2

content page
member page
back to home
Functionalists and Structuralists
ภารกิจนิยม และ โครงสร้างนิยม
ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของ
De Saussure
กระบวนวิชาใหม่ที่เจนีวาของนักภาษาศาสตร์
ชาวสวิสส์ Ferdinand de Saussure
ได้ล้มล้างทัศนะแบบดั้งเดิม หรือ
แนวคิดแบบออร์โธด็อกส์ของปรัชญาเยอรมันลง
และได้วางพื้นฐานวิธีการใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่
ในเรื่องของภาษาศาสตร์เท่านั้น
แต่รวมไปถึงเรื่องของ
มานุษยวิทยาและสังคมวิทยาด้วย.
(ความยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)
Functionalists and Structuralists :
ภารกิจนิยม และ โครงสร้างนิยม

ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของ De Saussure

กระบวนวิชาใหม่ที่เจนีวาของนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสส์ Ferdinand de Saussure ได้ล้มล้างทัศนะแบบดั้งเดิม หรือแนวคิดแบบออร์โธด็อกส์ของปรัชญาเยอรมันลง และได้วางพื้นฐานวิธีการใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ในเรื่องของภาษาศาสตร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาด้วย.

Saussure ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว ที่ได้เริ่มลงมือในการสืบสาวถึงต้นตอกำเนิดเกี่ยวกับภาษาเอเชียติคของภาษายุโรปต่างๆ. การสืบหาเกี่ยวกับภาษาเดิมที่เรียกว่า Ur-language ที่ได้รวมเอาภาษายุโรปกับกรีกโบราณและสันสกฤตเข้าไว้ด้วยกัน เป็นอันหนึ่งที่ได้มาเกาะกุมจินตนาการของบรรดานักปรัชญาเยอรมัน อย่าง Adam Muller. แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการอันนี้ นอกจากความรุ่มรวยในตัวมันเองแล้ว มันยังเต็มไปด้วยแรงกระตุ้นทางการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกร้องความเป็นวัตถุวิสัยในเชิงคำถาม.

ที่กล่าวว่ามันมีแรงกระตุ้นในทางการเมืองนั้น เนื่องจากว่า แบบจำลองเกี่ยวกับการแพร่กระจายด้านภาษา มีนัยะสำคัญถึงลำดับสูงต่ำของเชื้อชาติต่างๆ, โดยที่เชื้อชาติอารยันอยู่ ณ จุดสูงสุดของแบบจำลองอันนี้. ดังนั้น จึงมีการต่อสู้กับระหว่างชาติที่ใกล้ชิดกับภาษา Ur-language ซึ่งอันนี้ได้ปรากฎขึ้นมาอย่างแจ่มชัดมาก และเป็นประเด็นที่แยกออกจากการสืบสวนด้านภาษาในทางวิทยาศาสตร์อันบริสุทธิ์.

กระบวนวิชาของ Saussure ไม่ได้ปฏิเสธการสืบสวนต่างๆของบรรดานักนิรุกติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง - จำนวนมากของนักวิชาการเหล่านี้ประสบกับความก้าวหน้าจริงๆ. สิ่งที่เขาทำนั้นก็คือ การท้าทายข้อสงสัยบางประการในสมมุติฐานต่างๆของระเบียบวิธีเท่านั้น. ดังเช่นตัวอย่างความคิดที่ว่า ภาษาต่างๆที่มีความใกล้ชิดกับต้นตอกำเนิด คือภาษาที่สูงกว่าภาษาอื่นๆ ซึ่งอันนี้ Saussure ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับ, เนื่องจากว่ามันไม่เป็นวิทยาศาสตร์.

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังแสดงให้เห็นว่า ความคล้ายคลึงทางภาษาศาสตร์ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นมาจากการหยิบยืมโดยตรง. ภาษาต่างๆอาจมีความคล้ายคลึงกันได้ ในด้านโครงสร้างของการสร้างประโยค หรือ syntax (รูปแบบโครงสร้างของการลำดับคำในประโยค หรือในวลี) และแม้จะเป็นอย่างนั้น ก็มิได้หมายความว่า มันมีส่วนร่วมกันในการกำเนิด หรือได้รับอิทธิพลกันแต่อย่างใด.

แต่การปฏิเสธที่แหลมคมที่สุดของ Saussure ในเรื่องแนวความคิดทางภาษาศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นความสอดคล้องที่ชัดเจนต่อโลกกายภาพก็คือ. คำต่างๆ, เขากล่าว, มันดำรงอยู่มาแต่แรกในความสัมพันธ์กับคำอีกคำหนึ่ง, ก่อนที่พวกมันจะดำรงความสัมพันธ์กับวัตถุหนึ่งๆ. มันเป็นความสัมพันธ์ของเครื่องหมายกับหลักเกณฑ์ของการบ่งชี้ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของมัน มากกว่าจะเป็นความสอดคล้องลงรอยกันที่ชัดเจนกับวัตถุที่ปรากฎตัวอันหนึ่ง.

และอีกตัวอย่างซึ่ง Saussure ได้แสดงให้เห็น โดยผ่านการมองไปที่ความหลากหลายของภาษาศาสตร์และนวัตกรรมของภาษา ซึ่งความแตกต่างที่เด่นชัดต่างๆภายในภาษา ได้ไปกระทบถึงผลที่มีต่อคำศัพท์ต่างๆ, กาลของประโยค, คำเติมหน้า และอื่นๆ, ซึ่งหมายความว่า สิ่งใหม่ๆ ลักษณะโดดๆใดๆก็ตาม จะมีผลกระทบต่อหลักเกณท์ หรือ code(ระหัส) ทั้งหมดของภาษา, หรือโครงสร้างของมัน (เหตุนี้ ภาษาศาสตร์[linguistics]ของเขา ในบางครั้งจึงถูกเรียกว่า โครงสร้าง[structural]). ในที่นี้ Saussure ได้ดึงเอาภาษาออกมาจากอาณาจักรของตรรกะ, เพื่อจ้องมองภาษาและไวยากรณ์ของมัน ในฐานะที่เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งของการศึกษาในตัวของมันเอง.

วิธีการของ Saussure ได้รับการหยิบยกขึ้นมา, แต่ก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และวางหลักการใหม่โดยสกุลความคิดของนักคิดที่อยู่รายรอบ MM Bakhtin ในสหภาพโซเวียต, อย่างเช่น Vn Volosinov และ Pn Medvedev. อย่างไรก็ตาม ความสนใจของ Saussure ต่อปฏิกริยาทางสังคมในเรื่องของภาษา มีเสน่ห์ดึงดูดใจต่อ Bakhtin และบรรดาสานุศิษย์ของเขา, แต่พวกเขารู้สึกว่า Saussure ได้ให้ความไว้วางใจต่อระหัส หรือหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปแบบทางการมากจนเกินไป - และในทีนี้คือ ไวยากรณ์ที่นำมาใช้อย่างเหมาะสม - และให้ความเอาใจใส่น้อยต่อความเลื่อนไหลของการสนทนาของคนพื้นเมืองหรือท้องถิ่น.

Volosinov วิจารณ์ Saussure ตรงไปตรงมา เกี่ยวกับการเมินเฉยของเขาในความเป็นเจริงของการเปล่งเสียงหรือคำพูด ซึ่งอยู่เหนือระหัสหรือหลักเกณฑ์ที่ตายแล้วของการใช้ภาษาที่เหมาะสม. คนพื้นเมืองหรือคนท้องถิ่น สำหรับ Volosinov เป็นเรื่องทางสังคมโดยตรง, ปราศจากการประนีประนอมกับกฎเกณฑ์เรื่องของเขียน, และเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นๆลงๆของภาษาที่ปกติธรรมดา (สำหรับนักวิชาการร่วมสมัย ได้ให้การสนับสนุนในการศึกษาเกี่ยวกับภาษาของคนพื้นเมืองหรือคนท้องถิ่น ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นหนี้บุญคุณอย่างมาก Volosinov)

Bakhtin ด้วยเช่นกัน, ได้ให้ความสนใจต่อการไหลเลื่อนของภาษา, หรือสิ่งที่เขาเรียกว่าคุณลักษณะเฉพาะของการสนทนา(dialogic character). Bakhtin ได้นำเอาการเน้นของ Saussure ที่เพ่งลงไปที่ความไม่สมบูรณ์แบบของภาษา และทำให้มันมีคุณลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนขึ้นมา.

สำหรับ Bakhtin แล้ว ความหมายของภาษา มันไม่เคยถูกกำหนดตายตัว หรือหมดจดในการตีความ หรือ ให้ความหมายใดโดดๆ. เพราะภาษาเป็นเรื่องของการสนทนา เป็นเรื่องของการเลื่อนไหล. ในการสนทนากันนั้น คำต่างๆที่มีความหมาย จะมีความหมายต่างออกไปเมื่อมีปฏิกริยากับอีกคำหนึ่ง.

งานทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีของ Bakhtin ต่อมาภายหลัง ได้รับความนิยมภายนอกสหภาพโซเวียต โดย Roman Jakobson.

Anthropology มานุษยวิทยา

นักมานุษยวิทยา Claude Levi-Strauss ได้มองเห็นลักษณะของการคู่ขนานกันระหว่างการค้นพบในทางภาษาศาสตร์ของ Saussure กับ พัฒนาการที่ไม่นานมานี้ในด้านมานุษยวิทยา. แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ถูกทำให้แพร่หลายจากชนชาติผู้มีมาก่อน ลงมาสู่ชนชาติหลัง เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วน่ารำคาญใจสำหรับบรรดานักมานุษยวิทยาทั้งหลาย ซึ่งทำงานอยู่ในภาคสนาม. การพยายามที่จะบรรลุถึงเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุนในเชิงอุดมคติเกี่ยวกับคนผิวขาวที่อยู่สูงสุด(เกี่ยวกับการพัฒนาการ) ไม่ใช่แรงกระตุ้นที่จะนำพาบรรดานักมานุษยวิทยาไปไกลได้สักเท่าไร.

ก่อนหน้านี้ สังคมวิทยาของ Emile Durkheim ได้นำเสนอวิธีการซึ่ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว. วิธีการ functionalist approach (ภารกิจนิยม), ที่นำมาจาก Durkhiem บ่งว่า, มาถึงตอนนี้ มันเป็นไปได้ที่จะมองไปที่พิธีกรรมต่างๆ, ข้อห้าม(taboos), และอื่นๆอีกมากของสังคมยุคบุพกาล โดยไม่พยายามที่จะมองมันในลักษณะของการตัดสิน. มันเป็นไปได้ที่จะดูที่สถาบันต่างๆเหล่านั้นจากมุมมองของภารกิจหรือหน้าที่ของพวกมันที่มีต่อสังคมต่างๆเหล่านั้นแทน.

หลานชายของ Durkhiem, ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยา, นามว่า Marcel Mauss ได้บุกเบิกวิธีการวิเคราะห์ในเชิงภารกิจ(functionalist analysis)ในการศึกษาของเขา เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ"ของขวัญต่างๆที่เป็นสัญลักษณ์"(symbolic gifts) ในท่ามกลางชนเผ่าอเมริกันพื้นเมือง (การแสดงออกเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงของขวัญที่ทำขึ้นมา ซึ่งได้มาทำหน้าที่ยักย้ายถ่ายเทหรือแบ่งปันผลผลิตส่วนเกินตามศักยภาพ, เรื่องนี้ Mauss ได้อธิบายเอาไว้ใน Essai sur le don). [สำหรับการตัดสินให้น้อยลงอันนี้ และใช้วิธีการที่เป็นวัตถุวิสัยมากขึ้น ได้รับการปฏิบัติมาแล้วโดยบรรดานักมานุษยวิทยาอเมริกัน อย่าง Boas และ บรรดานักศึกษาของเขา].

Levi-Strauss ตระหนักว่า วิธีการของ Saussure นั้น มันเป็นไปได้ที่จะไปไกลเกินกว่าแนวคิด"ภารกิจนิยม"(functionalism)ของ Durkhiem. ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของภาษาเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของวัฒนธรรมในด้วย ซึ่งวิธีการนี้สามารถจะได้รับการมองในฐานะที่เป็น หลักเกณฑ์หรือระหัสอันหนึ่งของความหมาย(code of meaning)ในความเข้าใจของ Saussure.

วิธีการแบบภารกิจนิยม หรือ functionalist approach มุ่งที่จะแยกสถาบันต่างๆที่มีลักษณะเฉพาะ และพยายามที่จะค้นหาลักษณะคู่ขนานกัน ระหว่าง"สิ่งเหล่านั้น"กับ"สถาบันต่างๆสมัยใหม่" (ดังเช่น "Azande Witchcraft" หรือ การใช้เวทมนตร์ เป็นเรื่องราวของ"การรักษาโรค"ของผู้คนที่มีชีวิตอยู่แบบคนในยุดดึกดำบรรพ์). อันนี้หมายความว่า วัฒนธรรมอื่นๆ ก็ยังคงได้รับการมองอย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นเรื่องราวของพวกเรานั่นเอง.

โดยการมองไปที่ระหัสหรือเครื่องหมายทางวัฒนธรรมทั้งหมดของวัฒนธรรมหนึ่ง หนทางที่ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่าง และข้อห้ามทั้งหลาย ทำปฏิกริยาและสนับสนุนกันและกัน. จากสิ่งเหล่านี้ ทำให้ Levi-Strauss สามารถพัฒนาความเข้าใจได้บริบูรณ์กว่า. วิธีการโครงสร้างนิยมทางด้านมานุษยวิทยาได้ให้ผลดีมาก และอิทธิพลของมันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบรรดานักมานุษยวิทยาเท่านั้น.

นับจากสกุลความคิดใหม่ในนิวยอร์คภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, และนับจากฝรั่งเศสภายในช่วงทศวรรษที่ 1950, Levi-Strauss ได้มีอิทธิพลตต่อนักมานุษยวิทยาหลายคน อย่างเช่น EE Evans-Pritchard ในอังกฤษ และ Pierre Bourdieu ในอัลจีเรีย. นอกจากเพื่อนร่วมงานต่างๆของเขา ผลงานที่อ่านเข้าใจง่ายมากของ Strauss ยังมีผลกระทบต่อบรรดานักศึกษาที่สนใจในวัฒนธรรมและสังคมแบบป๊อปปูล่าร์อย่างกว้างขวางด้วย.

นักวิจารณ์วรรณกรรม Roland Barthes ได้ขยายนำเอาวิธีการวิเคราะห์เกี่ยวกับระหัสหรือเครื่องหมายเกี่ยวกับการบ่งชี้ ไปใช้กับการวิเคราะห์วัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์. Barthes เป็นคนที่สนใจในการหนีรอดไปให้พ้นจากพันธะข้อผูกมัดของการเขียน, และดูเหมือนว่า วิธีการแบบ "โครงสร้างนิยม"(structuralism)จะเป็นทางเลือกหนึ่ง. ในมือของเขา โครงสร้างนิยม ของ Saussure และ Strauss ได้กลายมาเป็น"ศาสตร์แห่งเครื่องหมาย"(science of signs) หรือ "สัญญวิทยา"(semiology) ที่พองตัวอย่างเต็มที่.

ในระหว่างเวลานั้น นักปรัชญาแนวมาร์กซิสท์ Louis Althusser ได้นำเอาวิธีการ"โครงสร้างนิยม"มาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เขาต้องการที่จะทิ้งระยะห่างของตัวเขาเองไปจากระเบียบวิธีแบบเฮเกลเลี่ยน ซึ่งเขารู้สึกขุ่นเคืองใจในงานของ มาร์กซ์.

สำหรับ Barthes และ Althusser, ซึ่งกล่าวถึงมาแล้วข้างต้น, "โครงสร้างนิยม"เป็นอีกทางเลือกหนึ่งต่อขนบจารีต, แนวความคิดเสรีนิยมต่างๆของตัวตนหรือบุคคล. ในกรณีของ Barthes มันเป็น"ความผิดพลาดของเจตจำนง"(intentional fallacy)เกี่ยวกับการเขียนหรือการประพันธ์ ที่ได้ถูกล้มคว่ำไป. Barthes สวนกลับสามัญสำนึกที่ว่า นักประพันธ์ทั้งหลายเขียนตำรับตำราหรือข้อความต่างๆขึ้นมาเพื่อถกเถียง - ในลักษณะที่คลุมเครือ - โดยกล่าวว่า ตำรับตำราหรือข้อความต่างๆนั้น เขียนหรือสร้างนักประพันธ์ขึ้นมา(that texts "wrote" authors).

สิ่งที่เขาต้องการหมายถึงก็คือว่า สไตล์หรือชนิด ที่มีลักษณะเฉพาะของวรรณคดี มันดำรงอยู่ก่อนแล้ว สิ่งเหล่านี้มันมีมาก่อนบรรดานักเขียนทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้เขียนงานเหล่านั้น. ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับการสืบสวนมันมีมาก่อน Hammett (ฮาเม็ท 1894-1961 นักเขียนอเมริกัน). การบรรลุถึงระหัสหรือหลักการของสไตล์หรือแบบ(genre), นักเขียนเป็นผลพวงหรืออิทธิพลอันหนึ่งของวาทกรรม(discourse), ไม่ใช่ผู้ริเริ่มหรือผู้ให้กำเนิด. สโลแกนเกี่ยวกับสัญญศาสตร์(semiotics)ก็คือ "ความตายของนักประพันธ์"(The death of the author).

สำหรับ Althusser ก็เช่นกัน, ตัวตนหรือบุคคล ได้ถูกล้มคว่ำลงไปในฐานะที่เป็นปริมณฑลหนึ่งของสังคมศาสตร์. การวิเคราะห์ของเขาเกี่ยวกับอุดมคติวิทยา เป็นการพยายามที่จะแสวงหาเพื่อทำให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้มันได้ซักไซ้ไล่เลียงตัวตนหรือบุคคล - ความหมายก็คือ เพื่อจะกล่าวว่า มายาการของตัวแทนที่เป็นบุคคล เป็นผลหรืออิทธิพลอันหนึ่งของอุดมคติ. Althusser ได้ตัดทอนการบุ้ยใบ้ทุกอย่างเกี่ยวกับลักษณะอัตวิสัยออกไปจากสังคมศาสตร์, โดยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างต่างๆในทางอุดมคติที่ได้ให้กำเนิดเรื่องราวขึ้นมา. สโลแกนของผู้นิยมในโครงสร้างนิยมแบบ Althusserian ก็คือ "ความตายของตัวตนหรือบุคคล"(The death of the subject).

คลิกไปหน้าถัดไป

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม
แปลและเรียบเรียง
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
หากภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด Font ลง