ช่วงสัปดาห์ที่คุกรุ่นไปด้วยข่าวของการเตรียมทำสงคราม ระหว่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอิรัค ม.เที่ยงคืน ขอเสนอบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้
A republic in the Middle East; the ancient civilization of Mesopotamia was in the area now known as Iraq
ประธานาธิบดีบุชมองการณ์ดีว่า การก่อสงครามกับอิรักจะช่วยกำจัด อัปรียชน ออกจากนครแบกแดด และช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศนั้น มนุษยพิภพจะอยู่อย่างศานติสุขเพราะปราศจากผู้นำทางการเมืองที่บ้าระห่ำ แต่การให้เหตุผลเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของพลโลกจำนวนมาก ขบวนการต่อต้านสงครามจึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
การสำรวจมติมหาชนในช่วงหลัง สื่อสารสำคัญว่า ประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่าการก่อสงครามอิรัก ประธานาธิบดีบุชตระหนักถึงมติมหาชนดังกล่าวนี้ และเห็นความจำเป็นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยเกรงว่า หากภาวะเศรษฐกิจยิ่งเลวร้ายลงไปอีก มติมหาชนอาจเอียงไปข้างการต่อต้านสงครามอิรักมากยิ่งขึ้น

ประธานาธิบดีบุชและบริวารเล็งเห็นแต่ประโยชน์อันก่อเกิดจากสงครามอิรัก แต่มิได้ประเมินภาระต้นทุนอันเกิดจากสงครามดังกล่าว ประชาชนชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่า สังคมเศรษฐกิจอเมริกันจะสามารถรับภาระสงครามอิรักได้หรือไม่ และรับภาระได้มากน้อยเพียงใด ในเมื่อการกำจัดขอบเขตแห่งสงครามมิได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายกระทำอันมีประธานาธิบดีบุชเป็นผู้นำเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับฝ่ายถูกกระทำอันประกอบด้วยโลกมุสลิมทั้งมวลอีกด้วย
(รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

QUOTATION
R
relate
release date
210346

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 249 เดือนมีนาคม 2546 หัวเรื่อง : ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สงครามสหรัฐ-อิรัค : โดยรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (ความยาวประมาณ 24 หน้ากระดาษ A4 - font 16 p.)

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดอส เสนอประมาณการต้นทุนการก่อสงครามกับอิรัก ระหว่าง 121.000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ถึง 1,595,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของสงคราม แต่ประมาณการข้างต้นนี้ ยังมิได้รวมชีวิตมนุษย์จำนวนมากทั้งทหารและพลเรือน ทั้งชาวอิรักและชาวอเมริกันและสมาชิกอื่นๆ แห่งมนุษยพิภพ ชีวิตมนุษย์เหล่านี้มิอาจประเมินค่าได้ ในประการสำคัญ ประธานาธิบดีบุชเลือกการใช้กำลังทางทหารในการสถาปนาสันติภาพ แต่ความรุนแรงรังแต่จะเป็นเชื้อบ่มเพาะความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ไม่เคยปรากฏว่า ศานติสุขที่ถาวรจะสามารถสถาปนาด้วยการใช้ความรุนแรงได้ (ตัดมาจากส่วนหนึ่งของบทความ - โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

สภาวะความไม่แน่นอนแห่งสงครามมิเพียงแต่นำภาวะถดถอยมาสู่สังคมเศรษฐกิจอเมริกันเท่านั้น หากยังสร้างภาวะโกลาหลในตลาดหลักทรัพย์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์ Wall Street ตลาดปริวรรตเงินตราและตลาดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็เผชิญภาวะโกลาหลไม่แตกต่างกัน เงินดอลลาร์อเมริกันมีค่าอ่อนตัวลง และน้ำมันมีราคาแพง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนแห่งสงครามที่กำลังรอวันปะทุ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เมื่อสงครามอิรักก่อเกิดแล้ว ต้นทุนแห่งสงครามมีมากน้อยเพียงใด และใครเป็นผู้รับภาระ

ประธานาธิบดีบุชและบริวารเล็งเห็นแต่ประโยชน์อันก่อเกิดจากสงครามอิรัก แต่มิได้ประเมินภาระต้นทุนอันเกิดจากสงครามดังกล่าว ประชาชนชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่า สังคมเศรษฐกิจอเมริกันจะสามารถรับภาระสงครามอิรักได้หรือไม่ และรับภาระได้มากน้อยเพียงใด ในเมื่อการกำจัดขอบเขตแห่งสงครามมิได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายกระทำอันมีประธานาธิบดีบุชเป็นผู้นำเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับฝ่ายถูกกระทำอันประกอบด้วยโลกมุสลิมทั้งมวลอีกด้วย

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจบั่นทอนความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจอเมริกันไปเป็นอันมาก การว่างงานมีมากขึ้น คนจนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ฐานะการคลังเสื่อมทรามลง จนเป็นที่คาดกันว่า ดุลการคลังจะขาดดุลถึง 300,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ในปีงบประมาณ 2546 นี้ ในอีกด้านหนึ่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดก็มียอดขาดดุลสูงถึง 400,000 ล้านดอลลาร์อเมริกันในปี 2545

การสำรวจมติมหาชนในช่วงหลังสื่อสารสำคัญว่า ประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่าการก่อสงครามอิรัก ประธานาธิบดีบุชตระหนักถึงมติมหาชนดังกล่าวนี้ และเห็นความจำเป็นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยเกรงว่า หากภาวะเศรษฐกิจยิ่งเลวร้ายลงไปอีก มติมหาชนอาจเอียงไปข้างการต่อต้านสงครามอิรักมากยิ่งขึ้น

แต่แผนเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีบุชเสนอต่อรัฐสภา เพื่อประกอบการขออนุมัติงบประมาณแผ่นดิน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2546 กลับก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และมิได้ช่วยให้ความเชื่อมั่นของประชาชนมีมากขึ้น แผนดังกล่าวนี้ครอบคลุมช่วงเวลา 10 ปี ประกอบด้วยมาตรการสำคัญอย่างน้อย 2 มาตรการ มาตรการแรก ได้แก่ การลดภาษีจำนวน 695,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน รายการสำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินปันผล มาตการที่สอง ได้แก่ การเพิ่มรายจ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายด้านการทหาร

ในทันทีที่แผนเศรษฐกิจของรัฐบาลบุชปรากฏสู่สาธารณชน นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเสรีนิยมจำนวน 400 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกวิพากษ์แผนเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ ในจำนวนผู้ลงนามนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 10 คน อันประกอบด้วย พอล แซมมวลสัน (Paul Samuelson) เค็นเน็ธ แอร์โรว์ (Kenneth Arrow) โรเบิร์ต โซโลว์ (Robert Solow) ฟรังโก โมดิเกลียนิ (Franco Modigliani) ลอร์เรนส์ ไคลน (Lawrence Klein) ดักลาส นอร์ธ (Douglass North) ดาเนียล แม็กแฟดเดน (Daniel McFadden) โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) ยอร์จ อะเกอร์ล็อฟ (George Akerlof) และวิลเลียม ชาร์ป (William Sharpe) องค์กรผลิตความคิด (Think Tank) ฝ่ายเสรีนิยมชื่อ Economic Policy Institute เป็นผู้ดำเนินการให้มีจดหมายเปิดผนึก และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546

แผนเศรษฐกิจของรัฐบาลบุชมิเพียงแต่ก่อให้เกิดสงครามความคิดเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดสงครามอุดมการณ์ในชุมชนนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอีกด้วย ในทันทีที่นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเสรีนิยมตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกโจมตีแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลบุช นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาจัดก็รวมตัวกันสนับสนุนรัฐบาลบุช The National Taxpayers Union อำนวยการให้มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐสภา โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ลงนาม 115 คน ในจำนวนนี้ประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 3 คน ได้แก่ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) เจมส์ บูคานัน (James Buchanan) และเวอร์นอน สมิธ (Vernon Smith)

ฝ่ายสนับสนุนเยินยอว่า แผนเศรษฐกิจของรัฐบาลบุชเป็นแผนที่กล้าหาญชาญชัย เพราะการลดการเก็บภาษีเป็นการลดการแทรกแซงของรัฐบาล กระนั้นก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนมีความเห็นว่า รัฐบาลควรจะมีแผนการลดรายจ่าย เพื่อลดส่วนขาดดุลทางการคลัง

ฝ่ายคัดค้านอ้างเหตุผลสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก แผนเศรษฐกิจนี้มิอาจช่วยฉุดระบบเศรษฐกิจอเมริกันออกจากภาวะถดถอย ทั้งการลดภาษีและการเพิ่มรายจ่ายด้านการทหารมีผลอันจำกัด ประการที่สอง คนรวยได้ประโยชน์จากการลดภาษีเงินปันผลโดยตรง โดยที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือคนจนและคนว่างงาน ประการที่สาม การลดภาษีและการเพิ่มรายจ่ายด้านการทหารจะทำให้ปัญหาการขาดดุลทางการคลังเรื้อรังและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การลดภาษีนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลบุช โดยหวังว่านโยบายดังกล่าวนี้จะช่วยดึงระบบเศรษฐกิจอเมริกันออกจากภาวะถดถอย จอร์จ บุช จูเนียร์ ไม่แยแสต่อเสียงวิพากษ์ที่ว่า พรรครีพับลิกันเป็นมิตรกับคนรวย แต่เป็นศัตรูกับคนจน ในขณะที่ภาวะการคลังมีฐานะกระเตื้องขึ้นมากในช่วงปลายรัฐบาลคลินตัน นโยบายการลดภาษีของรัฐบาลบุชยังผลให้ฐานะการคลังเสื่อมทราม และยิ่งเสื่อมทรุดลงไปอีกเมื่อรัฐบาลบุชประกาศลดภาษีเป็นระลอกที่สอง จนโจเซฟ สติกลิตส์ เปล่งมธุรสวาจาว่า นโยบายดังกล่าวนี้เป็น ความบ้าคลั่งทางการคลัง (Fiscal Madness) และความไร้ความรับผิดชอบทางการคลัง (Fiscal Irresponsibility)

จอร์จ บุช จูเนียร์ มีปัญหาในการจัดทีมเศรษฐกิจนับตั้งแต่แรกตั้งรัฐบาล ทั้ง พอล โอนีล (Paul O Neill) รัฐมนตรีการคลังและลาร์รี ลินด์เซย์ (Larry Lindsey) ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ นับเป็นมวยรองบ่อน ซึ่งมิอาจเทียบชั้นกับโรเบิร์ต รูบิน (Robert Rubin) หรือลอว์เรนส์ ซัมเมอร์ส (Lauernce Summers) รัฐมนตรีการคลัง และโจเซฟ สติกลิตส์ ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจในรัฐบาลคลินตัน

เสียงวิพากษ์ที่ว่า รัฐบาลบุชมีทีมเศรษฐกิจที่เป็นพวกไลท์เวท ไม่มีเฮฟวีเวทดุจดังรัฐบาลคลินตัน ทำให้ประธานาธิบดีบุชตัดสินใจบีบรัฐมนตรีการคลังและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของตนให้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2545 ในคราวนี้ เมื่อนโยบายการลดภาษีถูกวิพากษ์อย่างรุนแรง รวมทั้งเสียงวิพากษ์ภายในพรรครีพับลิกันเอง เกล็นน์ ฮับบาร์ด (Glenn Hubbard) ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisers) ต้องลาออกในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2546 แต่อ้างเหตุผลด้านครอบครัว

ในท่ามกลางความโกลาหลทางเศรษฐกิจ รัฐบาลบุชไร้ทีมเศรษฐกิจเป็นการชั่วคราว โดยเตรียมแต่งตั้งศาสตราจารย์เกรกอรี แมนคิว (Gregory Mankiw) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และจอห์น สโนว์ (John Snow) จากบริษัท CSX เป็นรัฐมนตรีการคลัง

ภาวะอึกครึมทางเศรษฐกิจจะยังดำรงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ประธานาธิบดีบุชยังคงข่มขู่ที่จะทำสงครามอิรัก และสงครามรอวันปะทุต่อเมื่อสงครามปะทุขึ้นแล้ว ภาวะอึกครึมดังกล่าวนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ ต่อจากนั้นไป ประชาชนชาวอเมริกันจะไม่มีชีวิตที่สงบสุข เพราะต้องรอคอยการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ด้วยเหตุดังนี้เอง จึงมิใช่เรื่องยากแก่การเข้าใจว่า เหตุใดประชาชนชาวอเมริกันจึงใช้จ่ายในการซื้อ Home Protection Goods ในสัดส่วนสำคัญในช่วงหลังนี้ ทั้งนี้ตามรายงานการสำรวจของธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา

หมายเหตุ
1. จดหมายเปิดผนึกคัดค้านแผนเศรษฐกิจรัฐบาลบุช ดูเอกสารของ Economic Policy Institute www.epinet.org

2. รายงานข่าวนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคัดค้านแผนเศรษฐกิจรัฐบาลบุช ดู Nobel Winners Attack Bush Economics, BBC News (February 7, 2003)

3. รายงานข่าวโจเซฟ สติกลิตส์ โจมตีแผนเศรษฐกิจรัฐบาลบุช ดู Economists Attack Bushs Madness, BBC News (February 11, 2003)

4. รายงานข่าวนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาสนับสนุนแผนเศรษฐกิจ Nobel Economists Back Bush, BBC News (February 12, 2003)

5. รายงานข่าวการสำรวจภาวะเศรษฐกิจโดยธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา War Fears Burden US Economy, BBC News (March 5, 2003)

 

ต้นทุนของสงครามอิรัก
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

มนุษยพิภพกำลังย่างก้าวสู่ภาวะสงคราม ทั้งนี้ด้วยการชักพาของประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ แห่งสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีบุชมองการณ์ดีว่า การก่อสงครามกับอิรักจะช่วยกำจัด อัปรียชน ออกจากนครแบกแดด และช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศนั้น มนุษยพิภพจะอยู่อย่างศานติสุขเพราะปราศจากผู้นำทางการเมืองที่บ้าระห่ำ แต่การให้เหตุผลเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของพลโลกจำนวนมาก ขบวนการต่อต้านสงครามจึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แม้ในประเทศที่ต้องการทำสงครามอิรัก ดังเช่นสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเอง ในขณะที่ประธานาธิบดีบุชต้องการขจัด อัปรียชน ออกจากนครแบกแดด ตัวประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาหลงลืมว่า ยังมี อัปรียชน แห่งทำเนียบขาวที่สมควรจะถูกขจัดด้วย

ประธานาธิบดีบุชไม่เคยบอกกล่าวแก่ประชาชนชาวอเมริกันว่า การก่อสงครามกับอิรักสร้างภาระรายจ่ายแก่รัฐบาลอเมริกันมากน้อยเพียงใด และประชาชนชาวอเมริกันต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด และระบบเศรษฐกิจอเมริกันจะเสื่อมทรุดเพราะสงครามอิรักหรือไม่

การประมาณการต้นทุนของการก่อสงครามกับอิรักเป็นหัวข้อที่วงวิชาเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงคราม (Economics of War) เป็นสาขาวิชาที่โตวันโตคืน นอกจากจะมีการนำเศรษฐศาสตร์ไปใช้วิเคราะห์สงครามโลกทั้งสองครั้งและสงครามอื่นๆ แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังสนใจสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจในการศึกษาสงครามอีกด้วย ในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมา งานวิจัยในสาขานี้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามกลางเมือง (Economics of Civil War) และความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ (Ethnic Conflicts) รวมทั้งการนำเศรษฐศาสตร์ไปใช้วิเคราะห์สงครามอ่าวเปอร์เซีย (2533-2534)

จนถึงบัดนี้ มีงานวิชาการที่เสนอประมาณการต้นทุนการก่อสงครามกับอิรักอย่างน้อย 3 ชิ้น ได้แก่

งานชิ้นแรก สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาอเมริกัน (Congressional Budget Office = CBO) จัดทำประมาณการตามคำร้องขอลงวันที่ 20 กันยายน 2545 ของประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณทั้งของสภาผู้แทนราษฎร (John M.Spratt, Jr.) และวุฒิสภา (Kent Conrad) เอกสารชื่อ Estimated Costs of a Potential Conflict with Iraq ส่งกลับไปให้ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาทั้งสองเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545

งานชิ้นที่สอง วิลเลียม นอร์ดอส (William D. Nordhaus) ตำแหน่ง Stirling Professor of Economics แห่งมหาวิทยาลัยเยล ผลิตงานวิจัยเรื่อง The Economic Consequences of a War with Iraq เสนอต่อ National Bureau of Economic Research (NBER) ในเดือนตุลาคม 2545 ศาสตราจารย์นอร์ดอสนำงานวิจัยชิ้นนี้มาเขียนเป็นบทความขนาดสั้นเผยแพร่สู่สาธารณชน เรื่อง Iraq : The Economic Consequences of War ตีพิมพ์ในนิตยสาร The New York Review of Books (December 5, 2002)

งานชิ้นที่สาม วอริก แม็กคิบบิน (Warwick J. McKibbin) แห่ง Brookings Institution และแอนดรูว์ สโตกเกล (Andrew Stoeckel) ร่วมกันผลิต The Economic Costs of a War in Iraq (2003) โดยใช้แบบจำลองที่มีชื่อว่า G-Cubed Model ในการคำนวณประมาณการต้นทุนการทำสงครามอิรัก

นอกจากการศึกษาต้นทุนและผลกระทบของการก่อสงครามอิรักแล้ว หัวข้อที่มีผู้สนใจศึกษาอีกหัวข้อหนึ่งก็คือ การก่อสงครามอิรักจะทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างของงานในหัวข้อนี้ ได้แก่ งานของศาสตราจารย์ไมเคิล โอแฮนลอน (Michael O Hanlon) เรื่อง Estimating Casualties in a War to Overthrow Saddam (Foreign Policy Research Institute, 2003)

ประเทศที่ร่วมในสงครามอิรักล้วนต้องรับภาระต้นทุนการทำสงคราม ทั้งประเทศที่เป็นฝ่ายกระทำ (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สเปน ออสเตรเลีย ฯลฯ) และประเทศที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ (อิรัก) รวมตลอดจนประเทศที่เป็นสมรภูมิ อันได้แก่ ภูมิภาคอาเซียตะวันออกกลางทั้งมวล ภาระต้นทุนการทำสงครามที่ตกแก่ประเทศเหล่านี้ มิได้จำกัดเฉพาะภาระงบประมาณแผ่นดิน หากยังมีภาระต้นทุนอื่นๆ ที่ตกแก่สังคมเศรษฐกิจทั้งระบบ เพราะการก่อสงครามมีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผลกระทบเหล่านี้บางประเภทมิอาจประมาณการเป็นตัวเงินได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ การศึกษาต้นทุนการทำสงครามมิควรจำกัดเฉพาะแต่ภาระงบประมาณแผ่นดิน (Budgetary Costs) เท่านั้น หากต้องศึกษาต้นทุนรวม (Total Costs) ที่ตกแก่ประเทศโดยส่วนรวมด้วย

แต่การทำสงครามอิรักมิได้สร้างภาระต้นทุนแก่ประเทศที่ร่วมทำสงครามเท่านั้น ประเทศที่มิได้ร่วมทำสงครามต้องมีส่วนแบกรับภาระต้นทุนอันเกิดจากสงครามอีกด้วย ในด้านหนึ่ง ประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ดังเช่นญี่ปุ่น อาจถูกบีบให้ร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการรับภาระต้นทุนการทำสงครามในอีกด้านหนึ่ง สงครามอิรักก่อผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจโลก ซึ่งก่อผลกระทบลูกโซ่ต่อประเทศต่างๆ ทั้งที่ร่วมและมิได้ร่วมในการสงคราม

ต้นทุนการก่อสงครามอิรักอาจจำแนกออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ส่วนที่หนึ่งเป็นต้นทุนอันเกิดจากปฏิบัติการทางทหาร ส่วนที่สองเป็นต้นทุนในการรักษาความสงบและฟื้นฟูอิรักและภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนที่สามเป็นต้นทุนอันเกิดจากผลกระทบของสงครามที่มีต่อราคาน้ำมัน และผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ

ต้นทุนอันเกิดจากปฏิบัติการทางทหารมีมากน้อยเพียงใด มิได้ขึ้นอยู่กับการระดมสรรพกำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากแต่ในประการสำคัญขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อและการขยายตัวของสงครามอีกด้วย การใช้กำลังทหาร 200,000 คน กับ 370,000 คน ย่อมสร้างภาระต้นทุนในการปฏิบัติการทางทหารแตกต่างกัน แต่ภาระต้นทุนการทำสงครามอาจทวี หากสงครามยืดเยื้อและขยายตัวออกนอกอาณาจักรอิรัก ด้วยเหตุดังนี้ รัฐบาลอเมริกันจึงต้องการเผด็จศึกโดยเร็ว และพยายามจำกัดสมรภูมิภายในอาณาจักรอิรัก ทั้งนี้เพื่อจำกัดต้นทุนการทำสงครามนั่นเอง

เมื่ออิรักพ่ายสงครามดุจเดียวกับอัฟกานิสถาน สหรัฐอเมริกายังต้องเสียต้นทุนในการรักษาความสงบภายในประเทศ หากการต่อสู้ขัดขืนของขบวนการประชาชนในอิรักยิ่งมีมากเพียงใด ต้นทุนในส่วนนี้จะยิ่งสูงมากเพียงนั้น ทั้งนี้มิอาจคาดหวังได้ว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถควบคุมอิรักชนิดราบคาบได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องมีกองกำลังทหารอเมริกันที่ยึดครองอิรัก ช่วงเวลาการยึดครองอิรักยิ่งยาวนานเพียงใด ต้นทุนในการรักษาความสงบภายในประเทศอิรักยิ่งสูงมากเพียงนั้น

ในระหว่างที่ยึดครองอิรัก สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญแรงกดดันจากชุมชนโลกในการฟื้นฟูและบูรณะประเทศอิรัก แผนการช่วยเหลืออิรักในลักษณะเดียวกับ Marshall Plan เป็นสิ่งที่ชุมชนโลกคาดหวัง รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนชาวอิรักที่ประสบภัยพิบัติจากสงครามด้วย

ท้ายที่สุด การก่อสงครามกับอิรักมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อราคาน้ำมัน ในเมื่อตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก สงครามอิรักย่อมสร้างความปั่นป่วนในตลาดน้ำมัน ความไร้เสถียรภาพในตลาดน้ำมันจะมีมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสงคราม ในกรณีที่เลวร้าย ราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัวสู่ระดับบาร์เรลละ 75 ดอลลาร์อเมริกัน ข้อที่น่ากังวลยิ่ง ก็คือ หากซัดดัม ฮุสเซน จนตรอก อาจถล่มบ่อน้ำมันทิ้งในอิรักและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ตลาดน้ำมันปั่นป่วนนานนับทศวรรษ

การก่อสงครามกับอิรักมิได้มีผลต่อตลาดน้ำมันเท่านั้น หากยังมีผลต่อตลาดหลักทรัพย์และตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศอีกด้วย ผลกระทบเหล่านี้จะมีมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของสงคราม ในกรณีของสหรัฐอเมริกา เป็นที่คาดกันว่าผลกระทบเหล่านี้อาจมีไม่มาก แต่สิ่งที่เหนือการคาดการณ์ก็คือ ผลกระทบในด้านจิตวิทยา การก่อสงครามอิรักสร้างภาระทางการคลังแก่รัฐบาลอเมริกันอย่างปราศจากข้อกังขา ฐานะการคลังที่เสื่อมโทรมอยู่แล้ว จะยิ่งเสื่อมทรุดลงไปอีก หากสงครามอ่าวเปอร์เซีย 2533-2534 ให้สัญญาณเตือนภัยได้ สัญญาณที่สำคัญก็คือ การมาเยือนของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้จอร์จ บุช ซีเนียร์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาสมัยที่สอง

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดอส เสนอประมาณการต้นทุนการก่อสงครามกับอิรัก ระหว่าง 121.000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ถึง 1,595,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของสงคราม

แต่ประมาณการข้างต้นนี้ ยังมิได้รวมชีวิตมนุษย์จำนวนมากทั้งทหารและพลเรือน ทั้งชาวอิรักและชาวอเมริกันและสมาชิกอื่นๆ แห่งมนุษยพิภพ ชีวิตมนุษย์เหล่านี้มิอาจประเมินค่าได้ ในประการสำคัญ ประธานาธิบดีบุชเลือกการใช้กำลังทางทหารในการสถาปนาสันติภาพ แต่ความรุนแรงรังแต่จะเป็นเชื้อบ่มเพาะความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ไม่เคยปรากฏว่า ศานติสุขที่ถาวรจะสามารถสถาปนาด้วยการใช้ความรุนแรงได้

หากซัดดัม ฮุสเซน เป็น อัปรียชน คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า จอร์จ บุช จูเนียร์ มิใช่มนุษย์ เผ่าพันธุ์ เดียวกับ ซัดดัม ฮุสเซน หรอกหรือ?

หมายเหตุ
1. เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามและบทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงคราม ดูอาทิ C. Cramer, Homo Economicus Goes to War : Methodological Individualism, Rational Choice and the Political Economy of War. World Development Vol. 30, No. 11 (November 2002), pp. 1845-1864

2. ผู้ที่มีบทบาทในการ พัฒนา เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามตามแนวทางของสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มีอาทิ ศาสตราจารย์พอล คอลเลียร์ (Paul collier) แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ส่วนใหญ่เป็นงานที่ผลิตภายใต้โครงการวิจัยของธนาคารโลก ดู http://econ.worldbank.org/programs/conflict/library/

3. เจ้าหน้าที่พรรคเคโมแครตในคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บุกเบิกการประมาณการต้นทุนการก่อสงครามกับอิรัก ดู U.S. House Budget Committee, Democratic Staff, Assessing the Cost of Military Action Against Iraq : Using Desert Shield/Desert Storm as a Basis of Estimates, September 23, 2002

4. เอกสารของ CBO ดู www.cbo.gov

5. งานวิจัยของ William D. Nordhaus เป็น Working Paper No. 9361. National Bureau of Economic Research ดู www.nber.org หรือเข้าไปดู website ของผู้เขียน www.econ.yale.ed~nordhaus/iraq.html

6. การประมาณการของ Warwick J. McKibbin and Andrew Stoeckel เป็น Working Paper ของ The Brooking Institution ดู www.brook.edu/dybdocroot/views/papers/mckibbin/20030307.htm

7. งานของ Michael O Hamlon หาอ่านได้จาก website ของ The Brooking Institution ดู www.brook.edu/views/articles/ohanlon/20030122.htm

8. การสร้างแบบจำลองเศรษฐกิจว่าด้วยสงคราม ดูอาทิ Ian Bellany, Modelling War, Journal of Peace Research, Vol. 36, No. 6 (1999), pp 729-739

9. การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคอันเกิดจากสงคราม ดูอาทิ B. Caplan, How Does War Shock the Economy, Journal of International Money and Finance, Vol. 21 (2002), pp 145-162

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ - [ 21 มี.ค. 2003 ]

 

เมื่อสงครามอิรักลากยาว
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ถึงซัดดัม ฮุสเซน ในฐานะอิสลามิกชนจะไม่บริโภคสุกร แต่ซัดดัม ฮุสเซน มิใช่ หมู ดังที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ คาดคิด

ผู้นำสายเหยี่ยวแห่งสหรัฐอเมริกา อันประกอบด้วยรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนนีย์ (Richard Cheney) รัฐมนตรีกลาโหมโดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald H. Rumsfeld) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมพอล โวลโฟวิตส์ (Paul D. Wolfowitz) ต่างพากันชี้นำสังคมอเมริกันว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถชนะสงครามอิรักได้อย่างง่ายดาย และเมื่อกองทัพอเมริกันยาตราสู่อิรัก ประชาชนอิรักจะพากันออกมาต้อนรับเหล่าทหารหาญอเมริกันในฐานะผู้ปลดแอกชาวอิรักจากการกดขี่ของซัดดัม ฮุสเซน

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้นำสายเหยี่ยวเชื่อว่า ซัดดัม ฮุสเซน เป็น หมู ที่รอคอยการถูกเชือด จอร์จ บุช จูเนียร์ ก็เชื่อเช่นนั้น

ด้วยพลานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีจนพากันกล่าวขานว่า สงครามอิรักเป็นสงครามดิจิตอล (Digital War) ผู้นำอเมริกันพากันมั่นใจว่า การเผด็จศึกอิรักจะใช้เวลาแสนสั้น โดนัลด์ รัมสเฟลด์ ถึงกับก้าวล้ำไปกำหนดแผนปฏิบัติการทางทหาร เพราะไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิบัติการที่กำหนดโดยนายพลทอมมี แฟรงส์ (Tommy R. Franks) ผู้บัญชาการการรบกับอิรัก จนก่อให้เกิดรอยร้าวระหว่างกองทัพกับกระทรวงกลาโหม เพราะรัฐมนตรีกลาโหมไม่ต้องการใช้กองทัพขนาดใหญ่ ด้วยเหตุที่เชื่อมั่นในพลานุภาพของอาวุธที่ก้าวล้ำทางเทคโนโลยีนั่นเอง ในขณะที่นายพลแฟรงส์กำหนดแผนการรบในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2533-2534 แต่แล้วเมื่อสงครามอิรักระเบิดขึ้นแล้ว กองทัพอเมริกันต้องประสบปัญหาการส่งกำลังบำรุงอย่างมาก

จอร์จ บุช จูเนียร์ พยายามวาดภาพซัดดัม ฮุสเซน เป็นอสูรที่ต้องกำจัด พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการถล่มตึก World Trade Center เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยอ้างว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้ายของ อุซามะห์ บิน ลาดิน (Osama bin Laden) จอร์จ บุช จูเนียร์ สะสมคะแนนนิยมทางการเมืองจากเหตุการณ์การถล่ม World Trade Center อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ประชาชนชาวอเมริกันที่มีสติสัมปชัญญะ รวมทั้งขบวนการสันติภาพ ต่างไม่เชื่อโฆษณาชวนเชื่อของอัปรียชนแห่งทำเนียบขาว เพราะจอร์จ บุช จูเนียร์ ไม่เคยแสดงหลักฐานและประจักษ์พยานข้อเท็จจริงอย่างกระจ่างชัดว่า ซัดดัม ฮุสเซน สัมพันธ์กับบิน ลาดิน อย่างไร และช่วยเหลือเกื้อกูลการก่อการร้ายของบิน ลาดิน อย่างไร

ในทันทีที่กองทหารอเมริกันและอังกฤษยาตราเข้ารุกรานอิรัก จอร์จ บุช จูเนียร์ และ โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็มีภาพลักษณ์เป็นอสูรสงครามในสายตาของชาวโลกที่รักสันติภาพ บุชและแบลร์มีบทบาทสำคัญในการชะล้างภาพอสูรของซัดดัม ฮุสเซน ผู้คนในมนุษยพิภพต่างประจักษ์แก่ใจมากขึ้นว่า ใครกันแน่ที่เป็นอัปรียชน

การรุกรานอิรักโดยปราศจากมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้สงครามอิรักเป็นสงครามที่ปราศจากความชอบธรรมตามบรรทัดฐานแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และบุชและแบลร์สมควรถูกนำตัวมาลงโทษในฐานที่เป็นอาชญากรสงคราม การรุกรานอิรักครั้งนี้แตกต่างจากสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2533-2534 เพราะในครั้งนั้น อิรักเป็นผู้รุกรานคูเวต และการทำสงครามอ่าวเปอร์เซียได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ

การขอความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติในการทำสงครามอิรักเป็นเส้นทางที่จอร์จ บุช จูเนียร์ เลือกในเบื้องต้น ทั้งนี้ด้วยการผลักดันจากกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน และบรรดาผู้ใกล้ชิดจอร์จ บุช จูเนียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายเจมส์ เบเกอร์ (James A. Baker, III) รัฐมนตรีต่างประเทศและนายเบรนต์ สโกว์ครอฟต์ (Brent Scowcroft) ที่ปรึกษาความมั่นคงในรัฐบาลบุช จูเนียร์ ในประการสำคัญ นายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ แห่งสหราชอาณาจักรผลักดันให้บุช จูเนียร์ เลือกเส้นทางนี้ด้วย

รัฐบาลอเมริกันพยายามซื้อเสียงจากบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การซื้อเสียงกระทำโดยนัยที่เข้าใจกันว่า สหรัฐอเมริกาจะให้เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ หากประเทศเหล่านี้ลงมติสนับสนุนการทำสงครามอิรัก แม้สมาชิกถาวรบางประเทศจะใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) แต่ถ้าญัตติการทำสงครามอิรักได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลอเมริกันย่อมโมเมได้ว่า การทำสงครามอิรักได้รับความเห็นชอบโดยพฤตินัย เพียงแต่มิได้รับความเห็นชอบโดยนิตินัยจากสหประชาชาติ เนื่องจากสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงบางประเทศใช้สิทธิยับยั้ง

แต่เป็นเพราะหลักฐานที่ว่า อิรักมีความสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลกลุ่มก่อการร้าย บิน ลาดิน นั้นค่อนข้างอ่อน มิหนำซ้ำหลักฐานที่ว่า อิรักสะสมอาวุธที่มีพลังการทำลายล้างร้ายแรง (Weapons of Mass Destruction) ก็ไม่ชัดเจน แรงสนับสนุนการทำสงครามอิรักจึงอ่อนล้า ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซียรวมตัวเป็นไตรภาคีในการทัดทานสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ประกอบกับสหรัฐอเมริกาไม่สามารถซื้อเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มากพอ ชนิดที่สามารถอ้างอิงความชอบธรรมโดยพฤตินัยได้ ทั้งหมดนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรตัดสินใจใช้อำนาจเป็นธรรมในการรุกรานอิรัก

แต่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถเผด็จศึกอิรักได้รวดเร็วตามราคาคุย ไม่มีภาพประชาชนชาวอิรักออกมายืนปรบมือให้ทหารหาญชาวอเมริกันในฐานที่ช่วยปลดออกจากแอกแห่งการกดขี่ของซัดดัม ฮุสเซน ดังที่ผู้นำอเมริกันวาดฝัน

ยิ่งสงครามอิรักลากยาวมากเพียงใด คะแนนนิยมทางการเมืองของ จอร์จ บุช จูเนียร์ จะยิ่งตกต่ำมากเพียงนั้น ผลการสำรวจของ Pew Research Center พบว่า รัฐบาลอเมริกันประสบความสำเร็จในการ ล้างสมอง ประชาชนชาวอเมริกันว่า พลานุภาพของกองทัพอเมริกันจะช่วยให้เผด็จศึกอิรักได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อสงครามดำเนินไปได้ไม่ถึงสัปดาห์ ความเชื่อมั่นของประชาชนชาวอเมริกันลดต่ำลงอย่างน่าใจหายจากระดับมากกว่า 70% เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2546 เหลือเพียงประมาณ 40% ในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม ศกเดียวกัน (The Asian Wall Street Journal, April 1, 2003)

ในอีกด้านหนึ่ง การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอเมริกันและการรับลูกของสื่อมวลชนอเมริกัน ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันเชื่อว่าจำนวนทหารอเมริกันที่ล้มตายและบาดเจ็บจะมีไม่มาก แต่เมื่อสงครามอิรักลากยาว ความเชื่อเรื่องนี้ต้องถูกสั่นคลอน หากทหารอเมริกันตายเรือนร้อยเรือนพัน ย่อมมีผลต่อมติมหาชนชาวอเมริกัน สงครามเวียดนามให้บทเรียนที่สำคัญว่า ผลแพ้ชนะของสงครามถูกกำหนดโดยมติมหาชนชาวอเมริกันนั้นเอง ประชาชนชาวอเมริกันควรจะมีสติสัมปชัญญะที่จะคิดเองได้ว่า เหตุใดลูกหลานของตนจึงต้องออกไปล้มตายในการทำสงครามนอกบ้าน เหตุใดชะตาชีวิตของทหารหาญเหล่านั้นจึงต้องถูกบงการและกำกับโดยอัปรียชนแห่งทำเนียบขาว หากผู้คนในทำเนียบขาวมีจิตวิปริตและขาดมโนธรรมสำนึก ลูกหลานชาวอเมริกันมิต้องถูกลากออกไปทำสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า มิรู้จักจบจักสิ้นหรอกหรือ ท้ายที่สุด สงครามจะนำมาซึ่งสันติภาพที่ถาวรได้อย่างไร และสงครามจะช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้จริงหรือ

ความยืดเยื้อของสงครามอิรักมิได้มีผลเฉพาะต่อเสถียรภาพของรัฐบาลบุชเท่านั้น หากยังกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐบาลอเมริกันอีกด้วย

จอร์จ บุช จูเนียร์ บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอดที่จะกล่าวถึงต้นทุนในการทำสงครามอิรัก เพราะทราบแก่ใจดีว่า การเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวนี้จะมีผลต่อมติมหาชน แม้เมื่อลอว์เรนส์ ลินด์ซีย์ (Lawrence Lindsey) ที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนแรกให้สัมภาษณ์ว่า ภาระการทำสงครามอิรักอาจสูงถึง 100,000-200,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ลินด์ซีย์ ก็ถูกผู้คนในรัฐบาลบุชรุมสกรัม เมื่อนายพลชินเซกิ (Shinseki) หัวหน้าเสนาธิการทหารให้สัมภาษณ์ว่า หากสหรัฐอเมริกาชนะสงครามอิรักแล้ว อาจต้องใช้ทหารอเมริกันจำนวน 200,000 คน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศในปีแรก นายโวลโฟวิตส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมออกมาให้สัมภาษณ์ปรามนายพลชินเซกิ

กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐบาลบุชไม่ต้องการให้ประชาชนชาวอเมริกันได้รับรู้ว่า การทำสงครามอิรักก่อให้เกิดภาระทางการคลังมากน้อยเพียงใดในประการสำคัญ ไม่ต้องการให้ประชาชนชาวอเมริกันรับทราบภาระการคลังทั้งหมดและมีแนวโน้มที่จะสร้างความเข้าใจว่า ภาระการคลังมีน้อยกว่าที่จะเกิดขึ้นจริง

ในที่สุด รัฐบาลบุชขอให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณจำนวน 74,700 ล้านดอลลาร์อเมริกัน สำหรับการทำสงครามอิรัก ในจำนวนนี้เป็นต้นทุนการปฏิบัติการทางทหารโดยตรง 62,500 ล้านดอลลาร์อเมริกัน งบประมาณดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นโดยมีข้อสมมติว่า สงครามกินเวลา 30 วัน หากสงครามยืดเยื้อมากกว่านี้ ก็ต้องของบประมาณเพิ่มเติมในประการสำคัญ หากสหรัฐอเมริกาสามารถยึดอิรักได้สมใจปรารถนา ก็ยังต้องมีรายจ่ายในการรักษาความสงบภายในประเทศ และรายจ่ายในการบูรณะและฟื้นฟูอิรัก ซึ่งรายจ่ายรายการทั้งสองนี้ ยังมิได้ขออนุมัติรัฐสภา โดยที่มีแนวโน้มที่จะผลักให้เป็นภาระขององค์การสหประชาชาติ

หากสงครามอิรักลากยาว ภาระการคลังของรัฐบาลอเมริกันในการทำสงครามย่อมทบทวี ซึ่งมีผลในการบั่นทอนระบบเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งเสื่อมโทรมอยู่แล้ว

หมายเหต
1. สงครามอิรักในฐานะสงครามดิจิตอล โปรดอ่านรายงานเรื่อง The Doctrine of Digital War, Business Week (April 7, 2003)

2. ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงกลาโหมกับผู้นำกองทัพอเมริกัน ในการกำหนดแผนปฏิบัติการรบ โปรดอ่าน Peter Spiegel, From Vietnam to Iraq, Financial Times (March 24, 2003)

3. ความขัดแย้งในหมู่ผู้นำอเมริกันในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอิรัก โปรดอ่านรายงานของ Glenn Kessler and Walter Pincus, Wars Course Reopens Divisions Among U.S. Policy Makers, The Asian Wall Street Journal (April 1, 2003)

4. รัฐบาลบุชของบประมาณการทำสงครามอิรัก โปรดอ่านรายงานของ Steve Schifferes, U.S. Congress Gets Bill for War, BBC News (March 24, 2003) ดู www.bbc.co.uk

5. บทวิเคราะห์ภาระการคลังของรัฐบาลอเมริกันในการทำสงครามอิรัก โปรดอ่าน Anne C. Richard, The Cost of War in Iraq : A Checklist, The Globalist (March 24, 2003) ดู www.theglobalist.com

 

ปีเตอร์ อาร์เน็ต เหยื่อสงครามอิรัก
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2546 ปีเตอร์ อาร์เน็ต (Peter Arnett) ออกรายการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์อิรัก เนื้อหาของบทสัมภาษณ์มีสาระสำคัญ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการวิพากษ์แผนการรบแผนแรกของกองทัพอเมริกันว่าประสบความล้มเหลว ส่วนที่สองกล่าวถึงประชาชนชาวอิรักที่ต้องล้มตายเพราะขีปนาวุธของกองทัพอเมริกัน ในขณะที่กระทรวงกลาโหมอเมริกันอ้างว่า รัฐบาลอิรักยิงขีปนาวุธใส่ประชาชนของตนเอง เพื่อให้ปรากฏเป็นข่าวทั่วโลก

ปีเตอร์ อาร์เน็ต ยังให้ความเห็นด้วยว่า ประชาชนชาวอิรักในนครแบกแดดมีวินัยสูงยิ่ง และสงครามอิรักปลุกสำนึกชาตินิยมและสร้างความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกองทัพผู้รุกราน อาร์เน็ตเชื่อว่า รายงานข่าวจากนครแบกแดดจะช่วยเกื้อหนุนขบวนการสันติภาพที่ต่อต้านการทำสงครามรุกรานอิรัก

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2546 เครือข่ายโทรทัศน์ NBC แห่งสหรัฐอเมริกาไล่ ปีเตอร์ อาร์เน็ต ออกจากงาน อาร์เน็ตรายงานข่าวจากอิรักให้ NBC และ National Geographic Explorer ของ MSNBC

เมื่อรายการให้สัมภาษณ์ของปีเตอร์ อาร์เน็ต แพร่ภาพไปทั่วโลก ในชั้นแรก NBC ปกป้องอาร์เน็ต โดยอ้างเหตุผลว่า อาร์เน็ตให้สัมภาษณ์ตามมารยาท และเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ก็เป็นบทวิเคราะห์สงครามอิรัก แต่แล้วในเช้าวันจันทร์ นายนีล ชาปิโร (Neal Shapiro) ประธานเครือข่ายโทรทัศน์ NBC บอกกล่าวกับอาร์เน็ตว่า NBC ไม่ต้องการอาร์เน็ตอีกต่อไป NBC ออกแถลงการณ์ว่า การที่อาร์เน็ตให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ที่ควบคุมโดยรัฐบาลอิรัก ในขณะที่กำลังมีสงครามเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

รายงานข่าวหลายกระแสอ้างว่า ผู้นำรัฐบาลอเมริกันและผู้นำพรรครีพับลิกันมีส่วนกดดันให้ NBC ไล่อาร์เน็ตออกจากงาน อัลฟอนเซ ดามาโต (Alfonse D' Amato) อดีตวุฒิสมาชิกจากมลรัฐนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์ว่า บทสัมภาษณ์ของอาร์เน็ตเป็นประโยชน์แก่ศัตรูของสหรัฐอเมริกา ความเห็นทำนองนี้ปรากฏโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยเหตุนี้เอง จึงมิใช่เรื่องยากแก่การเข้าใจว่า เหตุใด NBC ซึ่งปกป้องอาร์เน็ตในเบื้องต้น กลับต้องไล่อาร์เน็ตออกในบั้นปลาย

ในวงการสื่อมวลชนอเมริกัน ปีเตอร์ อาร์เน็ต มีทั้งมิตรและศัตรู ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ไม่รั้งรอในการบดขยี้อาร์เน็ต โดยการกล่าวหาว่า อาร์เน็ตไม่รักชาติ (อเมริกัน) ทรยศต่อชาติ (อเมริกัน) และเอาใจช่วยศัตรู (อเมริกัน) เบรนต์ โบเซลที่สาม (L. Brent Bozell III) กล่าวหาอาร์เน็ตว่าเป็น Cretinous Liar โมนา ชาเรน (Mona Charen) ตั้งคำถามว่า ปีเตอร์ อาร์เน็ต เป็นคนของใครในแบกแดด เป็นคนของสหรัฐอเมริกาหรือคนของอิรัก จอห์น พอดธอเร็ตส์ (John Podhoretz) ตั้งคำถามว่า ปีเตอร์ อาร์เน็ต ทรยศต่อชาติ (อเมริกัน) หรือไม่ และให้คำตอบว่าใช่

ฝ่ายที่เป็นกลางมองปีเตอร์ อาร์เน็ต ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทอม โรเซนสทีล (Tom Rosenstiel) ผู้อำนวยการ Project for Excellence In Journalism ให้ความเห็นว่า การรายงานข่าวของอาร์เน็ตเป็นเป้าแห่งการถูกโจมตีมาโดยตลอด แต่การให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์อิรักครั้งนี้ สร้างความเสียหายแก่ตัวอาร์เน็ตเอง เพราะอาร์เน็ตไม่สามารถแยกแยะบทบาทระหว่างนักข่าวกับตัวละครทางการเมือง การให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์อิรักทำให้อาร์เน็ตก้าวข้ามพรมแดนของนักข่าวไปเป็นตัวละครทางการเมืองเสียเอง

วอลเตอร์ ครองไคต (Walter Cronkite) ผู้อ่านข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์ CBS ระหว่างปี 2505-2524 เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ The New York Times (April 2, 2003) ว่า Peter Arnett Should Have Known Better ในฐานะนักข่าวอาวุโส ผู้ทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างโชกโชน ปีเตอร์ อาร์เน็ต ควรจะรู้ดีว่า การให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ศัตรูในภาวะสงคราม อาจทำให้อาร์เน็ตเข้าข่ายทรยศต่อชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา เพราะบทสัมภาษณ์ของอาร์เน็ตเป็นการให้ aid and comfort แก่ข้าศึก (อิรัก) อาร์เน็ตอาจยอมให้สัมภาษณ์เพียงเพราะต้องการแหล่งข่าวจากฝ่ายอิรัก ซึ่งนักข่าวโดยทั่วไปไม่มี ตราบเท่าที่อาร์เน็ตเอาใจผู้นำอิรัก อาร์เน็ตสามารถถ่ายทอดข่าวจากนครแบกแดดไปสู่สหรัฐอเมริกาและแดนดินอื่นได้ อาร์เน็ตจึงให้ประโยชน์แก่ผู้นำอิรัก วอลเตอร์ ครองไคต กล่าวสรุปท้ายบทความว่า การที่ NBC ปลดอาร์เน็ตออกจากงาน มิได้สร้างความสูญเสียแก่ตัวอาร์เน็ตเท่านั้น หากยังสร้างความสูญเสียแก่สังคมอเมริกันอีกด้วย เพราะทำให้ขาดเหยี่ยวข่าวที่จะช่วยเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับอิรัก

ฝ่ายที่เห็นใจปีเตอร์ อาร์เน็ต ชี้ให้เห็นว่า บทสัมภาษณ์อาร์เน็ตมิได้ออกนอกลู่นอกทาง และสร้างผลร้ายแก่สหรัฐอเมริกา

ประการแรก ความเห็นที่ว่า มีความผิดพลาดของแผนการรบของกองทัพอเมริกัน จนต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการรบในเวลาต่อมา สอดคล้องกับความเห็นที่ปรากฏโดยทั่วไป รวมทั้งสื่อมวลชนที่ติดตามกองทัพอเมริกันในประเทศกาตาร์

ประการที่สอง ความเห็นที่ว่า กองทัพอเมริกันประเมินพลังการต่อสู้และความมุ่งมั่นของกองทัพอิรักต่ำกว่าความเป็นจริง สอดคล้องกับความเห็นของผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก อีกทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งอเมริกันและอังกฤษจำนวนไม่น้อย ก็มีความเห็นเช่นนี้

ประการที่สาม ความเห็นที่ว่า ภาพการล้มตายและการบาดเจ็บของพลเรือนชาวอิรักเป็นประโยชน์ต่อขบวนการสันติภาพที่ต่อต้านสงครามก็ตรงต่อข้อเท็จจริง

ปีเตอร์ อาร์เน็ต เป็นชาวนิวซีแลนด์ สำเร็จการศึกษาจาก Waitaki College และประกอบอาชีพนักข่าวทั้งในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และไทย ในปี 2505 อาร์เน็ตเป็นผู้สื่อข่าวของ Associated Press (AP) และตระเวนรายงานข่าวในเวียดนาม นับแต่ปี 2505 จนถึงปี 2518 เมื่อนครไซ่ง่อนแตก นับเป็นการใช้ชีวิตในเวียดนามยาวนานกว่านักข่าวคนใด คุณภาพของข่าวที่รายงานทำให้อาร์เน็ตได้รับรางวัล Pulitzer Prize for International Reporting

นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลที่สำคัญอีก 3 รางวัล อันได้แก่

* Society of Professional Journalists Award
* Overseas Press Club Award
* George Polk Memorial Award

ในปี 2524 อาร์เน็ตย้ายจาก AP ไปอยู่ CNN มีโอกาสรายงานข่าววิกฤติการณ์ทางการเมืองในซัลวาดอร์ ภาวะทุพภิกขภัยในเอธิโอเปีย และกลับไปประเมินสถานการณ์ในเวียดนามภายหลังการปลดแอก 10 ปี

ในระหว่างปี 2529-2531 อาร์เน็ตทำงานเป็นหัวหน้าสำนักข่าว CNN ในนครมอสโคว หลังจากนั้นย้ายกลับไปนครวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนที่จะไปปักหลักอยู่นครเยรูซาเล็ม เมื่อต้นปี 2533 อันเป็นเหตุให้มีโอกาสรายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 อาร์เน็ตยืนหยัดรายงานข่าวในนครแบกแดด ในขณะที่ผู้สื่อข่าวอื่นๆ ถอนตัวกลับบ้าน ในฐานะผู้สื่อข่าวตะวันตกคนเดียวในนครแบกแดด อาร์เน็ตสร้างชื่อเสียงให้แก่ CNN ผู้ที่ติดตามความเป็นไปในสงครามอ่าวเปอร์เซียล้วนต้องดูข่าว CNN ด้วยเหตุดังนี้ จำนวนผู้ชมข่าว CNN จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันมีผลต่อ Rating และรายได้จากการโฆษณา อาร์เน็ตจึงมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ เท็ด เทอร์เนอร์ (Ted Turner) ผู้ถือหุ้นใหญ่ CNN อย่างสำคัญ

ผู้ชมข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2534 ทาง CNN จำนวนไม่น้อยอดรู้สึกมิได้ว่า อาร์เน็ตเข้าข้างซัดดัม ฮุสเซน กระทรวงกลาโหมอเมริกันไม่ชอบอาร์เน็ต สมาชิกรัฐสภาอเมริกันบางคนก็ไม่ชอบอาร์เน็ต ถึงกับกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ (อเมริกัน) เวลานั้นอาร์เน็ตเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกันแล้ว อาร์เน็ตรายงานข่าวว่า กองทหารอเมริกันทิ้งระเบิดโรงงานผลิตนมสำหรับเด็กในอิรัก แต่ฝ่ายกองทัพอ้างว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตอาวุธชีวภาพ หาใช่โรงงานผลิตนมไม่

ในปี 2542 CNN ไม่ต่อสัญญาการจ้างปีเตอร์ อาร์เน็ต ทั้งนี้ด้วยแรงกดดันจากกระทรวงกลาโหมอเมริกัน อันเป็นผลจากการแพร่ภาพรายการสารคดี Valley of Death ทางเครือข่าย CNN เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2541 สารคดีเรื่องนี้รายงานปฏิบัติการทางทหาร Operation Tailwind ซึ่งส่งกองทหารอเมริกันเข้าไปไล่ล่าทหารอเมริกันที่หนีทัพในประเทศลาวเดือนกันยายน 2513 รายการนี้เป็นผลผลิตร่วมระหว่าง CNN กับนิตยสาร Time เอพริล โอลิเวอร์ (April Oliver) และแจ็ก สมิธ (Jack Smith) เป็นผู้ผลิตรายการ ปีเตอร์ อาร์เน็ต เป็นผู้รายงานข่าว

Valley of Death สัมภาษณ์นายทหารที่ร่วมปฏิบัติการ Operation Tailwind รวมทั้งนายพลเรือโธมัส มัวเรอร์ (Thomas Moorer) ประธานเสนาธิการทหารในขณะนั้น แต่เป็นเพราะ Valley of Death รายงานว่า กองทหารอเมริกันใช้แก๊สพิษ Sarin ในการทำลายหมู่บ้านในลาว จึงได้รับการประท้วงจากกระทรวงกลาโหมอเมริกัน ผู้นำฝ่ายทหาร นายพลโคลิน พาวเวลล์ และนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ ด้วยแรงกดดันทางการเมือง CNN ไล่ผู้ผลิตรายการออกจากงาน และตำหนิปีเตอร์ อาร์เน็ต แต่แรงกดดันให้ CNN ไล่อาร์เน็ตยังคงมีต่อมา จนท้ายที่สุด CNN ไม่ต่อสัญญาการจ้างอาร์เน็ตในปี 2542 โดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างกระจ่างชัดว่า เนื้อหาของ Valley of Death ผิดข้อเท็จจริงตรงไหน

กระทรวงกลาโหมและผู้นำทหารอเมริกันเป็นไม้เบื่อไม่เมากับปีเตอร์ อาร์เน็ต ตั้งแต่การรายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2534

ประสบความสำเร็จในการบีบ CNN มิให้ต่อสัญญาการจ้างอาร์เน็ตในปี 2542 และท้ายที่สุดประสบความสำเร็จในการบีบ NBC ให้ไล่อาร์เน็ตออกจากงานในปี 2546 General Electric เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน NBC และเป็นผู้ขายยุทธปัจจัยรายใหญ่ที่สองให้แก่กระทรวงกลาโหมอเมริกัน

ปีเตอร์ อาร์เน็ต นอกจากจะเป็นเหยื่อสงครามอิรักแล้ว ยังเป็นเหยื่อสงครามแย่งชิงอันดับยอดนิยมของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ในทันทีที่อาร์เน็ตให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์อิรัก ทั้ง CNN และ Fox Tv พร้อมใจกันออกข่าวขย่มปีเตอร์ อาร์เน็ต

หมายเหตุ
1. บทสัมภาษณ์ปีเตอร์ อาร์เน็ต ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลอิรัก โปรดอ่าน Transcript of Peter Arnett Interview on Iraqi TV, cnn.com (March 30, 2003)

2. รายงานข่าวเครือข่ายโทรทัศน์ NBC ไล่ปีเตอร์ อาร์เน็ต ออกจากงาน ดูอาทิ US Network Sacks Top Journalist, BBC News (April 1, 2003)

3. ความเห็นของนักหนังสือพิมพ์ที่ประณามปีเตอร์ อาร์เน็ต โปรดอ่าน
L. Brent Bozell III, Peter Arnett, Cretinous Liar, Media Research Center (April 2, 2003)
Mona Charen, Peter Arnett : Whose Man in Baghdad? townhall.com (April 1, 2003)
John Podhoretz, Is Peter Arnett Guilty of Treason?, The New York Post (April 3, 2003)

4. บทสัมภาษณ์ Tom Rosenstiel โปรดอ่าน Howard Kurtz, Peter Arnett, Back in the Minefield The Washington Post (March 31, 2003)

5. ความเห็นของนักหนังสือพิมพ์ที่เห็นใจปีเตอร์ อาร์เน็ต โปรดอ่าน Robert Jensen, Arnett Paid a Price for Being Truly Neutral, Common Dreams News Center (April 2, 2003)

6. ข้อมูลรายการสารคดี Valley of Death และการกดดันให้ CNN ไล่ปีเตอร์ อาร์เน็ต ปี 2542 โปรดอ่าน Barry Grey, Pentagon Pressure Behind CNN Firing of Peter Arnett, World Socialist Web Site (April 22, 1999)

7. ปีเตอร์ อาร์เน็ต เป็นเหยื่อของสงครามแย่งชิง Rating ของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์อเมริกัน โปรดอ่าน Patrick Martin, The Firing of Peter Arnett : Right-wing Straitjacket Tightens on the US Media, World Socialist Web Site (April 1, 2003)
Jonathan Turley, Casualty of a Ratings War, Los Angeles Times (April 1, 2003)

จากผู้จัดการ : วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2546

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2546
Weapons of Mass Destruction
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

Weapons of Mass Destruction แปลว่า อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรง เรียกย่อๆ ว่า WMD สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่า อิรักมี WMD และเรียกร้องให้ส่งมอบแก่คณะผู้แทนองค์การสหประชาชาติ แม้อิรักจะเพียรพยายามชี้แจงว่า หาได้มี WMD ไม่ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็ไม่ฟัง และถือเหตุนี้ในการยาตราทัพรุกรานอิรัก

คำว่า Weapons of Mass Destruction ถือกำเนิดในปี 2480 เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิด Luftwaffe ของกองทัพนาซีเยอรมันบินถล่มเมืองต่างๆ ดังเช่นเมือง Guernica ในสงครามกลางเมืองสเปน ผลปรากฏว่า เมืองเหล่านี้ราบเป็นหน้ากลอง หนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษพากันเรียกเครื่องบินทิ้งระเบิดว่า Weapons of Mass Destruction

WMD มิได้มีความหมายคงตัว ในยุคสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง WMD ถูกใช้ให้หมายถึงระเบิดนิวเคลียร์โดยเฉพาะ เพราะระเบิดนิวเคลียร์มีผลทำลายล้างรุนแรง ต่อมา WMD มีความหมายครอบคลุม NBC โดยที่ NBC หมายถึง อาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear) อาวุธชีวภาพ (Biological) และอาวุธเคมี (Chemical)

ในระบบกฎหมายอเมริกัน WMD หมายถึง อาวุธที่ก่อให้เกิดความตายหรือการบาดเจ็บที่ร้ายแรงแก่บุคคลจำนวนมาก โดยใช้เคมีเชื้อโรคและกัมมันตภาพรังสี

กระนั้นก็ตาม WMD ยังมิได้มีความหมายที่ลงตัว มีผู้โต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของ WMD เป็นครั้งคราว อาทิ FBI เสนอคำนิยามในความหมายอย่างกว้างว่า แม้แต่ระเบิดธรรมดาที่มีมาแต่ดั้งเดิม ก็ต้องถือเป็น WMD เพราะมีผลทำลายล้างรุนแรงได้ ในทำนองเดียวกัน กุสตาโว เบล เจมุส (Gustavo Bell Lemus) รองประธานาธิบดีโคลัมเบีย ปราศรัยต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่า ปืนกระบอกเล็กอาจถือเป็น WMD ได้ เพราะในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ จำนวนผู้คนที่ล้มตายด้วยปืนกระบอกเล็กๆ มีมากกว่าที่ล้มตายด้วยระเบิดปรมาณูที่นครฮิโรชิมาและนางาซากิเสียอีก

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธบางคนเสนอให้เลือกใช้ WMD ในความหมายอย่างแคบมากกว่าความหมายอย่างกว้าง เพราะถ้าเลือกใช้นิยามอย่างกว้าง อะไรๆ ก็เป็น WMD นิยามของ WMD ย่อมสิ้นมนต์ขลัง

อาวุธโดยทั่วไปมักก่อผลโดยเฉพาะเจาะจง แต่อาวุธดังเช่นนิวเคลียร์ ในยามระเบิด แผ่กัมมันตรังสีในวงกว้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธบางคนเสนอให้ใช้ศัพท์ Weapons of Indiscriminate Destruction บ้าง และ Weapons of Catastrophic Effect บ้าง

สหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวโจกของประเทศมหาอำนาจ ไม่ต้องการให้นานาประเทศผลิตและสะสม WMD ในขณะที่สหรัฐอเมริกาผลิตและสะสม WMD ได้ ระเบียบโลกเช่นนี้จะถือว่าต้องตามหลักความเป็นธรรมและหลักความเสมอภาคมิได้ สหรัฐอเมริกายึดข้อสมมติว่า หากสหรัฐอเมริกาผลิตและสะสม WMD มนุษยพิภพจะมีความมั่นคงและอุดมศานติสุข แต่ถ้าประเทศอื่นผลิตและสะสม WMD โลกจะปราศจากเสถียรภาพ หากประเทศที่ผลิตและสะสม WMD มีผู้นำทรราช กระหายสงคราม หรือจิตวิปลาส มนุษยพิภพย่อมหาศานติสุขมิได้ ในประการสำคัญ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุดังนี้ สหรัฐอเมริกาจึงต้องดูแลมิให้นานาประเทศผลิตและสะสม WMD เพราะการผลิตและสะสม WMD ของประเทศเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

แต่ศานติสุขของมนุษยพิภพมิได้ยั่งยืนสถาพร เพียงด้วยการให้เอกสิทธิ์แก่สหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจผลิตและสะสม WMD เพราะเมื่ออัปปรียชนยึดครองทำเนียบขาวได้ หรือเมื่อผู้ที่มีจิตวิปลาสยึดครองทำเนียบขาวได้ ย่อมสามารถใช้ WMD ในความครอบครองในการทำลายศานติสุขของมนุษยพิภพ

ประเทศมหาอำนาจพยายามจัดระเบียบโลกว่าด้วย WMD ในทางที่ประเทศมหาอำนาจมีเอกสิทธิ์ในการผลิตและสะสม WMD โดยที่ประเทศอื่นถูกลิดรอนสิทธิดังกล่าวนี้ ในขณะเดียวกัน ก็มีการจัดทำข้อตกลงในหมู่ประเทศมหาอำนาจในการจำกัดการผลิตและสะสม WMD โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่สำคัญ

ทั้งๆ ที่มีความเกรงกลัวภัยที่เกิดจาก WMD แต่ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกายังคงทุ่มทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิต WMD ต่อไป

ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงในการจำกัดการผลิตและสะสม WMD แต่ประเทศมหาอำนาจเกือบทั้งหมดล้วนละเมิดข้อตกลง ด้วยการผลิตและสะสม WMD เกินกว่าข้อตกลง

ภายใต้ระเบียบโลกว่าด้วย WMD ในปัจจุบัน มนุษยพิภพมิได้มีหลักประกันเรื่องเสถียรภาพและศานติสุข เพราะประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา สามารถใช้ WMD และพลานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าในการรุกรานประเทศอื่นได้ ระเบียบโลกดังกล่าวนี้ทำให้ตลาดอาวุธ WMD เป็นตลาดที่มีประเทศผู้ผลิตน้อยราย หรือที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Oligopoly

การกำหนดเอกสิทธิ์ของประเทศมหาอำนาจในการผลิตและสะสม WMD และลิดรอนสิทธิของประเทศอื่นในเรื่องนี้ ย่อมยังผลให้ WMD Oligopoly หรือ Nuclear Oligopoly คงอยู่ตลอดไป นั่นหมายความว่า จะไม่มีประเทศมหาอำนาจใหม่ไต่บันไดดาราขึ้นไปแทนที่ประเทศมหาอำนาจเก่าได้

มนุษยพิภพจะมีศานติสุขที่ยั่งยืนสถาพรได้ ก็ต่อเมื่อโลกเป็นเขตปลอด WMD จะต้องไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดผลิตและสะสม WMD ประเทศที่ผลิตและสะสม WMD จะต้องถูกลงโทษโดยองค์กรโลกบาล เงื่อนไขอันจำกัดอีกประการหนึ่งสำหรับการนี้ ก็คือ จะต้องไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิต WMD โลกที่ปลอด WMD และไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิต WMD ย่อมมีศานติสุขที่ยั่งยืนสถาพร ความข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า First-Best Solution

แต่มนุษยพิภพจะบรรลุ First-Best Solution ได้อย่างไร ในเมื่อสหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจอื่นต้องการผลิตและสะสม WMD ใครจะเข้าไปตรวจสอบและยึด WMD จากสหรัฐอเมริกา ใครจะลงโทษสหรัฐอเมริกาเมื่อสหรัฐอเมริกายังคงพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิต WMD องค์กรโลกบาลไหนจะควบคุม กำกับ และตรวจสอบสหรัฐอเมริกา ในเมื่อองค์กรโลกบาลที่มีอยู่เป็น โลกบาล ประเทศอื่นที่มิใช่สหรัฐอเมริกา

เมื่อสิ้นหนทางในการบรรลุ First-Best Solution ก็ต้องหันไปแสวงหา Second-Best Solution หนทางหนึ่งก็คือ การเลิกกำกับและควบคุมการผลิต WMD ปล่อยให้นานาประเทศมีเสรีภาพในการผลิตและสะสม WMD อันเป็นการทำลาย WMD Oligopoly หรือ Nuclear Oligopoly โครงสร้างประเทศมหาอำนาจย่อมแปรเปลี่ยนไป เพราะจะมีประเทศมหาอำนาจใหม่เข้าไปแทนที่ประเทศมหาอำนาจเก่า ดุลอำนาจในสังคมการเมืองโลก จะมิใช่ดุลแห่งอาวุธ WMD อีกต่อไป หากจะแปรเปลี่ยนเป็นดุลแห่งความสะพรึงกลัว (Balance of Terror) ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ดังกล่าวนี้ ทุกประเทศล้วนมี WMD ในความครอบครอง หากประเทศหนึ่งประเทศใดจะตัดสินใจใช้ WMD ก็ต้องยับยั้งชั่งใจว่า ประเทศอื่นจะใช้ WMD ตอบโต้ตนหรือไม่

แต่การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกด้วยการยึดปรัชญาเสรีนิยมในการจัดระเบียบ WMD มีปัญหาดุจเดียวกับ First-Best Solution ในข้อที่ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาไม่ยินยอม แต่ถ้าสหรัฐอเมริกาปฏิบัติตนเป็นพาลชน ใช้ WMD ในการรุกรานประเทศอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นานาประเทศอาจเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบโลกว่าด้วย WMD เสียใหม่

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นหัวโจกในการกล่าวหาว่า อิรักมี WMD ในความครอบครอง และเตะถ่วงการมอบแก่คณะผู้แทนสหประชาชาติ ประเทศมหาอำนาจทั้งสองใช้อำนาจเป็นธรรมในการรุกรานอิรัก จนท้ายที่สุดยึดครองอิรักได้

นานาประเทศพากันตกตะลึงในลักษณะ Shock and Awe ถึงสองครั้งสองคราในสงครามอิรักครั้งนี้

อาการตะลึงพรึงเพริดครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้น เมื่อทหารอิรักไม่มี WMD ต่อสู้กับทหารอเมริกันและอังกฤษ มีแต่ทหารอเมริกันและอังกฤษที่ใช้ WMD ถล่มอิรัก ไม่เพียงแต่ทหารอิรักเท่านั้นที่ล้มตาย พลเรือนอิรักจำนวนมากก็ล้มตายด้วย ไม่เว้นแม้แต่ทารก เด็ก และคนชรา ตึกรามบ้านช่องราบเป็นหน้ากลอง ในประการสำคัญ แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียถูกทำลายจนพังพินาศ

อาการตะลึงพรึงเพริดครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อทหารอเมริกันและอังกฤษยึดอิรักนานนับสัปดาห์ แต่ยังค้นไม่พบแหล่งเก็บซ่อน WMD ของอิรัก คนไทยจำนวนมากพากันฉงนฉงายว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร จึงเชื่องช้าในการเรียนรู้เทคโนโลยี ยัดยาบ้า

หากจอร์จ บุช จูเนียร์ ยังไม่สามารถ ผลิต หลักฐานการครอบครอง WMD ของอิรัก บิดามารดาของทหารอเมริกันที่ล้มตายในสงครามอิรักควรยื่นฟ้องประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและสมุนในข้อหาการอ้างเหตุผลเท็จในการรุกรานอิรัก จนเป็นเหตุให้ทหารอเมริกันต้องล้มตายโดยไม่จำเป็น

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

รวมบทความ 2 เรื่อง ของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เกี่ยวกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ กรณีสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัค

ในทันทีที่แผนเศรษฐกิจของรัฐบาลบุชปรากฏสู่สาธารณชน นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเสรีนิยมจำนวน 400 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกวิพากษ์แผนเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ ในจำนวนผู้ลงนามนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 10 คน อันประกอบด้วย พอล แซมมวลสัน (Paul Samuelson) เค็นเน็ธ แอร์โรว์ (Kenneth Arrow) โรเบิร์ต โซโลว์ (Robert Solow) ฟรังโก โมดิเกลียนิ (Franco Modigliani) ลอร์เรนส์ ไคลน (Lawrence Klein) ดักลาส นอร์ธ (Douglass North) ดาเนียล แม็กแฟดเดน (Daniel McFadden) โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) ยอร์จ อะเกอร์ล็อฟ (George Akerlof) และวิลเลียม ชาร์ป (William Sharpe) องค์กรผลิตความคิด (Think Tank) ฝ่ายเสรีนิยมชื่อ Economic Policy Institute เป็นผู้ดำเนินการให้มีจดหมายเปิดผนึก และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546

สังคมเศรษฐกิจอเมริกันในภาวะโกลาหล
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

เมื่อ จอร์จ บุช จูเนียร์ ต้องการเป็น ฮิตเลอร์แห่งทำเนียบขาว ความไร้ศานติสุขย่อมบังเกิดแก่มนุษยพิภพ สภาวะไร้ศานติสุขเมื่อเกิดขึ้นในมนุษยพิภพแล้ว ย่อมกระทบต่อสังคมอเมริกันอย่างชนิดมิอาจหลีกเลี่ยงได้ด้วย

สภาวะความไม่แน่นอนแห่งสงครามกำลังก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนนายอลัน กรีนสแปน ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาแสดงความปริวิตก สภาวะความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าตัดสินใจในการลงทุน และประชาชนชาวอเมริกันกระเหม็ดกระแหม่เพื่อเตรียมรับภาวะสงคราม การขาดความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้มีผลซ้ำเติมภาวะถดถอยของสังคมเศรษฐกิจอเมริกัน

ภายหลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกสลายในปี 2543 ระบบเศรษฐกิจอเมริกันต้องประสบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ในปี 2544 ระบบเศรษฐกิจอเมริกันเติบโตในอัตรา 0.3% แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นจนอยู่ในระดับ 2.4% ในปี 2545 แต่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2545 ส่งสัญญาณในทางลบ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับเพียง 0.7% ต่อปี โดยที่รายจ่ายในการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นเพียง 1% ในสังคมเศรษฐกิจที่รายจ่ายในการบริโภคของประชาชนมีน้ำหนักถึงสองในสามของรายจ่ายมวลรวมในระบบเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนชะลอการใช้จ่าย ย่อมสร้างพลวัตไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ