คำชี้แจงของบรรณาธิการ
เมื่อหลายเดือนมาแล้ว คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา
(Center of Southeast Asian Studies) และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
แมดิสัน (University of Wisconsin, Madison) ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ "พรมแดนความรู้
มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ความทรงจำ พื้นที่สาธารณะ ศิลปะ คติชน และการเขียนงานชาติพันธุ์"
ระหว่างวันที่ 23 -25 กรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เคยขอต้นฉบับเรื่องดังกล่าว เพื่อเผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้ และได้รับความอนุเคราะห์จากท่าน อาจารย์ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล จึงขอขอบพระคุณอย่างสูง มา ณ ที่นี้
ข่าวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบียนในนามิเบียที่อาจารย์แคทยกมา เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คำถามว่าหากเป็นเกย์แล้วคุณมีสิทธิที่จะประกันสุขภาพหรือไม่ ตลอดจนสิทธิที่จะขอหย่าของหญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย ภาระในการดูแลผู้ป่วยในครอบครัว ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามง่ายๆที่แสดงให้เราเห็นว่ารัฐสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
และอาจนำไปสู่การตอบคำถามที่น่าสนใจยิ่งขึ้นอย่างในงานศึกษาอิทธิพลของรัฐนาซีต่อผู้หญิง
โดยจีเซลลา บ็อค (Gisela Bock)
ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการที่รัฐนาซีควบคุมคนยากจนไม่ให้มีลูก โดยการทำแท้ง หรือบังคับให้ผู้หญิงเหล่านั้นทำหมัน
ขณะที่ออกนโยบายให้หญิงในชนชั้นสูงมีเวลาว่าง เพื่อจะเพิ่มจำนวนประชากรให้กับรัฐ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
พรมแดนความรู้
มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ความทรงจำ
พื้นที่สาธารณะ ศิลปะ คติชน และการเขียนงานชาติพันธุ์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา (Center of Southeast Asian Studies) และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin, Madison) ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ "พรมแดนความรู้ มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ความทรงจำ พื้นที่สาธารณะ ศิลปะ คติชน และการเขียนงานชาติพันธุ์" ระหว่างวันที่ 23 -25 กรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา
ตลอดช่วงเวลา 3 วันของการสัมมนา ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการจากวิสคอนซิน และธรรมศาสตร์ รวมทั้งนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาจากสถาบันอื่น ในประเด็นทางมานุษยวิทยาที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบัน และเป็นประเด็นที่อาจารย์จากวิสคอนซินมีความเชี่ยวชาญ 5 ประเด็น ได้แก่ (1) มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ (2) ปริมณฑลสาธารณะ (3) มานุษยวิทยากับโลกศิลปะ (4) ความทรงจำกับสำนึกทางการเมือง และ (5) การเขียนงานชาติพันธุ์และการสร้างภาพแทนในงานมานุษยวิทยา
การบรรยายทางวิชาการในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นทางด้านวิชาการ เรียนรู้ประเด็นความสนใจ และแนวทางการวิจัยใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย ไม่เฉพาะในสาขามานุษยวิทยา
วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาฉบับนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมสัมมนาบางท่าน
สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย 5 หัวข้อไว้ตามลำดับการบรรยาย พร้อมรายละเอียดของเอกสารสำหรับอ่านประกอบหัวข้อสัมมนาทั้งหก
ดังนำเสนอในส่วนต่อไปนี้
หมายเหต : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมอบต้นฉบับนี้จากท่านอาจารย์ ดร.ปริตตา
เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2545 มาเพื่อเผยแพร่แก่นักศึกษา สมาชิก
และผู้สนใจทุกท่านฝ่านระบบเครือข่าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและความรู้สำหรับที่กว้างขวางออกไป
และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้
เรื่องที่
1. มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ Anthopology of the State
โดย ดร.แคทเธอรีน บาววี
สรุปโดย พรรณราย โอสถาภิรัตน์
ดร. แคทเธอรีน บาววี (Dr. Katherine Bowie) ได้เริ่มต้นการสนทนาเรื่องมานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ว่า ตนเองนั้น เดิมทีก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง และไม่ได้สนใจเรื่องรัฐ ดังนั้น ก่อนที่จะพูดถึงการศึกษารัฐในทางมานุษยวิทยา อาจารย์แคทจึงจะได้เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังก่อนว่า เหตุใดอาจารย์ซึ่งแต่เดิมสนใจประเด็นเกี่ยวกับศาสนา จึงหันมาสนใจศึกษารัฐได้
อาจารย์แคทเห็นว่าความสนใจของอาจารย์นี้ เป็นผลของความสัมพันธ์ระหว่างประวัติส่วนตัวของอาจารย์ กับประวัติศาสตร์ของสังคมในช่วงที่อาจารย์เป็นนักศึกษา ความสนใจที่มีต่อชีวิตของผู้คนกับความรักที่มีต่อชนบทของอาจารย์นั้น ก่อตัวขึ้นมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กของอาจารย์ที่มีพ่อเป็นแพทย์ และใช้ชีวิตอยู่กับแม่ในชนบทของแคนาดา
ขณะเดียวกัน อาจารย์แคทก็เติบโตขึ้นมาในท่ามกลางสภาพสังคมที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามเวียดนาม ความขัดแย้งต่างๆในช่วงนั้น ทำให้อาจารย์เริ่มสนใจเรื่องของ "ชาวบ้าน" มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนั้นอเมริกามีความเชื่อว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย อาจารย์จึงเริ่มสนใจว่าชนบทในเมืองไทยเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการเมืองในชนบท การสังหารผู้นำชาวนาหลายราย ในช่วงที่ขบวนการชาวไร่ชาวนาของประเทศไทยกำลังทำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ทำให้อาจารย์เริ่มต้นทบทวนงานศึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้ของชนชั้นชาวนาทั้งในทางมานุษยวิทยา และจากสาขาวิชาอื่นๆ
ในสมัยนั้น มีผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิวัติของชาวนาอยู่มากมาย ส่วนใหญ่จะแบ่งชาว นาเป็นชนชั้นย่อยๆ ได้แก่ ชาวนาที่มีฐานะดี ชาวนาที่มีฐานะปานกลาง ชาวนาที่ต้องเช่าที่ทำกิน และพวกที่เป็นกรรมกรชาวนา โดยพยายามจะสรุปว่า ชาวนากลุ่มไหนมีจิตสำนึกทางการเมืองสูงและมีแนวโน้มที่จะปฏิวัติ ซึ่งก็ล้วนเป็นข้อเสนอที่อาศัยเหตุผลสนับสนุนที่ขัดแย้งแตกต่างกันไป ดังนี้
งานของอีริค วูล์ฟ (Eric Wolf) เสนอว่า ชาวนาที่มีฐานะปานกลางซึ่งอยู่ห่างจากรัฐ มีที่ดินทำกินอยู่ในเขตภูเขา เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะลุกขึ้นมาปฏิวัติได้มากที่สุด เพราะกลุ่มนี้จะมีเวลาเหลือจากการผลิตเพื่อยังชีพ จึงว่างพอที่จะมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ขณะที่นักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับประเทศเวียดนามอย่างแซมมวล พ็อพคิน (Samuel Popkin) กลับมีทรรศนะตรงข้ามกับวูล์ฟ พ็อพคินเสนอว่า ชาวนาที่มีฐานะดี และอาศัยอยู่ใกล้เขตเมือง จะมีแนวโน้มที่จะปฏิวัติได้มากที่สุด เพราะพวกเขามีทางเลือก เนื่องจากสามารถหางานในเมือง หรือจะอยู่บ้านทำการเกษตรก็ได้ ดังนั้น ยิ่งมีทางเลือกมากก็ยิ่งมีพลังปฏิวัติ หรือที่พ็อพคินเรียกว่า green power มากขึ้น
นอกจากวูล์ฟและพ็อพคินแล้ว ก็ยังมีเจมส์ สก็อตต์ (James Scott) ที่เห็นแตกต่างออกไปอีกว่า ชาวนากลุ่มที่ต้องเช่าที่ดินทำกินต่างหากที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง เนื่องจากชาวนากลุ่มนี้ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเปลี่ยนแปลงจากระบบอุปถัมภ์ มาสู่ระบบที่ให้อำนาจกับคนในเมืองมากขึ้น เนื่องจากเจ้าของที่ดินจะละทิ้งผู้เช่าที่ดิน หันไปให้ความสำคัญกับรัฐมากขึ้น
นอกจากนี้ก็ยังมีนักคิดแบบมาร์กซิสต์บางส่วนที่เห็นว่ากรรมกรชาวนาต่างหากที่มีบทบาทมากกว่าชาวนาทั้งหลาย
งานที่มีอิทธิพลต่อความคิดของอาจารย์แคทมากที่สุด และเป็นงานที่หลุดออกจากกรอบการโต้เถียงเกี่ยวกับจิตสำนึกทางการเมืองของชาวนาที่ดำรงอยู่ก่อนก็คือ หนังสือชื่อ State and Social Revolution (1979) ของ ธีดา สค็อกโพล (Theda Skocpol) ซึ่งเสนอว่า ชาวนาไม่ว่าสังกัดอยู่ในจะชนชั้นไหน ล้วนมีจิตสำนึกทางการเมือง สามารถจะปฏิวัติได้ แต่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐ ถ้ารัฐอ่อนแอ สุดท้ายชาวนาก็จะลุกขึ้นมาปฏิวัติ ในกรณีที่รัฐเข้มแข็ง ไม่ว่าชาวนาจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างไร ก็จะไม่เกิดการปฏิวัติ
เนื่องจากสค็อกโพลมาสอนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ในช่วงที่อาจารย์แคทศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่นั่นพอดี จึงมีส่วนอย่างสำคัญต่อมุมมองเกี่ยวกับการศึกษารัฐของอาจารย์ในเวลาต่อมา
ข้อเสนอของสค็อกโพล ทำให้อาจารย์แคทเริ่มหันมาสำรวจความรู้ทางมานุษยวิทยาว่ามีแนวทางใดที่สนใจเรื่องรัฐบ้าง ก็พบว่านักโบราณคดีเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับรัฐค่อนข้างมาก แต่จะเป็นความสนใจในประเด็นที่ว่า รัฐเกิดขึ้นได้อย่างไร รัฐในอดีต อย่างเช่นอียิปต์ มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งความพยายามที่จะตอบคำถามเหล่านี้ก็มีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน เช่น
- รัฐมาจากศาสนา เพราะประชาชนทั่วไปต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการยังชีพ พระจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ
- รัฐและเมืองมีจุดเริ่มต้นมาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนต่างๆ
- รัฐเกิดจากความจำเป็นต้องมีทหาร เพื่อป้องกันชุมชน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับรัฐ กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยาสังคมซึ่งอาจเป็นผลมาจากเหตุผลหลักๆ 2 ประการ คือ
- พื้นฐานความคิดของนักมานุษยวิทยาชาวตะวันตกแต่เดิมที่ไม่ค่อยสนใจจะศึกษาสังคมของพวกเขาเอง นักมานุษยวิทยามักจะสนใจสังคมดั้งเดิมทั้งหลายว่าสามารถอยู่ด้วยกันโดยไม่มีรัฐได้อย่างไร ซึ่งนำไปสู่ความสนใจเรื่องระบบเครือญาติในสังคมชนเผ่าต่างๆ
- วิธีวิทยาของนักมานุษยวิทยา ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การใช้ชีวิตร่วมกับคนที่นักมานุษยวิทยาศึกษา ทำให้นักมานุษยวิทยาไม่คุ้นเคยกับการศึกษาสิ่งที่มองไม่เห็นอย่าง "ชาติ" ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น สัมภาษณ์ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ ก็เริ่มมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับรัฐตามแนวทางของมานุษยวิทยา ซึ่งอาจารย์แคทเห็นว่า เป็นกระบวนการที่นักมานุษยวิทยาเริ่มยอมรับว่าหมู่บ้านไม่ได้เป็นเพียงหมู่บ้านที่อยู่โดดเดี่ยว หากเชื่อมโยงกับชีวิตของคนที่อยู่นอกหมู่บ้านด้วย อย่างเช่นข้อเสนอเกี่ยวกับ "great and little tradition" ของโรเบิร์ต เรดฟีลด์ (Robert Redfield)
กล่าวโดยสรุป แนวทางศึกษารัฐของมานุษยวิทยาในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 3 แนวทางหลักๆ ได้แก่
1. แนวทางที่พิจารณารัฐในฐานะที่เป็น theatre state ซึ่งพัฒนามาจากการศึกษาของคลิฟฟอร์ด เกิร์ซ (Clifford Geertz) และสแตนลีย์ แทมบายห์ (Stanley Tambiah) งานของนักมานุษยวิทยาสองท่านนี้เป็นมุมมองรัฐที่ให้ความสำคัญกับศาสนา และลำดับขั้นในวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การดำรงอยู่ของชนชั้นที่อยู่สูงสุด ซึ่งอาจเป็นกษัตริย์หรืออะไรก็ได้
2. แนวทางที่ให้ความสำคัญกับวิถีการผลิตแบบเอเชีย (asiatic mode of production) โดยเฉพาะที่นำมาปรับใช้เพื่ออธิบายสังคมไทย ก็เช่นงานศึกษาของ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ซึ่งเสนอว่า ชาวบ้านมีระบบการผลิตที่ให้ผลเพียงพอต่อการยังชีพ ส่วนสิ่งของที่จะต้องส่งให้ชนชั้นปกครองเป็นของฟุ่มเฟือย ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อความอยู่รอดของพวกเขา
3. การพิจารณารัฐในสภาพที่เป็นจริง งานศึกษาจำนวนมากไม่ปฏิเสธว่า รัฐสัมพันธ์กับการกดขี่ขูดรีด โดยชนชั้นที่มีอำนาจจะแสวงหาทรัพยากรทางเศรษฐกิจ อันเป็นการเพิ่มพูนอำนาจของชนชั้นนั้นๆให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยของอาจารย์แคทเอง แสดงให้เห็นว่าการทำความเข้าใจชีวิตในชนบทนั้นสัมพันธ์กับการศึกษารัฐในแบบที่สาม ขณะเดียวกัน เรื่องอื่นๆในชีวิตประจำวันของเราก็เกี่ยวข้องกับรัฐอย่างแยกไม่ออก รัฐไม่ได้เป็นประเด็นศึกษาเฉพาะของนักรัฐศาสตร์เท่านั้น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราทุกคน
ข่าวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบียนในนามิเบียที่อาจารย์แคทยกมา เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คำถามว่าหากเป็นเกย์แล้วคุณมีสิทธิที่จะประกันสุขภาพหรือไม่ ตลอดจนสิทธิที่จะขอหย่าของหญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย ภาระในการดูแลผู้ป่วยในครอบครัว ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามง่ายๆที่แสดงให้เราเห็นว่ารัฐสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
และอาจนำไปสู่การตอบคำถามที่น่าสนใจยิ่งขึ้นอย่างในงานศึกษาอิทธิพลของรัฐนาซีต่อผู้หญิง โดยจีเซลลา บ็อค (Gisela Bock) ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการที่รัฐนาซีควบคุมคนยากจนไม่ให้มีลูก โดยการทำแท้ง หรือบังคับให้ผู้หญิงเหล่านั้นทำหมัน ขณะที่ออกนโยบายให้หญิงในชนชั้นสูงมีเวลาว่าง เพื่อจะเพิ่มจำนวนประชากรให้กับรัฐ
นอกจากนั้น อาจารย์แคทยังเห็นว่าเราอาจทำความเข้าใจประเด็นเรื่องอำนาจของรัฐได้โดยอาศัยแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จากหนังสือ Discipline and Punish: the birth of the prison ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการที่รัฐสอนให้ประชาชนคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติ เช่น ในงานของยูจีน เวเบอร์ (Eugene Weber) เรื่อง The Making of the Peasants into the Frenchman ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการรวบรวมเอากลุ่มคนต่างๆเข้าด้วยกันผ่านการสร้างประเทศ จนคนเหล่านั้นยอมรับว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของคนฝรั่งเศส
กระบวนการเหล่านี้รัฐอาจไม่ได้เป็นผู้กระทำโดยตรง แต่อาจเป็นไปโดยผ่านภาษาของศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อสารมวลชน หรือแม้แต่ศิลปะ ซึ่งอาจารย์แคทเห็นว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ความรู้สึก อันเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาน่าจะศึกษาได้ดี ดังที่ จอร์จ สไตน์เมทซ์ (George Steinmetz) ได้ชี้ให้เห็นในบทนำของหนังสือ State / Culture: state formation after the cultural turn ของเขาว่า การตีความหมายวัฒนธรรมในอดีตนั้น ส่งผลให้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับวัฒนธรรมถูกจำกัดมากเกินไป
มุมมองต่อวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นที่มาของการศึกษาเกี่ยวกับรัฐที่น่าสนใจอีกหลายชิ้น หนึ่งในงานที่มีความสำคัญมากคือ The Invention of Tradition ซึ่งกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในประเพณีทั้งหลาย ว่าดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเพณีจำนวนมากก็เกิดจากการสร้างใหม่ แนวคิดนี้มีส่วนต่อการเขียนงานของอาจารย์แคทเอง ที่ตีพิมพ์เมื่อค.ศ.1997 คือ Rituals of National Loyalty: an Anthropology of the state and the village scout movement in Thailand ในงานเขียนชิ้นนี้ อาจารย์แคทเสนอว่าลูกเสือชาวบ้านเป็นพิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งรัฐสร้างขึ้นด้วยเหตุผลพิเศษบางอย่าง แต่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
ช่วงสุดท้ายของการบรรยาย อาจารย์แคทได้สรุปแนวคิดในการศึกษารัฐไว้ ประเด็น ดังนี้
1. การให้ความสำคัญกับ relative autonomy of the state อาจารย์แคทเห็นว่า ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชนชั้นปกครอง บ้างอาจมองว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง แต่มีความเป็นไปได้ว่าบางครั้งรัฐอาจไม่ได้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองเสมอไป จุดยืนในการวิเคราะห์รัฐของอาจารย์แคทจึงจะให้ความสำคัญกับ class fractions และ state fractions ไม่ใช่การพยายามให้คำตอบว่ารัฐคืออะไร
2. การให้ความสำคัญกับการศึกษาเปรียบเทียบและมิติทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากรัฐในแต่ละประเทศมีประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน พัฒนาจากพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
3. การให้ความสำคัญกับพลวัตในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับวัฒนธรรม
4. การพิจารณารัฐในสังคมโลกาภิวัฒน์ ถือว่าเป็นกระแสใหม่ ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าบทบาทของรัฐลดลงหรือไม่ อาจารย์แคทเห็นว่าประเด็นนี้อาจต้องเผชิญกับปัญหาในทางวิธีวิทยา เพราะถ้าจะทำการศึกษาในระดับโลกจริงๆ อาจจะต้องทำการศึกษาในหลายๆพื้นที่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิธีการตอบคำถามแบบมานุษยวิทยา
อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจารย์แคทยังเห็นว่ามานุษยวิทยาน่าจะสนใจเรื่องรัฐ เพราะเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลง อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม
เรื่องที่
2. ปริมณฑลสาธารณะ Public Sphere
โดย ดร.เคนเนธ จอร์จ
สรุปโดย วิภาส ปรัชญาภรณ์
ดร.เคนเนธ จอร์จ (Dr. Kenneth George) หรืออาจารย์เคน เริ่มต้นกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ว่า เป็นประเด็นที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจในการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่าใดนัก ความคิดของเยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นี้ค่อนข้างได้รับการถกเถียงกันมากกว่าในสาขาสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ ขณะที่นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่จะสนใจศึกษางานของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)
อย่างไรก็ดี อาจารย์เคนเน้นว่า ตนไม่ได้ต้องการมาเสนอในการสัมมนาครั้งนี้ว่าฮาเบอร์มาสดีกว่าฟูโกต์อย่างไร แต่จะลองเสนอแนวความคิดของฮาเบอร์มาสอย่างคร่าวๆ เนื่องจากอาจารย์เองก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าตัวเองเข้าใจฮาเบอร์มาสอย่างดีแล้ว เพราะงานของฮาเบอร์มาสเพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อค.ศ.1989 นี่เอง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่งานของฮาเบอร์มาส อาจารย์เคนได้เล่าถึงประวัติการทำงานของตนที่นำมาสู่ความสนใจความคิดเรื่องปริมณฑลสาธารณะดังนี้
อาจารย์เคนศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวรรณคดี ก่อนจะหันมาสนใจศึกษาคติชน โดยเรื่องแรกๆที่สนใจศึกษาคือการใช้คำและบทเพลงในบริบทของโบสถ์ ของศาสนาคริสต์นิกายแบ็บติสต์ หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ศึกษากับนักมานุษยวิทยาชื่อเจมส์ พีค็อก (James Peacock) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่ศึกษาการแสดงในจังหวัดสุราบายา บนเกาะชวาในอินโดนีเซีย และเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากต่อการศึกษาเกี่ยวกับการแสดงในทางมานุษยวิทยา พีค็อกได้ชี้ให้เห็นว่าการแสดงเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมของความทันสมัยในอินโดนีเซีย และมีส่วนสำคัญที่ทำให้อาจารย์เคนหันมาสนใจมานุษยวิทยา
อาจารย์เคนได้ทำงานภาคสนามเป็นครั้งแรกที่เกาะสุลาเวสีในอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 ปี โดยในช่วงแรกจะศึกษาชุมชนที่ไม่ค่อยปรากฏในงานเขียนของทางราชการ ขณะนั้น อาจารย์ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐในการวิเคราะห์ แต่จะสนใจเรื่องของการใช้ถ้อยคำหรือภาษามาก เพราะอาจารย์เรียนมาทางมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ จึงสนใจว่าคนที่นั่นใช้ผลิตผลทางภาษาต่างๆสร้างลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม เช่น ความเป็นผู้ชาย ความทรงจำ หรือการพูดถึงความโศกเศร้าและความสูญเสียอย่างไร
หลังจากนั้น อาจารย์เคนก็เริ่มขยายความสนใจมาสู่การศึกษาคนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้แก่ชาวมุสลิมในเขตเมือง ซึ่งนำไปสู่ความสนใจในเรื่องปริมณฑลสาธารณะของฮาเบอร์มาส จากกรณีที่มีการถกเถียงกันในเรื่องของการเลือกคำในภาษาอินโดนีเชีย ที่จะแปลความหมายของคำว่า "วัฒนธรรม" ระหว่างการเลือกใช้คำที่มาจากภาษาสันสกฤต กับคำที่มาจากภาษาอารบิก การที่จะเลือกใช้คำใดเป็นการแสดงให้เห็นถึงการอ้างอิงไปถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย หากเลือกใช้คำที่มาจากภาษาสันกฤตก็จะหมายความถึงการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมแบบฮินดู หากเลือกใช้คำที่มาจากภาษาอารบิก ก็จะหมายความถึงการอ้างอิงไปถึงรากเหง้าความเป็นวัฒนธรรมอิสลาม การถกเถียงและการพูดถึงเกี่ยวกับว่าจะเลือกใช้คำไหนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคม
กรณีดังกล่าวนี้นำมาสู่ความสนใจในเรื่องปริมณฑลสาธารณะ ซึ่งแตกต่างจากความคิดเรื่อง "ชุมชน" (community) ที่มักจะให้ภาพของความประสานสอดคล้อง กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ความคิดเรื่อง ปริมณฑลสาธารณะของฮาเบอร์มาส คือการที่ private subject หรือคนแต่ละคนมาพูดคุย สนทนา ถกเถียง ถึงปัญหาในเชิงสาธารณะ ซึ่งไม่ได้เป็นการมาพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว ปริมณฑลสาธารณะจึงอาจเป็นได้ทั้งในแง่ของสถานที่ หรือในบางโอกาส บางช่วงเวลา ในแง่นี้ แม้แต่การคุยโทรศัพท์ ก็ยังอาจเป็นปริมณฑลสาธารณะที่มีสื่อกลาง (mediated) ระหว่างตัวรัฐกับสังคม (civil society)
อาจารย์เคนได้กล่าวต่อไปถึงประเด็นที่สำคัญในเรื่องดังกล่าวของฮาเบอร์มาส รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาทางมานุษยวิทยาในการนำความคิดเรื่องดังกล่าวมาใช้ และปมปัญหาหรือประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นในงานของฮาเบอร์มาสเอง
ประการแรก แม้ว่าฮาเบอร์มาสจะศึกษาปริมณฑลสาธารณะที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ฮาเบอร์มาสเองก็เสนอว่า ปริมณฑลสาธารณะมีหลายแบบ หลายประเภท และหลายเงื่อนไขปัจจัยของการเกิด สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักมานุษยวิทยาคือการศึกษาในเชิงรายละเอียด หรือการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับปริมณฑลสาธารณะเหล่านั้น เช่น weak public sphere (เช่นที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย สมัยการปกครองของซูฮาร์โต) หรือ strong public sphere ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
ประการต่อมา เป็นประเด็นสำคัญในความคิดของฮาเบอร์มาส คือสิ่งที่เรียกว่า ปริมณฑลสาธารณะแบบกระฎุมพีเสรีนิยม (liberal bourgeois public sphere) ที่เกิดขึ้นสมัย คริสตศตวรรษที่ 18 และถูกแทนที่หรือเปลี่ยนรูป (transform) ทั้งในด้านโครงสร้างมาเป็นปริมณฑลสาธารณะสมัยใหม่ในคริสตศตวรรษที่ 20 ที่ดำรงอยู่ในยุโรปและอเมริกาในปัจจุบัน อาจารย์เคนได้กล่าวว่า ฮาเบอร์มาสสนใจและใช้ข้อมูลศึกษาอยู่จำกัดเฉพาะแต่ในยุโรป ไม่ได้ดูถึงที่อื่นนอกเหนือไปจากนี้ ดังนั้นเราจึงต้องไม่ทึกทักเอาว่า ปริมณฑลสาธารณะแบบกระฎุมพีเสรีนิยมที่ฮาเบอร์มาสเน้นนั้นจะเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของปริมณฑลสาธารณะ เพราะในแต่ละแห่งจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง
นอกเหนือไปจากปริมณฑลสาธาณะแบบกระฎุมพีเสรีนิยมแล้ว ฮาเบอร์มาสยังได้กล่าวถึง ปริมณฑลสาธารณะแบบอื่นอีก เช่น พื้นที่สาธารณะที่ตัว "รัฐ" สร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลอง หรือเป็นการสร้างความยอมรับนับถือและความนิยมชมชอบให้กับตัวของรัฐเอง พื้นที่สาธารณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในรัฐเผด็จการ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สาธารณะที่รัฐสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐจากสังคม ตัวอย่างของพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เช่น การเลือกตั้ง พื้นที่สาธารณะอีกแบบก็คือพื้นที่สาธารณะของสังคมศักดินาในอดีต อันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะโดยรัฐในพิธีกรรม เพื่อเป็นการแสดงให้ไพร่ฟ้าได้ชื่นชมถึงความยิ่งใหญ่หรือความอลังการของตัวรัฐเอง
ประเด็นต่อมาที่อาจารย์เคนพูดถึงคือ ฮาเบอร์มาสเสนอว่า ในปริมณฑลสาธารณะแบบกระฎุมพีเสรีนิยมนั้นจะมีวัฒนธรรมของการโต้เถียง ซึ่งในปริมณฑลสาธารณะแบบศักดินานั้นไม่มี อย่างไรก็ตามจากปัจจัยทางด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ปริมณฑลสาธารณะสมัยใหม่ไม่ได้มีวัฒนธรรมของการโต้เถียงอีกต่อไป หากแต่เปลี่ยนรูปมาเป็นวัฒนธรรมของการบริโภค ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปและในอเมริกาปัจจุบัน ซึ่งการเกิดขึ้นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับตลาด ในการเปลี่ยน civil society เป็นวัฒนธรรมของการบริโภค ในเรื่องนี้อาจารย์เคนได้ให้ข้อสังเกตว่า ในการทำงานทางมานุษยวิทยา เราควรมองที่ลักษณะเฉพาะหรือลักษณะพิเศษของแต่ละวัฒนธรรม เราไม่สามารถที่จะมองได้ว่า ความคิดหรือตัวอย่างของฮาเบอร์มาสจะเป็นต้นแบบของสิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมที่เราศึกษา
อาจารย์เคนได้ตั้งคำถามต่อความคิดของฮาเบอร์มาส ซึ่งงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่า การแยกรัฐออกจากพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะทำได้อย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับการที่เราก็ไม่สามารถที่จะแยกสังคมกับตลาดออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ประเด็นสุดท้ายสำหรับความคิดของฮาเบอร์มาสคือคำถามที่ว่า ปริมณฑลสาธารณะมีขึ้นมาเพื่อเหตุผลใด ซึ่งคำตอบของฮาเบอร์มาสก็คือ มีขึ้นมาเพื่อให้รัฐรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม (accountability) ปริมณฑลสาธารณะจะเป็นพื้นที่ที่พลเมืองมาพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เหตุผล ถึงเรื่องที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐจะรับฟัง ตอบคำถาม และรับผิดชอบต่อปัญหา หรือแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และยังเป็นเสมือนการความคุมรัฐ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการปฏิวัติ
อาจารย์เคนได้กล่าวถึงบทความของ แนนซี เฟรเซอร์ (Nancy Fraser) นักวิชาการสตรีนิยม (feminism) ชาวอเมริกัน เรื่อง "Rethinking the Public Sphere: a contribution to the critique of actually existing democracy" ที่สรุปและวิจารณ์ความคิดในเรื่องปริมณฑลสาธารณะของฮาเบอร์มาสได้อย่างน่าสนใจ
ประเด็นแรก คือ สิ่งที่ฮาเบอร์มาสบอกว่า ปริมณฑลสาธารณะคือการรวมกันของ private subject ที่จะมาสนทนาหรือถกเถียงในเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะนั้น อย่างน้อยที่สุดเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า อะไรเป็นปัญหาที่เป็น private หรืออะไรที่เป็นปัญหาที่เป็น public นอกจากนี้สิ่งที่ฮาเบอร์มาสเน้นคือ ในปริมณฑลสาธารณะ คนที่เข้ามาจะมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยคำพูด ภาษา หรือการสนทนาแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้มีการมองข้ามบทบาทของการสื่อสารในแง่อื่นๆไป เช่น ภาพเขียน อนุสาวรีย์ การแสดง ดนตรี และสิ่งที่อาจสื่อความหมายได้จากการมองเห็น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่เกิดขึ้นในปริมณฑลสาธารณะที่อาจมีเหตุผลมากกว่าในการโน้มน้าว ชักจูง ให้คนเชื่อหรือทำตาม มากกว่าการพูดอย่างใช้เหตุใช้ผล (rationalization) สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ฮาเบอร์มาสมองข้ามไป
ประเด็นเล็กๆประเด็นหนึ่งของฮาเบอร์มาสที่อาจารย์เคนคิดว่าน่าสนใจคือ เรื่องของการแลกเปลี่ยนของระบบภาษากับเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ อาจารย์เคนเสนอว่า สิ่งที่มีค่าในเชิงเศรษฐกิจนั้นไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง ถูกให้ค่า หรือให้ความชอบธรรมในทางเศรษฐกิจผ่านระบบภาษา ตัวอย่างเช่นแหวนแต่งงานที่เป็นทองที่เราจะรู้หรือมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นทอง การยืนยันว่าเป็นทองจำเป็นต้องผ่านการรับรองค่าจากฝ่ายต่างๆเช่น ร้านทอง ที่อาจมีเอกสารในการยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นทอง มูลค่าของสิ่งต่างๆในทางเศรษฐกิจนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีคุณค่าในตัวมันเอง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกเราสร้างขึ้น ให้คุณค่า กับสิ่งต่างๆโดยผ่านระบบภาษา หรือคำพูดที่เราแลกเปลี่ยนกัน
ประเด็นต่อมาในการวิจารณ์ฮาเบอร์มาสคือการเสนอเรื่อง ความมีเหตุมีผล (rationality) ภายในปริมณฑลสาธารณะ ที่คนที่เข้ามาในปริมณฑลสาธารณะจะมีการพูดคุยโดยการใช้เหตุใช้ผล ไม่มีการใช้อารมณ์ ความรุนแรงต่างๆ เพื่อชักจูง หรือโน้มน้าวให้เชื่อ ความคิดดังกล่าวของฮาเบอร์มาสดูจะมองข้ามแง่มุมเชิงสังคมไป เพราะปัจจัยทางด้าน สถานะทางสังคม การศึกษา ความรู้ของการพูดหรือการสนทนาในปริมณฑลสาธารณะ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้การพูดของใครบางคนมีเหตุมีผลมากกว่าคนอื่นที่เข้ามา นอกจากนี้ การที่ฮาเบอร์มาสมองว่า การเข้ามาในปริมณฑลสาธารณะของคนทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน ก็ดูจะมีลักษณะที่เป็นอุดมคติอยู่พอสมควร และยังทำให้มองไม่เห็นเรื่องลำดับชั้นทางสังคม รวมถึงเรื่อง ลำดับชั้นทางเพศที่มีผลต่อการพูดในปริมณฑลสาธารณะ ตัวอย่างเช่น การศึกษาของ นักภาษาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า ในอเมริกา ผู้ชายมักจะขัดคอผู้หญิงในระหว่างการพูดมากกว่า 75 % เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ผู้หญิงขัดคอผู้ชาย การพูดในปริมณฑลสาธารณะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน หากแต่เป็นการต่อรองกัน
ประเด็นต่อมา คือเรื่องของการเข้ามาในปริมณฑลสาธารณะ ซึ่งฮาเบอร์มาสบอกว่าเป็นการเปิดให้ทุกคนเข้ามาได้ แต่อาจารย์เคนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะหากเรามองย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์ของการเกิดขึ้นของปริมณฑลสาธารณะแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ปริมณฑลสาธารณะนั้นเกิดจากความต้องการของชนชั้นกลางหรือพวกกระฎุมพี ซึ่งย่อมมีการกันคนอื่นไม่ให้เข้ามา ตัวอย่างที่สำคัญคือ การกันผู้หญิงออกไปจากปริมณฑลสาธารณะที่สร้างขึ้นมา
สำหรับข้อวิจารณ์สุดท้ายเกี่ยวกับความคิดของฮาเบอร์มาส คือการที่เขาเสนอว่า ในหนึ่งรัฐจะมีเพียงหนึ่งปริมณฑลสาธารณะ ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ในหนึ่งรัฐก็อาจจะมี ปริมณฑลสาธารณะมากกว่าหนึ่งปริมณฑลอาจซ้อนทับกัน และคนที่อยู่ในหนึ่งรัฐก็อาจที่จะอยู่ในปริมณฑลสาธารณะที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในรัฐของตัวเอง แต่อาจมีลักษณะที่เป็นการข้ามรัฐ ตัวอย่างเช่น อาจารย์เคนที่แม้ว่าอยู่ในสหรัฐ แต่ก็ยังสามารถที่จะถกเถียงเกี่ยวกับ ประเด็นสาธารณะที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย จากประเด็นดังกล่าว เฟรเซอร์ได้เสนอความคิดที่เรียกว่า "counter public" โดยแทนที่เราจะบอกว่า ปริมณฑลสาธารณะจำกัดขอบเขตอยู่ภายในพื้นที่ของรัฐ เราน่าจะมองปริมณฑลสาธารณะว่า ประกอบด้วยหลายคนหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยปริมณฑลสาธารณะเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ซ้อนทับกันบ้าง คาบเกี่ยวกันบ้าง ไปด้วยกัน ขัดแย้งกันเองบ้าง รวมถึงมีการต่อรองระหว่างกัน
บทสรุปของอาจารย์เคนเกี่ยวกับความคิดเรื่องปริมณฑลสาธารณะของฮาเบอร์มาสก็คือ ฮาเบอร์มาสเห็นว่า ปริมณฑลสาธารณะที่น่ายกย่องคือปริมณฑลสาธารณะแบบกระฎุมพีเสรีนิยม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนรูปและเสื่อมสลายไป อันเนื่องมาจาก ความเข้มแข็งของรัฐและระบบทุนนิยม เมื่อปริมณฑลที่เคยเป็นเวทีของการถกเถียงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ดีกินดี หรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของส่วนรวม ได้กลายมาเป็นพื้นที่ของการโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์ และกลายมาเป็นเครื่องมือของรัฐ หรือเครื่องมือของตลาด ตามความคิดของ ฮาเบอร์มาส เขาจึงต้องการที่จะให้สังคมกลับไปหาความเป็นส่วนรวม หรือช่วยกันสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในสังคมสมัยใหม่
อาจารย์เคนทิ้งท้ายถึงแนวทางการศึกษาที่จะเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปริมณฑลสาธารณะของฮาเบอร์มาส ในฐานะที่เราเป็นนักมานุษยวิทยา ว่าเราอาจมีประเด็นในการศึกษาได้หลากหลายเช่น ข้อเสนอของเฟรเซอร์เกี่ยวกับ counter public หรือในการศึกษาทางมานุษยวิทยาหลายๆที่ ก็ชี้ให้เราเห็นว่า ปริมณฑลสาธารณะมีกลยุทธ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการโต้เถียงอย่างมีเหตุมีผล ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ที่มีการใช้ความรุนแรงในการบังคับประชาชน หรือบางแห่งก็มีการใช้กลยุทธ์แบบอื่น เช่น การประท้วง การหยุดงาน ที่มีการใช้วงดนตรี ขบวนแห่ รูปภาพ หรือการแสดงมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้นักมานุษยวิทยายังสามารถที่จะชี้ให้เห็นว่า การนิยาม หรือการแบ่งแยกว่าอะไรเป็น public อะไรเป็น private เป็นสิ่งที่ไม่อาจที่จะแบ่งแยกได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เรื่องที่
3. มานุษยวิทยากับโลกศิลปะ Anthropology of Art Worlds
โดย ดร.เคนเนธ จอร์จ
สรุปโดย ศรัณย์ ทองปาน
บ่ายวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ดร. เคนเนธ จอร์จ (Kenneth M. George) หรืออาจารย์เคน เริ่มต้นด้วยการท้าวความถึงเมื่อครั้งที่เขาเคยทำงานภาคสนามในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นที่ชนบทห่างไกล และอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในฐานะ "ด้อย" กว่าตัวของนักมานุษยวิทยามาก เช่นที่มีรายได้เพียงไม่เกิน 35 เหรียญสหรัฐ / ครอบครัว / ปี และมีที่ดินทำกินเพียงไม่ถึงหนึ่งเฮคตาร์ (6.25 ไร่) ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพียงแค่เพื่อซื้อชุดนักเรียนให้ลูกกับจ่ายภาษีให้รัฐเท่านั้น
หลังจากนั้น เมื่อกลับมาจากอินโดนีเซียและกำลังว่างงาน เขาก็ได้อาศัยความรู้ทางภาษาไปสมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่มีหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้กับอาคันตุกะชาวอินโดนีเซียที่เดินทางไปสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ แขกคนแรกของเขาก็คือปิรุอัส (Abdul Djalil Pirous) จิตรกรชื่อดังชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะในอเมริกา
การณ์กลับกลายเป็นว่าปิรุอัส ซึ่งมีความรู้ในทางศิลปะตะวันตก และรู้จัก "โลกตะวันตก" ดีกว่าอาจารย์เคนมาก ได้เป็นคนเปิดโลกของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกให้กับเขา จากนั้นมา เขาก็สนิทสนมคุ้นเคยกับปิรุอัสมาตลอด และทำให้อาจารย์เคนได้มีโอกาสทำการศึกษาด้านมานุษยวิทยาศิลปะในอินโดนีเซีย ซึ่งก็จะต่างกับงานภาคสนามก่อนหน้านี้ ที่อาจกล่าวได้ว่าเขาได้ "เพื่อน" มาจากงานของเขา หรือได้งานก่อนเพื่อน แต่ในกรณีนี้ เขาได้ "เพื่อน" - คือปิรุอัส - ก่อน แล้วจึงมีโอกาสได้ทำงาน
นอกจากนั้นแล้ว การศึกษาวงการศิลปะอินโดนีเซียของเคน จอร์จ แตกต่างไปจากงานครั้งก่อนในอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก เพราะครั้งนี้ เขากำลังศึกษากลุ่มชนชั้นสูง - เศรษฐี - ปัญญาชน ที่จะว่าไปแล้ว มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจเหนือกว่าเขาทุกด้าน ดังที่อาจารย์เคนได้เล่าไว้ในการสัมมนา
"ถ้าหากคนจนๆ จะบอกคุณว่า 'ไม่' เขาก็อาจจะต้องหาวิธีหาหนทางต่างๆ มาใช้บอกคุณอ้อมๆ แต่กับคนรวย เขาจะสามารถพูดว่า 'ไม่ - ฉันไม่ช่วย - ฉันไม่ต้องการ' ได้ทันที"
และเมื่อตัดสินใจว่าจะศึกษาเรื่องจิตรกร หรือศิลปินแล้ว เรื่องต่อมาที่เขาต้องเลือกก็คือจะศึกษาอย่างไร หรือด้วยมุมมอง และประเด็นอย่างใด
แนวคิดที่อาจารย์เคนกล่าวว่ามีอิทธิพลต่อการศึกษาของท่านก็มีได้แก่
1. Art World ("โลกศิลปะ") ของโฮวาร์ด เบคเกอร์ (Howard Becker) นักสังคมวิทยา ตามแนวทางของเบคเกอร์ "โลกศิลปะ" นี้ จะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกผู้ทุกนามที่มีส่วนร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งกับกิจกรรมทางศิลปะนั้นๆ เช่นหากศึกษาภาพเขียน ก็จะเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ผู้ผลิตสี คนขายสี คนขายเฟรม ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ผู้ชม ผู้จัดพิมพ์ที่นำภาพไปลงตีพิมพ์ในหนังสือ นักวิชาการด้านศิลปะ ฯลฯ อาจารย์เคนเห็นว่าจากแนวทางนี้ อาจขยายต่อถึงในระดับระหว่างรัฐชาติ (Nation State) ได้หรือไม่ เพราะ Indonesian Art World ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น ภาพเขียนของจิตรกรอินโดนีเซียมีตลาดอยู่ทั้งในสิงคโปร์ ตะวันออกกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ศิลปะร่วมสมัยของอินโดนีเซียก็มิได้เกิดขึ้นเป็นเอกเทศอย่างโดดเดี่ยว หากแต่กลับได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกอย่างมากมาย
2. Art Publics ของโธมัส โครว์ (Thomas Crow) นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ในที่นี้ public ของโครว์ มิได้หมายความถึงสาธารณชนหรือผู้ชมงานศิลปะโดยทั่วไป หากแต่หมายถึงแวดวงของคนที่สนใจหรือมีส่วนตัดสินระบบคุณค่าของ "งานศิลปะ" นั้นๆ เช่นผู้ผลิต หรือ เจ้าพ่อ / มืออาชีพ / นักเลง (connoisseur) ซึ่งก็เป็นวงเล็กๆ วงหนึ่งในพื้นที่สาธารณะ
3. แนวทางของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ซึ่งสนใจศิลปะในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรม / สังคม (cultural / social capital) ดังที่พบว่า การบริโภคกีฬา / ศิลปะ ก็มีลักษณะผูกพันกับชนชั้น (class orientation) เช่นในสังคมฝรั่งเศส คนที่ดูมวยปล้ำจะเป็นชนชั้นล่าง ต่างกับผู้ชมเทนนิสที่เป็นคนชั้นเหนือขึ้นไปกว่านั้น มีคนเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะเปลี่ยนเงินให้เป็น cultural / social capital สำหรับคนอินโดนีเซีย การมีรูปเขียนฝีมือปิรุอัสไว้ในครอบครอง ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงเพื่อการลงทุนในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายเป็นทุนในทางวัฒนธรรมด้วย
บทความสองชิ้นที่อาจารย์เคนเลือกมากล่าวถึงในการสัมมนาก็เกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องของปิรุอัส เรื่องแรก "Designs on Indonesia's Muslim Communities" กล่าวถึงการสร้างพระคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับเอกราช (Al-Qur'an Mushaft Istiqlal) ในระหว่างปี ค.ศ.1991-1995 (อินโดนีเซียเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการได้เอกราชในปี 1995) การสร้างพระคัมภีร์นี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลซูฮาร์โต แต่ขณะเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องก็มีทั้งบรรดาศิลปิน ผู้รู้ในทางศาสนาอิสลาม และเจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยมีปิรุอัสเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในฝ่ายศิลปิน
ในส่วนของผู้รู้ฝ่ายศาสนาอิสลามนั้น ก็มีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของอักขระถ้อยคำอย่างละเอียดละออที่สุด ส่วนกลุ่มศิลปินก็จะต้องค้นคว้าและคัดเลือกลวดลายประดับจากเขตวัฒนธรรมมุสลิมต่างๆ ในอินโดนีเซีย มาผสมกันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาออกแบบเป็นลวดลายประดับตามขอบของใบบรรณแต่ละหน้า แล้วลงสีด้วยมือทั้งหมด
อาจกล่าวได้ว่า การสร้างพระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับนี้ เป็นเวทีที่อุดมการณ์ต่างๆ ในสังคมอินโดนีเซีย ได้มาแสดงออก หรือมาปะทะต่อรอง "ความหมาย" ต่างๆ ที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ "ชาตินิยม" "ความเป็นมุสลิม" หรือ "ความเป็นสมัยใหม่" เช่นสำหรับรัฐบาล การที่นำลวดลายจากชุมชนมุสลิมต่างๆ มาประดับตกแต่งก็สื่อความถึงความเป็น "อินโดนีเซีย" ที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มภาษาที่แตกต่างกันในเกาะต่างๆ แต่ทั้งหมดมีแกนหลักร่วมกันคือศาสนาอิสลาม แต่สำหรับกลุ่มศิลปิน การเลือกใช้ลวดลายจากเกาะต่างๆ นั้น เป็นการท้าทายโดยตรงกับการครอบงำของวัฒนธรรมชวา ที่อวดอ้างตนเองเป็นกระแสหลักของวัฒนธรรมมุสลิมอินโดนีเซีย ปิรุอัสนั้นถึงกับเลือกใช้ลายจากจังหวัดอาเจะห์ (Aceh) ในเกาะสุมาตราอันเป็นถิ่นกำเนิดของตัวเขาเอง มาใช้ในส่วนแรกและส่วนสุดท้ายของพระคัมภีร์
ส่วนบทความเรื่องที่สอง เป็นเรื่องว่าด้วยเหตุการณ์ที่ปิรุอัสตามหาภาพเขียนที่ถูกขโมยไป แล้วลงเอยด้วยการค้นพบกระบวนการปลอมภาพเขียนของเขา ซึ่งกระทำโดยหลานของเขาเอง เรื่องนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับ "โลกศิลปะ" ที่งานของปิรุอัสเป็นสินค้าขายดี แม้จนถึงช่างเขียนในบาหลีก็ยังก็อปปี้ภาพเขียนของเขาไว้ขายเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
บทความแต่ละเรื่องของอาจารย์เคนนั้น มีรายละเอียดและประเด็นถกเถียงทางวิชาการที่กว้างขวางเกินกว่าจะสรุปมากล่าวถึงในที่นี้ได้ คงต้องขอให้ผู้ที่สนใจลองหาอ่านดูเอาเอง แต่ความรู้สึกบางอย่างของผู้รายงานที่มีต่อปิรุอัส (เฉพาะที่ได้ฟังในการสัมมนานี้) ก็คือศิลปินรายนี้คงต้องเป็นระดับ "เจ้าพ่อ" ที่มีบารมีสูงยิ่งในวงการศิลปะร่วมสมัยของอินโดนีเซียทีเดียว ยิ่งเมื่อพิจารณาจากความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง การสนับสนุนอุดมการณ์กระแสหลัก (ไม่ว่าส่วนตัวของเขาจะอ้างอย่างไร) ก็ชวนให้นึกถึงปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันในวงการ "ศิลปะ" ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอภิมหาภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ หรือเรื่องอื่นๆ
นอกจากนั้นแล้ว ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างนักมานุษยวิทยากับเจ้าพ่อแห่งวงการนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นักมานุษยวิทยาก็ได้ข้อมูลที่ต้องการสำหรับงานวิจัย ได้มีโอกาสเข้า "คลุกวงใน" กับชนชั้นสูง ในขณะที่ทางฝ่ายศิลปินก็ได้มี "เพื่อน" เป็นนักวิชาการต่างชาติ ที่เป็นกระบอกเสียงในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี ในตอนท้าย อาจารย์เคนยังเล่าด้วยว่า เขาได้รับเกียรติให้เขียนประวัติของปิรุอัสเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับสูจิบัตรงานแสดงภาพเขียนครั้งใหญ่ของศิลปินอาวุโสท่านนี้ ในปีหน้าด้วย
เอกสารอ่านประกอบการสัมมนา
มานุษยวิทยากับการศึกษารัฐ
newspaper clipping: "Leader Threatens to Arrest Namibian Gays."
Foucault, Michel. Discipline and Punish: the birth of the Prison. New York: Vintage Books, 1977. pp. 3 - 10, 23 - 24, 29 - 31.
Steinmetz, George. Introduction: culture and the state, in State/Culture: state - formation after the cultural turn, edited by George Steinmetz. Ithaca: Cornell University Press, 1999. pp. 1 - 8.
Hobsbawm, Eric. Mass - Producing Traditions: Europe, 1870 - 1914, in The Invention of Tradition, edited by Eric Hobsbawm. Cambridge: Cambridge University Press, 1983. pp. 263 - 272.
Bock, Gisela. Racism and Sexism in Nazi Germany: motherhood, compulsory sterilization, and the state, in Different Voices: women and the holocaust, edited by Carol Rittner and John K. Roth. New York: Paragon House, 1993. pp. 161 - 186.
Fox, Richard G. Cultural Dis - Integration and the Invention of New Peace - Fares, in Articulating Hidden Histories: exploring the influence of Eric R. Wolf, edited by Jane Schneider and Rayna Rapp. Berkeley: University of California Press, 1995. pp. 275 - 287.
Bowie, Katherine. Rituals of National Loyalty: an Anthropology of the village scout movement in Thailand. New York: Columbia University Press, 1997. pp. 1 - 16.
Darlington, Tenya. "Forbidden Love," The Isthmus. Madison: Wisconsin, June 1, 2001. pp. 12 - 13.
ปริมณฑลสาธารณะ
Habermas, J?rgen. The Public Sphere, in Rethinking Popular Culture: contemporary perspectives in cultural studies, edited by Mukerji and Schudson. Berkeley: University of California Press, 1991. pp. 398 - 404.
Fraser, Nancy. Rethinking the Public Sphere, in Habermas and the Public Sphere, edited by Craig Calhoun. Cambridge: MIT Press, 1992. pp. 109 - 142.
Ortner, Sherry. "Resistance and the Problem of Ethnographic Refusal," Comparative Studies in Society and History. 37 (1), 1995. pp. 173 - 193.
ทิศทางใหม่ของคติชนวิทยา
Bendix, Regina. From Fakelore to the Politics of Culture: the changing contours of American folkloristics, in In Search of Authenticity: the formation of folklore studies. Madison: University of Wisconsin Press, 1997. pp. 188 - 218.
Narayan, Kirin and Kenneth M. George. Interviewing for Folk and Personal Narrative, in The Handbook of Interviewing, edited by Jay Gubrium and James Holstein. New York: Sage.
Limon, Jose E. The Native Dances, in Dancing with the Devil: society and cultural poetics in Mexican - American South Texas. Madison: University of Wisconsin Press, 1994. pp. 141 - 167.
มานุษยวิทยากับโลกศิลปะ
George, Kenneth M. "Designs
on Indonesia's Muslim Communities," Journal of Asian Studies. 57 (3), 1998:
693 - 713.
__________________. "Signature Work: Bandung, 1994," Ethos. 64 (2), 1999:
212 - 231.
Bourdieu, Pierre. The Field of Cultural Production. New York: Columbia University Press, 1993. pp. 29 - 45, 176 - 191, 254 - 266.
ต่อ "พรมแดนความรู้ทางมานุษยวิทยา"(ตอนที่ 2)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม