2
0
0
4
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 396 หัวเรื่อง
โรงเรียนกับเด็กนักเรียน
สมชาย
บำรุงวงศ์
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(จากภาคใต้)
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
การประถมศึกษากับนักเรียน
โรงเรียนคือสัญลักษณ์ของการบังคับ
การขู่ให้กลัวและการทำโทษ
สมชาย บำรุงวงศ์
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวมบทความเชิงวิพากษ์การศึกษาระดับประถม
- โดยสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประกอบด้วย 2 บทความคือ 1. เด็กๆควรเรียนอะไร และ 2. พ่อ...ทำไมเด็กๆต้องไปโรงเรียนด้วยครับ
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์แห่งนี้วันที่
๓ มิถุนายน ๒๕๔๗
(บทความนี้ยาวประมาณ
11 หน้ากระดาษ A4)
1. เด็กๆควรเรียนอะไร
?
คุณผู้ใช้นามว่า "ผู้มีลูกอยู่ในวัยประถม" ได้ให้ความเห็นต่อบทความ
"สมุดรายงานฯของเด็กๆ" ของผม และได้ขอให้ผมแสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นการจัดการเรียนการสอน
เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของเด็กในวัยประถม
เหนืออื่นใดผมรู้สึกได้ถึงความห่วงใยในอนาคตของเด็กๆของเรา ที่มีอยู่ในหัวใจของคุณ
ผมมีความเชื่อว่า โดยธรรมชาติเด็กทุกคน(หมายถึงเด็กปกติ)มีศักยภาพเต็มเปี่ยมอยู่แล้วในตัว
โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเสริมอะไรขึ้นมาอีก เด็กที่ดูเหมือนว่าขาดศักยภาพในบางเรื่อง(โดยเฉพาะในเรื่องที่ผู้ใหญ่คาดหวัง)
เช่น อ่อนวิชาคณิตศาสตร์ ผมเชื่อว่านั่นเป็นเพราะเด็กคนนั้นยังไม่สนใจวิชาคณิตศาสตร์
ดังนั้นศักยภาพในด้านนี้จึงยังไม่แสดงออกมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีศักยภาพในด้านนี้
ผมใช้คำว่ายังไม่สนใจซึ่งหมายความว่า สิ่งที่เขาไม่สนใจในวันนี้ พออีกวันเขาอาจสนใจมันขึ้นมาก็ได้
หรืออาจไม่สนใจตลอดไปเลยก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เช่นกัน นี่อาจดูเป็นเรื่องน่าห่วงที่ทำให้มีคำถามว่า
แล้วถ้าเกิดเด็กคนนี้ไม่สนใจวิชาคณิตศาสตร์ตลอดชีวิตของเขา เขาจะอยู่อย่างไรในสังคมที่ยังต้องอาศัยการบวกเลขลบเลขฯเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต
ด้วยความเชื่อของผมที่ว่า ความสนใจทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ ทำให้ผมไม่ห่วงเรื่องนี้เลย
ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง....
เด็กคนหนึ่ง พออายุถึงเกณฑ์ก็ต้องเข้าโรงเรียน ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับตำรับตำราที่เขาแทบไม่สนใจเอาเสียเลย
ต้องเจอกับครูดุๆ เขาและเด็กๆอีกหลายคนไม่ได้อยากมาอยู่ที่นี่เลย เพราะที่นี่มีแต่การออกคำสั่ง
การบังคับ การทำให้กลัว การทำโทษ ไม่มีอิสระที่จะเลือก ที่นี่มีแต่เรื่องที่น่ากลัวและน่าเบื่อมากเกินไป
เรื่องสนุกและน่าสนใจที่พอจะมีก็น้อยเกินไป แต่ถึงไม่อยากอยู่ก็ต้องอยู่ เพราะพ่อแม่ของเขาบอกว่า
"เด็กที่ไม่เรียนหนังสือเป็นคนเถื่อน ตำรวจจะจับ"
......เวลาผ่านไปเด็กคนนี้ก็เคยชินกับการต้องไปโรงเรียน และยอมรับเสมือนหนึ่งว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต
ก็เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ต้องตื่นขึ้นมาในตอนเช้าเพื่อออกไปทำงาน หรือค้าขายอยู่ในร้านค้าของตน
......วันหนึ่งเด็กคนนี้พบว่าเขาชอบวิชาวาดเขียน จิตใจเขาจดจ่ออยู่แต่เรื่องนี้
ในเวลาเรียนแทนที่เขาจะสนใจบทเรียน แต่กลับแอบหัดวาดรูปจากภาพประกอบในหนังสือเรียน
เขาอยากให้ทุกชั่วโมงทุกวันที่เรียนมีเพียงวิชาวาดเขียนวิชาเดียว และเขาจะมีความสุขมาก
แต่เขาก็รู้ว่านั่นเป็นแค่ความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง
เมื่อความรักชอบเป็นแรงบันดาลใจ
จะมากจะน้อยเขาก็ใคร่กระเสือกกระสนเพื่อให้ได้มันมา หลังเลิกเรียนแต่ละวัน ไม่ผิดอะไรกับการหลุดออกจากคุก
ได้อยู่กับการวาดเขียนที่รักอย่างเต็มที่ แต่กับสิ่งที่รักเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน
ไม่ทันไรก็ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนอีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาไม่พอใจก็คือ ทำไมวิชาที่เขารักจึงถูกทำให้ต่ำต้อยด้อยค่าถึงเพียงนี้
เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ
ตลอดทั้งสัปดาห์วิชาวาดเขียนมีเพียงหนึ่งชั่วโมง ทั้งยังอยู่ในชั่วโมงสุดท้ายของวันอีกด้วย
เขาคิด มันคงเป็นวิชาที่สำคัญน้อยที่สุดเป็นแน่! แต่แม้นมันจะไม่สำคัญกับใครก็ช่าง
แต่กับเขาแล้วมันสำคัญที่สุด ส่วนวิชาอื่นๆเขาก็ทนๆเรียนไปอย่างนั้น เมื่อผู้ใหญ่บอกว่ามันสำคัญที่เด็กต้องเรียน
เขาก็เชื่อตามนั้น และประคับประคองให้ผ่านมาได้
สามสี่ปีผ่านไปเขาก็ได้สิ่งที่เขารัก เสาร์-อาทิตย์หรือปิดเทอม เขาสามารถหารายได้พิเศษด้วยการเขียนคัตเอ๊าท์โฆษณาหนังได้ด้วยฝีมือเท่าๆกับช่างอาชีพ
.......วันนี้เด็กคนนั้นได้ตระหนักว่า เวลาที่ระบบเอาไปจากเขานั้นทำให้เขาต้องสูญเปล่าไปเพียงใด
ถ้าเขาไม่ถูกกักขังอยู่ในห้องเรียน เขาอาจใช้เวลาน้อยกว่านี้กว่าครึ่ง เพื่อจะได้สิ่งที่รักมา
อย่าถามถึงสิ่งที่เขาต้องฝืนเรียนมาเลย ว่าเขาได้อะไรมาบ้าง วิชาคณิตศาสตร์น่ะหรือ
แค่บวกลบคูณหารกับเทียบบัญญัติไตรยางศ์ได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง และมันก็รับใช้ความจำเป็นของชีวิตในแบบที่เขาเลือกได้เพียงพอแล้ว
วิชาอื่นๆไม่ต้องพูดถึง เขานึกไม่ออกเลยว่าถ้าเขาไม่เคยเรียนมาก่อน ชีวิตวันนี้ของเขาจะเดือดร้อนอันใด
แต่จะว่าแปลกหรือไม่ก็ตาม หลังพ้นออกมาจากระบบ เขากลับเริ่มสนใจวิชาความรู้อื่นๆอีกหลายอย่าง
อย่างที่ระบบเองก็ไม่อาจให้กับเขาได้ เมื่อเขาสนใจใครรู้เรื่องใดอย่างจริงจัง
มันย่อมไม่เกินกำลังที่เขาจะไปไขว่คว้าเอามันมา และเขาบอกกับตัวเองว่า นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ระบบจะมาอ้างเอาความดีความชอบกับเขาได้ว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเขาได้ผ่านระบบมาก่อนแล้ว
ผมเชื่อว่าเรื่องเล่านี้ไม่ได้เกินไปกว่าชีวิตจริงของใครอีกหลายคน และเราอาจตั้งคำถามทำนองเดียวกันนี้ได้กับตัวเราเอง
กับลูกหลานของเรา
การที่คนเราเกิดความสนใจอะไรสักอย่าง บางเรื่องเราไม่อาจบอกสาเหตุที่แท้จริงได้ว่า
ทำไมเราจึงสนใจสิ่งนั้น บางทีวิชาจิตวิทยาอาจให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ เช่นคนที่สนใจดูนก
สนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไก สนใจศิลปะการต่อสู้ สนใจการขีดเขียน เหล่านี้ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นความสนใจโดยสมัครใจ
ใครจะมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นเรื่องความรักชอบของแต่ละคน และมีความสนใจอีกแบบหนึ่ง
ที่ผมขอเรียกว่าเป็นความสนใจโดยจำเป็น เช่นการเรียนรู้การพูดการฟังของเด็กทารก
ซึ่งโดยสัญชาตญาณเด็กรู้ว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นกับชีวิตของเขา เขาเห็นพ่อแม่พยายามสื่อสารกับเขาด้วยการพูดและใครๆที่อยู่แวดล้อมเขาก็ใช้วิธีนั้น
ดังนี้เขาจึงสนใจเรียนรู้และค่อยๆพัฒนาไปตามลำดับ (ตรงนี้ผมอยากเน้นว่า กระทั่งเด็กทารกก็ยังมีศักยภาพในการเรียนรู้
และเราคงไม่ลืมหรอกว่า ไม่มีใครเรียนการพูดมาจากห้องเรียนที่ไหน แต่จากชีวิตประจำวันนั่นเอง)
ความสนใจแบบแรกเป็นเรื่องคุณค่าทางใจ
เป็นความพอใจเฉพาะตัว ไม่ใช่ถูกบังคับจากภายนอก ขณะที่ความสนใจแบบที่สองเป็นเงื่อนไขจากภายนอก
เช่นเราต้องสนใจเรื่องความสะอาดในการกินอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเจ็บป่วย,
ความจำเป็นต้องพูดภาษาจีนได้ถ้าต้องติดต่อกับคนจีน เราทุกคนมีความสนใจทั้งสองแบบนี้อยู่ในตัว
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
ที่ผมบอกว่าผมไม่ห่วงเรื่องเด็กไม่สนใจวิชาคณิตศาสตร์นั้น เพราะผมเชื่อว่าไม่มีเด็กปกติคนไหนที่ไม่สนใจคณิตศาสตร์ไปตลอดชีวิตของเขา
ผมเชื่อว่าจะช้าหรือเร็ว วันหนึ่งเขาจะพบเองว่ามันจำเป็นกับชีวิตและเขาจะกระตือรือร้นเรียนรู้เอง
ถ้าเด็กมีอิสระในการเลือกเรียนตามความสนใจ และเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่รู้จักอดทนรอ
เมื่อถึงเวลาของมันศักยภาพก็จะแสดงตัวออกมาเอง และเด็กก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุข
เพราะการมีอิสระก็คือการมีความสุข
นี่คือปัญหาสำคัญอันหนึ่งในระบบการศึกษาของเรา เพราะเราชอบที่จะคิดว่าเรารู้ดีไปเสียหมดทุกอย่าง
และเด็กไม่รู้อะไรเลย เราจึงเอาแต่ออกคำสั่งว่าต้องสนใจเรื่องนั้น ต้องเรียนวิชานี้
ต้องทำอย่างนั้นและห้ามทำอย่างนี้
มีใครที่มีข้อพิสูจน์ได้ว่า เด็กวัยใดสามารถเรียนเรื่องใดได้บ้าง และใครด้วยข้ออ้างอะไรจึงคิดว่าตนมีสิทธิ์บังคับเด็กว่าต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้
เด็กๆจึงเหมือนถูกฉีดยาเร่ง ต้องเรียนให้เร็วขึ้นและมากขึ้น มีใครในระบบการศึกษานี้ที่ได้สร้างผลวิจัยที่เชื่อถือได้
พอที่จะยึดเป็นตัวความรู้ได้ว่าเด็กในวัยใดสามารถหรือควรเรียนรู้เรื่องใดบ้าง
? สนใจอะไร ? ในระดับใด ? เราเคยมีอะไรอย่างนี้ให้อ้างอิงพอเป็นแนวทางบ้างไหม?
การที่เด็กไม่สนใจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะวัยยังไม่ถึง หรือวัยถึงแล้วแต่เด็กยังไม่มีความสนใจเองก็ตาม
เด็กก็ไม่ควรถูกบังคับ เด็กที่ถูกบังคับจะต่อต้านขัดขืนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อ่อนๆจนถึงขั้นรุนแรง
เริ่มจากเฉื่อยเรียน เหม่อลอย ไม่สนใจ มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎ ในแบบต่างๆเช่น หนีโรงเรียน
เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะไปบังคับเด็กๆให้สนใจในสิ่งที่เขายังไม่สนใจ ลองนึกดูว่าถ้ามีใครมาบังคับให้เราทำอะไรที่เราไม่อยากทำ
ถูกบังคับให้สนใจในสิ่งที่เราไม่สนใจว่าเป็นเรื่องเลวร้ายเพียงใด เด็กก็เช่นกัน
ใครลองไปบังคับคนที่เท่าๆกันจะกล้าไหม? ที่เรายังบังคับเด็กๆได้ก็เพราะเรารู้ว่าเด็กสู้เราไม่ได้นั่นเอง
และนี่คือสิ่งที่เด็กๆต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในโรงเรียน เด็กจึงมีพฤติกรรมหลบเลี่ยง
เล่นละครตบตาครูเอาตัวรอดไปวันๆ สุดท้ายเพื่อจะได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการเรียนอันตื้นเขินปลอมๆ
เพราะการบังคับคือการไม่มีความสุข และเราก็รู้อยู่ว่าเด็กที่ไม่มีความสุขไม่มีวันที่จะเรียนรู้ได้ดี
แต่ที่น่าตลกก็คือ การบังคับนี่เองคือหัวใจของระบบการศึกษาของเรา และโรงเรียนก็คือสัญลักษณ์ของการบังคับ
การขู่ให้กลัว การทำโทษ ผมจึงไม่แปลกใจที่เด็กๆทุกวันนี้ออกมาทำอะไรแปลกๆแบบนักทำลายกฎ
ซึ่งนั่นคือการประท้วงชีวิต ชีวิตปลอมๆที่ระบบตั้งหน้าตั้งตายัดเยียดให้เขามานานปี
และในที่สุดย่อมมีสักวัน วันที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาสลัดสิ่งที่กดหัวเขามาตลอดออกไป
และมักออกมาในรูปของความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับใครเลย
หลายคนยังต้องส่งลูกหลานไปโรงเรียน ทั้งที่ในใจมีข้อค้านอยู่ เพราะไม่รู้จะเอาลูกไปไว้ที่ไหนดี
เมื่อเรายังไม่อาจวางใจในระบบ สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ จงวางใจในตัวเด็กและอยู่ข้างเขา
คนที่เป็นพ่อแม่ไม่ควรหันกลับมาทำร้ายลูกหลานของตนซ้ำลงไปอีก จากที่ระบบกระทำอยู่แล้ว
เพื่อนผมคนหนึ่งพยายามฝืนออกมาอยู่นอกระบบ เขาเลี้ยงลูกเองสอนหนังสือลูกเอง ในร้านค้าที่เขาเป็นเจ้าของ
เขาและภรรยามีเวลาให้ลูกมากพอ ทั้งให้อิสระที่จะเล่นหรือเรียนก็ได้ตามใจชอบ ดูแล้วเด็กก็น่าจะมีความสุขดี
แต่เพื่อนบ้านในละแวกไม่มีใครทำอย่างเขา เพราะเด็กๆถูกส่งไปโรงเรียนกันหมด ลูกของเขาจึงไม่มีเพื่อนเล่น
ไม่มีสังคม ทนอยู่ได้ไม่เท่าไหร่ ในที่สุดก็ต้องเข้าโรงเรียนตามเด็กอื่นๆไป
นี่คือระบบ มันยึดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเรา!
ผมมีสารานุกรมความรู้สำหรับเด็กอยู่ชุดหนึ่ง มันยืนเด่นเป็นสง่า(น่าจะเรียกว่ายืนตายมากกว่า)อยู่ในตู้หนังสือมานานปี
จนลืมไปแล้วว่ามีมันอยู่ ทั้งๆที่เดินผ่านทุกวัน ความจริงควรเป็นผมเองที่น่าหยิบมันมาเปิดๆให้เจ้าหลานชายได้เห็นบ้าง
เผื่อว่าเขาจะสนใจ และผมจะได้ถือเป็นโอกาสเล่าอะไรๆในนั้นให้เขาฟัง แต่ก็เปล่า
สารานุกรมชุดนั้นคงยังต้องหลับใหลอยู่ตรงนั้นต่อไปโดยไม่มีใครสนใจ ถ้าไม่ใช่เพราะเจ้าหลานชายผมที่ไปปลุกมันขึ้นมา
รื้อมันออกมาเปิดดู แต่เพราะเขาอ่านมันไม่ออก จึงถือเดินมาขอให้ผมอ่านให้ฟัง.....
เรามักคิดว่าเด็กๆเอาแต่เล่นเหลวไหลอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจการเรียน ?
เด็กก็เหมือนสัตว์ตัวเล็กๆที่อยู่ไม่สุข ถ้าไม่ได้สนใจจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง
ก็ชอบที่จะรื้อค้นสิ่งของ ถามโน่นถามนี่ เพราะอยากรู้หรือหาอะไรที่น่าสนใจทำ
จนผู้ใหญ่เบื่อรำคาญ เราเคยชินกับภาพของการเรียนว่าคือการนั่งอยู่กับตำรับตำรา
การทำการบ้าน แบบเดียวกับที่เราเห็นในห้องเรียน ภาพแบบนี้แหละที่เราชอบ ดูช่างน่าประทับใจ!
แต่เวลาที่เด็กๆแสดงความอยากรู้อยากเห็นด้วยการถามโน่นถามนี่ รื้อข้าวของออกมาเล่น
อะไรๆแบบนี้เรามักไม่เห็นว่าเป็นความอยากเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็ก
เด็กไม่ว่าคนไหนย่อมไม่อยากทำอะไรที่เขาไม่รู้สึกสนุกด้วย สนุกหมายถึงน่าสนใจจนไม่อาจอยู่เฉยได้
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องออกมาในกิริยาเอะอะมะเทิ่งเสมอไป บ่อยๆที่ผมเห็นเด็กๆเล่นกันเอะอะเจี๊ยวจ๊าว
แต่พอสักพักคงเบื่อ ก็มาขอกระดาษดินสอไปนั่งวาดรูป- หัดเขียนหนังสือกันเรียบร้อย
อาจพูดได้ว่าโดยธรรมชาติเด็กๆมีความสนใจใคร่รู้อยู่เต็มเปี่ยม อยู่ที่ผู้ใหญ่จะเปิดโอกาส
ให้ทางเลือกแก่เด็กๆเพื่อลองคิดลองเล่นลองทำมากเพียงใด เพื่อว่าเด็กๆจะได้ค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ
ผมเห็นด้วยกับนีล (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิล - โรงเรียนที่ให้อิสระกับเด็ก)
นีลพูดว่า " มีแต่คนที่อวดรู้เท่านั้นที่คิดว่าการศึกษามีอยู่ก็แต่ในโรงเรียนเท่านั้น"
ผมอยากต่อให้อีกนิดว่าและการศึกษาก็ไม่ได้มีอยู่แต่ในตำราเท่านั้น โดยเฉพาะตำราที่ใช้กันอยู่ในโรงเรียน
พูดถึงเรื่องตำราแล้ว
ถ้าลองเปิดตำราของเด็กประถมดูจะเห็นว่ามากไปด้วยอุบายหลอกล่อแบบลูกกวาด ที่ศัพย์วิชาการเรียกว่า
การสร้างแรงจูงใจในการเรียน ผมลองเปิดตำราคณิตศาสตร์ดูก็เห็นว่าแทบทุกหน้าเปรอะไปด้วยรูปการ์ตูนส์สารพัดสี
จนดูเป็นหนังสือการ์ตูนส์มากกว่าตำราคณิตศาสตร์ ราวกับว่าถ้ายิ่งประโคมสิ่งล่อหลอกลงไปมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
น่าคิดว่าระหว่างรูปการ์ตูนส์ที่เด็กๆชอบ กับตัววิชาที่เด็กๆแทบจะไม่สนใจนั้น
ใครสามารถตอบลงไปให้ชัดได้ว่าเด็กจะไม่หลงเพลินไปกับตัวการ์ตูนส์ (คงไม่ลืมว่าเด็กวัยนี้มากไปด้วยจินตนาการ)
จนเขวจากการสนใจตัววิชาไป และถ้าวิธีหลอกล่อแบบนี้ดีจริง ก็น่าสงสัยเหลือเกินว่า
ทำไมประเทศของเราจึงยังมากไปด้วยเด็กที่ผลการเรียนกะพร่องกะแพร่งมากกว่าเด็กเรียนดี
หรือเพราะเด็กไม่ดีเอง หรือเพราะสภาพแวดล้อมไม่อำนวย หรือมีปัจจัยอื่นๆให้อ้างได้อีกตั้งร้อยพัน
หรือในที่สุดควรจะสรุปว่าถ้าไม่เพราะตำราดีๆ ! ที่มีที่เห็นอยู่นี้ เด็กๆจะย่ำแย่กว่านี้ขนาดไหน
!
ความจริงก็คือระบบมันฟ้องอยู่แล้วในตัวว่า "ฉันรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ฉันต้องการให้เธอนั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบ
ฉันจึงต้องหลอกล่อเธอ แกล้งทำดีกับเธอ ทั้งนี้ด้วยความหวังดีแท้ๆ! แต่ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผลก็ต้องบังคับกันหละ
และถ้าเธอยังเป็นคนดีไม่ได้ ก็เพราะเธอไม่รักดีนั่นเอง ไม่ใช่ฉัน(ระบบ)ไม่ดี"
เรียกว่ามีทั้งไม้นวมไม้แข็ง มีทั้งพระเดชพระคุณ นี่คือวิธีที่เราใช้มาตลอด และยังเชิดชูมันอยู่จนทุกวันนี้
นี่ยังไม่พูดถึงตัววิชาที่ยังมีความรู้แบบผิดๆถูกๆ ความรู้แบบขยะๆปะปนอยู่อีกมากที่เด็กๆต้องแบกไว้บนหลัง
โดยสรุปผมไม่เชื่อว่าระบบที่เป็นอยู่จะ "ให้" หรือเสริมสร้างอะไรให้เด็กๆได้
ตรงข้ามมันกลับเป็นตัวบั่นทอน บอนไซ หรือกระทั่งทำลายด้วยซ้ำไป พูดอีกอย่างก็คือ
นั่นหละคือหน้าที่ของระบบ.
2. พ่อ...ทำไมเด็กเด็กต้องไปโรงเรียนด้วยครับ
คุณที่เป็นพ่อคนแม่คน เคยได้ยินคำถามนี้จากปากลูกๆของคุณบ้างไหม ? พ่อ...ทำไมเด็กเด็กต้องไปโรงเรียนด้วยครับ
ผมได้ยิน "เด็กคนนั้น"ถามอย่างนี้จริงๆ ผมยังเชื่อต่อไปอีกว่า เด็กๆทั้งหลาย(น่าจะทั้งโลก)ที่อยู่ในระบบโรงเรียน
น่าจะมีคำถามนี้อยู่ในสมอง ส่วนจะแค่คิดดังๆหรือพูดออกมาด้วยหรือไม่เท่านั้น
และก่อนที่สมองสับปะรังเคของผมจะคิดตอบคำถามนี้ ผมน่าจะลองใช้สมองส่วนที่ยังพอเป็นสับปะรดเหลืออยู่ลองตรองดูว่า
ก็แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้เด็กคนนั้นถามคำถามนี้ออกมา
โดยไม่ต้องใช้สมองชั้นดีเลิศ ผมเชื่อว่า เราน่าจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า
ก็เพราะเด็กคนนั้นไม่ชอบโรงเรียนที่เขาต้องไปอยู่ทุกวันนะสิ
ทำไมเด็กเด็กต้องไปโรงเรียน?
ถ้าเป็นคุณ คุณจะตอบอย่างไร
สำหรับผมซึ่งสมองสับปะรังเคไปมากแล้ว
คงคิดอะไรได้ไม่ไกลเกินกว่าประมาณว่า "ก็จะได้มีความรู้ จะได้ไม่โง่ ต่อไปจะได้ไม่ลำบาก
จะได้ใช้สมองทำงาน ซึ่งสบายกว่าใช้มือใช้ตีนทำ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน จะได้และจะได้...อีกสารพัดยังไงล่ะ"
นับแต่ที่ผมเริ่มประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า อันสมองของผมนี้มันช่างสับปะรังเคเสียจริง
ผมก็เริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง(ก่อนนั้นผมไม่เคยเห็นสมองสับปะรังเคของผมว่าเป็นความสับปะรังเคเลยสักนิด)
โรงเรียน! คุณเชื่อไหมว่า มันจริงแท้แน่นอนราวกับเป็นสัจธรรมนั่นเทียว แทบจะเทียบได้กับสัจธรรมที่ว่า
ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องมีหนวด ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องมีนม ใช่! และถ้าเป็นเด็กก็ต้องไปโรงเรียนนั่นแหละ
ทั้งที่มันไม่ควรจะต้องใช่เลย!
พอลูกหลานของเราอายุถึงเกณฑ์ เดี๋ยวเราก็ต้องมานั่งวางแผนแล้วว่า จะให้มันไปอยู่โรงเรียนไหนดี
จะเอาที่ใกล้บ้านเพราะสะดวกดี หรือไกลหน่อยแต่ดีกว่า จะต้องเตรียมเงินพิเศษไว้เผื่อต้องใช้สนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาของโรงเรียนสักเท่าไหร่ดี
ถึงจะประกันได้ว่ามันจะมีที่เรียนแน่ๆ หมดปัญหาเรื่องที่เรียน ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า
ทำอย่างไรจะให้เรียนเก่งๆ ก็หาครูสอนพิเศษเก่งๆนะสิ เรื่องติวเข้มก็เหมือนกัน
ควรจะเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ มองยาวไปถึงคราวเอ็นทรานซ์โน่น
ชุดความคิดของผู้ใหญ่อย่างเรา มันก็วนเวียนอยู่ประมาณนี้ละครับ ผมกะหยาบๆสำหรับพ่อแม่ที่วางแผนการศึกษาอย่างอยู่ในร่องในรอยให้ลูกๆ
ประมาณเก้าคนครึ่งในสิบคนที่คิดแบบนี้ อย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าเป็นสัจธรรมก็เกินไปหน่อยแล้ว
โรงเรียนได้กลายมาเป็นสัจธรรมของชีวิตมาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?
โดยสามัญสำนึก เราน่าจะพอจินตนาการได้ว่า
แต่ก่อนเราไม่มีโรงเรียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะอย่างที่คุ้นกันนี่หรอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า
เราไม่มีที่ที่จะเรียนรู้อะไร ตรงข้าม ที่ที่จะเรียนรู้อะไรต่ออะไรที่จำเป็นแก่ชีวิต
มันมีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว มันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ตามศาลาวัด ตามเรือนชานของหมอกลางบ้าน
ตามป่าละเมาะ ตามอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
ก็ในเมื่อสิ่งที่จะให้การเรียนรู้แก่เรา มันมีอยู่ทั่วไปเช่นนี้แล้ว แล้วด้วยเหตุอันใด
ที่ในเวลาต่อมา โรงเรียนจึงได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี กลายเป็นสิ่งที่ชีวิตของเด็กๆจะขาดเสียมิได้
......เสียงร้องไห้จ้าอย่างขวัญเสียของเด็กๆ เพราะไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่ซึ่งเคยอยู่ใกล้ชิดเขามาตลอด
จู่ๆวันหนึ่งกลับยัดเยียดเขาให้กับอีกคน ใครก็ไม่รู้ ซึ่งเขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน
ถ้าการได้อยู่คลุกคลีกับพ่อแม่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นความอบอุ่นในความรู้สึกของเด็กๆ
ช่วงขณะของการผลักไสนั้นมันคืออะไรเล่า ทำไมวันหนึ่งเหตุการณ์มันถึงได้เปลี่ยนไปอย่างกลับตาลปัตรเช่นนั้น
พ่อแม่กำลังบอกอะไรกับเขาหรือ กำลังสอนบทเรียนอันสำคัญอะไรให้หรือ ทำไมจึงต้องกระทำสิ่งอันโหดร้ายต่อจิตใจของพวกเขาเช่นนั้น
จากนี้ไปนานเป็นปีๆ อย่างกับไม่มีวันจะจบสิ้น
ปีแล้วปีเล่าที่พวกเขาต้องยอมตนอยู่ใต้คำสั่ง ความกลัว และข้อปฏิบัตินานับประการ
ราวกับนักโทษ ไม่ว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังข้อบัญญัตินั้นจะไร้เหตุผลเพียงใดก็ตาม
พวกเขาจะต้องเรียนแต่สิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องเรียน(ตามเวลาที่กำหนด) ไม่ว่าจะอยากหรือไม่ก็ตาม
ไม่มีสิทธิ์ที่จะอยากก่อนหน้าหรือหลังจากที่กำหนดมา จะต้องสนใจแต่สิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องสนใจ
ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะน่าเบื่อเพียงใดก็ตาม
เสียงร้องให้จ้าอย่างขวัญเสียนั้น คือบทเรียนแรกที่พวกเขาได้รับ จากสถานที่ใหม่อันน่าพรั่นพรึง
นั่นคือบทเริ่มต้นของความโหดร้าย ซึ่งยังจะมีตามมาอีกหลายบท โลกรายรอบอันโหดร้ายนี้จะคอยสั่งสอนและให้บทเรียนแก่พวกเขา
ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จงเก่งกว่าคนอื่น จงขยันกว่าคนอื่น จงเร็วกว่าคนอื่น จงเอาให้มากกว่าคนอื่น
โลกคือสถานที่แห่งการแก่งแย่งและคว้าเอามา โลกไม่ใช่ของเราเพื่อเรา แต่เป็นของฉันเพื่อฉัน
คงไม่มีพ่อแม่คนใดที่ไม่สะเทือนใจต่อเสียงร้องจ้านั้น มนุษย์จะฝืนสัญชาตญาณของตนได้หรือ
หากแต่พื้นภูมิแต่หนหลังของเขานั่นเอง จะรีบออกมาปกป้องการกระทำอันโหดร้ายนั้น
มันทั้งปลุกและปลอบให้เชื่อว่า นี่เป็นกฎของชีวิตราวกับบัญญัติมาจากสวรรค์นั่นเทียว
".....ที่ฉันเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้เช่นทุกวันนี้(บางคนถึงกับใช้คำว่าได้ดิบได้ดี)
หาใช่เพราะฉันก็เคยร้องไห้จ้าอย่างนี้มาก่อนหรอกหรือ ชีวิตก็เป็นเช่นนี้แหละ
และฉันก็ผ่านมันมาได้ มันทำให้ฉันแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ ฉันไม่ได้โหดร้ายกับเด็กๆ
ฉันประสบกับมันมาก่อน มีเหตุผลอะไรหรือที่จะไปปกป้องพวกเขา จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งฉันก็ต้องประสบเช่นกัน
ใช่! ฉันไม่ปฏิเสธหรอกว่า ฉันสะเทือนใจกับเสียงร้องจ้านั้น แต่ฉันจะไม่ยอมใจอ่อนให้กับความอ่อนแอ
(อารมณ์สะเทือนใจ) นั้นมาเป็นเจ้าเรือนใจฉันได้หรอก เพื่ออนาคต พวกเขาต้องถูกฝึกให้เข้มแข็งอดทนเสียตั้งแต่ยังเป็นไม้อ่อนนี่แหละ......"
ในนามแห่งความรักของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ ความรู้(ตามระบบของโรงเรียน)สำคัญกว่าความรัก
อิสรภาพเป็นเรื่องเหลวไหล การบังคับขู่เข็ญ - การลงโทษเป็นเรื่องจำเป็น และอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์ต้องถูกตีค่าเสียใหม่อย่างเหยียดเยาะว่า
เป็นแค่ความอ่อนแอปวกเปียก แต่การกดข่มอารมณ์สะเทือนใจให้กลายเป็นความเฉยชาแข็งกระด้างนั่นต่างหาก
ที่สมควรได้รับการแปลความหมายและยกค่าให้เป็นความเข้มแข้งอดทน อันเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์อย่างพวกเราพึงฝึกให้มีให้เป็น
พ่อแม่คือผู้ใหญ่คนแรกๆที่เด็กๆควรได้อยู่ด้วย แต่ในความเป็นจริงเด็กๆนั่นเองที่จำต้องถูกฝึกให้เสียสละแต่เนิ่นๆที่จะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ของเขา
ถูกพรากออกจากบ้านอันอบอุ่น ผลักไสไปสู่คนอื่น ไปสู่ที่นั่น ที่ที่เรียกว่าโรงเรียน!เพื่อให้พวกผู้ใหญ่อย่างเราได้ออกไปจรจัด(แปลว่า
- ไขว่คว้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า) เพื่อรับใช้และผดุงไว้ซึ่งระบบอุตสาหกรรม - ทุนนิยมตลาดเสรี
โรงเรียนอย่างที่เราคุ้นกัน ก็คือสิ่งซึ่งรับใช้และให้บริการต่อระบบดังกล่าว
โดยปริยาย น่าจะถูกต้องกว่าถ้าพูดว่า ระบบนั้นนั่นเองคือแม่บทใหญ่ที่ประดิษฐ์ระบบโรงเรียนขึ้นมา
(รวมทั้งระบบย่อยๆอื่นๆด้วย) ซึ่งก็แน่ละว่า เป็นไปไม่ได้ที่มันจะประดิษฐ์สิ่งซึ่งจะไปขัดขวางและคัดค้านตัวมันเอง
อะไรคือสิ่งที่ระบบอุตสาหกรรมต้องการ คุณสมบัติแบบใดที่ระบบนี้พึงหวัง นั่นคือสิ่งซึ่งระบบโรงเรียนพึงรับใช้และให้บริการ
พึงสังเกตว่าระบบนี้ใช้คำว่า "ผลิต" ซึ่งต้องตรงกับชุดศัพท์ของมันโดยแท้
เช่นผลิตบุคลากรเพื่อสนองนโยบายพัฒนาประเทศ เป็นอาทิ
มันก็ถูกต้องดีแล้วที่เด็กๆจะถูกตีค่าเป็นเพียงวัตถุดิบชนิดหนึ่ง เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบโรงเรียน
อันมีกระบวนการที่จำลองมาจากระบบในโรงงานอุตสาหกรรม แปรรูปไปตามคำสั่ง ถูกจัดแบ่งเป็นระดับตามเกณฑ์
ถูกประทับตราว่าเก่งหรืออ่อนด้อย ฉลาดหรือโง่ และเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาถูกระบายออกจากระบบการศึกษาแล้ว
ก็จะได้เข้าสู่สายพาน รับใช้และสืบทอดระบบอุตสาหกรรมสืบไป
และไม่ว่าพวกเขาจะถูกตีตราให้อยู่ใน(สินค้า)ชนิดใดระดับใด สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ
พวกเขาได้สูญสิ้นสิ่งอันน่าหวงแหนที่สุดของชีวิตไปแล้ว สูญสิ้นการตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง
ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ความมีชีวิตชีวา เหล่านี้อันรวมอยู่ในความหมายของคำเพียงคำเดียวคือ
"อิสรภาพ" คำเพียงคำเดียวอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กๆควรจะได้รับ
แต่กลับต้องยกให้กับโรงเรียนและเสียสละให้กับระบบไป
ใครที่พูดว่า โรงเรียนตายแล้ว ผมไม่เชื่อ บางทีมันอาจไม่แม้แต่ถูกทำให้บาดเจ็บด้วยซ้ำ
ยิ่งชุดความคิดแบบอุตสาหกรรมขยายใหญ่ขึ้นเพียงใด ระบบโรงเรียนอันเป็นดั่งทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของมัน
ยิ่งต้องแข็งแรงและเด็ดขาดยิ่งขึ้นเพียงนั้น
การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังทำกันอยู่นั่นไง เป็นสิ่งยืนยันว่า ประสิทธิภาพของการรับใช้ต้องเท่าทันกับแม่บทใหญ่ของมัน
เมื่อวิธีท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองไม่อาจตอบสนองยุคสมัยได้อีกต่อไป วิธีที่ทันยุคกว่าจึงต้องถูกคิดค้นขึ้นมา
- ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้
- ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
- ผู้เรียนสำคัญที่สุด
พรรณนาความอันยืดยาวของหัวข้อเหล่านั้น (ซึ่งน่าเบื่อเกินกว่าจะนำมากล่าว ณ ที่นี้) อาจทำให้ใครสักคนต้องหัวเราะแบบขื่นๆ ถ้อยคำอันสวยงามเลิศลอยนั้น วาดภาพของสวนสวรรค์แห่งการศึกษาขึ้นมาตรงหน้าเรา ครูเป็นดั่งนางฟ้า - เทวดาที่สวรรค์ประทานมา เด็กๆดูช่างมีความสุขในการเรียน(ความสุขในแบบฉาบทาอยู่ภายนอก) นี่คือสวนสวรรค์ที่วาดขึ้น และฝันว่ามันจะผุดขึ้นมาได้จริงๆ ท่ามกลางความเสื่อมทรามที่อยู่รายรอบ อาจต้องจินตนาการเพิ่มเข้าไปอีกนิดว่ามีโดมแก้วครอบสวนสวรรค์นี่ไว้เสียหน่อย
พึงสังวรว่า เราต้องไม่แปลความหมายของถ้อยคำเหล่านั้นอย่างที่มันควรจะเป็น
เพราะนี่ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ ไม่ใช่เป้าหมายใหม่ มันเป็นแค่วิธีการ(อุบาย)ใหม่เท่านั้น
เป็นวิธีการทารุณกรรมเด็กแบบใหม่ที่โฆษณาว่ามีประสิทธิภาพกว่าแบบเก่า
ขอให้สังเกตคำว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด (ถึงกับเน้นคำว่า"ที่สุด"กันเลยทีเดียว)
ซึ่งเราต้องไม่หลงเคลิ้มไปว่า สวนสวรรค์แห่งการเรียนรู้ได้รับการสถาปนาขึ้นแล้ว
ตราบใดที่เรายังไม่ทำโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ว่าจะใช้คำว่า " ที่สุด"
ซ้ำลงไปอีกสักกี่ครั้ง ความหมายของมันก็ไม่มีวันเปลี่ยนมาอยู่ข้างเด็กๆได้เลย
มันยังคงเป็นของ "สิ่งอื่น"ตลอดมา
ไม่ใช่ผู้เรียนสำคัญที่สุดหรอก มันสำคัญน้อยที่สุดต่างหาก นโยบายสิที่สำคัญที่สุด
มันก็เหมือนถ้อยคำอีกมากมายในระบบของเราเช่น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความโปร่งใส
การมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม คุณธรรมความดี ฯลฯ เหล่านี้หากว่ามันยังสามารถคงค่าแห่งความหมายของมันไว้ได้
ในท่ามกลางความเสื่อมทรามแห่งอารยธรรมของเราแล้ว ก็มีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะอธิบายมันได้
ในความเป็นจริงมันล้วนแต่กำลังเน่าในทั้งสิ้น
ใช่! การปฏิรูปการศึกษาย่อมต้องเน้นเสียงดังๆว่า จากนี้ไปเด็กๆจะมีอิสระอย่างเต็มที่
ใครอยากจะเดินด้วยท่าทางแบบไหนก็ได้ตามสบาย เว้นแต่ต้องเดินไปสู่ "จุดนั้น"
ตามคอกที่กั้นไว้แล้วเท่านั้น
โรงเรียนไม่เคยตาย ทั้งที่ในความควรจะเป็นแล้ว โรงเรียนสมควรตาย โรงเรียนแบบนี้สมควรถูกทำให้ตายไปได้แล้ว
และพระเจ้า! หากว่ามันจะตายไปเสียได้จริงๆ เราก็จะได้เห็นภาพในแบบฟิล์มภาพยนตร์เดินถอยหลัง
เด็กๆครูและทุกสิ่งที่อยู่ในอาคารเรียนจะเดินถอยหลังพรั่งพรูออกมา ภาพตัวอาคารจะค่อยๆกร่อนลงๆและหายไปในที่สุด
เวลาเดินย้อนกลับไปในอดีต เห็นเด็กๆวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานบนลานดิน บ้านที่มีแต่ความอ้างว้างก็กลับอบอุ่นขึ้น
เพราะผู้ใหญ่ไม่ต้องออกไปจรจัดอีกต่อไป
ความกลมเกลียวสงบสุขในชุมชนกลับคืนมา ไม่มีแม่น้ำเน่าๆ ไม่มีฝุ่นควันอุบาทว์
ไม่มีเด็กเร่ร่อนจรจัด-ติดยา-ขายกาม ไม่มีเด็กคลุ้มคลั่งที่ลากอาวุธออกไปฆ่าใครต่อใคร
ไม่ต้องมีสถานพินิจ สถานสงเคราะห์ ไม่ต้องมีโรงพยาบาลบ้า บางทีอาจไม่ต้องมีตำรวจ!
โอ....เป็นไปได้อย่างไรที่จะทำใจให้ยอมรับได้ว่า โรงเรียนอันสง่างามหลังนั้นหายวับไป
เป็นไปได้อย่างไรที่จากนี้ไป คนที่เป็นพ่อแม่ไม่ต้องตื่นตีสี่ ไม่ต้องเตรียมกล่องข้าวไว้ป้อนลูกๆในรถ
ไม่ต้องออกไปแย่งพื้นถนนให้รถมีที่คลานไปส่งลูกที่โรงเรียน ไม่ต้อง...ไม่ต้อง...
นี่มันจะไม่สวยงามจนเกินทนไปหน่อยแล้วหรือ
จะไม่ทำเอาเราต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงไปหรอกหรือ สวยงามเสียจนอาจทำให้ความเคยชินต่อความเสื่อมทรามของเราเจ็บปวดได้
เป็นไปได้อย่างไรที่โรงเรียนจะถูกทำลายลงไป ระบบที่เรายึดถือนั่นด้วย เราจะทนได้อย่างไร
หากมันถูกทำลายลงไปจริงๆ
ใช่! เป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ว่า เราเริ่มสำนึกโดยนับเอาคำถามของเด็กคนนั้นว่า "เป็นปัญหา"ไม่ใช่
"ไม่เป็นปัญหา" และคนที่เป็นพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่อย่างเรานี่แหละ ที่ควรจะมีคำถามเสียทีว่า
ทำไมเราต้องคิดและทำแต่สิ่งซ้ำซากเหล่านั้น และเพื่อเห็นแก่อะไรสักอย่าง อะไรก็ตามแต่
หากว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่จำต้องมีอยู่ต่อไป เรานั่นเองที่ควรถามตัวเองแรงๆว่า
โรงเรียนมีแต่ "แบบนี้"เท่านั้นหรือ
มันจะเป็นอีกอย่างที่ต่างไปจากนี้ไม่ได้หรือ???
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
เพราะการบังคับคือการไม่มีความสุข และเราก็รู้อยู่ว่าเด็กที่ไม่มีความสุขไม่มีวันที่จะเรียนรู้ได้ดี แต่ที่น่าตลกก็คือ การบังคับนี่เองคือหัวใจของระบบการศึกษาของเรา และโรงเรียนก็คือสัญลักษณ์ของการบังคับ การขู่ให้กลัว การทำโทษ ผมจึงไม่แปลกใจที่เด็กๆทุกวันนี้ออกมาทำอะไรแปลกๆแบบนักทำลายกฎ ซึ่งนั่นคือการประท้วงชีวิต ชีวิตปลอมๆที่ระบบตั้งหน้าตั้งตายัดเยียดให้เขามานานปี
วันหนึ่งเด็กคนนี้พบว่าเขาชอบวิชาวาดเขียน จิตใจเขาจดจ่ออยู่แต่เรื่องนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์วิชาวาดเขียนมีเพียงหนึ่งชั่วโมง ทั้งยังอยู่ในชั่วโมงสุดท้ายของวันอีกด้วย เขาคิด มันคงเป็นวิชาที่สำคัญน้อยที่สุดเป็นแน่! แต่แม้นมันจะไม่สำคัญกับใครก็ช่าง แต่กับเขาแล้วมันสำคัญที่สุด ส่วนวิชาอื่นๆเขาก็ทนๆเรียนไปอย่างนั้น เมื่อผู้ใหญ่บอกว่ามันสำคัญที่เด็กต้องเรียน เขาก็เชื่อตามนั้น และประคับประคองให้ผ่านมาได้
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ
พวกเขาได้สูญสิ้นสิ่งอันน่าหวงแหนที่สุดของชีวิตไปแล้ว สูญสิ้นการตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง
ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ความมีชีวิตชีวา เหล่านี้อันรวมอยู่ในความหมายของคำเพียงคำเดียวคือ
"อิสรภาพ" คำเพียงคำเดียวอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กๆควรจะได้รับ
แต่กลับต้องยกให้กับโรงเรียนและเสียสละให้กับระบบไป ใครที่พูดว่า โรงเรียนตายแล้ว
ผมไม่เชื่อ บางทีมันอาจไม่แม้แต่ถูกทำให้บาดเจ็บด้วยซ้ำ ยิ่งชุดความคิดแบบอุตสาหกรรมขยายใหญ่ขึ้นเพียงใด
ระบบโรงเรียนอันเป็นดั่งทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของมัน ยิ่งต้องแข็งแรงและเด็ดขาดยิ่งขึ้นเพียงนั้น
การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังทำกันอยู่นั่นไง เป็นสิ่งยืนยัน