4. เว็ปไซท์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มต้นของความคิดนี้ อาจารย์สมเกียรติได้เคยนำขึ้นมาเรียนปรึกษากับอาจารย์นิธินานแล้วว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน น่าจะมี website ของตนเอง และได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์เป็นอย่างดี. ดังนั้น จึงได้เริ่มต้นติดต่อที่จะให้มีการจัดทำ website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้น

ต่อเรื่องประวัติความเป็นมาของหมาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เว็ปไซท์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Educational Website :
Midnight's Media

เริ่มต้น อาจารย์นิธิได้ไปขอใช้พื้นที่จาก"ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร" โดยให้อาจารย์อุทิศ อติมานะรับผิดชอบประสานงานในเรื่องนี้ แต่ด้วยความไม่สะดวกในหลายๆด้าน นับตั้งแต่ความรู้เรื่องเทคนิค คนที่จะรับหน้าที่ดูแล website ไปจนกระทั่งถึง domain name ที่ไปผูกกับส่วนอื่นจนยืดยาว ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ต่อมาได้ไปขอใช้พื้นที่จาก bangkok.com ซึ่งปัญหาหลายอย่างที่เคยติดขัด เริ่มจะคลี่คลายออกไปมากแล้ว เช่น ปัญหาเรื่องเทคนิคก็มีการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาอื่นก็ตามมาคือ เวลาที่จะให้กับการทำ website ด้วยความทุ่มเทนั้น หลายคนยังไม่พร้อม นอกจากนี้ ผู้ทำก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือพอที่จะทำให้มันปรากฏออกมาในรูปแบบที่งดงามได้ ทำให้การให้บริการด้านนี้ เป็นไปด้วยความขลุกขลัก จนเกือบไม่มีอะไรคืบหน้า

และแล้ว ปัญหาทุกอย่างก็เริ่มอันตรธานไป เมื่ออยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์สมเกียรติได้ปรึกษากับเพื่อนอาจารย์หลายๆคนในขณะที่ไปพักผ่อนชายทะเล มีการปรารภถึงการจัดตั้งทีมงานขึ้นมาบริหาร website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แต่ในเวลานั้น หลายคนก็แบ่งรับแบ่งสู้. ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่กล่าวนี้ อาจารย์ชัชวาล ซึ่งเพิ่งสนใจเกี่ยวกับ internet ได้นำเอาบทความซึ่ง download มาจาก website ต่างๆมาให้อ่านกันอยู่เสมอ และพยายามชักชวนให้คนอื่นๆมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น

นับจากจุดนี้เอง ซึ่งเป็นจุดกำเริบที่สำคัญขึ้นมาอีกครั้ง ให้มีการศึกษาการทำ website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้นมาใหม่ และจริงจัง. ราวเดือนเมษา-พฤษภา 2543 อาจารย์สมเกียรติ ได้ไปขอความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้จากลูกศิษย์ของตน ซึ่งจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มช.ไปแล้ว ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่บริหาร website อยู่แห่งหนึ่ง และมีอาชีพเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากนั้นอีก 7 วัน ก็สามารถเปิดตัว website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาได้. จนกระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 จึงมีการเปิดตัว website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอย่างเป็นทางการคือ www.geocities.com/midnightuniv

ที่เปิดตัวในวันที่ 23 พฤษภาคมนั้น เป็นโอกาสที่เหมาะเนื่องจากเหตุที่เป็นวันสำคัญสองอย่างของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือ
1. เป็นวันที่เปิดที่ทำการ"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอย่างเป็นทางการ" ณ ซอยวัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
2. เป็นวันครบรอบ 60 ปีของท่านอาจารย์นิธิ

ในส่วนของเนื้อหา ข้อมูล และงานบริการหลักใน website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้น ได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนดังต่อไปนี้

1. เรื่องของบทความ ซึ่งมีทั้งงานเขียนของคณาจารย์ และสมาชิก. งานถอดเทปจากชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และงานแปลจากนิตยสารต่างประเทศ โดยมีอาจารย์สมเกียรติ เป็นสาราณียกร
2. ส่วนของการบริการให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมาย อาจารย์ไพสิฐ และคณาจารย์นิติศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบ
3. ส่วนของกระดานข่าว(webboard) ที่สมาชิกและผู้สนใจแสดงความคิดเห็นกันเข้ามา และตั้งคำถามนั้น เป็นหน้าที่ที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ

เท่าที่ผ่านมา website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ ได้รับความสนใจจากนักศึกษา, ครูอาจารย์, นักพัฒนาเอกชน, คนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองบางพรรค บุคคลทั่วไป เป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศ รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศด้วย และหลายคนได้สมัครเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วยความเต็มใจ โดยไม่มีสิ่งตอบแทนดังที่แจ้งไว้ในหน้าสมาชิก

การเป็นสมาชิก website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้น อันที่จริงเป็นการเสียสละของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะมาทำประโยชน์ร่วมกันให้กับสังคมไทย เราจึงไม่แจกของแถมหรือให้สิทธิพิเศษปลอมๆเป็นเครื่องล่อใจ และเราไม่ปรารถนาเรื่องปริมาณด้วยเหตุแห่งการนำไปอวดอ้าง. เรารู้ดีว่า เราเดินไปข้างหน้ากว่าคนอื่นด้วยการทวนกระแส เราแปรเจตนาที่ดีให้เป็นรูปธรรมซึ่งต้องอาศัยการเสียสละแรงกายและกำลังทรัพย์ส่วนตัว และเราทำเท่าที่ทำได้ตามเวลาที่ทุกคนมีให้กับสาธารณะ สิ่งเหล่านี้คือหลักใจของการรับสมาชิกที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และเราก็สมหวังดังที่เราตั้งใจ โดยที่ไม่เคยบอกกับสมาชิกของเราสักคนเลย นอกจากในที่นี้ (คุยมากไปหน่อย)

ในขณะที่ website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังดำเนินการอยู่นี้ มีบุคคลหลายคนได้มาเสนอเนื้อที่ให้เราฟรี เพื่อให้เราใช้พื้นที่บน internet ของพวกเขา. อีกหลายคนบอกกับเราว่าได้ download ข้อมูลจาก website ไปสอนนักศึกษา. บางคนก็เก็บข้อมูลของเราได้เป็นเล่ม. และอีกหลายคนอ่านไม่รู้เรื่อง. และมี website อื่นๆมาขอทำ link กับเราเพื่อขยายความรู้ออกไปสู่วงกว้าง. จำนวนมาก ขอมาแปะโฆษณาบน webboard ของเราเพื่อเปิดตัว website ใหม่ๆ, หลายคนขอรูปของเราไปใช้บน website . และหลายคนอยากติดต่อกับอาจารย์นิธิ ไม่รู้จะติดต่อได้อย่างไร ก็เขียนมาหาเรา.

หลายคนอยากวิพากษ์รัฐบาล ก็สบัดปากกามาเต็มที่, หลายคนงอนๆเราเพราะข้อความซึ่งส่งมาบนกระดานข่าว ไม่ผ่านคำไม่สุภาพ(ซึ่งอันนี้เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิค มากกว่าปัญหาเรื่องคำหยาบ). หลายคนมาขอแสดงฝีมือทางวิชาการ, และที่ต้องขอบใจด้วยก็คือ หลายคนได้ให้ความรู้แก่เราเป็นจำนวนมาก. สุดท้ายอาจารย์นิธิได้มาบอกกับพวกเราว่า ได้รับคำชมจากหลายๆคนที่อาจารย์มีโอกาสไปพบมา และคนเหล่านั้นถามมาว่าใช้ทุนดำเนินการเท่าไหร่สำหรับ website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. คำตอบของอาจารย์ก็คือ"ศูนย์บาท". เพราะมีอาจารย์บางคนไปเรียนมา แล้วหัดทำ website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้น.

แต่อาจารย์ครับ ผมเกือบไม่ได้นอนเลยครับ

5 กิจกรรมอื่นๆของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ในระหว่างการเปิดให้มีชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประจำปี ซึ่งปกติแล้วเราจะเรียนกันในช่วงปิดภาคเรียน(เพราะคณาจารย์ส่วนใหญ่ มีงานประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ ช่วงเปิดเรียน) จะมีกิจกรรมที่แทรกเข้ามา ตามวาระโอกาสต่างๆ เช่น กิจกรรมพิเศษออกค่ายเยาวชน หรือมีการขอความร่วมมือมาจากหน่วยงานอื่นบ้าง มีการไปร่วมกับกลุ่มองค์กรอื่นในท้องถิ่น หรือระดับประเทศบ้าง และบางครั้งก็มีอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นมาดูงานและการจัดรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฯลฯ. กิจกรรมเบ็ดเตร็ดเหล่านี้ เท่าที่ประมวลได้โดยสังเขป จึงมีอยู่จำนวนหนึ่งดังต่อไปนี้

5.1 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนแม่ทา จ.ลำพูน จัดกิจกรรม"ค่ายเยาวชน ดิน น้ำ ป่า" ตอน "มหัศจรรย์วันรักษ์น้ำ" ในช่วงวันที่ 2-3-4 เมษายน 42. กิจกรรมนี้เป็นการส่งเสริมเยาวชนจากในเมืองและชนบทมาเรียนรู้ร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เดินป่า เข้าฐานปฏิบัติการ (walk rally) ฉายวิดีโอ และแคมป์ไฟ. กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ ชุมนุมเกษตรกรทางเลือกแม่ทา จ.ลำพูน

5.2 สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดให้มีการเสวนาหัวข้อ "การศึกษาและอิสรภาพ" นำโดย วิกรม พาซูเช่ (ลูกศิษย์ กฤษณมูรติ และอดีตครูโรงเรียน Rishi Valley) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2542 / เวลา 14.00 น. ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.

5.3 กระบวนวิชาศิลปวิจารณ์ คณะวิจิตรศิลป์ มช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดอภิปรายและฉายภาพยนตร์(เรื่อง Anna and the King) ในหัวข้อ "เซ็นเซอร์ Anna and the King : ปีศาจเสรีภาพของศิลปะ" (อาจารย์นิธิ เป็นคนตั้งชื่อ). งานนี้จัดในรูปของการอภิปรายและซักถาม โดยมีผู้นำเสนอโดย อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์, อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม, และอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล. วันที่ 13 มกราคม 2543 / เวลา 17.00 น. / ณ ห้องประชุม 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช. (หมายเหตุ : การอภิปรายครั้งนี้ ได้มีการถอดเทป และเผยแพร่อยู่บน website ของ www.geocities.com/midnightuniv)

5.4 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ กระบวนวิชาที่เปิดสอนในมหาวิยาลัยเชียงใหม่อีก 18 กระบวนวิชา และสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. เปิดให้มีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทำไมเราต้องเป็นไทยในยุคโลกาภิวัฒน์" โดย ส.ศิวรักษ์. วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2543 / เวลา 17.00 น. - 18.30 น. จัดขึ้นที่ ห้องบรรยายรวม ตึกฟิสิกส์ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มช. (หมายเหตุ : กิจกรรมนี้ได้มีการบันทึกภาพวิดีโอ เอาไว้)

5.5 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดให้มีวงสนทนากับปราชญ์ชาวบ้าน จ.สงขลา "ครูชบ ยอดแก้ว" ผู้ก่อตั้งธนาคารชุมชน (สหกรณ์ออมทรัพย์) ในหัวข้อ "ธนาคารบ้านนอก". วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 / เวลา 10.00-12.00 น. ณ ใต้ต้นไม้ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. (หมายเหตุ : การอภิปรายครั้งนี้ ได้มีการถอดเทป และเผยแพร่อยู่บน website ของ www.geocities.com/midnightuniv)

5.6 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจัดให้มีการเสวนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเรื่อง "การศึกษาทางเลือก เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน". นำการเสวนาโดย อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, และต่อด้วยการอภิปรายเรื่อง "การศึกษาทางเลือก เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน" โดย อ.พงษ์ ตนานนท์, อ.ชนี ธงไชย, นพ.พร พันธุ์โอสถ, นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, อ.สมพร พึ่งอุดม, อ.ชัชวาล ทองดีเลิศ, พ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา, พระสุทัศน์, อ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ (ดำเนินรายการ). วันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2543 / เวลา 8.30 - 16.00 น. ณ ห้อง HB 6240 คณะมนุษยศาสตร์ มช.

5.7 โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ร่วมกับองค์กรอื่นๆอีก 10 องค์กร และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดให้มีเวทีสัมนาในหัวข้อเรื่อง"ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับทางเลือกในการศึกษา" โดยกิจกรรมนี้จัดให้มีขึ้น 2 วันคือ

วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 / เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
ปาฐกถาเรื่อง "ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการศึกษาไทย" โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ปาฐกถาเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษา กับการศึกษาทางเลือก" โดย อ.รัชนี ธงไชย

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2543 / เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
ปาฐกถาเรื่อง "ข้อเสนอการศึกษากับทางเลือกของชีวิต" โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นที่ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่

6. การเปิดชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ปี 2543
อาจารย์นิธิได้เคยพูดกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหลายครั้ง ซึ่งพอประมวลสาระเอาเองได้ว่า "ทางเลือก"ของชีวิตในฐานะของความเป็นมนุษย์ มากกว่าอาชีพซึ่งเราร่ำเรียนกันมา หรือเกินกว่าถ้อยคำหลอกลวงของคำนี้ซึ่งมากับระบอบทุนนิยม มีตัวอย่างให้พบเห็นกันเต็มไปหมด. หลายคนหลังจากจบมาแล้ว ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง ไปจากช่องทางอาชีพที่สถาบันการศึกษาได้อบรมบ่มเพาะ หลายคนทิ้งงานประจำเพื่อคุณค่าและความหมายของชีวิตอย่างอื่น และหลายคนกล้าคิดหรือกล้าแหวกวงล้อมค่านิยมของสังคม ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนมี"ทางเลือกของชีวิต" และเราน่าจะเชิญคนเหล่านี้มาให้ความรู้แก่เราและคนที่สนใจ

ดังนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้เปิดชั้นเรียนการเรียนรู้เรื่อง"ทางเลือกชีวิต"นี้ขึ้นมา จำนวน 5 ครั้ง ตามหัวข้อย่อยดังต่อไปนี้
6.1 แลกเปลี่ยนทัศนธระหว่างคนที่เลือกชีวิตตัวเอง
6.2 ทางเลือกเศรษฐกิจ เพื่อการพึ่งตนเอง (ลงมือการปลูกผักปลอดสารพิษ ณ บริเวณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
6.3 ฝึกการทำอาหาร เพื่อความสุขและความรักของครอบครัว
6.4 การออกกำลัง เพื่อสร้างแนวป้องกันทางด้านสุขภาพตามแนวทางตะวันออก แทนการพึ่งพิงหมอ
6.5 เรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์และใช้จินตนาการ โดยผ่านทางทำงานศิลปะ เพื่อทำให้เรากล้าคิด กล้าจินตนาการ และกล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง

กิจกรรมทั้ง 5 ครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม - 19 สิงหาคม 2543. โดยจัดในทุกวันเสาร์ / เวลาบ่ายสองโมง เป็นต้นไป. ณ ที่ทำการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซอยวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่

ผลสรุปของกิจกรรมนี้ มีผู้เข้าร่วมในช่วงแรกๆมากพอสมควร แต่ช่วงหลังนั้นคนน้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ได้นึกถึงและให้ความสำคัญ. หรืออาจเป็นเพราะ การนำเสนอเรื่องนี้ มันเป็นจุดเปลี่ยนหรือการหักเหที่สำคัญของชีวิต ซึ่งการจะตัดสินใจกระทำอะไรที่มันเป็นเรื่องสำคัญระดับนี้ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองไปตลอดกาล แต่แม้ว่าเราจะยังไม่เปลี่ยนไปโดยทันที การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเราสามารถใช้เป็นทรัพยากรหรือต้นทุนทางความคิดของเราเองในอนาคต

กิจกรรมอื่นๆของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

สุดท้าย หากผู้เขียนจะทำหน้าที่สรุปความทั้งหมดเท่าที่เขียนมาด้วยตนเอง ก็คงจะเป็นการพูดซ้ำด้วยการใช้คำอื่นแทน แบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า tautology ซึ่งจะไม่มีผลอะไรงอกงามขึ้นมา และด้วยเหตุดังนั้น ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นเพียงกิ่งก้านของแนวคิดที่มาจากรากและลำต้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงขอให้ย้อนกลับไปที่งานเขียนชิ้นหนึ่งของอาจารย์นิธิ ซึ่งเคยเขียนเอาไว้ในมติชนสุดสัปดาห์เกี่ยวกับ"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" อันจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับเราเพิ่มขึ้น ดังนี้

พวกเราหลายคนที่ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่า ระบบการศึกษาของโลกปัจจุบัน ล้วนจัดขึ้นภายใต้การกำกับครอบงำของลัทธิอุตสาหกรรมนิยมทั้งนั้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ก็เช่น เราไปโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัยก็เพื่อให้ได้ทักษะที่จะมีคนซื้อไปใช้ คนซื้อก็เลือกซื้อคนไปยัดลงในเฟืองต่างๆของการผลิต การจัดการศึกษาจึงเน้นแต่ว่า จะหลอมคนให้เหมาะที่จะสวมลงไปในเฟืองจุดต่างๆของการผลิตที่มีลักษณะการผลิตเชิงมวล มุ่งตลาด และมุ่งกำไรสูงสุด เป็นการศึกษาที่รับใช้เครื่องจักรการผลิต ไม่ได้รับใช้คนเรียน

อันที่จริงคนเรียนหายไปจากสมองของผู้บริหารการศึกษาเลยด้วยซ้ำ จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่สมัยหนึ่ง ทบวงมหาวิทยาลัยนิยาม"อุดมศึกษา"ว่า คือการศึกษาที่ต่อจากมัธยมศึกษา...เป็นส่วนปลายของสายพานการผลิตคนไปสู่เครื่องจักร ซึ่งเริ่มจากประถมศึกษาไปถึงอุดมศึกษา.

นิยามอย่างนี้กีดกันคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เคยผ่านมัธยมศึกษาออกไปจากอุดมศึกษา

หลักธรรมดามีว่า ประตูที่ปิด ย่อมกีดกันคนทั้งสองด้าน. ชาวบ้านเข้าไม่ถึงอุดมศึกษา และอุดมศึกาเข้าไม่ถึงชาวบ้านด้วย เพราะไม่มีธุระอะไรไปทำกับชาวบ้าน.

พวกเรานิยามอุดมศึกษาแตกต่างจากนั้น เราคิดว่าอุดมศึกษา คือการศึกษาที่มีลักษณะสำคัญสองอย่างคือ
1) การศึกษาที่เน้นความซับซ้อนเชิงลึก ถ้าจะตั้งปัญหาก็ต้องเข้าใจความซับซ้อนในเชิงลึกของปัญหานั้น ถ้าจะให้คำตอบ ก็เป็นคำตอบที่มองเห็นความซับซ้อนเชิงลึก จึงเต็มไปด้วยเงื่อนไขต่างๆจำนวนมาก และ
2) สืบเนื่องจากข้อแรก เหตุฉะนั้น อุดมศึกษาจึงต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆที่นำมาสู่ปัญหา และสัมพันธ์หลากหลายกับคำตอบ

ถามว่าชาวบ้านที่ไม่จบ ป.4 มีวิธีคิดอย่างนี้หรือไม่ พวกเราเชื่อว่าเขาคิดอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะการตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไรในชีวิตจริงนั้น ทุกคนไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใดก็ตาม ล้วนคิดโดยการมองความซับซ้อนเชิงลึกและความเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆอย่างหลากหลายทั้งนั้น

อุดมศึกษาจึงเป็นสมบัติของทุกคน ใครๆก็ควรเข้าถึงอุดมศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะจบอะไรมา... โดยเฉพาะถ้าเราไม่มุ่งแต่จะจัดอุดมศึกษาเพื่อรับใช้การผลิตในลัทธิอุตสาหกรรมนิยม หากมุ่งรับใช้ตัวผู้เรียน

แต่เพราะอุดมศึกษาในโลก ถูกจัดเพื่อรับใช้ลัทธิอุตสาหกรรมนิยม มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงมีคำตอบสำเร็จรูปที่จะให้แก่ผู้เรียนอยู่แล้ว คำตอบนั้นแบ่งออกเป็นรายวิชาย่อยหลายวิชา ประกอบกันขึ้นเป็นหลักสูตรของ"ศาสตร์"ต่างๆ

ศาสตร์กลายเป็นตัวตั้งของการจัดการศึกษา แทนที่จะเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนและสังคม. "ศาสตร์"ทำให้ปัจจัยต่างๆไม่ถูกพิจารณาอย่างรอบด้าน และ"ศาสตร์"ทำให้ไม่เชื่อมโยงความรู้ไปตอบสนองปัญหาจริง.

เพราะแม้แต่ตัวปัญหาจริงก็ถูกซอยย่อยแยกออกเป็นปัญหาใน"ศาสตร์"ต่างๆที่ไม่สัมพันธ์กัน เช่น นักวิจัยที่ค้นคิดเทคนิคทำให้ข้าวที่เข้าสู่โรงสีแห้งได้ระดับ ก็ไม่ได้สนใจวิธีการผลิต, ทุนและการบริหารทุน, วัฒนธรรม ฯลฯ ของชาวนาผู้ผลิตข้าว "นั่นมันเรื่องเศรษฐศาสตร์หรือมานุษยวิทยานี่หว่า อั๊วเป็นวิศวกรเฟ้ย"

พวกเราจึงคิดว่า การจัดการอุดมศึกษาโดยการตั้งมหาวิทยาลัยไว้ต่อยอดมัธยมนั้น คือการทำลายศักยภาพของมนุษย์โดยตรง. ด้วยเหตุดังนั้น จึงตั้งมหาวิทยาลัยของเราขึ้นเอง นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่มีคำตอบสำเร็จรูปในเรื่องใดๆ มหาวิทยาลัยของเราสนใจคำถามมากกว่าคำตอบ โดยเฉพาะคำถามที่มาจากชีวิตจริงของผู้คน ไม่ใช่คำถามที่เกิดจากการผลิตในลัทธิอุตสาหกรรมนิยม และการทำกำไรสูงสุด

กระบวนการเรียนรู้ของเราต้องเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ทุกคนมีส่วนช่วยกันขัดเกลาคำถาม เชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เข้ามาสัมพันธ์กับคำถาม ลองเสนอคำตอบ และถูกคัดค้านจากมุมมองที่แตกต่าง และในที่สุดก็จบลงโดยไม่มีคำตอบที่เป็นสากลแก่ทุกคน

คำตอบเป็นธุระของผู้เรียนค้นหากันเอาเอง เหตุดังนั้น ผู้เรียนแต่ละคนจึงได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีอำนาจอธิบายได้ดีที่สุดแก่แต่ละคนในช่วงนั้นๆ หรือมิฉะนั้น บางคนก็อาจไม่ได้พบคำตอบเลย แต่ได้พบพลังที่แสวงหาให้แก่ตนเองต่อไป เท่านั้นก็เกินพอแล้ว

พวกเราคิดกันว่า ในปีแรกนี้เราควรเปิดประเด็นอะไร สำหรับการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของเรา ในที่สุดก็ตกลงใจกันว่าเราจะเปิดวิชา"ความสุข 101" เพียงวิชาเดียว.

ทำไมจึงต้องเป็นเรื่อง"ความสุข"
ก็เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ถูกลืมเสียสนิทในระบบการศึกษา ทั้งๆที่ความสุขควรเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการศึกษา แน่นอนครับ เหนือกว่าเงินเดือน โอกาสงาน และความมีหน้ามีตา.

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะเปิดแต่ละวิชาระดับ 101 เพราะเกินกว่านี้ไม่มีใครสอนใครได้ ทุกคนต้องเรียนเอาเอง และเรียนได้ไม่ยากด้วย แต่ระดับ 101 นี้ต่างหากที่ต้องช่วยกันเรียน

พวกเราช่วยกันวิเคราะห์หาพื้นฐานของความสุข แล้วเลือกเอามาไว้เป็นประเด็นพูดคุยกันได้ 7 หัวข้อ เช่น สุขภาพ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของความสุข พื้นฐานทางสังคมของความสุข ท่าทีต่อชีวิต ฯลฯ

เราเรียนกันทุกวันเสาร์จากบ่าย 3 โมงไปถึง 6 โมงเย็น โดยแรกเริ่มขออาศัยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ซึ่งเป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเราด้วยประการทั้งปวง) เราใช้ใต้ร่มไม้ หรือใต้ถุนเรือนไทยลื้อ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีบรรยากาศร่มรื่นจากแมกไม้ ปูเสื่อคุยกัน

เราแบ่งคนรับผิดชอบเปิดประเด็นทั้ง 7 ไว้ครบถ้วน แต่กำหนดว่า ผู้เปิดประเด็นซึ่งในมหาวิทยาลัยกลางวันเรียกว่าอาจารย์นั้น จะมีเวลาไม่เกิน 15 นาทีใน 3 ชั่วโมงของชั้นเรียน (พวกเราบางคนเชื่อว่า ใครพูดเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะสำคัญแค่ไหนก็ตาม ถ้าต้องใช้เวลาเกิน 15 นาที หมอนั่นไม่รู้จริง, หรือไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นจริง และเลอะเทอะเหมือนๆกันทั้งนั้น)

เวลาที่เหลือใช้สำหรับการการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ประเด็นที่ถูกเปิดไว้อาจถูกลืมไปก็ได้ หรืออาจถูกขยายทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างขึ้นก็ได้ กติกามีว่า ไม่มีใครมีสิทธิหวงประเด็นของตัวเอาไว้แต่ผู้เดียว การที่ไม่มีใครสืบต่อประเด็นที่ตัวยกขึ้นมาก็แสดงอยู่แล้วว่า ตัวประเด็นนั้นคงไม่เป็นสับปะรด หรือวิธีเสนอไม่เป็นสับปะรด.

เราเปิดรับนักศึกษาไม่เกิน 50 คน และในรายชื่อผู้สมัคร เราได้คนหลากหลายมากพอสมควร ทั้งๆที่การประชาสัมพันธ์ทำได้ไม่ดี เช่น เรามีชาวนาจำนวนหนึ่ง ผู้นำชุมชนแออัด พนักงานร้านซ่อมจักรยาน พนักงานเสริฟ คนชั้นกลางในอาชีพต่างๆ และนักศึกษามหาวิทยาลัยกลางวัน

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พวกเราได้เรียนรู้อะไรมากมายอย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งได้เรียนรู้ปัญหาการจัดการของเราเองด้วย

กับคำถามที่ผมได้รับอยู่เสมอว่า ทำไมต้องเป็น"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" หรือทำไมต้อง"เที่ยงคืน"
ในโลกก่อนหน้านี้ที่จะมีไฟฟ้าใช้นั้น กลางวันกับกลางคืนแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งแก่จิตใจและความนึกคิดของผู้คน แสงสว่างทำให้ทุกอย่างเผยร่างของมันให้เห็นได้ถนัด จนทำให้เรานึกว่าเป็นจริงคือสิ่งที่ตาเราเห็น

ความเป็นจริงของคนกลางวัน เกิดจากการชั่ง การตวง การวัด ได้ผลอย่างไรก็สามารถบอกความจริงออกมาได้ เป็นมิลลิเมตร หรือเล็กกว่านั้นเป็นล้านเท่าก็ยังได้

แต่ในกลางคืนที่มีแต่แสงสลัว มนุษย์ใช้ตาและเครื่องวัดหยั่งไปถึงความเป็นจริงไม่ได้ ต้องอาศัยจินตนาการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสมองซีกขวา แต่ก็ถูกขัดเกลาสร้างระบบขึ้นจากสมองซีกซ้าย

ในระบบการศึกษาของโลกปัจจุบัน ความสามารถของมนุษย์ตรงนี้ถูกละเลยอย่างน่ากลัว ยิ่งทำให้ความเป็นจริงของโลกปัจจุบันคับแคบ ตื้นเขิน และไร้ศีลธรรม

พวกเราต้องการรื้อฟื้นวิธีคิดของกลางคืนกลับมาในระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเป็นชื่อที่บอกให้รู้ถึงอุดมคติและแนวคิดของมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน

เที่ยงคืนก็เพราะ โดยสัญลักษณ์เที่ยงคืนเป็นเวลาที่มืดที่สุด เพราะอยู่ห่างจากพลบค่ำและรุ่งสางเท่าๆกัน จริงอยู่ในความเป็นจริงของวิธีคิดแบบกลางวัน เที่ยงคืนไม่ใช่จุดที่มืดสุดของกลางคืน แต่โดยสัญลักษณ์แล้วใช่ ในวิธีคิดของกลางคืน ความจริงเชิงสัญลักษณ์นั้นมีความสำคัญในความเป็นจริงไม่น้อยไปกว่า หรืออาจมากกว่าความเป็นจริงที่ชั่งตวงวัดได้เสียอีก เหตุดังนั้น เราจึงใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพราะว่ามันมืดที่สุดโดยสัญลักษณ์

ด้วยความหวังว่า ความมืดสนิทนั้น จะช่วยส่องสว่างให้แก่อุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยกลางวัน ถึงไม่สำเร็จที่จะส่องสว่างได้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของอุดมศึกษา

บทสรุป

back to home I back to midnight's index I back to beginning page

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com