เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ฐานคิดความยุติธรรมตะวันตก(กรีก-คริสเตียน)
ทัศนียภาพของความยุติธรรม
Perspective on Justice By Dr. Joyce E. Bellous
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง

(บทความลำดับที่ 285 ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4) ผู้สนใจต้นฉบับภาษาอังกฤษ หาอ่านได้ที่
http://www.mcmaster.ca/mjtm/1-7.htm

ถ้าหากผมจะฟื้นความรู้ของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องของกฎหมาย ผมมีประสบการณ์อยู่ 2 อย่างด้วยกัน. ประสบการณ์อย่างแรกมาจากเรื่องของการกระทำความผิด เช่นอุบัติเหตุทางรถยนตร์ เป็นต้น ในกรณีนี้ กฎหมายดูเหมือนจะให้การผ่อนผัน กระทั่งให้ความเมตตา ส่วนประสบการณ์อย่างที่สองกลับไม่ค่อยจะดีมากนัก

ผมต้องมาสนใจรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับทรัพย์สินของพ่อผม เมื่อผมกลายเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลและจัดการทรัพย์สินของท่าน ผมตัดสินใจที่จะต้องเอาใจใส่ดูแลเงินในวิถีทางที่ท่านได้ทำไป ยกตัวอย่างเช่น พ่อได้มอบเงินให้กับหลานแต่ละคนภายหลังที่จบจากโรงเรียนมัธยมแล้ว ผมก็กระทำในสิ่งเดียวกัน

ผมได้ไปฟังการพิจารณาเพื่อขอความยินยอมจากผู้พิพากษา เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น แต่ผู้พิพากษากลับตอบว่าไม่ เพราะผมเป็นผู้ไม่เหมาะสมในช่วงระหว่างการพิจารณา (ผมรู้สึกอยากจะขัดจังหวะผู้พิพากษาและตั้งคำถามต่างๆขึ้นมา ซึ่งทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดกับอาชีพกฎหมาย และเป็นไปได้เพราะว่า ในเวลาดังกล่าวไม่มีใครอยู่เลยสักคนในห้องนั้น) ท่านผู้พิพากษาเลือกที่จะเล่าเรื่องให้ผมฟังเรื่องหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผมเข้าใจและคิดออกว่า ผมควรจะใช้ทรัพย์สินต่างๆของพ่อตัวเองอย่างฉลาดได้อย่างไร?

เขากล่าวว่า สมมุติพ่อของคุณมีอายุอยู่ถึง 104 ปี และทันใดนั้นเขาได้สติตื่นขึ้นมา เขาจะตรวจสอบดูว่า คุณใช้เงินของเขาไปอย่างไร? เขาจะต้องพบว่า เงินที่มีอยู่ในธนาคารมันมีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อคุณได้มาทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ. ผู้พิพากษารู้สึกพึงพอใจกับตัวของเขาเอง เขาทำหน้าที่ปกป้องเงินของพ่อผมจากคนอย่างผม

แต่อย่างไรก็ตาม มันทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจมาก อย่างแรกสุด พ่อของผมจะไม่ฟื้นขึ้นมาตอนที่มีอายุ 104 ปีแน่ มันดูจะโหดร้าย ไร้สาระ และออกจะน่าขันเกินไป และอย่างที่สอง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พ่อของผมโดยเฉพาะ จะไม่ขอบคุณที่ผมทำให้เงินสดของท่านกองสูงขึ้น. เขาเป็นคนที่เกลียดการเสียภาษีรายได้ เขาเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มีความต้องการต่างๆแบบธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ นั่นคือ มีอาหารวางอยู่บนโต๊ะและมีหลังคาคุ้มหัว

ผู้พิพากษาเป็นผู้บริหารกิจการคนหนึ่ง พวกท่านมีความแตกต่างกันมาก กระนั้น เป็นเพราะผู้พิพากษาเป็นผู้ที่มีอำนาจ ส่วนผมและพ่อไม่มีอำนาจอะไรเลย ผมเลยต้องเชื่อฟังผู้พิพากษา. ผมรู้สึกฉุนเฉียว และผมยังคงจำได้ว่าต้องการที่คว้าตัวเขามาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเขาก้าวลงมาจากบัลลังก์ศาล และตั้งคำถามกับเขาสักสองสามคำถาม. ผมคิดว่าผมจะชนะในการถกเถียง ตราบเท่าที่เราสองคนต่างยืนอยู่บนพื้นดินในระดับเดียวกัน

เรื่องที่สองได้รับการบอกเล่าโดย Arthur Boers ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Justice that Heals (1992). ชายคนหนึ่งได้ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายอันเป็นสาเหตุให้คู่กรณีได้รับอันตราย และได้ถูกเรียกตัวมาอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษา เขามิได้ว่าจ้างทนายความสักคนในขณะที่ไปศาล เขาได้ปรากฏตัวในฐานะตัวแทนของตัวเอง ชายผู้นี้เป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ กล้ามเป็นมัดๆ เขาได้เรียกตัวแม่และน้องสาวของเขามาตามลำดับในฐานะที่เป็นพยานบุคคล

ข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวได้รับการท้าวความไปถึงเรื่องการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้น นั่นคือ เขาได้ไปเยี่ยมอพ้าร์ทเม้นท์ของน้องสาว ในช่วงนั้นเผอิญเพื่อน(ผู้หญิง)ของน้องสาวได้วิ่งมาชนกับเขาพอดี เธออยู่ในชุดนอนหลวมๆที่มีเลือดโทรมกายและดูว้าวุ่น อารมณ์หงุดหงิดเอามากๆอย่างชัดเจน เธอพูดว่าพ่อของเธอได้ทุบตีเธอ ดังนั้นเธอจึงวิ่งหนีออกมาหาที่หลบซ่อนซึ่งไม่ไกลจากที่พักของเธอมากนัก แต่ในไม่ช้าหลังจากนั้น พ่อของเธอก็ปรากฏตัวขึ้น เขาได้มาเคาะประตูและผม(ผู้ต้องหา)ก็ตอบออกไป

พ่อของเธอต้องการให้ลูกสาวกลับบ้าน ผมพูดว่า เธอไม่อยากจะกลับบ้านตอนนี้ และคุณก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆที่จะมาทุบตีเธอ และไม่มีสิทธิ์ยืนกรานที่จะให้เธอกลับบ้านด้วย. พ่อคนดังกล่าวพยายามที่จะผลักประตูเข้าไปในอพาร์ทเม้นท์ และบังคับให้ลูกสาวไปกับเขาให้ได้ แต่ผมได้ขัดขวางความพยายามของเขา และเกิดการต่อสู้กันขึ้น ผมได้ต่อยไปที่กรามของพ่อของเพื่อนน้องสาว ทำให้เขาถึงกับกรามหัก และเมื่อถึงจุดนี้ พ่อคนนี้จึงยอมถอยกลับไป

เป็นที่ชัดแจ้งว่า เรื่องราวดังกล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างละเอียดละออด้วยการท้าวความถึงเหตุของการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้น ในการตัดสินของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาเมินเฉยหรือไม่รับรู้อะไรเลยเกี่ยวกับรายละเอียดทุกๆอย่างที่เล่ามา เว้นแต่ตัวเหตุการณ์ในกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดจริงๆเท่านั้น

"คุณทำหรือไม่ได้ทำ โดยการต่อยไปที่กรามของผู้ฟ้อง?" ผู้พิพากษาร้องถาม. "ใช่ครับท่าน แต่…" "ถ้าเช่นนั้นคุณได้กระทำความผิดดังที่มีการกล่าวหาแล้ว และผมจะต้องตัดสินลงโทษคุณ". ผู้ต้องหาในคดีอาญาผู้นี้ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆมาก่อนเลย เขายืนโงนเงนไปมาแบบที่ไม่เชื่อหูตัวเองในความรวดเร็ว ซึ่งตลอดเรื่องราวที่เขาเล่าให้ฟังในฐานะเป็นข้อแก้ต่าง มันได้ถูกกวาดทิ้งไปจนสิ้นเพราะไม่ตรงประเด็น ผู้พิพากษาและจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีแนวความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมที่แตกต่างกัน

การที่ผมนำเอาทั้งสองเรื่องข้างต้นนี้มาเล่า ไม่ใช่เพราะคิดว่า เรื่องทั้งสองเป็นเป็นภาพแทนความเจ็บปวดที่เท่าๆกันแต่อย่างใด อันที่จริงเรื่องของชายหนุ่มบึกบึนนั้น สถานการณ์ของเขามันเลวร้ายกว่าเรื่องของผมมากนัก เหตุการณ์ที่ผมได้เล่าให้ฟัง เพราะผมคิดว่า พวกเราต่างไร้เดียงสาเกี่ยวกับความยุติธรรมซึ่งมันปฏิบัติการอยู่? เว้นแต่เราได้เผชิญหน้ากับระบบอันนั้นด้วยตัวของพวกเราเอง บางทีการใช้คำว่า"ไร้เดียงสา"อาจไม่ถูกต้องหรืออาจทำให้เข้าใจผิดก็ได้

Gerald McHugh (1978) ยืนยันว่า "ความคิดของชาวคริสเตียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมและการลงโทษ เป็นไปเหมือนกับยุคสมัยกลางอย่างค่อนข้างมั่นคง มันเป็นช่วงเวลาของการที่พวกเราตื่นขึ้นและแสวงหาความยุติธรรม แต่อันดับแรกสุด พวกเราต้องการพิจารณาถึงสิ่งที่มาหน่วงเหนี่ยวความเมตตาของพวกเรา การสะท้อนและการกระทำในการโต้ตอบหรือขานรับต่ออาชญากรรมและเหยื่อของอาชญากรรมนั้น

ถ้าหากว่าเราไม่ดำเนินรอยตามหลักการต่างๆของพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ได้สร้างคุณลักษณ์เฉพาะของศาสนาคริสต์ในช่วงต้นว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเราควรทำ? หรือถ้าหากว่า ท่าทีและทัศนคติของพวกเรา ได้เปิดเผยเราออกมาในฐานะผู้ร่วมมือกับระบบหนึ่งซึ่งมันทำร้ายเรามากกว่าที่จะเยียวยาเรา พวกเราทั้งหลายสามารถที่จะอยู่กับการยึดมั่นอยู่ในหลักคุณธรรมคริสเตียนนี้ได้อย่างไร?

ประการแรก เราจะต้องถามตัวของเราเองที่เป็นชาวตะวันตกในฐานะสาวกของคริสตจักร์ ที่พวกเราทั้งหลายเป็นอยู่จริง เว้นแต่ว่าเราได้ฟื้นความมีสติสัมปชัญญะต่างๆของพระคัมภีร์ไบเบิลคืนมา พวกเราไม่ได้บอกลาความยุติธรรมซึ่งได้รับการอธิบายใน Matthew 25.32ff ซึ่งพวกเราได้ถูกประเมินไปตามสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว นั่นคือ

"ที่แท้จริง ดังที่ข้าได้บอกกับเจ้า, ความยุติธรรมดั่งที่เจ้ากระทำกับคนๆหนึ่งของหมู่คนจำนวนน้อยเหล่านี้ ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวข้า มันเท่ากับเจ้าได้กระทำกับข้า"

แน่นอน ใครบางคนอาจค้าน, ใช่! นั่นมันง่ายมาก; อาชญากรทั้งหลายมิใช่สมาชิกของครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า. โดยการกระทำเหล่านั้น มันได้กีดกันพวกเขาเองออกไป ด้วยเหตุนี้ บัญญัติหรือเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ได้นำไปใช้กับพวกเขา. แต่อย่างไรก็ตาม เหตุผลต่างๆที่เราใช้เป็นข้ออ้างหรือพิสูจน์ ได้กีดกันอาชญากรทั้งหลายออกไปจากครอบครัวของชาวคริสเตียน ซึ่งที่จริงแล้ว มันมาจากวัฒนธรรมมากกว่าพระคัมภีร์

ผมต้องการที่จะจับตาไปที่ความยุติธรรมสองแนวทางที่ได้รับการทำความเข้าใจกัน
แนวทางแรก, มีพื้นฐานอยู่บนทัศนียภาพของกรีกโบราณ และ
อีกแนวทางหนึ่ง, มีพื้นฐานอยู่บนทัศนียภาพของฮีบรู/คริสเตียน

การที่ผมใช้ภาษาที่ค่อนข้างสุภาพโดยเฉพาะก็เพราะว่า ในประวัติศาสตร์มันใช้ภาษาแบบนั้นจริงๆ ผมยอมรับ ซึ่งนั่นอธิบายว่าทำไมผมจึงใช้ภาษาที่ค่อนข้างเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้ทำให้มีการกันเอาความเจ็บปวดให้ไกลห่างออกไปหรือทำให้มันลดน้อยถอยลงไปเลย การกันออกไปเป็นหัวใจสำคัญของความอยุติธรรมทั้งหมด

ในบริบทของกรีกโบราณ สำหรับเพลโตและอริสโตเติล "ความยุติธรรม"อธิบายถึงสถานการณ์หนึ่งซึ่งคนทุกคนต่างตระหนักและยอมรับว่า พวกเขามีงานของตัวเองที่จะต้องทำและทำมันให้ดี คุณความดีของมนุษย์คือ "ภาวะหรือสภาพเกี่ยวกับความประพฤติซึ่งทำให้พวกเขาเป็นคนดีและทำให้พวกเขาทำงานของตัวเองได้อย่างดี

ตามมุมมองอันนี้ มนุษย์ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากปัจจัยพื้นฐานสามประการ กล่าวคือ 1. เหตุผล, 2. ความปรารถนา, 3. ความกล้าหาญ. "ความยุติธรรม"ได้ถูกนำมาใช้เมื่อคนแต่ละคนรักษาดุลยภาพหรือความกลมกลืนของมิติทั้งสามเหล่านี้ของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหมาะสม

ในการปฏิบัติการที่น่าพอใจเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละคน ซึ่งได้วางอยู่บนพื้นฐานการแบ่งแยกแรงงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งหมด ความดีเลิศเกี่ยวกับงานของผู้คนจะส่งผลให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นไปในทางที่ดีและมีความสุข และจะต่อเนื่องไปถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองและความสันติสุขของรัฐ. สำหรับเพลโต ปัจเจกชนและรัฐได้รับการทำให้สัมพันธ์กันและกัน ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากว่าคนแต่ละคนได้ทำงานของตนได้เป็นอย่างดี และไม่มีใครว่างงาน รัฐก็ย่อมที่จะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และดำรงความยุติธรรม

มันยังมีความสัมพันธ์กันอีกอันหนึ่งระหว่างการทำงานของผู้คนด้วย นั่นคือ"คุณความดีของเขา"(his merit)"และความสุขของเขา"(his happiness). มนุษย์จักต้องค้นหางานของเขาให้พบ. สังคมจะช่วยเขาในการกระทำอันนี้ ดังนั้นเขาจึงสามารถที่จะทำงานที่เหมาะสมกับเขาได้ดี. ในการทำงานของเขา เขาจะมีความสุข

คนอื่นๆจะคอยสังเกตถึงความดีของเขา และให้เกียรติเขาต่อการทำความดีที่อยู่เหนือความชั่ว ซึ่งมันถูกประสาทให้ บนพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติด้วยการเคารพต่องานของตัวเองได้อย่างดีในโลกสาธารณะ. นับจากการที่ทุกๆคนต่างมีงานที่เหมาะสมกับตัวเองทำ มันจึงเป็นคุณความดีและได้รับรางวัลต่างๆ การทำความดีเพื่อชนะความชั่วของผู้คน จะถูกวัดไปตามสิ่งที่เขาทำว่ามันดีอย่างไร? และวัดจากสิ่งที่เขาได้รับการมุ่งหมายให้ทำ

อริสโตเติลเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีในความสัมพันธ์กันระหว่างผลประโยชน์ของคนกับของรัฐ และทำให้ทั้งคนและรัฐมีความสุข แต่ความเป็นอยู่ที่ดี ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของรัฐ แน่นอน มันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเหนือกว่าปัจเจกชนคนใดโดยเฉพาะ. แง่คิดหรือทัศนะอันนี้เท่ากับเป็นการให้การสนับสนุนแนวคิดเรื่องประโยชน์นิยมในฐานะที่เป็นความยุติธรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของสังคมตะวันตกนับจากคริสตศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งถึงช่วงกลางของคริสตศตวรรษที่ 20

ต่อทัศนะอันนี้ สรุปสั้นๆก็คือ สิ่งซึ่งเป็นความดีหมายถึงมันดีสำหรับคนจำนวนมากที่สุด ซึ่งก็คือความยุติธรรม. ในแนวคิดประโยชน์นิยม(utilitarianism) ความดีที่ยิ่งใหญ่สุดเพื่อคนจำนวนมากที่สุด ไม่ใช่ความคิดที่มองอะไรแบบง่ายๆหรือรวบรัด แต่ในกรณีที่แสดงออกได้ดีที่สุดของมันก็คือ อย่างเช่น มันยินยอมให้ปัจเจกชนไม่กี่คนเท่านั้นที่ต้องประสบกับความทุกข์ เพื่อความดีของคนจำนวนมากกว่า. นั่นคือ ลัทธิประโยชน์นิยมกระตุ้นสนับสนุนเราให้กีดกันคนที่รบกวนระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมให้ออกไป เพื่อว่าคนที่เหลือของพวกเราจะได้มีความสุข

ศาสนจักร์หรือโบสถ์มีความเป็นห่วงและสนใจที่จะคลุกเคล้าตัวมันเข้ากับระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมมากกว่าที่จะไปโอบกอดอาณาจักรของพระเจ้า ผลประโยชน์ต่างๆของโบสถ์คือคำที่พ้องกันกับผลประโยชน์ต่างๆของสังคมและไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจักร์หรือโบสถ์จึงค้นพบว่า มันง่ายที่จะกันหรือลงโทษผู้หนึ่งผู้ใดที่ไปรบกวนต่อความกลมกลืนของระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่ว่าผู้รบกวนคนนั้นจะเป็น"อาชญากร"หรือ"ศาสดาพยากรณ์"ก็ตาม

ในคำศัพท์ต่างๆเกี่ยวกับแนวความคิดนี้ อริสโตเติลได้แบ่งแยก"ความยุติธรรม"ออกเป็นหมวดหมู่จำนวนหนึ่ง นั่นคือ
อันดับแรก เป็นความยุติธรรมในลักษณะแบ่งสันปันส่วน(distributive justice)
อันดับต่อมา เป็นความยุติธรรมในลักษณะปรับแก้เยียวยาให้ถูกต้อง(rectificatory) หรือความยุติธรรมในลักษณะเยียวยา(remedial justice)

สำหรับศัพท์คำว่า"ไม่ยุติธรรม"(unjust)หมายถึง ไม่มีกฎหมาย(หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย)(lawless) หรือ ไม่เป็นธรรม(unfair); ส่วน"ความยุติธรรม"(just) หมายถึง ถูกต้องตามกฎหมาย(lawful) หรือเป็นธรรม(fair)(ในความหมายของความเที่ยงธรรม - equitable). ลักษณะของ Lawless เป็นการหักกฎหมายหรือการไม่เคารพกฎหมาย; ลักษณะ unfair เป็นเรื่องของการเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง

คุณเอาเปรียบอีกคนโดยการเอาส่วนแบ่งมามากกว่าส่วนที่คุณควรจะได้. การเอาส่วนแบ่งมามากกว่าส่วนที่คุณควรจะได้ สามารถทำให้สำเร็จได้ในสองทางด้วยกัน: คือ คนที่ไม่เป็นธรรม จะเอาบางสิ่งบางอย่างที่เลวๆมาเป็นของตนน้อย ยกตัวอย่างเช่น เธอหรือเขาไม่ค่อยจะอยากทำงานบ้านที่หนักๆมากนัก ดังนั้น เธอหรือเขาจึงทำมันแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (จำไว้ว่า อริสโตเติลไม่เคยให้ตัวอย่างแบบนี้) ส่วนอีกทางหนึ่งนั้น คนที่ไม่เป็นธรรมจะเอาสิ่งที่ดีๆมาเป็นของตัวมาก อย่างเช่น จะรับเอาส่วนแบ่งอาหารของเขาหรือเธอมามากกว่าคนอื่น

สิ่งที่ได้จัดให้ความยุติธรรมแยกออกมาจากคุณความดีอื่นๆของอริสโตเติลคือ ความสมบูรณ์ของมัน(its completeness): มันปฏิบัติทั้งกับตัวของพวกเราเองและคนอื่นๆ. อริสโตเติลได้หมายเหตุบางสิ่งบางอย่างซึ่งพวกเราสังเกตเห็นกันทั้งหมด นั่นคือ มันมีผู้คนจำนวนมากซึ่งสามารถประพฤติตัวอย่างซื่อตรงในกิจการงานของพวกเขาเอง แต่ไม่สามารถที่จะกระทำเช่นนั้นได้ในความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ สำหรับเขา บรรดาคนเลวๆทั้งหลายได้กระทำความชั่วต่อตัวของพวกเขาเองและเพื่อนๆของพวกเขา; ในทางกลับกัน คนดีๆทั้งหลายจะประพฤติในสิ่งที่ดีทั้งต่อตัวของพวกเขาเองและต่อคนอื่นๆ

สิ่งที่ทำให้ความยุติธรรมอันหนึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมก็คือว่า มันได้ถูกกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว(personal gain). อริสโตเติลได้ไล่ติดตามความคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัวด้วย"ความยุติธรรมในลักษณะแบ่งสันปันส่วน" ซึ่งมันมีลักษณะกระจัดกระจายหรือไม่ได้หีบห่ออยู่ในสำรับเดียวกัน(unpacking distributive justice)

ความยุติธรรมแบบแบ่งสันปันส่วน(กระจัดกระจาย) ได้ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับการกระจายของเงินและเกียรติยศของสังคม(หรือทรัพย์สินที่มีคุณค่าอย่างอื่นๆ). เขาได้อรรถาธิบายความยุติธรรมแบบแบ่งสันปันส่วนโดยการชี้แจงถึงเรื่องความเสมอภาคในเชิงสัดส่วน ซึ่งได้รับการสมมุติขึ้นมาเป็นแกนหลักอันหนึ่ง

เขากล่าวว่า กระทำที่ยุติธรรมได้ไปเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 อย่างด้วยกัน คือ คนสองคนกับส่วนแบ่งสองส่วนของบางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ดี. การแบ่งสันปันส่วนเป็นสิ่งที่ยุติธรรม ถ้าหากว่า ส่วนแบ่งนั้นได้รับการแบ่งไปตามอัตราส่วนของเกียรติยศทางสังคมระหว่างบุคคล แต่ถ้าเผื่อว่าผู้คนมีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของเงินและศักดิ์ศรี(เกียรติยศ) หากเป็นเช่นนั้น ส่วนแบ่งก็ไม่ควรที่จะเท่ากันหรือเหมือนกัน; ส่วนแบ่งจะต้องเป็นไปตามสัดส่วนคุณค่าของคน.

เขาให้ข้อสังเกตว่า เมื่อคนที่เท่าเทียมกันได้รับการแบ่งสรรส่วนแบ่งต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือผู้คนที่ไม่เท่ากันได้รับส่วนแบ่งที่เท่าเทียมกัน การทะเลาะเบาะแว้งต่างๆและการบ่นหรือการร้องทุกข์จะระเบิดขึ้นมา. แน่นอน อันนี้เรียกร้องต้องการให้ผู้คนเชื่อน้อยลงว่า พวกเขาเป็นตัวแทนของผู้ที่สมควรจะได้รับน้อยกว่า. และพวกเขาจะต้องได้รับการห้ามปรามจากการคิดในอย่างอื่นๆ.

ในกรณีที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับการกระทำที่ยุติธรรม คุณค่าของผู้คนได้สะท้อนถึงการกระจายส่วนแบ่งต่างๆในทรัพย์สินที่มีคุณค่า. อริสโตเติลได้ให้ตัวอย่างกรณีหนึ่งกับเรา เพื่อว่าเราจะได้มั่นใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาหมายถึง. เขากล่าวว่า ถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ทุบตีใครคนหนึ่ง มันเป็นความผิดสำหรับคนๆนั้นที่ถูกตีด้วยในทางกลับกัน; และถ้าเผื่อว่าใครคนหนึ่งทุบตีเจ้าหน้าที่ มันเป็นการถูกต้องแล้วสำหรับเขา ไม่ใช่เพราะถูกตีกลับ แต่เป็นเพราะถูกลงโทษ

ตัวอย่างอันนี้ประยุกต์ใช้ได้ ทั้งกับความยุติธรรมในลักษณะเยียวยา(remedial Justice) และความยุติธรรมในลักษณะแบ่งสันปันส่วน(distributive justice). ผมต้องการที่จะอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับตัวอย่างของอริสโตเติล. โดยใช้สเกล 1-10 เป็นตัวตัดสินสิ่งที่คุณคิดถึงข้อความต่างๆที่ตามมาว่ามันยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม โดยให้เลข 10 เป็นตัวบ่งถึง"ความยุติธรรมที่สมบูรณ์"

ตัวอย่างเช่น สมมุติคุณคิดว่า พวกเจ้าหน้าที่ถูกตีหรือถูกลงโทษโดยผู้คนที่พวกเจ้าหน้าที่ไปทุบตีเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและยุติธรรมแล้ว คุณจะเขียนตัวเลขลงไปจาก 6-10. ขอให้วพกเราประเมินข้อความทั้งหมดต่อไปนี้เข้าด้วยกัน อย่าได้แยกมันออกเป็นสองส่วน และประเมินมันแยกออกจากกัน. ข้อความตัวอย่างต่อไปนี้เป็นข้อความตัวอย่างของอริสโตเติลที่ใช้กับผู้คนที่แตกต่างกัน

1. ถ้าหากว่าสามีคนหนึ่งได้ทุบตีภรรยาของเขา มันเป็นความผิดสำหรับสามีเช่นกันที่ถูกตีเป็นการตอบแทน และถ้าเผื่อว่าภรรยาทุบตีสามี มันเป็นความชอบธรรมของภรรยาแล้ว ไม่ใช่เพียงถูกตีกลับเป็นการตอบแทนเท่านั้น แต่ในฐานะการถูกลงโทษด้วย

2. ถ้าหากว่าครูตีนักเรียน มันเป็นความผิดสำหรับครูที่ถูกตีด้วยเป็นการตอบแทน และถ้าเผื่อว่านักเรียนตีครู มันก็เป็นความชอบธรรมแล้วสำหรับนักเรียน ไม่เพียงถูกตีเป็นการตอบแทนเท่านั้น แต่ในฐานะของการถูกลงโทษ

3. ถ้าหากว่าผู้คุมคนหนึ่งทุบตีนักโทษ มันเป็นความผิดของผู้คุมที่ถูกตีเป็นการตอบแทน และถ้าเผื่อว่านักโทษคนหนึ่งทุบตีผู้คุม มันเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้วสำหรับนักโทษคนนั้น ไม่เพียงเป็นผู้ถูกตีเป็นการตอบแทนเท่านั้น แต่ในฐานะของการถูกลงโทษ

สำหรับตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น คุณคิดอย่างไร? ขณะที่คุณอ่านตัวอย่างที่ยกมาโดยตลอด มันมีความแตกต่างกันใช่ไหม? ตัวอย่างต่างๆเหล่านี้ช่วยเราให้เห็นถึงว่า พวกเราจัดลำดับผู้คนไปตามคุณค่าหรือสถานภาพของพวกเขา. คุณคิดว่ามันมีความสัมพันธ์กันไหมระหว่างข้อความที่ยกมาเหล่านี้ กับ สิ่งที่กำลังเป็นไปเมื่อ Rodney King ถูกตีต่อหน้าผู้ชมทางจอโทรทัศน์ และคนเหล่านั้นที่ทำร้ายเขาได้รับการปล่อยตัว ชั่วคราว เพราะพวกเขาเป็นตำรวจ?

เป็นไปตามความเสมอภาคตามสัดส่วน(proportional equality) เราตัดสินความเสมอภาคต่างๆอย่างยุติธรรมโดยการให้ความเสมอภาคและความไม่เสมอภาคกับพวกเขา. ถ้าเราตัดสินว่าผู้คุมได้รับการสนับสนุนให้มีสิทธิ์ในการทุบตีนักโทษ และลงโทษนักโทษด้วย มันเป็นเพราะเราตัดสินว่า นักโทษเป็นคนที่มีคุณค่าไม่เท่าเทียมในเชิงเปรียบเทียบกับผู้คุม หรือมีความสำคัญน้อยกว่าการธำรงรักษาเกี่ยวกับอำนาจที่มีอยู่ในคุก

นั่นคือ เรา(อย่างน่าใจหาย)ได้จัดลำดับความสัมพันธ์ของบรรดานักโทษทั้งหลายให้ด้อยกว่าบรรดาผู้คุม และด้อยกว่าโครงสร้างคุกของมัน ต่อทัศนะเช่นนี้ คุกต่างๆจึงเป็นที่เก็บตัวบรรดานักโทษทั้งหลายให้ไกลห่างจากวิถีทางของพวกเราและมันเหมาะสมดีแล้วใช่หรือไม่?. พวกเราตัดสินว่า บรรดานักโทษทั้งหลายคือผู้คนซึ่งไม่ได้ทำงานหรือหน้าที่ของพวกเขาอย่างเหมาะสม หรือไม่ได้ทำมันอย่างดี

พวกเขาเข้าไปอยู่ในคุกเพราะผลของความดีที่ชนะความชั่ว; เมื่อผู้คุมทุบตีนักโทษ บรรดานักโทษทั้งหลายเพียงแต่ได้รับสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับแล้ว. ในทัศนะของอริสโตเติล การดำรงความยุติธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการผู้คนเหล่านั้นได้ในสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ. ตามความเสมอภาคแบบสัดส่วน เราสามารถปฏิบัติกับคนที่ด้อยกว่าทั้งหลายอย่างแตกต่างในความเท่าเทียม และมันยังคงเป็นความยุติธรรมอยู่

ความหมายที่สองเกี่ยวกับความยุติธรรม คือ "ความยุติธรรมในลักษณะเยียวยา"(remedial justice), ได้มีการสมมุติถึงทัศนะอันหนึ่งเกี่ยวกับบุคคลต่างๆที่ยังแสดงลักษณะการกระทำของเราต่อมา. ความยุติธรรมในลักษณะเยียวยาเป็นการปรับปรุงแก้ไขความแตกต่างให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความอยุติธรรมที่ได้รับ

ฝ่ายต่างๆได้รับการสมมุติให้มีความเท่าเที่ยมหรือเสมอภาคกันมานับแต่เริ่มต้น ก่อนที่จะเกิดความอยุติธรรมภายหลัง. ความยุติธรรมจะให้การเยียวยาข้อแตกต่างที่ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยความอยุติธรรมโดยผ่านการกระทำของความยุติธรรม: ความยุติธรรมจะสร้างดุลยภาพต่างๆต่อความเสียหายหรืออันตรายที่เกิดขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากการกระทำอันหนึ่ง โดยการตรวจตราดูว่าคนที่ได้รับความอยุติธรรมหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น ได้รับส่วนแบ่งที่เที่ยงธรรมของเขาอย่างเป็นธรรมแล้วหรือไม่. อันนี้จะถูกกระทำโดยผ่านการบีบบังคับให้ผู้กระทำผิดหรือผู้ละเมิดต้องจ่ายบางสิ่งบางอย่างคืนกลับไป เพื่อทำให้เกิดดุลยภาพเดิมๆระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยเหตุนี้ความเสมอภาคของทั้งสองฝ่ายจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา

สมมุติว่าชายคนหนึ่งได้ไปตัดหูชายอีกคนหนึ่ง ผู้กระทำความผิดจะต้องสูญเสียบางสิ่งที่มีคุณค่าเท่ากันเพื่อเป็นการชดเชยหรือทดแทนการสูญเสียนั้น ดังนั้นฝ่ายที่ถูกล่วงละเมิดจะได้รับการตอบแทนเป็นการชดเชยคืนในรูปของเงินหรือเกียรติยศ เพื่อเป็นการฟื้นคืนความเสมอภาคที่มีมาก่อนได้รับความเสียหายนั้น

ในพระคัมภีร์เก่า(the Old Testament) เรามีบัญญัติอันหนึ่งในทำนอง"ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ซึ่งเป็นแบบฉบับหรือตัวอย่างหนึ่งของความยุติธรรมในลักษณะเยียวยา. แต่อย่างไรก็ตาม การปรับแก้ให้ถูกต้องเกี่ยวกับความเสียหายหรืออันตรายที่กระทำลงไป ก็มีข้อจำกัดให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่สามารถเรียกรับเอาสิ่งที่ได้รับการชดเชยหรือทดแทนคืนมา เกินกว่าสิ่งที่ได้สูญเสียไป: นั่นคือ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" และไม่มีอะไรเกินไปกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ในพระคัมภีร์เก่ามิได้สนับสนุนการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับอีกสถานการณ์หนึ่งในเรื่องเดียวกัน ซึ่งในทัศนะของกรีกเป็นเช่นนั้น. ดังที่ McHugh ตั้งข้อสังเกต: ขณะที่บรรดานักปรัชญากรีกกำลังตรวจตราลงไปในธรรมชาติที่เป็นนามธรรมเกี่ยวกับคุณความดี บรรดาศาสดาพยากรณ์ฮีบูร ก็กำลังประณามสาปแช่งความเลวร้ายเกี่ยวกับความชั่วร้ายทางศีลธรรม ที่ได้รับการผลักไสโดยความไม่เท่าเทียมกันตามธรรมชาติในท่ามกลางหมู่มนุษย์ อันมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางด้านสติปัญญา กายภาพ และคุณสมบัติในทางวัตถุ พวกเขามองว่าความแตกต่างกันเหล่านี้กลายเป็นต้นตอของพลังอำนาจอันดื้อรั้นที่ควบคุมไม่อยู่

พระคัมภีร์ไบเบิลทึกทักว่า พวกเราทั้งหมดต่างเป็นคนบาปและไม่อาจที่จะพานพบความรุ่งโรจน์และความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าได้. ไม่มีใครที่มีความเป็นธรรม(righteousness)ในตัวของเขาเอง...

สำหรับอริสโตเติล มันเป็นไปได้ว่า ความเข้มแข็งเป็นสิ่งที่ดีเพียงพอที่จะได้รับการเรียกขานว่าคุณความดี. ชีวิตที่ดีที่สุดคือชีวิตแห่งการใคร่ครวญ ซึ่งคนดีผูกพันอยู่กับตัวของเขาเอง. ในอีกด้านหนึ่งนั้น พระคัมภัร์ไบเบิลไม่ได้บอกกับเราว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ผูกโยงอยู่กับความเป็นอันตรายหรือการเสียหายระหว่างความเสมอภาคต่างๆ และมิได้ทึกทักว่า ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องมีความเท่าเทียมหรือเสมอภาคกันมานับตั้งแต่ต้น

เหตุผลในทางสังคมวิทยาสำหรับอริสโตเติลบอกกับเราว่า ความเสมอภาคแต่เดิมดำรงอยู่ระหว่างสองฝ่าย และเพียงความเสียหายที่มีต่อความเสมอภาคต่างๆเท่านั้นที่มีนัยสำคัญทางสังคม ในระบบต่างๆของเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความอับอาย เพียงอันตรายที่กระทำต่อความเสมอภาคเท่านั้น จึงถือว่ามีความสำคัญ เช่น คนๆหนึ่งได้สูญเสียชื่อเสียงที่ดีของตัวเองไป ถ้าหากว่าเขาได้ไปทำอันตรายต่อจุดยืนแห่งความเสมอภาคทางสังคมของคนอีกคนหนึ่ง

ในการกระทำที่มีน้ำหนักของความยุติธรรม มันเป็นเพียง ถ้าเผื่อว่าเราสมมุติเอาความเสมอภาคมาแต่แรกระหว่างฝ่ายต่างๆว่า เราสามารถที่จะแยกแยะการกระทำเป็นการเฉพาะได้ แบ่งแยกการกระทำนั้นจากที่เหลือของสถานการณ์ต่างๆในชีวิตของคนแต่ละคน และโฟกัสลงไปบนตัวเลขของการสูญเสียและได้รับ ที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. อันนี้เป็นการเสนอหรือให้แนวทางอันหนึ่งที่มีเหตุผลหรือตรรกะต่อความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่เมินเฉยต่อพยานหลักฐานที่นำเสนอโดยชายที่รูปร่างกำยำล่ำสัน ซึ่งน้องสาวและแม่ของเขาได้มาเป็นพยานในเรื่องที่สองซึ่งผมได้เล่าไปแล้ว

ขณะที่ผมไม่สามารถคาดเดาเป็นครั้งที่สองได้ ถึงเหตุผลต่างๆสำหรับการตัดสินในเรื่องนี้ที่ผู้พิพากษาได้พิจารณาว่า การไปทำให้กรามของคนอีกคนหนึ่งหักเพียงลำพัง มันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกรณีนี้. เขารู้สึกผูกพันอยู่แต่เพียงเรื่องของการตัดสินเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวเท่านั้น. สมมุติว่า ชายที่รูปร่างกำยำและของผู้หญิงต่างเสมอภาคกันในกรณีนี้ นั่นหมายความว่า ผู้พิพากษากำลังสนับสนุนการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือทำเป็นมองไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ที่นำไปสู่การกระทำของชายคนหนึ่งที่ได้ไปชกต่อยชายอีกคนหนึ่ง. อันนี้ยินยอมให้ผู้พิพากษาเมินเฉยต่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับหญิงสาว(ผู้เป็นลูก) และการช่วยเหลือต่างๆที่ชายรูปร่างกำยำพยายามทำ. มีคนเพียงไม่กี่คนในหมู่พวกเราที่อาจเห็นพ้องกับทัศนะของผู้พิพากษาคนนี้

เราอาจพูดกับอริสโตเติล และผู้พิพากษาคนนี้ว่า นั่นมันคือทั้งหมดที่ดีมากต่อเพื่อนร่วมงานของคุณที่มีความยุติธรรม ซึ่งได้กำหนดนิยามเรียบร้อยแล้วระหว่างพวกของคุณเอง แต่อะไรล่ะที่เกี่ยวกับผู้คนเหล่านั้นซึ่งไม่ได้มีงานการที่เหมาะสมทำ เนื่องมาจากความยากจน, สีผิว, การตกเป็นเหยื่อ, การถูกจำคุก, เพศ, ศาสนาหรือวัฒนธรรม?

อะไรล่ะที่เกี่ยวกับคนเหล่านั้นซึ่ง ความดีของพวกเขาไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือวัดได้ว่า พวกเขาได้กระทำงานที่เหมาะสมของพวกเขาแล้วอย่างไร เพราะพวกเขาไม่มีงานทำ ? อะไรเล่าที่เกี่ยวกับคนเหล่านั้น ซึ่งสังคมที่เขาอาศัยอยู่ชักจูงให้เชื่อว่า พวกเขาไม่สมควรได้รับอะไรเลย เพราะพวกเขาเกิดมาเป็นคนเลว พวกเขาคือผู้แพ้หรือผู้ต้องสูญเสีย

ความยุติธรรมแบบแบ่งสันปันส่วน และความยุติธรรมแบบเยียวยา อาจพอใจกับเรื่องความเสมอภาคต่างๆ แต่เป็นไปในลักษณะการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเงื่อนไขต่างๆของชีวิตของผู้คน ในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตออันหนึ่งของความอยุติธรรมทั้งหมดในตัวของมันเอง

ถ้าเผื่อว่าผู้คนมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากมาก่อนและเกิดความเสียหายขึ้น ความยุติธรรมในลักษณะเยียวยาก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขอันตรายนั้นได้ เพราะความยุติธรรมแบบแบ่งสันปันส่วนกำลังทำงานกับพวกเขานั่นเอง ความเสมอภาคในเชิงสัดส่วนยังคงกำหนดนิยามต่อไป เกี่ยวกับการจัดลำดับผู้คนทั้งหลายในศตวรรษนี้

ขณะที่ผมได้ทำการสอนเรื่องจริยศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Calgary เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งได้โฟกัสลงตรงที่ประเด็นนี้พอดี. ผู้สื่อข่าวรายงานเรื่องการทำร้ายผู้หญิงคนหนึ่งในเวลากลางวันแสกๆ บนถนนไฮเวย์สายหลักในเมือง. เจตนาของผู้ทำร้ายคือต้องการที่จะข่มขืนผู้หญิงคนนั้น. ชายคนหนึ่งที่ผ่านมาได้เข้ามาช่วยเหลือเธอ. คนอื่นๆผู้เห็นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนี้เพียงสังเกตมันอยู่เฉยๆ แล้วก็ผ่านไป

ผู้ให้ความช่วยเหลือได้รายงานกับสื่อถึงการเข้าไปก้าวก่ายในเหตุการณ์ของผู้หญิงคนนี้ที่ประสบ ซึ่งมันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา และได้ทำลายล้างความคิดเห็นต่างๆเป็นจำนวนมากที่เขาเชื่อถือตอนที่เขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่. เขาได้บอกกับผู้สื่อข่าวในฐานะคนหนุ่มว่า ครอบครัวของเขาอยู่บ้านหลังถัดมาจากบ้านที่สามีมักจะทุบตีภรรยาของเขาอยู่บ่อยๆ และล็อคประตูบ้านให้เธออยู่นอกบ้าน

ครอบครัวของเขาจะได้ยินเสียงเธอร้องไห้ และทึกทักกันเอาเองว่า เธอคงจะต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เธอสมควรจะได้รับการปฏิบัติอันเลวร้ายเช่นนี้จากสามีแล้ว. แต่เมื่อเขาได้เข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงที่กำลังจะถูกข่มขืนบนถนนใน Calgary เขาได้เผชิญหน้ากับเธอโดยตรงในฐานะผู้ที่กำลังตกเป็นเหยื่อและไร้เดียงสา. กระนั้นก็ตาม เมื่อเขาพูดคุยกับผู้คน พวกเขาทั้งหลายกลับต้องการที่จะสนทนาถึงเรื่องการทำร้ายร่างกาย เขาสำนึกและเข้าใจว่า ความคิดร่วมกันส่วนใหญ่ของผู้คนจำนวนมากนั้นคิดว่า ผู้หญิงคนดังกล่าวจะต้องได้รับสิ่งที่เธอควรได้รับ

ทัศนะอันนี้เป็นการสะท้อนอันหนึ่งเกี่ยวกับอริสโตเติล นั่นคือ คนชั้นสูงที่ดำรงอยู่ในฐานะที่ได้รับการจัดลำดับทางสังคม ผู้คนเหล่านี้แสดงตนในฐานะเป็นคนที่มีคุณค่ามาก และโดยเหตุนี้ พวกเขาจึงมีสิทธิในการดำเนินการต่างๆตามที่พวกเขาต้องการทำและสมดังที่เขาพอใจ และยิ่งไปกว่านั้น อันตรายใดๆที่เกิดขึ้นมันจะทำให้เขาว้าวุ่น สับสน และหงุดหงิดมาก

ย้อนกลับบมาที่ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวผมเองเกี่ยวกับผมกับผู้พิพากษา ผมรู้สึกประหลาดใจหลังจากได้ยินเรื่องนี้ แต่จริงๆแล้ว ผมไม่ควรจะรู้สึกเช่นนั้น ซึ่งทนายความส่วนตัวสอนผมว่า อย่าได้รู้สึกหงุดหงิด และอารมณ์เสียเกี่ยวกับผู้พิพากษา. ทนายความของผมเธอเป็นคนที่น่ากลัว. นัยะที่เกี่ยวข้องคือว่า ผู้พิพากษาไม่ได้ผูกพันอยู่กับความยุติธรรม ถ้าเผื่อว่าผมสะเพร่าหรือไม่ระมัดระวังพอก็จะเกิดหัวเสียไปกับเขาได้

ในเวลานั้นผมรู้สึกกังขาขึ้นมา และผมยังคงอารมณ์ขุ่นอยู่ และคิดไปว่า มันง่ายดายเพียงใดสำหรับคนจนคนหนึ่งหรือคนที่สูญเสียที่จะรู้สึกไม่สบอารมณ์กับผู้พิพากษา. ในการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความยุติธรรม เราต้องเข้าใจว่าอำนาจมันทำงานอย่างไร ผมเคยให้เหตุผลในที่อื่นๆว่า มันเป็นความผูกพันกันใกล้ชิดมากอันหนึ่ง ระหว่างอำนาจทางสังคมกับคุณค่าของคน(social power and personal value)

สิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับระบบของคุกโดยเฉพาะก็คือ มันไม่มีการปกป้องคุณค่าความสำคัญของคนคุก. ดังนั้น บรรดาคนคุกทั้งหลายจึงไร้อำนาจ. การไปคุกก็คือการสูญเสียความเป็นมนุษย์ของคน และกลายเป็นหัวข้อหรือประเด็นที่มีการกล่าวร้ายอย่างไม่อาจจินตนาการได้จากภายนอก. การตกเป็นเหยื่อก็คือการสูญเสียพลังส่วนบุคคล

ความยุติธรรมไม่สามารถถูกทำให้บรรลุผลได้โดยผ่านกระบวนการที่รอนสิทธิ์หรือการถอดถอนความเป็นมนุษย์(dehumanized people)อันนั้น. บรรดาคนที่ทำงานในฐานะตัวแทนของบรรดาเหยื่อและพวกคนคุกทั้งหลาย ซึ่งขอเน้นในที่นี้ ต่างรู้ว่า"ความยุติธรรม"ไม่ได้ถูกนำมาใช้ โดยระบบที่มีการจัดลำดับคุณค่าของคนต่างๆไปตามแนวทางเกี่ยวกับลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคม ซึ่งได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อเงื่อนไขทางสังคมของพวกเขา

บางครั้งเราก็คิดกันว่า การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่คือความยุติธรรม เพราะมันดูเหมือนไม่เอนเอียงหรือมีอคติ และเราต่างเชื่อกันว่า"ความยุติธรรม"ควรจะไม่มีความเอนเอียงยิ่งกว่าอื่นใด. กระนั้นตอนที่พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับความไม่เอนเอียงหรือมีอคติ เป็นเพราะต้องการให้เรามีสายตาเปิดกว้างถึงความแตกต่างระหว่างผู้คน เมื่อพระคัมภีร์พูดเรื่องเกี่ยวกับการตั้งอยู่ในความไม่เอนเอียง เป็นเพราะต้องการสอนเราไม่ให้เราถูกแกว่งไกวหรือโอนเอนไปโดยเสน่ห์หรือความตรึงใจของเรากับตำแหน่งและผลประโยชน์; พระคัมภีร์ไม่ได้แนะนำเราให้บอดใบ้ต่อความแตกต่างที่ทำให้บางคนรวยและบางคนจน.

ความเป็นธรรม ความตรงไปตรงมามองเห็นเหรียญเล็กๆแต่มีค่ามากของหญิงม่าย และรู้ว่ามันคือทั้งหมดที่เธอมี. แต่หลายต่อหลายคนประเมินค่าคุณสมบัติของเธอด้วยสิ่งที่มันแสดงให้เห็น

ความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา แนวคิดของฮีบูรเกี่ยวกับ shalom (การแสดงความเคารพ), และแนวคิดกรีกเกี่ยวกับ eirene(มุ่งหมายเพื่อสันติ ความสงบ), ได้วิพากษ์วิจารณ์การจัดลำดับผู้คนต่างๆไปตามคุณค่าของพวกเขา และได้นำเสนอหลักการต่างๆที่ท้าทายความยุติธรรมแบบแบ่งสันปันส่วนและความยุติธรรมแบบเยียวยา

แนวความคิดต่างๆของพระคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องของความยุติธรรม, ความเป็นธรรม, shalom(ความเคารพ) และ eirene(สงบ, สันติ) ต่างทำงานร่วมกันเพื่อให้กรอบอันหนึ่งสำหรับความคิดและการกระทำอย่างยุติธรรม. อะไรคือความหมายของคำต่างๆเหล่านี้และแสดงนัยะ และเราได้นำคำต่างๆเหล่านี้เข้ามาในสังคมมนุษย์เพื่อปฏิบัติการกับบรรดาอาชญากรและเหยื่อทั้งหลายอย่างยุติธรรมอย่างไร?

ในกรอบเค้าโครงเกี่ยวกับความยุติธรรม ทั้งในฝ่ายของกรีก ฮีบูร/คริสเตียน เป็นแนวความคิดที่สมบูรณ์อันหนึ่งในแง่ที่ว่ามันได้ถูกนำมาใช้ปฏิบัติต่อตัวของพวกเราเองและคนอื่นๆ. ผมทราบเกี่ยวกับการถกเถียงอภิปรายกันทางศาสนาที่มีต่อเรื่องราวเกี่ยวกับความรอดส่วนบุคคล เปรียบเทียบกับความยุติธรรมทางสังคม แต่แนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรมนั้นมันรวมทั้งมิติต่างๆเหล่านี้ การเน้นมิติหนึ่งมิติใดจะเป็นการทำลายมิติอื่น และเป็นการกระทำการอันรุนแรงต่อสิ่งซึ่งความเป็นธรรมหมายความถึง

ขณะที่เราเน้นแง่มุมหนึ่งขึ้นมาและไม่ให้ความสำคัญต่อแง่มุมอื่น เหตุผลต่างๆของเราอาจไปเกี่ยวพันกันกับเรื่องเงิน, อำนาจ และความขุ่นเคืองใจ มากกว่าบางสิ่งที่เป็นเรื่องของเทววิทยาใดๆ. สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดมากที่สุด ระหว่างทัศนะของ"พระคัมภีร์ไบเบิล"กับ"ทัศนะของกรีก"คือ บทบาทที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดง

พระผู้เป็นเจ้าคือแหล่งต้นตอหรือกำเนิด, เป็นตัวอย่างที่ได้รับการเลียนแบบ, น่าเอาอย่าง, น่ายกย่อง, เป็นความยืนยง และดำรงความยุติธรรม. และนับตั้งแต่ที่พระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งซึ่งอยู่นอกเหนือระบบของมนุษย์ และพวกเราคิดว่าไม่ได้รับการหลอกลวงโดยมันอีก และไม่ต้องตกเป็นทาสที่จะผลิตซ้ำมันขึ้นมา การประเมินค่าต่างๆของพระผู้เป็นเจ้า ค่อนข้างที่จะแตกต่างอย่างน่าสังเกตไปจากการประเมินค่าที่พวกเรากระทำต่อกันและกัน

ในระบบของกรีก ความยุติธรรมได้แสดงตัวของมันออกมาในโลกมนุษย์อย่างหมดเปลือก ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนกันต่างๆระหว่างความเสมอภาคหรือความเท่าเทียม. อริสโตเติลคิดว่า เทพเจ้าทั้งหลาย(gods)ของกรีกต้องการ หรือสนใจในเรื่องความยุติธรรมน้อยมาก. ความยุติธรรมของกรีกเป็นเรื่องความคิดซึ่งเป็นนามธรรมและให้การสนับสนุนลำดับชั้นสูงต่ำทางคุณค่าที่วางอยู่บนพื้นฐานเกี่ยวกับเพศ ลำดับชั้น ตำแหน่ง และความมั่งคั่งสมบูรณ์ (ยกตัวอย่างเช่น ระบบเกี่ยวกับเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความความอับอาย)

มันเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแตกต่างกันไปเลยทีเดียวที่จะพิจารณาเรื่องความยุติธรรมในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า(God) จากคนที่ไม่มีทางหลบเลี่ยง และคนที่ยึดเราไว้และให้เหตุผลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับหนทางที่เราปฏิบัติกับคนอื่น. ในการเปรียบเทียบกันอันนี้ ผมจะไม่อ้างหรือเรียกร้องว่า โลกของพระคัมภีร์ไบเบิลโบราณ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เป็นสิ่งซึ่งมีความยุติธรรมในความเป็นจริงเชิงปฏิบัติมากกว่าโลกของกรีกโบราณ

ผมกำลังต้องการพูดถึงเรื่องของไอเดียที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม ซึ่งกำลังปฏิบัติการอยู่มากกว่า. การทำปฏิกริยาต่อกันระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับพระคัมภีร์ ได้ทิ้งเราไว้ให้อยู่กับหลักการและมาตรฐานต่างๆสำหรับการเป็นอยู่อย่างยุติธรรม ซึ่งสามารถที่จะผลิตหรือสร้างความยุติธรรมในโลกขึ้นมาได้มากกว่าที่เราพบเห็นตัวอย่างอยู่ในตอนนี้

ในพระคัมภีร์ แนวความคิดต่างๆเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรม, shalom(ความเคารพ) และ eirene(ความสงบ สันติ) ส่งเสริมความยุติธรรมที่ดวงตาของมันเปิดกว้างสู่ความสง่างามและความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า และสถานการณ์ของคนอื่นๆ. ความเป็นธรรมอ้างอิงถึงการทำให้สิ่งต่างๆเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา. ความเป็นธรรมได้รับการนำไปผูกโยงกับการทำให้ตัวของพวกเขาเองมีความถูกต้อง ตรงไปตรงมาร่วมกับพระผู้เป็นเจ้าและคนอื่นๆ

ความเป็นธรรมเกี่ยวโยงถึงการยืนหยัดกับความถูกต้อง และเป็นผลอันเนื่องมาจากความประพฤติที่ถูกต้องภายในชุมชนหนึ่ง. ชีวิตที่ดีเลิศ ถูกค้นพบได้ในชุมชนชาวคริสเตียน ซึ่งได้บรรจุเอาคนทุกๆประเภทผู้ซึ่งไม่เหมือนกันในเรื่องสติปัญญาและความสามารถทางสังคมเอาไว้; อันนี้แตกต่างไปเลยทีเดียวจากกลุ่มของความไม่เท่าเทียมต่างๆ ที่เกี่ยวพันกันทางสังคมซึ่งมีพื้นฐานอยู่เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความอับอาย

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าพิพากษาหรือตัดสินโดยความเสมอภาคและปราศจากความลำเอียง พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือบัญญัติของสังคมกรีก ที่ซึ่งคุณค่าถูกวัดไปตามลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคมที่ได้รับการสร้างขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของคุณค่า. ในความหมายนี้ พระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่ผู้นับถือหรือให้ความเคารพต่อบุคคลต่างๆ. คุณค่าที่พระผู้เป็นเจ้าให้เหตุผลต่อบุคคลต่างๆ ดูเหมือนว่า มันจะมีลักษณะอุดมสมบูรณ์และใจกว้าง มากกว่าที่จะคำนวณนับได้ และเป็นสิ่งซึ่งหาได้ยาก

ความเป็นธรรมได้สร้างความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคอันหนึ่งที่มีความจำเพาะและลักษณะพิเศษขึ้นมา. ดำเนินรอยตามคำสอนต่างๆของชาวคริสต์, Paul อธิบายว่า ไม่มีใครแสวงหาสิ่งที่ชอบธรรมได้โดยการกระทำของกฎหมายได้ กฎหมายไม่สามารถได้รับการสนับสนุนในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า เพราะทุกๆคนต่างเป็นคนบาป และไม่อาจที่จะบรรลุถึงมาตรฐานความชอบธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้. ด้วยเหตุนี้ ความเป็นธรรมของพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นของขวัญชิ้นหนึ่งที่ไม่มีใครควรได้รับ.

นับแต่ที่มาตรฐานเกี่ยวกับการยอมรับของพระผู้เป็นเจ้าคือความสมบูรณ์ และไม่มีใครได้มาตรฐาน, ความเมตตากรุณาจึงเป็นสิ่งที่เที่ยงธรรมและเสมอภาคในลักษณะที่พิเศษผิดธรรมดา. มันเป็นเช่นเดียวกันสำหรับทุกๆคน. ความเมตตากรุณาจะต้องถูกรับเอามาในฐานะที่เป็นของขวัญชิ้นหนึ่ง.

แต่ในเรื่องเกี่ยวกับระบบความเชื่อของอริสโตเติล ต้องการให้คุณความดีวางอยู่บนความสำเร็จบางอย่าง เพื่อว่ารางวัลอย่างโลกๆสามารถที่จะได้รับการแจกจ่าย และแบ่งปันอย่างยุติธรรมโดยเป็นไปตามคุณความดีของตัวบุคคล. ส่วนหนึ่งของเหตุผลสำหรับความยุติธรรมแบบกระจายหรือแบบแบ่งสันปันส่วนคือ กำหนดความแตกต่างทางสังคมของผู้คน และรางวัลต่างๆในทางวัตถุ และทำให้การกระจายอันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ปัญหาเกี่ยวกับความเมตตาในฐานะที่เป็นของขวัญชิ้นหนึ่ง ในทางสังคมวิทยาคือว่า มันยากที่ธำรงรักษาลำดับชั้นสูงต่ำต่างๆเกี่ยวกับเกียรติและศักดิ์ศรีทางสังคม ถ้าหากว่าเราต่างมีคุณค่าเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า และหากว่าทัศนะของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับเราเป็นสาระอะไรอย่างนั้น เราจะแบ่งสรรสิ่งต่างๆอย่างยุติธรรมโดยมีเรื่องของบุริมสิทธิได้อย่างไร ในเมื่อเราทั้งหมดต่างเป็นทายาทของพระผู้เป็นเจ้า?

ดูเหมือนว่า โบสถ์หรือศาสนจักรจะต้องหยิบยืมแนวความคิดของกรีกและโรมันเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมไปใช้ เมื่อมันต้องการที่จะสถาปนาและปกป้องการลำดับตำแหน่งผู้คนทั้งหลายไปตามคุณค่าทางสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนเรื่องเงิน เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และอำนาจ

ความเป็นธรรมในพระคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่เป็นเรื่องของโลกหน้า; พระคัมภีร์ไม่ได้ดึงเราให้ห่างไกลไปจากโลกและมุ่งไปสู่สวรรค์เบื้องบนเหนือมนุษย์วิสัยขึ้นไป มากเท่าๆกันกับที่มันโฟกัสความสนใจของเราต่อโลกนี้ และทำให้เราทั้งหลายให้เหตุผลหรือคำอธิบายว่า เราควรปฏิบัติกับผู้อื่นกันอย่างไรในขณะที่เราอยู่ที่นี่ เพราะเรากำลังจะไป ณ ที่นั้น

ความเป็นธรรมยอมรับว่า มีการทอดทิ้งตัวพวกเขากันเอง คนที่มีอำนาจจะกระทำสิ่งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของตัวพวกเขา. ความเป็นธรรมจะวางเราเอาไว้ให้อยู่ในความกรุณาอันกว้างใหญ่ มันจะวางตำแหน่งเราให้อยู่ในความห่วงใยของพระผู้เป็นเจ้าอย่างปลอดภัย. ความชอบธรรมตรงไปตรงมาได้รับการแสดงออกด้วยเครื่องหมายความรักที่แน่วแน่และมั่นคง รวมไปถึงศรัทธาอันแรงกล้า เพราะพวกเขาได้มองเห็นทางรอดของพระผู้เป็นเจ้า

พวกเขาพูดแต่เรื่องของความจริงและปฏิบัติด้วยความเมตตา. ความชอบธรรมตรงไปตรงมาเป็นความฉลาดและอุปถัมภ์ค้ำชูผู้อื่นด้วยปัญญาญาน. เมื่อชีวิตดำเนินไปด้วยดีในหนทางของความชอบธรรม บ้านเมืองทั้งหมดก็จะรุ่งเรืองเฟื่องฟู. ความชอบธรรมตรงไปตรงมารู้ถึงสิทธิของคนยากคนจนและปกป้องคนแปลกหน้า รวมไปถึงหญิงม่ายและเด็กกำพร้า. ความถูกต้องชอบธรรมอยู่ในข้างฝ่ายของผู้ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งและคนคุก ดุจดั่งที่พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ข้างฝ่ายนั้น

ความถูกต้องชอบธรรมพำนักอยู่กับความสงบและสันติภาพ ความเงียบและความวางใจ กระนั้นก็ขานรับอย่างหาญกล้าต่อความจำเป็นและความยากจน และไม่สะดุ้งตกใจหรือหนีห่างจากการกระทำที่ยุติธรรม แม้ว่าบ้านเมืองทั้งหมดได้ยืนหยัดอยู่บนความอยุติธรรม และตั้งหน้าตั้งตาต่อต้านพวกเขา. การดำรงอยู่ในความถูกต้องชอบธรรมก็คือการดำรงอยู่ในความสงบ สันติ แต่ไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่โดยปราศจากความขัดแย้ง

ความถูกต้องชอบธรรมจะเผชิญหน้าและประนีประนอมความขัดแย้งโดยส่งเสริมภาวะความสุขทางจิตวิญญาน และความเป็นอยู่ที่ดีในทางวัตถุในการมีอยู่เหล่านั้นทั้งมวล. เรามีตัวอย่างที่น่าสังเกตเกี่ยวกับความตั้งใจอันนี้ และความสามารถที่จะละลายความขัดแย้งในพระคัมภีร์ใหม่. การแยกสลายหรือการละลายความขัดแย้งเหนือสถานการณ์ท่ามกลาง Gentile (คำที่ชาวยิวเรียกชาวคริสต์) และท่ามกลางความทุกข์ร้อนของหญิงม่ายกรีก ที่ความต้องการต่างๆของคนเหล่านี้ไม่เคยได้พานพบหรือประสบผล คือตัวอย่างหลายหลากจาก the book of Acts (เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์ใหม่ - A book of the New Testament)

ในการมีอยู่ของความถูกต้องชอบธรรมควรได้รับการหล่อเลี้ยงและสนับสนุน รวมกระทั่งถึงทำมันให้ดี นอกจากนี้จะต้องเอาจริงเอาจังและคุ้มครองปกป้องมันด้วย. ความถูกต้องชอบธรรมยอมรับว่า ถ้าหากว่าความต้องการต่างๆมีอยู่ มันจะเป็นการดีที่จะเป็นฝ่ายทนทุกข์มากกว่าที่จะเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์ นับแต่ที่จีซัสได้ลบล้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ"ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" และสร้างสำนึกให้กับเราเรียกร้องสิ่งที่สูงส่งกว่า

การกระทำที่ถูกต้องชอบธรรมในหนทางนั้นที่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการแสดงออกมาอย่างชัดแจ้ง และใช้ได้กับคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ความถูกต้องชอบธรรมจึงไม่เป็นเพียงเรื่องของอารมณ์อันอ่อนไหวเท่านั้น แต่มันเป็นเครื่องมือแห่งสันติภาพ

ผมต้องการที่จะกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดในแนวทางของคริสเตียน ที่พวกเราทั้งหมดต่างเป็นคนบาป. อาชญากรรมเป็นสิ่งสร้างทางสังคม ชาวคริสเตียนทั้งหลายจะต้องมีอิสระในตนเองจากแบบแผนทางโลก เพื่อที่จะถกเถียงสนทนาเรื่องของกฎหมาย มากกว่าที่จะดำเนินรอยตามกฎหมายต่างๆที่อยุติธรรมหรือที่เลวร้ายอย่างคนเป็นทาส เราจะต้องไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายที่ขาดความยุติธรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หรือข้อได้เปรียบส่วนตัว

นับจากการที่อาชญากรรมเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาในทางสังคมและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราต้องจำแนกเรื่องของ"อาชญากรรม"ออกมาจาก"บาป" และฟื้นฟูความหมายของการมีชีวิตอยู่เป็นครอบครัวมนุษย์ภายใต้พระผู้เป็นเจ้า ที่ถูกนำมารวมตัวกันโดยความโน้มเอียงของเราเกี่ยวกับบาป

Ted Peters ได้นำเสนองานปรับปรุงแก้ไขเพื่อความเข้าใจที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเกี่ยวกับบาปฉกรรจ์ 7 ประการในสมัยกลาง นั่นคือ การถือทิฐิ(หยิ่งลำพอง), ความอิจฉาริษยา, ความโกรธ, ความปรารถนาอันไม่สมควร, ความเศร้า, ความตะกละ, และกิเลสตัณหา(pride, envy, anger, covetousness, sadness, gluttony and lust). เขาได้ตระเตรียมแนวคิดของเราใหม่ให้แตกต่างไป เพื่อช่วยให้เราได้เข้าใจบาปในวัฒนธรรมและยุคสมัยของเรา

ดังที่เขาเห็นมัน บาปมหันต์ที่ทำให้ถึงตายทั้ง 7 ประการ(the seven deadly sins-ที่ถูกเรียกว่าอย่างนั้นเพราะบาปเหล่านี้ มันน้อมนำไปสู่ความตาย)คือ ความวิตกกังวล, การขาดศรัทธา, การถือทิฐิ, ความกำหนัดและกามารมณ์, การแก้ตัว, ความทารุณโหดร้าย, และการดูหมิ่นหรือสบประมาท(anxiety, unfaith, pride, concupiscence, self-justification, cruelty and blasphemy).

"ความวิตกกังวล"เป็นภาวะของพวกเราทั้งมวล เพราะบาปทำให้เราเหินห่างจากพระผู้เป็นเจ้า การที่เราทั้งหลายตัดตัวเราออกจากพระองค์ เราจึงรู้สึกวิตกกังวล. ความวิตกกังวลในตัวมันเองไม่ใช่บาป แต่มันตระเตรียมเราไปสู่การกระทำบาป. ความวิตกเป็นเรื่องความกลัวหรือความกังวลที่เราอาจสูญเสียการดำรงอยู่ของเรา; ซึ่งเราอาจจะไม่มีใครสังเกตเห็น เข้าใจเราผิด ไม่จริงจัง ถูกลืมและถูกแทนที่

ความวิตกกังวลหลอกล่อเราให้สร้างมายาการต่างๆเกี่ยวกับความเป็นอมตะขึ้นมา เพื่อโกหกตัวของเราเอง และขโมยความเข้มแข็ง, ขโมยเกียรติยศและศักดิ์ศรี, ขโมยพลังอำนาจหรือชีวิตมาจากคนอื่น. พวกเราเคลื่อนไปสู่บาปแห่งการขาดศรัทธาอย่างแข็งขัน เมื่อเราประกอบกรรมด้วยการขโมยสิ่งเหล่านี้มาจากคนอื่น

"การถือทิฐิและความหยิ่งทะนง"มีค่าเท่ากับการกระทำประหนึ่งว่าเราเป็นพระเจ้า ด้วยเหตุนี้อีโก้หรือตัวตนของเราเองจึงเคลื่อนตัวมาอยู่ข้างหน้าและเป็นศูนย์กลาง ทำให้ตัวมันเองเป็นแหล่งต้นตอชีวิตของเรา. คนที่ถือทิฐิและหยิ่งทะนงจะปิดบังซ่อนเร้นความวิตกกังวลใจ โดยการดับมันภายใต้ผ้าห่มของการควบคุมตนเอง และใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

คุณสมบัติสำคัญของความหยิ่งทะนงหรือการมีทิฐิมานะไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่มันคือการขาดเสียซึ่งความเอาใจใส่หือร่วมรู้สึกทางอารมณ์. ทิฐิมานะหรือความหยิ่งยโสจะกีดกันความเข้าใจและขัดขวางความเห็นอกเห็นใจ ปกป้องเราจากความรู้สึกในความเจ็บปวดและการต่อสู้ดิ้นรนซึ่งคนอื่นๆประสบ. การถือทิฐิและความหยิ่งทะนงจะปูทางหรือกรุยทางไปสู่โทสะจริต ความเกลียดชังและความอาฆาตแค้น

"Concupiscence"(ความปรารถนา) ศัพท์คำนี้ เป็นศัพท์สมัยกลางคำหนึ่ง มันอ้างถึงไฟแห่งความปรารถนา มันคือ"ความต้องการ"และ"ความต้องการอันไม่สิ้นสุด". Concupiscence จะน้อมนำเราไปสู่การแก้ตัวหรืออ้างเหตุผลสนับสนุนตัวเอง โดยการชักชวนเราให้ครอบครองสิ่งซึ่งเป็นของพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือความดี(goodness). เราต่างเป็นคนบาปในการแก้ตัวหรือใช้ข้ออ้างเพื่อสนับสนุนตนเองโดยผ่านความต้องการให้ได้รับการมองว่าดีในขอบเขตที่ เราเจตนาหรือตั้งใจที่จะโกหกและทำให้คนอื่นเป็นแพะรับบาป

ในการแก้ตัวหรือพูดสนับสนุนตนเองเราปฏิเสธความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเราได้โฟกัสมันบนความพอเพียงของตัวเราเองทั้งหมด และความดีของตัวเราเองเท่านั้น

บาปมหันต์ในอย่างที่หกคือ"ความโหดร้าย". อันดับแรกเราเป็นผู้รับเคราะห์แทนคนอื่น ผู้รับบาป(เป็นแพะ) ต่อมาเราเจตนาที่จะทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ. ความเจ็บปวดที่คนอื่นหยิบยื่นให้ กลายเป็นหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับและน่าปรารถนาสำหรับเรา

บาปฉกรรจ์ในอย่างที่เจ็ดคือ"การดูหมิ่นศาสนา" อันนี้ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ มันเป็นการนำเอาสัญลักษณ์ต่างๆของพระเจ้าไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อที่จะขัดขวางการสื่อสารความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า. พระผู้เป็นเจ้ากลายเป็นสิ่งเดียวกับความชั่ว

ลัทธิ Fascism ถือเป็นการดูหมิ่นศาสนา เพราะมีการนำเอาภาษาศาสนามาใช้เพื่อสร้างแรงดลใจให้เกิดความเกลียดชังและภัยอันตราย. ระบบคุกถือเป็นการดูหมิ่นศาสนาเช่นเดียวกัน เมื่อมันใช้ภาษาเกี่ยวกับการปฏิรูป เพื่อปิดบังซ่อนเร้น"การทำให้ปราศจากความเป็นมนุษย์"(dehumanization)

พวกเราทั้งหมดต่างเป็นคนบาป ในหมู่พวกเราเป็นจำนวนมากต่างประกอบอาชญากรรม บางคนในหมู่พวกเรากลายเป็นอาชญากรและบ้างก็กลายเป็นเหยื่อ. ความแตกต่างระหว่างอาชญากรกับตัวผมไม่ได้วางรากอยู่ในความไร้เดียงสาหรือความดีของผม. มันเป็นทัศนะของผมที่ว่าผมเป็นคนๆหนึ่งซึ่งสามารถสร้างระบบต่างๆของสังคมขึ้นมา ซึ่งมันใช้การได้สำหรับผม. เพราะผมเป็นคนที่ถูกรัก และโดยทั่วไปได้รับการสนับสนุนในโครงการต่างๆส่วนตัว ผมมีความกล้าที่จะพยายาม และทำมันให้บรรลุผลสำเร็จ

ผมได้พูดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผมคิดว่าตัวเองสามารถยืนหยัดโต้กับผู้พิพากษาจนถึงที่สุดได้ ซึ่งท่านได้พูดคำว่า"ไม่"กับผม แม้ว่าผมอาจไม่ชนะ. จริงๆแล้ว สิ่งที่แยกตัวผมจากคนเหล่านั้นที่ถูกกล่าวร้ายโดยความเป็นอาชญากรคือว่า ผมเชื่อว่าผมสามารถชนะได้

โศกนาฏกรรมของความอยุติธรรม คือ คนเหล่านั้นผู้ซึ่งส่วนใหญ่ถูกตะครุบตัวได้ง่ายและถูกตรึงไว้ให้อยู่ในระบบที่ไม่ยุติธรรม คือคนเหล่านั้นที่ได้ถูกชักชวนโดยชีวิตซึ่งไม่มีเป้าหมายในการพยายามที่จะสร้างโลกทางสังคม และโต้ตอบกับมันด้วยการยอมรับความเมตตากรุณา. นั่นคือความวิปริตผิดปกติของความอยุติธรรมที่จะต้องไม่ปล่อยให้มันเป็นไป. ความหวังจะต้องเฟื่องฟูในห้วงหัวใจของความยุติธรรม…

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 285 เรื่อง ฐานคิดความยุติธรรมตะวันตก(กรีก-คริสเตียน) จากงานต้นฉบับเรื่อง Perspective on Justice โดย Dr. Joyce E. Bellous / สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง - บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ (กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร) หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงจะแก้ปัญหาได้ - 080746
อริสโตเติลเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีในความสัมพันธ์กันระหว่างผลประโยชน์ของคนกับของรัฐ และทำให้ทั้งคนและรัฐมีความสุข แต่ความเป็นอยู่ที่ดี ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของรัฐ แน่นอน มันสิ่งที่มีความสำคัญเหนือกว่าปัจเจกชนคนใดโดยเฉพาะ. แง่คิดหรือทัศนะอันนี้เท่ากับเป็นการให้การสนับสนุนแนวคิดเรื่องประโยชน์นิยมในฐานะที่เป็นความยุติธรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของสังคมตะวันตกนับจากคริสตศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งถึงช่วงกลางของคริสตศตวรรษที่ 20 ต่อทัศนะอันนี้ สรุปสั้นๆก็คือ สิ่งซึ่งเป็นความดีหมายถึงมันดีสำหรับคนจำนวนมากที่สุดซึ่งก็คือความยุติธรรม
เราอาจพูดกับอริสโตเติล และผู้พิพากษาคนนี้ว่า นั่นมันคือทั้งหมดที่ดีมากต่อเพื่อนร่วมงานของคุณที่มีความยุติธรรม ซึ่งได้กำหนดนิยามเรียบร้อยแล้วระหว่างพวกของคุณเอง

แต่อะไรล่ะที่เกี่ยวกับผู้คนเหล่านั้นซึ่งไม่ได้มีงานการที่เหมาะสมทำ เนื่องมาจากความยากจน, สีผิว, การตกเป็นเหยื่อ, การถูกจำคุก, เพศ, ศาสนาหรือวัฒนธรรม? อะไรล่ะที่เกี่ยวกับคนเหล่านั้นซึ่ง ความดีของพวกเขาไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือวัดได้ว่า พวกเขาได้กระทำงานที่เหมาะสมของพวกเขาแล้วอย่างไร เพราะพวกเขาไม่มีงานทำ ? อะไรเล่าที่เกี่ยวกับคนเหล่านั้น ซึ่งสังคมที่เขาอาศัยอยู่ชักจูงให้เชื่อว่า พวกเขาไม่สมควรได้รับอะไรเลย เพราะพวกเขาเกิดมาเลว พวกเขาคือผู้แพ้หรือผู้ต้องสูญเสีย
(ตัดมาบางส่วนจากบทความ เรื่อง "ฐานคิดความยุติธรรมตะวันตก)
สิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับระบบของคุกโดยเฉพาะก็คือ มันไม่มีการปกป้องคุณค่าความสำคัญของคนคุก. ดังนั้น บรรดาคนคุกทั้งหลายจึงไร้อำนาจ. การไปคุกก็คือการสูญเสียความเป็นมนุษย์ของคน และกลายเป็นหัวข้อหรือประเด็นที่มีการกล่าวร้ายอย่างไม่อาจจินตนาการได้จากภายนอก. การตกเป็นเหยื่อก็คือการสูญเสียพลังส่วนบุคคล

ความยุติธรรมไม่สามารถถูกทำให้บรรลุผลได้โดยผ่านกระบวนการที่รอนสิทธิ์หรือการถอดถอนความเป็นมนุษย์(dehumanized people)อันนั้น. บรรดาคนที่ทำงานในฐานะตัวแทนของบรรดาเหยื่อและพวกคนคุกทั้งหลาย ซึ่งขอเน้นในที่นี้ ต่างรู้ว่า"ความยุติธรรม"ไม่ได้ถูกนำมาใช้ โดยระบบที่มีการจัดลำดับคุณค่าของคนต่างๆไปตามแนวทางเกี่ยวกับลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคม ซึ่งได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อเงื่อนไขทางสังคมของพวกเขา
ทัศนียภาพและการสำรวจเรื่องความยุติธรรม Perspective on Justice โดย Dr. Joyce E. Bellous - ต้นฉบับ http://www.mcmaster.ca/mjtm/1-7.htm