HOME

คำชี้แจงของบรรณาธิการ

เมื่อหลายเดือนมาแล้ว คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา (Center of Southeast Asian Studies) และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin, Madison) ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ "พรมแดนความรู้ มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ความทรงจำ พื้นที่สาธารณะ ศิลปะ คติชน และการเขียนงานชาติพันธุ์" ระหว่างวันที่ 23 -25 กรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เคยขอต้นฉบับเรื่องดังกล่าว เพื่อเผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้ และได้รับความอนุเคราะห์จากท่าน อาจารย์ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล จึงขอขอบพระคุณอย่างสูง มา ณ ที่นี้

 

 

backward

ข่าวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบียนในนามิเบียที่อาจารย์แคทยกมา เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คำถามว่าหากเป็นเกย์แล้วคุณมีสิทธิที่จะประกันสุขภาพหรือไม่ ตลอดจนสิทธิที่จะขอหย่าของหญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย ภาระในการดูแลผู้ป่วยในครอบครัว ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามง่ายๆที่แสดงให้เราเห็นว่ารัฐสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร

และอาจนำไปสู่การตอบคำถามที่น่าสนใจยิ่งขึ้นอย่างในงานศึกษาอิทธิพลของรัฐนาซีต่อผู้หญิง โดยจีเซลลา บ็อค (Gisela Bock)
ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการที่รัฐนาซีควบคุมคนยากจนไม่ให้มีลูก โดยการทำแท้ง หรือบังคับให้ผู้หญิงเหล่านั้นทำหมัน ขณะที่ออกนโยบายให้หญิงในชนชั้นสูงมีเวลาว่าง เพื่อจะเพิ่มจำนวนประชากรให้กับรัฐ

060145
ภาพประกอบ เขียนโดย Christian Schad ชื่อภาพ Self-portrait with Model เทคนิคสีน้ำมันบนไม้กระดาน เขียนขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1927 / ต้นฉบับจากหนังสือ The 20th Century Art Book หน้า 409
หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา
จะแก้ปัญหาได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

ตอนที่หนึ่งประกอบด้วย (1) มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ (2) ปริมณฑลสาธารณะ (3) มานุษยวิทยากับโลกศิลปะ

พรมแดนความรู้ มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ความทรงจำ
พื้นที่สาธารณะ ศิลปะ คติชน และการเขียนงานชาติพันธุ์

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา (Center of Southeast Asian Studies) และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin, Madison) ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ "พรมแดนความรู้ มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ความทรงจำ พื้นที่สาธารณะ ศิลปะ คติชน และการเขียนงานชาติพันธุ์" ระหว่างวันที่ 23 -25 กรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา

ตลอดช่วงเวลา 3 วันของการสัมมนา ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการจากวิสคอนซิน และธรรมศาสตร์ รวมทั้งนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาจากสถาบันอื่น ในประเด็นทางมานุษยวิทยาที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบัน และเป็นประเด็นที่อาจารย์จากวิสคอนซินมีความเชี่ยวชาญ 5 ประเด็น ได้แก่ (1) มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ (2) ปริมณฑลสาธารณะ (3) มานุษยวิทยากับโลกศิลปะ (4) ความทรงจำกับสำนึกทางการเมือง และ (5) การเขียนงานชาติพันธุ์และการสร้างภาพแทนในงานมานุษยวิทยา

การบรรยายทางวิชาการในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นทางด้านวิชาการ เรียนรู้ประเด็นความสนใจ และแนวทางการวิจัยใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย ไม่เฉพาะในสาขามานุษยวิทยา

วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาฉบับนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมสัมมนาบางท่าน สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย 5 หัวข้อไว้ตามลำดับการบรรยาย พร้อมรายละเอียดของเอกสารสำหรับอ่านประกอบหัวข้อสัมมนาทั้งหก ดังนำเสนอในส่วนต่อไปนี้
หมายเหต : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมอบต้นฉบับนี้จากท่านอาจารย์ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2545 มาเพื่อเผยแพร่แก่นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านฝ่านระบบเครือข่าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและความรู้สำหรับที่กว้างขวางออกไป และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้

เรื่องที่ 4. ความทรงจำกับสำนึกทางการเมือง
Memory and Political Consciousness
โดย ดร.แคทเธอรีน บาววี
สรุปโดย ดร.นลินี ตันธุวนิตย์

ชื่อของ แคทเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie) เป็นที่คุ้นเคยของนักวิชาการไทยและผู้ที่สนใจเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย อาจารย์แคทมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ในช่วงที่มีเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังคงกลับมาเยี่ยมเยียนชาวบ้านและผู้คุ้นเคยอีกหลายครั้ง ประเด็นที่อาจารย์สนใจคือเรื่อง ชีวิต การต่อสู้ทางการเมือง และ ความคิดทางการเมืองของชาวนา ระหว่างปี พ.ศ.2527 - 2529 อาจารย์ศึกษาภาคสนามสำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่หมู่บ้านหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สาขามานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน

อาจารย์แคทมาเป็นผู้บรรยายนำในหัวข้อ "ความทรงจำและสำนึกทางการเมือง" บทความที่อาจารย์แนะนำให้อ่านมี 8 บทความรวมแล้วมีความยาวเกือบ 100 หน้า อาจารย์ใช้เวลาช่วงแรกสรุปสาระสำคัญของแต่ละบทความ และต่อด้วยการเสนอบทความที่อาจารย์เขียนจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ในช่วงท้ายมีการซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

บทความแรกที่อาจารย์กล่าวถึงคือบทความเรื่อง "The Reconstruction of the Past" เขียนโดย มอรีส ฮาล์บวาคซ (Maurice Halbwachs) ผู้เขียนเสนอว่าเราสร้างอดีตขึ้นจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราแต่งแต้มเรื่องราวของชีวิตผู้คน ด้วยการเติม ตัดต่อ และย่อส่วน ในชีวิตที่ยุ่งเหยิงเรามักหนีไปที่ "อดีตที่สวยงาม" (romantic nostalgic past) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้ ผู้เขียนใช้ท่วงทำนองของสายโครงสร้างนิยม (Functionalism) ในแบบของเดอร์ไคม์ (Durkheim) อธิบายว่า หน้าที่ของความทรงจำคือทำให้เราสามารถอยู่ในปัจจุบันที่เป็นทุกข์ได้

ในขณะที่บทความนี้พูดถึงการสร้างความทรงจำเพื่อหนีออกจากปัจจุบัน และในบางสถานการณ์เพื่อเผชิญหน้ากับปัจจุบัน บทความที่ 2 พูดถึงความทรงจำเฉพาะที่มีหน้าที่ในการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะ แจ็ค คูเกลมาส (Jack Kugelmass) ในบทความเรื่อง "Missions to the Past: Poland in contemporary trauma and memory" กล่าวถึงการสร้างความทรงจำเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวยิว สถานการณ์ที่ยกมาเป็นรูปธรรมในการอภิปรายประเด็นนี้คือ การ "ท่องเที่ยว" ของชาวยิวหลายหมื่นคนที่อยู่ในประเทศสหรัฐไปยังประเทศโปแลนด์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของค่ายกักกันชาวยิว

ในช่วงหลังสงครามใหม่ๆไม่มีใครอยากพูดถึง "สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว" (holocaust) แต่เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้ชาวยิวเริ่มสนใจที่จะพูดถึงอดีต ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการคือ

1) ยิวไม่ได้ถูกกีดกันอีกต่อไป
2) ชาวยิวมี "ความรู้สึกผิดที่มีชีวิตรอด" (survival guilt) ในขณะที่คนที่ดีกว่า เก่งกว่าได้ตายไปแล้ว และ
3) ในปัจจุบันชาวยิวถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำร้ายชาวอาหรับ จึงต้องการแสดงให้เห็นว่ายิวก็เป็นผู้ถูกกระทำ-เป็นเหยื่อด้วย

ชาวยิวในสหรัฐเดินทางไปประเทศโปแลนด์เพื่อจะไปดูค่ายกักกัน ภายในค่ายกักกันมีการตั้งแสดงสิ่งของหลายอย่างและหนึ่งในจำนวนนั้นคือ กองรองเท้าของผู้คนที่ถูกฆ่าตาย ผู้ที่ไปดูได้เห็นกองรองเท้าแล้วคิดว่าถ้าเขาเกิดในยุคนั้นรองเท้าของเขาก็จะอยู่ในกองนั้นเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความจำบนเวทีที่ว่างเปล่า จากนั้นกลุ่ม "นักท่องเที่ยว" ชาวยิวก็จะเดินทางไปประเทศอิสราเอล และจะรู้สึกว่าถ้าค่ายกักกันเป็นนรก อิสราเอลก็เป็นสวรรค์ และเกิด "ความรู้สึกผิดที่มีชีวิตรอด" และได้มีโอกาสอยู่ในที่ที่สุขสบาย ไม่ต้องทุกข์ทรมานและถูกฆ่าอย่างทารุณ

ชาวยิวในสหรัฐรู้สึกว่า "ความเป็นยิว" หายไป เขาอยากพาลูกหลานไปที่โปแลนด์เพื่อส่งต่อความรู้ของเขาไปยังลูกหลาน ไปสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับชาวยิวที่โปแลนด์ ไปตามหาญาติ สร้างชาติพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (symbolic ethnicity)

บทที่ว่าด้วย Class and Group Memories in Western Societies จากหนังสือ Social Memory โดย เจมส์ เฟรนเทรส (James Fentress) และคริส วิคแมน (Chris Wickman) เสนอว่าเหตุการณ์ต่างๆจะเป็นที่จดจำได้ง่ายหากมันเข้ากันได้กับเหตุการณ์ปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่ ความทรงจำทางสังคมดำรงอยู่เนื่องจากมันมีความหมายต่อกลุ่มที่มีความทรงจำนั้น นักประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า (oral historians) จะเน้นศึกษาสมาชิกของสังคมที่มีอายุมากเพราะเชื่อว่าความทรงจำของพวกเขาสามารถย้อนกลับไปได้ยาวไกลกว่า ในขณะที่คนหนุ่มสาวนั้นนอกจากจะมีความทรงจำที่สั้นกว่าแล้ว ความทรงจำของพวกเขายังถูกทำลายด้วยอิทธิพลจากภายนอก ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์

เฟนเทรสและวิคแมน อภิปรายถึงความหลากหลายของความทรงจำในกลุ่มคนต่างชนชั้น และต่างเพศ โดยยกตัวอย่างคน 4 กลุ่ม ได้แก่

1) ชาวนา เป็นกลุ่มที่มีความทรงจำที่แน่นที่สุดเพราะมีการบอกต่อกันมาเป็นทอดๆ ผู้เขียนเล่าประสบการณ์การสัมภาษณ์ชาวนาอิตาเลี่ยนถึงเรื่องราวในอดีตว่า ชาวนาไม่ได้พูดถึงสงครามโลกครั้งใหญ่ ไม่ได้เล่าถึง "บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ (great men)" แต่พูดถึงคนที่คล้ายๆโรบินฮู้ด ซึ่งเป็นคนธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อช่วยเหลือคนธรรมดา และเล่าเรื่องความไม่พอใจที่พวกเขามีต่อชนชั้นนำ เรื่องเล่าบางเรื่องของชาวนามีรายละเอียด มีความชัดเจนมาก แต่เรื่องเล่านั้นอาจเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ สำหรับชาวนาแล้วความเป็นจริงของเรื่องเล่าไม่ได้มีความสำคัญ สิ่งที่ชาวนากำลังทำคือการสร้างความทรงจำจากในมาสู่นอก (outwarding) จากปัจเจกมาสู่ครอบครัว และจากครอบครัวมาสู่ชุมชน

ผู้เขียนบทความเสนอว่าชาวนาไม่ได้มีความทรงจำแบบเส้นตรง (linear) อย่างที่นักวิชาการมักจะมองว่าทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มต้น มีลำดับของเหตุการณ์ มีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง แต่ชาวนามีความทรงจำแบบวัฏจักร (cyclic) ชาวนาจะจำได้ว่ามีการทำนา มีพิธีกรรม มีการเฉลิมฉลองในวันสำคัญ เป็นวงจรชีวิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

2) กรรมกร มีความทรงจำที่ต่างกัน ช่างฝีมือจะเล่าเรื่องงานของเขาด้วยความภาคภูมิใจ กรรมกรเหมืองแร่จะเล่าเรื่องการต่อสู้ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานและการประท้วงต่างๆ

3) ชนชั้นกลาง เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายสูงมาก ชาวออสเตรเลียจะเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าพ่อ-แม่ของเขาติดคุกและถูกส่งมาอยู่ที่ประเทศนี้ ในขณะที่คนอเมริกันจะเล่าในสิ่งที่ตรงกันข้ามว่าบรรพบุรุษของเขาเป็นคนรักเสรีภาพและใฝ่หาอิสระจึงเลือกที่จะมาอยู่ที่ประเทศนี้ และ

4) ผู้หญิงจะเล่าเรื่องในอดีตต่างจากผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายเล่าเรื่องงาน ผู้หญิงจะเล่าเรื่องที่บ้าน และมักเป็นเรื่องเล่าที่มีขอบเขตไม่กว้างเท่าผู้ชายเนื่องจากผู้หญิงไม่มีโอกาสอยู่กับผู้หญิงอื่นเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันมากเท่าผู้ชาย

บทความที่กล่าวมาทั้ง 3 บทความกล่าวถึงความหลากหลายของความทรงจำที่ล้วนทำหน้าที่ในการเยียวยาความเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้กล่าวถึงการใช้ความทรงจำเพื่อกระตุ้นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมปัจจุบัน เช่นที่ กลีนิส จอร์จ (Glynis George) นำเสนอในบทความเรื่อง "Women's Life Stories and Narratives of Abuse"

กลีนิส จอร์จ เสนอเรื่องเล่าของ แมรี่ อายุ 42 ปี อยู่ในชุมชนชาวประมงเล็กๆชื่อ ไวท์บรูค แมรี่เล่าว่า เมื่อประมาณ 11 ปีก่อนเธอได้รับทราบจากหมอว่าลูกสาววัย 4 ปีของเธอเป็นหนองใน เธอรู้ได้ในทันที่ว่าลูกสาวถูกล่วงละเมิดทางเพศ และนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผลคือพ่อของเธอถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 เดือนด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเธอเกือบจะต้องสูญเสียลูกสาวไปเนื่องจาก หน่วยงานสังคมสงเคราะห์มีความเห็นว่าเธอไม่มีความสามารถที่จะปกป้องดูแลลูกของเธอได้

แมรี่เล่าเรื่องราวของเธอผ่านทางโทรทัศน์ หลังจากนั้นเธอก็ได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนอย่างมากมายจากผู้คนที่อยู่นอกชุมชน จากการเปิดเผยเรื่องราวในครั้งนั้นแทนที่ผู้คนในชุมชนของเธอจะมองว่าลูกสาวของเธอและตัวเธอเองเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้ กลับกลายเป็นว่าพวกเขาเห็นว่าพ่อของเธอและคนในชุมชนคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ชุมชนกล่าวโทษเธอว่านำเรื่องราวในครอบครัวตัวเองออกไปเปิดเผยต่อสาธารณะ และส่งผลเสียมาถึงชุมชน เธอได้กลายเป็นคนผิดไปเสียแล้ว ในขณะที่พ่อของเธอซึ่งออกมาจากคุกและกลับมาอยู่ในชุมชนกลับได้รับความเห็นใจ และการยอมรับ

แมรี่เล่าว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอย้อนความทรงจำกลับไปเมื่อครั้งที่เธอเป็นเด็ก เธอเองก็ได้รับความอยุติธรรมเช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ มีข้อห้ามมากมายสำหรับเด็กผู้หญิงในขณะที่ข้อห้ามเหล่านั้นไม่เคยบังคับใช้สำหรับเด็กผู้ชายเลย เธอจำได้ว่าเมื่อก่อนเธอได้เห็นถึงพลังอำนาจที่มีอยู่ในชุมชนที่ส่งผ่านมาทางวิถีปฏิบัติ (norms) ของชุมชน แต่มาถึงจุดที่เกิดเหตุการณ์กับลูกสาวของเธอและเธอเองถูกกระทำจากชุมชนเธอจึงตระหนักว่า โครงข่ายอำนาจนั้นกว้างไกลกว่าชุมชนที่เธออยู่มากนัก ทั้งเรื่องศาสนาไปจนถึงเรื่องเพศสภาพ สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเธอ แม่รี่กล่าวว่าแทนที่จะเก็บเรื่องราวต่างๆไว้ในความทรงจำ เธอเลือกที่จะนำความทรงจำนั้นออกมาเปิดเผยและใช้ความทรงจำนั้นวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เราอยู่

บทความต่อไปเป็นบทความที่เสนอให้เห็นว่าความทรงจำถูกแต่งเติมและตัดทอนอย่างไร ในหนังสือเรื่อง Landscape and Memory เขียนโดย ไซมอน ชามา (Simon Schama) บทความนี้มีภาพประกอบหลายภาพ ภาพแรกๆเป็นภาพของหุบเขาโยเซมีติ (Yosemite Valley, 1868) สถานที่ซึ่งรัฐสภาของสหรัฐประกาศเมื่อปี ค.ศ. 1864 ให้เป็นสถานที่สำคัญของประเทศ เป็นภาพของทิวทัศน์ที่สวยงาม มีภูเขาสูง ต้นไม้ และแม่น้ำ ภาพที่เราไม่เห็นคือ ผู้คน ชาวเหมืองแร่ ชาวอเมริกันอินเดียนซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาเป็นเวลายาวนาน

ภาพต่อมาคือคาธีดราล ร็อค (Cathedral Rock) ในโยเซมีติ ซึ่งมีความสูงถึง 2,600 ฟุต และอีกหลายภาพของโยเซมีติ ผู้เขียนกล่าวว่าภาพต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงความทรงจำที่ "ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่มีความรู้สึกเสียใจ จะมีก็แต่เพียงการเฉลิมฉลองเท่านั้น" เป็นการเฉลิมฉลองความงดงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ต้องรักษาไว้ และภาพเหล่านี้เหมือนจะบอกว่าระหว่างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนกับธรรมชาติ เราจะเลือกธรรมชาติไว้และเอาคนออกไป ภาพเหล่านี้สร้างความทรงจำใหม่ให้กับผู้คน ….เป็นความทรงจำที่ไร้ชีวิต

พอล คอนเนอร์ตัน (Paul Connerton) กล่าวในหนังสือชื่อ How Societies Remember ว่าเรามักจะคุ้นเคยกับการรักษา หรือทำลายเรื่องราวในอดีตด้วยคำพูด การเล่าเรื่อง การเขียน และด้วยภาพต่างๆ แต่การรักษาเรื่องราวในอดีตก็ไม่ได้มีวิธีการเพียงเท่านั้น ยังมีปฏิบัติการอีกหลายอย่างที่เราใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ปฏิบัติการที่ผ่านร่างกาย" (bodily practices) เช่น การนั่ง ยืน เดิน การยิ้ม การแนะนำตัว ปฏิบัติการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ต่อหน้าคนอื่นในสถานการณ์เฉพาะ เราแสดงกริยา-ท่าทางต่างๆราวกับว่ามันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เรารู้ว่าในสถานการณ์ของการเฉลิมฉลองเราควรทำตัวอย่างไร ในชีวิตประจำวันเราควรทำตัวอย่างไร ผู้หญิงต้องทำอย่างไร ผู้ชายต้องทำอย่างไร การฝึกร่างกายของสมาชิกในชุมชนหนึ่งๆนั้นป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกรู้ว่าตัวเองมีตำแหน่งแห่งที่ในชุมชนอย่างไร สูงแค่ไหน ต่ำแค่ไหน และเท่ากันกับใคร ความทรงจำทางวัฒนธรรมเหล่านี้ถูกสร้างและส่งต่อผ่านไปยังคนต่างรุ่นอายุและผ่านโครงข่ายของอำนาจ

จากเรื่องของความทรงจำที่แสดงตัวผ่านเรื่องเล่า ผ่านภาพปรากฏ และผ่านร่างกาย มาถึงคำถามที่ว่า ความทรงจำ ความจริง ประวัติศาสตร์ และ นิยาย ต่างกันหรือไม่

มิเชล - โรล์ฟ ทรุยโยต์ (Michel - Rolph Truillot) กล่าวในหนังสือ Silencing the Past: Power and the Production of History ว่า คนอยู่ในประวัติศาสตร์ทั้งในแง่เป็นผู้แสดงและเป็นผู้เล่าเรื่อง ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (what happened) และเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์นั้น (what is said to be happened)

Positivist มักจะพยายามแยก 2 ส่วนนี้ออกจากกันและมองว่าบทบาทของนักประวัติศาสตร์คือการเปิดเผยอดีต ค้นหาความจริง

ส่วน Constructivist จะเชื่อในความเชื่อมโยงของ ๒ ส่วน และเชื่อว่าทั้ง 2 ส่วนมีความคลุมเครือพอๆกัน นอกจากนี้ยังโต้แย้ง Positivist ว่า การกล่าวว่าเราสามารถแยกประวัติศาสตร์ออกจากเรื่องเล่าได้นั้นแสดงให้เห็นถึงการมองไม่เห็นว่าเรื่องทั้ง 2 นี้มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในความเป็นจริงประวัติศาสตร์ก็คือการเล่าเรื่องอำนาจของผู้ที่ชนะ ส่วนข้อถกเถียงที่ว่าประวัติศาสตร์เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของนิยายนั้นเป็นข้อถกเถียงที่เก่าแก่พอๆกับประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

บทความสุดท้ายคือบทความของอาจารย์แคทเอง เรื่อง "Unraveling the Myth of the Subsistence Economy: textile production in nineteenth - century northern Thailand" อาจารย์แคทเสนอว่า ในภาพอุดมคติของสังคมและชีวิตที่ดีคือ เป็นอิสระและมีความสุข ส่วนภาพในอุมดคติของสังคมชาวนาไทยคือ ถึงจะไม่เป็นอิสระเสียทีเดียว แต่ก็มีความสุข บทความของอาจารย์ชี้ให้เห็นภาพที่แตกต่างไปว่า ชาวนาไทยนั้นทั้งไม่เป็นอิสระและไม่มีความสุข เรื่องราวชีวิตในอดีตของชาวนาสะท้อนออกมาจากเรื่องเล่าของเขา

บทความเริ่มจากข้อโต้แย้งที่ว่า ความเชื่อเรื่องอดีตของสังคมชาวนาว่าเป็นสังคมที่มีเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ มีความเป็นเอกภาพ มีความเท่าเทียม ไม่มีการค้า และไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั้นเป็นเพียงมายาคติ ในความเป็นจริงในศตวรรษที่ 19 สังคมชาวนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาในภาคเหนือที่ผลิตผ้าทอ เป็นสังคมที่มีลักษณะดังนี้คือ 1) มีการแบ่งงาน 2) มีการแบ่งแยกทางชนชั้น 3) มีความยากจน 4) มีการค้าขาย และ 5) มีการเปลี่ยนแปลงทางการผลิตและการบริโภค

ในกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุเกิน 80 ปีจำนวน 500 คน จาก 400 หมู่บ้านที่อาจารย์แคทไปสัมภาษณ์ ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่พูดว่าเจ้าดี ทุกคนล้วนเล่าเรื่องความเลวร้ายของเจ้า เช่น เจ้าจะมาเอาผู้หญิง เจ้าทำร้ายคน บางเรื่องเล่าโดยมีคนที่อ้างอิงได้ มีเรื่องที่เล่าซ้ำๆและเรื่องเล่าที่คิดว่าไม่เป็นความจริง (เช่น เรื่องกระบวยตักน้ำ) แต่การเล่าเป็นการสะท้อนความคิดของชาวบ้านที่มีต่อเจ้า สิ่งที่ทุกคนพูดถึงคือเรื่องของชีวิตที่ยากลำบาก และพูดถึงความยากจนขัดสน

อาจารย์แคทพูดทิ้งท้ายก่อนเปิดให้มีการอภิปรายว่า "ถ้าพูดตามแบบของ positivist ดิฉันเสนอว่าภาระกิจของเราคือการเปิดเผยอดีตและค้นหาความจริง"

อาจารย์เคน จอร์จ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความทรงจำซึ่งงานชาติพันธุ์สนใจคือ ผู้คนจำเรื่องราวต่างๆได้อย่างไร คนเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้กับลูกหลานของเขาฟังอย่างไร บทบาทของความทรงจำที่มีต่อปัจจุบันและอนาคตคืออะไร งานของอาจารย์แคทเป็นความพยายามที่จะตอบคำถามเหล่านี้ อาจารย์ปราณี วงษ์เทศ เสนอว่าแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้าน นอกจากเรื่องเล่าแล้วยังมี นิทาน เพลง ที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายคนได้ร่วมกันหยิบยกรูปธรรมของการสร้างความทรงจำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยร่วมสมัย รูปธรรมที่มีผู้พูดถึงมากที่สุดคือภาพยนตร์ไทยที่เป็นที่ฮือฮาในช่วงนั้น 2 เรื่องคือ บางระจัน และ สุริโยทัย (ในช่วงนั้นภาพยนตร์เรื่อง "14 ตุลา สงครามประชาชน" ยังไม่ออกฉาย) ว่าทั้ง 2 เรื่องนี้สะท้อนความพยายามที่จะเขียนอดีตขึ้นใหม่เพื่อรับใช้ปัจจุบัน การอนุรักษ์บางส่วนของกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ไร้ผู้คน เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งของความพยายามในการสร้างมายาภาพเกี่ยวกับเมืองเพื่อประโยชน์ในการหารายได้จากการท่องเที่ยว

ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็น แต่เราได้ใช้เวลาเกินกำหนดการไปกว่าครึ่งชั่วโมงแล้ว การสัมมนาในหัวข้อ "ความทรงจำและสำนึกทางการเมือง" จึงยุติลงเพียงเท่านี้

 

เรื่องที่ 5. การเขียนงานชาติพันธุ์ และการสร้างภาพแทนในมานุษยวิทยา
Ethnographic Writing and the Problems of Representation in anthropology
โดย ดร.คิริน นารยัน (Dr.Kirin Narayan)
สรุปโดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล

อาจารย์คิรินเป็นนักมานุษยวิทยาที่มีความชำนาญในเรื่องอินเดีย ถิ่นกำเนิดของเธอ และศึกษาการใช้นิทานและเรื่องเล่าของนักบวชชาวอินเดียในการสื่อปรัชญาศาสนา นอกจากนั้นเธอยังเป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนนวนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์มาแล้ว ปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง คติชน เรื่องเล่า และภูมิภาคเอเซียใต้

การบรรยายของอาจารย์คิรินประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกสำรวจถึงพัฒนาการของงานเขียนประเภท ethnography การวิพากษ์งานเขียนชนิดนี้ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และนำไปสู่การทดลองเขียนแนวใหม่แบบต่างๆในปัจจุบัน และในส่วนที่สอง เป็นการตอบคำถามว่า งาน ethnography กับนิยายนั้น ต่างกันตรงไหน

พัฒนาการของ ethnography
นักมานุษยวิทยาทุกคนที่รับผิดชอบ ย่อมใฝ่ฝันที่จะผลิตงาน ethnography หรืองานเขียนทางชาติพันธุ์ งานชนิดนี้เป็นการเขียนถึงวัฒนธรรม มักจะเป็นการบรรยาย และมักจะมีนัยว่าแตกต่างจากงานทางทฤษฎี ซึ่งมักจะมีความคิดหรือคำอธิบายที่เป็นนามธรรม การแบ่งแยกงานเขียนชาติพันธุ์กับงานเขียนเชิงทฤษฎี บางทีก็มีสำนวนเปรียบเทียบว่า ทั้งสองอย่างนี้เป็นพี่น้องกัน แต่งานเขียนชาติพันธุ์ออกจะขี้เหร่และทึ่มกว่า ส่วนงานทฤษฎีนั้นจะเก๋ไก๋และปราดเปรื่องกว่า แต่ว่าการแบ่งแยกนี้ก็คงจะทำไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะงานเขียนทางชาติพันธุ์ก็มักจะมีกรอบความคิดทฤษฎีอยู่ไม่มากก็น้อย ส่วนงานทางทฤษฎีก็จำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลที่เป็นรูปธรรมจากงานเขียนทางชาติพันธุ์อยู่อย่างแน่นอน

งานเขียนชาติพันธุ์เติบโตขึ้นมาในวิชามานุษยวิทยา ในยุคศตวรรษที่ 19 อันเป็นสุดยอดของยุคอาณานิคม มานุษยวิทยามีความเกี่ยวโยงอยู่กับวิชา folklore หรือคติชนวิทยาอยู่ แต่ก็จะแบ่งงานกัน โดยที่มานุษยวิทยาศึกษาสังคมประเภทป่าเถื่อน (มีขนาดเล็ก, ไม่นับถือศาสนาคริสต์, อยู่ชายขอบ ฯลฯ) ในขณะที่คติชนวิทยาศึกษาสังคมประเภทล้าหลัง (ชาวไร่ชาวนา ชาวบ้าน) ในขณะที่คนที่สร้างทฤษฎี จะมาจากสังคมที่เจริญแล้ว การแบ่งสังคมเป็นลำดับขั้นเช่นนี้ ก็เป็นการจัดตามแนวความคิดวิวัฒนาการที่มีอิทธิพลสูงมากอยู่ในขณะนั้น

นอกจากนั้นมานุษยวิทยากับคติชนวิทยาก็ยังมีจุดเน้นที่ต่างกันในอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาคนอื่น และค่อนข้างจะอิงอยู่กับอุดมการณ์อาณานิคม คติชนวิทยา มักจะเป็นการศึกษาตัวเอง ค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตนเอง และอิงอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยม

ในศตวรรษที่ 19 คนที่สร้างทฤษฎี กับคนที่เขียนงานชาติพันธุ์นั้น มักจะไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน คนที่สร้างทฤษฎีไม่ใช่คนที่ทำงานสนาม ส่วนคนที่คลุกคลีอยู่กับพื้นที่ และป้อนข้อมูลในนักทฤษฎีนั้น มักจะเป็นมิชชันนารี เจ้าหน้าที่อาณานิคม เป็นต้น สองกลุ่มนี้มีวิธีการและสไตล์การเขียนที่ต่างกัน นักทฤษฎีจะเขียนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มองอย่างเป็นภววิสัย ไม่ใส่อารมณ์ ส่วนงานชาติพันธุ์ จะมีสีสัน มีชีวิตชีวา มีอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

ในศตวรรษที่ 20 นักทฤษฎี กับคนที่ทำงานสนาม กลายมาเป็นคนเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดมาจากแนวความคิดของนักมานุษยวิทยายุคนั้นหลายคน เช่น โบแอส (Franz Boas), ริเวอร์ (Rivers), แฮดดอน (Haddon) และที่สำคัญคือ มาลินอฟสกี้ (Malinowski) ผู้ที่เรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาทำงานภาคสนาม นับแต่นั้นมา การทำงานสนามก็กลายเป็นบรรทัดฐานของนักมานุษยวิทยา และทำให้งานทฤษฎีและงานชาติพันธุ์มารวมเป็นสิ่งเดียวกัน

งานชาติพันธุ์กลุ่มที่เรียกว่า classic ethnography เป็นงานที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 มักเป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาสกุลอังกฤษที่ทำงานภายใต้กรอบความคิดโครงสร้างหน้าที่ ลักษณะของงานกลุ่มนี้ อาจจะพอสรุปได้ว่า มักจะเสนอภาพกลุ่มชนพื้นเมืองอย่างกว้างๆทั่วๆไป เช่นกล่าวถึงชาวนัวร์ ชาวทิโคเปีย ฯลฯ กลุ่มคนพื้นเมืองที่ศึกษาถูกมองว่า เป็นกลุ่มเป็นก้อนที่มีขอบเขตแน่นอน มีชีวิตวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยเปลี่ยนและไม่มีประวัติศาสตร์ พยายามศึกษาอย่างเป็นองค์รวม และมีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ

เหตุใดเราจึงเขียนในแบบที่เราเขียน?
มาถึงทศวรรษที่ 1970 เหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้น และนำไปสู่การวิพากษ์งานเขียนชาติพันธุ์อย่างรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้ได้แก่

(1) การเป็นอิสระจากระบบอาณานิคมของดินแดนในส่วนต่างๆของโลก การขยายตัวของนักมานุษยวิทยาท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม คนเหล่านี้ตั้งคำถามว่างานที่คนอื่นเขียนถึงเขานั้น ตรงกับความเป็นจริงขนาดไหน ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่านักมานุษยวิทยาฝรั่งนั้น แท้ที่จริงไม่ได้เข้าใจสังคมที่ตนศึกษาอย่างลึกซึ้งมาก

(2) ขบวนการทางการเมืองต่างๆ เช่นขบวนการสิทธิมนุษยชน สิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิพลเมือง ตลอดจนขบวนการนักศึกษาที่รวมตัวกันประท้วงต่อต้านระบบอำนาจ ได้ส่งผลให้มีการตั้งคำถามว่า งานเขียนทางชาติพันธุ์นั้น มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การวิพากษ์บทบาทของนักมานุษยวิทยา ที่รับใช้ส่งเสริมหรือสนับสนุน ระบบอาณานิคม หรือระบบจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

(3) ขบวนการสตรีที่แพร่หลายในช่วงเดียวกัน ก็ได้ตั้งคำถามขึ้นมาในอีกมุมหนึ่งว่า งานเขียนทางชาติพันธุ์นั้น ทำไมส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่เขียนโดยผู้ชายและเขียนถึงผู้ชายเป็นหลัก ผู้หญิงหายไปไหนในงานเหล่านี้

ตัวอย่างของงานเชิงวิพากษ์ในยุคทศวรรษ 1970 ได้แก่ งานของทาลาล อาซาด (Talal Asad) ในหนังสือ Anthropology and Colonial Encounter หรืองานของมิเชล โรซัลโด (Michelle Rosaldo) เรื่อง Women, Culture and Society เป็นต้น

ส่วนในยุค 1980 งานวิพากษ์การเขียนงานชาติพันธุ์ที่โด่งดังมาก ได้แก่ หนังสือ Writing Culture: the poetics and politics of ethnography, Anthropology as a Cultural Critique, หรือ งานของ คลิฟฟอร์ด เกิร์ซ (Clifford Geertz) เรื่อง Works and Lives

การเขียนงานชาติพันธุ์ในแนวทดลอง
อาจารย์คิรินเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียที่เบิร์คลีย์ ในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการวิพากษ์งานชาติพันธุ์กำลังร้อนระอุ เธอตั้งข้อสังเกตว่า มีนักมานุษยวิทยาผู้หญิงบางคน ที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการวิชาการ แต่เขียนนวนิยายและกลับเป็นที่รู้จักในวงวรรณกรรม เช่น เอลซี คลูส์ พาร์ซัน (Elsie Clews Parson) ซึ่งมีบทบาททำให้คนอ่านงานมานุษยวิทยากว้างขวางขึ้น

อาจารย์คิรินได้สรุปแนวการเขียนงานชาติพันธุ์แนวใหม่ๆที่เกิดขึ้นภายหลังกระแสการวิพากษ์ ซึ่งเป็นการทดลองใช้มิติและวิธีใหม่ๆ ในการถ่ายทอดประสบการณ์สนาม เพื่อปิดช่องว่างในงานชาติพันธุ์แบบคลาสสิค งานเหล่านี้อาจจะพอจัดเป็นกลุ่มกว้างๆได้ 6 กลุ่ม แต่ว่าก็มีความคาบเกี่ยวกันอย่างมากระหว่างกลุ่มต่างๆ

- reflexive ethnography งานชาติพันธุ์แนวมองย้อนดูตัวเอง แนวทางนี้เป็นการเขียนโดยมีการเล่าถึงตัวผู้เขียนด้วย การเล่าถึงตัวเองนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการบอกตำแหน่งแห่งที่ของผู้เขียนอย่างเปิดเผย ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นว่า ผู้เขียนมีความสัมพันธ์อย่างไรกับสิ่งที่ศึกษา หรือมีภูมิหลังอย่างไร นอกจากนั้นก็ยังทำให้ผู้เขียนได้ทบทวนพินิจพิจารณาตนเองด้วย งานแนวนี้ มักจะถูกวิจารณ์ว่า เป็นการหาโอกาสเล่าถึงตัวเอง และมักจะทำให้ตัวเองเป็นพระเอกมากเกินไป อาจารย์คิรินมีความเห็นว่า การเล่าถึงตัวเองควรจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา หรือที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจเรื่องที่ศึกษา ตัวอย่างเช่น งานของซาราห์ คัลด์เวลล์ (Sarah Caldwell)

- narrative ethnography งานชาติพันธุ์แนวเล่านิทาน แนวนี้เป็นการใช้พล็อตเหมือนนิทาน เป็นการเล่าเรื่องว่าเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร จบอย่างไร ตัวอย่างเช่น งานของพอล สโตลเลอร์ (Paul Stoller) และบาร์บารา เทดล็อค (Barbara Tedlock)

- feminist ethnography งานชาติพันธุ์แนวสตรีนิยม สนใจเรื่องอุดมการณ์ความเป็นหญิงและชาย ความเป็นธรรมทางสังคม ตัวอย่างเช่น งานของ รูธ เบฮาร์ (Ruth Behar) หรือ มาร์เจอรี วูล์ฟ (Margery Wolf)

- Dialogical ethnography งานชาติพันธุ์แนวบทสนทนา งานในแนวนี้จะเอาบทสนทนา หรือ การแลกเปลี่ยนโต้ตอบระหว่างผู้เขียนและคนอื่น มากล่าวถึงไว้ด้วยโดยตรง แทนที่จะให้อยู่เบื้องหลัง เป็นการเผยให้เห็นวิธีการที่ได้มาซึ่งผลงานในท้ายที่สุด ตัวอย่างเช่นงานของเควิน ดิวเยอร์ (Kevin Dwyer) เรื่อง Moroccan Dialogues: Anthropology in question หรืองานของซิดนีย์ มินซ์ (Sydney Mintz) ที่เกี่ยวกับประวัติชีวิตของคนงานไร่อ้อย

- Collaborative ethnography งานชาติพันธุ์แนวทำร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม การทำแบบนี้อาจจะทำแบบเขียนประวัติชีวิตร่วมกับเจ้าของประวัติ ซึ่งก็อาจจะทำได้ไม่ยากถ้าเป็นเรื่องของคนเดียว แต่ถ้าเป็นเรื่องของหลายคนก็จะยากขึ้น งานแบบนี้มีแนวความคิดที่จะให้เจ้าของวัฒนธรรมกลายเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยในงานเขียน ไม่ใช่เรื่องของผู้เขียนเพียงคนเดียว ตัวอย่างเช่น งานของ ดาฟนี พาทาย (Daphne Patai) และ เชอร์นา ควิก (Sherna Quick) เรื่อง Women's Words: The Feminist Practice of Oral History และงานของแคทเธอรีน บอร์แลนด์ (Katherine Borland)

- Multi-sited ethnography งานชาติพันธุ์แนวหลายสนาม งานในแนวนี้เน้นว่ากลุ่มสังคมไม่มีขอบเขตที่มีพรมแดนชัดเจน เช่นงานของจอร์จ มาร์คัส (Gearge E. Marcus)

พรมแดนระหว่างงานชาติพันธุ์กับนวนิยาย 5
อาจารย์คิรินมีความสนใจเรื่องนี้มาก เนื่องจากเธอเองเขียนนวนิยาย และผู้อ่านมักจะคิดว่านวนิยายเป็นเรื่องราวชีวิตของเธอเอง แต่อาจารย์คิรินย้ำว่านิยายของเธอไม่ใช่อัตชีวประวัติของเธอ อย่างไรก็ดีในวงการมานุษยวิทยา มีงานหลายชิ้นที่มีความก้ำกึ่งระหว่างนวนิยายกับงานชาติพันธุ์ เช่นหนังสือ Return to Laughter ของ ลอรา โบแฮนนอน (Laura Bohannan) แต่เวลาที่ตีพิมพ์นั้นใช้นามปากกา และเน้นว่าเรื่องนี้เป็นนิยาย เพียงแต่เป็นเรื่องที่เกิดในสังคมทิฟ ซึ่งเธอศึกษา นอกจากนั้นก็มีงานของคาร์ลอส คาสตานีดา (Carlos Castaneda) เรื่อง The Teaching of Don Juan ดอน ฮวน เป็นชื่อที่คาสตานีดา ใช้แทนหมอยาชาวอินเดียนคนหนึ่ง แต่ว่ามีความคลุมเคลือว่า ดอนฮวน เป็นบุคคลจริงหรือเป็นตัวละคร

ยิ่งในระยะหลังจากงานวิพากษ์ เช่นหนังสือ Writing Culture: the poetics and politics of ethnography ก็ยิ่งมีการเน้นให้เห็นว่า งานเขียนชาติพันธุ์นั้น มีลักษณะของการ "สร้าง" หรือการ "ประดิษฐ์" เป็นผลงานจากการใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของนักมานุษยวิทยาที่เป็นผู้เขียนอยู่ไม่น้อย จนเหมือนกับว่า ในระดับหนึ่ง งานเขียนทางชาติพันธุ์ก็ไม่มีอะไรต่างจากนิยาย

อาจารย์คิรินมีความเห็นว่า งานชาติพันธุ์กับนิยายนั้นไม่เหมือนกัน น่าจะแยกแยะได้ ถ้ามองจากมุมของผลผลิตคือตัวงานเขียน ความคาบเกี่ยวกับอาจจะมีมากจนยากที่จะเห็นความแตกต่าง แต่หากมองจากมุมของกระบวนการเขียน ก็อาจจะเริ่มแยกแยะได้บ้าง เราสามารถจะคิดถึงพรมแดนได้ แต่พรมแดนนี้มิใช่รั้วรวดหนามที่กันคนเข้าออก หากเป็นบริเวณสีเทาๆที่ไม่มีเส้นกั้นชัดเจน

ประเด็นที่ยกมาข้างล่างนี้ เป็นหลักกว้างๆซึ่งเป็นที่หมายของความแตกต่าง จริงๆก็คาบเกี่ยวกันและบางทีก็มีการพลิกผันเล่นตลกอยู่บ่อยๆ

- การเปิดเผยกระบวนการ (disclosure of process) ในงานเขียนชาติพันธุ์ ผู้เขียนจะพยายามบอกอย่างแจ่มแจ้งว่า ประเด็นที่ศึกษาคืออะไร สิ่งที่ต้องการโต้เถียงหรือเสนอคืออะไร และมักจะทำตั้งแต่บทนำ ส่วนบทที่เหลือก็คือการขยายความด้วยข้อมูลซึ่งจะเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่ตัวข้อมูลนั้นก็มักจะถูกคั่นด้วยการขยายความหรืออภิปรายทางความคิดทฤษฎีประกอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในขณะที่นิยายนั้น มักจะไม่บอกแต่ต้นว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร มักจะเก็บไว้ให้เกิดความตื่นเต้นชวนติดตาม ฉะนั้นในนิยาย กลวิธีที่ทำให้เกิดความเร้าใจ อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้เขียน "ปิด" เอาไว้ มากกว่า สิ่งที่ "เปิด" และในท้ายที่สุดสิ่งที่ปิดไว้นั้นอาจจะไม่มีการเฉลยเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม งานเขียนชาติพันธุ์สมัยใหม่บางชิ้น ก็อาศัยวิธีการเขียนแบบที่ไม่บอกคำตอบไว้แต่แรก และค่อยๆเฉลยออกมาทีละน้อย ตัวอย่างงานเช่นนี้ ได้แก่ The Beautiful and the Dangerous ของ บาร์บารา เทดล็อค หรือ Veiled Sentiment ของ ลีลา อาบู-ลูก็อด

- ลักษณะทั่วไปกับลักษณะเฉพาะ (generalization and particularity) ทั้งงานชาติพันธุ์และนิยาย ต่างอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างความทั่วไปกับความเฉพาะกันทั้งนั้น แต่อาจจะใช้ผิดกัน งานเขียนชาติพันธุ์มักจะทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์เฉพาะกับประเด็นทั่วไปทางทฤษฎี มีความชัดเจนและจงใจ ตัวอย่างเช่นฉากการสนทนาระหว่างหญิงชราสองคน คนหนึ่งเป็นพี่สะใภ้ของอีกคนหนึ่ง ในหมู่บ้านในอินเดีย อาจจะนำเสนอเป็นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ เป็นต้น นักมานุษยวิทยาจะมีคำที่เป็นมโนทัศน์มากมาย เช่น วัฒนธรรม โครงสร้าง พิธีกรรม อำนาจ อุดมการณ์ ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงลักษณะทั่วไป เหตุการณ์ที่เป็นข้อมูลสนามจะถูกโยงเข้ากับคำเหล่านี้ หรืออธิบายมันด้วยมโนทัศน์เหล่านี้ ในขณะที่นิยาย เล่าถึงเหตุการณ์โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะต้องแปลออกมาเป็นมโนทัศน์เหล่านี้อย่างไร ที่จริงนิยายอาจมีความคิดกว้างๆ ทั่วไปเหล่านี้เป็นฐานอยู่ แต่นิยายไม่ถือเป็นภารกิจโดยตรงที่จะต้องอ้างอิง หรือ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ในปัจจุบันนักมานุษยวิทยาบางคนเห็นว่า งานเขียนทางชาติพันธุ์น่าจะหันมาเน้นเหตุการณ์เฉพาะโดยไม่จำเป็นต้องโยงมันเข้ากับมโนทัศน์ทั่วไป ซึ่งก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

- การแสดงถึงความเป็นตัวตน (representations of subjectivity) นักมานุษยวิทยาอยากจะเข้าใจสังคมวัฒนธรรมที่ตัวเองศึกษา อย่างที่คนท้องถิ่นเข้าใจ เขาต้องการจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายในคนที่ศึกษา แต่งานเขียนชาติพันธุ์จะเข้าไปถึงจุดนี้ ด้วยการเสนอภาพการสังเกตการกระทำและคำพูดอย่างละเอียดละออและระมัดระวัง และจะไม่นิยม "พูดแทน" คนที่เขาศึกษา ในลักษณะที่เป็นการเข้าไปนั่งในใจคนอื่นและพูดหรือคิดแทนคนนั้น แต่นักเขียนนิยายไม่เดือนร้อนอะไรในการที่จะสร้างตัวตนของตัวละครขึ้นมาให้คิด รู้สึก พูด หรือทำ เขาสามารถจะสร้างขึ้นมาได้อย่างสะดวก เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อนักมานุษยวิทยาเขียนนิยาย หรือเรื่องซึ่งมีความคลุมเครือว่าเป็นเรื่องจริงหรือนิยาย ในนิยายของนักมานุษยวิทยานี้ ความเป็นตัวตนของคนท้องถิ่น จะถูกสร้างขึ้นมาสองแบบ แบบแรกเป็นการสร้างเหมือนนวนิยาย มีตัวละคร ที่มีความรู้สึกนึกคิดโดยตรง ส่วนแบบที่สอง เป็นการสร้างผ่านความนึกคิดของตัวนักมานุษยวิทยาในเรื่อง ตัวอย่างในแบบที่สองนี้ได้แก่งาน เรื่อง Return to Laughter ของนักมานุษยวิทยาสตรี ลอรา โบแฮนนอน หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในทศวรรษ 1940 ในขณะที่มานุษยวิทยาพยายามจะเขียนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เธอจึงเขียนโดยใช้นามปากกา และประกาศว่าตัวละครจริงตัวเดียวในเรื่องคือนักมานุษยวิทยา แต่ถ้าหากโบแฮนนอน เขียนในสหัสวรรษปัจจุบัน งานนี้ก็น่าจะจัดเป็นประเภทบันทึกส่วนตัวของนักมานุษยวิทยามากกว่า

- ความรับผิดชอบ (accountability) ความแตกต่างสำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ ความรับผิดชอบ ผู้เขียนที่เป็นนักมานุษยวิทยา จะบอกก่อนเสมอว่า ข้อมูลได้มาจากกลุ่มชน กลุ่มใด ในประเทศใด หรือภูมิภาคในของโลก เพื่อที่ผู้อ่านจะได้อ้างอิงได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่นิยายจะบอกก่อนอีกแบบหนึ่งว่า ผู้คน และเหตุการณ์ที่เขียนนี้ ไม่มีตัวตนจริงๆ หากไปพ้องกับชื่อของใครหรืออะไรก็เป็นเหตุบังเอิญเท่านั้น แต่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเพื่อปกป้องผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ให้ได้รับความเดือดหรืออันตราย นักมานุษยวิทยากลับต้องปกปิดชื่อและสถานที่จริง และต้องใช้ชื่อสมมุติแทน ซึ่งทำให้งานเขียนชาติพันธุ์กลับใกล้เคียงนิยายมากขึ้น

ท้ายที่สุด อาจารย์คิรินเห็นว่า การข้ามพรมแดนไปมาระหว่างงานเขียนทางชาติพันธุ์กับนิยายนั้นมีอยู่เสมอๆ และดีกับงานเขียนทั้งสองแบบ แต่เธอคิดว่า เราน่าจะยังคงแบ่งงานเขียนออกเป็นสองประเภทอยู่ดี ไม่ควรจะนำมาหลอมรวมกันเป็นสิ่งเดียว เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้ว จะมีแต่ทางเสีย นิยายจะสูญเสียความเป็นเรื่องราวที่น่าอ่านหากจะต้องพะวงถึงการนำเสนอเหตุการณ์อย่างถูกต้องตรงกับความจริงอย่างแม่นยำ ในขณะที่ถ้าหากงานชาติพันธุ์ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าการจินตนาการรังสรรค์เรื่องดีๆออกมาเท่านั้น งานศึกษาภาคสนามอันแสนทรหดของนักมานุษยวิทยาก็ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร

 

เอกสารอ่านประกอบการสัมมนา
มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ

ความทรงจำกับสำนึกทางการเมือง

Halbwachs, Maurice. The Reconstruction of the Past, chapter 3 in Collective Memory, edited, translated and with an introduction by Lewis A. Coser. Chicago: University of Chicago Press, 1992. pp. 46 - 51.

Kugelmass, Jack. Mission to the Past: Poland in contemporary Jewish thought and deed, in Tense Past: cultural essays in trauma and memory, edited by Paul Atze and Michael Lambek. New York: Routledge, 1996. pp. 199 - 214.

Fentress, James and Chris Wickham. Class and Group Memories in Western Societies, chapter 3 in Social Memory. Oxford: Blackwell, 1992. pp. 87 - 91, 114 -143.

George, Glynis. Contested Meanings and Controversial Memories, in Tense Past: cultural essays in trauma and memory, edited by Paul Atze and Michael Lambek. New York: Routledge, 1996. pp. 48 - 52.

Connerton, Paul. How Societies Remember. Cambridge: Cambridge University Press, 1989. pp. 21 - 25, 44 - 48, 72 - 75.

Schama, Simon. Landscape and Memory. New York: Vintage Books, 1995. skim the pictures.

Truillot, Michel - Rolph. Silencing the Past: power and the production of history. Boston: Beacon Press, 1995. pp. 4 - 14.

Bowie, Katherine. "Unraveling the Myth of the Subsistence Economy: textile production in nineteenth - century northern Thailand," Journal of Asian Studies. 51: 4 (November, 1992). pp. 797 - 805.

การเขียนงานชาติพันธุ์และการสร้างภาพแทนในงานมานุษยวิทยา

Willis, Paul. "The Ethnographic Imagination and 'Whole Ways of Life'," in The Ethnographic Imagination. Cambridge: Polity, 2000. pp. 106 - 126.

Narayan, Kirin. "How Native is a 'Native' Anthropologist?," American Anthropologist. 95 (1993): 671 - 686.

Scheper - Hughes, Nancy. "Introduction: tropical sadness," in Death without Weeping: the violence of everyday life in Brazil. Berkeley: University of California Press, 1992. pp. 1 - 30.

 

กลับไปยัง "พรมแดนความรู้ทางมานุษยวิทยา"(ตอนที่ 1)

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

Part.2
Part.2
ภาพประกอบผลงานของ Salvador Dali ชื่อภาพ The Persistence of Memory เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1931 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ อยู่ที่ MOMA. New York