บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 353 หัวเรื่อง
รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน
สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์
ศ.ดร.
อานันท์ กาญจนพันธุ์
ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมฯ มช.
(บทความนี้ยาวประมาณ
19 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน
สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์ (ตอนที่ ๒)
ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์
ภาคสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความนี้ยาวประมาณ
19 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
โครงการเสวนา
"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๙.๐๐-๑๒.๐๐
น.
สิทธิชุมชน: ชุมชนไม่มีสิทธิ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก, ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
(หมายเหตุ : บทความนี้คัดเอาเฉพาะในส่วนที่ ศ. เสน่ห์ จามริก พูดมานำเสนอเท่านั้น
ส่วนของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อยุ่ในระหว่างการถอดเทป)
บทนำ
ความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน
สิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอื่นๆ
สิทธิชุมชนกับการเกี่ยวพันถึงอุดมการณ์ด้านอื่นๆ
สิทธิชุมชนเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่ใหม่ทางสังคมการเมือง
สิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่จะต้องสร้าง
สรุป
บทนำ
อานันท์ กาญจนพันธุ์ :
สวัสดีท่านผู้สนใจเรื่องสิทธิชุมชน ท่านอาจารย์เสน่ห์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผม ณ
สถาบันแห่งนี้ สำหรับครั้งนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่จบจากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ได้มาพูดที่นี่
นับมาก็ 35 ปีแล้ว ก็นานมากที่ไม่ได้กลับมา
คิดว่าสิ่งซึ่งอาจารย์เสน่ห์พูดไปมีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องที่ว่าปัญหาจริงๆลึกๆแล้ว อยู่ที่ความแปลกแยกหรือช่องว่างทางปัญญาในสังคมไทยที่มันลักลั่นกันอยู่ในสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่ผมจะพูดก็คล้ายๆกับว่า เป็นการขยายความในสิ่งที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้ปูเป็นฐานทางปรัชญา ซึ่งมันเป็นปัญหารากฐานของปัญหาที่แท้จริงในสังคมไทย ประกอบกับการที่เรายังยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ทั้ง2 ประการนี้มันเป็นพลังมหาศาลที่ยากจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น
แต่สิ่งที่ผมจะพูดนั้น จะพยายามลงมาสู่ประเด็นที่เป็นรูปธรรมหรือละเอียดย่อยลงมา คือถ้าเราจะไปปรับแก้ทั้งหมด ก็คงจะต้องใช้พลังมหาศาล อาจจะต้องเคลื่อนไหวใหญ่ ยิ่งกว่าพฤษภาทมิฬ 2535 เสียอีก ดังนั้นคงจะต้องซอยย่อยลงมาในจุดที่อาจจะทำได้ในขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานมันอยู่ที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้ว ซึ่งก็เป็นการนำทางที่ผมคิดว่าสำคัญอย่างยิ่ง
ในส่วนที่ผมจะพูดมีอยู่ 3 ประการ
ประการที่หนึ่ง คือ การที่เรามาตั้งคำถามกันว่า การที่ชุมชนยังไม่ได้มีสิทธิ์จริงตามรัฐธรรมนูญ มันมีสาเหตุที่สำคัญอย่างไรบ้าง เพราะถ้าเราเข้าใจสาเหตุ เราจึงสามารถลงไปหาทางแก้ได้ชัดเจน สำหรับสาเหตุประการแรกอาจจะสืบทอดมาจาก หรือต่อเนื่องมาจากที่ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดมาแล้วคือ จริงๆแล้ว ปัญหาหลักของการที่ชุมชนยังไม่มีสิทธิ์ได้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของ"วิธีคิด" ก็คือเรื่องของ"ปัญญาที่มีช่องว่าง"
"วิธีคิด"ที่สำคัญในปัจจุบันก็คือว่า จากการที่เราหลงติดอยู่ในมายาคติ ซึ่งผมเรียกว่า "มายาคติของการยึดติดกับเรื่องสิทธิเชิงเดี่ยว" หมายความว่า สิทธิมีด้วยกันหลายอย่าง แต่การที่เรามายึดติดกับสิทธิเชิงเดี่ยว หรือดังที่อาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้วเรื่อง สิทธิกับปัจเจก หรือการมามองสิทธิว่ามันผูกติดกับหน่วยทางสังคมที่ตายตัวตามกฎหมายบัญญัติ เพราะหน่วยที่กฎหมายบัญญัติซึ่งจะเป็นหน่วยทางการได้มีไม่กี่อย่างที่เป็นหน่วยทางสังคมที่สำคัญ เช่น เรื่องของปัจเจกบุคคล กฎหมายจะบัญญัติเอาไว้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็เป็นหน่วยทางการอื่นๆ เช่น หน่วยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ จังหวัด เรื่องของ อบต. ซึ่งเป็นหน่วยที่มีการบัญญัติทางกฎหมายอย่างตายตัวแล้วพวกนี้
หน่วยในทำนองนี้มีปัญหาอยู่ คือว่า เวลาเราจะมอบอำนาจให้มีการจัดการทรัพยากร เช่น การจัดการเรื่องป่า เราก็ไปมอบให้เฉพาะกรมป่าไม้ ตามหน่วยที่มันมีอยู่แล้ว ให้เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวของเขาเอง พูดง่ายๆก็คือว่า การจัดการทรัพยากรก็เลยกลายเป็นอาณาจักรของหน่วยงานหนึ่ง ทั้งๆที่จริงๆแล้วทรัพยากรเป็นของประชาชน เป็นของสังคม แต่เวลาเราคิด เรากลับไปมองเชิงเดี่ยว จะมอบให้ใครมีอำนาจไปจัดการ ก็เลยทำให้วิธีคิดนี้ผูกติดอยู่กับสังคมไทย และเมื่อใครได้อำนาจนั้นไป ก็ยึดติดเหมือนเป็นอาณาจักรของตนเอง เผลอๆแล้วข้าราชการกรมป่าไม้นึกไปว่า ป่าเป็นของตนเอง
ผมอยู่ที่เชียงใหม่มีปัญหามากเพราะว่า เราส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลป่า ปรากฏว่าทุกอาทิตย์กลับบ้าน เวลากลับบ้านถือน้ำมันสนมาบ้างล่ะ บางทีก็เอาโต๊ะลงมา อันนี้เหมือนกับของตัวเอง ดูแล้วไม่มีปัญหาอะไรเลย อันนี้เขาทำกันอย่างเป็นปกติ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงวิธีคิดที่มันซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทยลึกๆ อันนี้เป็นปัญหาหลักในเรื่อง"มายาคติของหลักเรื่องสิทธิเชิงเดี่ยว"
ประการที่สอง คือการยึดติดกับมายาคติที่ว่า "รัฐเป็นตัวแทนของประชาชน" อันนี้ก็สำคัญ จากการที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ท่านได้พูดไปแล้วว่า เราคิดว่ารัฐบาลเวลาได้เสียงข้างมากแล้ว จะทำอะไรก็ได้ แล้วคิดว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายแทนประชาชน อันนี้ก็มีปัญหา
เวลานี้เรามีปัญหาหลายเรื่องที่ขึ้นมา บางทีรัฐไม่ฟ้องเสียเฉยๆ อย่างคดีหมอที่ฆ่าเมีย ถ้าเผื่อคนไม่เป็นผู้เสียหายเองก็ซวย เพราะเรารอให้รัฐเป็นผู้เสียหายแทนเราทั้งหมด เพราะเรายึดติดคิดว่า รัฐเป็นผู้รักษาประโยชน์แทนประชาชน แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย ปัญหาคือว่า รัฐมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มมากกว่าคนอีกบางกลุ่ม
สังคมไทยมีหลากหลายกลุ่ม แต่รัฐจะเอื้อกับบางกลุ่ม ไม่เอื้อกับบางกลุ่ม ดังนั้นปัญหานี้จึงเป็นว่า ถ้าเผื่อว่ากลุ่มบางกลุ่มขาดอำนาจในการต่อรองแล้ว สิทธิประโยชน์ที่รัฐมี ก็จะเอื้อให้กับบางคนเท่านั้น
ผมชำนาญเรื่องป่า จึงขอยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นมาให้เห็นชัดเจน อย่างเช่นว่า คนที่มีฐานะดีแต่ทำผิดกฎหมายป่าไม้ เช่นไปละเมิดพื้นที่ป่าเพื่อเอาไปทำเป็นรีสอร์ท เป็นต้น โอเค! รัฐก็ฟ้องศาล ศาลบอกว่าผิดกฎหมาย พอผิดกฎหมายแล้วก็เป็นคนผิด แต่ปรากฏว่ารัฐไปบอกว่า เขาลงทุนไปมากแล้ว ตกลงให้เขาเช่าต่อก็แล้วกัน อันนี้จะมีความหมายอะไรกับการที่ผิดกฎหมายตรงนั้น
สังคมไทยแปลกมาก กฎหมายกลับให้รางวัลกับคนทำผิด มันเป็นเรื่องประหลาดมากทำให้อาจารย์เสน่ห์พูดถึงว่า ต้องวิพากษ์นิติศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นวิธีคิดในระบบ ถ้าเผื่อคนจะทำดี คนจะรวมตัวรักษาป่า อันนี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย เห็นไหมครับ อันนี้มันมาแปลกมากและผมก็งงๆอยู่เหมือนกันว่ามันยังไง
แต่เราลองคิดดูซิครับ ถ้าใครทำผิด-รับรางวัล กฎหมายเราให้รางวัลกับคนทำผิดตลอดเวลา คนทำผิด คอรัปชั่นอะไรต่างๆ คุณทำไปเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องวัฒนธรรมภายในองค์กร อันนี้ก็เป็นปัญหาซึ่งยกตัวอย่างมาให้ดูก็คงจะเห็นแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า รัฐยังคงความคิดในเรื่องอำนาจนิยม ก็พยายามจะรักษาอำนาจเอาไว้ในฐานะอ้างความเป็นตัวแทนเป็นหลัก
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาไม่ได้บอกว่ารัฐเป็นตัวแทนประชาชนอย่างเดียว แต่การใช้อำนาจนั้นต้องมีการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไว้เป็นปรัชญาเป็นเจตนารมณ์สำคัญ แต่ปรากฏว่าตรงนี้เขียนเอาไว้สองไพเบี้ย ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ ยังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในแง่ที่ว่า ให้รัฐมีอำนาจ และรัฐก็พยายามจะรักษาอำนาจเอาไว้
อันนี้เห็นได้ชัดเจนจากกฎหมายป่าชุมชนที่เราร่วมกันผลักดันกันเป็นเวลานาน การที่กฎหมายป่าชุมชนยังไม่ออกสักที แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เขาพยายามจะคงอำนาจอันนั้นไว้กับการจัดการป่า ซึ่งล้มเหลวมาตลอดร้อยปีที่ผ่านมา การที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการป่า บอกว่าไม่ได้ มันจึงคาเอาไว้ในรัฐสภา
สำหรับสิ่งนี้เป็นปัญหามายาคติที่ยึดว่า"รัฐเป็นตัวแทนของภาคประชาชน" รัฐจึงทำแทนหมด คนอื่นอย่าเกี่ยว ไม่ต้องเข้ามายุ่ง อันนี้เป็นมายาคติที่เราคิดว่ามันเป็นจริง คือหมายความว่า มันเป็นการอ้างถึงสิ่งที่มันขัดแย้งกับหลักกฎหมาย หลักธรรมะ หลักธรรมศาสตร์ คือขัดแย้งกับทุกหลักการ แต่ว่าจะทำซะอย่าง อันนี้ก็แย่และลำบากเหมือนกันที่เราจะบอกว่าสังคมของเราเป็นสังคมการเมืองประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่าลักษณะอำนาจนิยมมีอยู่เต็มไปหมด อันนี้ก็ขัดแย้งในตัวเองและเป็นปัญหาที่สำคัญ
ประการที่สาม สังคมของเราเป็นสังคมลักษณะที่เข้าสู่ระบบทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราก็จะยึดติดกับมายาคติที่ว่า "ตลาดเป็นกลไกที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน" อันนี้ก็เป็นมายาคติอย่างมาก เพราะว่า เราไม่ยอมรับว่าตลาดมันล้มเหลวได้ เราคิดว่าตลาดทำงานดีมาก มันก็ดีซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่มันก็มีล้มเหลวได้ไม่ใช่หรือ? การที่บอกว่าตลาดดีอย่างเดียวนั้นเป็นปัญหา เพราะที่มันล้มเหลวมันมี อย่างเช่น ปัญหาที่ดิน
เราบอกว่าตลาดจัดการเรื่องตลาดที่ดินดีมาก ถ้าใครอยากจะมีที่ดินก็จะมีได้ ใช้ได้ และก็บอกว่า ถ้าเผื่อมีตลาดแล้วก็สามารถจะซื้อขายที่ดินต่างๆได้ โอเค! เราก็ยอมให้ทำ สังคมไทยก็ยอมให้มีแบบนี้มาเป็นเวลานาน วันดีคืนดีปรากฏว่า มันโผล่ ตอผลุดขึ้นมาพบว่า ที่ให้ตลาดจัดการนั้นมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเพราะว่า เวลานี้สังคมไทย ที่ดินราว 30 ล้านไร่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่ที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดของสังคมไทย สามารถจะทำการผลิตได้ดี แต่เราปล่อยให้หญ้าขึ้น
การทำอย่างนี้ก่อให้เกิดผลกระทบ เพราะเท่ากับกดดันให้คนจนต้องไปเปิดพื้นที่ป่าเพิ่ม แล้วเอาพื้นที่ที่เฮงซวยที่สุดให้คนจน ในขณะที่ที่ดีที่สุดคนรวยเก็บดองเอาไว้เฉยๆเพื่อเก็งกำไร อย่างนี้เป็นต้น อันนี้แสดงว่า ตลาดมันต้องล้มเหลวสักอย่างหนึ่ง แล้วมันก็เป็นปัญหาต่อมาเพราะว่าการที่เราทำแบบนี้ เราลองนึกภาพดูว่า เมืองไทยเวลานี้ 320 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ป่าเพียง 80 ล้านไร่เท่านั้นเอง แล้วคุณดูซิ ทิ้งเฉยๆ 30 ล้านไร่ ให้มันนอนอยู่เฉยๆเพื่อรอเก็งกำไร
ซึ่งที่ดิน 30 ล้านไร่นี้เราต้องแบกรับภาระ ไม่ใช่มันทิ้งไว้เก็งกำไรสำหรับลูกหลานแล้วเราไม่ได้แบกรับภาระ เราแบกรับภาระเพราะอันนี้คือที่เน่า ซึ่งมันติดอยู่ในธนาคารทั้งหลายแหล่ เราก็ต้องจ่ายดอกเบื้ยในรูปของภาษีอากร เพื่อชดเชยกองทุนอะไรต่างๆซึ่งมันตั้งขึ้นมาทั้งหลายแหล่ กองทุน สถาบันบ้าๆบอๆในการปรับปรุงอะไรต่างๆ ทั้งหมดนี้เราต้องจ่าย อย่าคิดว่านี้ทำเล่นๆ เราเป็นผู้ที่ต้องจ่ายในรูปภาษี ให้คนเอาที่ดินไปดองเล่น คล้ายๆกับรอให้ลูกหลานหรือเก็งกำไร
ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เราต้องเข้าใจว่ามันมาพันกับเรา มันมากระทบกับเรา แต่เราก็วางเฉยเพราะไม่รู้เรื่อง หรือทำเป็นไม่รู้เรื่อง จริงๆแล้วเราติดอยู่ในมายาคติ ลึกๆสุดท้ายสุด ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้เรื่อง แต่เราคิดว่าตลาดมันจะช่วยเราทุกอย่าง แก้ไขปัญหาให้เราทุกอย่าง แต่มันล้มได้ ต้องคิดว่ามันล้มได้
เมื่อก่อนนี้ผมไม่เชื่อ ผมคิดว่าคนซื้อที่ดินเก็บดองๆไว้ ที่ดินมันก็จะราคาดีขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เราเริ่มรู้แล้วว่า ที่ดินมันตกได้เหมือนกัน ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ที่ดินมันตกลงไป 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่มันจะขึ้นไปเรื่อยๆอย่างเดียว ดังนั้น ตลาดมันมีสิทธิ์ล้มเหลว ถ้าเผื่อเราเข้าใจตรงนี้ เราจะหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น แต่ว่าเรายังยึดติดอยู่กับตรงนี้มาก ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ทำให้เราไม่ใส่ใจในเรื่องสิทธิชุมชน
ความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน
ต่อมาคือว่า ความเข้าใจในเรื่อง"สิทธิชุมชน" ในปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่างก็คือว่า
เรายังสับสนอยู่พอสมควร อันนี้ต้องยอมรับความจริงคือ ด้านหนึ่ง เราจะมองเรื่องสิทธิชุมชนในลักษณะที่เป็นนามธรรม
เพราะคำที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมันสั้น แต่ว่ามันมีรากฐานมาจากประวัติความเป็นมาของประสบการณ์ชีวิตในสังคม
อย่างที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้ว ดังนั้นการจะมาเขียนบรรยายให้มันเต็มบริบูรณ์ก็ยาก
จึงทำให้คนที่สนใจจะผลักดันมองเรื่องของสิทธิชุมชนเป็นนามธรรม
ส่วนคนที่ปฏิบัติราชการ ผมเจอกับปัญหานี้มาเพราะเวลาที่ไปช่วยร่างเรื่องกฎหมายป่าชุมชน จะเจอกับราชการที่บอกว่า บอกผมมาซิว่า ไอ้ชุมชนของคุณนั้นมันตรงไหน บัญญัติมาเลย อันนี้เขาก็จะคิดแบบการตั้งหมู่บ้าน เอา 50 คนได้ไหม? จะเอา อบต. หรือจะเอาหน่วยที่มีอยู่แล้วซึ่งผมพูดเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก คิดอยู่แค่นี้ว่าจะเอาหน่วยไหน
หน่วยของชุมชน เป็นพัฒนาการของสังคมด้วย ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวอยู่กับที่ ถ้าเราไปบัญญัติว่าเฉพาะ อบต. ก็ซวยแล้ว เพราะในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 บอกว่า ผู้คนที่รวมตัวกันเป็นชุมชน เขาไม่ได้บอกว่าขนาดเท่าไหร่ เขาไม่ได้บอกว่าชุมชนนั้นเป็นยังไงชัดเจน แต่อาจจะมีการเติมว่าดั้งเดิมเข้าไป เพื่อเป็นการย้ำว่ามันมีรากฐานมาตั้งแต่ในอดีตด้วย ไม่ใช่เฉพาะชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเดียว อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่ายังมีความสับสนวุ่นวายอยู่พอสมควร
นอกจากนั้น ในสังคมไทยจริงๆเนื่องจากเราเชื่อมั่นในตลาดมาก ก็จะมีปัญหาเข้าใจผิดๆว่าสิทธิชุมชนไปขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะเราจะพบว่าเวลาที่อ้างถึงสิทธิชุมชนทีไร จะเป็นการคัดค้านโครงการพัฒนาบางอย่างเสมอ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเข้าใจผิดคิดว่า โครงการพัฒนาเหล่านั้นมันจะเอื้อให้ตลาดทำงานดีขึ้น ส่วนพวกที่มาคัดค้านก็คือพวกที่พยายามจะขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาระบบตลาดที่จะทำให้เรามีการกินดีอยู่ดีมากขึ้นตามความคิดเชิงเศรษฐกิจ อันนี้ก็เป็นปัญหา
จริงๆแล้ว ผมบอกได้เลยว่า"สิทธิชุมชน" ซึ่งคนเข้าใจน้อย จะช่วยรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและการบิดเบือน ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายต่อไปว่าตรงนี้หมายความว่าอะไร เพราะคนทั่วไปคิดว่ามันไปขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เขาถึงไม่ค่อยอยากจะยอมรับ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่สังคมควรจะเข้าใจมากขึ้นคือว่า ถ้ามีสิทธิชุมชนต่างหาก การพัฒนาทางเศรษฐกิจถึงจะเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงเน้นแต่ตัวเลขของการเจริญเติบโต อย่างที่เราฝันหวานอยู่เวลานี้ว่าจะ 8%, 10% อะไรต่างๆ ก็ฝันไปเถอะ แต่ตัวเลขมันฟ้องว่าความลักลั่นในการถือครอง หรือในการรับประโยชน์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มันบิดเบือนสิ้นดี
ตัวเลขใหม่ๆที่ออกมาก็ชัดอยู่แล้วว่า ความบิดเบือนมันมากขึ้น ก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ คนที่รวยที่สุด 20% ของประเทศไทย ถือครองทรัพยากรและความมั่งคั่งของสังคม ประมาณ 60% คนที่จนซึ่งอยู่ส่วนล่างของสังคม ถือครองทรัพยากรประมาณ 5% กว่าๆ
วันนี้เดี๋ยวนี้หลังจากรัฐบาลที่คิดว่ามีความสามารถในการจัดการทางเศรษฐกิจ ทำดีมากเลย จากเดิมที่ 20% บนถือครอง 60% เดิมนั้น เวลานี้ปาเข้าไป 65-70% แล้ว ส่วนคนจน 20% ล่างที่อยู่ต่ำสุดในสังคม จากเดิม 5% ตอนนี้เหลือ 3% กว่าๆ แล้วคิดว่าหากพัฒนามากขึ้น มันไม่ยิ่งหดลงเรื่อยๆหรือ
นายกฯ บอกว่า 8 ปีความยากจนจะหมดไป ก็หมดแน่ๆเพราะคนจนเหลือศูนย์ ไม่มีอะไรเลย มันไม่ได้หมายความว่าความยากจนนั้นจะหมดไป เอาแค่เรื่องเศรษฐกิจไม่นับเรื่องปัญหาสังคมอื่นๆที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ได้ออกมาเตือนๆอยู่แล้วว่า เวลาคิดถึงความยากจน ไม่ใช่คิดแต่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ ว่ามีเงินหรือไม่มีเงินเท่านั้น มันมีปัญหาเรื่องสิทธิและโอกาสอีกมากมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นทางสังคมที่ไม่ได้พูดถึง อันนี้จะเป็นปัญหาอย่างมาก
นอกจากความคิดที่ผมพูดแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้รวมๆกันแล้ว มันมาขัดขวางทำให้เราไม่สนใจใยดีในเรื่องสิทธิชุมชน
แล้วสุดท้ายที่เป็นปัญหา ซึ่งคิดว่าสำคัญมากและจะขยายความต่อไปก็คือว่า เนื่องจากความคิดเรื่องสิทธิชุมชน ไม่สามารถเอาเรื่องสิทธิชุมชนทั้งกะบิไปพูดได้ แต่เราต้องพูดว่าในเงื่อนไขใด สิทธิชุมชนถึงจะปรากฏตัวออกมา ตรงนี้ที่เป็นประเด็นในแง่ที่ว่า ในปัจจุบันความเข้าใจเรื่องของความคิดที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏได้มันมีน้อย
ความคิดที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏได้ อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า คนมารวมตัวกัน แต่การที่สิทธิชุมชนจะปรากฏได้ มันต้องมีแนวคิดหรือ concept ที่ทำให้คำนี้ปรากฏได้ แล้วต้องเอาไปบัญญัติได้ด้วย ไม่ว่าในกฎหมายที่ต่ำกว่านั้นก็ดี ไม่ต้องกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเขียนได้แค่นั้น แต่ต้องมาปรากฏในกฎหมายที่ต่ำกว่า อย่างน้อยที่สุดต้องมีการตัดสินอะไรที่ทำให้คำเหล่านี้มันปรากฏได้มากขึ้น ซึ่งการจะปรากฏคำเหล่านี้ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางสังคมมาก
ที่ทำสำเร็จแล้ว ที่ชัดเจน มีอยู่อันเดียวคือการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ปากมูล เคลื่อนไหวจนกระทั่งทำให้การที่เป็นผู้เสียหาย ต้องได้รับการชดเชย เมื่อก่อนเราจะชดเชยเฉพาะในเรื่องของที่ดิน แต่ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ว่า เวลาคนเสียหายคุณต้องชดเชยอาชีพด้วย เพราะว่าปากมูลได้ไปทำให้คนบางส่วนไม่ได้ใช้ที่ดิน แต่เขาใช้น้ำและเขาจับปลา ดังนั้นการสูญเสียอาชีพประมง มันเป็นเรื่องที่จะต้องชดเชย คือเขาต้องมีสิทธิ์
ดังนั้น กลุ่มคนที่เคยทำประมง ซึ่งเมื่อก่อนเขาก็ไม่ได้ตั้งบ้านที่เป็นชุมชนชัดเจน เพราะเขามาจากหลายบ้านหลายที่ แต่การที่เขาเสียสิทธิ์ในการที่จะได้จับปลาตรงนั้นไป มันเป็นสิทธิชุมชน เป็นสิทธิร่วมกันของคนที่มีอาชีพเดียวกัน รัฐต้องชดเชย แนวคิดเกี่ยวกับการชดเชยอาชีพก็จะมาเป็นแนวคิดที่ทำให้ สิทธิชุมชนปรากฏเป็นจริงได้ในบางเงื่อนไข
ความคิดอย่างนี้ อย่างเรื่องการชดเชยอาชีพ มันสำคัญและจะต้องผลักดันให้สังคมเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ถึงจะทำให้เกิดการใช้สิทธิ์บังคับให้เป็นไปตามสิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ
ที่พูดไปแล้ว กำลังบอกว่ามันมีอะไรบ้างที่ยังขัดขวาง ทำให้สิทธิชุมชนไม่สามารถปรากฏเป็นจริงได้ ซึ่งก็จะมีอยู่มากมายถ้าเราแจกแจงออกมา ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีคิดต่างๆ ทั้งที่เป็นมายาคติ ทั้งที่เป็นความเชื่อมั่นบางอย่าง ซึ่งพยายามไม่อยากจะคลายอำนาจออกไป กับการที่สังคมไทยเองยังไม่สามารถทำให้เกิดสติปัญญาบางประการ ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่ามันมีความคิดบางอย่างที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏขึ้นมาเป็นจริงได้
อันนี้เรายังอ่อนอยู่ เป็นความอ่อนแอของสถาบันทางวิชาการที่ไม่ได้ใส่ใจในปัญญาทางด้านนี้ จึงทำให้คนไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงทำในตัวรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำให้คำหรือตัวแนวคิดเหล่านี้เป็นที่เข้าใจในสังคมด้วย ถึงจะทำให้คนในสังคมยอมรับและบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
ประการที่สอง คือ เนื่องจากสิทธิชุมชนเป็นนามธรรม มีเขียนในรัฐธรรมนูญไม่ยาวนัก ก็ทำให้เกิดความสับสนอยู่พอสมควร จึงอยากใช้เวลาเล็กน้อยเป็นการอธิบายว่า ความหมายหรือความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ควรจะมองอย่างไรในสังคมปัจจุบัน
สิทธิชุมชน ดังที่อาจารย์เสน่ห์ได้บอกแล้วว่ามีรากฐานมาจากสังคมในอดีต ในปัจจุบันต้องไม่ลืมว่าเราเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งการพัฒนายิ่งทำให้เราเป็นปัจเจกตามตะวันตกมากขึ้นดังนั้นความเข้าใจของเราในเรื่องนี้จึงค่อยๆคลายลงไป จริงๆแล้วความหมายของเรื่องสิทธิชุมชน มันเป็นเรื่องของพลวัตความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มันไม่ใช่เป็นหน่วยทางสังคมที่ตายตัว จะเอาสิทธิชุมชนไปเทียบกับเป็นเรื่องหมู่บ้านไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ดังนั้น สิทธิชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องอุดมการณ์ คุณค่า ศีลธรรม ในฐานะที่เป็นความชอบธรรมทางสังคมด้วย แล้วยังไปพันกับเรื่องโครงสร้างทางสังคมอื่นๆอีก ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ก็สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ สิทธิชุมชนจึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับหน่วยทางสังคมที่มีอยู่แล้ว จะเอาหน่วยหมู่บ้าน หน่วยองค์กร หน่วยอะไรต่างๆที่มีอยู่แล้วไปใช้เทียบเคียงว่าอันนี้คือหน่วยของสิทธิชุมชน มันไม่ได้
จริงๆแล้วเรื่องสิทธิชุมชน ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆที่เขียนว่า "สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง" อันนี้คืออย่างเดียวกัน สิทธิชุมชนไม่ได้มีอยู่แล้วซึ่งเราจะไปซื้อ จะไปเอา จะหยิบเอามาใช้ได้ตรงๆ ถ้าอยากได้ต้องผลักดัน เขียนไว้เฉยๆไม่ปรากฏ
เรื่องของสิทธิชุมชนเป็นเรื่องซึ่งต้องร่วมกันสร้างขึ้น ด้วยการปฏิบัติการต่อรอง ด้วยการต่อสู้ทางสังคม จนกว่าสังคมจะเกิดการยอมรับ เราจะเอาแต่ใจของตัวเราเอง บอกว่ามีแล้ว ต่อไปนี้ต้องบังคับใช้ เป็นไปไม่ได้ มันยังต้องขับเคลื่อนด้วยการต่อรองและการต่อสู้ทางสังคม หมายความว่าต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคมพอประมาณ ถึงจะทำให้เกิดอันนี้ขึ้นมา
สิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอื่นๆ
เท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ขณะที่สังคมไทยมีรากฐานจากสังคมเกษตรกรรมเป็นหลัก
สิทธิชุมชนจะเกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆอีกหลายตัว ตามคติที่มีอยู่ในเชิงคุณค่า
เชิงศีลธรรมของสังคมของเราแล้วในท้องถิ่นต่างๆ คือ สิทธิชุมชน ถ้าเผื่อเป็นสังคมเกษตรกรรมเมื่อก่อน
มันก็จะซ้อนอยู่ในเรื่องสิทธิต่างๆซึ่งผมศึกษามาแล้ว เช่น "สิทธิหน้าหมู่" คือสิทธิของคนที่จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในป่า
ในที่ดินอะไรต่างๆ หรือว่าสิทธิในเรื่องของ"สิทธิการใช้" อย่างเช่นว่า ถ้าเห็ดเกิดขึ้นที่ไหน
เพราะเห็ดเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาในที่ดินของใคร คนที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินก็สามารถไปเก็บเห็ดในที่ดินของคนอื่นได้
เพราะเห็ดมันเป็นของเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเป็นคนเพาะมันขึ้นมา
อันนี้เรียกว่า"สิทธิการใช้"
สิทธิเหล่านี้มันมาตามหลักในเรื่องที่ว่า ทุกคนควรมีสิทธิในการยังชีพ มีสิทธิในการที่จะมีชีวิต ก็เลยทำให้ความรู้สึกที่ว่า ถ้าเห็ดขึ้นในบ้านฉัน คุณจะมาเก็บไม่ได้ อันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราควรจะคิดว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากเห็ดเป็นของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งผมก็เจอเอง เรื่องไข่มดแดงก็เหมือนกัน
อันนี้ผมเล่าตลอดเวลา คือ มดแดงมันมาทำรังบนต้นมะม่วงบ้านเรา ต้นมะม่วงเป็นของเรา เราปลูก เราเก็บได้เฉพาะลูกมะม่วง แต่ไข่มดแดงบนต้นมะม่วงเป็นของทุกคน ใครอยู่ที่ไหนก็มาเก็บได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าของบ้านจะกันรั้วแล้วห้ามคนอื่นมาเก็บ อันนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นศีลธรรมทางสังคมที่เขาต้องเน้นเรื่องการยังชีพ ดังนั้น ที่ใครก็เก็บ อันนี้เราเรียกว่า"สิทธิการใช้"
ดังนั้นในสังคมเกษตรกรรม เรื่องของสิทธิชุมชน การที่ชุมชนสามารถทำอย่างนี้ได้มันเป็นระบบคุณค่าทางศีลธรรม ซึ่งสังคมได้ให้ความสำคัญกับการยังชีพ เขาก็เน้นตรงนี้
ทีนี้เรามาสังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นสิทธิชุมชนจึงค่อยๆขยายตัวออกไป เกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆอีกเยอะแยะไปหมด ตามความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น สิทธิในความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน อันนี้ก็เป็นสิทธิชนิดใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนเราคิดว่าเป็นเรื่องซึ่งทุกคนคิดกันอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันมาก แต่สังคมปัจจุบัน ขณะที่มีการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราถึงต้องมาพูดกันว่า คุณต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครเคารพ
เมื่อก่อนไม่มีใครพูดเรื่องนี้ เพราะเขาเคารพกันอยู่แล้ว คือทุกคนเป็นญาติพี่น้องกันหมดก็ไม่มาพูดเรื่องนี้ แต่พอตอนนี้ถ้าเผื่อเราไม่พูด คนก็ไม่เข้าใจ ดังนั้น สิทธิประเภทต่างๆเหล่านี้จึงค่อยๆเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่นยกตัวอย่าง สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง อันนี้ก็สำคัญ อย่างเช่น
เราจะไปบอกว่าทุกคนต้องพัฒนาอย่างเดียวกันหมด ทุกคนต้องมีรถยนต์กัน ทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า ทุกคนต้องใช้แก๊ส แล้วถ้าเผื่อมีคนบอกว่า ผมไม่เอาด้วย ผมอยากจะอยู่อย่างนี้ อันนี้ไม่ได้ละ เราต้องตีหัวมันจนกว่ามันจะยอม อย่างเช่น กรณีท่อแก๊สที่ภาคใต้ เขาบอกว่าอยากจะอยู่เลี้ยงนกเขา อยากจะอยู่แบบชุมชนมุสลิม บอกว่าไม่ได้ อันนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่มีสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ มันต่อเนื่องมาจากเรื่องของศักดิ์ศรี เราอยากจะอยู่อย่างอื่นซึ่งไม่เป็นไปตามกระแสไม่ได้หรือ อันนี้ก็เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะเราอยากจะอยู่อย่างนั้น
หรือสิทธิในการมีตัวตนในด้านต่างๆ อย่างเช่น สิทธิในการรวมตัวกันในฐานะที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เขาอยากจะสร้างตัวตนขึ้นมาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และเขาอยากจะอยู่อย่างนั้นบ้าง ไม่อยากจะเป็นไปตามนี้ หรือสิทธิของผู้หญิงซึ่งเมื่อก่อนใช้นามสกุลของสามี เดี๋ยวนี้อยากจะใช้นามสกุลตัวเอง ก็เป็นเรื่องใหม่ๆซึ่งพวกนี้มีขึ้นมาเรื่อยๆ
หรือสิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการที่จะคัดค้าน สิทธิในการดื้อแพ่งซึ่งไม่ยอมทำตามตัวบทกฎหมายบางอย่าง หรือสิทธิในการตรวจสอบถ่วงดุล หรือในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิทธิในการเป็นผู้เสียหาย คือประชาชนจะต้องมีสิทธิอันนี้ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายได้ ถ้าเราเสียหายไม่ได้ รัฐจะมาบอกว่าคุณจะต้องเป็นคนที่ยอมเป็นผู้เสียสละ พอการพัฒนามาทำลายชุมชน ก็บอกว่าคุณจะต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นพวกทำเขื่อน หรือท่อแก๊ส ชาวบ้านจะต้องเสียสละเพราะทำเพื่อส่วนรวม อ้างแต่ให้เสียสละยันเลย
คนต้องเสียสละบ้าง แต่เมื่อเราเสียสละได้ ก็ต้องเป็นผู้เสียหายได้ ไม่ใช่จะเอาด้านเดียว สิทธิมันเป็นเรื่องสองด้าน ไม่ใช่ด้านเดียวตลอดเวลา
แล้วก็สิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากการสูญเสียอาชีพ อันนี้ก็เริ่มจะเกิดขึ้นมาแล้วจากการเคลื่อนไหว หรือสิทธิในการเคลื่อนไหวที่จะต่อสู้ เป็นต้น คือหมายความว่า สิทธิชุมชนไม่ได้อยู่โดดๆ มันไปพันกับสิทธิอื่นๆมากมายไปหมด ดังนั้นถ้าเราดึงมาแต่เพียงอันเดียว เราอาจจะมองไม่เห็น แต่ที่มันบังคับใช้ไม่ได้และมีปัญหา ก็เพราะว่าเราไม่ได้มองเรื่องสิทธิชุมชนในฐานะที่เป็นความเชื่อมโยง กับสิทธิในการอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะต้องสถาปนาหรือผลักดันความเข้าใจของความเชื่อมโยงเรื่องสิทธิชุมชน กับสิทธิอื่นๆให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน
เพราะเวลาเราพูดถึงสิทธิใดสิทธิหนึ่ง เราจะพูดถึงสิทธินั้นๆแบบโดดๆ หาความเชื่อมโยงอะไรไม่ได้ เพราะกฎหมาย positivism ดังที่ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดไปแล้ว มันจะมองตามตัวบทเป็นเรื่องๆ ไม่มีความสนใจในการเชื่อมโยง ตรงนี้ก็เลยทำให้สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิของการเชื่อมโยงมันก็เลยหลุดออกไปจากความเข้าใจทางกฎหมาย
ดังนั้น ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็เสียเวลาเปล่า เพราะพวกนี้ก็มาจากศาลฎีกาทั้งนั้น เขาเป็นศาลมาตั้ง 40 ปี จับมานั่งอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคิดอย่างศาลเดิมอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนองค์ประกอบอะไรบางอย่าง
สิทธิชุมชนกับการเกี่ยวพันถึงอุดมการณ์ด้านอื่นๆ
นอกจากสิทธิชุมชนจะพันกับเรื่องสิทธิทางด้านอื่นๆ มันยังไปเกี่ยวพันกับอุดมการณ์และคุณค่าอื่นๆ
ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการสร้างความชอบธรรมอีกหลายตัว ยกตัวอย่างเช่น มันไปพันกับเรื่อง"ทุนทางสังคม"
ถ้าเราไม่เข้าใจว่าที่ดินเป็นทุนของสังคม คิดแต่เพียงว่าเป็นของข้า ข้าจะทำอะไรก็ได้ อันนี้ไปไม่รอด. ที่ดิน ถึงแม้ว่าเราให้โฉนดเป็นของปัจเจก แต่แท้จริงแล้วมันเป็นสมบัติร่วมกันของสังคม ถ้าคุณให้ไปแล้วและไม่ใช้ เอาไปแล้วทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า มัวแต่เก็งกำไรกันอยู่ ผลกระทบมันมีต่อสังคม คุณเป็นแต่เพียงผู้ดูแลแทนสังคมตามที่กฎหมายมอบให้ เพราะเขาบอกเลยว่า ถ้าคุณไม่ใช้ 10 ปี ในมาตรา 6 รัฐมิสิทธิ์เอาคืนได้ อันนี้ก็หมายความว่าเขาให้คุณเอาไปใช้ ถ้าไม่ใช้เขาเอาคืนได้ แต่มาตรา 6 นี้ไม่เคยใช้
อันนี้เป็นเรื่องน่าแปลก คนผิดกฎหมาย คล้ายๆกับได้รับแต่รางวัล อันนี้เป็นเรื่องของเมืองไทยอย่างที่บอกเอาไว้แต่ต้นแล้ว แต่คนที่อยากจะทำดีกลับไม่ได้รับรางวัล ซ้ำร้ายถูกตีหัว อันนี้ก็เป็นปัญหามาก
นอกจากทุนทางสังคมแล้ว ทุนทางชีวิตเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนทางธรรมชาติและสังคม ความเป็นธรรมทางสังคม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนวิธีคิดใหม่ๆที่เรากำลังนำเข้ามาแนะนำแก่สังคมไทย เช่นเรื่องของ"ประชาสังคม"บ้าง เรื่อง"ธรรมรัฐ"บ้าง พวกนี้เกี่ยวข้องกันทั้งนั้น แต่เวลานี้เราเป็นพวก lip service พูดแต่ปาก พูดจนคล่อง ประชาสังคมบ้าง ธรรมรัฐบ้าง แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร
ความคิดเรื่องสิทธิชุมชนไปพันกับเรื่องพวกนี้ด้วย ถ้าความคิดพวกนี้ยังไม่ชัดเจน สิทธิชุมชนจะไม่ปรากฎให้เห็นชัดเจนได้ในทางการบังคับใช้ตามกฎหมาย ผมพูดถึงว่าจะเอาสิทธิชุมชนมาบังคับใช้ตามกฎหมาย มันยังทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆที่จะตามมาก็ตาม ดังนั้นในปัจจุบัน พูดง่ายๆคือว่า อุดมการณ์ สิทธิ และคุณค่าต่างๆซึ่งพูดมาแล้ว มันยังเป็นวาทกรรม ยังเป็นการพูดกันในวงวิชาการซึ่งค่อนข้างจำกัด และมีผู้สนใจทำความเข้าใจน้อยมาก เพราะเราไม่รู้ว่าอันนี้มันมีผลกระทบกับเราอย่างไร? ดังนั้น จึงยังต้องการการเคลื่อนไหว ยังต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจอีกมาก จนกว่าเรื่องสิทธิชุมชนจะสามารถมีพลังและทำให้เป็นจริงได้ในสังคมไทย
สิทธิชุมชนเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่ใหม่ทางสังคมการเมือง
ตามนัยะดังกล่าวที่พูดมาแล้ว
สิทธิชุมชนผมถือว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ทางสังคม อันนี้สำคัญมากเพราะว่า
คือเราคิดว่าการเมืองของเรามีแต่การเลือกตั้ง จริงๆแล้วการเมืองเป็นเรื่องของพื้นที่ทางสังคมขนาดใหญ่
เราจะไม่ยอมให้กลไกทางการเมืองผูกขาดพื้นที่นี้อย่างเดียว เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่า
ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมือง ไม่ใช่ 4 ปีไปลงคะแนนเสียงครั้งหนึ่งเท่านั้น
แต่ตรงนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าหากว่าพื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้ถูกปิด และสิทธิชุมชนมันพันกับพื้นที่นี้ คือพันกับพื้นที่ทางสังคมที่จะเปิดขึ้นมาใหม่ๆเหล่านี้ เพราะว่าพื้นที่เหล่านี้มันเป็นพื้นที่ของการแสดงความเป็นมนุษย์ แล้วมันจะแสดงได้ก็ต่อเมื่อได้เปิดให้มันมีการเคลื่อนไหวทางสังคม ถ้าเราบอกว่าอันนี้เดินขบวนไม่ได้ ก็เท่ากับปิดพื้นที่ แน่นอน การเคลื่อนไหวทางสังคมทำได้หลายรูปแบบ การรวมตัวกันเพื่อคัดค้านก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
ดังนั้น การที่จะต้องพัฒนาให้เกิดพื้นที่มากๆ ต้องอาศัยความคิดซึ่งผมว่าไปแล้วหลายอย่าง เช่น ทุนของชีวิต ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม อะไรต่างๆเหล่านี้ที่จะเข้ามามีบทบาทมาก แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เองยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน ดังนั้น สิทธิชุมชนในสังคมจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมันต้องมีชีวิตเชื่อมโยงกับความคิดเหล่านี้อยู่
ถ้าหากเราสามารถเปิดพื้นที่ของส่วนรวมให้มากขึ้นได้มากเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ในเรื่องของสิทธิชุมชนในสังคมไทยจึงจะเกิดขึ้นได้
แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า แนวทางของผู้มีอำนาจในรัฐบาลจะทำอะไรที่สวนกับที่ผมว่าโดยตลอดหมด ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น พูดนโยบายทุกอันสวนทางหมดเลย อย่างเช่น ผมบอกว่าต้องเปิดพื้นที่ของส่วนรวมมากขึ้น เพื่อให้สิทธิชุมชนปรากฏตัว นโยบายของรัฐเป็นอย่างไร นโยบายของรัฐคือเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นทุน
นโยบายเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นทุน เป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินของส่วนรวมให้เป็นของส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็ขัดแย้งแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็หมายความว่าทำลายสิทธิชุมชนด้วย แต่ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่าอันนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ
อันนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญในแง่ที่ว่า ถ้าเราต้องการจะให้เกิดสิทธิชุมชน เราจะไปเปลี่ยนทรัพย์สินซึ่งเป็นของส่วนรวมอยู่แล้วเพื่อเป็นของส่วนตัวไม่ได้ แล้วปัญหานี้มีผลกระทบอย่างแรง เพราะคนจนพึ่งพื้นที่ส่วนรวมมาก เช่นว่า เขาจะขายของที่นั่นที่นี่ที่เรามี บนฟุตบาทเป็นที่ส่วนรวม แต่แน่นอนมันก็มีอำนาจมืดมาเก็บค่าต๋งไปอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังดี ยิ่งคนจนเท่าไหร่ เขาพึ่งตลาดได้น้อย เขาต้องพึ่งพื้นที่ส่วนรวมนี้มาก
คนจนที่อยู่ได้ทุกวันนี้ต้องพึ่งแม่น้ำ เมื่อไหร่ที่พวกเขาจับปลาไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าลำน้ำนี้เป็นของบ้านนั้น หรือทะเลเป็นของคนนี้ เป็นของคนนั้น ซวยเลยครับ คนจนจับปลาตรงไหนไม่ได้ แล้วปลามันเป็นอาหารขั้นต่ำสุด ขี้หมูขี้หมาไม่มีจะกิน อย่างน้อยจับปลากินได้ก็พอเอาตัวรอดได้ ถ้าขาดตรงนี้ไปก็แย่
ดังนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายในการสวนทางกับความคิดสิทธิชุมชนตลอดเวลา ในแง่ที่ว่าไปปิดพื้นที่ส่วนรวมของทุกคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจนที่ผมว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากซึ่งเราจะต้องชี้ตรงนี้ให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว นโยบายที่ออกมาแต่ละอัน มันล้วนแล้วแต่ พูดง่ายๆ นอกจากจะไม่ส่งเสริมแล้ว ยังทำลายอย่างจะแจ้งเยอะมาก
อันนี้เป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจน เราดูความหมายแยกออกมาต่างหาก พอพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน ก็พูดออกมาต่างหาก ไม่ได้เห็นว่าสิทธิชุมชนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความเข้าใจสิทธิประเภทอื่นๆอีกมหาศาล อันนี้ต้องเอาเข้ามาเชื่อมโยง และต้องเข้าใจในสภาวะความเป็นจริงของปัจจุบันด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วมันก็ผลักดันไม่ได้
สิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่จะต้องสร้าง
เมื่อพูดเรื่องนี้ก็รู้สึกหดหู่สำหรับผู้ที่จะผลักดันในเรื่องนี้ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า
ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของเราอย่างเดียว มันเป็นปัญหาที่ว่าสังคมยังไม่ค่อยเข้าใจ
ดังนั้นจึงต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างให้สิทธิชุมชนเป็นจริง ผมบอกแล้วว่า
สิทธิชุมชนไม่ใช่สิ่งซึ่งมีอยู่แล้ว มันต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจ มันมีอยู่แล้วบ้าง
แต่เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไป มันต้องมีสิทธิชุมชนประเภทอื่นๆ ใหม่ๆ
ขึ้นมาอีกมาก ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยการสร้างและการผลักดันให้เกิดขึ้น
แล้วถ้าถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง? ไม่ใช่บ่นอย่างเดียว ผมคิดว่า
ประการแรก ต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายเชิงซ้อน เพราะผมบอกแล้วว่าเราติดอยู่ในมายาคติเชิงเดี่ยว กฎหมายเชิงซ้อนก็หมายความว่า กฎหมายปัจจุบันเราถือว่าเป็นกฎหมายเชิงเดี่ยว ส่วนกฎหมายเชิงซ้อนนั้น จารีตประเพณีก็ถือว่าเป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง มันควรจะต้องสามารถซ้อนอยู่ในกฎหมายอื่นๆได้ด้วย แล้วกฎหมายของเรานั้น ไม่ใช่ว่าจู่ๆเราไปลอกกฎหมายตะวันตกมาทั้งหมด มันยังมีบัญญัติอื่นๆที่ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน อย่างเช่น กฎหมายตราสามดวง กฎธรรมศาสตร์อะไร มันยังอยู่ แต่เนื่องจากว่าระบบกฎหมายของเราเป็นกฎหมายเชิงเดี่ยว เราก็ไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของความคิดทางกฎหมายชนิดอื่นๆซึ่งมีอยู่แล้ว
การที่เราไม่ใส่ใจเรื่องกฎหมายเชิงซ้อน มันทำให้ความคิดในเรื่องของการมีส่วนร่วม สิทธิในการเป็นผู้เสียหายเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างที่ผมบอก ถ้าเราใช้กฎหมายเชิงซ้อนก็หมายความว่า คนหรือชุมชนสามารถแสดงตนเป็นผู้เสียหายได้ อย่างเช่นว่า คุณจะมาสร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานถ่านหิน ต้องเดินขบวนกัน เสียเวลานานกว่าจะทำความเข้าใจ แท้จริงแล้วตรงนั้นก็คือสิทธิของชุมชนในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ถ้าคุณเป็นผู้เสียหาย คุณจะต้องสามารถแสดงตนเป็นผู้เสียหายได้
อันนี้เป็นการใช้กฎหมายเชิงซ้อน แต่เราไม่มีความคิดเรื่องนี้ใส่อยู่ในวิธีคิดของกฎหมายเชิงเดี่ยว มันจึงทำให้สิทธิประเภทนี้เกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาอย่างมาก
แล้วถามว่าในสังคมไทยมีกฎหมายเชิงซ้อนใช้อยู่หรือเปล่า อันนี้มีการใช้อยู่เต็มเลยครับ แต่มันเลือกปฏิบัติไง คือบางอันเป็นประโยชน์มันใช้ อย่างเช่น เรื่องของกฎหมายผังเมือง อันนี้เห็นชัด กฎหมายผังเมืองบอกว่า ถึงแม้คุณถือครองที่ดินอยู่เป็นสมบัติส่วนตัว ผังเมืองบอกว่า ถ้าที่ดินของคุณเกิดอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียว รัฐบอกว่าห้ามคุณทำอะไรตามใจชอบ คุณจะไปทำเป็นเขตพาณิชย์หรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ อันนี้เชิงซ้อนแล้ว
เพราะกฎหมายอันหนึ่งบอกว่า คุณมีสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ของตัวเอง แต่ว่ามันมีกฎหมายอีกอันหนึ่งออกมาลบล้างสิทธิอันเดียวกันนั้น เป็นการยกและเพิกถอนสิทธิ์ ตามที่สังคมคิดว่ามีประโยชน์มากกว่า คือเอาไปทำพื้นที่สีเขียว
เพราะฉะนั้น มันมีการใช้หลักกฎหมายเชิงซ้อนอยู่ ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด เป็นชาวมุสลิมอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ เราก็ใช้กฎหมายไทยและกฎหมายมุสลิมซ้อนกันอยู่ว่า ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องศาสนา ใช้กฎหมายมุสลิมบังคับ แต่เป็นเรื่องอื่นใช้กฎหมายส่วนรวมบังคับ
ที่ผมพูดว่าหลักกฎหมายเชิงซ้อน ในเมืองไทยนักนิติศาสตร์ไม่เข้าใจ ไม่เคยเรียน ไม่รู้เรื่อง เท่าที่ทราบทั่วโลกเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผลงานทางวิชาการ มีวารสาร มีสมาคม มีการพูดถึงเรื่องนี้ในการเรียนการสอน แต่ของเราเรียนกฎหมายอย่างไรไม่ทราบ หลุดไปเฉยๆ เพราะฉะนั้น คนจึงไม่เข้าใจ แต่มิได้หมายความว่าไม่มีการใช้ มันมีการใช้อยู่ แต่รัฐจะเลือกใช้ในอันที่ตนได้ประโยชน์ ส่วนอันที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นเรื่องสิทธิชุมชนขึ้นมา ไม่เอามาใช้
ดังนั้น สิ่งที่ผลักดันจึงไม่เป็นเพียงอุดมคติ แต่เป็นหลักการที่มีใช้อยู่แล้วในสังคมไทย ซึ่งถูกเลือกใช้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการผลักดันให้มีการนำเอากฎหมายเชิงซ้อน กลับมาใช้อย่างเป็นกิจลักษณะ แล้วก็ครอบคลุมมากขึ้น ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องรายละเอียด แต่จะต้องมีหลักคิดนี้เสียก่อน ถ้าปราศจากหลักคิดดังกล่าวก็ทำไม่ได้
ประการที่สอง เนื่องจากสิทธิชุมชนไม่ใช่สิทธิลอยๆอยู่ ที่มันไปพันกับเรื่องซึ่งสำคัญมากที่สุดคือ มันไปพันกับเรื่องของกลไกเชิงโครงสร้างอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนี้สำคัญมาก เพราะอะไร ถ้าเราผลักดันสิทธิชุมชนไปแทบตาย ปรากฏว่ากลไกเชิงโครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิม สิทธิชุมชนเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะกลไกเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ทุกวันนี้ มันบิดเบือนสารพัด คือบิดเบือนจนทำให้ดูดเอาส่วนที่เป็นสมบัติของเรา กลายไปเป็นสมบัติของคนอื่นไปจนหมด
ในระบบตลาด มันมีกลไกที่รัฐเผด็จการออกมาตรการบิดเบือนไว้เต็มไปหมด มีหลายเรื่อง อันที่จริงมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องนโยบายที่รัฐให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลในราคาที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งตอนนี้เราถูกกำหนดให้ต้องซื้อในราคา 13-14 บาท ตลาดโลกราคาน้ำตาลทรายเพียง 5 บาทเท่านั้น รัฐก็บอกว่า การที่คนไทยต้องซื้อน้ำตาลแพงเพราะ เราต้องการจะอุดหนุนให้อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ได้ ให้คนทำไร่อยู่ได้ ให้คนงานมีงานทำ แต่ลองไปดูคนงานไร่อ้อยอยู่เหมือนหมูเหมือนหมา ไปเอามาจากภาคอีสาน ใส่รถบรรทุกแล้วเอาไปวางที่นั่น
พูดง่ายๆก็คือว่า เราไปอุดหนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้อุดหนุนคนทั้งหมด ซึ่งถ้าเผื่อเราเปลี่ยนเป็นราคาน้ำตาล 5 บาท ถ้าเผื่อว่าอุตสาหกรรมของเราเฮงซวย อุตสาหกรรมของเราแย่ ต้องล้มมันไปครับ ทำไมต้องรักษามันไว้ เพราะเป็นของไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเราบอกว่า ระบบตลาดต้องผลักดันไปสู่เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประโยชน์สูงสุด อ้นนี้ไม่เห็นทำ มีแต่จะรักษาอุตสาหกรรมห่วยๆเอาไว้
โรงงานน้ำตาลซื้อเครื่องจักรราคาถูกจากไต้หวัน เป็นเครื่องจักรมือสอง แล้วก็ซ่อมกันอยู่นั่น ดังนั้นก็ไม่มีทางเพราะเราไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพ เราเพียงพูดแต่ปาก ดังนั้นจึงเป็นปัญหา ทำให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับภาระอีกตั้งเกือบ 10 บาทฟรีๆ ไม่รู้ไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง พวกที่มันบิดเบือนอะไรต่างๆนี้
ดังนั้นที่เราจะมาทำนโยบายการเอื้ออาธรณ์อะไรต่างๆ หรือโครงการหมู่บ้านละล้านส่งเข้าไป ไปไม่รอดหรอกครับ เพราะมันบิดเบือนทั้งหมด คุณเอาไปล้านบาท แต่ต้นทุนของคุณเวลาจะทำขนมอะไรขายที่ต้องใช้น้ำตาล ก็ถูกดึงไปแล้ว เพราะต้นทุนของคุณจะต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเผื่อน้ำตาลทรายกิโลละ 5 บาท ก็จะดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการแก้ไขผิดจุด เป็นการไปแก้ที่ปลายเหตุในการผลักดันทุน
อันนี้เป็นการพยายามจะไปเร่งเศรษฐกิจ เป็นการผลักดันให้เงินไปกระจายอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น แต่ทำอย่างนั้นอย่างเดียว ทำมาๆ 2-3 ปี ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าทำถึง 8 ปีก็ซวยซิครับ เพราะว่าเรื่องสำคัญยังไม่แก้ แต่ไปแก้สิ่งที่ผมเรียกว่าปัญหาตบยุง เจ็บที่ไหนก็ตบที่นั่น อันนี้ก็ตบกันตายทั้งตัว แต่ตัวสาเหตุที่ทำให้เกิดยุงไม่ได้ทำอะไรเลย
ถ้าทำแบบนี้ สิทธิชุมชนเกิดขึ้นไม่ได้เพราะว่า จะสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ปรากฏว่ายิ่งทำก็ยิ่งเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา อย่างเช่นโครงการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนอะไรต่างๆเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นการบิดเบือนเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ถ้าเผื่อเราไม่เข้าไปจัดการ มันก็ไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้
ถ้าเราปล่อยให้โครงสร้างทีบิดเบือนนี้ให้คงอยู่ มันก็จะทำให้การกระจายความมั่งคั่งของสังคมมันบิดเบือนด้วย หมายความว่าเกิดช่องว่างของรายได้อย่างที่เราพูดถึงกัน แล้วพอเกิดช่องว่างมาก และสำทับไปอีกว่า โครงการของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละ คือคนจนต้องเสียสละก่อน เสียสละมาโดยตลอด และคุณไปบิดเบือนเชิงโครงสร้างร้อยแปด แล้วก็ยังไปเรียกร้องให้เสียสละอีก อันนี้เมื่อไหร่ที่ช่องว่างมันจึงจะหดแคบเข้า
เพราะการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจหรือการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ มันขึ้นอยู่กับการที่ว่าทำให้ประชาชนได้รับส่วนแบ่ง จากการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ปล่อยให้บิดเบือนแล้วก็บอกว่า ฉันจะสร้างเศรษฐกิจให้พัฒนาบนความบิดเบือน อันนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเมื่อไหร่ที่ไปบิดเบือนมาก มันก็จะไปปิดกั้นแรงจูงใจคนที่จะลงทุน ดังนั้นเราก็พัฒนาได้บนพื้นฐานของการบริโภคอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไร้ความยั่งยืนในปัจจุบันนี้ และจะทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ได้ง่ายมาก เพราะเราใส่เงินเข้าไป ๆ แต่ไม่มีใครผลิตอะไรทั้งนั้น จะมีผลิตก็บางอย่างเท่านั้น ซึ่งเป็นภายนอกเข้ามาลงทุน เช่น รถยนต์ บ้านจัดสรร อะไรต่างๆ มีการผลิตเพียงนิดหน่อย แต่ไม่ได้เป็นการสร้างการผลิตที่แท้จริง ซึ่งตรงนี้ใครจะมีแรงจูงใจสร้างการผลิต เพราะว่าอะไร
เพราะว่าเมื่อสร้างขึ้นมา คุณก็ไม่ได้รับส่วนแบ่ง เนื่องจากโครงสร้างมันบิดเบือนตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าหากเราผลักดันมันมีมาตรการหลายอย่างที่ต้องทำ แต่รัฐบาลนี้ไม่ขยับเลย
อันนี้รัฐบาลไม่จำต้องการเสียงข้างมากก็ได้ ถ้าหากว่าจะทำนโยบายแบบนี้ ถ้าได้เสียงข้างมากขนาดนี้แล้วไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับโครงสร้างเลย อย่าทำดีกว่า เพราะว่ามีเสียงน้อยก็ทำเหมือนกับแบบนี้ ทำอย่างเดียวกันคือ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ในสมัยรัฐบาลชวน พอลุกขึ้นพูดผมก็เบื่อทุกที นมโรงเรียน ๆ อ้างว่าทำนมโรงเรียน ก็เอื้ออาธรณ์แบบเดียวกัน พอมารัฐบาลนี้ก็เอื้ออาธรณ์อีกแล้ว คือไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เสียงข้างมาก ข้างน้อย ทำเหมือนเดิม คือไม่ได้แก้โครงสร้างที่บิดเบือนอะไรเลย
ซึ่งมันน่าจะทำตั้งหลายอย่าง เช่นว่า การผลักดันเรื่องภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า อันนี้มันจะลดการบิดเบือนลงมาได้อย่างมหาศาล คือคนซึ่งเอาที่ดินไปแล้วไม่ทำประโยชน์ ให้เก็บภาษีมันมากขึ้น บังคับให้มันทำ ถ้ามันเอาที่ดินไปใช้คนอื่นก็จะได้ประโยชน์ มาตรการง่ายๆแค่นี้ซึ่งพูดกันมาแล้วไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี ก็ยังไม่ทำ แล้วไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถจะพัฒนาได้โดยไม่มีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพราะว่ามันจะทำให้ทรัพยากรได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เราไม่พูดถึงจะเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจอื่น เอาแค่ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
และที่ผมพูด พูดในแค่ 20-30 ปี ไม่ใช่พูดในเรื่อง 100 ปีข้างหน้า เอาแค่นี้ก่อน ถ้าไม่ทำตรงนี้จะก้าวไปกว่านี้ไม่ได้ มันก็จะลุ่มๆดอนๆ เศรษฐกิจที่เราเป็นอยู่เวลานี้เป็นเศรษฐกิจลุ่มๆดอนๆ หมายความว่า บางวันดีบางวันร้าย เมื่อก่อนนี้ภาวะวิกฤตมันห่าง ประมาณ 30-50 ปีจึงเกิดขึ้นทีหนึ่ง
2475 เกิดขึ้นทีหนึ่ง ต่อมาก็ 2520 พอต่อไปความถี่ของเศรษฐกิจลุ่มๆดอนๆมันจะบ่อยมากขึ้น จนกระทั่งทำให้คนจนอยู่ไม่ได้ ต้องประสบกับความลำบากมาก เพราะกลไกเชิงโครงสร้างที่จะใส่เข้าไปนั้น เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วมันยังมีอีกหลายตัว ซึ่งผมเพียงยกตัวอย่างเรื่องของภาษีที่ดินอัตราแบบก้าวหน้าเท่านั้น
อันอื่นๆชุมชนก็พยายามจะผลักดัน เช่น การออกโฉนดชุมชน เป็นต้น เพื่อทำให้พื้นที่ยังอยู่กับส่วนรวมมากขึ้น อันนี้ก็สำคัญ เพราะถ้าหากไม่ทำเราก็จะแปลงทรัพย์สินเป็นทุนยันเลย ทุนก็คือให้ส่วนตัว แต่มันต้องให้ทรัพย์สินอยู่ในการดูแลของคนอื่นบ้าง ของภาคชุมชนบ้าง ของภาคอื่นๆบ้าง เพื่อให้มันเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นในสังคมมากขึ้น ไม่ใช่ให้ตลาดและรัฐทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมันก็จะก่อให้เกิดปัญหาการที่ทำให้การบิดเบือนต่างๆเพิ่มมากขึ้นๆ อย่างที่บอกไปแล้ว
ดังนั้นนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่า จำเป็นที่จะต้องผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น
ประการที่สาม คือ จะต้องทำลายมายาคติต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ แล้วพร้อมๆกันนั้น ก็ต้องสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์และคุณค่าใหม่ๆ เช่นสิทธิในการสร้างตัวตน สิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการเป็นผู้เสียหาย เป็นต้น
เรื่องสิทธิในการเป็นผู้เสียหายนี้สำคัญมาก เมืองไทยเรารัฐเป็นตัวแทนไปหมด เราจะต้องผลักดันเข้าไปในกฎหมายต่างๆ ซึ่งสำคัญที่จะทำให้สิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสิทธิชุมชนจะได้อ้างตัวนี้มาใช้ได้ด้วย
ประการที่สี่ จะต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการทำลายสิทธิชุมชนทุกรูปแบบ เพราะการคัดค้านการทำลายสิทธิชุมชน ก็เท่ากับเป็นการสร้างสิทธิชุมชนขึ้นในเวลาเดียวกัน เพราะหลักการคือต้องสร้างสิทธิชุมชน แต่ทีนี้ปัญหาของเราก็คือ ที่มันทำลายมันมีมากกว่า นโยบายและการปฏิบัติการของภาครัฐและราชการ มันทำลายมากกว่า ดังนั้นถ้าหากเราไม่ได้มีการคัดค้านสิ่งเหล่านี้ ความเป็นจริงในเรื่องของสิทธิชุมชนก็เกิดขึ้นมาไม่ได้
สรุป
ท้ายที่สุดซึ่งอยากจะฝากไว้คือว่า ทั้งหมดนี้มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้จริง
ถ้าเราไม่สามารถทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมเราเข้าใจว่า สิทธิชุมชนไม่ใช่เป็นเรื่องของการไปคัดค้านหรือว่าไปกีดกันการพัฒนา
จริงๆแล้ว ถ้าไม่มีสิทธิชุมชนต่างหาก การพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการพัฒนาที่ว่าไม่ใช่หมายความว่า
พัฒนาไปสู่การมีตัวเลขความเจริญเติบโตที่มากขึ้น แต่การพัฒนาหมายความว่า จะต้องนำไปสู่การพัฒนาที่มีการแบ่งปันกันในสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น
ขณะเดียวกันมีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย สองตัวนี้เป็นเป้าหมายของการพัฒนา
ไม่ใช่แค่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ถ้าเราคิดว่าการพัฒนาหมายถึงการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วไซร้ ผมคิดว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะมันจะส่งเสริมให้หรือสร้างแรงจูงใจให้คนในสังคม มีความสนใจที่จะลงทุนหรือที่จะผลิตมากขึ้น แทนที่จะใช้การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของการบริโภคอย่างเดียว อย่างที่เรากำลังจะเข้าสู่แนวทางนั้นอยู่ หรือทำอยู่เวลานี้ ซึ่งผมคิดว่ามันจะเข้าสู่ทางตันมากขึ้นเรื่อยๆ
อยากจะเน้นว่า สิทธิชุมชนจะเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน ไม่ใช่เป็นตัวขัดขวาง แต่ถ้าเราคิดแต่ว่าการพัฒนาคือตัวเลขที่สวยหรูแล้วละก็ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องตัดสินใจ ผมก็พูดได้แต่ตัดสินใจแทนไม่ได้ แต่ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ ก็จะช่วยเสริมความเข้าใจได้
ดังนั้น การที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้เริ่มต้นว่า ปัญหาของเราเป็นเรื่องของความแปลกแยกและช่องว่างทางปัญญา ผมว่าช่องว่างของอันนี้ก็เหมือนกับช่องว่างของรายได้ มันห่างกันจนยากที่จะสื่อเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่ชัดเจนมากขึ้น สื่อมวลชนยังสนใจลงแต่เรื่องอาชญากรรมทุกวัน ขอให้เราดูโทรทัศน์ เรื่องอาชญากรรม ฆ่ากันทุกวัน แต่เรื่องอะไรที่มันเป็นประโยชน์ทางสังคม มันไม่ออกอากาศ ไม่ได้รับการเผยแพร่ แล้วจะว่ากันอย่างไร
ผมก็พูดได้ในเวทีเล็กแค่นี้เท่านั้น ขอขอบคุณมากครับ
เสน่ห์ จามริก :พวกเราคงได้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนนี้(ทักษิณ ชินวัตร) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจะไปผูกความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน อันนี้สำคัญมากและผมขอย้ำเพื่อแสดงการสนับสนุนแสดงความเห็นด้วยตรงนี้
แต่ว่าในขณะเดียวกัน การที่สร้างความสัมพันธ์ ความจริงเรื่องนี้ผมได้เขียนไว้เมื่อ 20-30 ปีมาแล้วด้วยซ้ำไป ความสำคัญในความความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ว่าเป็นจุดแข็งอย่างยิ่ง แต่ว่าถ้ามันไปจำกัดในเรื่องเฉพาะของการค้าขาย การท่องเที่ยว คือมองเศรษฐกิจในเชิงการค้า การหารายได้ อะไรพวกนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผลในระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าขาดเสียซึ่งพื้นฐานของความสัมพันธ์ของชุมชนในระดับรากหญ้าแล้ว ความสัมพันธ์ตรงนี้ยิ่งจะไปทับถมให้ชุมชนที่เราพูด ซึ่งโทรมเต็มทีแล้ว ยิ่งทรุดหนักลงไป
เพราะว่าการดำรงคงอยู่ของชุมชนระดับรากหญ้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งที่ผมได้พูดเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก ต่อบูรณภาพความมั่นคง ความเป็นปึกแผ่นของฐานทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่นในอดีต ซึ่งทราบกันดีเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า เราทำจนกระทั่งมันหมดไปแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราสงวนป่าไม้ของเราแล้วไปตัดป่าในเขมร อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าธรรมชาติของสิ่งที่ผมเรียกว่า"ฐานทรัพยากรเขตร้อน" เราไปทำลายป่าในพม่า ในเขมร มันก็เหมือนกับเราทำลายป่าของเราเช่นเดียวกัน เพราะว่าความละเอียดอ่อน ความเปราะบางของทรัพยากรมันมีความเชื่อมโยงกัน
ดังนั้น ถ้าเพ่งเล็งไปที่ความสัมพันธ์ของชุมชนในระดับรากหญ้า ความคิดในเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านก็จะมีความสมบูรณ์ขึ้น อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือแนวทางและนโยบายที่ดำเนินไปค่อนข้างถูกต้อง แต่ว่ามันยังขาดพื้นฐานที่ควรจะเป็น
ประการที่สองซึ่งสำคัญ คือสิ่งที่อาจารย์อานันท์พูดไปแล้ว ผมอยากจะพูดถึงสัจธรรมความจริงของโลก คือ สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพนั้น ไม่มีวันที่จะเป็นมรรคเป็นผลได้ตราบเท่าที่เจ้าของสิทธิ์ ตัวชุมชนเองไม่สามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิ์เหล่านั้น และการต่อสู้จนกระทั่งเกิดการยอมรับของสังคมส่วนใหญ่
ดังนั้นในส่วนของชุมชนเอง มีบทบัญญัติ มีอะไรต่ออะไรแล้ว จะต้องมีการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนจะต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก การติดต่อสัมพันธ์อะไรต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้มีการพูดกันมากเท่าที่ควร
ต่อมาชุมชนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก จะต้องมีภารกิจในการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมองตัวเองในฐานะที่เป็นชุมชนเป็นหย่อมๆไม่ได้แล้ว จะต้องมองดูตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชุมชนบนพื้นฐานของทรัพยากรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น ลุ่มน้ำเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น แม่น้ำมูลที่มีคนไปตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ แล้วปล่อยน้ำเสียออกมา เห็นไหมครับว่าพอปล่อยน้ำเสียออกมา ปลาตายเป็นแพทั้งลำน้ำ ฉะนั้นชุมชนต่างๆเหล่านี้จะต้องร่วมกันเป็นเครือข่าย อันนี้เรายังขาดการพัฒนาตัวเองตรงนี้
เรื่องต่อมา ชุมชนจะต้องมีความตื่นตัวที่จะต้องสร้างระบบการศึกษาของตัวเองด้วย หมายความว่าในยุคของการปฏิรูปการศึกษา ชุมชนจะต้องมีความตื่นตัว รวบรวมสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาของเราเอง รู้จักมักคุ้นกับทรัพยากร รู้จักมักคุ้นกับประวัติศาสตร์ของตนเอง ให้เป็นกอบเป็นกำขึ้น ต้องทำความรู้จักตนเองให้มากขึ้น ตรงนี้จะต้องมีการกระตุ้นให้ตื่นตัว
ขอยกตัวอย่าง เช่น ผมได้ทำวิจัยร่วมกับเพื่อนๆนักวิชาการ อย่างเรื่อง"ชุมชนบ้านครัว" พวกเราคงทราบมาแล้วว่า ชุมชนบ้านครัวกำลังมีปัญหาเรื่องทางด่วน ทำให้ชุมชนจะต้องย้ายไป ชุมชนบ้านครัวเกิดความรู้สึกซึ่งผมเรียกว่า"อัตลักษณ์" พยายามทำความรู้จักตนเองมากขึ้น รู้ว่าจะมารวมตัวกันเรียกร้องคัดค้านอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ที่ผมรู้จักชุมชนบ้านครัว บรรดาพวกผู้นำพยายามขวนขวายศึกษาประวัติศาสตร์ของตนเอง ศึกษาคุณค่าประเพณีให้รู้ถึงว่ามีความสำคัญอย่างไร แล้วรวบรวมความรู้พวกนี้ การรู้จักตัวเองตรงนี้ให้เป็นพลังขึ้นมา ดังนั้นผมเห็นว่า ชุมชนในชนบทบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีความตื่นตัวมากขึ้น
ประการสุดท้ายที่อยากจะพูดก็คือ จะต้องสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ได้ คือหมายความว่า ต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีตัวมีตน มีการแลกเปลี่ยนค้าขาย มีการแบ่งงาน มีความสัมพันธ์ในการขนส่ง คมนาคม ระหว่างกันเองด้วย เศรษฐกิจชุมชนจึงจะมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 46 แล้วเข้มแข็ง แต่จะต้องมีการพัฒนาตัวเองอีกมากมาย ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นภารกิจที่เรายังไม่ได้พูดกันเท่าไหร่ และตรงนี้ผมคิดว่าเป็นภารกิจที่นักกิจกรรม และนักวิชาการที่สนใจในเรื่องนี้ แม้กระทั่งกรรมการสิทธิ์ฯ ซึ่งผมมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องเร่ง พยายามที่จะทำให้ชุมชนมีการเรียนรู้ของตนเองให้มากขึ้น
เรื่องของสิทธิ์นั้น เป็นเหมือนเหรียญๆหนึ่ง มันมีสองหน้า ด้านหัวและด้านก้อย ที่เราพูดกันมาตลอดเวลา เราพูดว่าการใช้อำนาจนั้นไม่ชอบธรรม แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือว่า ด้านของชุมชนเองก็จะต้องทำให้เกิดมีชีวิตชีวา มีความเข้มแข็งขึ้น อันนี้ก็เป็นส่วนที่ผมเห็นว่าเรามีความจำเป็นจะต้องทำกันให้มาก ไม่ใช่เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
อะไรก็ตามที่อยู่ในอารัมภบท
มันแปลว่ามันบรรจุเจตนารมณ์ แก่นสาร เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญหมวดอื่น
มาตราอื่นจะต้องอยู่ภายใต้กำกับของข้อความ 2-3 บรรทัดตรงนี้
โดยข้อแรก มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ประการที่สอง
ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และข้อสาม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น เพราะว่าการใช้อำนาจรัฐที่ผ่านมานั้น
มันทุจริตคอรัปชั่น เบียดเบียน ข่มเหงทรัพย์สมบัติของประชาชน
ถ้าเราย้อนกลับไปในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คงจำได้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศยกเว้นไม่ใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เกิดเรื่องเลย เพราะถือว่าเท่ากับรัฐประหาร รัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งมาตราใดที่ยกหรืองดเว้นไม่ใช้ หรือไม่นำพา เท่ากับเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ