มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๐๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 399 หัวเรื่อง
กบฎชาวนา - เหตุการณ์ที่ปัตตานี
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นักวิชาการอิสระ

R
relate topic
070647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย
H
บทความพุทธศาสนากับการเมืองในประเทศศรีลังกา โดย ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เมื่อพระลังกาเล่นการเมือง : สิทธิมนุษยชนทหาร
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
ชำนาญ จันทร์เรือง

หมายเหตุ :
ผลงานหน้านี้ ประกอบด้วยบทความชิ้นเล็กๆ 2 ชิ้นคือ
๑. เมื่อพระลังการเล่นการเมือง เขียนโดย ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
๒. สิทธิมนุษยชนทหาร เขียนโดย ชำนาญ จันทร์เรือง

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)

 

๑. เมื่อพระลังกาเล่นการเมือง
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

พระกับการเมืองในบ้านเรา ไม่ได้เป็นของเข้าคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร

เรามักได้ยินเสมอว่า พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และกลายเป็นประกาศิตศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเชื่อตามกันมา เป็นส่วนหนึ่งของ วิธีคิดของสังคมไทย เมื่อคราวประกาศให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังเกิดเป็นปัญหาให้ กกต. ต้องตีความว่า "ชี " เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่

เมื่อพระสงฆ์ในประเทศศรีลังกาตัดสินใจโดดลง เล่นการเมือง ในคราวเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547 จึงเป็นที่ฮือฮาในหมู่นักการศาสนาในบ้าน เราที่ทราบข่าวคราว ด้วยพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพุทธศาสนาในบ้านเราอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นประเทศเมืองพุทธไม่กี่ประเทศในโลกที่นับถือพุทธศาสนาในนิกายเดียวกัน จึงกลายเป็นประเด็นข้อสงสัยของที่มาที่ไป ทำไมพระสงฆ์ท่านถึงลงเล่นการเมือง

การอาสาไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ประเทศศรีลังกาของผู้เขียนครั้งนี้ จึงมีเรื่องแถม
ที่ต้องเข้าวัดเข้าวาไปคุยกับพระสงฆ์เรื่องการเมือง ประกอบกับเมือง Kampaha ซึ่งผู้เขียนได้รับมอบหมาย ให้ไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง อยู่ห่างจากเมืองโคลัมโบ เมืองหลวงไปประมาณ 2 ชั่วโมงรถยนต์ เป็นเมืองที่ พรรคการเมืองของพระสงฆ์ได้รับความนิยมไม่น้อย ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พระสงฆ์ที่ได้รับเลือกให้ไปนั่งในสภามาจากเมืองนี้มากที่สุด

พระสงฆ์ตั้งชื่อพรรคการเมืองของท่านว่า "Jathika Hela Urumaya" หรือ เรียกย่อ ๆว่า 'JHU' โดยได้รับการเห็นพ้องจากมหาเถรสมาคม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ Ven.Omalpe Sobitha Tero และ Ven. Dhamar Lake ผู้นำ 2 ใน 9 ของสภาสูง JHU หรือ Supreme Council of JHU ซึ่งถือ เป็นองค์อำนาจสูงสุดของพรรคในการกำหนดทิศทางและนโยบายต่าง ๆของ JHU

หลังจากก้มกราบงาม ๆ 3 ครั้ง ให้สมกับเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบเงียบของที่ทำการพรรค ลมอ่อน ๆ ที่พัดผ่านหน้าต่างบานโตช่วยลดกระแสลมร้อนอบอ้าวจากภายนอกได้บ้าง ผู้เขียนตั้งคำถามแรกไปตรง ๆว่า ทำไมท่านถึงมาเล่นการเมือง ด้วยกิจของสงฆ์ไม่น่าจะมาข้องแวะกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ด้วยว่าพระนั้นพึงต้องอยู่อย่างสมถะ ไม่พึงแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ต้องละเลิกซึ่งกิเลส ตัณหา ความอยากได้อยากมีทั้งปวง

ผู้เขียนได้รับคำตอบตรง ๆ พร้อมคำเทศนายาวเหยียด นั่งฟังดั่งเหมือนมนต์สะกด กว่าจะกระจ่างแจ้งในหัวใจ จิบน้ำชาใส่นมร้อนอันหอมหวลแสนอร่อยไปเกือบหมดกา

"การเมือง คืออะไร" เราลืมไปแล้วหรือว่า การเมือง ในความหมายที่แท้จริงคือ งานที่ทำ เพื่อรับใช้ประชาชน ทำให้ประชาชนมีความสุข มีสันติ ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ผู้คนสามารถอยู่กันได้ ด้วยความปรองดอง ด้วยความรักสามัคคี การเมืองจึงเป็นภารกิจที่ศักดิ์สิทธ์ เพื่อรับใช้ผู้อื่น ปกป้องชุมชน จากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง

อำนาจและผลประโยชน์ ที่เราเข้าใจกันนั้น นั้นเป็นเรื่องของนักการเมืองที่มีกิเลส ตัณหา ไปสร้างไว้ ทำให้การเมืองเต็มไปด้วยความโลภ การแก่งแย่งชิงดี การคอรัปชั่น ต้องการเอาชนะเพื่อ ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงสังคมโดยส่วนรวม

นักการเมืองมักเห็นแก่ตัว เมื่อได้ อำนาจมาจะทำการใด ๆ ตามอำเภอใจ การข่มเหงรังแก การเข่นฆ่าจึงเกิดขึ้น มีความรุนแรงอยู่ทั่วไป

ปัญหาทมิฬ-สิงหล ที่มีอยู่มานานหลายทศวรรษ ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นปัญหาที่มาจากความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นเพราะกลุ่มการเมือง นักการเมืองที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ทำให้มีการฆ่าฟัน ประชาชนต้องล้มตายกันเป็นพันเป็นหมื่น ผู้คนต้องหลบหนีลี้ภัย ครอบครัวต้องพรัดพรากจากกัน สังคมอยู่อย่างไม่เป็นสุขเพราะความเห็นแก่ตัว ความลุแก่อำนาจของนักการเมืองไม่กี่คน

สังคมลังกาทุกวันนี้ เต็มไปด้วยการละเมิดศีลธรรม มีบ่อนการพนัน อยู่ทั่วไปทุกหัวระแหง เพราะนักการเมืองออกกฎหมายให้มีการแข่งม้าโดยเสรี จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ในเมืองเล็ก ๆที่เดินทางผ่านไป จะเห็นบ่อนการพนันให้ผู้คนไปแทงม้าอย่างเปิดเผย อีกทั้งเหล้า โสเภณี ที่มีอยู่เกลื่อนไปทั่วเมือง เพราะมีนักการเมืองผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง แล้วศรีลังกาเมืองพุทธจะอยู่ได้อย่างไร

แล้วยังมีลัทธิบริโภคนิยม ที่เข้ามาแพร่หลาย ทำให้ผู้คนนิยมบรรดาอาหารและสิ่งของฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ทำให้ต้องไปพึ่งพาของนอก ทำลายวัฒนธรรมการอยู่กินกับธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์หลากหลาย

หน้าที่ของสงฆ์ นั้น คือรับใช้สังคม รับใช้ชุมชนที่อยู่อาศัย เพราะสงฆ์จะอยู่ได้ ต้องพึ่ง ชุมชน พระสงฆ์ต้องไปบิณฑบาต ให้ชาวบ้านตักบาตรให้อาหารทุกเช้า จีวรที่นุ่งห่ม วัดที่พักอาศัย ล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านที่ช่วยกันหามาบริจาคเข้าวัด

พระพึ่งคน เพื่อให้คนพึ่งพระ ให้ช่วยเทศนาสั่งสอน ให้ลดกิเลส ตัณหา ความโลภโมโทสัน
เพื่อให้สังคมอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระกับคน ไม่อาจแยกจากกันฉันใด สงฆ์กับชุมชน ไม่อาจ แยกจากกันฉันนั้น

ในท่ามกลางความเดือดร้อนรุนแรง ที่สังคมลังกากำลังผจญอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ ที่ต้องออกมาทำหน้าที่ช่วยนำพาสังคมให้พ้นวิกฤต คำถามยังคงมีตามมาว่า แล้วพระสงฆ์จะสามารถ ทนทานกับแรงยั่วยุของอำนาจกิเลส ตัณหานานาที่มีอยู่ล้อมรอบได้อย่างไร

คำตอบที่ฟันธงชัดเจน คือ เมื่อพรรค JHU ได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภา จะไม่เข้าร่วมใน
รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นมา แต่จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของพุทธศาสนา เตือนสติและคัดค้านความไม่ชอบธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะคัดค้านกฎหมายต่าง ๆที่จะเป็นการทำลายศีลธรรม ทำลายวัฒนธรรมที่รุ่มรวยหลากหลาย ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์งดงาม ทำลายวิถีชีวิตอันร่มเย็นเป็นสุขของชาวศรีลังกา นี่เป็นเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองสงฆ์พรรคแรกในโลกของพระพุทธศาสนา

"เราไม่ต้องการอำนาจ ขอเป็นเพียงระฆังเตือนสติ เป็นก้างที่จะคอยขวางคอ มิให้อาหาร แห่งกิเลส ตัณหา และความโลภ ได้ไหลผ่านสู่กระเพาะอาหารของสังคมได้โดยง่าย"

 

๒. สิทธิมนุษยชนทหาร
ชำนาญ จันทร์เรือง


"มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ"
(all human beings are born free and equal in dignity and rights. They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood)
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Universal Declaration of Human Rights

ในสภาพความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับก็คือความเป็นปัจเจกชนของทหารที่มี
สองสถานะ โดยทั้งที่เป็นทหารและเป็นพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเรียกกันว่า "ประชาชนในเครื่องแบบ" เนื่องเพราะการเป็นทหารนั้น ไม่ได้ทำให้สถานะความเป็นพลเรือนหรือประชาชนหมดสิ้นไป ตำแหน่งหน้าที่หรือเครื่องแบบที่สง่างามนั้น เพียงแต่ครอบความเป็นพลเรือนอยู่เพียงภายนอกเท่านั้น จึงมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงว่า

เหตุใดทหารจึงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินความจำเป็นนอกเหนือจากการยุทธหรือการทหารอย่างมากมาย นอกเหนือจากเพื่อความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชาที่มีลักษณะของการปฏิบัติการ ที่ต้องการความเฉียบขาด รวดเร็ว และเพื่อควบคุม มิให้ทหารใช้อาวุธในทางไม่ถูกต้อง

นอกเหนือจากเหตุผลที่ทหารมี 2 สถานะดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์หรืออำนาจหน้าที่ของทหารในปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นอย่างมาก รวมทั้งทหารยังได้รับมอบหมายหน้าที่อื่นๆ นอกจากสู้รบหรือการสงคราม เช่น การพัฒนาประเทศ การปราบปรามยา
เสพย์ติด ฯลฯ ดังนั้น ทหารจึงน่าที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพในระดับที่ใกล้เคียงกับพลเรือนหรือประชาชน
ทั่วไปให้มากที่สุด โดยควรถูกจำกัดเพียงส่วนที่เกี่ยวกับวินัยทหารโดยตรงเท่านั้น

หลักการพื้นฐาน
1. ข้อ 2(1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระบุว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพในบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดใด ดังเช่น เชื้อชาติ ผิวเพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ"

2. มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ให้นิยามความหมายของ "สิทธิมนุษยชน" หมายความว่า"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทยหรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม"

3. มาตรา 64 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรองรับสิทธิและเสรีภาพของทหารและข้าราชการ รวมทั้งองค์กรเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ว่า "บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ"

ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรานี้ เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพ ให้แก่ทหารที่จะสามารถมีสิทธิและเสรีภาพได้ในระดับหนึ่งที่ใกล้เคียงกับประชาชนโดยทั่วไป โดยจะถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ก็เฉพาะตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งการจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว จะต้องกระทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน และจะกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้ ซึ่งหลักการเหล่านี้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรทหารที่ถือว่าเป็นองค์กรลักษณะพิเศษให้จำต้องเคารพ และให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของทหารด้วย

การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหาร
แม้ว่าในความเป็นจริงประเทศไทย เราจะให้สัตยาบันต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว อีกทั้งยังมีกฎหมายหลักรองรับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก็ตาม แต่กฎระเบียบต่างๆที่ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหาร และยังคงบังคับใช้อยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าบางส่วนจะถูกวินิจฉัยจากศาล รัฐธรรมนูญไปแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เช่น สิทธิทางศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ตุลาการที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีได้ ตามที่เคยได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เป็นต้น ซี่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทหารที่ถูกจำกัดที่ว่านี้ก็คือ

1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทัณฑ์กัก ขัง หรือ
ทัณฑกรรมกับทหาร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งไม่มีในการลงโทษบุคคลผู้เป็นพลเรือนทั่วไป

2. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายในส่วนที่เกี่ยวกับการขังเดี่ยวในห้องมืด และการเฆี่ยนนักโทษทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือนจำทหาร พ.ศ.2479 ซึ่งก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

3. สิทธิทางศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามมิให้มีการอุทธรณ์ ฎีกาในคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498

4. สิทธิทางศาล ในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่สามารถเป็นผู้ฟ้องคดีในศาลทหารได้ด้วย
ตนเอง โดยต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นผู้ดำเนินคดีแทนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ

5. เสรีภาพในการรวมกันในส่วนที่เกี่ยวการห้ามเข้าเป็นสมาชิก ร่วมประชุม ฟังบรรยาย เผยแพร่กิจการของสมาคม หรือสโมสร องค์กรที่ไม่ใช่เป็นของราชการทหาร

6. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกทหารใหม่ที่ล่อแหลมต่อการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

7. สิทธิในการเดินทางในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน

8. สิทธิการในฟ้องคดีที่เกี่ยวกับวินัยทหาร ต่อศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (ข้อยกเว้นตามมาตรา 9 วรรคสอง(1))

9. สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่ทหาร ตาม
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 (ข้อยกเว้นตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง(7))

นอกจากนั้นยังมีข้อปลีกย่อยอีกมากมายเช่น สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางวิชาการซึ่งรวมทั้งการพูด การพิมพ์ ที่มีการจำกัดในบางกรณี เช่น การมีคำสั่งหรือข้อบังคับกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ให้พูดในเรื่องนอกหน้าที่ราชการของตน หรือการพูดหรือแสดงกริยาในลักษณะเป็นการไม่เคารพนายทหารเหนือตน หรือจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคี หรือห้ามพิมพ์และเผยแพร่สิ่งพิมพ์ที่จะเกิดผลทางลบต่อทหาร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหารดังกล่าวข้างต้นนั้น บางส่วนนอกจากจะเกินความจำเป็นแล้วยังขาดความชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบ เพื่อมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อที่ทหารที่มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่และโอกาสในการใช้อำนาจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา จะได้ไม่ต้องทำการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นการละเมิด "สิทธิมนุษยชนของผู้เป็นทหาร" ของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองอีกต่อไป


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




บทความ 2 ชิ้น เกี่ยวกับ"ศาสนากับสังคม" และเรื่องของ"สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับคนในเครื่องแบบ" เขียนโดยสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
"การเมือง คืออะไร" เราลืมไปแล้วหรือว่า การเมือง ในความหมายที่แท้จริงคือ งานที่ทำ เพื่อรับใช้ประชาชน ทำให้ประชาชนมีความสุข มีสันติ ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ผู้คนสามารถอยู่กันได้ ด้วยความปรองดอง ด้วยความรักสามัคคี การเมืองจึงเป็นภารกิจที่ศักดิ์สิทธ์ เพื่อรับใช้ผู้อื่น ปกป้องชุมชน จากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง ...อำนาจและผลประโยชน์ ที่เราเข้าใจกันนั้น นั้นเป็นเรื่องของนักการเมืองที่มีกิเลส ตัณหา ไปสร้างไว้ ทำให้การเมืองเต็มไปด้วยความโลภ การแก่งแย่งชิงดี การคอรัปชั่น ต้องการเอาชนะ
การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหาร
แม้ว่าในความเป็นจริงประเทศไทย เราจะให้สัตยาบันต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว อีกทั้งยังมีกฎหมายหลักรองรับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก็ตาม แต่กฎระเบียบต่างๆที่ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหาร และยังคงบังคับใช้อยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าบางส่วนจะถูกวินิจฉัยจากศาล รัฐธรรมนูญไปแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
มาตรา 64 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรองรับสิทธิและเสรีภาพของทหารและข้าราชการ รวมทั้งองค์กรเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ว่า "บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ"