หมายเหตุ
: สำหรับ webpage นี้ ประกอบด้วย 2 บทความ คือ
1. บทความถอดเทปจากชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ช่วง ดร. เกษียร เตชะพีระ นำการสนทนา
2. บทความเรื่อง "จิตใจเป็นเจ้าของชาติ" โดย ดร. เกษียร เตชะพีระ
(จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 21 กค. 2544)
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : สำหรับชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในภาคการศึกษานี้ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วใน 5 หัวข้อด้วยกัน นับตั้งแต่หัวข้อเรื่อง "เจาะเวลาหาเวลา"(1), "ภิกษุณี คติหรืออคติ"(2), "ภิกษุณี ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้"(3) และ "นิติบัญญัติจากหมู่บ้าน"(4), จนมาถึงครั้งนี้ซึ่งจะพูดคุยกันในหัวข้อเรื่อง "กระแสชาตินิยม"(5) จะเป็นครั้งสุดท้าย
ในประเด็นเกี่ยวกับ"กระแสชาตินิยม" ทุกๆท่านก็คงมีประสบการณ์มาแล้ว หลังจากที่บ้านเมืองเราประสบปัญหาต่างๆที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ เราก็มีการปลุกกระแสชาตินิยมดังกล่าวขึ้นมาอีก ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีการขานรับกันโดยทั่วไป ด้วยปฏิกริยาที่แตกต่าง หรืออย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่กี่เดือนเกี่ยวกับกรณีขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพม่า และที่ล่าสุดก็คือลาว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราน่าจะนำประเด็นนี้ขึ้นมาคุย ลองดูกันว่าได้เกิดอะไรขึ้นสำหรบช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมา 2-3 ปีนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เราได้รับเกียรติจาก อ.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ได้สละเวลามาจากกรุงเทพฯ เพื่อจะมานำการพูดคุยในวันนี้ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาพวกเราจึงอยากจะขอเริ่มรายการวันนี้เลย ขอเรียนเชิญอาจารย์เกษียร ค่ะ
เกษียร เตชะพีระ : เมื่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเริ่มตั้งใหม่ๆ ผมได้ข่าวจากงานเขียนในที่ต่างๆ ซึ่งคนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบอกว่า ถ้ามีคนมาพูดนำในชั้นเรียนของที่นี่ ก็จะให้พูดกันคนละ 15 นาที จะไม่ให้พูดยาวเพราะว่า ใครสักคนที่พูดยาวเกิน 15 นาที ที่เลย 15 นาทีไปแล้วจะเป็นเรื่องเหลวไหล ดังนั้นผมจึงเตรียมมาให้เสร็จภายใน 15 นาที ถ้ามันเลยไปบ้าง ที่มันเลยไปนั้นถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหลก็แล้วกันนะครับ
ที่ผมเตรียมมาก็คือเรื่อง "ชาตินิยม" สิ่งที่จุดให้คนสนใจเรื่องนี้คงจะเป็นกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะชาตินิยมในการทำหนังและดูหนังกันในระยะหลัง เช่น เรื่อง บางระจัน, สุริโยไท, และต่อไปก็จะมีเรื่อง ท้าวสุรนารี และมีเรื่อง พระนเรศวร ตามมา. แต่ว่าแทนที่จะพูดถึงสิ่งเหล่านั้น และคิดว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่เข้าท่าหรือผมไม่เห็นด้วยตรงไหน ? ผมอยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่ง
ผมอยากจะพูดถึงเรื่องชาตินิยมที่ผมคิดว่า มันมีรากอยู่ในเมืองไทย แล้วมันเป็นชาตินิยมที่ผมชอบ. ดีหรือไม่ดีเถียงกันได้ แต่ชาตินิยมแบบนี้ผมชอบ ถ้ายี่ห้อนี้ ผมเอา. ผมได้แบ่งเรื่องที่จะคุยในวันนี้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ
ประเด็นแรก ผมอยากจะพูดถึง
"จุดกำเนิดความคิดเรื่องชาติไทย" แบบที่ผมชอบ ซึ่งผมคิดว่าเกิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2475
แล้วก็เป็นจุดกำเนิดของชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตย.
ประเด็นที่สอง "ความคิดเกี่ยวกับชาติที่ต้องการให้ชาติเป็นประชาธิปไตย"
หรือฝันถึงชาติไทย อยากให้ชาติไทยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกับประชาธิปไตย ซึ่งมันนำไปสู่ประเด็นที่ว่า
ความรักชาติอีกแบบหนึ่ง. คือรักชาติ ไม่ใช่เพราะชาตินี้เป็นชาติไทย เพราะเราเป็นคนไทย
เราจึงรักชาติหรือเปล่า, แต่รักชาตินี้เพราะชาตินี้เป็นประชาธิปไตย
ประเด็นที่สาม ผมอยากจะดึงมาสู่ประเด็นที่เข้ามาใกล้ตัวกับสถานการณ์ปัจจุบัน
หลังจากที่ได้ย้อนอดีตให้ฟังถึงกำเนิด แล้วก็แนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมแบบนี้ ก็คือว่า
ในสมัยปัจจุบันที่เราพูดกันเรื่องโลกาภิวัตน์กันมาก มันจะเข้าไปเกี่ยวพันกับความคิดเรื่องชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร
?
อันแรกคือ ผมตั้งคำถามแรกๆว่า แทนที่จะบอกว่าชาติไทยเกิดขึ้นเมื่อประมาณหลายพันปีก่อนที่เทือกเขาอันไต หรือเกิดขึ้นเมื่อมีภาษาไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผมอยากจะเชื่อว่า ชาติไทยแบบที่ผมชอบซึ่งเป็นประชาธิปไตย เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2475 แล้วผมคิดว่าชาติในความหมายสมัยใหม่จริงๆ ก็เกิดขึ้นมาช่วงนั้น และผมอยากจะตั้งคำถามว่า คนที่ให้กำเนิดชาติไทย หรือคนที่มีส่วนร่วมให้ชาติไทยเกิดขึ้นในปี 2475 เขาฝันเห็นอนาคตของ คือ อยากให้ลูกของเขาที่คลอดออกมานั้น โตขึ้นแล้วเป็นคนยังไง หรืออยู่ในสังคมแบบไหน ?
วันที่ 24 มิถุนายน 2475, พันเอกพระยาพหลฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎร ได้ปีนขึ้นหลังรถ ตรงอนุสาวรีย์พระรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 แล้วอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกาศอันนั้น อาจารย์ปรีดี เป็นคนเขียน
อันที่จริงงานเขียนของอาจารย์ปรีดี ท่านเขียนงานไว้เยอะ แต่ในสายตาของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดังของเมืองไทยเราบอกว่า แกอ่านงานอาจารย์ปรีดีมาเยอะแล้ว แกเห็นว่าในบรรดาข้อเขียนของอาจารย์ปรีดี มีชิ้นนี้ที่เขียนขึ้นให้พันเอกพระยาพหลฯ อ่านเช้าวันที่ 24 เป็นงานที่มี feeling ที่สุด สะเทือนใจ และขนลุกซู่ที่สุด งานชิ้นอื่นอาจจะดีนะครับ ไม่ใช่ไม่ดี แต่อ่านแล้วไม่มัน
ทำไมมันถึงมัน เราต้องนึกย้อนนิดหนึ่งว่า ตอนนั้นยังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งหลักในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือ "คนเราไม่เท่ากัน". คนเราไม่เท่ากันก็เพราะ จากการเปรียบเทียบง่ายๆในสมัยนั้นก็คือ ก็ดูมือเราซิ, นิ้วเราทั้ง 5 ยังไม่เท่ากันเลย นิ้วโป้งอ้วนๆ นิ้วชี้ผอมๆ นิ้วกลางยาวที่สุด นิ้วทั้ง 5 ของคนเราไม่เท่ากันฉันใด คนเราก็ย่อมไม่เท่ากันฉันนั้น ในเมื่อคนเราไม่เท่ากัน คนที่มีสิทธิ์ในการปกครอง ก็น่าจะเป็นคนที่ดีที่สุด มีบุญาบารมีที่สุด อันนี้เป็นความคิดที่ครอบงำนะครับ
เมื่อมาดูในประกาศของคณะราษฎร ประกาศนั้นยาวและผมจะไม่พูดทั้งหมด ผมสนใจเพียง 1 ประโยค 12 คำ ในประกาศนั้น คือ ตอนนั้นเหตุผลประการหนึ่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ยอมให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยก็คือว่า "ราษฎรยังไม่พร้อม" เอาเข้าจริงราษฎรก็รู้สึกค่อนข้างโง่ด้วย ในเมื่อราษฎรโง่ เอาคนโง่มาปกครองก็ฉิบหายแน่ ใช่ไหม ? ดังนั้น เราฉลาด ให้เราปกครองไปพรางๆก่อนก็แล้วกัน จนกว่าท่านทั้งหลายจะฉลาด แล้วท่านค่อยมาปกครองร่วมกับเรา
ในประกาศของคณะราษฎร มีอยู่ 1 ประโยคบอกว่า "ถ้าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน" ประโยคแบบนี้ในความรู้สึกผม เป็นประโยคที่ใสมัยนั้น"กบฎอย่างยิ่ง" หรือว่า"ปฏิวัติอย่างยิ่ง" โดยเฉพาะเมื่อเราไปเทียบดูข้อเขียนความคิดความเห็นของผู้มีอำนาจที่พูดในสมัยนั้น อย่างเช่น จดหมายเหตุรายวันของในหลวงรัชกาลที่ 6.
ความคิดที่ว่าคนเราเสมอภาคกัน เสมอหน้ากันหมด ไม่ว่าจะออกมาในแง่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย หรือจะออกมาในแง่เศรษฐกิจเป็นระบอบ socialist จะถูกโจมตีหมด เพราะฉะนั้นการยืนยันอันนี้ออกมา ผมคิดว่าเป็นข้อคิดที่แหวกยุคแหวกสมัยแล้วก็มีพลังอย่างยิ่ง
ลองคิดดู "ถ้าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน" ภายในประโยคสั้นๆที่มี 12 คำ มันพยายามจะบอกอะไรเราบ้าง ?
ผมว่าแวบแรกหลังจากอ่านประโยคนี้ สิ่งแรกที่บอกับเราก็คือว่า "คนเราเท่ากัน" คือหลัก equality ความเสมอภาค. เพราะฉะนั้นถ้าคุณมาติว่าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่ด้วย. อันนี้อ่านแวบแรกก็เห็นเลย. แต่ผมคิดว่าไม่ใช่มีหลักแค่ความเสมอภาคเท่านั้น เรามานั่งคิดดูต่อไป "ถ้าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่ เพราะ " คำอธิบายว่าทำไมคนเราเท่ากัน คือว่า ถ้ากูโง่ มึงก็โง่, ถ้ากูฉลาด มึงก็ฉลาด งั้นมึงกับกูเท่ากัน, แต่เพราะอะไร ? "เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน".
อันนี้น่าสนใจมาก เพราะแทนที่จะบอกว่า "ถ้าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่ เพราะเราเป็นคนเหมือนกัน" อันนี้จะต่างกัน เนื่องจากเป็นการยืนยันความเสมอภาคบนฐานที่ว่า เราทุกคนเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้เขียนบนฐานนี้ แต่เขาเขียนบนฐานว่า "ถ้าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่เพราะเราเป็นคนชาติเดียวกัน" ก็คือเราเป็นคนไทยเหมือนกัน.
ขยายความออกไปอีก เพราะมันมี something ในชาติ ในความเป็นไทยที่ทำให้เราเหมือนกันอย่างยิ่ง เป็นก้อนเดียวกันอย่างยิ่ง กลมกลืนกันอย่างยิ่ง มันเป็นความเสมอภาคที่เราอธิบายความเสมอภาคได้หลายร้อยแบบ อย่างเช่นบอกว่า "ถ้านักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มช. โง่, นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มช. ก็โง่เหมือนกัน เพราะเราเป็นชาว มช. เหมือนกัน. นั่นคือการยืนยันความเสมอภาคบนฐานของการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แต่สิ่งที่เขาเลือกมาเป็นคำอธิบายตรงนี้ก็คือ"ความเป็นคนชาติเดียวกัน" ก็คือกำลังเสนอว่า ในสิ่งที่คุณเรียกว่าเป็น"ชาติ" ไม่เพียงแต่เท่ากัน แต่ในความเท่ากันนั้นเกิดจากความเหมือนกันอย่างยิ่ง
เวลาที่เราบอกว่าเราเป็นคนชาติเดียวกัน มันมีอะไรบางอย่างในความเป็นชาติที่ทำให้เราทั้งหมดเป็นก้อนเดียวกัน มีความเป็นปึกแผ่นเดียวกันอย่างยิ่ง แล้วอันนั้นล่ะที่ทำให้เราเท่ากัน
ทีนี้ถ้าเราเท่ากัน แล้วถ้าชาติมันมีความเป็นปึกแผ่นเดียวกัน มันมีความเสมอเหมือนกันยิ่งแล้ว มันนำไปสู่ประการที่ 3 ก็คือ เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข. ลองนึกถึงนครอบครัว สมมุติว่ามีพ่อ แม่ และลูกอีก 3 คน, ถ้าพ่อบอกว่าวันนี้พ่อจะไปกินอาหารเยอรมัน แล้วลูก 3 คนบอกว่าวันนี้จะไปดูหนัง ในระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ถามว่า เราจะไปไหน ? ก็ไปกินอาหารเยอรมันใช่ไหมครับ ถึงแม้ว่าลูกจะ 3 เสียง ต่อพ่อ 1 เสียง ที่เสียงข้างมากแพ้เสียงข้างน้อยในระบอบพ่อปกครองครอบครัว เพราะคนเราไม่เท่ากัน ในเงื่อนไขของครอบครัว อำนาจพ่อโดยสถานะที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ,"พ่อ"ถือว่าใหญ่กว่า"ลูก"อยู่แล้ว
แต่ถ้าเรากำลังจินตนาการถึงสังคมหนึ่ง ซึ่งประการที่หนึ่งคนเราเท่ากันอย่างยิ่ง, ประการที่สองที่เราเท่ากันเพราะเราเป็นคนชาติเดียวกัน. เมื่อคนเราเท่ากัน ไม่มีเหตุผลใดๆที่พอจะฟังขึ้น ที่ทำไมคนที่เท่ากันบางคน จึงควรจะมีสิทธิปกครองเหนือคนที่เท่ากันอีกจำนวนมากได้. ถ้าเท่ากันจริง อำนาจย่อมไปอยู่กับคนที่เท่ากันเหล่านั้นที่มีจำนวนมาก ก็คือนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในชาติที่คนเราเท่ากันแล้วเป็นปึกแผ่นที่เสมอเหมือนกันนี่ มันควรที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ถ้ามาถึงจุดนี้ ประโยคสั้นๆที่ว่า "ถ้าราษฎรโง่ จ้าวก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน" ซึ่งพูดออกมาเมื่อวันจุติชาติไทยสมัยใหม่ ที่เดิมที 24 มิถุนานี่ รัฐบาลหลวงพิบูลย์ฯได้กำหนดให้เป็นวันชาติ แล้วเพิ่งเลิกไปหลังรัฐบาลสฤษฎิ์. ณ วันที่ชาติไทยสมัยใหม่ คือคำว่า"ชาติ"แบบ modern มันจะไม่ใช่ชาติแบบที่เข้าใจกันโดยส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา คือเป็นชาติที่มีคนบางคนซึ่งมีบุญาธิการ มีสิทธิปกครองเหนือคนอื่น ไม่ใช่นะ.
คติ"ชาติสมัยใหม่"คือคติที่คนเราเท่ากัน และเท่ากันเพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ดังนั้นการนำเสนอในคตินี้ ซึ่งทำให้เราพอพูดได้ว่า 24 มิถุนา 2475 เป็นวันจุติชาติไทยสมัยใหม่. ชาติไทยที่ถูกฝัน ถูกจินตนาการจากคณะบุคคลที่ให้กำเนิดมัน ซึ่งก็คือคณะราษฎรว่า "เป็นชาติที่เสมอภาค", "เป็นหนึ่งเดียวกัน" และ"เป็นประชาธิปไตย".
คุณเกิดวันนี้, ในชีวิตอนาคตของคุณ,
ผมผู้ให้กำเนิดคุณ, ฝันว่าคุณจะโตขึ้นในสังคมที่
1. เสมอภาคกัน
2. เป็นหนึ่งเดียวกัน และ
3. เป็นประชาธิปไตย
ที่ซึ่งถ้าเราเชื่อแบบนี้ ในชาติที่คณะบุคคลกลุ่มนี้สร้างขึ้น ความไม่เสมอภาคควรเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ในภาษาของท่านอาจารย์ปรีดี เอง บอกว่า "อุบาทว์กาลีโลก". ผมคิดว่านี่เป็นความฝันแห่งชาติ เป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดี ฝันให้ชาติไทยที่ได้อภิวัฒน์ให้เกิดขึ้น ท่านอยากให้เป็นอย่างนี้.
คำถามคือ ตั้งแต่ 24 มิถุนา 2475 จนมาถึงทุกวันนี้ ในยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ชาติไทยเราเสมอภาคกันหรือไม่ ? เป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่ เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ? ประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นมาประมาณ 60-70 ปีนี่ มีความเท่ากันอย่างที่ฝันอยากจะให้เท่ากัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างที่ชาตินี้เกิดขึ้นมาอยากจะให้เป็นหรือเปล่า ?
มาถึงประเด็นที่สอง มันมีข้อเขียนชิ้นหนึ่ง เป็น memoir ของลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดีคนหนึ่ง ชื่อคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ งานเขียนที่พูดถึงชื่อว่า "เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ" ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือธรรมศาสตร์ 50 ปี เมื่อปี 2527.
คุณหญิงแร่ม เป็นคนที่น่าสนใจตรงที่ว่า เป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย เมื่อปี 2473 ก่อนหน้านั้นก็เป็นผู้ชายทั้งนั้นที่เข้าโรงเรียนกฎหมายแล้วจบออกมา เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่จบออกมา หลังจากนั้นก็เป็นทนายความอิสระ ทำงานสำนักงานทนายความฝรั่ง เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มของอาจารย์ปรีดี มาโดยตลอด. อาจารย์ปรีดีใช้ให้ทำงานต่างๆ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และมามีบทบาทต่อเนื่องในสมัยเสรีไทย จนกระทั่งก่อน 6 ตุลา 2519 คุณหญิงแร่ม ท่านก็ยังเป็นวุฒิสมาชิกอยู่ด้วย ท่านก็โดนกล่าวหาเหมือนกับคนจำนวนมากในสมัยนั้น ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสท์บ้าง เป็นนักสังคมนิยมบ้าง
ใน memoir ของคุณหญิงแร่ม มีอยู่ย่อหน้าหนึ่ง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก แล้วอยากจะให้พวกเราได้ฟัง คุณหญิงแร่มได้เล่าย้อนหลังไปถึงปี 2475 ใหม่ๆ ตอนนั้นเป็นเนติบัณฑิต :
"เป็นเรื่องที่ประหลาดจริงๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่ทราบว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราเนติบัณฑิตรุ่นเดียวกัน 2473 และรุ่น 2474 รุ่น 2475 รวมทั้งรุ่นที่กำลังเรียนในปี 2476 จึงมารวมใจและคบกันได้อย่างสนิทสนม และมีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า เราจะช่วยประเทศชาติทุกวิถีทาง "
เราพักแค่นี้ก่อน คือ หลัง 2475 มันเกิดอะไรบางอย่างแปลกประหลาด ก็คือว่า เนติบัณฑิตรุ่นเดียวกันเกิดความกลมเกลียวสามัคคีกันมาก แล้วเกิดความรักชาติ มีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า เราจะช่วยประเทศชาติทุกวิถีทาง. ทีนี้ลองมาดูข้อความต่อไป :
"ถ้าจะถามความรู้สึกว่า
เราเดือดร้อนอะไรหรือในการที่เราอยู่ในปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราจะตอบทันทีว่า
เรารักในหลวง เราไม่เคยเดือดร้อนอะไรเลย แต่คำว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีราษฎรมีสิทธิออกเสียงด้วยได้นั้น
เป็นความรู้สึกที่พูดไม่ถูก เรารู้สึกกระหยิ่มยิ้มย่องขึ้นมาทันทีว่า เรามีส่วนรับผิดชอบในชาติของเรา
แต่เรายังรักในหลวงของเราไม่เสื่อมคลาย"
[หมายเหตุ : "เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ"
ในหนังสือ ธรรมศาสตร์ 50 ปี (2527) น.288, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ]
ผมคิดว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจอย่างมากอยู่ในข้อความสั้นๆนี้ ก็คือ อันนี้เป็นการพพูดถึงปี 2475 ที่เธอกับพวกเกิดความรักชาติ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เกิดความรักชาติขึ้นมาโดยพร้อมเพรียง ความรักชาติอันนี้เกิดจากอะไร ? ผมคิดว่าจากคำอธิบายข้างต้น เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า"ประชาธิปไตย" แต่ที่น่าสนใจคือ เธอได้นิยามหรืออธิบายคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันนี้อย่างไร ? คือถ้าเราฟังทั้งหมด มันแปลได้คือ "มีสิทธิ์, มีส่วน, มีเสียง, ในการรับผิดชอบ".
อยู่ใต้ระบอบเก่าเดือดร้อนไหม ? ไม่เดือดร้อน. รักในหลวงไหม ? รัก. อยู่ในระบอบใหม่รักในหลวงไหม ? ก็ยังรักในหลวง. แต่มันมีบางอย่างที่ระบอบประชาธิปไตยให้, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ให้ เพราะให้ไม่ได้. สิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ไม่ได้ก็คือ ไม่สามารถให้คนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรักในหลวง มีสิทธิ์ มีส่วน มีเสียง มีความรับผิดชอบในชาติ เพราะชาติเป็นของในหลวง แผ่นดินเป็นราชสมบัติ.
รักในหลวงไหม ? รัก. แล้วรู้สึกอย่างไรต่อชาติ ? กับชาติ มันไม่ใช่อะไรที่เขาจะไปมีสิทธิ์ มีส่วนรับผิดชอบ. คือ ฝนตก, ฟ้าร้อง, น้ำแล้ง, ก็เพราะบุญญาธิการ มันไม่เกี่ยวกับเรา. แต่มันมีอะไรบางอย่างที่ระบอบประชาธิปไตยให้ ซึ่งทำให้เราได้เข้าไปเกี่ยวกับชาติ อย่างไม่สามารถปลีกตัวหรือแยกตัวออกไปได้. เพราะบัดนี้เรามีสิทธิ์ในชาติ มีส่วนในชาติ อะไรเกิดขึ้นกับชาติเราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาตินั้นด้วย แล้วอันนี้ล่ะที่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้ไม่ได้. และอันนี้ล่ะที่ทำให้เรารักชาติ.
คือรักชาติ เพราะชาติเป็นประชาธิปไตย ชาติเปิดโอกาสให้เรามีสิทธิ์ มีส่วน มีความรับผิดชอบในชาติ. หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ระบอบประชาธิปไตยได้ให้สิ่งหนึ่ง ซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถให้ได้ คือ "จิตใจเป็นเจ้าของชาติ".
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจจะเป็นระบอบที่ดีมากกับคนกลุ่มแบบคุณหญิงแร่ม มีความสุขเต็มที่ แล้วคุณหญิงแร่ม ก็รักในหลวงเต็มที่ แต่คุณหญิงแร่มไม่อาจมีจิตใจเป็นเจ้าของชาติภายใต้ระบอบเก่าได้ เพราะในระบอบเก่า, "ชาติ"ไม่ใช่ของคุณหญิงแร่ม.
ผมคิดว่ามันมีความเปรียบที่จะทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายก็คือ ผมอยากให้คิดถึงรถเมล์ ใครที่เคยขึ้นรถเมล์ที่กรุงเทพฯ คงจะรู้สึกว่ามันมากเลย. พอคุณขึ้นไป กระเป๋าก็จะไล่ให้เราขึ้นเร็วๆ แล้วให้ชิดเข้าข้างในเพื่อจะอัดให้เต็ม พอถึงป้ายก็จะถามว่ามีใครลงหรือเปล่า พอจอดปุ๊บ ยังไม่ทันที่เราจะพาเท้าเราลง ก็ไล่อีกให้เร็วๆ พูดอย่างกับว่าเราอยากจะอยู่บนรถเมล์คันนี้นานอีกสักวินาทีหนึ่ง. เปล่าเลย เราอยากจะรีบพาตัวเราออกไปให้พ้น เพราะอันตรายมากเลย รถเมล์ในกรุงเทพฯจะแข่ง จะแซงกันตลอด แล้วคุณเป็นผู้โดยสาร ชีวิตความปลอดภัยของคุณทั้งหมด สวัสดิภาพของคุณทั้งหมด ฝากไว้กับคนขับ
คุณมีสิทธิ์ที่จะไปบอกโชเฟอร์ให้เปลี่ยนวิธีขับไหม ? มีเสียงที่จะบอกโชเฟอร์ว่าให้เปลี่ยนความเร็วไหม ? มีส่วนที่จะเป็นเจ้าของรถหรือการขับของโชเฟอร์ไหม ? ผมรู้สึกว่าบรรยากาศของผู้โดยสารบนรถเมล์นั้น มันคล้ายๆกับคนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือคุณกุมชะตากรรมของตัวเองไม่ได้เลย เสียวตลอด นั่งอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปพบหน้าลูกเมียหรือเปล่า รู้สึกชักจะแยกไม่ออกระหว่างรถส่งผู้โดยสารกับรถขนสัตว์ที่ไปส่งยังโรงฆ่าสัตว์ รู้สึกว่าชีวิตเรามันช่างไม่ค่อยมีความหมายเลยนะ มันราคาถูกมากเลย เหมือนกับหมูหมากาไก่ หรือเหมือนไก่ในเข่ง เพียงแต่ว่าตอนนี้ไม่ได้จิกตีกันเท่านั้น เพราะไก่ทุกตัวนั่งสั่นผับๆ คือไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่รถเมล์มันจะคว่ำ แล้วเราจะตายหรือจะรอด
เวลาที่ผมนั่งรถเมล์แบบนี้ผมอึดอัดมาก อึดอัดเพราะอันตรายส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่ง อึดอัดต่อความไม่มีอำนาจของตัวเอง ต่อความที่ตัวเองไม่มีปัญญาแม้แต่กระทั่งจะปกป้องตัวเอง หรือรับผิดชอบต่อชะตาชีวิตของตัวเอง คือถ้ารถคว่ำ แล้วตัวเราต้องตายตอนนี้ เราต้องตายแบบที่เราช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างเราฝากไว้กับโชเฟอร์ตีนผีคนนั้นคนเดียว แล้วเราก็ต้องยืนเบิ่งตาดูมัน ขับแบบเอาชีวิตเราเข้าไปเสี่ยง เราห้ามมันไม่ได้เลย
คืออึดอัดไม่เพียงแต่เฉพาะความไม่ปลอดภัย แต่อึดอัดต่อความไม่มีอำนาจเลยแม้แต่น้อยของตัวเอง ที่จะดูแลจัดการชะตาชีวิตของตัวเอง ในชั่วขณะแบบนั้น ผมอยากจะมีปืนพกสักกระบอก แล้วเจอคนขับแบบนี้ ผมจะย่องไปข้างหลังโชเฟอร์ ดึงปืนพกออกมา แล้วก็ขึ้นลำพร้อมทั้งจ่อไปที่ขมับโชเฟอร์ แล้วบอกว่า "พี่มันไหมพี่, ขับช้าๆได้ไหมพี่, เออช้าๆแบบนี้นะพี่, ขับดีๆนะพี่ เออ " ผมเคยคิดอย่างนี้จริงๆ แต่ก็ไม่ได้ทำสักที
ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจความรู้สึกของผู้โดยสารบนรถเมล์ นั่นคือความรู้สึกของผู้ไม่มีจิตใจเป็นเจ้าของ มีความรู้สึกของตนที่ไม่มีอำนาจเลย แบบที่อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งผมรู้สึกว่าในระบอบประชาธิปไตย มันแก้ปัญหาตรงนี้.
คือถ้าจะเปรียบระบอบประชาธิปไตย มันเหมือนรถเมล์คันที่ re-enginering ใหม่. คือเป็นรถเมล์แบบที่ผู้โดยสารมีอำนาจกำกับดูแลเหนือคนขับ คือคนขับต้อง accountable หรือรับผิดชอบกับผู้โดยสาร ไม่ใช่รับผิดชอบต่ออู่ หรือใครไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวกับพวกเรา. ผู้โดยสารร่วมกันกำหนดเส้นทางรถวิ่ง ไม่ใช่ว่ามันจะวิ่งไปไหนก็แล้วแต่มัน จนกระทั่งผลัดกันมาลงมือขับกันเองบ้างตามควรแก่กรณี, อันนี้เราไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนแล้วนะ เรากำลังจะพูดถึงประชาธิปไตยโดยตรง. ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหัดขับรถให้เป็น.
ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่แก้ปัญหาผู้โดยสารที่ไม่มีอำนาจ กับโชเฟอร์ตีนผีตรงนี้ ทีนี้ เราไม่ได้กำลังกลับไปสู่ระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยเท่าที่ผมเข้าใจ แต่ผมคิดว่ามันมีสถานการณ์บางอย่างในสังคมเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มันดึงไปสู่จุดนั้น คือเราจะพบว่า นับวันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ที่กิจการในประเทศของเรา ในบ้านเมืองของเรา ที่มันหลุดจากมือ อำนาจประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ เราไม่มีสิทธิ์คุม.
การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน การกำหนดนโยบายการเงิน มันกลายเป็นเรื่องที่กลายไปอยู่ในองค์กรต่างชาติบ้าง ไปอยู่ในมือของเจ้าหนี้บ้าง กระทั่งไปอยู่ในมือของกลไกตลาด ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด คือเราอยู่ในระบอบที่เรากลับไปเหมือนกับอยู่บนรถเมล์ที่เราคุมมันไม่ได้ แล้วมันพาเราแล่นตะบึงไปเรื่อยๆ และก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะกำกับ หรือมีสิทธิ์กำกับตัวเองน้อยลง
ผมอยากจะอ้างอิงข้อคิดของนักวิจารณ์สังคม 2 คน ที่ได้พูดถึงระบอบนี้ คนแรกชื่อ เนา มิคลาย เป็นนักคิดนักหนังสือพิมพ์ชาวคานาดา เขาพูดถึงประเด็นความเกี่ยวพันระหว่าง"โลกาภิวัตน์ กับ ประชาธิปไตย"เอาไว้อย่างน่าสนใจ. ผมขอแปลให้ฟังดังนี้ :
"โลกาภิวัตน์ โดยแก่นแท้แล้ว คือวิกฤตในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน. อะไรก่อให้เกิดวิกฤตนี่หรือ ? เหตุผลพื้นฐานประการหนึ่งคือ การที่อำนาจและการตัดสินใจ ถูกหยิบยื่นและส่งผ่านไปยังจุดต่างๆที่ห่างไกลจากตัวพลเมือง ออกไปทุกที. อำนาจที่สำคัญ การตัดสินใจที่สำคัญ หรือเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตเรา นับวันมันได้หลุดจากมือเราไปเรื่อยๆ จากท้องถิ่นไปยังจังหวัด จากจังหวัดไประดับชาติ จากระดับชาติไปยังสถาบันระหว่างประเทศ (IMF, World Bank, หรือ ADB อะไรก็แล้วแต่) ซึ่งล้วนแต่ไม่โปร่งใส (ตัดสินอย่างไรไม่รู้ ใครก็ไม่รู้ที่เป็นคนมากำหนดตัดสินในเรื่องราวเหล่านี้ที่เกี่ยวพันกับ อัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงเรื่องที่มีความสำคัญต่อท้องของเรา ต่อการงานของเรา แต่ทุกวันนี้มันเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากคนที่อยู่ห่างไกลเราเหลือเกิน) และไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครทั้งสิ้น. (ทางออกสำหรับเรื่องนี้คืออะไร ?) เราจะต้องผนึกประชาธิปไตยทางเลือกแบบมีส่วนร่วมให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา"
อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มาจาก เบนจามิน บาร์เบอร์ ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ ที่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง"ประชาธิปไตย กับ โลกาภิวัตน์" แกทิ้งคำถามไว้สั้นๆว่า "ประชาธิปไตยจะเอาตัวรอดไปจากโลกาภิวัตน์ได้หรือไม่ ?" แกเสนอทางออกว่า "ได้ ถ้าหากคุณทำให้ประชาธิปไตยมันเป็นปรากฎการณ์ในระดับโลก"
ผมคิดว่าประเด็นที่ผมเตรียมมาแค่นี้มันเกิน
15 นาทีแล้ว และหลายๆอย่างที่ผมพูดในตอนท้ายมันอาจจะเป็นเรื่องเหลวไหล ต่อจากนี้ขอเชิญเลยนะครับ
พูดคุยกันหรือจะถกเถียงกันต่อไป ไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ก็ได้นะครับ
ขอบคุณครับ
[หมายเหตุ : ช่วงที่เปิดให้มีการสนทนาในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
อยู่หน้าถัดไป ผู้สนใจสามารถคลิกไปอ่านได้จากตรงนี้]
ภาคผนวก
บทความเรื่อง"จิตใจเป็นเจ้าของชาติ"ต่อไปนี้
อ.เกษียร เตชะพีระ ได้เขียนขึ้นมาเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่
21 กรกฎาคม 2544
อันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหัวข้อที่มาบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงได้ยกมารวมอยู่ในที่นี้
เพื่อเสริมความเข้าใจให้กับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
ใ
ในปาฐกถาเรื่อง "ชาตินิยมตะวันตกกับชาตินิยมตะวันออก:มีข้อต่างกันอย่างสำคัญหรือ?" ("Western Nationalism and Eastern Nationalism : Is there a difference that matters?") ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนเมษายนศกก่อน ครูเบ็น แอนเดอร์สัน ผู้ศึกษาเรื่องชาตินิยม ได้สำรวจเปรียบเทียบขบวนการชาตินิยม ต่างๆ ใน 6 ทวีปทั่วโลก (อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, ยุโรป, เอเชีย, แอฟริกา, ออสเตรเลีย) แล้วประมวลสรุปว่า
ในประวัติศาสตร์ 200 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่ขบวนการชาตินิยมอุบัติขึ้นในโลก ไม่ว่ามันจะอยู่ใน ซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออก ต่างก็มีลักษณะร่วมกันหลักๆ พอจำแนกได้เป็น 5 ประเภทคือ: -
1) ชาตินิยมลูกผสม (creole nationalism) เป็นรูปแบบแรกสุดของชาตินิยม ซึ่งเกิดจากจักรวรรดิโพ้นทะเลในยุคก่อนหรือต้นสมัยใหม่ ผู้บุกเบิกชาตินิยมประเภทนี้คือประชากรที่อพยพจากประเทศเมืองแม่เจ้าจักรวรรดิมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในดินแดนเมืองขึ้นชายขอบจักรวรรดิ พวกเขาร่วมศาสนา ภาษาและธรรมเนียม ประเพณีเดียวกันกับประเทศเมืองแม่ ทว่ากลับรู้สึกถูกกดขี่และแปลกแยกจากเมืองแม่มากขึ้นทุกที
ข้ออ้างความชอบธรรมประการหนึ่งของนักชาตินิยมลูกผสมก็คือพวกตนมีประวัติศาสตร์โดดเด่นเป็นเอกเทศจากเมืองแม่ ได้แต่งงานอยู่กินมีเลือดเนื้อเชื้อไขผสมเผ่าพันธุ์กับชาวพื้นเมืองเดิม อีกทั้งมีธรรมเนียม ประเพณี ภูมิประเทศ ภูมิอากาศเฉพาะถิ่นของตัว ฯลฯ ตัวอย่าง เช่น ขบวนการกู้อิสรภาพของสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาจากประเทศเมืองแม่เจ้าจักรวรรดิในยุโรประหว่าง ค.ศ.1776 ถึง 1830 และลักษณะบางด้านของชาตินิยมไต้หวันและชาตินิยมสิงคโปร์ในความสัมพันธ์กับประเทศจีนปัจจุบัน เป็นต้น
2) ชาตินิยมราชการ (official nationalism) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของชนชั้นปกครอง เจ้าขุนมูลนาย ศักดินา และเจ้าจักรวรรดิส่วนกลาง เพื่อแก้เกมรับมือชาตินิยมประชาชน (popular nationalism) จากเบื้องล่าง ที่พุ่งเป้าโจมตีพวกตน ชาตินิยมชนิดนี้จึงมีที่มาจากรัฐเบื้องบนและคิดในเชิงการควบคุมอาณาเขต ตัวอย่างเช่น ชาตินิยมรัสเซียของพระเจ้าซาร์ และ "ความเป็นชาติโดยแท้จริง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
3) ชาตินิยมประชาชน (popular nationalism) ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางกระแสต่อต้านจักรวรรดินิยมทั่วโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีพื้นฐานมาจากประชาชนและคิดในเชิงปลดแอกประชาชนให้ได้อิสรภาพ อาทิ ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติกู้เอกราชต่อต้านการรุกรานในจีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า ลาว ฯลฯ รวมทั้งขบวนการนักศึกษาประชาชนจาก 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งเข้าสมทบการต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชนในชนบทหลังถูกปราบปรามฆ่าหมู่ที่ธรรมศาสตร์และรัฐประหารโดยฝ่ายขวา
4) ชาตินิยมภาษา (linguistic nationalism) ปรากฏขึ้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในจักรวรรดิของราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปโดยมีรากทางปรัชญาจากทฤษฎีของ โยฮัน ก๊อตฟริด วอน เฮอเดอร์ (นักวิจารณ์วรรณกรรมและนักปรัชญาชาวเยอรมัน ค.ศ.1744-1803) และ ฌอง ฌ๊าก รุสโซ (นักปรัชญาชาวนครเจนีวา ค.ศ.1712-1778) แนวคิดพื้นฐานคือชาติที่แท้จริงย่อมมีภาษาและวรรณคดีเฉพาะตนอันเป็นตัวบ่งบอก เอกลักษณ์ที่แตกต่างจากชาติอื่นและแสดงออกซึ่งอัจฉริยภาพทางประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้น
ความคิดดังกล่าวนำไปสู่กระบวนการทุ่มเททำพจนานุกรมภาษาชาติต่างๆ ขนานใหญ่เพื่อสถาปนา มาตรฐานกลางแห่งชาติขึ้นมาเป็นแบบฉบับเดียวกัน แล้วค่อยๆ เบียดขับสำเนียงภาษาอันหลากหลายให้ตกต่ำ หดแคบลดฐานะลงเป็น "ภาษาถิ่น" ไป, มีการบันทึกวรรณกรรมมุขปาฐะลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วพิมพ์เผยแพร่, ขยายการศึกษาให้มหาชนอ่านออกเขียนได้ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อปลุกปั้นภาษาประจำชาติให้กลายเป็นตัวตนของชาติขึ้นมา และไว้เป็นด่านต้านทานการครอบงำด้วยภาษาใหญ่ของไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน
ขบวนการชาตินิยมภาษาดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่นั้นตัดสินกันที่การเมือง ตัวอย่างความสำเร็จใน เอเชียก็เช่น ญี่ปุ่น (สำเนียงโตเกียวกลายเป็นภาษาประจำชาติ), จีน (จีนกลาง), ไทย (สำเนียงไทยกรุงเทพฯ) ส่วนกรณีล้มเหลวได้แก่ อินเดียและฟิลิปปินส์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องหันกลับไปใช้ภาษาเจ้าอาณานิคมแต่เดิม (ภาษาอังกฤษ และอเมริกัน) เป็นภาษาราชการและสื่อสารกันในหมู่ชนชั้นนำระดับชาติ สำหรับเวียดนามและอินโดนีเซียนั้น กระบวนการสร้างภาษาประจำชาติลงเอยแบบครึ่งๆ กลางๆ กึ่งสุกกึ่งดิบ ...และสุดท้าย
5) ชาตินิยมทางไกล (long-distance nationalism) หมายถึงชาตินิยมที่ไม่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อดินแดนที่ตั้ง ในภูมิลำเนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนอีกต่อไป หากอาศัยอี-เมล์ อินเตอร์เน็ต อี-แบงกิ้ง สายการบิน ฯลฯ มาเป็นอุปกรณ์ปฏิบัติการรักชาติโดยไม่ต้องอยู่ใน(แผ่นดินของ)ชาติ นับเป็นชาตินิยมแบบไซเบอร์ คือลอยตัวเหนือพื้นที่กายภาพได้ เงื่อนไขที่บันดาลให้เกิดชาตินิยมทางไกลคือโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และกระแสอพยพข้ามชาติข้ามรัฐขนานใหญ่ไปสู่กลุ่มประเทศทุน นิยมศูนย์กลาง อาทิ กลุ่มลาว-ญวน-เขมรเสรีที่กลายเป็นพลเมืองอเมริกันแล้วช่วยกันลงขันหวนกลับมาวาง ระเบิดบ้าง เช่าเครื่องบินโปรยใบปลิวบ้าง ก่อรัฐประหารบ้างใน "ชาติ" ทางไกลของตน
ที่สาธกชาตินิยมนานาประเภทมาให้เห็นข้างต้นนี้ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่าเราไม่ควรด่วนผลีผลามเชียร์ หรือปฏิเสธชาตินิยมใดๆ อย่างมักง่ายโดยไม่พิจารณาดูเนื้อหา ที่มา และบริบทแวดล้อมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ของมันให้ดีเสียก่อน ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ชาตินิยมประเภทต่างๆ ผสมปนเป และขัดแย้งกันด้วยแล้ว ยิ่งควรพินิจพิเคราะห์และจำแนกอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้ง ระหว่างชาตินิยมประชาชนกับชาตินิยมราชการในที่ต่างๆ ของโลก อาทิ ในจีน (ระหว่างชาตินิยมของขบวนการ นักศึกษาประชาชนเทียนอันเหมิน กับ ชาตินิยมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ในอินโดนีเซีย (ระหว่างชาตินิยม ของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน กับชาตินิยมของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต)
รวมทั้งในประเทศไทยเราเอง ระหว่างชาตินิยมราชการที่ยึดชาติพันธุ์เป็นที่ตั้ง (ethnic nationalism) แล้วหันไปเล่นงานเจ๊กบ้าง แกวบ้าง พม่าบ้าง ลาวบ้าง เขมรบ้าง กะเหรี่ยงบ้าง แม้วบ้างตามแต่สถานการณ์ (ทว่าค่อนข้างเคารพรักเกรงอกเกรงใจฝรั่งกับญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุน ทัวริสต์ และนักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ดสม่ำเสมอ) กับชาตินิยมประชาชนที่ยึดสิทธิและการมีส่วนร่วมใช้อำนาจตัดสินใจทางการเมืองของพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง (civic nationalism) จิตใจชาตินิยมพลเมืองดังกล่าวอุบัติขึ้นในประวัติศาสตร์สยามสมัยใหม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ดังสะท้อนออกอย่างรวมศูนย์ในข้อความสั้นๆ หนึ่งย่อหน้าจากบันทึกความทรงจำของ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย ลูกศิษย์ใกล้ชิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอดีตวุฒิสมาชิกชุดก่อน 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ว่า: -
"เป็นเรื่องที่ประหลาดจริงๆ
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่ทราบว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราเนติบัณฑิตรุ่นเดียวกัน
2473 และรุ่น 2474 รุ่น 2475 รวมทั้งรุ่นที่กำลังเรียนในปี 2476 จึงมารวมใจและคบกันได้อย่างสนิทสนม
และมีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่า เราจะช่วยประเทศชาติทุกวิถีทาง ถ้าจะถามความรู้สึกว่า
เราเดือดร้อนอะไรหรือในการที่เราอยู่ในปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราจะตอบทันทีว่า
เรารักในหลวง เราไม่เคยเดือดร้อนอะไรเลย แต่คำว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีราษฎรมีสิทธิออกเสียงด้วยได้นั้น
เป็นความรู้สึกที่พูดไม่ถูก เรารู้สึกกระหยิ่มยิ้มย่องขึ้นมาทันทีว่า เรามีส่วนรับผิดชอบในชาติของเรา
แต่เรายังรักในหลวงของเราไม่เสื่อมคลาย"
"เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ" ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ,
ธรรมศาสตร์ 50 ปี (2527) น.288
จะเห็นได้ว่าสำหรับคุณหญิงแร่ม "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งโดยสารัตถะแล้วท่านหมายถึง "มีสิทธิออกเสียง" และ "มีส่วนรับผิดชอบในชาติของเรา" นั้นบันดาลใจให้ท่านและเพื่อนเนติบัณฑิตทั้งหลายเกิดความรักชาติและสมัครสมานกลมเกลียวกันที่ "จะช่วยประเทศชาติทุกวิถีทาง"
นี่คือชาตินิยมที่เกิดจากประชาธิปไตย เป็นความนิยมชาติ รักชาติเพราะชาติเป็นประชาธิปไตย หรือ นัยหนึ่ง civic nationalism ซึ่งแตกต่างเป็นคนละเรื่องกับ ethnic nationalism อันเป็นความนิยมชาติ รักชาติ เพราะเป็นชนชาติพันธุ์เดียวกัน และก็เลยพลอยรังเกียจรังแกคนต่างชาติพันธุ์ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นพลเมืองร่วมชาติเดียวกันหรือคนประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม
คุณหญิงแร่มยังเสริมว่า เอาเข้าจริงเมื่ออยู่ในระบอบเก่าแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านไม่เคยเดือดร้อนอะไรเลยและก็รักในหลวงด้วย แม้เปลี่ยนเป็นระบอบใหม่แห่งประชาธิปไตยแล้ว ท่านก็ยังคงรักในหลวงไม่เสื่อมคลาย แต่ถึงกระนั้น ก็มีอะไรบางอย่างที่ระบอบเก่าไม่ได้ให้แก่ท่านเพราะให้ไม่ได้ ขณะที่ระบอบใหม่มีให้ มันเป็นบางอย่างที่ให้ความรู้สึกที่พูดไม่ถูกและทำให้ท่านกระหยิ่มยิ้มย่อง
บางอย่างที่ว่านั้นคือสิทธิ คือเสียง คือการมีส่วนรับผิดชอบในชาติ "ของเรา" - ชาติซึ่งบัดนี้ได้กลายสภาพจากราชสมบัติ มาเป็นสมบัติของประชามหาชนร่วมกัน รวมทั้งของตัวท่านเองด้วยในฐานะพลเมืองคนหนึ่งตามระบอบประชาธิปไตย
จิตใจเป็นเจ้าของชาตินี่แหละที่ประชาธิปไตยมีให้ แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถให้ได้เพราะ เป็นระบอบที่รวบอำนาจเด็ดขาดสูงสุดไว้ที่กษัตริย์ ขณะที่ประชาชนไม่มีอำนาจ (powerlessness)
และจิตใจเป็นเจ้าของชาติ อันเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประชาธิปไตยกับชาตินิยมนี้อีกนั่นแหละที่กำลังถูกกระแสโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่พรากเอาไปจากประชาชนไทยและประชาชนชาติต่างๆ ทั่วโลก ทอดทิ้งให้ประชาชาติทั้งปวงสิ้นไร้อำนาจที่จะต่อรองหรือควบคุมชะตากรรมของตนเองเบื้องหน้าทุนต่างชาติและตลาดเสรี!
คลิกไปหน้าถัดไป (ช่วงสนทนาในชั้นเรียน)
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com