ในทศวรรษที่ 1990 แนวความคิดของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยการให้ความสนใจกับความหลากหลายของหญิงมากขึ้น (diversity among women) ที่ผ่านมาแนวความคิดนิติสตรีศาสตร์แบบเสรีนิยม สายสุดขั้ว และสายวัฒนธรรม พิจารณาหญิงในฐานะที่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างที่มีอยู่ท่ามกลางผู้หญิงด้วยกันเอง ประเด็นหลักของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ในระยะนี้คือ การมองถึงความแตกต่างที่มีอยู่ภายในกลุ่มผู้หญิงด้วยกันเอง
ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการวิพากษ์ของกลุ่มผู้หญิงผิวสี และพวกหญิงรักร่วมเพศ (lesbians) อันเป็นกลุ่มที่ถูกกีดกันออกไปจากสตรีนิยมกระแสหลักภายใต้การอธิบายถึงเพศหญิงในภาพทั่วไป นักสตรีนิยมพบว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากในการเข้าถึงความเสมอภาคสำหรับผู้หญิงที่ไม่ใช่ผิวขาว ชนชั้นกลาง สตรีนิยมในทศวรรษ 1990 จึงได้วิพากษ์กลุ่มสตรีนิยมที่พยายามวาดภาพลักษณะทั่วไปอันเป็นสาระสำคัญของเพศหญิง
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 260 เดือนเมษายน 2546 หัวเรื่อง "นิติปรัชญา แนวอิตถีศาสตร์"
โดย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล, สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่ครั้งแรก บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 21 เมษายน 2546
นิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์
(Feminist Jurisprudence/Feminist Legal Theory)
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)
1.
ประวัติและความเป็นมา
การเคลื่อนไหวของความคิดนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ ปรากฏขึ้นเป็นกระแสความคิดสำคัญนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ
1970 ในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นแนวความคิดที่โต้ตอบกับกระแสความคิดทางกฎหมายที่เป็นผลิตผลจากอุดมการณ์ของเพศชาย
ซึ่งมีผลในการกีดกันเพศหญิงออกจากการมีส่วนร่วมในงานทางด้านกฎหมาย (legal affair)
และสถาปนาความเหนือกว่าของเพศชายขึ้นทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
การเติบโตของแนวความคิดนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในการประชุมของกลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์ (Critical Legal Studies: CLS) เมื่อ ค.ศ. 1983 ซึ่งได้รวมการถกเถียงถึงพื้นฐานความคิดของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม(1)
แนวความคิดนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์เป็นการเปิดมุมมองการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับกฎหมายผ่านสายตาทางด้านเพศ (gender) และได้มีผลให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางทั้งในวารสารทางวิชาการ การประชุมสัมมนาและงานทฤษฎีทางนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ จนก่อเป็นกลุ่มความคิดทางกฎหมายรูปแบบหนึ่ง ภายใต้ชื่อ Feminist Jurisprudence หรือ Feminist Legal Theory
การศึกษากฎหมายในต่างประเทศหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่อแนวความคิดนี้เป็นอย่างมาก โรงเรียนชั้นนำทางกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกระบวนวิชาทางด้านนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์เปิดเป็นวิชาให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ มหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยโตรอนโตในแคนาดาและมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ก็ระบุว่าเป็นสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ (field of specialization)(2)
2. แนวความคิดพื้นฐานของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์
นิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์เป็นความคิดของทฤษฎีกฎหมายสำนักหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดเรื่องสตรีนิยม
(feminism) แม้ว่าคำจำกัดความของสตรีนิยมจะมีอยู่หลากหลายแต่สามารถพบความหมายที่ร่วมกันได้
คือเป็นแนวคิดหรือกรอบการมองที่พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมผ่านมุมมองทางเพศ
โดยเห็นว่าท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงนั้น หญิงจะตกอยู่ในฐานะถูกเอารัดเอาเปรียบ
ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายและไม่เป็นธรรมทั้งในทางสังคมและชีวิตส่วนตัว และไม่เพียงวิเคราะห์ถึงความเป็นรองของหญิงเท่านั้น
สตรีนิยมยังเป็นการเสนอระบบคุณค่า วิถีชีวิตและคำอธิบายที่มีพื้นฐานทางปรัชญาแตกต่างไปจากความคิดที่ดำรงอยู่ในสังคม(3)
สำหรับนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์จึงมองว่า ความก้าวหน้าของสังคมโดยรวมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางกฎหมาย และการปฏิบัติที่อยู่ภายใต้การครอบงำของสังคมแบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (patriarchal form of society) ภายในสังคมแบบปิตาธิปไตย โครงสร้างและสถาบันทางสังคมจะถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ผลลัพธ์ที่เหมือกันก็คือการกดขี่เอารัดเอาเปรียบเพศหญิง
แนวความคิดของกลุ่มนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์จะทำการวิเคราะห์และต่อต้านกับปรัชญาทางกฎหมายซึ่งตอบสนองเฉพาะผลประโยชน์ของเพศชาย ซึ่งมักเป็นที่เข้าใจและถูกตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งโดยนักกฎหมายและบุคคลทั่วไปว่า ลักษณะความเป็นใหญ่ของเพศชายที่ปรากฏขึ้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่สำหรับนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์แล้วการครอบงำทางกฎหมายเป็นผลมาจากเพศที่มีอำนาจมากกว่าในทางสังคม
เพราะฉะนั้น โดยพื้นฐานสำหรับนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์แล้ว กฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงไม่มีความเป็นกลางดังที่มักจะเป็นที่เข้าใจกัน หากทำการวิเคราะห์เข้าไปก็จะพบถึงอคติทางเพศที่ดำรงอยู่ในระบบ
ในทรรศนะของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ สังคมปิตาธิปไตยเป็นเงื่อนไขของการสร้างหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เพศชายมีสถานะสูงกว่า และรวมถึงการสร้างระบบกฎหมายขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนี้ กฎหมายในสังคมปิตาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ที่มีอำนาจและเป็นเครื่องมือในการดำรงความชอบธรรมไว้ภายใต้คำว่า "ความเป็นธรรมชาติ"(nature) จารีตประเพณี (tradition) หรือความเป็นจริงแบบภาวะวิสัย (objective reality)
กฎหมายและสถาบันทางกฎหมายในสังคมปิตาธิปไตยจะชักจูงให้ประชาชนยอมรับสถานะที่เป็นอยู่ของเพศว่าเป็นสิ่งที่เป็นธรรม หรือในภาษาของ Catherine Mackinnon ว่า "the dominance of the male group is made to sum a feature of life, not a one-sided construct imposed by force for the advantage of a dominant group."
แนวความคิดของนิติสตรีศาสตร์จึงเป็นการตั้งคำถามต่อรากฐานความคิดและมายาคติที่ถูกครอบงำไว้ด้วยความคิดแบบเพศชายไม่ว่าจะโดยตระหนักรู้หรือไม่ก็ตาม การเคลื่อนไหวทางความคิดของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์จึงต้องการสร้างทฤษฎีทางกฎหมายที่ไม่ได้กีดกัน หรือ ทำให้ประสบการณ์ ความคิดและสถานการณ์กลายเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจ
การปฏิเสธรูปแบบของสังคมปิตาธิปไตยจึงเป็นลักษณะร่วมกันของแนวความคิดแบบนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ หรืออาจกล่าวได้ว่าภาระหน้าที่ของแนวคิดนี้คือการวิเคราะห์และวิพากษ์กฎหมายในฐานะที่เป็นสถาบันแบบปิตาธิปไตย (the analysis and critique of law as a patriarchal institution)
3. พัฒนาการแนวความคิดของนิติสตรีศาสตร์
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แนวความคิดของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ได้เติบโตและมีพัฒนาการอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้สามารถแบ่งพัฒนาการของแนวคิดออกได้เป็น 3 ช่วงสำคัญ(5) คือ
ช่วงที่หนึ่ง ระยะของการให้ความสำคัญกับความเสมอภาค (Equality Stage) ในทศวรรษที่ 1970
ช่วงที่สอง ระยะของการให้ความสำคัญกับความแตกต่าง (Difference Stage) ในทศวรรษที่ 1980 และ
ช่วงที่สาม เป็นระยะที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย (Diversity Stage) ในทศวรรษที่ 1990
อย่างไรก็ตาม การจัดแบ่งพัฒนาการของความคิดนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์เป็นเพียงการแบ่งอย่างหลวมๆ ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของทฤษฎีหรือร่องรอยการเกิดขึ้นของความคิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยที่อาจไม่ได้สะท้อนถึงอิทธิพลของตัวแนวความคิดที่มีอยู่ในกฎหมายหรือแวดวงวิชาการด้านนิติศาสตร์ขณะนั้น
3.1 ระยะของการให้ความสำคัญกับความเสมอภาค (Equaliy Stage)
ความคิดหลักของการให้ความสำคัญกับความเสมอภาค จะเน้นถึงความเหมือนกันระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย ในช่วงเวลานี้เป็นความพยายามที่จะกำจัดระบบกฎหมายที่มีอคติทางเพศดำรงอยู่ เพราะระบบกฎหมายเช่นนี้ มักจะกีดกันให้เพศหญิงจำกัดบทบาทอยู่เพียงในบ้านและครอบครัว ข้อเรียกร้องถึงความเสมอภาคเช่นนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยและสามารถเข้าใจได้ ด้วยเหตุผลว่า หญิงไม่ได้มีความแตกต่างไปจากชาย ดังนั้นจึงสมควรเข้าถึงตำแหน่ง ผลประโยชน์และโอกาสในลักษณะเดียวกับที่เพศชายได้รับกระแสความคิดที่ชัดเจนของทศวรรษ 1970 คือการตระหนักถึงสิทธิของสตรีในลักษณะปัจเจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของเพศหญิงในการเข้าไปสู่กิจกรรมหรืองานที่ฝ่ายชายครอบครองไว้ เช่น อาชีพการงาน การศึกษา ด้วยการเรียกร้องว่าการกระจายผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของบุคคล ควรถูกปฏิบัติในฐานะที่เป็นปัจเจกชน ไม่ใช่ในฐานะของการเป็นหญิงหรือชาย
การสนับสนุนความเสมอภาคเป็นความคิดของกลุ่มสตรีเสรีนิยม (Liberal Feminism) ซึ่งเรียกร้องอำนาจและโอกาสในเชิงปัจเจก และยืนยันว่าเสรีภาพในลักษณะเช่นนี้จะสนับสนุนให้หญิงมีสถานภาพเท่าเทียมกับชาย สตรีเสรีนิยมถูกเรียกขานกันในอีกชื่อหนึ่งว่า assimilationists (การรวมพวก, การกลืน) เนื่องจากแนวคิดนี้ไม่ได้ท้าทายกับโครงสร้าง กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ดำรงอยู่ หากยอมรับระบบเหล่านั้นเสมือนหนึ่งว่ามีความชอบธรรมแล้ว เพียงต้องการพื้นที่เพิ่มให้สำหรับเพศหญิงเท่านั้น
และในช่วงทศวรรษ 1970 คำว่า Feminist Legal Theory หรือ Feminist Jurisprudence ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย กระแสความคิดที่เน้นความเสมอภาคถูกอธิบายในความหมายของการสนับสนุนสิทธิสตรี (women's right advocate) หรือผู้สนับสนุนการปลดปล่อยสตรี (women's liberation) ซึ่งมีความหมายและน้ำหนักที่ต่างไปจากคำที่ใช้เรียกกันในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในระยะแรกของการก่อตัวของแนวความคิด ก็ยังเป็นสิ่งที่ใหม่ทั้งต่อแวดวงวิชาการและในกระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งทศวรรษที่ 1980 จึงได้ปรากฏรูปร่างที่ชัดเจนของการพิจารณากฎหมายผ่านมุมมองทางด้านเพศ และได้กลายมาเป็นงานทางวิชาการที่มีความสำคัญขึ้น ชื่อวิชาในสถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ได้เปลี่ยนไปจากการเลือกปฏิบัติบนอคติทางเพศ (Sex-Based Discrimination) มาเป็นทฤษฎีนิติสตรีศาสตร์ (Feminist Jurisprudence, Feminist Legal Theory)
แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายบนพื้นฐานของความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ก็ได้ถูกโต้แย้งว่าไม่อาจแก้ไขความไม่เสมอภาคในเชิงเนื้อหา (substantive inequality) ที่มีผลต่อชีวิตของหญิง เป็นผลให้เกิดการถกเถียงถึงการทำให้ความยากจนเป็นของหญิง (feminization of poverty) ช่องว่างระหว่างเพศในทางการเมือง การกีดกันที่มองไม่เห็นแม้หญิงจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิอย่างชายแล้วก็ตาม และปรากฏการณ์อื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากอุดมการณ์ กระบวนการการกล่อมเกลาทางสังคมหรือโครงสร้างในเชิงสถาบัน ที่ได้ทำให้เกิดกระแสความคิดของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปในทศวรรษต่อมา
3.2 ระยะของการให้ความสำคัญกับความแตกต่าง (Difference Stage)
ลักษณะเด่นของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ในทศวรรษนี้คือ การเปลี่ยนความหมายของความเสมอภาคให้มีความหมายที่กว้างไปกว่าการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อชายและหญิง นักนิติสตรีศาสตร์เสนอว่าหากชายและหญิงเริ่มต้นจากสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อทั้งสองเพศจะไม่สามารถสร้างความเสมอภาคอันแท้จริงได้ ซึ่งหมายความว่าในความเสมอภาค หญิงซึ่งมีสถานะแตกต่างไปจากชายก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปมากกว่าการเรียกร้องให้หญิงปฏิบัติเหมือนชายเพื่อเข้าถึงความเสมอภาค ดังนั้น บรรทัดฐานเรื่องความเสมอภาคจึงต้องเปลี่ยนแปลงด้วยจากการเน้นถึงความแตกต่างทางด้านชีวภาพมีผลอย่างสำคัญต่อการสั่นคลอนหลักความเสมอภาคตามจารีต ซึ่งอธิบายว่าชายและหญิงเหมือนกันเพราะฉะนั้นจึงควรต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน (treat likes alike) และมีผลอย่างสำคัญต่อการขยายขอบข่ายประเด็นการวิเคราะห์ของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ออกไป ดังเช่น การตั้งครรภ์และความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ความรุนแรงภายในครอบครัวและ ภาพลามกอนาจาร (pornography) ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไม่เป็นสนใจของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์สายเสรีนิยม ที่มุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า
แม้ว่าการย้ำถึงความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิงจะเป็นประเด็นหลัก แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับแนวการวิเคราะห์ที่ต่างออกไป เช่น การสนใจถึงอำนาจที่แตกต่างระหว่างชายกับหญิง และการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเป็นใหญ่ของชายซึ่งเป็นที่ยอมรับกับ Dominance theorist ได้ให้เหตุผลว่าแทนที่จะเพิ่มโอกาสของหญิงในระบบที่ถูกยอมรับอยู่แล้ว อันหมายถึงการให้ความชอบธรรมกับระบบที่ดำรงอยู่ (status quo) ควรเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้วยการยกเลิกกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบหญิงในลักษณะเป็นกลุ่ม เป้าหมายหลักของสตรีนิยมสายสุดขั้ว (Radical Feminism) ในทางกฎหมายก็คือ การชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบกฎหมายในการปกป้องร่างกายของหญิง การต่อต้านภาพลามกอนาจาร เป็นอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำให้เพศหญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศและการตกเป็นวัตถุแห่งความรุนแรงทางเพศ
อิทธิพลของสตรีนิยมสายวัฒนธรรมส่งผลต่อการนิยามคุณสมบัติของหญิงที่แตกต่างไปจากชาย นับตั้งแต่การมองปัญหา การมองโลกและสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมา ซึ่งเป็นการย้ำถึงเพศหญิงในฐานะของเสียงที่แตกต่างและกลับมาให้คุณค่าบทบาทเดิมของเพศหญิงให้สูงขึ้น รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับหญิง
3.3 ระยะของการให้ความสำคัญกับความหลากหลาย (Diversity Stage)
ในทศวรรษที่ 1990 แนวความคิดของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยการให้ความสนใจกับความหลากหลายของหญิงมากขึ้น (diversity among women) ที่ผ่านมาแนวความคิดนิติสตรีศาสตร์แบบเสรีนิยม สายสุดขั้ว และสายวัฒนธรรม พิจารณาหญิงในฐานะที่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างที่มีอยู่ท่ามกลางผู้หญิงด้วยกันเอง ประเด็นหลักของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ในระยะนี้คือ การมองถึงความแตกต่างที่มีอยู่ภายในกลุ่มผู้หญิงด้วยกันเองความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการวิพากษ์ของกลุ่มผู้หญิงผิวสี และพวกหญิงรักร่วมเพศ (lesbians) อันเป็นกลุ่มที่ถูกกีดกันออกไปจากสตรีนิยมกระแสหลักภายใต้การอธิบายถึงเพศหญิงในภาพทั่วไป นักสตรีนิยมพบว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากในการเข้าถึงความเสมอภาคสำหรับผู้หญิงที่ไม่ใช่ผิวขาว ชนชั้นกลาง สตรีนิยมในทศวรรษ 1990 จึงได้วิพากษ์กลุ่มสตรีนิยมที่พยายามวาดภาพลักษณะทั่วไปอันเป็นสาระสำคัญของเพศหญิง
งานทางวิชาการของกลุ่มนี้ เริ่มต้นจากการอธิบายว่าประสบการณ์ในชีวิตจริงของหญิงไม่ได้มีลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ เช่น เชื้อชาติ สถานะ ชาติพันธ์ ความเข้มแข็งของร่างกาย ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้สร้างความซับซ้อนในแต่ละปัญหา ฉะนั้นจึงควรที่จะต้องพิจารณาปัญหาต่างๆ จากกลุ่มหญิงที่มีความแตกต่างกันมากกว่าการสร้างเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียวของสตรีนิยม
ลักษณะของความแตกต่างที่มากไปกว่าประเด็นเรื่องเพศ มีผลต่อการสร้างแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงของเงื่อนไขต่างๆ ในการกดขี่หญิงในสังคม แนวคิดนี้ได้พยายามวิเคราะห์ถึงเชื้อชาติ สถานะ กลุ่ม ที่มีผลต่อการสร้างรูปแบบการเลือกปฏิบัติต่อหญิงที่หลากหลาย ฉะนั้นกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติจึงต้องได้รับการทบทวนในแง่มุมใหม่
การเน้นถึงลักษณะของชายและหญิง มีส่วนอย่างสำคัญต่อการลดทอนหรือบดบังไม่ให้เห็นการเลือกปฏิบัติที่ดำรงอยู่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มชายรักร่วมเพศ (Gay) และหญิงรักร่วมเพศ (Lesbians) ต้องการเปิดให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติที่กว้างขวางออกไป ซึ่งควรรวมถึงการเลือกปฏิบัติที่มีฐานอยู่บนการให้ความสำคัญกับลักษณะทางเพศ (sexual orientation)
คำว่า heterosexism การมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม ถูกใช้เพื่อสะท้อนถึงอุดมการณ์ที่ยกย่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศมากว่าความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน ดังที่กลุ่มชาย/หญิงรักร่วมเพศมักถูกประทับตราว่าเป็นพวกเบี่ยงเบนทางเพศ อันเป็นการสะท้อนถึงความไม่ปกติ ไม่อยู่ในมาตรฐานของสังคม และในอีกด้านหนึ่งการกระทำในลักษณะนี้ก็เป็นการตอกย้ำถึงลักษณะความสัมพันธ์ทางเพศแบบที่ชายเป็นใหญ่ให้ดำรงอยู่ต่อไป
ควบคู่ไปกับการศึกรูปแบบของการกดขี่ที่หลากหลาย นิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ในทศวรรษ 1990 ได้ให้ความสนใจที่มากขึ้นต่ออัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลที่มีความซับซ้อน และได้เสนอภาพของหญิงทั้งในฐานะของเหยื่อผู้ถูกกระทำ (victim of oppression) และตัวแทนผู้กำหนดชะตากรรมตนเอง (agents of their own destiny) แนวความคิดแบบ Dominance feminism ในทศวรรษที่ 1980 ได้รับการโต้แย้งว่าเสนอแต่เพียงภาพการถูกกระทำของหญิงแต่ไม่ได้สะท้อนถึงการต่อต้าน การสร้างทางเลือก หรือการนิยามความหมายทางเพศขึ้นใหม่ แนวทางใหม่ของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์จึงศึกษาว่าได้มีการพยายามหาทางออกอย่างภายใต้โครงสร้างที่จำกัดนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันในหมู่ของผู้หญิงแต่ละกลุ่ม แต่รวมถึงการแสวงหาทางออกในรูปแบบต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้าน การร่วมมือหรือการหลีกเลี่ยง
4. วิธีวิทยาของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์
(Feminist Legal Method)
ตามแนวคิดเสรีนิยมของตะวันตก กฎหมายถูกเข้าใจในฐานะเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เป็นกลางทางด้านเพศ
เชื้อชาติ สถานะ ซึ่งเป็นความคิดที่มีอิทธิพลครอบงำและทำให้มายาคติดังกล่าวดำรงอยู่ในกฎหมายได้ต่อไป
นักนิติสตรีศาสตร์ได้พยายามเปิดโปงให้เห็นถึงมายาคติที่แอบซ่อนอยู่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
อันหมายถึงการบรรลุถึงการสร้างความเสมอภาคให้กับหญิง
ภายใต้ความเคลื่อนไหวของกระแสนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ได้มีการพัฒนาวิธีการศึกษาและการวิเคราะห์ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นของตนเอง วิธีในการศึกษาในการสร้างความรู้ของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์มีอย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตามวิธีการซึ่งถือเป็นลักษณะของที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้(6)
4.1 การยกระดับจิตสำนึก (Consciousness raising/unsilencing women)
สำหรับนักนิติสตรีศาสตร์แล้ว ตราบเท่าที่ยังไม่มีการตระหนักถึงการตกเป็นเบี้ยล่างของหญิงในกฎหมาย ตราบนั้นหญิงก็จะยังไม่ได้รับความเสมอภาค การยกระดับของการตระหนักรู้เป็นกระบวนการที่หญิงได้ตระหนักถึงสถานะและสภาพที่ด้อยกว่า ที่ถูกกำหนดไว้โดยสังคมและกฎหมาย ซึ่งจะบังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการโต้แย้งและวิวาทะทั้งกับตนเองและผู้อื่น เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงในสิ่งที่เคยถูกเข้าใจและยอมรับว่าเป็นธรรมชาติว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นผลผลิตจากสังคมเพื่อที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเสียงของหญิงต้องถูกรับฟัง ประสบการณ์ของหญิงต้องถูกนำมาขบคิดใหม่ การตระหนักรู้ในสถานะของหญิงเป็นกระบวนการที่อาจเกิดขึ้นในระดับปัจเจก แต่ต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นว่าสิ่งที่เกิดในระดับปรากฏการณ์นั้นเป็นผลจากกลไกในระดับสถาบัน เช่น การกีดกันหญิงออกจากการเข้าถึงตำแหน่งงานหรือการครองครองทรัพย์สิน
Leslie Bender ได้อธิบายถึงกระบวนการนี้ไว้ว่า "การตระหนักถึงสิทธิสตรีจะเกิดขึ้นจากการสำรวจถึงประสบการณ์ร่วมและรูปแบบที่มาจากการแลกเปลี่ยนถึงเหตุการณ์ในชีวิต สิ่งที่เป็นประสบการณ์ความเจ็บปวดของปัจเจกจะแสดงถึงประสบการณ์การถูกกดขี่ร่วมกัน (a collective of oppression)"(7)
กระบวนการนี้อาจมีข้อบกพร่องและอาจนำไปสู่การสร้างสาระสำคัญ (essentialism) หรือ ethnocentrism ซึ่งเป็นการสรุปว่าประสบการณ์ของหญิงมีลักษณะทั่วไปที่ไม่สัมพันธ์กับเชื้อชาติ อายุ สถานะ หรือเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งถูกโต้แย้งในภายหลังว่าอาจไม่สะท้อนถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกันของผู้หญิงในกลุ่มที่มีความแตกต่างออกไป เช่น ผู้หญิงผิวดำ ผู้หญิงชนกลุ่มน้อย
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความยุ่งยากแต่กระบวนการนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นเสียงของเพศหญิงก็ยังคงจะถูกละเลยต่อไป ประโยชน์ของการสร้างการตระหนักรู้ไม่ควรถูกยกเลิกด้วยการถกเถียงระหว่างแนวคิดที่เน้นลักษณะสำคัญประจำเพศ กับแนวคิดที่เน้นความหลากหลาย แต่ความหลากหลายในประสบการณ์ของหญิงต้องถูกนำมาพิจารณาเพื่อยกเลิก/กำจัดความไม่เสมอภาคของหญิงให้ยุติลง
4.2 การตั้งคำถามจากเพศหญิง (Asking the women question)
คำถามของผู้หญิง ก็เพื่อต้องการคำอธิบายสำหรับการกีดกันผู้หญิงออกไปจากทุกพื้นที่ของชีวิต และต้องการการตัดสินถึงความเหมาะสมในการกีดกันเพศหญิงออกไป ตัวอย่างคำถามของเพศหญิง เช่น ทำไมถึงมีโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในการจ้างงาน, ทำไมกฎหมายจึงสามารถห้ามหรือจำกัดสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง ด้วยคำถามของเพศหญิงที่จะรื้อสร้าง (reconstructing) กฎหมายเพื่อสถานะของเพศหญิงถูกเปิดเผยออกมา การตัดสินและให้เหตุผลก็เป็นสิ่งที่ต้องการ เพื่อให้การเลือกปฏิบัติและการจำกัดสิทธิของผู้หญิงถูกยกเลิกการตั้งคำถามของผู้หญิงสามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงมีความแตกต่างกันในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ทำไมผู้หญิงจึงไม่สามารถลงคะแนนเสียง รับราชการทหาร การเข้าทำสัญญาโดยมีสิทธิสมบูรณ์ในฐานะปัจเจกบุคคล คำถามเหล่านี้ถูกถามเมื่อเพศหญิงพบว่า ตัวเองถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกีดกันออกไปอย่างไม่เท่าเทียมกับเพศชาย
กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งถูกเข้าใจว่ามีความเป็นกลางนั้น หากพิจารณาในแง่มุมของเพศหญิง จะปรากฏความไม่เป็นกลางอยู่อย่างชัดเจน เช่น ในกฎหมายอาญาของประเทศไทย กำหนดให้ความผิดชายข่มขืนกระทำชำเรา จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อกระทำต่อหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน หากกระทำต่อภรรยาของตน ก็จะไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด หรือแม้ในกระบวนการยุติธรรมในคดีการล่วงละเมิดทางเพศที่ฝ่ายชายตกเป็น (รวมถึงในประเทศอื่นๆข้อมูลเพิ่มเติม) จำเลยสำหรับการกระทำความผิด ขณะที่เพศหญิงตกเป็นเหยื่อของการกระทำ แต่ในการพิจารณาคดีซึ่งการกระทำและสติสัมปชัญญะของฝ่ายชายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่กลับกลายว่าฝ่ายหญิงซึ่งเป็นเหยื่อจากการกระทำ จะเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบอย่างมาก เพื่ออธิบายถึงการยินยอมหรือขัดขืนในข้อพิพาทดังกล่าว(8)
4.3 การให้เหตุผลเชิงกระบวนการของสตรีนิยม (Feminist practical reasoning)
วิธีการของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์อีกประการ คือ การเข้าไปสืบค้นการทำงานของกลไกทางกฎหมาย ด้วยการเปิดเผยวิธีการในกระบวนการยุติธรรมซึ่งถูกใช้ในศาล อันเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการสร้างความไม่เสมอภาคของเพศหญิงเหตุผลทางกฎหมายตามแบบจารีตมักถูกอธิบายในลักษณะของนามธรรม(Abstraction) ภาวะวิสัย (Objectivity) มีเหตุผล (Rationality) เป็นตรรกะ (Logic) และก็จะกำหนดผลที่เป็นคู่ตรงกันข้าม (Binary mould) เช่น ถูกและผิด, ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม กฎหมายพยายามขีดเส้นแบ่งที่สามารถกำหนดได้ แต่ขณะที่ในกฎหมายเองก็จะมีความแน่นอน (core of certainty) และความไม่ชัดเจนที่ยังเป็นที่สงสัย (penumbra of doubt)(9) ซึ่งอาจไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้ในการบังคับใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมต้องมีการปรับใช้หรือตีความกฎหมาย
นิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ไม่เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมาย, ให้เหตุผลทางกฎหมาย จะกระทำไปภายใต้ความว่างเปล่า แต่กฎหมายจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของสังคม ถ้าบริบททางสังคมอยู่ภายใต้ความครอบงำของเพศใดเพศหนึ่งซึ่งก็คือเพศชาย กฎหมายก็จะเป็นไปในลักษณะของการกีดกันอีกเพศหนึ่ง
ในประเทศอังกฤษ ภาษาที่ดูราวกับว่าเป็นกลางได้ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันเพศหญิงออกไป สิทธิของเพศหญิงในการลงคะแนนเสียงเลือกในอดีตไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งศาลก็ได้ยอมรับทัศนะดังกล่าว ในคดี Chorlton v. Lings(10) ด้วยการตีความคำว่า คน (man) ไม่ได้มีความหมายรวมถึง ผู้หญิง (woman) หรือในคดี In re French(11) ศาลได้ตัดสินว่า บทบาทที่เหมาะสม (proper) ของเพศหญิงจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ใช่สาธารณะ ผู้พิพากษา Barker ให้เหตุผลว่าความอ่อนโยนและความขี้กลัว (timidity) ตามธรรมชาติเป็นคุณสมบัติของเพศหญิง งานเป็นจำนวนมากสำหรับชีวิตของพลเมือง (อันหมายถึงงานที่มีบทบาทในทางสาธารณะ เช่น ผู้บริหาร นักการเมือง นักกฎหมาย เป็นต้น) แต่ความคิดในลักษณะเชิงนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปในภายหลังในคดี Persons เมื่อ 1930, Lord Sankey ได้กล่าวว่า
"การกีดกันผู้หญิงจาก Public offices เป็นสมบัติของยุคป่าเถื่อนมากกว่ายุคสมัยของเรา ควรจะต้องตระหนักว่าในช่วงระยะเวลานั้น มักจะบังคับใช้กฎหมายขนบธรรมเนียมประเพณีของชาย (man customs) ซึ่งไม่มีความจำเป็นในภายหลัง"(12)
จากการพิจารณาถึงการให้เหตุผลในทางกฎหมาย จึงแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เฉพาะเพียงเทคนิคของนิติวิธีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคิดที่มีต่อการจัดวางสถานะของเพศหญิงอยู่ด้วย การรื้อสร้างของสตรีนิยมในเหตุผลทางกฎหมาย ช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงข้อสันนิษฐานหรือความเชื่อซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินคดีของผู้พิพากษา
5. ผลกระทบของนิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ต่อนิติปรัชญา
นิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์เป็นกรอบในการวิเคราะห์กฎหมายที่มีแง่มุมแตกต่างไปจากแนวคิดอื่นๆ
และสามารถสร้างมุมมองต่อการทำความเข้าใจกฎหมายอันมีลักษณะเฉพาะของตนเอง แม้ว่าจะเป็นมุมมองจากทางด้านเพศหญิงเพื่อสะท้อนฐานะที่ต่ำกว่าเพศชาย
รวมถึงการเสนอแนวทางในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะของเพศหญิงเท่านั้น
(ตามคำอธิบายของนักคิดในกลุ่มนี้) หากเพื่อสังคมโดยรวม กรอบการวิเคราะห์กฎหมายโดยผ่านสายตาของกลุ่มคนบางกลุ่ม
โดยเฉพาะกับกลุ่มที่จัดได้ว่าเป็นคนชายขอบของสังคมนับได้ว่าเป็นการเปิดมุมมองที่มีต่อกฎหมายให้เห็นบทบาท
หน้าที่ ของกฎหมายที่แตกต่างไปจากความเชื่อซึ่งครอบงำความรู้ในวิชานิติศาสตร์ว่ากฎหมายมีความเป็นธรรม
เป็นกลาง แปรไปเป็นภาพของความไม่ชอบธรรม ไม่เป็นกลาง มีอคติอยู่ในระบบกฎหมาย
ฉะนั้นจึงควรที่จะได้พัฒนาแนวความคิดในการวิเคราะห์กฎหมายจากสายตาของกลุ่มคนต่างๆ
ให้หลากหลายมากขึ้นไม่เพียงแง่มุมทางเพศเท่านั้น เช่น ชาติพันธ์ ผิวสี ศาสนา
เชื้อชาติ ฐานะ ฯลฯ
Footnote
(1) Curzon, L.B., Jurisprudence (London: Cavendish Publishing, 1995) p. 303 อันที่จริงหากพิจารณาการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกา สามารถสืบย้อนไปได้นับตั้งแต่ ค.ศ. 1848 ใน The Declaration of Sentiments อันเกิดจากการประชุมที่ Seneca Falls Convention ที่สะท้อนถึงการต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันเนื่องมาจากการจำกัดสิทธิของหญิงในกฎหมาย ดังเช่น การจำกัดไม่ให้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น ใน Chamallas, Martha, Introduction to Feminist Legal Theory (New York: Aspen Law& Business, 1999) pp. 29-30
(2) พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์, "Feminist Legal Theory", ในวารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1/2544, หน้า 22
(3) อ่านรายละเอียดของนิยามความหมายที่แกต่างกันของแนวคิดสตรีนิยมได้ใน วารุณี ภูริสินสิทธิ์, สตรีนิยม : ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545) หน้า 2-5
(4) Curzon, L.B., Jurisprudence, Op. cit., p. 303.
(5) ดูรายละเอียดของการแบ่งกลุ่มความคิดนี้ได้ใน Chamallas, Martha, Introduction to Feminist Legal Theory (New York: Aspen Law& Business, 1999) ตั้งแต่บทที่สองถึงบทที่ห้า
(6) Barnett, Hilaire, Introduction to Feminist Jurisprudence (London: Cavendish Publishing Limited, 1998) pp. 21-27
(7) Bender, Lislie, "A lawyer's primer on feminist theory and tort" (1988) 38 Journal of Legal Education 3 p. 9
(8) Barnett, Hilaire, Op.cit., p. 23
(9) Hart, H.L.A., The Concept of Law (1994: Oxford: Oxford University Press)
(10) (1868) LR 4 CP 374 อ้างใน Barnett, Hilaire, Op. cit., p. 24
(11) (1905) 37 NRB 359, Ibid.
(12) (1930) 1 AC 124, p. 128
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)