานทัพ รวมทั้งเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีฐานทัพด้วย

ประการแรก การตั้งฐานทัพในไทยที่ชัดเจนคือช่วงปี 2508-2515 เงินที่เข้ามาของอเมริกามีประมาณเป็น 4% ของ GNP ซึ่งเท่ากับ 26% ของการส่งออก เงินที่เข้ามานั้นใช้ไปหลายส่วนคือ 38% ใช้จ่ายเงินเดือนให้ทหารของตนเอง 11% ใช้จ่ายเพื่อให้ทหารได้พักผ่อน 10.9% จ้างแรงงานท้องถิ่น 17% ใช้บำรุงรักษาฐานทัพ ในขณะเดียวกัน GI ได้เงินเข้ามานำไปทำอะไร พบว่า ใช้จริง ๆ 49% อีก 51% เก็บกลับบ้าน

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่มีการพูดกันมากว่ามีการขยายตัวของภาคต่าง ๆ นั้น ช่วงปี 1960-1970 พบว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นคือ บาร์ ไนต์คลับต่างๆ เพิ่ม 52% จากที่มีอยู่ เสื้อผ้า เพิ่มขึ้น 10.8% การติดต่อเดินทาง การสร้างถนนเพิ่มขึ้น 6.7% คนไทยได้ค่าเช่าบ้านจากฝรั่ง 16.1%

โดยสรุปการกระจายรายได้ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกับชนชั้นบนในสังคมคือ นายทุน บาร์ ไนต์คลับ เจ้าของกิจการเสื้อผ้า ฯลฯ การจ้างงานที่ได้มากที่สุดคือ โสเภณี เช่น มีงานศึกษาก่อนสหรัฐมาตั้งฐานทัพในจังหวัดอุดรธานี มีประมาณ 200 กว่าคน แต่หลังจากมีฐานทัพ 5 ปี เพิ่มขึ้นถึง 5,000 กว่าคน ซึ่งไม่ได้ทำเองอิสระ ถูกควบคุมโดยทหาร เจ้าพ่อท้องถิ่น

คนงานที่มีการจ้างงานในฐานทัพมี 34,436 คน 26% เป็นวิชาชีพ (professional) ส่วนใหญ่เป็นทหารที่มีความสามารถในการซ่อมแซม 19% เป็นกึ่งวิชาชีพ (semi-professional) ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะ ไม่มีการฝึกอบรม นอกจากนี้พบว่ามีผลกระทบเรื่องอาชญากรรม มีการอพยพย้ายถิ่น มีชุมชนแออัด

สิ่งที่เสนอไปนี้ ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นผิวเผินมาก สิ่งที่เขาเข้ามาบริโภคนั้นเป็นภาคบริการเท่านั้น และเงินที่ไหลเข้ามาก็ไม่ได้เกิดการกระจายที่เป็นธรรม จึงเป็นเรื่องน่าพิจารณาว่าจะคุ้มหรือไม่ที่จะนำฐานทัพอเมริกากลับเข้ามา

หลังวิกฤตเอเชีย มีการพูดกันมากว่า คนไทยช่วง 5-10 ปีนี้มีหน้าที่อย่างเดียวคือ เป็นแรงงานราคาถูก ทำงานให้กับนายทุนต่างชาติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าภาพการกลับเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐจะเร่งให้ภาพเหล่านี้กลับมาเร็วขึ้นหรือไม่

- คำถามแรกกับการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐที่บอกว่า ต้องการเข้ามาควบคุมการก่อการร้ายนั้น เรามีการก่อการร้ายหรือไม่ เรามีปัญหาหนักหน่วงมากมายเช่นนั้นหรือไม่ เพื่อแลกกับการเสียผลประโยชน์ในหลายด้าน หรือว่าการก่อการร้ายนี้จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองภายในเอง ซึ่งสามารถที่จะชี้ใครก็ได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และสามารถที่จะจับได้ เป็นกฎหมายอาญาที่แปลกมากว่า ไม่ต้องมีขั้นดำเนินการเตรียมการ แค่สงสัยก็จับได้

- คำถามที่สอง เรายังต้องการระบบเศรษฐกิจแบบขายบริการหรือไม่ ต้องการให้อาบอบนวดมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องการให้คนไทยทำหน้าที่เป็นแรงงานราคาถูกเท่านั้นหรือไม่

- คำถามที่สาม เราอยากที่จะไปควบคุมจีนด้วยหรือไม่ เรายอมที่จะเสียผลประโยชน์กับประเทศใกล้ ๆ ที่มีบทบาทกับเรามากหรือไม่ เรายอมแลกกับการได้เงินไม่มากจากประเทศที่อยู่ไกลโพ้นเช่นนั้นหรือ

- คำถามที่สี่ ใครได้อะไร ผมคิดว่าผลดีที่จะเกิดกับสังคมโดยรวมน่าจะเป็นไปได้ยากมาก ยิ่งคุณทักษิณบอกว่า แค่ให้เขามาเช่านั้นหมายถึงอะไร มันจะรวมถึงประโยชน์ที่จะได้เข้าไปตั้งระบบสื่อสารให้เขาด้วยหรือไม่ อย่างไร

สุดท้ายขอทิ้งท้ายว่า สิ่งเหล่านี้จะกลับเข้ามาใหม่ การเข้ามาแทรกแซงของมหาอำนาจในยุคนั้นทำให้รัฐไทยต้องใช้อำนาจอย่างมากในการกดขี่หรือควบคุมสังคมของตนเอง มีหลายคนที่อาจไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แค่ต้องการสังคมที่ยุติธรรม แต่ก็ต้องถูกผลักให้เข้าไปอยู่พรรคคอมมิวนิสต์ และถูกทำลายไป ในทำนองเดียวกัน ขณะนี้เขามีเป้าหมายร่วมกันคือเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อำนาจและบทบาทของเขาจะมีมากน้อยแค่ไหน เขาจะเข้ามาปรับเปลี่ยนหรือออกนโยบายต่าง ๆ อย่างไร คุณทักษิณมีความจริงใจกับอเมริกามากน้อยแค่ไหน

เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมาก ในขณะเดียวกันที่น่าห่วงคือ ภาพการกลับเข้ามามีบทบาทของทหารใหม่อีกครั้ง การได้รับความช่วยเหลืองบประมาณเรื่องความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างคุณทักษิณกับเครือญาติ อาจนำไปสู่ปัญหาซึ่งเราไม่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งสติให้ชัดเจนว่าผลที่ได้มันคืออะไร

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (ผู้ดำเนินรายการ)
อาจารย์วิโรจน์ให้คำตอบเกี่ยวกับฐานทัพในหลายประเด็น ทั้งในแง่อุดมการณ์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไปจนถึงระบบปกครองในประเทศ รวมทั้งผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากมีการเข้ามาของฐานทัพอเมริกัน

ประสบการณ์ของคนเกาหลีกับฐานทัพสหรัฐมีมาอย่างยาวนานมาก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และ 31 ฐานทัพใหญ่ในประเทศ และอีก 65 แห่งเล็กๆ นั้น ผมไม่รู้มาก่อนว่าเยอะขนาดนั้น ก็คงต้องอยู่กับเกาหลีไปอีกพักใหญ่ และมีผลกระเทือนกับเราด้วย อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ส่งกำลังอาวุธไปรบในสงครามเกาหลี น่าสนใจมาก เราเป็นมิตรประเทศที่ดีมากของสหรัฐและยูเอ็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วันนี้ได้ข่าวว่ามีอีก 400 คนเดินทางไปอิรัก เท่ากับว่าสัมพันธภาพทหารไทยกับยูเอ็นและสหรัฐ มีความแนบแน่นมาตลอด

ต่อไปขอเชิญอาจารย์ประจักษ์ จากศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะกล่าวถึงบทบาทและประสบการณ์เรื่องฐานทัพสหรัฐในประเทศไทย

ประจักษ์ ก้องกีรติ : ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผมตั้งชื่อหัวข้อที่จะพูดว่า การเมืองเรื่องฐานทัพในไทย รัฐ สื่อมวลชน ขบวนการประชาชน จากสงครามเย็นสู่สงครามการต่อต้านการก่อการร้าย โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ

หัวข้อแรก เป็นเรื่องข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับฐานทัพในไทย คิดว่าหลายท่านในที่นี้มีประสบการณ์การเดินขบวนต่อต้านการดำรงอยู่ของฐานทัพเมื่อ 30 ปีก่อน ผมเกิดไม่ทันไม่มีประสบการณ์โดยตรง ทั้งหมดที่จะกล่าวมาจากการศึกษาค้นคว้าจากงานวิทยานิพนธ์ของผม และส่วนหนึ่งมาจากงานของนักวิจัยชื่อ พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ซึ่งช่วยทำงานวิจัยร่วมกันในการศึกษาเรื่องสงครามเวียดนามทั้งหมด

ในกรณีของไทย ฐานทัพอาจเป็นเรื่องอดีตที่จบไปแล้ว และไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการคัดค้าน จนสามารถผลักดันทั้งทหารอเมริกันและฐานทัพออกไปจากประเทศไทยได้ ส่วนของเพื่อน ๆ เรา ทั้งเกาหลี ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ ฐานทัพเป็นเรื่องปัจจุบัน และอนาคต อย่างไรก็ตาม ของไทยก็ไม่แน่ ในช่วงสงครามอิรักที่ผ่านมา มีรายงานสั้น ๆ จากสำนักข่าวเอพีว่าสหรัฐก็ได้ใช้ฐานทัพที่อู่ตะเภาเพื่อแวะเติมน้ำมันด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเท่ากับว่ายังมีการใช้อยู่ด้วย

ฐานทัพในไทยเริ่มมาจากช่วงสงครามเย็น ที่ไทยถูกเลือกโดยสหรัฐให้เป็นศูนย์กลางในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และทางการเมืองที่รัฐบาลทหารไทยให้ความร่วมมือด้วยความยินดีมาก เราเข้าสู่สงครามเย็นตั้งแต่ปี 2493 ด้วยการส่งทหารไปรบในเกาหลี

เราเป็นประเทศแรก ๆ ที่ยอมรับการรับรองฐานะทางการเมืองของจักรพรรดิเบ๋าได๋ ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นในเวียดนาม จากความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไทยเริ่มเซ็นกับสหรัฐตั้งแต่ 2493 เราก็เข้าสู่สงครามเย็นอย่างเต็มตัว

ในส่วนของฐานทัพ มาได้รับการให้ความสำคัญอย่างมากในทางยุทธศาสตร์ เมื่อสหรัฐเข้ามาทำสงครามอินโดจีนต่อจากฝรั่งเศส ฐานทัพเริ่มมีการสร้าง ปรับปรุงขนานใหญ่ในไทยโดยสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2498 เป็นต้นมา กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงรัฐบาลสฤษฎ์และถนอม

ฐานทัพสำคัญ ๆ ที่ถูกใช้เช่น ที่โคราช นครพนม ตาคลี นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี อู่ตะเภา ชลบุรี ซึ่งเป็นที่รองรับเครื่องบิน บี. 52 ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ และที่น้ำพอง ขอนแก่น

มีการประมาณการว่าในช่วงที่สหรัฐมาทำสงครามอินโดจีน และถอนตัวไปในปี 2518 เมื่อพ่ายแพ้ 80% ของปฏิบัติการทางอากาศคือการบินไปทิ้งระเบิดใน 3 ประเทศอินโดจีน มาจากปฏิบัติการของฐานทัพในประเทศไทย จำนวนทหารสหรัฐ ณ จุดที่สูงสุดในปี 2516 มีทหารสหรัฐในไทยประมาณ 48,000 คน

ในการทำสงครามอินโดจีน ไทยไม่เคยประกาศการทำสงครามนี้อย่างเป็นทางการ การอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาพัฒนาฐานทัพและใช้นั้นไม่มีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเลย ตลอดเวลานั้นรัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับว่ามีฐานทัพสหรัฐอยู่ในประเทศไทย มีแต่สิ่งที่เรียกว่าฐานทัพไทย ซึ่งไทยยอมให้สหรัฐมาใช้ เนื่องจากสหรัฐเป็นผู้นำเงินมาปรับปรุงฐานทัพเหล่านี้ คือรัฐบาลไทยตกลงกับสหรัฐ โดยพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่าไทยยังมีสิทธิเต็มที่ในดินแดนตนเอง แค่อนุญาตให้สหรัฐมาใช้เท่านั้น

ฉะนั้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงสิทธินี้จะถูกติดตั้งไว้ตลอดเวลา เช่น มีธงชาติไทยติดที่ฐานทัพ มีเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ แต่ความจริงที่เราพบคือบางครั้งที่มีการบินออกจากฐานทัพเพื่อไปทิ้งระเบิดในอินโดจีน หลังบินไปแล้วสหรัฐจึงแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ และการบัญชาการสั่งการทำจากศูนย์บัญชาการที่อยู่ในเวียดนามใต้

เรื่องนี้มีการต่อสู้กันมากระหว่างรัฐบาลและขบวนการนักศึกษาประชาชนในการที่จะชี้ให้ชัดว่าสถานภาพจริงเป็นอย่างไรกันแน่ และไทยเองก็เคยมีประสบการณ์การดำรงอยู่ของทหารสหรัฐจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องพยายามเจรจาเรื่องสถานภาพของทหารสหรัฐอยู่ในไทย รวมทั้งฐานะของฐานทัพด้วย ซึ่งก็เคยมีกรณีการก่อคดี การวิวาท ทำร้ายของทหารสหรัฐมากมายในช่วงนั้น

ประเด็นที่สอง การดำรงอยู่ของฐานทัพนั้น นอกจากจะเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศตนเอง คือเรายอมขายอธิปไตยตนเองให้ต่างชาติ แลกกับเม็ดเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหาร ยังเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยไปบุกรุกประเทศเพื่อนบ้าน ทำสงครามที่ไม่ประกาศ รวมทั้งยังละเมิดหลักการกระบวนการนิติบัญญัติหรือนิติรัฐในประเทศด้วยคือ กระบวนการกำหนดนโยบายให้สหรัฐมาใช้ฐานทัพในไทยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เข้าสู่สภา

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ไปสัมภาษณ์จอมพลถนอมบอกว่า ใช้เวลาตัดสินใจแค่ 5 นาทีเท่านั้นในหมู่ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่กี่คน และเรื่องนี้ไม่เคยนำมาสู่กระบวนการตัดสินใจในสภา เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงกระบวนการตัดสินใจในพื้นที่สาธารณะที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำอย่างมากคือ ทำอย่างไรจะควบคุมความจริงเรื่องนี้

เรื่องกำหนดนโยบายนั้นไม่ยากเพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร ประชาชนไม่มีสิทธิร่วมกำหนดด้วยอยู่แล้ว กระบวนท่าของรัฐบาลเผด็จการนั้นมี 2-3 กระบวน ในขั้นแรก รัฐพยายามปิดบังข้อมูล ไม่ยอมรับความจริงทั้งที่มีการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ ฐานทัพไทยถูกใช้ไปทิ้งระเบิดตั้งแต่ปี 2507 และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่กว่ารัฐบาลไทยจะยอมรับและแถลงอย่างเป็นทางการกับสาธารณะเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2510 ซึ่งเป็นผลจากที่สื่อมวลชนไทยพูดถึงมากขึ้นและมีปัญญาชนไทยนักเรียนนอกนำข้อมูลมาเปิดเผย

เมื่อต้องยอมรับ กระบวนท่าก็ปรับไปสู่ความพยายามในการสร้างความชอบธรรม รัฐบาลทำการโฆษณากล่อมเกลาประชาชนอย่างมาก ผมเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมแบบสงครามเย็นคือ รัฐใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐทุกชนิดในการทำสงครามจิตวิทยาให้ประชาชนเห็นว่าการดำรงอยู่ของฐานทัพและทหารสหรัฐเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับประเทศ ทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยเฉพาะในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์

จากการทำวิจัยพบว่าการดำเนินการของรัฐนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก มีการพูดถึงภัยคอมมิวนิสต์ทั้งในลิเก ลำตัด การมีมหามิตรอย่างอเมริกาเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การมีฐานทัพเป็นการป้องกันประเทศไทยได้ด้วย การออกไปรบนอกบ้านดีกว่าให้สงครามเข้ามาในบ้านแล้วเราค่อยต่อสู้ เราทำเพื่อป้องกันและเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่

สื่อมวลชนส่วนใหญ่ในช่วงนั้นก็ยอมรับคล้อยตามคำอธิบายของรัฐ มีทัศนะชาตินิยมต่อต้านคอมมิวนิสต์ สื่อมวลชนมีการเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างไม่เผยแพร่ให้ประชาชน เช่น นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังคนหนึ่งคือ คุณประยูร จรรยาวงศ์ เขียนกลอนบทหนึ่งตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในช่วงสัปดาห์หลังจากที่รัฐบาลแถลงยอมรับ กลอนดังกล่าวบอกว่า

สัปดาห์จรตอนนี้ดีแล้วครับ ที่ยืนรับความจริงเลิกนิ่งอั้น
ว่าร่วมรบรับรองร่วมป้องกัน อุบนานวันอึ้งอั้นเหลือรำคาญ
เราร่วมรบร่วมแรงเพราะแดงบุก ก่อความทุกข์ชาวพารามหาศาล
ส่งกองโจรมาสู่จู่รังควาญ ประกาศการจองล้างอย่างจงใจ
เราป้องกันกั้นเขาเข้าเมืองบ้าน เปิดลานบินต่อต้านเป็นการใหญ่
ไม่เห็นน่าปกปิดปิดทำไม เรากั้นภัยก่อนเราเข้าตาจน
ร่วมกับมิตรประเทศต้านเหตุร้าย ร่วมเป็นตายต้านบุกทุกแห่งหน
เผชิญศึกเคียงข้างไม่ห่างตน ร่วมผจญศึกกันนั่นแหล่ะมิตร
รัฐบาลประกาศอย่างอาจหาญ แทนการซึมหมกนั่งปกปิด
นับว่าเป็นการดีมีความคิด จะเบี่ยงบิดต่อไปทำไมกัน
เราถูกปองจองล้างอย่างสาหัส ปฏิบัติต่อไทยไม่มีอั้น
ใครจะนอนให้เถือเลือดเนื้อนั้น ต้องสู้มันสุดฤทธิ์เลิกคิดตาย
แดงประชิดติดพันใช่ฝันเฟื่อง มันมุ่งผลาญบ้านเมืองเราฉิบหาย
ตื่นเถิดคนรักสนุกสุขสบาย สำรวมกายร่วมใจต้านภัยเอย

นอกจากนี้ มีงานวิจัยและงานวิชาการที่มีมายาคติต่อสื่อมวลชนว่าไม่รายงานข่าวเรื่องนี้ เพราะกลัวอำนาจรัฐเผด็จการ ซึ่งเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างที่เราเห็นเป็นเพราะว่า สื่อมวลชนช่วงนั้นก็เห็นคล้อยตามรัฐบาล สื่อมวลชนบางส่วนเลือกที่จะไม่เปิดเผย

มีอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นบทความที่นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเขียนขึ้นหลังรัฐบาลแถลงข่าวยอมรับ ลงในสยามรัฐเช่นเดียวกัน ชื่อหัวข้อข่าวว่า "เครื่องบินอเมริกันกับฐานทัพไทยที่อุดรและ ตาคลี" ข้อความมีว่า:

"สำหรับนักหนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวที่เป็นคนไทยนั้น เป็นคนว่านอนสอนง่ายอยู่แล้ว ปัญหาอะไรอื่นไม่มี หากจะทำอะไรไปในภายหลังเกินขอบเขตที่ทางการบอกไว้แล้วว่าทำไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของการพลาดพลั้งหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ใช่หัวรั้น เรื่องหัวรั้นนั้นน่าจะเป็นลักษณะของผู้สื่อข่าวต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สื่อข่าวอเมริกัน เพราะนักข่าวของประเทศนั้นชอบที่จะเสนอข่าวและเลือกอย่างสมบูรณ์อย่างไม่มีการตัดทอน เพราะเหตุนี้เองเรื่องที่พวกเราคนไทยรู้กันมานานนม และไม่ยอมพูดหรือเอ่ยถึง กับเป็นเรื่องที่คนหนังสือพิมพ์และนักข่าวอเมริกันเอาไปเปิดโปงกันอย่างเอิกเกริก โดยไม่คำนึงว่าเรื่องนั้นจะเป็นความลับทางทหาร หรือจะให้ประโยชน์แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นข้าศึก ฉะนั้นเรื่องตรรกะข่าวนี้ต้องยกให้นักข่าวฝรั่งเขา เขารู้อะไรเห็นอะไรก็พูดกันไปหมดไส้หมดพุง ไม่เหมือนกับพวกเราที่มักจะเย็บปากของตัวเอง ก่อนจะทำอะไร เราจะมองดูตาของรัฐบาลเราก่อน และเป็นห่วงหน้ากังวลหลัง เกรงว่าจะเสียหายแก่พันธมิตรของเรา"

ในภาวะแบบนี้นี่เองที่การกำหนดนโยบาย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และข้อมูลข้อเท็จจริงบางอย่างถูกบิดเบือนและถูกกล่อมเกลาอีก โดยรัฐร่วมกับสื่อมวลชน

ประเด็นต่อไปคือ กระแสการต่อต้านขึ้นมาได้อย่างไรในภาวะเช่นนี้ การต่อต้านเกิดขึ้นก่อนในแวดวงปัญญาชน นักศึกษา ก่อนที่จะขยายตัวไปสู่ขบวนการประชาชน ในตอนแรกกลุ่มที่มีบทบาทมากคือปัญญาชนนักเรียนนอก ด้วยการนำเอาความจริงที่ได้รับรู้จากการอยู่นอกประเทศมาตีพิมพ์ ส่งจดหมายเผยแพร่ เริ่มเกิดเครือข่ายวาทกรรม มีทั้งสิ่งพิมพ์ใต้ดินและบนดิน เป็นแหล่งข้อมูลทางเลือกให้สาธารณะ ทั้งบทความวิชาการ นิยาย เรื่องสั้น บทกวี เพลง เป็นการเคลื่อนไหวทางปัญญาเพื่อเผยแพร่ความจริงและคัดค้านการดำรงอยู่ของฐานทัพ เมื่อสาธารณชนรับรู้มากขึ้น เริ่มเคลื่อนไปสู่การจัดเวทีเสวนา จากนั้นต่อไปยังการเคลื่อนบนถนน

ขณะนี้เป็นวาระครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วกระแสความเคลื่อนไหวที่สำคัญมากอีกประการคือ กระแสการคัดค้านบทบาทรัฐบาลในการร่วมมือกับสหรัฐในการทำสงครามอินโดจีน เป็นกระแสสำคัญที่เกิดก่อนช่วง 14 ตุลา คือ

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2516 มีการจัดนิทรรศการโดยนักศึกษา เรียกว่าสัปดาห์สงครามอินโดจีนขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผลกระทบด้านลบของการดำรงอยู่ของฐานทัพ นอกจากนี้มีหนังสือของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งได้รับการนำมาอ้างอิงถึงบ่อย ๆ ในปัจจุบัน แต่มักเป็นการกล่าวถึงการต่อต้านการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วในหนังสือนั้นมีบทความสำคัญ ๆ ที่พูดถึงบทบาทนักศึกษามหาวิทยาลัยในการต่อต้านฐานทัพอย่างมากอยู่ด้วย

โดยสรุป การต้านฐานทัพเป็นประเด็นหลักของขบวนการนักศึกษาประชาชนมาตั้งแต่ก่อนช่วง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา การจัดชุมนุมของนักศึกษามีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่สำคัญคือ วันที่ 21 มีนาคม 2519 นักศึกษาประชาชนนับหมื่นเดินขบวนออกจากธรรมศาสตร์ ไปยังสถานทูตสหรัฐ ระหว่างที่ผ่านไปบริเวณสยามสแควร์ มีการก่อกวนจากกลุ่มอันธพาลฝ่ายขวา มีการปาระเบิดมาในที่ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งอื่น ๆ ก็มีการก่อกวน ปาระเบิดมาตลอด ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ จนในที่สุด ปี 2519 ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันฐานทัพอเมริกันออกไป

ส่วนหนึ่งแน่นอนเป็นเพราะฐานทัพสหรัฐในไทยไม่ได้มีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์ทหารอีกแล้วในช่วงนั้น เมื่อสหรัฐถอนตัวออกจากสงครามอินโดจีนในปี 2518 แต่สิ่งที่ผมอยากเน้นคือ ฐานทัพสหรัฐในไทยและที่อื่นไม่ได้มีสถานะเป็นแค่ความจำเป็นทางยุทธศาสตร์การทหารเท่านั้น อย่างเช่น

ช่วงหลัง 14 ตุลา ที่เป็นช่วงที่สหรัฐเจรจายุติการหยุดยิงกับเวียดนามไปแล้ว ฐานทัพก็ไม่ได้มีความจำเป็นในการดำรงอยู่ แต่ก็ยังอยู่ต่อเนื่องมาอีก 3 ปี ในช่วงนั้นฐานทัพแปรสถานะไปเป็นสัญลักษณ์หรือความจำเป็นทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรม และการแสดงถึงความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐและรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ฉะนั้นสำหรับทหารไทยเองก็รู้ จากเอกสารราชการในการประชุมวงในพบว่า เป็นที่รู้ดีแต่ก็ยังคงต้องคงฐานทัพไว้ เหมือนเป็นการติดยาไปแล้ว ต้องพึ่งพิงมหาอำนาจไว้คอยค้ำจุนตนเอง

ประเด็นสุดท้าย จากประสบการณ์ในช่วงนั้นที่เป็นยุคสงครามเย็น เกิดวัฒนธรรมสงครามเย็นคือ ทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลสหรัฐ สื่อมวลชน มองทุกอย่างผ่านแว่นของคอมมิวนิสต์ มีคนเปรียบเทียบว่าตอนนั้นเราใส่แว่นตาเลนส์สีแดง มองอะไรไปก็เห็นผู้คนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด เกิดไฟไหม้ ความไม่สงบวุ่นวายก็ว่าเป็นฝีมือคอมมิวนิสต์ทันที

เมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน เราก็แค่เปลี่ยนจากวัฒนธรรมสงครามเย็น มาสู่วัฒนธรรมการต่อต้านการก่อการร้าย มองไปที่ไหนก็ว่าเป็นการก่อการร้าย ข้อมูลหลายอย่างถูกบิดเบือนไปจากความจริง ซึ่งนำไปสู่การออกนโยบายของรัฐบาลที่ห่างไกลไปจากสถานการณ์ที่เป็นจริง

ดังนั้น การเปิดเผยความจริง การเคลื่อนไหวทางข้อมูลมีความจำเป็น ก่อนที่จะเคลื่อนไปสู่การเคลื่อนไหวประท้วง ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนในยุคปัจจุบันจะร่วมกันต่อต้านการตั้งฐานทัพสหรัฐมากเท่าไร เพราะดูเหมือนว่าสงครามโฆษณาการกล่อมเกลาความเชื่อของรัฐไทยและสหรัฐเรื่องการก่อการร้ายนั้น ประสบความสำเร็จมากยิ่งกว่าสงครามการต้านคอมมิวนิสต์ในอดีตเสียอีก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (ผู้ดำเนินรายการ)
อาจารย์ประจักษ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพสหรัฐในไทยไว้มากมาย อาจารย์ปณิธาน จะขอฝากประเด็นเรื่องการตีความเรื่องฐานทัพในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมต่อจากอาจารย์ประจักษ์ ขอเชิญอาจารย์ปณิธาน

ปณิธาน วัฒนายากร 2
อยากฝากให้พวกเราได้คิดว่า ในความเป็นจริง สหรัฐอเมริกาอาจไม่สนใจเรื่องการเข้ามาเช่าฐานทัพทั้งหมดก็เป็นไปได้ จากเงื่อนไขข้างต้นที่ได้เรียนไปแล้วว่า ขณะนี้ค่าใช้จ่ายทางการทหารก็สูง ประชาสังคมในเมืองไทยและทั่วโลกก็เข้มแข็ง ต่อต้านอเมริกาค่อนข้างมาก การจะเข้ามาในรูปแบบเก่า ๆ เช่นช่วงสงครามเย็นก็มีความเป็นไปได้บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด และไทยเองก็ยืนหยัดอยู่ตลอดว่า ไม่ยินยอมไม่พร้อมใจให้สหรัฐกลับเข้ามาอีกครั้งในรูปแบบเก่า ๆ ดังนั้นผมไม่เป็นกังวลเท่าไร ผมคิดว่าสังคมไทยจะเข้มแข็งพอที่จะต้านหากเข้ามาจริง ๆ เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งจากประเทศเราเอง และประเทศอื่น ๆ

แต่ที่ผมกังวลคือ ขณะนี้เรามีความร่วมมือทางการทหารในรูปแบบสมัยใหม่ ที่เราเองอาจจะไม่เข้าใจ และอาจเป็นผลเสียมากต่อเราในอนาคตก็เป็นไปได้ การเช่าฐานทัพก็เป็นส่วนหนึ่ง การเข้ามาใช้การส่งกำลังบำรุงในอู่ตะเภาซึ่งจะมีการทบทวนทุก 10 ปีก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สนธิสัญญาทางการทหาร และความร่วมมืออื่น ๆ เช่น

ปี 2540 มีการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยและอเมริกาในการเข้าไปพัฒนาการใช้อวกาศร่วมกัน โดยฝ่ายไทยต้องการพัฒนาระบบควบคุมและการสั่งการจากศูนย์การข่าว มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายดาวเทียมของอเมริกาเข้ามาในวงโคจรของไทย ให้มีการตั้งสถานีดาวเทียมของอเมริกาในภาคพื้นของไทย โดยใช้เครื่องมือของอเมริกา เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้นั้น ผมเกรงว่าเป็นเรื่องที่พวกเราอาจเข้าไม่ถึง และซับซ้อน และยังไม่เห็นผลกระทบของมันอย่างชัดเจนในปัจจุบัน

การเข้ามาใช้วงโคจรของไทยเพื่อควบคุมตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันเรื่องยาเสพติดและการก่อการร้ายเป็นผลดี แต่ขณะเดียวกันทำให้อเมริกาสามารถเข้ามาควบคุมระบบคมนาคมสื่อสาร และเข้ามาผนึกกำลังเครือข่ายโทรคมนาคมในบ้านเรา ในรูปแบบที่ผมเข้าใจว่าหลายคนยังไม่เคยเห็นมาก่อน เรื่องเหล่านี้เป็นความจำเป็นที่สังคมไทยต้องศึกษานโยบายเหล่านี้ให้ชัดเจน เพราะมันอาจมีผลเสียต่อนโยบายต่างประเทศของไทยที่ยึดสายกลางมาโดยตลอด

ควรมีการผลักดันให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล ข้อตกลงต่าง ๆ ที่รัฐบาลไปทำไว้ ความร่วมมือทางการทหารและด้านอื่น ๆ ให้ประชาชนได้รับรู้มีส่วนร่วม ร่วมตรวจสอบ ร่วมกำหนดท่าทีต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเสียประโยชน์ส่วนรวม

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

ผู้ร่วมอภิปราย : ปณิธาน วัฒนายากร - รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, วิโรจน์ อาลี, ประจักษ์ ก้องกีรติ - รัฐศาสตร์ต มธ. ดำเนินรายการโดย : ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ,