มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 320 หัวเรื่อง
เศรษฐกิจกับความยุติธรรม
อานันท์
กาญจนพันธุ์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 12
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
เศรษฐกิจกับความยุติธรรม
อานันท์ กาญจนพันธุ์
การเสวนาเรื่องความยุติธรรม
: วันที่ 9 สิงหาคม 2546 เวลา
14.00 น.
ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)
เศรษฐกิจกับความยุติธรรม (บทความถอดเทป)
หัวเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
1. ทำไมจึงต้องตั้งคำถามกับเศรษฐกิจเรื่องความยุติธรรม
2. ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวพันการจัดสรรส่วนเกินในรูปของกำไร
3. เศรษฐกิจในระบบตลาดมีเหตุผลที่เป็นอิสระในตัวเองได้จริงหรือ
4. กลไกตลาดสามารถจัดสรรส่วนเกินให้ยุติธรรมได้จริงหรือ
5. ปัญหาของกลไกรัฐกับการบิดเบือนเชิงโครงสร้าง
6. กลไกทางสังคมกับความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
7. บทส่งท้าย
1. ทำไมจึงต้องตั้งคำถามกับเศรษฐกิจเรื่องความยุติธรรม
ในความเข้าใจของผม การจะพิจารณาว่า เศรษฐกิจมีความยุติธรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า
เศรษฐกิจเกี่ยวพันกับชีวิตในด้านอื่น ๆ อย่างไร การที่ผมตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพราะว่า
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ เรื่องของเศรษฐกิจได้ถูกแยกออกไปเป็นอิสระจากส่วนอื่น
ๆ ของชีวิตคนเรา หรือส่วนอื่นๆของชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นนี้เอง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องตั้งคำถามเสียก่อน
ในอดีตนั้นเศรษฐกิจเคยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กล่าวคือเศรษฐกิจจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตด้านต่าง ๆ อย่างแยกกันไม่ออก ดังนั้นการที่จะตั้งคำถามทำนองนี้ จึงไม่จำเป็น เพราะเศรษฐกิจและชีวิตด้านต่างๆของมนุษย์ยังผูกพันกันอยู่ ทำให้เศรษฐกิจอยู่ภายใต้การควบคุมของสังคม
แต่เมื่อไม่นานนี้เอง เศรษฐกิจเริ่มค่อยๆถูกแยกออกไปจากชีวิตของมนุษย์มากขึ้นๆทุกที จนทำให้เศรษฐกิจหลุดออกไปจากการควบคุมของสังคม จึงเกิดคำถามทำนองนี้ขึ้น เพราะเศรษฐกิจอาจจะเดินไปทางหนึ่ง ที่ไม่สอดรับกับทิศทางของสังคมได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความยุติธรรม ที่เป็นอุดมการณ์สำคัญในสังคมตามมา
ด้วยเหตุนี้ การที่จะตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจจะยุติธรรมหรือไม่? จึงต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาว่า เศรษฐกิจนั้นมีความเกี่ยวพันกับชีวิตด้านอื่นๆอย่างไร เมื่อเรื่องของเศรษฐกิจค่อยๆถูกทำให้แยกออกมาจากชีวิตด้านอื่นๆของมนุษย์ ซึ่งอาจถือได้ว่า เริ่มจากการที่คนเราหันไปเปลี่ยนแปลง หน่วยทางสังคม ที่ยึดถือเป็นกรอบสำหรับปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นที่มาหรือต้นตอของปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เพราะคนเราหันไปแยกหน่วยทางสังคมและเศรษฐกิจออกจากกันอย่างเด็ดขาด ผลที่ตามมาทำให้ ความเป็นปัจเจกชนกลายเป็นหน่วยทางสังคม ที่มีความสำคัญมากขึ้นแต่เพียงหน่วยเดียว อีกทั้งยังแยกออกเป็นอิสระจากหน่วยทางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เครือญาติ ชุมชน หรือท้องถิ่น เพราะปัจเจกชนสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้เอง แทนที่จะใช้ทรัพย์สินร่วมกันด้วย
2.
ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวพันการจัดสรรส่วนเกินในรูปของกำไร
การกำหนดให้ทรัพย์สินเป็นสมบัติส่วนบุคคลได้นั้น ในสังคมตะวันตกอาจจะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้วก็ตาม
ส่วนในสังคมไทยเพิ่งเริ่มก่อรูปขึ้นมาไม่นานนี้เอง แต่กลับมีความสำคัญขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
หากจะระบุให้ชัดเจน ก็อาจถือได้ว่า เริ่มพัฒนาขึ้นมาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการตรากฎหมายขึ้นมารองรับหลักการดังกล่าวอย่างเป็นทางการมากขึ้น
การกำหนดให้ทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินเป็นสมบัติส่วนบุคคลที่สามารถเห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คงจะเป็นการออกประมวลกฏหมายที่ดินในปี พ.ศ 2497 เพราะเสนอให้มีการออกโฉนดที่ดินให้กับบุคคล จนทำให้การถือครองแยกออกมาจากการใช้และการครอบครอง ซึ่งเป็นหลักการที่เคยใช้กันมาแต่เดิมในสังคมไทย ตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นจริง และตามจารีตของท้องถิ่น แม้ในทางทฤษฎี หรือหลักการตามกฏหมายของรัฐ อาจจะถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม
แม้จะมีความพยายามในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อทำให้เศรษฐกิจแยกออกไปจากชีวิตด้านอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจไม่สามารถแยกออกไปได้ เมื่อมีความคิดว่า เศรษฐกิจสามารถแยกออกมาเป็นอิสระได้ เลยทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นหลายอย่างตามมา เพราะในชีวิตทางเศรษฐกิจนั้นจะสร้างผลผลิตส่วนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเราเรียกผลผลิตส่วนนี้ว่า ส่วนเกิน จึงมีปัญหาอยู่ว่า ส่วนเกินที่เกิดขึ้นมานั้นจะเอาไปจัดสรรกันอย่างไร
ในกรณีที่เศรษฐกิจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตด้านอื่นๆ ส่วนเกินนี้จะถูกกลไกทางสังคมนำไปหมุนเวียนใช้อยู่ในหน่วยทางสังคมที่ผลิตส่วนเกินนั้น ซึ่งแต่ละสังคมจะมีวิธีการใช้ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสังคมนั้น ๆ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย
โดยส่วนใหญ่ส่วนเกินนั้น จะจัดการผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม ในรูปของพิธีกรรมต่างๆ สำหรับสังคมขนาดเล็ก ส่วนเกินจะถูกนำมาแลกเปลี่ยนในพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายส่วนเกินไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ตามจารีตที่เน้นประโยชน์ร่วมกันของสังคม จึงทำให้ส่วนเกินกลายเป็นอรรถประโยชน์ทางสังคม (Social Utility)
ในกรณีของสังคมในสมัยศักดินา ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เป็นหลัก ระบบแบบนี้ ส่วนเกินจะถูกจัดสรรผ่านกลไกที่เราเรียกว่า การบริโภคทางสังคม คือการที่ผู้มีอำนาจในสังคม เอาส่วนเกินไปใช้ในการสร้างบารมี ในรูปของการสร้างวังให้ใหญ่โต และการสร้างวัดให้โอฬาร เพื่อแข่งขันกันแสดงว่าเป็นผู้มีบารมีมากกว่าคนอื่น ซึ่งจะช่วยจูงใจให้มีผู้คนเข้ามาพึ่งพามากขึ้น ทั้งนี้เพราะ ในระบบศักดินานั้น การมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้ขี้นอยู่กับการควบคุมพื้นที่ แต่ขึ้นอยู่กับการควบคุมกำลังคน ยิ่งมีผู้คนเข้ามาอยู่ใต้อำนาจมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งตักตวงส่วนเกินจากแรงงานของผู้คนเหล่านั้นได้มากเท่านั้น
ในกรณีของสังคมไทยปัจจุบัน เมื่อเศรษฐกิจถูกแยกออกมาจากหน่วยทางสังคม และปัจเจกชนสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนตัวได้ ส่วนเกินจึงมักจะถูกเปลี่ยนให้มาเป็นกำไรแทน ประเด็นปัญหาที่ตามมาก็คือ กำไรเหล่านี้จะเอามาจัดสรรกันอย่างไร นับเป็นปัญหาที่ผูกพันกันมานานมาก
ในทางทฤษฎีมาร์กซิสต์แล้ว กำไรก็คือส่วนเกิน ที่ยังไม่ได้เอาไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ตามนัยเช่นนี้ ส่วนเกินจึงเกิดมาจากการบิดเบือนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จนทำให้เห็นว่า ทุน/เงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกินขึ้น แนวความคิดทำนองนี้มีปัญหามาก เท่ากับเป็นการสร้างมายาคติให้เชื่อว่า ทุนเป็นที่มาที่แท้จริงอย่างเดียว ที่ก่อให้เกิดผลผลิตต่างๆ ไม่ใช่แรงงานตามความคิดแบบมาร์กซิสต์
ในปัจจุบันยังมีการอธิบายให้ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก โดยเพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า ผลผลิตต่างๆไม่ได้เกิดมาจากทุนอย่างเดียว แต่ยังเกิดมาจากสิ่งที่เราเรียกว่า "ความรู้/ปัญญา/วัฒนธรรม" ด้วย หากยอมรับตามแนวความคิดเช่นนี้ นายทุนก็สามารถอ้างได้ว่า ค่าตอบแทนแรงงานที่เขาได้จ่ายให้กับคนงานนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะเขาเป็นเจ้าของทั้งทุนและความรู้ ซึ่งเขาได้มาอย่างชอบธรรม ด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยนในระบบตลาดเสรี
แต่แท้ที่จริงแล้ว ส่วนเกินคงยังมีที่มาจากค่าแรงด้วย ซึ่งเป็นค่าแรงในส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับคนงาน ถ้าจ่ายค่าตอบแทนทั้งหมดจริงตามที่กล่าวอ้าง คนงานควรจะมีสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ดีกว่านี้มาก ดังจะสังเกตได้ชัดเจนว่า คนงานที่สร้างบ้านก็ดี หรือคนงานที่ผลิตรถยนต์เองก็ดี ถามว่ามีกี่คนที่เป็นคนงานก่อสร้างแล้วสามารถมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนมากคนงานก่อสร้างจะไปอาศัยอยู่ตามเพิงหรือห้องแถว ที่เขาเตรียมไว้ให้เสียมากกว่า เพื่อที่จะได้ไปทำงานในวันต่อไปได้ทันเวลา
คนงานก่อสร้างบางคนไม่สามารถที่จะมีบ้านอยู่ได้ด้วยตัวเองเลยตลอดชีวิต เราเรียกว่าสภาวะเช่นนี้ว่า ความแปลกแยก คือสภาวะที่ มนุษย์ไม่สามารถใช้แรงงานของตน เพื่อตอบสนองความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ ซึ่งแสดงว่าต้องมีปัญหาของคนที่ทำให้บิดเบือน โดยเอาผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงานไป จนผู้ใช้แรงงานไม่สามารถที่จะได้รับผลประโยชน์จากแรงงานของตนเองได้
ทั้งหมดนั้นชี้ให้เห็นว่า เมื่อส่วนเกินที่เกิดขึ้นมาถูกแปลงมาเป็นกำไรแล้ว ก็มีปัญหาว่าจะจัดสรรกันอย่างไร เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ พร้อมๆกับการที่จะนำเอาไปกระจายในสังคมให้เป็นธรรมด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเป้าหมาย 2 ประการนี้ กลายเป็นประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจมาตลอด ในความพยายามที่จะหาข้อตกลงให้เหมาะสมว่าจะแบ่งกันเท่าไหร่ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในสังคมให้เจริญขึ้นไป ทั้งในด้านคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาด้วยว่าจะกระจายไปในสังคมอย่างไร ในระบบทุนนิยมจะมีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดโต้เถียงต่อสู้กันในประเด็นนี้อยู่ตลอดเวลา
3.
เศรษฐกิจในระบบตลาดมีเหตุผลที่เป็นอิสระในตัวเองได้จริงหรือ
ในยุโรปช่วงต้นคริสศตวรรษที่ 20 นักวิชาการจำนวนหนึ่งออกมาเสนอความคิดว่า ไม่ควรที่จะเอาเศรษฐกิจไปเกี่ยวพันกับชีวิตสังคมด้านอื่น
ๆ แต่ควรจะมองเศรษฐกิจแยกออกมาเป็นเรื่องต่างหาก เพราะเห็นว่าทางเศรษฐกิจนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล
ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ซึ่งต่อมาเราเรียกนักวิชาการพวกนี้ว่า พวกอรรถประโยชน์นิยมหน่วยสุดท้าย
(Marginalist) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันในหลาย ๆ ประเทศโดยไม่ตั้งใจ ทั้งในประเทศอังกฤษ
ฝรั่งเศล และในออสเตรเลีย
ในปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักล้วนใช้หลักการนี้ นั่นคือหลักการที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานหลายประการที่เชื่อมโยงกันคือ มนุษย์เป็นปัจเจกชน พร้อมๆกับเป็นปัจเจกชนที่มีความต้องการ และความต้องการดังกล่าวของปัจเจกจะมีเหตุผล ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงเชื่อว่า หลักการนี้จะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากร หรือ การจัดการทางเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือเกิดประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญ หลักการดังกล่าวยังที่เป็นสากล ซึ่งหมายความว่า สามารถนำเอาปรับไปใช้กับที่ไหนๆก็ได้ในโลกนี้เหมือนๆกันหมด
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ความคิดอรรถประโยชน์นิยมดังกล่าวเป็นหลักการที่มีเหตุมีผลและเป็นสากล เพราะสามารถนำมาใช้อธิบายความต้องการของมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจเจกชนได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องอดน้ำอยู่ในทะเลทราย ความต้องการอย่างแรกของเขาก็คือน้ำ เพราะว่าอดน้ำมาหลายวัน ดังนั้นน้ำแก้วแรกที่จะหามาดื่มได้นั้น แม้ราคาจะแพงสักเท่าใดก็ตาม เขาก็จะพยายามหาซื้อมาให้ได้ เพราะว่ามีความต้องการมาก แต่พอดื่มเข้าไปซัก 10 แก้วแล้ว ถามว่าแก้วที่ 11 นั้น เขาจะยอมจ่ายในราคาเท่าใด สัก 1 บาทจะเอาไหม ก็คงไม่เอาแน่ เพราะเขาได้ดื่มเพื่อตอบสนองความต้องการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อมานักเศรษฐศาสตร์ได้นำหลักเช่นนี้เองไปใช้ในการอธิบายการเกิดมูลค่าของสิ่งของต่างๆ เพราะสามารถนำมาใช้อธิบายได้ดีในกำหนดราคาสิ่งของในตลาด ในฐานะที่เป็นหลักการสำคัญ ในการจัดการและการควบคุมการใช้ทรัพยากร ให้เป็นไปในแนวทางที่จะทำให้เกิดทั้ง ประสิทธิภาพและความพอใจสูงสุด รวมทั้งได้กำไรสูงสุดด้วย
สำหรับผู้ที่เชื่อตามหลักการดังกล่าว ก็จะพยายามหาทางพิสูจน์ว่า มนุษย์จะเลือกจัดการทรัพยากรไปตามหลักเหตุผลเช่นนี้เสมอ คือ ประสิทธิภาพและความพอใจสูงสุด ความเข้าใจเช่นนี้เองเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเราพบว่า เงื่อนไขที่จะใช้กับหลักการทั้ง 2 ประการนี้ได้อย่างดีที่สุดก็คือ ตลาด แต่ในความเป็นจริง เราจะพบว่าหลักการนี้ไม่สามารถที่จะใช้ให้เป็นไปตามหลักการที่ว่าไว้เสมอไป ที่จริงแล้วหลักการนี้ใช้ไม่ค่อยได้เลย แต่ก็มีผู้ที่พยายามจะตอกย้ำว่าใช้ได้ ในสังคมตะวันตกก็มีการโต้เถียงกันมาโดยตลอด
ดังนั้น การที่จะระบุออกไปว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่นั้น อยู่ที่การมองว่า เศรษฐกิจควรที่จะแยกออกมาเป็นอิสระจากส่วนอื่นๆของสังคม หรือว่าควรที่จะไปมีพันธะทางสังคม ซึ่งก็เป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมาตลอด มีนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคนหนึ่งชื่อ คาร์ลโปลานยี่ (Karl Polanyi) แสดงความเห็นไว้ว่า ควรที่จะมองเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันแนบแน่นอยู่กับสังคม ทั้งนี้เศรษฐกิจต้องเชื่อมโยงอยู่กับ"การเมือง/สังคม/วัฒนธรรม"เสมอ ไม่สามารถมองแยกออกมาได้ ถ้ามองแยกเมื่อไหร่ก็หมายความว่า เริ่มที่จะบิดเบือนเศรษฐกิจใช้ไปในทางที่จะไปหาประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถือเป็นแง่คิดในมุมมองหนึ่ง เพราะมองเห็นแล้วว่า การแยกเศรษฐกิจออกมานั้นมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
ถ้าหันมาพิจารณาดูจากข้อเท็จจริงบ้าง ก็อาจจะมีคำถามว่า การปล่อยให้ตลาดทำงานตามหลักสากลที่ว่านี้แล้วก่อให้เกิดผลดีจริง ๆ ตามหลักการข้างต้นหรือไม่ ถ้ามองตามหลักการอย่างเดียว ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้ามองเชื่อมโยงกับสภาวะทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมในสังคมจริงๆแล้ว จะพบว่าเศรษฐกิจไม่ได้ทำงานโดยอิสระเสมอไป เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ระบบเศรษฐกิจจะถูกกลไกทางการเมือง และกลไกทางสังคม/วัฒนธรรม เข้าไปจัดการอยู่ตลอดเวลา แม้ในทางความคิดจะมีคนพยายามแยกเศรษฐกิจออกมาจากชีวิตทางสังคมด้านอื่นๆก็ตาม
ตัวอย่างของข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ เรื่องของการให้ความสำคัญกับหน่วยที่เป็นปัจเจกชน โดยเฉพาะการกำหนดให้ที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการมองเศรษฐกิจในฐานะที่แยกออกมาเป็นหน่วยอิสระ แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงอยู่เสมอๆว่า การกำหนดเช่นนั้นกลับสร้างปัญหาให้กับสังคมอยู่ตลอดเวลา
ในกรณีของสังคมไทย นับตั้งแต่รับเอาความคิดนี้มา ก็มีความพยายามที่จะให้ทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เมื่อสมัยรัชการที่ 5 จนถึงการออกประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อ ปี พ. ศ 2497 ก็เป็นความพยายามที่จะผลักดันให้ที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมาโดยตลอด โดยมีการให้เอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันพอสมควร จนท้ายที่สุดก็มีการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินให้กับปัจเจกชน เท่าที่ผ่านมานั้น พื้นที่ทำการเกษตรของประชาชนมีเอกสารสิทธ์เป็นโฉนดน้อยมาก ส่วนมากจะเป็น นส. 3 หรือ สค. 1 หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ที่เป็นโฉนดจริง ๆ แล้ว มีอยู่เพียง 20 เปอร์เซนต์เท่านั้น การเร่งรัดให้มีการออกโฉนดนั้น ก็เพื่อเหตุผลสำคัญ ในการที่จะสร้างความมั่นคงในการถือครอง เพราะเชื่อกันว่า เมื่อมีความมั่นคงแล้ว ก็จะเกิดแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในการเกษตรมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าของที่ดินจะใช้เอกสารสิทธิ์เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน แล้วก็จะเอามาลงทุนในภาคการเกษตร ซึ่งจะผลักดันให้การเกษตรพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามหลักการที่เชื่อว่าปัจเจกชนที่มีเหตุมีผลดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น
แต่เราก็พบว่า การที่เร่งรัดออกโฉนดที่ดิน แล้วคิดว่าแนวทางเช่นนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั้น อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะกรณีที่เราพบอย่างชัดเจนเกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูน ได้ชี้ชัดแล้วว่า กลไกตลาดก็ล้มเหลวได้ เมื่อจัดสรรให้ที่ดินเป็นของส่วนตัว ไม่ได้แปลว่าเจ้าของจะเอาที่ดินไปใช้ในการผลิตอย่างเดียว ในกรณีที่ลำพูน ปรากฎว่าเจ้าของที่ดินจำนวนมากนำที่ดินไปใช้ในการเก็งกำไร แล้วก็บอกว่ามีการใช้ที่ดินแล้ว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้ในการผลิตทางการเกษตร ฉะนั้นผลที่ตามมา ก็กลับกลายเป็นว่า เจ้าของที่ดินมักจะปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่เจ้าของอ้างว่าได้ใช้แล้ว ด้วยการเอาที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคาร แล้วนำเงินนั้นมาเก็งกำไรในด้านต่างๆ
คำถามตรงนี้จึงมีอยู่ว่า การใช้ที่ดินเช่นนี้เป็นการใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพหรือได้ประโยชน์สูงสุด ตามหลักอรรถประโยชน์จริงแล้วหรือ เพราะคำว่าประโยชน์สูงสุดตรงนี้ อาจไม่ได้แปลว่าประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ต่อสังคม แต่กลายเป็นเพียงประโยชน์ต่อปัจเจกชนเฉพาะรายเท่านั้น ในที่สุดก็เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจ
4. กลไกตลาดสามารถจัดสรรส่วนเกินให้ยุติธรรมได้จริงหรือ
คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ กลไกตลาดสามารถทำงานในทางที่จะกระจายส่วนเกินไปสู่สังคมให้ยุติธรรมได้จริงหรือ
คำถามเช่นนี้ถือเป็นประเด็นปัญหามาตลอด ในความคิดของผมก็เห็นว่ามีปัญหา ขณะนี้มีข้อโต้เถียงต่อความคิดเช่นนี้หลายแนวทางด้วยกัน
แต่บางแนวทางก็เป็นเพียงความฝัน เพราะไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางเศรษฐกิจ ตามสภาพเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการทำงานของกลไกตลาดนั้น ด้านหนึ่งจะต่อต้านตลาดมาก เพราะเน้นความสำคัญของเศรษฐกิจแบบชุมชนหรือว่าเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ซึ่งก็ไม่แน่อีกว่าพอเพียงจริงหรือไม่อย่างไร
หากพิจารณาจากพื้นฐานของหน่วยปัจเจกชน จะพบว่าเศรษฐกิจชุมชนก็ยังมีปัญหา ทั้งนี้เพราะชาวบ้านในชุมชนเวลานี้บางคนก็ไม่มีที่ดินถือครองแล้ว ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นคนงานรับจ้าง ถ้าจะถามว่าคนงานรับจ้างจะสร้างเศรษฐกิจแบบพอเพียงได้อย่างไร ก็คงเห็นแล้วว่า คงจะทำไม่ได้ เพราะคนที่จะมีเศรษฐกิจพอเพียงได้ จะจำกัดอยู่เฉพาะกับคนที่มีที่ดินจำนวนหนึ่งเท่านั้น การเน้นเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นเพียงการโต้แย้งกลไกตลาด ซึ่งบางครั้งและในบางเงื่อนไขก็อาจจะทำได้บ้าง ถ้าหากพิจารณาจากมุมมองของหน่วยทางเศรษฐกิจที่เป็นหน่วยชุมชน
แต่อาจจะมีบางคนเห็นว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียงเป็นไปไม่ได้ ในกรณีที่กลไกตลาดล้มเหลว ภาครัฐจะต้องเข้าแทรกแซง ในเวลาที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ การแทรกแซงของรัฐสามารถที่จะทำได้หลายแบบ ในกรณีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภาครัฐจะเข้าไปแทรกแซง ด้วยการนำเอาส่วนเกินไปลงทุนเองในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถที่จะขยับขยายตัวได้ เช่น การสร้างทางด่วน ซึ่งมีส่วนช่วยให้บริษัทรถยนต์ขายรถได้มากขึ้น เท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง
ถ้าไม่เอากำไรมาใช้ในการทำโครงสร้างพื้นฐาน ก็อาจจะเอามาใช้อีกอย่างหนึ่ง คือการที่เอาส่วนเกินหรือทุนที่มีอยู่บางส่วนมาใช้ในการลงทุนในภาคธุรกิจที่สำคัญ เพื่อกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลไทยเราใช้อยู่หลายกรณีด้วยกัน เช่น การสนับสนุนภาคธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีโยงใยทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาก ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามมา ส่วนอีกทางหนึ่ง รัฐบาลสามารถใช้การกระจายเอาเงินลงไปให้เข้ากระเป๋าคน เพื่อให้คนจะได้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นรัฐบาลยังสามารถเข้าแทรกแซงในเรื่องอื่นๆได้อีก เช่น การสนับสนุนระบบ สวัสดิการทางสังคม ดังในกรณีของโครงการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรคต่าง ๆ การที่รัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตลาดไม่ได้ทำงานได้ดีเสมอไป
เมื่อตลาดไม่สามารถทำงานได้ดี รัฐบาลก็ต้องเข้ามาแทรกแซง ตามนโยบาย 4 แนวทางนั้น ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็มักใช้ 4 แนวทางนี้ ซึ่งจะเรียกว่านโยบายสวัสดิการหรือประชานิยมอะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ก็จะใช้อยู่ 4 แนวทางนี้มากน้อยสลับกันไปสลับกันมา แต่จะมีปัญหาก็คือว่า การใช้แบบครอบจักรวาล โดยปราศจากการแยกแยะความแตกต่างของพื้นที่และกลุ่มชนอย่างชัดเจน มักจะมีปัญหาด้านคุณภาพของการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย อาจเกิดคำถามว่า แนวทางดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจจริงหรือเปล่า หากไม่เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้จริง ก็จะก่อให้เกิดหนี้สินมากมายในอนาคต ซึ่งก็ต้องประเมินในเชิงนโยบายตลอดเวลาว่า แนวนโยบายเหล่านั้นสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด
แนวนโยบายดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ตลาดไม่ได้ทำงานได้ดีเสมอไป จะต้องมีรัฐเข้ามาเป็นตัวแทรกแซง พูดง่าย ๆ ความคิดที่ว่าเศรษฐกิจอยู่ได้แบบโดดๆ ก็ไม่ได้เป็นจริงในทางปฏิบัติเสมอไป ระบบเศรษฐกิจอาจจะล้มเหลวได้ เช่น กรณีตลาดล้มเหลว เมื่อเกิดการเก็งกำไรที่ดิน ในบางครั้งเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐก็เข้ามาแทรกแซง แต่ที่กำลังเป็นปัญหาหนักก็คือ กลไกตลาดไม่ได้ทำงานจำกัดเฉพาะในระดับประเทศ แต่ยังทำงานในระดับโลกด้วย
ดังนั้นกระแสความคิดที่พยายามผลักให้เศรษฐกิจแยกออกเป็นอิสระจากการควบคุมของสังคมในทุกๆพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะแปลงให้ทรัพย์สินเป็นทุน ซึ่งก็คือการแปลงทรัพยากรต่าง ๆ ให้เป็นของส่วนบุคคล แนวทางนี้จะส่งผลกระทบทางสังคมอย่างมาก เพราะหลงไปคิดว่าตลาดเป็นกลไกที่จะจัดสรรทรัพยากรที่ดีที่สุด การพยายามผลักดันแนวทางเช่นนี้ จะนำไปสู่การสร้างความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เพราะคนจนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาทรัพยากรที่ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมาก ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การแทรกแซงโดยกลไกของรัฐ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อรัฐแทรกแซงแล้ว จะเสริมสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจเสมอไป ซึ่งแล้วแต่ว่ารัฐบาลประเทศไหนจะรักษาผลประโยชน์ของตนเองอย่างไรด้วย
5. ปัญหาของกลไกรัฐกับการบิดเบือนเชิงโครงสร้าง
เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลไกทางการเมือง ก็อาจจะยังไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างต็มที่
เพราะอาจจะกำหนดการแทรกแซง ที่บิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เช่น
รัฐบาลในอดีต กำหนดนโยบายในการควบคุมราคาน้ำตาล ให้เราต้องซื้อน้ำตาลในราคา กิโลกรัมละ
13-14 บาท แต่คุณอาจไม่รู้หรอกว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ที่ 5 บาทเท่านั้น
มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว
พูดง่าย ๆ คือว่า เมื่อสมัยก่อน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมทั้งหลายแหล่ที่มาจากอุตสาหกรรมน้ำตาลได้ออกนโยบายเช่นนี้ขึ้นมา กำหนดให้ประชาชนทั้งประเทศจ่ายเงินในการอุดหนุนราคาน้ำตาล เพื่อให้โรงงานน้ำตาลมีกำไรอยู่ได้ โดยที่อ้างว่ามีคนทำไร่อ้อยมากมาย เราต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อย คำถามมีอยู่ว่า โรงงานหรือไร่อ้อยต่าง ๆ นี้ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า โรงงานและเจ้าของไร่อ้อยเอารถบรรทุกไปขนคนงานจากทางอีสานมาตัดอ้อย แต่ปล่อยให้พวกเขาต้องอยู่เหมือนอย่างหมูเหมือนอย่างหมา พูดง่าย ๆ ก็คือว่าคนงานไร่อ้อยเป็นคนงานที่ถูกทารุณและกดขี่มากที่สุดในบรรดาอุตสาหกรรมทั้งหมด ทั้งๆที่กดขี่คนงานขนาดนี้ แต่รัฐบาลก็ยังพยายามจะรักษาธุรกิจการผลิตอ้อยและน้ำตาลเอาไว้ ด้วยการบังคับให้ประชาชนซื้อน้ำตาลแพงกว่าราคาในตลาดโลก
การที่รัฐเอาเงินของเราไปค้ำจุนสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ถือเป็นการบิดเบือนทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเสรีจริง ๆ ตามหลักการของระบบตลาด ที่ไหนในโลกสามารถผลิตน้ำตาลได้ราคาถูกมากกว่า เราก็ควรที่จะไปซื้อน้ำตาลเขามา เมื่อตลาดโลกขาย 5 บาท เราก็ควรที่จะซื้อน้ำตาลราคา 5 บาทด้วย ไม่ใช่ว่าเราไปอุดหนุนราคาน้ำตาล หรือ ไม่ใช่ว่าเราต้องซื้อในราคา 14 บาท ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ แต่รัฐบาลบังคับให้เราต้องซื้อแพงกว่าราคาตลาดโลก เพื่อไปอุดหนุนโรงงานน้ำตาล จึงมีคำถามว่าโรงงานน้ำตาลทำประโยชน์อะไรให้สังคมบ้าง ช่วยเหลือคนงานหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ใช่ อีกทั้งยังกลับไปกดขี่ คนงานมากขึ้นเสียอีก
การเข้าไปแทรกแซงทางนโยบายของรัฐ อาจจะถือเป็นการบิดเบือนเชิงโครงสร้างได้ หากไม่ได้ทำไปภายใต้หลักการที่ว่า จะสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจหรือความเป็นธรรมทางสังคม แต่เพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมบางประเภท ตามที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองเห็นว่าจะทำให้กลุ่มของตนเองได้ประโยชน์ ในสังคมไทยมีกลไกที่ไปบิดเบือนต่าง ๆ เหล่านี้อยู่มากมายมหาศาล การบิดเบือนเช่นนี้สามารถที่จะทำได้หลายรูปแบบ อย่างเช่น โครงสร้างภาษีก็อาจบิดเบือน
ในกรณีของการเก็บภาษีของคนในเมืองกับคนชนบท คนชนบทอาจจะเสียมากกว่าโดยเปรียบเทียบ เพราะว่าต้องเสียภาษีทางอ้อมเป็นหลัก ด้วยเงื่อนไขที่ว่าคนในชนบทมีสัดส่วนของรายได้ต่ำมาก เมื่อเทียบอัตราภาษีที่ต้องจ่าย ด้วยเหตุนี้เอง กลไกทางเศรษฐกิจ ที่รัฐเข้ามาแทรกแซงนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เสมอไป
โครงสร้างที่บิดเบือนต่างๆดังกล่าวมีส่วนสำคัญ ในการกีดกันชาวบ้านให้กลายเป็นคนชายขอบ จนไร้อำนาจที่จะต่อรองกับตลาด และต้องกลายเป็นคนจนซ้ำซาก ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาครัฐมักจะสนใจสนับสนุนระบบทุนนิยมเพียงครึ่งเดียว เฉพาะในครึ่งที่ช่วยให้ตลาดทำงานอย่างเสรี แต่กลับไม่ใส่ใจนักที่จะใช้กลไกทางเศรษฐกิจอื่นๆควบคุมตลาด ที่สำคัญก็คือ กลไกภาษี ซึ่งสามารถช่วยให้รัฐปรับลดการบิดเบือนเชิงโครงสร้างได้ด้วย และยังสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ด้วยการหันมาเน้นการเก็บภาษีให้มีลักษณะเป็นภาษีทางตรง และเป็นภาษีที่จัดเก็บด้วยอัตราก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะภาษีที่ดิน และภาษีมรดก เป็นต้น โดยกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดเก็บภาษี ก็จะช่วยให้มีการกระจายความมั่งคั่งในสังคมได้ดีขึ้น
6. กลไกทางสังคมกับความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
หากถามว่าบางประเทศ ที่ใช้กลไกทางการตลาด แล้วรัฐก็เข้าแทรกแซงด้วย ทำไมเศรษฐกิจของเขาถึงได้ก้าวหน้ากว่าของเรา
กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบเศรษฐกิจของเขาต้องมีกลไกทางกฎหมาย
กลไกทางสังคม และกลไกทางวัฒนธรรมอื่นๆถ่วงดุลย์กันอยู่ หมายความว่า ในระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่น
ที่ก้าวหน้าไปกว่าเรา แม้ว่าจะใช้หลักการของระบบตลาดเช่นเดียวกับเรา ก็เพราะว่าเขายังมี
กลไกทางสังคม อย่างอื่นๆ ซ้อนทับและถ่วงดุลย์กลไกทางเศรษฐกิจอยู่อีก แต่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของเรานั้น
ปล่อยให้อำนาจรัฐและตลาดรวมศูนย์และผูกขาดมาก ยังผลให้กลไกท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองในการที่จะมีส่วนกำกับกลไกทางเศรษฐกิจต่ำมาก
กลไกทางเศรษฐกิจของรัฐจึงมักจะบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ง่าย
แม้ในหลักการของระบบตลาดเสรีเอง ก็ไม่ได้คิดว่าระบบเศรษฐกิจจะก้าวหน้าได้เองทั้งหมด และก็ไม่ได้คิดว่า ระบบเศรษฐกิจจะแยกออกเป็นอิสระจากส่วนอื่นๆของสังคมได้ แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะชี้ให้มองดูเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา ในความเป็นจริง ภาครัฐก็มักเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอยู่เสมอ ด้วยการออกกฎหมายมากำกับและควบคุม แต่ในกรณีที่บางประเทศมีความเจริญก้าวหน้าได้ดีกว่า ก็เพราะว่าในโครงสร้างทางสังคมของเขา ยังมีกลไกทางสังคมอื่นๆอีกมากมาย ที่สามารถทำหน้าที่ต่อรองและควบคุมให้กลไกของรัฐ จึงสามารถลดการบิดเบือนลงได้
ขณะที่ภาครัฐในสังคมไทยของเรายังไม่ได้เป็นตัวแทนภาคประชาชนอย่างแท้จริง และภาคสังคมก็ยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะควบคุมภาคเศรษฐกิจได้เอง แต่เรากลับหลงอยู่กับแนวคิดทางเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่อยากจะให้ภาคเศรษฐกิจมีอิสระมากขึ้น เพื่อที่จะให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเสรี อาจมีผลทำให้ภาคเศรษฐกิจลุแก่อำนาจของตัวเอง ด้วยการผลักดันให้ภาครัฐเข้าไปบิดเบือนโครงสร้างต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน
ถ้าจะพูดถึงกลไกทางสังคมของเรา ก็ยังไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหว หรือผลักดันให้สร้างหน่วยทางสังคมหรือกลไกทางสังคมแบบใหม่ ๆ ที่จะเหมาะสมกับสภาวะและเงื่อนไขของสังคมสมัยใหม่ได้เลย เมื่อนึกถึงหน่วยทางสังคมอื่นใดไม่ได้ เราก็มักจะหันกลับมาพึ่งกลไกชุมชน แต่กลไกทางสังคมไม่ได้มีเฉพาะกลไกชุมชนอย่างเดียว ยังมีกลไกของหน่วยทางสังคมลักษณะอื่น ๆ อีก ที่จะช่วยควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบถ่วงดุลย์ ให้ตลาดให้ทำงานตอบสนองสังคมได้ดีขึ้น
ในปัจจุบัน ภาครัฐได้เข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ในด้านหนึ่งก็มุ่งหวังจะให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ด้วยการผันเงินทุนรูปแบบต่างๆลงไปสนับสนุนธุรกิจชุมชน แต่ว่าชุมชนจะพึ่งตนเองได้หรือไม่นั้น ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าชุมชนมีทุนของตนเองเพียงพอหรือไม่เท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กลไกเชิงโครงสร้างส่วนอื่นๆอีกด้วย เพราะชุมชนเองก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศ เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจก็ไม่สามารถแยกออกจากส่วนอื่นๆของสังคม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนได้ เช่น การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอาจทำลายการผลิตด้านเกษตรกรรมของชุมชน
หากชุมชนมีเศรษฐกิจแบบพอเพียงด้านเดียว ก็หมายความว่าชุมชนไม่มีการผลิตส่วนเกิน ถ้าไม่มีส่วนเกินเลย ชุมชนก็ไม่สามารถจะสะสมพลังเพียงพอ ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเศรษฐกิจชุมชนก็ต้องผลิตส่วนเกินบ้าง เพื่อนำมาเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ แต่เมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจมหภาคยังมีการบิดเบือนอย่างมากมายมหาศาลเช่นนี้ ระบบเศรษฐกิจของชุมชนก็คงพัฒนาไปได้เองยาก เพราะต้องเผชิญกับปัญหาว่า เราจะจัดการกับส่วนเกินต่างๆในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร
ส่วนการจะให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็อาจจะมีปัญหามากเช่นกัน เพราะภาครัฐสามารถนำเอาส่วนเกินไปจัดการเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หากภาคสังคมอื่นๆยังอ่อนแอ จนไม่สามารถต่อรองหรือถ่วงดุลย์ได้ ดังนั้นการจะตอบคำถามว่า เศรษฐกิจจะยุติธรรมหรือไม่นั้น คงไม่ใช่เพียงลุกขึ้นมาตอบว่า ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมเท่านั้น แต่คงจะต้องมองออกไปให้กว้างไกลกว่านั้น ด้วยการมาไตร่ตรองดูว่า เราต้องพัฒนากลไกทางสังคมอะไรขึ้นมาอีกบ้าง เพื่อให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการส่วนเกินนี้ให้มากขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ การเข้าไปควบคุม การถ่วงดุลย์ และการต่อรอง เพื่อให้เกิดการกระจายส่วนเกินเหล่านี้ ไปในทิศทางที่คนส่วนใหญ่ในสังคมคิดว่า จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้า ความเป็นธรรม และความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรไปพร้อม ๆ กันได้
ดังนั้น ทุกๆส่วนในสังคมคงจะต้องมาร่วมกันช่วยคิดและร่วมกันเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้พัฒนากลไกทางสังคมใหม่ๆให้มากขึ้น ทั้งการสร้างสถาบันทางสังคมแบบใหม่ และการสร้างมาตราการทางสังคมใหม่ๆ ด้วยการให้กลไกทางสังคมใหม่ๆเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการกับส่วนเกินให้มากขึ้น โดยเฉพาะการต่อรองให้เกิดการกระจายส่วนเกินเหล่านี้อย่างเป็นธรรม และไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของทรัพยากร ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวหน้า เพราะกลไกตลาดเท่าที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่มาก ยังไม่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ อย่างเก่งกลไกตลาดก็อาจจะช่วยสร้างความก้าวหน้าให้กับคุณภาพชีวิตบ้าง ส่วนการกระจายส่วนเกินให้เป็นธรรม และการจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนยังมีปัญหาอยู่อีกมาก
7. บทส่งท้าย
เมื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของสังคมมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ ความก้าวหน้า
ความเป็นธรรม และความยั่งยืน ทุกสังคมคงจะต้องพยายามนำกลไกทุกๆส่วนมาใช้ ในการจัดการเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้มากที่สุด
สำหรับสังคมไทยนั้น มักจะเลือกใช้กลไกเพียงบางส่วนกับเป้าหมายเพียงบางประการเท่านั้น เช่น การให้กลไกรัฐผลักดันความก้าวหน้าและความยั่งยืนบ้าง แต่ยังมีข้อจำกัดมากในด้านการสร้างเสริมความเป็นธรรม ทั้งๆที่ในสังคมไทยมีกลไกอีกหลายอย่าง ที่อาจให้มีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่สังคมไทยยังไม่ได้จัดสรรบทบาทให้กับกลไกต่างๆอย่างเหมาะสมและสัมพันธ์กันเท่าที่ควร
เรามักจะคิดแบบแยกส่วน ซึ่งทำให้ยึดติดอยู่กับกลไกใดกลไกหนึ่งเป็นหลัก เช่น ฝ่ายหนึ่งอาจจะเน้นกลไกตลาด อีกฝ่ายหนึ่งก็เน้นชุมชน จนกลายเป็นความคิดแบบคู่ตรงกันข้าม ในปัจจุบันนี้ ความคิดแบบคู่ตรงกันข้ามกลายเป็นกับดักทางความคิด เมื่อเราไปติดกับดักแล้ว เราก็จะมองเห็นภายในวงแคบๆเท่านั้น คนที่เน้นความสำคัญของชุมชน ก็จะบอกว่าชุมชนเท่านั้นเป็นคำตอบหรือทางออก ส่วนคนที่เน้นกลไกตลาดหรือภาครัฐ ก็จะมองไปในทางตรงกันข้ามแต่เป็นทางเดียวเท่านั้น
ในความจริงแล้ว สังคมทุกสังคมจะมีกลไกต่างๆทำงานอยู่อย่างสลับซับซ้อน แต่ผู้มีอำนาจในสังคมมักจะกีดกันกลไกบางอย่างออกไป จนทำให้ดูเหมือนว่ากลไกบางส่วนเท่านั้นที่มีบทบาทมาก ดังนั้นจึงต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม เพื่อไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดครอบงำส่วนอื่นๆได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อผลักดันให้สร้างสถาบันทางสังคมสำหรับการจัดการแบบใหม่ๆ ซึ่งสามารถเปิดพื้นที่ให้หลายภาคส่วนของสังคม เข้าไปมีบทบาทในการต่อรอง ตรวจสอบ ควบคุม และถ่วงดุลย์ กันมากขึ้น ในการจัดการทรัพยากรและส่วนเกินทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างหลักประกันความก้าวหน้า ความเป็นธรรม และความยั่งยืน ไปพร้อมๆกัน
ตัวอย่างสำคัญตามแนวทางนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐออกกฎหมายป่าชุมชน และการผลักดันของชาวบ้านไร้ที่ดินที่ลำพูน เพื่อให้รัฐออกโฉนดชุมชน แทนการให้เอกสารสิทธิ์แก่ปัจเจกชนเพียงอย่างเดียว เป็นต้น ความเคลื่อนไหวทางสังคมในทั้งสองกรณีนี้ได้แสดงแนวความคิดบางอย่างร่วมกัน ที่สำคัญก็คือ การผลักดันแนวคิดในการพัฒนาสถาบันทางสังคมใหม่ ที่มีลักษณะเป็นการจัดการเชิงซ้อน แทนที่การจัดการเชิงเดี่ยว ด้วยการเปิดให้ส่วนต่างๆในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกระบวนการต่อรอง ตรวจสอบ และถ่วงดุลย์ ระหว่างอำนาจฝ่ายต่างๆในสังคมได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่ง ในการควบคุมดูแลให้เศรษฐกิจมีความยุติธรรมแก่ส่วนต่างๆในสังคมได้อย่างแท้จริง
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
ในยุโรปช่วงต้นคริสศตวรรษที่ 20 นักวิชาการจำนวนหนึ่งออกมาเสนอความคิดว่า ไม่ควรที่จะเอาเศรษฐกิจไปเกี่ยวพันกับชีวิตสังคมด้านอื่น ๆ แต่ควรจะมองเศรษฐกิจแยกออกมาเป็นเรื่องต่างหาก เพราะเห็นว่าทางเศรษฐกิจนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ซึ่งต่อมาเราเรียกนักวิชาการพวกนี้ว่า พวกอรรถประโยชน์นิยมหน่วยสุดท้าย (Marginalist) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันในหลาย ๆ ประเทศโดยไม่ตั้งใจ ทั้งในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศล และในออสเตรเลีย ...
... ดังนั้น การที่จะระบุออกไปว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่นั้น อยู่ที่การมองว่า เศรษฐกิจควรที่จะแยกออกมาเป็นอิสระจากส่วนอื่นๆของสังคม หรือว่าควรที่จะไปมีพันธะทางสังคม ซึ่งก็เป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมาตลอด มีนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคนหนึ่งชื่อ คาร์ลโปลานยี่ (Karl Polanyi) แสดงความเห็นไว้ว่า ควรที่จะมองเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันแนบแน่นอยู่กับสังคม ทั้งนี้เศรษฐกิจต้องเชื่อมโยงอยู่กับ"การเมือง/สังคม/วัฒนธรรม"เสมอ ไม่สามารถมองแยกออกมาได้ ถ้ามองแยกเมื่อไหร่ก็หมายความว่า เริ่มที่จะบิดเบือนเศรษฐกิจใช้ไปในทางที่จะไปหาประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถือเป็นแง่คิดในมุมมองหนึ่ง เพราะมองเห็นแล้วว่า การแยกเศรษฐกิจออกมานั้นมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร