การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังในการขับเคลื่อนของสังคม และความสัมพันธ์ใหม่ ระหว่าง"ภาครัฐ"กับ"ชุมชน"
H
home
ภาพถ่ายโดย Marc Riboud จากหนังสือ
Angkor the Serenity of buddhism น. 87
contents page
member page
webboard
บทความนี้ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4
บทความใหม่ เดือนสิงหาคม 2544 : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษ สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เป็นบริการทางไกลทางวิชาการให้กับนักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
ที่สนใจในการศึกษาโดยไม่จำกัดคุณวุฒิทางการศึกษา
เพราะเราเชื่อว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งที่ให้ความรู้
สำหรับคนทุกคนได้ และมีเสรีภาพในการเรียนรู้
ตามที่ตนปรารถนา
สนใจสมัครเป็นสมาชิกโดยไม่มีสิทธิพิเศษใดๆเหนือคนอื่น
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความทั้งหมดที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
ส่วนผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

ขอขอบคุณทุกท่านที่ใฝ่ในการศึกษา และช่วยบอกต่อสาระความรู้จากที่นี่ไปบอกเพื่อน
Remote
Educational
Service

Midnight University
midnightuniv(at)yahoo.com

สิทธิชุมชน ปัญหา และพัฒนาการทางความคิด

บทนำ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในแวดวงวิชาการประเทศไทย ข้อถกเถียงดังกล่าวก็คือประเด็นเรื่อง " สิทธิชุมชน" ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นข้อถกเถียงที่มีพลังและสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางโครงสร้างที่สำคัญของสังคมอย่างน้อยๆ 3 ด้านด้วยกัน คือ

ด้านแรก : การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังในการขับเคลื่อนของสังคม
ในด้านที่สอง : การเปลี่ยนแปลงในระบบกลไกของภาครัฐ และความสัมพันธ์ในระหว่างประชาชน
ในด้านที่สาม การเปลี่ยนแปลงของพลังในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จาก ปรากฎการณ์ในทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ ซึ่งไปกระทบต่อวิถีของประชาชนและชุมชน

การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างต่างๆดังที่กล่าวมา เป็นปรากฏการณ์ในทางสังคมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวเฉพาะในทางนิติศาสตร์ก็เป็นประเด็นหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ถูกตั้งคำถามค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคำถามในส่วนที่เกี่ยวกับ "สิทธิ" ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เคยมีความชัดเจน และถูกตั้งคำถามมาเป็นเวลานาน เช่น คำถามที่ว่า "สิทธิคืออะไร ?" "ประชาชนมีสิทธิอะไรบ้าง ?" เป็นต้น

ในปัจจุบัน มีเหตุการณ์ที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามเป็นจำนวนมากในแง่ของความถูกต้อง ความเป็นธรรม ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นับเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถให้ความถูกต้องและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาได้

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป เพื่อต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆที่มีอยู่ให้ทันสมัย และสามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาจากภายนอก ประกอบกับเงื่อนไขภายในจากการเติบโตขึ้นของกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นชุมชนดั่งเดิม และที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งได้ขยายพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง อันทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวปรากฏแทบในทุกๆ พื้นที่

ในบทความนี้จะพยายามที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการทั้งหมดในทางนิติศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นทางเลือก เพื่อจะช่วยให้เห็นช่องทางในการช่วยสร้างสายใยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ให้สามารถที่จะข้ามพ้นวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่นี้ไปได้

ตำแหน่งแห่งที่ของ "สิทธิ" ในสังคมไทย
การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลว่าใครจะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไรในสังคม เป็นเรื่องที่มนุษย์ทั้งหลาย เพียรพยายามในการหารูปแบบที่เหมาะสมบนเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกันมาจัดการเรื่องความสัมพันธ์.

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามที่จะใช้สิ่งที่เป็นนามธรรมในเชิงอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อในด้านต่างๆ มาจัดรูปแบบความสัมพันธ์กันในทางสังคมด้วย ซึ่งในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆในสังคม มีจุดเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันที่แตกต่างหลากหลาย อาทิเช่น ความเป็นเครือญาติ ความเป็นเพื่อน ตลอดไปจนกระทั่งการมีบุญคุณต่อกัน

ภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบรัฐสมัยใหม่ กฎหมายของรัฐเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมากในการจัดความสัมพันธ์. โดยกฎหมายใช้ "สิทธิ"และ"หน้าที่" เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งต่างๆ

และในแง่นี้ถ้าหากจะพิจารณาถึงคำว่า "สิทธิ" ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของสังคมไทย เราจะต้องทราบว่ามีกระบวนการในการให้ความหมายผ่านการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมักจะตอกย้ำกระบวนการในการให้ความหมายเดียวและคับแคบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐและกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นเพื่อต้องการที่จะชี้ให้เห็นสภาพความเป็นอยู่จริงของคำว่า"สิทธิ"ในสังคม จึงจะขอแบ่งการพิจารณาในส่วนนี้ออกเป็นประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้

ก.นัยยะของ "สิทธิ"กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
ข.บทสังเคราะห์ว่าด้วยลักษณะสำคัญๆของ"สิทธิชุมชน"บนประสบการณ์ของการต่อสู้ของชุมชน
ค.ก้าวย่างต่อไปของพัฒนาการสิทธิชุมชนในสังคมไทย

ก.นัยยะของ "สิทธิ" กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ในเชิงสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมาย ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงของสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายก็สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและวัฒนธรรมได้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ระหว่างสองเงื่อนไขที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในสังคม สังคมไทยควรที่จะเลือกเงื่อนไขใด และการจะหยิบเงื่อนไขใดขึ้นมาใช้ในเชิงยุทธศาสตร์ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจภาพของสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและแนวโน้มในอนาคต

เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่อง"สิทธิ"ที่มีอยู่เดิมในสังคม ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลง จึงขอให้ภาพกว้างของการเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าวในชุมชนและสังคมไทยดังนี้

ภาพของสังคมไทยถูกอธิบายให้เห็นรูปแบบโครงสร้างสังคมที่หลากหลาย รูปแบบที่หลากหลายดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้เข้าใจความเป็นชุมชน มีงานที่ศึกษาโครงสร้างสังคมไทยหลายชิ้น ทั้งในแง่ที่เป็นหน่วยของการศึกษา วิธีการในการศึกษา แนวคิดที่ใช้ในการศึกษา ฯลฯ งานศึกษาต่างๆเหล่านี้ทำให้เห็นสภาพของสังคมไทยในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆบนโครงสร้างของสังคม

[หมายเหตุ 1.] สำหรับท่านที่สนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นภาพรวมของความคิดในการมอง พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย โปรดดู อานันท์ กาญจนพันธุ์ "ความคิดทางประวัติศาสตร์ และศาสตร์ของวิธีคิด : รวมบทความทางประวัติศาสตร์ " ( 2543 ) บทที่ 5 และบทที่ 6 หน้า 106 - 167]

เพื่อต้องการที่จะชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คนกลุ่มต่างๆที่ผ่านมา จึงอาศัยวิธีการศึกษาโดยมองผ่านกระบวนการการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี เป็นหลักดังต่อไปนี้

ก.1. ชุมชนในสังคมไทยสมัยโบราณ
ก.2 ชุมชนที่เปลี่ยนไปสู่ความเป็นชุมชนเมือง
ก.3 สรุปภาพรวมนัยยะของ "สิทธิ"กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

ก.1. ชุมชนในสังคมไทยสมัยโบราณ
การเกิดขึ้นของชุมชนที่เป็นรากฐานของสังคมไทย หากพิจารณาจากหลักฐานที่สืบค้นมา จะทำทำให้เราเห็นภาพว่า ชุมชนโบราณนั้นเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองเป็นหลัก การพึ่งตนเองของชุมชนนั้น อิงอยู่กับฐานทรัพยากรที่ชุมชนตั้งอยู่ ชุมชนในสภาพแบบนี้ได้พัฒนาวิถีชีวิตและธรรมเนียมปฎิบัติ อันมีผลเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของชุมชนในมิติต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัด และเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของชุมชน

เพื่อทำให้ธรรมเนียมปฎิบัติดังกล่าวได้รับการเคารพและปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง ในชุมชนจึงได้สร้างกลไกในทางสังคมที่เข้ามาจัดการให้ความเป็นชุมชนสามารถที่จะสืบเนื่องต่อไปได้ เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ, พิธีกรรมที่ผูกติดกับทุกๆสิ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งรวมถึงในทางด้านการผลิตเพื่อยังชีพที่เชื่อมโยงความเชื่อต่างๆเข้ากับการใช้สอยทรัพยากรต่างๆ

บนวิถีของชุมชนในลักษณะนี้ ประเด็นที่สะท้อนออกมาให้เห็นก็คือ ความเป็นชุมชนเกิดขึ้นและผูกพันกันในฐานของความเป็นเครือญาติ-ชาติพันธุ์เดียวกัน และยังมีผลไกลไปถึงสำนึก ความเชื่อ อุดมการณ์ ที่ถูกหล่อหลอมทำให้เกิดระเบียบและรูปแบบในทางสังคม

การเกิดขึ้นของชุมชนและพัฒนาการของชุมชนดังกล่าว เป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน แต่ภายในชุมชนหมู่บ้านก็มีการปรับตัวให้อยู่รอดในรูปแบบวิธีการต่างๆ เป็นมรดกตกทอดในส่วนที่เกี่ยวกับ "การจัดการในทางสังคม" ที่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของสังคมแบบเอเซีย และยังเป็นผลเนื่องมาจากพัฒนาการของการต่อสู้ การปรับตัว ของชุมชนหมู่บ้านบนเงื่อนไขต่างๆซึ่งเป็นไปเพื่อการยังชีพและพึ่งตนเอง ทำให้เห็นระบบในการจัดการต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยมีลักษณะเด่น ดังนี้

ก.1.1 ความเป็นปัจเจกไม่ได้เป็นตัวตั้งของโลกทัศน์ในการจัดความสัมพันธ์ในชุมชน
เนื่องจาก ความเป็นปัจเจกไม่ได้เป็นตัวตั้งของโลกทัศน์ในการจัดความสัมพันธ์ในชุมชน ดังนั้น รูปแบบ วิธีการ ในการจัดการจึงทำให้"ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์เด็ดขาด"ในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น ที่ดิน ที่ป่า หรือในแหล่งอาหารที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในที่ต่างๆ

ก.1.2 ชุมชนโบราณมีระบบในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของชุมชนร่วมกัน
เช่น การจัดการน้ำในรูปแบบระบบชลประทาน การป้องกันชุมชนหมู่บ้านจากภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ การร่วมกันในการหาอาหาร เช่น การล่าสัตว์ การหาของป่า หรือการช่วยกันในการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวการผลิต ซึ่งเหล่านี้น่าจะเป็นรากฐานที่สำคัญประการหนึ่งของระบบกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ในแต่ละวัฒนธรรม เช่น

ในภาคเหนือ ซึ่งเรียกระบบในการจัดการของส่วนรวมว่าเป็น "ของหน้าหมู่"
ในทางภาคใต้ ซึ่งเรียกสิ่งที่ใช้รวมกันในชุมชน เช่น ทางเดินสาธารณะในชุมชนว่า "ทางพลี"
ในทางภาคอีสาน สิ่งที่ยอมรับกันว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เรียกว่า ป่าทุ่งป่าทาม เป็นต้น.

ดังนั้น ถ้าพิจารณาในแง่พัฒนาการของชุมชนหมู่บ้านในเชิงข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นได้ว่า ความเข้าใจในเรื่อง"สิทธิ" จึงเป็นไปในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เป็นการพึ่งพากันและกัน แต่อาจจะไม่ได้เรียกกันว่า "สิทธิ" เหมือนกับคำที่ใช้กันในทางกฎหมายและในทางการเมืองการปกครองในปัจจุบัน

[หมายเหตุ 2.] สำหรับรายละเอียดในส่วนที่ว่าด้วย ชุมชนในสังคมไทยสมัยโบราณ โปรดดูรายละเอียดจากเอกสารดังต่อไปนี้ 1.ภัคพัฒน์ ทิพยประไพ. "แนวคิดวิถีการผลิตแบบเอเซียกับการอธิบายหมู่บ้านไทย" ( กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ,2540) 2. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. " เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต" ( กรุงเทพ ฯ:บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด , พิมพ์ครั้งที่ 4 , 2540) 3. ศรีศักร วัลลิโภดม. " ทัศนะนอกรีต ภูมิศาสตร์ - ภูมิลักษณ์ ตั้งบ้านแปงเมือง " ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ , 2543) 4. ศรีศักร วัลลิโภดม. " สยามประเทศ : ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม " ( กรุงเทพ ฯ :สำนักพิมพ์มติชน , 2534 ) 5.ศรีศักร วัลลิโภดม. " แอ่งอารยธรรมอีสาน " ( กรุงเทพ ฯ :สำนักพิมพ์มติชน , 2533 )

ก.2 ชุมชนที่เปลี่ยนไปสู่ความเป็นชุมชนเมือง
การเปลี่ยนชุมชนเดิมไปสู่ความเป็นชุมชนเมือง ในการศึกษานี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะกล่าวคือ

ก.2.1 การเปลี่ยนแปลงชุมชนหมู่บ้านไปสู่ความเป็นชุมชนเมืองในระยะก่อนการเกิดรัฐชาติ
ก.2.2 การเปลี่ยนแปลงชุมชนหมู่บ้านไปสู่ความเป็นชุมชนเมืองในระยะหลังการเกิดรัฐชาติ

ก.2.1 การเปลี่ยนแปลงชุมชนหมู่บ้านไปสู่ความเป็นชุมชนเมืองในระยะก่อนการเกิดรัฐชาติ
พัฒนาการทางการเมืองก่อนการเกิดรัฐชาติ เป็นพัฒนาการของรัฐในระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์ ในรัฐสมบรูณาญาสิทธิราชย์นั้นมีการจัดการกับชุมชนในลักษณะที่ทำให้ชุมชนเมืองเป็นศูนย์รวมของอำนาจในแทบทุกๆด้าน ด้วยเหตุนี้จึงได้มากำหนดให้ชุมชนหมู่บ้านต้องทำอะไรบ้างต่อเมือง

เมื่อพัฒนาการของสังคมได้เกิดการขยายตัวขึ้นในทางสังคม, ประชากร, และเศรษฐกิจ(ทั้งภายในและภายนอก), เกิดการกวาดต้อนผู้คนให้มาเป็นแรงงาน มีการขยายตัวของผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัว อำนาจของผู้คนในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามความมั่งคั่ง ทำให้ความสามารถในการครอบครองดูแล และการเข้าถึงทรัพยากรมีความแตกต่างกัน อันเป็นเหตุให้เกิดฐานะของกลุ่มคนในชุมชนที่มีศักยภาพในทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ที่แตกต่างกัน ซึ่งผลของอันนี้ได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ และในเชิงกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างหลากหลาย อันกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆด้วย

ดังนั้น เมื่อสภาพทางการเมืองการปกครองเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลภายในหรือเงื่อนไขจากภายนอก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคม และนำไปสู่การเกิดโครงสร้างที่กำหนดความสัมพันธ์อยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ

1. โครงสร้างชุมชนหมู่บ้านแบบเดิม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อรัฐเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย และ
2.โครงสร้างชุมชนเมืองที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปในหลายๆลักษณะและรูปแบบ

ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ทั้งสองลักษณะดังกล่าว ทำให้นัยยะของ"สิทธิมีความหมายใหม่"ซึ่งแตกต่างไปจากนัยยะของ"สิทธิในความหมายเดิม"ด้วย

แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ต่อชุมชนก็ยังมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ความเป็นรัฐในความหมายปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น ความเป็นชุมชนขนาดใหญ่อาจจะมีลักษณะเป็นเพียงแค่หย่อมบ้านที่ยังไม่มีการจัดองค์กรที่สลับซับซ้อนมากนัก

ก.2.2 การเปลี่ยนแปลงชุมชนหมู่บ้านไปสู่ความเป็นชุมชนเมืองในระยะหลังการเกิดรัฐชาติ
การเกิดขึ้นของรัฐชาติแม้จะเป็นพัฒนาการทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน แต่นับจากการเกิดขึ้นของรัฐชาติ รัฐชาติทั้งในฐานะที่เป็นผู้สร้างหน่วยใหม่ของสังคม และรัฐชาติในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการผันแปรในชุมชนในระดับต่างๆ สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามมา

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นมาโดยต่อเนื่องและมีพลวัตรในลักษณะที่ ความเป็นเมืองมีสถานะภาพและมีโครงสร้างที่อยู่เหนือชุมชนแบบดั่งเดิม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ในบางพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันทันใด ส่วนในบ้างพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

ภายใต้ความเป็นรัฐชาติ ปฎิสัมพันธ์ระหว่างเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ตั้งของอำนาจในทางการเมือง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนไปสู่ความเป็นชุมชนที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า หรือเกิดการขยายตัวไปสู่ความเป็นชุมชนเมือง ซึ่งมีวิถีการผลิตและวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตแบบเดิมเป็นส่วนใหญ่ (แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีบางชุมชนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเช่นกัน)

ดังนั้นจึงทำให้เห็นได้ว่า เมื่อเกิดรัฐชาติขึ้น ความสัมพันธ์ต่างๆที่มีอยู่ในสังคมเดิมต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ความสัมพันธ์ใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐก็จะถูกห้าม ถูกทำลายลง ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมา

อาจจะกล่าวได้ว่ารัฐชาติเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้ ก.2.2.1 การเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย
ก.2.2.2 การเปลี่ยนไปสู่ระเบียบบริหารแบบราชการ
ก.2.2.3 การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม

[หมายเหตุ 3.] สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. " การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : แนวทางการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผน " ( ขอนแก่น : โรงพิมพ์ คลังนานาวิทยา , 2536 ) หน้า 118-125
[หมายเหตุ 4.] โปรดดูรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปสู่ระเบียบบริหารแบบราชการ ใน เตช บุนนาค ผู้แต่ง ภรณี กาญจนัษฐิติ ผู้แปล " การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435 - 2458 กระทรวงมหาดไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ " ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ , 2532)

ก.2.2.1 การเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย
การเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยมีทั้งปัจจัยที่เป็นผลจากเงื่อนไขภายในรัฐเอง โดยเฉพาะผู้นำของรัฐและกลุ่มชนชั้นนำ และนอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขจากอิทธิพลภายนอกรัฐอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย

ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยอยู่ตรงที่ การทำให้เกิดการเปลี่ยนโลกทัศน์จากความสัมพันธ์แบบเดิมไปสู่การจัดความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ในสังคมเป็นแบบใหม่. การทำให้ทันสมัยที่ปรากฎขึ้นในสังคมไทยในทัศนะของผู้เขียนที่น่าสนใจได้แก่ "การทำให้ชุมชนต่างๆก้าวไปสู่ระบบการจัดการแบบราชการ" กับ "การยึดแนวทางในการพัฒนาประเทศโดยการใช้วิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรม"

[หมายเหตุ 5.] โปรดดู, สมศักดิ์ ศรีสันติสุข " การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : แนวทางการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผน " ( ขอนแก่น : โรงพิมพ์ คลังนานาวิทยา , 2536 ) หน้า 118-125

ก.2.2.2 การเปลี่ยนไปสู่ระเบียบบริหารแบบราชการ
การเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมแบบเดิมไปสู่สังคมที่ใช้ระเบียบบริหารแบบราชการ ได้เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับการที่รัฐชาติสามารถที่จะตั้งตัวได้เข้มแข็ง

การเปลี่ยนโครงสร้างสังคมไปสู่ระเบียบบริหารแบบราชการที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ที่มีการวางระเบียบของทางราชการไปถึงระดับชุมชน, หมู่บ้าน, กระทั่งถึงครัวเรือน ในอดีตที่ผ่านๆมา น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ยุคของการปรับปรุงการปกครองระบบเทศาภิบาล ซึ่งมีความคิดที่จะมีผู้นำในระดับชุมชนที่คอยรับคำสั่ง รายงานความเป็นไปของหมู่บ้าน พร้อมๆกับทำหน้าที่ในการแจ้งข่าวสาร กฎหมาย ระเบียบคำสั่งของทางราชการให้ราษฎรในพื้นที่ทราบ

ทั้งนี้โดยมีการจัดตั้งเป็นเขตการปกครองในระดับหมู่บ้าน ตำบล ให้ขึ้นกับอำเภอ และยังมีความพยายามในการตั้งเขตการปกครองท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ สุขาภิบาล, เทศบาล, และเมื่อระบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป ระบบราชการบริหารราชการแผ่นดินแบบทันสมัย ซึ่งมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น กระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ก็เข้ามาครอบคลุมแทนจนเต็มพื้นที่ อีกทั้งยังมีตัวแทนของรัฐราชการเข้าไปดำเนินการต่างๆ อย่างมากมาย และมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของประชาชนในชุมชนระดับต่างๆ

การเปลี่ยนไปสู่สังคมที่มีโครงสร้างตามระเบียบบริหารราชการ ยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้ลงรอยกับการจัดโครงสร้างสังคมของชุมชนที่เป็นมาแต่เดิมทั้งหมด

มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกต สำหรับความเป็นชุมชนที่ถูกระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ก็คือ ในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งของอำนาจระหว่างหน่ายราชการกับประชาชน ทำให้ในบางพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของชุมชน ถูกกฎระเบียบของทางราชการเข้าไปจัดความสัมพันธ์ใหม่ ในลักษณะที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นไปอย่างสิ้นเชิง เช่น การตั้งเป็นนิคมพัฒนาตนเองในพื้นที่ต่างๆ หรือในบางพื้นที่ความเป็นชุมชนกลับถูกทำลายลงโดยระบบราชการ เช่น การประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินโดยกรมป่าไม้ การอพยพหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ การเวนคืนที่ดิน ฯลฯ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในชุมชนที่มีความเป็นเมืองใหญ่ๆ การบริหารแบบราชการกลับไม่ค่อยที่จะมีบทบาทที่สำคัญอีกต่อไป ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนและอิทธิพลท้องถิ่นเสียเป็นส่วนใหญ่

[หมายเหตุ 6.] อ้างแล้ว หน้า 128-131 และโปรดดูรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนไปสู่ระเบียบบริหารแบบราชการ ใน เตช บุนนาค ผู้แต่ง ภรณี กาญจนัษฐิติ ผู้แปล " การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435 - 2458 กระทรวงมหาดไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ " ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ , 2532)

ก.2.2.3 การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม
การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม สำหรับกรณีประเทศไทยกล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นเพราะบทบาทของภาครัฐเป็นตัวจักรสำคัญในการทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากฐานการผลิตในทางด้านการเกษตรกรรม ไปใช้ฐานการผลิตในทางด้านอุตสาหกรรม

ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับที่ผ่านมา ทิศทางในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้แรงจูงใจในด้านต่างๆที่จะทำให้เกิดการลงทุนในทางด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้โดยจงใจที่จะทำให้ภาคการเกษตรและชนบทผันตัวเองเข้าสู่โรงงาน

การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมมิได้มีปรากฎให้เห็นเฉพาะแต่ในด้านที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงในทางด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ ระบบพลังงานสำรอง ที่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับต้น รวมถึงกระทั่งการเลือกพื้นที่ที่จะให้เป็นแหล่งรองรับการตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การจงใจที่ไม่มีการดำเนินการอย่างใดๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดปัญหาตามมา เช่นปัญหาเรื่องความปลอดภัยของแรงงาน ปัญหาเรื่องมลพิษ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ก.3 สรุปภาพรวมนัยยะของ "สิทธิ" กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
จากภาพของความเปลี่ยนแปลงข้างต้น จะเห็นได้ว่า

ก.3.1 สังคมไทยจนถึงปัจจุบันได้พัฒนาตัวเองไปสู่สังคมที่มีโครงสร้างในลักษณะที่หลากหลาย กล่าวคือ ชุมชนแบบดั่งเดิมยังคงมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ส่วนชุมชนชนบทบางแห่งก็ยังคงวิถีการผลิตบนฐานการเกษตรแบบพึ่งตนเอง และก็มีบางชุมชนที่พึ่งพาความเป็นเมืองด้วย(ทั้งกลไกการตลาด การพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง การพึ่งพาอำนาจรัฐ การพึ่งพาการส่งออก) ชุมชนทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็ถูกครอบอยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบบริหารราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีในการบริหารจัดการชุมชนตามแบบทางการ และในหลายพื้นที่ที่เป็นชนบทหรือพื้นที่กึ่งเมือง ก็ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ในทุกระดับ

ก.3.2 แม้ในทางโครงสร้างทางกายภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากก็ตาม แต่สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์ของสังคม ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมซึ่งวิถีการผลิตตั้งอยู่บนฐานของการเกษตรพึ่งตนเอง ไปสู่ชุมชนที่อยู่ภายใต้ความเป็นเมือง อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐชาติและระบบการผลิตบนฐานของอุตสาหกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ สามารถที่จะสะท้อนให้เห็นได้ว่า, ในเชิงอุดมการณ์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงควบคู่กันไป กล่าวคือ จากเดิมที่อุดมการณ์ผูกให้ชุมชนอยู่รวมกันด้วยสำนึกเรื่อง การนับถือผีเดียวกัน นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิเดียวกัน ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จึงเป็นพวกเดียวกัน แต่ในระบบแบบนี้ก็มีอุดมการณ์ของ"ระบบอุปถัมภ์" เข้ามาช่วยเสริม

[หมายเหตุ 7.] สำหรับรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ท่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้จาก อมรา พงศาพิชญ์, ปรีชา คุวินทร์พันธุ์ " ระบบอุปถัมภ์ " ( กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539) และโปรดดู อานันท์ กาญจนพันธุ์ " ความคิดทางประวัติศาสตร์และศาสตร์ของวิธีคิด : รวมบทความทางประวัติศาสตร์ " ( 2543 ) บทที่ 5 ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมิติทางวัฒนธรรม หน้า 113 - 118

นอกจากสองอุดมการณ์หลักดังกล่าวแล้ว(อุดมการณ์ดั่งเดิม และอุดมการณ์ระบบอุปถัมภ์) ท่ามกลางการไหลบ่าเข้ามาของอิทธิพลตะวันตกก็ทำให้อุดมการณ์ใหม่แทรกตัวเข้ามา ซึ่งพยายามจะเข้ามาแทนที่ แต่ก็สามารถแทนที่ได้เฉพาะในบางกลุ่มเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากในกรณีเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ในทางสังคมอุดมการณ์ที่พยายามเข้ามาแทนที่ภายใต้แนวความคิดว่าด้วย "ความทันสมัย"(Modernization)หรือ "ความศิวิไลซ์"(Civilization)

ภายใต้แนวความคิดนี้มีอุดมการณ์ต่างๆที่แฝงเข้ามาได้แก่ อุดมการณ์ความรู้ในทางด้านวิทยาศาสตร์ อุดมการณ์ความเป็นรัฐชาติ อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งภายใต้การเข้ามาของอุดมการณ์ใหม่เหล่านี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำของสังคมในแต่ละยุคแต่ละช่วงเวลา จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไปในทิศทางต่างๆดังที่กล่าวมา

[หมายเหตุ 8.] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ " การปฎิวัติสยาม พ.ศ. 2475 "( กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคม ศาสตร์และมนุษยศาสตร์ , 2535 )หน้า 13 -18

แต่การเปลี่ยนแปลงในแง่ของแนวความคิดและอุดมการณ์ ซึ่งแม้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเฉพาะที่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น ความสัมพันธ์ในเชิงพันธะสัญญาสามารถที่จะใช้กันเฉพาะในบางความสัมพันธ์ในบางพื้นที่. แต่ในหลายความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นไปตามความสัมพันธ์ในเชิง"สิทธิตามกฎหมาย" แต่กลับเป็นไปบนความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์แบบเดิม กล่าวคือ"อุดมการณ์ระบบอุปถัมภ์" เป็นต้น

ซึ่งในหลายๆกรณี ก็เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันโดยอาศัยความสัมพันธ์ในเชิง "สิทธิ-หน้าที่ในทางกฎหมาย" ไปผูกมัดกับผู้ที่มีสถานะภาพทางสังคมที่ด้อยกว่าที่จะต้องปฎิบัติตามอย่างไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะคู่สัญญาที่มีสถานภาพในทางสังคมที่สูงกว่า ใช้เครือข่ายของระบบอุปถัมภ์เสริมการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในสัญญา เช่น การไปดึงเอาผู้มีอิทธิพลในเครือข่ายระบบอุปถัมภ์เข้ามาปิดปาก หรือในบางครั้งผู้มีอิทธิพลกลับใช้ความสัมพันธ์ในเชิง"สิทธิ-หน้าที่"เข้ามาเสริมอำนาจในระบบอุปถัมภ์ก็มีให้เห็นอยู่หลายๆกรณี

ก.3.3 ในขณะเดียวกัน แม้โครงสร้างในทางสังคมในระดับชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่ไม่ใช่เมือง จะอยู่ภายใต้โครงสร้างระเบียบบริหารแบบราชการ ซึ่งมักจะมีกฎระเบียบต่างๆยึดโยงไว้มากมาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว โครงสร้างดังกล่าวกลับมิได้ไปเสริมสร้างให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ในทางตรงกันข้ามกลับมอบหมายหน้าที่ซึ่งไปก่อให้เกิดภาระต่างๆมากมาย ดังนั้น นัยยะของสิทธิ ในทางกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะถูกผูกขาดโดยรัฐ จึงเป็นเสมือนมายาภาพที่ทำให้รัฐหรือกลไกของรัฐสามารถที่จะอ้างเพื่อให้ดำรงอยู่ได้

ดังนั้น ในแง่ของความรับรู้ในทางด้านสิทธิ จึงเป็นแต่เพียงความรับรู้ในทางด้านลายลักษณ์อักษร ที่ปรากฎในบทบัญญัติเท่านั้น แต่ในปฎิบัติการจริงทางสังคม เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก และมีอุปสรรคอีกมากที่จะทำให้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายปรากฏเป็นจริง

ก.3.4 ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองของสังคมไทยเท่าที่ผ่านมา มักที่จะตอกย้ำในอุดมการณ์ความเป็นรัฐชาติ จึงทำให้ไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ระบบการเมืองและระบบราชการในทุกๆระดับ หันไปตอบสนองต่อความเป็นเมืองและวิถีการผลิตที่ตั้งอยู่บนฐานของอุตสาหกรรม ในลักษณะของการให้สิทธิพิเศษ

แต่ในปัจจุบันการเกิดกระบวนการในการปฎิรูปในทางการเมือง ซึ่งผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(ฉบับของประชาชน) เป็นการสะท้อนอันหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงว่า อย่างน้อยที่สุดอุดมการณ์ในทางการเมือง ก็มิได้ติดอยู่เฉพาะที่ความเป็นรัฐชาติอีกต่อไป แต่มีสำนึกร่วมใหม่ที่เกิดขึ้นคืออุดมการณ์รัฐธรรมนูญนิยม และน่าที่จะเป็นอุดมการณ์ใหม่ที่สำคัญในการจัดความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ข.บทสังเคราะห์ว่าด้วยลักษณะสำคัญๆของ"สิทธิชุมชน"บนประสบการณ์ของการต่อสู้ของชุมชน แม้ "สิทธิชุมชน" จะเป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความหวังของหลายๆฝ่าย ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก่อนที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันนำไปสู่การมีบทบัญญัติตามมาตรา ๔๖ ที่รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น

แต่นับจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนกลับไม่ได้รับการนำพาเอาใจใส่ โดยเฉพาะองค์กรของ รัฐอันเป็นผู้ที่มีอำนาจในการต่อรองที่เหนือกว่า ซึ่งสามารถที่จะไปมีอิทธิพลเหนือกลไกทางการเมืองและระบบราชการให้ใช้อำนาจที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้น

[หมายเหตุ 9.] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 46 "บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

สำหรับปัญหาสำคัญในเรื่องการทำให้"สิทธิ"ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่แสดงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น อยู่ที่จะต้องสร้างความรับรู้และเข้าใจร่วมกันขึ้นมาในสังคม ทั้งนี้เพราะ "สิทธิ" ซึ่งหมายถึง"การจัดความสัมพันธ์ในทางสังคมระหว่างบุคคลต่างๆ" ต้องเป็นเรื่องของการให้การรับรู้และการยอมรับในบทบาทของผู้อื่นที่จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นธรรม

ที่ผ่านมา การให้ความหมายของคำว่า"สิทธิในทางกฎหมาย" มักจะเป็นการให้ความหมายของคำว่า "สิทธิ"ไปในทางที่ถ่ายทอดความรับรู้ให้เกิดการยอมรับว่า "อะไรจะเป็นสิทธิในทางกฎหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น" กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ "รัฐเป็นที่มาแห่งสิทธิ"

[หมายเหตุ 10.] เช่นตำรากฎหมายของ ดร.หยุด แสงอุทัย ซึ่งให้ความหมายว่า " สิทธิ คือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้" และเมื่อประกอบกับความคิดในทางกฎหมายที่ว่าด้วยกฎหมายคืออะไร ซึ่งบรรดานักกฎหมายมักจะได้รับการปลูกฝังสั่งสอนทั้งทางตรงและทางอ้อมว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ดังจะเห็นได้จากตำรากฎหมายของกรมหลวงราชบุรี ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการนักกฎหมายไทย ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า "กฎหมาย" ไว้ว่า " กฎหมายคือคำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้ว ตามธรรมดาต้องรับโทษ " เมื่อเป็นดังนี้ อะไรจะเป็น "สิทธิ" ได้นั้น ก็ต้องมีกฎหมายของรัฐเท่านั้นบัญญัติรับรอง

แม้คำว่า "สิทธิ" ตามระบบกฎหมายจะมีปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคนิคในทางกฎหมายในการบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เป็นเรื่องที่ไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ การตรวจสอบให้เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้"สิทธิ"ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่เกิดการบังคับได้จริง จะเป็นแนวทางที่ทำให้บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนเป็นจริงขึ้นมาในทางปฏิบัติได้

การที่จะทำให้สิทธิในทางกฎหมายเป็นจริงในทางปฎิบัตินั้น มีเงื่อนไขในทางสังคม 2 ประการ คือ
ประการแรก อุดมการณ์แห่งสิทธิ และ
ประการที่สอง กลไกในทางสังคมที่จะทำให้อุดมการณ์แห่งสิทธินั้นๆ เป็นจริงขึ้นมา

ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า การเปลี่ยนแปลงในทางสังคมที่รับเอาอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาจัดความสัมพันธ์ในสังคม และภายใต้อุดมการณ์ดังกล่าว สำหรับในประเทศที่มีขบวนการในทางสังคมบ่มเพาะอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ใช้คำว่า "สิทธิ" และคำว่า "เสรีภาพ" เป็นเครื่องมือและเป็นสัญญลักษณ์ในการสร้างความเข้าใจร่วม และเรียกร้องต่อผู้ปกครองที่จะทำให้ความสัมพันธ์ในทางสังคมภายใต้การปกครองของผู้ปกครองดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น มีหลักประกันมากขึ้น

ดังนั้นคำว่า "สิทธิ" "เสรีภาพ" จึงเป็นคำที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสังคมในเชิงอุดมคติมากกว่า โดยไม่คำนึงถึงว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการที่จะทำให้เกิดอุดมการณ์ร่วม เพื่อทำให้มีกระแสเรียกร้องในทางสังคมที่จะทำให้รัฐเกิดการขยับปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องไปกับอุดมการณ์ในแต่ละเรื่อง ดังตัวอย่างเช่น

บทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆในตะวันตก มักจะมีข้อความที่บัญญัติไว้ในลักษณะที่ว่า "ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย" ซึ่งเป็นการวางหลักการในทางกฎหมาย (de juris) แต่ในความเป็นจริง (de facto) แล้ว จะพบว่า ทุกคนไม่มีใครเท่าเทียมกัน แต่เป็นความพยายามที่รัฐจะต้องให้โอกาสแก่ทุกๆคน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีบทบัญญัติในทางกฎหมายที่จะมากำหนดในรายละเอียด แต่ก็ใช่ว่าสามารถที่จะใช้สิทธิและทำให้เกิดประโยชน์ได้ตามหลักการใหญ่ที่กำหนดไว้เสมอไป ดังจะเห็นได้จากการมีประเด็นที่เป็นข้อพิพาทในทางด้านสิทธิให้เห็นกันอยู่เสมอ

แต่สำหรับสังคมไทย สภาพกลับตรงกันข้าม เมื่อชนชั้นนำไปรับเอารูปแบบการปกครองที่เรียกว่าเป็น"ประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นอุดมการณ์ในการจัดความสัมพันธ์ในสังคมระบบหนึ่ง โดยปรากฎผ่านทางบทบัญญัติของ"กฎหมาย" แล้วพยายามที่จะสร้างอุดมการณ์(ประชาธิปไตย)ขึ้นมารองรับในภายหลัง จึงทำให้หลักการที่สำคัญๆซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ได้รับการปลูกฝังไว้เป็นรากฐานของสังคม (จึงทำให้ความสัมพันธ์แบบเดิมยังคงสามารถที่จะสืบต่อได้ เช่น ความสัมพันธ์ในอุดมการณ์ระบบอุปถัมภ์ผ่านทางอิทธิพลในระดับต่างๆ)ซึ่งเป็นสภาพในความเป็นจริง( de facto )

ในขณะเดียวกันที่ในทางกฎหมาย (de juris) แม้จะมีการนำเอาหลักการที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองแบบประชาธิปไตยมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปแทนที่ความสัมพันธ์แบบเดิมได้ และในขณะเดียวกัน ภายในระบบราชการเองที่เป็นกลไกของรัฐ ซึ่งตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วจะต้องดำเนินการไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและอยู่ภายใต้หลักกฎหมาย

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า หลักการหัวใจของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นกฎหมาย(แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุด)แล้วก็ตาม หลักการต่างๆดังกล่าวไม่สามารถที่จะเข้าไปมีอิทธิพลได้เหนือระเบียบปฏิบัติราชการ ซึ่งข้าราชการในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฏหมาย กลับเลือกที่จะรักษาระเบียบปฏิบัติราชการเอาไว้ก่อน แม้ระเบียบดังกล่าวจะขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม ทั้งนี้เพราะการทำตามระเบียบปฎิบัติราชการเท่านั้น ที่จะรักษาสถานภาพในทางสังคมเอาไว้ได้ ภายใต้ระบบบริหารราชการบนอุดมการณ์อุปถัมภ์ ไม่ใช่บนอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามรูปแบบการปกครองประเทศ

ปัญหาในประการต่อมา สำหรับการทำให้บทบัญญัติของกฎหมายที่รับรองสิทธิต่างๆ เอาไว้สามารถที่จะทำให้เป็นจริงได้ นอกจากปัญหาในเชิงอุดมการณ์แล้ว ยังมีปัญหาในแง่ของกลไกในทางกฎหมายที่ถูกผูกขาดการใช้อำนาจไว้ทั้งหมด กล่าวคือ

ระบบกฎหมายที่ดีและมีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องตั้งอยู่บนอุดมการร่วมกันดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีกลไกในทางการเมืองการปกครองรองรัฐซึ่งคือ ต้องมีการจัดองค์กรของรัฐที่จะใช้อำนาจของประชาชนที่มีประสิทธิภาพด้วย กลไกที่จะรองรับเพื่อทำให้สิทธิต่างๆเป็นจริงขึ้นมาจะต้องประกอบด้วย

(1) กลไกอันเป็นที่มาของกฎหมาย
(2) กลไกในการบังคับใช้กฎหมาย และ
(3) กลไกที่จะทำหน้าที่ในการศึกษาติดตามประเมินผล เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องและสามารถที่จะคาดการณ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้

กลไกทั้ง 3 ส่วนนี้ จะต้องสัมพันธ์กันอย่างพอดี ที่จะผลักให้ระบบกฎหมายขยับไปข้างหน้า ให้สอดคล้องกับสังคมและเป็นแรงผลักให้สังคมด้วยในเวลาเดียวกัน ดังตัวอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถที่จะเสนอกฎหมายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอุปสรรคและพร้อมที่จะถูกขัดขวางโดยกลไกอำนาจรัฐอยู่ตลอดเวลา

[หมายเหตุ 11.] มาตรา 170 "ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50000 (ห้าหมื่นคน) มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ คำร้องขอตามวรรคหนึ่งจะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการเสนอชื่อรวมทั้งการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" - ดังกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เป็นต้น

แม้จากประสบการณ์และบทเรียน ที่ได้จากการเดินตามแนวทางระบบการเมืองและระบบกฎหมายแบบตะวันตก จะเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถที่จะเลียนแบบได้สำเร็จทั้งหมด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าลอกเลียนมาได้แต่โครงสร้างก็ตาม ประสบการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ไม่ไปทำผิดซ้ำสอง และท่ามกลางวิกฤติทั้งหลายในปัจจุบัน ทางเลือกเดียวที่จะต้องจะเดินก็คือ การพัฒนาระบบความสัมพันธ์ในสังคมบนพื้นฐานความเป็นจริง และบนประสบการณ์จริงที่ผ่านการทดลองใช้ในสังคมไทยขึ้นมาเองอย่างอดทนและสันติวิธี

กรณีสิทธิชุมชนอาจจะเป็นกรณีตัวอย่างของการจัดความสัมพันธ์ที่เกิดการสังเคราะห์ สั่งสมกันมาจนกลายเป็นรากฐาน กฎระเบียบของสังคมระดับล่างที่ถักทอขึ้นเป็นสายใยยึดโยงให้ชุมชนอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและพัฒนาต่อไปอีก

แนวการศึกษาดังที่ใช้ในการวิเคราะห์ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการแหกคอกในทางความคิดจากการติดอยู่บนข้อสมมุติในทางกฎหมาย ออกมาสู่ปรากฎการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่จะช่วยในการต่อยอดในทางความคิดและพัฒนาโดยการเชื่อมโยงระหว่างสิทธิชุมชน กับ สิ่งที่มีอยู่จริง และเป็นแหล่งองค์ความรู้ในทางกฎหมายที่สัมพันธ์กับโครงของระบบกฎหมายที่ถูกนำเข้า แม้จะต้องมีการปรับโครงอีกมากเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงก็ตาม และเพื่อเป็นบททดลองเสนอเพื่อทำให้เกิดการวิวาทะในทางความคิด โดยเฉพาะในทางนิติศาสตร์

ด้วยเหตุนี้จึงใคร่ที่จะเสนอลักษณะของ"สิทธิชุมชน" (ซึ่งได้ถูกตั้งคำถามอย่างมากจากวงการนิติศาสตร์กระแสหลัก) ว่า ธรรมชาติของสิทธิชุมชนที่ค้นพบมีลักษณะอย่างไร ? จากกรณีศึกษาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถที่จะประมวล"ความเป็นธรรมชาติของสิทธิชุมชน"ที่มีลักษณะเด่นๆดังนี้ คือ

๑. อุดมการณ์ของสิทธิชุมชน เป็นอุดมการณ์เพื่อความอยู่รอดของชุมชน

๒. กระบวนการในการเกิดขึ้นของสิทธิชุมชนในแต่ละประเภท (ตามที่เกิดความขัดแย้งขึ้น) ไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์ในเชิงพันธะสัญญา หากแต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการภายในของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ที่ทดลองเรียนรู้สั่งสมขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมในระดับชุมชน และในหลายๆกรณีที่มีการเลียนประสบการณ์ และผลิตซ้ำในทางความคิด

๓.ตั้งอยู่บนสำนึกและความรับรู้ร่วมกันของชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น จึงมักจะไม่ทำให้ปรากฎในรูปของบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร

๔.กลไกในการบังคับเป็นไปโดยอาศัยวิธีการของแต่ละชุมชน ผ่านทางระบบความสัมพันธ์ในด้านต่างๆที่มีอยู่ในชุมชน

๕.สิทธิชุมชนเป็นความพยายามของชุมชนที่จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของชุมชนให้สอดคล้องกับการผลิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และมีทางเลือก

๖. สิทธิชุมชนเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชน

๗.สิทธิชุมชนมักจะมีกลไกภายในชุมชน ที่เกลี่ยทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และให้โอกาสกับสมาชิกของชุมชน

ค.ก้าวย่างต่อไปของพัฒนาการสิทธิชุมชนในสังคมไทย แม้จะมีพัฒนาการในทางการเมืองและในทางนิติศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นการก้าวกระโดด โดยมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการทำให้แนวความคิดและปฎิบัติการจริงของสิทธิชุมชน สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือและทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ แต่ภายหลังจากการก้าวกระโดดดังกล่าว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมการที่จะก้าวย่างต่อไป แต่ไม่ใช่เฉพาะนักนิติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน หากแต่ต้องเป็นเรื่องที่สังคมทั้งหมดโดยรวม ต้องออกมาช่วยในการขยับขับเคลื่อนให้ปมเงื่อนที่ผูกขึ้นโดยรัฐคลายตัวลง โดยมีประเด็นที่เป็นข้อเสนอเพื่อการก้าวย่างต่อไปดังต่อไปนี้

ค.1 ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนในการหาข้อยุติกับความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้น

ค.2 กลไกของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ใช้มาตราการลงโทษทางอาญา จำเป็นที่จะต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญของความผิดเสียใหม่ กล่าวคือ มีการจัดกลุ่มความผิดทางอาญากันใหม่ เพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจในการนำเอาความผิดเล็กๆน้อยๆ มาทำให้ชุมชนที่บังคับการให้เป็นไปตามสภาพแห่งสิทธิถูกดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการทำให้สิทธิชุมชนไม่ได้รับการพัฒนา

ค.3 กลไกทางกฎหมายทั้งระบบจะต้องมีการเปลี่ยนลักษณะ วิธีการ ในการใช้อำนาจเสียใหม่ที่จะต้องไม่เริ่มต้นที่กระบวนการในการบัญญัติให้เป็นลายลักษณ์อักษร หากต้องเริ่มต้นที่การสร้างบรรยากาศในทางสังคมที่จะต้องเอื้อต่อการหาข้อยุติเป็นรายกรณีปัญหา และใช้ข้อยุติดังกล่าวนั้น เป็นแนวทางในการสร้างบรรทัดฐานในการแก้ปัญหาอื่นๆต่อไป

[หมายเหตุ 12.] แนวทางในการเปิดโอกาสให้องค์กรอื่นที่มิใช้องค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งมีข้อจำกัดในการบัญญัติกฎหมายเข้ามามีส่วนในการทำให้ประสบการณ์ในการใช้กฎเกณฑ์ต่างๆในการจัดความสัมพันธ์(ที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง และ ทำให้ทุกคนอยู่รอดในสังคมได้)

มีตัวอย่างในทางนิติบัญญัติที่ดีตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกและสามารถ ใช้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดระบบกฎหมายที่สอดคล้องกับจารีตประเพณีได้คือ กรณีของพระราชบัญญัติ การบัญชี พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔๓ ซึ่งบัญญัติว่า " ระหว่างที่ยังไม่มีมาตราฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนด ให้ถือว่ามาตราฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้มีมติให้ประกาศใช้แล้ว เป็นมาตราฐานการบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ " และบนวิธีคิดเดียวกันข้างต้น ก็สามารถที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถที่จะเข้ามามีส่วนใน กระบวนการและกลไกของระบบกฎหมายได้

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I
กระดานข่าว
I ประวัติมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

1
2

สิทธิชุมชน ปัญหา และพัฒนาการทางความคิด
ผู้เขียน :ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

สำหรับบทความชิ้นนี้ เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ"สิทธิชุมชน" ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยอย่างมาก ทั้งทางด้านสังคม การเมือง และโดยเฉพาะด้านกฎหมาย ที่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาจนกระทบถึงระดับโครงสร้าง

เพื่อให้เห็นภาพชัด อาจารย์ไพสิฐ จึงได้ให้ภาพเกี่ยวกับเรื่องของ"สิทธิ"ที่มีอยู่ในสังคมไทยนับแต่อดีต จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาตามลำดับ ซึ่งจากโครงสร้างและอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงไปทางสังคมนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อประเด็นเรื่อง"สิทธิ"ที่เคยยึดถือกันมา ผ่านรูปแบบจารีตที่มีอยู่ในชุมชน และพร้อมทั้งมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้ออำนวยต่อบทบาทใหม่ๆเหล่านี้ ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

เพื่อให้เห็นภาพชัดของบทความที่จะอ่านต่อไป จึงขอให้ภาพกว้างของระบบคิดที่นำเสนอดังต่อไปนี้

บทนำ
ตำแหน่งแห่งที่ของ "สิทธิ" ในสังคมไทย

ก. นัยยะของ "สิทธิ"กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
ก.1 ชุมชนในสังคมไทยสมัยโบราณ
ก.1.1ความเป็นปัจเจกไม่ได้เป็นตัวตั้งของโลกทัศน์ในการจัดความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆในชุมชน ก.1.2 ชุมชนโบราณมีระบบในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของชุมชนร่วมกัน

ก.2 ชุมชนที่เปลี่ยนไปสู่ความเป็นชุมชนเมือง
ก.2.1 การเปลี่ยนแปลงชุมชนหมู่บ้าน ไปสู่ความเป็นชุมชนเมืองในระยะก่อนการเกิดรัฐชาติ
ก.2.2 การเปลี่ยนแปลงชุมชนหมู่บ้าน ไปสู่ความเป็นชุมชนเมืองในระยะหลังการเกิดรัฐชาติ
ก.2.2.1. การเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย
ก.2.2.2.การเปลี่ยนไปสู่ระเบียบบริหารแบบราชการ
ก.2.2.3 การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม

ก.3 สรุปภาพรวมนัยยะของ "สิทธิ"กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรม

ข.บทสังเคราะห์ว่าด้วยลักษณะสำคัญๆของ"สิทธิชุมชน"บนประสบการณ์ของการต่อสู้ของชุมชน

ค.ก้าวย่างต่อไปของพัฒนาการ"สิทธิชุมชน"ในสังคมไทย

ทั้งหมดของภาพกว้างที่ให้ และข้อเสนอเหล่านี้ อาจเป็นก้าวย่างหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง"สิทธิชุมชน"เป็นที่ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการต่อไปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประเด็นนี้เกิดความกลมกลืนในสังคม เป็นที่ยอมรับตามที่กฎหมายสูงสุดระบุไว้

บรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

คำโปรย
บทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ในตะวันตก มักจะมีข้อความที่บัญญัติไว้ในลักษณะที่ว่า "ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย" ซึ่งเป็นการวางหลักการในทางกฎหมาย (de juris) แต่ในความเป็นจริง (de facto) แล้ว จะพบว่า ทุกคนไม่มีใครเท่าเทียมกัน แต่เป็นความพยายามที่รัฐจะต้องให้โอกาสแก่ทุกๆคน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะมีบทบัญญัติในทางกฎหมายที่จะมากำหนดในรายละเอียด
ไพสิฐ พาณิชย์กุล

ความเป็นปัจเจกไม่ได้เป็นตัวตั้งของโลกทัศน์ในการจัดความสัมพันธ์ในชุมชน ดังนั้น รูปแบบ วิธีการ ในการจัดการจึงทำให ้"ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์เด็ดขาด"ในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น ที่ดิน ที่ป่า หรือในแหล่งอาหารที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในที่ต่างๆ

ชุมชนโบราณมีระบบในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของชุมชนร่วมกัน เช่น การจัดการน้ำ การป้องกันชุมชนหมู่บ้านจากภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ การร่วมกันในการหาอาหาร เช่น การล่าสัตว์ การหาของป่า หรือการช่วยกันในการเพาะปลูก ซึ่งเหล่านี้น่าจะเป็นรากฐานที่สำคัญประการหนึ่ง ของระบบกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละวัฒนธรรม