มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานเรื่องสั้นชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๐๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 400 หัวเรื่อง
ชาวนาปฏิวัติ - นักรบชาวนา
โดย ธันวา ใจเที่ยง
อดีตอาจารย์สถาบันราชภัฏนครพนม
สมาชิกามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


R
relate topic
070647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
เรื่องสั้นเพื่อการเชิดชูคนเล็กๆในชนบท โดย ธันวา ใจเที่ยง - อดีตอาจารย์สถาบันราชภัฏ
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


บันทึกความทรงจำ นักรบชาวนา
ดวงใจนักรบประชาชน
ธันวา ใจเที่ยง
อดีตอาจารย์สถาบันราชภัฏนครพนม

หมายเหตุ :
บทความชิ้นนี้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งจากงานวิจัยเรื่อง "ชุมชนหมู่บ้านชาวนาปฏิวัติฯ" โดย อ.ธันวา ใจเที่ยง
ในโครงการเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นหัวหน้าโครงการ
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

 

เมื่อยามเย็น ดวงตะวันใกล้ลับขอบฟ้า สายลมหนาวพัดโชยแผ่วมา ที่ริมลำน้ำบัง สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวผู้ไท บ้านนาบัว เรณูนคร ตลอดมา บ่เคยจาง บรรยากาศหมู่บ้านชนบท ยังคงเงียบสงบ แม้นจะผ่านมาถึงยุคที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ล้ำสมัย เป็นถึงด็อกเตอร์ นักเรียนนอก

เมื่อค่ำลง หญิงในวัยชราร่างท้วม ยกพาข้าวแลง ออกมาวางไว้กลางเรือนบ้าน บ้านไม้ 2 ชั้นแบบโบราณ ของชาวนานครพนม ที่มีชานยื่นออกไปทางสายน้ำ เป็นที่นั่งรับลมเย็น อาหารค่ำนั้น เป็นหมกปลาจากลำน้ำบัง ที่ผู้เป็นสามีไปหาตั้งแต่เมื่อวานยามหัวบ่าย มีปลาปิ้ง พร้อมกับแจ่วหรือน้ำพริกแบบอีสาน ที่ขาดมิได้ คือ กระติบข้าวเหนียว

แม้นกาลเวลาจะเคลื่อนผ่าน ล่วงเลยนานเป็นหลายศตวรรษ แต่ข้าวเหนียวก็มิเคยห่างเหินไปจากชุมชนหมู่บ้านอีสาน หรือชุมชนหมู่บ้านไท ทั้งในและนอกประเทศไทย แม้นเสี้ยวทิวาราตรีเดียว ยังหอมฟุ้งกระจายโชยอ่อน และรับกันได้ดีกับเสียงแคน ยามคืนเดือนเพ็ญ

ผมจำได้ว่า เคยนั่งกินข้าวยามค่ำกับลุงผู้เป็นสามีของป้าคนนั้น ลุงชื่อ คุณลุงชม แสนมิตร หรือพ่อเฒ่าชมชายวัย 75 ปี ที่ยังแข็งแรง ใบหน้าคมสัน ยังเหลือเค้าว่า เมื่อสมัยเป็นหนุ่ม เป็นคนที่หน้าตาดี เป็นที่หมายปองของสาวผู้ไทหลายคุ้มบ้าน ป้าแตงอ่อนที่อยู่คุ้มบ้านใต้ก็ยังพูดถึงลุงชมสมัยเมื่อยังหนุ่มว่า ในแถบนั้นจะหาชายใดเทียบเท่าลุงชมนั้นยากยิ่ง

อาหารยามค่ำอร่อยตามแบบอีสาน หากเมื่อปีนั้น พ.ศ.2544 ชนบทหมู่บ้านนครพนม ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ใช้เพียงแสงไฟจากตะเกียงน้ำมันก๊าด บรรยากาศคงจะมิต่างไปจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ในขณะที่แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน คุณป้ากาฬสินธุ์ ภรรยาลุงชม ยังต่ำหูกทอผ้า เสียงดังปึงๆ เช่นเดิม
เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ลุงชมก็จะมวนบุหรี่สูบ เหมือนกับผู้ชายโบราณในชนบทอีสานทั่วไป ทั้งกลิ่นควันไฟไล่ยุงให้ควาย และกลิ่นจากคอกควาย

แม้นจะผ่านล่วงเลยมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์ แต่บรรยากาศที่นาบัว ริมลำน้ำบัง ยังพอทำให้นึกถึงบทเพลงเก่าๆสมัยบรรยากาศการปฏิวัติของวงคาราวาน ที่ผู้เขียนจำเนื้อหาไม่ค่อยจะได้ "ค่ำลง ค่ำลง เอิงเอยๆ …กระจองอแง เอิงเอย กระแต กระเล็น สายลมเย็นๆโชยพัดที่ชาน สูบแต่ยาฉุนมานมนาน จนลูกจนหลานนั้นเต็มบ้าน ได้พักสำราญบานเย็น.."

บ่อยครั้ง หลังว่างจากสอนหนังสือ ผมจะขับรถ แวะมาคุยกับพี่น้องชาวนาบัว เช่นลุงไหว ป้าแตงอ่อน ลุงหนูลา ผู้ใหญ่วีรชัย พี่นิพนธ์ แม่ละเอียดฯลฯ แล้วมิลืมจะแวะหาลุงชม ลุงชมเป็น ชาวนาอาวุโส แห่งบ้านนาบัว เรณูนคร ผู้ใจดี ตัวผอมๆ แต่งตัวสบาย ซื่อๆจริงใจแบบชาวนา อีสาน แต่แววตาและน้ำเสียง ก็ยังแฝงให้เห็นถึงการเป็นคนเอาจริงเอาจัง

หากมองผิวเผินลุงชมก็คือชาวนาธรรมดาของบ้านเรา แต่สำหรับผมแล้ว แม้นผมจะเคยศึกษาจากมหาวิทยาลัย เคยทำวิจัย เขียนตำรา สอนหนังสือระดับปริญญา เคยสอนหนังสือให้กับเจ้านาย ที่มีเงินเดือนเรือนหมื่น ส่วนลุงชมจบเพียงชั้น ป.4 ในระบบของรัฐ ที่สังคมมักจะสร้างและทึกทักเข้าใจกันไปเองว่า คนจบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียง ในกรุงเทพฯ ที่เป็นของรัฐ จะต้องรู้และเก่งกว่า ชาวนา

สำหรับผมแล้ว ลุงชม คือ ครูรัฐศาสตร์คนแรกของผม ลุงชมเคยบอกกับผมที่บ้านสองชั้นริมน้ำบังหลังนั้นว่า "หากเราไม่สามารถที่จะกำจัดชนชั้นในหัวใจออกหมด นั่นก็มิใช่การปฏิวัติที่แท้จริง การปฏิวัติที่แท้จริงคือการกำจัดชนชั้นที่ชอบเอารัดเอาเปรียบที่มีอยู่ในหมากหัวใจเจ้าของ" ประโยคนี้ทำให้ผมพอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้างในวิชาทางการเมือง นำมาบอกกล่าวกับผู้คนจำนวนมาก ผมคิดว่าเป็นความหมายที่ลุ่มลึกจะหาจากเอกสารอ่านที่ไหนมิคอยมี

ต่อมาผมก็บอกกับลุงว่า เสรีภาพที่แท้จริงมิใช่เสรีภาพในชื่อประชาธิปไตย แต่คือ เสรีภาพจากการปราศจากความคิดที่เอารัดเอาเปรียบเห็นแก่ความโลภ เห็นแก่ตัว ในหมากหัวใจเจ้าของเช่นกัน หากผมมีอำนาจวาสนา เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง ผมจะขอมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ให้กับลุงชม ที่รู้และปฏิบัติจริงๆ รวมทั้งชาวนาที่มีองค์ความรู้และปัญญาด้านอื่นๆ แต่ความจริงผมเป็นเพียงครูพเนจรและโกโรโกโสเท่านั้น

ผมชอบที่จะแวะไปคุยกับลุงชม ลุงชมชอบออกไปหาปลาที่ลำห้วยบัง สายน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงนักรบประชาชน สมัยการปฏิวัติ เมื่อได้ปลาลุงก็จะให้ป้าผู้อยู่เรือนหุงข้าวและต่ำหูกคอยท่าทำอาหารเย็น ส่วนลุงก็จะมารอสานไซ หรือไม่ก็ข้องใส่ปลา รอ อาหาร ยามค่ำที่แสนอร่อยที่สามีภรรยา จะได้รับประทานร่วมกัน

ในบางวันผมจะคุยกับลุงถึงค่ำ มืด จนมิสามารถมองเห็นหนทาง เดินออกไปหารถแดงกองทุนชินากุลฯปิคอัพอันโทรมๆ ที่ขับไปไหนมาไหนด้วยกันจนเป็นสัญลักษณ์ จอดอยู่ริมถนนกลางบ้านนาบัว เพราะบ้านลุงชมต้องเดินลัดเข้าไปในซอยเล็กๆ มีต้นมะขามใหญ่อยู่หน้าบ้าน ข้างบ้านจะเป็นเล้าข้าวใหญ่ที่ทำด้วยไม้ ป้ามักจะบอกให้ผมอยู่กินข้าว และให้นอนที่นาบัว มิอยากให้ผมขับรถกลับตัวเมืองนครพนม คนเดียว ที่อยู่ห่างจากนาบัว ประมาณ 50 กิโลเมตร แม้นจะไม่ไกลนัก แต่เส้นทางก็เปลี่ยว และเคยอันตรายเมื่อหลายสิบปี ก่อน

ลุงชมอยู่กับป้าเพียง 2 คน ในบ้านเรือนไท อีสาน "ผู้ไท" หลังสูงหลังนั้น แต่ก็มีบ้านบุตรสาวที่แยกเรือนอยู่หลังติดกัน เมื่อยามบ่ายที่ลุงไม่อยู่ ออกไปหาปลาหรือไปนา ป้ามักจะลงไปนั่งคุยกับลูกและหลานๆ หลังจากเหนื่อยจากการต่ำผ้าบนเรือน ป้าเป็นผู้หญิงตัวโต ส่วนลุงตัวไม่ใหญ่มากนัก ผิวขาว อันเป็นลักษณะของชนชาวผู้ไท ชาวไทอีกตระกูลหนึ่ง ทั้งสองท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ที่มั่นคงในบวรพระพุทธศาสนา มิเคยทิ้งมิเคยปละวัดวา อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ที่บ้านไม้โบราณสองชั้น ริมลำน้ำบัง บ้านนาบัว เรณูนคร จังหวัดนครพนม

เมื่อ ราว 40 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2505-2506) ลุงชม เคยโดนจับพร้อมกับชายชาวนาในหมู่บ้านนาบัว คนอื่นๆ เกือบทั้งหมด ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกส่งไปขังที่อุดรธานี และกรุงเทพฯ เกือบ 2 ปี และถูกปล่อยออกมาจากคุก โดยไม่มีความผิด

เมื่อลมหนาวพัดมาเยือน ราวปี พ.ศ. 2508 หลังเหตุการณ์ เสียงปืนแตก 7 สิงหา 2508 ที่ปลายนาบ้านนาบัว ไม่นานนัก ในยุคสมัยนั้น ลุงบอกว่าบ้านเมืองมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข่มเหง กระทำทุกข์เข็ญต่างๆนาๆ ซ้ำเติมจากแต่เดิม กล่าวหาชาวบ้านว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จับชาวบ้านไปเตะตี ตามอำเภอใจ ผ่านโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม ของสังคมศักดินาไทย ที่ชาวนาบ่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไร โดนเจ้านายข่มเหงมาโดยตลอด "ตีนช้างเหยียบปากนก" โดยเฉพาะชาวนาในภาคอีสาน

ชาวนาแถวบ้านโพนตูมที่อยู่ ทางอำเภอนาแก ไม่ห่างจากนาบัวมากนัก ถูกเจ้าหน้าที่จับไปขังรวมกันที่วัด แล้วทำร้ายชาวบ้าน หาว่าชาวนาเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ พี่น้องได้แต่ยืนมองแล้วร้องไห้ ด้วยความสงสาร แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีอาวุธ มีปืน ชาวนาคือ ชาวนา เรียกร้องอะไรมิได้ ทั้งๆที่เป็นคนไทย เป็นชาวพุทธ ควรที่จะกระทำต่อกันอย่างอาทร แต่นี่กระทำต่อชาวนาที่ไร้ยศศักดิ์และที่ยืนในสังคมอย่างป่าเถื่อน ด้วยอำนาจรัฐและกระบอกปืน

ปีนั้นลุงชมและพี่น้องชาวนาส่วนหนึ่ง ทนเห็นความโหดร้ายของระบบเจ้าขุนมูลนายที่เอาเปรียบและรังแก ประชาชน ไม่ได้ และขมขื่นใจที่สุด คือการที่ผู้หญิงในหมู่บ้านถูกเอาไปข่มขืน ตามอำเภอใจ หลังจากที่ลุงชมกลับออกมาจากคุก พอดีกับหน้าเกี่ยวข้าว ออกไปทำนาเกี่ยวข้าวช่วยป้าที่ปลายนา มีคนในหมู่บ้านไปส่งข่าวลุงว่า เพื่อนชาวนาหลายคนที่ถูกปล่อยออกมาจากคุกพร้อมกันโดนตามเก็บทีละรายๆ ตายหมด เหลือไม่กี่คน

ทั้งความสงสารชาวนาที่โดนทำร้าย ทั้งประชาธิปไตยก็ไม่มี ทั้งชีวีก็จะต้องถูกฆ่าถูกกำจัด ทั้งๆที่ลุงชมไม่อยากจากไป ทั้งๆที่ลุงชมเป็นห่วงป้าที่พึ่งมีลูกน้อยเป็นแม่ลูกอ่อน ลุงชมต้องจำใจจากภรรยาอันเป็นที่รัก เพื่อออกป่าไปรบเพื่อประชาชน พร้อมกับลูกชายหญิง ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น 16 -17 อีก 2 คน ตามผู้เป็นพ่อไปรบด้วย ทิ้งให้ป้าอยู่โดดเดี่ยวกับลูกน้อย วัยไม่ถึงขวบ

ป้าบอกผมว่า ตอนที่ลุงจำใจเข้าป่า มันเป็นช่วงชีวิตที่ลำเค็ญมาก ป้าต้องเป็นคนทำนาเองทั้งหมด ทั้งไถ ปัก ดำ เกี่ยว ทรมานอย่างแสนสาหัส เลี้ยงลูกน้อยที่กำพร้าพ่อ อย่างเดียวดาย อีกทั้งห่วงทั้งลูก ห่วงทั้งสามี ที่เปรียบเหมือนแก้วตาดวงใจของสาวชาวนา หรือดวงใจหญิงสาวทุกดวง อาลัยรัก สามีและลูก ที่ต้องจากกันไป ห่วงแสนห่วง เมื่อลูกที่อยู่ในวัยรุ่น ต้องออกป่าเพื่อติดตามพ่อไปรบ เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวนา ที่ต้องแลกกันด้วยเลือด ด้วยเนื้อ จะมิให้ผู้เป็นเมียรัก ผู้เป็นแม่ของลูกไม่ห่วงและคิดถึงจนน้ำตาไหลรินได้เยี่ยงไร

การออกป่าเพื่อไปเป็นนักรบของประชาชน ที่ไม่รู้ว่ากี่ปีจะกลับ ที่ไม่รู้จะรอดกลับมาหรือไม่ แต่ป้าก็หวังว่าขอให้สามีและลูก "โผและลูก" จะกลับมาอย่างปลอดภัยและได้ประชาธิปไตย ชาวนาจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ป้าก็ได้แต่คอยถามข่าวลุง หรือ "สหายตั้ง" ว่าตอนนี้ไปเคลื่อนไหวอยู่ที่แห่งใด สุขภาพจะเป็นอย่างไร ถามข่าวจากสหายที่ผ่านมาทางริมน้ำบังบ้านนาบัว เมื่อรู้ว่าสหายตั้ง หรือลุงชมยังสบายดีอยู่ป้าก็เฝ้ารอลุง เฝ้ารอที่ริมน้ำบังบ้านนาบัว มิต่างอันใดดอกกับอังศุมาลิน เมืองบางกอกเฝ้ารอโกโบริที่ใต้ต้นลำพู อันเป็นนิยายรักที่แสนคลาสสิคของสังคมไทย แต่นี่เป็นเรื่องจริง

เรื่องจริงของประชาชนเรื่องจริงแห่งหัวใจรักของหญิงสาวชนชั้นชาวนา ที่มีหัวใจรักอันบริสุทธิ์ รอว่าวันหนึ่งลุงชมและลูกจะกลับมา กลับมาดังบทเพลงปฏิวัติของคาราวานที่ขับขานผ่านสายลมเบา " โอ้ยอดรักฉันกลับมา จากขอบฟ้าที่ไกลแสนไกล …" แต่ลุงก็ไม่เคยกลับมา จากปี เป็น 2 ปี 4 ปี 6 ปี 10 ปี 15 ปี ลุงก็ไม่กลับมา ป้าได้ยินแต่ข่าวของการสูญเสีย สูญเสียญาติพี่น้องชาวนาที่ออกไปรบ บรรยากาศในยุคสมัยนั้น มีแต่ความร่ำไห้ น้ำตาไหลรินดังสายเลือด ชาวนาบางคนถูกยิงตาย บางคนตกเหวตาย เพราะวิ่งหนีการทิ้งระเบิด นี่คือสงครามประชาชน

ดวงวิญญาณของลูกสาวผู้เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของป้า มาเข้าฝันป้าตอนใกล้สาง พอรุ่งเช้าก็มีสหายจากป่ามาแจ้งข่าวว่า ป้าได้สูญเสียบุตรสาวอันเป็นที่รักในป่าเสียแล้ว หัวใจของผู้เป็นแม่ที่รอการกลับมาที่หมู่บ้าน แทบจะแตกสลาย

ลุงชมบอกว่าในการปฏิวัติของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในยุคสมัยนั้นของชาวนาและนักศึกษา นอกจากการสูญเสีย หรือการเสียสละในป่าแล้ว การดำรงชีวิตของชาวนาปฏิวัติ ที่ปฏิวัติด้วยอุดมการณ์ มันลำบากแสนเข็ญ บางครั้งข้าวไม่ได้กิน เป็น 7 วัน หากินใบไม้ เก็บกินเผือกกินมันในป่า เพื่อประทังความหิว ร่างกายผ่ายผอมเหมือนกับพระพุทธองค์บำเพ็ญทุกขกริยา

แต่ลุงบอกว่าแม้นจะลำบากแบบนั้นที่อยู่ได้ก็เพราะอุดมการณ์เท่านั้น ชาวนาส่วนมาก อยู่ด้วยความหวัง หวังว่า เมื่อการปฏิวัติสำเร็จ สังคมอุดมทิพย์ สังคมอุดมธรรม สังคมแห่งความเสมอภาคในสังคมไทย ชาวนาไทยจะมีความสุข จะเกิดขึ้น และลุงหวังว่าเมื่อการปฏิวัติสำเร็จ ลุงจะกลับไปหาภรรยาอันเป็นที่รัก ที่เปรียบดั่งดวงใจของนักรบประชาชน คนนั้นที่ริมลำน้ำบัง ที่ลุงชมยังสืบข่าว อยู่เสมอว่าสาวชาวผู้ไท บ้านนาบัวคนนั้น ยังซำบายดีหรือเปล่า ยังเก็บหัวใจรักอันแสนหวาน ไว้ให้กับนักรบประชาชนคนยากแห่งท้องทุ่งบ้านนาบัวไว้หรือไม่

ป้ากาฬสินธุ์ ก็มิเคยเปลี่ยนใจ แม้นจะมีชาวบ้านมาบอกให้เลิกรอคอมมิวนิสต์หน้ามนคนนั้นเถอะ อย่ารอเลย แต่งงานใหม่เสียเถิด "รอไปเฮ็ดพะเลอ คนหลงผิด" "ฮีบฟ้าวเอาโผ(ผัว) แต่งงานใหม่ซะ มันมิกลับมาแล้วละ ทหารยิงตายกลางภูพานแล้ว" "ภูมิใจหลายแท้บ้อเป็นเมียคอมมิวนิสต์น่ะ" แต่ป้าก็มิเคยคลอนแคลน และหวั่นไหวไปกับลมปากของผู้คน

ป้ายังภูมิใจนักรบประชาชนผู้ไร้ยศฐาบันดาศักดิ์คนนั้น ยินดีที่จะรอชายหนุ่มผู้เป็นดังดวงใจกลับคืนมา กลับคืนมา รอลุงชมเสมอทุกค่ำคืนวัน แม้นลมฝนจะผ่านไป ลมหนาวอันยะเยือกที่นครพนมจะพัดมาปีแล้วปีเล่า ที่ริมลำบัง แม้นบางคืน แสงจันทราจะมิสาดแสงส่องเรืองรองฉายกระทบสายน้ำบัง เหมือนเมื่องานพระธาตุพนม เดือน 3 ที่เคยเดินไปไหว้พระธาตุ ก่อนที่ลุงชมจะเข้าป่าปฏิวัติ

แม้นดอกปีบขาวที่มักส่งกลิ่นหอมยามค่ำแลง จะล่วงหล่นจากเรือนใบ ขาวพรู ไหลหลั่งจมไปตามสายน้ำปีแล้วปีเล่า มิกลับคืนหวน แต่ป้า ผู้เป็นดังดวงใจนักรบประชาชน ก็ยังคอยการกลับคืนมาของลุง บ่เคยจืดจางและเสื่อมคลาย "ความจริงใจที่มี ดั่งราตรีมีเพียงแสงจันทร์ มีดังแสงตะวันมั่นขอบฟ้า มอบร่างกายจิตใจเป็นประกัน ด้วยชีวันของฉันเพื่อเธอ" แล้วลุงก็กลับมาหาป้า ตามสัญญาใจที่ให้กันไว้ ในค่ำคืนหนึ่งริมลำน้ำบัง ปี พ.ศ.2526 กลับมาทำนาอย่างมีความสุข สงบ ที่ บ้านนาบัว หมู่บ้านชาวนาปฏิวัติ แห่งสยามประเทศ

"ชาวนานี่แหละครับ ถูกทอดทิ้งมาหลายยุคหลายสมัย ไม่เคยเห็นความสำคัญ… ยุคที่ผมออกป่าไปต่อสู้แล้วกลับมาก็ยังไม่บรรลุ ทีนี้ไผสิมาช่วยชาวนา ลูกหลานที่ไปศึกษา ผู้ที่ได้ศึกษาเป็นครูเป็นอาจารย์ ก็เพราะผู้มีเงินเท่านั้น ด้านเศรษฐกิจของเรา ป่าไม้ถูกทำลาย ปลาอยู่น้ำ นกอยู่ป่า สัตว์อยู่ภูอยู่เขาก็ถูกทำลาย ก็เพราะทุนนิยมนี่แหละ จนกระทั่งถึงวัฒนธรรม วัฒนธรรมก็เพราะทุนนิยมนี่แหละครับเข้ามาทำลาย ศีลธรรมก็เพราะทุนนิยม มันมาทำลาย…

ก่อนที่ผมจะออกไปต่อสู้ในป่า คิดมาแล้วชาวไร่ชาวนาถูกดูถูกเหยียดหยามมาหลายร้อยหลายพันปี กะยังบ่มีรัฐบาลใดสนใจ จนกระทั่งถึงรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งแต่มีรัฐบาลทีแรกมา มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน 20 กว่ารัฐบาล ยังบ่ทันมีไผเหลียวหน้าลงมา มีแต่เมินมองขึ้นไปเทิงฟ้า บ่ได้เหลียวหน้าลงมาดิน"

ลุงชม อภิปราย อย่างเด็ดเดี่ยว ฉะฉาน ในฐานะชาวนาอาวุโส แห่งบ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2546 ในงานสัมมนาทางวิชาการ "ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ชีวิต และทางออกของชาวนา ฯ" ณ โรงแรมนครพนมริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม ที่ท่าน ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท่าน ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่น ร่วมกันจัดสัมมนาว่าด้วยเรื่องของชาวนา ในระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2546

และทางคณะนักวิชาการจากส่วนกลาง อย่างท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์และภริยา อาจารย์ผาสุก และ ดร.คริส เบเคอร์ อาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ดร.อะกิระ โนซากิ อาจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัต พี่พรพิไล เลิศวิชา อาจารย์พอพันธ์ อุยยานนท์ ฯลฯ เคยเดินทางไปเยี่ยมนักรบประชาชนที่บ้านนาบัว ได้พบป้ากาฬสินธุ์ พบลุงไหว ป้าแตงอ่อน ลุงหนูลา ผู้ใหญ่วีรชัย ผู้ใหญ่ลำสิน พี่นิพนธ์ และพี่น้องชาวนาบัวอีกหลายๆท่านจำนวนมาก ที่ต้อนรับ

ค่ำคืนนั้น ป้ากาฬสินธุ์ นั่งต่ำหูก รอฟังข่าวอยู่ที่นาบัว และรอการกลับมาจากการประชุมวิชาการของลุงชม ยามค่ำคืนหน้าหนาวเดือนธันวา ด้วยความภาคภูมิใจ แม้ลุงชมจะเลิกรา การปฏิวัติในป่าในยุคสงครามประชาชน พร้อมด้วยมิตรสหายชาวนา นักศึกษา-ปัญญาชน เรือนหมื่น แม้นหลายคนจะละลืมอุดมการณ์เพื่อประชาชน ละลืมซากศพของมิตรสหายประชาชนที่ไปเสียสละในป่า จำนวนมาก หลังได้ดิบได้ดี มีเงิน มียศฐาบันดาศักดิ์ แต่ลุงชมชาวนาธรรมดา ที่ยังทำนาปลูกผัก หาปลา เป็นชาวนาอาวุโส ผู้ซื่อๆ ใจดีและจริงใจ ที่นาบัว ยังมีจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อประชาชน บ่จืดจาง และยังมั่นคงกับดวงใจนักรบประชาชน อดีตสาวงามผู้ไทคนนั้น ที่บ้านไม้สองชั้น ริมลำน้ำบัง บ่เคยเสื่อมคลาย

ขอขอบคุณ
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โครงการเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทย เมธีวิจัยอาวุโส ของสกว.
ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ จาก ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ
พี่น้องชาวนาบัว อ.เรณูนคร ดงอินำ หนองแคน จอมศรี อ.นาแก และบ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม
ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์และรองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการอาวุโส
รองศาสตราจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัต พี่พรพิไล เลิศวิชา เมธีวิจัยอาวุโสของ สกว.
อาจารย์มาโนช สุวรรณสารและคณะนักวิชาการ สถาบันราชภัฏนครพนม-สกลนคร และกาฬสินธุ์
ศาสตราจารย์ ดร.อะกีระ โนซากิ ประเทศญี่ปุ่น และ รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์
นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สถาบันราชภัฏสกลนคร (ปีการศึกษา 2545-2546)
วงดนตรีชาตรี เจ้าของบทเพลง "ยากยิ่งนัก"


 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




เรื่องสั้นจากชนบท บันทึกร่องรอยความทรงจำของการถูกกดขี่ของชาวนา ภาคอีสาน จนต้องจับปืนขึ้นสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมในอดีต
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
ชาวนาส่วนมาก อยู่ด้วยความหวัง หวังว่า เมื่อการปฏิวัติสำเร็จ สังคมอุดมทิพย์ สังคมอุดมธรรม สังคมแห่งความเสมอภาคในสังคมไทย ชาวนาไทยจะมีความสุข จะเกิดขึ้น และลุงหวังว่าเมื่อการปฏิวัติสำเร็จ ลุงจะกลับไปหาภรรยาอันเป็นที่รัก ที่เปรียบดั่งดวงใจของนักรบประชาชนคนนั้นที่ริมลำน้ำบัง ที่ลุงชมยังสืบข่าว อยู่เสมอว่าสาวชาวผู้ไท บ้านนาบัวคนนั้น ยังซำบายดีหรือเปล่า ยังเก็บหัวใจรักอันแสนหวาน ไว้ให้กับนักรบประชาชนคนยากแห่งท้องทุ่งบ้านนาบัวไว้หรือไม่

ชาวนานี่แหละครับ ถูกทอดทิ้งมาหลายยุคหลายสมัย ไม่เคยเห็นความสำคัญ…
ยุคที่ผมออกป่าไปต่อสู้แล้วกลับมาก็ยังไม่บรรลุ ทีนี้ไผสิมาช่วยชาวนา ลูกหลานที่ไปศึกษา ผู้ที่ได้ศึกษาเป็นครูเป็นอาจารย์ ก็เพราะผู้มีเงินเท่านั้น ด้านเศรษฐกิจของเรา ป่าไม้ถูกทำลาย ปลาอยู่น้ำ นกอยู่ป่า สัตว์อยู่ภูอยู่เขาก็ถูกทำลาย ก็เพราะทุนนิยมนี่แหละ จนกระทั่งถึงวัฒนธรรม วัฒนธรรมก็เพราะทุนนิยมนี่แหละครับเข้ามาทำลาย ศีลธรรมก็เพราะทุนนิยม มันมาทำลาย…

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90