Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 416 หัวเรื่อง
สมานฉันท์วัฒนธรรมในโรงเรียน
ดร. อมรวิชช์
นาครทรรพ
คณะคุรุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประเด็นทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับโรงเรียนในมาเลเซีย
การศึกษาเพื่อสมานฉันท์ทางวัฒนธรรม
: ข้อคิดจากมาเลเซีย
โดย : อมรวิชช์ นาครทรรพ์
คณะคุรุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการเครือข่ายงานวิจัยด้านเด็กและการศึกษา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.)
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากคุณจุฬากรณ์
มาเสถียรวงศ์
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)
การศึกษาเพื่อสมานฉันท์ทางวัฒนธรรม : ข้อคิดจากมาเลเซีย
ผมผ่านตาเห็นข่าวการศึกษาของประเทศมาเลเซียข่าวหนึ่งน่าสนใจครับ อ่านปุ๊บก็นึกถึงปัญหาอะไรหลายๆ อย่างในบ้านเราที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือปัญหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพลังทางสังคม แต่กลับถูกทำให้เป็นเครื่องลดทอนพลังของสังคมลงด้วยซ้ำ ในขณะที่ระบบการศึกษาเองก็ไม่ได้ช่วยเยียวยาปัญหานี้เท่าใดนัก
ในข่าวบอกว่าตอนนี้รัฐบาลมาเลเซียกำลังเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นการใหญ่ ซึ่งเป็นแผนการที่ริเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 2002 โดยอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมหะหมัด โดยชูประเด็นใหญ่การปฏิรูปสองเรื่องคือ เรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเรื่องการสร้างความสามัคคีระหว่างชาวมาเลย์ต่างเชื้อชาติ ผ่านระบบการศึกษาที่เน้นให้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมมากขึ้น
ปัจจุบันระบบการประถมศึกษาของมาเลเซีย เป็นระบบโรงเรียนของรัฐเป็นส่วนใหญ่ที่เปิดโอกาสให้เด็กไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติมาเลย์ จีน หรืออินเดีย มีโอกาสได้เข้ามาเรียนอย่างเสมอภาคกัน อย่างไรก็ตามในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ โรงเรียนของรัฐเหล่านี้เริ่มจะมีลักษณะโอนเอียงไปเป็นโรงเรียนแบบมุสลิมมากขึ้นๆ เนื่องจากนักเรียนร้อยละ 99 เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายมุสลิม รวมทั้งครูส่วนใหญ่ก็เป็นชาวมุสลิมเช่นเดียวกัน
ประกอบกับลักษณะความเคร่งศาสนาของพ่อแม่ผู้ปกครองชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อย ทำให้โรงเรียนของรัฐที่ควรจะเปิดกว้างให้ทุกวัฒนธรรม หรือเป็น"โรงเรียนพหุวัฒนธรรม" ในตอนแรกกลับค่อยๆ กลายพันธุ์ไปเป็นโรงเรียน "วัฒนธรรมเดี่ยว" หรือกลายเป็นโรงเรียน"อิสลามศึกษา" โดยปริยาย ทั้งในแง่วัฒนธรรม วิถีชีวิตในโรงเรียน ไปจนถึงการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ในกรอบจารีตของอิสลามิกชน มากจนกลายเป็นปิดกั้นหรือไม่ละเอียดอ่อนต่อวัฒนธรรมของเด็กมาเลย์เชื้อสายชาติพันธุ์อื่น
เช่น ห้ามไม่ให้นักเรียนจัดคอนเสริทต์หรือจัดการแสดงบันเทิงเพราะขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม
การนัดผู้ปกครองมาประชุมในวันอีสเตอร์ ทำให้ผู้ปกครองที่เป็นคริสต์มาไม่ได้ การภาคทัณฑ์เด็กที่นุ่งกางเกงขาสั้นมาในชั่วโมงพละ
ทั้งที่เด็กคนนั้นไม่ใช่อิสลาม เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดีย ซึ่งแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่ก็มีจำนวนมากพอสมควรไม่นิยมส่งลูกเข้าโรงเรียนของรัฐกันเท่าใดนัก
เนื่องจากเกรงว่าลูกๆ หลานๆ จะถูกกลืนทางวัฒนธรรม ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าชาวมาเลย์เชื้อสายจีนถึงร้อยละ
95 จะนิยมส่งลูกไปเข้าโรงเรียนจีน (Chinese School) ในขณะที่ชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดียราวร้อยละ
50 ก็จะส่งลูกไปเข้าโรงเรียนแบบทมิฬ (Tamil School) หรือบางครอบครัวก็ใช้วิธีสอนลูกอยู่กับบ้าน
(Home School) หรือส่งไปเข้าโรงเรียนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ซึ่งลักษณะการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในการเลือกโรงเรียนเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลมาเลเซียกังวลว่าการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวมาเลย์เชื้อสายต่างๆ
จะเป็นไปได้ยาก และนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นในอนาคต
เด็กมาเลย์เชื้อสายจีนบางคนบ่นกับผู้สื่อข่าวด้วยซ้ำว่า ตอนเรียนประถมในโรงเรียนของรัฐบาลได้อยู่กับเพื่อนทั้งมุสลิมและฮินดูเป็นที่สนุกสนาน
แต่พอขึ้นมัธยมพ่อแม่เด็กเชื้อสายจีนอย่างตนก็จะย้ายลูกไปทาง พ่อแม่ฮินดูย้ายลูกไปอีกทาง
ในขณะที่พ่อแม่มุสลิมปักหลักอยู่กับโรงเรียนของรัฐ กว่าจะเจอกันอีกที่ก็โน่น...ตอนเข้ามหาวิทยาลัย
นั่นก็เพราะระบบการศึกษาไม่น่าไว้ใจพอสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองเชื้อสายจีนและฮินดูเหล่านั้น
ที่ต่างก็หวงแหนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน
ที่จริงเด็กๆ นะไม่ได้มีอะไรกันหรอกครับ รักกันง่ายไม่ได้เดียดฉันท์เชื้อชาติศาสนาอะไรกันเลย เพราะเด็กเกิดมาด้วยความใสและพร้อมจะรักผู้อื่นเป็นทุนอยู่แล้ว แต่สังคมและระบบการศึกษาต่างหากที่ทำลายศักยภาพของความรักระหว่างเด็กๆ ด้วยกัน โดยการจับพวกเขาแยกกันไปคนละทิศละทาง หมดโอกาสจะปลูกรักสมัคสมานระหว่างเชื้อชาติ
ส่วนในเรื่องปัญหาคุณภาพการศึกษานั้น โรงเรียนรัฐบาลเองกลับด้อยกว่าโรงเรียนจีน เพราะโรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่ไม่มีกลไกจูงใจและพัฒนาครูให้ดีพอ หลักสูตรก็ยังค่อนข้างเป็นแบบท่องจำ จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับโรงเรียนแบบจีน ซึ่งมีเนื้อหาและการสอนเข้มข้นกว่า จนถึงกับพ่อแม่ชาวมาเลย์เองจำนวนกว่า 65,000 คนในแต่ละปีนำลูกออกจากโรงเรียนของรัฐไปเข้าโรงเรียนจีนแทน เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้บุตรหลานมีความรู้และทักษะดีกว่าสำหรับการแข่งขันในอนาคต
ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัญหาหลักในระบบประถมศึกษาของมาเลเซีย โดยเป็นความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ที่โรงเรียนของรัฐไม่ยืดหยุ่นพอเพียงให้กับความแตกต่างและเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม กับยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพระหว่างโรงเรียนแต่ละแบบอีกด้วย
สำหรับหนทางแก้ไขนั้น มีแนวโน้มที่จะมีการรื้อปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐจากเดิม ซึ่งค่อนข้างเน้นหนักแนวทางแบบอิสลามเป็นหลักมาเป็นโรงเรียนที่มีความยืดหยุ่นในหลักสูตรสูงขึ้น มีการจัดกิจกรรมพหุวัฒนธรรม และการเปิดชั้นเรียนภาษาจีนและภาษาทมิฬให้ผสมผสานอยู่ในโรงเรียนของรัฐมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะต้องมีการฝึกอบรมครูให้เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ จากนโยบายรัฐบาลมาเลเซียที่อยากเห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมมากขึ้น จากองค์ประกอบโครงสร้างด้านประชากรที่มีทั้ง "ภูมิบุตรา" หรือเด็กเชื้อสายมาเลย์เอง กับเด็กมาเลย์เชื้อสายจีน และเด็กมาเลย์เชื้อสายอินเดีย ผสมผสานกันอย่างที่กล่าวข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย จึงเล็งเห็นว่า องค์ประกอบเชิงโครงสร้างประชากรครูก็ควรมีครูเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดียเพิ่มมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันครูเชื้อสายจีนและอินเดียมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางกระทรวงด้วยซ้ำ และจากการสำรวจในภาคสนามของผู้สื่อข่าวของ The Star เองพบว่า โรงเรียนบางแห่งก็ไม่มีครูเชื้อสายจีนหรืออินเดียเลย หรือมีอย่างมากแค่ร้อยละ 5 ทั้งนี้โรงเรียนที่มีปัญหาส่วนใหญ่คือโรงเรียนในชนบทที่จะมีแต่ครูมาเลย์ล้วนๆ ขณะที่โรงเรียนในเมืองยังพอจะหาครูเชื้อสายจีนได้บ้าง เพราะชุมชนชาวจีนมาเลย์มักอาศัยในเขตเมือง
ตอนนี้ กระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซียกำลังเร่งวางมาตรการเพิ่มครูมาเลย์เชื้อสายจีนมากขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาคือ คนมาเลย์เชื้อสายจีนมักนิยมค้าขายมากกว่า ฉะนั้นการวางมาตรการต่างๆ จึงต้องเน้นไปที่การดึงดูดครูมาเลย์ต่างเชื้อสายเหล่านี้ มาอยู่ในโรงเรียนของรัฐมากขึ้น เช่น การปรับปรุงเงินเดือน การให้สวัสดิการ ตลอดจนการปรับปรุงภาระงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลมาเลเซียก็จะมีอานิสงส์ต่อครูทั้งหมดในภาพรวมด้วย
ส่วนในเรื่องคุณภาพการศึกษานั้นรัฐบาลได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในเอกสารเรื่อง Revitalization of Education : Equipping Malaysia for the Realities of 21st Century ซึ่งได้นำเสนอต่อสาธารณะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าจะมีแรงขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องโดยเน้นในเรื่องมาตรฐานหลักสูตร คุณภาพครู และกลไกวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น
ข่าวนี้ฟังๆ ไปแล้วก็อดนึกถึงบ้านเราไม่ได้ครับ
สังคมโลกและสังคมไทยของเราเป็นสังคมที่จะต้องยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตอกย้ำเรื่องเอกภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติมาช้านาน และในความพยายามที่จะตอกย้ำเรื่องนี้ เราได้ละเลยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของการเป็น "ชาติไทย" ไปมาก
ประวัติศาสตร์ อารยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อของกลุ่มชนหลากเชื้อสายเผ่าพันธุ์มากมาย ที่หล่อหลอมรวมกันขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้ถูกละเลย หรือให้ความสำคัญเพียงน้อยนิดในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับ และนี่กระมังที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ปัญหาหลายๆ เรื่องในสังคมที่เกี่ยวพันกับชนหลายๆ กลุ่มในสังคมไทยได้กลายเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
เพราะเป็นปัญหาที่ถูกทำให้
"เป็นอื่น" จากคนส่วนใหญ่ในสังคม และหลายครั้งหลายคราที่ความเพิกเฉยที่ถูกเพาะบ่มขึ้นในสังคมนี้ก็นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน
เพียงเพราะการศึกษาได้สร้าง "ความเป็นอื่นทางวัฒนธรรม" ระหว่างคนไทยที่ต่างภูมิหลังทางชาติพันธุ์ขึ้นมา
เด็กกรุงเทพจะมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวความเชื่อ และการใช้ชีวิตของเด็กอีสานรุ่นราวคราวเดียวกันแค่ไหน
หรือแม้แต่เรื่องราวของวัฒนธรรมอีสานโดยรวมก็เถอะ นอกจากข่าวหนังสือพิมพ์ที่ว่าคนอีสานกินหมา
หรือแม้แต่เด็กอีสานเองมีโอกาสได้เรียนรู้หรือไม่ว่าภาคอีสานร่ำรวยวัฒนธรรมทั้งไทย
ลาว เขมร เพียงใด
เด็กส่วนใหญ่ของประเทศได้มีโอกาสรู้บ้างไหมว่าเด็กส่วนน้อยที่เป็นลูกหลานชาวไทยภูเขามีชีวิตและความลำบากอย่างไรในการดิ้นรนเพื่อเป็น "คนไทย"
การศึกษาของเรายังไม่ได้สอนให้เด็กไทยรู้จักและรักกันทางวัฒนธรรมให้มากพอ ต่างคนต่าง "ตกขอบทางวัฒนธรรม" ซึ่งกันและกัน ในที่สุดก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนไทยที่มีโลกทัศน์คนละชุด ยืนคนละจุด การคลี่คลายปัญหาสังคมใดๆ ให้เกิดฉันทามติร่วมกันก็คงเป็นไปได้ยากขึ้น
ความทุกข์ร้อนของเพื่อนร่วมแผ่นดินอย่างสมัชชาคนจน ม็อบเขื่อนปากมูล ม็อบท่อก๊าซ ก็จะกลายเป็นเรื่องของ "คนอื่น" ไปหมดเพราะ "ความเป็นอื่นทางวัฒนธรรม" ที่ถูกปลูกฝังมานี่กระมัง
และไม่เพียงแต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมภายในสังคมเราเองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมในโลกใบใหญ่นี้ที่เด็กไทยต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นด้วย โลกใบนี้ดูจะร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ กับความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ นับตั้งแต่กรณีความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกของชนชาวเซิร์ฟ มาจนถึงสงครามย่อยๆ ที่ปะทุขึ้นระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในเอเชียกลาง การทำร้ายกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในอินโดนีเซียและที่ใกล้ตัวเราขึ้นมาอีกก็คือเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้ที่เริ่มสร้างรอยร้าวระหว่างคนไทยด้วยกัน
แนวโน้มความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเกี่ยวพันกับเชื้อชาติวัฒนธรรม ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าโลกของเรายังห่างไกลนักจากสันติสุข และความปรองดองระหว่างมนุษยชาติ ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่มนุษย์ในแต่ละสังคม ต่างเติบโตขึ้นมาในกรอบวัฒนธรรมที่คับแคบของแต่ละสังคม ขาดโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง อันนำมาสู่ขีดจำกัดในการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และวิธีคิดของเพื่อนร่วมโลกในแผ่นดินอื่น
หลังเหตุการณ์อาคารเวิลด์เทรดถล่ม เพราะผู้ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน เด็กไทยชาวพุทธควรมีมุมมองอย่างไรต่อเพื่อนมนุษย์ชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง หรือในสามจังหวัดภาคใต้ เราจะปล่อยความคิดความเชื่อของเขาไปตามยถากรรม ตามกระแส ให้กินแหนงแคลงใจชาวมุสลิม หรือเราจะให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงามของชาวมุสลิมอย่างเพียงพอ
เด็กไทยรุ่นใหม่ควรมีทัศนะอย่างไรต่อเพื่อนบ้านในอินโดจีน ต่อสังคมลาว กัมพูชา เวียตนาม ที่เขาอาจต้องทำงานและใช้ชีวิตด้วยในอนาคต เราจะปล่อยให้เขาคิดว่าเพื่อนบ้านเรานี้เป็นเพียงสนามการค้าและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย หรือเราจะทำให้เขาชื่นชมการมีอารยธรรมร่วมกันในย่านสุวรรณภูมิ ที่จะบ่มเพาะความรู้สึกฉันท์มิตรและสัมพันธภาพที่จริงใจต่อกันระยะยาว
การบูรณาการวัฒนธรรมในการจัดการศึกษาจึงมีนัยสำคัญไม่เฉพาะแต่การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมไทย
แต่มีนัยต่อการใช้ชีวิตของคนไทยต่างเชื้อสายเผ่าพันธ์อย่างปรองดองและต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลกด้วย
นี่เป็นโจทย์ที่นักการศึกษาควรช่วยกันตอบอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดีย ซึ่งแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่ก็มีจำนวนมากพอสมควรไม่นิยมส่งลูกเข้าโรงเรียนของรัฐกันเท่าใดนัก เนื่องจากเกรงว่าลูกๆ หลานๆ จะถูกกลืนทางวัฒนธรรม ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าชาวมาเลย์เชื้อสายจีนถึงร้อยละ 95 จะนิยมส่งลูกไปเข้าโรงเรียนจีน (Chinese School) ในขณะที่ชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดียราวร้อยละ 50 ก็จะส่งลูกไปเข้าโรงเรียนแบบทมิฬ (Tamil School) หรือบางครอบครัวก็ใช้วิธีสอนลูกอยู่กับบ้าน (Home School)