รวบรวมจากปัญหาทางกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ เกี่ยวกับกรณีความเหลื่อมล้ำทางเพศ ชนกลุ่มน้อย คนจน และคนพิการในสังคมไทย : บทความเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕
H
home
R
relate
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 205 หัวเรื่อง เกี่ยวกับปัญหากฎหมายไทย เรื่อง "อคติ ๔ ในระบบกฎหมายไทย" เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
Re
ผลงานผู้เขียนคนเดียวกัน
release date 050845
QUOTATION

ตัวอย่างเช่น ในการลงโทษของศาลในคดีข่มขืน ...ผู้หญิงต้องมีบาดแผลจากการต่อสู้ป้องกันตน สถานที่นั้นต้องเป็นที่เปลี่ยว หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็มักจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา ทำให้มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากซึ่งเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ถูกกีดกันออกไปจากมาตรฐานการข่มขืนที่ถูกยึดในกระบวนการยุติธรรม เช่น...เหตุการณ์เกิดขึ้นในที่ที่ใกล้เคียงกับร้านข้าวต้ม เป็นต้น

กรณีเหล่านี้ล้วนถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นการกระทำที่เรียกว่าข่มขืน หากถือว่าเป็นการสมยอมของฝ่ายหญิง อันจัดได้ว่าเป็นการมองถึงการข่มขืนจากสายตาของชายที่เห็นว่า ความสำคัญของหญิงนั้นขึ้นอยู่กับเยื่อพรมจรรย์บางๆ ดังนั้นหากเป็นหญิงที่ดีแล้วจึงต้องปกป้องสิ่งดังกล่าวอย่างเต็มที่แม้อาจต้องภัยจนถึงชีวิตก็ตาม

ภาพประกอบดัดแปลง 1.ผลงานภาพถ่าย figure ของ Cindy Sherman ไม่มีชื่อภาพ(แต่เป็นการสะท้อนเรื่องของสิทธิสตรี เพื่อเสียดสีบรรทัดฐานของสังคมที่กำหนดให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตร โดยไม่มองถึงบทบาทของผู้หญิงที่เป็นองค์ประกอบอีกครึ่งหนึ่งของสังคม 2.ผลงานภาพจิตรกรรมของ Fernando Botero ชื่อภาพ The House of Rachel Vega (เป็นภาพของการดื่มกิน เลี้ยงฉลองในบ้านจนเมามาย-ภาพนี้ตัดมาแสดงเพียงบางส่วนจากต้นฉบับ-ห้องสมุดวิจิตรศิลป์ มช.)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจค้นหาความรู้และเรียนด้วยตัวเอง : ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในสังคมไทย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

อคติทางเพศ
คำตัดสินของศาลในคดี ดร. นิด้า ทำร้ายภรรยาจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายแต่ได้รับการลงโทษเพียงการรอลงอาญา นับว่าเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของอคติทางเพศที่ปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายของไทย ซึ่งอคตินี้ไม่ได้ดำรงอยู่เฉพาะเพียงการบังคับใช้ที่ปรากฏขึ้นในรายคดีเท่านั้น หากพิจารณาให้รอบด้านแล้วจะพบว่า ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในระบบกฎหมายนั้นปรากฏอยู่ทั้งในตัวบทกฎหมาย กลไกในกระบวนการยุติธรรม และรวมถึงการตีความกฎหมาย

ในส่วนของตัวบทกฎหมาย มีกฎหมายเป็นจำนวนมากที่แสดงถึงอคติทางเพศที่แฝงอยู่ในกฎหมาย เช่น ความผิดฐานข่มขืนตามประมวลกฎหมายอาญานั้น จะเป็นความผิดต่อเมื่อได้กระทำต่อหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตน หากได้กระทำต่อหญิงซึ่งเป็นภรรยาของตนก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานข่มขืน

เนื้อหาของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ทำให้เห็นได้ว่า การจะมีเพศสัมพันธ์ของสามีต่อภรรยานั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมหรือความสมัครใจจากหญิงแต่อย่างใด เพราะถึงจะกระทำไปโดยหญิงมิได้ยินยอมก็ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา โดยในประเด็นนี้ ทางองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรีก็ได้เรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ระหว่างการเป็นหุ้นส่วนชีวิตกับการมีเพศสัมพันธ์ว่าเป็นเรื่องที่ต้องแยกจากกัน การตกลงเป็นสามีภรรยาไม่ได้มีความหมายว่าหญิงต้องยินยอมให้มีเพศสัมพันธ์ตามความต้องการของชายถ่ายเดียว บางช่วงเวลาเช่นในกรณีที่หญิงมีความเครียดหรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน หญิงก็ต้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธ และกฎหมายก็ควรให้การรับรองคุ้มครองให้

สำหรับกลไกของกระบวนการยุติธรรม จะพบว่าขั้นตอนหรือกลไกในกระบวนการยุติธรรมไม่เอื้อหรือส่งเสริมให้หญิงสามารถปกป้องสิทธิของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างสามีภรรยา ก็มีระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้พนักงานตำรวจทำการไกล่เกลี่ยคู่กรณี ทำให้แม้ว่าฝ่ายหญิงที่ต้องการดำเนินคดีกับฝ่ายชายซึ่งทำร้ายตน มักไม่ได้รับการตอบสนอง

หรือในกรณีของคดีล่วงละเมิดทางเพศ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนานและล่าช้ารวมถึงความไม่เข้าใจต่อความรู้สึกของผู้หญิงที่ถูกกระทำในขั้นตอนสอบสวน การพิจารณาคดี ล้วนแล้วแต่เป็นผลให้มีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่เป็นเหยื่อยินยอมพาตนเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดการลงแก่ผู้กระทำความผิด

นอกจากตัวบทกฎหมายและกลไกของกระบวนการยุติธรรมแล้ว การตีความหรือบังคับใช้กฎหมายก็นับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง ซึ่งคดี ดร. นิด้านี้ก็นับเป็นตัวที่ชัดเจนอันหนึ่งท่ามกลางการใช้กฎหมายที่แฝงไปด้วยอคติทางเพศอย่างไพศาล ตัวอย่างเช่นในการลงโทษของศาลในคดีข่มขืน หากได้ลองพิจารณาถึงคำพิพากษาเป็นจำนวนมากจะพบว่าศาลจะมีคำตัดสินลงโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงหลายประการเกิดขึ้น

เช่น ผู้หญิงต้องมีบาดแผลจากการต่อสู้ป้องกันตน สถานที่นั้นต้องเป็นที่เปลี่ยว หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็มักจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา ทำให้มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากซึ่งเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกกีดกันออกไปจากมาตรฐานการข่มขืนที่ถูกยึดในกระบวนการยุติธรรม เช่น บางกรณีผู้หญิงถูกข่มขู่จนกลัวจึงไม่ได้ต่อสู้ หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นในที่ที่ใกล้เคียงกับร้านข้าวต้ม เป็นต้น

กรณีเหล่านี้ล้วนถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นการกระทำที่เรียกว่าข่มขืน หากถือว่าเป็นการสมยอมของฝ่ายหญิง อันจัดได้ว่าเป็นการมองถึงการข่มขืนจากสายตาของชายที่เห็นว่า ความสำคัญของหญิงนั้นขึ้นอยู่กับเยื่อพรมจรรย์บางๆ ดังนั้นหากเป็นหญิงที่ดีแล้วจึงต้องปกป้องสิ่งดังกล่าวอย่างเต็มที่แม้อาจต้องภัยจนถึงชีวิตก็ตาม

อคติต่อคนพิการ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะได้กำหนดเนื้อหาห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุทางกายหรือสุขภาพของบุคคล และโดยที่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่มีลำดับขั้นสูงสุดที่กฎหมายอื่นใดจะขัดแย้งหรือละเมิดมิได้ ฉะนั้นจึงควรเป็นที่เข้าใจว่าคนพิการในสังคมไม่อาจเลือกปฏิบัติได้

อย่างไรก็ตาม การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 3 เสียง ที่เห็นว่าระเบียบของพระราชบัญญัติข้าราชการตุลาการ ในกรณีที่มีผู้พิการสมัครสอบเข้าราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา แต่ถูกปฏิเสธด้วยการอ้างถึงความสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกาย ให้เป็นระเบียบที่สามารถใช้บังคับได้โดยไม่ถือว่ามีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้เหตุผลว่า เนื่องจากบางครั้งต้องมีการออกไปเดินเผชิญสืบ และทั้งนี้ยังอ้างถึงการต้องมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติย่อมสะท้อนความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อคนพิการได้ไม่น้อย

จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการอ้างถึงความสามารถหรือความด้อยประสิทธิภาพของคนพิการในการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นผู้พิพากษา แต่กลับอ้างอิงไปถึงการปฏิบัติหน้าที่บางอย่างเช่น การเดินเผชิญสืบซึ่งในความเป็นจริงแล้วนานๆครั้งจึงจะปรากฏขึ้น นอกจากนี้การอ้างอิงถึงบุคลิกลักษณะที่ดีพอของการเป็นผู้พิพากษาด้วยการตัดสิทธิคนพิการก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า บุคลิกลักษณะที่ดีของการเป็นผู้พิพากษา ควรมีความหมายเพียงรูปร่างหน้าตาภายนอกเท่านั้นใช่หรือไม่ โดยที่ไม่ได้สนใจถึงความประพฤติปฏิบัติทั้งในวิถีชีวิต และการดำรงตนอย่างสมถะเลยหรือ

เท่าที่ผู้เขียนพอจะจำความได้จากการศึกษาหลักวิชาชีพของนักกฎหมาย ไม่เคยได้ยินหรือได้รับฟังจากครูบาอาจารย์เลยว่า คนพิการคือผู้ที่ไม่มีบุคลิกลักษณะดีเพียงพอต่อการเป็นผู้พิพากษา

การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในทิศทางดังกล่าวจึงนับว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ควรต้องตระหนักอย่างมากว่า ความเข้าใจถึงเรื่องความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคของบุคคลนั้น ยังเป็นเรื่องที่ถูกครอบงำโดยทรรศนะหรือความเชื่อบางประการอยู่

จรัญ โฆษณานันท์ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งว่าหากพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดของบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งวินิจฉัยคดีนี้ ในจำนวนเสียงข้างมาก 8 คน ที่เห็นว่าระเบียบของข้าราชการตุลาการไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีตุลาการ 5 คนที่เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีพื้นฐานการศึกษาระดับเนติบัณฑิตไทย ส่วนอีก 3 คนมาจากเจ้ากรมพระธรรมนูญ อดีตเอกอัครราชฑูตและศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 3 คน เป็นดุษฎีบัณฑิตที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้จรัญได้ตั้งคำถามถึงเหตุผลที่อาจอยู่เบื้องหลังการวินิจฉัยว่า

"ภูมิหลังการทำงานและการศึกษาดังกล่าว น่าคิดว่าจะสะท้อนนัยสำคัญบางประการที่เชื่อมโยงกับคำวินิจฉัยหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในกรณีของตุลาการเสียงข้างมากที่เป็นอดีตตุลาการศาลยุติธรรม ทัศนคติและท่าทีดั้งเดิมต่อสถาบันตุลาการที่ตนเคยสังกัดอยู่ จะมีอิทธิพลต่อการวินิจฉัยปัญหามากเพียงใด" (ใน จรัญ โฆษณานันท์, ความพิการของกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย

สนใจเปิดอ่านเนื้อหาของบทความทั้งหมดได้ในเว็บไซท์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) ../midnightweb/newpage20.html

อคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์
บรรดากลุ่มชนที่มีลักษณะทางชาติพันธุ์แตกต่างไปจากชนกลุ่มใหญ่ของสังคมมักจะถูกละเลยหรือไม่ได้รับการรับรองสิทธิในด้านต่างๆ อันเป็นผลมาจากกฎหมายจำนวนมากที่บัญญัติขึ้นส่วนใหญ่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของรัฐ หรือเป็นไปตามความเชื่อ ความเข้าใจของคนที่จัดว่าเป็นส่วนใหญ่ของสังคม การตรากฎหมายในลักษณะนี้จึงไม่ค่อยยอมรับความแตกต่างหรือมาตรฐานที่หลากหลายให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมาย ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่า

ระบบการจัดการป่าในประเทศไทยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2480 เป็นต้นมา เป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อแบบอำนาจนิยม/รัฐนิยมเป็นหลัก ด้วยการกำหนดให้พื้นที่ป่าต่างๆ มีสถานะทางกฎหมายเป็นพื้นที่ของรัฐและหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะเป็นผู้ที่เข้าไปมีอำนาจดูแลการใช้ประโยชน์เหนือพื้นที่เหล่านั้น โดยกีดกันไม่ให้บุคคลหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือใช้ประโยชน์ในทรัพยากรเหล่านั้นแต่อย่างใด

การจัดการทรัพยากรป่าในลักษณะเช่นนี้สวนทางกับความเป็นจริงดังที่ปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง ทั้งในทางประวัติศาสตร์และจวบจนกระทั่งปัจจุบันว่า ป่าในประเทศไทยเป็นป่าที่มีคนและชุมชนอาศัยอยู่ การบัญญัติกฎหมายเช่นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่กำหนดว่า พื้นที่แห่งใดซึ่งยังไม่มีบุคคลได้สิทธิไปตามกฎหมายที่ดินให้ถือว่าเป็นพื้นที่ป่า จึงนับได้ว่าเป็นการละเลยต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์หรือชาวเขาเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้กลุ่มชาวเขาเหล่านี้ ต้องเป็นผู้ที่ทำผิดต่อกฎหมาย แม้ว่าจะดำรงอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาก่อนที่รัฐชาติไทยจะก่อตั้งขึ้น

และชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ป่าอย่าง "ผิดกฎหมาย" ก็ยังคงสืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในทางภาคเหนืออันได้แก่ กลุ่มชาวเขาหลากเผ่าหลายภาษานั้น นอกจากต้องเผชิญกับการไร้สิทธิในพื้นที่ป่าแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยกฎหมายเรื่องสัญชาติที่สืบเนื่องจากความพยายามของรัฐชาติไทยในอันที่จะสร้างพลเมืองที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้น จึงได้มีการตรากฎหมายสัญชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา

แต่ด้วยความไร้น้ำยาของรัฐในการที่จะจำแนกบุคคลในเชิงปัจเจก รวมทั้งอคติต่อกลุ่มชาติพันธ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง ยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กฎเกณฑ์ในการกำหนดถึงการได้สัญชาติจึงมีความยุ่งยากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป โดยต้องไม่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อแผ่นดินทั้งที่สำหรับคนธรรมดาไม่ได้มีเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นผลให้มีชาวเขากว่า 5 แสนคน ยังคงไม่ได้รับสิทธิของความเป็นพลเมืองไทยตราบจนทุกวันนี้

การไร้ซึ่งความเป็นพลเมืองไทยในปัจจุบันมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้มาก เพราะจะถูกจำกัดสิทธิอย่างกว้างขวาง เช่น ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานใดๆ ได้หากออกนอกพื้นที่ ไม่มีสิทธิในทางการเมือง ไม่สามารถครอบครองที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสถานะเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองชั้นสามของสังคมไทย

อคติต่อคนจน
หลักการในทางกฎหมายที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ซึ่งมีความหมายว่าบุคคลที่อยู่ภายใต้กฎหมายจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในทางฐานะ ผิวสี ศาสนา ฯลฯ

แม้หลักการนี้จะได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แต่การ "ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อบุคคลที่มีความแตกต่างกัน" เฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างทางด้านฐานะ จะเป็นหลักการที่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นเสมอไปหรือ?

ดังเช่น การประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา บุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านี้มีสิทธิในการประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดีทั้งในระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่การจะประกันตัวได้ต้องมีหลักประกันซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มี 3 ประเภท ด้วยกันคือ เงินสด หลักทรัพย์ และบุคคลที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ในการกำหนดจำนวนวงเงินประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น ในทางปฏิบัติได้มีการกำหนดวงเงินประกันเอาไว้สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีในแต่ละข้อหา (เรียกกันว่ายี่ต๊อก) ว่าคดีแต่ละประเภทต้องมีวงเงินประกันเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งจะขึ้นกับความหนักเบาของความผิดที่ถูกกล่าวหา วงเงินประกันที่ถูกกำหนดนี้เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งถูกใช้โดยทั่วไป โดยไม่สนใจว่าผู้กระทำความผิดจะมีฐานะอย่างไร

ถามว่าระหว่างคนจนกับคนที่มีฐานะดี ใครจะเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงและสิทธิของการประกันตัวได้มากกว่ากันในสภาพความเป็นจริง

(อาจมีบ้างที่ศาลไม่ได้ใช้ยี่ต๊อกเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของการกำหนดวงเงินประกัน ดังในกรณีที่เป็นคดีร้ายแรงสะเทือนขวัญประชาชน ก็อาจไม่ให้มีการประกันตัวได้แม้จำเลยจะมีหลักประกันมากก็ตาม ตรงกันข้ามบางครั้งก็อาจให้มีการประกันตัวโดยลดหลักประกันลงได้ เช่น ในคดีที่ตำรวจจับกุมชาวบ้านปากมูลที่ปีนเข้าทำเนียบรัฐบาล ในคดีนี้ระหว่างดำเนินการก็ได้มีการประกันตัวโดยทนายความคนหนึ่งอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนเพียงคนเดียวประกันตัวชาวบ้านนับร้อยออกมา แล้วศาลก็อนุญาตให้กระทำได้ อันเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ จะบังเกิดขึ้นได้สักครั้ง และเป็นที่น่าประหลาดใจว่า ในคดีนี้ชาวบ้านแทบทั้งหมดไม่เคยรู้จักกับทนายความคนนี้มาก่อนเลย)

นอกจากนี้ในบางครั้งก็อาจมีการดำเนินการด้วยการใช้แง่มุมหรือเทคนิคทางกฎหมายบางอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทำให้คนยากคนจนต้องตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและไม่อาจใช้สิทธิของตนเองได้ หากลองเปรียบเทียบระหว่างคดี ดร.นิด้า ที่ระหว่างการต่อสู้คดี ทางฝ่ายจำเลยสามารถประกันตัวออกมาสู้คดีได้โดยมีหลักประกัน 5 แสนบาท ขณะที่ชาวบ้านที่จังหวัดลำพูนซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ในตอนแรกได้มีการตั้งวงเงินประกันไว้สูงมาก จนเห็นได้ชัดว่าชาวบ้านไม่อาจใช้สิทธิได้แน่นอน เช่น นายสุแก้ว ฟุงฟู 7.4 ล้านบาท นายบุญสืบ ภูดอนตอง 4.4 ล้านบาท นายสองเมือง โปธานันท์ 4.4 ล้านบาท

ทั้งที่หากลองเปรียบเทียบถึงเนื้อหาความผิดแล้ว จะเห็นได้ว่าคดี ดร. นิด้านั้นส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อประเด็นความรุนแรงภายในครอบครัว ถึงอย่างนั้นก็ตามจำเลยสามารถประกันตัวได้ แต่ชาวบ้านที่ลำพูน ซึ่งเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ถึงความไม่ชอบของเอกสารสิทธิในที่ดินที่พิพาท กลับต้องถูกจำคุกอยู่นาน 51 วัน จวบจนกระทั่งกลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยถึงคำกล่าวที่แพร่หลายอยู่ในหมู่คนยากไร้ว่า "คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจนเท่านั้น"

บทสรุป

สำนักกฎหมายแนววิพากษ์เสนอแก่นความคิดที่สำคัญต่อการให้ความหมายของกฎหมายว่า "กฎหมายคือการเมือง" (Law is politics) แนวความคิดนี้ถือว่ากฎหมายไม่ได้มีความเป็นกลางหรือปลอดจากคุณค่าใดๆ อย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้ามกฎหมายเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างยิ่ง กฎหมายมิได้หล่นมาจากท้องฟ้าอันว่างเปล่าหากเป็นผลผลิตจากสังคม ดังนั้น กฎหมายเองก็ต้องเป็นสิ่งที่แฝงไว้ด้วยความเชื่อหรืออุดมการณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ด้วยความเชื่อในลักษณะเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานให้การทำความเข้าใจต่อกฎหมายต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวังที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ต้องมีการวิเคราะห์เพื่อมองให้เห็นเข้าไปถึงอคติบางประการที่ดำรงอยู่หรือเป็นแรงผลักดันของกฎหมายนั้นๆ การศึกษากฎหมายต้องเป็นไปเพื่อให้เข้าใจถึงความรู้ทั้งในระดับปรากฏการณ์และปรัชญาความคิดของกฎหมาย เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายที่ลดอคติและเป็นกฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม การศึกษากฎหมายด้วยแนวทางดังกล่าวแทบจะไม่มีอิทธิพลต่อสถาบันการศึกษาหรือวงวิชาการนิติศาสตร์ของสังคมไทยแม้แต่น้อย ดังจะไม่ปรากฏว่ามีการศึกษาที่พยายามสะท้อนถึงอคติซึ่งดำรงอยู่ในกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นแต่อย่างใด แม้จะมีอยู่บ้างแต่ผลงานเหล่านั้นก็จัดว่าเป็นงานของ"นักกฎหมายชายขอบ" ที่วงการกฎหมายกระแสหลักไม่ได้ให้ความสนใจ หรือชายตามองด้วยความเข้าใจ

นักกฎหมาย/นิติศาสตร์เฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยตรง มักยึดเอาว่าตัวบทกฎหมายและกลไกทางกฎหมายที่เป็นอยู่ คือสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นกลางอยู่แล้วตามธรรมชาติ

ซึ่งท่าทีและความเข้าใจเช่นนี้ นอกจากจะเป็นผลให้ไม่สามารถมองเห็นความอยุติธรรมของระบบกฎหมายเมื่อมองผ่านสายตาที่คนซึ่งแตกต่างหลากหลายกันแล้ว ยังจะเป็นผลให้อคติในระบบกฎหมายนี้ได้ดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน

ด้วยข้อจำกัดเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการโดยทั่วไป ทำให้ไม่อาจคาดหวังได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นจากภายในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม หนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงอคติที่แฝงอยู่ในระบบกฎหมาย และรวมไปถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บังเกิดขึ้น จำเป็นที่สาธารณชนต้องให้ความสนใจ ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ อันเป็นสิทธิที่ประชาชนทั้งหลายสามารถกระทำได้โดยชอบธรรมในสังคมประชาธิปไตย

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

 

 

อคติ 4 ในระบบกฎหมายไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(ผลงานชิ้นนี้ยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 205 เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2545

กฎหมายมีความเป็นกลางในตัวเองจริงหรือ?
คำถามในลักษณะนี้ไม่ค่อยจะปรากฏบ่อยครั้งนักในหมู่นักกฎหมาย หรือแวดวงทางด้านนิติศาสตร์ อันเนื่องมาจากจารีตของการศึกษา และวงวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ของไทยมักให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจต่อกฎหมาย ในฐานะที่จะเป็นผู้ใช้กฎหมายต่อไป ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเพียงแค่การเรียนรู้กฎหมายในระดับของผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องการรู้เพียงว่ากฎหมายในเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ตีความกันอย่างไร โดยไม่สนใจจะตั้งคำถามต่อไปว่ากฎหมายนั้นมีความเป็นธรรมหรืออคติบางอย่างแอบแฝงหรือไม่

บทความนี้ต้องการเสนอให้เห็นว่า ระบบกฎหมายโดยเฉพาะในสังคมไทยนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นกลางหรือปราศจากอคติใดๆ หากแต่เป็นกฎเกณฑ์ที่เต็มไปด้วยความลำเอียง ในบางประเด็นอาจปรากฏเด่นชัดออกมาเป็นรูปธรรมผ่านตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในบางประเด็นอาจมีความซับซ้อนจนต้องพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนจึงจะสามารถมองเห็นมายาคติที่แอบแฝงอยู่อย่างกว้างขวาง

โดยอคติที่สำคัญ 4 ประการในระบบกฎหมายไทยนั้น ประกอบด้วยอคติทางเพศ อคติต่อคนพิการ อคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และอคติต่อคนจน