มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 330 หัวเรื่อง
กฎหมายกับการปฏิรูประบบราชการ
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 18
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
เอกสารประกอบทางวิชาการ
ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ ๔
วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ประเด็นย่อย การพัฒนาระบบราชการไทย
บทความทางวิชาการเรื่อง
" กฎหมายกับการปฏิรูประบบราชการ "
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขาวิชานิติศาสตร์
ภาควิชารัฐศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อเสนอในบทความนี้มีลักษณะที่เป็น
concept paper ดังนั้นในหลายๆส่วนของเนื้อหาในบทความอาจจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์มากขึ้น
ในส่วนที่บกพร่องเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
(บทความนี้ยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)
ความนำ
ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมาข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับว่า เมื่อไม่สามารถที่จะใช้หลักนิติศาสตร์ได้แล้วก็ควรที่จะนำหลักรัฐศาสตร์มาใช้
นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของระบบราชการไทย และยังส่งผลไปถึงการอ้างข้อถกเถียงในลักษณะที่เป็นการปกป้องสถาบันวิชาชีพ
และสถาบันการศึกษา ซึ่งมุ่งที่จะสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นในสายงานทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชน
ภาวะเช่นนี้เป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วไป
สภาวะข้างต้น สามารถสะท้อนอาการของโรคบ้างประการในแวดวงวิชาการที่นำมาสู่ปัญหาในระบบราชการ สภาพเช่นนี้ แทนที่จะมีบรรยากาศของการนำความรู้หรือวิชาการนำการปฎิบัติ ก็กลายเป็นต่างฝ่ายต่างทำโดยไม่รู้สึกอะไรมากนัก ทั้งๆที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาของสถาบันวิชาการด้วยกันทั้งสิ้น
ด้วยเหตุดังนั้น สภาพเช้าชามเย็นชามตามที่เรียกกันมาจึงเป็นสภาพที่มีให้เห็น คดีความต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสถิติสูงขึ้น งบประมาณต่างๆที่ต้องสูญเสียไปจากการไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ และการทุจริตคอรัปชั่น ส่งผลให้สังคมต้องแบกรับภาระทั้งหมด ฯลฯ และปัญหาทั้งหมดก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในต่างประเทศเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นแหล่งผลิตนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และนักวิชาการด้านอื่นๆอีกมากมาย ก็เคยมีการถกเถียงกันในทางวิชาการ มีการทำการสำรวจสถานภาพขององค์ความรู้ เนื้อหาวิชา กระบวนการในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย ที่เกี่ยวกับวิชากฎหมายมหาชนกับวิชาการบริหาร (โปรดดูรายละเอียดใน บทบรรณาธิการและบทความในวารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 2 เมษายน 2526 ตอน 1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และวิชากฎหมายมหาชนกับรัฐศาสตร์ (โปรดดูรายละเอียดใน บทบรรณาธิการและบทความในวารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 2 เมษายน 2526 ตอน 2 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)
การประสานร่วมกันทางวิชาการดังกล่าว เกิดจากสภาพปัญหาของระบบราชการของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเล่นพรรคเล่นพวก นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง จนเป็นต้นตอก่อกำเนิดของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ อันโด่งดัง และเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นระบบเศรษฐกิจเสรี เพื่อเป็นแนวในการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิสังคมนิยม
ในปัจจุบัน ยุคการแข่งขัน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเข้มข้น เพราะระบอบการเมืองแบบสังคมนิยมล่มสลายและผันตัวเองเข้าสู่ระบบทุน เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นตลาดใหม่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงกว้างและรวดเร็วทำให้ประเทศต่างๆต้องปรับตัว ประเทศไทยเราเองที่ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มของวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ต้องหันกลับมามองสังคมทั้งระบบ ดังนั้นแม้เราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราชการ แต่นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบย่อยระบบหนึ่ง(ที่เคยมีพลัง)ที่อยู่ในโครงสร้างของสังคม และถึงแม้จะมีข้อพิสูจน์หลายๆประการว่าระบบราชการจำเป็นที่จะต้องมีการปฎิรูป แต่ก็ต้องไม่ลืมถึงระบบอื่นๆที่อยู่ในโครงสร้างสังคมและมีปัญหาอยู่เช่นเดียวกัน เช่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจที่กระจุกตัว สื่อสารมวลชน ฯลฯ ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป
กรอบความคิด
กฎหมายเป็นเรื่องใหญ่และกว้างขวาง การปฎิรูประบบราชการก็เป็นเรื่องยากสลับซับซ้อน
และมีหลายแง่มุมหลายมิติ ดังนั้นเพื่อจะทำให้วางกรอบในการทำความเข้าใจและเพื่อให้เห็นทิศทางและเค้าโครงของเรื่องที่จะดำเนินไป
ในการทำความเข้าใจในประเด็นกฎหมายกับการปฎิรูประบบราชการจะใช้แนวคิดดังต่อไปนี้
1. แนวคิดเรื่อง
โครงสร้าง - อำนาจหน้าที่
ในการทำความเข้าใจใน "ความเป็นระบบ" ของกฎหมายและระบบราชการ โดยจะใช้แนวทางการศึกษาเชิงหน่วย(ย่อย)ของระบบในลักษณะที่เป็นการมองภาพรวมหรือการมองแบบมหภาค
( มองแบบ Marco ) ประกอบกับการมองแบบจุลภาค ( มองแบบ Micro ) ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในระบบใดระบบหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงอาจจะมีได้ทั้งในทางที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบย่อยไปสู่ระบบใหญ่
หรืออาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบใหญ่ไปสู่ระบบย่อยๆ โครงสร้างและพฤติกรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายๆประการ
ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์กรณีของการปฎิรูประบบราชการที่ผ่านๆมา รวมถึงกรณีของการปฎิวัติรัฐประหารที่แล้วๆมาในประเทศไทย
สถิติของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองและในระบบราชการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
2. แนวความคิดเรื่องระบบสกุลกฎหมาย
ในทางวิชาการกฎหมาย โดยปรกติตามแนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย อำนาจต่างๆที่เกี่ยวกับกฎหมายไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการออกกฎหมาย
อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย และอำนาจในการวินิจฉัยตามบทบัญญัติกฎหมาย มักจะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่ว่าเกี่ยวกับเขตอำนาจอธิปไตยที่เป็นเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
ดังนั้น ระบบกฎหมายของแต่ละประเทศจึงเป็นอิสระภายในของแต่ละประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้เนื่องจากมีการหยิบยืมความคิดลอกเลียนกัน มีการบีบบังคับยัดเยียดการวางกฎกติกาที่เรียกว่ากฎหมาย
มีการผลิตความรู้ในทางกฎหมายและเผยแพร่ความคิดกันมากมาย ผ่านการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง
การให้ความช่วยเหลือ การสนับสนุนการพัฒนา
กรณีประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น
และบ่อยครั้งที่ปัญหาในทางกฎหมายเป็นปัญหาที่เกิดจะความสับสนในระบบกฎหมายที่ไปลอกเลียนหยิบยืมมา
และนำมาบังคับใช้โดยไม่ได้มีการปรับให้สอดคล้องกับบริบทของเราเอง ประหนึ่งเป็นการต่อท่อนำความคิดมาใช้โดยไม่ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรองให้สอดคล้องกับสังคมไทยก่อน
ความเป็นวิชาการแบบต่อท่อนี้สร้างมายาคติในทางวิชาการให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยเป็นอันมาก
(ท่านที่สนใจโปรดอ่านรายละเอียดใน 1. " การปฎิรูประบบกฎหมายไทยภายใต้อิทธิพลยุโรป
" ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์
วิญญูชน กรุงเทพฯ ( 2546 ) 2. " ความเป็นมา และหลักการใช้ นิติวิธี ในระบบซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์
"ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์
วิญญูชน กรุงเทพฯ ( 2546 ) 3. " กฎหมายมหาชน 2 : การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน - เอกชน
และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย " ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สำนักพิมพ์นิติธรรม
กรุงเทพฯ ( 2538 ))
แนวความคิดที่เกี่ยวกับสกุลของกฎหมาย ที่จะช่วยให้เข้าใจกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการปฎิรูประบบราชการ คือแนวคิดของระบบกฎหมายจากสองสกุลหลัก คือสกุลซิวิลลอว์และสกุลคอมมอนลอว์ สองสกุลดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในประเทศต่างๆในโลก พัฒนาการของสองระบบดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะ และมีการจัดระบบองค์กรสถาบันในการใช้อำนาจที่ค่อนข้างจะลงตัวเป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการชี้ขาดตัดสินคดีที่ค่อนข้างจะเป็นระบบมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันของฝ่ายนิติบัญญัติ( รัฐสภา)และฝ่ายบริหาร( รัฐบาล ) และระบบราชการประจำ
ระบบกฎหมายที่มีพัฒนาการมาเป็นเวลาช้านานเช่นนี้ ทำให้เกิดการสะสมองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการบริหารอำนาจของฝ่ายต่างๆให้ลงตัว ประกอบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจ ในทางการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในระบบกฎหมายไม่สกุลใดสกุลหนึ่ง ในสกุลกฎหมายซิวิลว์ลอว์ หรือสกุลกฎหมายคอมมอนลอว์ และด้วยเหตุที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางการทหาร จึงทำให้ระบบกฎหมายของประเทศต่างๆเหล่านั้นที่ตกอยู่ในอิทธิพลทางเศรษฐกิจ อิทธิพลทางการทหาร และที่สำคัญคือการตกอยู่ในอิทธิพลทางความคิด รับเอาอิทธิพลของระบบกฎหมายไว้ด้วย
หัวใจสำคัญของระบบกฎหมายในสองสกุลที่ต่างกันคือ ระบบซิลวิลล์ลอว์สร้างกฎหมายโดยระบบการบัญญัติกฎหมาย มีการสร้างแนวความคิดในการจัดความสัมพันธ์ในทางกฎหมายโดยแบ่งแยกออกตามผลประโยชน์ที่กฎหมายมุ่งที่จะจัดสรร กล่าวคือ ถ้าเป็นผลประโยชน์ระหว่างปัจเจกบุคลด้วยกันเองแล้ว ผลประโยชน์ประเภทนี้ควรที่จะมีบทบัญญัติกฎหมายที่จะสร้างความเป็นธรรมไว้แยกต่างหาก จากผลประโยชน์ที่เป็นของส่วนรวมหรือที่เรียกในภาษากฎหมายในระบบนี้ว่า เป็นประโยชน์สาธารณะ ( Public Services) ซึ่งควรที่จะมีบทบัญญัติกฎหมายและระบบในการจัดสรรผลประโยชน์ที่ตั้งอยู่บนปรัชญาแนวคิดอย่างหนึ่งที่ไม่ควรจะเหมือนกัน อันเป็นที่มาของการแบ่งระบบกฎหมายภายใต้สกุลนี้ออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน
ในส่วนของกฎหมายมหาชนนี้เองที่ไปเกี่ยวข้องรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากในประเทศที่มีระบบกฎหมายเป็นแบบคอมมอนลอว์ ในระบบกฎหมายแบบนี้ จะไม่มีการแยกความสัมพันธ์ในทางกฎหมายออกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่ต้องใช้ปรัชญาในทางกฎหมายเป็นแนวทางในการใช้กฎหมาย ดังนั้นในระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์นี้ การใช้กฎหมายการตีความกฎหมายไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ใดๆก็ตามล้วนแล้วใช้องค์กรชี้ขาดองค์กรเดียวกัน
ประเทศสหรัฐอมริกาใช้ระบบกฎหมายแบบนี้ และประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่สร้างศาสตร์ที่ว่าด้วยการบริหารงานรัฐกิจ และศาสตร์ดังกล่าวนี้ก็แพร่ไปยังประเทศต่างๆมากมาย (สำหรับประเทศไทย สหรัฐอเมริกาถึงขั้นที่ให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนให้มีการตั้งสถาบันที่ผลิตนักบริหารรัฐกิจเพื่อรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไทยขอให้ช่วยเหลือ และในที่สุดก็มีการตั้ง สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า นิด้า ( NIDA)) ศาสตร์ที่ว่าด้วยการบริหารรัฐกิจนี้เมื่อเข้ามามีอิทธิพลในวงราชการไทย ก็ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยในทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับระบบในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ และบทบาทของรัฐในการใช้อำนาจในการพัฒนา
สำหรับในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซิลวิลลอว์ จะยอมรับหลักการที่มีการแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน ในส่วนของกฎหมายมหาชนที่มีพัฒนาการมาจากความพยายามในการถ่วงดุลย์ระหว่างอำนาจของรัฐกับประชาชน โดยพยายามจะหาความพอดีที่กฎหมาย( มหาชน)จะต้องคุ้มครองประโยชน์ของสาธาณะและประโยชน์ของปัจเจก โดยลงไปดูที่บทบาทการใช้อำนาจของระบบราชการฝ่ายปกครองเป็นหลัก และด้วยรากฐานความคิดปรัชญาที่พัฒนาขึ้นมาจากปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินรายกรณี( cases )เช่นนี้ ก็นำมาสู่การสร้างหลักกฎหมายที่เป็นการวางแนวทางว่ารัฐ( ฝ่ายปกครอง)สามารถที่จะใช้อำนาจได้มากน้อยขนาดไหน เรื่องไหนรัฐควรหรือไม่ควรที่จะเข้าไปทำ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลย์ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิของปัจเจกบุคคล
แนวทางดังกล่าวนี้พัฒนามาจากระบบการจัดองค์กรโดยอำนาจและสถานะการณ์ทางการเมืองในยุโรปขณะนั้นโดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ส่งผลสำคัญต่อการสร้างระบบองค์กรชี้ขาดตัดสินคดีที่เป็นระบบศาลคู่( กล่าวคือ มีศาลตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของระบบกฎหมายในสกุลกฎหมายนี้ที่มี ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างไปจากระบบองค์กรชี้ขาดตัดสินคดีของระบบกฎหมายในสกุลคอมมอนลอว์)
และในประการสำคัญที่มิอาจปล่อยให้ผ่านพ้นไปได้ ก็คือ การกำหนดหน้าที่หรือบทบาทของรัฐในระบบซิลวิลลอว์ ที่ใช้การสร้างกฎกติกาที่ชัดเจนและทำให้เป็นอุดมการณ์สูดสุดที่สังคมรับรู้ร่วมกันและกำหนดให้เป็นพันธะกิจของรัฐและฝ่ายปกครองที่จะต้องทำตาม และในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่ไปละเมิดกติกาสูงสุดดังกล่าวที่คุ้มครองประชาชน กระแสความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมจึงเป็นกระแสที่เสริมและสอดรับกับลักษณะของระบบกฎหมายซิลวิลลอว์ที่บัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการกำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนในรูปแบบลายลักษณ์อักษร
แต่อย่างไรก็ตามแม้เราจะรู้ว่าประเทศใดใช้ระบบกฎหมายระบบใด แต่การรู้แต่เพียงรูปแบบก็จะไม่มีความหมายอย่างใด เพราะการที่จะบอกได้ว่าระบบกฎหมายของประเทศเป็นระบบกฎหมายใดจะต้องลงไปตรวจสอบให้ได้ว่า ปรัชญาระบบกฎหมายของประเทศเป็นอย่างไร ปรัชญากฎหมายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และยิ่งสำคัญเป็นเท่าทวีคูณสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่วางเป้าหมายและรากฐานโครงสร้างของสังคมที่จะไปสู่ความเป็น "นิติรัฐ" ดังนั้น ปรัชญากฎหมายซึ่งจะเป็นเหมือนกับ Software ที่ต้องมีในโครงสร้าง( Hardware) กฎหมาย และในที่สุดปรัญชากฎหมายที่เป็นเรื่องสำคัญและต้องมี จะหาได้ก็จากผู้ใช้กฎหมาย นั้นเอง
ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่า นักกฎหมายหรือผู้ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใช้กฎหมายโดยตั้งอยู่บนฐานอะไร ?
ประเด็นปรัชญากฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีผลโดยตรงต่อการวางกรอบของหน้าที่ของรัฐ ว่ารัฐควรจะมีขอบเขตหน้าที่เพียงใด บทบาทของรัฐในด้านต่างๆที่จะทำการพัฒนาประเทศควรจะทำอย่างไร ฯลฯ คำถามทำนองแบบนี้เป็นการถามทำนองเดียวกับคำถามในเชิงปรัชญาการเมือง (หรือที่ถูกควรจะเป็นคำถามในเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมืองมากกว่า) ปรัชญากฎหมายที่มีอิทธิพลในระบบกฎหมายสกุลต่างๆในปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักของนักกฎหมายส่วนใหญ่ ได้แก่
1. ปรัชญากฎหมายพวกสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) หลักการที่เป็นจุดยืนสำคัญของสำนักความคิดนี้ก็คือ การถามถึงความชอบธรรมและวิธีการของการใช้อำนาจรัฐที่จะต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายธรรมชาติ หน้าที่ของรัฐจะต้องมีอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และการทำหน้าที่ของรัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีติดตัวมาของประชาชน
2. ปรัชญากฎหมายของพวกสำนักความคิดแบบกฎหมายบ้านเมือง (Positivism School) หลักการที่เป็นจุดยืนของสำนักความคิดนี้ก็คือ การถามถึงที่มาของกฎหมายว่ากฎหมายดังกล่าวออกมาโดยผู้มีอำนาจรัฐสูงสุดหรือไม่ ถ้าเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจรัฐสูงสุดแล้วถือว่าประชาชนทุกคนต้องยอมรับ เพราะเป็นเจตจำนงร่วมของคนในรัฐ ความคิดทางกฎหมายเช่นนี้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายภายหลังการล่มสลายของระบอบการเมืองแบบสมบรูณาญาสิทธิราช ประกอบกับอิทธิพลของความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องที่สามารถพิสูจน์จับต้องได้ ไม่ได้เป็นเหตุผลในทางปรัชญา หรือ ในทางจริยศาสตร์ อีกต่อไป
(สำนักความคิดในทางกฎหมายนอกจากสองสำนักความคิดดังที่กล่าวมาแล้วยังมีสำนักความคิดอื่นๆ แต่ที่กล่าวถึงสองสำนักความคิดนี้เนื่องจากเป็นที่รับรู้แพร่หลายและเป็นสองสำนักความคิดที่มักจะนำมาอธิบายบทบาท-หน้าที่ของรัฐเสมอมา และน่าจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้การถกเถียงเรื่องบทบาท-หน้าที่ของรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตกอยู่ในการถกเถียงในลักษณะที่เป็นแบบขั้วตรงข้าม (dichotomy) ที่ต้องเลือกและผลักให้คู่ถกเถียงกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน โดยเฉพาะเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างระบบราชการและชาวบ้าน)
ดังนั้นเมื่อเรากล่าวถึงการปฎิรูประบบราชการก็เท่ากับเป็นการปฎิรูประบบกฎหมาย และด้วยเหตุเช่นนั้น การที่เราจะบอกว่าการปฎิรูประบบราชการประสบความสำเร็จหรือไม่ ตัวชี้วัดประการหนึ่งที่จะต้องมีอยู่เสมอก็คือการวัดหรือประเมินผลกันตรงที่ว่าระบบราชการที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการตัดสินใจในการใช้อำนาจในทางกฎหมายที่ตั้งอยู่บนปรัชญาอะไร ยังคงตั้งอยู่บนความคิดแบบอำนาจ หรือ คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสร้างความเป็นธรรมให้กับส่วนรวม ตั้งอยู่บนแนวความคิดที่เคารพหลักนิติธรรม หรือไม่
ระบบราชการ ในระบบกฎหมาย
ระบบราชการเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับรัฐ ทำหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐ ในความเป็นจริง
ระบบกฎหมายก็เกิดขึ้นเมื่อมีสังคม รัฐที่อยู่ในและเหนือสังคมก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง
ในรัฐสมัยใหม่ที่มีการจัดโครงสร้างองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่ชัดเจน ระบบราชการถูกจัดอยู่ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครอง เป็นฝ่ายที่จะต้องนำนโยบายไปปฎิบัติ จะต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายตามที่รัฐตราออกมา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า โดยระบบของการปกครอง ระบบราชการถูกสร้างมาโดยกฎหมายดำรงคงอยู่ และแสดงบทบาทต่างๆได้ตามที่กฎหมายกำหนด มีระบบการควบคุมการใช้อำนาจของข้าราชการโดยรูปแบบวิธีต่างๆ ยิ่งอำนาจรัฐมีมาก แนวโน้มที่จะมีกฎระเบียบต่างๆที่สร้างตามมาก็เพิ่มมากขึ้น เหมือนกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และในที่สุดกฎระเบียบต่างๆเหล่านั้นก็จะหวนกลับมาเป็นอุปสรรคขององค์กรที่ไม่สามารถจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งในที่สุดระบบราชการที่ตั้งใจจะให้เป็นระบบราชการในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นระบบราชการที่บริหารแบบอมาตยาธิไตย ที่มีกฎระเบียบต่างๆที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อย แต่สร้างกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกในการทำงานของข้าราชการไว้มากมาย และเปิดโอกาสให้สามารถที่จะใช้ดุลย์พินิจของบรรดาข้าราชการได้อย่างกว้างขวาง
พัฒนาการของระบบราชการของไทยที่เป็นมาในอดีต เป็นการเติบโตของระบบราชการในระบบการเมืองแบบอมาตยาธิปไตย ดังนั้น บทบาทของระบบราชการในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศจึงมีมาก และในยุคแรกๆก็ได้รับการยอมรับเพราะไม่เคยมีใครเข้าไปทำการพัฒนาให้ประชาชนเป็นอยู่อย่างสบายมาก่อน การเข้าไปทำการพัฒนาไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนอยู่สบายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้การพัฒนาโดยระบบราชการมีนัยที่ลงไปถึงเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การเปิดโอกาส การคุ้มครองสิทธิ ฯลฯ และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนกลุ่มเดียว ดังนั้นเมื่อมีประชาชนหลายกลุ่ม ระบบราชการก็เข้ามาทำหน้าที่โดยมาพร้อมๆกับอำนาจตามกฎหมายในการทำให้การพัฒนาในรูปของโครงการต่างๆสำเร็จ การวางระบบการใช้อำนาจต่างๆเพื่อให้การปฎิบัติราชการสำเร็จจึงมักจะเอื้อต่อการให้อำนาจแก่ทางราชการมากกว่าที่จะเอื้อต่อประชาชน
บรรดากฎหมายทั้งหลายที่ออกมาในช่วงที่ระบบราชการเป็นผู้มีบทบาทหลัก(ช่วงที่มีการปฎิวัติรัฐประหาร) จึงเป็นระบบกฎหมายที่เสริมสร้างระบบราชการให้เข้มแข็ง(และนั้นหมายความว่า ในทางการเมืองก็มีการทำลายปฎิปักษ์ในทางการเมืองของระบบราชการลงไปด้วย) ดังนั้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะมีการตรารัฐธรรมนูญ มีการวางรากฐานของระบบราชการที่จะต้องปฎิบัติตามและบังคับใช้กฎหมาย มีการถ่วงดุลย์อำนาจของฝ่ายต่างๆ แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมาในอดีต กลับไม่ได้เป็นไปตามหลักการของระบอบการปกครองที่เราพยายามจะเลียนแบบ มีการหลบเลี่ยงที่จะไม่ใช้รัฐธรรมนูญ มีการถ่วงเวลาที่จะรักษาสถานภาพเพื่อรักษาอำนาจในทางการเมืองเอาไว้ สถาบันที่ใช้อำนาจรัฐอื่นๆกลับสยบยอมตามอำนาจ ฯลฯ
สภาพเช่นนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบราชการเองในที่สุดที่มีอำนาจมาก แต่ไม่มีพลัง(ของความรู้ในการแก้ปัญหา) มีเครือข่ายที่ยึดโยงอำนาจทั้งที่เสริมกันและขัดแย้งกันจึงไม่สามารถที่จะมีภารกิจที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา แม้ราชการจะมีอำนาจทางกฎหมายแต่ก็ไม่สามารถที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดการกับปัญหาสำคัญๆได้ แต่กลับไปสามารถที่จะจัดการกับปัญหาเล็กๆที่ก่อให้เกิดขึ้นจากประชาชนที่ไม่มีพลังในการต่อรองทางการเมือง จนทำให้ปัญหาต่างๆที่เป็นปัญหาสำคัญๆของประเทศทวีความรุนแรงและขยายออกไปเป็นวงกว้าง และด้วยเหตุที่มีอำนาจมากจึงทำให้กีดกันการมีส่วนร่วม กฎหมายต่างๆที่ควรจะเป็นของสังคมกลับกลายเป็นกฎหมายของระบบราชการ ดังนั้นเมื่อระบบราชการล้มเหลว ระบบกฎหมายจึงล้มเหลวและพังทลายตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในโอกาสที่มีการปฎิรูประบบราชการ ควรที่สร้างความเข้าใจในส่วนที่เกี่ยวกับระบบกฎหมายเสียใหม่ พร้อมๆกับกระแสการปฎิรูประบบราชการ ว่า กฏหมายเป็นคนละส่วนกับระบบราชการ ระบบราชการไม่ใช่กฎหมาย แต่กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของสังคม (ไม่ใช่ของทางราชการฝ่ายเดียว) กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในสังคม
ในระดับหนึ่งกฎหมายให้อำนาจแก่ระบบราชการที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ (ในฐานะที่กระทำในนามของส่วนรวม/ทำแทนประชาชน ดังนั้น ถ้าประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจจะลุกขึ้นมาใช้อำนาจเองโดยตรง ก็สามารถที่จะกระทำได้) แต่ในเวลาเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง กฎหมายก็ควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐด้วยเช่นเดียวกัน หลักการนี้เป็นหลักการที่เป็นปรัชญาของหลักกฎหมายปกครองที่ถือเป็นแนวทางของประเทศต่างๆอันเป็นหัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ราชการแผ่นดิน และระบบราชการ
ราชการหรือการงานของพระราชา ในสมัยอดีตก็คือการปกครองบ้านเมืองเพื่อให้ประชาราษฎร์ที่อยู่ใต้การปกครองอยู่กันอย่างสงบสุข
แต่ งานราชการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ง่ายๆตรงไปตรงมาเหมือนกับที่ได้อธิบายข้างต้น
อิทธิพลทางความคิด ทางการเมืองการปกครอง ทางเศรษฐกิจ บีบรัดกำหนดให้ต้องปรับระบบต่างๆที่มีอยู่ทั้งสังคมให้มีปฎิสัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัฒน์
ดังกล่าวให้ได้
ในปัจจุบัน ราชการแผ่นดินไม่ได้มีความหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นอีกต่อไป งานราชการในปัจจุบันอาจจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เอกชน ห้างร้านต่างๆดำเนินการอยู่แล้วก็ได้ ดังนั้นเวลากล่าวถึงราชการแผ่นดิน เพื่อให้สามารถที่จะเริ่มต้นในการทำความเข้าใจร่วมกันได้ ในชั้นนี้ ถ้าใช้อำนาจอธิปไตยเป็นฐานเริ่มต้นในการทำความเข้าใจเรื่อง ราชการแผ่นดิน น่าที่จะแบ่งราชการแผ่นดินออกเป็น สามด้านด้วยกันคือ ราชการนิติบัญญัติ ราชการบริหาร ราชการตุลาการ ซึ่งในแต่ละราชการล้วนแล้วแต่มีลักษณะเฉพาะของตัว ในทางกฎหมายเองก็วางระบบเช่นนี้ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อเรากล่าวถึงระบบราชการเราต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีเฉพาะแต่ราชการบริหารเท่านั้น ยังมีราชการอื่นๆอีกด้วย โดยในแต่ละด้านก็จะมีประมุขหรือผู้มีอำนาจสูงสุดอิสระแยกจากกันตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการถ่วงดุลย์
ด้วยเหตุดังนั้น ในทางกฎหมายเมื่อกล่าวถึงการปฎิรูประบบราชการ
เราจะให้ความสำคัญแต่เพียงเฉพาะด้านการปฎิรูปราชการบริหาร แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้
เพราะนั้นหมายความว่าดุลย์แห่งอำนาจที่วางไว้ให้ได้ดุลย์แล้วนั้น กำลังจะเปลี่ยนจุดสมดุลย์ไป
อำนาจอื่นที่มีหน้าที่ต้องถ่วงดุลย์จะนิ่งเฉย สยบยอม ทำเป็นไม่รู้ หรือเข้าไปฮั้วกันเพราะเห็นว่าเป็นราชการเหมือนกัน
พวกเดียวกัน จึงไม่ปฎิรูปตามไม่ได้ การไม่ทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์
จึงเป็นสำนึกขั้นพื้นฐานที่ต้องมี
(งานที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาระบบราชการส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการศึกษาระบบราชการบริหารเสียเป็นส่วนใหญ่
รองลงมาได้แก่ระบบราชการรัฐสภา หรือบางกลุ่มอาจจะศึกษาทั้งสองส่วนนี้ร่วมกันในเชิงที่เป็นปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมือง
แต่สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับระบบราชการงานฝ่ายตุลาการมีการศึกษาน้อยมาก จนทำให้การที่จะสะท้อนภาพปัญหาที่เกิดจากระบบราชการของฝ่ายตุลาการ
แทบจะไม่เห็นสภาพในลักษณะภาพรวมที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้อย่างเพียงพอในการทำความเข้าใจปัญหา)
กฎหมายเพื่อการปฎิรูประบบราชการ
ระบบราชการที่มีมาช้านานในประเทศไทย มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ในที่นี้จะกล่าวถึงกฎหมายกับการปฎิรูประบบราชการ
ช่วงแรก ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 - เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ช่วงที่สอง นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง - การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ
ช่วงที่สาม การปฎิรูประบบราชการหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540โดยในที่นี้ จะให้ความสำคัญกับส่วนที่สามมากกว่า และจะเน้นการมองสิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการต่อเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในทางกฎหมาย
ช่วงที่ หนึ่ง กฎหมายกับการปฎิรูประบบราชการตั้งแต่สมัยรัชการที่
5 - เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ในทางทฤษฎีทางการเมืองการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระบบปกครองในขณะนั้น เป็นระบบการปกครองแบบสมบรูณาญาสิทธิราช
มีปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก รัชกาลที่ 5 ทรงปรับรื้อระบบราชการใหม่ในทุกๆด้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับโครงสร้างการปกครองที่ทิ้งระบบราชการแบบเดิม(แบบจัตุสดมภ์
และ ระบบราชธานี) ไปสู่แนวทางของระบบ ราชการแบบรวมศูนย์อำนาจ การแบ่งอำนาจ และการกระจายอำนาจ
มีการตั้งหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่า "กระทรวง"ให้มีหน้าที่ในด้านต่างๆที่จะต้องทำแยกออกเป็นด้านๆเฉพาะทาง
ทั้งหมดมีจำนวน 12 กระทรวง
การปฎิรูปที่รัชกาลที่
5 ทรงดำเนินการนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนรูปโฉม (Transform) ของสังคมในเวลานั้นไปเลย
และการเปลี่ยนโฉมไปเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างขนานใหญ่
ตัวระบบราชการที่เกิดขึ้นใหม่กลายเป็นเครื่องมือขององค์อธิปัตย์โดยตรงที่จะบริหารราชการแผ่นดินในทุกๆด้าน
(โปรดอ่านรายละเอียดต่อใน " เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ
" ผาสุก พงษ์ไพจิตร คริส เบเคอร์ สำนักพิมพ์ Silkworm Books เชียงใหม่ ( พ.ศ.
2539 ) หน้า 379 - 411)
มีกฎหมายที่มีเนื้อหาสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกประกาศใช้มากมายหลายฉบับ โดยมีการว่าจ้างที่ปรึกษาราชการแผ่นดินคอยให้คำแนะ มีการสร้างโรงเรียนเพื่อทำการผลิตบุคลากรให้กับระบบราชการไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนของกระทรวงยุติธรรม โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนนายร้อย มีการปรับรื้อระบบการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชโดยนำระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเข้ามาแทนที่ ในปีพ.ศ. 2437 มีการประกาศตั้งหมู่บ้าน ตั้งตำบล ให้มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 มีการวางระบบราชการแบบกระจายอำนาจโดยการประกาศตั้งสุขาภิบาล พ.ศ. 2440 มีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีการหารายได้เข้ารัฐในระบบใหม่คือ ระบบการประมูล(ผูกปี๋)แยกจากระบบเจ้าเมืองแบบเดิม
ระบบราชการแบบใหม่ที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ดังกล่าว มีอำนาจตามกฎหมาย มีบุคลากรที่เป็นข้าราชการที่ใช้อำนาจดังกล่าวตามที่กฎหมายบัญญัติมีระบบการให้เหตุผล ประกอบการวินิจฉัย ทั้งหมดเหล่านี้เท่ากับเป็นการเริ่มการสร้างมาตราฐานในการใช้อำนาจรัฐแบบใหม่ กล่าวคือ ไม่ผูกติดอยู่กับความอำเภอใจของผู้ใช้อำนาจ(แต่ผูกติดอยู่กับ กฎหมายแทน)
ดังนั้น สถานะของกฎหมายในช่วงดังกล่าว ระบบกฎหมายที่นำเข้ามาใหม่นี้เป็นเหมือนกับเทคโนโลยี่ของระบบ ที่จะทำให้ระบบ(การปกครอง) สามารถปฎิบัติการต่อไปได้ ทำให้เกิดความสืบเนื่องของอำนาจรัฐ
หลังจากสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 6 ระบบราชการที่สถาปนาขึ้นมาก่อนหน้านั้น เริ่มที่จะมีบทบาทมากขึ้น พร้อมไปกับการขยายตัวของระบบเศรษบกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นรอบๆและในจุดที่สำคัญของโลก ความเป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการสร้างระบบราชการแบบรวมศูนย์ และกลายเข้ามาเป็นอุดมการณ์ของระบบราชการที่อยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบอมาตยาธิปไตย ระบบราชการจึงกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ในทางการเมืองที่มีอำนาจทั้งในทางกฎหมาย อำนาจในทางการเมือง อำนาจในทางเศรษฐกิจ
ระบบราชการบริหารแบบรวมศูนย์ และไร้การถ่วงดุลย์ดังกล่าว เป็นจุดที่ทำให้ระบบการปกครองแบบนี้เริ่มที่จะไม่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ แต่ด้วยเหตุของวัฒนธรรมในทางการเมืองในขณะนั้นยังคงเป็นแบบเดิมจึงทำให้ การโต้แย้งแสดงออกถึงความไม่พอใจทั้งหลายเกิดขึ้นในวงที่ค่อนข้างจำกัด
ในช่วงนี้ สถานะในทางกฎหมาย
ซึ่งแม้โดยระบบราชการ กฎหมายสร้างระบบราชการให้เกิดเป็นระบบที่มีความชัดเจนโดยอำนาจของพระมหากษัตริย์
แต่ผู้ใช้อำนาจเป็นข้าราชการที่เข้าสู่ระบบราชการโดยอาศัยเส้นสาย เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้บังคับบัญชากับข้าราชการชั้นผู้น้อย
ความมีชาติตระกูลถูกใช้แทนที่ระบบการประเมินผลในการทำราชการ ลำดับความสำคัญของภาระกิจของหน่วยงานที่ตราไว้โดยกฎหมายไม่สำคัญเท่ากับภาระกิจของผู้บังคับบัญชา
อำนาจตามกฎหมายที่จะเป็นเสมือนแนวทางในการบรรลุเป้าหมายของภารกิจขององค์กรที่สร้างแต่โครงสร้างองค์กร
วางระบบตัวบุคคล แต่ขาดสิ่งสำคัญในทางกฎหมายที่ไม่ได้สร้างต่อจากนั้น (ทั้งนี้เพราะไปเชื่อในความเป็นผู้มีชาติตระกูลในระบบอุปถัมภ์
ให้มีวาสนามารับราชการสนองพระยุคลบาท)ก็คือ คู่มือหรือแนวทางในการปฎิบัติราชการ
(สำหรับสิ่งที่ขาดหายไปหลังจากที่มีการปฎิรูปหรือแปลงโฉมในระดับโครงสร้างแล้ว
นอกจากมีความจำเป็นที่จะต้องมีคู่มือหรือแนวทางในการปฎิบัติราชการ(ที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน)แล้ว
สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำควบคู่ไปด้วยก็คือการพัฒนาปรัชญากฎหมายปกครอง ซึ่งก็คือ
software ของระบบราชการที่จำเป็นต้องมี แม้จะมีการจัดทำคู่มือหรือแนวทางก็อาจจะไม่เป็นการเพียงพอสำหรับปัญหาใหม่ๆและใหญ่ๆที่ระบบราชการต้องเผชิญต่อไปในอนาคต
( ท่านที่สนใจสามารถที่จะศึกษาเพิ่มเติมบทวิเคราะห์ทำนองนี้ในการบรรยายพิเศษของ
ดร.อักขราทร จุฬารัตน เรื่อง " สภาพปัญหากฎหมายและนักกฎหมายไทย กับการวางแผนเพื่อการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
" เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2542 ณ.ห้องประชุม เดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรุงเทพฯ)
ดังนั้น สถานะภาพของกฎหมายภายใต้ระบบราชการที่มีการใช้อำนาจโดยความคิดแบบอมาตยธิปไตยในเครือข่ายของระบบการบริหารงานบุคคลแบบอุปถัมภ์ จึงมีสถานะเป็นเครื่องมือของระบบราชการที่ใครอยากได้ประโยชน์ต้องเข้าไปสวามิภักดิ์
อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้ว ระบบราชการภายใต้เครือข่ายของระบบการบริหารงานบุคคลแบบอุปถัมภ์ ก็ต้องปรับตัวโดยในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อสถานการณ์ในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เกิดการปฎิรูประบบราชการอีกครั้งโดย สร้างองค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลกลางขึ้นมา และที่สำคัญมีการนำเอาระบบคุณธรรมมาใช้ในระบบการบริหารงานบุคคลเป็นครั้งแรก
ช่วงที่ สอง กฎหมายกับการปฎิรูประบบราชการตั้งแต่
พ.ศ. 2475 จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540
การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นผลมาจากเงื่อนไขต่างๆหลายๆเงื่อนไขและมีปัจจัยเกื้อหนุนอีกหลายปัจจัย
(ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้สามารถที่จะอ่านเพิ่มเติมได้ใน
" ความคิด ความรู้ และ อำนาจการเมือง ในการปฎิวัติสยาม พ.ศ. 2475 " นครินทร์
เมฆไตรรัตน์ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กรุงเทพฯ 2546)
แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนอย่างมากคือ ความไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐที่เกิดจากระบบราชการที่มีการใช้อำนาจโดยความคิดแบบอมาตยธิปไตย ในเครือข่ายของระบบการบริหารงานบุคคลแบบอุปถัมภ์ (ผาสุก พงษ์ไพจิตร ฯ อ้างแล้ว หน้า 423-427)
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็เท่ากับทำให้ระบบการปกครองแบบสมบรูณาญาสิทธิราชสิ้นสุดลง และสถาปนาระบบการปกครองมาเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทำให้โครงสร้างทางการเมืองและการปกครองในระดับบน มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบตะวันตกเต็มรูปมากยิ่งขึ้น
และที่สำคัญเป็นอย่างมากในทางกฎหมายก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญและพยายามในการทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะที่เป็นอุดมการณ์และหลักการสูงสุดในการปกครองประเทศ มีการจัดโครงสร้างอำนาจในทางการเมืองใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในเวลานั้น มีผลทำให้ข้าราชการที่อยู่ในระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในระดับบนในขณะนั้นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้ทำให้เกิดขั้วอำนาจเป็นอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ อำนาจเก่าส่วนใหญ่แล้วอยู่ในระบบราชการ ดังนั้นแม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับ มีการสร้างระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่นเสริมที่มีอยู่แล้วก็ตาม แต่ความคิดที่มีอยู่ในระบบราชการยังคงเป็นแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการว่ามาจากสายไหน ดังที่ศาสตรจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เรียกระบบดังกลาวนี้ว่า " ระบบอำนาจรัฐซ้อนอำนาจรัฐ "( เพิ่งอ้าง หน้า 408) มีการปฎิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งซึ่งก็เกิดจากการจัดสรรอำนาจที่ไม่ลงตัวในระบบราชการ
ในช่วงนี้แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายครั้ง ตัวระบบราชการ(อาจจะกล่าวได้ว่าแทบจะทุกด้านและทุกระบบราชการ) ก็ยังคงไม่มีการปฎิรูปอย่างแท้จริง
ดังนั้น สถานะของกฎหมายในช่วงนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการขยายตัวของระบบราชการ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการถ่วงดุลย์ในการใช้อำนาจของระบบราชการจากอำนาจภายนอกของสังคม การใช้อำนาจที่ไม่มีระบบการถ่วงดุลย์ตรวจสอบเป็นระบบกฎหมายที่มีอันตรายต่อสังคม ดังนั้นกฎหมายต่างๆที่ทางราชการบังคับใช้ภายใต้ระบบราชการที่ไม่มีการปฎิรูป จึงเป็นกฎหมายปกครองเพื่อการปกครอง
ผลอีกประการที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบในทางกฎหมายในช่วงนี้คือ รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดกลับถูกระบบราชการลักลอบทำให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่เข้าพวกในบรรดากฎระเบียบของทางราชการ ซึ่งมีผลต่อความก้าวหน้าในตำแหน่งทางราชการ หรืออีกนัยหนึ่ง ระบบราชการได้สร้างกฎหมายของระบบราชการ โดยข้าราชการ เพื่อระบบราชการ
ช่วงที่สาม กฎหมายกับการปฎิรูประบบราชการหลังการใช้รัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2540
การปฎิรูประบบราชการที่มีมาก่อนการมีกระแสการเรียกร้องให้ทำปฎิรูปทางการเมืองและนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ฝ่ายการเมืองเองไม่ค่อยจะมีบทบาทมากนักในการผลักดันในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่เป็นการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต่างๆโดยเริ่มมีการกำหนดแผนในการปฎิรูประบบราชการไว้อย่างชัดเจนในแผนพัฒนาฯฉบับที่
5 เป็นต้นมา
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2535 -2539) เน้นเรื่องการทำให้ระบบราชการเล็กลง จึงต้องเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างและการลดอัตรากำลัง ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ( 2540 - 2544 )เน้นเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องการรวมศูนย์ของระบบราชการ เน้นเรื่องการมีส่วนร่วม เน้นเรื่องการลดขั้นตอนการปฎิบัติ การประหยัด และประสิทธิภาพ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นไปตามแผนพัฒนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนะและวิธีคิดของฝ่ายการเมืองต่อการปฎิรูประบบราชการที่อิงระบบราชการเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง จึงไม่ใช้อำนาจการทางการเมืองที่จะนำไปสู่การปฎิรูประบบราชการ
กระแสการเรียกร้องให้เกิดการปฎิรูปทางการเมือง เป็นเสมือนกับการค่อยๆก่อตัวของการประมวลภาพปัญหาของระบบราชการ ที่จำต้องผูกสามเรื่องหรือสามประเด็นที่เป็นเงื่อนไขในการตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหา สามประเด็นดังกล่าวได้แก่ ความต้องการของประชาชน, ระบบราชการ, และผลประโยชน์ได้เสียทางเศรษฐกิจ, และต้องอาศัยกระบวนการในการดำเนินการที่ต้องทำนอกระบบราชการ จึงจะสามารถทำให้ snow ball มันสามารถที่จะ spin เอาปัญหาต่างๆออกมาอย่างมีพลัง รัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการในการจัดทำดังที่กล่าวมาจึงสามารถที่จะเป็นแรงถ่วงที่อยู่ในระบบอำนาจราชการแบบเดิมได้ และสามารถที่จะสะท้อนภาพปัญหาต่างๆของสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง (แม้จะมีอีกหลายๆส่วนที่ยังไม่สำเร็จและไม่สามารถที่จะนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้)
ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุที่มีการยอมรับหลักการความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญมากขึ้น ( แม้จะมีการต่อต้านอยู่ทั้งในระบบราชการและในทางการเมืองก็ตาม) ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้เราเห็นบทบาทของกฎหมายที่นำไปสู่การปฎิรูประบบราชการ( ในความหมายที่กว้างกว่าราชการบริหารแต่เพียงอย่างเดียว) ดังจะเห็นได้จากมีการบัญญัติหลัการใหม่ที่สำคัญๆในการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายใหม่ ให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายในสกุลกฎหมายที่เราลอกเลียนมาใช้มากขึ้น เช่น
การมีระบบในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐใหม่เกิดขึ้น อาทิเช่น การปฎิรูประบบกระบวนการยุติธรรมโดยการเปลี่ยนจากระบบศาลเดี่ยว ไปเป็นระบบศาลคู่ มีการตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมจากระบบเดิม แม้จะมีการคัดค้านโดยข้าราชการตุลาการก็ตาม
การตั้งองค์กรอิสระหลายองค์กรให้ทำหน้าที่เฉพาะด้านที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศและระบบราชการเดิมไม่สามารถที่จะรองรับได้อาทิเช่น คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชาชนแทนที่จะเป็นผู้แทนจากส่วนราชการล้วน
มีการวางหลักการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฎิบัติของทางราชการที่จะต้องเปิดเผยและโปร่งใส
การวางระบบในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในส่วนที่เป็นนักการเมืองและในระบบราชการ
มีการทำลายอำนาจที่เป็นอุปสรรคในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของทางราชการ ให้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโดยการกำหนด และวางหลักเกณฑ์ให้เป็นอำนาจของรัฐบาลอย่างแท้จริงโดยวิธีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มต่ำแหน่งหรืออัตราข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่ม
มีการเปิดช่องทางในการให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้ และนำหลักการดังกล่าวไปกำหนดให้ประชาชนสามารถที่จะกระทำในทางการเมืองในทางด้านนิติบัญญัติในระดับการปกครองท้องถิ่นได้ด้วย
การกำหนดเงื่อนไขในการตราพระราชบัญญัติของรัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สตรี คนชราและผู้ด้อยโอกาส ให้ต้องนำเอาผู้ที่รู้ปัญหาที่แท้จริงเข้าไปเป็นกรรมาธิการ
การป้องกันไม่ให้เกิดการสมคบฮั้วกันไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ โดยการกำหนดให้ต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยการกำหนดขอบเขตและสิ่งที่จะต้องมีและกำหนดเวลาที่จะต้องจัดทำเอาไว้
มีการวางระบบการติดตามประเมินผลการทำงานของฝ่ายต่างๆและต้องรายงานการทำงาน ปัญหาอุปสรรค ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดต่อรัฐสภา ฯลฯ
ทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโดยเนื้อหาและกระบวนการ กลไกต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้ผสมผสานเอาหลักการสำคัญในวิชารัฐศาสตร์และวิชารัฐประศาสนศาสตร์ แฝงเอาไว้เป็นแผนการพัฒนาทางการเมืองการปกครองที่มีผลเป็นกฎหมายสูงสุดในการปฎิรูปส่วนต่างๆของสังคมด้วยในขณะเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุแผนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง ดังที่จะเสนอให้เห็นเป็นประเด็นเพื่อให้ทั้งนักรัฐศาสตร์ นักรัฐประศาสนศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และนักวิชาชีพอื่นๆ และที่สำคัญคือ ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ เจ้าของประเทศ ควรที่จะเกาะติดปัญหา ติดตามเรียกร้องการแก้ปัญหา การตั้งคำถามต่อแวดวงวิชาการ สถาบันการศึกษาที่อ้างตัวว่าเป็นแหล่งรวมความรู้ให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบแก้ปัญหาที่เกิดจากผลผลิตทางวิชาการที่ผิดพลาด
ประเด็นที่จะเป็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฎิรูประบบราชการที่จะมีต่อไปในอนาคตประกอบด้วย(ตัวอย่าง)ปัญหาดังต่อไปนี้
1. ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์นิติรัฐ อำนาจของฝ่ายต่างๆไม่อาจที่จะเข้าไปแทรกแซงในแต่ละฝ่ายได้ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีความเกี่ยวพันกันในความเป็นจริง แต่ฝ่ายบริหารไม่อาจที่จะเข้าไปแทรกแซงสั่งการฝ่ายตุลาการได้
ในปัจจุบัน การปฎิรูประบบราชการที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นการดำเนินการในระบบราชการบริหารเท่านั้นโดยนโยบายของรัฐบาล แต่ในส่วนของระบบราชการรัฐสภา และในส่วนของระบบราชการตุลาการที่จะต้องทำหน้าที่ในการถ่วงดุลย์กับอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม ที่จะต้องเตรียมการในการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการ "พัฒนา" ที่ไม่เท่าเทียมซึ่งรัฐบาลได้ถูกกดดันจากเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจโลก หรือแม้กระทั้งผลกระทบที่เกิดจากนโยบายที่รัฐบาลริเริ่มเอง ผลกระทบต่างๆดังนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ระบบราชการตุลาการแทบจะไม่ค่อยมีบทบาทสมกับการเป็นสถาบันหลักที่กระทำในนามพระปรมาภิไธย ที่ตั้งอยู่บนความถูกต้องและใช้เมตตาธรรมที่เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ลง
ช่องว่างของความรับรู้ในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนระดับรากหญ้าท่ามกลางการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจของสถาบันหลัก โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของประเทศดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นต้นทุนที่สังคมไทยต้องแบกรับ และนับวันจะทำลายทุนทางสังคมไปทุกขณะ (ท่านที่สนใจโปรดศึกษาอย่างละเอียดในคำกล่าวเปิดงานและปาฐกถาของส่วนราชการในการสัมมนา " แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน " วันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ที่ เนติบัณฑิตยสภา และ การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 1 เรื่อง " กระบวนทัศน์ใหม่ของกระบวนการยุติธรรมในการปฎิบัติต่อผู้กระทำผิด " วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ณ.ห้องแกรนด์ไดมอนบอลรูม ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี)
2. คำถามเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐภายหลังจากการปฎิรูประบบราชการที่ปรับเปลี่ยน อะไรเป็นเรื่องที่รัฐควรทำ อะไรเป็นเรื่องที่รัฐต้องทำ อะไรเป็นเรื่องที่รัฐต้องปล่อยให้เอกชนทำ และในการเปลี่ยนแปลงบทบาทควรที่จะมีการเตรียมการรองรับอย่างไร
ในประการสำคัญ ในกรณีที่ประชาชนสามารถที่จะดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องอาศัยทางราชการ แต่มีเป้าหมายตรงกันกับที่ราชการจะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด โดยอาศัยวิธีการที่แตกต่างกันกับที่ราชการทำ ระบบราชการต้องวางการปรับตัวอย่างไรที่ไม่เป็นตัวถ่วงความคิดสร้างสรรค์อย่างบรูณาการของประชาชน เช่น กรณีของการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การสร้างเครดิตร่วมกันของชุมชนในกรณีเบี้ยกุดชุมที่เคยมีปัญหา การฟื้นตัวกลับคืนมาของกลุ่มชุมชนในการอนุรักษ์ จัดการ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และชายฝั่ง
(มีกรณีตัวอย่างอีกหลายร้อยกรณีที่เป็นความคิดริเริ่มจากประชาชน จากชุมชนในท้องถิ่นในการแก้ปัญหาเอง และตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาทั้งหมดเกิดเพราะระบบราชการที่ยังไม่ปฎิรูป เพียงระบบราชการไม่หยุดอยู่เฉยๆทุนทางสังคมก็ขยายตัวแล้ว ท่านที่สนใจดูรายละเอียดตัวอย่างที่เป็นการริเริ่มของประชาชน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก www.polsci.chula.ac.th/initatives)3. การใช้สิทธิอันชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดของประชาชน ซึ่งสามารถที่จะสะท้อนให้เห็นสำนึกทางการเมืองของภาคประชาชนที่เล่นตามกติกาทางการเมือง และประชาชนสามารถที่จะทำการเมืองได้เอง แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า มีความพยายามภายในระบบราชการที่อ้างข้อระเบียบและติดยึดกับพิธีที่ไร้สาระ มากกว่าที่จะเข้าใจในแก่นสารอันแท้จริงของสิทธิในทางการเมืองของประชาชน มีการสร้างกลไกภายในที่อยู่นอกเหนือจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จนทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นสิ่งที่สูญเปล่า ดังเช่น ในกรณีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน การเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
4. ปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในกรณีขององค์กรอิสระ แม้ตามรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้องค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการในด้านต่างๆตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่เนื่องจากอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันกลับไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากปัญหาการไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมเพียงพอ และปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่ไม่ค่อยจะปรากฎเป็นข่าว
การถ่วงดุลย์โดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคู่ขนานกับการมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง เพราะมิฉะนั้นภาระอันหนักในการสู้กับการกระทำของอำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิก็จะตกอยู่กับประชาชน
5. แนวทางหนึ่งของการปฎิรูประบบราชการ มีการนำเอาแนวความคิดเรื่องการลดต้นทุนในรูปแบบที่อาศัยวิธีการต่างๆ แนวทางหนึ่งที่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ การแปรรูปจากการที่ราชการหรือจากที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการไปให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ในทางกฎหมายนั้นหมายความว่า ระบบในการให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งเอกชนที่เข้ามาดำเนินการ และกับประชาชนในฐานะเป็นผู้ใช้บริการได้เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย จากความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนไปเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน ซึ่งมีระบบที่ให้การคุ้มครองที่แตกต่างกัน ภาระทางคดีที่ประชาชนต้องแบกรับไม่เหมือนกัน ในกรณีเช่นนี้ ประเด็นคำถามในแง่ของการปฎิรูประบบกฎหมาย การปฎิรูประบบกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นประเด็นที่มีความเร่งด่วนที่รัฐบาลเองยังไม่สามารถที่จะเข้าไปเร่งรัดได้
ตัวอย่างบางตัวอย่างดังที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฎิรูประบบราชการ การปฎิรูประบบราชการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบางครั้งกฎหมายเป็นตัวถ่วง บางครั้งกฎหมายเป็นตัวเร่ง
ดังนั้น คำถามในที่นี้คือ ใครควรที่จะเป็นผู้ควบคุมจังหวะของกฎหมาย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความวิชาการฟรี
บน เว็ปไซค์ของ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน :
ปรัชญากฎหมายของพวกสำนักความคิดแบบกฎหมายบ้านเมือง (Positivism
School) หลักการที่เป็นจุดยืนของสำนักความคิดนี้ก็คือ การถามถึงที่มาของกฎหมายว่ากฎหมายดังกล่าวออกมาโดยผู้มีอำนาจรัฐสูงสุดหรือไม่
ถ้าเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจรัฐสูงสุดแล้วถือว่าประชาชนทุกคนต้องยอมรับ
เพราะเป็นเจตจำนงร่วมของคนในรัฐ ประกอบกับอิทธิพลของความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องที่สามารถพิสูจน์จับต้องได้
ไม่ได้เป็นเหตุผลในทางปรัชญา หรือ ในทางจริยศาสตร์ อีกต่อไป
พัฒนาการของระบบราชการของไทย เป็นการเติบโตของระบบราชการในระบบการเมืองแบบอมาตยาธิปไตย ดังนั้น บทบาทของระบบราชการในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศจึงมีมาก และในยุคแรกๆก็ได้รับการยอมรับเพราะไม่เคยมีใครเข้าไปทำการพัฒนาให้ประชาชนเป็นอยู่อย่างสบายมาก่อน การพัฒนาไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการทำให้ประชาชนอยู่สบายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้การพัฒนาโดยระบบราชการมีนัยที่ลงไปถึงเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การเปิดโอกาส การคุ้มครองสิทธิ ฯลฯ และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนกลุ่มเดียว ดังนั้นเมื่อมีประชาชนหลายกลุ่ม ระบบราชการก็เข้ามาทำหน้าที่โดยมาพร้อมๆกับอำนาจตามกฎหมายในการทำให้การพัฒนาในรูปของโครงการต่างๆสำเร็จ การวางระบบการใช้อำนาจต่างๆเพื่อให้การปฎิบัติราชการสำเร็จจึงมักจะเอื้อต่อการให้อำนาจแก่ทางราชการมากกว่าที่จะเอื้อต่อประชาชน