มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 331 หัวเรื่อง
กรณีปัญหาการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(บทความนี้ยาวประมาณ 7
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
ทางเลือก
5 ประการ
โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ไชยณรงค์
เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
http://www.searin.org/Th/KSTD/KstdA1.htm
(บทความนี้ยาวประมาณ
7 หน้ากระดาษ A4)
(หมายเหตุ:
บทความนี้ได้รับมาจาก email ที่ส่งถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาแล้วว่า
ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นทางเลือกหนึ่งของสังคมไทย ในกรณีปัญหาการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น)
ไม่ว่าแล้งนี้หรือแล้งไหน สิ่งที่มักปรากฏขึ้นในสังคมไทยก็คือ เราจะเห็นนักสร้างเขื่อนดาหน้าออกมาผลักดันโครงการเขื่อนที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างให้ได้โดย อาศัยสถานการณ์หน้าแล้งมาช่วยสร้างความชอบธรรม ด้วยการทำให้สังคมไทยกลัวภัยความแห้งแล้ง แล้วก็ยัดเยียดให้เชื่อว่า"เขื่อน" เป็นคำตอบสุดท้าย
เขื่อนแก่งเสือเต้นที่กำลังถูกผลักดันในแล้งนี้เป็นตัวอย่างได้ดี
ความจริงแล้ว องค์ความรู้จากทั่วโลกยืนยันแล้วว่า "เขื่อนไม่ได้ผล คนจนต้องแบกรับภาระ" โดยเฉพาะรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกที่ก่อตั้งโดยธนาคารโลก และสหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์นานาชาติที่ระบุว่า เขื่อนทั่วโลกล้วนแต่ไม่เคยบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ซึ่งรวมถึงประโยชน์ด้านการชลประทานและการป้อนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค (สามารถดูงานวิจัยจากทั่วโลกนี้ได้จาก www.dams.org)
สำหรับประเทศไทยเรา ตัวอย่างของความไม่มีประสิทธิภาพของเขื่อนนั้นดูได้ในหลายกรณี ดังเช่น เขื่อนเชี่ยวหลานทางภาคใต้ที่อ้างเมื่อตอนสร้างว่า จะทำให้เกิดพื้นที่ชลประทานมากกว่าแสนไร่ แต่ทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่ชลประทานแม้แต่ไร่เดียว ซึ่งก็คล้ายคลึงกับเขื่อนปากมูลที่ตอนอนุมัติโครงการระบุว่าจะตอบสนองน้ำแก่พื้นที่ชลประทานมากกว่า ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ แต่ทุกวันนี้ยังหาพื้นที่ชลประทานของเขื่อนไม่เจอแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ก็คือ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทุกแล้งยังต้องนำรถน้ำไปแจกจ่ายน้ำให้ประชาชน แม้ว่ากาญจนบุรีได้ชื่อว่าเป็นสลัมเขื่อนเพราะมีเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นในจังหวัดนี้ถึง ๔ เขื่อน
ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ในบางกรณี น้ำจากเขื่อนก็มิได้หมายความว่านำความอุดมสมบูรณ์มาให้ชาวบ้าน แต่กลับนำหายนะมาแทน ดังเขื่อนราษีไศลที่น้ำในเขื่อนเค็มจนไม่สามารถนำมาใช้ในการเกษตรหรืออุปโภคบริโภคได้ จนกระทั่งรัฐบาลเห็นด้วยกับการเปิดประตูเขื่อนตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน หรือเขื่อนปากมูลที่ปรากฏว่า หลังการสร้างเขื่อน มีน้ำเยอะก็จริง แต่น้ำนั้นก็ไร้ซึ่งประโยชน์ เพราะอย่าว่าแต่จะใช้ดื่มกินเลย แม้แต่ จะลงไปอาบหรือหาปลาเหมือนก่อนก็ไม่ได้เพราะน้ำเน่าเสีย ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าน้ำประปาซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้คิดมาก่อน หลังจากเปิดประตูเขื่อนทั้งสอง ขณะนี้ชาวบ้านก็ได้หันมาใช้น้ำมูนอีกครั้ง ไม่ว่าใช้อุปโภคบริโภค การได้กลับไปอาศัยบ่อน้ำสร้างสำหรับดื่มกิน
ในทางนิเวศวิทยา เขื่อนไม่เพียงแต่ทำลายระบบนิเวศน์แม่น้ำเท่านั้น แต่เขื่อนยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดของพันธุ์พืชและสัตว์ต่างถิ่นโดยเฉพาะหอยเชอรี่ ผักตบชวา และไมยราบยักษ์ ที่กลายมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่แก้ไม่ตก ซึ่งดูได้จากเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีช่วงเก็บกักน้ำ และเขื่อนอื่นๆ อีกหลายแห่งในประเทศ ซึ่งปัญหานี้ นักสร้างเขื่อนไม่เคยตระหนักถึง
นอกจากนั้น เขื่อนขนาดใหญ่ยังต้องลงทุนมหาศาล โดยที่สังคมไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนนี้โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างก็คือ เขื่อนชุด ๑๔ เขื่อนในโครงการผันน้ำ-โขง-ชี-มูล ที่อ้างว่าจะทำให้อีสานเขียว ขณะนี้โครงการดังกล่าวใช้เงินไปมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่ตอบสนองต่อพื้นที่ชลประทานได้เพียง ๑๐,๐๐๐ ไร่ หรือคิดแล้วลงทุนไปไร่ละ ๑ ล้านบาท!!! แพงพอๆ กับกองทุนหมู่บ้านเลยทีเดียว
บทเรียนเหล่านี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า "เขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย" จนกระทั่งนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เขื่อนคือการจัดการน้ำที่หยาบคายที่สุดในโลก แต่เขื่อนก็ยังถูกผลักดันจากนักสร้างเขื่อนและนักการเมืองต่อไป นั่นก็เป็นเพราะความเชื่อทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับขนาดโครงการ (Economy of scale) ที่ว่า "โครงการยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใด ก็ยิ่งดีเท่านั้น" และมายาคตินี้ก็ทำให้นักสร้างเขื่อนมองข้ามแนวทางอื่นๆ ในการจัดการน้ำ
ด้วยบทเรียนดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนจึงได้เสนอแนวทางการจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นที่กำลังเกิดความขัดแย้งในขณะนี้ แต่อธิบดีกรมชลประทานทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยสนใจ
เพื่อย้ำอีกครั้งว่านักอนุรักษ์มิได้เอาแต่คัดค้านเขื่อน ดังนั้นจึงใคร่สรุปทางเลือกในการจัดการน้ำโดยยกกรณีลุ่มน้ำยมมาเสนอต่อสังคมไทยอีกครั้งว่า มีทางเลือกมากมายที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังต่อไปนี้
๑. การฟื้นฟูพื้นที่ชุมน้ำ
แนวความคิดหลักในการจัดการลุ่มน้ำที่ควรนำมาพิจารณาก็คือ การจัดการโดยการคิดบนฐานของภูมินิเวศของแม่น้ำ
หากคิดบนฐานนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่า "น้ำแล้ง-น้ำท่วม" ในเขตลุ่มแม่น้ำยม สามารถจัดการได้เพราะธรรมชาติได้สร้างสมดุลตามธรรมชาติให้แล้วนั่นก็คือ
แม่น้ำสายนี้มีระบบนิเวศน์ที่เรียกว่า "ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงลุ่มน้ำยม" หรือ
Yom River Flood-plain และพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปตลอดลุ่มน้ำ
ตั้งแต่สุโขทัยลงไปจนถึงพิจิตร เฉพาะพิจิตรจังหวัดเดียวก็มีบึงมากกว่า ๓,๐๐๐
แห่ง พื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบลุ่มน้ำยมนี้ได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนลุ่มน้ำนี้มาช้านาน
จากการทำหน้าที่กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากและค่อยๆ ปล่อยออกมาคล้ายกับฟองน้ำ ในฤดูแล้งก็มีน้ำใช้
แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ยังเป็นแหล่งหากิน วางไข่ และที่อยู่อาศัยของปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน
กล่าวได้ว่า สังคมแถบนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเมืองได้ดังปัจจุบันก็เพราะความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำยมนั่นเอง
แต่ปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำยมกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก เนื่องมาจากการใช้ที่ดินผิดประเภทและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ และที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งรวมถึงถนน สถานที่ราชการ นิคมอุตสาหกรรม และหมู่บ้านจัดสรร บึงหลายแห่งถูกถมและยึดครองทั้งจากเอกชนและหน่วยงานราชการ ในบางพื้นที่ยังปรากฏว่ากรมชลประทานเองก็ได้เข้าไปทำลายพื้นที่เหล่านี้ โดยการทำคันดินล้อมรอบ ทำให้ระบบของพื้นที่ชุ่มน้ำกลายสภาพเป็นบ่อน้ำที่ทำให้ระบบการไหลของน้ำตัดขาดออกจากระบบแม่น้ำ
ผลที่ตามมาก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำยมไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมได้เนื่องจากไม่มีที่พักน้ำ ทำให้น้ำไหลท่วมลงด้านล่างของลุ่มน้ำยมรวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็วและทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อถึงฤดูแล้ง พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้จึงขาดแคลนน้ำ
การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยมสามารถทำได้ โดยการขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำรวมทั้งหยุดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การกำหนดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นหรือพืชไม่หิวน้ำในฤดูแล้ง / และพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำในฤดูฝนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล นอกจากนั้นยังต้องมีมาตรการอื่นเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย เช่น การยกถนนให้สูงขึ้นหรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยที่สุดชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม เป็นต้น
การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ จะเป็นประโยชน์ทั้งการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในลุ่มน้ำยมตอนล่างได้ไปพร้อมๆกัน เฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเพียงที่เดียวก็เป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำเหล่าก็จะทำให้น้ำยมไหลตลอดปี ให้ประชาชนสามารถใช้กัน ซึ่งคิดแล้วเป็นปริมาณที่มากกว่าที่เขื่อนแก่งเสือเต้นจะกักเก็บได้เสียอีก) นอกจากนั้นยังเกิดแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ชาวบ้านอีกด้วย
ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา
ตัวอย่างการใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำในการป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำก็คือ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์(Charles River Flood-plain) ในมลรัฐแมสซาซูเส็ทท์ในการป้องกันน้ำท่วมหลังจากการศึกษาพบว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์พื้นที่ 3,800 แฮคแตร์(23,750 ไร่ หรือเล็กกว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำยม 15 เท่า) ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ จากการที่เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ 40% ได้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเสียหายถึงปีละ 3 ล้านเหรียญ และคาดว่าถ้าหากมีการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ความเสียหายจากน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 17 ล้านเหรียญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้งบประมาณเพียงปีละ 1.9 ล้านเหรียญในการฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ด้วย โดยที่ราบลุ่มแห่งนี้สามารถเป็นแหล่งน้ำตื้นใต้ดินตอบสนองน้ำอุปโภคบริโภคในชุมชน 60 แห่งที่มีประชากรรวม 750,000 คน
ตัวอย่างข้างต้นนั้น สะท้อนให้เห็นได้ว่า การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของภูมินิเวศน์นั้นเป็นทางออกที่ดี แม้แต่ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเขื่อน ก็ยังหันหลังให้กับเขื่อนมาดำเนินการในแนวทางนี้ แล้วทำไมประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่เขตร้อนและมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ห้วย หนอง คลอง บึง กุด ป่าพรุ ฯลฯ จึงไม่ลองคิดดูบ้าง เพราะหากจัดการให้ดีโดยไม่เข้าไปทำลายก็จะมีน้ำใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน
๒. การจัดการทางด้านความต้องการ
(Demand Side Management)
สาเหตุประการหนึ่งของการขาดแคลนน้ำที่นักสร้างเขื่อนไม่เคยกล่าวถึงก็คือ การขาดแคลนน้ำเกิดจากการที่รัฐเข้าไปสร้างระบบชลประทานที่ไร้ประสิทธิภาพ
ประกอบกับการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำนาปรังในฤดูแล้งโดยไม่ได้พิจารณาศักยภาพของทรัพยากรน้ำ
เมื่อสองสิ่งนี้มาบรรจบกันก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการขาดแคลนน้ำ
ดังนั้น พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและมีความขัดแย้งจนแย่งชิงน้ำกันนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นลุ่มน้ำที่มีการสร้างเขื่อน หรือพื้นที่ที่ชลประทานที่รัฐเข้าไปดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำและสนับสนุนการเกษตรฤดูแล้ง จนน้ำไม่พอความต้องการ กระทั่งที่สุดรัฐต้องห้ามปรามการทำนาปรัง แต่การจะห้ามนี้ก็ยากยิ่งเพราะรัฐเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่แรก
ข้อเท็จจริงนี้ดูได้จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการส่งเสริมการชลประทานและการเกษตรแบบเข้มข้นได้เป็นอย่างดี หรือกรณีชาวบ้านลุ่มน้ำพรมที่ทางการได้สร้างเขื่อนใหญ่ถึง ๒ เขื่อนทางต้นน้ำคือ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม อีกทั้งยังมีฝายทางตอนล่างอีกหลายแห่ง ปรากฏว่าเมื่อมีโครงการเหล่านี้ น้ำในลำน้ำพรมก็หายไปจนทำให้ชาวบ้านต้องแย่งน้ำกัน และรวมกันเดินตามน้ำที่เรียกว่า "ขบวนการตามน้ำ" จนในที่สุดก็พบว่าน้ำไปเพราะอยู่ในเขื่อนหมดจนไม่เหลือลงมาเลี้ยงชีวิตชาวบ้าน
สำหรับในลุ่มแม่น้ำยม ปัจจุบันลุ่มน้ำนี้มีระบบชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% เท่านั้น
การจัดการด้านความต้องการนี้ หมายรวมถึงการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานเพียงกรมเดียว ถ้าจัดการให้ดีก็จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน
ด้วยข้อมูลพื้นฐานนี้ จึงใคร่ขอเสนอว่า ก่อนที่นักสร้างเขื่อนจะดำเนินโครงการก่อสร้างอะไรก็ตาม รวมถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นและฝายยักษ์อื่นๆ ในแม่น้ำยมที่ต้องใช้งบประมาณเป็นร้อยล้าน พันล้านกัน ก็ควรที่จะต้องจัดการให้โครงการที่มีอยู่แล้วนี้มีประสิทธิภาพเสียก่อน กรณีง่ายๆ ของกรมชลประทานก็คือ การนำน้ำจากเขื่อนแม่มอกที่ลำปาง ซึ่งไหลไปลงสุโขทัยที่เพิ่งสร้างไม่นานให้ลงไปหล่อเลี้ยงชาวสุโขทัยให้ดูหน่อย ลองทำแค่นี้ให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปคิดถึงโครงการใหม่ๆ
๓. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก
ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก
ตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยใช้งบประมาณ เฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ
3 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นที่น่าเสียใจที่แผนดังกล่าวถูกแช่แข็งไว้ที่สภาพัฒน์ฯ
๔. การพัฒนาระบบประปา
แก้ปัญหาน้ำในเมือง
เมื่อถึงฤดูแล้ง ชาวเมืองมักจะเป็นกลุ่มที่ได้ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำเสมอ และนักสร้างเขื่อนมักจะเหมารวมว่าการขาดแคลนน้ำนี้มีสาเหตุจากไม่มีเขื่อน
แท้จริงแล้ว เมืองใหญ่หลายเมืองที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งนั้น
ไม่ได้เกิดจากการขาดน้ำดิบ แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการน้ำได้
ในลุ่มน้ำยมนั้น ดูตัวอย่างได้จากเมืองสุโขทัยที่ขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง แต่การขาดแคลนนี้เป็นเพราะว่า ระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง มิใช่ขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด
ทางออกต่อเรื่องนี้ก็คือ การส่งเสริมให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาพัฒนาให้ระบบการผลิตน้ำประปา ให้มีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองต่อความต้องการน้ำอุปโภค-บริโภค
๕. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
ความแห้งแล้งและน้ำท่วม(ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ)นั้น เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดมาจากการทำลายสภาพแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นในแทบทุกลุ่มน้ำ
การเสนอให้สร้างเขื่อนนอกจากไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วยังมีผลต่อการทำลายสภาพแวดล้อมให้สาหัสไปอีกโดยเฉพาะการทำลายป่าที่เป็นแหล่งปล่อยน้ำ
มีหลักฐานการวิจัยมากมายที่ชี้ว่า ป่าที่ถูกทำลายจากเขื่อนนั้น มิใช่แค่พื้นที่อ่างเก็บน้ำ แต่รวมถึงถนนเข้าสู่หัวงาน การสร้างหัวงาน บ้านพักคนงาน แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การสัมปทานทำไม้ในอ่าง (โดยการทำไม้นอกอ่าง) ถนนเข้าสู่หัวงานเขื่อนยังเป็นสะพานอย่างดีที่ทำให้เกิดการบุกรุกถือครองพื้นที่ป่าตามมา บางที่อาจจะแถมสนามกอล์ฟบริเวณหัวงานเขื่อนเข้าไปด้วย ดังตัวอย่างเช่น เขื่อนศรีนครินทร์ที่ป่าถูกทำลายมากกว่าบริเวณที่ถูกน้ำท่วมถึง ๒ เท่า หรือกรณีเขื่อนจุฬาภรณ์ที่ป่าถูกทำลายมากกว่าป่าที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำถึง ๒๐ เท่า
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การนำพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายจากเฉพาะจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมาทำการเทียบกับพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายในแต่ละปีจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
ข้อเสนอที่ใคร่จะเสนอต่อสังคมไทยก็คือ แทนที่จะสร้างเขื่อนไปทำลายป่ากัน น่าจะหันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะเป็นการฟื้นฟูเสถียรภาพของสภาพแวดล้อมกลับคืนมา
ในกรณีลุ่มน้ำยม การฟื้นฟูป่าจะต้องทำตลอดทั้งลุ่มน้ำซึ่งรวมถึงต้นน้ำและป่าริมน้ำของแม่น้ำสาขาและห้วยต่างๆ ที่ไหลลงแม่น้ำยมตั้งแต่แพร่ สุโขทัย ไปจนถึงพิษณุโลกและพิจิตร
กรณีของชาวสะเอียบเป็นตัวอย่างได้ดี เพราะชุมชนสะเอียบได้ช่วยกันรักษาป่าแม่ยมซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำยมมานานนับสิบปีแล้ว และปรากฏว่าแม่น้ำยมบริเวณนี้ไหลไม่เคยขาดสาย แตกต่างกับพื้นที่ทางตอนล่างอย่างสิ้นเชิง การฟื้นฟูป่าในลุ่มน้ำนั้น หากทุ่มเทกันอย่างจริงจังให้ได้สักครึ่งหนึ่งอย่างที่ชาวสะเอียบได้ทุ่มเทลงไปก็คงแก้ปัญหาของแม่น้ำยมได้พอสมควร
เชื่อแน่ว่า หากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นนี้ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทุกแล้ง เราก็ไม่ต้องโหยหาเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือเขื่อนอื่นๆ กันอีกต่อไป
เว้นเสียแต่ว่าจริงๆ แล้วในใจนั้นคิดกันอยู่ว่า "แล้งนี้ (และทุกแล้ง) ฉันจะเอาเขื่อน ไม่ใช่เอาน้ำ"
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)