บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 189 ประจำเดือนมิถุนายน 2545 เดือนแห่งการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปที่ดินและสิทธิของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
H
home
R
relate
QUOTATION
บทความชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย "นโยบายรัฐกับการละเมิดสิทธิชุมชน" ภายใต้ชุดโครงการวิจัย สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล ซึ่งมี ศ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน โดยการสนับสนุนของจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
release date : 120645

หากเรานำมาวิเคราะห์เงื่อนไขการจัดการทรัพยากร
ร่วมของชุมชน จะเห็นได้ว่าในสภาพปกติ การจัดการ
ทรัพยากรร่วมของชุมชนจะไม่ได้กีดกันการเข้าถึงการใช้ ประโยชน์จากภายนอก (Inclusion) ตราบเท่าที่ทรัพยากรยังสมบูรณ์ไม่กระทบต่อฐานความอยู่รอดของชุมชน แต่หากปัจจัยภายนอกกระทบต่อความอยู่รอดของชุมชน กระบวนการปกป้องสิทธิ หรือกีดกันการเข้าถึงในเชิงทำลายล้างจึงเกิดขึ้น (Exclusion) เช่น การกำหนดสิทธิในการใช้เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ซึ่งการใช้จะต้องไม่ทำลายต้นทุนทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ หรือการต่อต้านคนภายนอกที่จะมาใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ

นอกจากแง่มุมในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐศาสตร์ศีลธรรมแล้ว กลุ่มที่สนใจเรื่องสิทธิทรัพยากรร่วมของชุมชน ในส่วนของนักรัฐศาสตร์ เช่น Osrom (1991) หรือนักชีววิทยา เช่น Dawkins (1989,อ้างในสุธาวัลย์,2542) ได้ให้ความ สนใจในแง่ประโยชน์ของปัจเจกในระยะยาวโดยวิเคราะห์ว่า

ปัจเจกได้ประเมินถึงผลประโยชน์ต่อระบบสิทธิในการจัดการทรัพยากรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นแบบทรัพยากรเสรี หรือกรรมสิทธิ์ปัจเจก ท้ายที่สุดทรัพยากรก็จะถูกทำลายหมด และหวนกลับมากระทบต่อตัวปัจเจกเอง ดังนั้นเมื่อมองผลประโยชน์ที่จะได้ในระยะยาว ระบบการจัดการทรัพยากรส่วนรวมของชุมชน จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความชิ้นนี้ 1. ภาพฉากหลัง ผลงานของ Rabindranath Tagore ชื่อภาพ Untitle เทคนิคสีหมึกบนกระดาษ 2. ภาพข้างหน้า ผลงานของ Helene Schjerfbeck ชื่อภาพ Self-portrait เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ (ทั้ง 2 ภาพนำมาจากหนังสือ The 20th Century Art Book ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์ มช.) 12062545

หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาจะแก้ปัญหาได้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
(บทความนี้ยาวประมาณ 31 หน้ากระดาษ A4)

สนใจบทความเกี่ยวเนื่อง ดูบทความลำดับที่ 183, 184ี่ ในหน้า content
ต้นฉบับบทความชิ้นนี้ชื่อ " จากสิทธิมนุษยชนสู่สิทธิชุมชน: วิวาทะเสรีนิยมกับชุมชนนิยมสู่สังคมไทย" เขียนโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง และกฤษฎา บุญชัย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

กลางของประเทศทางยุโรปในศตวรรษที่ 16-17 "สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค" เป็นคำนิยามที่ประชาชนในยุคนั้นเรียกร้องขึ้นมา เพื่อแสดงเห็นให้เห็นถึงการต่อต้านระบบศักดินาที่รวมศูนย์อำนาจและกดขี่ขูดรีดประชาชนระดับล่าง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของยุโรปในยุคดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิด "ทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติ" อันเป็นรากฐานของแนวความคิด "สิทธิมนุษยชนที่แสดงถึงมนุษย์มีเสรีภาพมาตั้งแต่เกิด หากแต่ยินยอมเสียสิทธิบางประการ เพื่อผลประโยชน์ของสังคม และเสรีภาพนี้มนุษย์มีสิทธิต่างๆ ที่ไม่มีผู้ใดเพิกถอนได้ เช่น สิทธิที่จะมีชีวิตปลอดภัย และมีทรัพย์สิน มีสิทธิในการปกครอง และถือศาสนาตามความเสมอภาค ไม่ว่ามนุษย์จะมีความแตกต่างอย่างไรก็ตาม"

ทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติได้รับอิทธิพลมาจากกฎของนิวตันซึ่งทำให้บรรดานักปราชญ์แสวงหาระเบียบอันถูกต้องที่มนุษย์พึงปฏิบัติ โดยยึดหลักที่ว่า "ถ้าหากรัฐปกครองด้วยกฎหมายซึ่งสามารถจะเข้าใจได้ด้วยการใช้เหตุผล เหตุผลของมนุษย์ย่อมเป็นจริง" และจอห์น ล็อค นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่ากฎธรรมชาติมีอำนาจเหนือมนุษย์ และถ้ามนุษย์ใช้เหตุผล ก็จะมองเห็นได้ นอกจากนั้น มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล มีความเสมอภาค และมีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะมีชีวิตอยู่ มีเสรีภาพ มีทรัพย์สิน และไม่มีสิทธิละเมิดสิทธิของผู้อื่น ดังคำกล่าวที่ว่า

"เหตุผลสอนมนุษย์ทุกคน มนุษย์จะใช้เหตุผล และมีความเสมอภาค มีเสรีภาพ และไม่ควรก่อความเสียหายต่อชีวิต สุขภาพ เสรีภาพ และทรัพย์สินของผู้อื่น"

อิทธิพลทางความคิดของทฤษฎีสิทธิตามธรรมชาติส่งผลให้เกิดการพัฒนาแนวคิด "สิทธิมนุษยชน" เนื่องจากสิทธิตามธรรมชาติคือสิทธิของแต่ละบุคคล ที่คุ้มครองมนุษย์ทุกคนจากการกระทำโดยพลการของรัฐ และต้องได้รับการรับรองทางการปกครองและการเมือง มิใช่ต่อเศรษฐกิจและสังคม ความเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้เมื่อกฎหมายใช้กับคนทุกกลุ่มโดยเสมอภาคกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยพละการของผู้ใช้กฎหมาย

ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป แนวความคิดสังคมนิยมได้เกิดขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยม โดยสร้างแนวความคิดใหม่ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นผลพวงของผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ขณะเดียวกันก็เพื่อตอบโต้สิทธิมนุษยชนที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเท่านั้น อิทธิพลของคาร์ล มาร์กซ์ และเฮเกล ได้สร้างทฤษฎีสังคมนิยมเพื่อวางรากฐานสำหรับแรงงานที่จะมีสิทธิได้รับมาตรการสวัสดิการต่างๆ และรัฐบาลจะต้องบริหารประเทศเพื่อวางรากฐานสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นิยามความหมายของสิทธิมนุษยชน ภายใต้สิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในช่วงต้น แต่นิยามดังกล่าวก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคับแคบไม่ครอบคลุมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม

เจริญ คัมภีรภาพ (2529) ได้ชี้ให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน ด้วยอิทธิพลแนวความคิดของฝ่ายมาร์กซิสต์ต่อสิทธิมนุษยชน ทำให้ความหมายเดิมของสิทธิมนุษยชนที่มุ่งเพียงการจำกัดอำนาจรัฐ ต้องขยายขอบเขตไปสู่สิทธิที่เรียกร้องต่อรัฐให้ดำเนินการทางสังคม หรือ "สิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคม" โดยมองว่า ตราบใดที่โครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาคยังคงดำรงอยู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้น ฉะนั้นจะต้องสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน เพื่อทำให้เรื่องของเสรีภาพเป็นจริงขึ้นมาได้ จึงทำให้ขอบเขตของสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 1948 แยกออกเป็นสองด้าน ได้แก่ ด้านแรก, สิทธิทางการเมืองและทางแพ่ง จากฝ่ายเสรีนิยม และด้านที่สอง,สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม จากฝ่ายสังคมนิยม

การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยในยุคสงครามเย็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมืองเป็นสำคัญ สภาพสิทธิมนุษยชนในช่วงนี้ มีการจำแนกสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ 3 ประการ คือ

1.การบังคับใช้กฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องบังคับ หรือปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเป็นผู้ใช้กฎหมายในการละเมิดประชาชน เช่น กรณีตำรวจซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ โรงงานปล่อยน้ำเสียโดยที่เจ้าหน้าที่จากรมโรงงานไม่ดำเนินการ ผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่รักษาป่า ไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย เป็นต้น

2.ไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การค้าประเวณีผู้หญิงและเด็กผิดกฎหมาย แต่ไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้ทำการค้า หรือมีแต่ไม่สามารถคุ้มครองเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

3.มีกฎหมายไม่เป็นธรรมบังคับใช้อยู่ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2497 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหามีทนายความในระหว่างการสอบสวน ฯลฯ (เจริญ คัมภีรภาพ,2528 ; ศราวุฒิ ประทุมราช, 2539)

สำหรับสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยในช่วงนี้ มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ คือ

ช่วงแรก การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการใช้กฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์
ช่วงที่สอง การรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2501 ก่อให้เกิดกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 (เรื่องการห้ามนัดหยุดงาน) ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 (ควบคุมสิ่งตีพิมพ์) หรือธรรมนูญแห่งการปกครองราชอาณาจักร มาตรา 17
ช่วงที่สาม การยึดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ จนถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ฯลฯ (เจริญ คัมภีรภาพ,2528 ; ศราวุฒิ ประทุมราช, 2539)

กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (2519) เห็นว่า "กฏหมายที่เป็นธรรม น่าจะพิจารณาในแง่ของจริยธรรมหรือศีลธรรม หมายความว่า การออกกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ควรจะได้รับการยอมรับ เชื่อฟังเพราะกฎหมายหรือข้อบังคับนั้นถูกต้องตามศีลธรรม" ฉะนั้นเนื่องจากว่าตัวบทกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้มีอำนาจ(รัฐ) ในการรับรองการใช้อำนาจที่ว่านี้ และเมื่อรัฐได้ออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติกรรม หรือหลักสิทธิมนุษยชนมาบังคับใช้กับประชาชน ดังนั้นลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงมีลักษณะการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หากยังไม่สามารถบังคับใช้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก็ส่งผลให้ผู้ที่ใช้กฎหมายนั้นละเมิดไม่ปฏิบัติตาม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินของประชาชน

วรรณกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในยุคสมัยนี้ จะใช้นิยาม ความหมายของสิทธิมนุษยชนที่อ้างอิงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เช่น งานของกุลพล พลวัน เรื่อง "ปัญหาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติ 2487-". เสรี ไชยสุต (2509) ฯลฯ แนวคิดสิทธิเสรีภาพในแบบตะวันตกน่าจะปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นชัดเจนใน "คำอธิบายกฎหมายปกครอง" ซึ่งเขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2474 "สิทธิมนุษยชน" ในแง่แนวคิด อุดมการณ์ และคุณค่าในทางปฏิบัติถูกนำมาเผยแพร่แก่นักศึกษาในฐานะเป็น "หลักกฎหมายทั่วไป" (หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม, "คำอธิบายกฎหมายปกครอง" พระนคร: สำนักงานทนายความพิมลธรรม, หน้า 12) และพัฒนาต่อมาเป็นพื้นฐานสำคัญของ "คำประกาศของคณะราษฎร์" ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์สิทธิมนุษยขนและลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในช่วงอดีตนับตั้งแต่เริ่มการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองภายใต้คณะปฏิวัติ รัฐประหารถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถานะของประชาชนในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ 3 ด้านด้วยกันคือ ฐานะและการดำรงอยู่ของผู้ปกครองประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้น ประการสุดท้าย ขึ้นอยู่กับผลการบังคับใช้ตามกฎหมาย กล่าวคือ

ฐานะการดำรงอยู่ของผู้ปกครองที่จะให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าสิทธิเสรีภาพชองประชาชนมีมากน้อยแค่ไหน และสิทธิเสรีภาพที่จะมอบให้แก่ประชาชนที่ว่านั้นจะกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่หรือการครองอำนาจของตนเองมากน้อยประการใดบ้าง ที่เห็นได้ชัดเจนเช่น เรามักจะพบอยู่เสมอภายหลังรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ รัฐประหาร มักจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการพิมพ์ การตรวจตราข่าวสารหนังสือพิมพ์ ที่แท้จริงก็เพื่อเสถียรภาพของพวกตนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บ้านเมืองมีการปกครองที่มีประชาธิปไตยมากขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 การตื่นตัวของประชาชนในวงการต่างๆ ส่งผลให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความสนใจและเอาใจใส่มากยิ่งขึ้นจากผู้ปกครองหรือรัฐบาล ทำให้สถานะของสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยเปลี่ยนแปลงไปได้

3.สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคการพัฒนา
ในบริบทของสังคมไทย เสน่ห์ จามริก (2531) เห็นว่า การพิจารณาถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในยุคนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย สองประเด็นสำคัญ คือ

ประการแรก สภาวะเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานในทางสังคมและเศรษฐกิจ บังเกิดผลทำให้สังคมไทยผ่านพ้นจากสภาวะของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยกลมกลืนสมานฉันท์ มาสู่สภาวะของสังคมที่เกิดความลักลั่นแตกแยกและปัญหาขัดแย้ง

ประการที่สอง หลักการทางสังคม กล่าวคือ หลักการความสัมพันธ์เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะเปลี่ยนแปลงได้ และเป็นปัญหาวิกฤตของการเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังเผชิญ หลักการทางสังคมที่เคยกำกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรามาแต่อดีต ระบบโครงสร้างอำนาจที่มีการแบ่งแยกกันแน่ชัดระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นระบบการปกครองแบบเจ้าคนนายคน ระบบการทำปกครองทำนองนี้สนองความต้องการของสังคมไทยตามสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมสมัยก่อน แต่มาถึงสมัยปัจจุบัน เศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป มีการสร้างอุตสาหกรรม การขยายตัวทางการค้า การขนส่ง การคมนาคม ฯลฯ ก่อให้เกิดชนชั้นอาชีพสาขาและกลุ่มชนต่างๆ มากหลาย ปัจจัยเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของปัญหาความขัดแย้งแตกต่าง ซึ่งนับวันจะทวีขึ้นในสังคมปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันอำนาจและหลักความสัมพันธ์ในสังคมไทยยังคงยึดติดอยู่กับระบบราชการเดิม โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไร แม้แต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ระบอบเผด็จการทหารซึ่งตั้งต้นมาแต่รัฐประหารปี 2490 ใช้ความพยายามอย่างหนักแน่นที่จะขจัดและล้บล้างปัญหาของการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งเช่นว่านี้ด้วยกำลังอำนาจ แต่แล้วก็ล้มเหลว

สถานการณ์สิทธิที่สำคัญในบริบททางสังคม-การเมืองยุคแห่งการพัฒนาก็คือ การปฏิวัติเดือนตุลา 2516 เป็นขบวนการปฏิวัติที่ไม่ได้มุ่งต่อสู้เพื่อแสวงและเสวยอำนาจ แต่เป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมมุ่งที่ประท้วงโจมตีหลักการปกครองและความสัมพันธ์แบบเจ้าคนนายคน "หลักการอภิสิทธิ์" ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่สามารถตอบสนองปัญหาการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันได้ และเป็นการเรียกร้องต้องการหลักการทางสังคมใหม่ เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และเพื่อร่วมกันเผชิญปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมสมัยใหม่

หลักการเช่นนี้ คือหลักการของสิทธิเสรีภาพ เป็นความหมายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงการเรียกร้องต้องการของมวลชนเพื่อให้รับรู้และรับรองฐานะความเสมอภาคทัดเทียมและสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนเป็นเรื่องเกี่ยวโยงโดยตรงต่อปัญหาปากท้อง ทุกข์สุข และศักดิ์ศรีของมหาชนส่วนใหญ่ (เสน่ห์ จามริก, 2531)

งานเขียนเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏในยุคนี้ให้ความสนใจต่อสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน โดยให้ความสนใจปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากปัญหาการพัฒนาเช่น ปัญหาของเกษตรกร ชาวนา ฯลฯ เช่นงานของ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม (2528) ที่มีเนื้อหาเน้นไปในเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยผลของงานวิจัยพบว่า

ผลของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 1-5) ส่งผลให้ช่องว่างของการกระจายรายได้ภายในสังคมมีมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทุ่มเทไปกับการพัฒนาประเทศทางด้านวัตถุเป็นส่วนใหญ่และกระจุกตัวในเขตเมือง ภาคอุตสาหกรรมได้รับการคุ้มครองและให้สิทธิการผูกขาดในอัตราที่สูง ประชากรจำนวนหนึ่งในสี่ของประเทศ ไม่ได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจยังมีทิศทางที่ทำให้เกิดการรวมอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น และยังเสียเปรียบทางการค้ากับต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ปัญหาสิทธิมนุษยชนในยุคการพัฒนาก็คือ ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งเกิดจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรของชาวบ้านในชนบท อันได้แก่ ปัจจัยการผลิต ที่ดิน และปัญหาราคาพืชผลการผลิต เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนบนฐานของการเมืองของการเข้าถึงทรัพยากรของสังคม (politics of redistribution )

งานวิจัยของสุรัสวดี หุ่นพยนต์ (2529) พบว่าการพัฒนาชนบทตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ยังไม่อาจทำให้ชาวชนบทได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ กล่าวคือ ชาวชนบทยังขาดสิ่งจำเป็นอันเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ นั่นก็คือ ชาวชนบทคงหิวโหย ไม่รู้ เจ็บไข้ได้ป่วย มีงานทำไม่เต็มความสามารถ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงตนเองและครอบครัว ขาดแคลนบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข ขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และไม่มีสิทธิในการปกครองตนเอง

เพราะฉะนั้นชาวชนบทสมควรจะต้องได้รับปัจจัย 4 บริการของรัฐด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุขและอื่นๆ มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ไม่ถูกประทุษร้ายกดขี่ข่มเหง มีงานทำและมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว มีส่วนในการจัดการปกครองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และได้รับการประกันสังคมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

งานวิจัยของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (2535) ชี้ให้เห็นในทิศทางเดียวกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีมากกว่าที่มองเห็นได้ชัดเจน (เช่น การละเมิดทางร่างกายและกฏหมาย) และเป็นการลิดรอนสิทธิของเกษตรกรและชาวชนบท คนที่ละเมิดมากที่สุดคือ รัฐบาล โดยผ่านทางนโยบายของรัฐเอง ผ่านทางด้านกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและชนบท และการที่รัฐบาลละเมิดทางข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชาวชนบทและเกษตรกร นโยบายของรัฐบาลนับแต่อดีตที่ผ่านมาหลายสิบปี รัฐบาลไทยมีนโยบายกดราคาสินค้าการเกษตรมาโดยตลอด เก็บภาษีส่งออกเพื่อให้ราคาสินค้าในเมืองไทยต่ำกว่าข้างนอก เป็นการละเมิด ลิดรอนสิทธิที่จะขายได้ตามตลาด ตามความเป็นธรรม แต่มีมาตรการในการกำหนดนโยบายของรัฐ ในการหาผลประโยชน์จากเรื่องโควต้าในการส่งออก

นอกจากปัญหาสิทธิมนุษยชนจะมาจากสาเหตุของการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การถือครองที่ดิน ปัญหาราคาพืชผล ฯลฯ รายงานการวิจัยเรื่อง "สิทธิมนุษยชนกับงานของพระสงฆ์ในชนบท" (คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย พระประชา ปสนนธมโม,พระมหาศักดิ์ เตชสีโล, นายนิพนธ์ แจ่มดวง สถาบันไทยคดีศึกษา (ไม่ระบุปีพิมพ์)) ยังเห็นว่า การพัฒนาตามแนวทางของทุนนิยมตะวันตก ได้ก่อให้เกิดปัญหา 2 ประการใหญ่ๆ คือ

ประการแรก การที่คนจนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนกลุ่มน้อยที่มีฐานะดี โดยร่วมมือกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติต่างๆ

ประการที่ 2 การที่ประชาชนถูกทำให้แปลกแยกจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง และสูญเสียความมั่นใจในตนเอง จากการศึกษางานของพระสงฆ์กลุ่มที่นำเสนอในรายงาน เห็นได้ชัดว่าประชาชนสามารถใช้ความเชื่อทางศาสนาของตนในการต่อสู้กับผลร้ายจากตะวันตกทั้ง 2 ประการนั้นได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมที่เกิดจากระบบใหญ่อย่างจริงจัง แต่จากการทำงานของพระสงฆ์กลุ่มนี้ แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่คำสอนทางศาสนา สัญลักษณ์ พิธีกรรม ประเพณีต่างๆ ของประชาชน สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้และตีความ เพื่อการพัฒนาสังคมไปสู่ความเป็นไทและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตามนัยแห่งพุทธศาสนาและนัยแห่งสิทธิมนุษยชน

ในยุคนี้ ปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยขยายจากสิทธิทางแพ่งและทางการเมืองมาสู่สิทธิทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จะเห็นได้จากการสรุปบทเรียนของคณะกรรมการศาสนาเพื่อสังคม(กศส.) ที่ในช่วงต้นเน้นหนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนในมิติสิทธิด้านการเมือง เช่น สิทธิผู้ต้องหา สิทธิผู้ต้องขัง เป็นต้น ด้วยเหตุที่สังคมไทยช่วงนั้นไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง คือมักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจโดยการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการใช้อำนาจของรัฐเกินขอบเขต ไร้กติกาทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีประกาศคณะปฏิรูป และคำสั่งมากมายซึ่งผู้มีอำนาจสามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลา สภาพการด้อยการพัฒนาทางการเมือง และขาดความสำนึกทางการเมืองต่อความรับผิดชอบที่จะเคารพต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชน แม้รัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง หรือได้อำนาจมาโดยอาศัยกองทัพทำการปฏิวัติรัฐประหารก็ตามก็มิได้เห็นความสำคัญ และสนใจในด้านสิทธิมนุษยชนเท่าใดนัก

กศส.ได้มีการทบทวนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนว่า ควรมีการทบทวนเพื่อแสวงหาลู่ทางที่เหมาะสมในการทำงานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยหันมาทำงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจและสิทธิทางสังคมมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยต่อสิทธิทางการเมืองด้วย(เจริญ คัมภีรภาพ, 2531)

เช่นเดียวกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน(กปส.) ที่เห็นว่า สภาพสิทธิมนุษยชนในยุคนี้ แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัญหาพื้นฐานของประเทศ นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขได้แล้วกลับเลวร้ายมากกว่าเดิม ในเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาการแย่งชิงที่ดินทำกินโดยรัฐ และปัญหาอันเป็นผลมาจากการพัฒนา (ศราวุฒิ ประทุมราช, 2538)

เช่นเดียวกับกิจกรรมของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ขยายไปสู่การช่วยเหลือด้านปัญหาที่ดิน คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยเห็นว่า ปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคชนบท ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ชาวบ้านในชนบทมีความรู้ทางกฎหมายจำกัด และถูกหลอกลวงให้ทำนิติกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการเสียเปรียบจำนวนมาก เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นก็มักจะประสบปัญหาการคุ้มครองสิทธิของตนเองเพราะไม่รู้จะไปพึ่งใคร เพื่อจะหาทางให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ จึงพยายามจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ กฎหมายที่จำเป็นเกี่ยวกับชีวิตประจำวันแก่เกษตรกรในชนบท ("ประสบการณ์และแนวคิดงานสิทธิมนุษยชนในชนบท" เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี กป.อพช.เขตอีสานใต้ 20-23/11/29 มูลนิธิพัฒนาอีสาน จ.สุรินทร์ และกป.อพช. ภาคอีสาน 12-14/12/29 ท่าพระ จ.ขอนแก่น)

4.สิทธิชุมชนในยุคของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
งานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนมีจำนวนมากในช่วงหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น โดยเฉพาะประเทศซีกโลกใต้แถบลาตินอเมริกา เอเชีย อัฟริกา* ซึ่งสัมพันธ์สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศเหล่านี้ ภายหลังการเป็นอิสระจากประเทศล่าอาณานิคม งานศึกษาเหล่านี้ให้ความสนใจกับกลุ่มคนชายขอบ (Margin people) เช่น กลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous People) กลุ่มคนยากจน กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มคนพิการ เกษตรกรรายย่อย เป็นต้น ที่โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม กีดกันพวกเขาออกจากการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสของการพัฒนาในสังคม จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา

ประเด็นที่มีการศึกษากันมากคือ กระบวนการผลักสู่ชายขอบ (Marginalization) โดยการสร้างภาวะความเป็นอื่น (Otherness) ให้กับกลุ่มที่ถูกผลักผ่านการนิยามสร้างความหมาย เช่น นิยามชนพื้นเมืองว่าเป็นพวกทำลายป่า นิยามความจนว่ามาจากการไม่ขยัน การผูกขาดความรู้ เช่น ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา ระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรที่ยอมรับแต่สิทธิรัฐและปัจเจก หรือใช้กระบวนการปิดล้อม (Enclosure) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รัฐร่วมกับทุนแย่งยึดทรัพยากรสาธารณะ ของชุมชนท้องถิ่นมาแสวงผลประโยชน์ การกลืนกลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม (Assimilation) ที่ผนวกความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหลัก แต่จัดที่ทางไว้ให้แค่ชายขอบ

งานศึกษาดังกล่าวนำเสนอในแนวขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) ซึ่งเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนของขบวนการประชาชนซีกโลกใต้ งานศึกษาดังกล่าวมีความแตกต่างจากแนวทฤษฎีตะวันตกที่ผ่านมา ที่ในอดีตมองการเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นไปในลักษณะกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) กลุ่มกดดัน (Pressure Groups) เพื่อมุ่งยึดอำนาจรัฐ

การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนซีกโลกใต้ในช่วงปัจจุบัน สนใจการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจโดยมีพื้นที่ทางสังคมเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งมิใช่การช่วงชิงอำนาจรัฐ ขบวนการเคลื่อนไหวจึงมีลักษณะเป็นการต่อสู้ทางวาทกรรม (Discursive Information) การสู้ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อกำหนดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม หรือสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการเคลื่อนไหว ผสมผสานกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและโครงสร้างของสังคม ดังเช่น การชูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (Ethnic Identity) ชูความเป็นชนพื้นเมือง ที่เรียกร้องสิทธิการตัดสินใจตนเอง (Self determination) สิทธิการปกครองตนเอง (Self autonomous) สิทธิทางทรัพยากรและวัฒนธรรมที่ได้รับตกทอดจากบรรพชน และอื่นๆ (ไชยรัตน์,2542)

ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงเป็นการตอบโต้กับระบบทุนนิยม และอำนาจรัฐภายใต้ยุคล่าอาณานิคมแบบใหม่ ที่มิได้ยึดประเทศหรือยึดดินแดนเหมือนเช่นอดีต แต่กระทำโดยองค์กรระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติผ่านการจัดระเบียบโลก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีผลกระทบต่อประชาชนซีกโลกใต้อย่างรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมซีกโลกใต้ ได้เปิดมิติใหม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากแต่เดิมที่อยู่บนฐานคิดแบบตะวันตกซึ่งเน้นสิทธิปัจเจกในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้ขบวนการเหล่านี้จะไม่ได้ใช้คำว่า "สิทธิชุมชน" (Community Rights) โดยตรงนัก แต่นัยจากยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวหมายความถึงการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชนชายขอบ ที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร และระบบเศรษฐกิจ สังคม เพื่อตอบโต้กับกระบวนการปิดล้อมจากรัฐและทุนในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการผลักดันให้ปรับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยอมรับสนับสนุนสิทธิของชุมชนในทุกรูปแบบ ซึ่งการต่อสู้ของขบวนการประชาชนได้เกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่ระดับรากหญ้า การเคลื่อนไหวเชิงวาทกรรม การเคลื่อนไหวเชิงโครงสร้าง การผลักดันสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาชนพื้นเมือง อนุสัญญาด้านแรงงาน เป็นต้น สิทธิชุมชนจึงเป็นหัวใจของขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในช่วงปัจจุบันมีแนวโน้มที่สำคัญคือ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการแย่งชิงที่ดินทำกินโดยรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาอันเกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐมากยิ่งขึ้น "หลักการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หลักการของประชาชน" (Asian Human Rights Commission Asian Legal Resource Center) ที่ประกาศประกาศ ณ เมืองกวางจู เกาหลีใต้ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ได้กล่าวถึง ระบบตลาดและโลกาภิวัตน์ในระบบเศรษฐกิจว่า ได้ทำลายสมดุลระหว่างปัจเจกกับสังคมระหว่างรัฐกับนานาชาติ ทำให้คนจนและผู้ด้อยโอกาสยิ่งยากจนลง

ผลพวงจากเทคโนโลยีและการให้คุณค่าแก่วัตถุของระบบตลาดการค้า ทำให้เกิดการทำลายล้างชุมชนลง ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดชีวิตและสภาพแวดล้อมของตนน้อยลง และบางชุมชนถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐาน มีการกดขี่ขูดรีดแรงงานส่วนเกินจากคนจน ระบบความปลอดภัยของคนงานมีระดับต่ำ กฎหมายแรงงานขั้นพื้นฐานไม่อาจบังคับได้

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังได้สมคบกับกลุ่มธุรกิจและบริษัทข้ามชาติปล้นชิงทรัพยากรของชาติ ลัทธิอำนาจนิยมได้ถูกเชิดชูขึ้นเป็นอุดมการณ์อันสูงสุดแห่งชาติ ด้วยการเพิกถอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐอ้างว่าเป็นเพียงความคิดต่างชาติ ไม่สอดคล้องกับศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี แต่กลับสร้างทฤษฎีเทียมของระบบคุณค่าแบบเอเชียขึ้นใหม่

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวเอเชียเริ่มตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ ความเชื่อมโยงระหว่างความยากจนกับการไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง คำนึงถึงการเคารพในสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ว่าเป็นรากฐานของสังคมซึ่งมีความเป็นมนุษย์ ความเชื่อที่ว่า มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกันจึงมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อันเป็นหลักการที่ตั้งอยู่บนสิทธิที่จะตัดสินชะตาชีวิตของตนเอง โดยการมีส่วนในการพิจารณาตัดสินนโยบายต่างๆ

อีกทั้งในปัจจุบันรัฐและภาคธุรกิจเอกชนได้รุกเข้าไปในชนบทอย่างกว้างขวาง นับแต่ในทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดการรุกรานวิถีวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องได้ชี้ให้เห็นว่า มิติดังกล่าวเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ กล่าวคือ สิทธิในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเสรีภาพทางความเชื่อ ซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

มีงานเขียนจำนวนมาก ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อถกเถียงสำคัญด้านฐานคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยโต้แย้งการผูกขาดการตีความ/นิยามสิทธิมนุษยชนของฝ่ายตะวันตก เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นต้องทบทวนแนวคิดสิทธิมนุษยชนใหม่ ด้วยการวิพากษ์แนวคิดสิทธิมนุษยชนตะวันตกว่าคับแคบ มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไม่ใช่เป็นการมองที่ถูกต้องเหมือนในสังคมเอเชียที่ปัจเจกชนค้นพบตัวเองโดยผ่านชุมชน (หนังสือพิมพ์มติชน, ศุกร์ 9 ธ.ค. 2537) เน้นความสำคัญของ "สิทธิชุมชน" (Right of the Community) (Jack Donnelly, "Democracy, Human Rights and East Asia : Critical Musing on an Asia "Third Way", Paper prepared for workshop on the Growth of East Asia and Its Impact on Human Rights, Hakone, Japan, June 23-27, 1995, p.25,29)

กระแสการเชิดชูเรื่องสิทธิปัจเจกในแนวคิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย John Locke อธิบายว่า อิสรภาพและเสรีภาพเป็นสิทธิมูลฐานของมนุษย์ สิทธินี้เกิดจากความเป็นผู้มีเหตุผลของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนเป็นอิสระต่อกันและเท่าเทียมกัน กฎหมายและสถาบันทางสังคมทั้งหลายจะต้องส่งเสริมสิทธิดังกล่าวและเครื่องมือส่งเสริมสิทธิปัจเจกที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (Private Property) ซึ่งเป็นสิทธิธรรมชาติ เนื่องจากว่ามนุษย์ได้ลงแรงงานในการปรับปรุงธรรมชาติจนเป็นทรัพย์สิน บุคคลจึงควรได้สิทธิต่อแรงงานหรือทรัพย์สินของเขา แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ใช้เพื่อกดขี่เอาเปรียบผู้อื่น (ฉัตรทิพย์, 2541) แนวคิดดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า "ปัจเจกนิยม" (Individualism) ซึ่งได้เป็นพื้นฐานของระบบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมต่อมา

แนวคิดสิทธิส่วนบุคคลถูกท้าทายจากกลุ่มนักคิดในสาย "สังคมนิยม (Soclialism) หรือชุมชนนิยม" (Communitarian) ว่า การเชิดชูสิทธิส่วนบุคคลสูงสุดอยู่เหนือชุมชน และสังคมดังกล่าว เป็นการลดทอนภาพอันสลับซับซ้อนของสังคม ที่มนุษย์จะมีสิทธิ อ้างสิทธิ ว่าตนเองเป็นใคร มีผลประโยชน์ คุณค่า ที่คนอื่นควรเคารพอย่างไรได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม เพราะสิทธิเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้อ้างสิทธิกับสังคม สิทธิจึงไม่สามารถดำรงอยู่ในสูญญากาศได้ ซึ่งการเชิดชูสิทธิปัจเจกเหนือสังคม จะเป็นที่มาของความเสื่อมทรามทางศีลธรรม การขาดความรับผิดชอบต่อกัน โดยเฉพาะการเน้นถึงสิทธิปัจเจกเหนือทรัพย์สิน (private property) ได้เป็นที่มาของการแย่งยึดทรัพยากรของส่วนรวมไป จนเป็นที่มาของปัญหาการขูดรีดทางชนชั้น เพื่อการสะสมทุนของนายทุน และการทำลายความเป็นชุมชน อันเป็นพื้นฐานของสิทธิบุคคลนั่นเอง

ข้อถกเถียงระหว่างแนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) กับแนวคิดชุมชนนิยม (Communitarian) มีมาอย่างเข้มข้นมากในต้นทศวรรษที่ 1980 ความแตกต่างดังกล่าวปรากฏออกมาทั้งวิธีคิดและเป้าหมายเชิงคุณค่า แม้ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มต้นด้วยภาพของปัจเจกบุคคล แต่สายปัจเจกนิยมมองว่าอย่างไรเสียบุคคลต้องมาก่อนสังคม ชุมชนในความคิดของนักคิดสายปัจเจกมีสถานะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งการให้น้ำหนักกับคุณค่าร่วมกันของแต่ละสังคมเหนือบุคคลนั้น อาจนำไปสู่การคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้

ส่วนสายชุมชนนิยมมองว่า พื้นฐานทางสังคมเป็นสิ่งที่ผูกติดกับตัวตนของบุคคลมาตั้งแต่ต้น บุคคลจึงถูกสร้างขึ้นโดยชุมชนที่บุคคลนั้นเป็นส่วนหนึ่งอยู่ เช่น ครอบครัว เผ่า ชุมชน หรือรัฐ ดังนั้น ชุมชนจึงมีคุณค่าในตัวเอง ชุมชนได้ให้ความหมายทางจริยธรรม วัฒนธรรมที่แท้จริงแก่บุคคล บุคคลจึงสามารถดำรงความเป็นตัวเขาได้เพียงในสังคมหรือวัฒนธรรมที่แน่นอน หรือมีความเป็นวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (Cultural Relativism) ที่เกณฑ์คุณค่าของแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน มิใช่การยึดถือหลัก"สากล"(Universal) ตายตัว อันถูกวิจารณ์ว่าแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่เป็นสากล เพราะแท้ที่จริงคือเกณฑ์คุณค่าแบบตะวันตกเท่านั้น แต่เกณฑ์คุณค่าตามวัฒนธรรมของชุมชนดังกล่าวส่งผลให้บุคคลมีความห่วงใยในสังคม (Avineri & De-Shalit,1992 อ้างในสันติ, 2539) ดังนั้น สิ่งที่สายชุมชนนิยมสนใจก็คือ สิทธิกลุ่ม (Group rights) และสิทธิร่วม (Collective Rights) ซึ่งเป็นหน่วยโดยตัวของมันเอง ว่าเป็นฐานรากสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน ทั้งในแง่สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะสิทธิต่อทรัพยากร

นักคิดสายเสรีนิยมเน้นย้ำถึง "ความเป็นสากล" ของสิทธิปัจเจกชน ว่าเป็นสิ่งที่จะละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ สังคม ชุมชน หรืออะไรก็ตามก็ต้องรับหลักการพื้นฐานดังกล่าว หาใช่การอ้างถึงวัฒนธรรมสัมพัทธนิยม (Cultural Relativism) อย่างสุดขั้ว ดังที่สายชุมชนนิยม หรือนักมานุษยวิทยาบางสำนักอ้างไม่ นักคิดสายเสรีนิยมเชื่อว่าระบบการคุ้มครองสิทธิจะเกิดขึ้นได้ ก็โดยสร้างสัญญาประชาคม สนธิสัญญาระหว่างประเทศ และอำนาจรัฐซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิปัจเจกบุคคลให้เกิดความเท่าเทียมกัน

สิ่งที่นักคิดสายชุมชนนิยมพยายามเสนอคือ ในบริบทของสังคมปัจจุบัน โครงสร้างความรุนแรงหลักที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเก็บกดปิดกั้นเสรีภาพ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หาใช่มาจากจารีตประเพณีดังเช่นสังคมในยุคก่อนไม่ เพราะจารีต ประเพณีของชุมชนดั้งเดิมไม่ว่าจะถูกมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่างพากันเสื่อมคลายความศักดิ์สิทธิ์ จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบัน

ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันได้เคลื่อนตัวมาที่ระบบของรัฐ และกลไกทุนที่เป็นตัวการในการเก็บกดปิดกั้นเสรีภาพการพัฒนาของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสทุนนิยมเสรี ที่รัฐและทุนเข้าแย่งชิงทรัพยากรของประชาชน และทำลายระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่รองรับค้ำประกันสิทธิประชาชนอยู่ ทำให้ระบบทางสังคมล่มสลาย ปัจเจกชนเกิดความแปลกแยกในสังคม และไร้ความสามารถในการจัดการปัญหาของตนเอง หรือที่นักคิดด้านประชาสังคม โรเบิร์ต พุทนัม กล่าวถึง การหายไปของปริมณฑลสาธารณะ หรือทุนทางสังคม ในหนังสือชื่อว่า "Turning in, turning out: The strange disappearance of social capital in America" ในปี 1995 (อ้างในไชยรัตน์,2540) ทำให้เกิดความเป็นปัจเจกชนสุดขั้ว ที่ต้องพึ่งระบบรัฐ หรือทุนเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งก็จะยิ่งนำไปสู่การเสริมสร้างอำนาจหรือสิทธิให้แก่รัฐและทุน และเป็นการลดทอนสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำไป

เหตุใดต้องเป็นสิทธิกลุ่ม หรือสิทธิชุมชน ก็เพราะว่า ดังที่พุทนัมกล่าวถึงการหายไปของปริมณฑลสาธารณะในสังคมทุนนิยม ที่ปัจเจกชนไม่มีพลังในการจัดการกับปัญหาตนเอง หรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของตนเองได้ ขณะที่ระบบรัฐ กฏหมายและอื่น ๆ ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิได้ชัดเจน มิหนำซ้ำหลายกรณียังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง

การสร้างระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากพลังทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะพลังที่เกิดจากกลุ่มหรือชุมชนที่จะช่วยต่อต้านอำนาจจากภายนอกอยู่ได้ อีกประการก็คือ ประชาชนชนบทหรือในเมืองที่ยังมีความเป็นชุมชนได้อาศัยฐานทรัพยากรร่วมของชุมชน และความสัมพันธ์ทางสังคม หรือปริมณฑลสาธารณะของชุมชน ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และศักดิ์ศรีของตนเองและชุมชนร่วมกัน เมื่อฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมที่ชุมชนพึ่งพาถูกทำลายจากนโยบายรัฐและทุน จึงเกิดผลกระทบต่อความอยู่รอดของปัจเจกบุคคลในชุมชนและตัวชุมชนเอง ดังนั้น ขบวนการผลักดันสิทธิชุมชนจากประชาชนจึงเกิดขึ้น ในฐานะการต่อสู้กับอำนาจรัฐและทุนที่จะมาละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐและทุน โดยอาศัยฐานชุมชนเป็นกำลังสำคัญ หาใช่การชูสิทธิชุมชนเพื่อครอบงำสิทธิปัจเจกดังที่เป็นโจทย์ในยุคก่อน

อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามเชื่อมประสานแนวคิดทั้ง 2 ว่า แท้ที่จริงหาใช่คู่ขัดแย้งตรงข้ามกันไม่ แต่น่าจะเป็นส่วนหนุนเสริมซึ่งกัน ดังเช่น รุสโซ มาจนถึง Durkheim และนักคิดรุ่นหลัง ๆ ที่อธิบายว่า จุดอ่อนของสายปัจเจกนิยมไม่ได้ให้คำตอบเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมีส่วนร่วมและเท่าเทียม โดยเฉพาะต่อระบบคุณค่าของสังคมที่เป็นจิตสำนึกร่วมกัน แต่สายชุมชนนิยมเองก็ไม่ชัดเจนในเรื่อง ความแตกต่างหลากหลายของสังคมที่มีทั้งความขัดแย้งหาใช่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว

จุดเชื่อมประสานของ 2 แนวคิดอยู่ตรงที่ การอธิบายสิทธิของปัจเจกที่ถูกรองรับโดยชุมชน และกฎกติกาของสังคมด้วย รุสโซยังอธิบายถึงหลักการเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน อันเป็นข้อโต้แย้งสำคัญของ 2 ฝ่าย โดยเขาให้ความสำคัญต่อสมบัติสาธารณะ (Common goods) ที่สังคมร่วมจัดการว่ามีความสำคัญต่อสิทธิ หาใช่การเหมาสรุปว่าเป็นการประกอบรวมของสิทธิส่วนบุคคลไม่ (Cladis,1992)

ในปัจจุบันนักคิดสายเสรีนิยม หรือชุมชนนิยม ต่างก็เริ่มเห็นความซับซ้อนของสิทธิ จนยากที่จะจำกัดขอบเขต นิยาม หรือเลือกข้างให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า ท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย อันเป็นกระแสหลักของโลกที่เน้นสิทธิปัจเจกอย่างสุดโต่งนั้น กระแสชุมชนนิยมที่พยายามอธิบายถึงสิทธิของกลุ่ม ชุมชน เริ่มมีบทบาทสำคัญในการขยายพื้นที่ทางสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักวิชาการที่ศึกษาชุมชนในประเทศซีกโลกใต้ ต่างก็ชี้ให้เห็นถึงสิทธิชุมชน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และต่อมาได้ขยายมิติสู่สิทธิเชิงซ้อน ที่อธิบายการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และรัฐ บนพื้นฐานความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของประชาชน จนในปัจจุบันกระแสแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนได้ขยายขอบข่ายการอธิบายออกไป

ในส่วนประเทศไทยเอง งานศึกษาเรื่องสิทธิชุมชนเพิ่งมีมาในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้น จะเป็นการศึกษาเรื่องสิทธิชาวนา สิทธิเกษตรกร ที่วิเคราะห์ถึงกระบวนการขูดรีดและการเคลื่อนไหวของชนชั้นชาวนา เช่น กนกศักดิ์ (2530) แนวศึกษาเรื่องสิทธิชุมชนเริ่มต้นจากประเด็นเรื่องสิทธิต่อทรัพยากร มีงานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่วิเคราะห์ถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ระบบรัฐและทุนเองเข้าแย่งชิงทรัพยากรอันเป็นฐานชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่งานศึกษาเรื่อง วิวัฒนาการการบุกเบิกที่ทำกินในเขตป่า (เจิมศักดิ์,บก.2534) อันเป็นความร่วมมือระหว่างนักมานุษยวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ ที่สนใจศึกษาปัญหาการลดลงของป่า ซึ่งแต่เดิมฉาบด้วยมายาคติที่ว่าชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้บุกรุก แต่งานชิ้นนี้ได้เผยว่าแท้ที่จริงแล้ว ระบบกฎหมาย อำนาจ ผลประโยชน์ของรัฐและทุน เป็นตัวผลักดันให้ชุมชนบุกเบิกป่า ซึ่งต่อมาถึงยุคแย่งชิงทรัพยากร ชุมชนกลับถูกผลักออกไปสู่ชายขอบ ถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมจัดการป่า กดดันให้อพยพออกจากป่า

งานวิจัยดังกล่าวได้ชี้ถึงบทบาทของชุมชนในการจัดการป่า หรือเรียกว่า "ป่าชุมชน" และมีข้อเสนอให้การกำหนดนโยบายป่าและที่ดินต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมขุมชน รับฟังความเห็นของชุมชน ไม่อพยพโยกย้าย หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในทุกรูปแบบ ปกป้องชุมชนจากทุนและกลไกตลาดที่จะแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน และสนับสนุนระบบกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร แม้งานชิ้นนี้จะยังไม่ใช้คำว่า "สิทธิชุมชน" โดยตรง แต่ก็เป็นการอธิบายความหมายของสิทธิชุมชนในตัวเองที่ครอบคลุมถึง สิทธิที่ชุมชนท้องถิ่นจะธำรงวัฒนธรรม ระบบการจัดการทรัพยากรของตนเอง สิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากร โอกาสทางสังคมสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอด และความเข้มแข็งของชุมชนร่วมกัน โดยข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิดังกล่าวเสนอต่อรัฐโดยตรงให้รับรองสิทธิชุมชน เช่น เสนอให้รัฐปรับปรุงกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชน

การให้ความหมายและอธิบายสิทธิชุมชนอย่างเป็นทางการได้เกิดขึ้นอีก 2 ปีถัดมา จากงานวิจัยเรื่องป่าชุมชนในประเทศไทยฯ(เสน่ห์และยศ บก.,2536) ที่นิยามสิทธิชุมชนไว้ว่า หมายถึง "สิทธิร่วม"เหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชนซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าเท่านั้น จึงจะมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์จากป่า สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน แม้สมาชิกชุมชนจะมี "สิทธิตามธรรมชาติ" ในการใช้ทรัพยากรส่วนร่วม แต่ชุมชนก็สามารถออกกฎเกณฑ์เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิการใช้เพื่อความยั่งยืนของนิเวศและเพื่อความอยู่รอดของชุมชน จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน

นับจากงานวิจัยป่าชุมชน ซึ่งได้สถาปนาวาทกรรม "สิทธิชุมชน" ขึ้นในสังคมไทย ก็มีงานวิจัยด้านชุมชนกับทรัพยากรที่เสนอแง่มุมสิทธิชุมชนต่อมาอีกไม่น้อย เช่น งานวิจัยชุมชนกับทรัพยากร (อานันท์,2541) ที่รวบรวมนักวิชาการจากทุกภาคศึกษาถึงระบบการจัดการทรัพยากร อันทำให้แนวคิดสิทธิชุมชนมีความชัดเจนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หรือจากงานศึกษาเรื่องการเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน (ประภาส, 2541) ที่ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของสมัชชาคนจน ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า

สิทธิชุมชน ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะสิทธิต่อทรัพยากร อันเป็นสิ่งที่ถูกละเมิดจากรัฐและทุน อันเป็นสาเหตุหลักของการเดินขบวนประท้วงถึงร้อยละ 34 หลายกรณีไม่ใช่เป็นเรื่องสิทธิต่อป่าอย่างเดียว เช่น ชุมชนสะเอียบชูสิทธิชุมชนต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยแสดงถึงสิทธิต่อที่อยู่อาศัย ต่อวิถีชีวิต เป็นต้น วาทกรรมสิทธิชุมชนจึงถูกใช้เพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม โดยเฉพาะการผลักดันให้รัฐปรับนโยบาย

นอกเหนือจากงานศึกษาเกี่ยวกับสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรที่มีความชัดเจนและมีผลกระทบมากที่สุดแล้ว ประเด็นสิทธิชุมชนในด้านอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นมาก เช่น งานศึกษาเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจชุมชนชาวนา (ฉัตรทิพย์,2542) และข้อเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชนอีกมาก (เสน่ห์,2541) ทั้ง ๆ ที่งานเขียนเหล่านี้บางส่วนต้นธารความคิดตั้งแต่กระแสวัฒนธรรมชุมชนที่มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 ทั้งในระดับต่างประเทศ เช่น หลักการสวเทศี สวราช และทรัสตีชิพ หรือระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองคานธี หรือไชยานอฟ จากรัสเซีย และอื่น ๆ ในสำนักอนาธิปัตย์ (ฉัตรทิพย์,อ้างแล้ว) รวมถึงงานศึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชน แต่งานในช่วงหลังเหล่านี้ได้เชื่อมโยงระบบการจัดการของชุมชนเข้ากับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมากยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์ให้เห็นถึงระบบของทุนและรัฐที่ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ทำลายการพึ่งตนเองของชุมชน ซึ่งขบวนการเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน การเงินชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ ก็ได้เติบโต และสะท้อนถึงการต่อต้านต่อระบบทุนนิยมเสรี ที่เข้าผนวกและทำลายระบบเศรษฐกิจชุมชน ขบวนการฟื้นสำนึกชุมชนผ่านการจัดการระบบการผลิต ระบบเศรษฐกิจการเงินของตนเอง จึงมีนัยของการพิทักษ์สิทธิชุมชนต่อระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองที่มุ่งหวังจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกับกลไกทุนและรัฐ

ด้วยกระแสผลักดันเรื่องสิทธิชุมชนที่แหลมคมสามารถขยายพื้นที่ทางสังคมมากทุกขณะ ในที่สุดก็สามารถบรรจุหลักการดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2540) ในมาตรา 46, 56 อันเป็นการยอมรับสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรและวัฒนธรรมเป็นครั้งแรกในระบบกฎหมาย แม้จะยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนก็ยังจำกัดวงอยู่กับนักสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งก็ได้มีคำถาม หรือข้อโต้แย้งโดยเฉพาะจากนักนิติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในสายเสรีนิยมว่า หน่วยของสิทธิชุมชนคืออะไร ขอบเขตอยู่ตรงไหน สถานะของสิทธิจะเกิดขึ้นอย่างไร ข้อวิจารณ์เหล่านี้อยู่บนฐานคิดปัจเจกนิยม (Individualism) อธิบายความหมายเรื่องสิทธิว่า "เป็นข้อเรียกร้องหรือความต้องการของปัจเจกบุคคลที่ได้รับการรับรองจากสังคมและรัฐ" (Johari, 1987 อ้างในสันติ, 2539) โดยเฉพาะสิทธิต่อทรัพยากรด้วยแล้ว หน่วยของสิทธิในการถือครองทรัพยากรจะต้องมีความชัดเจน หรือที่แคบกว่านั้นก็คือว่าการนิยามว่า สิทธิ คือ "ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้" (หยุด, 2537,อ้างในสันติ,อ้างแล้ว) นั่นหมายถึงสภาวะแห่งสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อรัฐรับรองตามกฎหมายเท่านั้น

หากแต่เราวิเคราะห์ถึงนัยของสิทธิชุมชนจากงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาชุมชนกับทรัพยากร กลับพบว่า มีฐานคิดที่แตกต่างกัน จากงานวิจัยสิทธิชุมชนที่กล่าวมาวิเคราะห์ได้ว่า สิทธิเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม สิทธิชุมชนก็เช่นกัน ที่เป็นการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสมาชิกในชุมชน ซึ่งความเป็นชุมชนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นชุมชนในเชิงกายภาพที่มีพื้นที่ร่วมกัน แต่อาจเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ เสมอ โดยมีเกณฑ์สำคัญคือ สมาชิกนิยามตนเองว่าเป็นหนึ่งในชุมชนนั้น และสังคมก็รับรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นสิทธิจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ขัดแย้ง เพื่อใช้ในการจัดความสัมพันธ์ทั้งการจำแนกอัตลักษณ์ระหว่างคนในและคนนอก การกำหนดเกณฑ์คุณค่าร่วมของชุมชนที่ สมาชิกในชุมชนยึดถือปฏิบัติ อีกทั้งเคลื่อนไหวผลักดันให้สังคม และรัฐยอมรับ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่รับรองอัตลักษณ์ ความชอบธรรม เกณฑ์คุณค่าที่ชุมชนนั้น ๆ ยึดถือ หรือเท่ากับเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจจากที่ละเมิด เพิกเฉยสิทธิ หันมารับรองสิทธิชุมชน

ในรูปการณ์ความสัมพันธ์ที่หลากหลายของชุมชน จึงไม่สามารถถามหาหน่วยของสิทธิชุมชน เช่นวิธีคิดแบบสิทธิปัจเจกได้ เช่นเดียวกัน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ อันเป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็ไม่สามารถหาหน่วยของสิทธิได้เช่นกัน อีกทั้งในทางทฤษฎีสิทธิ เช่น ทฤษฎีเชิงธรรมชาติ ทฤษฎีประวัติศาสตร์ ต่างก็ยอมรับสิทธิว่าไม่จำเป็นต้องรองรับด้วยกฎหมาย (Johari, อ้างแล้ว) เพราะสิทธิเป็นกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม ที่กำเนิดจากความขัดแย้งที่กระทบต่อความเป็นมนุษย์ และการธำรงอยู่ของชุมชน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาการละเมิดสิทธิทวีความซับซ้อน หลายครั้งที่นโยบายและกฏหมายเป็นตัวการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนเสียเอง (ยศ, 2542) ดังนั้นการกล่าวอ้างการยอมรับจากกฎหมายที่มีอยู่เดิมที่มาจากฐานคิดสิทธิรัฐและปัจเจกจึงไม่สอดคล้องกับสภาพแห่งสิทธิที่เป็นพลวัต

จากความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในระดับขบวนการทางสังคมเพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว แนวคิดเรื่องสิทธิในทรัพย์สินและทรัพยากรเป็นประเด็นรูปธรรมที่สำคัญประการหนึ่งของเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นฐานสำคัญต่อการที่มนุษย์ ชุมชน และสังคมจะธำรงความอยู่รอดและพัฒนาตนเองได้ ก็คือ ดังเช่น กระแสถกเถียงระหว่างแนวปัจเจกนิยม (Individualism) เสรีนิยม (Liberalism) และชุมชนนิยม (Communitarian) ต่างก็ให้ความสำคัญต่อระบบการจัดการทรัพยากร ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าสถานะของสิทธิจะธำรงอยู่หรือไม่อย่างไร

ในความคิดเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของคนทั่วไป จะมองว่าเป็นสิทธิปัจเจกต่อทรัพย์สินสมบูรณ์แบบ ที่จะสามารถกีดกันสิทธิผู้อื่นได้ (Exclusion) หรือเป็นตัวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อสิ่งของ แต่แท้ที่จริงแล้วความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาในช่วงหลังศตวรรษที่ 17 ที่ต่อมาเป็นรากฐานสิทธิในระบบทุนนิยมที่ถ่ายโอนสิทธิได้ (Macpherson,1987 อ้างในสันติพงษ์,2541) แต่ต่อมาได้มีการโต้แย้งแนวคิดดังกล่าว ว่าแท้ที่จริงสิทธิเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคลและสังคม หาใช่ตัวระหว่างบุคคลกับสิ่งของ ดังที่ Rose (1994,อ้างในอานันท์,2541) ว่า

"ทรัพย์สิน ไม่ต่างอะไรจากการเล่าเรื่องที่บอกเราว่า เราควรจะทำอะไร ทำอย่างไร และเราคือใคร เรื่องเล่าจะช่วยโน้มน้าว จูงใจให้เรามีจินตนาการและประสบการณ์ร่วมอันจะนำเราไปสู่ชุมชนศีลธรรม ที่ยอมรับและเคารพข้ออ้างของสิทธิในทรัพย์สินนั้น" ซึ่งสิทธิของปัจเจก และสิทธิรัฐได้ถูกสถาปนาและผลิตซ้ำผ่านระบบกฎหมาย เศรษฐกิจในกระแสทุนนิยมที่สร้างความชอบธรรมหรือการยอมรับต่อสิทธิดังกล่าว

ประเด็นเรื่องระบบสิทธิต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ระบบอุตสาหกรรมนิยมไม่ว่าจะเป็นค่ายทุนนิยมหรือสังคมนิยมก็ตามที ซึ่งฐานคิดของทุนนิยมเสรีจะเน้นที่สิทธิปัจเจก ด้วยเหตุผลการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ยิ่งผูกขาดทรัพยากร และกีดกันการเข้าถึงของผู้อื่น หรือหวงกันทรัพยากรมาก ขณะที่สังคมนิยมจะเน้นสิทธิของรัฐ ที่รัฐเข้าจัดการทรัพยากรทั้งระบบ อันขาดความหลากหลายของการจัดการ แต่ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมนิยมที่เร่งบริโภคทรัพยากรเพื่อการเติบโตด้วยกันทั้งสิ้น

กลุ่มนักคิดสายทรัพยากรร่วมได้นำเสนอว่า มิใช่ทุกพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของโดยรัฐหรือปัจเจกจะเป็นพื้นที่เสรี แต่มีพื้นที่ทรัพยากรร่วมที่ชุมชนหนึ่งหรือหลายชุมชนได้สร้างข้อตกลงร่วมในการดูแลจัดการทรัพยากร ดังนั้นทรัพยากรร่วมจึงไม่ใช่สมบัติของทุกคน และก็มิใช่เป็นทรัพยากรที่ไม่มีเจ้าของ แต่เป็นทรัพยากรที่มีการจัดการร่วมกันเพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม หรือชุมชนมาแย่งใช้ และมีการจัดสรรการใช้ในหมู่สมาชิกที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ทรัพยากรกรรมสิทธิร่วมจึงเป็นสถาบันสังคมอย่างหนึ่ง เป็นการกระจายสิทธิในการใช้ทรัพยากรให้แก่บุคคลโดยเท่าเทียมกัน โดยสิทธินั้นยังคงอยู่หากไม่ได้ใช้ แต่มิได้หมายความว่า การใช้ทรัพยากรแต่ละครั้งจะต้องเท่าเทียมกันในเชิงปริมาณเสมอไป (ชูศักดิ์,2538)

แม้โดยภาพรวมกลุ่มนักคิดสายทรัพยากรร่วมชองชุมชน จะมีความเห็นตรงกันในเชิงหลักการ แต่ก็มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ในกลุ่มนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเชิงนิเวศวัฒนธรรม จะให้ความสำคัญต่อทรัพยากรร่วมในฐานะเป็นแบบแผนประเพณี หรือกระบวนการทางวัฒนธรรมในการจัดการทรัพยากรที่มีหลักเกณฑ์เชิงคุณค่ากำกับอยู่ ดังเช่น แนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ศีลธรรม ของ Scott (1978) ซึ่งได้อธิบายปรากฏการณ์ระบบการผลิตและการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชุมชนว่า

ระบบเศรษฐกิจของชุมชนมิได้คำนึงการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง แต่อยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงทางอาหาร ความอยู่รอด ที่เกี่ยวโยงกับความสมบูรณ์ของทรัพยากร และความสัมพันธ์ทางสังคมในชุมชนเป็นที่ตั้ง เมื่อใดก็ตามที่มีปัจจัยโดยเฉพาะจากนโยบายและทุนมากระทบต่อปัจจัยดังกล่าว ชุมชนจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิ์

ดังนั้น หากเรานำมาวิเคราะห์เงื่อนไขการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชน จะเห็นได้ว่าในสภาพปกติ การจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชนจะไม่ได้กีดกันการเข้าถึง การใช้ประโยชน์จากภายนอก (Inclusion) ตราบเท่าที่ทรัพยากรยังสมบูรณ์ไม่กระทบต่อฐานความอยู่รอดของชุมชน แต่หากปัจจัยภายนอกกระทบต่อความอยู่รอดของชุมชน กระบวนการปกป้องสิทธิ หรือกีดกันการเข้าถึงในเชิงทำลายล้างจึงเกิดขึ้น (Exclusion) เช่น การกำหนดสิทธิในการใช้เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ซึ่งการใช้จะต้องไม่ทำลายต้นทุนทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ หรือการต่อต้านคนภายนอกที่จะมาใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ

นอกจากแง่มุมในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐศาสตร์ศีลธรรมแล้ว กลุ่มที่สนใจเรื่องสิทธิทรัพยากรร่วมของชุมชน ในส่วนของนักรัฐศาสตร์ เช่น Osrom (1991) หรือนักชีววิทยา เช่น Dawkins (1989,อ้างในสุธาวัลย์,2542) ได้ให้ความสนใจในแง่ประโยชน์ของปัจเจกในระยะยาว โดยวิเคราะห์ว่า

ปัจเจกได้ประเมินถึงผลประโยชน์ต่อระบบสิทธิในการจัดการทรัพยากรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นแบบทรัพยากรเสรี หรือกรรมสิทธิ์ปัจเจก ท้ายที่สุดทรัพยากรก็จะถูกทำลายหมด และหวนกลับมากระทบต่อตัวปัจเจกเอง ดังนั้นเมื่อมองผลประโยชน์ที่จะได้ในระยะยาว ระบบการจัดการทรัพยากรส่วนรวมของชุมชน จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า

อย่างไรก็ตาม สภาวะของระบบทรัพย์สินส่วนรวมของชุมชนก็ไม่ได้มีความคงที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามปฏิสัมพันธ์กับรัฐและระบบทุน ปัญหาที่เกิดกระทบต่อระบบทรัพย์สินส่วนรวมมีหลายแบบ ดังเช่น นโยบายรัฐที่ยึดอ้างกรรมสิทธิ์ของรัฐเหนือระบบทรัพยากรร่วมของชุมชน โดยการประกาศเขตป่าทับที่ชุมชน ทำให้กฎเกณฑ์ของชุมชนขาดความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเผชิญกับอำนาจรัฐที่เข้าแย่งชิงทรัพยากร มีปรากฏการณ์จำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบสิทธิ์ร่วมกลายสภาพเป็นพื้นที่เสรี เนื่องจากรัฐนอกจากจะไม่รับรองสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรส่วนรวมแล้ว ยังสนับสนุนให้ภายนอก หรือแม้แต่รัฐเองเข้ามาตักตวงทรัพยากรของชุมชน ราวกับว่าเป็นทรัพยากรเสรี ในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ได้ดำเนินการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือสนับสนุนให้เอกชนเข้าตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชน ดังนั้นกระบวนการที่รัฐยึดทรัพยากรของชุมชน จึงเป็นการเปลี่ยนสภาพจากทรัพยากรร่วมของชุมชน มาสู่ทรัพยากรรัฐ ซึ่งในทางพฤติกรรมก็เป็นพื้นที่เสรีนั่นเองเพราะรัฐควบคุมไม่ถึง ขณะเดียวกันก็ถ่ายโอนสิทธิการใช้ดังกล่าวให้กับเอกชนเข้าแสวงหาผลประโยชน์ โดยที่รัฐยังคงถือกรรมสิทธิ์อยู่

นอกจากรัฐ แล้วการแทรกแซงของกลไกตลาดก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ระบบทรัพยากรร่วมของชุมชนกลายสภาพเป็นทรัพยากรเสรี หรือกรรมสิทธิ์แบบปัจเจก ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างกันในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน จนทำให้กลไกของชุมชนในการจัดการทรัพยากรไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งการรุกของกลไกตลาดจะสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชนก็สามารถเปลี่ยนทรัพยากรเสรี หรือ Open Access ให้กลายเป็นระบบทรัพย์สินร่วมได้ โดยใช้หลักการจัดการแบบมีส่วนร่วม ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ได้แก่

1) ธรรมชาติของทรัพยากร ว่าเป็นทรัพยากรที่มีขอบเขตชัดเจนไหม
2) เงื่อนไขความต้องการต่อทรัพยากร หากขาดแคลนก็มีปัญหาจัดการยาก
3) ลักษณะผู้ใช้ทรัพยากร เป็นกลุ่มเล็กก็ง่ายต่อการจัดการ
4) ระบบกฎหมายและการเมือง ว่าชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นขนาดไหน หรือถูกปิดกั้น (Bromley and Cernea 1989, อ้างในสันติพงษ์, 2541)

งานศึกษาในประเทศไทย เรื่องชุมชนกับทรัพยากรที่ศึกษาโดยคนไทยและชาวต่างประเทศมีพอสมควร เช่น อุไรวรรณ (2528) Phillip Hirsch (1989,1993) Kunstadter (1978) แต่งานศึกษาที่ทำให้เรื่องระบบทรัพยากรร่วมเป็นประเด็นน่าสนใจขึ้นมา หรือให้ความชัดเจนเรื่องสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรในมุมมองระบบกรรมสิทธิ์ร่วม เริ่มต้นจากงานวิจัยเรื่องวิวัฒนาการบุกเบิกที่ทำกินฯ (เจิมศักดิ์,อ้างแล้ว) มาจนถึงเรื่องป่าชุมชน (เสน่ห์ และยศ,อ้างแล้ว) ในปี 2536 ที่เริ่มต้นกล่าวถึงสิทธิชุมชนในฐานะของระบบการจัดการร่วม มาจนถึงงานศึกษาของชูศักดิ์ (2538) ที่เสนอความเป็นสถาบันร่วมในการจัดการทรัพยากรระหว่างชุมชนกับรัฐ

และล่าสุดงานศึกษาของอานันท์ (2541) ที่ทบทวนแนวคิดเรื่องสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร โดยแยกแยะให้เห็นถึงสิทธิเชิงซ้อน ทั้งการซ้อนหน่วยของสิทธิ เช่น สิทธิปัจเจก ครอบครัว ชุมชน ระหว่างชุมชน และรัฐ ภายใต้ระบบการจัดการร่วมของชุมชน เช่น ที่นาเป็นของปัจเจก แต่ทรัพยากร กบ เขียด ปลาในนา เพื่อนบ้านก็สามารถมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งสิทธิเหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานที่หลากหลาย เช่น สิทธิการใช้หรือการจัดการ สิทธิธรรมชาติ สิทธิหน้าหมู่ เป็นต้น โดยอานันท์ได้เสนอว่า

สิทธิชุมชน ก็เป็นข้อตกลงร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรซึ่งก็จะมีลักษณะเฉพาะไปตามทรัพยากรแต่ละประเภท สิทธิชุมชนจึงมีความหลากหลายและยืดหยุ่นสูง เพราะกฎเกณฑ์ของชุมชนก็ปรับสภาพไปตามเงื่อนไขปัจจัยที่มากระทบ ความซับซ้อนของสิทธิจะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน การตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งยศ (2542) ได้อธิบายถึงการซับซ้อนของสิทธิว่าเป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ที่เป็นพลวัตและการซ้อนทับของระบบกรรมสิทธิ์ในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งดำรงอยู่ในสังคมแห่งใดแห่งหนึ่ง ท่ามกลางความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงและการเจรจาต่อรองที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ระหว่างสมาชิกของชุมชนด้วยกันเองและระหว่างชุมชนกับอำนาจภายนอก

ยศได้ยกตัวอย่างระบบทรัพยากรร่วมของสังคมปกากะญอว่ามีหลากหลาย ป่าและแหล่งน้ำเป็นทรัพยากรร่วม ชุมชนมีประเพณี กฎเกณฑ์การใช้เคร่งครัด จำกัดสิทธิบุคคลภายนอก แต่ที่นา ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ กรรมสิทธิ์บุคคลดังกล่าวก็หาใช่กรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จ (Absolute Rights) แบบตะวันตกที่กีดกันสิทธิ์ (Exclusion) ผู้อื่นเด็ดขาดไม่ ในทางตรงข้ามกลับมีหลักการการให้สิทธิ (Inclusion) เช่น หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงาน ลูกกำพร้า คนยากไร้ สามารถเรียกร้องสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรได้ คือ ขอที่นา ที่ไร่มาทำกิน ด้วยการขอร้องต่อชุมชนผ่านผู้นำ

อย่างไรก็ตาม การใช้แนวคิดเรื่องระบบทรัพยากรส่วนรวม จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงเครือข่ายชุมชนและทรัพยากรประเภทนั้น ๆ อย่างละเอียดรอบคอบและเป็นพลวัต หาไม่แล้วจะนำไปสู่ความสับสนในการวิเคราะห์และเสนอทิศทางที่ผิดพลาด ดังเช่น งานวิจัยเรื่องทะเลชุมชน (กังวาล, 2542) ที่เสนอเรื่องสิทธิประมงหน้าบ้าน (บ้านใครบ้านมัน-ผู้เขียน) ต่อทรัพยากรทะเล ซึ่งเป็นความสับสนในการใช้หลักสิทธิร่วม (Commons) เพราะระบบการพึ่งพิงทรัพยากรทางทะเลของชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถที่จะจำกัดขอบเขตชุมชนใดชุมชนหนึ่งได้ เนื่องจากวิถีการประมงสัมพันธ์กับระบบนิเวศทะเลตลอดชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเลยากที่จะกำหนดขอบเขตชัดเจนตามกลุ่มบ้านดังเช่นทรัพยากรบนบกได้ ระบบสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรทะเลจึงแตกต่างจากป่าชุมชนอย่างมาก ข้อเสนอประมงหน้าบ้านจึงไม่สอดคล้องกับสภาพชุมชนและทรัพยากรที่เป็นจริงเท่าใดนัก

โดยรวมแล้ว ระบบทรัพยากรร่วม (Common Property Resources) ของชุมชน เป็นกรอบใหญ่ที่ชุมชนใช้จัดการทรัพยากร โดยสร้างข้อตกลง กติกา ทั้งที่เกิดจากประเพณี เป็นข้อตกลงทางการ ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน ระหว่างชุมชน และกับภายนอก ต่อการใช้ การจัดการทรัพยากร ซึ่งมีความหลากหลายไปแต่ละชนิด ประเภท และสถานะของทรัพยากรนั้น ๆ ซึ่งฐานคิดของการสร้างข้อตกลงอาจจะเป็นเรื่องของหลักเศรษฐศาสตร์ศีลธรรม หรือหลักประโยชน์นิยมที่สมาชิกในชุมชนเห็นประโยชน์ที่จะได้ในระยะยาวก็ตามที และภายใต้ระบบทรัพยากรร่วมก็จะมีสิทธิเชิงซ้อนหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สาธารณะ ที่สัมพันธ์กันอย่างหลากหลาย

กระบวนการสร้างข้อตกลงร่วมของชุมชนในการจัดความสัมพันธ์ชองสิทธิต่อทรัพยากร เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ที่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งจากนโยบายรัฐ กลไกตลาด ในหลายกรณีกลไกภายนอก เช่น การเข้ามาของระบบสิทธิปัจเจก การอ้างกรรมสิทธิ์ของรัฐ และการแทรกแซงอื่น ๆ ได้ทำให้ระบบทรัพยากรร่วมเปลี่ยนแปลงไป ชุมชนที่เข้มแข็งอาจสามารถนำระบบกรรมสิทธิ์ประเภทต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในระบบทรัพยากรร่วมที่ชุมชนจัดการบนฐานความเท่าเทียมและยั่งยืนได้ แต่หลายชุมชนที่ระบบสิทธิเปลี่ยนไปในตรงกันข้าม จนเกิดความขัดแย้ง ความแตกต่างในการเข้าถึง และครอบครองทรัพยากร อันส่งผลต่อทำลายสถาบันชุมชนได้ในที่สุด นั่นย่อมหมายถึงการแตกสลายของระบบการจัดการทรัพยากรร่วม ที่อาจกลายสภาพเป็นกรรมสิทธิ์ปัจเจก และพื้นที่เสรี (Open access) แต่ในหลายกรณีชุมชนเองก็อาจสามารถเปลี่ยนสภาพทรัพยากรเสรีให้กลายเป็นระบบทรัพยากรร่วมขึ้นมาได้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของทรัพยากรนั้น ๆ ต่อชุมชน

ดังนั้นระบบสิทธิทรัพยากรร่วมของชุมชน หรือสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากร เป็นทั้งกระบวนการต่อสู้ และเป็นสถาบันการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนที่มีพลังในการจัดการอย่างยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม โดยเป็นการเปิดมิติมุมมองใหม่ต่อระบบการจัดการทรัพยากรเดิม ที่เน้นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และปัจเจก อันเป็นสาเหตุสำคัญของความเสื่อมโทรมทรัพยากรธรรมชาติ และช่องว่างของสถานะความเป็นอยู่ของกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่าเทียมกัน

แต่ทิศทางนโยบายและองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรกระแสหลักกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ยิ่งทรัพยากรเสื่อมโทรมยิ่งใช้ระบบกรรมสิทธิ์รัฐและปัจเจกเข้าจัดการ โดยเฉพาะในกระแสเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ที่ผลักดันให้ถ่ายโอนระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐต่อทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า สู่กรรมสิทธิ์ปัจเจก หรือเปลี่ยนถ่ายการผูกขาดจากรัฐสู่เอกชน (Privatization) และเคลื่อนย้ายภายใต้ระบบตลาดเสรี ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชนที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย เหมาะสมกับภูมินิเวศวัฒนธรรมนั้น ๆ หรือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนต่อทรัพยากร และเมื่อระบบร่วมล้มเหลวส่งผลต่อความอยู่รอดของชุมชน ก็อาจกล่าวได้ว่า นโยบายรัฐหรือทุนได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของปัจเจกและชุมชน

กล่าวโดยสรุปแล้ว สิทธิชุมชน จึงเป็นทั้งแนวคิดและยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชนที่เผชิญปัญหาทางโครงสร้างจากรัฐและทุนที่ทำลายความอยู่รอดของชุมชน ซึ่งชุมชนอาศัยรากฐานทางทรัพยากร วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจของตนเองที่เหมาะสมกับภูมินิเวศวัฒนธรรม และเงื่อนไขทางสังคมของตนเอง เมื่อทรัพยากรถูกทำลาย ความเป็นชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเฉพาะถูกกลืนกลาย หรือระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่พึ่งตนเองถูกครอบงำให้พึ่งพาต่อภายนอก อันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ ศักดิ์ศรีของชุมชนถูกละเมิด นัยของสิทธิชุมชนจึงเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชุมชน กับรัฐและสังคมให้นำมาสู่ความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายของสังคม (Pluralistic Society) ซึ่งมีความลึกซึ้ง ชัดเจนกว่าวาทกรรมเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ ประชาสังคม ที่ปัจจุบันถูกรัฐบิดเบือนจนขาดพลังในการต่อสู้ในปัจจุบัน

สิทธิชุมชนได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากฐานปรัชญาชุมชนนิยม อันเป็นนวัตกรรมทางสังคมจากภาคประชาชน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีพลวัต มีการลื่นไหลไปตามขบวนการต่อสู้ที่ประชาชนสร้างวัฒนธรรมสิทธิชุมชนขึ้นมาในบริบทเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งมีการศึกษาจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ใน 2 ระดับสำคัญ คือ

สิทธิชุมชนในฐานะอุดมการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชน ภายใต้ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ที่รัฐและทุนได้กันชุมชนออกไปสู่ชายขอบในเชิงอำนาจ แต่ก็ผนวกกลืนกลายวัฒนธรรมให้มาสู่กระแสหลัก อุดมการณ์สิทธิชุมชนจึงเกิดขึ้นเพื่อการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจกับรัฐ ทุน สังคม และชุมชน ให้เกิดความเท่าเทียม และทลายระบบการผูกขาดทั้งด้านนโยบาย ความรู้ การจัดการที่มีอยู่ ให้เกิดความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ชุมชนสามารถกำหนดตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สิทธิชุมชนในฐานกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมดังกล่าว จึงมีความหลากหลายตามเงื่อนไข บริบทของชุมชน เช่น สิทธิชุมชนต่อทรัพยากร วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การปกครองตนเอง โดยทั้งนี้ชุมชนได้ใช้ยุทธศาสตร์หลายแบบ ทั้งการผลักดันเชิงนโยบายโดยตรง การสู้ทางวาทกรรม การใช้อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เป็นตัวขยายพื้นที่ทางสังคม เพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจ ดังนั้นสิทธิชุมชนในแนวคิดดังกล่าว จึงมีความสำคัญที่จะใช้ศึกษาทั้งรูปแบบการละเมิดสิทธิ กระบวนการนิยามสิทธิของชุมชน การใช้ยุทธศาสตร์สิทธิชุมชนในการต่อสู้

จากฐานคิดระดับดังกล่าว ได้เชื่อมโยงมาถึงรูปธรรมของสิทธิต่อการจัดการทรัพยากร อันเป็นประเด็นสำคัญของการละเมิดสิทธิชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งจากการศึกษาถึงระบบการจัดการทรัพยากรของชุมชนทั่วโลก พบว่า นอกเหนือจากระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ และปัจเจกในการจัดการทรัพยากรที่เป็นกระแสหลักทั่วโลกที่นับว่าจะประสบความล้มเหลวทุกขณะ ปรากฏว่าชุมชนได้พัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรร่วมบนพื้นฐานความยั่งยืนและเป็นธรรมขึ้นมา อันเป็นการโต้แย้งแนวคิดที่ว่า หากไม่มีกรรมสิทธิ์รัฐและปัจเจกแล้วทรัพยากรจะถูกทำลายเพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ

งานศึกษาด้านทรัพยากรร่วมได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของสิทธิ และพลวัตที่ชุมชนปรับตัวในการจัดการทรัพยากร ซึ่งชุมชนจะจัดความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และฐานทรัพยากรได้อย่างไรนั้น สัมพันธ์กับเงื่อนไขปัจจัยจากนโยบายรัฐและทุนที่เข้ามากระทำ แต่สิ่งที่งานวิจัยทั้งหมดยืนยันตรงกันว่า หากจะมองการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ความสำคัญ และสนับสนุนระบบการจัดการทรัพยากรร่วม เพื่อมาถ่วงดุลระบบการจัดการกรรมสิทธิ์รัฐและปัจเจก หรือมาจัดความสัมพันธ์เชิงซ้อนอย่างไร ซึ่งยากที่จะหาสูตรสำเร็จได้ โดยเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่เราจะต้องพยายามทำความเข้าใจถึงพลวัตและยกระดับเป็นแนวทางนโยบายและกฎหมายให้ได้

ท้ายที่สุดการทำความเข้าใจและพัฒนาระบบสิทธิชุมชน ยังได้ถูกคาดหวังถึงทิศทางข้างหน้าดังที่เสน่ห์ (2542) กล่าวว่า สิทธิชุมชนมิใช่เป็นสิทธิที่ชุมชนใช้ปกปักรักษาทรัพยากร หรือตัวตนของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิที่ชุมชนจะสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอื่น ๆ อันสอดคล้องกับหลักการของการสร้างสิทธิที่ว่า สิทธิที่เจ้าของจะอ้างความชอบธรรมของตนเองได้ หาใช่เป็นสิ่งที่เจ้าตัวกำหนดฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการยอมรับจากสังคมไปพร้อมกัน การสร้างการยอมรับโดยขบวนการเคลื่อนไหว ผลักดันเชิงนโยบาย การต่อสู้ทางวาทกรรมก็เป็นหนทางที่สำคัญ ซึ่งหากขบวนการสิทธิชุมชนได้ทำให้สังคมเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ หรือผนวก (Inclusion) สังคมได้ร่วมรับผลประโยชน์จากชุมชนบนพื้นฐานที่ไม่ไปละเมิดสิทธิชุมชน ขณะเดียวกันสังคมก็มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนด้วย ก็จะทำให้สิทธิชุมชนจะมีความยั่งยืน อันจะเป็นหลักประกันสำคัญของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในท้ายที่สุด

5. บทสรุป
กล่าวโดยสรุปพัฒนาการข้อถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของขอบเขตของคำว่า "สิทธิมนุษยชน" แสดงให้เห็นพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางเศรษฐกิจ-การเมือง 4 ยุค โดยมีเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปรัชญารากฐาน ขอบเขตความหมาย และปฏิบัติการที่แตกต่างกันออกไปคือ

ช่วงที่ 1 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคสงครามเย็น นิยามความหมายของสิทธิมนุษยชนภายใต้สิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นได้จากความสนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบซึ่งเกิดจาก ฐานะและการดำรงอยู่ของผู้ปกครองแบบเผด็จการทหาร ซึ่งใช้ตัวบทกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้น รวมทั้งผลการบังคับใช้ตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการพิมพ์ การตรวจตราข่าวสารหนังสือพิมพ์ สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกตั้ง ฯลฯ

ช่วงที่ 2: ในบริบทสากล สิทธิมนุษยชนได้ขยายจากการมุ่งจำกัดอำนาจรัฐ ไปสู่สิทธิที่เรียกร้องต่อรัฐให้ดำเนินการทางสังคม หรือ "สิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคม" ดังสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 1948 แยกออกเป็นสองด้าน ได้แก่ สิทธิทางการเมืองและทางแพ่ง จากฝ่ายเสรีนิยม และสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม บนพื้นฐานของอุดมการณ์แบบเสมอภาคนิยม ซึ่งต่อมาได้ขยายไปสู่สิทธิในการพัฒนา สิทธิในการมีสันติภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ หรือสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ หรือเรียกรวมๆ ในนามสิทธิของประชาชน (People' Rights)

ช่วงที่ 3 ในสังคมไทยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ให้ความสนใจปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากปัญหาการพัฒนาเช่น ปัญหาของเกษตรกร ชาวนา ฯลฯ เน้นไปในเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยชี้ให้เห็นว่า ผลของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา ส่งผลให้ช่องว่างของการกระจายรายได้ภายในสังคมมีมากขึ้น คนในชนบทขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอ

ช่วงที่ 4 งานเขียนส่วนนี้ได้ชี้ให้เห็นการเกิดขึ้นของกระแสสิทธิชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน รัฐและทุนได้รุกเข้าไปในพื้นที่ชายขอบของสังคม โดยเฉพาะการเข้าไปแย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติในชนบท กระแสสิทธิชุมชนจึงเกิดขึ้น โดยเป็นทั้งแนวคิดและยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชนที่เผชิญปัญหาทางโครงสร้างจากรัฐและทุน ที่ทำลายความอยู่รอดของชุมชนซึ่งฐานทรัพยากร วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจของตนเองในภูมินิเวศวัฒนธรรม เมื่อทรัพยากรถูกทำลาย ความเป็นชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเฉพาะถูกกลืนกลาย ศักดิ์ศรีของชุมชนถูกละเมิด นัยของกระแสสิทธิชุมชนจึงเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชุมชน กับรัฐและสังคมให้นำมาสู่ความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายของสังคม

 

เอกสารอ้างอิง
กระทรวงการต่างประเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศ.
2523. "ประมวลความตกลง อนุสัญญาระหว่างประเทศและหลักสากล เกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือให้การสนับสนุน", กระทรวงการต่างประเทศ : กรุงเทพฯ.

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ.
2540. "รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี พ.ศ. 2539" กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย : กรุงเทพฯ.

กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม.
2521. "กรรมกรอ้อมน้อยและปัญหาสิทธิมนุษยชน", กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม: กรุงเทพฯ.
2528 "สถานการณ์สิทธิมนุษยชน. 2528.", กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม : กรุงเทพฯ.

กุลพล พลวัน,
2538 "ปัญหาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติ 2487-. 2516. ", วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ.
2538. "พัฒนาการแห่งสิทธิมนุษยชน", สำนักพิมพ์วิญญูชน : กรุงเทพฯ. 000000000 เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. 2521. "ที่ดินกับชาวนา "ปฏิรูป" หรือ "ปฏิวัติ", จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ.
2528. "การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย", เจริญวิทย์การพิมพ์ : กรุงเทพฯ.

โกศล โสภาคย์วิจิตร์.
2520. "การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ", คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ, 2520.
2523. รายงานผลการวิจัย "การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย", กรุงเทพฯ.

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.).
2540. "เหลียวหลังแลหน้าองค์กรพัฒนาเอกชนบนเส้นทางงานพัฒนา", คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กรุงเทพฯ.
2529. "ประสบการณ์และแนวคิดงานสิทธิมนุษยชนในชนบท", เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี กป.อพช.เขตอีสานใต้ 20-23/11/29 เนท จ.สุรินทร์ และกป.อพช.ภาคอีสาน 12-14/12/29 ท่าพระ จ.ขอนแก่น.

คณะกรรมการประสานงานองค์การสิทธิมนุษยขนในประเทศไทย(กปส.).
2527. "สิทธิราษฏรไทย",คณะกรรมการประสานงานองค์การสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย(กปส.): กรุงเทพฯ.
2539. "สถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปี 2539 " คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน(กปส.): กรุงเทพฯ.
2540. "สิทธิมนุษยชน", รวบรวมโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน(กปส.): กรุงเทพฯ.

โครงการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนา.
2539. "สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาสังคม" เอกสารประกอบการสัมมนา จัดโดยโครงการศึกษาทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์การสิทธิมนุษยชน 6 กันยายน พ.ศ. 2539.

จรัญ โฆษณานันท์.
2528. "กฎหมายกับสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย : เส้นขนานจาก 2475", กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม : กรุงเทพฯ.
2538. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "ปัญหาสิทธิมนุษยชน วิถีเอเชีย และวัฒนธรรมไทย" จัดโดย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรรม : กรุงเทพฯ, 21-22 กันยายน.

จอนห์ (John Stuart Mill). 2530. "ความเรียงว่าด้วยเสรีภาพ", สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจัดแปลและจัดพิมพ์: กรุงเทพฯ.

เจริญ คัมภีรภาพ.
2529. รายงานวิจัย "สิทธิมนุษย์ : ทฤษฎีและการปฏิบัติในสังคมไทย", สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : กรุงเทพฯ, 2529.
2531. รายงานการศึกษาเรื่อง "เส้นทางเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน", มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา และมูลนิธิเอเชีย: กรุงเทพฯ.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.
2541. ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพฯ.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ.
2541. ทฤษฎีและแนวคิด เศรษฐกิจชุมชนชาวนา, โครงการวิถีทรรศน์ ชุดภูมิปัญญา ลำดับที่ 7, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย: กรุงเทพฯ.

เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. 2530. ปรัชญาสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีในสังคมไทย, กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม, กรุงเทพฯ.

ชัชชัย คุ้มทวีพร. 2540. จริยศาสตร์:ทฤษฎีและการวิเคราะห์ปัญหาจริยธรรม, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, กรุงเทพฯ.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2540. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่/ขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมในต่างประเทศ, กรุงเทพฯ :ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก.

ชไมพรรณ สุวัตถี. 2532. บทบาทสถานภาพขององค์กรสิทธิมนุษยชนในการเมืองไทย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ทองใบ ทองเปาด์. 2530. สิทธิมนุษยชน : สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของมนุษยชน 12 ช้อ สิทธิของพลเมืองในคดีอาญา, โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง 2 : สระบุรี.

ณฐกร ศรีแก้ว. 2541. กลไกสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในรอบ 50 ปี (ฉบับร่าง), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และคณะทำงานไทยเพื่อจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคอาเซียน.

นพนิธิ สุริยะ. 2537. สิทธิมนุษยชน (แก้ไขเพิ่มเติม), สำนักพิมพ์วิญญูชน : กรุงเทพฯ.

นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ. 2538. "กลุ่มเศรษฐกิจของชาวบ้าน : ความสำเร็จและการอยู่รอด". รายงานประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2538. มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย 9-10 ธันวาคม.

บันลือ คงจันทร์. 2533. สิทธิประชาชนทั่วไป, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) : กรุงเทพฯ.

บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ. 2540. บทวิเคราะห์ความรุนแรงของสถานการณ์ความปลอดภัยในสถานประกอบการ บทเรียนจากเพลิงนรกเคเดอร์ ถึงรอเยล จอมเทียน. ใน มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน. คนปลอดภยต้องมาก่อน , หน้า 1-30. กรุงเทพมหานคร : จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2540.

ประชาปสนนธมโน(พระ) มหาศักดิ์ เตชสีโล(พระ) และนิพนธ์ แจ่มดวง. ม.ป.ป. รายงานการวิจัยเรื่อง "สิทธิมนุษยชนกับงานของพระสงฆ์ในชนบท", ม.ป.ท.ประเสริฐศุภมาตรา, ขุน. 2477. หนังสือว่าด้วยกฎหมายภาคสิทธิ, โรงพิมพ์นิติศาสตร์ : กรุงเทพฯ.

พจนา จันทรสันติ(แปล). 2540. หลักการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หลักการของประชาชน (Asian Human Rights Commission Asian Legal Resource Centre) ประกาศ ณ เมืองกวางจู เกาหลีใต้ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2540.

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. 2530. สัมมนาสิทธิมนุษยชนและสิทธิเพื่อปวงชน: พิจารณาจากสังคมไทย (เอกสาร), สมาคมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา : กรุงเทพฯ.

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม, เอกสารประกอบการฝึกอบรม. 2530. สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา : สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย, กรุงเทพฯ.

มาลี พฤกษ์พงศาวดี และอัญมณี บูรกานนท์.
2526. สถานการณ์ทั่วไปทางสิทธิมนุษยชนของเยาวชนในประเทศไทย, สถาบันไทยคดีศึกษา คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: กรุงเทพฯ.

2527. ประวัติกฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กในประเทศอังกฤษและสิทธิทางด้านแรงงาน : ปัจจัยพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : กรุงเทพฯ, ม.ป.ป.

มาลี พฤกษ์พงศาวดี และสุดารัตน์ ศุภพิพัฒน์.
2527. การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากสตรีไทย กับปัญหาสิทธิมนุษยชน, สถาบันไทยคดีศึกษา และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: กรุงเทพฯ.

วีระพล สุวรรณนันต์ และจตุพร วงษ์ทองสรรค์. 2526. สิทธิมนุษยชน : สิทธิผู้บริโภค, สถาบันไทยคดีศึกษา คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : กรุงเทพฯ.

ศราวุฒิ ประทุมราช และสุรัสวดี หุ่นพยนต์.
2541. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในรอบ 50 ปี (ฉบับร่าง), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน. สถาบันกลางช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย.
2530. สรุปผลการสัมมนาเรื่อง การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายกับงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จัดโดย สภาผู้แทนราษฏร ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันกลางช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.) หนังสือพิมพ์มติชน 21-23 กันยายน พ.ศ. 2530.

สมพจน์ สมบูรณ์.
2524. พระศาสนจักรกับสิทธิมนุษยชน, เจริญวิทย์การพิมพ์: กรุงเทพฯ. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.).
2531. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง " 15 ปี สิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวโน้มในอนาคต" วันที่ 10-11 ธันวาคม พ.ศ. 2531.

สุธาวัลย์ เสถียรไทย,ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, สุธาริน คูณผล และชูศักดิ์ วิทยาภัค. 2538. แนวคิดและวรรณกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพยากรกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย, สถานภาพไทยศึกษา : การสำรวจเชิงวิพากษ์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สุธาวัลย์ เสถียรไทย. 2542. ชีววิทยาและเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องสิทธิ (Property rights): ความสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน, จากวิกฤติเศรษฐกิจสู่ประชาสังคม, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 60 ปี อาจารย์อัมมาร สยามวาลา, นิพนธ์ พัวพงศกร (บรรณาธิการ) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พฤษภาคม.

สุวิชช พันธเศรษฐ์. 2511. องค์การสหประชาชาติกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์, โรงพิมพ์อักษรบริการ: พระนคร.

เสถียร วิชัยลักษณ์. 2496. กฏบัตรสหประชาชาติกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน , โรงพิมพ์นิติเวชช์: พระนคร.

เสน่ห์ จามริก และจตุรงค์ บุณยรัตรสุนทร(บก.).
2531. พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย , สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน: กรุงเทพฯ.
2531. พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: กรุงเทพฯ.

เสน่ห์ จามริก และยศ สันตสมบัติ (บก.). 2536. ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา (เล่ม 1 ป่าฝนเขตร้อนกับภาพรวมของป่าชุมชนในประเทศไทย), กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

เสน่ห์ จามริก.
2541. "เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน" ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 1999-2000, โครงการวิถีทรรศน์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
2542. สิทธิชุมชนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม, เอกสารสัมภาษณ์ประกอบเวทีเสวนา สิทธิชุมชนในสายธารโลกาภิวัตน์, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน. เสรี ไชยสุต(พ.อ.). 2509. "สิทธิและหน้าที่ของประชาชน", วิทยานิพนธ์วิทยาลัยกองทัพบก: พระนคร.

สันติ จียะพันธ์. 2539. ความขัดแย้งในแนวคิดระหว่างรัฐกับสังคมเรื่องสิทธิของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สันติพงษ์ ช้างเผือก. 2541. "เรื่องเล่าว่าด้วย: ทรัพย์สินส่วนรวมและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร" บทความปริทรรศน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อรศรี ธวะภาค. 2511. การศึกษามีส่วนช่วยและส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร, กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ: พระนคร.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2541. สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร : สถานภาพการศึกษาเกี่ยวข้องกับวิธีคิด, โครงการวิจัยชุมชนกับการจัดการทรัพยากร, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

อิสรา ทยาหทัย. สถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2527 (เอกสาร), กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม(กศส.): กรุงเทพฯ.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2539. มองเศรษฐกิจการเมืองไทยผ่านการเคลื่อนไหวของสมาคมธุรกิจ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คบไฟ.

อุไรวรรณ ตันกิมหยง. 2528. "องค์กรสังคมในระบบชลประทานเหมืองฝายและการระดมทรัพยากร: เปรียบเทียบระหว่างชุมชนบนที่สูงและชุมชนพื้นราบในภาคเหนือของประเทศไทย", สังคมศาสตร์ 7(1)เมษายน 2527-ตุลาคม 2528

 

เอกสารอ้างอิง ภาษาอังกฤษ
American Anthropology Association.
1999, "Declaration on Anthropology and Human Rights", www.ameranthassn.org/chrdecl.htm.

Bromley, Daniel.
1992, Making the Commons Work. Sam Francisco: ICS.

Ciriacy-Wantrup, S.V., and R.C.Bishop.
1975. "Common Property" as a Concept in Natural Resources Policy, Natural Resources Journal 15(4):713-27.

Cladis, S. Mark.
1992. A Communitarian defense of Liberalism, Emile Durkheim and contemporary social theory, Stanford University press, California.

Gustavo Esteva and Madhu Suri Prakash
1998, Grassroots Post-Modernism: Remaking the soil of cultures, ZED books.

Hirsch, Phillip.
1989. "Forests, Forest Reserve, and Forest Land in Thailand," The Geographical Journal.156: 2 (166-74)

1993. "The State in the Village: Case of Ban Mai," in The Ecologist, 23/6:205-211.Howard, E. Rhoda.
1992. Dignity, Community, and Human Rights, Human Rights in Cross-Cultural Perspectives: A Quest for Consensus, Edited by Abdullani An-Na'im, University of Pensyvania Press.

Kunstadter, Peter, E.C. Chapman and Sanga Sabhasri (eds).
1978. Farmers in the forest: Economic Development and marginal Agriculture in Northern Thailand. Honolulu: The East-West Center.

McDonald, Michael.
1992. Should Communities Have Rights? Reflections on Liberal Individualism, Human Rights in Cross-Cultural Perspectives: A Quest for Consensus, Edited by Abdullani An-Na'im, University of Pensyvania Press.

Ostrom, E.
1991. Governing the Commons: the Evolution of Institutions for Collective Action. Cambridge University Press.

Scott, J.C.
1976. The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and subsistence in Southeast Asia, New Haven: Yale University Press

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

จากสิทธิมนุษยชนสู่สิทธิชุมชน:
วิวาทะเสรีนิยมกับชุมชนนิยมในสังคมไทย

ประภาส ปิ่นตบแต่ง และกฤษฎา บุญชัย
บทความชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย"นโยบายรัฐกับการละเมิดสิทธิชุมชน"
ภายใต้ชุดโครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล
ซึ่งมี ศ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน โดยการสนับสนุนของจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

1.ความนำ
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (2528) ได้กล่าวไว้ว่า "สิทธิมนุษยชนมิใช่ข้อบัญญัติ หรือประเด็นปัญหาในทางกฎหมายเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือในรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นเงาสะท้อนของแนวทางที่ประกอบด้วยฐานคิด และเกณฑ์คุณค่าที่ต่อสู้กันมาเป็นเวลานานทั้งในระดับโลกและในสังคมไทยเอง" ฐานการวิเคราะห์แนวความคิด "สิทธิมนุษยชน" จึงต้องสัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคมนั้นๆ และเชื่อมโยงทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลกอย่างเป็นพลวัตร และสะท้อนมาจากขบวนการต่อสู้ของประชาชนที่พัฒนามาจากฐานความคิดที่หลากหลาย ตามพัฒนาการเงื่อนไขประวัติศาสตร์ของสังคม (จรัญ โฆษณานันท์ (ผู้แปล), 2528) รายงานวิจัยบทนี้จะชี้ให้เห็นพัฒนาการของฐานคิดสิทธิทางแพ่งและการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนที่ปฏิสัมพันธ์กับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในแต่ละยุค

2. แนวคิดสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในยุคสงครามเย็น
Ravidran (1998) ได้ชี้ให้เห็นว่า "สิทธิมนุษยชน ถูกบัญญัติขึ้นมา ภายใต้บริบทของขบวนการประชาชนที่ต่อต้านการครอบงำของระบอบศาสนจักร และระบอบกษัตริย์ในยุค