มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมสำหรับสังคมไทย
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546
ภาพประกอบเพื่อใช้ประกอบบทความการเสวนาเรื่อง "ความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ กรณีเขื่อนปากมูล" โดย ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ, ดร.เกษียร เตชะพีระ, อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ / ภาพประกอบเขียนโดย Robert Gordy เทคนิคภาพพิมพ์ Monotype นำมาจากหนังสือ Art today ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่
ภาพประกอบบทความเสวนาเรื่อง "ความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ
กรณีเขื่อนปากมูล"
นำมาจากนิทรรศการภาพถ่าย โดย คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์
R
relate
release date
040246

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 240 เดือนกุมภาพันธ์ 2546 การเสวนาทางวิชาการ "ความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินใจของรัฐกรณีเขื่อนปากมูล"

สถานที่เสวนา ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 ระหว่างเวลา 09.30 - 12.30 น.

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ดำเนินรายการ
(ความยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

 

นักคิดอนุรักษ์นิยม อย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็เคยติงเรื่องนี้ไว้ ในคำพูดที่เราจะได้ยินอ้างกันบ่อย เมื่อครั้งที่ท่านพูดเมื่อปี 2490 ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่ถือเอาแต่ข้างมากของเสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจรห้าร้อยคนมาประชุมกับพระห้าองค์ แล้วเสนอญัตติให้อภิปรายว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ เมื่อลงมติกันทีไร ก็จะมีมติให้ไปปล้นเขา เพราะโจรห้าร้อยก็ลงมติชนะพระได้ทุกที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเลยว่ามติของเสียงข้างมากนั้นเป็นมติที่ถูกต้องในทำนองคลองธรรม
ผมกำลังคิดว่าในสังคมปัจจุบันเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ซ้ำร้ายกำลังมีการปั้นแต่งให้เห็นว่าโจรห้าร้อยนั้นเป็นพระห้าร้อย พระห้าองค์นั้นให้เห็นเป็นโจรห้าคน กลายเป็นภาพที่กำลังสื่อกันในเวลานี้

แล้วหากคิดให้ดี การประท้วงของประชาชนที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มันอันตรายถึงขนาดที่เขาจะประท้วงโค่นรัฐบาลหรือ? ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนคิดจะเป็นนายกหรือ? ไม่ใช่เลย นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุกคามความมั่นคงของรัฐเลย
และที่เขาต้องไปประท้วงก็เพราะว่าเขาไม่มีเงินไปซื้อโฆษณาในทีวี วิทยุ สังคมการเมืองไทยมันแคบ จนเบียดพวกเขาไม่ให้มีโอกาสไปแสดงทัศนคติที่จะโน้มน้าวใจคนข้างมากได้ เพราะทางอื่นไม่เอื้อให้เขา และเขากำลังโน้มน้าวให้คนข้างมากในสังคมสงสัย ศึกษา เรียนรู้ วิจารณ์ และหาทางเลือก การประท้วงของประชาชนเป็นปัจจัยที่จะทำให้สังคมเรียนรู้และฉลาดขึ้น เราต้องการสิ่งนี้ไม่ใช่หรือ? (ดร.เกษียร เตชะพีระ)

 

H
การเสวนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรื่อง "ความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ กรณีเขื่อนปากมูล" เรียบเรียงโดย นัทมน คงเจริญ และ สมเกียรติ ตั้งนโม

เว็ปไซค์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงอุดมศึกษาทางเลือกได้อย่างเท่าเทียม

หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง จะแก้ปัญหาได้

สถานที่เสวนา ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 ระหว่างเวลา 09.30 - 12.30 น. จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่

ความรู้ที่ขาดหายไป
ในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ กรณีเขื่อนปากมูล

ผู้ร่วมเสวนา ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ, ดร.เกษียร เตชะพีระ
อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ผู้ดำเนินรายการ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ : กระบวนการที่ใช้ในการตัดสินใจกรณีเขื่อนปากมูล อย่างที่เมื่อเช้านี้ อาจารย์วารุณีพูดถึงความแตกต่างระหว่างการสำรวจกับงานวิจัย แม้แต่การสำรวจที่ดีๆก็ตาม มันก็ให้ความรู้ที่แบนๆเท่านั้น แล้วก็ความรู้แบนๆอันนี้มันแตกต่างจากการวิจัย คือจริงๆแล้วเขื่อนปากมูลนี้มีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องของการข้อเท็จจริง เหตุผล และความรู้

จะเห็นได้ว่ามีการศึกษาหาความรู้ สร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องเขื่อนปากมูลในแง่มุมต่างๆทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านเขื่อนปากมูลมาเป็นเวลา 10 กว่าปีความรู้เหล่านั้นถูกโยนลงตะกร้าหมดในกระบวนการตัดสินใจครั้งนี้ ฉะนั้นผมคิดว่ามีความสำคัญในการที่เราจะทบทวนดูว่า มันมีความรู้สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้างในกระบวนการหาความรู้ของทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นในกรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งไม่ได้ถูกใช้ในกระบวนการตัดสินใจครั้งนี้เลย

ผมอยากจะขอเริ่มต้นจากอาจารย์ชยันต์ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของการรวบรวมความรู้ที่ตัวเองสร้างบ้าง คนอื่นสร้างบ้างมานานมากเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนปากมูล อาจารย์ช่วยชี้ให้เห็นหน่อยว่า มันมีความรู้ที่ขาดหายไปยังไง ซึ่งเดี๋ยวคุณไชยณรงค์จะเพิ่มเติมในส่วนนี้ ขอเชิญอาจารย์ชยันต์ครับ

อ.ชยันต์ : ตอนที่ผมเดินขึ้นมาร่วมเสวนานี้ สวนกับนักศึกษาปริญญาโท ของคณะสังคมศาสตร์สองสามคน เขาบอกว่าฟังมาแล้วก็ไม่มีอะไรใหม่ คนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่ผมสอนมาด้วย ก็เสียดายที่เขาไม่ได้มานั่งฟังในช่วงท้ายนี้ เพราะว่าถ้าเขาอดทนฟังหน่อย ก็จะได้เห็นข้อมูลใหม่ๆที่พวกเราสองสามคนจะเล่าให้ฟัง แล้วก็สะท้อนวิธีสอนนะท่านอาจารย์นิธิ วิธีสอนและวิธีการเรียนรู้ของผู้ที่กำหนดการตัดสินใจในบ้านเมืองของเราด้วย ที่ว่าจะไม่ยอมฟังอะไรที่เป็นข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์หรือเชิงสังคมวัฒนธรรม ต้องการข้อมูลแค่เพียงเป็นแท่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขที่มาอย่างแบนๆที่อาจารย์วารุณีได้กล่าวมาแล้ว

เมื่อเช้านี้ก่อนผมออกจากบ้านก็ฟังการสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เขาบอกว่างานที่เขาทำสำรวจเป็นงานสำรวจความคิดของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นกรณี เขาบอกว่าคงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ข้อมูลของนายกฯในการตัดสินใจ เพราะว่าข้อมูลที่มีอยู่แล้วไม่มีความเห็นของประชาชนประกอบ

ข้อมูลของงานที่มีอยู่แล้วคือข้อมูลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบล และของสำนักงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยที่นายกฯใช้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจใช้ ไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชน

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ผมได้อ่านงานศึกษาแล้วประมาณอย่างน้อย 4 เรื่องใหญ่ๆ ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องปากมูลตั้งแต่ปี 37-ปี 45 ผมพบว่ามันมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นของประชาชน

อันแรกเลยจะชี้ให้เห็นว่าในงานวิจัยชิ้นแรกๆที่ทำหลังจากเขื่อนปากมูลเกิดขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถามเลยว่าชาวบ้านพอใจอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเขื่อนปากมูล ก็จะพบว่าเขาถามคน 200 คน ประมาณ 240 กว่าคน ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากน้ำท่วมหลังจากการสร้างเขื่อน 3 พื้นที่คือ พื้นที่หัวงาน ที่ในหลังเขื่อนหรือเหนือเขื่อนซึ่งแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือเป็นพื้นที่น้ำท่วมจริงๆเลย กับพื้นที่น้ำท่วมบางส่วนของพื้นที่ทำกินในหมู่บ้าน

แต่เวลาไปถามชาวบ้านเขาพอใจเขื่อนปากมูลอะไรบ้างจะพบว่า ชาวบ้านตอบว่าเขาพอใจเรื่องมีไฟฟ้าใช้ และที่สำคัญที่สุดคือว่าการคมนาคมสะดวกไม่มีฝุ่นร้อยละ 44 พอใจได้รับค่าชดเชย แต่พอถามว่าอยากมีเขื่อนไหม ในปี 39 มีคนหนึ่งในสองร้อยกว่าคนตอบว่าอยากมี แต่หลังจากนั้นคือ การสำรวจปี 40, 41, 42 ไม่มีคำตอบหรือว่าไม่มีผู้ใดที่เลือกตอบว่าอยากมีเขื่อน อันนี้เราก็เข้าใจได้ว่า มันสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีโครที่นั่นที่อยากจะบอกว่า ต้องการเขื่อนนะครับ

แต่เวลาเขาเอาไปสรุปว่าชาวบ้านพอใจหรือไม่ เขาเอาข้อมูลคือ มีไฟฟ้าใช้ มีน้ำประปา มีการคมนาคมหรือว่ามีรายได้จากการจับกุ้งเพิ่มขึ้นมาบวกกัน แล้วรวมว่าชาวบ้านส่วนใหญ่พอใจ เกณฑ์เรื่องการใช้คำว่าพอใจไม่พอใจมันต่างกัน เขาก็ไปถามอีกว่าแล้วอะไรบ้างที่ไม่พอใจ ปรากฏว่าชาวบ้านเขาตอบว่าหาปลาได้น้อยร้อยละ 58 น้ำท่วมไม่มีที่ทำกิน ทำลายธรรมชาติ หากินลำบากร้อยละ18 ถ้าเอาตัวเลขเหล่านี้มารวมกันก็ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านนะไม่พอใจกับปัญหาสิ่งที่เขื่อนทำให้เขาได้รับความยากลำบาก

ก็ลองเทียบดูว่าระหว่างชาวบ้านพอใจกับถนน พอใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเขาจะเห็นได้ว่า ความไม่พอใจดังกล่าวมีมากกว่า

ผมอยากจะให้ข้อคิดว่า ในระหว่างที่ผมเรียนหนังสืออยู่นั้น พวกคุณอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ sorcery in social science คือ"พ่อมดแห่งงานวิจัยสังคมศาสตร์" เขาบอกวิธีการเล่นตัวเลขแบบนี้คือเอาข้อมูลซึ่งมันดูเหมือนกับว่ามันจะมีความหมายเอามารวมหรือแยกซะ อันนี้ก็เป็นปัญหาของการวิจัยที่ทำมา แต่ว่าเวลาผู้บริหารหรือผู้ตัดสินใจเอาไปใช้ไม่ได้เอาข้อมูลเหล่านี้เอาไปอ่านอย่างวิเคราะห์แล้วเอาไปใช้ในการตัดสินใจ

ที่นี้ลองดูงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งทำล่าสุดเลยก่อนที่สำนักงานสถิติจะออกมา อันนี้เป็นงานวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถามชาวบ้านว่าประโยชน์และความเดือดร้อนในกรณีปิดและเปิดประตูเขื่อนระบายน้ำของเขื่อนปากมูลนะเป็นยังไง ถามว่าถ้าปิดแล้วเดือดร้อนไหม เดือดร้อนอะไรบ้าง? ก็จะเห็นว่าเดือดร้อนไม่มีปลาให้จับ หรือมีน้อยไม่สามารถใช้เครื่องมือได้ ถ้ารวมกันในเรื่องประมงนี้แล้วจะพบว่าร้อยละ 57 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าเขาเดือดร้อนจากการดำรงชีวิตพื้นฐานของเขา และถ้าเปิดล่ะจับปลาได้ง่ายขึ้นจับปลาได้มากขึ้น ตัวเลขก็สอดคล้องกัน

ส่วนที่ว่าถ้าเปิดเขื่อนแล้วจับปลาได้น้อย อาจจะมีบ้างที่คนจับปลาได้น้อยประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ บวกกับ 18 เปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่อาจจะเดือดร้อนเนื่องจากจับปลาได้น้อย แต่ถ้าดูจากตัวเลขดูจากทัศนคติที่แสดงออกมาเนี่ยคิดว่าไม่จำเป็นต้องให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลนี้มาจากไหน? ข้อมูลนี้มาจากการสำรวจประชากรทั้งหมดเลย 6,176 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล บวกกับกลุ่มที่เขาเรียกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอีก 900 ครัวเรือน

คือในวงรูปไข่คือพื้นที่ที่ถือว่าได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน(พูดในขณะที่ชี้ให้ดูแผนที่ ที่แสดงให้ผู้ร่วมเสวนาชม) ส่วนวงกลมที่สองไข่ปลานั้น เป็นพื้นที่ๆมีการศึกษาเปรียบเทียบตัวเลขของสำนักงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างเหมือนกับกรณีของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีอยู่ 200 กว่าตัวอย่าง แต่อันนี้ศึกษาประชากรทั้งหมดคือ สำรวจสำมะโนประชากรเลย และถ้าถามว่าความคิดเห็นของชาวบ้านที่แสดงออกมาเป็นอย่างไร ก็จะเห็นได้ว่าชาวบ้านบอกว่า ถ้าปิดเขื่อนเดือดร้อนจำนวนร้อยละ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์. ส่วนที่บอกว่ามีความเดือดร้อน, และที่บอกว่าจับปลาได้อย่างต่อเนื่องมีเพียง 23 เปอร์เซ็นต์

อันนี้ผมคิดว่าข้ออ้างที่บอกว่าไม่มีความคิด ไม่มีตัวเลข ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ผมคิดว่าผู้อำนวยการสำนักงานสถิติที่พูดเมื่อเช้านี้ ให้ข้อมูลแก่สาธารณะที่คลาดเคลื่อน

มีงานข้อมูลด้านความคิดเห็นทัศนคติความพอใจของเขื่อนศึษาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 37 จนกระทั่งปี 44-45

ทีนี้ปัญหาคือว่า งานวิจัยเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้กัน อันนี้เป็นข้อสังเกตประการแรก หรือว่าไม่นำมานับรวมในกระบวนการตัดสินใจ เพราะว่าข้อมูลนี้มันบอกอยู่แล้วว่าชาวบ้านมีความคิดเห็นว่ามันเดือดร้อน นี้คือประเด็นแรกที่ผมอยากจะฝากไว้ ถ้าจะเอาตัวเลขมาพูดกันก็เอาตัวเลขมาอธิบายให้ฟังก็ได้

ทีนี้ลองมาดูว่างานวิจัยที่ทำมาแล้ว ความจริงมันมีงานวิทยานิพนธ์ งานวิจัยอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่ทำออกมา ทั้งนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศ แต่ว่าผมเองเป็นคณะกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการกลั่นกรองเขาบอกว่าเราจะไม่เอางานอื่นมาใช้ เราเอางานมา 4 ชิ้นมาพิจารณา

ชิ้นแรกคืองานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ชิ้นที่สองคืองานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์.
สองชิ้นนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ออกเงินสนับสนุนในการทำงานวิจัยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต คือเจ้าของงานคือ กฟฝ. ก็มีคำถามเรื่องความเป็นอิสระทางวิชาการของงานวิจัยและการตั้งโจทย์ในการวิจัย.
ส่วนงานชิ้นที่สามก็คืองานของมหาวิทยาลัยอุบลอันนี้เป็นงานที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ทำเเล้วก็
งานชิ้นที่สี่คืองานวิจัยไทบ้านเล่มเล็ก ๆ ที่อีกสักครู่คุณไชยณรงค์จะอธิบายให้ฟัง ซึ่งงานวิจัยไทบ้านไม่ได้มีเงินงบประมาณใดๆสนับสนุน แต่ทำเพื่อเผยแพร่ให้กับสังคมได้รับทราบว่าชาวบ้านคิดเห็นอย่างไร และได้รับความเดือดร้อนอย่างไรจากกรณีของเขื่อนปากมูล

กล่าวโดยย่อแล้ว งานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและงานวิจัยของสถาบับวิจัยวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาเชิงสำรวจทัศนะคติ เป็นงานติดตามผลว่าหลังจากมีการสร้างเขื่อนแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ในเรื่องของรายได้, การเปลี่ยนแปลงอาชีพ, ลักษณะประชากร, ความพอใจหรือทัศนะคติของชาวบ้าน, มิติที่ศึกษามีแค่นี้เองทั้งๆที่หัวข้อในการศึกษาวิจัยนี้ บอกว่าเป็นการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

อันนี้มีคำถามสำคัญว่า โจทย์ของงานวิจัยที่อ้างถึงว่าเป็นการศึกษาสิ่งแวดล้อม ทำไมไม่มีการศึกษาหรือไม่มีคำถามมิติด้านสิ่งแวดล้อมเลย แต่กลับเป็นการศึกษาความเห็นหรือศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นหรือปัญหาบางส่วนทางด้านรายได้ อาชีพ และความพอใจผ่านความเห็นชาวบ้าน

ดังนั้นถ้าเป็นนักวิจัยที่ดี ต้องตั้งคำถามว่าข้อมูลที่ได้จากความเห็นชาวบ้านมันเพียงพอที่จะตัดสินใจหรือไม่ หรือมันเป็นข้อมูลรูปธรรม ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะเอามาใช้มาใช้ในการตัดสินใจได้ไหม? ผมคิดว่ามีสิ่งที่น่าสนใจที่เขาชี้ให้เราเห็น ผมคิดว่าน่าจะเอามาชี้ให้ดู

นี่เป็นตัวเลขงานวิจัยมหาวิทยาลันขอนแก่น แน่นอน กลุ่มประชากรมีเพียงสองร้อยคน เป็นการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนะครับ สองร้อยคน ปี 37, 39, 40, 41, 42, จะเห็นได้ว่า ตัวเลขที่ออกมา ถ้าดูรายได้จากการประมงในปี 37 โดยเฉลี่ยต่อครัวเรือน 13,428 บาท และหลังจากนั้นรายได้จากการประมงก็จะลดลงมาเรื่อย ๆ แต่มาเพิ่มขึ้นในปี 40 ซึ่งเป็นปีที่ กฟผ.ได้ปล่อยปลาและกุ้งลงไป และลดลงมาจากอีกจาก 10,000 มาเป็น 7,000 นั้นเหลือเพียง 2,791 บาทโดยเฉลี่ยในปี 42

จะเห็นว่า มันลดลงมาเกือบห้าหกเท่าจากรายได้ที่เคยได้ ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อมูลก่อนการสร้างเขื่อน หลังสร้างเขื่อนด้วยซ้ำไปอันนี้เป็นงานที่ กฟผ.ให้ทำเอง ก็ชี้ให้เห็นชัดว่ารายได้จากการประมงลดลง และในขณะเดียวกันนี้ชาวบ้านออกไปทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น คือถ้ามองผ่านจากรายได้นอกภาคเกษตรจะเห็นว่าเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก 40,000 มาเป็น 50,000 และลดลงมาเป็น 37,000 ในช่วงเศรษฐกิจวิกฤตมาเป็น 35,000

แต่ถ้านับดูตัวเลขประมงกับข้าว ข้าวเขาปลูกได้ในรายได้ไมห่างกันมากคือ ปีละประมาณเฉลี่ย สองพันกว่า สามพัน สองพันเจ็ด มาโดยตลอดและเป็นรายได้ซึ่งน้อยกว่าอาชีพประมงด้วยซ้ำไป

แต่เวลาเขาเอาไปตีความว่า ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักในการทำนารายได้หลักมาจากภาคการเกษตร การตีความแบบนี้มีนัยยะต่อการอธิบาย ต่อการให้ความสำคัญต่อการจะเปิดหรือปิดเขื่อน ถ้าส่วนใหญ่แล้วมีอาชีพจากการประมงน้อย การคำนึงปลาขึ้นปลาลง การทำประมงก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และมีนัยยะว่าสามารถจะเอาน้ำในอ่างเก็บน้ำมาใช้ในการพัฒนาระบบชลประทานได้ อย่างที่รัฐบาลกำลังคิด อันนี้เป็นข้อมูลจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เอาข้อมูลนี้มาทำเช่นกัน คือเอาข้อมูลมาต่อกันปี 37, 39, 40, 41, 42,

แล้วมาทำปี 44 ตอนที่เปิดประตูระบายน้ำมาเทียบกันดูว่า อันนี้เป็นข้อมูลเดิมเลยนะครับ ข้อที่น่าสนใจคือว่าพอเปิดประตูระบายน้ำ รายได้จากการประมงได้มาเพิ่มขึ้นเป็น 6,000

ในปี 42 ได้เพียง 2,700 พอมาเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเท่าตัว เพราะฉะนั้นข้อมูลนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเมี่อมีการเปิดประตูระบายน้ำ ถ้ามองผ่านรายได้จากอาชีพประมง ชาวบ้านสามารถที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจับปลาได้ ในขณะเดียวกันรายได้ที่มาจากอาชีพนอกการเกษตรในปี 44 เพิ่มขึ้น 43 % ถ้าเอาข้อมูลของหน่วยงานที่รับทำวิจัยให้กับ กฟผ.มาดู ก็ชี้ให้เห็นว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นสามเท่าตัวจากปี 42

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นรายได้ที่ไม่เท่ากับปี 37 ซึ่งปีละประมาณ 13,000 กว่าบาทอันนี้เป็นข้อมูลที่มาจากการวิจัยทั้งสอง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่มากเลย ทั้งหมดประมาณเจ็ดพันตัวอย่าง

ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลที่มีความแตกต่างไปจากงานวิจัยทั้งสองชิ้น และผมคิดว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์งานวิจัยชิ้นนี้ในแง่ของความน่าเชื่อถือในบางประเด็นเรื่องของคุณภาพ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้องจะสมบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีของเขื่อนปากมูล เพราะว่าได้ศึกษาทั้งด้านพลังงานไฟฟ้าในเรื่องน้ำผิวดิน พื้นที่ทำการเกษตรชลประทาน ป่าไม้ การประมง และการอพยพของปลา ความหลากหลายของปลา และที่สำคัญก็มีการศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรม ซึ่งผมอยากจะชี้ให้เห็นว่างานด้านสังคมวัฒนธรรมของ ม.อุบล เป็นความพยายามที่จะมองปัญหาที่แตกต่างไปจากการวิจัยอื่น ๆ เพราะว่าเป็นงานที่มองอย่างองค์รวม อย่างเชื่อมโยงระหว่างนิเวศน์เรื่องของปลา เรื่องของรายได้ วิถีชีวตเศรษฐกิจชุมชนอย่างเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่

ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวนี้ ช่วยทำให้เราเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อการอพยพของปลา ต่อระบบนิเวศน์ และต่อวิถีชีวิตชุมชนลุ่มแม้น้ำมูลค่อนข้างชัดเจน โดยรายละเอียด งานของมหาวิทยาลัยอุบล สรุปว่า

1. ในด้านพลังงาน สถานะของเขื่อนอันนี้สามารถผลิตได้ส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการของพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ มันผลิตไฟฟ้าได้เพียง 0.5 % เท่านั้นเอง และเขื่อนนี้ทำงานจริง ๆ ได้เพียง 8 เดือน เพราะอีก 4 เดือนฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำโขงมันเอ่อเข้าทับ ทำให้ระดับน้ำไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามาถจะเดินเครื่องได้ ต้องเปิดประตูระบายน้ำอยู่ดี

2. คือ ถ้าหากว่าตัดเอาเขื่อนปากมูลออกไปจากระบบการผลิตกระกระแสไฟฟ้า ก็ยังสามารถดึงไฟฟ้ามาจากลาว 90 % และยังมีแหล่งไฟฟ้าอื่นที่สามารถดึงมาใช้ได้ เพียงแต่ว่าต้องมีการปรับปรุงสายส่งให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คือว่าท่อส่งมันเล็กถ้าทำให้ท่อส่งมันใหญ่ ก็สามารถที่จะทำให้ดึงพลังงานจากภาคกลางภาค ภาคเหนือมาใช้ได้

ส่วนในเรื่องของน้ำผิวดิน เขาใช้ภาพถ่ายทางอากาศในการศึกษาน้ำผิวดินก็ปรากฏว่าในช่วงที่มีการปิดประตูมีพื้นที่สีเขียวเป็นจำนวนมาก แต่พอมีการเปิดประตูเขื่อน1 ปี พื้นที่สีเขียวมันลดลงนี่เป็นภาพทางอากาศ ตรงนี้มีคำถามในเชิงการวิเคราะห์ข้อมูลว่า จะตีความว่าอย่างไร เพราะว่านักวิจัยของ ม.อุบลชี้ว่า พื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นนี้มันคือพื้นที่ของไมยราพยักษ์ตามริมฝั่งแม่น้ำมูล ริมเเม่น้ำสาขา หรือผักตบชวาที่ขึ้นเต็มไปหมด

กรณีที่มีการพอเปิดเขื่อนแล้ว น้ำแห้งเขาอ้างว่าใบไม้เปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล เนื่องจากขาดน้ำก็มีอยู่ว่า มันเป็นการตีความที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะว่าระบบของป่ากึ่งร้อนชื้นในภาคอีสาน มันก็ต้องผลัดใบตามธรรมดา อาจจะไม่เกี่ยวกับน้ำผิวดินก็ได้

ส่วนในเรื่องของพื้นที่ชลประทานพอมีการเปิดประตูระบายน้ำนั้น ม.อุบล พบว่าไม่มีผลกระทบกระเทือนเพราะว่าชาวบ้านที่นี้ไม่ใช้ระบบชลประทาน พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานเหมือนลุ่มแม่น้ำปิง อันนี้เทียบกันไม่ได้เลย มิหนำซ้ำชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าที่มีอยู่ เพราะว่าราคาต้นทุนในการใช้ไฟในการสูบสูงมาก จะใช้เมื่อต้องการจะตกกล้าในช่วงทำนาปีเท่านั้น

เรื่องของปลา ม.อุบล พบว่า หลังจากมีการเปิดประตูระบายน้ำมีชนิดปลาหลากหลายประมาณ 185 ชนิด ซึ่งเดี๋ยวคุณไชยณรงค์จะอธิบายเปรียบเทียบว่าของไทบ้านพบอย่างไร พบว่าปลาส่วนใหญ่ขึ้นมาในช่วงเดือนมิถุนายนและอพยพลงสู่แม่โขงเดือนพฤศจิกายน น่าสนใจตรงที่ จะมีความสัมพันธ์กับการเปิด-ปิดประตูเขื่อนอย่างไร แต่ม.อุบลไม่ได้บอกอย่างจำแนกว่าปลาชนิดไหน อพยพในเดือนใด

หากดูจากงานวิจัยไทบ้านจะพบว่าชาวบ้านมีความรู้เรื่องปลาชนิดต่างๆ ขนาดต่างๆที่อพยพตามฤดูกาล เดือนต่างๆ เป็นต้นว่าในเดือน กพ. มีปลาขนาดเล็กขึ้นในขณะที่น้ำใสและมีระดับไม่ลึกมากนัก ชาวบ้านจำนวนมากย่อมสามารถเข้าถึงทรัพยากรปลาได้ แต่หากเป็นฤดูน้ำหลาก เดือน กย.- ตค. น้ำลึก ชาวบ้านออกไปกลางอ่างเก็บน้ำไม่ได้ เพราะน้ำแรงและลึก และเครื่องมือที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ชาวประมงขนาดเล็ก ที่มีทั้งผู้หญิง เด็ก และคนแก่ ไม่สามารถจับปลาได้ในช่วงนั้น

ในด้านของอาชีพ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ควรนำมาอภิปรายกัน งานวิจัยของ ม.ขอนแก่น, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, และของที่อื่นๆ อันเป็นงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านนิเวศน์และสังคม บอกว่าชาวบ้านที่นี่เป็นชาวนา มีอาชีพทำประมงเป็นอาชีพเสริมประมาณ 17% ซึ่งเป็นตัวเลขจากงานวิจัยของบริษัททีมของ ม.ขอนแก่น และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ ก็เช่นเดียวกัน พบว่าชาวบ้านที่นี่ทำนาเป็นหลัก คือมีรายได้จากการเกษตรเป็นหลัก

แต่งานวิจัยของ ม.อุบล กลับยืนยันว่า ริมน้ำมูล ชาวบ้านจะจับปลาเป็นหลัก คนที่ไม่มีที่ดินก็ต้องยึดอาชีพประมง แต่บางคนที่มีที่ดินก็ทำทั้งสองอย่าง ทั้งทำนาและจับปลา ไว้ขาย ไว้กิน ไว้แจก และทำบุญ ดังนั้น เมื่อนำข้อมูลมาพิจารณาจำแนกอย่างละเอียด พบว่าคนส่วนใหญ่พึ่งลำน้ำมูล มีบางส่วนเป็นชาวนา แต่ที่เป็นชาวนาก็ยังจับปลาด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นขนาด หรือประชากรของชาวบ้านที่อาศัยลำน้ำมูล จึงไม่ใช่คนจำนวนน้อยๆ ซึ่งมาบ่นว่าอาชีพของเขาขาดหายไป เนื่องมาจากการสร้างเขื่อน จึงจะต้องดูอย่างละเอียดจึงจะเข้าใจ

ที่กล่าวมาเป็นการเล่าให้ฟังถึงงานที่ผ่านมาแล้วโดยสรุป จากการที่ได้ลองไปเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ได้รับเงินทำวิจัยจาก กฟผ. ทั้งสองกรณี งานของ ม.อุบล ซึ่งรัฐบาลให้เงินไปทำ ข้อมูลชี้มาทางเดียวกัน คือ

ทั้งการศึกษาทัศนคติ หรือโดยดูจากข้อมูลเชิงรูปธรรม และจากการพิจารณาดูหลายๆด้าน ชี้ว่า รายได้ของชาวบ้านลดลงหลังจากการปิดประตูเขื่อน และหลังจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะรายได้จากการประมง ชาวบ้านมีความเห็นว่า ระบบนิเวศน์สูญหายและถูกทำลายลง และในกรณีนี้งานวิจัยของ ม.อุบล ก็ยืนยันเช่นเดียวกัน

งานวิจัยเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแง่ของเป้าหมายการวิจัย วิธีการ แต่กลับชี้ว่ามีข้อมูลเพียงพอ คือตอนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องทำวิจัยใหม่แล้ว ข้อมูลที่ว่านี้ชี้ว่าหลังจากการสร้างเขื่อน วิถีชีวิตที่นั่นล่มสลายไป คนที่เคยมีรายได้ เคยมีความมั่นคงทางอาหาร เคยเข้าถึงทรัพยากร สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะนำข้อมูลหรือการศึกษาแบบใดมาศึกษาก็ตาม

การอ่านงานวิจัยมีความสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคืออยู่ที่กรอบการทำความเข้าใจกับข้อมูลแตกต่างกันไป คือ ไม่ยอมจะมองอย่างเป็นองค์รวม เพราะวิธีการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทำเป็นสมการสองด้าน ด้านหนึ่งคือพลังงานที่จะได้จากเขื่อนปากมูล และพยายามจะอธิบายว่าพลังงานนี้เชื่อมโยงกับความต้องการพลังงานระดับชาติ เปรียบเทียบกับความเดือดร้อนของชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เป็นชาวประมง

เมื่อชาวบ้านมาบ่น มาอธิบายว่าเดือดร้อน จับปลาไม่ได้ เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักดูแล้ว เทียบกับความจำเป็นและการลงทุนจากการสร้างเขื่อนเทียบกันไม่ได้ ชาวบ้านเหล่านี้ทางการอาจจะตีความว่า เป็นเพียงชาวประมงจำนวนหนึ่ง และส่วนใหญ่เป็นชาวนา เพราะฉะนั้นสามารถพัฒนาได้โดยการชลประทาน หรือส่งเสริมพืชเศรษฐกิจอื่นๆ นี่คือวิธีคิดที่เขามองอย่างนี้ ขาดการมองอย่างเป็นองค์รวม ที่ต้องมองว่าเขื่อนเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ประมง และนิเวศน์สังคม เหมือนอย่างเช่นอาจารย์ฉลาดชายได้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับนิเวศน์สังคมหรือเรื่องของป่าไม้สังคม ชี้ให้เห็นว่าต้องมองปัญหาอย่างเชื่อมโยง เพื่อจะได้เข้าใจพลวัตรและสังคมที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างเป็นลูกโซ่ เมื่อมีอะไรกระทบกัน ก็จะมีผลกระทบความสัมพันธ์ทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาของวิธีการมอง ในการตัดสินใจนี้ นำเอาตัวแปรด้านพลังงาน ด้านรายได้ ด้านอื่นๆมาประกอบ แล้วมาชั่งน้ำหนักดู แล้วมองอย่างแยกๆ เหมือนกับการทำวิจัยในเชิงปริมาณที่เอาตัวแปรเหล่านี้มาหาค่าเพื่ออธิบายปัญหาที่เขาต้องการทำวิจัย แต่ไม่ได้มองว่า เวลาเราพูดถึงพื้นที่ทั้งหมดที่มีระบบนิเวศน์อย่างนี้ สัมพันธ์เชื่อมโยงกับปลา กับการประกอบอาชีพ รายได้ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างไร?

แต่กลับมองโดยไม่ยอมเอาตัวคนและระบบนิเวศน์เข้ามา หากเอามาก็เอามาแค่เพียงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นเขาถึงไปทำแบบสำรวจความคิดเห็น โดยใช้สำนักงานสถิติไปสำรวจแล้วนำความคิดเห็นมาประกอบ

เมื่อรัฐบาลได้ให้เงิน ม.อุบล ไปทำการศึกษาและได้ข้อมูลมาชัดเจนพอสมควร แต่กลับโยนทิ้งไป ไม่ได้นำเข้ามาพิจารณาเลย ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญในการอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์และสังคม เพราะมันไม่เข้าไปในสมการการตัดสินใจของเขา

เมื่อผู้ตัดสินใจไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึงพาระบบนิเวศน์ ที่สัมพันธ์กับกระแสน้ำ และช่วงเวลาการอพยพของปลา ความรู้ของชาวบ้านที่รู้ว่าจะต้องไปจับปลาที่ไหน เมื่อไร ฤดูกาลอะไร แล้วคนตัวเล็ก หรือคนแก่ ก็ลงไปจับปลาได้ แต่หากเขาจะทำประมงน้ำลึก ก็หมายถึงคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ และเขาก็ถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนจำนวนน้อย เพราะจากการสำรวจมีชาวประมงไม่ถึง 17% การทำเช่นนี้เป็นทั้งการตัดข้อมูลออกไป และยังหยิบข้อมูลบางอย่างเอามาใช้เพื่อตัดสินใจ แต่พอมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เขาก็ใช้วิธีการไปสำรวจหาข้อมูลมาเพิ่มเติม แล้วจะเห็นได้ว่างานของสำนักงานสถิติเป็นการตั้งโจทย์ในการทำวิจัยไม่ถูกต้อง และหากดูเปรียบเทียบคนที่อยู่ริมแม่น้ำมูลกับคนที่อยู่ไกล จะมีความเห็นแตกต่างกัน กับความต้องการที่จะมีหรือไม่มีเขื่อน

หรือความต้องการให้เปิดหรือไม่เปิดประตูระบายน้ำ ก็ชี้ให้เห็นว่าในการเลือกกลุ่มตัวอย่างไม่คำนึงการเลือกกลุ่มตัวอย่างของการเข้าถึงทรัพยากร หรือบนฐานของปัจจัยในการผลิต ตราบใดที่ใช้ข้อมูบลที่ไม่จำแนกเช่นนี้ก็ไม่มีทางที่จะได้ข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอในการตัดสินใจ สิ่งที่สำรวจประชามติไม่นับว่าเป็นการวิจัยเป็นเพียงการสำรวจข้อมูล นี่เป็นการสังเคราะห์ข้อมูลวิจัยสี่ชิ้น ซึ่งได้ร่วมกันทำขึ้นมาเพื่อดูว่ามรฐานข้อมูลใดบ้างในการตัดสินใจ

เมื่อวานผมไปประชุม ผมได้นำเสนอข้อมูลให้ที่ประชุมและพบว่า วิธีคิดของกรรมการมาจากสภาพัฒน์และ กฟผ.คล้ายๆกัน พวกเขาบอกว่าอ่านข้อมูลไม่รู้เรื่อง อยากให้เปรียบเทียบมาเป็นตารางและบอกว่าเป็นกี่เปอร์เซนต์ แล้วค่อยมาตีความว่าเป็นอย่างไร นำไปให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.อ่าน เขาบอกไม่รู้เรื่องที่ใช้คำว่า"นิเวศน์สังคม", คำว่า" มุมมอง" เขาบอกว่ามีพารามิเตอร์อะไร? เปอร์เซ็นต์เท่าไร? แม้จะทำเป็นตารางเปรียบเทียบหรือข้อมูลเชิงวิเคราะห์

ไชยณรงค์ : จากประวัติเขื่อนปากมูล สรุปได้ว่าการตัดสินใจเรื่องเขื่อนปากมูลไม่เคยใช้องค์ความรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เลือกใช้ความรู้บางประการมาสร้างความชอบธรรมในการสร้างเขื่อน ถ้าย้อนกลับไปเขาตัดสินใจบนความรู้ของการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว, ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เลยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า, ทางด้านวิศวกรรมมีความเหมาะสมที่จะสร้างเขื่อนจึงสร้างเขื่อนเท่านั้นเอง เพื่อเอาไฟฟ้ามาใช้ ซึ่งก็ไม่ได้ไฟฟ้าตามที่คาดการณ์ไว้ด้วย

ตามที่คาดการณ์นั้น เขื่อนปากมูลมีกำลังการผลิต 136 เมกะวัตต์ กรรมการเขื่อนโลกพบว่าผลิตได้จริง 40 เมกะวัตต์และไม่ใช่ช่วงที่มีความต้องการสูงจึงไม่ส่งผลใดๆทั้งสิ้น ต่อระบบความต้องการไฟฟ้าของภาคอีสานตอนล่าง เพราะเขื่อนปากมูลไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าเหมือนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และปล่อยน้ำลงไป ถ้าน้ำหมดก็หยุดผลิต

แต่ปากมูลต้องรอให้น้ำเข้ามาวันนั้น และใช้น้ำในวันนั้นในการผลิต

ความรู้ที่ผ่านมาถูกครอบครองโดยฝ่ายที่สร้างเขื่อนฝ่ายเดียว รวมทั้งธนาคารโลกด้วย ซึ่งเป็นความรู้ซึ่งไม่เคยตรวจสอบจากสังคม ไม่ได้ตัดสินใจโดยการเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น แต่ไปเปรียบเทียบกับการลงทุนการสร้างกังหันแก๊ส ไม่ได้เปรียบเทียบว่าลดการใช้ไฟฟ้า ประหยัดไฟฟ้าจะต้องใช้ทุนเท่าไร จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีการเปรียบเทียบเรื่องนี้เลย ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นความฉ้อฉลทางวิชาการ

งานวิจัยของ ม.อุบล กล่าวถึงพลังงานว่า"ไม่เหมาะสม" ซึ่งถ้าตัดออกไปก็ไม่มีผลต่ออะไร แต่เขื่อนสร้างมาแล้ว จะสร้างความชอบธรรมให้มันคงอยู่ต่อไปได้โดยการเปรียบเทียบว่า ถ้าเราลงทุนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์กับปากมูล ปากมูลก็น่าจะเลือกมากกว่า แต่เพราะเราลงทุนสร้างเขื่อนไปแล้ว จึงน่าจะเอาเขื่อนปากมูลไว้ต่อไป ความฉ้อฉลทางวิชาการปรากฏอยู่ทั่วไป เพียงแต่ว่าจะจับได้ไล่ทันหรือไม่

สำหรับการตัดสินใจเรื่องเขื่อนภายหลังปี 2530 หรือ ปี2535 จากกระแสสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยเติบโตมากขึ้น ก็จะต้องมีการกำหนดให้เขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเช่นเขื่อนปากมูลทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่ารายงานนี้เป็นเพียงการประเมิน ซึ่งเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรม และตัวเขื่อนนั้นก็ไม่ได้มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

เมื่อมีการท้วงติงว่าปากมูลไม่มีการทำ EIA เขาบอกว่าทำตั้งนานแล้ว ตรงใต้เขื่อนลงมา 1.5 กิโลเมตร! คนละเรื่องกันเลยระหว่างบริเวณบ้านหัวเห่ว กับบริเวณแก่งตะนะ และปรากฎว่าเมื่อมีการย้ายเขื่อนก็ไม่มีการทำ EIA ใหม่ และ EIA ได้มีประเด็นหลักอยู่ที่จะทำการอพยพราษฎรอย่างไร? ไม่ได้พูดถึงว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร? โดยเฉพาะเรื่องการประมง

ใน EIA บอกว่าไม่มีปลาเศรษฐกิจอยู่เลย และพบปลาเพียง 79 ชนิด เมื่อสักครู่ที่ อ.ชยันต์บอกว่า ในรายงานของ ม.อุบล พบปลาถึง 184 ชนิด ผมขอถามว่า EIA ที่ใช้เงินงบประมาณในการทำไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน แล้วออกมาอย่างนี้ เป็นการตัดสินเหมาะสมหรือไม่กับสภาพเช่นนี้ เขาตั้งใจจะเพิกเฉยกับรายงานต่างๆ โดยตั้งใจจะทำเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แล้วมาเป็นตราประทับให้โครงการมีความชอบธรรมและเดินหน้าต่อไป

ในการสร้างเขื่อนที่ อ.ชยันต์ พูดไปแล้ว ผมคงไม่พูดซ้ำอีก จะขอพูดถึงการเปิดเขื่อน ในช่วงนี้ที่มีการตัดสินใจ ไม่มีการนำความรู้ซึ่งสำคัญที่สุด คือ ความรู้ของชาวบ้านเข้าไปพิจารณาด้วย หากเรามองความรู้ระบบนิเวศน์ทั้งหมด ซึ่งในกรณีปากมูลนี้ ไม่มีใครที่จะมีความรู้ละเอียดลึกซึ่งไปกว่าชาวบ้านปากมูล ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับพื้นที่บริเวณนั้น

ประการแรกสุด ในระบบนิเวศน์ เป็นการพูดถึงสภาพพื้นที่ทางกายภาพบริเวณปากมูล ไม่ว่าในตำราใดๆ ไม่มีการพูดถึงความสำคัญของแก่ง ไม่เคยมีการศึกษาความสำคัญเชิงระบบนิเวศน์ของแก่งต่างๆ และงานวิจัยไทบ้านเป็นงานวิจัยที่ศึกษาความรู้เกี่ยวกับแก่งที่ละเอียดที่สุดเท่าที่มี เท่าที่ศึกษาพบตอนนี้ ที่อื่นๆมีแต่ระบบนิเวศน์ของปะการัง น้ำเค็ม หรือระบบนิเวศน์แบบป่าทาม ส่วนแก่งในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำแบบแก่งนี้ มีงานวิจัยไทบ้านนี้เป็นงานที่ศึกษาเรื่องนี้ และงานศึกษาเรื่องนี้มีทางเดียวที่จะศึกษาคือ จากชาวบ้าน

เรื่องต่อไป คือ การอพยพของปลา ความรู้เกี่ยวกับการอพยพของปลาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้ เป็นความรู้บนฐานของการสมมุติฐาน และเป็นการรู้แบบหยาบที่สุด เช่น งานวิจัยของ ม.อุบล บอกว่าปลาอพยพขึ้นเดือน มิย. และอพยพลงเดือน พย. สมมุติฐานที่ได้เช่นนี้มาจากการพบปลาประเภทนี้แพร่กระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำโขง 27 ชนิดที่ว่า ส่วนปลาอพยพลงเดือน พย. เพราะพบปลาหายาก 21 ชนิด และมาเหมารวมเลยว่า มิย.ปลาขึ้น พย.ปลาลง

และเมื่อเราไปดูรายงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ทัศนคติ ถามว่าปลาวางไข่เดือนไหน มีคำตอบว่าเดือน พย. แต่พอมาดูความรู้จากชาวบ้าน พบว่าปลาอพยพไม่ตรงกัน และวางไข่ไม่ตรงกัน แล้วมาพูดได้อย่างไรว่าปลาวางไข่เดือน พย. ดูไล่แต่ละเดือนอาจมีปลาแต่ละชนิดวางไข่ไม่ตรงกัน ผมไม่ได้บอกว่าเดือน พย.นั้นผิด แต่อาจจะมีปลาบางชนิด นี่เป็นตัวอย่างของงานวิจัยไทบ้านที่เราใช้งานวิจัยในเรื่องของปลาอพยพ มาเป็นตัวอธิบายว่าปลาทั้งหมดที่ชาวบ้านมี ว่าอยู่ที่ไหน? อพยพขึ้น อพยพลงอย่างไร? ช่วงใด? เป็นการแยกแยะลงในแผนภูมิเลยในแต่ละตัวเลยว่าตัวไหนขึ้นลงช่วงไหน

เราพบเลยว่าช่วงเดือน กพ. นี้ ปลาอพยพขึ้นถึง 34 ชนิด ซึ่งไม่น้อยเลย จากที่เราทำ 134 ชนิด จากที่งานวิจัยไทบ้านพบปลาจำนวน 156 ชนิด ซึ่งมีความหลากหลายน้อยกว่า ม.อุบล ซึ่งเรายอมรับว่า ม.อุบล มีความหลากหลายของปลาสูงถึง 184 ชนิด แต่งานวิจัยไทบ้านเก็บตัวอย่างปลาจากการใช้เครื่องมือพื้นบ้านของชาวบ้านจับ ฉะนั้น ปลาบางชนิดที่ชาวบ้านไม่ได้กิน หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะจับไม่ได้ เช่น ปลาปักเป้า ก็ถือว่าเป็นการจับได้โดยบังเอิญ

แต่เมื่อเทียบดูเรื่องพฤติกรรมปลานี้ งานวิจัยไทบ้านจะละเอียดกว่า ในขณะที่งานของ ม.อุบล จับไม่ได้เลย ปลาบางอย่างที่ชาวบ้านเรียกชื่อต่างกัน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ใช้ชื่อเหมือนกัน เราก็ตัดออกไป เพื่อความยุติธรรม

ดังนั้น เมื่อดูเรื่องพฤติกรรม เดือน กพ. ที่พบว่าปลาขึ้นสูงสุด 34 ชนิด มีค.18 ชนิด ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่าที่เรากำหนดว่าเดือน กพ. เป็นการประมาณการ เพราะเราใช้ปฏิทินลาว คือ เดือนสาม บางปีมีเดือน 8 สองหน (หนึ่งปีสลับกับสามปี) ฉะนั้น บางปี ปลาจะขึ้นช้ากว่า เราเลยจะประมาณการไว้ เพราะบางปีปลาขยับขึ้นมาเดือน มค.ปลายๆก็มี แล้วแต่ฤดูกาล ซึ่งคิดว่าความรู้ตรงนี้ก็สำคัญ และเมื่อเราไล่ไปเรื่อยๆจนถึงเดือน กค. ก็จะมี 25 ชนิด เท่ากับเดือน มิย. พอเดือน สค. ก็เหลือ 11 ชนิด เดือน กย. เหลือ 1 ชนิด

ในเดือน กค.ซึ่งรัฐบาลตัดสินใจเปิดประตูเขื่อน จริงๆแล้วเป็นช่วงที่ปลาอพยพลง ไม่ใช่อพยพขึ้น และเราจะเห็นได้ว่าแม้เปิดเขื่อนเดือน กค. ปลาก็จะขึ้นได้ไม่กี่ชนิดเอง และนอกจากนี้ปลาบางชนิดไม่ได้อพยพเพียงเดือนเดียว บางชนิดใช้เวลาอพยพถึงสามเดือน ฉะนั้นจะมีปลาไม่กี่ชนิดที่อพยพขึ้นได้ในช่วงเวลาที่เปิดประตูเขื่อน

และในขาลง เดือน กค.-พย. เดือน ตค. เป็นเดือนที่อพยพลงมากที่สุด และในเดือนที่ปลาเคลื่อนไหวน้อยที่สุดคือเดือน มค. นอกจากนี้ความรู้ที่ชาวบ้านได้ ก็บอกว่าไม่ได้อพยพลงทั้งหมด หลายชนิดยังอยู่ต่อ โดยการค้างอยู่ตามแก่ง หรือวังเวิ้นต่างๆ ความรู้พวกนี้เป็นความรู้จากชาวบ้าน ซึ่งไม่อาจทำได้โดยฐานจากทางวิทยาศาสตร์

หากจะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้รู้ได้เท่านี้ จะต้องใช้เงินและเวลามหาศาล ในเรื่องนี้หากเป็น ม.อุบล บอกว่าต้องอาศัยการตรวจ DNA ของปลาก่อนเพื่อจะได้รู้ว่าสมมุติฐานนี้เป็นจริง ตอนนี้กำลังรอผลการตรวจ DNA อยู่ 10 ชนิดพันธุ์ที่เป็น key species / dominant species ก็เลยสงสัยว่าการตัดสินของรัฐบาลที่เปิดเดือน กค. และปิดเดือน ตค. โดยพูดมาตลอดว่าเปิดให้ปลามาวางไข่นั้น ใช้ความรู้อะไร ?

ประการต่อมาเรื่องนิเวศน์สังคม คือเรื่องการใช้ประโยชน์จากปลา ปรากฏว่าชาวบ้านปากมูลมีความรู้เกี่ยวกับการจับปลา โดยใช้เครื่องมือในการจับปลาถึง 75 ชนิด แต่รูปแบบในการจับปลามีอยู่ 100 รูปแบบ ซึ่งเป็นความรู้ที่หลากหลายมาก และเป็นความรู้ที่สะสมมาไม่รู้จักกี่ชั่วคน และเป็นความรู้ที่ไม่อาจนำไปใช้ได้กับระบบนิเวศน์ใหม่ ที่เป็นระบบนิเวศน์น้ำลึก

ฉะนั้น ต่อให้คุณมีปลา แต่ชาวบ้านก็ไม่อาจใช้ความรู้เหล่านี้ได้ ยกตัวอย่าง กุ้งก้ามกราม ที่มีคนจับอยู่ไม่กี่สิบราย และต้องเป็นการลงทุนหลายหมื่นบาท ซึ่งต้องมีเครื่องปั๊มออกซิเจน และต้องดำลงไป 20-30 เมตร จะเห็นได้ว่าระบบนิเวศน์น้ำลึกนี้ ไม่มีการเอื้อให้ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ดั้งเดิม

และเมื่อดูจากการใช้ประโยชน์จากปลาของชาวบ้าน คนทั่วไปอาจคิดว่าปลาใหญ่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และปลาใหญ่ขึ้นเดือน กค. แต่เมื่อดูจากงานวิจัยไทบ้าน จะรู้ได้เลยว่า ปลาแต่ละชนิดชาวบ้านใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง ทั้งปลาแดก ปลาส้ม ตัวไหนก้างเยอะต้องเอาไปป่นไปปิ้ง จะมีอยู่ทั้งหมด 136 ชนิดที่ว่า

ในปลาเหล่านี้ที่ขึ้นในช่วงน้ำลด กพ. - มีค. - เมย. - พค. - มิย. เป็นปลาที่ชาวบ้านนำมาทำเป็นปลาแดกและปลาส้ม ถึง 30 ชนิด และปลาแดกนี้ชาวบ้านสามารถขายได้ไหละ 400 บาท ไหละ 24 กิโลกรัม ปลาส้มขายได้กิโลละ 80 บาท ปลาตากแห้งบางชนิดกิโลละ 250 บาท เช่นปลารากกล้วย ปลาย้อนตัวเล็กๆวงละ 10 บาท

ดังนั้นไม่ใช่แค่ปลาใหญ่เท่านั้นที่เป็นปลาเศรษฐกิจ แต่หากเขาจับปลาใหญ่หลังจากที่มันขึ้นหลัง พค.นี้ เขาจะขายเพราะมันมีรายได้ดี แต่เขาไม่ทำปลาแดก เขาเอาปลาเล็กไปทำปลาแดกดีกว่า

เพราะฉะนั้น หากเราปิดเขื่อน วัฒนธรรมปลาแดกจะจบ เพราะจะไม่มีปลาเล็กทำปลาแดก และจะเอาแต่ปลาใหญ่ๆ ซึ่งเป้าหมายคือร้านอาหาร ขายนักท่องเที่ยวอย่างเดียว และชาวบ้านจะอยู่จะกินอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้งานวิจัยแต่ละชิ้นไม่ค่อยได้พูดถึงเลย และหากเราจะบริหารเขื่อน เมื่อเราตัดสินใจโดยตัดประเด็นเหล่านี้ทิ้งไป จะทำให้ชาวบ้านปากมูลไม่ได้ประโยชน์ใดๆจากการเปิดเขื่อนปากมูลแค่ 3-4 เดือน

ตัวอย่างอื่นๆ เช่นพืชผักสมุนไพร ที่ชาวบ้านพบหลังจากการเปิดเขื่อนแล้วมีกลับมาถึง 342 ชนิด และเป็นอาหารและสมุนไพรถึง 127 ชนิด ในระบบนิเวศน์ปากมูลนี้ ในหน้าแล้งจะแล้งจัด บริเวณเดียวที่มีทรัพยากรสมบูรณ์คือ ริมมูล นอกจากจับปลาแล้วก็คือพืชผักสมุนไพร และการทำการเกษตรริมมูล เกิดขึ้นปลายเดือน พย. ไปจนถึง พค. ซึ่งหากเราปิดเขื่อนช่วงนี้ ชาวบ้านจะไม่อาจทำเกษตรริมมูลได้

หากลองคิดเปรียบเทียบว่าเมื่อปิดเขื่อนแล้ว นำน้ำมาใช้ระบบชลประทานซึ่งชาวบ้านไม่ได้อยากใช้ ไปทำลายพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อนำน้ำไปให้พื้นที่แห้งแล้งใช้ ซึ่งโดยตรรกของเหตุผลใช้ไม่ได้ในตัวเองอยู่แล้ว สุดท้ายนี้ ที่สำนักงานสถิติกล่าวว่า ที่ลงไปสำรวจเพราะนายกฯบอกว่าไม่มีข้อมูล ทั้งที่มีข้อมูลและองค์ความรู้ในเรื่องนี้อยู่มากมาย และสามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่ว่าผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจจะนำความรู้นี้ไปใช้หรือไม่เท่านั้น

นิธิ : เราได้เห็นความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางการเมืองอย่างนี้ ผมคิดว่าการตัดสินใจที่ไม่อาศัยฐานความรู้ ไม่ว่าความรู้นั้นจะมาจากมหาวิทยาลัยหรือมาจากชาวบ้าน ซึ่งแทบจะไม่ถูกนับเป็นความรู้อยู่แล้วก็ตามแต่ มีความหมายอย่างไร ผมขอเริ่มจากนักนิติศาสตร์ก่อน เชิญอาจารย์สมชายครับ

สมชาย : นับแต่เริ่มการเสวนามา เราได้เห็นความรู้ที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมากจากการตัดสินใจของรัฐบาล เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมที่เราฟังมา มีความรู้หลายชุดที่ถูกเสนอขึ้นมาในกรณีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนปากมูล แต่ทำไมข้อมูลเหล่านั้นจึงได้หายไปหมด

ปัญหาทั้งหมด ความขัดแย้งทั้งหมดมาจบลงที่แบบสำรวจที่ออกแบบสองวันแล้วเดินสำรวจสามวัน โดย ตชด. ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ กลายเป็นการตัดสินได้ ทำไมความรู้ก่อนหน้านี้จึงหายไป ผมคิดว่ามีอยู่สองประเด็น ที่ทำให้ความรู้นี้หายไป

ประการแรก, คือการเมืองแบบระบบตลาดทางภาพพจน์ สิ่งที่เราเห็นเกี่ยวกับคนจน ที่เรามักคิดไปว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับคนจน แบบที่เรียกว่าประชานิยม แต่ผมขอเรียกว่าประชานิยมแบบประชาสงเคราะห์ คือแบบพ่อให้ลูก แบบกูให้มึง แต่เมื่อลูกทำผิดบ้างเราต้องตี

การที่รัฐบาลเปิดเวทีให้ชาวบ้านจากปากมูลได้เข้าพบ เป็นการคลายความตึงเครียดลง เพราะหลังจากที่ชาวบ้านเข้าพบนายก สิ่งที่รัฐบาลทำคือเปิดทำเนียบให้เข้า ทำให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เปิดรับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างภาพพจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ใจกว้าง เป็นประชาธิปไตย แต่ที่จริงเป็นเช่นนี้หรือไม่ มีตัวอย่างให้เห็นสองสามตัวอย่าง

ในขณะที่รัฐสร้างภาพพจน์ รัฐก็ได้หยิบยืมกลไกของรัฐอยู่ตลอด ทั้งบนดินและใต้ดิน หากยังจำกันได้ ชาวบ้านปากมูลนับจนถึงวันที่จะได้พบนายก มี "ไอ้โย" กับชายฉกรรจ์ 30 คนบุกไปรื้อเต้นท์ จนบัดนี้ไม่มีใครรู้ว่าไอ้โยเป็นใคร มาจากไหน ไม่มีใครรู้ เป็นมนุษย์ต่างดาวมาแล้วมันก็ไป ตำรวจโดยเฉพาะอย่างสันต์ ศรุตานนท์ ทำอะไรมันไม่ได้ แต่กับชาวบ้านที่จะนะ สันต์บอกทำได้ทุกอย่างเรามีหลักฐานแน่นหนา

อันนี้เป็นระดับที่ผมคิดว่า อาจเป็นการใช้กลไกรัฐระดับใต้ดินหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่เห็นบนดิน เช่น รัฐหยิบยืมมือจากเดิมใช้หลายคน จนเดี๋ยวนี้ต้องมาใช้มือของคนใหม่คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติออกแบบสำรวจ น่าสนใจคือรัฐบาลชุดนี้กำลังปฏิรูประบบราชการ คือที่ผ่านมาระบบราชการไม่ได้เรื่อง แต่พอมาถึงปัจจุบัน เรามีคนพร้อมแล้ว ต่อไปนี้สั่งตำรวจ ทหาร ลงไปทำวิจัยด้วย ถ้าตำรวจทหารมีความสามารถในการทำวิจัย ก็ให้ยุบมหาวิทยาลัยได้เลย

การส่งเจ้าหน้าทีของรัฐไปเยี่ยมเยือนแกนนำชาวบ้านที่ภาคใต้ และบอกกับคนที่บ้านของเขาว่าให้ช่วยดูแลบ้านด้วยนะ เพราะคนที่ไปคัดค้านพวกนี้ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผมอยากจะเรียกว่านโยบายตีสองหน้า คือในทางสาธารณะเป็นแบบหนึ่ง แต่ในทางใต้ดินเป็นอีกแบบหนึ่ง หากจะพูดให้ชัดขึ้น ผมว่านี่คือนโยบายลิ้นสองแฉก

นี่คือปัญหาประการแรกที่เป็นการสร้างภาพพจน์ สังคมเมินเฉย คิดว่าปัญหาต่างๆนี้ได้ถูกแก้ไขไปแล้ว ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่

ประการต่อมา, มีกระบวนการที่ทำให้คนที่คิดต่างนี้กลายเป็น "คนอื่น" ซึ่งต้องเสียสละ นี่คือปัญหาอีกประการหนึ่ง คือเมื่อใครคิดต่างจากรัฐบาลจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยตลอด เช่น จะสร้างเขื่อนปากมูล หากชาวบ้านมาชุมนุมกัน 300 คน นี้เป็นชนส่วนน้อย ต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่ในทางกลับกัน พอเสนอให้เปิดเขื่อนของงานวิจัยไทบ้าน รัฐบาลเป็นกังวลต่อคนที่เลี้ยงปลาในกระชัง นี้ไม่ใช่คนส่วนน้อยแล้ว แต่นี่คือคนที่ได้รับผลกระทบ เราต้องเอาคนส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบมารวมกัน ทำไมไม่ว่าคนเลี้ยงปลาในกระชังเป็นคนส่วนน้อยบ้างล่ะ

ดังนั้น "คนส่วนน้อย" คือ คนที่คัดค้านนโยบายของรัฐบาล หากใครที่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่เคยเป็นคนส่วนน้อย ปัญหาคือการเป็นคนส่วนน้อยนี้คือการใช้ตรรกะในทางการเมือง ซึ่งหากใช้แบบนี้ ผมสามารถทำให้รัฐบาลกลายเป็นคนส่วนน้อยก็ได้ ผมจะลองทำให้ท่านทั้งหลายดู

รัฐบาลทักษิณอ้างเสมอว่าได้รับเลือกตั้งจากคนนับล้านคน ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 63 ล้านคน หากเราจะยังสามารถเชื่อได้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติยังมีความสามารถอยู่ รัฐบาลทักษิณได้รับเลือกตั้งจากคนสิบล้านเสียง ถือว่าเป็นส่วนน้อยอยู่ ครั้งหน้าบอกจะทำให้ได้ยี่สิบล้านเสียงก็ยังคงเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่ดี! หากจะทำอะไรให้ได้เสียงข้างมาก ต้องเอามาสามสิบล้านคน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ต้องหามาให้ได้สามสิบล้านคน แต่ความสำคัญอยู่ที่การทำให้ใครเป็นคนส่วนน้อย โดยอาศัยตรรกะเช่นนี้ ซึ่งเราต้องข้ามให้พ้นความคิดดังกล่าว

ในขณะนี้เรามีคนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆของรัฐ เมื่อเอามารวมกัน อาจเป็นจำนวนหลายล้านก็ได้ แต่คนพวกนี้ถูกทำให้กระจายไป ซึ่งจุดนี้เองทำให้ความรู้ต่างๆหายไปจากกระบวนการตัดสินใจ

รัฐบาลได้ทำให้คนที่คัดค้านเป็นคนส่วนน้อยในกระบวนการตัดสินในในกระบวนการสาธารณะ โดยที่รัฐบาลไม่ได้สนใจใยดี มีอยู่ 2-3 ประเด็น ได้แก่

ประการแรกคือ ความรู้ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจกับความรู้อย่างจริงจัง งานวิชาการที่เกิดขึ้นจากกรณีปากมูลไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐจ้าง ม.อุบล ทำ หรืองานวิจัยไทบ้านนี้ ตัวอย่างคำถามอันหนึ่งที่ตอนเช้า อ.วารุณี ได้ยกขึ้นมา ว่าได้ถามโดยไม่มีนัยยะอะไรเลยเกี่ยวกับการตัดสินใจในครั้งนี้ แต่ผมคิดว่ามันอาจจะมีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ คำถามที่ว่าเมื่อสำนักงานสถิติทำการสำรวจ ไปถามว่าคนที่ถูกสำรวจรู้หรือไม่ว่าปลาวางไข่เดือนไหน ชาวบ้าน 70% ตอบว่าทราบ พร้อมกับตอบต่อไปด้วยว่าเดือน พค.-มิย. โดยที่ควรจะตั้งข้อสังเกตว่า 70% นี้เป็นผู้ที่ทำการเกษตรเป็นหลัก 3.6% เป็นชาวประมง

ผมคิดว่ามันมีนัยยะของคำถามข้อนี้ ว่าที่พวกเราไปถามคนทั้งหมดนี้ เขารู้เรื่องประมงนะ แต่ถามว่าการสำรวจทัศนะแบบนี้ได้บ่งบอกความรู้อย่างไรหรือไม่ เช่นที่คุณไชยณรงค์ได้พูดไปสักครู่ ว่าสิ่งที่งานวิจัยไทบ้านทำ พบว่า ก่อนหน้าที่มีการสร้างเขื่อน ชาวบ้านพบว่ามีปลา 265 ชนิด สร้างเขื่อนแล้วปลา 45 ชนิดหายไป ถามว่าคำถามว่ารู้หรือไม่ว่าปลาวางไข่เดือนไหน หมายความว่าพอเดือน พค.-มิย. ปลาก็พากันมากอง แล้วก็ไข่แล้วก็ไป ง่ายเช่นนั้นเชียวหรือ

หากเป็นเช่นนั้นจริง เรายุบคณะเกษตร ภาควิชาประมง แล้วไปยุบกรมประมงตามไป มันไม่ใช่ งานวิจัยที่ไทบ้านทำก็ยัง "หยาบ" อยู่ หมายความว่าเราก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าปลาอพยพขึ้นเดือนไหน ลงเดือนไหน

เมื่อชาวบ้านที่รู้เรื่องประมงดี ตอบคำถามนี้แล้วก็ควรจะเชื่อกัน ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจความรู้ น่าสนใจว่า เมื่อวานนี้นายกฯพูดว่า จะหาเงินจากที่ไหนมาเพื่อสนับสนุนงานวิจัย หมายความว่าอะไร รัฐกำลังจะทำอะไรอยู่

ประการที่สอง ที่รัฐไม่ได้ให้ความสนใจเลย คือ ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืน หลังวิกฤตเศรษฐกิจ มีการเสนอว่าระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนถูกเสนอขึ้นมา เป็นนโยบายหลักในการพัฒนาท้องถิ่น แต่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเลย การพัฒนาตามแนวทางของรัฐยังคงเน้นที่การสร้างเขื่อน การผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก การวัดความเจริญเติบโตยังอยู่ที่ตัวเลขของการส่งออก ราคาหุ้น GDP เพราะฉะนั้น เปาโล ผู้เป็นแกนนำเยาวชนที่ปากมูล ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมเพียงแค่อยากจะหาปลา" จึงไม่ควรจะปล่อยไว้ เพราะไม่มีการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐมองข้ามหัวคนตัวเล็กๆ คนที่อยู่กับธรรมชาติ

ตัวเลขที่เห็นแล้วน่าสนใจ คือตัวเลขของ ม.ขอนแก่น จากปี 2537 ชาวบ้านมีรายได้จากการประมง 13,428 บาท แต่ปี 2542 ที่มีการปิดเขื่นอ รายได้ลดลงเหลือ 2,791 บาท เราเรียกสิ่งต่างๆนี้ว่าการพัฒนาได้อย่างไร เมื่อสิ่งเหล่านี้ทำให้คนจนลง

ข้อสรุปของผม คือ สื่อมวลชนที่ให้สมญารัฐบาลชุดนี้ว่ารัฐบาลเทวดา แต่ผมว่าไม่ใช่ เพราะเทวดาน่าจะมีญาณวิเศษที่จะแยกแยะสิ่งถูกผิดได้ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลฟังแล้วไม่เข้าหูก็จะกลับไปสู่ตรรกะที่ว่า ถ้าไม่ชอบอย่ามาเลือกในอีกสองปีข้างหน้า เหมือนกันกับนายกฯที่ผ่านมาทุกยุค ผมจึงขอเรียกรัฐบาลชุดนี้ว่า"รัฐบาลเทวดากำมะลอ"

นิธิ : เชิญอ.เกษียร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความเห็นต่อ

เกษียร : หลังจากที่รับมาพูดในครั้งนี้ก็รู้สึกหวาดหวั่น เพราะรัฐบาลชุดนี้ นักวิชาการพูดอะไรก็ต้องคิดให้มากหน่อย ผมอยากนำเขื่อนปากมูลและการตัดสินใจครั้งล่าสุดเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลวางกลับเข้าไปในบริบททางการเมืองของมัน ซึ่งคงพูดถึงในแง่ทางรัฐศาสตร์ว่า อะไรเป็นความรู้ที่ขาดหายไป

ในการตัดสินใจเรื่องเขื่อนปากมูลในระบอบประชาธิปไตย นอกจากความรู้ทางด้านอื่นๆ ที่เป็นความรู้ทางข้อเท็จจริง ความรู้ของชาวบ้าน ด้านนิเวศน์สังคม วัฒนธรรมที่ท่านอื่นๆได้พูดไปแล้ว และผมคิดว่าความรู้ที่ขาดหายไปจริงๆในกระบวนการตัดสินใจครั้งนี้ คือ ความรู้เกี่ยวกับ"ระบอบประชาธิปไตย"เอง

ผมคิดว่ามีความรู้ที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยที่หายไป มี 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง คือ ประชาธิปไตยไม่ใช่ทรราชย์ของเสียงข้างมาก
ประการที่สอง คือ การประท้วงของประชาชนไม่ใช่อนาธิปไตย แต่เป็นการเสริมขยายประชาธิปไตย
ประการที่สาม ความรู้ที่ขาดหายไปคือ ความหมายของความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นที่หนึ่ง ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ Majority rule ไม่ใช่แค่การปกครองโดยเสียงข้างมาก ต้องมี Minority right หรือสิทธิของเสียงข้างน้อย สิทธิของคนตัวเล็กที่สุด คือบุคคลด้วย ผมคิดว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คือปัญหานี้

แน่นอนว่าการสำรวจความคิดเห็น ประชามติ นั้นสามารถสำรวจ ปั้นออกมาอย่างไรก็ได้ให้เป็นเสียงข้างมาก จนกระทั่งเสียงข้างมากที่เราอ้างในโพลทั้งหลาย พอเอาเข้าจริงกลายเป็นเสียงข้างน้อย แต่ประเด็นอยู่ที่คนที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ตอนนี้เป็นตัวแทนที่อ้างว่ามาจากเสียงข้างมาก การตัดสินใจต่างๆของเขา จะอ้างว่าทำในนาม majority ตลอด นี่คือฐานที่เขานำมาอ้างเพื่อจะบดขยี้คนส่วนน้อยที่เห็นต่างได้

คู่ความสัมพันธ์ระหว่าง"การปกครองโดยเสียงข้างมาก"กับ"สิทธิของเสียงข้างน้อย" สำคัญเพราะ ถ้าประชาธิปไตยจะไม่ไถลไปเป็นทรราชย์ของเสียงข้างมาก มันจะต้องไม่เหยียบข้ามความสำคัญของเสียงข้างน้อย เมื่อไรประชาธิปไตยเหยียบข้าม ละเลยต่อเสียงข้างน้อย เมื่อนั้นเรากำลังมุ่งหน้าไปยังทรราชย์ของเสียงข้างมาก ฉะนั้นหากเราถือว่าสิทธิของเสียงข้างน้อยเป็นเส้นกั้น ต้องไม่ให้ประชาธิปไตยล้ำเส้นกลายไปเป็นทรราชย์ไป

สิทธิของเสียงข้างน้อยมีอะไรบ้าง ที่สำคัญมี 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ "หลักธรรมะ หรือจะเรียกว่ากฎธรรมชาติก็ได้" คือกฎของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่คนที่จะมาอยู่รวมกัน และมาก่อนกฎหมายที่ชอบอ้างกันนักหนา พื้นฐานคือ ไม่มีใครควรที่จะทำร้ายเบียดเบียนคนอื่น ในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และเสรีภาพของเขา ที่เรามารวมกันเป็นสังคมนี้ก็เพื่อให้การดูแลรักษาทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของกันและกันให้ดีขึ้น คนจึงมาอยู่ร่วมกันเป็นรัฐ ถ้าคนมาอยู่รวมกันแล้วทำให้การดูแลสิ่งเหล่านี้แย่ลง แล้วจะมาอยู่ร่วมกันทำไม กฎหมายบ้านเมืองที่งอกตามมาหลังจากมีรัฐแล้ว ต้องอิงกับกฎธรรมชาติอันนี้ หากไม่เช่นนั้นแล้วเท่ากับคุณละเมิดกฎธรรมชาติแล้วนำไปสู่ทรราชย์

เรื่องที่สองคือ "สิทธิโดยธรรมชาติของคน" ซึ่งมันก็เนื่องมาจาก"กฎธรรมชาติ"นั่นเอง คือ คนเรามีสิทธิที่จะใช้ ที่จะจัดการกับสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สินของตัวเองอย่างที่ตัวเองปรารถนา อันนี้สำคัญ เพราะเป็นหลักประกันต่ำสุด เพื่อที่เราจะมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ถ้าเราเข้าไปอยู่ในสังคมหรือสมาคมหนึ่ง ที่จะทำให้เราหมดสิทธิที่เราจะจัดการสิทธิและเสรีภาพของเราแล้ว นั่นแปลว่า เราอาจจะหลวมตัวที่จะเข้าไปรวมอยู่ในแก๊งมหากาฬที่จะลากเราไปเป็นทาสก็ได้ สิทธิของเสียงข้างน้อยจึงสำคัญสำหรับทุกคน รวมทั้งเสียงข้างมากด้วย เพราะเสียงข้างมากในวันนี้อาจจะเป็นเสียงข้างน้อยในวันข้างหน้าก็ได้

ลองมีอีกสักสิบๆเขื่อนที่จะตามมาซิ นึกถึงอภิมหาโครงการที่จะตามมา เสียงข้างมากในวันนี้อาจกำลังสนุกสนานกับการบริโภคพลังงาน แต่ในวันข้างหน้าคุณอาจกลายไปเป็นเสียงข้างน้อย ดังนั้นการให้ความสำคัญแก่เสียงข้างน้อยในวันนี้ เพื่อเป็นการประกันว่าสิทธิของคุณไม่ได้อยู่ใต้อุ้งเท้าของชุมโจรที่พร้อมจะริบชีวิตคุณ ทรัพย์สินคุณ ร่างกายคุณ เมื่อไรก็ได้ "โดยรักษาสิทธิเขา คุณกำลังให้หลักประกันในการปัองกันสิทธิของคุณเองในวันข้างหน้า"

ถ้าเราคิดถึงสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ควรจะมองข้ามไปในระบอบประชาธิปไตย หรือตัวแทนเสียงข้างมากที่มาออกกฎหมาย หรือตัวกฎหมายที่ออกโดยเสียงข้างมากก็แล้วแต่ ก็ต้องมีขอบเขต นายกฯมักจะพูดเสมอว่าสิทธิต้องมีขอบเขต ผมคิดว่าในทางกลับกัน กฎหมายต้องมีขอบเขต มันถูกจำกัดโดยสิทธิของเสียงข้างน้อย กฎธรรมชาติเหล่านี้ และต้องล้ำเส้นนี้ไม่ได้

"สิทธิ" เป็นสิทธิเมื่อคนมีอำนาจจะใช้มัน แม้คนมีเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ต่อให้เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย คนส่วนน้อยก็ต้องมีสิทธิอันนั้น

"สิทธิ"ยังเป็นสิทธิ แม้แต่จะกระทบสิทธิของเสียงข้างมากก็ตาม!

มันเป็นสิ่งที่ แม้คุณจะอ้างสิทธิของเสียงข้างมาก คุณก็ทำลายมันไม่ได้ เช่น โรงงานบางแห่งในออสเตรเลียมีปัญหากับคนมุสลิม เพราะเขาบอกว่าคนมุสลิมเสียเวลาทำงาน เพราะต้องทำละหมาดตั้ง 5 ครั้งในวันหนึ่ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์เสียงข้างมากในโรงงาน ไม่ควรจะให้คนมุสลิมทำละหมาดในโรงงาน

ถามว่าการละหมาดของคนมุสลิมมีผลกระทบต่อเสียงข้างมากของคนในโรงงานหรือไม่? คำตอบก็คือ"มี" แต่ต้องให้กระทบเพราะมันเป็นสิทธิในความเป็นมนุษย์ของเขา ดังนั้น ถ้าเรามองย้อนไปในสังคมของไทย เราคำนึงถึงเรื่องนี้มาตลอด เรามีนักคิดจำนวนมากในเรื่องนี้ที่ระมัดระวังในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นสังคมอาจจะไถลไปเป็นทรราชย์เสียงข้างมากได้

อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เวลาท่านคิดถึงสังคมในอุดมคติของท่าน จึงเรียกสังคมนั้นว่าสันติประชาธรรม ท่านไม่เรียกว่าสันติประชาธิปไตย เพราะผมคิดว่าประเด็นของท่านที่ต้องการเหนี่ยวรั้ง ถ่วงดุลของอำนาจเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยไว้ด้วยกรอบธรรมะ เรียกมันว่าสันติประชาธรรม เพื่อจะให้มีขอบเขตบางอย่างไม่ให้เสียงข้างมากล้ำเส้น

นักคิดอนุรักษ์นิยม อย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็เคยติงเรื่องนี้ไว้ ในคำพูดที่เราจะได้ยินอ้างกันบ่อย เมื่อครั้งที่ท่านพูดเมื่อปี 2490 ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่ถือเอาแต่ข้างมากของเสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจรห้าร้อยคนมาประชุมกับพระห้าองค์ แล้วเสนอญัตติให้อภิปรายว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ เมื่อลงมติกันทีไร ก็จะมีมติให้ไปปล้นเขา เพราะโจรห้าร้อยก็ลงมติชนะพระได้ทุกที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเลยว่ามติของเสียงข้างมากนั้นเป็นมติที่ถูกต้องในทำนองคลองธรรม

ผมกำลังคิดว่าในสังคมปัจจุบันเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ซ้ำร้ายกำลังมีการปั้นแต่งให้เห็นว่าโจรห้าร้อยนั้นเป็นพระห้าร้อย พระห้าองค์นั้นให้เห็นเป็นโจรห้าคน กลายเป็นภาพที่กำลังสื่อกัน

ถ้าเราคิดอย่างนี้ว่าประชาธิปไตยต้องมีเส้น และต้องไม่ล้ำเส้นนั้น อำนาจเสียงข้างมาก หรือที่อ้างว่าทำตามเสียงข้างมาก ที่ให้ริบทรัพยากร สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้ริบฐานทรัพยากรในการหาเลี้ยงชีพ การดำรงชีวิตของชาวปากมูล จะนะ บ่อนอก-บ้านกรูด คลองด่านนั้น ใช่เป็นการปล้นชิงสิทธิในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นเยี่ยงโจรห้าร้อยหรือไม่? เป็นการล่วงละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของพวกเขาหรือไม่? มันเป็นการใช้อำนาจตามหลักเสรีประชาธิปไตยหรือทรราชย์เสียงข้างมากกันแน่?

อันที่สอง คือการประท้วงของประชาชน ผมคิดว่าหนึ่งปีข้างหน้านี้คงจะมีมากขึ้น เมื่อดูจากกรณีต่างๆ และก็จะมีแนวโน้มของพรรคฝ่ายค้าน ในปัจจุบันก็คิดว่าเราคงจะได้อยู่กับท่านนายกคนปัจจุบันนี้ต่อไปอีกนานสักหน่อย เราจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มากครั้งขึ้นนี้อย่างไร

มีคำพูดเยอะว่า การประท้วงของประชาชนนี้เป็นอนาธิปไตย ผมคิดกลับกัน ว่าจากมุมมองของเสรีนิยมประชาธิปไตย มองการประท้วงของประชาชนเป็นการเสริมขยายประชาธิปไตยออกไป คือมันเป็นสิ่งปกติธรรมดาของเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่แปลกเลย มันจะผิดปกติต่อเมื่อคุณไม่ได้คิดในกรอบเสรีประชาธิปไตยนั้น

แล้วหากคิดให้ดี การประท้วงของประชาชนที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มันอันตรายถึงขนาดที่เขาจะประท้วงโค่นรัฐบาลหรือ? ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนคิดจะเป็นนายกหรือ? คุณบรรจงอยากจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือ? ไม่ใช่เลย นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุกคามความมั่นคงของรัฐเลย อย่างมากที่สุดที่คนส่วนน้อยเหล่านี้ทำได้คือ พยายามเปลี่ยนใจรัฐบาล ถ้าเปลี่ยนใจรัฐบาลไม่ได้ พยายามเปลี่ยนทัศนะของคนเสียงข้างมากในสังคม นี้แหละ อันตรายที่สุดของพวกเขามีเท่านี้เอง

และที่เขาต้องไปประท้วงก็เพราะว่าเขาไม่มีเงินไปซื้อโฆษณาในทีวี วิทยุ สังคมการเมืองไทยมันแคบ จนเบียดพวกเขาไม่ให้มีโอกาสไปแสดงทัศนคติที่จะโน้มน้าวใจคนข้างมากได้ เพราะทางอื่นไม่เอื้อให้เขา และเขากำลังโน้มน้าวให้คนข้างมากในสังคมสงสัย ศึกษา เรียนรู้ วิจารณ์ และหาทางเลือก การประท้วงของประชาชนเป็นปัจจัยที่จะทำให้สังคมเรียนรู้และฉลาดขึ้น เราต้องการสิ่งนี้ไม่ใช่หรือ?

เดิมทีเดียวเมื่อเราเปลี่ยนรัฐบาล ผมหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะฉลาดกว่ารัฐบาลชุดเก่า และนายกฯคนใหม่จะรอบรู้กว่านายกฯคนเดิม

ข้อสามนี้คือ ความยุติธรรม นายกฯพูดเสมอว่า การตัดสินใจเกิดขึ้นแล้ว ประโยชน์ของเสียงข้างมากเป็นเรื่องที่ต้องยึดถือ คนส่วนน้อยที่ประท้วงไม่เลิก. มันไม่เลิก ทุกปัญหาต้องมีจุดยุติ ผมเห็นด้วยว่าทุกปัญหาต้องมีจุดยุติ การที่ปัญหาไม่มีจุดยุติ เพราะมันยังไม่ยุติธรรม เมื่อใดที่ความยุติธรรมไม่เกิด คนไม่รู้สึกว่าตนได้รับความเป็นธรรมจากเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมที่เขาสมัครเป็นสมาชิกด้วย จะให้เขายุติการใช้สิทธิที่จะเห็นต่าง สิทธิที่จะดื้อแพ่ง สิทธิที่จะเรียกร้องให้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้เรียนรู้ ย้อนคิด จะไปเรียกให้เขายุติได้อย่างไร ?

นายกฯพูดอีกว่า กรณีการตัดสินปัญหาเรื่องปากมูล ทั้งทางทีวี และตอนหลังที่การตัดสินใจ เปิด 4 ปิด 8 ออกมาแล้ว ว่าคนต้องพัฒนา คนต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัว ประเด็นในสังคมเสรีประชาธิปไตยก็คือ ไม่มีใครมีสิทธิยัดเหยียด ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนอื่น ระบบนี้เคารพในวิถีชีวิตของคน เคารพเสรีภาพของคน สิทธิของคนในการเลือก ไม่มีใครสามารถยัดสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุด ให้กับชีวิตของคนอื่น ตราบเท่าที่เขายังไม่ได้คิดเช่นนั้น ตราบเท่าที่เขายังไม่ได้เลือกเช่นนั้น คือ อำนาจในการเลือกและเสรีภาพในการเลือกคือฐานของความยุติธรรมในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย

ท่านอาจจะคิดว่าท่านเลือกแล้วบังคับให้คนอื่นต้องรับนั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม คนอื่นเขาอาจจะไม่คิดเช่นนั้น แล้วในกระบวนการที่ท่านบังคับยัดให้คนอื่นนั้น มันทำให้ความยุติธรรมในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยมันไม่เกิด เพราะ มันจะยุติธรรมต่อเมื่อบุคคลมีสิทธิเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง

การเลือกวิถีชีวิตแบบนั้นจะต้องมีฐานทรัพยากรรองรับ เมื่อมีการริบฐานทรัพยากร จึงเป็นการตัดทางเลือกของบุคคลต่างๆที่จะเลือกดำรงชีวิตของตนเอง ดังนั้นเมื่อมีมติเปิด-ปิดเขื่อนแล้ว ท่านจะมาบอกว่าใครอยากจะเป็นชาวประมงต่อก็เป็นไปซิ แต่ไม่มีฐานทรัพยากรให้เขาเลือกที่จะเป็น อย่างนั้นไม่เป็นธรรม

แล้วถ้ายังไม่เป็นธรรมเรื่องก็ยังไม่จบ และผมคิดว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับการทะเลาะกันและการขัดแย้ง สิ่งที่ อ.ฉลาดชาย พูดตอนเช้าสำคัญว่า การที่สังคมจะอยู่ได้เราต้องหากลไกที่ทำให้ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถเสนอต่อสังคมได้ อย่างสันติ เป็นธรรมและถูกกฎหมาย ผมมีความวิตกว่าสังคมกำลังปิดแนวทางนี้ไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ธรรมะไม่เกิด ความยุติธรรมไม่เกิด เรื่องก็คงยังไม่จบ

นิธิ : ขอเปิดให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น (พูดเสร็จ รออยู่สักครู่), หากไม่มีขอขอบคุณที่ทุกท่านได้มาร่วมในวันนี้

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)