ภาพประกอบดัดแปลง ใช้กับบทความฟรี ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (Free Article for all)
จากหัวข้อสนทนา "ปรัชญาวิทยาศาสตร์ : วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี (พอล ฟายเออราเบนด์)" นำโดย ดร.วีระ สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จัดโดย โครงการป๋วยเสวนาคาร สถาบันสันติประชาธรรม : นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ : เรียบเรียง

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 269 เดือนพฤษภาคม 2546 หัวเรื่อง "ปรัชญาวิทยาศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี" โดย ดร.วีระ สมบูรณ์

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์นี้ วันที่ 26 พฤษภาคม 2546
(ความยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)

วิทยาศาสตร์ไม่ควรจะอยู่ในฐานะที่จะมาทำลายความร่ำรวยของศิลปะของการจัดดอกไม้ ความเชื่อที่มีเสน่ห์ อาจพิสูจน์ไม่ได้ก็จริง แต่มันปลดปล่อยทำให้มนุษย์ได้มีความสบายใจ มีศักดิ์ศรีกลับคืนมาได้ มีอยู่มากมาย ความเป็นมาของมนุษย์เรามีความร่ำรวยหลากหลายของมันอยู่ วิทยาศาสตร์มีได้ ดำรงอยู่ได้ แต่มันไม่ควรอยู่ในฐานะผู้พิชิตทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วแปลงทุกสิ่งทุกอย่างว่าจะต้องตอบเป็นภาษาเดียว พูดภาษาเดียว

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ฟายเออราเบนด์ยกตัวอย่างมากมาย แม้กระทั่งการเดินเรือสมัยโบราณซึ่งมีคนมาค้นพบว่า ที่จริงการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างอเมริกาใต้กับแอฟริกา เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว ด้วยความรู้เกี่ยวกับลมที่ค่อนข้างจะแม่นยำของคนในสมัยโบราณ
นอกจากนี้ฟายเออราเบนด์ยังบอกว่า ในหลายต่อหลายเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเพียงผู้ที่นำเอาสิ่งที่ผู้อื่นเขาทำไว้แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นต้นคิด แล้วก็นำมาปรับปรุงบางอย่างเพื่อให้ดีขึ้น แต่บางอย่างก็ไม่ได้ดีขึ้นจริง ในขณะเดียวกันฟายเออราเบนด์ก็ตั้งคำถามต่อว่า วิทยาศาสตร์ก็สร้างอะไรหลาย ๆ อย่างที่องค์ความรู้อื่นทำไม่ได้ก็คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดการทำลายล้าง เกิดผลร้ายมหาศาล หากชั่งน้ำหนักดูก็ไม่แน่ว่าผลดีที่เกิดขึ้นกับผลร้ายที่ตามมานั้น คุ้มได้คุ้มเสียหรือไม่ (ตัดมาบางส่วนจากบทความ)

วิทยาศาสตร์กับเสรีภาพของมนุษย์
วีระ สมบูรณ์
จากหัวข้อสนทนา "ปรัชญาวิทยาศาสตร์ : วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี (พอล ฟายเออราเบนด์)"
นำโดย ดร.วีระ สมบูรณ จัดโดย โครงการป๋วยเสวนาคาร
สถาบันสันติประชาธรรม
นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ : เรียบเรียง(๑๑ ก.ย. ๒๕๔๕)

พื้นฐานเดิมที่ผมสนใจในฐานะเป็นองค์ความรู้ ด้วยข้อสังเกตประการหนึ่งที่มักพบว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม วิทยาศาสตร์มักเข้าไปเป็นเกณฑ์ตัดสินทั้งสิ้น เช่น ถ้าจะบอกว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดี ก็มักมีคนบอกว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผมจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมจะต้องอ้างเช่นนั้น แม้กระทั่งความคิดความเชื่อของผู้คน หากพูดว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้างก็จะถูกตัดทิ้งไปเลย

ชาวต่างชาติคนหนึ่งเขาเป็นวิศวกร แสดงความสงสัยที่เห็นคนไทยไหว้พระแก้วมรกตจึงถามขึ้นมาว่าไหว้แล้วทำอะไรกันบ้าง ผมก็ตอบไปว่า บางคนอธิษฐานขออะไรบางอย่างจากพระแก้วมรกต เขาทำท่าตกใจบอกว่าเมืองไทยเจริญขนาดนี้แล้วยังมีคนเชื่ออย่างนั้นอีกหรือ ความคิดแบบนี้มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำไมถึงมีคนเชื่ออยู่ ควรหมดสิ้นไปได้แล้ว ผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้น ในเมื่อคน ๆ นั้นยกมือไหว้แล้วรู้สึกสบายใจ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เพราะเขาเคยทำอย่างนั้นแล้วดี มันก็น่าจะทำได้ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

ทำไมต้องมีแต่ความเชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์
หลาย ๆ ตัวอย่างที่แสดงถึงความเชื่อหรือการจะทำอะไรบางอย่าง จะถูกวิทยาศาสตร์ไปกีดกันเสียหมด เช่น สมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เวลาพูดถึงการแพทย์แผนโบราณ สมุนไพร หมอพื้นเมือง ปรากฏว่าไม่มีใครยอมรับเลย เห็นว่าเป็นเรื่องเก่าและเป็นเรื่องที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

จะเอาเข้าไปในสาธารณสุขชุมชนก็ไม่ได้ จะเอาเข้าไปใช้ปะปนอยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีการพิสูจน์และไม่มีการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่หลายต่อหลายเรื่องสามารถนำไปใช้ในการรักษาได้และหายจริง ๆ เพียงแต่ว่ามันไม่สามารถเข้าไปพิสูจน์ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ได้

อาจารย์ของผมคือ ท่านเจ้าคุณสมคิดที่วัดทองนพคุณ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า แถวบ้านเกิดของท่านมีหลวงตาอยู่องค์หนึ่ง สามารถรักษากระดูกหักได้โดยอมน้ำหมากเคี้ยว ๆ ท่องคาถาพ่นลงไป แล้วนำไปประคบ ปรากฏว่าคนที่ตกต้นไม้นำไปใช้รักษาก็หาย ถ้าถามว่า หายเพราะอะไร คงตอบไม่ได้ และถ้าจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปพิสูจน์ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของคุณค่าที่นอกเหนือจากการใช้เกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ

มีอีกหลายตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นได้ค่อนข้างชัดว่า เกณฑ์ตัดสินทางวิทยาศาสตร์ไปกีดกันอะไรบางอย่างออกจากสิ่งที่ผู้คนสามารถกระทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในบางเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นทรัพยากรของสังคม เช่น รัฐเก็บภาษีของเราไป ปรากฏว่าเมื่อเก็บไปแล้วก็นำไปให้กรมวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงสาธารณสุข หรืออะไรก็ตามที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของส่วนรวม งบประมาณที่สังคมได้สร้างขึ้นมา ปรากฏว่าคนที่จะมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรเหล่านั้น มีคนอยู่พวกเดียวจารีตเดียวที่ได้รับงบประมาณนั้น แทนที่เก็บภาษีแล้วก็แบ่งไปให้จารีตอื่นด้วย เช่น ถ้ามีกรมการแพทย์แผนไทยพื้นบ้านหรือแผนโบราณ แต่ก็ทำไม่ได้ สภาพสังคมไทย การเมือง มีอคติแฝงอยู่ที่เชื่อว่ามีเพียงจารีตเดียวที่ทำได้ และอคติแบบนี้เวลานี้ก็แพร่กระจายอยู่ทั่วโลก

มีแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นหรือที่เป็นวิธีวิทยา
พอล ฟายเออราเบนด์ (Paul Feyerabend) นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ เขาเขียนหนังสือชื่อ Against Method เป็นหนังสือที่เน้นคำขวัญว่า "อะไรก็ได้ (Anything goes)" และต้องการต่อต้านวิธีวิทยา เขาต้องการแสดงให้เห็นว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีอะไรที่แน่นอน และการยึดติดในวิธีวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าในการพัฒนาองค์ความรู้

หากเราดูการเรียนการสอนหรือการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้ การที่จะมีการศึกษาขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง ก็ต้องมาถกเถียงว่าจะเอาวิธีวิทยาแบบไหนดี อะไรคือวิธีเชิงปริมาณ อะไรคือเชิงคุณภาพ ถ้าไม่สามารถระบุวิธีวิทยาให้ชัดเจนได้ หรือเป็นวิธีวิทยาที่ชุมชนทางวิชาการนั้นไม่รับรอง งานวิจัยชิ้นนั้นก็ทำไม่ได้

ฟายเออราเบนด์ วิจารณ์ว่า การที่ต้องมีวิธีวิทยาและมีการสรุปว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ และว่าโดยพื้นฐานแล้วก็จำกัดเสรีภาพของคนในการที่จะแสวงหาความรู้ เขาจึงเสนอแนวทางของเขาเองในแบบที่ไม่ได้เป็นการสรุปว่าวิธีไหนเป็นวิธีดี ซึ่งก็คือหลักการที่ว่า "อะไรก็ได้"

วิธีการในการที่จะค้นคว้าหรือวิจัยหรือทำการศึกษา ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเรื่องที่จะศึกษาด้วย เพราะการศึกษาบางเรื่องใช้บางวิธีจะเหมาะสมกว่า แล้วในบางเรื่องอาจจะใช้อีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมกว่า เพราะฉะนั้นไม่มีข้อสรุปอะไรได้ นอกจากนี้ก็ไม่ใช่ว่านักวิทยาศาสตร์หรือนักวิธีวิทยาทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งที่ตัวเองพูดเสมอไป ก็หาไม่ มีการแหกกรอบ ออกนอกลู่นอกทางจากวิธีที่ถือว่าเป็นวิธีมาตราฐานมากมายทีเดียว

งานเขียนของฟายเออราเบนด์ มีข้อดีที่ว่า มีลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์โดยอาศัยข้อมูลและวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ ทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรม เขายกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ จดหมายที่ไอน์สไตน์โต้ตอบกับนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยชี้ให้เห็นว่า ไอน์สไตน์คิดทฤษฎีสัมพันธภาพขึ้นมาก่อน แล้วค่อยไปตามหางานวิจัยที่คนอื่นทำมาสนับสนุน เขาไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ ตั้งสมมติฐาน แล้วไปทำการทดลอง แล้วจึงมาหาข้อสรุป

ไอน์สไตน์เริ่มต้นจากปัญหาในเรื่องเวลาของการเคลื่อนตัวของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นโจทย์ทางฟิสิกส์ แล้วสมมติขึ้นมาว่า ถ้าเวลาไม่นิ่งจริง ๆ อย่างที่มันเป็น ปัญหาก็คือว่าทำอย่างไรจึงจะวัดเวลาได้ ในเมื่อในระดับอะตอมเวลามันค่อนข้างจะวัดไม่ได้ มันไม่อยู่นิ่ง มันเป็นปัญหาเพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเวลาเป็นสิ่งที่แน่นอน เที่ยงตรงและก็เคลื่อนเป็นเส้นตรงต่อไปเรื่อย ๆ เป็นจังหวะจะโคนแน่นอน ปัญหาคือ ถ้าเวลามันเริ่มไม่แน่ไม่นอน จับไม่ได้ว่ามันเป็นอย่างไรแน่ นักวิทยาศาสตร์ก็มีปัญหากับตรงนี้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะสามารถควบคุมและวัดเวลาได้เที่ยงตรงแน่นอนมากยิ่งขึ้น

ฟายเออราเบนด์เขียนบรรยายว่า แทนที่ไอน์สไตน์จะพยายามไปแก้ปัญหานั้น ไอน์สไตน์ไม่แก้ ไอน์สไตน์กลับสมมุติขึ้นมาว่าถ้าเวลามันไม่นิ่งจริง ๆ เราจะทำความเข้าใจเรื่องทั้งหมดอย่างไร เป็นการตั้งโจทย์ใหม่เลยจากการยอมรับในลักษณะที่ว่าปัญหานั้นคือความจริง คือแทนที่จะมองว่าเราจะต้องไปแก้ปัญหา ไอน์สไตน์กลับแก้ไปอีกแบบหนึ่งว่า สมมุติว่าถ้าปัญหามันเป็นแบบนั้น เรื่องจริงมันเป็นอย่างนั้น อะไรจะเกิดขึ้น

ไอน์สไตน์ใช้จินตนาการของตัวเองแล้วสร้างคำอธิบายขึ้นมา เขาจินตนาการทฤษฎีนั้นขึ้นมาก่อนแล้วค่อยบอกว่า ถ้าทำการทดลองแบบนี้แล้วผลน่าจะเป็นแบบนั้น ซึ่งเมื่อไอน์สไตน์พูดแบบนั้น นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์หลายคน ก็บอกว่าไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานน้อยมาก ที่ทำงานน้อยมากก็เพราะว่า การทดลองที่ไอน์สไตน์สมมติขึ้นมา มีคนเขาทำขึ้นมาเรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว และได้พิสูจน์ออกมาเรียบร้อยแล้ว และเกิดผลตามที่ไอนสไตน์ได้บอกไว้ เพียงแต่ไอนส์ไตน์ไม่รู้ว่าเขาทำกันมาแล้ว แต่ไม่สามารถอธิบายผลที่เกิดขึ้นได้ ว่าเป็นเพราะเหตุใด

จะเห็นได้ว่า ขบวนการทำงานที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันไม่ได้เป็นไปตามระบบระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์อะไรเลยอย่างที่กล่าวอ้าง จะว่าไปก็คือ ถ้าไอสไตน์เกิดยอมรับระเบียบแบบแผนและไม่กระโดดข้ามโจทย์ปัญหาไปสู่ข้อสรุปของตัวเอง องค์ความรู้ฟิสิกส์สมัยใหม่ก็ไม่สามารถก้าวพ้นโจทย์อันนี้ได้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในงานเขียนของฟายเออราเบนด์ ที่ทำให้เราสนใจและอยากรู้และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ถึงความเป็นมาในการทำงานทางวิทยาศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ในทางชีววิทยาเป็นอย่างไร ในด้านอื่น ๆ เป็นอย่างไร

วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี
ต่อมาผมได้มาอ่านงานอีกชิ้นหนึ่งของฟายเออราเบนด์ชื่อ Science in a Free Society หรือ "วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี" เป็นงานที่ผมชอบและแปลออกมา อ่านแล้วรู้เรื่องได้ไม่ยาก ถ้าเทียบกับเล่มแรกที่ต้องมีพื้นทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ มีศัพท์เฉพาะมากมาย แต่งานชิ้นนี้เป็นงานที่อ้างถึงประสบการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ และการค้นคว้าที่คนทั่วไปพอจะทำความเข้าใจได้

อีกประการหนึ่งก็คือ ประเด็นที่มีคนสงสัยหรือคิดและตั้งคำถามนั้น เขาสามารถทำให้คนตั้งคำถามได้ค่อนข้างแหลมคม กระชับ นอกจากนี้ฟายเออราเบนด์เป็นคนที่เขียนหนังสือเก่งมาก สามารถลำดับเรื่องยาก ๆ และลำดับข้อโต้แย้งต่าง ๆ ให้น่าติดตาม และทำให้ผมสามารถถ่ายทอดได้บ้าง ทั้งยังเป็นคนที่โต้แย้งชัดเจนโผงผาง แต่ไม่ถึงกับเกรี้ยวกราด ทำให้คนรู้สึกว่ากวน ๆ นิด ๆ และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต้องคิดตาม แต่อาจจะไม่เกิดกับบางคนก็ได้ที่ไม่ชิน หรือรู้สึกว่าท้าทายเกินไป

อะไรคือวิทยาศาสตร์
หนังสือ Science in a Free Society ของฟายเออราเบนด์ ตั้งคำถามง่าย ๆ สองข้อ ข้อแรก อะไรคือวิทยาศาสตร์ ในเมื่อมีคำพูดออกมาเสมอว่า อันนี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ อันนั้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ฟายเออราเบนด์จึงถามด้วยคำถามดังกล่าว

ข้อที่สอง แล้ววิทยาศาสตร์มีอะไรดีนักหนา ทำไมถึงเห่อกันนัก เมื่อเทียบกับองค์ความรู้แบบอื่น ๆ วิทยาศาสตร์ทำอะไรได้มากมายแบบเขาหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย ทำไมถึงได้เห่อกันมากมายนัก แล้วฟายเออราเบนด์ก็ตอบคำถามสองข้อด้วย

โดยข้อแรกที่ว่าอะไรคือวิทยาศาสตร์นั้น เขาบอกว่าเป็นคำถาม ที่ไม่สามารถมีคำตอบได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าวิทยาศาสตร์คืออะไรแน่ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ก็ทะเลาะกันเอง รวมไปถึงนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่พยายามศึกษา ซึ่งฟายเออราเบนด์ก็มีพื้นฐานการศึกษามาด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์เช่นกัน และนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ก็ทะเลาะกันไม่เลิกว่า อะไรคือวิทยาศาสตร์

ฉะนั้นถ้าจะถามว่าอะไรคือวิทยาศาสตร์นั้น ตอบไม่ได้ หรือถ้าตอบได้ก็มีมากมายหลายคำตอบจนสรุปไม่ได้ ขนาดเมื่อปีกลาย บัณฑิตยสภาของเอมริกันทางด้านวิทยาศาสตร์พยายามจะอธิบายหรือสร้างคำจำกัดความของวิทยาศาสตร์ขึ้นมา จากการประชุมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเพื่อที่จะพยายามหาคำจำกัดความ ประชุมกันเป็นสัปดาห์ ข้อสรุปออกมามีความยาว 300 หน้า คำจำกัดความวิทยาศาสตร์ยาวขนาดนั้น มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นคำจำกัดความไม่ได้ จึงหาทางออกด้วยการตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมา จนในที่สุดคำจำกัดความ"วิทยาศาสตร์"ของบัณฑิตยสภาอเมริกันเหลือ 30 หน้า ซึ่งเต็มไปด้วยข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข มีข้อถกเถียงมากมายที่ไม่สามารถสรุปได้

ฉะนั้น คำตอบสำหรับข้อที่หนึ่ง ก็คือ การพูดว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเมื่อต้องการพูดถึงวิทยาศาสตร์ เราไม่แน่ชัดว่ามันคืออะไร ต้องถกเถียงกันต่อจนกว่าจะหาคำตอบได้ อย่างไรก็ตาม อะไรต่าง ๆ ที่เราเรียกวิทยาศาสตร์ก็ดำเนินต่อไป แต่ดำเนินไปในลักษณะไหน เพราะอะไร เราไม่ค่อยมั่นใจ บางทีหลายเรื่องมันเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ บางทีก็เกิดขึ้นบ่อย หลายเรื่องเกิดขึ้นเพราะว่าเราเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ ก็ได้ ซึ่งจะพูดถึงในรายละเอียดต่อไป

วิทยาศาสตร์มีอะไรดีนักหนา
คำถามข้อที่สองคือ วิทยาศาสตร์มีอะไรดีนักหนา ฟายเออราเบนด์พยายามถามตรงนี้ว่า หลายต่อหลายเรื่องที่บอกว่าเป็นผลมาจากวิทยาศาสตร์นั้น อันที่จริงก็ไม่ได้เป็นผลจากวิทยาศาสตร์โดยส่วนเดียว ยกตัวอย่างเช่น การแพทย์สมัยใหม่ก็ยืมองค์ความรู้ของการแพทย์สมัยกลางมามากมายมหาศาล แล้วก็ไม่ได้สร้างอะไรใหม่เป็นเวลานานมาก จนกระทั่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองที่เพิ่งจะมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาจริง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในการแพทย์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ก็เป็นการเอาของเดิมมาใช้อ้างอิง โดยเอาแบบแผนทางวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับใช้เท่านั้นเอง

การศึกษาหลาย ๆ อย่างในทางการแพทย์ องค์ความรู้หลาย ๆ เรื่องที่วิทยาศาสตร์มีในปัจจุบัน ก็หันกลับไปยืมความคิดในสมัยกรีกเป็นจำนวนมาก ความคิดกรีกที่ยืมมาหลายความคิดแม้กระทั่งความคิดในเรื่องธาตุ ความคิดในเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ เชื่อมโยงกับความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและประสบการณ์ทางศาสนาอยู่ด้วย ฉะนั้น ความคิดที่หยิบยืมมา มันไม่ได้เกิดจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ฟายเออราเบนด์ ยังตั้งคำถามว่า เมื่อเทียบกับองค์ความรู้อีกหลาย ๆ แบบที่ไม่ได้อ้างตัวเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทำได้ดีกว่าเขาจริงหรือไม่ เช่น เมื่อเทียบกับความรู้แบบหยิน-หยางของจีน วิธีการแบบจีนที่มองร่างกายเป็นองค์รวม มองจักรวาลเป็นองค์รวม วิทยาศาสตร์ทำได้ดีแบบเขาหรือไม่ เขาทำได้ดีกว่าวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานานแล้ว และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน วิทยาศาสตร์อาจจะสู้ไม่ได้

ฟายเออราเบนด์ยกตัวอย่างมากมาย แม้กระทั่งการเดินเรือสมัยโบราณซึ่งมีคนมาค้นพบว่า ที่จริงการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างอเมริกาใต้กับแอฟริกา เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว ด้วยความรู้เกี่ยวกับลมที่ค่อนข้างจะแม่นยำของคนในสมัยโบราณ

นอกจากนี้ฟายเออราเบนด์ยังบอกว่า ในหลายต่อหลายเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเพียงผู้ที่นำเอาสิ่งที่ผู้อื่นเขาทำไว้แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นต้นคิด แล้วก็นำมาปรับปรุงบางอย่างเพื่อให้ดีขึ้น แต่บางอย่างก็ไม่ได้ดีขึ้นจริง ในขณะเดียวกันฟายเออราเบนด์ก็ตั้งคำถามต่อว่า วิทยาศาสตร์ก็สร้างอะไรหลาย ๆ อย่างที่องค์ความรู้อื่นทำไม่ได้ก็คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดการทำลายล้าง เกิดผลร้ายมหาศาล หากชั่งน้ำหนักดูก็ไม่แน่ว่าผลดีที่เกิดขึ้นกับผลร้ายที่ตามมานั้น คุ้มได้คุ้มเสียหรือไม่

ฉะนั้นในการตอบข้อที่สอง ฟายเออราเบนด์พยายามชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราพยายามที่จะอ้างอิงโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เราพยายามมองวิทยาศาสตร์ในแง่ดี ๆ นั้น ก็ควรหันมามองอย่างเปรียบเทียบกับแบบอื่น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ดีจริงแค่ไหน

วิทยาศาสตร์ควรเป็นจารีตเดียวของสังคมหรือ
จากทั้งสองคำถามดังกล่าว สิ่งที่ตามมาก็คือ ในเมื่อเรานิยามชัดไม่ได้ว่าอะไรคือวิทยาศาสตร์ เราไม่แน่ใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ดีจริง ขณะที่จารีตอื่น ๆ ดี ๆ มีมากมาย เช่นนั้นแล้วทำไมจึงจะปล่อยให้วิทยาศาสตร์เป็นเพียงจารีตเดียวที่ครอบงำจารีตอื่นได้หมด ทำไมจึงเป็นจารีตเดียวที่สามารถสยบจารีตอื่น ๆ ทำไมเมื่ออ้างวิทยาศาสตร์ ระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา จารีตอื่นต้องพ่ายแพ้หรือว่าตกกระป๋องไป ซึ่งในหลาย ๆ เรื่องไม่ใช่การโต้เถียงทางวิชาการ และหลายเรื่อง เป็นการโต้เถียงที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ดูในบ้านเราจะเห็นได้ชัดว่า การโต้แย้งเรื่องการสร้างเขื่อน แนวคิดเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแนวคิดที่ได้รับการประกาศยืนยันจากผู้นำทางความคิด หรืออย่างน้อยที่สุด สังคมก็พอจะรับฟัง หลายปีก่อนอาจจะแย่กว่านี้ แต่ทุกวันนี้ก็ใช่ว่าจะดีขึ้นสักเท่าไร การที่เราเถียงกันเรื่องการสร้างเขื่อน มักหลีกหนีไม่พ้นเรื่องที่เราจะต้องพยายามเก็บข้อมูล นำเสนอข้อมูล และต้องพิสูจน์ข้อมูลด้วยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ ก็ถือว่าไม่ใช่ความรู้ที่จะมายืนยันกันได้

แทนที่องค์ความรู้อื่นที่เคยมีอยู่ที่ไม่ได้อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ความรู้เรื่องพันธุ์ปลาที่ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งบันทึก เขาสามารถมีความรู้ความเข้าใจมองเห็นได้จากการกระโดดของมัน เป็นสิ่งที่เรียนรู้และพิสูจน์ได้จากการที่เขาได้ใช้ชีวิตเรียนรู้ด้วยกันเป็นปี ๆ ทำไมอย่างนี้จะทำไม่ได้ แล้วทำไมเราจะเรียกร้องกับนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ว่า แบบแผนทางวิทยาศาสตร์นั้น ต้องเรียนกันอย่างน้อย 3-4 ปี ต้องเข้าห้องทดลอง ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราจะเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์มาใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านสัก 2 ปีจะได้รู้ว่าพันธุ์ปลามีอะไรบ้าง เรียนรู้จากประสบการณ์ในวิถีชีวิตจริง จะทำได้ไหม เพื่อให้วิธีการเรียนรู้แบบหลังมีศักดิ์ศรี และมีความเป็นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทำไมคิดว่าจารีตวิทยาศาสตร์ไม่มีความลำเอียงและไม่มีผลประโยชน์
จารีตทางวิทยาศาสตร์ไม่ควรจะเป็นจารีตเดียวที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้จารีตอื่น ๆ ก็ควรจะมีโอกาสเสนอแง่มุมข้อโต้แย้งของตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอแง่มุมและการเสนอข้อโต้แย้งของคนที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องนั้น ๆ เราไม่ควรจะปฏิบัติกับวิทยาศาสตร์เหมือนกับจารีตที่ไม่มีความลำเอียงหรือไม่มีผลประโยชน์ เพราะจารีตวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับจารีตอื่น ๆ ที่มีเรื่องความลำเอียง มีอคติของผู้วิจัย มีเรื่องของผลประโยชน์ เงินทองที่จะได้จากการวิจัย ผลที่เกิดขึ้นจากการวิจัยที่จะนำไปสู่ชื่อเสียงต่าง ๆ ซึ่งก็มีเหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้น จะปล่อยให้องค์ความรู้เดียวมาครอบงำหมด เป็นไปไม่ได้ เราจะต้องเปิดโอกาสให้คนทั่ว ๆ ไปเข้ามามีส่วนร่วมในการโต้แย้ง และนำเสนอองค์ความรู้และวิธีการของเขาอย่างเปิดกว้าง เราต้องถือว่านักวิทยาศาสตร์ก็เป็นปุถุชน ฟายเออราเบนด์ยกตัวอย่างชัดเจนว่า นักวิทยาศาสตร์นั้น เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วมักต่อสู้กันรุนแรง เช่น ชื่อเสียง การจารึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ว่า เป็นผู้ค้นพบสิ่งนั้นสิ่งนี้ ต่อสู้กันขนาดหนัก บางเรื่องก็กระทำการเพียงเพื่อที่จะแสวงหาความเป็นอมตะ หรือแสวงหารางวัลโนเบล ฯลฯ มีเรื่องเหล่านี้แฝงอยู่

วิทยาศาสตร์และรัฐผูกขาดทรัพยากรของสังคม
จารีตวิทยาศาสตร์เป็นจารีตเดียวที่ผูกขาดการใช้ทรัพยากรสังคมผ่านรัฐ อย่างน้อยที่สุดรัฐในระบอบเสรีนิยม ตามแนวความคิดเชิงเสรีประชาธิปไตย รัฐควรจะวางตัวเป็นกลางในทางความคิดความเชื่อ คือ รัฐไม่ควรจะไปยุ่งวุ่นวายกับความคิดความเชื่อของคน รัฐควรจะเป็นอิสระจากความคิดทางศาสนา ไม่ควรจะไปอิงแอบแนบแน่นกับความเชื่อทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพราะเราถือว่า การใช้ทรัพยากรของสังคมควรจะกระจายให้ทุกศาสนา ทุกจารีต เปิดโอกาสให้ทุกความคิดความเชื่อได้มีโอกาสแสดงออก เช่นเดียวกันเราควรเปิดโอกาสให้ทุกจารีตได้เข้าถึงทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ผูกขาดโดยจารีตใดจารีตหนึ่ง เช่น

ถ้าไม่จบปริญญาทางวิทยาศาสตร์จะขอทุนวิจัยในเรื่องเดียวกันกับที่วิทยาศาสตร์สนใจได้ไหม แนะนำตัวว่าไม่ได้จบอะไรแต่เป็นพ่อใหญ่มาจากหมู่บ้าน และวิธีวิจัยก็ไม่ได้ใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่อยากจะไปหาคำตอบด้วยวิธีการอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้ทำได้ไหม ทำไมทุนวิจัยเหล่านี้จึงไม่มีให้ชาวบ้าน หรือการทดลองอะไรบางอย่างทำไมจะต้องให้กับจารีตเดียวคือ จะต้องมีเครื่องมือสมัยใหม่ ต้องมีห้องทดลอง ทำไมไม่มีทุนในการที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปทดลองในอีกหลายเรื่อง

อันที่จริงการค้นพบทางเทคโนโลยีที่สำคัญหลายเรื่องเป็นการค้นพบของชาวบ้าน เช่น ในอดีตมีตัวอย่างของเจมส์ วัตต์ ใครต่อใครที่ประดิษฐ์เครื่องทอผ้า เขาเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปค้นคว้าเป็นเรื่องเป็นราว มันก็มาจากการลองผิดลองถูก หลาย ๆ เรื่องชาวบ้านทั่วไปก็น่าจะมีโอกาสลองผิดลองถูกแบบเดียวกัน ทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางโครงการหลายร้อยล้านบาท ถ้าแตกออกมาเป็นทุนให้ชาวบ้านลองผิดลองถูกกัน จัดสรรให้โครงการละแสนบาทก็จะได้งานวิจัยเรื่องข้าวปลา เรื่องป่า เรื่องเห็ด เรื่องอะไรต่อมิอะไรมากมายมหาศาล ทำไมจึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ที่ไม่สามารถทำได้ก็เพราะว่าคนไม่เชื่อว่าจารีตอื่นจะสามารถผลิตความรู้แบบวิทยาศาสตร์ได้ ทำไมจึงต้องมีความเชื่อแบบนั้น ทำไมปล่อยให้สถานการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น นี่เป็นผลที่ตามมาจากการที่ฟายเออราเบนด์ได้ตั้งคำถามในสองประเด็นข้างต้น

ประเด็นคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็น
ถาม เรื่องของวิธีวิทยาศาสตร์ ผมเติบโตมาในด้านของสังคมที่ใช้เหตุใช้ผลทางวิทยาศาสตร์ แต่ได้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ครั้งแรกผมไม่เชื่อว่าโดนของ จึงไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน ไปหาจิตแพทย์ เขาหาสาเหตุไม่พบ อยู่มาวันหนึ่งคุณอาชวนไปหาร่างทรง ร่างทรงบอกว่าถูกของมา สวดมนต์ สวดธรรมจักร จนผมรู้สึกตัวเหมือนปลาอยู่บนบก และตัวร้อนไปหมด รู้สึกตัวว่ามีอะไรบางอย่างกำลังเดินออกจากแขนขาไป ผมให้ค่ายกครูไปรวม 10 ครั้ง 60 บาท เมื่อผมหายแล้วก็มาศึกษากระบวนการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ใช้เวลา 6 เดือน พบว่าเรื่องนี้ไม่เป็นเป็นวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าเหตุที่สังคมอยากให้มีคำว่าวิทยาศาสตร์นั้น น่าจะเป็นเพราะปัจจุบันมีการหลอกลวงกันมาก เช่น ร่างทรง จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์มาควบคุม ส่วนการกราบไหว้พระแก้วมรกตและบนบานขอสิ่งของต่าง ๆ นั้น การกราบไหว้เป็นการแสดงความเคารพ แต่การบนบานนั้นเป็นความเชื่อในพราหมณ์ ไม่ใช่พุทธ

ถาม ที่วิทยาศาสตร์สามารถนำไปยืนยันและหักล้างจารีตอื่นได้ เพราะมีมาตรฐานและสามารถพิสูจน์ได้ แต่จารีตอื่นเช่น ความคิดความเชื่อเรื่องเหนือโลก ผี ในทำนองนี้ สังคมปัจจุบันไม่ยอมรับเพราะไม่มีมาตรฐาน ถ้าย้อนไปที่สังคมในอดีตที่วิทยาศาสตร์ยังไม่มีอิทธิพลแสดงว่ายังไม่มีมาตรฐาน ฟายเออราเบนด์น่าจะพิสูจน์เทพปกรณัมแล้วบอกว่าจริง

ตอบ ฟายเออราเบนด์ก็พูดถึง เขาเขียนไว้ในเล่มอื่น โดยเฉพาะเทพปกรณัมแบบกรีก มีเขียนไว้ เขาพยายามยกตัวอย่างให้เห็นว่า บางทีความเชื่อของเราบางอย่างอาจจะเป็นส่วนสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดผลที่ตามมา คือ ถ้าบอกว่าไม่เชื่อ ความรู้สึกที่บอกว่าไม่เชื่อนี้จะกลายเป็นส่วนที่ทำให้บางสิ่งบางอย่างไม่เกิดขึ้นจริง ๆ ฉะนั้นก็เป็นไปได้เมื่อความเชื่อบางอย่างถูกถอนออกไปแล้ว สิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดมันจึงไม่เกิด นี้เป็นประการแรก

ประการต่อมาก็คือว่า การที่ผู้คนประสบอะไรแตกต่างกันไป ต่างคนต่างเห็น ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับอะไรที่นอกเหนือจากประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชน นอกเหนือไปจากนี้วิทยาศาสตร์ไม่ยุ่ง แล้วก็ไม่เชื่อว่ามี ขึ้นอยู่กับความหัวดื้อของนักวิทยาศาสตร์คนนั้น ที่บอกว่าไม่ยุ่งหรือไม่เปิดใจกว้าง บางคนบอกว่าไม่เชื่อแล้วยังตามล่าตามจองล้างจองผลาญ แบบนี้ก็มี ก็คือว่าอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสปกติแล้ว วิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบอกว่ามีโยคี บางท่านบอกว่า ถ้าทำตามนี้แล้วจะไปจับพระจันทร์ได้ เราก็ต้องไปสร้างคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง แต่ในแง่ของวิทยาศาสตร์จะไม่ทำอย่างนั้น วิทยาศาสตร์ก็จะต้องสร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมา

อันที่จริง การทำความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ เราต้องใช้ความพยายามในการเรียนมาก จึงจะเข้าใจได้ แต่ในทำนองเดียวกันถ้ามีโยคีมาบอกให้นั่งสมาธิด้วยกันสัก 6 เดือนแล้วจะล่องหนได้ เขาก็มีสิทธิเรียกร้องให้ไปพิสูจน์ของเขา ผมไม่ได้บอกว่ามันมีจริงหรือไม่มีจริง เพียงแต่เปรียบเทียบว่าขณะที่วิทยาศาสตร์เรียกร้องให้เราไปเรียน กว่าที่จะเรียนแคลคูลัสเรียนฟิสิกส์ได้ มันต้องใช้เวลามากมายมหาศาล แล้วเราจะต้องฝึกในการคิดในการทำเป็นเวลานานมาก

ในอีกด้านหนึ่งตัวอย่างหมอยาพื้นบ้านมีชื่อเสียง มีคนไปถามหมอยาว่า ทำไมไม่หาคนสืบทอด แกก็ตอบว่ามันยากเพราะการผสมยาก็ใช้ญาณหยั่งรู้ว่าเป็นโรคอะไร ใบไม้ชนิดใดรักษาได้หรือไม่ได้ และเวลารักษาก็ไม่ได้คิดสตางค์อะไร มีแค่ค่ายกครู บางคนให้ไป 60 บาท แต่ถ้าไปรักษาหมอสมัยใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะรักษาหายหรือไม่ และอาจต้องเสียเงิน 6,000 บาทก็ได้ หมอยาท่านนั้นยังบอกอีกว่าเดี๋ยวนี้หาคนสืบทอดยาก เพราะคนไปเรียนหนังสือกันหมดแล้ว คำว่าไปเรียนหนังสือกันหมดแล้วหมายความว่า การไปเรียนหนังสือทำให้เกิดสภาพจิตบางอย่างที่ขวางกั้นความสามารถที่จะเกิดญาณทัศนะในบางอย่างได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่มันไปเปลี่ยนแปลงสภาพจิตบางอย่าง

การที่เราบอกว่า บางอย่างทำไมมันไม่เกิดผล เพราะ หนึ่ง ความเชื่อมันถอยลงไปก็เป็นไปได้ สอง หลายเรื่องสภาพจิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องมันเปลี่ยนไป เช่น ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ถึงขั้นตัดหน้าตาของมนุษย์ออกไปหมดก็คือ สิ่งนี้มันเกิดผลกับคน ๆ นี้ ก็จะต้องเกิดผลกับทุกคน ซึ่งการทำอย่างนี้หมายความว่าไม่มีการยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์ และความแตกต่างนั้นมันอาจจะละเอียดอ่อนมากเหมือนกับวิธีการรักษาโรคของธิเบต ซึ่งเอาความแตกต่างของกรรมในปางก่อนเข้ามาเป็นตัวแปรหนึ่งในการวินิจฉัยโรค ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไป

หมอพื้นบ้านจะดูว่าคนนี้มีธาตุอะไร ดิน น้ำ ลม หรือไฟ เพื่อดูว่าคนนี้เป็นอย่างไร แปรปรวนเพราะอะไร ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีน้ำหนักสำคัญมากนักในทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์อาจจะมีบ้างในเรื่องที่ต้องการให้มันแตกต่างกันไป คนไหนแพ้ยาตัวไหนก็คงมีอยู่ แต่ยาที่ทำมาก็คงต้องเหมือนกันหมด เป็นแคปซูลเหมือนกันหมด และถ้าไม่สามารถทำซ้ำแบบเดียวกันได้ก็ไม่ยอมรับ

ถ้าผมใช้วิชาคุณไสยมาแก้ ผมเชื่อผมก็ใช้ เพราะถ้าวิชานี้มันแก้ได้ ใครจะมาบอกว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นไร ผมจะลองใช้ ถ้าคุณไสยใช้ได้จริงก็น่าจะดำรงอยู่ได้ คนที่หลอกลวงโดยใช้คุณไสยก็มี ก็แบบเดียวกับที่แพทย์หลอกลวงคนไข้ โดยให้ยาปลอมก็มีมากมาย ไม่ใช่แค่เพราะอยู่ในจารีตหนึ่งจะมีแต่คนดี ๆ แล้วปฏิเสธวิชาชีพของคนอื่น

เราควรจะปฏิบัติต่อทั้งสองกรณีเหมือนกันก็คือว่า หมอเลวก็มี หมอแผนโบราณที่ให้ยาผิด ๆ ไม่รู้จริงก็มี ซึ่งก็ต้องจัดการกันไป แต่ไม่ใช่มาอ้างกันว่าเมื่อเจอกรณีที่ถูกหลอกกันแล้ว แสดงว่าพวกนี้จะหลอกทั้งหมดเหมือนกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าวิจัยออกมาหลอกลวงก็มีถมไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราเลิกเชื่อวิทยาศาสตร์ไปเสียทั้งหมด

ถาม แนวโน้มของวิทยาศาสตร์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ตอบ มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ จาคส์ โมโนด์ (Jacques Monod) เป็นนักชีววิทยาที่ศึกษาลึกลงไปในระดับโมเลกุลที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นเลิศ มีชื่อเสียง ต่อมาภายหลังเขาเริ่มมีทัศนคติในทำนองเดียวกัน มีความสงสัยว่า ทำไมคนเราถึงได้ยอมจำนนต่อวิทยาศาสตร์ขนาดนี้ เพราะว่า ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาศาสตร์ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับอีกหลายๆ เรื่องที่มนุษย์เรามี ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าผมเอาภาพอาจารย์ป๋วยที่แสดงไว้ในเสวนาคารนี้ไปแปลงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และรับรู้ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มันไม่มีความหมาย หรือการดูภาพจิตรกรรมฝาผนัง ก็มีความพยายามจะแปลงให้เป็นวิทยาศาสตร์ เอามาสแกนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ศึกษาด้วยวิธีการของวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะขาดมิติบางอย่างของการรับรู้

โมโนด์สงสัยว่า ทำไมมนุษย์ถึงได้ยอมอะไรมากมายขนาดนั้น เขาคิดว่าที่มนุษย์ทุกวันนี้ยอมตามวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เพราะเชื่อ หลายเรื่องก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์พูด แต่นักวิทยาศาสตร์พูดอะไรมาก็ต้องเชื่อไว้ก่อน และที่ยอมรับก็เพราะผลงานของวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่ผลงานในแง่ของความรู้ เป็นผลงานในแง่ของการสร้างความสะดวกสบาย ผลงานในแง่ของการสร้างชีวิตที่เกียจคร้าน ผลงานที่ทำให้สามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้มากขึ้น สิ่งนี้ต่างหากที่ทำให้คนลุ่มหลงในวิทยาศาสตร์

ฉะนั้น จาคส์ โมโนด์ จึงวิจารณ์วิทยาศาสตร์และผลงานของนักวิทยาศาสตร์ว่าทำให้คนเหมือนกับคนติดยาเสพย์ติด แต่เป็นการเสพย์ติดเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่ผลิตออกมาในนามของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ไม่แน่ว่าที่ยาบ้าแพร่หลายอยู่นี้ หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องของคนติดยาบ้า ยาเสพย์ติด อาจจะเป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งคนติดยาบ้าเพราะมันสนองแนวโน้มของคนเราทุกวันนี้ สิ่งต่าง ๆ ถูกสร้างมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกแรง ไม่ว่าแรงนั้นจะเป็นแรงอะไรก็ตาม แรงกายก็ดี หรือแม้กระทั่งการที่เราจะบรรลุความสุขบางอย่างเราก็ไม่ออกแรง แม้กระทั่งแรงจิต แรงมือ เช่น ถ้าคุณเล่นดนตรีเป็น คุณจะรู้ว่าการเล่นดนตรีแล้วได้ร้องออกมาทำให้เราบรรลุความสุขบางอย่างได้ แต่บางทีมันขี้เกียจขนาดดนตรีก็ไม่อยากเล่น ร้องก็ไม่อยากร้อง ฉะนั้นก็เลยกินยาเข้าไปทำให้สนุกตื่นเต้นดีกว่า นี่คือลักษณะแบบเดียวกับสิ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นที่ลุ่มหลง ทำให้คนติด

โยงไปถึงคำถามที่ว่า ทิศทางของวิทยาศาสตร์จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ผมคิดว่าทุกวันนี้ยังคงเป็นเหมือนเดิม วิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเป็นเหมือนเดิม และก็คงจะยังยึดอยู่กับแนวคิดเดิม ๆ ก็คือ คิดจะสร้างแต่ผลงานใหม่ ๆ ที่จะผลิตความสะดวกสบาย เมื่อเทคโนโลยีหนึ่งสร้างปัญหาแบบหนึ่งก็คิดเทคโนโลยีอีกแบบหนึ่งมาแก้ปัญหา จะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่ายังไม่สามารถข้ามพ้นแนวโน้มดังนี้ได้ และก็กระตุ้นความลุ่มหลงกันต่อไปอย่างที่ จาคส์ โมโนด์ พูดถึง อันนี้ก็จะเป็นกระแสหนึ่งที่พยายามจะมองไปข้างหน้าอยู่เรื่อย ๆ ด้วยความต้องการที่ไม่มีขีดจำกัด ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่บอกว่าโลกร้อน น้ำจะท่วมโลก นักวิทยาศาสตร์หรือคนที่เชื่อแบบที่ว่านี้ เขาก็จะไม่เปลี่ยน เขาก็จะย้ำความเชื่อต่อว่า แม้ว่าโลกนี้ไม่มีที่จะให้อยู่ เดี๋ยวเราก็จะไปอยู่กันที่ดาวอังคาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้เราไปอยู่ที่ดาวอังคารได้

ถ้าแร่ธาตุบางอย่างหมดไป เมื่อเราเจาะพื้นดินลงไป 30 เมตรไม่เจออะไร เราก็เจาะลงไปอีก 50 เมตร ไม่เจอก็เจาะลงไปเรื่อยๆ ก็คงจะเจอ แต่ถ้าเจาะลงไปแล้วไม่เจออะไร ก็ส่งยานอวกาศไปขนมาจากดาวพฤหัสได้ ผมคิดว่าแนวโน้มทางวิทยาศาสตร์แบบนี้คงไม่เปลี่ยน

แต่ขณะเดียวกันเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันหลาย ๆ คนเริ่มที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้มากขึ้นจากองค์ความรู้อื่น ๆ จากที่ผมยกตัวอย่าง จาคส์ โมโนด์, ฟายเออราเบนด์, ฟริตจ๊อฟ คาปร้า และอีกจำนวนไม่น้อย คนเหล่านี้เห็นว่า วิทยาศาสตร์เมื่อประสบข้อจำกัดในแบบที่เคยเป็นมาแล้ว ก็จะพยายามที่จะผนวกเอาสิ่งใหม่ ๆ หรือว่าตั้งโจทย์ใหม่ ๆ เพื่อที่จะตอบคำถามหลาย ๆ อย่างที่วิทยาศาสตร์มองข้ามไป

แต่ถ้าจะดูกันถึงที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์จะไปในทิศทางไหนก็ตาม มันตอบด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ ไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้ความสำคัญเลย ก็คือ การถามคำถามว่า ชีวิตอย่างไรจึงมีความสุข ? การมีชีวิตอย่างไรจึงจะเป็นชีวิตที่มีความสุข คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่เป็นวิทยาศาสตร์ ตอบไม่ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ คุณจะมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของมนุษย์ คุณก็ตอบไม่ได้ และการที่เราไปอยู่กับวิทยาศาสตร์มาก ๆ คำถามเหล่านี้ก็หลุดลอยไปเพราะไม่เคยถาม วิทยาศาสตร์จึงตอบไม่ได้

การที่วิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงได้นั้นก็มาจากคำถามประเภทนี้ที่ตอบไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่นักวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ สามารถที่จะตอบด้วยตัวเองเพื่อที่จะนำไปเปลี่ยนแปลงกระแสทางวิทยาศาสตร์ได้ ถ้าเราเชื่อว่าการมีชีวิตที่มีความสุขนั้นมีลักษณะที่เราจะต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราไม่ต้องรอให้น้ำท่วมโลก ไม่ต้องรอให้เกิด Global Warming ถ้าเราเชื่อว่าชีวิตที่มีความสุขคือ ชีวิตที่ได้ทำประโยชน์กลับคืนสู่ธรรมชาติ ถ้าเราเชื่อแบบนั้น เราไม่ต้องรอข้อมูลอะไรทั้งสิ้นมายืนยัน แล้วเราก็จะต้องค้นคว้าต่อไปว่า เราจะมีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อใบไม้ใบหญ้าได้ ต่อ หมู หมา กา ไก่ และการที่เราไปนั่งสวดมนต์ให้ดอกมะลิบานนั้นจริงไหม เราทำได้ เราค้นคว้าได้ สิ่งนี้ต่างหากที่จะเปลี่ยนกระแสทางวิทยาศาสตร์ได้

ถ้าจะให้ผมพยากรณ์กระแสทางวิทยาศาสตร์ ผมก็ต้องบอกว่าถ้าไม่เปลี่ยนคำถาม ไม่มีคำถามข้อนี้เกิดขึ้น ก็ไม่มีทางเปลี่ยน และการเปลี่ยนจะต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการตั้งคำถามข้อนี้ แล้วนำคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการตอบคำถามข้อนี้ไปใช้ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งจริง ๆ แล้วองค์ความรู้ทุกแบบมันมีคำถามแบบนี้แฝงอยู่ในนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ และจากสิ่งที่โมโนด์ได้บอกไว้ เราก็เห็นได้ว่า ความสำเร็จของวิทยาศาสตร์นั้น มันแฝงไว้ด้วยทัศนะแบบหนึ่งในการตอบคำถามว่า อะไรคือความสุขของชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สะดวกสบายขึ้นเรื่อย ๆ จนติด

ถาม อะไรที่หาคำตอบไม่ได้ก็เป็นไสยศาสตร์ ใช่หรือไม่
ถาม วิทยาศาสตร์ถูกให้คุณค่า มันเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความเข้าใจธรรมชาติ

ตอบ ทั้งสองประเด็นไม่เกี่ยวกันโดยตรง เราจะมีท่าทีอย่างไรดีต่อไสยศาสตร์ ผมคิดว่าไสยศาสตร์ก็คืออะไรที่เราเชื่อ แต่เราอธิบายไม่ได้ อะไรที่เราเชื่อและมันก็เกิดผลแต่เราอธิบายไม่ได้ เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ส่วนการไปหลงงมงาย มันเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่อง ไสยศาสตร์คือการที่เราเชื่อแบบนี้ ทำแบบนี้ แล้วมันได้ผลกับเรา แต่เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันได้ผล เพราะฉะนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับที่รถเราเสียแล้วคุณเข็นไปที่อู่ เราจ่ายสตางค์แล้วเขาบอกเราว่ารถวิ่งได้แล้ว เราก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมรถวิ่งได้แล้ว เขาอธิบายต่าง ๆ นานา เราก็ทำเป็นว่าเข้าใจ แต่ที่จริงพวกเราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ

ในกรณีนั้นมันเหมือนกันไหมกับการที่เราไปหาหมอยาแล้วเขารักษาเรา แล้วเราหาย มันอธิบายไม่ได้เหมือนกัน บางเรื่องบางคนรู้แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ถ้าไปถามคนที่รถเสียเอาเข้าอู่ออกมา มันวิ่งได้ ตรงนั้นคือไสยศาสตร์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วอธิบายไม่ได้คือไสยศาสตร์ ผมคิดว่าไสยศาสตร์สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะไม่จำเป็นที่เราจะต้องอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ได้

และไม่จำเป็นที่ว่า เมื่อเรานับถือพุทธศาสนาแล้วเราจะต้องอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างด้วยพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสว่าด้วยการดับทุกข์ หลายอย่างที่เกิดขึ้นมันยากและซับซ้อน จนเราก็ไม่สามารถที่จะอธิบายด้วยภาษาที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน หรือภาษาที่เราพูดกัน มันก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่อธิบายไม่ได้เราถือว่าเป็นไสยศาสตร์ ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นปฏิปักษ์กับตัวไสยศาสตร์หรือจะไปกำจัดมันทิ้ง ผมคิดว่าถ้ามีประโยชน์ ช่วยให้คนบรรเทาหรือพ้นจากความทุกข์ ก็เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ได้

ส่วนไสยศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้หลอกลวงผู้คนนั้น ก่อให้เกิดผลเสียเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนก็ต้องระวังและมีการเตือน หามาตรการป้องกันควบคุมเพื่อที่จะไม่ให้มีการฉ้อฉลขึ้น เรื่องนี้ก็เหมือนกับทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าพอเห็นผ้าเหลืองแล้วเราจะต้องยอมศิโรราบ ขออะไรก็ให้หมด แม้กระทั่งกับพระสงฆ์องค์เจ้า เราก็ต้องมีสติปัญญาตัดสินว่าองค์นี้เป็นอย่างไร เชื่อได้แค่ไหน หมอไสยศาสตร์ก็เหมือนกัน วิชาคุณไสยถ้ามีประโยชน์แล้วเราเชื่อ ถึงจะอธิบายไม่ได้ก็ทำไป และผมคิดว่าหลายตัวอย่างหลายกรณีทางวิทยาศาสตร์ ในการรักษาทางการแพทย์ก็เป็นแบบเดียวกัน ผมเคยพาคนไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอแผนใหม่ก็สันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา พอหายแล้วก็มาดูทีหลังว่า เพราะอะไรถึงหาย แล้วค่อยมานั่งรื้อทีหลังว่าขั้นตอนไหนเป็นสาเหตุของการหาย

ถาม ไสยศาสตร์ไม่ใช่พุทธศาสนา พระไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์ หมอดู ซึ่งไม่ใช่วิชาของพุทธ แต่พระบางรูปก็ยังนำไปใช้ ก็ดีถ้านำมาช่วยสังคม แต่ก็ต้องบอกกับญาติโยมด้วยว่าอันนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนให้คนไปปฏิบัติเอง

ตอบ ผมเห็นด้วยกับพระคุณเจ้าว่ามีความแตกต่างกันแน่นอนระหว่างพุทธศาสนากับไสยศาสตร์ แต่การที่คฤหัสถ์หรือฆราวาสจะไปเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์บ้าง ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เหมือนกับที่เราไปเกี่ยวข้องกับการแพทย์ก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรก็เกี่ยวได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องไสยศาสตร์กับพระสงฆ์นั้น ถ้าจะว่ากันตามกิจของสงฆ์ที่จะไปสู่การหลุดพ้น การที่จะไปหมกมุ่นอยู่กับอะไรก็ตาม จนลืมภารกิจหลักคือการหลุดพ้น แน่นอนว่ามันก็เป็นเดรัจฉานวิชาเหมือนกันหมด เพราะเดรัจฉานแปลว่าขวาง เป็นวิชาที่ขวางต่อการหลุดพ้น เพราะว่าไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ก็ควรที่จะรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร

ในขณะเดียวกันผมคิดว่าในบทบาทของพระสงฆ์ที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน กับอุบาสก อุบาสิกา กับคนทั่วไป การที่จะอาศัยสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการที่จะช่วยคลายทุกข์ของผู้คน ช่วยให้เขาได้ปรับสภาพจิตใจตัวเอง เพื่อที่จะนำเอาธรรมไปปฏิบัติต่อได้ ผมคิดว่าน่าที่จะทำได้ตราบใดที่รู้อยู่ว่ากำลังทำอะไร ในลักษณะเช่นนี้ก็เหมือนกับพระที่เป็นหมอดู ท่านก็ดูเพื่อให้คนรู้สึกสบายใจ ก็ตอบไปให้คนรู้สึกสบายใจเสียก่อนแล้วจึงค่อยสอน ถ้ายังฟูมฟายและจิตใจยังหวาดกลัวอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้

ส่วนคำถามของอีกท่าน ที่จะให้ผมฟันธงเรื่องวิทยาศาสตร์ ผมก็คงต้องตอบแบบกลาง ๆ ว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาส่วนไหน ว่ากันเป็นส่วน ๆ ไป เราพิจารณาในบริบททางประวัติศาสตร์ช่วงไหนเช่น บทบาทของวิทยาศาสตร์ในสังคมตะวันตกสมัยสองสามศตวรรษก่อน ในการปลดปล่อยสังคมตะวันตก จากการครอบงำของความเชื่อความคิดทางศาสนาบางแนวนั้นก็เคยมีอยู่ และเป็นคุณูปการที่สำคัญของวิทยาศาสตร์

การเกิดขึ้นมาของวิทยาศาสตร์ในช่วงสมัยก่อนต่อสู้กับความงมงายหลายอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องแม่มด จับผู้หญิงไปเผาเพราะคิดว่าผู้หญิงเป็นแม่มด เชื่อเรื่องลัทธิต่าง ๆ ที่ไม่จริง วิทยาศาสตร์มีประโยชน์มากที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ถูกท้าทายและค่อย ๆ สูญหายไป ฉะนั้นในสมัยก่อนนั้น วิทยาศาสตร์อยู่ในฐานะของพลังปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ สร้างเสรีภาพให้กับมนุษย์ในการที่จะไม่ถูกครอบงำ แล้วก่อให้เกิดผลหลายอย่างตามมา แน่นอนว่าในบริบททางประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกช่วงนั้น ก็ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางสติปัญญา ช่วยทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือการเบียดเบียนซึ่งกันและกันจำนวนมาก กรณีนี้ต้องถือว่าเป็นคุณมหาศาล

แต่ในปัจจุบันหรือช่วงหลังที่วิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นองค์ความรู้ที่ครอบงำเสียเอง เป็นองค์ความรู้ที่แนบแน่นกับระบบทุนนิยม และชนชั้นนำในสังคมพัฒนาทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้บทบาทตรงนี้ พลังที่เคยเป็นพลังปลดปล่อยกลายมาเป็นพลังครอบงำ เพราะฉะนั้นในบทบาทลักษณะอย่างนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์

ถ้าระเบียบแบบแผนมีเหตุผล ซึ่งผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ความคิดแบบใช้เหตุใช้ผลไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่จะมาผูกขาดได้เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าพุทธศาสนาก็สอนให้คนใช้เหตุใช้ผลเพื่อที่จะไปเปลี่ยนให้คนคิดและรู้จักตื่นขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ และถ้าจะมาในนามอะไร หรือมาในนามวิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นไร ผมก็เชียร์ได้

ถาม ถ้าเราเชื่อในฐานะที่เป็นระบบคุณค่า มันจะเป็นอุปสรรคหรือเป็นตัวขัดขวางการเข้าถึงความสุขที่แท้จริงหรือไม่

ตอบ สิ่งที่เป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์บางอย่างเมื่อกลายมาเป็นข้อสรุปในเชิงคุณค่า มันเป็นอุปสรรคแน่นอน มีการค้นพบที่อ้างว่า มนุษย์เราหรือที่วิทยาศาสตร์เรียกว่าโฮโมเซเปียน (สัตว์ที่รู้จักคิด) โดยธรรมชาติเป็นสัตว์ที่สำส่อน หลับนอนกันไม่เลือกหน้า นี่มีคนอ้างว่าเป็นธรรมชาติของโฮโมเซเปียน เพราะฉะนั้นเราก็เป็นโฮโมเซเปียน แล้วเราจะทำอย่างไร

จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ตอบคำถามเชิงคุณค่าไม่ได้ ถึงแม้โฮโมเซเปียนจะเป็นสัตว์ที่สำส่อน เราจำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นไหม หรือเราจะเลือกทำในอีกแบบหนึ่ง การเลือกนี้ไม่เกี่ยวกับข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้น

ถ้าวิทยาศาสตร์บอกว่าในธรรมชาติของสัตว์ แต่ละเผ่าพันธุ์มันฆ่ากัน กินกัน กัดกัน ต่อสู้แย่งชิงเพื่อที่จะอยู่รอด และสัตว์ที่แข็งแรงที่สุดย่อมอยู่รอด เผ่าพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดย่อมอยู่รอด ถ้าเรานำสิ่งนี้มาสรุปเป็นระบบคุณค่าก็เป็นอันตรายมาก กลายเป็นว่าคนแข็งแรงรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ก็ถูกต้องแล้วเพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น เหมือนกับที่ผมเคยคุยเรื่อง 6 ตุลากับหลายคน บางคนก็บอกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาก็เหมือนกับฉลามขาวกินลูกแมวน้ำ แปลว่า การเข่นฆ่ากันในวันนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เราจะสรุปอย่างนั้นได้หรือ

ฉลามขาวกินลูกแมวน้ำจะเอามาเป็นข้อสรุปทางคุณค่าไม่ได้ เหมือนกับข้ออ้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจเสรี ระบบการแข่งขัน ที่บอกว่าต้องปล่อยให้มีการแข่งขัน พวกที่แข็งแรงกว่าก็ชนะ จะไปโอบอุ้มคนที่อ่อนแอกว่าไม่ได้ รัฐสวัสดิการที่พยายามโอบอุ้มคนที่มีโอกาสน้อยหรือมีความสามารถน้อยกว่า ก็กลายเป็นเรื่องที่บอกว่าผิดธรรมชาติ กลายเป็นว่าธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ เป็นธรรมชาติของการเอารัดเอาเปรียบต่อสู้แย่งชิงแข่งขันกดดัน เอามาเปรียบเทียบกัน ถ้าเรายอมรับแบบนั้นก็เป็นอุปสรรค

ถาม ช่วยบอกรูปธรรม วิทยาศาสตร์ก็ถูกท้าทายจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ก็ท้าทายกันเอง อะไรคือวิทยาศาสตร์

ตอบ อย่างที่บอกไปแล้วว่าถ้าถามอะไรคือวิทยาศาสตร์ กระแสที่ท้าทายวิทยาศาสตร์ จริง ๆ ก็คือ การตั้งคำถามกับวิทยาศาสตร์ว่าองค์ความรู้แบบไหนถึงจะดี เหมาะสม เป็นประโยชน์ เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ผมก็บอกว่าจุดเริ่มต้นของมันไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้ มันจะต้องมาจากความสงสัยในคุณประโยชน์ ในความถูกต้องของวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ที่จะพัฒนาขึ้นมาต่อจากนั้น แล้วจะเบี่ยงเบนทิศทางของวิทยาศาสตร์ไป คุณจะยังเรียกว่าวิทยาศาสตร์หรือไม่ ผมก็ไม่สนใจ จะเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ หรือจะเรียกใหม่ว่า New Science หรือ Ecology Science หรืออะไรก็ได้ แต่แน่นอนว่าเมื่อเกิดการตั้งคำถามแบบนี้แล้ว ก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ นำไปสู่การท้าทายและแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ มันก็จบโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว

ถ้าจะถามว่ามันถูกท้าทายโดยองค์ความรู้อื่น ๆ หรือไม่ ผมคิดว่าไม่มีจารีตไหนที่ท้าทายตัวมันเอง หาได้ยากมาก แม้กระทั่งพุทธศาสนาก็ตาม การที่จารีตจะท้าทายตัวเอง ทำได้ยากมาก นี่คือความสำคัญที่จะต้องมีหลาย ๆ จารีตอยู่ด้วยกัน และไม่มีจารีตใดมีอำนาจครอบงำ เพราะมันจะท้าทายกันและกัน มันจะตั้งคำถามซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น จารีตแผนโบราณก็ย่อมสามารถตั้งคำถามแผนปัจจุบันได้ ความเข้าใจในเรื่องไตรภูมิพระร่วง ทำไมจะเอามาใช้ตั้งคำถามกับจักรวาลวิทยาของสตีเฟน ฮอร์กิงไม่ได้ มันอาจจะเป็นไปได้ก็ได้ นรก สวรรค์ แบ่งออกเป็นไตรภูมิ อาจจะมีจริงก็ได้ ทฤษฎีบิ๊กแบงทำไมจะถูกตั้งคำถามโดยความเชื่อแบบฮินดูไม่ได้ พระศิวะเต้นระบำรอบจักรวาลทำไมจะทำไม่ได้ ถ้ามีองค์ความรู้หลายอย่าง จารีตตั้งคำถามกันได้ จะช่วยให้ทุกจารีตสามารถอยู่ด้วยกันได้ และเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยลง ฉะนั้นผมคิดว่าการท้าทายที่มาจากจารีตที่ต่างกันก็คงเป็นสิ่งสำคัญ และก็มีอยู่ ผมคิดว่าเราคงต้องช่วยกันส่งเสริมให้มีขึ้นมา และก็ชี้ให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น

ถาม เรื่องของจิตวิญญาน เมื่อร่างกายตายแล้ว จิตวิญญาณออกจากร่างจะไปไหน ตรงนี้เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ จิตวิญญาณจะส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่ ร่างกายเป็นส่วนหนึ่ง จิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่ง มันส่งผลกระทบซึ่งกันและกันจะเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่

ตอบ มีนักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากเชื่อว่ามีจิต แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมากไม่เชื่อว่าจิตเป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากปฏิกิริยาทางเคมี ก็คือ จิตเป็นแค่ปฏิกิริยาทางเคมีซึ่งเกิดขึ้นมา แล้วดำรงอยู่ในสมอง อยู่ตามเนื้อตามตัวตามร่างกายเท่านั้น และสิ่งที่เรียกว่าจิตก็เป็นวิวัฒนาการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากับมนุษย์

ถ้าถามว่าเมื่อตายไปปฏิกิริยาทางเคมียังอยู่หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์บางสำนักก็ตอบว่าไม่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันต้องหายไปในทันที มันอาจจะมีปฏิกิริยาต่ออีกเล็กน้อย ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น การพิสูจน์ว่ามีจิตนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าเมื่อพิสูจน์ว่ามีจิตแล้ว จะแปลว่ามีชาติหน้า ไม่ใช่ว่าเมื่อพิสูจน์ว่ามีจิตแล้วจะต้องมีพระเจ้า ไม่ใช่ เพราะว่าจิตอาจจะเป็นแค่วิวัฒนาการอย่างหนึ่ง เป็นผลของวิวัฒนาการที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นจิต และจิตที่ขึ้นมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นปฏิกิริยาทางเคมีบนองค์ประกอบของเซลล์และดีเอ็นเอแบบมนุษย์ นี่เป็นข้อสรุปของบางสำนัก ส่วนเรื่องนี้จะมองจากแง่มุมอื่น ๆ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากทีเดียว

ถาม ผมเคยไม่เชื่อว่าคนเกิดใหม่แล้วจะระลึกชาติได้ แต่พอได้เข้าไปศึกษาลึก ๆ ส่วนมากจะเป็นกรณีของเด็ก ๆ ที่ตายไปแล้ว พอไปเกิดใหม่จำได้ว่าเคยอยู่ที่ไหน อย่างไร มักอยู่ในช่วงอายุประมาณ 5-7 ขวบ ผมกำลังศึกษาอยู่ว่ามันเป็นจริงหรือไม่ ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่า ตัวจิตนี้คืออะไร มีภาพยนตร์อเมริกันนำเสนอเกี่ยวกับคนตาย โดยพยายามจะพิสูจน์ออกมาว่าจิตวิญญาณเขายังอยู่ เขาก็ไปบอกกับแฟนเขาว่าใครเป็นคนฆ่าเขา นี่คือวิทยาศาสตร์หรือไม่ การระลึกชาติได้ก็พิสูจน์ไม่ได้ มันเป็นประสบการณ์ ทำไมเด็กจึงรู้ว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ โดยที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน จะอธิบายอย่างไร

ตอบ ไม่ทราบว่าเราสามารถอธิบายได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ หลายเรื่องนักวิทยาศาสตร์บางคนก็เชื่อแบบใจกว้างก็มี แบบใจแคบก็มี มีมากมาย จะตอบว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ก็ไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ของนักวิทยาศาสตร์ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะมันก็มีทัศนคติแตกต่างกันออกไป

อย่าง เบอร์ทรันด์ รัสเซลก็บอกว่า สิ่งที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ แสดงว่ามนุษย์รู้ไม่ได้ แล้วสิ่งที่มนุษย์จะรู้ได้ก็อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ได้ มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือที่ดี มีผู้แปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว ไม่ทราบว่ามีโอกาสอ่านกันหรือยัง "ภิกษุกับนักปรัชญา" เป็นหนังสือที่น่าสนใจเพราะเป็นการสนทนากันระหว่างพ่อกับลูก ผู้เป็นพ่อเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง ชื่อฟรังซัว เรอเวล เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงหลายเล่มด้วยกัน ลูกชื่อ ริการด์ ซึ่งก็เป็นลูกศิษย์ของจาคส์ โมโนด์ เป็นนักชีวโมเลกุลเช่นกัน เรียนจบปริญญาเอกแล้วเกิดสนใจพุทธศาสนา ในที่สุดก็บวชอยู่ที่ธิเบต เป็นลามะธิเบตมุ่งมั่นบำเพ็ญจิต และทำหน้าที่เป็นล่ามให้องค์ทาไลลามะด้วย

หนังสือเล่มนี้เป็นการสนทนากันระหว่างพ่อ ซึ่งเชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์แบบเต็มที่กับลูกที่เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์มาก่อน แล้วมาเชื่อตามพุทธศาสนสายธิเบต เป็นหนังสือที่น่าอ่าน มีบทหนึ่งที่สนทนากันเรื่องจิตว่า ตะวันตกมองอย่างไร ตะวันออกมองอย่างไร และถ้ามีจิตแล้วจิตมันอยู่ในลักษณะของอะไร ชาติหน้าชาติหลังมีจริงไหม ความหลุดพ้นมีจริงไหม ทำไมจะต้องไปหาความหลุดพ้น ในเมื่อจิตมันดับไปหลังจากตายแล้ว มันก็ดับไปจะต้องไปแสวงหาทำไมความหลุดพ้น จะหลุดพ้นไปก่อนหน้าเพียงไม่กี่ปีจะหลุดพ้นไปทำไม ในที่สุดมันก็เหมือนกัน มีการสนทนากันในเรื่องนี้อยู่หลายตอน

ถาม คิดว่าวิทยาศาสตร์ควรจะมีขอบเขตอย่างไร

ตอบ ผมคิดว่าความคิดของฟายเออราเบนด์ ต่อเรื่องนี้คือ วิทยาศาสตร์ควรมีขอบเขตในแง่ที่ว่า มันไม่ควรแทนความร่ำรวยของชีวิตมนุษย์ ของสังคมมนุษย์ หนังสือเล่มล่าสุดของฟายเออราเบนด์ที่เขายังเขียนไม่เสร็จ เสียชีวิตไปเสียก่อน แต่ก็มีคนเอาร่างมาตรวจแก้แล้วก็พิมพ์ออกมา ชื่อ Conquest of Abundance แปลเป็นไทยได้ว่า "การพิชิตความไพศาล" ความไพศาลหมายความว่า ชีวิตของเรา ของมนุษย์ ทั้งตัวเราเอง ทั้งการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งอารยธรรมมนุษย์ มีความร่ำรวยหลากหลาย หลายมิติ ทั้งศิลปะ บทกวี เทพเจ้า ตำนานโบราณ สารพัดสารพันมันร่ำรวยไปหมด แต่ทำไมเราถึงปล่อยให้จารีตเล็ก ๆ อันหนึ่งที่ชื่อวิทยาศาสตร์มากวาดเกลี้ยงเลย ทำไมเราถึงได้ยอมไปหมด

วิทยาศาสตร์ไม่ควรจะอยู่ในฐานะที่จะมาทำลายความร่ำรวยของศิลปะของการจัดดอกไม้ ความเชื่อที่มีเสน่ห์ อาจพิสูจน์ไม่ได้ก็จริง แต่มันปลดปล่อยทำให้มนุษย์ได้มีความสบายใจ มีศักดิ์ศรีกลับคืนมาได้ มีอยู่มากมาย ความเป็นมาของมนุษย์เรามีความร่ำรวยหลากหลายของมันอยู่ วิทยาศาสตร์มีได้ ดำรงอยู่ได้ แต่มันไม่ควรอยู่ในฐานะผู้พิชิตทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วแปลงทุกสิ่งทุกอย่างว่าจะต้องตอบเป็นภาษาเดียว พูดภาษาเดียว จะต้องทำให้เป็นนามธรรมหมด เป็นคณิตศาสตร์ให้หมด ถ้าอันไหนทำเป็นคณิตศาสตร์ไม่ได้ก็แปลว่าอันนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นความรู้ได้ แล้วก็อย่าไปยุ่งกับมัน ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มนุษย์ไม่ควรจะถูกพิชิตแบบนั้น ความไพศาลของชีวิตมนุษย์และสังคมมนุษย์ ไม่ควรจะถูกพิชิตในแบบนั้น ฉะนั้นวิทยาศาสตร์ควรจะมีขอบข่ายในลักษณะอย่างนั้น

ถาม การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นการก้าวก่ายได้ไหม

ตอบ ในความคิดของผม ขึ้นอยู่กับว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวแล้วไปจำกัดโอกาสของคนอื่นหรือไม่ เราต้องเข้าใจว่าสิ่งหนึ่งที่ตามมาในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็คือลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีทุนนิยมแฝงมาในวิทยาศาสตร์ เป็นเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่แฝงมาเรียบร้อย ก็คือ เมื่อวิทยาศาสตร์เข้าไปยุ่งไปแปลงข้อมูล ข้อมูลเหล่านั้นมีเจ้าของทันที ในขณะที่จารีตแบบอื่นไม่เคยต้องการจะเป็นเจ้าของ ใครอยากได้ยิ่งชอบใหญ่เอาไปเลย แต่ปรากฏว่าอันตรายของวิทยาศาสตร์โดยตัวมันเองจะถูกแปลงให้เป็นข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์

เหมือนกับนักมานุษยวิทยาฝรั่งที่ไปศึกษาลายผ้าประเทศลาว รวบรวมลายผ้าเสร็จก็เอาไปใส่รหัสในคอมพิวเตอร์ ทำเสร็จก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ลายผ้าเหล่านั้น ฉะนั้นถ้าต่อไปมีการทำซ้ำโดยใช้ลายผ้าที่ได้แปลงเป็นภาษาคอมพิวเตอร์เท่ากับละเมิดลิขสิทธิ์เขา และถ้าจะใช้จะต้องจ่ายเงินเขา ฉะนั้นต่อไปแม่หญิงในลาวถ้าเกิดมีคอมพิวเตอร์เข้าไปเกี่ยวข้องและจะต้องเอาลายผ้านั้นไปทำซ้ำ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องจ่ายให้เขาหรือไม่ นักมานุษยวิทยาคนนั้นจู่ ๆ เดินเข้าไปแล้วก็ไปขอความรู้ความคิดชาวบ้านเขามา เสร็จแล้วก็เอามาทำเป็นลิขสิทธิ์ของตัว ต่อไปชาวบ้านก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องจ่ายให้เขาหรือเปล่า ในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศก็เสร็จเลย ฉะนั้นอันตรายมันมีอยู่แน่ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะมีความสำคัญมากในอนาคตอันใกล้นี้

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

1