ยุทธวิธีคนจนกับการต่อสู้เชิงนโยบาย
บทเรียน และประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคม
และ การเมืองของภาคประชาชนในช่วงหลัง วิกฤติเศรษฐกิจ (2540-2545)
ประภาส ปิ่นตบแต่ง และ กฤษฎา บุญชัย
1. ความนำ
ในช่วง ทศวรรษ 1980s มีการอธิบายสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคมไทยระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจว่าเป็นในรูปแบบที่
อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เรียกว่า "ภาคีรัฐ-สังคมแบบเสรีนิยม" (Anek Laothamathas,
1993) องค์กร สมาคม บรรษัท ฯลฯ สามารถเข้ามาแบ่งอำนาจในกระบวนการนโยบายผ่านกลไกสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ เช่น คณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน(กรอ.) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ
ภาคธุรกิจยังสามารถเข้าไปร่วมส่วนทางอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ในขณะที่ระบบราชการและทหารยึดพื้นที่อำนาจไว้โดยการอาศัยสภาแบบแต่งตั้งคือ
วุฒิสภา ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2522 หรือเป็นภาพ "การเมืองยุคการประนีประนอมอำนาจ"
ระหว่างภาคธุรกิจซึ่งเป็นองค์กรนอกระบบราชการกับระบบราชการ อันเป็นลักษณะการเมืองไทยในช่วงหลังเหตุการณ์
6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา
แต่ในทศวรรษ 1990s เราเห็นภาพองค์กรนอกระบบราชการ ที่มากไปกว่าภาคหรือองค์กรธุรกิจที่เรียกกันว่า ภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนได้ขยายตัวเติบโตเป็นอย่างมาก(ดู Prudhisan Jumbala and Maneerat Mitprasat, 1999) และได้ปรากฏให้เห็นว่า ภาคประชาชนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในสัมพันธภาพทางอำนาจตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980s จนถึงทศวรรษ 1990s โดยมีการรวมตัวกันของประชาชนในส่วนของคนจน คนด้อยอำนาจ ด้อยโอกาสในสังคม คนชั้นกลาง ฯลฯ ในลักษณะกลุ่ม องค์กร ทำการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยมีจุดหมาย ความต้องการ ข้อเรียกร้องในหลายด้าน เช่น การสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่ขยายจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน การเรียกร้องให้รัฐรับรองสิทธิการเข้าถึงในทรัพยากรของสังคม สิทธิในวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ฯลฯ โดยมียุทธศาสตร์ แนวทางการเคลื่อนไหวผลักดันในรูปลักษณะต่างกันออกไป
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบให้เกิดพัฒนาการทางสังคมการเมืองไทยในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน อาทิ เกิดวัฒนธรรมการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น เกิดสิทธิของประชาชนในรูปแบบใหม่ เกิดการปฏิรูปสถาบันทางสังคมอย่างรอบด้าน เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนการภาคประชาชนได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาสังคมการเมืองไทยที่ขาดเสียมิได้ โดยเฉพาะในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ ที่สถานการณ์ของสังคมไทยและสังคมโลก ประสบกับภาวะการผันเปลี่ยนอย่างรวดเร็วหรือวิกฤตที่ซับซ้อนรอบด้าน การเข้ามาสังเคราะห์และกำหนดทิศทางของสังคมร่วมกันจากทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้การเมืองภาคประชาชนจะมีความสำคัญและเติบโตมากขึ้นเป็นลำดับ แต่การศึกษาทำความเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กลับมิได้เป็นไปอย่างกว้างขวางเพียงพอ ส่งผลให้สังคมการเมืองไทยขาดความเข้าใจต่อการเมืองแบบใหม่ที่เกิดขึ้น การเมืองภาคประชาชนกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสายตาของภาครัฐ นักวิชาการและสถาบันการศึกษาก็ยังจำกัดตนเองอยู่มาก ในการเข้ามาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ภายในขบวนการภาคประชาชนก็มีความต้องการที่จะร่วมกันสรุปบทเรียน สังเคราะห์ประสบการณ์การเคลื่อนไหว องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาตัวขบวนการเอง
เอกสารชิ้นนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ "สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของภาคประชาชน" ที่เกิดขึ้นเพื่อหนุนเสริมให้มีการประเมินติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมของการเมืองภาคประชาชน เพื่อให้เห็นสถานการณ์ของปัญหาหรือความต้องการใหม่ ๆ ในสังคม รูปลักษณะของการรวมตัวแบบใหม่ การขยายตัว จุดหมาย ประเด็นการเคลื่อนไหวในบริบททางเศรษฐกิจ-การเมือง รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับรัฐ ท่าทีในเชิงนโยบาย การตอบโต้จากรัฐหรือสถาบันที่เป็นทางการ บทเรียนที่เป็นปัจจัยความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ในสังคมการเมืองไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป
และที่สำคัญ โครงการนี้ต้องการที่จะหนุนเสริมให้ภาคประชาสังคม ได้สร้างกระบวนการจัดการข้อมูลและความรู้ที่เกิดขึ้นจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยตนเอง เพื่อใช้ในการพัฒนาขบวนการของตน และเพื่อให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยงและสังเคราะห์นโยบายร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
โครงการดังกล่าวนี้ได้มีการประสานความร่วมร่วมมือกันระหว่างสถาบันทางวิชาการ และเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองภาคประชาชน 9 เครือข่าย โดยได้มีการจัดให้มีการสรุปบทเรียนในแต่ละเครือข่ายและจัดทำเป็นเอกสาร บทความชิ้นจึงเป็นการสังเคราะห์ ประมวลสรุปจากเอกสารสรุปบทเรียนดังกล่าวนี้
2. บริบททางเศรษฐกิจ-การเมืองและรากเหง้าของปัญหาเชิงโครงสร้าง
การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของภาคประชาชนในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากปลายทศวรรษที่
2520 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐและภาคธุรกิจรุกเข้าไปใช้ฐานทรัพยากรของชุมชนชายขอบของสังคมอย่างกว้างขวาง
และปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ยิ่งขมึงเกลียวมากยิ่งขึ้นในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี
2540 ขบวนการเหล่านี้จึงมีรากเหง้าปัญหาในเชิงโครงสร้างร่วมกันที่สำคัญบางประการคือ
ประการแรก ปัญหาของลักษณะการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอและสะสมปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมในสังคม ซึ่งผลักดันให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนชายขอบของสังคม ดังกรณีปัญหาของเกษตรกรรายย่อย ชาวนาชาวไร่ คนงาน ชาวสลัม ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงเกี่ยวกับการสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม ตลอดจนถึงปัญหาปากท้อง และปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐและภาคธุรกิจที่เข้าไปรุกรานชีวิตของผู้คน และชุมชนเหล่านี้
ประการที่สอง ปัญหาวิกฤติของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในสังคมไทย ซึ่งระบุสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคมให้คนชั้นกลาง นักธุรกิจมีอำนาจครอบงำ ครอบครองสามารถเข้าถึง อำนาจในการใช้กลไก และช่องทางการเมือง และสามารถผลิตและช่วงชิงวาทกรรมหลักของสังคม เช่น วาทกรรมเกี่ยวกับการพัฒนา โลกาภิวัตน์ ธรรมรัฐ ประสิทธิภาพ ประชาสังคม เบญจภาคี ฯลฯ ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกับปัญหาประชาธิปไตย การช่วงชิงวาทกรรมนิยาม "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม-ประชาธิปไตยรากหญ้า-ชุมชนาธิปไตย vs ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" "ชุมชนนิยม vs โลกาภิวัตน์" ฯลฯ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากเครือข่ายต่างๆ ทั้ง 9 เครือข่าย
ประการที่สาม เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาได้ผนวกสังคมไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกอย่างซับซ้อน และระบบเศรษฐกิจไทยยังต้องขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโลก พร้อมๆ กับก่อรูปเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาทุนนิยมศูนย์กลางกับส่วนรอบข้าง โดยที่ประเทศไทยต้องพึ่งพิงทุนนิยมศูนย์กลางในด้านการส่งออก นำเข้า เงินทุน เงินกู้ และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี รัฐไทยจึงมีความเป็นอิสระค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ชนชั้นนายทุนไทยยังมีอิทธิพลสูงในการเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งจากการที่รัฐไทยมีความเป็นตัวของตัวเองต่ำ ทำให้ขาดความชอบธรรมในการกำหนดนโยบาย (สมศักดิ์, 2545 :1-2) ดังจะเห็นได้ว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจการกำหนดนโยบายสาธารณะภายใต้เงื่อนไขกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ล้วนกระทบกับคนจน คนชายขอบ ขบวนการประชาชนที่เกิดขึ้นจึงมักเกี่ยวข้องกับกับการต่อต้านนโยบายสาธารณะเหล่านี้
โดยการผลักดันของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และเทคโนแครตที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศแบบเสรีนิยมมาตลอด ทำให้รัฐไทยในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจได้กำหนดนโยบายตามทิศทางทุนนิยมโลกอย่างเคร่งครัด ชุดนโยบายหลักๆ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เปิดเสรีตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การปรับรื้อกฎหมาย กลไกต่างๆ และการแปรรูปทรัพย์สินสาธารณะทุกประเภท ทั้งที่เป็นระบบสวัสดิการสังคม อย่างรัฐวิสาหกิจ และการแปรรูประบบกรรมสิทธิ์ทรัพยากรให้เป็นของเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบแก่กลุ่มทุน บรรษัทข้ามชาติอย่างสมบูรณ์แบบ
รูปธรรมของนโยบายเหล่านี้ เช่น การออกกฎหมาย 11 ฉบับในปี 2542 ที่เปิดทางให้ทุนข้ามชาติเข้าครอบครองทรัพยากรที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ประกอบธุรกรรมอย่างอิสระ การเตรียมออกกฎหมายการจัดการทรัพยากรน้ำและกลไกต่างๆ ตามเงื่อนไขของธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก เพื่อแปรรูปการจัดการน้ำให้เป็นสินค้าของกลุ่มทุน จนมาถึงนโยบายการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนของรัฐบาลทักษิณ ที่กำลังจะเริ่มปฏิบัติการในปี 2547 ซึ่งแม้จะไม่ได้ดำเนินตามกรอบขององค์กรข้ามชาติ แต่ก็ยังเป็นไปในทิศทางทุนนิยมเสรีทุกประการ
นอกเหนือจากการออกกฎหมายใหม่ ปรับแก้กฎหมายเดิมตามกรอบทุนนิยมโลก รัฐไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจก็ได้ขัดขวางแนวทาง นโยบายต่างๆ ที่มีทิศทางเพิ่มอำนาจการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อทรัพยากร เช่น การไม่สนใจผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่เป็นร่างกฎหมายฉบับแรกของประชาชน การเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนให้มีการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
การไม่ยอมทบทวนนโยบาย กฎหมายด้านพลังงาน ที่ผูกขาดอำนาจอยู่ที่รัฐ การเลือกปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่ยังไม่ยอมให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับการประกันการว่างงาน กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตรอย่างเต็มที่ การเตะถ่วงต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนสลัมในเชิงนโยบาย แต่กลับสร้างโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร และอื่นๆ ที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนสลัมแม้แต่น้อย รวมทั้งการใช้มาตรการอย่างรุนแรงกับประชาชนที่คัดค้านโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของพวกเขา เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ เป็นต้น
3. เครือข่ายและจุดหมายของการเคลื่อนไหว
3.1. เกษตรกรรายย่อย คนจน คนชายขอบในชุมชนท้องถิ่นชนบท
กรณีการเคลื่อนไหวของสมัชชาเกษตรกรรายย่อย จะเห็นได้ว่า รากเหง้าของปัญหาชาวไร่ชาวนาที่ต่อเนื่องจากประวัติศาสตร์การถูกเอารัดเอาเปรียบของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งได้แก่ปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิต ที่ดินทำกินซึ่งมีการกระจุกตัว เกษตรกร 8 แสนครอบครัวไร้ที่ดินทำกิน และเกษตรกร 1.5 ล้านครอบครัวมีที่ดินไม่พอทำกิน ปัญหาการถูกเอาเปรียบจากระบบการตลาดด้านราคาพืชผล ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ดังที่สำนักเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปี 2542 มีเกษตรกรที่เป็นหนี้สิน 3.05 ล้านครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 55.0 ของเกษตรกรทั้งหมด (5.6 ล้านครัวเรือน) โดยมีหนี้เฉลี่ย 37,019 บาทต่อครัวเรือนภาพปัญหาเกษตรกรที่ยากจนอีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นจากจำนวนเกษตรกรที่ยากจนตามเส้นความยากจน ซึ่งพบว่า จำนวนคนจนที่เป็นเกษตรกร ในปี 2543 มีถึง 5.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.6 ของคนจนทั้งหมด และที่เป็นคนงานเกษตรอีกร้อยละ 16.9 หรืออาจกล่าวได้ว่ามีคนจนในภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 81.5 ของคนจนทั้งหมด
หากใช้เกณฑ์ของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งให้ภาพของผู้ยากจนคือ ผู้ที่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของหรือครอบครอง "ทรัพยากร" สำคัญที่ใช้ในการผลิต เช่น ที่ดิน ทุน จะพบว่า ความยากจนของเกษตรกรเมื่อมองจากปัญหาการถือครองที่ดินทำกิน เกษตรกรที่ไร้ที่ดินและเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ซึ่งสามารถประมาณการณ์เกษตรกรยากจนได้ว่า มีครัวเรือนเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอราว 1.5 ล้านครอบครัว หรือราว 6.75 ล้านคน และเกษตรกรที่ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน 1.2 ล้านครัวเรือน หรือราว 5.5 ล้านคน
นอกจากนี้ หากมองจากปัญหาเรื่อง "ทุน" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต สามารถพิจารณาได้จากเกษตรกรทั่วประเทศราว 5.6 ล้านครอบครัว จำนวนราว 20-30 ล้านคน มีเกษตรกรที่เป็นหนี้สินจำนวนราว 5 ล้านครัวเรือน โดยมีปริมาณหนี้รวมกันทั้งสินราว 4 แสนล้านบาท เกษตรกรยากจนเหล่านี้ส่วนหนึ่งสามารถระบุได้จากเกษตรซึ่งเป็นสมาชิกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร และยังสามารถระบุได้จากการเคลื่อนไหวของเกษตรกรรายย่อยที่มีการรวมตัวกันตั้งแต่ ปี 2535 ภายใต้ชื่อ "สมัชชา" ต่างๆ และในปัจจุบันได้มีการแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ราว 10 กลุ่มสมัชชาเกษตรกรราย่อยเป็นการรวมตัวของเกษตรกรกลุ่มใหญ่ในภาคอีสานที่มีรากเหง้าปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวนี้ และได้ขยายขอบเขตของกลุ่ม สมาชิกครอบคลุมทั่วประเทศในช่วงปี 2544
ในขณะที่สมัชชาคนจน เป็นเครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน อันเนื่องมาจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ละเลยภาคเกษตรกรรม แนวทางการพัฒนากระแสหลักนี้ได้นำมาซึ่งการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ คนจนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมถูกละเลย ชุมชนไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ทรัพยากรถูกทำลาย ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกรถูกแย่งชิง การประกาศใช้นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทำลายทรัพยากรและทำลายชุมชน การพัฒนาเกษตรแผนใหม่ที่เน้นการใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ได้ทำลายสภาพดินและสภาพแวดล้อม
ขณะที่เกษตรกรรมที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ เช่น เกษตรปลอดสารเคมี เกษตรผสมผสาน เกษตรยั่งยืน วนเกษตร ไม่มีการรองรับในเชิงนโยบายและการหนุนช่วยด้านทรัพยากร เหตุเหล่านี้ทำให้คนจนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระดมความคิด เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาในระดับปากท้องที่เกี่ยวข้องกับตนเองและปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม
สมัชชาเกษตรกรรายย่อยคือ เกษตรกร ชาวนาชาวไร่รายย่อยที่มีปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบในระบบเศรษฐกิจการตลาด แต่สมัชชาคนจนคือ คนจนที่อยู่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ และมีปัญหาจากการถูกรุกรานฐานทรัพยากรจากโครงการรัฐ ในขณะที่กรณี สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ประกอบด้วยคนจนทั้งสองลักษณะกล่าวคือ ทั้งเกษตรกรรายย่อย และคนจนในชุมชนชายขอบของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกินในเขตป่า และปัญหาในด้านอัตลักษณ์ เนื่องจากความเป็นชนกลุ่มน้อยที่ดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากนโยบายการรวมศูนย์อำนาจจัดการทรัพยากรของรัฐ และการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าตักตวงทรัพยากร ทำให้เกิดแรงตึงเครียด การแย่งใช้ทรัพยากรในพื้นที่ อันเป็นผลให้ประเด็นอคติทางชาติพันธุ์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ออกจากการใช้ทรัพยากร
ดังเช่น กรณีความขัดแย้งเรื่องร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "ชาวเขา""มีสิทธิได้จัดการป่า หรือกรณีความขัดแย้งคนต้นน้ำกับปลายน้ำที่อำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่คนพื้นราบและกรมป่าไม้ใช้ข้ออ้างเรื่องความเป็น "ชาวเขา" กับการทำลายป่า มาเพื่อต้องการอพยพกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงออกจากป่า
แม้ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต่อประชาชนในส่วนต่างๆ ในภาคชนบทจะไม่เท่าเทียมกัน แต่เมื่อมองภาพรวมก็จะเห็นผลกระทบในลักษณะรุนแรงมากขึ้น ชุมชนชายขอบ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่า ได้รับแรงกดดันจากนโยบายหวงกันป่าและการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐมากขึ้น ดังเห็นได้จากความตึงเครียดระหว่างกลุ่มสมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่ยอมมีมาตรการใดๆ ที่จะแก้ไขปัญหาที่รัฐไปลิดรอนสิทธิในที่ดินทำกินในเขตป่าของชุมชนที่ตกอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ไม่ต่ำกว่า 460,000 ครัวเรือน ขณะที่ชุมชนนอกเขตป่าก็เผชิญปัญหาการสูญเสียทรัพยากรอย่างหนักหน่วง การสำรวจของมูลนิธิสถาบันที่ดินในปี 2545 พบว่า มีเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินไม่ต่ำกว่า 800,000 ครัวเรือน พร้อมกับภาวะหนี้สินของเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท
จากความล้มละลายในการจัดการเศรษฐกิจที่ผันผวน การเคลื่อนย้ายหมุนเวียนของแรงงานที่ออกจากภาคเกษตรและไม่สามารถกลับคืนสู่ภาคเกษตรได้จำนวนมหาศาล ปรากฏการณ์เหล่านี้เชื่อมโยงส่งผลกระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ โดยที่นโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ใช้อยู่ไม่สามารถไปแก้ปัญหาในระดับรากฐานได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน รักษาโรค 30 บาท นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพราะนโยบายเหล่านี้ไม่นำไปสู่การกระจายอำนาจให้ชุมชน และประชาชนเข้าถึงทรัพยากร และกำหนดระบบการผลิตบนเงื่อนไขของตนเองได้อย่างแท้จริง
ขบวนการเคลื่อนไหวคนจนชนบทในภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาเกษตรกรรายย่อย สมัชชาคนจน สหพันธ์กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ หรือสหพันธ์ประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาภาคตะวันออก ยังคงวางเป้าหมายที่การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างนโยบายให้เกิดการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร สิทธิเกษตรกรในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต และเกิดระบบ สถาบันรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตลอดจนมุ่งให้รัฐเข้ามาหนุนเสริมและปกป้องเกษตรกร มิให้ถูกรุกรานจากทุนโลกาภิวัตน์
หากเทียบเป้าหมายการเรียกร้อง ณ เวลานี้กับในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ขบวนการประชาชนพัฒนาเป้าหมาย และยุทธศาสตร์เชิงซ้อนมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ขบวนการชนบทแต่ละกลุ่มกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน
-สมัชชาคนจนมุ่งไปที่การเรียกร้องกดดันรัฐให้ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้รับรองสิทธิชุมชน อันเป็นปัญหาสำคัญของคนจนชนบทที่ยังมีฐานอิงกับทรัพยากรธรรมชาติ
-ขณะที่สมัชชาเกษตรกรรายย่อยเรียกร้องปัญหาหนี้สิน ประกันราคาพืชผล และกองทุนเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวของเกษตรกรรายย่อยในระบบตลาด ซึ่งน้ำหนักข้อเรียกร้องมิได้มุ่งเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการทรัพยากร และมิได้ตั้งคำถามต่อแนวคิดการพัฒนากระแสหลักเท่าใดนัก
-แต่การเกิดขึ้นของสหพันธ์กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ที่มีพัฒนาการมาจากขบวนการประชาชนที่หลากกลุ่ม หลากปัญหา และสหพันธ์ประชาชนเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาภาคตะวันออก ที่สู้ทั้งปัญหาทรัพยากรและปัญหาการทำกินด้วยนั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า ลำพังยุทธศาสตร์เชิงเดี่ยว อย่างเช่น สมัชชาคนจน และสมัชชาเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถขยายฐานมวลชนเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นขบวนการในยุคหลังจึงมุ่งสร้างยุทธศาสตร์เชิงซ้อนที่ตอบสนองทั้งชุมชนที่อิงฐานทรัพยากรซึ่งกำลังรัฐและทุนแย่งยึด และเกษตรกรรายย่อยที่อิงกับกลไกตลาด
อย่างไรก็ตาม การสร้างยุทธศาสตร์เชิงซ้อนหลากหลายเช่นนี้ ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาการจัดความสัมพันธ์ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในขบวนการเองที่มีระดับยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน ว่าจะดึงความหลากหลายเหล่านี้มาหนุนเสริม สร้างเป็นชุดนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนที่เข้มแข็งได้อย่างไร ดังเช่น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จะเชื่อมกลุ่มเรียกร้องพ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่พัฒนาชุดวิเคราะห์ไปไกลถึงสิทธิชุมชนต่อระบบนิเวศ การพึ่งตนเองในด้านภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากร โดยสร้างนโยบาย กฎหมายภาคประชาชน และใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในการเปิดพื้นที่การต่อสู้แนวใหม่ กับกลุ่มปัญหาที่ดิน ที่บุกยึด "ปฏิรูปที่ดิน" ด้วยแรงกดดันกลไกตลาด หรือกลุ่มปัญหาหนี้สิน ราคาพืชผล ที่ยังเป็นโจทย์ดั้งเดิมของเกษตรกรที่ตกอยู่ในกรงขังของระบบตลาดได้อย่างไร กระบวนการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มที่มียุทธศาสตร์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันยังเป็นที่ท้าทายขบวนการเคลื่อนไหวคนจนชนบทในยุคนี้
เมื่อพิจารณาถึงการขับเคลื่อนทางนโยบาย ยุทธวิธีการรวมพลัง การชุมนุมเรียกร้องให้มีกลไกร่วมพิจารณาแก้ปัญหาทั้งระดับพื้นที่และนโยบายเริ่มเผชิญข้อจำกัด เมื่อรัฐใช้ยุทธวิธีแย่งยึดวาทกรรมทางนโยบายเพื่อ "ประชาชน" ดังเช่น รัฐบาลทักษิณ ซึ่งได้ปฏิบัติการทางการตลาดเพื่อคนจนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน รักษาโรค 30 บาท การพักชำระหนี้เกษตรกร และอื่นๆ จนสังคมขนานนามว่าเป็น "รัฐบาลประชานิยม"
กระบวนการแย่งยึดทางวาทกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการผลิตซ้ำวาทกรรมว่าด้วย NGOs ซึ่งมีนัยของความเป็น "มือที่สาม" "การแทรกแซงจากต่างชาติ" ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมผลิตขึ้นเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้เพื่อทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวประชาชน ผลที่เกิดขึ้นคือรัฐสามารถขีดวง ล้อมกรอบ ขบวนการเคลื่อนไหวให้แยกขาดจากสาธารณะหรือกลายเป็นอื่นไปจากสังคมไทยได้ เงื่อนไขความรุนแรงจึงบังเกิดขึ้นได้โดยมีสาธารณชนเพิกเฉยหรือสนับสนุน ดังกรณีขบวนการคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ที่รัฐล้อมปราบในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
สถานการณ์เช่นนี้ได้สร้างความยากลำบากของขบวนการเคลื่อนไหวภาคชนบท แม้การสร้างยุทธศาสตร์เชิงซ้อนเพื่อขยายฐานมวลชนจะเป็นการปรับตัวด้านหนึ่ง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอต่อการช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมให้กว้างขึ้นได้ ความเหลื่อมซ้อน คลุมเครือระหว่างบทบาทของขบวนการชาวบ้านกับขบวนการเอ็นจีโอ ยังเป็นจุดอ่อนที่รัฐหยิบมาใช้โจมตีอย่างได้ผล
โจทย์สำคัญ ณ เวลานี้จึงอยู่ที่จะขยายพื้นที่ทางสังคม แสวงหาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่หลากหลายโดยเฉพาะกับคนชั้นกลางอย่างไร จะสร้างข้อต่อทางการเมืองที่หลากหลาย และกำหนดยุทธวิธีที่ยืดหยุ่น พลิกไหวตามสถานการณ์ได้อย่างไร จะต่อสู้ทางความรู้แบบไหน ที่นอกเหนือจากการชุมนุมกดดัน โจทย์เหล่านี้จะคลี่คลายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปรับโครงสร้างของขบวนการไม่ใช่น้อย เพราะองค์ประกอบ และกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพยากที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงได้
3.2. ขบวนการเคลื่อนไหวคนจนเมือง
กรณีศึกษาเครือข่ายคนจนในเมืองกลุ่มใหญ่สองกลุ่มคือ คนงานและคนสลัม เครือข่ายสลัมคือ คนจนที่อยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยตามกลไกตลาดทั่วไป โดยส่วนใหญ่อพยพมาจากชนบท ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากผลพวงของการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เริ่มมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2504 การพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างเมืองและชนบท ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและบริการกับภาคเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรล้มละลายต้องอพยพสู่เมืองเพื่อหางานทำแต่แรงงานอพยพเหล่านี้มีการศึกษาตามระบบน้อย จึงทำงานได้เพียงงานที่ใช้แรงงาน ซึ่งได้ผลตอบแทนต่ำเกินกว่าจะหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพราะที่อยู่อาศัยในเมืองมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะราคาที่ดิน พวกเขาจึงต้องบุกเบิกที่ดินว่างเปล่าซึ่งไม่มีผู้ใดแสดงกรรมสิทธิ์ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย จนปัจจุบันมีชุมชนแออัดทั่วประเทศอยู่ราว 3.2 ล้านคน
นอกจากปัญหาสำคัญเรื่องการไล่รื้อ ชาวชุมชนแออัดต้องประสบปัญหาด้านสาธารณูปโภค หลายประการ เริ่มตั้งแต่ การขอทะเบียนบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่า ผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเพราะปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ เกรงว่า การออกทะเบียนบ้านเท่ากับเป็นการยอมรับการบุกเบิกของชุมชน ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน จากการต่อสู้เป็นรายชุมชน ได้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสลัม 4 ภาคและเคยเจรจากับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจน ปัจจุบันแม้รูปการณ์ของการไล่รื้อจะลดความรุนแรงลง แต่ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ยังเป็นปัญหาที่แฝงลึกอยู่ทุกชุมชน
ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ภาพรวมของสถานการณ์ไล่รื้อไม่รุนแรง ทั้งผลจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้เจ้าของที่ดินไม่เร่งเร้าที่จะขับไล่ชุมชนเพื่อนำที่ดินไปลงทุนเชิงธุรกิจ และผลของงานพัฒนาด้านชุมชนแออัดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ช่วยทำให้สังคมตระหนักว่า ไม่ควรไล่รื้อชุมชนด้วยความรุนแรงแบบเก่า แต่ชุมชนก็ยังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะไม่มีหลักประกันว่าชุมชนจะอยู่ต่อไปได้นานเพียงใด ถึงวันหนึ่งที่เจ้าของที่ดินต้องการใช้ที่ดินชุมชนก็ต้องยอมรื้อย้าย และที่รองรับก็มักจะอยู่ไกล สถานการณ์เช่นนี้จึงเรียกว่า การไล่รื้อไม่รุนแรง แต่ก็ไม่มีความมั่นคง ซึ่งนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยของคนสลัมว่าด้วย สิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงในเมือง โดยใช้แนวทางปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยเดิม และรับรองความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การต่อสู้จึงมุ่งไปยังประเด็นสำคัญคือ พ.ร.บ.ชุมชนแออัด คณะกรรมการชุมชนแออัดระดับชาติ และกองทุนที่อยู่อาศัย
กรณีเครือข่ายแรงงานอิสระ เป็นภาพสะท้อนของปัญหาการเลิกจ้างและความมั่นคงในการทำงานที่วิกฤติมากในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีตัวเลขคนว่างงานถึง 2 ล้านคนกล่าวคือ ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้กระแสการเรียกร้องประกันว่างงานตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้งหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้เกิดการเลิกจ้างเนื่องมาจากการล่มสลายของธุรกิจหลายประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ตัดเย็บ สิ่งทอ อาหาร อีเลคโทรนิก เซรามิก เครื่องประดับ อุตสาหกรรมยาง ซึ่งมีสัดส่วนเป็นคนงานหญิงถึงร้อยละ 90 และแรงงานในภาคบริการ
เมื่อสถานการณ์ของคนงานประสบภาวะเลวร้ายเช่นนี้ จึงทำให้ขบวนการแรงงานทุกส่วนตื่นตัวกันขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหาความเดือดร้อนให้แก่คนงานทั้งในระดับเฉพาะหน้า และในระยะยาว คือ การประกันว่างงานที่อาจจะมีการเกิดวิกฤตการณ์เลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ และขบวนการแรงงานดังกล่าวนี้ ยังทำการติดตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้มาจากการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในขณะนั้นมีการบังคับใช้ประโยชน์ทดแทนเพียง 4 ประเภทจาก 7 กรณีประโยชน์ทดแทน ส่วนการสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และประกันว่างงาน เป็น 3 กรณีหลังที่ยังคงไม่ประกาศใช้ แม้กฎหมายประกันสังคมจะบังคับใช้มา 7 ปี แล้ว
เมื่อพิจารณาพัฒนาการข้อเรียกร้องและความคืบหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งสลัมและแรงงาน ตลอดจนเงื่อนไขที่เผชิญก็พบว่า แม้จะไม่เห็นความคืบหน้าในระดับนโยบายทางนโยบายที่เด่นชัด แต่ในระดับปฏิบัติการก็มีการปรับตัวที่น่าสนใจ เครือข่ายสลัม 4 ภาค วางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่ยึดหยุ่น และเป็นจริง เช่น การไม่เอาเป็นเอาตายมากนักกับผลักดันร่าง พ.ร.บ.ชุมชนแออัด คณะกรรมการนโยบายชุมชนแออัดแห่งชาติ เพราะยังขึ้นกับเงื่อนไขทางการเมืองที่ซับซ้อน อันจะทำให้การรวมพลังต่อสู้เป็นไปได้ยาก แต่มุ่งที่การปฏิบัติการที่ส่งผลทางนโยบายได้ เช่น
การผลักดันนโยบายการเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ และที่ดินริมคูคลอง ที่สามารถปรับระบบการจัดการที่ดิน การแบ่งปันที่ดินให้ตอบสนองกับชุมชนแออัดที่อยู่อาศัย ทำกินในพื้นที่ได้โดยไม่เกิดความตึงเครียดทางการเมือง ตรงข้ามกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่ใช้การบุกยึด จู่โจม ไม่ประนีประนอม ประสานประโยชน์กับเจ้าของพื้นที่ จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับอย่างฉับพลันของรัฐ
ขณะที่ขบวนการแรงงานเอง แม้ปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงตามภาวะเศรษฐกิจยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังคลี่คลายไม่ได้ แต่การยกระดับข้อเสนอไปถึงเรื่องหลักประกันการว่างงาน และอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะขยายฐานมวลชนจากกลุ่มฐานล่างไปสู่คนชั้นกลางได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่น่าพิจารณาอีกประการคือ ขบวนการคนจนเมือง มิได้มุ่งเน้นต่อสู้ในพื้นที่สาธารณะ ผ่านสื่อเท่าใดนัก ดังนั้นฝ่ายรัฐเองก็ไม่ได้ตอบโต้ทางวาทกรรมเช่นกัน การมีพื้นที่สาธารณะที่แคบเมื่อเปรียบเทียบกับขบวนการคนจนชนบท จะเป็นปัญหาการยกระดับการขับเคลื่อนทางนโยบายหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ขบวนการคนจนเมืองต้องวิเคราะห์ และกำหนดยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม
3.3. ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยแบบรากหญ้า
กรณีศึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ซึ่งก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบริบทของการเคลื่อนไหวต่อสู้กับ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2521 ให้เป็นประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การส่งเสริมให้บุคคล หน่วยงาน พรรคการเมืองได้รณรงค์เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประสานงานระหว่างบุคคล หน่วยงาน พรรคการเมืองในการรณรงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นร่วมกันในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำงานโดยอาศัยแนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างและการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเป็นหลักความหมายของ "การเมืองภาคประชาชน" ของ ครป.ในยุคนั้นจึงหมายถึงการที่ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) และยุติบทบาทลงเมื่อประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเริ่มลงรากปักฐาน
ในการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและนักศึกษา จำนวน 20 องค์กร ได้กลับมารวมตัวกันรื้อฟื้น ครป. ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2534 ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย" โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต่อมาภายหลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำ รสช. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ครป. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. และข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อ เช่น ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา
กระแสการปฏิรูปการเมืองภายหลังเผด็จการ รสช.ล่มสลายและการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สะท้อนให้เห็นถึงการนิยาม ความหมายประชาธิปไตย ที่มีความแตกต่างกันไปอย่างน้อยสามแนวทางคือ แนวทางอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการคงอำนาจสถาบันทางการเมืองเดิม เช่น ระบบราชการ ฯลฯ แนวทางประชาธิปไตยแบบตัวแทนของคนชั้นกลาง ที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยภายใต้คำขวัญ "การเมืองที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนมีส่วนร่วม" และยังมุ่งในประเด็นประสิทธิภาพการบริหาร กลไกการตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น และกระแสประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยแบบรากหญ้า ซึ่งเป็นประสบการณ์ของภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่งคือ เครือข่ายคนจน คนด้อยโอกาส ที่มีประสบการณ์การถูกแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการทางสังคม
กรณีบทเรียนและประสบการณ์ ครป. จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายหลักด้านการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ภายใต้การเมืองภาคประชาชนที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเป็นธรรม ความยุติธรรมทางสังคม ปัญหาปากท้อง หรือ "รัฐธรรมนูญที่กินได้และประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน"
3.4. ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค
ภาวะเศรษฐกิจวิกฤตในปัจจุบันทำให้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ นโยบายการลดการอุดหนุนจากภาครัฐต่อบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภคโดยทั่วไปมากขึ้น เช่น สถิติความทุกข์จากบริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นในกลุ่มผู้ยากไร้การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เช่น การบังคับใช้สิทธิตามกฎหมายสิทธิบัตรกับผลิตภัณฑ์ยาที่ประสบปัญหาการผูกขาด ราคาแพง คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ ขาดแคลน การโฆษณาเกินจริง หรือไม่ได้รับอนุญาตในการโฆษณา หรือการใช้ผู้ประกอบวิชาชีพ นักวิชาการเป็นผู้ให้ข้อมูลในการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม การฟ้องร้องนักวิชาการที่ให้ข้อมูลกับสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค การฟ้องร้องหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือแม้แต่ปัญหาการขาดการควบคุมและการจัดระเบียบธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกซึ่งทำลายร้านค้าย่อยมากมายในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านต่าง ๆ มากมาย ขณะที่กลไกการเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
ข้อมูลส่วนใหญ่ในการตัดสินใจเลือกซื้อเป็นข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ ขาดความตระหนักในปัญหาทั่วไปและปัญหาที่สลับซับซ้อน อ่อนแอและขาดอำนาจต่อรองปัญหาที่เกิดขึ้น ขาดการมองและการรับรู้ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงและการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค พลังผู้บริโภคที่ยังไม่เข้มแข็งไม่สามารถรวมตัวกันในการต่อรองเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่สำคัญกลายเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน
ขณะที่รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะใน มาตรา 57 ที่กล่าวไว้ว่า สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถึงแม้จะได้รับการรับรองสิทธิในรัฐธรรมนูญ แต่การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ยังปรากฏให้เห็นมากมายในปัจจุบัน
จากปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้บริโภคเป็นองค์กรในระดับต่างๆ แบ่งได้เป็นระดับต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคระดับรากหญ้า เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เติบโตจากความร่วมมือของกลุ่มองค์กรชาวบ้าน เช่น ชมรมรวมพลังเพื่อผู้บริโภคจังหวัด กลุ่มประชาสังคมที่สนใจงานผู้บริโภค กลุ่มความร่วมมือในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีองค์ประกอบของบุคคลที่มีความหลากหลาย เช่น นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค มีทั้งองค์กรที่ทำงานปัญหาเฉพาะด้านและปัญหาผู้บริโภคในทุก ๆ ด้าน อธิเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภค สมาคมพลังผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิหมอชาวบ้าน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ถือเป็นเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและองค์กรพัฒนาเอกชนที่สำคัญในปัจจุบัน
กลุ่มองค์กรผู้บริโภคในระดับต่างๆ ได้มีบทบาทในการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค ร่วมรณรงค์ด้านนโยบาย โดยเฉพาะมาตรา 57 ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิผู้บริโภค และองค์กรอิสระผู้บริโภค มีการหนุนเสริมความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคเอง มุ่งสร้างทางเลือกของผู้บริโภค โดยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคก็เผชิญปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวผู้บริโภคไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เช่น ปัญหาการขาดการรวมตัวกัน อันเนื่องจากปัญหาการบริโภคมีความซับซ้อน ที่ต้องศึกษาเจาะลึกและเชื่อมโยงกัน ทำให้ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลา และมีโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากนักไม่สามารถใช้ข้อมูลมาสร้างพลังความเข้มแข็งแก่ขบวนการได้ รวมทั้งปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหลากหลาย กระจัดกระจาย ปัญหาการขาดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมการรวมตัวของผู้บริโภคเอง และที่สำคัญคือปัญหาความล้าหลังของกฎหมาย และกลไกราชการ ที่ขบวนการผู้บริโภคจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
3.5. ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรี
แผนการพัฒนาผู้หญิงระยะยาวแห่งชาติ (พ.ศ.2525-2545) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมกิจกรรมทศวรรษสตรีสากล (พ.ศ.2518-2527) มิได้รวมเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไว้เป็นหนึ่งในปัญหาของผู้หญิงที่พึงได้รับการแก้ไข กล่าวได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ แม้ประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงอาจได้รับการใส่ใจมากขึ้น แต่สาธารณชนรวมถึงหน่วยราชการยังคงมองว่าปรากฏการณ์ที่สามีทุบตีภรรยาหรือการข่มขืน หรือการบังคับค้าประเวณีว่า เป็นเรื่องธรรมดา ๆ มิใช่ปัญหาร้ายแรงของสังคมไทยแต่อย่างใดกลุ่มพลังสังคมภาคเอกชนคือ องค์กรพัฒนาเอกชนผู้หญิงและเด็กนับเป็นกลุ่มองค์กรหัวหอก ที่เริ่มจับงานเรื่องนี้เมื่อประมาณ 10 ปีเศษที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกการกระทำรุนแรงในบ้านตนเอง และการรณรงค์เคลื่อนไหวให้มีการแก้กฎหมายที่มีการสนับสนุนให้เกิดการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น กฎหมายอาญา ในมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทางเพศ กฎหมายปรามการค้าประเวณี และกฎหมายการทำแท้ง เป็นต้น
ปัญหาสตรีถูกละเมิดสิทธิในครอบครัวกลายเป็นประเด็นสาธารณะมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 กลุ่มกิจกรรมทางสังคมต่างๆ จึงเริ่มรณรงค์ต่อสาธารณชนเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคมต่อปัญหาดังกล่าวหลายรูปแบบ เช่น การจัดเสวนา การแจกแผ่นพับขอรับเงินบริจาคเพื่อให้ในการต่อสู้คดีและช่วยเหลือตัวผู้หญิง และการให้ข่าวต่อสื่อมวลชน เป็นต้น กลุ่มเพื่อนหญิงก่อตั้ง "ศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี" เพื่อทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งในครอบครัวและในชุมชน มีการเปิดบ้านพักเพื่อให้ความช่วยเหลือชั้นต้นกับผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหา
กล่าวได้ว่า องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงคือ องค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิงและสิทธิเด็ก ซึ่งได้ร่วมกันทำงานเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงในลักษณะเครือข่ายมานานเกือบสองทศวรรษ การรวมตัวเป็นเครือข่ายมักมีลักษณะหลวม ๆ บางเครือข่ายอาจมุ่งเน้นการทำงานเฉพาะเรื่อง ได้แก่ คณะทำงานเพื่อยุติการเอาเปรียบเด็กทางเพศ (พปพ.) ที่มุ่งทำงานเรื่องยุติปัญหาโสเภณีเด็กในช่วงปี พ.ศ.2533-2536 และคณะทำงานเพื่อหญิงไทยในศตวรรษหน้า ที่เป็นการรวมตัวกันของผู้หญิงระดับรากหญ้า เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับโลกเรื่องผู้หญิงที่กรุงปักกิ่งในปี พ.ศ. 2538 และคณะทำงานสิทธิเด็ก เป็นต้น
การรณรงค์ในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง (25 พฤศจิกายน) เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2539 โดยมูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับองค์กรผู้หญิงและนักวิชาการ และขยายตัวรวมกันเป็นเครือข่ายที่มีกิจกรรมเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมตัวกันเป็นคณะทำงานรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ในปี พ.ศ.2539 โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมรวม 9 องค์กร คือ มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ กลุ่มเยาวชนไม้ขีดไฟ และกลุ่มอัญจารี
เครือข่ายคณะทำงานดังกล่าวนี้เน้นการเคลื่อนไหวปีละครั้ง เพื่อสื่อสารกับสาธารณชนให้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยในการรณรงค์ทุกปีคณะทำงานฯจะมีการยื่นข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง
กิจกรรมการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสิทธิสตรีได้แก่ การจัดเวทีวิชาการและการเผยแพร่สาธารณะผ่านสื่อ การให้การศึกษาแก่ชุมชนพื้นที่เป้าหมาย การรณรงค์เชิงนโยบายให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิสตรี การสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผลจากการณรงค์ทำให้ชุมชนในพื้นที่เป้าหมายมีความตื่นตัวต่อปัญหา มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน สาธารณะเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสตรี และเกิดความร่วมมือเป็นเครือข่ายหลากหลายฝ่ายในการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา
จากการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิสตรี เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ นั้น ถือว่าเครือข่ายได้รับผลสำเร็จพอสมควร เพราะการเคลื่อนไหวในประเด็นของผู้หญิงคือความรุนแรงนั้น ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวที่เผชิญหน้ากับรัฐโดยตรง เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจ และใช้การเดินขบวนก็เป็นการใช้รูปแบบรณรงค์มากกว่าที่จะนำขบวนของผู้หญิงไปปะทะกับรัฐ แต่เป็นการรณรงค์ให้เผชิญปัญหาและเรียกร้องให้สังคมเข้าใจ จนทำให้เกิดกระแสของการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ซึ่งมาจากภายในของเครือข่ายที่ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวและกระแสของสากล ซึ่งให้ความสำคัญกับความรุนแรงต่อผู้หญิง ทำให้ประเด็นการรณรงค์มีความชอบธรรมมากขึ้น
เมื่อมองถึงพัฒนาการของตัวขบวนการเอง ในช่วงแรกเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจ โดยเฉพาะองค์กรด้านผู้หญิง แต่ในระยะหลังให้ขยายเครือข่ายสมาชิกเพิ่มขึ้นและหลากหลาย และเครือข่ายได้ขยายไปสู่ส่วนภูมิภาค ทำให้ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงขยายความเข้าใจไปสู่ภาคประชาชนมากขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหามาจากทัศนคติของสังคมที่ทำให้ผู้ชายใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง
การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะสามารถทำให้กลไกของรัฐสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายการทำงานเคลื่อนไหวและรณรงค์ ว่าในระยะยาวนั้นปัญหาความรุนแรงนั้นสามารถลดลงได้อย่างไร การเสริมพลังผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบหรือเครือข่ายองค์กรผู้หญิงในชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะผู้หญิงนี้ได้รับผลกระทบความรุนแรงนั้นสามารถเสริมพลังได้ และพัฒนาเป็นเครือข่ายที่ให้มีความเข้มแข็งที่จะเป็นรูปแบบในการรวมกลุ่มขององค์กรผู้หญิงให้เกิดขึ้น ฉะนั้นเครือข่ายนี้จึงมีความจำเป็นที่จะทำงานกับกลไกของรัฐบาลร่วมกับองค์กรผู้หญิงในชุมชน ในการร่วมกันแก้ปัญหาและตรวจสอบกลไกของรัฐได้ทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยเครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงนั้น จะมีประสบการณ์ผ่านพ้นปัญหาในระดับต่าง ๆ และมีประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับกลไกของรัฐด้วย
นอกจากการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ ขบวนการสิทธิสตรีกำลังมุ่งขยายบทบาทในเชิงรุกในการป้องกันปัญหาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรี จะทำหน้าที่ในการขยายผลลงไปในชุมชน โดยการให้การศึกษาถึงชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายที่ควรเข้ามามีบทบาททำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในหลายระดับ
4. พื้นที่ และช่องทาง-กลไกทางการเมืองและสังคม
จากกรณีศึกษาต่างๆ
คิดว่ามีประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือ การเคลื่อนไหวยังคงมีลักษณะการผลักดันในสองลักษณะคือ
ในลักษณะหนึ่ง การเคลื่อนไหวกดดันเพื่อสร้างกลไกในการเจรจาต่อรอง เช่น คณะกรรมการต่างๆ
ซึ่งหวังผลว่าจะถูกผลักเข้าสู่กลไกการตัดสินใจของรัฐ เช่น กรณี สกน. สมัชชาคนจน
อีกระดับหนึ่งเราเห็นภาพของการเคลื่อนไหวที่ต้องการสร้างกลไก พื้นที่ให้กับตัวขบวนการเอง เพราะ"รัฐธรรมนูญที่กินได้และประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน" ยังห่างไกล ดังกรณีที่พูดกันเสมอในเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
จากประสบการณ์ของภาคประชาชน พบว่า รัฐธรรมนูญมีผลด้านบวกต่อการสร้างพื้นที่ทางการเมืองแก่ภาคประชาชน กล่าวคือ ขบวนการประชาชนสามารถใช้รัฐธรรมนูญในการอ้างอิง และเป็นฐานการอ้างความชอบธรรมในการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อการแก้ปัญหาปากท้อง และปกป้องสิทธิได้ในระดับหนึ่ง มีการย้ายอำนาจการตัดสินใจมาสู่ภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น มีการปรับสัมพันธภาพทางอำนาจในแนวราบ มีการสร้างกลไกในการมีส่วนร่วมในกลไกการตัดสินใจบางอย่าง ประชาชนสามารถเสนอปัญหาและสร้างประเด็นสาธารณะผ่านกลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญ เช่น องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วุฒิสมาชิก คณะกรรมาธิการรัฐสภา ฯลฯ รวมทั้งการอาศัยกลไกการเสนอกฎหมายโดยกระบวนการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ คณะกรรมาธิการรัฐสภาต่างๆ ฯลฯ
กลไกเหล่านี้ เราเห็นประสบการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวที่สามารถเข้าไปใช้กลไกเหล่านี้ได้แค่เพียงการนำไปสู่การสร้างประเด็นสาธารณะ เช่น การล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อการแถลงข่าวกรณี สกย. และอื่นๆ กลไกนี้ในตัวของมันเองประชาชนยังไม่สามารถใช้ในฐานะที่เป็นกลไกทางการเมือง แต่ใช้ในฐานะที่เป็นกลไกทางสังคม เพื่อสื่อสารปัญหากับสังคม แต่การใช้ข้ออ้างด้านปริมาณมวลชนสนับสนุน แม้จะสอดคล้องกับแนวทางรัฐธรรมนูญ แต่เป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งของคนจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลไกรัฐและทุน ที่มีความพร้อมทุกด้าน สามารถสร้าง "มติมหาชน" ได้ง่ายกว่าขบวนการคนจน เห็นได้จากการที่ฝ่ายกรมป่าไม้สามารถระดมรายชื่อ 70,000 ชื่อ ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนของประชาชน หรือการสร้างโพล สำรวจประชามติเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายความชอบธรรมของสมัชชาคนจน กรณีปากมูล ก็เป็นสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
นอกจากนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่กลับมีแนวโน้มด้านลบของการใช้รัฐธรรมนูญ คือ
1. ปัญหาบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้ลงรากปักฐาน คือ กลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เช่น การประชาพิจารณ์ และกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ หมวดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ปัญหารูปธรรมที่เกิดขึ้นกรณีพ.ร.บ.ป่าชุมชน เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพและการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม กรณีการผลิตเหล้าพื้นบ้านหรือสุราชุมชน ฯลฯ
2. การดำเนินเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดการกระจายทรัพยากรของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการกระจุกตัวของทรัพยากรที่ดิน ซึ่งรัฐยังไม่มีการดำเนินการ
ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาหลักการของรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่เป็นปัญหาวัฒนธรรมอำนาจของระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจมาตลอด ได้เพิกเฉยการปฏิบัติรัฐธรรมนูญในส่วนที่รับรองสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน และเลือกปฏิบัติรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนที่ไม่ไปกระทบกระเทือนโครงสร้างทางอำนาจเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นแรงตึงเครียดอันเกิดจากเจตนารมณ์และภาคปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้น
โดยเหตุนี้ ความพยายามปฏิรูปทางการเมืองในสายตาของภาคประชาชนจึงเกือบล้มเหลวสิ้นเชิง ทั้งในการกลไกการสร้างการเมืองที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และระบบป้องกันการทุจริตคอรัปชัน ที่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การคอรัปชันเชิงจริยธรรมและการคอรัปชันทางนโยบาย รวมทั้ง "การสร้างรัฐธรรมนูญที่กินได้ และประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน" ด้วยการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนขององค์กรประชาชนทั่วประเทศจึงยังล้มเหลว และยิ่งไปกว่านั้น ภาคประชาชนมีบทเรียนที่สำคัญว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังดำเนินการในทางที่เป็นอุปสรรคแก่การรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนในหลายประการ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกระบวนการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญกลายเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของขบวนการภาคประชาชนที่สามารถบัญญัติอุดมการณ์ของประชาชนไว้ได้ อีกทั้ง ยังเป็นข้อต่อสำคัญข้อต่อเดียวของการเชื่อมการเมืองในระบบ กับการเมืองภาคประชาชนเข้าด้วยกัน ดังนั้น แม้ขบวนการประชาชนจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญยัง "กินไม่ได้" ในขณะนี้ แต่ก็ยังหวังว่ารัฐธรรมนูญ "จะกินได้" มากขึ้น เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น เราจึงเห็นคนจน คนด้อยโอกาส กลุ่มชายขอบต่างๆ ยังคงเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อต่อรองอำนาจรัฐ ซึ่งยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จำต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการอาศัยกลไกรัฐธรรมนูญที่ยังไม่สามารถสถาปนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้ลงรากปักฐาน
เมื่อพิจารณาการต่อสู้ในพื้นที่ทางสังคม ซึ่งขบวนการทางสังคมต่างๆ ให้น้ำหนักแตกต่างกัน สมัชชาคนจนซึ่งมีพันธมิตรทางยุทธศาสตร์มากที่สุด ทั้งนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และอื่นๆ ได้มุ่งเน้นการต่อสู้ทางวาทกรรมไม่น้อยไปกว่าการจัดตั้งมวลชน ชุมนุมกดดัน จนทำให้การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน โดยเฉพาะกรณีปากมูลเกือบจะเป็นวาระทางสังคมของขบวนการคนจนชนบท แต่กระนั้นพื้นที่ทางสังคมที่สมัชชาคนจนต่อสู้ก็มีความผันผวนค่อนข้างมาก จนไม่สามารถคาดคะเนความคืบหน้าได้ โดยปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทางอำนาจของฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามาต่อสู้ในพื้นที่นี้ กับรัฐบาลที่ไม่มีความสามารถในการต่อสู้ทางวาทกรรม สมัชชาคนจนอาจจะได้เปรียบในการต่อสู้ในพื้นที่ดังกล่าว ดังเช่นรัฐบาลบรรหาร ชวลิต และชวน แต่กับรัฐบาลทักษิณ ที่แย่งชิงความเป็น "ประชานิยม" ไปได้ พื้นที่ทางสังคมที่สมัชชาคนจนสั่งสมไว้ก็หดหาย ดังนั้นโจทย์เรื่องการขยายฐานมวลชน ที่มิใช่แค่กลุ่มปัญหาในขบวนการ โดยใช้ยุทธวิธีที่ลื่นไหล เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วง จึงเป็นคำถามสำคัญของขบวนการว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ขบวนการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมากที่สุดในการต่อสู้พื้นที่ทางสังคม เห็นจะได้แก่ ขบวนการประชาธิปไตย โดย ครป. ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุทธศาสตร์ที่ ครป. ใช้ คือการตรวจสอบความไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตยของนโยบาย และกลไกรัฐต่างๆ ในทุกๆประเด็นที่เป็นปัญหาของประชาชนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ขบวนการคนจนชนบทมาจนถึงคนชั้นกลางในเมือง การจัดวางยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงสามารถสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มนักธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรชาวบ้าน เอ็นจีโอ นักการเมือง ประกอบกับโครงสร้างของขบวนการเองมีความยืดหยุ่น ไม่สร้างมวลชนจัดตั้งเอง อันทำให้ต้องเผชิญปัญหาการจัดการเครือข่ายดังที่เครือข่ายอื่นเผชิญ ขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางสังคม จึงเป็นสิ่งที่ขบวนการต่างๆ น่าจะต้องศึกษา
5. ปฏิสัมพันธ์ของรัฐกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
จากกรณีต่างๆ จะเห็นได้ว่า รัฐมีท่าทีกับขบวนการเคลื่อนไหวในลักษณะที่แตกต่างกัน
ซึ่งการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับขบวนการทางสังคมจึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าลักษณะ
จุดหมาย และวิธีการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมแตกต่างกันอย่างไร เราเห็นภาพความแตกต่างของลักษณะดังกล่าวจากกรณีทั้ง
9 กรณีคือ
ลักษณะแรก เป็นขบวนการที่เรียกร้องแบบกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่กระทบโครงสร้าง และการปรับเปลี่ยนนโยบายขนานใหญ่ที่ไปลดทอนอำนาจของรัฐและทุน และเป็นไปในลักษณะของการจัดสวัสดิการทางสังคม เช่น สมัชชาเกษตรกรรายย่อย สลัม ฯลฯ ซึ่งขบวนการดังกล่าวนี้อาจคาบเกี่ยวไปยังปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายด้วย แต่รัฐมักจะเลือกที่จะตอบสนองในระดับของความคิดแบบสวัสดิการ และ
ลักษณะที่สอง เป็นขบวนการที่มีจุดหมายที่ต้องการเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจ ลดทอนอำนาจของรัฐและทุน เรียกร้องอำนาจของชุมชน การสร้างและขยายประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐตอบโต้ต่อขบวนการแบบนี้ต่างระดับกัน คือ กรณีที่รัฐยอมได้ซึ่งก็คือ ขบวนการที่เรียกร้องผลประโยชน์ ที่ไม่กระทบโครงสร้างและการปรับเปลี่ยนนโยบายขนานใหญ่ที่ไปลดทอนอำนาจของรัฐและทุน ดังกรณีนโยบายการช่วยเกษตรกรของรัฐที่ลงไปสู่กลุ่มอาชีพและชุมชนเกษตรกรเหล่านี้ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่มุ่งสู่ปัญหาการขาดความสามารถในการบริหารจัดการของเกษตรกร ด้วยรูปแบบการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กองทุนชุมชน ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการตลาดภายใต้การผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขาย อันเป็นวงจรความยากจนที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการตลาด ที่แค่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากพืชชนิดหนึ่งไปยังพืชอีกชนิดหนึ่ง หรือการก้าวเข้าสู่เกษตรครบวงจร หรือการเพิ่มต้นทุนการผลิตในรูปแบบของเงินกู้แก่เกษตรกร ซึ่งไม่ได้เข้าไปหนุนเสริมกลุ่มและองค์กรชุมชนเพื่อปกป้องและฟื้นฟูฐานทรัพยากรของชุมชน หรือมีท่าทีเชิงนโยบายในลักษณะตรงกันข้ามอีกด้วย
การแก้ปัญหาของรัฐสะท้อนให้เห็นถึง ความพยายามที่ยังตั้งอยู่บนกรอบคิดที่ลดทอนการมองปัญหาไปสู่ปัญหาการบริหารจัดการของกลุ่ม และชุมชนอาชีพเกษตรกรรม เช่น การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กองทุนชุมชนในรูปแบบต่างๆ ระบบสวัสดิการความช่วยเหลือจึงยังเป็นแนวคิดแบบสังคมสงเคราะห์ กระจายทรัพยากรโดยรัฐไม่พอ
สวัสดิการหรือการช่วยเหลือจากรัฐเหล่านี้ ไม่ได้เข้ามาแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหาของฐานอาชีพคือ ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตหรือปัจจัยการผลิตที่สูง เพียงเพิ่มทุนเข้ามาในวงจรการผลิตอีกเพียงเล็กน้อย ไม่ได้แก้ปัญหาหลักในระบบการผลิตของเศรษฐกิจการตลาด และที่สำคัญคือ ไม่ได้มองด้านความจนจากการถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกรุกราน ทำให้ฐานการพึ่งพิงตนเองลดลง ความมั่นคงในอาชีพ ทรัพยากรที่หายไป
ซึ่งจากกรณีเครือข่ายต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐปฏิเสธการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่จะนำไปสู่ประเด็นสิทธิการจัดการทรัพยากร ดังตัวอย่าง กรณีศึกษา สกน. โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน (โดยเฉพาะกรณีเขื่อนปากมูน) และเครือข่ายย่อยคือชาวนาไร้ที่ดินจังหวัดลำพูน ชาวบ้านไปยึดที่ดิน สะท้อนให้เห็นความมั่นคงของชาวบ้านที่เกิดขึ้นได้ ต้องแหวกวงล้อมการปิดกั้นการใช้ทรัพยากรของชาวบ้านรวมถึงปัญหาป่าไม้ ที่ดิน และรัฐเลือกจัดการโดยการใช้กำลังกับขบวนการเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มทางนโยบายของรัฐอย่างรุนแรงมากขึ้น ขบวนการเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการตอบโต้ในลักษณะที่สอง คือ รัฐเข้าไปจัดการด้วยรูปแบบของการปราบปรามโดยใช้ความรุนแรง การจับกุมโดยอาศัยกฎหมายที่ล่อแหลมต่อความเป็นธรรม และส่อไปในทางการขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ด้วยความที่รัฐใช้ยุทธศาสตร์ที่หลากหลายต่อขบวนการประชาชน รัฐสามารถขยายพื้นที่ทางการเมืองไปสู่ประชาชน ในส่วนที่ต่อสู้กับกลไกตลาดซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ใหญ่กว่าขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ปัญหาทรัพยากร ซึ่งรัฐได้เลือกใช้นโยบายประชานิยมหลายประการ ที่ดูหนุนเสริม แต่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชนระยะยาว เช่น นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน รักษาโรค 30 บาท นโยบายแปลงทรัพย์เป็นทุน และที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย
นโยบายเหล่านี้สามารถยึดพื้นที่ทางสังคมการเมืองได้กว้างกว่า รัฐจึงสามารถปิดล้อมขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทรัพยากรและการพัฒนาได้ง่ายขึ้น เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างด้านทรัพยากรเป็นปัญหาซับซ้อน อีกทั้งขบวนการประชาชนด้านทรัพยากรไม่ได้ขยายโจทย์ และฐานมวลชนให้กว้างและหลากหลายพอ ดังนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิทรัพยากร จึงเผชิญภาวะลำบาก และกำลังถูกรัฐโดดเดี่ยวมากขึ้น
6. ความคืบหน้าของขบวนการประชาชน
แม้ดูเหมือนจะขบวนการประชาชนในแต่ละด้านจะเผชิญภาวะยากลำบากยิ่งขึ้นในการขับเคลื่อนทางนโยบาย
แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงพัฒนาการของขบวนการเองทั้งในด้านการวิเคราะห์ปัญหา การจัดความสัมพันธ์ในขบวนการและระหว่างขบวนการก็ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น
ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเด็นโลกาภิวัตน์ การรุกคืบของทุนข้ามชาติกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ขบวนการประชาชนทั้งในภาคชนบทและเมืองได้ยกระดับการวิเคราะห์ปัญหาเชิงนโยบายโดยเชื่อมโยงกับกระบวนการโลกาภิวัตน์มากขึ้น โดยในภาคชนบทเอง ประเด็นเรื่องที่ดิน น้ำ ป่าไม้ การเกษตร ได้เชื่อมโยงเข้ากับบทบาทของธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย องค์กรการค้าโลกที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย กฎหมายของรัฐ ขณะที่ในภาคเมืองเองประเด็นเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สาธารณูปโภค จากเงื่อนไขไอเอ็มเอฟ และธนาคารพัฒนาเอเชีย ก็กลายเป็นประเด็นที่ขบวนการคนจนเมือง และผู้บริโภคนำมาขับเคลื่อน ซึ่งขบวนการเหล่านี้ก็ได้เชื่อมต่อ ถ่ายทอดข้อมูล แนววิเคราะห์ซึ่งกันและกัน จนเรียกได้ว่ามีความก้าวหน้าทางแนววิเคราะห์หากเปรียบเทียบกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ในสังคม
จากการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์มาสู่การเชื่อมเครือข่ายในระดับสากล แม้การหนุนช่วยในระดับสากลจะไม่เด่นชัดนัก แต่ก็ทำให้ประเด็นของขบวนการคนจนในไทยกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศได้เช่นกัน ดังเช่น การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน กรณีปากมูลก็ได้รับรู้ ยอมรับในสากล การที่องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการต่างประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนก็เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด หรือการเชื่อมต่อกับขบวนการชาวนาโลก ขบวนการปฏิรูปที่ดินในลาตินอเมริกา ก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแก่ขบวนการชาวนาไทย
เงื่อนปมสำคัญของขบวนการประชาชน ณ เวลานี้ในการผลักดันทางนโยบาย ขยายพื้นที่ทางสังคม ประการแรกคือ การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหนุนเสริมกันได้อย่างไร โดยเข้าใจความหลากหลายและความต่างระดับของขบวนการที่มีอยู่ และการสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่กว้างและหลากหลายขึ้น เพื่อเปิดแนวรุกหลายด้าน
7. บทสรุป :
บทเรียนและประสบการณ์บางประการ
ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนนับแต่วิกฤติเศรษฐกิจจนถึงเวลานี้ ได้พัฒนาปรับตัวกับเงื่อนไขทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคมที่ซับซ้อนขึ้น มีการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่หลากหลาย เชิงซ้อนมากขึ้น
และมุ่งเน้นจุดเชื่อมต่อระหว่างการเมืองในระบบกับการเมืองภาคประชาชนผ่านรัฐธรรมนูญ
เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง นโยบาย
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันที่อ้างความเป็น "ประชานิยม" ได้ก็เกิดจากการหยิบยืม ฉกฉวยวาทกรรม องค์ความรู้จากภาคประชาชนไปปรับแต่งให้เข้ากับระบบอำนาจของตน แม้จะดูเหมือนฝ่ายประชาชนจะเพลี่ยงพล้ำในการแย่งยึดพื้นที่ทางสังคม อันทำให้เกิดภาวะชะงักงันในการปรับนโยบายก็ตาม แต่กระนั้นการที่รัฐ "กลืนกิน" เอาวาทกรรม ชุดแนวคิดของภาคประชาชนเข้าไปกำหนดนโยบายของตนเอง ก็สะท้อนการยกระดับวาทกรรมของภาคประชาชนให้มีพื้นที่การต่อสู้ที่กว้างขึ้น ผ่านชุดวาทกรรม การสัปยุทธ์ทางความรู้ ทฤษฎี ระหว่างแนวคิดประชานิยมที่มีฐานะแผนการตลาดของรัฐ กับประชานิยมจากขบวนการทางสังคมที่เข้มข้น ได้แก่ การปะทะแนวคิดระหว่างแนวแปลงทรัพย์สินเป็นทุน กับแนวคิดปฏิรูปทรัพยากรบนฐานสิทธิชุมชนเพื่อความมั่นคงทางสังคม กองทุนหมู่บ้าน กับกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร รักษาโรค 30 บาท กับการสร้างสวัสดิการทางสังคม โครงการบ้านคนจน กับสิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัด
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์พื้นฐานของขบวนการประชาชนยังคงเป็นไปเช่นเดิมแต่ยกระดับในเชิงปริมาณและคุณภาพมากขึ้น คือ การขยายเชื่อมโยงกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางนโยบาย การต่อสู้ในพื้นที่ทางสังคมโดยโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวในระดับโลกาภิวัตน์มากขึ้น
จุดร่วมที่เชื่อมโยงขบวนการประชาชนทุกกลุ่ม ณ เวลานี้ คือ การยกระดับสถานภาพสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนในเชิงนโยบายทุกมิติ ทั้งสิทธิต่อฐานทรัพยากร สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในเศรษฐกิจ สิทธิผู้บริโภค แรงงาน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการเมืองในระบบที่ยังถูกกำกับด้วยทุนข้ามชาติ ทุนชาติ ราชการ และการเมืองภาคประชาชนที่ผลักดันให้เกิดโครงสร้าง กลไกใหม่เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าขณะนี้การปฏิบัติการภายใต้รัฐธรรมนูญจะยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะระบบราชการที่คุมอำนาจอยู่เพิกเฉย แต่การใช้รัฐธรรมนูญเพื่อสร้างกระบวนการประชาธิปไตยเข้มข้นของภาคประชาชนก็ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง
พื้นที่การต่อสู้ที่เข้มข้น ณ เวลานี้คือ พื้นที่ทางสังคมเพื่อแย่งชิงความชอบธรรมของการเคลื่อนไหว รัฐรุกด้วยการใช้นโยบายประชานิยมทางการตลาด และลดทอน บิดเบือนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนโดยใช้วาทกรรมว่าด้วย "เสียงส่วนใหญ่" ที่รัฐสามารถเสกสรรปั้นแต่งได้ และผสานด้วยวาทกรรม "มือที่สาม" จากต่างชาติ เพื่อล้อมกรอบการเคลื่อนไหว
จุดยุทธศาสตร์ของขบวนการประชาชนเวลานี้นอกจากการเชื่อมร้อยขบวนการต่างๆ ให้เกิดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งขึ้นแล้ว ก็ละเลยไม่ได้กับการต่อสู้ในพื้นที่ทางสังคมให้ภาคสาธารณะ คนชั้นกลางเข้าใจ ยอมรับว่าถึงขบวนการประชาชนทั้งหลายว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มิใช่ "เป็นอื่น" ที่เข้าใจไม่ได้ และเป็นการต่อสู้ก้าวข้ามฐานชนชั้น เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของสังคมโดยรวม เพื่อประโยชน์ของคนชั้นกลางด้วยเช่นกัน อันเป็นแนวทางของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่
เงื่อนไขที่จะเกิดการยกระดับของขบวนการได้ ต้องเน้นหนักที่ปฏิบัติการทางความรู้ การจัดการความรู้ในแต่ละขบวนการให้เกิดการสรุปบทเรียน และแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างกันอย่างเข้มข้น การพัฒนาเครือข่ายเชิงคุณภาพ การจัดรูปขบวนเคลื่อนไหวที่หลากหลาย การสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่หลากกลุ่ม โดยยกระดับประเด็นการต่อสู้ให้เป็นประเด็นของสังคมวงกว้างขึ้น พร้อมกับความสามารถในการประเมินวัฒนธรรมอำนาจที่แฝงฝังในสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมการเมืองให้รองรับวิธีคิด การเคลื่อนไหว ตัวตนของขบวนการประชาชนให้ได้ในท้ายที่สุด
เอกสารอ้างอิง
สมศักดิ์ สามัคคีธรรม. "การเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนภายใต้บริบทการปฏิรูปการ เมืองไทย" วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1-2 (มิถุนายน 2544-พฤษภาคม 2545) หน้า 115-147Anek Laothamathas (1993) "The business and Thai democracy" in Sungsidh Piriyarangsan and Pasuk Pongpaichit (eds) The Middle Class and Thai Democracy, Political Economy Centre, Faculty of Economics, Chula- longkorn University and Friedrich Ebert Stiftung.
Prudhisan Jumbala and Maneerat Mitprasat, "Non-governmental Development Organisations: Empowerment and Environment" in Hewison, Political Change in Thai Democracy and Participation. , pp.195-216. London : Routledge, 1997.
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
บทความชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2546 หมายเหตุ : บทความวิชาบริการฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการนำไปใช้ประโยชนทางด้านวิชาการ - หากนักศึกษาและสมาชิกประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
เงื่อนไขที่จะเกิดการยกระดับของขบวนการและเอาชนะได้ จะต้องเน้นหนักที่ปฏิบัติการทางความรู้ การจัดการความรู้ในแต่ละขบวนการให้เกิดการสรุปบทเรียน และแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างกันอย่างเข้มข้น จะต้องมีการพัฒนาเครือข่ายเชิงคุณภาพ การจัดรูปขบวนเคลื่อนไหวที่หลากหลาย การสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่หลากกลุ่ม โดยยกระดับประเด็นการต่อสู้ให้เป็นประเด็นของสังคมวงกว้างขึ้น พร้อมกับความสามารถในการประเมินวัฒนธรรมอำนาจที่แฝงในสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมการเมืองให้รองรับวิธีคิด การเคลื่อนไหว ตัวตนของขบวนการประชาชนให้ได้ในท้ายที่สุด