หากปราศเสียซึ่งกฎหมายห้ามหรือ
การลงโทษทางสังคมแล้ว เราจะมีคนไข้
IVF อายุ 63 ปี หรือแม่ผู้มีลูกครึ่งคนครึ่งลิงเอป หรือพ่อผู้ปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบครอบครัวของตนอยู่ในสังคมอย่างแน่นอน
กฎหมายไม่ได้ถูกจารึกบนหิน มันเป็นเพียงเสาบอกทาง เป็นเครื่องมือที่เราใช้สร้างสิ่งกีดขวางที่สามารถแทรกซึมได้บ้างระหว่างคนรวย
แพทย์ผู้รักษาและเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นไปได้แต่ยังมีปัญหาเชิงศิลธรรมกำกับอยู่
การสั่งห้ามเป็นเพียงสิ่งที่ใช้อุดช่องโหว่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เอกสารสั่งประหาร
การออกกฎหมายห้ามงานด้านพันธุวิศวกรรม โดยใช้อ้างเหตุผลจากการคาดการณ์แบบหลวมๆที่หล่นมาจากฟ้า - เช่นตัวอย่างเรื่องเด็กครึ่งคนครึ่งลิงของคุณ - เปรียบได้กับการห้ามใช้แลบทอปเพื่อปกป้องเราจากสมองชั้นยอดที่จินตนาการเรื่องนิยายวิทยาศาสตร์ เราควรจะชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างอันตรายที่เกิดขึ้นทันทีและความเป็นไปได้ โดยไม่พยายามที่จะทำตัวให้เหมือนกับหญิงแก่ผู้มีหน้าที่ควบคุมอนาคตอันไกลที่ยังมองไม่เห็น
ชื่อต้นฉบับบทความ"วิวาทะจริยธรรมสำเนาพันธุ์" แปลโดย ผศ.สดชื่น วิบูลยเสข คณะวิทยาศาสตร์ มช.
นำความ: ข่าวของลูกแมวสำเนาพันธุ์(cloning) ชื่อ ซีซี (cc) ซึ่งถือกำเนิดเมื่อสองเดือนที่แล้ว (22 ธันวาคม 2544) ผลผลิตจากงานวิจัยของวิทยาลัยสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย Texas A & M ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการแถลงข่าวของมหาวิทยาลัยว่า ความสำเร็จในการสำเนาพันธุ์มนุษย์อยู่แค่เอื้อม ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรมในการสำเนาพันธุ์มนุษย์ขึ้นอย่างกว้างขวาง ในบทความนี้ Gregory Stock นักฟิสิกส์ชีวภาพ และ Glenn McGee นักจริยธรรมชีวภาพ สนทนาโต้ตอบแสดงความเห็นต่างขั้วของตน
cc แมวสำเนาพันธุ์ตัวแรกของโลก
Stock: ชะตากรรมของแกะสำเนาพันธุ์ตัวแรกของโลก "ดอลลี่" พัดพากระแสฮือฮาเกี่ยวกับการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองมนุษยชาติจากการเผชิญชตากรรมเดียวกับแกะตัวนั้นให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จะว่าไปแล้ว ปฎิกิริยาตอบสนองแบบวูบวาบดังกล่าวมิได้มีพื้นฐานมาจากการตระหนักรู้อย่างแท้จริงถึงอันตรายจากทุกแง่มุมของการสำเนาพันธุ์ ตรงกันข้าม ผมมองว่าปฏิกิริยานี้มาจากความโกรธแค้นและความอับอายที่ซ่อนลึกอยู่ภายในว่า อำนาจของชีววิทยาเชิงโมเลกุล กำลังหันกลับมาหาการสืบสายพันธุ์ของมนุษย์ และตั้งเป้าสู่เอกลักษณ์ของมนุษย์เสียมากกว่า การยักย้ายถ่ายเทเชื้อพันธุ์ของมนุษย์กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว และเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถจะปัดความรับผิดชอบที่ต้องเผชิญด้วยคำพูดว่า "นี่เป็นเรื่องของคนยุคหน้า" ได้อีกต่อไป
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
ไม่ต้องกังขาเลยว่าความเป็นไปได้ของการสำเนาพันธุ์มนุษย์จะทำให้เซลล์สีเทาในสมองมนุษย์ต้องทำงานเพิ่มขึ้น มนุษย์ต้องใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ยิ่งกว่ายุคไหนๆเพื่อที่จะพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ แต่นั่นย่อมมิใช่เหตุผลสำหรับการระงับหรือเพิกถอนการค้นคว้าเรื่องดังกล่าว
ร่างประกาศขององค์การยูเนสโก(UNESCO)ที่ว่าการสำเนาพันธุ์มนุษย์และวิศวกรรมสายพันธุ์เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับ "ความสง่างามแห่งเกียรติภูมิมนุษย์" นั้นคืออวิชชาโดยแท้ มีอันตรายใดหรือในโลกแห่งความจริงที่เป็นหลักฐานสนับสนุนให้เรา "ทำแท้ง" โอกาสที่จะได้เรียนรู้ถึงวิธีการรักษาซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการกระโดดข้ามของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่มหัศจรรย์นี้? อย่าลืมว่าผลประโยชน์เชิงการแพทย์ที่มาจากวิศวพันธุกรรมนั้นมีศักยภาพมหาศาลเกินกว่าที่เราจะยอมให้ความหวาดกลัวที่เลื่อนลอยมาขับเคลื่อนนโยบายของเรา เมื่อเทคโนโลยีที่ใช้ปลอดภัยพอและเชื่อถือได้ เราก็น่าจะประยุกต์ใช้กับคนได้ โดยมีมาตรการป้องกันการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร สำหรับผม คิดว่ากลไกที่ใช้จัดการควบคุมเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันนั้นพอเพียงและดีมากแล้ว เมื่อขึ้นเครื่องชั่งระหว่างอัตราเสี่ยงและผลตอบแทน
McGee: ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในวิชาชีพของผมเฝ้าสังเกตท่าทีทั้งสองด้านของคนเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีชีวภาพ โดยทั่วไปก็มีอยู่สองประเภท คือประเภทที่ตกหลุมรักกลิ่นอายของการสำเนาพันธุ์ กับประเภทที่ต้องการเอามันไปขังลืมไว้ตลอดไป แต่ความคิดเห็นของผู้รู้กลับไม่แยกขั้วอย่างชัดเจนเสมอไป "สาวก" ทางเทคโนโลยี มองการสำเนาพันธุ์ว่าเป็นการ "ไถ่บาป" ของมนุษยชาติ ขณะที่ผู้ที่ไม่ชื่นชอบเทคโนโลยีชีวภาพแย้งว่าเทคโนโลยีถูกลิขิตมาให้ทำลายมนุษย์ และเรียกร้องให้ห้ามการศึกษาเรื่องนี้โดยสิ้นเชิงอย่างเด็ดขาด
แต่จะมีอะไรที่เป็นกลางๆออกมาบ้างไหม? Stock ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า โดยอ้างว่าคณะกรรมาธิการรัฐบาลสามารถตัดสินได้ว่าเมื่อใดจึงจะนำการสำเนาพันธุ์ออกสู่ตลาด - คนประมาณหนึ่งโหลนั่งอยู่บนหอคอย แล้วตัดสินใจว่าควรจะให้อะไรดำเนินต่อไป และควรจะหยุดยั้งอะไรบ้าง ขณะที่แพทย์และครอบครัวยืนรอคำตอบอยู่ข้างนอก ผมคิดว่าสถานการณ์อย่างนี้คือความหายนะ เราต้องสั่งห้ามการศึกษาหรือการทำสำเนาพันธุ์ อย่างน้อยที่สุดก็ในระยะสั้น ไม่ใช่เพราะว่าการสำเนาพันธุ์เป็นสิ่งเลวร้ายในหลักการ หรือเป็นบาป หรือเป็นอันตราย แต่เพราะสังคมยังไม่มีความรอบรู้ที่ลุ่มลึกอย่างมีสติโดยส่วนรวมในการสนทนาทั่วไปเกี่ยวกับการสำเนาพันธุ์ และพันธุกรรมสืบพันธุ์ ที่สำคัญยังไม่มีฉันทามติว่าเราควรมีเสรีภาพเพียงใดในการเปลี่ยนแปลงหน่อเนื้อเผ่าพันธุ์ของเรา
ในหนังสือเล่มล่าสุดของผม "The Perfect Baby : A Pragmatic Approach to Genetics" ผมได้ชี้ให้เห็น(และอาจทำให้ใครบางคนรู้สึกผิดหวัง)ว่า เรา นักจริยธรรมชีวภาพไม่ได้ขยับตัวทำอะไรเลยเพื่อช่วยให้ครอบครัวและปัจเจกยอมรับเรื่องของพันธุกรรม แพทย์ประจำบ้านทั่วไป ไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ นักศาสนาไม่รู้จักคำว่าสายพันธุ์ และผู้คนในเมืองก็ไม่เคยนำเอาเรื่อง การทดลอง BRCA - 1 มาเป็นหัวข้อสนทนาขณะบริโภคอาหารเช้า เรารีบร้อนตัดสินเรื่องการสำเนาพันธุ์ เพราะเราไม่มีสิ่งใดที่จะใช้นำทางประกอบการตัดสินใจ พวกที่ต่อต้านการสั่งห้ามศึกษาการสำเนาพันธุ์ ให้เหตุผลว่าทุกคนควรมีสิทธิที่จะตัดสินใจเอง - แต่สิ่งที่เขาลืม คือคำถามว่า ตัดสินใจอย่างไร? และผมก็หน่ายเหลือเกินกับความคิดว่า คนหยิบมือเดียว - ประมาณหนึ่งโหล - ในคณะกรรมาธิการจะสามารถแก้ปัญหา หาทางออกให้กับปัญหานี้ได้ก่อนที่เราจะให้ความรู้ที่เพียงพอแก่สาธารณะชน แน่นอนการสั่งห้ามเป็นเสมือนเครื่องปิดกั้นถนน แต่ก็ชั่วคราวเท่านั้น - เฉพาะขณะที่เรากำลังไต่หน้าผาแห่งความรู้อยู่
Stock: ยังไม่มีฉันทามติ? นี่เป็นข้ออ้างดีที่สุดที่คุณนึกได้แล้วหรือ? ถ้านั่นเป็นเหตุผลที่เพียงพอสำหรับการห้ามศึกษาเรื่องสำเนาพันธุ์และวิศวพันธุกรรมแล้วละก็ เราก็ต้องห้ามหรือยกเลิกการทำแท้งด้วยละซี เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงขั้นที่เริ่มสาดกันด้วยโวหารเชิงศิลธรรมและศาสนา เราไม่เคยไปถึงฉันทามติเกี่ยวกับเรื่องแก่นหลักๆอย่างนี้สักที ถ้าคำสั่งห้ามเป็นการหยุดชั่วคราวเพื่อให้มีเวลาคิดไตร่ตรองเหมือนที่คุณว่า ก็ไม่เป็นไร แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันยากนะที่จะหวนกลับไปตั้งต้นใหม่ ทางสายกลางที่คุณเรียกหาจะจบลงด้วยการออกกฎหมายห้ามในระยะยาว แน่นอน ท้ายที่สุดกฎหมายห้ามก็ต้องถูกยกเลิก แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นประมาณมิได้ มีประโยชน์อะไรที่จะยกเลิกการห้ามสำเนาพันธุ์ หลังจากที่ได้เฉดหัวเทคโนโลยีที่มีพลังมากมายมหาศาลนี้ไปที่อื่น และปล้นขโมยเอาคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์ว่าเราควรพัฒนาเทคโนโลยีสำเนาพันธุ์นี้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดไป การออกกฏหมายห้ามไม่ช่วยกระตุ้นหรือเร้าให้มีการสนทนาถกเถียงใดๆขึ้นเลย มันเพียงแต่ทำให้เกิดภาพลวงของสังคมปิด ซึ่งทำให้ความคิดเห็นของคนถูกลั่นดาน สิ่งเดียวที่มันทำคือทำให้ความรอบรู้อย่างลุ่มลึกที่คุณต้องการนั้นมาถึงเราช้าลงเท่านั้นเอง
เทคโนโลยีใหม่ทำให้เรารู้สึกระแวง ไม่สบายใจ แต่ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องถอยห่างออกมา ถ้าเราต้องการความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีได้รับการประยุกต์ใช้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม เราต้องเข้าไปอยู่ในสนามเพลาะ และดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะถ่วงดุลย์ระหว่างอันตรายและประโยชน์ของวิธีการจริงต่อผู้คนที่มีอยู่จริงในสถานะการณ์จริง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการตัดสินใจจะเกี่ยวข้องกับการใช้ยีนส์บำบัด หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ คนในชุมชนนั่นเองที่มองเห็นได้ดีกว่านักการเมืองซึ่งจะเป็นคนออกกฏหมายห้ามการสำเนาพันธุ์ตามที่คุณแนะนำ
เพื่อให้การถกเถียงของเราก้าวต่อไป นี่คือคำถามสมมติง่ายๆที่ผมตั้งขึ้นให้คุณตอบ: ถ้าการดัดแปลงยีนส์เพื่อชลอความแก่ช่วยเพิ่มอายุต่อไปได้อีกสิบปี และสามารถทำได้กับเซลล์แรกของตัวอ่อนที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา คุณจะปฏิเสธไม่ยอมให้ใช้วิธีการนี้ แม้มารดาของเด็กจะต้องการหรือ?
McGee: ข้อโต้แย้งอันแรกที่พวกสนับสนุนตลาด "เสรี" ของเทคโนชีวภาพ ยกมาอ้างคือ "ยังไงก็ขึ้นไปบนรถไฟก่อนเถอะ เพราะคุณอาจจะเรียนรู้ที่จะบังคับมันได้ แต่ถ้าคุณยืนนิ่งอยู่ข้างหน้ารถ คุณก็ถูกรถทับแหง" Art Caplan เรียกความเชื่อนี้ว่า ลัทธิ Harkin ตามชื่อของ Tom Harkin ผู้ยืนยันว่า ถ้าเราทำสำเนาพันธุ์ได้ เราจะทำแน่ บ้าดีไหมล่ะ
ถ้าคุณเชื่อมั่นในปัญญาของมนุษย์ ก็จงเชื่อมากพอที่จะเริ่มต้นจากรถเข็น(การสำเนาพันธุ์สัตว์) แล้วขยับขยายไปเป็นรถบรรทุกภายหลัง ในระยะยาวแล้ว กฎเกณฑ์การสำเนาพันธุ์มนุษย์ไม่ควรจะออกมาจากพวกขุนนางรัฐหรือนักจริยธรรมในคณะกรรมาธิการ เมื่อเราพบวิธีที่จะจัดการกับการสำเนาพันธุ์ เราก็จะยกเลิกข้อห้ามนั้นเสีย เช่นเดียวกับที่เราเคยทำกับข้อห้ามอื่นๆมาแล้ว Ian Wilmut (ผู้ทำสำเนาพันธุ์แกะ ดอลลี่) เคยพูดกับผมว่า ในที่สุดผู้คนก็จะมองการสำเนาพันธุ์มนุษย์เหมือนกับการรับอุปการะบุตรบุญธรรม สังคมของเรามีข้อตกลงว่าพ่อแม่บุญธรรมควรจะได้รับการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของเด็กเอง พ่อแม่บุญธรรมที่มีศักยภาพอยู่ในข่ายที่พอจะรับอุปการะเด็กได้ จะต้องพูดคุยกับคณะกรรมการเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องการรับเลี้ยงดูเด็ก และแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพพอตามระดับมาตรฐานขั้นต่ำสุด คุณตอบผมได้ไหมว่าทำไมเราจึงต้องมีมาตรการอันนี้กับพ่อแม่บุญธรรม ในเมื่อพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ?
เพราะเราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พ่อแม่ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่แท้จริงของเด็กจะทำร้ายทุบตีเด็ก ในทำนองเดียวกันเราก็ควรจะขยายกรอบความคิดนี้มายังเรื่องของการสำเนาพันธุ์มนุษย์และเทคโนโลยีการขยายเผ่าพันธุ์ที่ไม่เป็นไปตามจารีตด้วย เพื่อรับประกันความปลอดภัยและอิสรภาพของเด็กๆ
Stock: สิ่งที่เราคิดเหมือนกันคือไม่ควรประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆกับมนุษย์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นปลอดภัยและเชื่อถือได้(ซึ่ง แน่ละต้องใช้ทดลองในสัตว์เสียก่อน) เราเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะออกกฏหมายถาวรห้ามการสำเนาพันธุ์มนุษย์หรือวิศวกรรมสายพันธุ์ ผมไม่เห็นความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างกรณีการรับอุปการะบุตรบุญธรรมของคุณกับคณะกรรมการท้องถิ่นหรือระดับชาติที่ผมเอ่ยถึง สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ผมคิดว่าเมื่อพิสูจน์ได้ว่าการสำเนาพันธุ์และวิศวกรรมสายพันธุ์เป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้แล้ว เราก็ควรจะเริ่มใช้มันได้ (แน่นอน ด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกับวิธีการใหม่ๆทางการแพทย์) แต่สำหรับคุณ คุณเชื่อว่าจนกว่าสาธารณชนจะมีฉันทามติจากสาธารณชนในวงกว้าง เราก็ควรจะห้ามใช้เทคโนโลยีนี้โดยเด็ดขาด ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะปลอดภัยและเชื่อถือได้เพียงใดก็ตาม
ผมมองเห็นอย่างชัดเจนว่าการปะหน้าเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยป้ายที่เต็มไปด้วยข้อความข่มขวัญ และการออกกฏหมายห้ามที่ไม่จำเป็นจะทำให้การวิจัยหยุดชะงักลงมากกว่าที่เคยเกิดกับงานวิจัยเกี่ยวกับทารกในครรภ์มารดาเสียอีก ดูเหมือนคุณจะไม่มีปฏิกิริยาอะไรมากนัก แต่คุณต้องตระหนักไว้ด้วยว่าคนส่วนใหญ่ที่เรียกร้องให้ยุติการสำเนาพันธุ์นั้นไม่ได้เป็นคนใจกว้างและเปิดใจรับสิ่งอื่นได้เหมือนคุณเสมอไป พวกเขาเหล่านั้นตั้งป้อมขัดขวางเทคโนโลยีการตัดต่อยีนส์และการสำเนาพันธุ์อย่างแน่วแน่ - ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าเรายังไม่พร้อมพอด้านความปลอดภัย แต่เพราะพวกเขาคิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ผิดและเลวโดยพื้นฐานทางความเชื่อ
ผมยังคงมองในแง่ร้ายอยู่ว่า ฉันทามติของคุณจะช่วยกลับข้อห้ามเรื่องการสำเนาพันธุ์และวิศวพันธุกรรมได้แน่หรือ? ในเมื่อครั้งหนึ่งการเปลี่ยนการทำแท้งให้ถูกกฏหมายนั้นต้องใช้คำสั่งศาลจึงจะสำเร็จ
McGee: ประโยชน์ของการออกกฏหมายห้ามไม่ได้อยู่ที่ว่ามันสามารถหยุดยั้งการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือการใช้อาวุธเคมี หรือการสำเนาพันธุ์ แต่เพราะการสั่งห้ามนั้นสามารถ "สื่อสาร" ต่อมุมมองสังคมโดยทั่วไปของเราด้วย คนอเมริกันมากกว่า 80% เชื่อว่าการสำเนาพันธุ์มนุษย์เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม เหมือนที่ผมเคยพูดแล้ว ท่าทีนี้มาจากปัจจัยของความรู้สึกต่อต้าน ความรังเกียจ การสำเนาพันธุ์ สอดประสานเข้ากับภาพลักษณ์ของ "เด็กชายจากบราซิล" ภาพสำเนาของ Michael Jordan หรือคู่หญิงชายที่ทำลูกจากเมนูรายการ แต่ความกลัวและความเกลียดชังขยะแขยงที่คนอเมริกันมีต่อการสำเนาพันธุ์นั้นผูกติดอยู่กับความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกลงไป - ความต้องการที่จะเคลื่อนไปสู่ยุคใหม่ด้วยความระมัดระวัง -
คนอเมริกันได้เรียนรู้แล้วว่า หากปราศเสียซึ่งกฎหมายห้ามหรือการลงโทษทางสังคมแล้ว เราจะมีคนไข้ IVF อายุ 63 ปี หรือแม่ผู้มีลูกครึ่งคนครึ่งลิงเอป หรือพ่อผู้ปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบครอบครัวของตนอยู่ในสังคมอย่างแน่นอน กฎหมายไม่ได้ถูกจารึกบนหิน มันเป็นเพียงเสาบอกทาง เป็นเครื่องมือที่เราใช้สร้างสิ่งกีดขวางที่สามารถแทรกซึมได้บ้างระหว่างคนรวย แพทย์ผู้รักษาและเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นไปได้แต่ยังมีปัญหาเชิงศิลธรรมกำกับอยู่ การสั่งห้ามเป็นเพียงสิ่งที่ใช้อุดช่องโหว่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เอกสารสั่งประหาร และหากมันจะหยุดยั้งคนบางคนซึ่งกำลังจะใช้เทคโนโลยีสำเนาพันธุ์โดยปราศจากความรับผิดชอบ ก็จงปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นเถิด และที่สำคัญกว่านั้น พนันได้เลยว่า หากไม่มีการสั่งกฎหมายห้ามการสำเนาพันธุ์ การถกเถียงเชิงศิลธรรมเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีนี้จะถอยร่นไปอยู่แถวหลัง ขณะที่มือที่มองไม่เห็นของตลาดเสรีก้าวมาแทนที่ในแถวหน้าสุด
Stock: การเปรียบเทียบเรื่องการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์กับวิศวพันธุกรรมของมนุษย์นั้นฟังดูแปลกๆ เรื่องแรกเป็นเรื่องของอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างมหาศาลซึ่งอาจคร่าชีวิตมนุษย์เป็นหลายล้านได้ในพริบตา แต่เรื่องหลังนั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งสร้างชีวิตและไม่เคยทำลายชีวิตแม้แต่ชีวิตเดียว ในโลกบูดๆเบี้ยวๆที่ไม่สมบูรณ์ใบนี้ เราไม่ตื่นเต้นกับการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและการสูบบุหรี่ ยาเสพติดก็มีใช้กันให้เกลื่อนกลาด แต่กลับมีคนเป่าข่าวเรื่องร้ายๆน่าหวาดกลัวเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมให้ลุกโชนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในคำค้านของคุณ คุณไม่ได้นึกถึงความเสียหายที่อาจเกิดจากการดึงเกมส์ให้พันธุวิศวกรรมผลิดอกออกผลช้าลง และแน่นอน โดยการกล่าวอ้างถึงการสำเนาพันธุ์แทนที่จะเป็นพันธุวิศวกรรม คุณได้เปิดประเด็นขึ้นเองแล้ว การสำเนาพันธุ์ไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ ท้ายที่สุด ก็ไม่มีปัญหาอะไรถ้าใครสักคนจะมีลูกแฝด(สำเนาพันธุ์)ช้าไปสักเล็กน้อย แต่หากเราสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงยีนส์ของลูกๆของเราให้มีภูมิคุ้มกันพวกเขาจากการเป็นมะเร็ง หรือช่วยให้แก่ช้าลง(ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง) การขัดขวางทำให้งานด้านนี้ช้าลงดูจะไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย
การออกกฎหมายห้ามงานด้านพันธุวิศวกรรม โดยใช้อ้างเหตุผลจากการคาดการณ์แบบหลวมๆที่หล่นมาจากฟ้า - เช่นตัวอย่างเรื่องเด็กครึ่งคนครึ่งลิงของคุณ - เปรียบได้กับการห้ามใช้แลบทอปเพื่อปกป้องเราจากสมองชั้นยอดที่จินตนาการเรื่องนิยายวิทยาศาสตร์ เราควรจะชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างอันตรายที่เกิดขึ้นทันทีและความเป็นไปได้ โดยไม่พยายามที่จะทำตัวให้เหมือนกับหญิงแก่ผู้มีหน้าที่ควบคุมอนาคตอันไกลที่ยังมองไม่เห็น
การสำเนาพันธุ์แกะดอลลี่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงและคำถามจากสาธารณชนมากกว่าการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักจริยธรรมชีวภาพ และกำเนิดของการสำเนาพันธุ์มนุษย์จะยิ่งจุดประกายการเสาะหาจิตวิญญาณในระดับลึกให้เพิ่มมากขึ้นทบเท่าทวีคูณ เหตุการณ์เช่นนี้นำเราไปสู่การอภิปรายระดับชาติ เทคโนโลยีชีวภาพกำลังไล่ต้อนเราไปสู่ความเป็นจริงที่ไม่น่าชื่นชม แต่บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่การปกป้องเราจากความไม่น่าอภิรมย์ จนกว่าเทคโนโลยีที่มีอนาคตสดใสเหล่านี้จะสร้างปัญหาและผลร้ายที่ร้ายแรงที่ข่มขวัญสาธารณชน ก็ไม่มีเหตุผลใดเลยจะต้องสั่งยุติงานทางด้านนี้
McGee: เหตุผลหนึ่งที่นักจริยธรรมชีวภาพมีบทบาทสำคัญในการเปิดประเด็นสนทนาสาธารณะของสังคมเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมก็คือ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่กับและยอมรับความจริง นักวิทยาศาสตร์อย่าง Gregory บอกให้เราอดทนกับพันธุวิศวกรรม และสัญญาว่ารางวัลจากการรอคอยด้วยความอดทนนั้นคือพันธุ์ใหม่ของมนุษย์หรือการก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งประสบการณ์ของมนุษย์ ฟังแล้วดูยิ่งใหญ่และดูดีจนขนลุก ขณะเดียวกัน Jeremy Rifkin ก็เป่านกหวีดเรียกผู้คนให้มารับรู้ว่าเทคโนโลยีชีวภาพกำลังทำสิ่งที่ขัดต่อกฎระเบียบธรรมชาติโดยพื้นฐาน ฟังแล้วขนพองสยองเกล้าชวนขนลุกอีกเหมือนกัน ปัญหาก็คือทั้งนักวิทยาศาสตร์ผู้มองโลกในแง่ดี และ Rifkin ผู้มองโลกในแง่ร้ายคิดว่า เทคโนโลยีชีวภาพนั้นดีหรือเลว"ในตัวเอง" มากกว่าที่จะคิดในเทอมของผลที่เกิดจากเทคโนโลยี เนื่องจากคู่กัดต่างขั้วคู่นี้ต่อสู้เพื่อสนับสนุนหรือขัดขวางตัวเทคโนโลยีเอง การต่อสู้จึงจบลงด้วยวาทะที่แหลมคมและเชือดเฉือน แต่ท้ายที่สุดไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องการอะไรสำหรับตัวเองและสำหรับสังคมของเรา เราจะก้าวไปถึงเป้าหมายให้ดีที่สุดได้อย่างไร ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันกลับไปใช้สามัญสำนึกกันบ้าง เรารู้วิธีป้องกันโรคหัวใจ มะเร็ง ความยากจนและความหิวอย่างตื้นเขินด้วย"อาหาร" คุณจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมเองก็สนับสนุนอาหารบำรุงร่างกายและจิตใจ เอาละ เรามาทำงานด้านพันธุวิศวกรรมกันเถิด แต่เป้าหมายของงานควรจะเป็นไปในลักษณะของการใช้เงินและเวลาของเรากับโครงการซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างแท้จริง มากกว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อเทคโนโลยีในนามของเทคโนโลยีเอง ไม่ว่ามันจะรับใช้ใคร มากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ครอบครัวจนๆกี่ครอบครัวที่เคยได้รับการทดสอบยีนส์ เราควรใช้งบประมาณเท่าใดในการพัฒนาเทคนิกการสำเนาพันธุ์ ขณะที่เราเมินเฉยต่อปัญหาของโรงเรียน การศึกษาและงานบริการสาธารณสุข เงินจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก เหตุผลที่สาธารณชนหันมาซบอกจริยธรรมชีวภาพในปัจจุบัน ก็เพราะความเบื่อหน่ายที่จะได้ยินเสียงตะโกนกู่เรียกร้องหาวิทยาศาสตร์ขณะที่กรุงโรมกำลังเผาไหม้ ผู้คนต้องการความก้าวหน้า แต่เขาก็ต้องการเหตุผลด้วยเช่นกัน
ผู้สนทนา:
Gregory Stock ได้รับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัย
John Hopkins และ MBA จาก Harvard Business School มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในเรื่องเกี่ยวกับชีววิทยาการพัฒนา
การกระเจิงแสงเลเซอร์ และออกแบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์สำหรับเครือข่ายธนาคารอีเล็กโทรนิกส์
Dr. Stock เป็นผู้ประพันธุ์หนังสือชื่อ "Metaman: The Merging of Humans and
Machines into a Global Superegoism" (สำนักพิมพ์ Simon & Schuster 1993) ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับนัยสำคัญด้านวิวัฒนาการของความก้าวหน้าเชิงเทคโนโลยีของมนุษยชาติ
และ The Book of Questions ซึ่งจำหน่ายได้ถึงสองล้านเล่มและได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่างๆถึงสิบห้าภาษา
Glenn McGee สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt ปัจจุบันประจำอยู่ที่ Center for Bioethics มหาวิทยาลัย Pennsylvania และเป็นผู้บรรยายกระบวนวิชานี้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็น กรรมการคณะทำงานเกี่ยวกับการทดสอบยีนส์สายพันธุ์และการสาธารณสุขที่ Centers for Disease Control and Prevention และเป็นบอร์ดคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ เรื่องจริยธรรมของการสืบสายพันธุ์ Dr. McGee เขียนหนังสือชื่อ The Perfect Boy: A Pragmatic Approach to Genetics (สำนักพิมพ์ New York: Rowman& Littlefield,1997), และมีโครงการจัดพิมพ์หนังสือ Pragmatic Bioethics; In An Active Voice: Experience, Imagination and Ethics in America และ Counsel to the Future ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรมในการทดสอบยีนส์และการสืบสายพันธุ์ ภายในปีนี้
อ้างอิง: The American
Journal of Bioethics & bioethics.net
โดย : สดชื่น วิบูลยเสข [ 17 ก.พ. 2545 , 19:43:51 น.]
คลิกไปหน้าบทความที่เกี่ยวเนื่องกัน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)