มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอแสดงความยินดี ร่วมกับชาวบ้านกรูด และบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ / วันที่ 22 ตุลาคม 2544 / ความยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)
H
home

(1) บ้านกรูดคึกคัก พิธีมอบปริญญา'2 ดร.'
พลังต้าน โรงไฟฟ้า ลามทั่วประเทศ

2 ดอกเตอร์ต้านโรงไฟฟ้า'จินตนา แก้วขาว-เจริญ วัดอักษร' ขอมอบปริญญาหมาดๆให้กับชาวบ้านทุกคนที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง และการเอารัดเอาเปรียบของนายทุน หลัง'ส.ศิวรักษ์-นิธิ เอียวศรีวงศ์' ทำพิธีมอบดอกเตอร์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ให้2แกนนำต้านโรงไฟฟ้าประจวบฯ ท่ามกลางนักวิชาการ เอ็นจีโอ และชาวบ้านกว่า500คนริมทะเลบ้านกรูด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ต.ค. ที่เวทีบริเวณริมชายทะเลบ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง ได้จัดงานมอบปริญญาดุษฎีให้แก่นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก โดยมีตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มปัญหาต่างๆ อาทิ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ "ส.ศิวรักษ์" นักคิดนักเขียนชื่อดัง นายพิภพ ธงไชย ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายวีระ สมความคิด ฝ่ายกฎหมายเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน นายประกอบ หนำซก ตัวแทนชาวบ้านจากอ.จะนะ จ.สงขลา และชาวบ้านจากบ้านกรูดและบ่อนอกกว่า 500 คน

งานมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นด้วยการเสวนาหัวข้อ "นโยบายพลังงานกับผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น" โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย น.พ.ราษฎร์ ประดิษฐ์สถาวงษ์ ที่ปรึกษาชาวบ้าน นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ นายชัชวาล ปุญปัน อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายอนันต์ พงษ์พัฒนสกุล ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และนายประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายชัชวาล กล่าวว่า การทำหน้าที่ของชาวบ่อนอกและบ้านกรูดเป็นตัวอย่างแรกๆ ที่ต่อสู้กับกลุ่มทุน นโยบายด้านพลังงานนั้นมาจากลัทธิบริโภคนิยม ที่มีวิธีคิดแบบบริโภคดิน น้ำ ป่า วัฒนธรรม ที่ไม่สามารถสร้างได้จากโรงงาน โดยก่อนที่จะบริโภคนั้นได้ขโมยความหมายของสิ่งเหล่านี้ไป ทำให้กลายเป็นเพียงวัตถุทางเศรษฐกิจ ซึ่งลัทธิบริโภคนิยมนี้ตั้งอยู่บนฐานความกลัวที่จะหิว กลัวที่จะขาดแคลน ส่งผลให้มีวัฒนธรรมเรียกน้ำย่อยเกิดขึ้น คือการทำให้สังคมรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา รัฐผู้กำหนดนโยบายพูดเสมอว่าจำเป็นต้องมีพลังงานสำรอง ทั้งที่ไม่เป็นความจริงและไร้สาระมาก เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่พลังงานจะเพียงพอ ทำให้เราต้องอยู่ท่ามกลางความไม่มั่นคงตลอดเวลา โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งก็คือผลของวัฒนธรรมเรียกน้ำย่อย

ด้านนางภินันท์ กล่าวว่า การสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติผ่าน จ.กาญจนบุรี สร้างความแตกแยกให้กับชุมชนเป็นอันดับแรก และถึงทุกวันนี้กลุ่มที่เคยสนับสนุนท่อส่งก๊าซมาบอกกับตนว่าคิดผิดที่ไปสนับสนุนท่อส่งก๊าซ หลายอย่างที่เราทักท้วง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำลายป่าลุ่มน้ำชั้นหนึ่งเอ ช้างป่า หรือการเสียค่าปรับจากการก่อสร้างที่ล่าช้า แต่รัฐก็ไม่ฟัง กระทั่งจะต้องเสียป่าไปเป็นจำนวนมาก ช้างป่าตายไปหลายตัว และที่สำคัญรัฐจะต้องจ่ายค่าภาระที่จะต้องใช้หนี้ให้กับประเทศพม่า ตั้งแต่ปี 2541-2543 รวมแล้วเป็นเงิน 29,565 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้นั้นพม่านำไปซื้อเครื่องบินรบมิก 29 เอาไว้สู้กับประเทศไทย ตนคิดว่าประเทศไทยทำสัญญาอะไรกับใครขาดทุนมาตลอด แม้แต่โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้ก็เป็นสัญญาเอื้อประโยชน์แก่บุคคลไม่กี่คน แต่ประเทศชาติเสียหาย นักวิชาการบางกลุ่มก็เลว ตอนทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอก็บอกว่าดี แต่ทำเสร็จแล้ว ไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น กรณีท่อส่งก๊าซนั้น ในอีไอเอบอกว่าจะฝังท่อลอดใต้แม่น้ำ แต่เวลาสร้างจริงก็ไม่ได้ลอดใต้แม่น้ำตามที่อีไอเอระบุ แล้วเวลาที่เราประท้วงก็บอกว่าเราดูถูกความเป็นนักวิชาการ และตนอยากบอกพี่น้องชาวบ้านกรูดและบ่อนอกว่า ไม่ต้องไปขอโทษนักวิชาการที่ไม่ได้เรื่องเหล่านั้น

ส่วนนายอนันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านพูดมานาน 7 ปี ชาวบ้านและสังคมรู้เรื่อง แต่รัฐและนายทุนไม่รู้เรื่อง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ภาครัฐและนายทุนไม่ได้ให้ความสนใจ นโยบายด้านพลังงานที่ออกมานั้นออกมาจากใครเพื่อใคร ทำไมชาวบ้านจะต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ตนคิดว่านโยบายแท้จริงแล้วคืออุบายหรือกลยุทธ์ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากธุรกิจไฟฟ้า และถ่านหิน ทุกวันนี้ไฟฟ้าเหลือใช้ แต่รัฐก็ยังยึดอุบายที่เคยออกไว้ตั้งแต่ปี 2537 การเลือก จ.ประจวบฯ เพื่อที่จะตั้งโรงไฟฟ้าโดยอ้างว่ามีความเหมาะสมนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเหมาะสมจริงทำไมจะต้องขุดลอกทะเลเพื่อให้เรือเข้ามาจอดเทียบสะพานที่ยาวกว่า 4 ก.ม. ตนคิดว่าความเหมาะสมมาจากการที่กลุ่มนักธุรกิจเข้ามาซื้อที่ดินไว้ขายเพื่อเก็งกำไร แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีขายที่ดินไม่ได้ก็เลยผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อที่จะขายที่ดินได้ เมื่อนโยบายหรืออุบายบอกว่า จ.ประจวบฯ มีความเหมาะสม เลยทำให้อีไอเอออกมาต้องสอดคล้องกับความเหมาะสมที่ตั้งไว้ด้วย

ต่อมาเวลา 11.00 น. นายวัลลภ แม่นยำ นายกสภามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ่านคำประกาศเกียรติคุณ นางจินตนาและนายเจริญ จากนั้นนายสุลักษณ์ได้มอบปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตให้กับนางจินตนา และนายเจริญ จากนั้นนายอุทิศ อติมานะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ่านคำประกาศเกียรติคุณชุมชนบ่อนอก และบ้านกรูด จากนั้นนายสุลักษณ์มอบเกียรติบัตรชื่นชมตัวแทนชาวบ่อนอก และบ้านกรูด

ต่อมานายเซ็น หมัดเมาะ นายกสภามหาวิทยาลัย และนายสาลี มะประสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยลานหอยเสียบ อ.จะนะ จ.สงขลา มอบเกียรติบัตรให้แก่ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ่อนอก และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด โดยเกียรติบัตรดังกล่าวระบุว่า เพื่อแสดงว่าชาวบ้านทั้งสองกลุ่มคือสามัญชนจนตรอก (บอกว่าเราสู้ตาย) เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีสามัญสำนึกที่ดี มีหัวใจที่ยืนหยัดเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ เพื่อรักษามรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนไว้ให้ลูกหลาน โดยมิได้เกรงกลัวต่ออำนาจอธรรมใดๆ

จากนั้นนายสุลักษณ์ กล่าวสุนทรกถา ว่า การมอบดุษฎีบัณฑิตในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาความรู้สั่งสอนและขยายความรู้ ให้แพร่หลาย เพิ่มความรู้ที่ได้จะเป็นองค์รวมให้เข้าถึงความจริง และนำไปสู่ความดีที่จะต่อสู้กับความชั่ว มหาวิทยาลัยในระบบทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าใจว่าเป้าหมายเดิมก็เหมือนกัน แต่แสวงหาความรู้เป็นเสี่ยงๆ จึงไม่สามารถหาความจริงได้ จึงปรากฏว่ามีนักวิชาการขายตัวเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าความรู้ที่ถูกล้างสมอง เช่น เชื่อว่าการพัฒนาเป็นของดีโดยมองไม่เห็นว่าส่งผลกระทบหรือธรรมชาติอย่างไร ความรู้ที่เป็นองค์รวมสามารถเรียนรู้ได้จากของจริง จากธรรมชาติ หากมหาวิทยาลัยจะหาความจริงจะต้องมาหาจากชาวบ้านที่กำลังมีความทุกข์ ซึ่งเดิมอาจจะสุขอยู่แล้วแต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าอัปรีย์จัญไรความทุกข์ก็มีมากขึ้น

ส.ศิวรักษ์ กล่าวต่อว่า ดอกเตอร์ใหม่ทั้ง 2 ท่าน จะไม่เหมือนดอกเตอร์ที่เป็นด๊อกตีนทั้งหลาย เพราะดอกเตอร์ใหม่ไม่ได้รับปริญญาด้วยความยิ่งใหญ่ของตัวเอง แต่รับเพื่อเป็นตัวแทนชุมชน และหากชุมชนมีความสามัคคีทั้งที่นี่และที่อื่นๆ อิสรภาพของบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้น เพราะสภาพของบ้านเมืองอยู่ที่ชุมชนทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ที่พรรคไทยรักไทย หรือบริษัท ชินวัตร สิ่งที่ชาวบ้านทำอยู่ในขณะนี้ถูกต้องแล้ว ข้อมูลที่ชาวบ้านเผยแพร่เป็นสิ่งประเสริฐที่นักวิชาการขายตัวทั้งหลายทำไม่ได้ เพราะเขาเห็นแก่ตัว ตนคิดว่าชาวบ้านจะต้องต่อสู้โดยไม่เห็นแก่ตัวเพื่อลูกหลานต่อไป ซึ่งเราจะได้รับชัยชนะและเมื่อนั้นประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

จากนั้นนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ พร้อมด้วยคณบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แถลงภายหลังมอบปริญญาให้กับนางจินตนา แก้วขาว และนายเจริญ วัดอักษร ว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต้องแถลงข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงความรุนแรงก็มักจะยกเอาความรุนแรงเฉพาะกรณีขึ้นมาพูด มากกว่าที่จะไปมองความรุนแรงทั้งระบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่อยากจะให้สังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในโครงสร้างของความรุนแรงด้วย ไม่ใช่เฉพาะกรณีที่นำขึ้นมาประณามอย่างเดียว โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก และบ้านกรูด จริงๆ แล้วจะเห็นโครงสร้างความรุนแรงที่เกิดขึ้นหนาแน่นมาก เช่น ในเรื่องที่รัฐร่วมกับกลุ่มทุนโดยไม่พิจารณาผลประโยชน์ของชาวบ้านเลย ตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่ปรึกษาชาวบ้าน เพราะฉะนั้น จึงเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง โดยการผลักภาระของการลงทุนจำนวนมากให้ชาวบ้านเป็นผู้จ่าย ซึ่งตัวของมันเองก็เป็นความรุนแรงแล้ว ถึงแม้ยังไม่มีใครต่อยใครเลย ก็รุนแรง

นายนิธิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีตอนที่ตัดสินใจจะให้สร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเท่ากับบอกว่าชาวบ้านสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้โดยอาศัยพึ่งพาโรงไฟฟ้า ไม่ได้ให้โอกาสชาวบ้านตัวเล็กๆ พัฒนาตัวเองด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ทำอย่างไรที่จะทำให้มีชีวิต มีอาหารที่มั่นคง ทำประมงต่อไปได้ แต่กลายเป็นว่าถ้าเป็นความประสงค์คนใหญ่คนโตแล้ว คนเล็กคนน้อยจะต้องคล้อยตามด้วย ถือเป็นความรุนแรงทางโครงสร้างที่ตั้งอยู่บนฐานของความอยุติธรรมนั่นเอง ที่ไหนมีความอยุติธรรมที่นั่นก็มีความรุนแรงจากโครงสร้าง หากเราไม่เข้าใจความรุนแรงในโครงสร้างเช่นนี้ ไปมองแต่เฉพาะความรุนแรงแต่เฉพาะกรณีก็จะไม่มีความเข้าใจความรุนแรง และไม่มีวันจัดการความรุนแรงได้เลย

"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงอยากแถลงกับสังคม ไม่ใช่กับนักการเมือง ให้สังคมให้ความสนใจความรุนแรงทางโครงสร้างให้มาก อย่าสนใจแต่เพียงว่ามีใครต่อยใครที่ไหน ซึ่งถือเป็นเรื่องเล็ก แต่ความอยุติธรรมที่มีมากในสังคมไทยเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรง และหากมีชีวิตอยู่ในโครงสร้างความรุนแรงแบบนี้ ยากมากที่จะหลีกเลี่ยงจากการใช้ความรุนแรงได้" นักวิชาการเพื่อชาวบ้าน กล่าว และว่า ถ้ามองเปรียบเทียบแล้วชาวบ้านกรูดและบ่อนอกใช้ความรุนแรงบ้างเหมือนกัน แต่หากเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าน้อยมากในการที่คนอยู่ท่ามกลาง ความรุนแรงจากโครงสร้างใช้ความรุนแรงเพียงแค่นี้ เราอยากจะสรรเสริญความอดทนของชาวบ้านด้วยซ้ำ ไม่ใช่เราเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่ต้องกลับมาคิดว่าความรุนแรงนั้นมาจากไหน และคำตอบก็คือความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างที่ไม่มีความยุติธรรม ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องสังคมว่า เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ ต้องมาช่วยกันในการจัดการให้สังคมของเราเป็นสังคมที่มีความยุติธรรม

ต่อมาเวลา 13.00 น. เป็นการอภิปรายเรื่อง "หากไม่มีโรงไฟฟ้า บ้านกรูดบ่อนอกจะอยู่อย่างไร" โดยมีผู้ร่วมอภิปราบได้แก่ นายประกอบ หลำซก ตัวแทนชาวจะนะ จ.สงขลา น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด นายฉอย ตันติวรธรรม กำนันตำบลบ่อนอก นายจีรวุธ แจวสกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านกรูด

น.ส.วนิดา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านบ่อนอกบ้านกรูดได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น เพราะชาวบ้านนำข้อเท็จจริงที่ถูกปกปิดมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ ด้วยความอดทนและตั้งใจ โครงการโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งทำให้ชุมชนทั้งสองแห่งเกิดความแตกแยก หวั่นวิตกในสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงไฟฟ้า เพราะข้อเท็จจริงถูกปิดบัง ทำให้ชาวบ้านต้องศึกษาเรียนรู้ ทั้งด้วยตนเองและจากผู้รู้ต่างๆ เพื่อนำมาสู้ข้อมูลที่แท้จริง ตนคิดว่าหากไม่มีโรงไฟฟ้านั้นชาวบ้านก็อยู่กันตามปกติ เป็นชาวประมง เป็นชาวสวนชาวไร่หรือเป็นพ่อค้าผลิตผลจากการประมงหรือเกษตรต่อไป เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่ขณะนี้ แต่หากมีโรงไฟฟ้าชาวบ้านไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร ท้องทะเลจะอุดมสมบูรณ์เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้หรือไม่ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร นี่คือปัญหาที่จะตามมา แต่ความสมบูรณ์ที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถจับต้องได้ เป็นหลักประกันให้กับชีวิตได้

จากนั้นนายนิธิ ให้สัมภาษณ์ว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเกิดจากคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอก ที่มองเห็นปัญหาของระบบอุดมศึกษาของโลกในเวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว จึงคิดว่าจะพยายามสร้างทางเลือกในระดับอุดมศึกษาอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะเหมาะสมกับโลกปัจจุบันมากกว่า โดยมีทางเลือกที่ไม่สนใจว่าผู้ที่เข้าเรียนกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือชั้นมัธยมมาหรือไม่

"ที่ผ่านมาทบวงมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนิยามว่า อุดมศึกษาเป็นการศึกษาที่ต่อจากมัธยมปลาย ซึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าอุดมศึกษานั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตคนไม่ว่าจะจบป.4 หรือไม่ได้เรียนหนังสือเลยก็ได้ เพราะอุดมศึกษาคือความพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง โดยการเชื่อมโยงความรู้จากแขนงต่างๆ มาแก้ปัญหาซึ่งมนุษย์เราได้ทำตามปกติอยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีมหาวิทยาลัยที่ช่วยส่งเสริมความสามารถให้มากขึ้น ถือเป็นทางเลือกทางหนึ่ง" นักวิชาการปราชญ์ชาวบ้านกล่าว

นายนิธิกล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีการสอนเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป เมื่อถึงเวลาอยากเรียนก็ได้เรียน แต่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องเรียนกี่ชั่วโมง ซึ่งการเรียนรู้นั้นอยู่ที่ความสนใจของเขาว่าจะเรียนรู้อะไร ไม่ใช่เรียนรู้เพื่ออยากได้ปริญญา สำหรับการมอบปริญญาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยมอบให้กับนางจินตนา แก้วขาว และนายเจริญ วัดอักษร และเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งมหาวิทยาลัยมากว่า 5 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีนโยบายให้กับใคร เนื่องจากผู้ที่มาเรียนก็ไม่ได้ต้องการเอาปริญญา และนโยบายให้ปริญญาในครั้งนี้นั้นก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามีความรู้ และใช้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะเป็นบรรทัดฐานในการให้ปริญญา เพราะผู้ที่ได้รับปริญญามีขบวนการเรียนรู้ให้กับตัวเอง และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การมอบปริญญาครั้งนี้เพื่อสร้างภาพในการต่อต้านโรงไฟฟ้าหรือไม่ นายนิธิกล่าวว่า ไม่อยากจะเถียง หรือปฏิเสธ แต่ที่ให้วัตถุประสงค์ก็คือเชื่อว่าทั้ง 2 คน มีความรู้จริง และมีการใช้ประโยชน์เพื่อมวลมนุษยชาติจริง ส่วนที่ตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นอยู่ที่ซอยวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจที่ตั้งเนื่องจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นขบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ดังนั้น มันควรอยู่ในความคิดของทุกคนที่มีขบวนการเรียนรู้

ทางด้านนางจินตนากล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับเกียรติจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ปริญญาที่ได้รับในครั้งนี้เป็นของคนประจวบคีรีขันธ์ทั้งหมด เพราะการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านกรูด หรือบ่อนอกเท่านั้น แต่เป็นของคนประจวบฯ ทั้งหมดที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไม่เอาโรงไฟฟ้า ตนเป็นเพียงสื่อกลางของชาวบ้านที่จะบอกว่าชาวบ้านมีภูมิปัญญาท้องถิ่นอะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นความรู้ที่รู้มาตั้งแต่เด็ก วันนี้สังคมมองว่านโยบายรัฐได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และยอมรับว่า การดำเนินการของชาวบ้านเป็นแนวทางที่ถูกต้อง รัฐบาลจะต้องมองจุดนี้ด้วยว่าเมื่อชาวบ้านถูก รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความพยายามดึงความเป็นธรรมมาให้ประชาชนที่เรียกร้องต่อสู้กับสิ่งที่จะเกิดกับเขา

"อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ชาวบ้านจะต่อสู้ต่อไปเพื่อให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ดิฉันยืนยันว่าพวกเราจะทำทุกวิถีทาง เพื่อจะไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า" นางจินตนากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลยกเลิกโครงการต้องเสียค่าปรับให้เอกชน นางจินตนากล่าวว่า ตนมองว่ารัฐบาลคงไม่โง่ที่จะต้องเสียค่าปรับ ทั้งที่จริงๆ แล้วรัฐบาลน่าจะได้ค่าปรับจากโรงไฟฟ้า เนื่องจากที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอปลอม ไปหลอกต้มรัฐบาล แล้วบอกให้รัฐบาลออกใบอนุญาต ดังนั้น รัฐบาลต้องอาศัยเงื่อนไขดังกล่าวยกเลิกโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งเป็นทางออกที่รัฐบาลไม่ต้องเสียค่าปรับ ในเมื่อเป็นเท็จมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถทำอีไอเอออกมาให้สมบูรณ์ได้ ก็ถือว่าโรงไฟฟ้าสร้างไม่ได้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมักไปต่อสัญญาให้เอกชนอยู่บ่อยครั้ง โดยมีเงื่อนไขในการชดเชยให้ตลอด ล่าสุดชดเชยให้โรงไฟฟ้าหินกรูดอีกประมาณ 3 พันล้านบาท เมื่อชาวบ้านถามถึงเหตุผล ก็ได้รับคำตอบว่าเนื่องจากโรงไฟฟ้าชะลอการก่อสร้างออกไป และยังอ้างว่าเพราะชาวบ้านร้องเรียนถึงความไม่ถูกต้องสมบูรณ์ของอีไอเอ จึงต้องจ่ายค่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับบริษัท ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก

แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้า กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องมานานก็คือการทุจริตในที่ดินสาธารณะ หากรัฐบาลจริงใจ ขอให้ตรวจสอบด้วย ที่ผ่านมายื่นหลักฐานให้กับนายสมบัติ อุทัยสาง รมช.มหาดไทย เพื่อให้ตรวจสอบแล้ว เนื่องจากโรงไฟฟ้ามาตั้งอยู่กลางพื้นที่สาธารณะ และยังมีปัญหาในเรื่องของสัญญาระหว่างบริษัทกับกฟผ. ว่ามีเงื่อนไขสัญญาอย่างไร ทุกวันนี้ชาวบ้านได้เรียกสัญญานี้ว่าสัญญาทาส เพราะชาวบ้านเรียกร้องกันมานานแต่ก็ยังไม่ยอมเปิดเผย

ส่วนนายเจริญ วัดอักษร กล่าวว่า ปริญญาที่ได้รับทำให้มีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร และจะร่วมเป็นกำลังใจในการต่อสู้ของภาคประชาชน ดีใจที่ยังมีนักวิชาการน้ำดีอยู่กับประชาชน ไม่เป็นทาสของใคร ซึ่งทุกวันนี้มีมากในเมืองไทย ต่อไปจะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลกับชาวบ้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เป็นบรรทัดฐานของมหาวิทยาลัย และจะร่วมกับชุมชนอื่นๆ สร้างความเข้มแข็ง ที่ผ่านมาไปปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมานานหลายปีแล้ว จนถึงปัจจุบันก็ประสานงานกันมาตลอด ซึ่งในยุคของโลกาภิวัตน์ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลก็สามารถปรึกษาหรือเรียนรู้กันได้ ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านกรูดกับบ่อนอกเท่านั้น ที่อื่นๆก็ได้รับความร่วมมือในการศึกษาด้านข้อมูลเช่นกัน

ตัดจากข่าวสด ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2544

(2) 'นิธิ'นำทีมมอบ ปริญญา2นักสู้ ต้านโรงไฟฟ้า

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมอบปริญญาบัตร 2 แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าประจวบฯ เชิดชูเป็นผู้มีความรู้จริงในสังคม แล้วนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ 'นิธิ' ประณามการใช้ความรุนแรง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ตุลาคม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดยนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านกรูด และนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ่อนอก สองแกนนำชาวบ้านผู้ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบ้านหินกรูดและบ่อนอก โดยทำพิธีกันที่ชายหาด บ้านหินกรูด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชาวบ้านมาร่วมพิธีประมาณ 300 คน

ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้นนายอุทิศ อติมานะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวนำว่า บุคคลทั้งสองได้สั่งสมความรู้เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน ทั้งเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย จิตวิทยามวลชน และความรู้ที่จำเป็นด้านอื่นๆ ได้ร่วมกับประชาชนสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของประชาชนในท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ และนักวิชาการในสถาบันการศึกษาอื่นๆ อย่างกว้างขวาง บุคคลทั้งสองมีลักษณะสำคัญซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต้องมอบปริญญาบัตรให้ก็คือ มีการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียนรู้อยู่เสมอ

อาจกล่าวได้ว่า การต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของสองชุมชน ทำให้ชุมชนไทยเป็นชุมชนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและข้อจำกัดของชุมชนของตนเองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เช่น ดูดซับความรู้จากนักวิชาการอิสระ ที่เข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับปลาในท้องถิ่น ร่วมฟื้นฟูความรู้เดิมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต ทำให้ชาวประมงบ้านกรูดและบ่อนอกมีความรู้เกี่ยวกับปลาอย่างหลากหลาย หรือร่วมกันสำรวจพบทรัพยากรที่สำคัญเช่น ปะการังและแหล่งอาหารของปลาวาฬ ฯลฯ

"จึงกล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนในสองชุมชนนี้ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง สภามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า ควรยกย่องบุคคลทั้งสองไว้ให้เป็นแบบอย่างของผู้มีความรู้จริงในสังคมไทย จึงมีมติเอกฉันท์ให้ประกาศเกียรติคุณแก่ทั้งสองคน ด้วยหวังว่าจะเป็นแบบอย่างให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ รู้จักยกย่องบุคคลอันควรแก่การยกย่อง ทั้งการธำรงและพัฒนาความรู้ของสังคมและวิถีการใช้ความรู้นั้นว่า ต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของสังคมและมนุษยชาติ" นายอุทิศกล่าว

จากนั้น นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนก็ได้เป็นผู้มอบปริญญาซึ่งเป็นประกาศนียบัตรให้แก่บุคคลทั้งสองคน ซึ่งสวมเสื้อยืดคอกลมสีเขียวสัญลักษณ์การต่อต้านโรงไฟฟ้าไปรับมอบประกาศนียบัตร

ต่อมานายนิธิแถลงถึงเรื่องความรุนแรงของการต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกและบ้านกรูดว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่การประกาศต่อต้านความรุนแรงเฉยๆ ย่อมไม่อาจยุติความรุนแรงได้ สังคมต้องเข้าใจโครงสร้างความรุนแรงทั้งระบบมากกว่าจะหยิบเอาอุบัติการณ์แต่ละครั้งมาประณาม รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาตัดสินอนุมัติให้บริษัทต่างชาติสร้างโรงไฟฟ้า เพียงเพราะเห็นว่าทำเลเหมาะสม เป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลทางธุรกิจเป็นสำคัญไม่ได้พิจารณาว่า วิถีชีวิตชาวบ้านจะเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นความรุนแรงทางโครงสร้างที่ครอบงำชาวบ้าน ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ จึงยากที่จะเลี่ยงความรุนแรงได้

"การตัดสินใจของ กพช.(คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ) ที่จะกระจายแหล่งเชื้อเพลิงของการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ก็เป็นการตัดสินโดยพิจารณาถึงทางเลือกอื่นๆ น้อยมาก ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครได้เห็นการศึกษาของ กพช.อย่างละเอียดว่า ได้ประเมินแหล่งพลังงานอื่นๆ รวมทั้งพลังงานทางเลือกไว้อย่างไร ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ ความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ล้วนไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการ การตัดสินใจนโยบายสาธารณะลักษณะนี้ก็เป็นความรุนแรงทางโครงสร้างเช่นกัน ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับบริษัทเอกชนบานปลายออกไปทุกที โดยไม่มีใครหาทางระงับความขัดแย้งไม่ให้ไปสู่ความรุนแรงได้ แม้แต่เวทีจัดประชาพิจารณ์ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชนในท้องถิ่น ผู้รับผิดชอบก็ปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปโดยไม่ทำให้ทุกอย่างขาวสะอาด นี่ก็เป็นความรุนแรงทางโครงสร้างซึ่งทำให้ยากที่จะเลี่ยงการใช้กำลังปะทะกันได้ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เผชิญความรุนแรงมาหลายรูปแบบ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นกรณี เช่น ชาวบ้านบ่อนอกทำร้ายเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านั้นเป็นเพียงส่วนย่อยส่วนเดียวของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ขอให้สังคมไทยสร้างความเข้าใจให้กระจ่าง" นายนิธิกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากมอบปริญญาแก่ 2 ผู้นำต่อต้านโรงไฟฟ้าแล้ว มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังมอบทุนสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มละ 10,000 บาท ด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ โดยนายเซ็น หมัดเมาะ นายกสภามหาวิทยาลัย ก็ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่ตัวแทนของชาวบ้านทั้งสองแห่งเช่นกัน หลังจากนั้นเป็นการจัดอภิปรายหัวข้อนโยบายพลังงานกับผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น

ขณะที่นายสุรเกตุ เพ็ชรศรี ผู้จัดการสำนักงานโรงไฟฟ้าบ่อนอก ให้สัมภาษณ์ว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน เพราะเท่าที่ตรวจสอบดูแล้วไม่พบว่ามีชื่ออยู่ในสารบบของมหาวิทยาลัย โดยปกติแล้วมหาวิทยาลัยในเมืองไทยจะต้องตั้งโดยผ่าน พ.ร.บ.จัดตั้งมหาวิทยาลัยของภาครัฐบาล และการที่จะจัดตั้งขึ้นได้ จะต้องผ่านขั้นตอนตามหลักกฎหมายและรัฐสภา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของประเทศไทยก็จะมีหลักการและอุดมการณ์ที่ดี น่าเชื่อถือในการมอบปริญญาให้กับผู้ใด โดยจะต้องผ่านคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย

"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่มอบปริญญาให้กับแกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าที่นิยมความรุนแรง จนต้องประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ เชื่อว่าสังคมไทยจะเป็นผู้ตัดสินใจและวินิจฉัยความผิดความถูกของบุคคลดังกล่าวเอง ไม่อยากให้สังคมไทยถูกพวกมากลากไป หรือถูกกำหนดระเบียบโดยกลุ่มบุคคลที่ไร้กติกา แต่เป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนรวม" นายสุรเกตุกล่าว

ตัดจาก มติชน ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2544

 

(3) The locals also know a thing or two
Sanitsuda Ekachai

[บทแปลข้อความข้างล่างนี้ ให้ดูที่หัวข้อ (4)]

The symbolic presentation on Monday of honorary doctorates to two grass-roots leaders from Prachuap Khiri Khan strikes at the heart of inequality and exploitation in our society _ the monopoly over knowledge held by the rich and powerful.

The ceremony contradicts the conventional understanding of knowledge, its source and purpose. We normally look at academia as the sole source of knowledge, but the Midnight University, which honoured the two fighters, is not even a formal educational institution. It is a non-profit organisation of progressive educators who believe self-learning and social services are the aim of education, not degrees and individual self-interest.

The ``degree'' recipients, Mrs Jintana Gaewkhao and Jaroen Wataksorn, are fighting the building of power plants in Ban Krud and Bo Nok. They also don't fit the image of the learned.

What they know about their home towns' marine ecology did not come from formal scientific training but from direct experience and community knowledge passed down through the generations.

When their communities' livelihoods were threatened by power plants, these two ordinary villagers with only a high school education decided to study the complicated power plant contracts and all related laws so the villagers could not be talked down _ or cheated. They also sought advice from experts to confirm the locals' knowledge of the coastal seas.

While our education system teaches us that knowledge serves personal success, Mrs Jintana and Mr Jaroen receive death threats for using their new knowledge to protect their communities.

Their struggle epitomises the dynamism of people's organisations _ the struggle to get the homegrown knowledge system recognised while drawing on formal academic studies to empower local communities.

Few realise the importance of due respect for traditional knowledge. And that knowledge is indeed power. 000000000 Unfortunately, we see academia as the sole centre of knowledge and science as the only answer, and we look down on villagers and rob them of power.

Knowledge has been monopolised by academia _ and business. And when villagers confront big business, academia _ awash in its belief in science and development _ becomes business's tool in exploiting natural resources at the cost of locals' livelihoods. That's why universities are instrumental in aggravating exploitation.

The monopoly over knowledge does not only help the powerful to exploit small people at home, it also subjects Thailand to exploitation by more technologically advanced countries.

While Thai elites dismiss village knowledge as unscientific, rich countries dismiss poor countries' local knowledge of biodiversity as open to all.

Consequently, Thai farmers' knowledge of the medicinal and other special qualities of local plants _ such as the fragrance of jasmine rice _ which has been developed through trial and error over centuries is up for grabs.

By defining knowledge as something backed by sophisticated scientific research, international trade rules allow the biotech industries of rich countries to harvest the experience of poor countries and claim ownership over it through patents.

Talk about theft by legal means.

Exploitation on the home and international fronts can never be solved if we do not question who defines what is knowledge, who benefits from this definition and who controls it. Unless we respect local knowledge, we cannot offset the power relations between rich and poor. Unless we use knowledge to help small people, we end up part of the system that steals from the weak.

Mrs Jintana and Mr Jaroen have shown the way. Now it's up to us whether to follow them.

- Sanitsuda Ekachai is Assistant Editor, Bangkok Post.sanitsuda
COMMENTARY

ตัดมาจาก Bankokpost ฉบับวันที่ 25 ตค.44 / น.26
ที่มาของข้อมูล http://www.bangkokpost.com/251001_News/25Oct2001_opin26.html

(4) The locals also know a thing or two
Sanitsuda Ekachai
[สมเกียรติ ตั้งนโม : แปล]

การนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้กับผู้นำระดับรากหญ้าจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เป็นการโจมตีเข้าไปยังหัวใจของความไม่เสมอภาคและการตักตวงผลประโยชน์ในสังคมของพวกเรา นั่นคือ การผูกขาดความรู้เอาไว้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งยึดครองเอาไว้โดยกลุ่มคนรวยและกลุ่มคนที่ทรงอำนาจ

พิธีการดังกล่าวค่อนข้างจะขัดแย้งกับความเข้าใจตามธรรมเนียมเกี่ยวกับความรู้ของพวกเรา, ทั้งแหล่งที่มาและวัตถุประสงค์ของมัน. ปกติแล้ว พวกเราจะมองวงวิชาการในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของความรู้เพียงแห่งเดียว, แต่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ซึ่งได้ให้เกียรติกับสองนักสู้ มิใช่เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นทางการอย่างที่เข้าใจกัน. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรของบรรดานักการศึกษาแนวก้าวหน้า ซึ่งเชื่อว่า "การเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการรับใช้สังคม" คือเป้าหมายหลักของการศึกษา, ไม่ใช่ปริญญาและผลประโยชน์ส่วนตัวของคนแต่ละคน

ผู้ได้รับปริญญาทั้งสอง, คุณจินตนา แก้วขาว และคุณเจริญ วัดอักษร, คือคนที่กำลังต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูดและบ่อนอก. ทั้งคู่ดูแล้วไม่เหมาะสมกับภาพลักษณ์ของผู้คงแก่เรียนแต่ประการใด

สิ่งที่เขาทั้งสองล่วงรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางทะเลในท้องถิ่นของพวกเขา ไม่ได้มาจากการฝึกฝนทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่มันมาจากประสบการณ์ตรงและความรู้ของชุมชนที่ผ่านจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

เมื่อการดำรงชีวิตในชุมชนของพวกเขาถูกคุกคามโดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน, ชาวบ้านธรรมดาทั้งสองคนนี้ซึ่งมีความรู้เพียงแค่มัธยมปลายได้ตัดสินใจที่จะทำการศึกษาข้อสัญญาต่างๆของโรงไฟฟ้าที่สลับซับซ้อน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งคนในหมู่บ้านดังกล่าวไม่เคยได้รับการบอกเล่าให้รู้เรื่องเลย หรือที่จริงถูกฉ้อฉล. พวกเขายังแสวงหาคำปรึกษาจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเพื่อยืนยันถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับความรู้ชายฝั่งทะเล

ขณะที่ระบบการศึกษาของบ้านเราสอนพวกเราว่า ความรู้เป็นสิ่งที่จะมารับใช้ความสำเร็จส่วนตัว คุณจินตนาและคุณเจริญกลับถูกคุกคามเอาชีวิตสำหรับการใช้ความรู้ใหม่ของพวกเขาเพื่อปกป้องชุมชนต่างๆของตนเอง

ไม่มากคนนักที่สำนึกถึงความสำคัญอันนี้เกี่ยวกับการเคารพในความรู้ตามขนบประเพณีอย่างเหมาะสม. และความรู้อันนั้น ที่จริงแล้ว คืออำนาจ

โชคไม่ดีที่พวกเรามองวงวิชาการในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของความรู้เพียงลำพัง และวิทยาศาสตร์คือคำตอบเพียงประการเดียว นอกจากนี้พวกเรายังดูถูกชาวบ้าน และปล้นชิงอำนาจของพวกเขาไปด้วย

ความรู้ได้ถูกผูกขาดโดยวงวิชาการ และธุรกิจ. และเมื่อชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับธุรกิจขนาดใหญ่, นักวิชาการ ซึ่งจ่อมจมอยู่กับความเชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์และการพัฒนา กลับกลายเป็นเครื่องมือของธุรกิจในการตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของท้องถิ่น. นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมมหาวิทยาลัยต่างๆจึงเป็นอุปกรณ์ในการตักตวงผลประโยชน์ที่เลวร้ายและรุนแรงที่สุด

การผูกขาดเหนือความรู้ไม่เพียงช่วยให้มีพลังอำนาจที่จะตักตวงผลประโยชน์จากคนเล็กคนน้อยในบ้านเมืองเราเท่านั้น แต่มันยังควบคุมประเทศไทยให้ตกอยู่ภายใต้การตักตวงผลประโยชน์โดยประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เหนือกว่าด้วย

ในขณะที่ชนชั้นหัวกระทิไม่ได้ให้ความสนใจต่อความรู้ของชาวบ้าน ในฐานะที่มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์, ประเทศที่ร่ำรวยต่างๆก็ไม่สนใจใยดีต่อความรู้ท้องถิ่นของประเทศที่ยากจนทั้งหลายเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในฐานะที่มันเปิดกว้างต่อทุกๆคน

ผลที่ตามมา, ความรู้ของชาวนาไทยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางยา และคุณสมบัติพิเศษอื่นๆเกี่ยวกับพืชท้องถิ่น อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยผ่านการลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานานนับศตวรรษ ก็ถูกฉกฉวยเอาไป

โดยการนิยามความรู้ในฐานะที่เป็นบางสิ่งที่ได้รับการหนุนหลังโดยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ช่ำชอง กฎกเณฑ์ทางการค้าสากลยอมให้อุตสาหกรรมไบโอเทคของประเทศที่ร่ำรวยต่างๆมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของประเทศยากจนทั้งหลายได้ และอ้างความเป็นเจ้าของเหนือมันโดยผ่านกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งพูดไปแล้วมันเป็นการขโมยโดยวิธีการทางกฎหมายนั่นเอง

การตักตวงผลประโยชน์จากชาวบ้านและการเผชิญหน้ากันของนานาประเทศไม่อาจที่จะแก้ปัญหาลงไปได้ หากว่าพวกเราไม่ตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนที่นิยามว่า อะไรคือความรู้, ใครได้รับผลประโยชน์จากการนิยามอันนี้, และใครเป็นผู้คบคุมมัน. เว้นแต่พวกเราจะเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่น, ถ้าไม่เช่นนั้นเราไม่สามารถที่จะถ่วงดุลความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนรวยและคนจนได้. เว้นแต่เราได้ใช้ความรู้เพื่อช่วยเหลือคนเล็กคนน้อยเท่านั้น เราจึงจะยุติระบบอันฉ้อฉลที่ได้ขโมยบางสิ่งจากความอ่อนแอลงไปได้

คุณจินตนา แก้วขาว และคุณเจริญ วัดอักษร ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีทางอันนั้น. และตอนนี้มันเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะทำเช่นนั้น หรือไม่ก็ตามมันไป

 

(5) บัณฑิตมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ขณะที่นักการศึกษานับร้อย กำลังขะมักเขม้นออกแบบ และผลักดันการปฏิรูปการศึกษา อยู่ในกรุงเทพฯ นักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ ว่าเป็นกลุ่มก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งในนาม 'มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน' ได้ท้าทายสังคม อีกครั้งด้วยการมอบปริญญา ดุษฎีบัณฑิตแก่ชาวบ้านธรรมดาสองคน ซึ่งเป็นแกนนำ กลุ่มคัดค้านโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินสองแห่ง ในประจวบคีรีขันธ์ พวกเขาต้องการสื่ออะไรให้สังคมไทย สัตยา พงศาสุมิตร รายงาน

มหาวิทยาลัยเถื่อน คือชื่อที่หลายคนเรียก 'มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน' ซึ่งลำพังแค่ชื่อก็สร้างความฉงนให้กับหลายคนพอสมควร ทำไมต้องเที่ยงคืน ใครเป็นคนตั้ง มหาวิทยาลัยตั้งที่ไหน แน่นอนหลายคนหัวเราะเยาะกับการลุกขึ้นมาท้าทายสังคมเช่นนี้

แต่เมื่อได้รู้ว่าผู้ก่อตั้งเจ้าของความคิดนี้ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นภารโรง) คือ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์เจ้าความคิดและนักวิจารณ์สังคมฝีปากกล้า ก็ทำให้หลายคนก็มิกล้าสบประมาทการกระทำที่น่าประหลาดใจนี้ และหันมาสดับตรับฟังเหตุผลของการออกมาตั้งมหาวิทยาลัยนอกระบบนี้แทน

แน่นอนหลายคนยังคงจับตามองทำนองว่าจะไปได้สักกี่น้ำ

"เราต้องการยั่วสังคมให้ตั้งคำถามต่อการศึกษาในระบบ ซึ่งบกพร่องในการทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง แต่กลับไปเน้นการท่องจำและการเรียนรู้เป็นส่วนๆ มากกว่า อีกอย่างการเรียนรู้มันต้องเป็นไปเพื่อการใช้ชีวิต สอดคล้องไปด้วยกัน ที่เป็นเที่ยงคืนก็อยากให้มันเป็นสัญลักษณ์ หนึ่งคือให้รู้ว่าไม่ใช่มหาวิทยาลัยในระบบทั่วๆ ไป สองอยากสื่อว่าในความมืด การเรียนรู้ต้องใช้จินตนาการมาก ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญสำหรับการเรียนรู้" ศ.นิธิอธิบายตอนประกาศตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อสามปีก่อน

"ตอนแรกชื่อ 'มหาวิทยาลัยหมูจุ่ม' เพราะความคิดตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกมาจากวงพูดคุยกันตอนกินหมูจุ่มด้วยกัน เราเห็นตรงกันว่า การเรียนรู้ต้องเป็นไปอย่างมีความสุขด้วยนะ ไม่ใช่การบังคับฝืนใจเรียน" สุชาดา จักรพิสุทธ์ อดีตคนทำหนังสือที่หันไปตั้งรกรากที่เชียงใหม่ และเข้าร่วมเป็นกลุ่มแกนก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเล่าย้อนความหลัง

"อาจารย์นิธิพูดเสมอ ว่าการตั้งคำถามเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ที่แท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต และเราต้องเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือนี้ให้ถูกต้องด้วย" สุชาดาอธิบาย

ช่วงแรกยังไม่มีที่ตั้ง ห้องเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเป็นลานใต้ต้นไม้บริเวณหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ซึ่ง 10 ใน 12 นักวิชาการกลุ่มแกนทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ นับเป็นห้องเรียนในอุดมคติทีเดียว นับแต่การไม่ให้ความสำคัญกับสถานที่ เปิดรับนักศึกษาทุกเพศทุกวัย ไม่จำเป็นต้องจบวุฒิการศึกษาใดมาก่อน ไม่เสียสตางค์ และไม่มีการกำหนดบทบาทในห้องเรียน ใครสนใจใคร่ถาม ใคร่ตอบต่อประเด็นในวิชาเรียนย่อมทำได้ทั้งสิ้น ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนในขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีผู้มีจิตศรัทธาให้ยืมสถานที่สร้างวิทยาเขตวัดอุโมงค์ขึ้นมา

นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงมีตั้งแต่คนปะจักรยานยันดอกเตอร์ ขึ้นกับคอร์สที่เปิดสอน วิชาที่เรียนก็ไล่ตั้งแต่เรื่องทั่วไปเช่นวิชาว่าด้วยความสุข 101 ยันหัวข้อเฉพาะ เช่น ภิกษุณี คติหรืออคติ นิติบัญญัติจากหมู่บ้าน กระแสชาตินิยม ศาสตร์ของคนจนเมืองว่าด้วยวิทยาการบนฟุตบาทและข้างถนน วิกฤติชนชั้นกลาง คนที่ไร้ทางเลือกรุ่นใหม่ หรือ BIG BANG เจาะเวลาหาเวลา ส่วนวิทยากรก็ขึ้นกับหัวข้อ มาจากหลากหลายแห่งทั่วประเทศ

กิจกรรมทำนองท้าทายระบบการศึกษาในระบบ ก็ตามมาเป็นระลอก ผ่านเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร การร่วมตั้งสำนักข่าวชาวบ้าน (ต่อมาเรียกว่าสำนักข่าวประชาธรรม) การจัดทำเวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

จนกระทั่งล่าสุด คือการประกาศมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้กับแกนนำชาวบ้านสองคนที่เพิ่งถูกโจมตีเรื่องการใช้ความรุนแรงในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า คือ จินตนา แก้วขาว ซึ่งคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูด และ เจริญ วัดอักษร แกนนำผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก

และเหตุผลของการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตครั้งนี้ ก็น่าฟังไม่น้อย

"ทั้งสองท่านได้สั่งสมความรู้เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน ทั้งที่เกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จิตวิทยามวลชนและความรู้อื่นๆ ที่จำเป็น

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับชาวบ้านในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กับกลุ่มเคลื่อนไหวของชาวบ้านในท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างอย่างกว้างขวาง

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่สองท่านร่วมเป็นแกนนำ มีลักษณะสำคัญคือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียนรู้อยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่าการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ และไม่ให้ข้อมูลอย่างกระจ่างชัดมาแต่ต้นของชุมชนบ่อนอกและบ้านกรูดนี้ เป็นชุมชนไทยที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและข้อจำกัดของชุมชนตนเองได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

การเป็นแกนนำที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยที่ชาวบ้านยังแสดงความไว้วางใจต่อทั้งสองท่านไม่แปรผัน เช่น เลือกให้เป็นสมาชิกองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ย่อมแสดงให้เห็นคุณสมบัติที่สุจริตและจริงใจต่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง

คุณความรู้ที่ท่านทั้งสองได้สั่งสมตลอดมา หนึ่ง และการใช้ความรู้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในท้องถิ่น หนึ่ง เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าควรยกย่องเป็นแบบอย่างของผู้มีความรู้จริงในสังคมไทย" วันลภ แม่นยำ นักวิจารณ์สังคมผ่านลายเส้นการ์ตูนซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกาศก่อนการมอบปริญญาสองใบแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นับเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของมหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวเป็น 'การเรียนรู้ทางเลือก' คือไม่ยึดติดกับรูปแบบ พิธีมอบปริญญาบัตรจึงจัดขึ้นบนหาดบ้านกรูด จุดที่ซึ่งเกิดกรณีทำร้ายนักวิชาการเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนจนเป็นเรื่องต่อเนื่องหลายวันบนหน้าหนังสือพิมพ์

ผู้เข้าร่วมนั่งบนเสื่อ ลานตาไปด้วยเสื้อสีเขียวของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอก ยังมีแขกผู้มีเกียรติคือชาวบ้านที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) และไทย-พม่า (ยาดานา) นอกนั้นก็คลาคล่ำไปด้วยกองทัพสื่อมวลชนหลากหลายแขนง อย่างชนิดที่เรียกว่าเกินความคาดหมายว่ากิจกรรมครั้งนี้จะได้รับความสนใจมากขนาดนี้

ศ.นิธิ ผู้ริเริ่มความคิดกิจกรรมครั้งนี้ถึงกับบอกกับเพื่อนร่วมความคิดว่า เราจัดงานครั้งนี้ได้งดงามมาก ไม่มากไม่น้อย พอดีๆ หากเพียงครึ่งหนึ่งของสื่อที่มาร่วมงานครั้งนี้เผยแพร่ 'สาร' ที่ต้องการสื่อออกไป ก็นับได้ว่าเราประสบความสำเร็จที่จะกระทุ้งสังคมให้คิดได้

นอกจากการมอบปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังได้มอบเกียรติบัตรให้กับชาวบ้านทั้งสองชุมชน ทั้งนี้ทั้งสองชุมชนยังได้รับเกียรติบัตรให้กำลังใจจากมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ ซึ่งตั้งโดยกลุ่มคัดค้านโครงการเจดีเอ จากสงขลา นับเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยภายใต้อุดมการณ์เดียวกันกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

'สาร' ที่ ศ.นิธิพูดถึงไม่เพียงบอกว่า การยกย่องผู้มีความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบต่างๆ ดังที่เป็นอยู่ ชาวบ้านทั่วไปหากมีการเรียนรู้ และทรงภูมิ ก็ควรได้รับการยกย่องฐานะปราชญ์ของชาวบ้านได้ แต่ยังมีสารอีกสองส่วนว่าด้วย นักวิชาการกับเสรีภาพทางวิชาการ และการเรียนรู้กับการใช้ชีวิต

สุชาดา เล่าให้ฟังถึงที่มาของการมอบปริญญาว่า เป็นเพราะการโต้เถียงผ่านสื่ออย่างหนักหนาถึงกรณีการใช้ความรุนแรงของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการทั้งสอง และการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการที่ถูกทำร้ายเมื่อเดือนที่ผ่านมา

"ใช่ เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่หากรู้จักกับคนที่นี่ดีพอ เราจะรู้ว่าเขาไม่ใช่กลุ่มที่นิยมความรุนแรงเป็นพื้นฐาน ตัวที่ทำให้เขาเลือกใช้ความรุนแรงเช่นนี้ก็คือโครงสร้างสังคมบ้านเรา ที่บีบให้เขาต้องหาทางออกด้วยวิธีนี้ จะว่าไปแล้วความรุนแรงที่พวกเขาทำนั้นน้อยมาก เทียบกับความรุนแรงที่เขาได้รับจากโครงสร้างและรัฐตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติโครงการที่จะมีผลกระทบกับชีวิตคนที่นี่โดยไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาร่วมรับรู้และตัดสินใจแต่แรก และการไม่โปร่งใสการดำเนินโครงการมากมายที่ตามมา" สุชาดา ยกบทสรุปการพูดคุยของสภามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

"หากจะมองไปแล้ว ชาวบ้านที่นี่เขาขวนขวายเรียนรู้ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการคัดค้านโครงการ เพราะเขาตระหนักดีว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรหากมีโครงการ นี่เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปรัญญาการศึกษาที่สังคมน่าจะต้องเรียนรู้ แทนที่จะมองจุดเล็กๆ บางจุดแล้วด่วนสรุปและประณามชาวบ้านอย่างที่เป็นอยู่ ทุกคนน่าจะได้เรียนรู้ร่วมกันกับบทเรียนเช่นนี้" สุชาดา กล่าว

"มองลึกลงไปในความขัดแย้ง จะเห็นว่ากลุ่มนักวิชาการจากกรุงเทพฯ ต่างหากที่ไม่ให้เกียรติพวกเขา คุณไม่บอกกล่าวเล่าสิบคนในพื้นที่เลยขณะที่กำลังจะไปศึกษาทะเลที่นั่น ขณะที่ก็รู้อยู่ว่ามีการคัดค้าน นั่นเป็นจุดเริ่มนำไปสู่ความรุนแรง อีกอย่างคุณไปโดยการจ้างของเจ้าของโครงการ จะมาอ้างเรื่องความเป็นกลางและเสรีภาพทางวิชาการ มันไม่ถูก สังคมต้องหันมาตรวจสอบงานวิชาการอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว วิชาการที่ไม่เปิดเผยให้คนอื่นตรวจสอบนั้นก็ขยะดีๆ นี่เอง" อ.นิธิให้ความเห็น

การยั่วให้คิด ให้ตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ในสังคมเช่นนี้ ยังคงจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เป็นคำยืนยันจากกลุ่มนักวิชาการอิสระกลุ่มนี้ "ตราบใดที่พวกเขายังมีความสุขกับการแลกเปลี่ยนถกคิด และเตือนสติติดอาวุธทางปัญญาให้สังคม" สุชาดา กล่าว

อีกความเคลื่อนไหวล่าสุด สุชาดาในนามมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังรวบรวมทำทะเบียนการเรียนรู้นอกระบบเช่นนี้ให้กับกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อผลักดันให้การเรียนรู้จากชุมชนได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

"เราจะรวบรวมการเรียนรู้และองค์ความรู้อย่างกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ หรือกลุ่มศึกษาทางเลือกต่างๆ การเรียนรู้จากชุมชนผ่านประสบการณ์จริงควรได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีระบบโรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ระบุในโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาปัจจุบันเท่านั้น" สุชาดา อธิบาย

(ตัดมาจากหน้า"จุดประกาย" / กรุงเทพธุรกิจ / 29.10.44)

 


 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com