WTO ได้มีการประชุมข้าราชการ ในประเทศเอเชีย 23 ประเทศ เพื่อปูทางไปสู่การเจรจารอบใหม่ ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2544 นี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงได้ร่วมมือ กับองค์กรต่างๆ จัดประชุมครั้งนี้ขึ้น
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมัชชานักวิชาการ และ โครงการศึกษาและปฏิบัติงานพัฒนา
ได้จัดให้มีการประชุมขึ้น เพื่อจับตามองการเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยกำหนดประเด็นว่า
"WTO การค้าเสรี : ใครได้ใครเสีย"

นำการประชุมโดย
วอลเดน เบลโล
ชามมาลี กุดตาล
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : แปล

อังคารที่ 27 มี.ค.44
เวลา 10.00-16.00 น.
ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซ.วัดอุโมงค์
จ.เชียงใหม่

ความยาวประมาณ
26 หน้ากระดาษ A4

บทความถอดเทปชิ้นนี้ ที่เผยแพร่ใน website มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีวัตถุประสงค์ในการสร้างดุลยภาพ
ทางด้านข้อมูลของความคิดกระแสรอง เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ เพื่อสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชน
ดังนั้นจึงไม่สงวนลิขสิทธิ์และสนับสนุนให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ได้ในวงกว้าง
midnight university

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปลายเดือนมีนาคม 2544 นี้ ทางองค์กรการค้าโลกได้มาประชุมกันที่เชียงใหม่ และจุดมุ่งหมายของการประชุมนี้ก็คือ เจตนาลับๆ ต้องการที่จะผลักดันให้ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ร่วมมือกันในอันที่จะส่งเสริมให้มีการจัดประชุมองค์กรการค้าโลกในรอบใหม่

การประชุมองค์กรการค้าโลกในรอบใหม่นั้น ประเทศมหาอำนาจที่เป็นประเทศที่ควบคุมการตัดสินใจขององค์กรนี้ มีญัตติลับๆอยู่แล้ว ในการที่จะผลักดันให้มีการเปิดเสรีในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายอย่างมากทีเดียว

วันนี้เราจึงอยากจะมาคุยกันว่า อะไรเป็นอะไรอย่างหนึ่ง, แล้วก็มาช่วยกันคิดว่า เราควรจะทำอะไรต่อไปอีกอย่างหนึ่ง. ผมอยากจะขอเริ่มต้นโดยการขอให้ผู้ร่วมอภิปราย ได้เล่าให้ฟังก่อนว่า… จะเป็นเรื่องการประชุมองค์กรการค้าโลกก็ตาม หรือผลกระทบขององค์กรการค้าโลก ซึ่งจำกัดการตัดสินใจไว้กับประเทศเพียง ๒๐ - ๓๐ ประเทศ, มันมีผลกระทบอย่างไรต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราๆ. ขอเริ่มด้วยคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ก่อน, เชิญครับ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ : ขอบคุณอาจารย์ครับ… เผอิญประเด็นที่ผมสนใจ เป็นส่วนหนึ่งของกรอบการต่อรองในองค์กรการค้าโลก. จริงๆแล้วประเด็นความสนใจในเรื่องการต่อรองในองค์กรการค้าโลก ที่เกี่ยวข้องกับประเทศโลกที่สาม มีอยู่ ๒-๓ เรื่องที่สำคัญ

เรื่องแรก เป็นเรื่องข้อตกลงที่เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร ที่เรียกว่า AOA หรือ Agreement of Agriculture.
เรื่องที่สอง ก็คือ, ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า และยังมีบางประเด็นซึ่งประเทศโลกที่สามสนใจมาก และยังเป็นเรื่องซึ่ง กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมภายในองค์กรโลกพยายามผลักดันก็คือ ข้อตกลงที่ว่าด้วยการลงทุน (MAI).

อย่างไรก็ตาม ความสนใจที่ผมมีในเรื่ององค์กรการค้าโลก เริ่มต้นจากเมื่อก่อนเป็นเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง แต่ว่าตอนหลังกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่เชื่อมโยงกับหลายเรื่อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา. ที่จริงการพูดถึงเรื่องนี้ มันก็จะสะท้อนให้เห็นภาพของความพยายามของอุตสาหกรรม ที่จะผลักดันการจัดระบบระเบียบทางการค้าในทุกๆเรื่องนั่นเอง.

ถ้าจำได้ ในสมัยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ประมาณปี ๒๕๒๖-๒๗ ขณะนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ผลักดันและกดดันประเทศไทยในหลายรูปแบบ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิบัตร. ซึ่งส่วนใหญ่ขณะนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีระบบกฎหมายเรื่องสิทธิบัตร คือส่วนหนึ่งของระบบทรัพย์สินทางปัญญานั้น อยู่แล้ว. แต่ละประเทศมีกฎหมายอย่างนี้ของตัวเองอยู่. อเมริกาพยายามผลักดันให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรของเรา ให้เป็นไปตามมาตรฐานแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกามี

ในช่วงนั้น… ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ประเทศไทยมีกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะให้สิทธิผูกขาด เรียกว่า exclusive right ให้แก่บริษัท หรือนักวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยที่เชื่อว่า การรับรองสิทธิดังกล่าว จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นฐานของพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรม. อันนั้นเป็นบรรทัดฐานที่เชื่อกันว่า ระบบแบบนี้จะเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศ การพัฒนากฎหมายแบบนี้ มันก็จะมีระดับแตกต่างกันไป แล้วแต่แต่ละประเทศ. และประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็จะระบุข้อห้ามว่า กฎหมายสิทธิบัตร จะไม่ใช้ในเรื่องต่างๆหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อผลกระทบที่มีต่อประชาชน อย่างเช่น สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรในเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สิทธิบัตรกระทั่งเครื่องจักรกลทางการเกษตร ขณะนั้นก็มีกฎหมายสิทธิบัตรของไทยที่ยกเว้นในเรื่องเหล่านั้น.

อเมริกาผลักดันในเรื่องนี้นาน หลายรัฐบาลติดต่อกัน จากรัฐบาลพลเอกเปรม จนมาถึงรัฐบาลชาติชาย เรื่องนี้ก็ยังไม่บรรลุผล แล้วก็ในท้ายที่สุด ภายใต้การปกครองของ รสช. สมัยนายกอานันท์ ปันยารชุน ไทยก็ยอมแก้ไขกฎหมาย โดยยอมแก้กฎหมายสิทธิบัตร ให้ครอบคุมเรื่องยา ซึ่งเป็นประเด็นความสนใจของเรา.

แต่เดิม กฎหมายเรื่องยา, ไทยและอินเดีย ให้การคุ้มครองเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าเป็น"สิทธิบัตร กรรมวิธีการผลิต"(process patent) ก็คือว่า ถ้าผลิตยาขึ้นมา ถ้าใช้กระบวนการเดียวกับที่อุตสาหกรรมยาเขาจดทะเบียนไว้ก่อน เราไม่มีสิทธิที่จะใช้กระบวนการเดียวกันนั้น. แต่ถ้าเรามีกระบวนการใหม่ เราก็จดทะเบียนได้. แต่ภายใต้แรงกดดันของอเมริกาอย่างมากในขณะนั้น ไทยต้องแก้กฎหมายโดยที่ ให้การคุ้มครองถึง สิทธิบัตรในตัวผลิตภัณฑ์ หรือ product patent ด้วย ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก

ยกตัวอย่างเช่น สมัยเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว บริษัทญี่ปุ่นบริษัทหนึ่ง เอาเปล้าน้อยของไทยไปสะกัด แล้วก็ไปจดสิทธิบัตรเอาไว้ ที่เรียกว่า กรรมวิธีในการผลิตสารอันหนึ่งที่ชื่อ "เพลาโนทอน" เป็นสารที่ผลิตมาจากเปล้าน้อย ซึ่งใช้ในการรักษาโรค. แล้วก็โดยเหตุที่กฎหมายของไทยในขณะนั้น ยังไม่ให้การรับรองการสะกัดในตัวผลิตภัณฑ์ คือสารสะกัดที่ชื่อว่า เพลานาทอน. ก็มีนักวิจัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นพบกระบวนการผลิตอีกอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งสามารถสะกัดเพลาโนทอนนี่ได้ เขาก็เลยไปจดทะเบียนเอาไว้ได้. แต่ปัจจุบัน กระบวนการแบบนี้จะกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ถ้าหากว่าเราให้สิทธิบัตรที่คุ้มครองเรื่องผลิตภัณฑ์ยา

ผมยกตัวอย่างให้ฟังอีกนิดหนึ่งครับ ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเปล้าน้อย เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพของเรา ก็คือ กรณีมะละขี้นก ขณะนี้สถาบันวิจัยในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง มหาวิทยาลัยแห่งนิวยอร์ค บริษัท Bio-Science แล้วก็สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา ร่วมกันในการจดสิทธิบัตรสารสะกัดจากมะละขี้นก เพื่อใช้รักษาโรคเอดส์. โดยสิทธิบัตรที่เขาจดนั้น ครอบคุมทุกอย่าง โดยใช้เงื่อนไขของกฎหมายสิทธิบัตรตามมาตรฐานของอเมริกา

ยกตัวอย่างเช่นว่า ตัวสารสะกัดมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MAP30 หรือที่เราเรียกว่าแม็พ๓๐ ถูกจดเอาไว้แล้ว หมายถึงว่าต่อไปนี้ ขนาดอาจารย์ที่มหิดล ชื่ออาจารย์วีณา หลานของท่านอดีตนายกบรรหาร ลูกพี่ชายของนายกบรรหาร กำลังทำกระบวนการสะกัดมะละขี้นกอยู่, มะละขี้นกซึ่งเป็นพืชที่เกิดขึ้นในเอเชียอาคเนย์ อยู่ในไทยนี่เอง แล้วในไทยเป็นแหล่งความหลากหลายของพันธุ์พืช. อาจารย์วีณานี่ ถึงสะกัดได้ก็จดทะเบียนไม่ได้

การให้สิทธิบัตรในตัวผลิตภัณฑ์ เขายังจดครอบคุมตัวอนุพันธุ์ อันนี้ก็คือ MAP30, ไอ้ตัวที่มีลักษณะโครงสร้างคล้าย MAP30 ก็มีการจดทะเบียนเอาไว้ ก็คือ, ถึงแม้อาจารย์วีณา จะไปหาผักไห่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ในเมืองไทย ถ้าหากเราไม่ได้ใช้สายพันธุ์ที่บริษัท Bio-Science กับสถาบันสุขภาพอเมริกาใช้ มาใช้สายพันธุ์ของไทย เราอาจจะเจอตัวที่คล้ายๆ MAP30 มีลักษณะเป็นอนุพันธุ์ของมัน ซึ่งบริษัทพวกนั้นจดเอาไว้แล้ว บริษัทพวกนั้นยังจดทะเบียนกรรมวิธีการผลิตเอาไว้ด้วย. ที่อาจารย์วีณาใช้ ก็เป็นการลอกกระบวนการผลิตนี้มา คือถ้าท่านไปจดกระบวนการผลิตก็ไม่ได้ แกเลี่ยงไปจดตัวอนุพันธุ์ก็ไม่ได้. เพราะว่ามันจดถึงขั้นกระบวนการรักษา คือเอาตัว MAP30 ไปรักษาโรค. และยิ่งกว่านั้น การเอา MAP30 ไปรักษากับวิธีการอื่น เขาก็จดไว้อีก. อันนี้เป็นกระบวนการกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่พยายามผลักดันให้ประเทศโลกที่สามใช้

ประเด็นอยู่ตรงนี้คือ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนั้น กระบวนการผลักดันกฎหมาย มันเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า Bilateral เป็นการเจรจากันสองฝ่าย ระหว่างเรากับอเมริกา ซึ่งมีข้อดีข้อเสียบางอย่าง. แต่ปัจจุบันนี้ภายใต้กรอบข้อตกลงการเจรจาการค้าโลก สหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรม สามารถผลักดันมาตรฐานกฎหมาย และกฎหมายนั้นจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยคุณไม่ต้องเสียเวลาต่อรองเป็นรายทีละประเทศ. การเกิดขึ้นขององค์กรการค้าโลก ก็เกิดขึ้นโดยสาเหตุนี้ คือสร้างมาตรฐานระเบียบทางการค้า เพื่อตอบสนองต่อประโยชน์อุตสาหกรรม นี่คือความเป็นมา

ตรงนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นนิดหนึ่งว่า หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตุต่อกระบวนการต่อรองแบบนี้ว่า แล้วมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ? ข้อเสียก็อย่างที่ผมยกตัวอย่างเมื่อสักครู่นี้แล้ว แต่มันเป็นข้อดีของประเทศอุตสาหกรรมก็คือว่า เขาจะได้แบบแผนทางการค้า ซึ่งไม่ต้องมีการเจรจาเป็นรายประเทศ. แต่มีคนตั้งข้อสังเกตุดังนี้คือว่า ตั้งแต่ครั้งที่สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันให้ไทยแก้ไขกฎหมาย มีนักวิชาการท่านหนึ่ง คือ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ก็เสนอว่า ที่จริงแล้วน่าจะเอาเรื่องนี้ไปเจรจาใน GATS เพราะตอนนั้นยังไม่มี WTO, องค์กรการค้าโลก(WTO)เกิดขึ้นจาก GATS. ถ้าอเมริกากดดันเรามากๆแบบนั้น เราก็เอาเรื่องนี้ไปเจรจาพหุภาคีเสีย เราจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น. ผมคิดว่าเราน่าจะตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ แล้วจะย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องนี้กันอีกทีหนึ่ง

ประเด็นนี้ถูกขยายหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา โดยนักวิชาการหลายส่วน, ใน TDRI เองก็ตาม, แล้วก็มีบทความของคุณปีเตอร์ อึ้งภากรณ์ ที่เขียนโต้แย้งกับคุณพิทยา ว่องกุล ในการวิจารณ์องค์กรการค้าโลกว่า ถึงท้ายที่สุดแล้ว เวทีแบบองค์กรการค้าโลก มันก็จะมีประโยชน์ในแง่ที่มันเป็นการเจรจาพหุภาคี ที่จะมีการเจรจาต่อรองกันได้ ซึ่งคุณพิทยาบอกว่ามันไม่จริง.

อย่างไรก็ตาม ผมขอเสนอภาพจากประเด็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นเรื่องหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพว่า แล้วรัฐบาลไทยมีท่าทีแบบเดียวกับที่ ดร.สุรเกียรติ เคยเสนอไว้ในตอนนั้นหรือเปล่า ? คือใช้การต่อรองในเวทีองค์กรการค้าโลก เพื่อต่อรอง แทนที่จะปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกามาบีบบังคับ. ผมคิดว่าไม่โดยประการทั้งปวง, ในช่วงที่ผ่านมา. แทบจะมีกรณีน้อยมากที่เห็นว่า มีการใช้เงื่อนไขในองค์กรการค้าโลก ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย

ผมยกตัวอย่างให้ฟังนิดหนึ่งนะครับว่า นับตั้งแต่ได้มีการลงนามข้อตกลงในองค์กรการค้าโลกมีผล เมื่อปี 1995 ซึ่งหมายถึงว่า ข้อตกลงต่างๆจะต้องมีการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยที่, ยกตัวอย่างเช่น ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องรีบดำเนินงานทันที หลังจากที่ข้อตกลงใน WTO มีผลบังคับใช้ คือในปีถัดมา 1996. สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาแบบไทย ก็จะมีเวลา 5 ปี, คือในปี 2000 คุณจะต้องดำเนินการที่จะแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลง. ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่า อย่างเช่น แอฟริกา บังคลาเทศ เป็นต้น จะให้เวลาไปอีกสิบปี คือเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นปี 2005 คือจะต้องแก้ไขกฎหมายตามนั้น

เรากลับพบว่า รัฐบาลไทยไม่เคยตั้งข้อสงสัยเลย ไม่เคยใช้กระบวนการเจรจาต่อรองเลย ก็คือว่า ข้อตกลงในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มีผลว่าภายในปี 2000 ไทยต้องออกกฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลง แล้วไทยก็จะเริ่ม…คือหลังจากลงนามเสร็จแล้ว รัฐบาลไทยก็จะรีบแก้ไขกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นไปตามที่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายต้องการ อย่างเช่น ในกฎหมายเรื่องพันธุ์พืช เป็นต้น. กระทรวงเกษตร, กระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างกฎหมาย แล้วร่างกฎหมายนั้นไม่ได้ทำอย่างใดเลย นอกจากการลอกแบบกฎหมายของประเทศอุตสาหกรรมมาใช้.

ในเรื่องพันธุ์พืชนี่ มีองค์กรหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นมาโดยประเทศอุตสาหกรรม เรียกว่า "สหพันธ์เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่", เราก็ลอกกฎหมายนั้นมาใช้เลย. การประชุมที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นวันนี้และเริ่มต้นวันนี้ ก็คือการประชุมซึ่ง WTO และองค์การที่อยู่เบื้องหลัง WTO ทั้งหลาย สมาคมของพวกอุตสาหกรรมทั้งหลาย ก็คือ เพื่อผลักดัน เพื่อเตรียมความคิดประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียนั่นเอง ให้วางระบบกฎหมายตามที่เขาอยากหรือต้องการให้พวกเราทำ.

เวทีแบบที่เรียกว่า เวทีของสหพันธ์เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ก็จัดประชุมลักษณะนี้นั่นเอง ก็คือ หลังจากที่คุณตกลงลงนามในข้อตกลงองค์กรการค้าโลก มันก็จะมีคณะผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาคณะหนึ่ง แล้วก็อบรมให้ข้าราชการของเราใช้ระบบกฎหมายตามที่เขา train มา หรือเขาฝึกอบรมมา ตามแบบแผนของเขานั่นเอง โดยไม่ได้ตั้งคำถามแบบนั้นเลย.

ขณะนี้ อยากให้เราทราบว่า หลังจากตกลงลงนามในองค์กรการค้าโลกแล้ว เมื่อปี 1995 แล้วนี่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามของประเทศเอเชีย ที่แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลง… นอกเหนือจากไทยแล้ว ก็มีเกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งได้แก้กฎหมายพันธุ์พืชเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่มีในข้อตกลงองค์กรการค้าโลก. มีอีก 80 ประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ให้เป็นไปตามข้อตกลง. อันนี้มันสะท้อนอะไร ?

คำตอบก็คือ มันสะท้อนว่า, ซึ่งที่จริงผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลไทย แต่เป็นความรับผิดชอบของสังคมไทยร่วมกันทั้งหมดที่เราปล่อยให้รัฐบาล แม้กระทั่งพวกเราเองก็ตาม หรือนักวิชาการก็ตาม หรือรัฐบาลก็ตาม ที่คิดว่าข้อตกลงหรือกติการะหว่างประเทศนั้น ถ้ามีการตกลงเอาไว้อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดำเนินการ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบ หรือมีการเจรจาต่อรองให้เหมาะสมกับประเทศของเรา.

ผมอยากจะพูดแบบนี้ครับว่า… อาจจะไม่ลงไปในรายละเอียดของเรื่ององค์กรการค้าโลก ซึ่งเดี๋ยวอาจารย์วอลเดน อาจจะพูดเรื่องนั้น, ผมจะจับเฉพาะบางประเด็นขององค์กรการค้าโลก. การดำเนินการทั้งหมดในการเจรจาวางกรอบข้อตกลงในองค์กรการค้าโลก ตั้งอยู่บนฐานของระบบซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เราจะเห็นได้เลยนะครับในการกำหนดเนื้อหาการประชุมหลายครั้ง ภายใต้องค์กรการค้าโลก ก็จะอยู่ภายใต้การผลักดันของกลุ่มอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น เราจะเห็นชัดเจนว่า กรณีการต่อสู้ระหว่าง ไมค์ มัวร์ กับ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งหลายคนยังตั้งคำถามว่า ศุภชัยขึ้นไป จะได้อะไร ? ถึงขนาดนั้นก็ตาม อเมริกาก็ไม่อยากให้คนของตัวเองคุมไม่ได้ทั้งหมดเข้าไปเป็นผู้อำนวยการ.

นี่คือภาพสะท้อนทั้งหมดในกระบวนการประชาธิปไตยในองค์กรการค้าโลก เพราะจริงๆแล้ว เบื้องหลังของประเทศอุตสาหกรรมต้องการให้องค์การนี้ รับใช้กระบวนการกำหนดและการวางระเบียบทางการค้าและการพัฒนาตามมาตรฐาน ตามผลประโยชน์ของตนนั่นเอง

ถ้าเราเห็นรายละเอียดของการกำหนดเนื้อหาในการประชุม การเชิญคนมาประชุมและการเชิญคนมาพูด เราจะเห็นกระบวนการนี้ชัดเจน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย. ก่อนหน้าการมีองค์กรการค้าโลก พวกกลุ่มอุตสาหกรรมก็จะตั้งสมาคมต่างๆขึ้น แล้วก็จะมาอบรมข้าราชการในประเทศโลกที่สาม ให้คล้อยตามและยอมรับในมาตรฐานกฎหมาย หรือข้อตกลงตามแบบที่เขาต้องการหลายครั้ง แม้แต่ว่ากฎหมายสิทธิบัตรของไทยที่ผมพูดเอาไว้แต่ต้น ก็มาจากการผลักดันขององค์กรทรัพยสินทางปัญญาโลก กฎหมายพันธุ์พืช ที่เป็นมาตรฐานที่ว่าสหพันธุ์คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ จริงๆแล้วก็ตั้งขึ้นโดยประเทศอุตสาหกรรมไม่กี่ประเทศ ในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นตัวผลักดัน. เพราะฉะนั้นการประชุมเหล่านี้ก็เป็นการสะท้อนภาพเดียวกัน ในการผลักดันมาตรฐานกฎหมาย พยายามที่จะผลักดันระเบียบทางการค้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะลงลึกไปอีกนิดหนึ่งว่า ภาพสะท้อนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการค้าขององค์กรการค้าโลกนั้น ยังสะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยในระดับประเทศด้วยในการกำหนดนโยบาย. เห็นได้ชัดว่า ในการเจรจาข้อตกลงการค้า ซึ่งมันจะมีผลต่อคนในประเทศทั้งหมด แต่ในกระบวนการภายในประเทศเอง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นไทย อินเดีย หรือฟิลิปปินส์อะไรก็ตาม กระบวนการต่อรองนั้น กระบวนการสร้างนโยบายจากภายในประเทศนั้น ก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่งนะครับว่า ในอดีตที่ผ่านมา การเจรจาเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา จะมีคนอยู่สองคนในกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้. แล้วถ้าท่านไปถามคนอื่นในกระทรวงพาณิชย์ คนอื่นๆก็จะไม่รู้เรื่อง. แล้วสองคนในกระทรวงพาณิชย์นี่ ก็คือคนซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากสหรัฐอเมริกา ร่ำเรียนมาจากที่นั่น และมีกรอบอย่างเดียว.

ผมขอเอ่ยถึงเลยแล้วกัน คือ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรด้วย บอกว่าระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่ดีที่สุดก็คือ กฎหมายสิทธิบัตรคุ้มครองพันธุ์พืชของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า เลวร้ายมากที่พูดออกไปแบบนั้น. แล้วพูดออกไปโดยที่มีคนรู้เรื่องนี้น้อยด้วย.

คือคำว่า"สิทธิบัตร"ในเมืองไทย เช่น เวลาที่ผมพูดเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชนี่ ชาวบ้านคิดถึงการคุ้มครองพันธุ์พืช. แต่ที่จริงแล้วเป็นการให้สิทธิผูกขาดกับบริษัทข้ามชาติ.

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมจึงบอกว่า กระทั่งในประเทศในยุโรปทั้งหมด หรือประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ยังไม่เห็นด้วยเลยเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องสิทธิบัตรเกี่ยวกับพันธุ์พืช. ผมเกรงว่า จะเป็นการให้อำนาจการผูกขาดกับบรรษัทข้ามชาติในอเมริกา โดยที่ตัวเองไม่มีโอกาสแข่งขันได้เลย. แล้วไอ้ประเทศแบบนั้นกำลังบอกว่า ระบบกฎหมายจะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศของเรา.

ผมขออธิบายว่า ผูกขาดแบบสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั้นเป็นอย่างไร ? ก็คือคุณให้สิทธิทั้งหมดในเรื่องพันธุ์พืชให้กับบริษัท ถ้าบริษัทนั้นเอาพันธุ์พืชไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนิดเดียวเอง ขนาดถึงกับที่ชาวบ้านซื้อพันธุ์พืชนั้นมา แล้วก็ซื้อมาแล้วใช้ได้หนเดียว ต่อไปจะปลูกต่อไม่ได้. ปลูกออกมาแล้ว เก็บเกี่ยวเป็นข้าวอยู่ในกระบุงนี่ บริษัทยังมีสิทธิถึงขั้นที่ว่า คุณขายให้ใครไม่ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต. อันนี้เป็นเรื่องจริง ถึงขั้นที่ว่า คุณส่งออกไปที่ไหน ในตลาดที่เขาไม่ต้องการให้ส่งออก ก็ทำไม่ได้.

ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ ลองไปศึกษากรณีที่บริษัท Rice Tech บริษัทของสหรัฐอเมริกา ได้สิทธิบัตรในข้าวบาสมาติของอินเดีย เป็นเรื่องที่ชัดเจน. คือเป็นกฎหมายที่สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้สิทธิผูกขาดทางด้านอุตสาหกรรม โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี กระบวนการในเมืองไทยก็เป็นแบบนี้ ก็คือ การกำหนดนโยบายก็มาจากกระทรวงพาณิชย์ ในกรณีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะเห็นได้ชัด. เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเจรจาข้อตกลงในองค์กรการค้าโลก นอกเหนือจากการที่เราเห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยในองค์การระหว่างประเทศระดับนั้นแล้ว เราก็จะเห็นว่า คนภายในประเทศเองที่ไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้า ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเล็กนิดเดียวเอง.

ผมยกตัวอย่างอีกนิดหนึ่งว่า ขนาดกระทั่งข้าราชการจากกระทรวงอื่นที่ไปเจรจาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วยเลย. ยกตัวอย่างเช่น การเจรจาในองค์กรการค้าโลก ว่าด้วยเรื่องการทบทวนข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คือเขาบอกว่า หลังจากตกลงไปแล้ว ๕ ปี ต้องมีการเจรจาทบทวน ซึ่งกำหนดการทบทวนจะเกิดขึ้นที่ซีแอทเทิล ที่ผ่านมานี้เอง. ซึ่งมันล้มไปโดยสาเหตุที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว.

ปรากฏว่า คนที่เจรจานี่มีแต่กระทรวงพาณิชย์ คนจากกระทรวงเกษตร คนจากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลเกี่ยวกับเรื่องยารักษาโรคเอดส์ คนจากกระทรวงเกษตรที่ดูแลเรื่องการปกป้องพันธุ์พืช ไม่ได้ถูกเชิญให้อยู่ในกระบวนการนี้. ตรงนี้นี่เอง มันก็สะท้อนให้เห็นภาพว่า บางที เวลาเราพูดถึงปัญหาของเรื่ององค์กรการค้าโลก บางทีเราได้ละเลยที่จะพูดถึง กระบวนการประชาธิปไตยภายในของเราเองด้วย

หลายครั้งผมพบว่า แม้กระทั่งกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มที่ผลิตน้ำมันปาล์ม เกษตรกรที่ปลูกปาล์มรายใหญ่ของประเทศ กลุ่มเหล่านั้นเขายังเรียกร้องรัฐบาลให้มีส่วนในการกำหนดนโยบาย และปฏิเสธที่จะเห็นระบบการค้าเสรีแบบที่รัฐบาลต้องการให้เป็น การพัฒนาทั้งหลายในประเทศไทยของเรานั้น มันอยู่ในมือของคนไม่กี่คนจริงๆ แล้วการที่กระทรวงพาณิชย์ทำแบบนั้นได้ ก็จะมี backup ของบริษัทกลุ่มหนึ่ง. อย่างกรณีเรื่องยานี่ ได้สะท้อนชัดเจนเลย เรื่องยาที่ต่อสู้กันมา ๑๐ กว่าปีนั้น แบ่งเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งก็มีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับเอากฎหมายแบบอเมริกามาเต็มที่ แล้วก็มีบริษัทยาข้ามชาติที่รวมตัวกัน และทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิดกลุ่มหนึ่ง.

กลุ่มที่สองก็คือ กลุ่มผู้บริโภค ข้าราชการจากระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ แล้วก็สมาคมผลิตยาของไทย อันเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นของไทยที่ต่อต้านระบบกฎหมายจากอเมริกา. อันนี้คือภาพสะท้อนทั้งหมดขององค์กรการค้าโลก.

ผมอยากให้ภาพคร่าวๆแค่นี้ก่อน เพื่อให้เห็นภาพว่าอะไรมันเป็นยังไงในเรื่องพวกนี้. แต่จริงๆเรื่องนี้เราต้องคุยในกรอบที่กว้างมากกว่านี้ แต่ผมสะท้อนภาพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับที่งานซึ่งผมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย (ต่อ)...

คลิกไปหน้าต่อไป

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com