บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 354 หัวเรื่อง
เรื่องสั้นชุด ครูกับนักเรียน
สมชาย
บำรุงวงศ์
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ
5 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
ครูกับนักเรียน
มีอะไรเกิดขึ้นที่โรงเรียน
สมชาย บำรุงวงศ์
somchai bumRoongwong
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความนี้ยาวประมาณ
5 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชุด "ครูกับนักเรียน"
ประกอบด้วยเรื่องสั้น 2 เรื่อง
1. ชั่วโมงที่เราไม่ได้อยู่กับเด็กๆ เรารู้อะไรบ้าง
2. วิชาพละในโรงเรียน
1.
ชั่วโมงที่เราไม่ได้อยู่กับเด็กๆ เรารู้อะไรบ้าง?
หลานชายผมเขากินอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดให้ไม่ค่อยลง เท่าที่เห็นเด็กหลายคนที่พ่อแม่ผูกข้าวกับทางโรงเรียนให้อย่างหลานผมก็เป็นอย่างนั้น
ขอให้ลองนึกภาพโรงทานก็จะได้บรรยากาศคล้ายกัน
เด็กๆจะเข้าแถวรับอาหาร คนตักอาหารแค่สองสามคน แต่ต้องตักแจกเด็กเป็นร้อย จึงต้องรีบตักลวกๆ กับข้าวมีอย่างหรือสองอย่าง แต่เด็กเลือกได้เพียงอย่างเดียว ใครกินหมดจานจะขอเพิ่มเขาไม่ว่า แต่จะมีสักกี่คนอยากขอเพิ่ม ในเมื่อไม่น่ากิน คุณภาพก็อยู่ในระดับต่ำ จึงต้องทนกินไปอย่างนั้น ที่ทนกินไม่ไหวก็ต้องแอบเททิ้ง เพราะกลัวว่าถ้าถูกจับได้จะถูกลงโทษ ถ้าอยากกินนอกไปจากนี้ก็ต้องซื้อเอา มีให้เลือกหลายอย่าง(น่ากินทั้งนั้น)
ขอบอกก่อนว่า นี่เป็นโรงเรียนเอกชนที่ค่าเทอมค่อนข้างสูง และเป็นโรงเรียนแบบมีเครือข่ายด้วย สถานะทางรูปธรรมเทียบเท่าหรืออาจดีกว่าโรงเรียนเทศบาลชั้นดีบางแห่ง ถึงจะอยู่ต่างจังหวัดก็ตาม
เมื่อทนไม่ค่อยได้ ก็ต้องยอมเดือดร้อนจัดกล่องข้าวไปส่งเสริมให้เท่าที่มีเวลา(บางคนเขากระแนะกระแหนว่าผมโอ๋หลานมากไป ว่าควรปล่อยให้เด็กรู้จักอดทนกับความยากลำบากเสียบ้าง)
เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงที่ผมได้อยู่กับหลานกับข้าวกลางวันของเขา ทำให้ผมได้รู้ได้เห็นบางสิ่งบางอย่าง ได้เห็นว่าครูจะเลือกกินอะไรก็ได้(ฟรี สำหรับอาหารกลางวัน) ได้เห็นว่าโรงอาหารของโรงเรียนเป็นร้านค้าที่ทำกำไรได้ไม่เลว(ถ้าคิดจะทำ)
ได้คิดต่อไปว่าโรงเรียนก็ไม่ต่างจากสถานประกอบการอย่างหนึ่ง มีเวลา ๘ ชั่วโมงไว้ขายให้กับพ่อแม่ของเด็กๆ ได้เห็นว่าพ่อแม่ของเด็กๆจำนวนมากไม่มีโอกาสได้มาเห็นจานอาหารกลางวันของลูก ซึ่งถ้าได้มาเห็น อาจได้คิดบ้างว่าถ้าตัวเองต้องกินแบบนั้นบ้างจะรู้สึกอย่างไร รวมทั้งเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ออกจะน่าเห็นใจพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นมากกว่าจะมาว่ากัน
วันหนึ่งขณะกำลังกินกลางวัน เจ้าหลานชายผมพูดขึ้นว่า ให้ช่วยพูดกับครูพละทีว่า เขาวิ่งห้ารอบไม่ไหว เพื่อนๆของเขาได้ยินก็อุทธรณ์สนับสนุนว่าวิ่งไม่ค่อยไหวเหมือนกัน ผมถามไปว่า ทำไมไม่บอกกันเอง ทุกคนตอบตรงกันว่า ครูไม่เชื่อ ต้องให้ผู้ปกครองบอก เขายกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่สุขภาพไม่ค่อยดี ต้องให้แม่มาบอกกับครูว่าไม่ต้องเล่นพละ อย่างนี้ครูถึงยอม
พอดีวันนั้นหลังพักเที่ยงแล้วจะเป็นชั่วโมงพละ เจ้าหลานชายผมบอกว่า วันนี้ครูจะให้วิ่งห้ารอบอีก ผมจึงนั่งรอดู ผมกะด้วยสายตารอบหนึ่งประมาณ ๘๐ ม. ถ้าห้ารอบก็ ๔๐๐ ม. สำหรับเด็กอายุ ๘ ขวบและค่อนข้างอ้วนอย่างหลานผม มันไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน ผมเองนั่งอยู่ไม่ห่างจากครูนัก จึงบอกว่าให้ลองไปบอกเองก่อน ถ้าครูไม่ยอมเดี๋ยวจะไปพูดให้ เขาบอกว่าไม่กล้า ผมเองก็แกล้งไม่ยอมบ้าง อยากดูซิว่าจะเป็นยังไง พยายามพูดให้เขากล้าแต่ไม่สำเร็จ
ในที่สุดเขาพูดอย่างไม่พอใจว่า จะยอมวิ่ง ผมก็ทำใจแข็งปล่อยให้เขาลองวิ่งดู ได้ราวสามรอบกว่าก็หอบแฮ่กๆมานั่งน้ำตาเล็ดอยู่ข้างผม คงเพราะเสียใจที่ผมซึ่งควรจะอยู่ข้างเขา แต่กลับไปอยู่ข้างเดียวกับครู ด้วยเหตุด้วยผลดังนี้ ผมจึงต้องยอมตามที่เขาขอ เรื่องจึงเรียบร้อยไปได้
อีกเรื่องหนึ่ง เพื่อนของเขาพูดล้อเขาเรื่องที่ถูกครูทำโทษ(เพราะอ่านคำภาษาอังกฤษไม่ออก) โดยให้ออกมาหน้าชั้นแล้วสั่งให้ถอดกางเกงออกให้เพื่อนๆเห็นกางเกงใน แวบหนึ่งผมเห็นสีหน้าเขาบอกความคับแค้นใจ ก่อนที่เขาจะเฉพูดเรื่องอื่นกลบเกลื่อนไป
มันทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมเป็นเด็กเช่นเขา และต้องเจอกับครูที่มีปัญหาทางจิตแล้วมาระบายเอากับเด็ก เช่นชอบขว้างแปรงลบกระดานดำใส่นักเรียน ชอบที่จะให้นักเรียนขี้แตกเยี่ยวแตกในห้องเรียน แต่ไม่ยอมอนุญาตเวลาที่นักเรียนขอไปห้องน้ำ ชอบที่จะคิดว่าเด็กบางคนไม่สามารถทำข้อสอบได้อย่างที่เขาสามารถจริงๆ เพื่อนของผมคนหนึ่งลาออกไปเพราะเหตุข้อหลังนี้(นับเป็นบุญของเขาที่ไม่ต้องอยู่ให้ครูประเภทนี้ทำร้ายจิตใจอีก)
ปัญหาเรื่องครูกระทำรุนแรงกับเด็กจะฉาวจนเป็นข่าวขึ้นมา ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานให้เห็นกระจะตาเท่านั้น เช่นโดนตีจนน่องแตก, ก้นบวม หรืออีกสารพัดเรื่องที่จับต้องได้ ซึ่งล้วนเป็นกรณีทางกายภาพทั้งสิ้น จากนั้นเราก็จะได้เห็นกฎตลกๆ(ไม่อยากใช้คำว่า "ปัญญาอ่อน" เลยจริงๆ)ออกมาว่า ห้ามใช้ไม้เรียวอีกต่อไป โดยคนที่ออกกฎก็ไม่เคยได้ไปสอดส่องดูว่าครูประเภทนี้ เขามีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ!ในการทำโทษเด็กอย่างไรบ้าง
เด็กที่ถูกกระทำทางจิตใจ ทางอารมณ์ ซึ่งไม่อาจเห็นร่องรอยปรากฏบนเนื้อหนังนั้นเล่า เราจะใช้อะไรตรวจถึงจะเห็น เราเคยใส่ใจที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังบ้างไหมว่า มันจะส่งผลเช่นไรต่อเด็กๆในภายหน้า เราซึ่งเป็นพ่อแม่จะมีเวลาบ้างไหม เพื่อจะจินตนาการถึงช่วงเวลาที่เราไม่ได้อยู่กับพวกเขาว่า เด็กๆของเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไรบ้างในห้องเรียน ในรั้วรอบขอบเขตของโรงเรียน
เราต้องไม่ลืมว่า ครูเป็นแค่สถานะ และแค่สถานะก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เขาเหล่านั้นจะมีคุณสมบัติของความเป็นครูที่ดีพอ
ผมหวังว่าเรื่องเล่าสั้นๆนี้จะช่วยกระตุ้นให้เราท่านเอาไปคิดต่อบ้างเท่านั้น
2. วิชาพละในโรงเรียน
ที่ที่ผมนั่งรอส่งข้าวกลางวันหลาน เป็นโถงกว้างใต้อาคารที่สุดด้านหนึ่งเป็นเวทีที่ใช้จัดกิจกรรมของโรงเรียน
โถงพื้นหินขัดโล่งกว้างนี้ ได้ใช้เป็นที่เรียนวิชาพละของเด็กชั้นประถมด้วย
ระหว่างนั่งรอ ผมจึงได้เห็นเด็กๆกระหย็องกระแหย็งไปตามคำสั่งของครูพละ มากกว่ารู้สึกสนุกสนานที่ได้เล่นออกกำลัง ว่ากันตามจริงคงมีเด็กที่มีอารมณ์อยากเล่น อยากเคลื่อนไหวร่างกายในชั่วโมงพละอยู่บ้างหรอก แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า นั่นไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของระบบอุตสาหกรรมโรงเรียน(ที่เราต่างก็ชินและชากับมัน)นั่นหรอก แต่เป็นเรื่องของหน้าที่ที่ถูกกำหนดเป็นตารางไว้แล้วว่า พอถึงเวลาครูก็สอนไปเด็กก็เรียนไป มันไม่ได้เกี่ยวกับความอยากหรือไม่อยากของใคร แต่เป็นหน้าที่ พอออดบอกเวลาเลิกเรียน ก็เป็นอันหมดหน้าที่
ดังนี้ ดูอย่างไรก็ไม่เห็นว่าเด็กๆได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างที่เขาต้องการ ก็เพราะไม่ใช่พวกเขา แต่เป็นครูที่เป็นผู้กำหนดว่าวันนี้จะเล่นอะไร ขว้างลูกบอลรับลูกบอล วิ่งผลัด หัดเดินทรงตัวบนแท่งปูนแคบๆ ฯลฯ เด็กคนไหนที่ไม่อยู่ในแถวในแนว คอยแต่จะเกเรคำสั่งครู ก็จะถูกทำโทษ อาจด้วยการวิ่งรอบสนามหรือลุก-นั่ง หรือ...จนกล้ามเนื้ออักเสบไปเลยก็เคยมีให้เห็น
ถ้าไปพลิกดูตำราว่าด้วยพัฒนาการเด็กปฐมวัย ก็จะเข้าใจได้ว่ากิจกรรมพละเหล่านั้น เราลอกมาจากตำราฝรั่ง ว่าด้วยพัฒนาการของกล้ามเนื้อใหญ่นั่นเอง ซึ่งถ้าว่ากันตามตำราอย่างละเอียดจากหัวถึงนิ้วเท้าแล้ว ต้องนับว่าเป็นทฤษฎีพัฒนาการเด็กปฐมวัยแบบจักรกลอันแสนมหัศจรรย์นั่นเลยทีเดียว
อาจมีคำถามว่า ลอกตำราฝรั่งมันเสียหายตรงไหน?
บางทีคำตอบที่เหมาะสมอาจเป็นคำถามที่ควรถามกลับไปว่า อะไรคือสิ่งที่ทฤษฎีนั้นต้องการนำไป และระหว่างทางต้องเจอกับอะไรบ้าง
วิชาพละนั้นมีปลายทางที่เห็นได้เด่นชัด เพราะมันจะไปปรากฏอยู่ในสนามแข่งขันกีฬา จุดมุ่งหมายของมันคือการแข่งขัน และระหว่างทางเป็นเรื่องเปลืองเปล่าทางเศรษฐกิจ ทั้งยังมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงทางธุรกิจด้วย
วิชาพละเป็นเรื่องของชุดกีฬา รองเท้ากีฬา ที่เด็กๆต้องมีเพิ่มขึ้นจากชุดนักเรียนปกติ เป็นเรื่องของการแข่งเสนอราคาของร้านตัดชุดกีฬากับทางโรงเรียน เป็นเรื่องของการผูกขาด มีสินบนแอบแฝง ที่ผู้ปกครองของเด็กๆอาจไม่รู้เห็น แต่ต้องเป็นผู้จ่าย เป็นเรื่องของการเอาเงินมาละลายกับการเดินพาเหรดอันสูญเปล่า เป็นเรื่องของกองเชียร์ที่เอาเด็กๆไปทรมานอยู่กลางแดดกลางฝน และยาแก้ไข้แก้ปวดที่จะตามมา เป็นเรื่องของถ้วยรางวัล เหรียญรางวัลของผู้ชนะ และส่งต่อไปยังชื่อเสียงของโรงเรียนอันหาสาระอันใดไม่ได้
ไม่นับเรื่องเงินทองที่ทั้งผู้ปกครองของเด็กๆและโรงเรียนต้องจ่ายออกไป(ความจริงผู้ปกครองนั่นแหละจ่าย) กับเครื่องแต่งกาย ธงทิวประดับประดา ป้ายผ้า สารพัดข้าวของเครื่องใช้แห่งพิธีการนี้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า หัวใจซื่อบริสุทธิ์ของเด็กๆก็ต้องถูกเซ่นสังเวยเพื่อการนี้ไปด้วย เพื่อจะได้มาซึ่งความเมาในการเป็นผู้ชนะ และความรู้สึกด้อยกว่าในการเป็นผู้แพ้ อยู่กับคำปลอบใจปลอมๆว่าแพ้เป็นพระ แต่พอมีใครชนะ ก็ไม่เห็นมีใครเป็นมารสักที
เป็นเรื่องไร้สติที่โรงเรียนหนึ่งต้องไปแข่งขันกับอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การแข่งขัน การต้องการเป็นที่หนึ่งคือสาระของมัน เด็กคนไหนเป็นนักกีฬาเก่งกาจ โรงเรียนไหนก็ต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องไร้เหตุผลและไม่ยุติธรรมกับเด็กอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด
ที่ผ่านมายังไม่เห็นว่าพละถูกทำให้เป็นพละอย่างแท้จริงสักที ไม่เคยเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตวิญญาณอันใด มีแต่เรื่องของการเป็นที่หนึ่ง เรื่องของชื่อเสียง เพื่อจะเอาไปขายให้กับสินค้าอะไรสักอย่าง ในรูปของนายแบบ-นางแบบโฆษณา
...จนเสียงออดบอกเวลาพักเที่ยง เด็กๆทยอยไปกินกลางวันที่โรงอาหาร และดูเหมือนว่าทันทีที่มื้อกลางวันเสร็จสิ้นลงแล้วนั่นเอง วิชาพละที่แท้จริงจึงได้เริ่มขึ้น ที่โถงเดิมตรงนั้น เด็กๆจะวิ่งเล่นส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวกันอย่างอิสระ ปนเปกันทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ไม่มีแถวแนว ไม่มีระเบียบ ไม่มีครูมาคอยกำหนดเกมให้เล่น เด็กเป็นกลุ่มๆคิดการละเล่นของเขาขึ้นมาเอง ดูสับสนอลหม่านแต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา
ถ้าอยากรู้ว่าเด็กๆมีความคิดสร้างสรรค์(ที่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีวันคิดได้)ในเรื่องการเล่นอย่างไร ก็ลองไปดูเด็กๆที่ได้เล่นอย่างอิสระ ไม่ใช่จากคำบงการของใคร
พอออดดังบอกหมดเวลาพักเที่ยง วิชาพละตามหน้าที่ของครูและนักเรียนก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง และเด็กๆก็ยังต้องกระหย็องกระแหย็งกันต่อไป ตามทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่แบบจักรกล เพื่อผดุงไว้ซึ่งความสูญเปล่าแห่งชั่วโมงพละ ชุดพละ อุปกรณ์กีฬา บุคลากรการกีฬา ทั้งหมดทั้งสิ้นอันรวมอยู่ในพิธีแห่งการนี้
ช่วงเวลาที่เด็กๆได้เป็นอิสระและได้เล่นสนุกสนานเจี๊ยวจ๊าวกันอยู่นั้น มีครูผู้หญิงสองคนเดินคู่กันมา ผ่านกลุ่มเด็กๆไป ผมได้ยินครูคนหนึ่งพูดกับอีกคนว่า "ฉันทนฟังเสียงหนวกหูอย่างนี้ไม่ได้เลยจริงๆ"
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
โรงเรียนก็ไม่ต่างจากสถานประกอบการอย่างหนึ่ง มีเวลา ๘ ชั่วโมงไว้ขายให้กับพ่อแม่ของเด็กๆ ...พ่อแม่ของเด็กๆจำนวนมากไม่มีโอกาสได้มาเห็นจานอาหารกลางวันของลูก ซึ่งถ้าได้มาเห็น อาจได้คิดบ้างว่าถ้าตัวเองต้องกินแบบนั้นบ้างจะรู้สึกอย่างไร รวมทั้งเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย