มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานเรื่องสั้นชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 410 หัวเรื่อง
การวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
โครงการ การพัฒนาองค์ความรู้
เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ


R
relate topic
230647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
งานเขียนการประมวลองค์ความรู้และความคิดเห็นต่อเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ"
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


การวิจัยกับการพัฒนาองค์ความรู้
ระเบียบวิธีวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
โครงการ "การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" (AHC)

จากบทความเดิมชื่อ การวิจัยกับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 

การวิจัยเรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
เริ่มแรกเมื่อพูดถึงเรื่องการวิจัย คงเกิดคำถามว่า "การวิจัยคืออะไร ?" พระธรรมปิฎกกล่าวว่า "การวิจัยเป็นปัญญา เป็นลักษณะของการใช้ปัญหาทำให้เกิดปัญญา" และจุดมุ่งหมายของการวิจัย คือ การค้นหา การสืบค้นสิ่งดี สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ

ดังนั้น การวิจัยเรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพจึงหมายถึง การค้นหา การสืบค้นสิ่งดี สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการสื่อสารเพื่อสุขภาพ หรือการค้นหาแนวทางหรือวิธีการที่จะทำให้ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ออกมาเป็นแนวคิด ทฤษฎี หรือแนวปฏิบัติที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดและปฏิบัติได้จริง

งานเขียนชิ้นนี้ เป็นการประมวลองค์ความรู้และความคิดเห็นต่อเรื่อง "การวิจัยกับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนา "งานวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ต่อไป โดยมี ที่มาของข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

1. การประมวลองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ในสถาบันการศึกษาระดับอุดม ศึกษาไทย (Thesis)
2. การสำรวจงานวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพในสังคมไทย (Non-thesis)
3. การศึกษางานวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพแนวสร้างนำซ่อม
4. ความคิดเห็นที่ได้จากการประชุม Pre-conference ครั้งที่ 1 เมื่อวันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2546 จัดโดยโครงการ "การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" (AHC)
5. ความคิดเห็นที่ได้จากการประชุม Pre-conference ครั้งที่ 2 เมื่อวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 จัดโดยโครงการ "การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" (AHC)

จุดเริ่มต้นความสนใจการวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
จากการประมวลองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ทั้งในสถาบันการศึกษา (Thesis) และนอกสถาบันการศึกษา (Non-thesis)ในสังคมไทย พบว่ากว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาได้มีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องสุขภาพกับการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง หากมองในแง่การสื่อสารก็มีตั้งแต่การศึกษาองค์ประกอบการสื่อสาร S-M-C-R กับประเด็นสุขภาพ หรือหากมองในมุมของสุขภาพก็มีตั้งแต่การศึกษาประเด็นสุขภาพในฐานะโรคภัยไข้เจ็บ คุณภาพชีวิต การตลาด และสิทธิ

จากการระดมความความคิดเห็นนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ด้าน "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" พบว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสนใจศึกษาวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" มีหลากหลายเหตุผล

ประการแรก เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นความสนใจส่วนตัว ประสบปัญหาจากคนใกล้ตัว สื่อใกล้ตัว หรืออาจเป็นปัญหาของตนเองที่กำลังเดือดร้อน เช่น พระซึ่งถือเป็นผู้บริโภคระดับล่าง เนื่องจากไม่สามารถเลือกสิ่งที่จะบริโภค และไม่สามารถจะสื่อสารไปยังบุคคลอื่นเพื่อบอกปัญหาของตนได้ จึงคิดว่าน่าจะมีวิธีการสื่อสารกับคนทั้งหลาย ให้วิธีการทำบุญ การถวายสังฆทาน เป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ประโยชน์จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารในการนำเสนอเรื่องสุขภาพ เป็นต้น

ประการที่สอง เป็นเรื่องของกระแสสังคม ที่ปัจจุบันนี้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวาระของรัฐบาล สื่อมวลชน หรือองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำให้คำขวัญ "สร้างนำซ่อม" กลายเป็นกระแส ที่ปลุกเร้าให้คนหันมาใส่ใจการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนการเจ็บป่วยจนต้องซ่อมแซมสุขภาพโดยระบบบริการ หรือกระแสสุขภาพที่ปรับเปลี่ยนจากเรื่อง "เชื้อโรคและการจัดการเชื้อโรค" มาสู่เรื่อง "คุณภาพชีวิตและการจัดการกับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี" เป็นต้น ซึ่งการสร้างกระแสดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยเรื่องการสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประการที่สาม อาจมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาในการสื่อสารของผู้ที่ต้องสื่อสารเรื่องสุขภาพ เช่น นักสาธารณสุขมักประสบปัญหาในการสื่อสารให้คนเข้าใจเรื่องสุขภาพ และการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ดังนั้น จึงต้องการแสวงหาวิธีการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ (Patient-provider) ที่ก่อให้เกิดความหมายร่วมกัน และเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นที่ทุกคนควรให้ความสนใจก่อนทำวิจัย "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ก็คือ การทำความเข้าใจต่อคำว่า "สุขภาพ" และ "การสื่อสาร" ว่าจะนิยามขอบเขตอย่างไร เพราะการนิยามจะเป็นการตีกรอบความคิดให้เรามองในเรื่องนั้น ๆ ดังนั้น หากเรานิยามต่างกัน ย่อมมองได้ต่างกัน และก็จะทำให้ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในตอนต่อไป

ค้นคว้างานวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพได้ที่ไหน ?
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากเรามีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" แล้ว อันดับแรก เราต้องทำการศึกษา ค้นคว้า องค์ความรู้ ซึ่งก็คืองานวิจัยที่มีคนสนใจทำมาก่อนหน้าเรา ว่ามีคนสนใจทำในประเด็นไหนแล้วบ้าง แล้วเราจะศึกษาต่อยอดงานดังกล่าวได้อย่างไร หรือที่เราเรียกว่า การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Review Literature) ทีนี้ก็เกิดคำถามตามมาว่า แล้วเราจะค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวกับ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ได้ที่ไหนบ้าง ?

จากการสำรวจงานวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพในสังคมไทย (กมลรัฐ อินทรทัศน์, 2547) พบว่า แหล่งค้นคว้างานวิจัยด้าน "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ส่วนใหญ่เป็นแหล่งค้นคว้าทางด้านการสาธารณสุข เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ที่น่าตกใจคือ การสำรวจครั้งนั้นไม่พบแหล่งค้นคว้าทางด้านการสื่อสารหรือนิเทศศาสตร์เลย หรือหากจะมีก็เป็นเพียงการศึกษาในระดับวิทยานิพนธ์ (Thesis) ในคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้มากนัก

อาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่ภาคสาธารณสุขได้เริ่มสนใจความรู้ด้าน "การสื่อสาร" เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพแล้ว ทางภาคนิเทศศาสตร์เองกลับไม่ได้ให้ความสนใจกับความรู้ด้าน "สุขภาพ" เพื่อพัฒนาให้เกิด "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" เท่าที่ควร

นอกจากนี้ จากการระดมความคิดเห็นของผู้ที่สนใจพัฒนาองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็พบว่า แหล่งค้นคว้าและศึกษาวิจัยด้าน "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ส่วนใหญ่แล้วมาจากภาครัฐ มากกว่าภาคประชาชน และภาคองค์กรเอกชน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า แหล่งค้นคว้าและศึกษางานวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพยังขาดความหลากหลายของแหล่งข้อมูล ยังไม่เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านนิเทศศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์อย่างแท้จริง และยังไม่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับองค์ความรู้ของภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพ ที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข

ทำวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพประเด็นไหนดี ?
จากจุดเริ่มต้นความสนใจที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ย่อมนำมาสู่การตั้งคำถามนำวิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาหรือคำถามค้างคาใจดังกล่าว แต่เสียงสะท้อนความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักปฏิบัติการ นักสื่อสารมวลชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ที่สนใจเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ก็พบว่า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อความคิด ในการเลือกว่าจะผลิตองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ประเด็นไหนดี พอประมวลคร่าว ๆ ได้ดังนี้

ความเข้าใจเรื่อง "การสื่อสาร" และ "สุขภาพ"
ดังกล่าวแล้วข้างต้นว่า การนิยามคำว่า "การสื่อสาร" และ "สุขภาพ" จะมีผลต่อความเข้าใจและมุมมองในเรื่องดังกล่าว ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กรอบแนวคิดหรือกระบวนทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังการนิยามนั้น ๆ

การสื่อสารคืออะไร ?
อาจมองได้ว่าการสื่อสารเป็น "เครื่องมือ" ที่สำคัญของการสร้างสังคมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสื่อสารเพื่อสุขภาพแนวใหม่ หรือหากมองให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าก็อาจมองได้ว่า การสื่อสารคือ "วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรม" ที่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิต ซึ่งหากมองการสื่อสารในมุมมองนี้ ก็จะเห็นว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ส่วนใหญ่ มักเกิดจากปัญหาในการสื่อสารเรื่องสุขภาพที่ไม่สามารถทำให้คนทั่วไปให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพได้ ประการหนึ่งก็คือ การไม่สามารถทำให้คนเข้าใจได้ว่า "ระบบสุขภาพคืออะไร" และระบบสุขภาพจะส่งผลต่อสุขภาพในระดับปัจเจกบุคคลอย่างไร เป็นต้น

สุขภาพคืออะไร ?
การนิยามคำว่า "สุขภาพ" ยังไม่เป็นที่ตกลงร่วมกันว่ามีความหมาย หรือขอบเขตอย่างไร แต่เป็นที่เข้าใจร่วมกันประการหนึ่งว่า "สุขภาพไม่ใช่เรื่องโรคเท่านั้น" และทุกคนพยายามที่จะมองสุขภาพในภาพกว้าง หรือที่เรียกกันว่า "สุขภาวะ"

อย่างไรก็ตาม ความหมายเรื่องสุขภาพของโครงการ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ซึ่งได้รับแนวคิดจาก สสส. มีขอบเขตหลัก ๆ อยู่ 2 ประการ คือ สุขภาพในมุมมองของสามเหลี่ยมสุขภาพ ที่มองว่าการมีสุขภาพดีไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะการดูแลสุขภาพในระดับของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงระดับการรักษาสิ่งแวดล้อม และการให้บริการของระบบบริการสุขภาพอีกด้วย หรือหากมอง สุขภาพในมุมมองของจัตุรัสสุขภาวะ ก็คือสุขภาพที่ใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าสุขภาพเป็นองค์รวมของกาย จิตใจ สังคม และโดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณ

ขอบเขตความเข้าใจเรื่อง "สุขภาพ" และ "การสื่อสาร" จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตประเด็นที่จะศึกษาเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" เช่น หากเราจำกัดขอบเขตการสื่อสารว่าหมายถึงเฉพาะการสื่อสารมวลชนเท่านั้น ก็จะทำให้เรามองข้ามการสื่อสารในรูปแบบของปฏิสัมพันธ์แบบอื่น ๆ ในสังคม เช่น การไปมาหาสู่เพื่อถามสารทุกข์สุกดิบกัน (สื่อบุคคล) การทำพิธีเรียกขวัญ สืบชะตา (สื่อพิธีกรรม) การละเล่น การแสดงทุกชนิดของสื่อพื้นบ้าน (สื่อวัฒนธรรม) เป็นต้น

ทิศทางและนโยบายการวิจัย
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประกาศในการประชุมนานาชาติเรื่อง "การวิจัยเพื่อการพัฒนาทางสุขภาพ" ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ว่า "ประเทศกำลังพัฒนาควรจะลงทุนในการวิจัยประมาณร้อยละสองของงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งหมด" และชี้ให้เห็นว่า "หากมีการจัดการงานวิจัยสุขภาพที่ดี ประเทศจะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนวิจัยได้ถึงยี่สิบเท่า" (อ้างจาก วิพุธ พูลเจริญ, 2542)

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาจึงได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการทำวิจัย เพื่อใช้เป็นฐานความรู้และเทคโนโลยีสำคัญในการปรับตัวให้ทันกับวิวัฒนาการของโลกในปัจจุบัน

เป็นที่แน่นอนว่า นโยบายการวิจัยในระดับนานาชาติ และระดับประเทศดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อนโยบายการวิจัยในระดับสถาบันการศึกษา ดังนั้นการให้นิสิตนักศึกษาได้รับทราบทิศทางและนโยบายการวิจัยในแต่ละระดับ จะทำให้ได้รู้สภาพปัญหาและมีงานวิจัยได้ถูกทางมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเลือกประเด็นศึกษาวิจัยที่สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของการวิจัย

แหล่งทุนสนับสนุน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับการเลือกประเด็นการวิจัย คือ "แหล่งทุนสนับสนุน" ทั้งนี้ นอกจากเหตุผลที่ว่าแหล่งเงินทุนมีความสำคัญที่จะทำให้โครงการงานวิจัยเป็นโครงการที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้แล้ว แหล่งทุนยังมีส่วนในการกำหนดประเด็นที่ควรทำวิจัย ทั้งนี้เพราะการที่นักวิจัยต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุน อุปถัมภ์การวิจัย แน่นอนว่าทิศทางหรือนโยบายการวิจัยย่อมต้องถูกควบคุมหรือตอบสนองต่อเจ้าของทุนเป็นหลัก

เมื่องานวิจัยมีแนวโน้มรับใช้เจ้าของทุนเป็นหลัก ย่อมไม่สามารถตอบสนองต่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติได้ โดยเฉพาะไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนในประเทศ ดังนั้น แนวทางเสนอแนะที่ได้จากการระดมความคิดเห็นประการหนึ่งคือ ควรให้หน่วยงานในชุมชนเป็นแหล่งทุนใหญ่ในการทำวิจัย โดยคนในชุมชน เพื่อให้งานวิจัยนั้น ๆ ตอบสนองความต้องการของชุมชนได้จริง

ประเด็นศึกษาวิจัยประการหนึ่ง คือ การศึกษาวิถีชีวิต (Lifestyle) หรือ การศึกษาวิจัยจากพื้นฐานของสังคมไทย เช่น ทำอย่างไรให้การประกอบอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เป็นไปอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ ท่าเกี่ยวข้าวควรเป็นแบบไหน ท่าผ่าฟืนควรเป็นอย่างไร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจำเป็นต้องลงไปศึกษาในชุมชน (Community Study) ลงไปศึกษาชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจในวิถีชีวิตประจำวัน ว่าส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้อย่างไร เพื่อหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มนักปฏิบัติการด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักสาธารณสุข ฯลฯ ควรต้องลงไปทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ศึกษาวิธีคิด คุณภาพชีวิต เพื่อปรับวิถีชีวิตของชาวบ้าน จากเดิมที่เป็น "ทุกขภาวะ" ให้สู่ "สุขภาวะ" หรือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หลักสูตรในสถาบันการศึกษา
จากการประมวลหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ที่มีอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ พบว่า ยังไม่มีหลักสูตรการสื่อสารเพื่อสุขภาพ (Health Communication) แต่มีสาขาใกล้เคียงคือ "สุขศึกษา" และมีข้อเท็จจริงที่ว่า รายวิชาที่เปิดสอนบางรายวิชาเป็นจุดเริ่มความคิดให้นิสิตเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ (Thesis) เพื่อทำงานวิจัยของตนต่อไป เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มีวิชาวิจัย ซึ่งฝึกให้นิสิตได้คิดหัวข้อ ประเด็นปัญหางานวิจัยออกมา

อาจกล่าวได้ว่า หลักสูตรหรือเนื้อหาในหลักสูตรการเรียนการสอนมีอิทธิพลต่อการเลือกหัวข้อวิจัยของนิสิต นักศึกษา ดังนั้น หากเราต้องการให้หัวข้อวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" เป็นที่สนใจของนิสิต จึงควรต้องมีการพัฒนาหลักสูตร "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้นิสิตมีความรู้ สามารถนำความรู้ไปใช้สร้างประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" และพัฒนาองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ได้ต่อไป

อาจารย์ที่ปรึกษา/ประธานควบคุมวิทยานิพนธ์
นอกจากปัจจัยภายในตัวบุคคล คือ ความสนใจหรือการประสบปัญหาส่วนตัวแล้ว ปัจจัยบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมีอิทธิพลต่อการเลือกประเด็นวิจัย คือ อาจารย์ที่ปรึกษา หรือ ประธานควบคุมวิทยานิพนธ์นั่นเอง ดังนั้นหากต้องการขยายแนวความคิดเพื่อจุดประกายประเด็นงานวิจัยด้าน "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ในระดับสถาบันการศึกษาแล้ว กลุ่มเป้าหมายกลุ่มหนึ่งที่ควรเข้ามารับทราบคือ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ เพราะกลุ่มบุคคลดังกล่าวสามารถที่จะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวถึงตัวนิสิต นักศึกษา ได้โดยตรง

ไม่ว่าจะวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพในประเด็นไหน สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือคำถามนำวิจัยที่เกิดขึ้น ควรมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดการศึกษา ค้นคว้า และหาแนวทางปฏิบัติให้ปัญหานั้นลุล่วงไปได้ มิใช่การวิจัยตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งย่อมไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน

ควรใช้เครื่องมืออะไรในการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพ ?
หลังจากผ่านขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ การคิดว่าจะศึกษาในประเด็นใดแล้ว ปัญหาหนักใจต่อมาที่ต้องคิดต่อก็คือเราจะใช้ "เครื่องมือ" อะไรในการจัดการกับปัญหาที่ต้องการหาทางออก จะขอกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ระเบียบวิธีวิจัย
จากการประมวลองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ทั้งในสถาบันการศึกษา (Thesis) และนอกสถาบันการศึกษา (Non-thesis) พบว่า มีการศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นส่วนใหญ่ โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ด้วยแบบสอบถามเพื่อวัดประสิทธิผลของการสื่อสารเรื่องสุขภาพ หรือวัดความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย มีเป็นส่วนน้อยที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งมีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) เรื่องสุขภาพในสื่อมวลชน เป็นต้น

จากการระดมความคิดเห็น เพื่อแสวงหาแนวทางพัฒนางานวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพในอนาคต มีผู้เสนอว่า แนวโน้มการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว น่าจะใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ เช่น การใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงทดลอง อันจะทำให้นิสิต นักศึกษาได้ทดลองนำ Thesis Model ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ไปแปลงเป็นโปรแกรมที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวในชุมชนได้มากขึ้น ได้องค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

อย่างไรก็ตาม เรื่องการสื่อสาร (Communication) ส่วนใหญ่เป็นศาสตร์ทางสังคม ซึ่งมีระเบียบวิธีวิจัยที่หลากหลาย ดังนั้น การสื่อสารเพื่อสุขภาพในศตวรรษใหม่ น่าจะเน้นเรื่องความหลากหลายและทางเลือก จึงควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสวงหาวิธีการด้วยตนเอง

ุ แนวคิดทฤษฎีที่ใช้
แนวคิดทฤษฎีที่เลือกใช้ในการศึกษาวิจัย เปรียบเหมือนกับการเลือกแว่นทางความคิด ที่จะทำให้ผู้วิจัยมีกรอบในการมองและตีความประเด็นปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากการประมวลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า เรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" เป็นเรื่องที่มีหลากหลายศาสตร์เข้ามาผสมผสาน และมีการนำแนวคิดทฤษฎีมาจากหลากหลายสาขา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ทฤษฎีผลกระทบของสื่อ (Impact Theory)
จากการวิเคราะห์งานวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพแนวสร้างนำซ่อม พบว่า แนวคิดทฤษฎีที่ใช้เป็นกรอบในการศึกษาวิจัยในยุคแรก ๆ มีการให้ความสำคัญกับสื่อ ด้วยความเชื่อในอิทธิพลอันมหาศาลของสื่อ จึงมีการศึกษาด้วยทฤษฎีผลกระทบของสื่อ (Impact Theory) ในการใช้สื่อให้การศึกษาด้านสุขภาพ

ทฤษฎีบทบาทหน้าที่ของสื่อ (Functional Theory)
ต่อมาพบว่า สื่อยังไม่สามารถทำหน้าที่ในการโน้มน้าวชักจูง กระตุ้นเตือนให้ผู้รับสารเกิดความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในทางสร้างเสริมสุขภาพได้มากนัก จึงเริ่มมีการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อ

แนวคิดเชิงสังคม (Social Approach)
หากเรามองว่าการสื่อสารเป็นตัวเชื่อมสังคม แน่นอนว่าเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ย่อมต้องใช้แนวคิดเชิงสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะการสื่อสารเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพ และกลุ่มการสื่อสารต่าง ๆ แนวคิดที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องวัฒนธรรมองค์กร (Cultural Approach) แนวคิดเชิงระบบ (System Approach) หรือแนวคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Approach) เป็นต้น

แนวคิดเชิงวัฒนธรรม (Cultural Approach)
มีผู้เสนอแนะกันมากว่า การสื่อสารเพื่อสุขภาพในศตวรรษใหม่ควรเน้นในเรื่องความหลากหลาย ดังนั้น การนำแนวคิดเชิงวัฒนธรรมมาศึกษาเรื่องนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่อง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับการนิยามสุขภาพ ที่จะส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติในเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมถึงความตระหนักในการสื่อสารหรือเผยแพร่ข่าวสารให้กับกลุ่มบุคคลที่ต่างวัฒนธรรมกัน ว่ามีสูตรเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรม ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

การสื่อสารเพื่อสุขภาพเป็นวิชาที่เกิดจากงานด้าน Applied Communication หรือการสื่อสารประยุกต์ ที่ถูกมองว่าเป็นสาขาวิชาที่ไม่มีทฤษฎีเป็นของตนเอง และต้องยืมองค์ความรู้จากสาขาวิชาด้านนิเทศศาสตร์และสาขาอื่น ๆ เข้ามาเป็นกรอบในการวิจัย (พัฒนพงส์ จาติเกตุ, 2547) ดังนั้น แนวคิดทฤษฎีที่นำเสนอข้างต้นเป็นเพียงแนวทางที่ได้มีผู้ศึกษาไว้บ้างแล้ว ซึ่งหากมีผู้สนใจใช้แนวคิดทฤษฎีอื่น ๆ มาศึกษาเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ก็จะทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องนี้ต่อไปในอนาคต

งานวิจัยของเราจะเอาไปไว้ที่ไหน ?
นอกจากการสนับสนุนให้คนสนใจทำวิจัยด้าน "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" แล้ว เรื่องของการเผยแพร่งานวิจัย และการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้จะมีการสร้างความรู้ที่ยิ่งใหญ่เพียงใด แต่หากความรู้นั้นไม่สามารถเผยแพร่หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ ความรู้ที่ค้นพบนั้นก็คงไร้ความหมาย ดังนั้น ในหัวข้อนี้จึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2 ประเด็น คือ การเผยแพร่งานวิจัย และการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งพบว่าทั้ง 2 ประเด็นนี้มีปัญหาอุปสรรคบางประการที่ทำให้การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ุ ปัญหาการเผยแพร่งานวิจัย
จากการระดมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" พบว่า ปัญหาการเผยแพร่งานวิจัยอาจมีประมาณ 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
งานวิจัยไม่ได้รับการเผยแพร่
บ่อยครั้งที่งานวิจัยที่ดีและน่าจะมีประโยชน์ไม่ได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เนื่องจากต้องฝ่าด่านทางความคิดแบบเดิม ๆ ถ้าหากเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ได้รับความสนใจ หรือบางครั้งตัวผู้ผลิตความรู้เองก็ไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องเผยแพร่ความรู้นั้น เพราะคิดว่าไม่ได้มีหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว เป็นต้น
การเผยแพร่ทำได้ไม่ทั่วถึง
หากงานวิจัยบางเรื่องได้รับการเผยแพร่ ก็ยังพบปัญหาว่าการเผยแพร่นั้นทำได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากขาดช่องทางในการเผยแพร่ที่หลากหลาย คงไม่ใช่ว่าสื่อมวลชนเป็นพระเอกเหมือนเคย แต่เราต้องหาช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่น การเผยแพร่ผ่านสื่อบุคคล สื่อครอบครัว สื่อวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นต้น
อุปสรรคในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
เสียงสะท้อนหลายเสียงจากผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็นงาน "ศตวรรษใหม่ของการสื่อสารเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม" จัดโดยโครงการ "การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" กล่าวว่า "งานวิจัยบ้านเรามีเยอะมาก แต่งานวิจัยไม่เคยถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งที่อยากให้มันเป็น ประเด็นคือทำอย่างไรถึงจะนำงานวิจัยที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์"

อุปสรรคที่ทำให้งานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจเป็นดังนี้

- ภาษาที่ใช้ในการนำเสนอ เป็นปราการด่านแรกที่ทำให้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้เพราะการเผยแพร่งานวิจัยที่ใช้วิชาการเป็นตัวตั้ง โดยไม่สนใจนำเอาผู้รับสารที่เป็นชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ย่อมสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ผิดเพี้ยนไปบ้าง หรือบางทีก็ผิดพลาดไปทั้งหมด ดังนั้น ทำอย่างไรให้มีการแปลงความรู้ (Knowledge Translation) เชิงวิชาการที่เข้าใจยาก ให้เป็นความรู้ที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้ทันที

- ความมีชีวิตชีวาของเนื้อหาวิชาการ งานวิจัยโดยทั่วไปในสังคมไทยมักศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ขาดการศึกษาปัญหาไปข้างหน้า นอกจากนี้เนื้อหางานวิจัยที่ได้ยังขาดความมีชีวิตชีวา (Message Vividness) ทำให้ไม่สามารถสื่อสารเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือปรับพฤติกรรมทางสุขภาพได้

- วัฒนธรรมเชิงอำนาจ สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อผู้มีความรู้ และวาทกรรมหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นก็คือ "คุณหมอรู้ดี" ดังนั้น ความรู้ที่มาจากหมอจึงมักได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง เหมาะสมโดยไม่มีข้อโต้แย้ง และบางครั้งอาจทำให้ความรู้ที่อยู่ตรงข้าม หรือไม่สอดคล้องกับความรู้ของหมอกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากความรู้นั้นจะได้รับการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริง ซึ่งทำให้การพัฒนาความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพจากคนกลุ่มอื่น ๆ ไม่สามารถนำเสนอในเวทีความรู้เรื่องสุขภาพของสังคมไทยได้อย่างเท่าเทียม

หัวข้องานวิจัยที่ขาดหายไป ?
การระดมความคิดเห็นของผู้ที่สนใจเรื่อง "การวิจัยกับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ" พบว่า หากเราใช้ทฤษฎีย้อนกลับ หรือการปรับรูปแบบ (Pattern) เดิมของการวิจัย มาเป็นรูปแบบใหม่ที่ตรงกันข้าม จะสามารถเติมเต็มงานวิจัยที่ขาดหายไปได้ ซึ่งมีแนวทางเสนอแนะดังนี้

จาก "นักวิจัย" สู่ "ผู้ใช้งานวิจัย"
รูปแบบการวิจัยที่ผ่านมา นักวิจัยจะเป็นผู้กำหนดประเด็นคำถามที่สนใจศึกษา ซึ่งมีผลให้งานวิจัยไม่สามารถตอบปัญหาของผู้ใช้งานวิจัยได้ ดังนั้น ควรมีการปรับรูปแบบการวิจัยใหม่ ด้วยการมุ่งไปที่ประชาชนที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย (Audience Analysis) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสังคมใหม่ที่ดีกว่า หรือที่เรียกว่า "การวิจัยที่มุ่งจากภายในสู่ภายนอก"

ุ จาก "ทฤษฎี ปัญหา" สู่ "ปัญหา ทฤษฎี"
แปรวิธีการตั้งโจทย์การวิจัย จากเดิมที่มุ่งใช้ทฤษฎีเพื่อตอบสนองต่อปัญหาหรืออุปสรรคในเรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ มุ่งสู่แนวทางใหม่ที่เน้นมองปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ในสังคม หาจุดพลิกผันของปัญหาด้วยการใช้ทฤษฎีเป็นตัวสนับสนุน เพื่อจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์งานวิจัย จึงกลายเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดประเด็นปัญหาหรือวิกฤติด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพที่ยังขาดความรู้

จาก "ตำราฝรั่ง" สู่ "ภูมิปัญญาไทย"
งานวิจัยด้าน "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ที่ผ่านมาพบว่า มักอาศัยแนวคิด ทฤษฎีของต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถตอบปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทยได้ ดังนั้น ควรสร้างงานวิจัยที่มาจากฐานรากของภูมิปัญญาไทย เป็นความรู้ที่มีอยู่จริงในสังคมไทย และสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาได้จริง

จาก "เบื้องบน" สู่ "ชุมชน"
ปัญหาของการจัดการระบบสุขภาพของสังคมไทย มีเหตุมาจากการขาดการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนสู่ระดับนโยบาย จึงไม่สามารถสื่อสารเพื่อสร้างรูปแบบระบบสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชนได้ ทางเลือกที่จะสามารถทำให้เกิดระบบสุขภาพที่เหมาะสมในแต่ชุมชนแต่ละพื้นที่ จึงควรมีการสนับสนุนให้ทำการวิจัยมาจากคนในท้องถิ่น และอาจร่วมกับกลุ่มนักวิชาชีพทางสุขภาพ เพื่อให้ได้ความรู้ที่มาจากชุมชนอย่างแท้จริง

จาก "ตามกระแส" สู่ "ชี้นำสังคม"
งานวิจัยที่อยากให้เกิดขึ้นคือ งานวิจัยที่มองไปข้างหน้า (Future Research) เห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และชี้นำให้สังคมได้รับรู้ประเด็นปัญหา เพื่อแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไข ซึ่งจะทำให้งานวิจัยได้ใช้ประโยชน์มากกว่าการวิจัยไปตามกระแสสังคม ซึ่งมักล่าช้ากว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเสมอ

บทสรุป
การวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" นั้น นอกจากจะเริ่มต้นด้วยการตั้งประเด็นคำถามที่เป็นปัญหาจากการสื่อสาร อันไม่สามารถก่อให้เกิดสุขภาวะได้อย่างแท้จริงแล้ว การจะเลือกใช้เครื่องมือใดในการนำไปสู่เป้าหมายปลายทางก็ดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมา แต่หากมีการศึกษาวิจัยจนได้ความรู้เพื่อพัฒนา "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ที่ดีแล้ว ไม่สำคัญเท่ากับว่า ความรู้นั้นได้รับการแปลงให้สามารถนำไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ได้ เป็นความรู้ที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับใช้ได้กับบริบทที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการสื่อสารเพื่อสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย

บรรณานุกรม

กมลรัฐ อินทรทัศน์ และ จิณณ์นภัส แสงมา. การสำรวจงานวิจัยด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพใน
สังคมไทย. เอกสารโครงการ "การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ".
กรุงเทพฯ, 2547.

จิณณ์นภัส แสงมา. งานวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพแนวสร้างนำซ่อม. เอกสารโครงการ
"การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ". กรุงเทพฯ, 2547.

พระธรรมปิฐก (ป.อ. ปยุตโต). การศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2).
กรุงเทพฯ : กองทุนวุฒิธรรม, 2541.

พัฒนพงส์ จาติเกตุ. การศึกษาการสื่อสารเพื่อสุขภาพ. เอกสารโครงการ "การพัฒนาองค์ความรู้
เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ". กรุงเทพฯ, 2547.

พัฒนพงส์ จาติเกตุ และ จิณณ์นภัส แสงมา. การประมวลองค์ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเพื่อ
สุขภาพ" ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย. เอกสารโครงการ "การพัฒนา
องค์ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อสุขภาพ". กรุงเทพฯ, 2547.

วิพุธ พูลเจริญ. การวิจัยด้านสุขภาพกับอนาคตของชาติ. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
กรุงเทพฯ, 2542.

 


 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




บทความชิ้นนี้จะให้ภาพปัญหากว้างๆเกี่ยวกับ ระเบียบวิธีวิจัยการสื่อสารเพื่อสุขภาพ นับจากเริ่มต้นอย่างเป็นระบบ และให้ข้อควรคำนึงถึงต่างๆ
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
หากเรามองว่าการสื่อสารเป็นตัวเชื่อมสังคม แน่นอนว่าเรื่อง "การสื่อสารเพื่อสุขภาพ" ย่อมต้องใช้แนวคิดเชิงสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะการสื่อสารเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพ และกลุ่มการสื่อสารต่าง ๆ แนวคิดที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องวัฒนธรรมองค์กร (Cultural Approach) แนวคิดเชิงระบบ (System Approach) หรือแนวคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Approach) เป็นต้น
เป็นเรื่องของกระแสสังคม ที่ปัจจุบันนี้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวาระของรัฐบาล สื่อมวลชน หรือองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำให้คำขวัญ "สร้างนำซ่อม" กลายเป็นกระแส ที่ปลุกเร้าให้คนหันมาใส่ใจการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนการเจ็บป่วยจนต้องซ่อมแซมสุขภาพโดยระบบบริการ หรือกระแสสุขภาพที่ปรับเปลี่ยนจากเรื่อง "เชื้อโรคและการจัดการเชื้อโรค" มาสู่เรื่อง "คุณภาพชีวิตและการจัดการกับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี" เป็นต้น ซึ่งการสร้างกระแสดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยเรื่องการสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้อง